พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ศ.ดร.,ปธ.๙)
ปีใหม่กำลังจะมาถึง...
ปีเก่าซึ่งอีกไม่กี่วันก็จะผ่านพ้นไปนั้น มองย้อนกลับไปดู ให้รู้สึกหดหู่อย่างยิ่ง ทั้งปัญหาภายในและภายนอกประเทศที่รุมเร้า มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า ศักราชใหม่ที่จะมาถึง ประเทศไทย จะเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นกว่าเก่า
การเมืองที่ตอนนี้มองดูแล้วเหมือนนิ่ง แต่แท้จริงนั้นมีแรงกระเพื่อมอยู่เบื้องล่าง เศรษฐกิจตอนนี้ ก็เริ่มส่อเค้าลาง มีการทยอยปลดพนักงานจากภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการให้เห็นกันบ้างแล้ว- ปัญหาเหล่านี้ นำมาซึ่ง "ความทุกข์"
"เพราะโลกนี้มีความทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงอุบัติขึ้นมา เพื่อชี้ทางความบรรเทาทุกข์ พระธรรมจึงส่องแสงไล่ความมืด ไล่ความเข้าใจผิด"
พระธรรมโกศาจารย์ (ศ.ดร.
ตลอดปีที่ผ่านมาคนไทยทุกข์มากนัก เพราะ
1.คือ ภาวะจากนอกประเทศ ที่ทำให้คนตกงาน ตอนนี้เศรษฐกิจโลกก็อยู่ในภาวะถดถอยอยู่แล้ว เริ่มจากสหรัฐอเมริกาและขยายไปทั่วโลก จากนั้นก็มากระทบประเทศไทย
2.คือ เรื่องที่เราทำกันเอง อย่างความแตกแยก ซึ่งแทนที่คนไทยจะมีความสุขก็กลับกลายเป็นความทุกข์ เครียด อย่างตอนนี้ก็กังวลกันว่าความขัดแย้งจากปีนี้จะตกทอดไปถึงปีหน้าไหม บวกกับเศรษฐกิจโลกที่จะกระทบลุกลามบานปลายไปสักแค่ไหน นี่เป็นสิ่งที่คนไทยกังวล
การแก้ปัญหาที่ผ่านมา ถูกทางแล้วหรือยัง?
ถูกแค่ครึ่งหนึ่ง คือ เรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง เพราะแม้ว่าจะเกิดความขัดแย้ง ฝ่ายที่มีอำนาจก็ไม่ใช้ความรุนแรงจนกระทั่งเลือดตกยางออก แสดงถึงประเทศไทยยังน่ารักอยู่ในสายตาต่างประเทศ
ถ้าเป็นประเทศอื่น อาจจะใช้กำลังความรุนแรงไปแล้ว นี่เป็นบทเรียนของสังคมไทย ว่า ถ้าเรามีความอดทน ก็จะมีทางออก อาศัยขันติธรรม เห็นแก่ส่วนรวม ถอยคนละก้าวสองก้าว ผู้มีอำนาจในแผ่นดินก็เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยด้วย หรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งใครจะพอใจหรือไม่พอใจก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่การพยายามไม่นำไปสู่ความรุนแรงอย่างนี้คือทางที่ถูก
แต่อีกครึ่งหนึ่งที่ต้องทำ คือ เราต้องประสานใจกัน เพราะสิ่งที่เป็นบาดแผลในใจ มันสามารถเกิดเป็นความขัดแย้งใหม่ได้ตลอดเวลา ปัญหาอีกครึ่งหนึ่งที่จะต้องแก้ คือ "การเยียวยารักษาใจ" คู่กรณีที่เกิดความขัดแย้งฝ่ายไหนที่ชนะก็อย่าไปซ้ำเติมฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำ ก็อย่าไปอาฆาตพยาบาท ให้เห็นแก่ประเทศชาติ เราเรียกขั้นตอนนี้ว่า การเยียวยารักษาบาดแผลทางใจ
มีวิธีการไม่ให้เกิดความขัดแย้งมั้ย?
พื้นฐานทางสังคมไทยเป็นสังคมที่ประนีประนอมสูง เรามีคำว่า "ไม่เป็นไร" นี่คือ การปล่อยวาง ความขัดแย้งส่วนตัวสามารถเอาคนที่ขัดแย้งมาคืนดีกันได้
แต่ถ้าเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรกับองค์กรนี้มันยาก คนไทยไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน แต่พอมาถึงจุดหนึ่งเราก็พัฒนา เพราะเราต้องไปแข่งขันกับต่างประเทศ เรารวมกันเป็นองค์กร เป็นบรรษัทข้ามชาติ ในทางการเมืองเราก็มีพรรคการเมืองพรรคใหญ่ พรรคการเมืองเล็กๆ ก็ค่อยๆ หายไป นี่เป็นวิวัฒนาการของสังคม ซึ่งในระยะยาวมันเป็นการดี ถ้าเราไม่ทะเลาะกัน หากรวมกันทำความดีประเทศไทยจะไปไกลมาก
แต่ละองค์กรอย่าไปประเมินอีกฝ่ายหนึ่งต่ำ นึกว่าจัดการกันง่ายๆ เขาก็มีกำลัง อย่าไปมององค์กรอื่นว่าไม่มีฝีมือ ไม่มีความหมาย ต้องเริ่มหัดยอมรับความสำคัญของอีกกลุ่มหนึ่ง เสียงของเขาก็มีความสำคัญ การที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จะต้องมีความสามารถในการยอมรับความแตกต่าง เราไม่สามารถที่จะไปกลืนอีกกลุ่มหนึ่งมาเป็นของเราได้ทั้งหมด
คนที่ไม่ได้อยู่ในฟากฝ่ายใดก็ทุกข์ ควรทำอย่างไร?
ต้องมั่นใจในตัวเอง ว่า ใครจะมาปลุกกระดมให้ถือข้าง ก็อย่าไปเลือกข้าง เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่มกำลังให้กับกลุ่มที่ขัดแย้งกัน เราต้องยอมรับว่า มันเป็นธรรมดาที่คนจะมีความคิดเห็นแตกต่างกัน ทำอย่างไรให้ความแตกต่างได้รับการยอมรับ ได้รับการเคารพ
ต่อมาคือ อย่าให้ความแตกต่างนั้นนำไปสู่การเสียเลือดเนื้อ เกิดความรุนแรง
ถามว่าสภาพจิตใจของเราจะเป็นสุขอยู่ได้อย่างไร เราจะต้องทำสองเรื่อง คือ 1.ถ้าเป็นไปได้เราต้องช่วยกันหาทางให้ฝ่ายที่ขัดแย้งต่างๆ ยุติความขัดแย้งโดยเร็ว นำไปสู่ความสมานฉันท์เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
2.อย่าไปเข้าข้างหรือเพิ่มกำลังให้กับฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่ เป็นกลางๆ นี้ดีแล้ว และคอยห้ามปราม ต้องห้ามทั้งสองฝ่าย สังเกตพระปางห้ามญาติจะยกมือสองมือ ทำให้เขากลับมาคืนดีกัน ดูแลให้ประเทศไทยน่าอยู่เหมือนเดิม
ที่ผ่านมาคนเข้าวัดฟังธรรมมากหรือน้อย?
มาก เพราะคนยิ่งเครียดยิ่งเข้าหาพระ เข้าหาศาสนา เพราะถ้าโลกนี้ไม่มีความทุกข์ พระพุทธเจ้าก็ไม่จำเป็นต้องอุบัติ พระธรรมไม่จำเป็นต้องส่องแสง แต่เพราะโลกนี้มีความทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงอุบัติขึ้นมา เพื่อชี้ทางบรรเทาทุกข์ พระธรรมจึงส่องแสงไล่ความมืด ไล่ความเข้าใจผิดออกมา
คนที่อยู่ดีมีสุขมักไม่นึกถึงธรรมมะ แต่พอมีปัญหามีอะไรขึ้นมา ต้องการทางออกจากปัญหา ต้องตั้งสติ ไม่เที่ยงไม่ทุกข์ได้ดีที่สุดคือวัด เพราะมันไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง มันเป็นการมองปัญหาแบบปรวิสัย หรือปรนัย
เรามาหลบพักร้อนในวัด แล้วจะหาทางออกได้ มันเหมือนกับไม่ได้พักร้อนเลย มองไม่เห็นทางออก เพราะฉะนั้นวัด 30,000 กว่าวัด ทำหน้าที่เหมือนกับที่พักใจ ยิ่งไปวัดเท่าไหร่เราก็จะยิ่งผ่อนคลาย แล้วก็จะเห็นทางออกของปัญหามากขึ้น
คนเจอปัญหามีคำแนะนำอย่างไร?
ภาวะบ้านเมืองตอนนี้ ไม่ว่าจะเรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ ถ้าเราไปอยู่ตรงนั้นเลย จะเปิดตำราไม่ทัน เหมือนกับนักมวยต่อยกันบนเวที เวลาต่อยเอง กับการเป็นพี่เลี้ยงนั่นคนละเรื่อง การเข้าหาศาสนาก็เหมือนกับการเป็นพี่เลี้ยงให้ตนเอง เวลาวิกฤต เครียดนักเราก็ไปไหว้พระ พักยกก่อน แล้วมองมาจากสภาพจิตใจที่เบาสบาย จะทำให้ดีขึ้น เพราะเราจะมองแบบว่าไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่ตัวฉัน ของฉัน มองแบบเป็นเรื่องของคนอื่น ทำได้เมื่อไหร่เราจะไม่เครียดในการคิดแก้ปัญหา จะสามารถหาทางออกได้
สถานการณ์บ้านเมืองเราตอนนี้ เหมือนวนอยู่ในเขาวงกต เราไม่ได้ถอนใจออกจากสถานการณ์ที่มีปัญหา และมองแบบไม่ใช่เรื่องของเรา ที่เรียกว่าปล่อยวาง เราต้องลองคิดว่า ถ้าเป็นคนอื่นเขาจะแก้อย่างไร เช่น ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าท่านจะสอนอย่างไร เป็นพระอริยเจ้า ท่านจะแก้ปัญหาอย่างไร อย่าเอาบรรทัดฐานเรามาตัดสิน
สถาบันศาสนามีความพร้อมแค่ไหนในการสอนคน?
พร้อม แต่อาจไม่ได้โฆษณาว่าวัดไหนพร้อม คนที่ไปประจำจะรู้ ว่าไปวัดไหน พระในวัดมีการพัฒนาตัวเองจนอยู่ในขั้นที่สามารถปฏิบัติหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร มีการอบรมนักเทศน์ทุกปี ปีละ 300 รูป จัดมา 16 ครั้งแล้ว กระจายพระที่ผ่านการอบรมไปยังที่ต่างๆ สิ่งที่เป็นปัญหามาก อาตมาว่า คือ ไม่สามารถเอาวัดกับบ้านมาเจอกัน
วันนี้ วัดใหญ่ๆ ทั้งหลายจะเปิดโบสถ์ให้คนมาวัด สวดมนต์ ในวันพระไม่ตรงกับวันหยุด คือ เสาร์-อาทิตย์ ไม่เปิด เพราะฉะนั้นกิจกรรมที่จะเสริมปัญญาจึงมีน้อย อาตมาว่า ตรงนี้น่าเป็นห่วงมาก วันพระนั้นเรียกว่า "วันธรรมสวนะ" เป็นวันที่ประชาชนต้องไปฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ปรากฏว่า พระเทศน์ แต่ไม่มีคนฟัง ความรู้ทางธรรมะจึงไม่เพิ่มพูน ชาวพุทธจึงไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ระยะหลังนี้จึงไม่มีธรรมะคุ้มครองใจตัวเอง
แต่ถ้าหากว่า เอาวันหยุดราชการเป็นวันธรรมสวนะด้วย พระก็ต้องเทศน์ จะเปลี่ยนสังคมไทยได้เยอะ เราต้องปรับให้ทั้งสองส่วนมาเจอกันให้ได้
น่าจะมีวิธีการจัดการอย่างไร?
วันพระมี 4 วัน ใน 1 เดือน คือ ข้างขึ้นและข้างแรม คือ 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ ในศรีลังกา จะให้วันขึ้น 15 ค่ำเป็นวันหยุดราชการ แสดงว่า ใน 1 เดือน เขาจะมีวันหยุดขึ้น 15 ค่ำ 2 ครั้ง แล้วก็ชดเชยเอาในวันเสาร์หรืออาทิตย์ วันหยุดนี้เขาให้ทุกคนไปวัด ห้ามเถลไถล ให้ไปถือศีลอุโบสถ ในวัด จึงมีคนไปอยู่เยอะมาก ไม่ต้องโฆษณาเลย ฝ่ายพระเองก็ต้องเตรียมพร้อมเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับพุทธศาสนิกชน
ทุกวันนี้ต้องถือว่า ชาวพุทธไทยไม่ค่อยได้รับการศึกษาทางธรรมะ เลยไปเชื่อเรื่องโชคลาง คุณไสย์ บนบานศาลกล่าวไปทั่ว เป็นเพราะเราไม่มีวันฟังธรรม แต่อดีต ประเทศไทยหยุด 8 ค่ำ 15 ค่ำ คนได้ฟังธรรม เลยไม่ต้องเรียนอะไรมากมาย คนก็มีธรรมะในใจ
ปีหน้าเราประสบกับปัญหามากมาย มีวิธีหาความสุขอย่างไร?
หลักๆ คือ เรื่องเศรษฐกิจ ตัวเลขคนตกงานน่าจะเพิ่ม ขอพูดปลอบใจก่อน ธนาคารโลกเคยพูดถึงประเทศไทยตอนเศรษฐกิจตกต่ำ พ.ศ.2540 ว่าไม่รุนแรง หากเทียบกับประเทศอื่น เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า ตาข่ายนิรภัยทางเศรษฐกิจ เวลาตกงาน มีตาข่ายรองรับคือภาคเกษตร อนาคตเราต้องทำตาข่ายนิรภัยให้ถาวร ให้เป็นที่พักพิงของคนไทยได้จริง คือ พัฒนาภาคเกษตรให้เป็นน้ำมันบนดินให้ได้ โดยใช้องค์ความรู้พัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้แข่งขันทางตลาดโลกได้
คำเตือนสำหรับสังคมไทยตอนนี้ คือ อย่ามีอบายมุขมาซ้ำเติม ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด การพนัน ถ้าเราไม่มีทางแห่งความเสื่อม อบายมุขมากนัก และขยันทำงานและก็มีทางที่เรียกว่าตาข่ายนิรภัยทดแทน สังคมไทยอยู่ได้ เข้าวัดตั้งสติ ฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ให้ปัญหาต่างๆ เข้าสู่ภาวะฝุ่นตลบ ถอนตัวเองออกจากสถานการณ์ที่เป็นปัญหา
มีหลักธรรมข้อไหนแนะนำ?
อิทธิบาท 4 นำไปสู่ความสำเร็จได้ โดยเดินทางสายกลาง ไม่เดินตามสิ่งที่เราเรียกว่า กิเลสตัณหา เริ่มต้นด้วย ฉันทะ คือ ความพอใจ เราต้องไม่ตามใจกิเลสตัณหา แต่ควรจะเป็นการพอใจกับสิ่งที่เป็นสาระจริงๆ จากนั้นตามด้วย วิริยะ ซึ่งจะทำให้เรามีความขยันอย่างคงเส้นคงวา เพราะเราไม่ได้เริ่มที่ความพอใจที่เป็นตัณหา ความขยันอย่างคงเส้นคงวาจะทำให้เกิด จิตตะ คือ จิตจดจ่อกับเรื่องนั้นต่อเนื่อง และทำให้มี วิมังสา คือ ใช้ปัญญาแก้ปัญหา เพราะมันคิดต่อเนื่องมาแล้ว
ในการสู้กับความยากลำบากคือ สร้างอิทธิบาทในสังคมไทยให้ได้ก่อน
ปีใหม่นี้เราควรจะเริ่มต้นชีวิตด้วยท่าทีอย่างไร
ตั้งเป้าหมายให้ห่างจากความอยากส่วนตัว มองเป้าหมายที่เป็นไปเพื่อส่วนรวม จากนั้นปลุกใจตัวเองให้อยู่กับเป้าหมายนั้น ที่สำคัญต้องมองหากัลยาณมิตร มองหาเพื่อนในทิศทางเดียวกัน อีกเรื่องหนึ่งคือ การคิดอย่างฉลาด ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ คือ คิดเป็น
"คิดให้ทุกข์น้อยลง มองโลกในแง่บวก"