ลักษณะการจัดหมวดหมู่ของแต่ละปิฎก
ได้กล่าวแล้วว่า พระไตรปิฎกนั้น แบ่งออกเป็นวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎก โดยลำดับ พระโบราณาจารย์ฝ่ายไทยได้ใช้วิธีย่อหัวข้อสำคัญในแต่ละปิฎก เพื่อจำง่ายเป็นอักษรย่อ ในการใช้อักษรย่อนั้น วินัยปิฎกมี ๕ คำ สุตตันตปิฎก ๕ คำ อภิมมปิฎก ๗ คำ ดังต่อไปนี้....
อภิธัมมปิฎก
หัวข้อย่อแห่งอภิธัมมปิฎกมี ๗ คือ สัง, วิ, ธา, ปุ, ก, ย, ป, ดังต่อไปนี้ :-
๑. สัง = สังคณี ว่าด้วยการรวมหมู่ธรรมะ คือธรรมะแม้จะมีมากเท่าไร ก็อาจรวมหรือจัดเป็นประเภท ๆ ได้เพียงไม่เกิน ๓ อย่าง
๒. วิ = วิภังค์ ว่าด้วยการแยกธรรมะออกเป็นข้อ ๆ เช่น เป็นขันธ์ ๕ เป็น เป็นต้น ทั้งสังคณีและวิภังค์นี้ เทียบด้วยคำว่าสังเคราะห์ ( Synthesis ) และวิเคราะห์ ( Analysis ) ในวิทยาศาสตร์ เป็นแต่เนื้อหาในทางศาสนากับทางวิทยาศาสตร์ มุ่งไปคนละทาง คงลงกันได้ไนหลักการว่า ควรเรียนรู้ทั้งในทางรวมกลุ่มและแยกกลุ่ม เช่น รถคันหนึ่งควรรู้ทั้งการประกอบเข้าเป็นคันรถ และแยกส่วนต่าง ๆ ออกฉะนั้น
๓. ธา = ธาตุถกา ว่าด้วยธาตุ คือธรรมะทุกอย่าง อาจจัดเป็นประเภทได้โดย ธาตุ อย่างไร
๔. ปุ = ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วยบัญญัติ ๖ ประการ เช่น บัญญัติขันธ์ บัญญัติอายตนะ จนถึงบัญญัติเรื่องบุคคล พร้อมทั้งแจกรายละเอียดเรื่องบัญญัติบุคคลต่าง ๆ ออกไป
๕. ก = กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถาม คำตอบ หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา (เพราะอรรถกถาจารย์กล่าวว่า เป็นคำถาม ๕๐๐ คำตอบ ๕๐๐ แต่ตัวเลข ๕๐๐ นี้ อาจหมายเพียงว่าหลายร้อย เพราะเท่าที่นับกันดูแล้ว ได้คำถาม คำตอบ อย่างละ ๒๑๙ ช้อ)
๖. ย = ยมก ว่าด้วยธรรมเป็นคู่ ๆ บางทีจัดคู่ก็มีลักษณะเป็นตรรกวิทยา ซึ่งจะได้กล่าวถึงใน ๓ ภาค ย่อความแห่งพระไตรปิฎก
๗. ป = ปัฏฐาน ว่าด้วยปัจจัย คือสนับสนุน ๒๔ ประการ
เป็นอันว่า หัวใจย่อแห่งพระไตรปิฎก คือ อา ปา ม จุ ป ; ที ม สัง อัง ขุ ; สัง วิ ธา ปุ ก ย ป มีรายละเอียดดังกล่าวมานี้
ลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
แม้ว่าพระไตรปิฎกจะนับว่าเป็นคัมภีร์สำคัญ และเป็นหลักฐานทางพระพุทธศาสนา แต่ก็มีคัมภีร์อื่นอีกที่เกี่ยวข้องด้วย จึงควรทราบลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไว้ดังต่อไปนี้ :-
๑. พระไตรปิฎก เป็นหลักฐานขั้น ๑ เรียกว่าบาลี
๒. คำอธิบายพระไตรปิฎก เป็นหลักฐานขั้น ๒ เรียกว่าอรรถกถา หรือวัณณนา
๓. คำอธิบายอรรกถา เป็นหลักชั้น ๓ เรียกว่าฎีกา
๔. คำอธิบายฎีกา เป็นหลักฐานชั้น ๔ เรียกว่าอนุฎีกา
นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์ที่แต่งขึ้น ว่าด้วยไวยกรณ์ภาษาบาลีฉบับต่าง ๆ และอธิบายศัพย์ต่าง ๆ เรียกรวมกันว่า สัททาวิเสส เป็นสำนวนที่เรียกกันในวงการนักศึกษาฝ่ายไทย ปรากฏในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อทำการสังคยานา ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๓๑ เพื่อชำระพระไตรปิฎกนั้น ได้มีการชำระคัมภีร์สัททวิเสสต่าง ๆ ด้วย โดยมีพระพุฒาจารย์เป็นแม่กอง
การจัดชั้นของบาลีอรรถกถา ก็เนื่องด้วยกาลเวลานั้นเอง พระไตรปิฎกเป็นของมีมาก่อน ก็จัดเป็นหลักฐานชั้น ๑ คำอธิบายพระไตรปิฎกแต่งขึ้นประมาณ ๙๕๖ ปีภายหลังพุทธปรินิพพาน จึงจัดเป็นชั้น ๒ ส่วนฎีกานั้น แต่งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๕๘๗ จึงนับเป็นหลักฐานชั้น ๓ อนึ่ง คัมภีร์อนุฎีกานั้น แต่งขึ้นภายหลังฎีกาในยุคต่อ ๆ มา เป็นคำอธิบายฎีกาอีกต่อหนึ่ง จึงนับเป็นหลักฐานชั้น ๔
อย่างไรก็ตาม แม้พระไตรปิฎกจะเป็นหลักฐานชั้น ๑ เมื่อพิจารณาตามหลักพระพุทธภาษิตในกาลามสูตร ท่านก็ไม่ให้ติดจนเกินไป ดังคำว่า มา ปิฎกสมฺปทาเนน อย่าถือโดยอ้างตำรา เพราะอาจมีผิดพลาดตกหล่นหรือบางตอนอาจเพิ่มเติมขึ้น แสดงว่าพระพุทธศาสนาสอนให้ใช้ปัญญาพิจราณาเหตุผล สอบสวนดูให้ประจักษ์แก่ใจตนเอง เป็นการสอนอย่างมีน้ำใจกว้างขวางและให้เสรีภาพแก่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่
นอกจากนั้นยังเป็นการยืนยันให้นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อได้ประจักษ์ผลนั้น ๆ ด้วยตนเอง แม้จะมีพระพุทธภาษิตเตือนไว้มิให้ติดตำราจนเกินไป แต่ก็จำเป็นต้องรักษาตำราไว้ เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษา เพราะถ้าไม่มีตำราเลยจะยิ่งซ้ำร้าย เพราะจะไม่มีแนวทางให้รู้จักพระพุทธศาสนาเลย ฉะนั้น การศึกษาให้รู้และเข้าใจในพระไตรปิฎก จึงเป็นลำดับแรก เรียกว่า ปริยัติ การลงมือกระทำตามโดยควรแก่จริตอัธยาศัยเรียกว่า ปริยัติ การได้รับผลแห่งการปฏิบัตินั้น ๆ เรียกว่า ปฎิเวธ
พระอภิธัมมปิฎก เล่ม ๑
เริ่มตั้งแต่เล่มที่ ๓๔ ถึงเล่มที่ ๔๕ รวมเป็น ๑๒ เล่ม
(เมื่อมาถึงอภิธัมมปิฎก ท่านผู้อ่านโปรดเข้าใจไว้ด้วยว่า ข้อความที่จะย่อต่อไปนี้ เป็นการกล่าว ถึงหลักธรรมล้วน ๆ ไม่มีพาดพิงถึงบุคคล, เหตุการณ์ และเรื่องราวต่าง ๆ จะขออุปมาพอเข้าใจเป็นการเปรียบเทียบ คือบุคคล คณะหนึ่งเดินทางไปโดยรถยนต์ วินัยปิฎก เปรียบเหมือนการกล่าวถึงจรรยา มารยาทของบุคคลเหล่านั้น สุตตันตปิฎก เปรียบ เหมือนการกล่าวถึงเหตุการณ์ และบุคคล ตลอดจนข้อเตือนใจที่ได้พบปะระหว่างทาง ส่วนอภิธัมมปิฎก เลิกพูดถึงเรื่องบุคคล แต่ พูดถึงเครื่องยนต์กลไกในรถยนต์ หรือส่วนประกอบต่าง ๆในร่างกายจิตใจคน เป็นวิชาล้วน ๆ ซึ่งไม่มีนิทานหรือเรื่องสนุกอื่น ๆ ประกอบ โดยทั่วไปจึงรู้สึกกันว่า อภิธัมมปิฎกเข้าใจยาก แต่ถ้าสนใจศึกษาพิจารณาหรือทำความเข้าใจตาม โดยไม่กลัวความยาก จนเกินไป ก็จะเกิดความเพลิดเพลินในธรรม ในหลักวิชา. ตามที่ได้สังเกตมาผู้ศึกษาอภิธรรม มักจะติดใจเพลิดเพลินในความยาก แต่มีเหตุผลเกี่ยวโยงกันหลายแง่หลายมุม. เพราะฉะนั้น ในการย่อความต่อไปนี้ จะพยายามทำให้เข้าใจง่ายเท่าที่สามารถจะทำได้ ข้อความใดไม่ชัด จะทำคำอธิบายไว้ในวงเล็บ ในเชิงอรรถ เพื่อให้เข้าใจชัดขึ้น.
ความจริง คำว่า อภิธรรม ซึ่งหมายถึงธรรมอันยิ่งนั้น มิใช่มีแต่ในอภิธัมมปิฎกเท่านั้น แม้ใน สุตตันตปิฎกก็มีอยู่ทั่วไป คือตอนใดพูดถึงหลักธรรมล้วน ๆ ไม่กล่าวถึงบุคคลและเหตุการณ์ ตอนนั้นย่อมเป็นอภิธรรม ขอยกตัว อย่างข้อความในกินนิสูตร อันเป็นสูตรที่ ๓ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ และได้ย่อไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ ในเชิงอรรถ,หมายเลขที่ ๒. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้ามีภิกษุ ๒ รูป พูดไม่ลงกัน ใน อภิธรรม ภิกษุ ( ผู้หวังจะระงับข้อโต้เถียง ) พึงเข้าไปหาภิกษุที่ว่าง่ายกว่า พูดให้รู้ถึงความต่าง กันโดยอรรถะพยัญชนะ เตือนอย่าให้วิวาทกัน อันไหนถือมาผิดหรือเรียนมาผิด ก็พึงกำหนดไว้แล้วกล่าวแต่ที่ถูกธรรมถูกวินัย. คำว่าอภิธรรมในพระสูตรที่กล่าวนี้ อรรถกถาแก้ว่า ได้แก่โพธิปักขิยธรรม ( ธรรมอันเป็นฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ) ๓๗ ประการ มี สติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ อย่าง เป็นต้น มีอริยมรรค ( ทางหรือข้อปฏิบัติอันประเสริฐ ) ๘ อย่างเป็นที่สุด เมื่อโพธิปักขิยธรรม มีความหมายเป็นอภิธรรมได้ เราก็เห็นได้ชัดว่า เพราะมีเนื้อหาเป็นธรรมะล้วน ๆ นั้นเอง.
ผู้ที่ทราบหลักการข้อนี้ จึงมองเห็นอภิธรรมได้ในเรื่องราวทุกอย่าง เป็นแต่ให้รู้จักถอดธรรมะ เป็นเท่านั้น ขอยกตัวอย่าง หลักธรรมในพระสูตร ที่มีลักษณะเป็นอภิธรรม คือเป็นหลักธรรมล้วน ๆ ไม่เกี่ยวด้วยสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขาอีกสักข้อหนึ่ง เพื่อให้เห็นความเกี่ยวโยงอย่างน่าสนใจในธรรมะ คือเรื่องเวทนา.
๑. เวทนา หรืความรู้สึกอารมณ์ เป็นสุข เป็นทุกข์หรือไม่ทุกข์ไม่สุขนั้น มีชื่อเรียกว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนาโดยลำดับ เรื่องนี้เป็นการแบ่งตามข้อเท็จจริงธรรมดา.
๒. เวทนา หรืความรู้สึกอารมณ์ เป็นสุข เป็นทุกข์หรือไม่ทุกข์ไม่สุขนี้ จัดว่าเป็นทุกข์ คือทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป เพราะฉะนั้น สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ไม่ทุกข์ไม่สุขก็ตาม นับว่าเป็นทุกข์ คือทนอยู่ไม่ได้ ทั้งสิ้น. ข้อนี้ก็เป็นการกล่าวตามข้อเท็จจริง แต่ว่ามองในอีกแง่หนึ่ง คือแง่ที่ว่า ทนอยู่ไม่ได้ จึงชื่อว่าเป็นทุกข์.
๓. ในกรณีที่เวทนามีเพียง ๒ ข้อ คือพระผู้มีพระภาคตรัสว่า กล่าวโดยนัยหนึ่ง เวทนา คือความรู้สึกอารมณ์นั้น มี ๒ อย่างเท่านั้น คือ สุข กับ ทุกข์. ก็เกิดปัญหาขึ้นว่าความรู้สึกเฉย ๆ คือไม่ทุกข์ไม่สุขจะเอาไปไว้ ที่ไหน ตอบว่า ความรู้สึกเฉย ๆ จัดเข้าในสุข คือเมื่อไม่ทุกข์ ก็จัดเข้าในสุขได้ นี่ก็เป็นการกล่าวตามข้อเท็จจริงอีกแง่หนึ่ง.
๔. เกิดปัญหาขึ้นอีกว่า ทุกข์เป็นทุกข์นั้น ลงตัวอยู่แล้ว แต่สุขกับไม่ทุกข์ไม่สุข ทำไม จึงกลายเป็นทุกข์ไปได้ ก็จะต้องตอบย้อนไปหาเหตุผลข้อที่ ๒ อีก คือจะต้องเข้าใจความหมายของคำว่า ทุกข์ ที่ชี้ไปถึงความ ทนอยู่ไม่ได้ เพราะสุขก็ไม่คงที่ ไม่ทุกข์ไม่สุขก็ไม่คงที่ มีความแปรปรวนไปทนอยู่ไม่ได้ จึงจัดว่าเป็นทุกข์.
หลักวิชาดั่งกล่าวข้างบนนี้ เป็นการวิเคราะห์ตามแนวพระสูตรล้วน ๆ แต่ก็มีลีลาเป็น อภิธรรมอยู่ในตัว, เพราะฉะนั้น ธรรมะอันยิ่ง ธรรมะล้วน ๆ หรืออภิธรรมนั้นย่อมมีอยู่ แม้ในพระสูตร ถ้าเข้าใจความหมาย หรือ ถอดความได้ ).
อภิธรรม ๗ คัมภีร์
ชาวไทยนิยมเรียกอภิธัมมปิฎกว่า อภิธรรม๑ ๗ คัมภีร์ ก็เพราะอภิธัมมปิฎกแยกเป็นหัวข้อสำคัญ ๗ ข้อ คือ :-
๑. ธัมมสังคณี ว่าด้วยการ " รวมกลุ่มธรรมะ " คือจัดระเบียบธรรมะต่าง ๆ ที่กระจายกันอยู่มากมายมาไว้ในหัวข้อสั้น ๆ เทียบด้วยการนำเครื่องประกอบต่าง ๆ ของนาฬิกามาคุมกันเข้าเป็นนาฬิกาทั้งเรือน มีเล่มเดียว คือเล่มที่ ๓๔.
๒. วิภังค์ ว่าด้วยการ " แยกกลุ่ม " คือกระจายออกไปจากกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ เห็นรายละเอียด เช่น ขันธ์ ๕ มีอะไรบ้าง แต่ละข้อนั้นแยกออกไปอย่างไรได้อีก เทียบด้วยการถอดส่วนประกอบของนาฬิกา ออกมาจากที่รวมกันอยู่เดิม มีเล่มเดียว คือเล่มที่ ๓๕.
๓. ธาตุกถา ว่าด้วย " ธาตุ " คือสิ่งที่เป็นต้นเดิมในทางธรรม ( โปรด เข้าใจว่า เป็นคนละอย่างกับธาตุทางวิทยาศาสตร์ เพราะทางธรรมมุ่งคติสอนใจ สิ่งที่เป็นต้นเดิมทางธรรม จึงมีความหมายตาม คติธรรม ) มีเล่มเดียว คือเล่มที่ ๓๖ อนึ่ง เล่มที่ ๓๖ นี้ ยังมีปุคคลบัญญัติรวมอยู่ด้วย.
๔. ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วย " การบัญญัติบุคคล " โดยกล่าวถึงคุณธรรมสูง ต่ำของบุคคล เช่น คำว่า " สมยวิมุตฺโต " " ผู้พ้นเป็นคราว ๆ " คือบางคราวก็ละกิเลสได้ บางคราวก็ละไม่ได้ " อสมย- วิมุตฺโต " " ผู้พ้นตลอดไปไม่ขึ้นอยู่กับคราวสมัย " ได้แก่ผู้ละกิเลสได้เด็ดขาด เป็นต้น รวมอยู่ในเล่มที่ ๓๖ เป็นอันว่าเล่มที่ ๓๖ มี ๒ หัวข้อ.
๕. กถาวัตถุ ว่าด้วย " เรื่องของถ้อยคำ " คือการตั้งคำถามคำตอบ เพื่อชี้ให้ เห็นหลักธรรมที่ถูกต้องทางพระพุทธศาสนา มีเล่มเดียว คือเล่มที่ ๓๗.
๖. ยมก ว่าด้วย " ธรรมะที่เป็นคู่ " คือการจัดธรรมะเป็นคู่ ๆ โดยอาศัยหลัก การต่าง ๆ มี ๒ เล่ม คือเล่มที่ ๓๘ และ ๓๙.
๗. ปัฏฐาน ว่าด้วย " ที่ตั้ง คือปัจจัย ๒๔ " แสดงว่าอะไรเป็นปัจจัยของ อะไรในทางธรรม มี ๖ เล่ม คือเล่มที่ ๔๐, ๔๑, ๔๒, ๔๓, ๔๔ และ ๔๕ .
เฉพาะเล่มที่ ๓๔ ซึ่งมีชื่อว่า " ธัมมสังคณี " ( รวมกลุ่มธรรมะ ) นั้น แบ่งออก เป็น ๕ หัวข้อใหญ่ ดังต่อไปนี้ :-
๑. หัวข้อที่เป็นกระทู้ธรรมหรือแม่บท ( มาติกา ) เท่ากับเป็นแก่นหรือ สาระสำคัญของ ธัมมสังคณี แต่มีย่อมาก จึงจำเป็นต้องมีหัวข้ออื่น ๆ ต่อ ๆ ไปอีก ๔ ข้อ เพื่อช่วยขยายความ.
๒. คำอธิบายเรื่องจิตว่าเกิดขึ้นอย่างไร ( จิตตุปปาทกัณฑ์ ) เป็นคำ อธิบายเพียงบางส่วนของมาติกาหรือแม่บท เฉพาะที่เกี่ยวกับจิตกับธรรมะที่เนื่องด้วยจิต ( ที่เรียกว่าเจตสิก ) จัดว่าเป็นคำอธิบาย ที่พิสดารที่สุดกว่าหัวข้อทุก ๆ หัวข้อ.
๓. คำอธิบายเรื่องรูปคือส่วนที่เป็นร่างกาย ( รูปกัณฑ์ ) เมื่อแยกพูด เรื่องจิตและเจตสิกไว้ใน ข้อที่ ๒ แล้ว จึงพูดเรื่องรูปหรือกายไว้ในข้อที่ ๓ นี้.
๔. คำอธิบายแม่บทหรือมาติกาที่ตั้งไว้ในข้อหนึ่ง หมดทุกข้อ ( นิกเขปกัณฑ์ ) เป็นการอธิบายบทตั้งทุกบทด้วยคำอธิบายขนาดกลาง ไม่ยาวเกินไป ไม่สั้นเกินไป. ไม่เหมือนกับข้อ ๒ และข้อ ๓ ซึ่งอธิบายเฉพาะบทตั้งเพียงบางบทอย่างพิสดาร.
๕. คำอธิบายแม่บทหรือมาติกาที่ตั้งไว้ในข้อหนึ่งแบบรวบรัดหมดทุกข้อ ( อัตถุทธารกัณฑ์ )๒ หัวข้อนี้อธิบายอย่างย่อมาก.
เมื่ออ่านมาถึงเพียงนี้ ก็พอจะเห็นเค้าโครงแห่ง ธัมมสังคณี บ้างแล้ว ว่าแบ่ง ออกเป็น ๕ ส่วนอย่างไร และมีหลักเกณฑ์ในการแบ่งหัวข้ออย่างไร ต่อนี้ไป จะขยายความให้เห็นเนื้อหาของพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ เป็นลำดับไป.
ขยายความ เล่มที่ ๓๔
ธัมมสังคณี ( รวมกลุ่มธรรมะ )
๑. แม่บทหรือมาติกา
แม่บทหรือมาติกานี้ แบ่งออกเป็น ๒ หัวข้อใหญ่ คือ อภิธัมมมาติกา ได้แก่ แม่บทหรือกระทู้ธรรมที่เป็นฝ่ายอภิธรรมอย่างหนึ่ง. สุตตันตมาติกา ได้แก่แม่บทหรือกระทู้ธรรมที่ฝ่ายพระสูตร คือนำ ธรรมะจากพระสูตรมาตั้งเทียบเคียงให้ดูอีกอย่างหนึ่ง. แม่บทฝ่ายพระสูตรไม่มีหัวย่อย คงกล่าวถึงชื่อธรรมะต่าง ๆ แต่ต้นจนจบ ส่วนแม่บทฝ่ายอภิธรรม แบ่งออกเป็นหัวข้อย่อย ๑๔ หัวข้อดังต่อไปนี้ :-
ก. แม่บทหรือบทตั้งฝ่ายอภิธรรม
( อภิธัมมมาติกา )
๑. แม่บท ว่าด้วยการจัดธรรมะเป็นหมวดละ ๓ ข้อ รวม ๒๒ หมวด ( พาวี- สติติกมาติกา ) คือ :-
(๑) ธรรมที่เป็นกุศล ( คือฝ่ายดี ), ธรรมที่เป็นอกุศล ( คือฝ่ายชั่ว ), ธรรมที่เป็นอัพยากฤต ( คือพระผู้มีพระภาคไม่ตรัสชี้ลงไปว่า เป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว จะว่าเป็นกลาง ๆ ก็ได้ ) .
(๒) ธรรมที่ประกอบด้วยเวทนา ( คือความรู้สึกอารมณ์ ) ที่เป็นสุข, ที่เป็นทุกข์, ที่ไม่ ทุกข์ไม่สุข.
(๓) ธรรมที่เป็นวิบาก ( คือเป็นผล ) ธรรมที่มีผลเป็นธรรมดา ( คือเป็นเหตุ ), ธรรมที่ ไม่เป็นทั้ง ๒ อย่างข้างต้น ( คือไม่ใช่ผล ไม่ใช่เหตุ ),
(๔) ธรรมที่ถูกยึดถือและเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ, ธรรมที่ไม่ถูกยึดถือ แต่เป็นที่ตั้ง แห่งความยึดถือ, ธรรมที่ไม่ถูกยึดถือและไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ.
(๕) ธรรมที่เศร้าหมองและเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง, ธรรมที่ไม่เศร้าหมอง แต่เป็น ที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง, ธรรมที่ไม่เศร้าหมองและไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง.
(๖) ธรรมที่มีวิตก ( ความตรึก ) และมีวิจาร ( ความตรอง ), ธรรมที่ไม่มีวิตก ( ความ ตรึก ) มีแต่ เพียงวิจาร ( ความตรอง ), ธรรมที่ไม่มีทั้งวิตก ไม่มีทั้งวิจาร.
(๗) ธรรมที่ประกอบด้วยปีติ ( ความอิ่มใจ ), ธรรมที่ประกอบด้วยความสุข, ธรรมที่ ประกอบด้วยอุเบกขา ( ความวางเฉย ).
(๘) ธรรมที่ละได้ด้วยทัสสนะ ( =การเห็น, คือธรรมที่ละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค ), ธรรมที่ละได้ด้วยภาวนา( =การอบรม, คือธรรมที่ละได้ด้วยสกทาคามิมรรค, อนาคามิมรรค, อรหัตตมรรค ), ธรรมที่ละไม่ได้ด้วย ทัสสนะ ละไม่ได้ด้วยภาวนา.๓
(๙) ธรรมที่มีเหตุอันพึงละได้ด้วยทัสสนะ ( ละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค ), ธรรมที่มีเหตุ อันพึงละได้ด้วยภาวนา ( ละได้ด้วยอริยมรรคทั้งสามเบื้องบน ), ธรรมที่มีเหตุอันพึงละไม่ได้ทั้งด้วยทัสสนะทั้งด้วยภาวนา. ๔
(๑๐) ธรรมที่ไปสู่ความสั่งสมกิเลส, ธรรมที่ไม่ไปสู่ความสั่งสมกิเลส, ธรรมที่ไม่เป็น ทั้งสองอย่างนั้น.
(๑๑) ธรรมที่เป็นของพระอริยบุคคลผู้ยังศึกษา (ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคจนถึง อรหัตตมรรค รวม ๗ ประเภท ), ธรรมที่เป็นของพระอริยบุคคลผู้ไม่ต้องศึกษา ( ผู้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ), ธรรมที่ไม่เป็นทั้งสอง อย่างนั้น.
(๑๒) ธรรมที่เป็นของเล็กน้อย ( =ปริตตะ คือเป็นกามาวจร ยังท่องเที่ยวอยู่ในกาม ), ธรรมที่เป็นของใหญ่ ( =มหัตคตะ คือเป็นรูปฌานหรืออรูปฌาน ), ธรรมที่ไม่มีประมาณ ( คือเป็นโลกุตตรธรรม ได้แก่ มรรค, ผล, นิพพาน ).
(๑๓) ธรรมที่มีอารมณ์เล็กน้อย, ธรรมที่มีอารมณ์ใหญ่, ธรรมที่มีอารมณ์ไม่ประมาณ.
(๑๔) ธรรมอันเลว ( อกุศลธรรม ), ธรรมอันปานกลาง ( ธรรมที่เป็นกุศลและอัพยากฤต ที่ยังมีอาสวะ ), ธรรมอันประณีต ( โลกุตตรธรรม ).
(๑๕) ธรรมที่เป็นฝ่ายผิดและแน่นอน, ธรรมที่เป็นฝ่ายถูกและแน่นอน, ธรรมที่ไม่แน่ นอน.๕
(๑๖) ธรรมที่มีมรรคเป็นอารมณ์, ธรรมที่มีมรรเป็นเหตุ, ธรรมที่มีมรรคเป็นใหญ่ ( อธิบดี ).
(๑๗) ธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว, ธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น, ธรรมที่จักเกิดขึ้น.
(๑๘) ธรรมที่เป็นอดีต, ธรรมที่เป็นอนาคต, ธรรมที่เป็นปัจจุบัน.
(๑๙) ธรรมที่มีอารมณ์เป็นอดีต, ธรรมที่มีอารมณ์เป็นอนาคต, ธรรมที่มีอารมณ์เป็น ปัจจุบัน.
(๒๐) ธรรมที่เป็นภายใน, ธรรมที่เป็นภายนอก, ธรรมที่เป็นภายในและภายนอก.
(๒๑) ธรรมที่มีอารมณ์ภายใน, ธรรมที่มีอารมณ์ภายนอก, ธรรมที่มีอารมณ์ภายใน และภายนอก.
(๒๒) ธรรมที่เห็นได้และถูกต้องได้, ธรรมที่เห็นไม่ได้ แต่ถูกต้องได้, ธรรมที่เห็น ไม่ได้และถูกต้องไม่ได้.
๒. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มเหตุ ( เหตุโคจฉกะ )
มี ๖ คู่ คือ ๑. ธรรมที่เป็นเหตุ, ธรรมที่มิใช่เหตุ ; ๒. ธรรมที่มีเหตุ, ธรรมที่ไม่มีเหตุ เป็นต้น.
๓. แม่บทหรือบทตั้งหมวดสองข้อไม่สัมพันธ์กัน คู่น้อย ( จูฬันตรทุกะ)
มี ๗ คู่ คือ ๑. ธรรมที่มีปัจจัย, ธรรมที่ไม่มีปัจจัย ; ๒. ธรรมที่เป็นสังขตะ ( ถูก ปัจจัยปรุงแต่ง ) ; ธรรมที่เป็นอสังขตะ ( ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ) เป็นต้น.
๔. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มอาสวะ ( อาสวโคจฉกะ )
มี ๖ คู่ คือ ๑. ธรรมที่เป็นอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ), ธรรมที่มิใช่อาสวะ ; ๒. ธรรมที่อาสวะ, ธรรมที่ไม่มีอาสวะ เป็นต้น.
๕. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มสัญโญชน์ ( สัญโญชนโคจฉกะ )
มี ๖ คู่ คือ ๑. ธรรมที่เป็นสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องผูกมัด ), ธรรมที่ไม่เป็นสัญโญชน์ ; ๒. ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์, ธรรมที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ เป็นต้น.
๖. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มคันถะ ( คันถโคจฉกะ )
มี ๖ คู่ คือ ๑. ธรรมอันเป็นคันถะ ( กิเลสเครื่องร้อยรัด ), ธรรมที่ไม่เป็นคันถะ ; ๒. ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งคันถะ, ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งคันถะ เป็นต้น.
๗. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มโอฆะ ( โอฆโคจฉกะ )
มี ๖ คู่ คือ ๑. ธรรมอันเป็นโอฆะ ( กิเลสเครื่องทำสัตว์ให้จมลงในวัฏฏะ คือความ เวียนว่ายตายเกิด ), ธรรมอันไม่เป็นโอฆะ ; ๒. ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโอฆะ, ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งโอฆะ เป็นต้น.
๘. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มโยคะ ( โยคโคจฉกะ )
มี ๖ คู่ คือ ๑. ธรรมอันเป็นโยคะ ( กิเลสเครื่องประกอบหรือผูกสัตว์ไว้ในวัฏฏะ), ธรรมที่ไม่เป็นโยคะ ; ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโยคะ, ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งโยคะ เป็นต้น.
๙. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มนีวรณ์ ( นีวรณโคจฉกะ )
มี ๖ คู่ คือ ๑. ธรรมอันเป็นนีวรณ์ ( กิเลสเครื่องกั้นจิตรัดรึงจิต ), ธรรมอันไม่เป็น นีวรณ์ ; ๒. ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งนีวรณ์, ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งนีวรณ์ เป็นต้น.
๑๐. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มปรามาส ( ปรามาสโคจฉกะ )
มี ๕ คู่ คือ ๑. ธรรมอันเป็นปรามาส ( กิเลสเครื่องจับต้องในทางที่ผิดความจริง ), ธรรมอันไม่เป็นปรามาส เป็นต้น.
๑๑. แม่บทหรือบทตั้งหมวดสองข้อที่ไม่สัมพันธ์กัน คู่ใหญ่ ( มหันตรทุกะ ) ๖
มี ๑๔ คู่ คือ ๑. ธรรมที่มีอารมณ์, ธรรมที่ไม่มีอารมณ์ ; ๒. ธรรมที่เป็นจิต, ธรรมที่ มิใช่จิต เป็นต้น. ( ได้แปลคำอธิบายธรรมเหล่านี้ไว้เพียง ๙ คู่ ในหน้าในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๘๖-๙๔ เป็นการแปลตามคำ อธิบายแบบสั้น จากอัตถุทธารกัณฑ์ เล่มที่ ๓๔ นี้เอง ).
๑๒. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยอุปาทาน ( อุปาทานโคจฉกะ )
มี ๖ คู่ คือ ๑. ธรรมอันเป็นอุปาทาน ( เป็นเหตุยึดถือ ), ธรรมอันไม่เป็นอุปาทาน ; ๒. ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน, ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน เป็นต้น.
๑๓. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกิเลส ( กิเลสโคจฉกะ )
มี ๘ คู่ คือ ๑. ธรรมอันเป็นกิเลส ( เครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ), ธรรมอันไม่เป็นกิเลส ; ๒. ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส, ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลส.
๑๔. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยหมวด ๒ อันรั้งท้าย ( ปิฏฐิทุกะ )
มี ๑๘ คู่ คือ ๑. ธรรมที่พึงละด้วยทัสสนะ ( ละด้วยการเห็น คือละด้วยโสดาปัตติ มรรคอันเห็นนิพพาน ), ธรรมที่ไม่พึงละด้วยทัสสนะ ; ๒. ธรรมที่พึงละด้วยการเจริญ ( ละด้วยการเจริญ คืออริยมรรคทั้งสาม เบื้องบน, ธรรมที่ไม่พึงละด้วยการเจริญ เป็นต้น.
( จบแม่บทฝ่ายอภิธรรม )
________________________________________
'๑' . คำว่า อภิธัมม เขียนตามแบบบาลี, อภิธรรม เขียนตามแบบไทย ซึ่งแปลงมาจากสันสกฤต อภิธรฺม
'๒' . อรรถกถาเรียกว่า " อัตถกถากัณฑ์ " โดยชี้แจงว่าศิษย์ของพระสาริบุตรไม่เข้าใจ พระสาริบุตรจึงพา ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคให้ตรัสอธิบาย
'๓' . ได้แก่สัญโญชน์ ๓ สำหรับข้อแรก, สัญโญชน์ ๓, ๕, ๑๐ สำหรับข้อ ๒, และธรรมที่ฝ่ายกุศลและ กลาง ๆ สำหรับข้อ ๓ ดูคำอธิบายข้างหน้าและดูเชิงอรรถหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ซึ่งมี เขียนไว้ดังนี้ว่า สัญโญชน์ ๓ คือสักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน วิจิกิจฉา ความสงสัยในพระรัตนตรัยและสีลัพพต- ปรามาส การลูบคลำศีลและพรต คือถือโชคลาง หรือติดในลัทธิพิธี และดูหน้า ( พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๓ ) ด้วย วรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐
'๔' . คำว่า เหตุ ในที่นี้ กล่าวตามสำนวนอภิธรรม หมายถึงสัมปยุตตเหตุ คือเหตุที่เกิดขึ้นผสม ได้แก่เหตุ ฝ่ายชั่วคือกิเลสที่มาผสมกับนามธรรม และเป็นสมุฏฐานแห่งกายกรรม, วจีกรรม, มโนกรรม.
'๕' . คำว่าแน่นอน ไม่แน่นอน หมายถึงแน่นอนในการให้ผล ฝ่ายผิดคืออนันตริยกรรม ๕ และความเห็นผิด อย่างแรง ฝ่ายถูกคืออริยมรรค ๔ ธรรมที่ไม่แน่นอน คือนอกจากสองข้อที่กล่าวแล้ว
'๖' . คำว่า ไม่สัมพันธ์กัน คือในหมวดนี้ ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่เลือกธรรมะมากล่าวเป็นคู่ ๆ ไม่เหมือน หมวดที่มีคำว่า โคจฉกะ ซึ่งเป็นเรื่องประเภทเดียวกันตลอด
ข. แม่บทหรือบทตั้งฝ่ายพระสูตร
( สุตตันตมาติกา )
ได้กล่าวไว้แล้วว่า ในแม่บทของเล่มที่ ๓๔ นี้ แบ่งหัวข้อหรือแม่บทใหญ่ออกเป็นฝ่ายอภิธรรม กับฝ่ายพระสูตร เพื่อให้เทียบเคียงกันดู. แม่บทฝ่ายอภิธรรมมี ๑๒๒ หัวข้อ ( หัวข้อละ ๓ ประเด็น มี ๒๒, หัวข้อละ ๒ ประเด็น มี ๑๐๐ ) ส่วนแม่บทฝ่ายพระสูตร มี ๔๒ หัวข้อ ( หัวข้อละ ๒ ประเด็น ) แต่ไม่มีคำอธิบายแม่บทฝ่ายพระสูตร คง นำมาตั้งไว้ให้ทราบเท่านั้น ดังจะนำมากล่าวสัก ๑๐ ข้อ คือ :-
๑. ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา, ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งอวิชชา ;
๒. ธรรมอันอุปมาด้วยสายฟ้า, ธรรมอันอุปมาด้วยเพชร ;
๓. ธรรมอันเป็นของคนพาล, ธรรมอันเป็นของบัณฑิต ;
๔. ธรรมดำ, ธรรมขาว ;
๕. ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน, ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน ;
๖. ธรรมคือคำร้องเรียก, ธรรมคือทางแห่งคำร้องเรียก ;
๗. ธรรมคือภาษาพูด, ธรรมคือทางแห่งภาษาพูด ;
๘. ธรรมคือบัญญัติ, ธรรมคือทางแห่งบัญญัติ ;
๙. นาม, รูป ;
๑๐. อวิชชา, ภวตัณหา ( ความทะยานอยากมี อยากเป็น ) เป็นต้น ฯลฯ.
( หมายเหตุ : ในบทตั้งหรือแม่บท ๑๖๔ หัวข้ออันแจกรายละเอียดออกไปเป็นฝ่ายพระ อภิธรรม ๒๖๖ ประเด็น, เป็นฝ่ายพระสูตร ๘๔ ประเด็น, รวมทั้งสิ้น ๓๕๐ ประเด็น แต่นำมาตั้งให้เห็นเพียง ๔๕ หัวข้อ หรือ ๑๓๘ ประเด็น ที่เหลือได้ละไว้ด้วยคำว่า เป็นต้น นั้น ด้วยเจตนาจะแสดงรายการหรือประเด็นที่สำคัญ ส่วนปลีกย่อยก็ผ่านไป. ความจริงเท่าที่พระท่านสวด ท่านสวดบทตั้งของคัมภีร์ " ธัมมสังคณี " คือพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๔ นี้ โดยทั่วไปนั้น คงสวด เพียง ๒๒ หัวข้อแรก ที่แบ่งออกเป็นหัวข้อละ ๓ ประเด็น รวมทั้งสิ้น ๖๖ ประเด็นเท่านั้น ในที่นี้แสดงไว้ถึง ๔๕ หัวข้ออัน แบ่งออกเป็น ๑๓๘ ประเด็น เพื่อให้เห็นหน้าตาชัดเจนยิ่งขึ้น แท้จริงในการอธิบายรายละเอียดเป็นร้อย ๆหน้าในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ เอง ก็อธิบายหนักไปในหัวข้อแรก ๓ ประเด็น คือ กุสลา ธมฺมา ( ธรรมอันเป็นกุศล ), อกุสลา ธมฺมา ( ธรรมอัน เป็นอกุศล ) อพฺยากตา ธมฺมา ( ธรรมอันเป็นอัพยากฤต คือเป็นกลาง ๆ ) เท่านั้น นอกจากนั้นก็เป็นคำอธิบายเรื่อง " รูป " กับ อธิบายบทตั้งอื่น ๆ อย่างสั้น ๆ ท่านผู้อ่านจึงชื่อว่ามิได้ผ่านสาระสำคัญไปในการย่อครั้งนี้ ).
๒. คำอธิบายเรื่องจิตเกิด ( จิตตุปปาทกัณฑ์ )
ข้อความในกัณฑ์นี้ มี ๑๗๕ หน้า อธิบายเพียงหัวข้อแรก อันแบ่งเป็น ๓ ประเด็น คือธรรมอันเป็นกุศล, อกุศล, และอัพยากฤตหรือกลาง ๆ เท่านั้น. พึงทราบว่า ความมุ่งหมายยังแคบเข้ามาอีก คือธรรมทั้งสาม นั้น ท่านชี้ไปที่ จิต และสิ่งที่เนื่องด้วยจิต ที่เรียกว่า เจตสิก ดังหัวข้อย่อย ๆที่จะกล่าวต่อไปนี้ :-
จิตทั่วไป
๑. จิต แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ กุศลฝ่ายดี, อกุศลฝ่ายชั่ว, อัพยากฤต คือกลาง ๆ.
จิตฝ่ายกุศล
๒. จิตที่เป็นกุศลหรือกุศลจิต แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ตามภูมิชั้นที่ ต่ำและสูง คือ :-
( ๑ ) กามาวจร คือจิตที่ท่องเที่ยวไปในกาม ที่เป็นฝ่ายกุศล๑มี ๘
( ๒ ) รูปาวจร คือจิตที่ท่องเที่ยวไปในรูปที่เป็นฝ่ายกุศล ( หมายถึงจิตที่ได้ ฌาน คือฌานที่เพ่งรูปเป็นอารมณ์ ) มี ๕
( ๓ ) อรูปาวจร คือจิตที่ท่องเที่ยวไปในอรูปที่เป็นฝ่ายกุศล ( หมายถึงจิตที่ ได้อรูปฌาน คือฌานที่เพ่งนาม หรือสิ่งที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ) มี ๔.
( ๔ ) โลกุตตระ คือจิตที่พ้นจากโลก ( หมายถึงจิตที่เป็นมรรค ๔ ) มี ๔.
รวมเป็นจิตที่เป็นฝ่ายกุศล หรือฝ่ายดี ๔ ประเภทใหญ่ แบ่งเป็น ๒๑ ชนิด.
จิตฝ่ายอกุศล
๓. จิตที่เป็นอกุศลหรืออกุศลจิต มีประเภทเดียว คือกามาวจร คือจิตที่ ยังท่องเที่ยวอยู่ในกาม สูงขึ้นไปกว่านั้นไม่มีอกุศล. จิตที่เป็นอกุศลนี้ เป็นจิตประกอบด้วยความโลภ ๘, ความคิดประทุษร้าย หรือโทสะ ๒, ความหลงหรือโมหะ ๒ จึงรวมเป็น ๑๒ ชนิด.
จิตที่เป็นกลาง ๆ
๔. จิตที่เป็นอัพยากฤต คือที่พระพุทธเจ้าไม่ตรัสพยากรณ์ หรือชี้ลงไปว่า เป็นกุศล หรืออกุศล จึงหมายถึงจิตที่เป็นกลาง ๆ หรือเรียกว่า อัพยากตจิต แบ่งออกเป็น ๔ ประเภทใหญ่เหมือนกุศล คือ จิตที่เป็นกลาง ๆ นี้ มีได้ทั้ง ๔ ภูมิ เช่นเดียวกับกุศลจิต คือ :-
( ๑ ) กามาวจร คือจิตที่ท่องเที่ยวไปในกาม ที่เป็นอัพยากฤตหรือเป็นกลาง ๆ มี ๓๔ ชนิด แบ่งเป็นวิบากจิต ( จิตที่เป็นผล ) ๒๓, กิริยาจิต ( จิตที่เป็นเพียงกิริยา ) ๑๑.
( ๒ ) รูปาวจร คือจิตที่ท่องเที่ยวไปในรูป ที่เป็นอัพยากฤตหรือเป็นกลาง ๆ มี ๑๐ ชนิด คือเป็นวิบากจิต ( จิตที่เป็นผล ) ๕, กิริยาจิต ( จิตที่เป็นกิริยา ) ๕.
( ๓ ) อรูปาวจร คือจิตที่ท่องเที่ยวไปในอรูป ที่เป็นอัพยากฤตหรือเป็นกลาง ๆ มี ๘ ชนิด คือเป็นวิบากจิต ๔, กิริยาจิต ๔.
( ๔ ) โลกุตตระ คือจิตที่พ้นจากโลก ที่เป็นอัพยากฤตหรือเป็นกลาง ๆ มี ๔ ชนิด คือเป็นวิบากจิต ๔.
รวมทั้ง ๔ ประเภท คือกามาวจร ๓๔, รูปาวจร ๑๐, อรูปาวจร ๘ และโลกุตตระ ๔ จึงมีอัพยากตจิตหรือจิตที่เป็นกลาง ๆ ทั้งสิ้น ๕๖ ชนิด และเมื่อรวมกุศลจิต ๒๑, อกุศลจิต ๑๒, อัพยากตจิต ๕๖ จึงเป็นจิต ๘๙ ชนิด,๒ อนึ่ง เพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขอแสดงโดยแผนผัง ดังต่อไปนี้ :-
________________________________________
'๑' . ที่ใช้คำว่า เป็นฝ่ายกุศลกำกับเพื่อไม่ให้หลงหัวข้อ เพราะในที่นี้กล่าวเฉพาะกุศลหรือฝ่ายดีเท่านั้น ยังมี ฝ่ายที่เป็นกลาง ๆ หรืออัพยากฤตที่แบ่งออกเป็นกามาวจร, รูปาวจร, อรูปาวจร และโลกุตตระเช่นกัน
'๒' . มีข้อที่ควรกล่าวไว้ด้วย คือคำว่า อัพยากตะ เขียนตามบาลี, อัพยากฤต เขียนตามสันสกฤต มีความ หมายอย่างเดียวกัน และจิต ๘๙ ชนิด ถ้าแจกโดยพิสดาร ก็จะเป็น ๑๒๑ ชนิด คือจิตที่เป็นโลกุตตระ ( เป็นกุศล ๔ เป็นกลาง ๆ ๔ ) ๘ ชนิดนั้น คูณด้วยรูปฌาน ๔ จะได้ ๔๐. แม้จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ก็ยังนับว่าย่อ เพราะอ่านต่อไปจะเห็นพิสดารกว่านี้
การนับจำนวนจิต
( ถ้าจะพูดอย่างรวบรัด จิตก็มีเพียงดวงเดียว เพราะไม่สามารถเกิดได้ขณะละหลายดวง แต่เพราะเหตุที่เกิดหลายขณะ และมีส่วนประกอบ คือความดีความชั่ว เป็นต้น ต่าง ๆ กัน จึงนับจำนวนได้มาก. ในพระ ไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ แสดงการนับจำนวนไว้บางตอน เช่น จิตที่เป็นมหากุศลฝ่ายกามาวจร ๘, ส่วนรูปาวจร, อรูปาวจร และ โลกุตตระไม่ได้นับให้, ครั้นถึงอกุศลจิต ได้นับจำนวนให้อีกว่า มี ๑๒, ถึงอัพยากตจิต นับจิตที่เป็นมหาวิบาก ๘ นอกนั้นเป็น แต่บอกชื่อไว้ข้างท้าย การนับจำนวนที่แสดงในที่นี้ จึงเป็นการนับย่อเพื่อให้เข้าใจง่าย แต่ตามที่มีในพระไตรปิฎกมีจำนวนพิสดาร มากกว่านี้. ได้เคยทำมาแล้วในพระสูตร คือ พระไตรปิฎกไม่ได้นับเป็นตัวเลขให้ แต่ผู้เขียนใส่ตัวเลขนับลงไปเพื่อเข้าใจง่าย กำหนดง่าย ).
คำอธิบายในจิตตุปปาทกัณฑ์
ได้กล่าวแล้วโดยใจความว่า จิตตุปปาทกัณฑ์ เป็นภาคอธิบายถาคแรกของ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ นี้ ซึ่งมีภาคบทตั้ง ๑ ภาค ภาคอธิบาย ๔ ภาค. การตั้งเคร้าโครงอธิบายของภาคแรก เจาะจงอธิบาย เพียงคำ ๓ คำ คือ กสุลา ธมฺมา ( กุศลธรรม ) อกุสลา ธมฺมา ( อกุศลธรรม ) และ อพฺยาตกา ธมฺมา ( อัพยากตธรรม คือ ธรรมที่เป็นกลาง ๆ ) แล้วอธิบายเป็นเรื่องของจิต ส่วนการแบ่งเป็นกามาวจร, รูปาวจร, อรูปาวจร, โลกุตตระ ได้นำมาแบ่งภายใต้หัวข้อของกุศลธรรม, ภายใต้หัวข้อของอกุศลธรรมมีกามาวจรอยู่อย่างเดียว, ภายใต้หัวข้อของ อัพยากตธรรมหรือธรรมที่เป็นกลาง ๆ คงมีทั้งกามาวจร, รูปาวจร, อรูปาวจร, และโลกุตตระ. ธรรมที่เป็นกลาง ๆ นั้น ได้แก่จิต ที่เป็นวิบากและเป็นกิริยา.๑ เป็นอันว่า จิตตุปปทกัณฑ์ อันเป็นคำอธิบายภาคแรก เจาะจงอธิบายเรื่องจิตที่ดี ที่ไม่ดี และที่เป็นกลาง ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้อธิบายเจตสิก คือธรรมที่เนื่องด้วยจิตพร้อมกันไปใน ตัวด้วย. ต่อไปนี้จะแสดงให้เห็นลีลาในการอธิบาย คำว่า ธรรมอันเป็นกุศล ในตอนแรกของจิตตุปปทกัณฑ์ :-
" ธรรมอันเป็นกุศล เป็นไฉน ? "
" ธรรมอันเป็นกุศล คือในสมัยใด จิตอันเป็นกุศลฝ่ายกามาวจร๒( ท่องเที่ยวไปในกาม ) ประกอบด้วยโสมนัส ( ความดีใจ ) ประกอบด้วยญาณ เกิดขึ้น ปรารภ อารมณ์ คือ รูป หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะ ( สิ่งที่ถูกต้องได้ ) หรือธรรมะ ( สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ ), ในสมัยนั้นย่อม มี ( ธรรมะ ๕๖ อย่าง ) คือ :-
" ๑. ผัสสะ ( ความถูกต้อง )
๒. เวทนา ( ความรู้สึกอารมณ์ว่า เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข )
๓. สัญญา ( ความจำได้หมายรู้ ) ๔. เจตนา ( ความจงใจ )
๕. จิตตะ ( จิต) ๖. วิตก ( ความตรึก)
๗. วิจาร ( ความตรอง ) ๘. ปีติ ( ความอิ่มใจ )
๙. สุข ( ความสบายใจ, ในที่นี้ไม่หมายเอาสุขกาย )
๑๐. จิตตัสส เอกัคคตา ( ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง )
๑๑. สัทธินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่คือความเชื่อ )
๑๒. วิริยินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่คือความเพียร ) ๑๓. สตินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่คือสติ )
๑๔. สมาธินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่คือสมาธิ ) ๑๕. ปัญญินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่คือปัญญา )
๑๖. มนินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่คือใจ )
๑๗. โสมนัสสินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่คือความสุขใจ )
๑๘. ชีวิตินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่คือชีวิตความเป็นอยู่ )
๑๙. สัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจจ์ ๔ )
๒๐. สัมมาสังกัปปะ ( ความดำริชอบ ) ๒๑. สัมมาวายามะ ( ความพยายามชอบ )
๒๒. สัมมาสติ ( ความระลึกชอบ ) ๒๓. สัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ )
๒๔. สัทธาพละ ( กำลังคือความเชื่อ ) ๒๕. วิริยพละ ( กำลังคือความเพียร )
๒๖. สติพละ ( กำลังคือสติ ) ๒๗. สมาธิพละ ( กำลังคือสมาธิ )
๒๘. ปัญญาพละ ( กำลังคือปัญญา ) ๒๙. หิรีพละ ( กำลังคือความละอายต่อบาป )
๓๐. โอตตัปปพละ ( กำลังคือความเกรงกลัวต่อบาป ) ๓๑. อโลภะ ( ความไม่โลภ )
๓๒. อโทสะ ( ความคิดประทุษร้าย ) ๓๓. อโมหะ ( ความไม่หลง )
๓๔. อนภิชฌา ( ความไม่โลภ ชนิดนึกน้อมมาเป็นของตน )
๓๕. อัพยาบาท ( ความไม่คิดปองร้าย ชนิดนึกให้ผู้อื่นพินาศ )
๓๖. สัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบแบบทั่ว ๆ ไป เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี )
๓๗. หิริ ( ความละอายต่อบาป ) ๓๘. โอตตัปปะ ( ความเกรงกลัวต่อบาป )
๓๙. กายปัสสัทธิ ( ความสงบระงับแห่งกองเวทนา, สัญญา, สังขาร )๓
๔๐. จิตตปัสสัทธิ ( ความสงบระงับแห่งจิต )
๔๑. กายลหุตา ( ความเบาแห่งกองเวทนา, สัญญา, สังขาร )
๔๒. จิตตลหุตา ( ความเบาแห่งจิต )
๔๓. กายมุทุตา ( ความอ่อนสลวยแห่งกองเวทนา, สัญญา, สังขาร )
๔๔. จิตตมุทุตา ( ความอ่อนสลวยแห่งจิต )
๔๕. กายกัมมัญญตา ( ความควรแก่การงานแห่งกองเวทนา, สัญญา, สังขาร )
๔๖. จิตตกัมมัญญตา ( ความควรแก่การงานแห่งจิต )
๔๗. กายปาคุญญตา ( ความคล่องแคล่วแห่งกองเวทนา, สัญญา, สังขาร )
๔๘. จิตตปาคุญญตา ( ความคล่องแคล่วแห่งจิต )
๔๙. กายุชุกตา ( ความตรง ไม่คดโกงแห่งกองเวทนา, สัญญา, สังขาร )
๕๐. จิตตุชุกตา ( ความตรง ไม่คดโกงแห่งจิต ) ๕๑. สติ ( ความระลึกได้ )
๕๒. สัมปชัญญะ ( ความรู้ตัว ) ๕๓. สมถะ ( ความสงบแห่งจิต )
๕๔. วิปัสสนา ( ความเห็นแจ้ง ) ๕๕. ปัคคาหะ ( ความเพียรทางจิต )
๕๖. อวิกเขปะ ( ความไม่ซัดส่าย คือความตั้งมั่นแห่งจิต )
" อนึ่ง ในสมัยนั้น ธรรมเหล่าใด แม้อื่น ที่ไม่มีรูปอิงอาศัยกันเกิดขึ้นมีอยู่. ธรรมเหล่านี้ ชื่อว่ากุศล. "
( ต่อจากนั้นเป็นคำอธิบายศัพท์แต่ละข้อ นี้เป็นเพียงคำอธิบายจิตดวงแรกใน ๘๙ ดวง ซึ่งมีธรรมประกอบ ๕๖ อย่าง กับได้หมวดเงื่อนไขไว้ว่า แม้ธรรมเหล่าอื่นที่ไม่กล่าวไว้ แต่มิใช่รูปธรรม อิงอาศัยจิตดังกล่าว เกิดขึ้น ก็จัดเป็นกุศลจิตได้. ธรรมประกอบ ๕๖ อย่างนั้น ในภาคอธิบายต่อไป ได้ชี้ให้เห็นว่า จะย่อได้ อย่างไร หรือกำหนด หัวข้ออย่างไรบ้าง ดังต่อไปนี้
" ก็ในสมัยนั้นแล ย่อมมีขันธ์ ๔, อายตนะ ๒, ธาตุ ๒, อาหาร ๓, อินทรีย์ ๘, ฌาน มีองค์ ๕, มรรคมีองค์ ๕, ธรรมะอันเป็นกำลัง ๗, เหตุ ๓, ผัสสะ ๑, เวทนา ๑, สัญญา ๑, เจตนา ๑, จิต ๑, เวทนาขันธ์ ๑, สัญญาขันธ์ ๑, สังขารขันธ์ ๑, วิญญาณขันธ์ ๑, มนายตนะ (อายตนะคือใจ ) ๑, มนินทรีย์ ( อินทรีย์คือใจ ) ๑, มโนวิญญาณ- ธาตุ ( ธาตุรู้คือใจ ) ๑, ธัมมายตนะ ( อายตนะคือธรรมที่รู้ได้ด้วยใจ ) ๑, ธัมมธาตุ ( ธาตุคือธรรมที่รู้ได้ด้วยใจ ) ๑, หรือแม้ธรรม เหล่าใด แม้อื่น ที่ไม่มีรูปอิงอาศัยกันเกิดขึ้นมีอยู่. ธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นกุศล. "
( คำอธิบายตอนนี้เป็นการมองธรรม ๕๖ อย่าง ซึ่งประกอบกับจิตดวงแรกอันเป็นกุศล ฝ่ายกามาวจรนั้นว่าจะเรียกเป็นอย่างไรได้บ้าง มองในทัสสนะไหนได้บ้าง. ขอยกตัวอย่างพอให้เข้าใจ คือในธรรมประกอบ ๕๖ ข้อนั้น จัดเป็นขันธ์ ๔ ได้ดังนี้. ข้อ ๒ คือเวทนา, ข้อ ๙ คือสุข, ข้อ ๑๗ คือโสมนัสสินทรีย์ ธรรมอันเป็นใหญ่ คือความสบาย ใจหรือความดีใจ จัดเป็นเวทนาขันธ์ ( กองเวทนา ) ; ข้อ ๓ คือสัญญา ความจำได้หมายรู้ จัดเป็นสัญญาขันธ์ ( กองสัญญา ) ; ๕๐ ข้อ เว้นข้อที่ ๒, ๓, ๕, ๙, ๑๖, ๑๗, จัดเป็นสังขารขันธ์ ( กองสังขาร ) ; ข้อ ๕ คือจิต, ข้อ ๑๖ คือมนินทรีย์ ธรรมอันเป็นใหญ่คือใจ จัดเป็นวิญญาณขันธ์ ( กองวิญญาณ ). ในที่นี้ไม่จัดเป็นขันธ์ ๕ เพราะขาดรูป ไป ๑ เนื่องจากเป็นเรื่องของจิต แต่ก็สามารถจัดธรรมะถึง ๕๖ ข้อมารวมได้ ใน ๔ ข้อเท่านั้น. ตอนต่อไปแสดงอายตนะ ( บ่อ เกิดหรือที่ต่อ ) ๒ คือ ๑. มนายตนะ ( อายตนะคือใจ ) ๒. ธัมมายตนะ ( อายตนะคือธรรมที่รู้ได้ด้วยใจ ). ในธรรม ๕๖ ข้อนั้น ข้อที่ ๕ คือจิต ข้อที่๑๖ คือมนินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่คือใจ ) จัดเข้าในมนายตนะ นอกนั้นคืออีก ๕๔ ข้อ จัด เข้าในธัมมายตนะ. ตอนนี้ยิ่งรวบรัดกว่าตอนต้นอีก เพราะจัดธรรม ๕๖ อย่างมาลงใน ๒ อย่างได้. ข้อต่อไปจัดธรรม ๕๖ อย่างมาลงในธาตุ ๒ คือ ข้อที่ ๕ คือจิต ข้อที่ ๑๖ คือมนินทรีย์ จัดเข้าในมโนวิญญาณธาตุ ( ธาตุรู้ทางใจ ), อีก ๕๔ ข้อที่เหลือ จัดเข้าในธัมมธาตุ ( ธาตุคือธรรมที่รู้ได้ด้วยใจ ) หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งตามสำนวนอธิบายที่ปรากฏในนั้นอีก ๕๔ ข้อที่เหลือ อันเคยจัดมาแล้วว่า ได้แก่เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์นั้น จัดเป็นธัมมธาตุ ( ธาตุคือธรรมะที่รู้ได้ด้วย ใจ ) ดังนี้เป็นตัวอย่าง ต่อจากนั้น ได้แสดงเรื่องอาหาร ๓ อินทรีย์ ๘ เป็นต้น เป็นการชี้ไปว่า อาหาร ๓ มีอยู่ในธรรม ๕๖ ข้อ นั้น อินทรีย์ ๘ มีอยู่ในธรรม ๕๖ ข้อนั้นอย่างไรบ้าง คล้ายกับเป็นการสำรวจเครื่องจักรเครื่องยนต์ว่า อันไหนเป็นประเภทไหน เกี่ยวโยงกันอย่างไร เป็นการบริหารความคิดและความจำ, นี้เป็นคำอธิบายตอนที่ ๒ คือคำอธิบายตอนที่ ๑ เริ่มด้วยแสดงจิตดวง แรกที่เป็นกุศลแล้วแสดงธรรม ๕๖ อย่าง ที่เนื่องด้วยจิตดวงนั้น, ตอนที่ ๒ อธิบายว่า ธรรม ๕๖ อย่างนั้น จะเรียกชื่อย่อ ๆ หรือกำหนดหัวข้อ เป็นจำนวนอย่างไรบ้าง, คำอธิบายตอนที่ ๓ ตัดจำนวนเลขออก เรียกแต่ชื่อดังต่อไปนี้ )
" ก็ในสมัยนั้น ย่อมมีธรรม,)๔ มีขันธ์, มี อายตนะ, มีธาตุ, มีอาหาร, มีอินทรีย์, มีฌาน, มีมรรค, มีพละ ( ธรรมอันเป็นกำลัง ), มีเหตุ, มีผัสสะ, มีเวทนา, มีสัญญา, มี เจตนา, มีจิต, มีเวทนาขันธ์, มีสัญญาขันธ์, มีสงขารขันธ์, มีวิญญาณขันธ์, มีมนายตนะ, มีมนินทรีย์, มีมโนวิญญาณธาตุ, มี ธัมมายตนะ, มีธัมมธาตุ. อนึ่ง ในสมัยนั้น มีธรรมะเหล่าใด แม้อื่น ที่ไม่มีรูป อิงอาศัยกันเกิดขึ้น. ธรรมเหล่านี้ ก็ชื่อว่าเป็นกุศล ธรรม. "
( คำอธิบายตอน ๓ นี้ ตัดตัวเลขออกให้เข้าใจแต่ชื่อธรรมะ แล้วอธิบายว่า ธรรมะชื่อ นั้นได้แก่อะไร ).
ธรรมะประกอบกับจิต
( ท่านผู้อ่านได้ทราบแล้วว่า ในจิตตุปปาทกัณฑ์ อันเป็นคำอธิบายภาคแรกของบทตั้ง นั้น อธิบายเพียง คำว่า กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม ( ธรรมที่เป็นกลาง ๆ ) โดยอธิบายจิตตาม ๓ หัวข้อนั้น และ ในขณะเดียวกันก็อธิบายธรรมะประกอบกับจิตทีละข้อด้วยว่า จิตชนิดไหนมีธรรมะประกอบอะไรบ้าง. เฉพาะจิตดวงแรกได้ แสดงให้เห็นแล้วว่ามีธรรมะประกอบ ๕๖ ข้อ และจิตดวงต่อ ๆ ไปก็มีเท่ากันบ้าง มากกว่าบ้าง น้อยลงบ้าง จะนำมากล่าวจน หมดทุกอย่าง ก็ไม่มีหน้ากระดาษพอ. แต่มีข้อสังเกตที่ใคร่ฝากไว้แด่ท่านผู้รักการค้นคว้า คือในปัจจุบันนี้เรามักไม่เรียนอภิธรรม จากอภิธัมมปิฎก แต่เรียนตำราย่อเนื้อความแห่งอภิธรรมที่ชื่อว่า อภิธัมมัตถสังคหะ ท่านผู้อ่านภาษาบาลีได้ควรจะได้ติดตามสอบ สวนดูด้วย โดยตั้งใจเป็นกลาง ๆ อย่างปลงว่า คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะของพระอนุรุทธาจารย์นั้นถูกต้องดีแล้วหรือยังบกพร่อง อะไรอยู่ โดยเฉพาะเรื่องเจตสิก ๕๒ นั้น ก็คือธรรมะประกอบกับจิต ๕๒ ประการนั่นเอง ในพระอภิธัมมปิฎก เล่มที่ ๓๔ นี้ จิตบางดวงมีธรรมประกอบถึง ๖๐ บางดวงก็มีไม่ถึง ควรจะได้สอบสวนเทียบเคียงดูว่า ที่ว่าเจตสิก ๕๒ นั้นสมบูรณ์ถูกต้องดี หรืออย่างไร หรือท่านรวมอะไรเข้ากับอะไร ตัดอะไรออก การด่วนลงความเห็นว่าอภิธัมมัตถสังคหะของพระอนุรุทธาจารย์มี บกพร่อง ยังไม่เป็นการชอบ ควรจะได้ตรวจสอบค้นคว้าให้ละเอียดลออถี่ถ้วน ที่เสนอไว้นี้เพื่อให้ท่านผู้รักการค้นคว้าได้ พยายามขบคิดและสอบสวนเรื่องนี้ทำเป็นตำราขึ้น เพื่อเป็นทางเรืองปัญญาของผู้ใคร่การศีกษาต่อไป. ข้าพเจ้าผู้ทำหนังสือนี้ ยัง ไม่พร้อมที่จะทำการวิจัยในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในเล่มนี้ ขอเสนอชักชวนผู้ชอบงานค้นคว้าให้ช่วยกันทำอีกส่วนหนึ่ง. ต่อไปนี้จะ แสดงจิตดวงอื่น ๆ จนจบชนิดของจิต และจะละเรื่องธรรมะที่ประกอบกับจิต แต่ละดวงไว้ไม่กล่าวถึง เพราะจะทำให้พระ- ไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชนจบลงไม่ได้ใน ๑ เล่ม ตามที่ตั้งใจไว้ ).
แสดงจิตจากลำดับที่ ๑ ถึง ๘๙
( ต่อไปนี้จะแสดงจิต ๘๙ ชนิดโดยลำดับ จากที่ ๑ ถึง ๘๙ ความจริงโดยพิสดาร มีหลายร้อยหลายพัน และพึงทราบว่า จากลำดับที่ ๑ ถึง ๒๑ เป็นกุศลจิต ; จากลำดับที่ ๒๒ ถึง ๓๓ รวมเป็น ๑๒ เป็น อกุศลจิต ; จากลำดับที่ ๓๔ ถึง ๘๙ รวม ๕๖ เป็นอัพยากตจิต คือจิตที่เป็นกลาง ๆ อนึ่ง ในจิตที่เป็นกลาง ๕๖ นี้เป็นวิบาก จิต คือจิตที่เป็นผล ๓๖ เป็นกิริยาจิต คือจิตที่เป็นกิริยา ๒๐ ) ดังต่อไปนี้ :-
กุศลจิต ๒๑
๑. กามาวจร ( ท่องเที่ยวไปในกาม ) ๘
๑. จิตอันเป็นกุศลฝ่ายกามาวจร ประกอบด้วยโสมนัส ( ความดีใจ ) ประกอบด้วยญาณ ( ความรู้ ) เป็น อสังขาริก ( คือไม่ต้องมีสิ่งชักจูง จิตก็เกิดขึ้น ).
๒. จิตเหมือนข้อที่ ๑ แต่เป็นสสังขาริก ( คือต้องมีสิ่งชักจูง จิตจึงเกิดขึ้น ).
๓. จิตอันเป็นกุศลฝ่ายกามาวจร ประกอบด้วยโสมนัส แต่ ไม่ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก.
๔. จิตเหมือนข้อที่ ๓ แต่เป็นสสังขาริก.
๕. จิตอันเป็นกุศลฝ่ายกามาวจร ประกอบด้วยอุเบกขา ( ความรู้สึกเฉย ๆ คือไม่ดีใจไม่เสียใจ ) ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก.
๖. จิตเหมือนข้อที่ ๕ แต่เป็นสสังขาริก.
๗. จิตอันเป็นกุศลฝ่ายกามาวจร ประกอบด้วยอุเบกขา แต่ไม่ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก.
๘. จิตเหมือนข้อที่ ๗ แต่เป็นสสังขาริก.
๒. รูปาวจร ( ท่องเที่ยวไปในรูป ) ๕
๙. จิตอันเป็นกุศล เนื่องด้วยฌานที่ ๑ ประกอบด้วยวิตก ( ความตรึก ), วิจาร ( ความตรอง ), ปีติ ( ความ อิ่มใจ ), สุข, เอกัคคตา ( ความมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ).
๑๐. จิตอันเป็นกุศล เนื่องด้วยฌานที่ ๒ ประกอบด้วยวิจาร, ปีติ, สุข, เอกัคคตา.
๑๑. จิตอันเป็นกุศล เนื่องด้วยฌานที่ ๓ ประกอบด้วยปีติ, สุข, เอกัคคตา.
๑๒. จิตอันเป็นกุศล เนื่องด้วยฌานที่ ๔ ประกอบด้วยสุข, เอกัคคตา.
๑๓. จิตอันเป็นกุศล เนื่องด้วยฌานที่ ๕ ประกอบด้วยอุเบกขา (ความวางเฉย) กับเอกัคคตา.๕
( หมายเหตุ : มีเรื่องแทรกที่ใคร่อธิบายไว้ในเรื่องจิตอันเป็นกุศลฝ่ายรูปาวจรไว้ ประกอบประกอบการพิจารณาของผู้ใคร่การศึกษา คือการนับจำนวนจิตในรูปาวจรกุศล ที่นับไว้เพียง ๕ ในที่นี้ เป็นการนับ อย่างรวบรัดตามแบบอถิธัมมัตถสังคหะ แต่ถ้าจะแจกตามบาลีอภิธัมมปิฎก เล่มที่ ๓๔ นี้จริง ๆ ก็หลายร้อยหลายพัน ผู้ศึกษา อภิธรรมที่ไม่เคยนับตามอภิธัมมปิฎกเลย ก็อาจเข้าใจว่า รูปาวจรกุศลจิตมี ๕ เท่านั้น แท้จริงที่นับว่ามีขันธ์ ๕ นับตามฌาน ๕ และย่นย่อ ถ้านับอย่างพิสดารจะเป็นดังนี้ :-
๑. ท่านแสดงฌาน ๔ เรียกจตุกกนัย ( นัยที่มี ๔ )
๒. แล้วแสดงฌาน ๕ เรียกปัญจกนัย ( นัยที่มี ๕ )
๓. แล้วแสดงปฏิปทา ๔ ( ดูปฏิปทา ๔ นัยแรกในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ หน้า ๔ ) จตุตถปัณณาสถ์ หมวด ๕๐ ที่ ๑...หมายเลขที่ ๒.
๔. แล้วแสดงอารมณ์ ๔ ( ฌานเล็กน้อยมีอารมณ์น้อย, ฌานเล็กน้อยมีอารมณ์ไม่มีประมาณ, ฌานไม่มี ประมาณมีอารมณ์เล็กน้อย, ฌานไม่มีประมาณมีอารมณ์ไม่มีประมาณ )๖
๕. แล้วแสดงปฏิปทา ๔ กับอารมณ์ ๔ ผสมกัน เรียกว่าหมวด ๑๖ ( ๔?๔ = ๑๖ = โสฬสกะ )
๖. แล้วแสดงกสิณ ๘ ( ความจริงกสิณมี ๑๐ แต่ที่จะใช้เป็นอารมณ์ของรูปฌานได้ มีเพียง ๘ เว้นวิญญาณ กสิณและอากาสกสิณ )
อรรถกถานับฌาน ๔ ฌาน ๕ เป็นหมวด ๙ ตั้งเกณฑ์เป็น ๑ ; คิดตามปฏิปทา ๔ตั้งเลข ๔ ; คิดตามอารมณ์ ๔ตั้งเลข ๔ ; คิดตามแบบผสมคือปฏิปทา ๔ กับอารมณ์ ๔ ตั้งเลข ๑๖ เมื่อนำเลขที่ตั้ง เป็นเกณฑ์ไว้มารวมกันจะได้ ๒๕, เลข ๒๕นี้ เมื่อนับตามฌาน ๔ จะได้ ๑๐๐ ( ๒๕?๔ = ๑๐๐ ), เมื่อนับตามฌาน ๕ จะได้ ๑๒๕ ( ๒๕?๕ = ๑๒๕ ) เพราะฉะนั้น เพียงนับธรรมดาทั้งฌาน ๔ และฌาน ๕ รวมกัน จะได้ฌานจิตถึง ๒๒๕ แต่ถือว่าฌาน ๔ รวมไว้ในฌาน ๕ จึงนับเพียง ๑๒๕ ก็ได้. คราวนี้เมื่อเอาอารมณ์ของฌานมาคูณ เช่น กสิณ ๘ ก็จะ ได้จิต ( ๑๒๕?๘ = ๑,๐๐๐ ) ดวง !
แต่การแสดงอารมณ์ของฌานมิได้มีเพียงเท่านี้ ท่านยังแสดงอภิภายตนะ,๗ วิโมกข์ ๓,๘ พรหมวิหาร ๔, อสุภะ ๑๐. เมื่อเอาตัวเลขต่าง ๆ มาคูณเกณฑ์ ๑๒๕ ทุกประเภท แล้วนำมารวมกันจะได้ตัวเลขเป็นพัน ๆ ทีเดียว ทั้งตัวเลขเหล่านี้ อรรถกถาอัตถสาลินี ซึ่งแก้พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ ก็นับให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย. จึงบันทึกไว้ในที่นี้ เพื่อให้เทียบเคียงคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะกับอภิธัมมปิฎกแท้ ๆว่า มี ต่างกันในรายละเอียดอยู่บ้างเหมือนกัน ).
๓. อรูปาวจร ( ท่องเที่ยวไปในอรูป ) ๔
๑๔. จิตอันเป็นกุศล ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนสัญญา ( จิตในอรูปฌานที่ ๑ )
๑๕. จิตอันเป็นกุศล ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนสัญญา ( จิตในอรูปฌานที่ ๒ )
๑๖. จิตอันเป็นกุศล ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนสัญญา ( จิตในอรูปฌานที่ ๓ )
๑๗. จิตอันเป็นกุศล ประกอบด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ( จิตในอรูปฌานที่ ๔ ),๙
๔. โลกุตตระ ( จิตพ้นจากโลก ) ๔
๑๘. จิตอันเป็นกุศลที่เนื่องด้วยโสดาปัตติมรรค ๑๙ จิตอันเป็นกุศลที่เนื่องด้วยสกทาคามิมรรค
๑๙. จิตอันเป็นกุศลที่เนื่องด้วยอนาคามิมรรค ๒๑ จิตอันเป็นกุศลที่เนื่องด้วยอรหัตตมรรค.
( หมายเหตุ : มีข้อที่น่าจะอธิบายแทรกไว้อีก คือเมื่อจบการแสดงอรูปาวจร- กุศลจิตแล้ว ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ ได้ตั้งอธิบายกามาวจร, รูปาวจร และอรูปาวจรซ้ำอีก โดยตั้งเกณฑ์อิทธิบาท คือธรรม อันให้บรรลุความสำเร็จ ๔ ประการ คือฉันทะ ความพอใจ, วิริยะ ความเพียร, จิตตะ ความฝักไฝ่, วิมังสา การพิจารณาสอบ สวน แล้วแบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คืออย่างเลว, อย่างกลาง, และอย่างประณีต ( ๔?๓ = ๑๒ ) นำมาประกอบกับกุศลจิตที่ เป็นกามาวจร, รูปาวจร และอรูปาวจร จนจบ. ครั้นถึงคราวแสดงกุศลจิตที่เป็นโลกุตตรธรรม ก็ตั้งเกณฑ์ฌาน ๔ และ ฌาน ๕ อันเป็นโลกุตตระ ( พ้นจากโลก ), แล้วแสดงปฏิปทา ๔ ( ปฏิบัติลำบาก ตรัสรู้ได้ช้า, ปฏิบัติลำบาก ตรัสรู้ได้เร็ว, ปฏิบัติสะดวก ตรัสรู้ได้ช้า, ปฏิบัติสะดวก ตรัสรู้ได้เร็ว ), แล้วแสดงสุญญตะ ( ความว่างเปล่า ), แล้วแสดงปฏิปทา ๔ ผสมกับ สุญญตะ, แล้วแสดงอัปปณิหิตะ ( ความไม่มีที่ตั้ง ) แล้วแสดงปฏิปทา ๔ ผสมกับอัปปณิหิตะ, ครั้นแล้วตั้งเกณฑ์การเจริญธรรม ที่เป็นโลกุตตระอีก ๑๙ ข้อ)๑๐ รวมเป็น ๒๐ ข้อทั้งโลกุตตรฌาน. เมื่อตั้งเกณฑ์ ๒๐ ข้อ ตั้งเกณฑ์แจกรายละเอียดข้อละ ๑๐ จึงเป็นโลกุตตรจิตที่เป็นกุศล ๒๐๐ ดวง หรือ ๒๐๐ นัย ( ดูอรรถกถา หน้าพระ สุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ซึ่งมีแสดงไว้ว่า กายวูปกาเสน จิตฺตวูปกาเสน เป็นคำนาม เมื่อเทียบกับ คุณศัพท์ วูปกฏฺฐ )๑๑ อนึ่ง การตั้งเกณฑ์ ๑๐ เพื่อนำมาคูณธรรมะ ๒๐ ข้อ คือ ๑. ปฏิปทา ๔ ล้วน ๆ ๒. สุญญตะล้วน ๆ ๓. สุญญตะกับปฏิปทาผสมกัน ๔. อัปปณิหิตะล้วน ๆ ๕. ปฏิปทา ๔ กับ อัปปณิหิตะผสมกัน รวม ๕ อย่าง คูณด้วยนัย ๒ คือฌาน ๔ นัยหนึ่ง ฌาน ๕ นัยหนึ่ง ๕?๒ = ๑๐ ดูอรรถกถาหน้า พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ หน้า ๒ เชิงอรรถหมายเลขที่ ๗ ต่อจากนั้นจึงแสดงมรรค ๔ ).
________________________________________
'๑' . และหมายถึงรูปด้วย
'๒' . แสดงจิตฝ่ายกุศล เพียงดวงแรกหรือชนิดแรกข้อเดียว ก็พ่วงเอาธรรมะอื่น ๆ มาถึง ๕๖ ข้อ
'๓' . คำว่า กาย ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าร่างกาย หากหมายถึงกองหรือหมวดแห่งนามธรรม ๓ อย่าง คือ เวทนา, สัญญา, สังขาร หรือจะพูดแบบรวมก็คือ เจตสิก
'๔' . เพิ่มขึ้นมากกว่าคำอธิบายตอนที่ ๒ เฉพาะคำว่า ธรรม แต่ก็อธิบายหมายความอย่างเดียวกันว่า ได้แก่ ขันธ์ ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
'๕' . โดยปกติรูปฌานมี ๔ แต่ถ้าจัดอย่างพิสดารมี ๕ มีหลักฐาน มีทางพระสุตตันตปิฎก โปรดดูหน้า พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ หน้า ๓ ) ที่ ๒๘. อุปักกิเลสสูตร...หมายเลขที่ ๕.และเชิงอรรถในหน้า พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ หน้า ๒ ) ด้วย เชิงอรรถข้อที่ ๕.
'๖' . ฌานเล็กน้อย คือไม่สามารถเป็นปัจจัยแห่งฌานสูงขึ้นไป มีอารมณ์น้อย คือมีอารมณ์ที่เพ่งในขนาดจำกัด พึงทราบคำอธิบายนี้อีก ๓ ข้อโดยอนุโลม
'๗' . อภิภายตนะมี ๘ ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ หน้า ๒ ) วรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐..ตรงที่คำว่าหมายเหตุ ในที่นี้ อภิภายตนะ มิได้แสดงตัวเลขไว้ เพราะท่านนำมาแสดงเพียงบางข้อ
'๘' . วิโมกข์มี ๘ แต่นำมากล่าวเพียง ๓ ข้อแรก ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) สรูปเกี่ยวกับวิโมกข์ ๘
'๙' . ดูคำอธิบายศัพท์ ในอรูปฌาน ๔ นี้ ในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๒๐๐ ด้วย
'๑๐' . คือมรรค, สติปัฏฐาน, สัมมัปปธาน, อิทธิบาท, อินทรีย์, พละ, โพชฌงค์, สัจจะ, สมถะ, ธรรมะ, ขันธ์, อายตนะ, ธาตุ, อาหาร, ผัสสะ, เวทนา, สัญญา, เจตนา, จิต อันเป็นโลกุตตระ
'๑๑' . การนับจิตเฉพาะโลกุตตรกุศลถึง ๒๐๐ ดวงนี้ ย่อเหลือเพียง ๔ เท่านั้น
อกุศลจิต ๑๒
เกิดจากความโลภเป็นมูล ๘
๒๒. จิตอันเป็นอกุศล ประกอบด้วยโสมนัส, ประกอบด้วยทิฏฐิ ( ความเห็นผิด ), เป็นอสังขาริก ( ไม่มีสิ่ง ชักจูงก็เกิดขึ้น )
๒๓. จิตเหมือนข้อ ๒๒ แต่เป็นสสังขาริก ( มีสิ่งชักจูงจึงเกิดขึ้น )
๒๔. จิตอันเป็นอกุศล ประกอบด้วยโสมนัส, ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ เป็นอสังขาริก
๒๕. จิตเหมือนข้อ ๒๔ แต่เป็นสสังขาริก
๒๖. จิตอันเป็นอกุศล ประกอบด้วยอุเบกขา ( ความรู้สึกเฉย ๆ ), ประกอบด้วยทิฏฐิ, เป็นอสังขาริก
๒๗. จิตเหมือนข้อ ๒๖ แต่เป็นสสังขาริก
๒๘. จิตอันเป็นอกุศล ประกอบด้วยอุเบกขา, ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ เป็นอสังขาริก
๒๙. จิตเหมือนข้อ ๒๘ แต่เป็นสสังขาริก.
เกิดจากโทสะเป็นมูล ๒
๓๐. จิตประกอบด้วยโทมนัส ( ความไม่สบายใจ ) ประกอบด้วยปฏิฆะ ( ความขัดใจ ), เป็นอสังขาริก ( ไม่ มีสิ่งชักจูงก็เกิดขึ้น )
๓๑. จิตเหมือนข้อ ๓๐ แต่เป็นสสังขาริก ( มีสิ่งชักจูงจึงเกิดขึ้น ).
เกิดจากโมหะเป็นมูล ๒
๓๐. จิตประกอบด้วยอุเบกขา ( ความรู้สึกเฉย ๆ ), ประกอบด้วยความสงสัย
๓๑. จิตประกอบด้วยอุเบกขา ประกอบด้วยอุทธัจจะ ( ความฟุ้งสร้าน ).
อัพยากตจิต ๕๖
( วิบากจิต ๓๖ กิริยา ๒๐ )
วิบากจิต ๓๖
๑. จิตที่เป็นวิบาก คือเป็นผลของกุศลฝ่ายกามาวจร ๑๖
๓๔. จักขุวิญญาณ ( ความรู้อารมณ์ทางตา ) ประกอบด้วยอุเบกขา ( ความรู้สึกเฉย ๆ ) มีรูปเป็นอารมณ์
๓๕. โสตวิญญาณ ( ความรู้อารมณ์ทางหู ) ประกอบด้วยอุเบกขา มีเสียงเป็นอารมณ์
๓๖. ฆานวิญญาณ ( ความรู้อารมณ์ทางจมูก ) ประกอบด้วยอุเบกขา มีกลิ่นเป็นอารมณ์
๓๗. ชิวหาวิญญาณ ( ความรู้อารมณ์ทางลิ้น ) ประกอบด้วยอุเบกขา มีรสเป็นอารมณ์
๓๘. กายวิญญาณ ( ความรู้อารมณ์ทางกาย ) ประกอบด้วยสุข มีโผฏฐัพพะ ( สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย ) เป็นอารมณ์
( หมายเหตุ : จากข้อ ๓๔ ถึงข้อ ๓๘ รวม ๕ ข้อนี้ เรียกว่าวิญญาณ ๕ อันเป็นวิบาก คือเป็นผล ของกุศล ).
๓๙. มโนธาตุ ( ธาตุคือใจ ) ประกอบด้วยอุเบกขา มีรูป, เสียง, กลิ่น, รส, และโผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์ ๑
๔๐. มโนวิญญาณธาตุ ( ธาตุรู้ทางใจ ) ประกอบด้วยโสมนัส ( ความดีใจหรือสบายใจ ) มีรูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ, และธรรม ( สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ ) เป็นอารมณ์๒
๔๑. มโนวิญญาณธาตุ ( ธาตุรู้ทางใจ ) ประกอบด้วยอุเบกขา มีรูป จนถึงธรรมเป็นอารมณ์ ( มีอารมณ์ ครบ ๖ )
( หมายเหตุ : ตั้งแต่ข้อ ๓๔ ถึง ๔๑ รวม ๘ ข้อนี้ เป็นวิบากจิตธรรมดา ส่วนอีก ๘ ข้อต่อไปนี้ เรียกว่ามหาวิบาก ).
๔๒. มโนวิญญาณธาตุ ประกอบด้วยโสมนัส, ประกอบด้วยญาณ, เป็นสังขาริก ( ไม่มีสิ่งชักจูงก็เกิดขึ้น )
๔๓. เหมือนข้อ ๔๒ ต่างแต่เป็นสสังขาริก ( มีสิ่งชักจูงจึงเกิดขึ้น )
๔๔. มโนวิญญาณธาตุ ประกอบด้วยโสมนัส, ไม่ประกอบด้วยญาณ, เป็นอสังขาริก
๔๕. เหมือนข้อ ๔๔ ต่างแต่เป็นสสังขาริก
๔๖. มโนวิญญาณธาตุ ประกอบด้วยอุเบกขา, ประกอบด้วยญาณ, เป็นอสังขาริก
๔๗. เหมือนข้อ ๔๖ ต่างแต่เป็นสสังขาริก
๔๘. มโนวิญญาณธาตุ ประกอบด้วยอุเบกขา, ไม่ประกอบด้วยญาณ, เป็นอสังขาริก
๔๙. เหมือนข้อ ๔๘ ต่างแต่เป็นสสังขาริก
๒. จิตที่เป็นวิบาก คือเป็นผลของกุศล๓ ฝ่ายรูปาวจร ๕
๕๐. วิบากจิตในฌานที่ ๑ ๕๑. วิบากจิตในฌานที่ ๒
๕๒. วิบากจิตในฌานที่ ๓ ๕๓. วิบากจิตในฌานที่ ๔
๕๔. วิบากจิตในฌานที่ ๕
( หมายเหตุ : ตั้งแต่ข้อ ๕๐ ถึง ๕๔ รวม ๕ ข้อนี้ เป็นการย่ออย่างรวบรัด ถ้าจะแจกอย่างพิสดาร ก็จะต้องแยกเป็นฌาน ๔ นัยหนึ่ง ฌาน ๕ อีกนัยหนึ่ง แล้วแจกไปตามกสิณ ตามอย่างที่หมายเหตุไว้ท้ายจิตข้อ ๑๓ ).
๓. จิตที่เป็นวิบาก คือเป็นผลของกุศลฝ่ายอรูปาวจร ๔
๕๕. วิบากจิตที่ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนสัญญา
๕๖. วิบากจิตที่ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนสัญญา
๕๗. วิบากจิตที่ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนสัญญา
๕๘. วิบากจิตที่ประกอบด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา๔
๔. จิตที่เป็นวิบาก คือเป็นผลของกุศลฝ่ายโลกุตตระ ๔
๕๙. โสดาปัตติผลจิต ๖๐. สกทาคามิผลจิต
๖๑. อนาคามิผลจิต ๖๒. อรหัตตผลจิต
( หมายเหตุ : วิบากจิตที่เป็นโลกุตตระนี้ก็เช่นกัน ย่อแบบสั้นที่สุดจะได้เพียง ๔ แต่ถ้ากล่าวอย่าง พิสดารตามตัวหนังสือจะได้ประมาณ ๒๐๐ ตามแบบที่หมายเหตุไว้ในข้อที่ ๒๑ ).
วิบากจิตฝ่ายอกุศล
๑. จิตที่เป็นวิบาก คือเป็นผลของอกุศล ๗
๖๓. จักขุวิญญาณ ( ความรู้อารมณ์ทางตา ) ประกอบด้วยอุเบกขา ( ความรู้สึกเฉย ๆ ) มีรูปเป็นอารมณ์
๖๔. โสตวิญญาณ ( ความรู้อารมณ์ทางหู ) ประกอบด้วยอุเบกขา มีเสียงเป็นอารมณ์
๖๕. ฆานวิญญาณ ( ความรู้อารมณ์ทางจมูก ) ประกอบด้วยอุเบกขา มีกลิ่นเป็นอารมณ์
๖๖. ชิวหาวิญญาณ ( ความรู้อารมณ์ทางลิ้น ) ประกอบด้วยอุเบกขา มีรสเป็นอารมณ์
๖๗. กายวิญญาณ ( ความรู้อารมณ์ทางกาย ) ประกอบด้วยทุกข์ มีโผฏฐัพพะ ( สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย ) เป็นอารมณ์
๖๘. มโนธาตุ ( ธาตุคือใจ ) ประกอบด้วยอุเบกขา มีรูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์
๖๙. มโนวิญญาณธาตุ ( ธาตุรู้ทางใจ ) ประกอบด้วยอุเบกขา มีรูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ, และ ธรรม ( สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ ) เป็นอารมณ์ ( คือมีอารมณ์ครบ ๖ )
( หมายเหตุ : วิบากจิตฝ่ายอกุศล ๗ ข้อ ตั้งแต่ข้อ ๖๓ ถึง ๖๙ นี้ พึงเทียบดูกับวิบากจิตฝ่ายกุศล ตั้งแต่ข้อ ๓๔ ถึงข้อ ๔๑ ดูด้วยว่า ในที่นี้ขาดไป ๑ ข้อ คือมโนวิญญาณธาตุ อันประกอบด้วยโสมนัส. นอกจากนั้นหนังสือ อภิธัมมัตถสังคะ เรียกชื่อจิตดวงที่ ๖๘ ว่า สัมปฏิจฉันนะ อันประกอบด้วยอุเบกขา จิตดวงที่ ๖๙ว่า สันตีรณะ อันประกอบ ด้วยอุเบกขา ).
กิริยาจิต ๒๐
๑. จิตที่เป็นกิริยาฝ่ายกามาวจร ๑๑
๗๐. มโนธาตุที่เป็นกิริยา, ประกอบด้วยอุเบกขา ( ความรู้สึกเฉย ๆ ) มีรูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์
๗๑. มโนวิญญาณธาตุ ที่เป็นกิริยา, ประกอบด้วยโสมนัส มีอารมณ์ครบ ๖
๗๒. มโนวิญญาณธาตุ ที่เป็นกิริยา, ประกอบด้วยอุเบกขา มีอารมณ์ครบ ๖
( หมายเหตุ : ตั้งแต่ข้อ ๗๐ ถึง ๗๒ นี้ อภิธัมมัตถสังคหะเรียกอเหตุกกิริยาจิต แต่เรียกชื่อต่างไป ตามลำดับดังนี้ ปัญจทวาราวัชชนะ อันประกอบด้วยอุเบกขา มโนทวาราวัชชนะ อันประกอบด้วยอุเบกขา และหสิตุปบาทจิต คือจิตคิดยิ้มแย้ม อันประกอบด้วยโสมนัส ).
๗๓. มโนวิญญาณธาตุ ที่เป็นกิริยา, ประกอบด้วยโสมนัส, ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก
๗๔. เหมือนข้อ ๗๓ ต่างแต่เป็นสสังขาริก
๗๕. มโนวิญญาณธาตุ ที่เป็นกิริยา, ประกอบด้วยโสมนัส, ไม่ประกอบด้วยญาณ, เป็นอสังขาริก
๗๖. เหมือนข้อ ๗๕ ต่างแต่เป็นสสังขาริก
๗๗. มโนวิญญาณธาตุ ที่เป็นกิริยา, ประกอบด้วยอุเบกขา, ประกอบด้วยญาณ, เป็นอสังขาริก
๗๘. เหมือนข้อ ๗๗ ต่างแต่เป็นสสังขาริก
๗๙. มโนวิญญาณธาตุ ที่เป็นกิริยา, ประกอบด้วยอุเบกขา, ไม่ประกอบด้วยญาณ, เป็นอสังขาริก
๘๐. เหมือนข้อ ๗๙ ต่างแต่เป็นสสังขาริก
๒. จิตที่เป็นกิริยาฝ่ายรูปาวจร ๕
๘๑. จิตที่เป็นกิริยาในฌานที่ ๑ ๘๒. จิตที่เป็นกิริยาในฌานที่ ๒
๘๓. จิตที่เป็นกิริยาในฌานที่ ๓ ๘๔. จิตที่เป็นกิริยาในฌานที่ ๔
๘๕. จิตที่เป็นกิริยาในฌานที่ ๕
๓. จิตที่เป็นกิริยาฝ่ายอรูปาวจร ๔
๘๖. จิตที่เป็นกิริยา ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนสัญญา
๘๗. จิตที่เป็นกิริยา ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนสัญญา
๘๘. จิตที่เป็นกิริยา ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนสัญญา
๘๙. จิตที่เป็นกิริยา ประกอบด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา.
( หมายเหตุ : เป็นอันสรูปว่า ลำดับจิตตามที่แสดงในอภิธัมมปิฎก เล่มที่ ๓๔ นี้ จัดลำดับโดยชาติ คือกุศล อกุศล และอัพยากฤต ( เฉพาะอัพยากฤต แยกเป็นวิบากจิต และ กิริยาจิต ) จึงมีลำดับไม่เหมือนกับหนังสืออภิธัมมัตถ- สังคหะ นอกจากนั้นในจิตที่เป็นรูปาวจร และโลกุตตระ ยังแสดงจิตพิสดารมากมาย จึงควรกำหนดง่าย ๆ ดังนี้ อย่างย่อธรรมดา จิตมี ๘๙ ชนิด อย่างพิสดารธรรมดา มี ๑๒๑ ชนิด อย่างพิสดารเต็มรูป มีนับจำนวนพัน ).
๓. คำอธิบายเรื่องรูป ( รูปกัณฑ์ )
คำอธิบายเรื่องรูป หรือรูปกัณฑ์นี้ เป็นส่วนที่ ๓ คือส่วนที่ ๑ เป็นมาติกา หรือบทตั้ง ส่วนที่ ๒ เป็นคำ อธิบายเรื่องจิตเกิด ( จิตตุปปาทกัณฑ์ ) ส่วนที่ ๓ จึงถึงลำดับที่จะอธิบายเรื่องรูป.
ในการอธิบายคำว่า รูป นี้ ท่านตั้งคำถามขึ้นก่อนว่า ธรรมที่เป็นกลาง ๆ ( อัพยากฤต ) เป็นไฉน แล้วแก้ว่า ธรรมที่เป็นกลาง ๆ ( โดยใจความ ) ได้แก่ธรรม ๔ อย่าง คือ วิบาก, กิริยา, รูป, และอสังขตธาตุ ( นิพพาน ).๕
( หมายเหตุ : คำว่า วิบาก, กิริยา โดยตรง ได้แก่จิตหรือวิญญาณขันธ์ที่เป็นผล และเป็นกิริยาโดย อ้อมย่อมหมายคลุมถึงเจตสิกหรือเวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์ และสังขารขัน์ ซึ่งเกิดขึ้นผสมกับจิตที่เป็นวิบากหรือกิริยานั้นด้วย ).
ครั้นแล้วได้ตั้งปัญหาเฉพาะคำว่า รูป ว่าได้แก่อะไร แล้วแก้ว่า ได้แก่มหาภูตรูป ( รูปใหญ่ คือธาตุทั้งสี่ ) และอุปาทายรูป ( รูปอาศัย คือจะปรากฏได้ก็ต้องอาศัยธาตุทั้งสี่ )
ครั้นแล้วได้แสดงบทตั้ง ( มาติกา ) เกี่ยวกับรูป ตั้งแต่หมวดที่ ๑ ถึงหมวดที่ ๑๑ ต่อจากนั้น จึงอธิบายบท ตั้งนั้นทุกหมวด. ต่อไปนี้จะแสดงตัวอย่างรูปในหมวดที่ ๑ ถึงหมวดที่ ๑๑.
หมวดที่ ๑ ( เอกกะ )
รูปทุกชนิด มิใช่เหตุ ( มิใช่เหตุฝ่ายดี เพราะมิใช่อโลภะ อโทสะ อโมหะ มิใช่เหตุฝ่ายชั่ว เพราะมิใช่ โลภะ โทสะ โมหะ ) ไม่มีเหตุ ( ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นมูล เหมือนอกุศล หรือ กุศล เพราะเป็นกลางๆ ) นอกจากนี้ยังแสดงคำอธิบายรูป ๔๒ บท รวมเป็น ๔๔ บท.
หมวดที่ ๒ ( ทุกะ )
รูป ที่อาศัย มีอยู่ รูป ที่มิได้อาศัย มีอยู่ ( รูปที่อาศัย คืออุปาทารูป รูปที่มิได้อาศัย คือมหา ภูตรูป๖ ) นอกจากนั้นอธิบายถึงรูปที่แบ่งออกเป็น ๒ อย่างต่าง ๆ กันอีก ๑๐๓ คู่ รวมทั้งสิ้นจึงเป็น ๑๐๔ คู่.
หมวดที่ ๓ ( ติกะ )
รูปใดเป็นไปในภายใน รูปนั้นเป็นอุปาทารูป, รูปใดเป็นไปในภายนอก รูปนั้นเป็นอุปาทารูป ( รูปอาศัย ) ก็มีเป็นโนอุปาทารูป ( มิใช่รูปอาศัย ) ก็มี. นอกจากนั้นอธิบายถึงรูปที่แบ่งออกเป็น ๓ อย่างต่าง ๆกันอีก ๓๐๒ หมวด ๒ รวมทั้ง สิ้นจึงเป็น ๓๐๓ หมวด ๓ ( คำว่า อุปาทารูป และอุปาทายรูป ใช้ได้ทั้งสองอย่าง ความหมายอย่างเดียวกัน ).
หมวดที่ ๔ ( จตุกกะ )
รูปใดเป็นรูปอาศัย รูปนั้นถูกยึดถือก็มี ไม่ถูกยึดถือก็มี, รูปใดไม่เป็นรูปอาศัย รูปนั้นถูกยึดถือก็มี ไม่ถูกยึดถือ ก็มี. นอกจากนั้นอธิบายถึงรูปที่แบ่งออกเป็น ๔ อย่างต่าง ๆ กันอีก ๒๒ หมวด ๔ รวมทั้งสิ้นจึงเป็น ๒๒ หมวด ๔.
หมวดที่ ๕ ( ปัญจกะ )
ธาตุดิน, ธาตุน้ำ, ธาตุไฟ, ธาตุลม, และรูปอาศัย ( รวมเป็น ๕ ).
หมวดที่ ๖ ( ฉักกะ )
รูปที่พึงรู้ด้วยตา, ด้วยหู, ด้วยจมูก, ด้วยลิ้น, ด้วยกาย, และด้วยใจ ( รวมเป็น ๖ ).
หมวดที่ ๗ ( สัตตกะ )
รูปที่พึงรู้ด้วยตา, ด้วยหู, ด้วยจมูก, ด้วยลิ้น, ด้วยกาย, ด้วยมโนธาตุ ( ธาตุคือใจ ) และด้วยมโนวิญญาณธาตุ ( ธาตุรู้ทางใจ ) ( รวมเป็น ๗ ).
หมวดที่ ๘ (อัฏฐกะ )
รูปที่พึงรู้ด้วยตา, ด้วยหู, ด้วยจมูก, ด้วยลิ้น, ด้วยกาย มีสัมผัสเป็นสุขก็มี มีสัมผัสเป็นทุกข์ก็มี, ด้วยมโนธาตุ, และด้วยมโนวิญญาณธาตุ ( รวมเป็น ๘ โดยแยกรูปที่พึงรู้ด้วยกายออกเป็น ๒ ).
หมวดที่ ๙ ( นวกะ )
อินทรีย์ ( ธรรมชาติอันเป็นใหญ่ ) คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, หญิง ( อิตถินทรีย์ ), ชาย ( บุริสินทรีย์ ), ชีวิต ( ชีวิตินทรีย์ ), และธรรมชาติ ซึ่งมิใช่อินทรีย์. ( รวมเป็น ๙ เฉพาะข้อหลังที่ปฏิเสธว่าธรรมชาติซึ่งมิใช่อินทรีย์นั้น หมายถึงรูป อื่น ๆ ที่นอกจากอินทรีย์ ).
หมวดที่ ๑๐ ( ทสกะ )
อินทรีย์ คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, หญิง, ชาย, ชีวิต, และธรรมชาติ ซึ่งมิใช่อินทรีย์ อันถูกต้องได้ ( สัปปฏิฆะ ) ก็มี, อันถูกต้องไม่ได้ ( อัปปฏิฆะ) ก็มี ( รวมเป็น ๑๐ โดยแยกข้อสุดท้ายออกเป็น ๒ ).
หมวดที่ ๑๑ ( เอกาทสกะ )
อายตนะ ( ที่ต่อหรือบ่อเกิด ) คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ ( สิ่งที่ถูก ต้องได้ด้วยกาย ) และรูปที่เห็นไม่ได้ ( อนิทัสสนะ ) และถูกต้องไม่ได้ ( อัปปฏิฆะ) เป็นของเนื่องด้วย ธัมมายตนะ (รู้ได้ด้วยใจ ) ( รวมเป็น ๑๑ ).
๔. นิกเขปกัณฑ์ ( คำอธิบายบทตั้งทุกข้อ )
๕. อัตถุทธารกัณฑ์
( คำอธิบายบทตั้งอย่างย่อ )
หมวดใหญ่ทั้งสองได้นำมาตั้งไว้รวมกัน เพราะถือว่าเป็นคำอธิบายบทตั้งหรือมาติกา เป็นแต่แบบแรก ยาว กว่า แบบหลังสั้นกว่า ในที่นี้จะแสดงตัวอย่างคำอธิบาย กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม ทั้งสองแบบพอให้เห็น ตัวอย่าง.
คำอธิบายกุศลธรรมในนิกเขปกัณฑ์
รากเหง้าแห่งกุศล ๓ คือความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์ อันประกอบด้วยความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงนั้น, กายกรรม, วจีกรรม, มโนกรรม ( การกระทำทางกาย, วาจา, ใจ ) อันมีความไม่โลภไม่โกรธไม่หลงนั้นเป็นสมุฏฐาน ธรรมเหล่านี้ชื่อว่ากุศล ( พึงสังเกตว่า ในจิตตุปปาทกัณฑ์แสดง กุศลธรรมเพียงแค่จิตกับเจตสิก แต่ในที่นี้ อธิบายกว้างออกมาถึงการกระทำทางกาย วาจา ใจ ด้วย ).
คำอธิบายกุศลธรรมในอัตถุทธารกัณฑ์
กุศลในภูมิ ๔ ( กามาวจรภูมิ, รูปาวจรภูมิ, อรูปาวจรภูมิ และโลกุตตรภูมิ ) ธรรมเหล่านี้ชื่อว่ากุศล
คำอธิบายอกุศลธรรมในนิกเขปกัณฑ์
รากเหง้าแห่งกุศล ๓ คือความโลภ ความไม่โกรธ ความหลง, กิเลสที่มีเนื้อความอันเดียวกับความโลภ ความ โกรธ ความหลงนั้น, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์ อันประกอบด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง นั้น, กายกรรม, วจีกรรม, มโนกรรม อันมีความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้นเป็นสมุฏฐาน ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าอกุศล.
คำอธิบายอกุศลธรรมในอัตถุทธารกัณฑ์
ความเกิดขึ้นแห่งจิตอันเป็นอกุศล ๑๒ ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าอกุศล.
คำอธิบายอัพยากตธรรมในนิกเขปกัณฑ์
วิบาก ( ผล ) ของธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลที่เป็นกามาวจร, รูปาวจร, อรูปาวจร, โลกุตตระ ( อปริยาปันนะ), ที่เป็นเวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์ ธรรมที่เป็นกิริยา มิใช่กุศล มิใช่ผลของกรรม, รูปทั้งปวง, อสังขต- ธาตุ ( นิพพาน ). ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าอัพยากฤต ( เป็นกลาง ๆ ).
คำอธิบายอัพยากตธรรมในอัตถุทธารกัณฑ์
วิบากในภูมิทั้งสี่, กิริยาในภูมิทั้งสาม ( โลกุตตรภูมิไม่มีกิริยา ), รูป, นิพพาน ธรรมเหล่านี้ชื่อว่า อัพยากฤต.
จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ ธัมมสังคณี
( หมายเหตุ : ผู้เขียนมีความเสียดายอย่างยิ่งที่ไม่สามารถแสดงคำอธิบายในบทตั้งในเล่มที่ ๓๔ ได้ หมดทุกข้อ แต่ก็ขอให้ท่านผู้อ่าน ซึ่งเคยผ่านหนังสือเรื่อง GUIDE THROUGH ABHIDHAMMAPITAKA (นำทางอภิธัมมปิฎก) ของพระนยายติโลกเถระ ชาวเยอรมันมาแล้ว โปรดเทียบเคียงดู จะเห็นได้ว่า ผู้เขียนย่อในที่นี้ พิสดารกว่ามาก ส่วนที่พระเถระ เยอรมันย่อนั้น บางตอนหนักไปในทางถอดข้อความในหนังสือ อภิธัมมัตถสังคหะ ซึ่งมิใช่พระอภิธัมมปิฎกมากกว่า ส่วนเล่มนี้ ถือแนวตามอภิธัมมปิฎก แต่เทียบให้เห็นบางส่วนของอภิธัมมัตถสังคหะ ความจำเป็นในการย่อแต่พอได้สาระสำคัญ และหน้า กระดาษจำกัด ทำให้ต้องจบข้อความในเล่มที่ ๓๔ ทั้งที่ยังมีข้อความบางตอนที่น่าสนใจอีกมาก แต่อย่างไรก็ตาม ท่านผู้อ่านก็ได้ ผ่านสาระสำคัญเกือบจะเรียกว่าสมบูรณ์ ).
________________________________________
'๑' . มโนธาตุ มีอารมณ์เพียง ๕ คืออารมณ์ในใจ
'๒' . มโนวิญญาณธาตุ มีอารมณ์ครบ ๖ พึงสังเกตทั้งมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุไว้ในเรื่องจำนวน อารมณ์ด้วย
'๓' . พึงสังเกตว่า วิบากจิตที่เป็นผลของอกุศลฝ่ายกามาวจร ยังไม่กล่าวถึงในที่นี้ ด้วยต้องการแสดงฝ่าย กุศลให้หมดก่อน แล้วจึงแสดงวิบากจิตที่เป็นผลของอกุศลภายหลัง
'๔' . ความหมายของศัพท์ทั้งสี่ในอรูปาวจรนี้ มีกล่าวไว้แล้วในหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๒๐๐
'๕' . คำว่าวิบาก และกิริยา ได้แสดงมาแล้วในจิตตุปปาทกัณฑ์ ทั้งสองนี้ เป็นอัพยากตจิต จึงยังคงเหลืออีก ๒ อย่างที่ยังมิได้อธิบาย คือรูป กับนิพพาน ในที่นี้จะอธิบายเรื่องรูป เพราะฉะนั้น จึงควรทราบว่า รูป และนิพพาน ก็เป็น อัพยากฤตด้วย
'๖' . อุปาทายรูป คือรูปที่จะปรากฏได้ ต้องอาศัยธาตุทั้งสี่ เช่น ความเป็นหญิง ความเป็นชาย ถ้าไม่มีธาตุ ทั้งสี่ ก็ไม่ปรากฏ ส่วนมหาภูตรูปไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่น เป็นของปรากฏได้ในตัวเอง
เล่มที่ ๓๕ ชื่อวิภังค์ ( เป็นอภิธัมมปิฎก )
พระไตรปิฎกเล่มนี้ ว่าด้วยการแจก ( วิภังค์ ) คือแยกจากกลุ่มธรรมะต่าง ๆ ให้เห็นรายละเอียด เช่น คำว่า ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ จำแนกรายละเอียดออกไปอย่างไรบ้าง.
การแยกกลุ่มหรืออธิบายแจกรายละเอียดของธรรมะต่าง ๆ ออกไปในเล่มที่ ๓๕ นี้ มี ๑๘ หมวด คือ
๑. ขันธวิภังค์ แจกขันธ์ ๕
๒. อายตนวิภังค์ แจกอายตนะ ๑๒
๓. ธาตุวิภังค์ แจกธาตุ ๖ และธาตุ ๑๘
๔. สัจจวิภังค์ แจกอริยสัจจ์ ๔
๕. อินทริยวิภังค์ แจกอินทรีย์ ๒๒
๖. ปัจจยาการวิภังค์ แจกปัจจยาการ ๑๒ ที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท
๗. สติปัฏฐานวิภังค์ แจกสติปัฏฐาน ๔
๘. สัมมัปปธานวิภังค์ แจกสัมมัปปธาน ( เพียรชอบ ) ๔
๙. อิทธิปาทวิภังค์ แจกอิทธิบาท ๔
๑๐. โพชฌังควิภังค์ แจกโพชฌงค์ ๗
๑๑. มัคควิภังค์ แจกมรรคมีองค์ ๘
๑๒. ฌานวิภังค์ แจกฌาน ( การเพ่งอารมณ์ ) ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน
๑๓. อัปปมัญญาวิภังค์ แจกอัปปมัญญา ๔ ( พรหมวิหาร ๔ ที่แผ่ไปโดยไม่ กำหนดประมาณ )
๑๔. สิกขาปทวิภังค์ แจกสิกขาบท ๕ คือศีล ๕
๑๕. ปฏิสัมภิทาวิภังค์ แจกปฏิสัมภิทา ( ความแตกฉาน ) ๔
๑๖. ญาณวิภังค์ แจกญาณ ( ความรู้ ) ตั้งแต่หมวด ๑ ถึงหมวด ๑๐
๑๗. ขุททกวัตถุวิภังค์ แจกเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ตั้งแต่หมวดที่ ๑ ถึงหมวดที่ ๑๘ และทิฏฐิ ๖๒
๑๘. ธัมมหทยวิภังค์ แจกหัวใจหรือหัวข้อธรรม
ในการแจกธรรมะทั้งสิบแปดหัวข้อเหล่านี้ โดยมากได้ตั้งเป็น ๓ ภาค คือเป็นหัวข้อฝ่ายพระสูตร ( สุตตันต- ภาชนียะ ), หัวข้อฝ่ายพระอภิธรรม ( อภิธัมมภาชนียะ ) และหมวดถามตอบปัญหา ( ปัญหาปุจฉกะ ) เป็นการแยกอธิบายให้เห็น ว่า ศัพท์ธรรมะนั้น ๆอธิบายตามแนวพระสูตรอย่างไร ตามแนวพระอภิธรรมอย่างไร มีพิเศษออกไป คือข้อ ๕ และข้อ ๑๔ ไม่มี หัวข้อฝ่ายพระสูตร และข้อ ๑๖, ๑๗, และ ๑๘ ไม่ตั้งเป็นหัวข้อฝ่ายพระสูตร ฝ่ายพระอภิธรรม หากตั้งตามหมวดที่ ๑ ที่ ๒ เป็นต้น.
ขยายความ
๑. ขันธวิภังค์ แจกขันธ์ ๕
ก. สุตตันตภาชนียะ แจกตามแนวพระสูตร
ขันธ์หรือกอง ๕ คือ กองรูป, กองเวทนา, กองสัญญา, กองสังขาร, กองวิญญาณ.
ใน ๕ กองนั้น กองรูปเป็นไฉน ? รูปใด ๆที่เป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน, ภายในหรือภายนอก, หยาบหรือ ละเอียด, เลวหรือประณีต, อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ รวบรวมย่นย่อรูปนั้นเข้าเป็นอันเดียวกัน นี้เรียกว่า รูป.
( ต่อจากนั้นเป็นการอธิบายรูปที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันว่า หมายความอย่างไร อธิบายหมด จนกระทั่งว่า รูปที่อยู่ไกลหรือใกล้ ความหมายว่าอย่างไร แล้วอธิบายเวทนา, สัญญา, สังขาร และวิญญาณ ในทำนองเดียวกับรูป จนจบหมด ทุกข้อ จัดว่าจบสุตตันตภาชนียะ ).
ข. อภิธัมมภาชนียะ แจกตามแนวอภิธรรม
ขันธ์หรือกอง ๕ คือ กองรูป, กองเวทนา, กองสัญญา, กองสังขาร, กองวิญญาณ.
ใน ๕ กองนั้น กองรูปเป็นไฉน ? รูปที่มีอย่างเดียว ได้แก่รูปทั้งปวง มิใช่เหตุ, ไม่มีเหตุ เป็นต้น ( ทำนอง เดียวกับที่กล่าวไว้ในรูปกัณฑ์ในธัมมสังคณี เล่มที่ ๓๔ ที่ย่อมาแล้ว ) จนถึงหมวดที่ ๑๑ คือรูปแจกออกเป็น ๑๑ อย่าง มีอะไร บ้าง.
ต่อจากนั้นอธิบายกองเวทนา ( ความรู้สึกอารมณ์ ) ตั้งแต่อย่างเดียวไปจนถึง ๑๐ อย่าง แล้วอธิบาย ยักย้ายนัย ไปจนถึงเวทนา ๒๔ เวทนา ๓๐ และเวทนามากอย่าง.
ต่อจากนั้นอธิบายกองสัญญา ( ความจำได้หมายรู้ ), กองสังขาร ( เจตนาหรือความคิด ) และกองวิญญาณ ( ความรู้แจ้งอารมณ์ ) ในทำนองเดียวกับเวทนา.
ค. ปัญหาปุจฉกะ หมวดถามตอบปัญหา
การถามตอบปัญหาในเรื่องขันธ์ ๕ นี้ ตั้งตามแนวบทตั้งของธัมมสังคณี เล่มที่ ๓๔ กล่าวคือ ตั้งคำถามว่า ขันธ์ ๕ นั้น เป็นกุศลเท่าไร, เป็นอกุศลเท่าไร, เป็นอัพยากฤตเท่าไร ( ลงท้ายจนจบอภิธัมมมาติกา ) คือท้ายของปิฏฐิทุกะ (หมวด ๒ รั้งท้าย ) ว่าเป็นธรรมมีข้าศึกเท่าไร ไม่มีข้าศึกเท่าไร ( กติ สรณา, กติอสรณา ).
ครั้นแล้วได้ตอบเป็นลำดับไปว่า " กองรูปเป็นอัพยากฤต, ส่วนกองทั้งสี่ ( นอกจากนั้น ) เป็นกุศลบ้าง, อกุศล บ้าง, อัพยากฤตบ้าง " นอกจากนั้นกล่าวถึงขันธ์หรือกอง ๒ ว่า ไม่ควรกล่าวว่าประกอบด้วยเวทนา ที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง แต่ขันธ์หรือกอง ๓ ประกอบด้วยเวทนาที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง.
ตอนจบได้กล่าวว่า รูปขันธ์ ( กองรูป ) ไม่มีข้าศึก ส่วนขันธ์ ๔ ( ที่เหลือ ) มีข้าศึกบ้าง ไม่มีข้าศึกบ้าง.
๒. อายตนวิภังค์ แจกอายตนะ ๑๒
ก. สุตตันตภาชนียะ แจกตามแนวพระสูตร
อายตนะ ( ที่ต่อหรือบ่อเกิด ) ๑๒ อย่าง คือ อายตนะคือตา, รูป, หู, เสียง, จมูก, กลิ่น, ลิ้น, รส, กาย, โผฏฐัพพะ, ใจ, ธรรมะ.
แล้วยกชื่ออายตนะทั้งสิบสองข้อขึ้นกล่าวทีละข้อว่า ไม่เที่ยง, เป็นทุกข์, ไม่ใช่ตัวตน, มีความแปรปรวนเป็น ธรรมดา.
ข. อภิธัมมภาชนียะ แจกตามแนวพระอภิธรรม
อายตนะ ๑๒ อย่าง คือตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ, รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ, ธรรมะ ( พึงสังเกต วิธีเรียงลำดับเทียบเคียงกับข้างบนดูด้วย ).
ครั้นแล้วอธิบายตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย แต่ละข้อว่า เป็นประสาทอาศัยธาตุ ๔, ส่วนใจอธิบายตามแบบ วิญญาณขันธ์ในขันธ์ ๕ ที่กล่าวมาแล้ว และได้อธิบายรูปว่า ได้แก่สี่ที่อาศัยธาตุทั้งสี่, เสียง, กลิ่น, รส, ว่า อาศัยธาตุทั้งสี่. โผฏฐัพพะ ( สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย ) ว่า ได้แก่ธาตุ ๓ คือ ธาตุดิน, ธาตุไฟ, ธาตุลม๑ ส่วนธรรมะ ( สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ ) ได้แก่เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, รูปที่เห็นไม่ได้ ถูกต้องไม่ได้ อันนับเนื่อง ในธัมมายตนะ และอสังขตธาตุ ( ธาตุที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่นิพพาน ).
ค. ปัญหาปุจฉกะ หมวดถามตอบปัญหา
เป็นการถามแบบเดียวกับขันธวิภังค์ คืออายตนะ ๑๒ มีกุศลกี่อย่าง อกุศลกี่อย่าง อัพยากฤตกี่อย่าง ฯลฯ มีข้าศึกกี่อย่าง ไม่มีข้าศึกกี่อย่าง.
ตอบว่า อายตนะ ๑๐ เป็นอัพยากฤต คือเป็นกลาง ๆ, ส่วนอายตนะ ๒ ( อายตนะคือใจกับธรรมะ ) เป็นกุศล บ้าง อกุศลบ้าง อัพยากฤตบ้าง ฯลฯ อายตนะ ๑๐ ไม่มีข้าศึก, ส่วนอายตนะ ๒ ( อายตนะคือใจกับธรรมะ ) เป็นกุศลบ้าง อายตนะ ๒ ( อายตนะคือใจกับธรรมะ คือสิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ ) มีข้าศึก.
( หมายเหตุ : แสดงว่า ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ รวม ๑๐ อย่างนี้เป็น กลาง ๆ และไม่มีข้าศึกเพราะเป็นรูป ส่วนใจกับธรรมะเป็นกุศลบ้าง, อกุศลบ้าง อัพยากฤตบ้าง และมีข้าศึกคือกิเลส ).
๓. ธาตุวิภังค์ แจกธาตุ
ก. สุตตันตภาชนียะ แจกตามแนวพระสูตร
ธาตุ ๖ คือธาตุดิน, น้ำ, ไฟ, ลม, อากาศ ( ช่องว่าง ) และวิญญาณ ( ธาตุรู้ ) แล้วอธิบายว่า ธาตุเหล่านี้หมาย ความถึงอะไร โดยเฉพาะธาตุรู้หรือวิญญาณธาตุ อธิบายว่า ได้แก่ธาตุรู้ทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ.
แล้วได้กล่าวถึงธาตุ ๖ อื่นอีก คือ สุข, ทุกข์, โสมนัส, โทมนัส,๒ อุเบกขา, อวิชชา, และธาตุ ๖ อื่นอีก ได้แก่กาม, พยาบาท ( คิดปองร้าย ), วิสิงหา ( เบียดเบียน ), เนกขัมมะ ( ออกจากกาม ), อัพยาบาท ( ไม่คิดปองร้าย ), อวิสิงหา ( ไม่เบียดเบียน ) ในภาคอธิบายได้กล่าวถึงพยาบาทว่า ได้แก่ความคิดปองร้าย, ความโกรธ, ความยินร้ายแห่งจิต เป็นต้น วิสิงหา ได้แก่การเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ, ท่อนไม้, ศัตรา, เชือก, หรือสิ่งอื่น ๆ ส่วนอัพยาบาท ได้แก่การแผ่เมตตา, อวิหิงสา ได้แก่การแผ่กรุณา.
ข. อภิธัมมภาชนียะ แจกตามแนวอภิธรรม
ธาตุ ๑๘ คือ ตา, รูป, ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา, หู, เสียง, ความรู้แจ้งอารมณ์ทางหู, จมูก, กลิ่น ความรู้ แจ้งในอารมณ์ทางจมูก, ลิ้น, รส, ความรู้แจ้งอารมณ์ทางลิ้น, กาย, สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย, ความรู้แจ้งอารมณ์ทางกาย, ใจ, สิ่ง ที่รู้ได้ด้วยใจ, ความรู้แจ้งอารมณ์ทางใจ ต่อจากนั้นเป็นคำอธิบาย.
ค. ปัญหาปุจฉกะ หมวดถามตอบปัญหา
ตั้งปัญหาแบบเดียวกับที่แล้ว ๆ มา ตอบว่า ธาตุ ๑๖ เป็นอัพยากฤต คือเป็นกลาง ๆ, ธาตุ ๒ เป็นกุศลบ้าง, อกุศลบ้าง, อัพยากฤตบ้าง ฯลฯ ธาตุ ๑๖ ไม่มีข้าศึก, ธาตุ ๒ มีข้าศึก.
( หมายเหตุ : ธาตุ ๒ ได้แก่ธัมมธาตุ กับมโนวิญญาณธาตุ นอกนั้นเป็นธาตุ ๑๖ ).
๔. สัจจวิภังค์ แจกสัจจะ
ก. สุตตันตภาชนียะ แจกตามแนวพระสูตร
อริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์, เหตุให้ทุกข์เกิด, ความดับทุกข์, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์, แล้วอธิบายอริยสัจจ์ แต่ละข้อ.
ข. อภิธัมมภาชนียะ แจกตามแนวพระอภิธรรม
แจกอริยสัจจ์ ๔ แบบเดียวกัน แต่คำอธิบายต่างกันดังต่อไปนี้ :- ตัณหาเรียกว่าทุกขสมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิด, ทุกข์ คือกิเลสที่เหลือ ( นอกจากตัณหา ), อกุศลธรรมที่เหลือ ( นอกจากตัณหา ), กุศลมูล ๓ ที่ยังมีอาสวะ, กุศลธรรมที่เหลือ ที่ยังมีอาสวะ, วิบาก, กิริยา, รูปทั้งปวง นี้เรียกว่าทุกข์, การละตัณหาได้ เรียกว่าทุกขนิโรธ ความดับทุกข์, มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมีในสมัยที่เจริญโลกุตตรฌาน เรียกว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นอกจากนี้ยังอธิบายยักย้ายนัย อื่นอีก.
ค. ปัญหาปุจฉกะ หมวดถามตอบปัญหา
คำถามทำนองเดียวกับที่แล้วมา ตอบว่า สมุทยสัจจ์ ( ความจริงคือเหตุให้ทุกข์เกิด ) เป็นอกุศล, มัคคสัจจ์ ( ความจริงคือหนทางหรือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ) เป็นกุศล, นิโรธสัจจ์ ( ความจริงคือความดับทุกข์ ) เป็นอัพยากฤต ( เป็นกลาง ๆ ), ทุกขสัจจ์ ( ความจริงคือทุกข์ ) เป็นกุศลบ้าง, อกุศลบ้าง, อัพยากฤตบ้าง ฯลฯ สมุทยสัจจ์ มีข้าศึก, สัจจะ ๒ ( นิโรธกับมรรค ) ไม่มีข้าศึก, ทุกขสัจจ์ มีข้าศึกบ้าง ไม่มีข้าศึกบ้าง ( ส่วนที่เป็นีรูปไม่มีข้าศึก ส่วนที่เป็นนามมีข้าศึก ).
๕. อินทริยวิภังค์ แจกอินทรีย์
ก. อภิธัมมภาชนียะ แจกตามแนวพระอภิธรรม,๓
อินทรีย์ ๒๒ ได้แก่อินทรีย์คือตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ, อินทรีย์คือหญิง, ชาย, ชีวิต, อินทรีย์คือสุข, ทุกข์, โสมนัส, โทมนัส, อุเบกขา, อินทรีย์คือความเชื่อ, ความเพียร, สติ, สมาธิ, ปัญญา, อินทรีย์คืออัธยาศัยที่มุ่งบรรลุมรรคผล ของผู้ปฏิบัติ, อินทรีย์คือการตรัสรู้สัจจธรรมด้วยมรรค, อินทรีย์ของพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้สัจจธรรมแล้ว.
( หมายเหตุ : ในปฏิสัมภิทามรรค เล่มที่ ๓๑ ในพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ กล่าวว่า อนัญญตัญญัส- สามีตินทรีย์ ( อินทรีย์คืออัธยาศัยที่มุ่งบรรลุมรรคผลของผู้ปฏิบัติ ) ได้แก่โสดาปัตติมรรค. อัญญินทรีย์ ( อินทรีย์คือการตรัสรู้ สัจจธรรมด้วยมรรค ) ได้แก่โสดาปัตติผล, สกทาคามิมรรค, สกทาคามิผล, อนาคามิมรรค, อรหัตตมรรค, รวม ๖ ฐานะ, อัญญาตาวินทรีย์ ( อินทรีย์ของพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้สัจจธรรมแล้ว ) ได้แก่อรหัตตผล.
ข. ปัญหาปุจฉกะ หมวดถามตอบปัญหา
คำถามคงเป็นแบบเดิม คำตอบว่า อินทรีย์ ๑๐ เป็นอัพยากฤต ( กลาง ๆ ) อินทรย์คือโทมนัส (ความทุกข์ใจ ) เป็นอกุศล, อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์๔ เป็นกุศล, อินทรีย์ ๔ เป็นกุศลบ้าง อัพยากฤต บ้าง, อินทรีย์ ๖ เป็นกุศลบ้าง, อกุศลบ้าง, อัพยากฤตบ้าง ฯลฯ อินทรีย์ ๑๕ ไม่มีข้าศึก, อินทรีย์คือโทมนัส ( ความทุกข์ใจ ) มีข้าศึก, อินทรีย์ ๖ มีข้าศึกบ้าง ไม่มีข้าศึกบ้าง.
๖. ปัจจยาการวิภังค์ แจกปัจจยาการ
ก. สุตตันตภาชนียะ แจกตามแนวพระสูตร
เพราะอวิชชา ( ความไม่รู้ ) เป็นปัจจัยจึงมีสังขาร ( เจตนา ), เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ, เพราะ วิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป, เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีอายตนะ ๖, เพราะอายตนะ ๖ เป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ, เพราะผัสสะ เป็นปัจจัยจึงมีเวทนา, เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา, เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน, เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ, เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ, เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา, มรณะ, โสกะ, ปริเทวะ, ทุกข์, โทมนัส, อุปายาส๕ นี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น. ต่อจากนั้นเป็นคำอธิบาย.
ข. อภิธัมมภาชนียะ แจกตามแนวอภิธรรม
ในบทตั้งตามแนวอภิธรรมนี้ แบ่งออกเป็น ๕ ตอน คือตอนแรกเรียก ปัจจยจตุกกะ ( หมวด ๔ แห่งปัจจัย ), ตอนที่ ๒ เรียกเหตุจตุกกะ ( หมวด ๔ แห่งเหตุ ), ตอนที่ ๓ เรียกสัมปยุตตจตุกกะ ( หมวด ๔ แห่งธรรมที่ ประกอบกัน ) ตอนที่ ๔ เรียกอัญญมัญญจตุกกะ ( หมวด ๔ แห่งธรรมที่อิงอาศัยกันและกัน ) ตอนที่ ๕ เป็นบทตั้งเฉย ๆ เรียก ว่ามาติกา ).
หมวด ๔ แห่งปัจจัย
๑. เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเป็นสังขาร ( ใช้เอกพจน์ในที่อื่น ๆ ทั่วไปใช้พหูพจน์ แสดงว่าสังขารใน ปฏิจจสมุปบาทตามแนวอภิธรรมเป็นเอกพจน์ตลอด ), เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีนาม, เพราะนามเป็นปัจจัยจึงมีอายตนะที่ ๖ ( อายตนะคือใจ ), เพราะอายตนะที่ ๖ เป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ, เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา, เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา, เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน, เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ, เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ, เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมี ชราและมรณะ นี่เป็นความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวง.
๒. ในข้อนี้ตัดอายตนะที่ ๖ ออก นอกจากนั้นเหมือนข้อ ๑ จึงเป็น เพราะนามเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ.
๓. ในข้อนี้เปลี่ยนแปลงเพียงตอนที่ว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป, เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมี อายตนะที่ ๖, เพราะอายตนะที่ ๖ เป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ.
๔. ในข้อนี้เปลี่ยนแปลงเพียงตอนที่ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีอายตนะ ๖ ( พึงสังเกตว่า อายตนะที่ ๖ หมายถึงใจ ส่วนอายตนะ ๖ หมายครบทั้งตา, หู, จมูก, กาย, ใจ ) เพราะอายตนะ ๖ เป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ.
หมวด ๔ แห่งเหตุ
เรียงลำดับเหมือนหมวด ๔ แห่งปัจจัย เป็นแต่ว่าเมื่อกล่าวถึงว่า เพราะอะไรเป็นปัจจัย ก็กล่าวซ้ำลงไปอีกว่า มีสิ่งนั้นเป็นเหตุ.
หมวด ๓ แห่งสัมปยุตตธรรม ( ธรรมที่ประกอบกัน )
เรียงลำดับเหมือนข้างต้น เป็นแต่ว่าเมื่อกล่าวถึงว่าเพราะอะไรเป็นปัจจัย ก็กล่าวซ้ำลงไปอีกว่า สัมปยุต หรือ ประกอบด้วยธรรมข้อนั้น.
หมวด ๔ แห่งธรรมที่อิงอาศัยกัน
เรียงลำดับเหมือนข้างต้น แต่นำธรรมที่เป็นเหตุผลของกันและกันมาเรียงอยู่ให้เห็นว่า เป็นเหตุให้เกิดกันและ กันได้ ดังนี้
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร, เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีอวิชชา, เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ, เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร ฯลฯ
( ในข้อนี้ขอเสนอให้ท่านผู้อ่านโปรดสังเกตไว้ด้วยว่า มักจะมีปัญหาเกิดขึ้นว่า เมื่ออวิชชาเป็นต้นเค้า ของสิ่งทั้งหลายแล้ว อะไรเล่าเป็นต้นเค้าของอวิชชาอีกต่อหนึ่ง คำตอบมีอยู่ในที่นี้ ที่ว่าสังขารเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชาก็ได้ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารก็ได้ อนึ่ง ในสัมมาทิฏฐิสูตร พระไตรปิฎกฉบับบาลี เล่มที่ ๑๒ พระสาริบุตรแสดงว่า อาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ) เป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา ).
มาติกา
แสดงว่าธรรมะหลายข้อในปัจจยาการ หรือในปฏิจจสมุปบาทนั้น เป็นปัจจัยแห่งอวิชชาได้ทั้งสิ้นดังนี้ :-
เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีอวิชชา ฯลฯ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีอวิชชา ฯลฯ
เพราะนามเป็นปัจจัยจึงมีอวิชชา ฯลฯ
เพราะอายตนะที่ ๖ ( ใจ) เป็นปัจจัยจึงมีอวิชชา ฯลฯ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีอวิชชา ฯลฯ
เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอวิชชา ฯลฯ
เพราะอุปทานเป็นปัจจัยจึงมีอวิชชา ฯลฯ
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร, เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ, เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนาม รูป, เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีอายตนะ ๖ ฯลฯ
( ต่อจากนั้นเป็นการอธิบายปัจจยาการผสมกับจิตในภูมิต่าง ๆ จนจบ ความจริงเรื่องนี้ค่อนข้างจะยุ่งยาก แต่มี ประโยชน์สำหรับผู้รักการค้นคว้าจึงนำมากล่าวไว้พอให้เห็น ).
๗. สติปัฏฐานวิภังค์ แจกสติปัฏฐาน
ความต่างกันของสติปัฏฐานตามแนวพระสูตรและแนวพระอภิธรรม มิใช่อยู่ที่จำนวน ๔ คงมี ๔ อย่างเหมือน กัน เป็นแต่สติปัฏฐานตามแนวพระสูตร หมายถึงการปฏิบัติข้างต้น เพื่อคุณธรรมสูงขึ้นไป มีวิธีพิจารณาอารมณ์ทั้งสี่ภายใน, ภาย นอก, ทั้งภายในภายนอก ส่วนสติปัฏฐานตามแนวพระอภิธรรม หมายถึงการ เจริญโลกุตตรฌาน ประกอบด้วยสติปัฏฐานแต่ละ ข้อเป็นแนวปฏิบัติ.๖
๘. สัมมัปปธานวิภังค์ แจกความเพียรชอบ
ทั้งบทตั้งฝ่ายพระสูตรและฝ่ายพระอภิธรรมตั้งเกณฑ์ความเพียรชอบ ๔ ด้วยกัน คือ ๑. เพียรระวังมิให้บาป เกิดขึ้น ๒. เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ๓. เพียรทำกุศลให้เกิดขึ้น ๔. เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ต่างแต่บทตั้งฝ่ายพระสูตร แสดงอย่างธรรมดา บทตั้งฝ่ายพระอภิธรรมแสดงการเจริญโลกุตตรฌาน ประกอบด้วย สัมมัปปธาน คือความเพียรชอบ.
๙. อิทธิปาทวิภังค์ แจกอิทธิบาท
ทั้งบทตั้งฝ่ายพระสูตรและฝ่ายพระอภิธรรมตั้งเกณฑ์อิทธิบาท คือคุณให้บรรลุความสำเร็จ ๔ อย่างด้วยกัน ได้แก่ ๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น ๒. วิริยะ ความเพียร ๓. จิตตะ เอาใจฝักไฝ่ ๔. วิมังสา ใช้ปัญญาพิจารณาสอบ สวน แล้วแสดงความต่างกันเพียงฝ่ายพระอภิธรรมเจริญโลกุตตรฌาน ประกอบด้วยอิทธิบาท.
๑๐. โพชฌังควิภังค์ แจกโพชฌงค์
โพชฌงต์องค์แห่งการตรัสรู้ ๗ คือ ๑. สติ ความระลึกได้ ๒. ธัมมวิจยะ การเลือกเฟ้นธรรม ๓. วิริยะ ความเพียร ๔. ปีติ ความอิ่มใจ ๕. ปัสสัทธิ ความสงบใจ ๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น ๗. อุเบกขา ความวางเฉย ความต่างกัน ระหว่างบทตั้งฝ่ายพระสูตรกับพระอภิธรรมก็แบบเดียวกับข้ออื่น ๆ คือบทตั้งฝ่ายพระอภิธรรมแสดงการเจริญโลกุตตรฌาน ประ กอบด้วยโพชฌงค์ คือโพชฌงค์เกิดขึ้นในขณะเจริญโลกุตตรฌานนั้น.
๑๑. มัคควิภังค์ แจกมรรค
มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์มีองค์ ๘ มีความเห็นชอบ เป็นต้น มีความตั้งใจมั่นชอบ เป็นที่สุด ความต่างกันระหว่างบทตั้งฝ่ายพระสูตรกับพระอภิธรรม คือบทตั้งฝ่ายพระอภิธรรมแสดงมรรค ๘ นี้เกิดขึ้นในขณะเจริญโลกุตตร- ฌาน และบางตอนก็แสดงมรรคมีองค์ ๕ คือความเห็นชอบ, ความดำริชอบ, ความเพียรชอบ, ความระลึกชอบ, ความตั้งใจมั่น ชอบ ( ซึ่งเป็นส่วนประกอบของจิตบางชนิด ) แล้วแสดงว่ามรรค มีองค์ ๕ เกิดขึ้นในขณะเจริญโลกุตตรฌาน.
๑๒. ฌานวิภังค์ แจกฌาน ( การเพ่งอารมณ์ )
บทตั้งฝ่ายพระสูตรแสดงว่าภิกษุตั้งอยู่ในศีล เจริญโพธิปักขิยธรรม มีสติสัมปชัญญะ เสพเสนาสนะ ( ที่อยู่ อาศัย ) อันสงบ นั่งคู้บัลลังก์ ( ขัดสมาธิ ) ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ชำระจิตจากนีวรณ์ ( กิเลสอันกั้นจิตมิให้บรรลุ ความดี ) ๕ ประการ เจริญรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ แล้วอธิบายรายละเอียด.
บทตั้งฝ่ายพระอภิธรรมแสดงฌาน ๔ แต่เมื่อถึงฌานที่ ๔ ได้แสดงฌานที่ ๕ และอรูปฌานอยู่ในกรอบของ ฌานที่ ๔ ด้วย.
๑๓. อัปปมัญญาวิภังค์ แจกอัปปมัญญา
บทตั้งฝ่ายพระสูตรแสดงการเจริญพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา แผ่ไปในสัตว์หา ประมาณมิได้ ( อัปปมัญญา = ไม่มีประมาณ ).
บทตั้งฝ่ายพระอภิธรรมแสดงการเจริญฌานมีพรหมวิหาร ๔ เป็นอารมณ์.
๑๔. สิกขาปทวิภังค์ แจกสิกขาบท
ในข้อนี้ไม่มีบทตั้งฝ่ายพระสูตร มีแต่บทตั้งฝ่ายพระอภิธรรม แจกสิกขาบท ๕ คือ เจตนาเว้นจากฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติผิดในกาม, พูดปด, ดื่มสุราเมรัย พร้อมทั้งแสดงกุศลจิตที่เนื่องด้วยเจตนา งดความชั่วแต่ละข้อนั้น ๆ.
๑๕. ปฏิสัมภิทาวิภังค์ แจกปฏิสัมภิทา
บทตั้งฝ่ายพระสูตรและพระอภิธรรม แจกปฏิสัมภิทา ( ความแตกฉาน ) ออกเป็น ๔ ประเภท คือ ความแตก ฉานในอรรถ, ความแตกฉานในธรรม, ความแตกฉานในนิรุตติ, ความแตกฉานในปฏิภาน๗ คำอธิบายฝ่ายพระธรรม มีกล่าวถึงกุศลจิต ประกอบด้วยปฏิสัมภิทาเหล่านี้ ตั้งแต่อย่างต่ำจนถึงสูง.
๑๖. ญาณวิภังค์ แจกญาณ ( ความรู้ )
ในข้อนี้ไม่มีบทตั้งฝ่ายพระสูตร และฝ่ายพระอภิธรรมอย่างที่แล้วมา ตั้งแต่เป็น มาติกา แล้วมีคำ อธิบายเรียก นิทเทส โดยแสดงว่า เมื่อจัดเป็นประเภทตามหมวด คือหมวด ๑ หมวด ๒ ถึงหมวด ๑๐ แล้วญาณที่มี ๑ อย่าง ๒ อย่าง จนถึง ๑๐ อย่างตามจำนวนหมวดนั้นว่า มีอะไรบ้าง.
ขอยกตัวอย่างหมวดที่ ๒ เช่น ญาณหรือปัญญา ๒ ได้แก่โลกิยปัญญา ( ความรู้แบบโลก ), โลกุตตรปัญญา ( ความรู้ข้ามพ้นโลก ), หมวด ๓ เช่น ปัญญาเกิดจากความคิด ( จินตามยาปัญญา ), ปัญญาเกิดจากการฟัง ( สตุมยาปัญญา ), ปัญญาเกิดจากการอบรม (ภาวนามยาปัญญา ).
๑๗. ขุททกวัตถุวิภังค์ แจกเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
มีวิธีการแบบข้อ ๑๖ คือ ตั้งแม่บทหรือมาติกา ถึงธรรมข้อเดียว ๒ ข้อ ๓ ข้อ เป็นต้น แล้วอธิบาย แม่บท เหล่านั้นทีละข้อไป.
ขอยกตัวอย่าง เช่น หมวด ๑ ความเมา เช่น เมาชาติ เมาโครต เมายศ เป็นต้น หมวด ๒ เช่น ความโกรธคู่กับความผูกโกรธ, ความวิบัติแห่งศีลคู่กับความวิบัติแห่งทิฏฐิ เป็นต้น หมวด ๓ เช่น อกุศลมูล ๓ คือ ความโลภ, ความโกรธ, ความหลง เป็นต้น ลงสุดท้ายด้วยทิฏฐิ ๖๒ ( ดังที่กล่าวไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ ) พรหมชาลสูตร
๑๘. ธัมมหทยวิภังค์ แจกหัวข้อธรรม
ลีลาในหมวดนี้เป็นแบบหมวดถามตอบปัญหา คือตั้งคำถามขึ้นก่อนว่า ขันธ์มีเท่าไร อายตนะมีเท่าไร ธาตุมี เท่าไร จนถึงจิตมีเท่าไร แล้วก็ตอบว่า ขันธ์มี ๕ เป็นต้น แล้วจึงแจกรายละเอียดออกไป ( ซึ่งได้นำไปแปลไว้อย่างละเอียดแล้ว เฉพาะต้อนต้นนี้ในหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๑๘๖ ถึง หมายเลข ๑๙๘ ) ครั้นแล้วได้นำธรรมที่เป็นบทตั้งนั้นมาแจกตามแนวอื่นอีก เช่น แนวแห่งธัมมสังคณีว่า ขันธ์ ๕ เป็นต้นนั้น อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นอัพยากฤต.
จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕ วิภังค์
________________________________________
'๑' . อภิธรรมถือว่าน้ำแท้เป็นของถูกต้องไม่ได้ ในอภิธัมมปิฎกจึงไม่จัดโผฏฐัพพะเข้าในอุปาทายรูป เพราะแม้ จะได้แก่ธาตุ ๓ ก็เป็นมหาภูตรูปอยู่แล้ว แต่อภิธัมมัตถสังคหะจัดเป็นอุปาทายรูปด้วย
'๒' . ในกรณีเช่นนี้ สุข หมายถึงสุขกาย, ทุกข์ หมายถึงทุกข์กาย, โสมนัส หมายถึงสุขใจ, โทมนัส หมาย ถึงทุกข์ใจ
'๓' . ไม่แจกตามแนวพระสูตร
'๔' . ในหมายเหตุข้างบนและในหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๑๘๖-๑๙๘ ได้แปลศัพท์ เหล่านี้ไว้อย่างชัดเจนแล้ว พร้อมทั้งยกศัพท์ประกอบด้วย
'๕' . คำแปลเหล่านี้มีแล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) อะไรเป็นปัจจัยแห่งอะไร
'๖' . สติปัฏฐาน ๔ คือสติกำหนดพิจารณา กาย, เวทนา, จิต, ธรรม. ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ หน้า ๔ ( ถึงอานิสงส์สติปัฏฐาน ) ในข้อ ๙. มหาสติปัฏฐานสูตร
'๗' . ดูที่ย่อมาแล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ หน้า ๔ ) ในข้อ ๓. ทรงแสดงว่า เมื่อมีกาย วาจา ใจ .
เล่มที่ ๓๖ ชื่อธาตุกถาและปุคคลบัญญัตติ
( เป็นอภิธัมมปิฎก )
พระไตรปิฎกเล่มนี้ แบ่งหัวข้อใหญ่ออกเป็น ๒ ส่วน คือธาตุกถาและปุคคลปัญญัตติ ดังจะกล่าวต่อไป.
การแยกกลุ่มหรืออธิบายแจกรายละเอียดของธรรมะต่าง ๆ ออกไปในเล่มที่ ๓๕ นี้ มี ๑๘ หมวด คือ
ธาตุกถา ถ้อยคำว่าด้วยธาตุ เนื้อหาสำคัญของเรื่องนี้คือคำที่เป็นบทในภิวังค์ ๑๓ หัวข้อ ตั้งแต่ขันธ์จนถึงอัปปมัญญาตามลำดับ กับหัวข้อธรรมในธัมมสังคณี จะนำมาสงเคราะห์เข้ากันได้หรือไม่ได้กับธรรม ๓ ประการ คือ ขันธ์, อายตนะ, ธาตุ, ด้วยเหตุนี้พระนยานติโลกะพระเถระชาวเยอรมัน ผู้เรียบเรียงเรื่องนำทาง อภิธัมมปิฎก ( Guide Through the Abhidhamma-Pitaka ) จึงสันนิษฐานว่าชื่อเดิมของเรื่องนี้น่าจะเป็น ขันธ-อายตนะ-ธาตุกถา เพราะนำเอา ธรรมต่าง ๆ มาสงเคราะห์หรือไม่สงเคราะห์กับธรรม ๓ อย่างนี้เท่านั้น แต่เรียกย่อยเป็นธาตุกถา แต่ข้าพเจ้าผู้จัดทำหนังสือนี้มี ความเห็นไปอีกอย่างหนึ่ง คือที่เรียกว่าธาตุกถานั้น พิจารณาดูเนื้อหาแล้ว ถ้าจะเทียบกับความรู้สมัยเก่า ตือการเล่นแร่ แปลธาตุฉลาดรู้ว่านำสิ่งนี้ไปผสมกับสิ่งนั้นจะเป็นอะไร อะไรผสมกับอะไรไม่ได้ ถ้าจะเทียบกับความรู้สมัยใหม่ ก็คือความรู้ทั้ง ทางฟิสิคส์และเคมี คือรู้คุณสมบัติของสารว่าอะไรเป็นอะไร เข้ากันไม่ได้ ในทางฟิสิคส์ และเคมีอย่างไร เป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย ยุ่งยากสำหรับผู้ไม่สนใจ แต่วิชาก็ต้องเป็นวิชา เพราะฉะนั้น จึงมีผู้เรียนรู้และหาประโยชน์ได้ เมื่อวิธีการเป็นเช่นนี้ จึงตั้งชื่อรวม ว่า ธาตุกถา ถ้อยคำว่าด้วยธาตุ ( รู้จักแยกธาตุ ผสมธาตุ ).
ปุคคลปัญญัตติ บัญญัติบุคคลเป็นการกล่าวถึงการบัญญัติ (ทำให้รู้ทั่ว ๆ กัน ) ว่า บุคคลประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างไร มีชื่อเรียกว่าอย่างไร.
ในการย่อความขยายความต่อไปนี้ จะนำมากล่าวพอให้เห็นเค้าโครงหน้าตาของแต่ละเรื่อง ส่วนรายละเอียด ปลีกย่อยจะผ่านไป.
ขยายความ
ธาตุกถา
ธาตุกถาแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือเป็น มาติกาหรือบทตั้ง ส่วนหนึ่ง, เป็น นิทเทสหรือคำอธิบายบทตั้ง อีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากบทตั้งพูดไว้รวม ๆ ในบทอธิบาย จึงพยายามจัดหัวข้อของบทตั้ง เพื่อสะดวกในการอธิบายไว้ ๑๔ บทดังต่อไปนี้
๑. บทว่าด้วยการสงเคราะห์เข้ากันได้ กับสงเคราะห์เข้ากันไม่ได้ ( สังคหาสังคหาบท )
๒. บทว่าด้วยธรรมที่เข้ากับอย่างหนึ่งได้แล้ว แต่เข้ากับอย่างอื่นไม่ได้( สังคหิเตน อสังคหิตบท )
๓. บทว่าด้วยธรรมที่เข้ากับอย่างหนึ่งไม่ได้ แต่เข้ากับอย่างอื่นได้( อสังคหิเตน สังคหิตบท )
๔. บทว่าด้วยธรรมที่เข้ากับอย่างหนึ่งได้แล้ว ยังเข้ากับอย่างอื่นได้ด้วย( สังคหิเตน สังคหิตบท )
๕. บทว่าด้วยธรรมที่เข้ากับอย่างหนึ่งไม่ได้ ทั้งยังเข้ากับอย่างอื่นไม่ได้ด้วย( อสังคหิเตน อสังคหิตบท )
๖. บทว่าด้วยการประกอบกันได้ กับประกอบกันไม่ได้( สัมปโยควิปปโยคบท ) ๑
๗. บทว่าด้วยธรรมที่ประกอบกับอย่างหนึ่งได้แล้ว แต่ประกอบกับอย่างอื่นไม่ได้ ( สัมปยุตเตน อสัมปยุตตบท)
๘. บทว่าด้วยธรรมที่ประกอบกับอย่างหนึ่งไม่ได้ แต่ประกอบกับอย่างอื่นได้ ( อสัมปยุตเตน สัมปยุตตบท)
๙. บทว่าด้วยธรรมที่ประกอบกับอย่างหนึ่งได้แล้ว ยังประกอบกับอย่างอื่นได้ด้วย ( สัมปยุตเตน อสัมปยุตตบท)
๑๐. บทว่าด้วยธรรมที่ประกอบกับอย่างหนึ่งไม่ได้ ทั้งยังประกอบกับอย่างอื่นไม่ได้ด้วย (อสัมปยุตเตน อสัมปยุตตบท)
๑๑. บทว่าด้วยธรรมที่ เข้ากันได้ กับอย่างหนึ่งแล้ว ประกอบกันได้หรือ ประกอบกันไม่ได้ กับอะไร( สังคหิเตน- สัมปยุตตวิปปยุตตบท )
๑๒. บทว่าด้วยธรรมที่ ประกอบกันได้ กับอย่างหนึ่งแล้ว เข้ากันได้หรือ เข้ากันไม่ได้ กับอะไร( สัมปยุตเตน สังค-หิตาสังคหิตบท )
๑๓. บทว่าด้วยธรรมที่ เข้ากันไม่ได้ กับอย่างหนึ่งแล้ว ประกอบกันได้หรือ ประกอบกันไม่ได้ กับอะไร( อสังคหิเตน สัมปยุตตวิปปยุตตบท )
๑๔. บทว่าด้วยธรรมที่ ประกอบกันไม่ได้ กับอย่างหนึ่งแล้ว เข้ากันได้หรือ เข้ากันไม่ได้ กับอะไร( อสัมปยุตเตน สังคหิตาสังคหิตบท )
จากบทตั้ง ๑๔ ข้อเหล่านี้ ถ้าท่านผู้อ่านพยายามเข้าใจความหมายของคำว่า เข้ากันได้ ( คือเป็นประเภทเดียวกัน ) ประกอบกันได้( คือเกิดดับพร้อมกัน ) ให้ดีแล้ว ก็จะเห็นว่าเป็นการวิเคราะห์อย่าง ละเอียดลออเพียงไร ต่อไปนี้จะแสดงตัวอย่างประกอบเพียง ๖ ข้อเป็นลำดับไป.
ตัวอย่างข้อที่ ๑
( การเข้ากันได้กับการเข้ากันไม่ได้ )
กองรูป ( รูปขันธ์ ) เข้ากันได้ กับขันธ์หนึ่ง ( คือรูปขันธ์ ), เข้ากันได้ กับอายตนะ ๑๑ ( เว้นอายตนะคือใจ ),๒ เข้ากันได้ กับธาตุ ๑๑ ( เว้นมโนธาตุ กับวิญญาณธาตุทั้งหก ) ; เข้ากันไม่ได้ กับขันธ์ ๔ ( เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ, ซึ่งเป็นนาม ) เข้ากันไม่ได้ กับอายตนะ ๑ ( อายตนะคือใจ ) เข้ากันไม่ได้กับธาตุ ๗ ( มโนธาตุกับวิญญาณธาตุทั้งหก ).
ตัวอย่างข้อที่ ๒
( เข้ากับอย่างหนึ่งได้ แต่เข้ากับอย่างอื่นไม่ได้ )
ธรรมที่เข้ากันได้กับอายตนะ คือ ตา, รูป ; หู, เสียง ; จมูก, กลิ่น ; ลิ้น, รส ; กาย, สิ่งที่ถูก ต้องได้ด้วยกาย ( โผฏฐัพพะ ). ธรรมที่เข้ากันได้กับธาตุ คือ ตา, รูป ; หู, เสียง ; จมูก, กลิ่น ; ลิ้น, รส ; กาย. โผฏฐัพพะ โดย การสงเคราะห์เข้ากันได้โดยขันธ์ สงเคราะห์เข้ากันไม่ได้ โดยอายตนะและโดยธาตุ ธรรมเหล่านั้นสงเคราะห์เข้ากันไม่ได้กับขันธ์ ๔ ( เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ ). เข้ากันไม่ได้กับอายตนะ ๒ ( อายตนะคือใจ, อายตนะคือธรรม ) เข้ากันไม่ได้กับธาตุ ๘ ( วิญญาณธาตุ ๖, มโนธาตุ, ธัมมธาตุ ).๓
ตัวอย่างข้อที่ ๓
เข้ากันไม่ได้กับสิ่งหนึ่ง แต่เข้ากันได้กับสิ่งอื่น ๆ
ธรรมที่เข้ากันไม่ได้กับเวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์ ; ธรรมที่เข้ากันไม่ได้กับ สมุทยสัจจ์, มัคคสัจจ์ โดยขันธสงเคราะห์ ( โดยการจัดประเภทเข้ากันทางขันธ์ ) แต่เข้ากันได้ โดยอายตนสงเคราะห์ และ โดยธาตุสงเคราะห์ ( โดยการจัดประเภทเข้ากันทางอายตนะและทางธาตุ ). ธรรมเหล่านั้นเว้นอสังขตะ ( พระนิพพาน ) ซึ่งเข้ากัน ไม่ได้โดยขันธ์ ย่อมเข้ากันไม่ได้กับขันธ์ ๓ ๔ เข้ากันได้กับอายตนะ ๑ ( ธัมมายตนะ ), เข้ากันได้กับธาตุ ๑ ( ธัมมธาตุ ).
ตัวอย่างข้อที่ ๔
( เข้ากันได้กับสิ่งหนึ่ง ทั้งเข้ากันได้กับสิ่งอื่นด้วย )
ก. ธรรมเหล่าใด เข้ากันได้กับสมุทยสัจจ์ เข้ากันได้กับมัคคสัจจ์ โดยขันธสงเคราะห์ โดย อายตนสงเคราะห์ โดยธาตุสงเคราะห์ ( โดยการจัดประเภทเข้ากันทางขันธ์, อายตนะ, ธาตุ ).
ข. ธรรมเหล่าใด เข้ากันได้กับธรรมเหล่านั้น ( ที่กล่าวในข้อ ก. ) โดยจัดประเภทเข้ากับทาง ขันธ์, อายตนะ, ธาตุ.
ค. ธรรมเหล่านั้น ( ทั้งข้อ ก. และข้อ ข. ) เข้ากันได้กับขันธ์ ๑, อายตนะ ๑, ธาตุ ๑.
(หมายเหตุ : อรรถกถาอธิบายว่า เป็นการยกเอาส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่เข้ากันได้ทั้งใน ฐานะเป็นขันธ์ เป็นอายตนะ เป็นธาตุ เพราะฉะนั้น จึงพึงเข้าใจว่าในข้อ ก. ธรรมที่เข้ากันได้กับสมุทยสัจจ์ กับธรรมที่เข้ากันได้ กับมรรคสัจจ์ เป็นต่างฝ่ายกัน )
ตัวอย่างข้อที่ ๕
( เข้ากันไม่ได้กับสิ่งหนึ่ง เข้ากันไม่ได้กับสิ่งอื่นด้วย )
ก. ธรรมเหล่าใด เข้ากันไม่ได้กับรูปขันธ์ โดยการจัดประเภทเข้ากันทางขันธ์, ทางอายตนะ, ทางธาตุ.
ข. ธรรมเหล่าใด เข้ากันไม่ได้กับธรรมเหล่านั้น ( ในข้อ ก. ) โดยจัดประเภทเข้ากันทางขันธ์, ทางอายตนะ, ทางธาตุ.
ค. ธรรมเหล่านั้น เข้ากันไม่ได้กับขันธ์ ๑, เข้ากันไม่ได้อายตนะ ๑, เข้ากันไม่ได้กับธาตุ ๗.
(หมายเหตุ : อรรถกถาอธิบายข้อความข้างบนนี้เป็น ๒ นัย ได้ผลคือคำตอบตรงกัน กล่าวคือนัยที่ ๑ ขันธ์ ๔ ( เว้นรูปขันธ์ ) และนิพพาน เข้ากันไม่ได้กับรูปขันธ์ โดยการจัดประเภทเข้ากันทางขันธ์ แต่ ธรรมเหล่านั้น เว้นวิญญาณ เข้ากันได้ ( กับรูป ) โดยการจัดประเภทเข้ากันทางอายตนะและธาตุ เพราะฉะนั้น วิญญาณจึงเข้า กันไม่ได้ ( กับรูป ) โดยการจัดประเภททั้งทางขันธ์อายตนะและธาตุ. ขันธ์ ๔ ( เว้นวิญญาณ ) และนิพพาน เข้าไม่ได้กับ วิญญาณ โดยการจัดประเภททางขันธ์ เป็นต้น อนึ่ง ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด เข้ากันไม่ได้กับวิญญาณอย่างเดียว โดยการจัด ประเภททางขันธ์ เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเข้ากันไม่ได้กับขันธ์ ๑ ( คือวิญญาณขันธ์ ), เข้ากันไม่ได้กับอายตนะ ๑ ( คือ มนายตนะ ) เข้ากันไม่ได้กับธาตุ ๗ ( คือวิญญาณธาตุ ๖ มโนธาตุ ๑ ). นัยที่ ๒ วิญญาณเข้ากันไม่ได้กับรูปขันธ์ โดย การสงเคราะห์ทั้งสามประเภท, รูปธรรมจึงเข้ากันไม่ได้กับวิญญาณธรรม โดยการสงเคราะห์ทั้งสามประเภท. วิญญาณเป็นขันธ์ เดียว คือวิญญาณขันธ์เป็นอายตนะเดียว คือมนายตนะ กล่าวโดยธาตุ เป็นวิญญาณธาตุ๕ ๗ ).
ตัวอย่างข้อที่ ๖
( การประกอบกัน และการไม่ประกอบกัน )
รูปขันธ์ ที่ประกอบกับขันธ์, อายตนะ, ธาตุใด ๆ ไม่มี ( ไม่เกิดกันกับพร้อมกับอะไร ), ไม่ ประกอบกับขันธ์ ๔ ( เว้นรูปขันธ์ ), ไม่ประกอบกับอายตนะ ๑ ( คือมนายตนะ ), ไม่ประกอบกับธาตุ ๗ ( วิญญาณธาตุ ๖ มโนธาตุ ๑ หรือจะเรียกว่าวิญญาณธาตุทั้งเจ็ดก็ได้ ), ไม่ประกอบกับธรรมใด ๆ ที่เนื่องด้วยอยาตนะ ๑ เนื่องด้วยธาตุ ๑ (คือไม่ ประกอบด้วยเวทนา, สัญญา, สังขาร, ที่เนื่องด้วยธัมมายตนะและธัมมธาตุ ),
ได้แสดงให้เห็นตัวอย่างในธาตุกถามาพอสมควรแล้ว อีก ๘ ข้อ ที่เหลือพึงทราบโดยพิจารณา จากตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว.
ปุคคลบัญญัติ
การบัญญัติบุคคลอันเป็นหัวข้อใหญ่ที่ ๒ ในเล่มที่ ๓๖ นี้ เริ่มบทต้นแสดง การบัญญัติ ๖ ประเภทคือ :-
๑. บัญญัติขันธ์ คือขันธ์ ๕ มีรูป เป็นต้น
๒. บัญญัติอายตนะ คืออายตนะ ๑๒ มีอายตนะคือตา เป็นต้น
๓. บัญญัติธาตุ คือธาตุ ๑๘ มีธาตุคือตา เป็นต้น
๔. บัญญัติสัจจะ คืออริยสัจจ์ ๔ มีสัจจะคือทุกข์ เป็นต้น
๕. บัญญัติอินทรีย์ คืออินทรีย์ ๒๒ มีอินทรีย์คือตา เป็นต้น
๖. บัญญัติบุตตล แจกเป็นประเภทที่มีจำนวน ๑ ประเภทที่มีจำนวน ๒ จนถึง ประเภทที่มีจำนวน ๑๐
ความสำคัญของเรื่องอยู่ที่คำอธิบายบุคคลทุกประเภทโดยคุณธรรม ต่อไปนี้จะแสดงพอเป็น ตัวอย่าง ประเภทที่มีจำนวน ๑ ถึงจำนวน ๑๐ พอให้เป็นทั้งบทตั้งและคำอธิบาย.
บุคคลที่มีจำนวน ๑
เช่น สมยวิมุตโต ผู้พ้นโดยสมัย คือพ้นจากกิเลสได้เป็นครั้งคราว คำอธิบายกล่าวว่า ได้แก่ผู้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย เห็นธรรมด้วยปัญญา อาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ) บางส่วนสิ้นไปเป็นครั้งคราว.
อสมยวิมุตโต ผู้พ้นไม่มีสมัย คือพ้นจากกิเลสมิใช่เป็นคราว ๆ คำอธิบายกล่าวว่า ได้แก่ผู้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย เห็นธรรมด้วยปัญญา อาสวะสิ้นไป มิใช่เป็นครั้งคราว. พระอริยบุคคลทุกประเภท ชื่อว่า ผู้พ้นโดยไม่มีสมัยในวิโมกข์อันเป็นอริยะ ( วิโมกข์ ๘ มีอะไรบ้าง โปรดดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ ชื่อทีฆนิกายมหาวัคค์ ) วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น ) ๘).
ปุถุชชโน ผู้ที่ยังหนาไปด้วยกิเลส คำอธิบายกล่าวว่า ยังละสัญโญชน์ ๓ ไม่ได้ ทั้ง ไม่ปฏิบัติเพื่อละธรรมเหล่านั้น ( สัญโญชน์ ) ด้วย.
โคตรภู ผู้ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างพระอริยะกับบุถุชน คำอธิบายกล่าวว่า ความก้าวลง แห่งอริยธรรม ย่อมมีในลำดับแห่ง ( คือถัดจาก ) ธรรมเหล่าใด ประกอบด้วยธรรมเหล่านั้น ( ประกอบด้วยธรรมที่พอถัดไปก็เป็น อริยธรรม ).
ภยูปรโต ผู้งดเว้นความชั่วเพราะกลัว ได้แก่พระเสขะ ๗ ประเภท (ผู้ตั้งอยู่ในโสดา- ปัตติมรรค จนถึงอรหัตตมรรค ) กับบุถุชนผู้มีศีล.
อภยูปรโต ผู้งดเว้นความชั่วมิใช่เพราะกลัว ได้แก่พระอรหันต์.
สมสีสี ผู้มีศีร์ษะ คือสุดยอดเสมอกัน คือความสิ้นอาสวะ และความสิ้นชีวิตมีพร้อม กัน ( สิ้นชีวิตพร้อมทั้งสิ้นกิเลส ) ฯ ล ฯ.
บุคคลที่มีจำนวน ๒
เช่น๑. โกธโน ผู้โกรธ, ๒. อุปนาหี ผู้ผูกโกรธ ; ๑. ทุพพโจ ผู้ว่ายาก, ๒. ปาปมิตโต ผู้คบคนชั่วเป็นมิตร ; ๑. ติตโต ผู้อิ่มเอง, ๒. ตัปเปตา ผู้ทำผู้อื่นให้อิ่ม ฯ ล ฯ.
บุคคลที่มีจำนวน ๓
เช่น๑. นิราโส ผู้ไม่มีความหวัง, ๒. อาสังโส ผู้หวัง ๓. วิคตาโส ผู้ปราศจากความหวัง ( อยู่เหนือความหวัง เอาชนะความหวังได้ ) ; ๑. ผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล, ๒. ผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ, ๓. ผู้ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา ฯ ล ฯ.
บุคคลที่มีจำนวน ๔
เช่น๑. สาวัชโช ผู้มีโทษ, ๒. วัชชพหุโล ผู้มากไปด้วยโทษ, ๓. อปัปสาวัชโช ผู้มีโทษน้อย, ๔. อนวัชโช ผู้ไม่มีโทษ ฯ ล ฯ.
บุคคลที่มีจำนวน ๕
เช่น ๑. ผู้ให้แล้วดูหมิ่น, ๒. ผู้ดูหมิ่นเพราะอยู่ร่วมกัน, ๓. ผู้มีหน้าถือเอา ( หูเบา เชื่อง่าย ), ๔. ผู้โลเล, ๕. ผู้โง่เขลา ฯ ล ฯ.
บุคคลที่มีจำนวน ๖
๑. มีบุคคลบางคนตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, บรรลุความเป็น สัพพัญญู (ผู้รู้สิ่งทั้งปวง)ในธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้น และบรรลุความเป็นผู้เชี่ยวชาญในธรรมอันเป็นกำลัง(ได้แก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ).
๒. มีบุคคลบางคนตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, ไม่บรรลุความเป็นสัพพัญญูในธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้น และไม่บรรลุความเป็นผู้เชี่ยวชาญในธรรมอันเป็นกำลัง ( ได้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ).
๓. มีบุคคลบางคนไม่ตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, เป็นผู้ทำที่สุดแห่ง ทุกข์ได้ในปัจจุบัน และบรรลุบารมีที่ให้เป็นพระสาวก ( ได้แก่พระสาริบุตรและพระโมคคัลลานะผู้เป็นอัครสาวก ).
๔. มีบุคคลบางคนไม่ตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, เป็นผู้ทำที่สุดแห่ง ทุกข์ได้ในปัจจุบัน และไม่บรรลุบารมีที่ให้เป็นพระสาวก ( ได้แก่พระอรหันต์ทั่ว ๆ ไป ).
๕. มีบุคคลบางคนไม่ตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, ไม่ทำที่สุดแห่ง ทุกข์ในปัจจุบัน เป็นพระอนาคามี ไม่มาสู่ความเป็นเช่นนี้.
๖. มีบุคคลบางคนไม่ตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, ไม่ทำที่สุดแห่ง ทุกข์ในปัจจุบัน เป็นพระโสดาบัน หรือพระสกทาคามี มาสู่ความเป็นอย่างนี้.
บุคคลที่มีจำนวน ๗
ได้แก่บุคคลเปรียบด้วยน้ำ ๗ ประเภท เช่น จมลงไปคราวเดียวก็จมหายไปเลย เป็นต้น ซึ่ง ได้ย่อไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ ชื่ออังคุตตรนิกาย ) ในข้อ สัตตกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๗ ข้อ ).
บุคคลที่มีจำนวน ๘
บุคคล ๘ ได้แก่บุคคลที่สมบูรณ์ด้วยมรรค ๔ ประเภท บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยผล ๔ ประเภท.
บุคคลที่มีจำนวน ๙
๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ( ผู้ตรัสรู้ได้เองและตั้งศาสนา )
๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า ( ผู้ตรัสรู้ได้เอง แต่มิได้ตั้งศาสนา )
๓. อุภโตภาควิมุต ( ผู้พ้นโดยส่วนทั้งสอง คือทั้งด้วยสมาธิและด้วยปัญญา )
๔. ปัญญาวิมุต ( ผู้พ้นด้วยปัญญา )
๕. กายสักขี ( ผู้เห็นธรรมด้วยนามกาย สิ้นอาสวะบางส่วน )
๖. ทิฏฐิปัตตะ ( ผู้เห็นสัจจธรรมด้วยปัญญา สิ้นอาสวะบางส่วน )
๗. สัทธาวิมุต ( ผู้พ้นด้วยศรัทธา สิ้นอาสวะบางส่วน )
๘. ธัมมานุสารี ( ผู้แล่นไปตามธรรม คือปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล มีปัญญาออกหน้า )
๙. สัทธานุสารี ( ผู้แล่นไปตามศรัทธา คือปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล มีศรัทธาออกหน้า )
(หมายเหตุ :ในคำอธิบายซึ่งเรียกว่านิทเทส เมื่ออธิบายบุคคลทั้งเก้าประเภทนี้จบ แล้ว ได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล ชื่อว่า สัทธานุสารี ผู้ตั้งอยู่ในผลชื่อว่า สัทธาวิมุติ อนึ่งคำอธิบายเกี่ยวกับพระอริยบุคคลตั้งแต่ข้อ ๓ ถึงข้อ ๙ ได้กล่าวไว้ชัดเจนกว่านี้ในที่อื่น คือในหน้าพระ สุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๓ ชื่อทีฆนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ) ในข้อ ๒๐. กีฎาคิริสูตร ).
บุคคลที่มีจำนวน ๑๐
ได้แก่พระอริยบุคคล ๕ ประเภทผู้ถึงความตกลงใจ ( หมดความสงสัย ) ในพระพุทธเจ้า ใน ชาตินี้และพระอริยบุคคลอีก ๕ ประเภทผู้ละโลกนี้ไปแล้วจึงถึงความตกลงใจ ( ๕ ประเภทแรก ได้แก่พระโสดาบัน ๓ ประเภท กับพระสกทาคามี และพระอรหันต์. ๕ ประการหลัง ได้แก่พระอนาคามี ๕ ประเภท ผู้ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาส ).
(หมายเหตุ :พระอริยบุคคลทั้งสิบประเภทนี้ มีกล่าวไว้แล้ว พร้อมด้วยคำอธิบายใน หน้ารวมพระสุตตันตปิฎก) ในพระสุตตันตะเล่มที่ ๑๒ หน้า ๔ ในข้อ ๔. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงกรณียกิจของสมณะ ) และที่พระสุตตันตะเล่มที่ ๑๖ หน้า ๒ ในข้อ ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒ )
หมวดธรรมะว่าด้วยบุคคลตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๐ นี้ โดยเฉพาะตั้งแต่จำนวน ๒ ถึงจำนวน ๑๐ มีกล่าวไว้แล้วแทบทั้งสิ้นในตอนที่ย่อความในทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ถึงทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย คือประมวลธรรมดาหมวด ๒ หมวด ๑๐ ดูที่พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ ) พระอังคุต-ตรนิกาย เล่มที่ ๑๒-๑๖ ถึง พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ หน้า ๒ จึงแสดงไว้ในที่นี้ไม่พิสดาร.
จบปุคคลบัญญัติ
________________________________________
'๑' . มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำ คือ ข้อ ๑ ถึง ๕ ว่าด้วย " สงเคราะห์ ) คือเข้ากันได้หรือไม่ได้ ข้อ ๖ ถึง ๑๐ ว่าด้วย " สัมปโยค ) คือประกอบกันได้หรือประกอบกันไม่ได้ ความแตกต่างของคำว่า สงเคราะห์และสัมปโยค คือสงเคราะห์ หมายถึงธรรมะที่เป็นประเภทเดียวกัน ส่วนสัมปโยค หมายถึงเกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน มีที่ตั้งเป็นอันเดียวกัน มี อารมณ์เป็นอันเดียวกัน
'๒' . คือเข้ากันได้กับอายตนะ คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ, ธรรมะ ปัญหาว่า เหตุไฉนรูปขันธ์จึงเข้ากับธรรมะ ซึ่งเป็นอารมณ์ของใจได้ ตอบว่า เพราะรูปที่เห็นไม่ได้ถูกต้องไม่ได้ เป็นอารมณ์ของ ใจมีอยู่
'๓' . ธรรมที่กล่าวมาว่า เป็นพวกรูปธรรม จึงเข้ากันได้กับอายตนะและธาตุที่เป็นรูป แต่เข้ากันไม่ได้กับ อายตนะและธาตุที่เป็นนาม
'๔' . ที่มิได้วงเล็บไว้ให้ เพราะต้องแล้วแต่คำว่า เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์ คือถ้าเข้ากันไม่ได้ กับเวทนาขันธ์ ก็เข้ากันได้กับขันธ์ ๓ คือ รูป, สัญญา, สังขาร ; ถ้าเข้ากันไม่ได้กับสัญญาขันธ์ ก็เข้ากันได้กับขันธ์ ๓ คือ รูป, เวทนา, สังขาร ; ถ้าเข้ากันไม่ได้กับสังขารขันธ์ ก็เข้ากันได้กับขันธ์ ๓ คือ รูป, เวทนา, สัญญา ; พระนิพพานเข้ากับขันธ์ไม่ได้, แต่เป็นธัมมายตนะ, ธัมมธาตุ
'๕' . มโนธาตุ นับเป็นวิญญาณธาตุด้วย
เล่มที่ ๓๗ ชื่อกถาวัตถุ
( เป็นอภิธัมมปิฎก )
( พระไตรปิฎกเล่มนี้ อรรถกถาเล่าว่า พระผู้มีพระภาคทรงกล่าวถึงบทตั้ง หรือคำเริ่มต้นไว้เพียงเล็ก น้อยต่อจากนั้น พระโมคคลีบุตร ติสสเถระ ได้เรียบเรียงขึ้นจนจบในสังคายนาครั้งที่ ๓ มีข้อความอันเป็น คำตอบคำถามตั้งแต่ ต้นจนจบ ).
คำถามคำตอบนั้น มีลักษณะไปในทางไล่เลียงลัทธิต่าง ๆ นอกพระพุทธศาสนา และแม้ในพระพุทธ ศาสนาเอง แต่ที่แตกแยกออกไปจากเถรวาท หัวข้อสำคัญที่เป็นหลักในการถามตอบมีอยู่ด้วยกัน ๒๑๙ เรื่อง ในแต่ละเรื่องมีคำ ถามคำตอบมากมาย และอรรถกถาได้อธิบายไว้ด้วยว่า หัวข้อเรื่องไหน เพื่อจะแก้ความถือผิดของลัทธิอะไร เพื่อความเข้าใจใน หัวข้อเรื่องให้เกี่ยวโยงกับลัทธินิกายต่าง ๆ ที่กถาวัตถุคัดค้าน จึงควรทราบประวัติแห่งเถรวาท ( พระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมที่ พระเถระผู้ใหญ่ได้รวบรวมทำสังคายนาแต่ครั้งที่ ๑ ) กับนิกายอื่น ๆ ที่แตกแยกออกไปอีก ๑๗ นิกาย รวมเป็น ๑๘ ทั้ง เถรวาท ภายใน ๒๐๐ ปี หลังจากพุทธปรินิพพาน
๑. ในร้อยปีแรกภายหลังพุทธปรินิพพาน พระพุทธศาสนามีแบบเดียว คือตามทื่พระเถระมีพระมหา- กัสสป เป็นต้น ได้ประชุมกันทำสังคายนา คือร้อยกรองรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหมวดเป็นหมู่ โดยมีพระอานนท์ซึ่ง เป็นผู้ทรงจำพุทธวจนะอย่างดียิ่งเป็นผู้ทบทวนพระธรรม พระอุบาลีซึ่งได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้เลิศในทางทรงจำพระ วินัย เป็นผู้ทบทวนพระวินัย แล้วสวดท่องจำกันสืบต่อมา โดยแบ่งสำนักท่องจำเป็นสำนัก ๆ ไป ช่วยกันท่องจำต่างภาคต่างตอน สั่งสอนศิษย์สืบมา คำว่า เถรวาท ซึ่งแปลว่า วาทะของพระเถระ อันเป็นชื่อของนิกายดั้งเดิม มาปรากฏเรียกขานกันเมื่อมีนิกาย อื่น ๆ แตกแยกออกไปแล้ว เพื่อจะได้รู้ว่าอย่างไหนเป็นพระพุทธศาสนาแบบไหน
๒. เมื่อพ้น ๑๐๐ ปีภายหลังพุทธปรินิพพานมาแล้ว พวกภิกษุวัชชีบุตร ( ลูกหลานชาวแคว้นวัชชี ) ประมาณ ๑๐,๐๐๐ รูป ถือวินัยย่อหย่อนจากที่บัญญัติไว้ รวม ๑๐ ประการ พระเถระที่เห็นแก่พระธรรมวินัย จึงประชุมกันทำ สังคายนาครั้งที่ ๒ ชำระเรื่องที่ถือผิดนี้ ประกาศมิให้ประพฤติต่อไป ภิกษุพวกวัชชีบุตรจึงแยกไปตั้งนิกายใหม่ ชื่อมหาสังฆิกะ แปลว่า " พวกมาก "
๓. ต่อมามีนิกายแยกออกมาจากมหาสังฆิกะอีก ๒ คือ ๑. โคกุลิกะ ๒. เอกพโยหาริกะ
๔. ต่อมามีนิกายแยกออกมาจากนิกายโคกุลิกะอีก ๒ คือ ๑. ปัณณัตติวาทะ ๒. พหุลิยะ ( หรือ พหุสสุติกะ )
๕. ต่อมามีอีกนิกายหนึ่งชื่อเจติยวาทะ แตกแยกออกมาจากนิกายพหุลิยะ ( หรือพหุสสุติกะ ) นั้นภาย ในพุทธศักราช ๒๐๐ ปี นิกายมหาสังฆิกะแยกออกไปเป็น ๕ นิกาย รวมเป็น ๖ ทั้งมหาสังฆิกะเอง
๖. เฉพาะเถรวาทก็มีนิกายแตกแยกออกไป คือในชั้นแรกแยกออกไป ๒ นิกาย คือ ๑. มหิสาสกะ ๒. วัชชีปุตตกะ
๗. ต่อมามีนิกายแตกแยกออกไปจากนิกายวัชชีปุตตกะอีก ๔ คือ ๑. ธัมมุตตริยะ ๒. ภัทรยานิกะ ๓. ฉันนาคาริกะ ๔. สมิติยะ
๘. มีนิกายแตกแยกออกไปจากนิกายมหิสาสกะอีก ๒ คือ ๑. สัพพัตถิกวาทะ ๒. ธัมมคุตติกะ
๙. มีนิกายแตกแยกออกไปจากนิกายสัพพัตถิกวาทะ คือนิกายกัสสปิกะ
๑๐. ต่อมานิกายกัสสปิกะมีนิกายแยกออกไป ชื่อสังกันติกะ
๑๑. ต่อมานิกายสังกันติกะมีนิกายแยกออกไป ชื่อสุตตวาทะ
เป็นอันว่าเถรวาทมีนิกายย่อยแยกออกไป ๑๑ นิกาย รวม ๑๒ ทั้งเถรวาทเอง มหาสังฆิกะซึ่งแตกไปจากเถรวาทเป็นครั้งแรก มีนิกายย่อยแยกออกไป ๕ นิกาย รวมเป็น ๖ ทั้งมหาสังฆิกะเอง รวมทั้งสิ้นจึงเป็น ๑๘ นิกาย คือเถรวาท ฝ่ายหนึ่ง กับนิกายอื่น ๆ อีก ๑๗ นิกาย ซึ่งเรียกว่า อาจริยวาท อีกฝ่าย หนึ่ง
โปรดดูแผนผังดังต่อไปนี้ :-
( แผนผัง )
หมายเหตุ : ( มีข้อพึงสังเกตุว่า นิกายต่าง ๆ รวมทั้งสิบแปดนิกายที่กล่าวมานี้ ตกมาถึงสมัยปัจจุบัน คงมีเหลือแต่
เพียงนิกายเดียวคือเถรวาท ส่วนนิกายอื่น ๆ เสื่อมไปทั้งหมด แม้นิกายมหาสังฆิกะ ซึ่งเป็นนิกายใหญ่
ก็ไม่มีเหลืออยู่แล้ว แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า นิกายมหาสังฆิกะ ได้แปรรูปเป็นมหายานไปในที่สุด แต่ก็
ไม่มีชื่อเดิมเหลืออยู่ ).
รายละเอียดกถาวัตถุ ๒๑๙ ข้อ
๑. เรื่องบุคคล (ปุคคลกถา )
๑๒๑. เรื่องผู้จะไปเกิดอีก๒-๓ครั้งกับผู้เกิดเพียงครั้งเดียว
๒. เรื่องความเสื่อม (ปริหานิกถา)
๑๒๒. เรื่องการปลงชีวิต (ชีวิตา โวโรปนกถา)
๓. เรื่องพรหมจรรย์ (พรหมจริยกถา)
๑๒๓. เรื่องทุคคติ (ทุคคติกถา)
๔. เรื่องบางส่วน (โอธิโสกถา)
๑๒๔. เรื่องบุคคลที่เกิดในภพที่ ๗ (สัตตมภวิกกถา)
๕. เรื่องละกิเลส (ชหติกถา)
๑๒๕. เรื่องผู้ตั้งอยู่ตลอดกัปป์ (กัปปัฏฐกถา)
๖. เรื่องทุกอย่างมี (สัพพมัตถิกถา)
๑๒๖. เรื่องการได้กุศลจิต (กุสลจิตตปฏิลาภกถา)
๗. เรื่องขันธ์ที่เป็นอดีต เป็นต้น (อดีตขันธาติกถา)
๑๒๗. เรื่องผู้ประกอบด้วยกรรมอันให้ผลไม่มีระหว่างคั่น
๘. เรื่องบางอย่างมี (เอกัจจมัตถีติกถา)
๑๒๘. เรื่องทำนองธรรมของผู้แน่นอน (นิยตัสส นิยามกถา)
๙. เรื่องการตั้งสติ (สติปัฏฐานกถา)
๑๒๙. เรื่องผู้มีนีวรณ์ (นีวุตกถา)
๑๐. เรื่อง"มีอย่างนี้" เป็นต้น (เหวัตถิกถา)
๑๓๐. เรื่องผู้พร้อมหน้ากิเลส (สัมมุขีภูตกถา)
๑๑. เรื่องผู้อื่นนำเข้าไปให้ (ปรูปหารกถา)
๑๓๑. เรื่องผู้เข้าฌานย่อมพอใจ (สมาปันโน อัสสาเทติกถา)
๑๒. เรื่องความไม่รู้ (อัญญาณกถา)
๑๓๒. เรื่องความกำหนัดในสิ่งที่ไม่น่าพอใจ (อสาตราคกถา)
๑๓. เรื่องความสงสัย (กังขากถา)
๑๓๓. เรื่องความทะยานอยากในธรรมเป็นอัพยากฤต
๑๔. เรื่องการบอกของผู้อื่น (ปรวิตารณกถา)
๑๓๔. เรื่องธัมมตัณหามิใช่เหตุให้เกิดทุกข์
๑๕. เรื่องการเปล่งวาจา (วจีเภทกถา)
๑๓๕. เรื่องความต่อเนื่องแห่งกุศลและอกุศล (กุสลากุสลปฏิสันทหนกถา)
๑๖. เรื่องการนำมาซึ่งความรู้ในทุกข์ (ทุกขาหารกถา)
๑๓๖. เรื่องความเกิดขึ้นแห่งอายตนะ ๖
๑๗. เรื่องความตั้งอยู่แห่งจิต (จิตตฐิติกถา)
๑๓๗. เรื่องปัจจัยที่ไม่มีระหว่างคั่น (อนันตรปัจจยกถา)
๑๘. เรื่องถ่านไฟร้อน (กุกกุฬกถา)
๑๓๘. เรื่องรูปของพระอริยะ (อริยรูปกถา)
๑๙. เรื่องการตรัสรู้โดยลำดับ (อนุปุพพาภิสมยกถา)
๑๓๙. เรื่องอนุสัยเป็นอย่างอื่น (อัญโญ อนุสโยติกถา)
๒๐. เรื่องโวหาร (โวหารกถา)
๑๔๐. เรื่องกิเลสเครื่องรึงรัดไม่ประกอบกับจิต
๒๑. เรื่องนิโรธความดับทุกข์ (นิโรธกถา)
๑๔๑. เรื่องสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน (ปริยาปันนกถา)
๒๒. เรื่องกำลัง (พลกถา)
๑๔๒. เรื่องอัพยากฤต (อัพยากตกถา)
๒๓. เรื่องญาณเป็นอริยะ (อริยันติกถา)
๑๔๓. เรื่องโลกุตตระ (อปริยาปันนกถา)
๒๔. เรื่องจิตหลุดพ้น (วิมุจจติกถา)
๑๔๔. เรื่องความเป็นปัจจัย (ปัจจยตากถา)
๒๕. เรื่องจิตกำลังหลุดพ้น (วิมุจจมานกถา)
๑๔๕. เรื่องปัจจัยของกันและกัน (อัญญมัญญปัจจยกถา)
๒๖. เรื่องบุคคลที่ ๘ (อัฏฐมกกถา)
๑๔๖. เรื่องกาลยืดยาว (อัทธากถา )
๒๗. เรื่องอินทรีย์ของบุคคลที่ ๘ (อัฏฐมกัสส อินทริยกถา)
๑๔๗. เรื่องขณะ, ประเดี๋ยว, ครู่ (ขณลยมุหุตตกถา)
๒๘. เรื่องตาทิพย์ (ทิพพจักขุกถา)
๑๔๘. เรื่องกิเลสที่ดองสันดาน (อาสวกถา)
๒๙. เรื่องหูทิพย์ (ทิพพโสตกถา)
๑๔๙. เรื่องความแก่และความตาย (ชรามรณกถา)
๓๐. เรื่องญาณรู้ถึงสัตว์ผูเกิดตามกรรม (ยถากัมมูปคตญาณกถา)
๑๕๐. เรื่องสัญญาและเวทนา (สัญญาเวทยิตกถา)
๓๑. เรื่องความสำรวม (สังวรกถา)
๑๕๑. เรื่องสัญญาและเวทนาเรื่องที่ ๒ (ทุติยสัญญาเวทยิตกถา)
๓๒. เรื่องไม่มีสัญญาคือความจำได้หมายรู้ (อสัญญกถา)
๑๕๒. เรื่องสัญญาและเวทนาเรื่องที่ ๓ (ตติยสัญญาเวทยิตกถา)
๓๓. เรื่องเนวสัญญานาสัญญายตะ (เนวสัญญานาสัญญายตกถา)
๑๕๓. เรื่องสมาบัติที่ให้เข้าถึงอสัญญสัตว์
๓๔. เรื่องพระอรหัตน์พึงเป็นคฤกัสถ์ได้ (คิหิสส อรหาติกถา)
๑๕๔. เรื่องการสะสมกรรม (กัมมูปจยกถา)
๓๕. เรื่องความเกิด (อุปปัตติกถา)
๑๕๕. เรื่องการข่ม (นิคคหกถา)
๓๖. ไม่มีอาสวะ (อนาสวกถา)
๑๕๖. เรื่องการประคอง (ปัคคหกถา)
๓๗. เรื่องพระอรหันต์ประกอบด้วยอะไรบ้าง (สมันนาคตกถา)
๑๕๗. เรื่องการเพิ่มให้ความสุข (สุขานุปปทานกถา)
๓๘. พระอรหันต์ประกอบด้วยอุเบกขา (อุเปกขาสมันนาคตกถา)
๑๕๘. เรื่องการรอบรวมพิจารณา (อธิคคัยหมนสิการกถา)
๓๙. เรื่องเป็นพระพุทธเจ้าเพราะโพธิ (โพธิยา พุทโธติกถา)
๑๕๙. เรื่องรูปเป็นเหตุ (รูปัง เหตูติกถา)
๔๐. เรื่องลักษณะ (ลักขณกถา)
๑๖๐. เรื่องรูปมีเหตุ (รูปัง สเหตุกันติกถา)
๔๑. เรื่องกำหนดลงมาเกิด (นิยาโมกกันติกถา)
๑๖๑. เรื่องรูปเป็นกุศลและอกุศล (รูปัง กุสลากุสลันติกถา)
๔๒. เรื่อง"ประกอบด้วยคุณธรรม" (อปราปิสมันนาคตกถา)
๑๖๒. เรื่องรูปเป็นผล (รูปัง วิปาโกติกถา)
๔๓. เรื่องการละสัญโญชน์ทั้งหมด (สัพพสัญโญชนปหานกถา)
๑๖๓. เรื่องรูปเป็นรูปาวจรและอรูปาวจร (รูปัง รูปาวจรารูปาวจรันติกถา)
๔๔. เรื่องหลุดพ้น (วิมุตตกถา)
๑๖๔. เรื่องรูปราคะเนื่องด้วยรูปธาตุ (รูปราโค รูปธาตุปริยาปันโนติกถา)
๔๕. เรื่องพระอเสกขะ คือผู้ไม่ต้องศึกษา (อเสกขกถา)
๑๖๕. เรื่องพระอรหันต์มีการสั่งสมบุญ (อัตถิ อรหโต ปุญญูปจโยติกถา)
๔๖. เรื่องวิปริต (วิปรีตกถา)
๑๖๖. เรื่องพระอรหันต์ไม่มีการตายเมื่อยังไม่ถึงคราว
๔๗. เรื่องทำนองธรรม (นิยามกถา)
๑๖๗. เรื่องทุกอย่างมาจากกรรม (สัพพมิทัง กัมมโตติกถา)
๔๘. เรื่องความแตกฉาน (ปฏิสัมภิทากถา)
๑๖๘. เรื่องสิ่งที่เนื่องด้วยอินทรีย์ (อินทริยพัทธกถา)
๔๙. เรื่องความรู้สมติ (สัมติญาณกถา)
๑๖๙. เรื่องเว้นแต่อริยมรรค (ฐเปตวา อริยมัคคันติกถา)
๕๐. เรื่องญาณมีจิตเป็นอารมณ์ (จิตตารัมมณกถา)
๑๗๐. เรื่องไม่ควรกล่าวว่า สงฆ์รับทำทักษิณา
๕๑. เรื่องญาณรู้อนาคต (อนาคตญาณกถา)
๑๗๑. เรื่องไม่ควรกล่าวว่า สงฆ์ทำทักษิณาให้บริสุทธิ์
๕๒. เรื่องญาณรู้ปัจจุบัน (ปัจจุปปันนญาณกถา)
๑๗๒. เรื่องไม่ควรกล่าวว่า สงฆ์ฉัน ( อาหาร )
๕๓. เรื่องญาณรู้ผล (ผลญาณกถา)
๑๗๓. เรื่องไม่ควรกล่าวว่า ทานที่ถวายแด่สงฆ์มีผลมาก
๕๔. เรื่องทำนองธรรม (นิยามกถา)
๑๗๔. เรื่องไม่ควรกล่าวว่า ทานที่ถวายแด่พระพุทธเจ้ามีผลมาก
๕๕. เรื่องปฏิจจสมุปบาท (ปฏิจจสมุปปาทกถา)
๑๗๕. เรื่องความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา (ทักขิณาวิสุทธิกถา)
๕๖. เรื่องความจริง (สัจจกถา)
๑๗๖. เรื่องมนุษย์โลก (มนุสสโลกกถา)
๕๗. เรื่องอรูป(สิ่งที่ไม่มีรูป) (อารุปปกถา)
๑๗๗. เรื่องพระธรรมเทศนา (ธัมมเทสนากถา)
๕๘. เรื่องนิโรธสมาบัติ (นิโรธสมาปัตติกถา)
๑๗๘. เรื่องกรุณา (กรุณากถา)
๕๙. เรื่องอากาศ (อากาสกถา)
๑๗๙. เรื่องของหอม (คันธชาติกถา)
๖๐. เรื่องอากาศเป็นของเห็นได้ (อากาโส สนิทัสสโนติกถา)
๑๘๐. เรื่องมรรคอันเดียว (เอกมัคคกถา)
๖๑. เรื่องธาตุดินเห็นได้ เป็นต้น (ปฐวีธาตุ สนิทัสสนาตยาทิกถา)
๑๘๑. เรื่องการก้าวข้ามฌาน (ฌานสังกันติกถา)
๖๒. เรื่องอินทรีย์ คือตาเห็นได้ (จักขุนทริยัง สนิทัสสนันติกถา)
๑๘๒. เรื่องช่องว่างของฌาน (ฌานันตริกากถา)
๖๓. เรื่องการกระทำทางกายเห็นได้ (กายกัมมัง สนิทัสสนันติกถา)
๑๘๓. เรื่องผู้เข้าฌานย่อมได้ยินเสียง (สมาปันโน สัททัง สุณาตีติกถา)
๖๔. เรื่องธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันได้ (สังคหิตกถา)
๑๘๔. เรื่องเห็นรูปด้วยตา (จักขุนา รูปัง ปัสสตีติกถา)
๖๕. เรื่องธรรมที่ประกอบกัน (สัมปยุตตกถา)
๑๘๕. เรื่องการละกิเลส (กิเลสชหนกถา)
๖๖. เรื่องเจตสิก ธรรมที่เป็นไปทางจิต (เจตสิกกถา)
๑๘๖. เรื่องความสูญ (สุญญตากถา)
๖๗. เรื่องทาน (ทานกถา)
๑๘๗. เรื่องผลแห่งความเป็นสมณะ (สามัญญผลกถา)
๖๘. เรื่องบุญสำเร็จด้วยการใช้สอย (ปริโภคมยปุญญกถา)
๑๘๘. เรื่องการบรรลุ (ปัตติกถา)
๖๙. เรื่องสิ่งที่ให้ไปจากโลกนี้ (อิโต ทินนกถา)
๑๘๙. เรื่องความจริง (ตถตา )
๗๐. เรื่องแผ่นดินเป็นผลของกรรม (ปฐวี กัมมวิปาโกติกถา)
๑๙๐. เรื่องกุศล (กุสลกถา)
๗๑. เรื่องความแก่ความตายเป็นผล (ชรามรณัง กัมมวิปาโกติกถา)
๑๙๑. เรื่องข้อกำหนดเด็ดขาด (อัจจันตนิยามกถา)
๗๒. เรื่องผลของอริยธรรม (อริยธัมมวิปากกถา)
๑๙๒. เรื่องธรรมะที่เป็นใหญ่ (อินทริยกถา)
๗๓. เรื่องผลมีธรรมซึ่งเป็นผลธรรมดา (วิปากธัมมธัมโมติกถา)
๑๙๓. เรื่องไม่จงใจ (อสัญจิจจกถา)
๗๔. เรื่องคติ ๖ (ฉคติกถา)
๑๙๔. เรื่องญาณ (ญาณกถา)
๗๕. เรื่องภพที่คั่นในระหว่าง (อันตราภวกถา)
๑๙๕. เรื่องนายนิรยบาล (นิรยปาลกถา)
๗๖. เรื่องกามคุณ (กามคุณกถา)
๑๙๖. เรื่องสัตว์ดิรัจฉาน (ติรัจฉานกถา)
๗๗. เรื่องกาม (กามกถา)
๑๙๗. เรื่องมรรค (มัคคกถา)
๗๘. เรื่องธาตุเป็นรูป (รูปธาตุกถา)
๑๙๘. เรื่องญาณ (ญาณกถา)
๗๙. เรื่องธาตุที่เป็นอรูป (อรูปธาตุกถา)
๑๙๙. เรื่องคำสอน (สาสนกถา)
๘๐. เรื่องอายตนะของรูปธาตุ (รูปธาตุยา อายตนกถา)
๒๐๐. เรื่องผู้ไม่สงัด (อวิวิตตกถา)
๘๑. เรื่องรูปในอรูป (อรูเป รูปกถา)
๒๐๑. เรื่องกิเลสที่ผูกมัด (สัญโญชนกถา)
๘๒. เรื่องรูปเป็นการกระทำ (รูปัง กัมมันติกถา)
๒๐๒. เรื่องฤทธิ์ (อิทธิกถา)
๘๓. เรื่องชีวิตินทรีย์ (ชีวิตินทริยกถา)
๒๐๓. เรื่องพระพุทธเจ้า (พุทธกถา)
๘๔. เรื่องกรรมเป็นเหตุ (กัมมเหตุกถา)
๒๐๔. เรื่องทิศทั้งปวง (สัพพทิสากถา)
๘๕. เรื่องอานิสงส์
๒๐๕. เรื่องธรรม (ธัมมกถา)
๘๖. เรื่องสัญโญชน์มีอมตะเป็นอารมณ์
๒๐๖. เรื่องกรรม (กัมมกถา)
๘๗. เรื่องรูปมีอารมณ์ (รูปัง สารัมมณันติกถา)
๒๐๗. เรื่องปรินิพพาน
๘๘. เรื่องอนุสัยไม่มีอารมณ์ (อนารัมมณาติกถา)
๒๐๘. เรื่องกุศลจิต (กุสสจิตตกถา)
๘๙. เรื่องญาณไม่มีอารมณ์ (ญาณัง อนารัมมณันติกถา)
๒๐๙. เรื่องอาเนญชะ (อาเนญชกถา)
๙๐. เรื่องจิตที่มีอดีตเป็นอารมณ์ (อตีตารัมมณกถา)
๒๑๐. เรื่องการตรัสรู้ธรรม (ธัมมาภิสมยกถา)
๙๑. เรื่องจิตมีอนาคตเป็นอารมณ์ (อนาคตารัมมณกถา)
๒๑๑. เรื่อง ๓ ประเภท (ติสโสปิกถา)
๙๒. เรื่องจิตมีความตรึกติดตาม (วิตักกานุปติกถา)
๒๑๒. เรื่องอัพยากฤต (อัพยากตกถา)
๙๓. เรื่องการแผ่ออกแห่งความตรึกเป็นเสียง
๒๑๓. เรื่องตวามเป็นปัจจัยเพราะส้องเสพ (อาเสวนปัจจยตากถา)
๙๔. เรื่องวาจาไม่เป็นไปตามจิต
๒๑๔. เรื่องชั่วขณะ (ขณิกกถา)
๙๕. เรื่องการกระทำทางกายไม่เป็นไปตามจิต
๒๑๕. เรื่องความประสงค์อันเดียวกัน (เอกาธิปปายกถา)
๙๖. เรื่องอดีต อนาคต ปัจจุบัน (อดีตานาคตปัจจุปปันนกถา)
๒๑๖. เรื่องเพศของพระอรหันต์ (อรหันตวัณณกถา)
๙๗. เรื่องความดับ (นิโรธกถา)
๒๑๗. เรื่องการบันดาลตามความใคร่ของผู้เป็นใหญ่
๙๘. เรื่องรูปเป็นมรรค (รูปัง มัคโคติกถา)
๒๑๘. เรื่องสิ่งที่เป็นราคะเทียม เป็นต้น (ราคปฏิรูปกาทิกถา)
๙๙. เรื่องผู้ประกอบพร้อมด้วยวิญญาณ๕มีการเจริญมรรค
๒๑๙. เรื่องสิ่งที่ไม่สำเร็จรูป (อปรินิปผันนกถา)
๑๐๐. เรื่องวิญญาณ ๕ เป็นกุศลก็มี
๑๐๑. เรื่องวิญญาณ ๕ คิดคำนึงได้
๑๐๒. เรื่องบุคคลประกอบด้วยศีล ๒ อย่าง
๑๐๓. เรื่องศีลไม่เป็นเจตสิก (สีลัง อเจตสิกันติกถา)
๑๐๔. เรื่องศีลไม่เป็นไปตามจิต
๑๐๕. เรื่องศีลมีการสมาทานเป็นเหตุ
๑๐๖. เรื่องวิญญัติเป็นศีล (วิญญัตติ สีลันติกถา)
๑๐๗. เรื่องอวิญญัติเป็นทุศีล
๑๐๘. เรื่องแม้ธรรม ๓ อย่างก็เป็นอนุสัย
๑๐๙. เรื่องญาณความรู้ (ญาณกถา)
๑๑๐. เรื่องญาณเป็นจิตตวิปปยุต (ญาณัง จิตตวิปปยุตตันติกถากถา)
๑๑๑. เรื่องการเปล่งวาจาว่า นี้ทุกข์ (อิทัง ทุกขันติกถา)
๑๑๒. เรื่องกำลังฤทธิ์ (อิทธิพลกถา)
๑๑๓. เรื่องสมาธิ (สมาธิกถา)
๑๑๔. เรื่องความตั้งอยู่แห่งธรรม (ธัมมัฏฐิตตากถา)
๑๑๕. เรื่องความเป็นของไม่เที่ยง (อนิจจตากถา)
๑๑๖. เรื่องความสำรวมเป็นการกระทำ (สังวโร กัมมันติกถา)
๑๑๗. เรื่องการกระทำ (กัมมกถา)
๑๑๘. เรื่องเสียงเป็นผล (สัทโท วิปาโกติกถา)
๑๑๙. เรื่องอายตนะ๖ (สฬายตนกถา)
๑๒๐. เรื่องบุคคลผู้เกิด๗ครั้งเป็นอย่างยิ่ง (สัตตักขัตตุปรมกถา)
เล่มที่ ๓๘ ชื่อยมก ภาคที่ ๑
เป็นอภิธัมมปิฎก ( เล่ม ๕ )
( คัมภีร์ยมก เป็นคัมภีร์ที่ ๖ แห่งอภิธัมมปิฎก แบ่งออกเป็น ๒ เล่ม หรือ ๒ ภาค คือ ภาคแรก เล่มที่ ๓๘ ว่าด้วย ธรรมที่เป็นคู่ ๗ หัวข้อ คือ ๑. มูลยมก ธรรมเป็นคู่อันเป็นมูล ๒. ขันธยมก ธรรมเป็นคู่ คือขันธ์ ๓. อายตนะยมก ธรรมเป็นคู่คือสังขาร ๔. ธาตุยมก ธรรเป็นคู่คือธาตุ ๕. สัจจยมก ธรรมเป็นคู่คือสัจจะ ๖. สังขาร ธรรมเป็นคู่คือสังขาร ๗. อนุสสัยยมก ธรรมเป็นคู่คืออนุสัย ( กิเลสอันนอนเนื่องด้วยในสันดาน ) ; ภาคที่ ๒ เล่มที่ ๓๙ ว่า ธรรมที่เป็นคู่ ๓ หัวข้อ คือ ๑. จิตตยมก ธรรมเป็นคู่คือจิต ๒. ธัมมยมก ธรรมเป็นคู่คือธรรม และ ๓. อินทรียยมก ธรรมเป็นคู่คืออินทรีย์ ( สภาพที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ).
ต่อไปนี้จะขยายความอย่างย่อ ๆ พอให้เห็นว่า หัวข้อธรรมที่เป็นคู่ทั้งเจ็ด ในคัมภีร์ยมกภาคที่ ๑ หรือในเล่มที่ ๓๙ นั้น มีข้อความอย่างไรต่อไป ).
๑. มูลยมก
ธรรมที่เป็นคู่อันเป็นมูล
ในหมวดนี้มี ๒ ส่วน คือเป็นบทตั้ง เรียก อุทเทส อย่างหนึ่ง เป็นบทอธิบาย เรียก นิทเทส อีกอย่างหนึ่ง
บทตั้ง กล่าวถึง กุศลธรรม ธรรมอันเป็นฝ่ายดี ), อกุศลธรรม ( ธรรมอันเป็นฝ่ายชั่ว ), อัพยากตธรรม ( ธรรมที่ไม่ดีไม่ชั่ว และ นามธรรม (ธรรมที่เกี่ยวกับจิตใจ ) แล้วแจกไปตามหลัก ๑๐ ประการ คือ ๑. มูล ( รากเหง้า ) ๒. เหตุ ๓. นิทาน ( ต้นเหตุ ) ๔. สมภพ ( การเกิด ) ๕. ปภพ (แดนเกิด ) ๖. สมุฏฐาน ( ที่ตั้ง ) ๗. อาหาร ๘. อามรมณ์ ๙. ปัจจัย ( เครื่องสนับสนุน ) ๑๐. สมุทัย ( เหตุให้เกิด ).
บทอธิบาย ขอยกตัวอย่างคำอธิบายเรื่องกุศลธรรมดังกล่าวต่อไปนี้ ธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่เป็นกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งปวง ชื่อว่ากุศลมูลใช่หรือไม่? กุศลมูลมี ๓ ธรรมที่เหลือมิใช่กุศลมูล . ธรรมเหล่าใดมีกุศลเป็นมูล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ชื่อว่ากุศลใช่หรือไม่ ? ใช่ ธรรมเหล่าใดที่เป็นกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ชื่อว่ามีมูลอันเดียวกับกุศลมูลใช่หรือไม่ ? ใช่ ธรรมเหล่าใดมีมูลอันเดียวกับกุศลมูล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ชื่อว่ากุศลใช่หรือไม่ ? รูปที่มีกุศลเป็นสมุฏฐาน ชื่อว่ามีมูลอันเดียวกับกุศลมูล แต่ไม่ชื่อว่ากุศล กุศลชื่อว่ามีมูลอันเดียวกับกุศลมูลด้วย เป็นกุศลด้วย ฯลฯ
(หมายเหตุ: เมื่อพิจารณาดูคำอธิบายแล้ว จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องต้องใช้ตรรกวิทยาในการเข้าใจความหมาย เช่น คำว่า รูป เรากล่าวว่า รูปเป็นกุศลไม่ได้ แต่กล่าวว่า รูปมีมูลอันเดียวกับกุศลมูลได้ ถ้ารูปนั้น มีกุศลเป็นสมฏฐาน แต่คำว่า กุศลเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง คือเป็นกุศลด้วย เป็นธรรมที่มีมูลอันเดียวกับกุศลมูลด้วย.
มีข้อที่ควรทราบ คือ กุศลมูล ๓ ได้แก่ อโลภะ , อโทสะ , อโมหะ อกุศลมูล ๓ ได้แก่ โลภะ , โทสะ , โมหะ อัพยากตมูล ( มูลหรือรากของธรรมที่ไม่ดีไม่ชั่ว) ได้แก่ อโลภะ , อโทสะ , อโมหะ นามมูล ( มูลหรือรากของนาม) มี ๙ อย่าง ได้แก่ กุศลมูล ๓ , อกุศลมูล ๓ และ อัพยากตมูล ๓ รวมกัน.
ข้อสังเกตเรื่องธรรมอันเป็นคู่ หัวเรื่องของพระไตรปิฎกเล่มนี้ คือ ยมก ได้แก่ธรรมที่เป็นคู่ ทำให้น่าค้นหาว่า เป็นคู่อย่างไร อยู่ที่ไหน ก็จะเห็นได้ว่า ในบทตั้งก็ตาม ในบทอธิบายก็ตาม จะกล่าวว่า ธรรมที่เป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างนั้น หรือธรรมที่เป็นอย่างนั้น ชื่อว่าเป็นอย่างนี้ด้วย มีลักษณะเข้าคู่เสมอ ).
๒. ขันธยมก
( ธรรมเป็นคู่คือขันธ์ )
ในมหวดนี้เปลี่ยนวิธีกำหนดหัวข้อใหม่ ๓ วาร คือ ๑. ปัณณัตติวาร วาระว่าด้วยบัญญัติ ๒. ปวัตติวาร วาระว่าด้วยความเป็นไป ๓. ปริญญาวาร วาระว่าด้วยการกำหนดรู้.
๑. ปัณณัตติวาร วาระว่าด้วยบัญญัติ คือข้อนัดหมายกันรู้ คือขันธ์ ( ส่วนหรือกอง ) มี ๕ ได้แก่ ขันธ์ คือรูป ( ธาตุทั้งสี่ประชุมกันเป็นกาย รวมทั้งอาการที่เนื่องด้วยธาตุทั้งสี่ ) , เวทนา ( ความรู้สึก สุข ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข ), สัญญา ( ความจำได้หมายรู้ ) , สังขาร (ความคิดหรือเจตนา ) , วิญญาณ ( ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา หู เป็นต้น ) ในปัณณัตติวารนี้ แบ่งเป็นวาระย่อย่อยอีก ๒ คือ อุทเทสวาร วาระว่าด้วยบทตั้งโดยกล่าวถึงขันธ์ ๕ ไปทีละข้อ เช่น กล่าวว่า รูป เป็นรูปขันธ์ รูปขันธ์ เป็นรูป นิทเทสวาร วาระว่าด้วยบทอธิบาย เช่น อธิบายว่า คำว่า รูป เป็นรูปขันธ์ อธิบายว่า ปิยรูป ( รูปอันเป็นที่รัก ) สาตรูป ( รูปอันเป็นที่พอใจ ) จัดว่าเป็นรูป แต่ไม่ใช่เป็นขันธ์ แต่รูปขันธ์เป็นรูปด้วย ( คำว่า รูป มีความหมายกว้าง รูปบางอย่างเป็นรูปขันธ์ บางอย่างมิใช่รูปขันธ์ แต่คำว่า รูปขันธ์ มีความหมายแคบ คือรูปขันธ์จัดเข้าในประเภทของรูปด้วย เป็นรูปขันธ์ด้วย ผู้เขียน ).
๒. ปวัตติวาร วาระว่าด้วยความเป็นไป แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนย่อย คือ ๑. อุปปาทวาร วาระว่าด้วยความเกิดขึ้น ๒. นิโรธวาร วาระว่าด้วยความดับ ๓. อุปปาทนิโรธวาร วาระว่าด้วยความเกิดความดับ.
ก. อุปปาทวาร รูปขันธ์เกิดขึ้นแก่ผู้ใด เวทนาขันธ์ย่อมเกิดแก่ผู้นั้นด้วยใช่หรือไม่ ? ผู้เกิดเป็น อสัญญาสัตว์ เกิดเฉพาะรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ไม่เกิด ( เพราะอสัญญสัตว์มีขันธ์เดียว ) ส่วนผู้ที่เกิดมีขันธ์ ๕ ย่อมมีทั้งรูปขันธ์ ทั้งเวทนาขั้นธ์เกิดขึ้น ( เช่น มนุษย์ ) . อนึ่ง เวทนาขันธ์เกิดแก่ผู้ใด รูปขันธ์ย่อมเกิดแก่ผู้นั้นด้วยใช่หรือไม่ ? ผู้เกิดใน อรูปภพ ย่อมมีเวทนาขันธ์เกิดขึ้น แต่ไม่มีรูปขันธ์เกิดขึ้น ( เช่น อรูปพรหม ) ส่วนผู้ที่เกิดมีขันธ์ ๕ ย่อมมีทั้งเวทนาขันธ์ทั้งรูปขันธ์เกิดขึ้น ฯลฯ
ข. นิโรธวาร รูปขันธ์ของผู้ใดดับ เวทนาขันธ์ของผู้นั้นย่อมดับด้วยใช่หรือไม่ ? ผู้กำลังเคลื่อนจาก อสัญญสัตว์ รูปขันธ์ย่อมดับ แต่เวทนาขันธ์ไม่ไดับ ส่วนผู้กำลังเคลื่อนจากขันธ์ ๕ รูปขันธ์ก็ดับ เวทนาขันธ์ก็ดับ. อนึ่ง เวทนาขันธ์ของผู้ได้รับ รูปขันธ์ของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ? ผู้กำลังเคลื่อนจาก อรูป เวทนาขันธ์ย่อมดับ แต่รูปขันธ์ไม่ดับ ส่วนผู้กำลังเคลื่อนจากขันธ์ ๕ เวทนาขันธ์ย่อมดับ รูปขันธ์ย่อมดับ ฯ ล ฯ
ค. อุปปาทนิโรธวาร รูปขันธ์ของผู้ใดเกิดขึ้น เวทนาขันธ์ของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ . อนึ่ง เวทนาขันธ์ของผู้ใดดับ รูปขันธ์ของผู้นั้นย่อมเกิด ใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ ฯลฯ
๓. ปริญญาวาร วาระว่าด้วยการกำหนดรู้ ผู้ใดกำหนดรู้รูปขันธ์ ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้เวทนาขันธ์ ใช่หรือไม่ ? ใช่. อนึ่ง ผู้ใดกำหนดรู้เวทนาขันธ์ ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้รูปขันธ์ใช่หรือไม่ ? ใช่. ผู้ใดไม่กำหนดรู้รูปขันธ์ ผู้นั้นย่อมไม่กำหนดรู้เวทนาขันธ์ใช่หรือไม่ ? ใช่ . อนึ่ง ผู้ใดไม่กำหนดรู้เวทนาขันธ์ ผู้นั้นย่อมไม่กำหนดรู้รูปขันธ์ใช่หรือไม่ ? ใช่.
๓. อายตนยมก
( ธรรมเป็นคู่คืออายตนะ )
ในหมวดนี้ มีหัวข้อเช่นเดียวกับขันธยมก คือ ๑. ปัณณัตติวาร วาระว่าด้วยบัญญัติ ๒. ปวัตติวาร วาระว่าด้วยความเป็นไป ๓. ปริญญาวาร วาระว่าด้วยการกำหนดรู้???:
๑. ปัณณัตติวาร วาระว่าด้วยการบัญญัติ คือข้อนัดหมายกันรู้ คือ อายตนะ ( ที่ต่อ ) มี ๑๒ ได้แก่ อายตนะ คือ ตา , หู , จมูก , ลิ้น , กาย, รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ , ใจ , ธรรม . ในปัณณัตติวารนี้ แบ่งออกเป็นวารย่อยอีก ๒ คือ อุทเทสวาร วาระว่าด้วยบทตั้ง โดยกล่าวถึงอายตนะ ๑๒ ไปทีละข้อ เช่น ตาเป็นอายตนะคือตา , อายตนะคือตา เป็นตา ฯลฯ นิทเทสวาร วาระว่าด้วยบทอธิบาย เช่น ตาเป็นอายตนะใช่หรือไม่ ? ตาที่เป็น ตาทิพย์ , ตาปัญญา ไม่ใช่อายตนะคือตา ส่วนอายตนะคือตาเป็นตาด้วย เป็นอายตนะคือตาด้วย , อายตนะคือตาเป็นตาใช่หรือไม่ ? ใช่ ฯลฯ .
๒. ปวัตติวาร วาระว่าด้วยความเป็นไป แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนย่อย เช่นเดียวกับในขันธยมกดังต่อไปนี้:-
ก. อุปปาทวาร วาระว่าด้วยความเกิดขึ้น คำว่า อายตนะคือตาเกิดขึ้นแก่ผู้ใด อายตนะคือหูย่อมเกิดแก่ผู้นั้น ใช่หรือไม่ ? ผู้เกิดเป็นสัตว์ที่มีตา แต่ไม่มีหู มีอายตนะคือตาเกิดขึ้น แต่ไม่มีอายตนะคือหูเกิดขึ้น ผู้เกิดเป็นสัตว์ที่มีทั้งตาทั้งหู อายตนะคือตา และอายตนะคือหู ย่อมเกิดขึ้น อนึ่ง อายตนะคือหูเกิดขึ้นแก่ผู้ใด อายตนะคือตาย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? ผู้เกิดเป็นสัตว์ที่มีหู แต่ไม่มีตา มีอายตนะคือหูเกิดขึ้น แต่ไม่มีอายุตนคือตาเกิดขึ้น ผู้ใดเกิดเป็นสัตว์ที่มีอายตนะคือหู และอายตนะคือตาย่อมเกิดมีทั้งอายตนะคือหูทั้งอายตนะคือตาเกิดขึ้น ฯลฯ
ข. นิโรธวาร วาระว่าด้วยความดับ คำว่า อายตนะคือตาของผู้ใดดับ อายตนะของผู้นั้นยย่อมดับด้วยใช่หรือไม่ ? ผู้ที่กำลังเคลื่อนจากความเป็นสัตว์ที่มีตา แต่ไม่มีหูอายตนะย่อมดับ แต่อายตนะคือหูย่อมไม่ดับ ส่วนผู้ที่กำลังเคลื่อนจากความป็นสัตว์ที่มีทั้งตาทั้งหู อายตนะคือตาและอายตนะคือหูย่อมดับ อนึ่ง อายตนะคือหูของผู้ใดย่อมดับ อายตนะของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่? ผู้ที่กำลังเคลื่อนจากความเป็นสัตว์ที่มีหูแต่ไม่มีตา อายตนะคือตาย่อมไม่ดับ ส่วนผู้มี่กำลังจะเคลื่อนจากความเป็นสัตว์ที่มีทั้งหูทั้งตา อายตนะคือหูและอายตนะคือตาย่อมดับ ฯลฯ
ค. อุปปาทนิฏรธวาร วาระว่าด้วยความเกิดความดับ อายตนะคือตาเกิดขึ้นแก่ผู้ใด อายตนะคือหูของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ อนึ่ง อายตนะคือหูของผู้ใดดับ อายตนะคือตาของผู้นั้นย่อมเกิดขึ้นใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ ฯลฯ
๓. ปริญญาวาร วาระว่าด้วยการกำหนดรู้ ผู้ใดกำหนดรู้อายตนะคือตา ผู้นั้นชื่อว่ากำหนดรู้ อายตนะคือหูใช่หรือไม่ ? ใช่ . อนึ่ง ผู้ใดกำหนดรู้อายตนะคือหู ผู้นั้นชื่อว่ากำหนดรู้อายตนะคือตาใช่หรือไม่ ? ใช่ ฯลฯ
๔. ธาตุนยมก
( ธรรมเป็นคู่คือธาตุ )
ธาตุยมกนี้ ก็อย่างเดียวกับอายตนะยมก มีวิธีแบ่งเป็น ๓ หรือ ๓ วารใหญ่ และมีวิธีการอธิบายเป็นอย่างเดียวกัน ความต่างกับอยู่ที่จำนวน คืออายตนะมี ๑๒ เป็นอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ส่วนธาตุมี ๑๘ ได้แก่ธาตุ คือ ตา , หู, จมูก, ลิ้น, กาย ; รูป, เสียง, กลิ่น , รส, โผฏฐัพพะ ; ธาตุ คือ จักขุวิญญาณ , โสตวิญญาณ , ฆานวิญญาณ , ชิวหาวิญญาณ , กายวิญญาณ ( ธาตุรู้ทางตา , หู , จมูก , ลิ้น , กาย ) ; มโนธาตุ ( ธาตุคือใจ ) , มโนวิญญาณธาตุ ( ธาตุรู้ทางใจ ) , ธัมมธาตุ ( ธาตุคือสิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ ).
๕. สัจจยมก
( ธรรมเป็นคู่คือความจริง )
๑. ปัณณัตติวาร วาระว่าด้วยบัญญัติ. อริยสัจจ์มี ๔ คือ ทุกขสัจจ์ ความจริงคือทุกข์ , สมุทยสัจจ์ ความจริงคือเหตุให้ทุกข์เกิด , นิโรธสัจจ์ ความจริงคือความดับทุกข์ , มัคคสัจจ์ ความจริงคือหนทางให้ถึงความดับทุกข์
ก. อุทเทสวาร วาระว่าด้วยบทตั้ง ทุกข์ เป็นทุกขสัจจ์ , ทุกขสัจจ์ เป็นทุกข์ ฯลฯ
ข. นิทเทสวาร วาระว่าด้วยคำอธิบาย ทุกข์ เป็นทุกข์สัจจ์ใช่หรือไม่ ? ใช่ ทุกขสัจจ์ เป็นทุกข์ใช่หรือไม่ ? ทุกขสัจจ์ที่เหลือ เว้นแต่ทุกข์ที่เป็นไปทางกาย ทุกที่เป็นไปทางจิต เป็นทุกข์สัจจ์ มิใช่ทุกข์ ; ทุกข์ที่เป็นไปทางกาย ทุกข์ที่เป็นไปทางจิต เป็นทุกข์ด้วย เป็นทุกขสัจจ์ ฯลฯ
๒. ปวัตติวาร วาระว่าด้วยความเป็นไป . อุปปาทวาร วาระว่าด้วยความเกิดขึ้น ทุกขสัจจ์เกิดขึ้นแก่ผู้ใด สมุทยสัจจ์ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? เมื่อเกิดเป็นสัตว์ทุกชนิด ทุกขสัจจ์ย่อมเกิดขึ้น ในขณะแห่งความเกิดขึ้นของจิตที่มิได้ประกอบด้วยตัญหา แต่สมุทยสัจจ์ไม่เกิดขึ้น แต่ในขณะที่ตัญหาเกิดขึ้น ทุกขสัจจ์ย่อมเกิดขึ้นด้วย ทุกขสมุทยสัจจ์ย่อมเกิดขึ้นด้วย อนึ่ง สมุทยสัจจ์เกิดขึ้นแก่ผู้ใด ทุกขสัจจ์ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? ใช่ ฯลฯ นิโรธวาร วาระว่าด้วยความดับ ทุกขสัจจ์ของผู้ใดดับ สมุทยสัจจ์ของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ? เมื่อเคลื่อน ( จุติ ) จากความเป็นสัตว์ทุกชนิด ในขณะแห่งความดับของจิตที่ไม่ประกอบด้วยตัญหา ทุกขสัจจ์ย่อมดับ แต่สมุทยสัจจ์ไม่ดับ แต่ในขณะที่ตัญหาดับ ทุกขสัจจ์ย่อมดับด้วย สมุทยสัจจ์ย่อมดับด้วย อนึ่ง สมุทยสัจจ์ของผู้ใดดับ ทุกขสัจจ์ของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ? ใช่ ฯลฯ อุปปาทนิโรธวาร วาระว่าด้วยความเกิดและความดับ ทุกขสัจจ์ของผู้ใดเกิดขึ้น สมุทยสัจจ์ของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ อนึ่ง สมุทยสัจจ์ของผู้ใดดับ ทุกขสัจจ์ของผู้นั้นย่อมเกิดขึ้นใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ ฯ ล ฯ
๓. ปริญญาวาร วาระว่าด้วยการกำหนดรู้ ผู้ใดกำหนดรู้ทุกขสัจจ์ ผู้นั้นย่อมละสมุทยสัจจ์ใช่หรือไม่ ? ใช่. อนึ่ง ผู้ใดละสมุทยสัจจ์ได้ ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้ทุกขสัจจ์ใช่หรือไม่ ? ใช่ ฯ ล ฯ
๖. สังขารยมก
( ธรรมเป็นคู่คือสังขาร หรือเครื่องปรุง )
๑. ปัณณัตติวาร วาระว่าด้วยบัญญัติ. สังขารมี ๓ คือ กายสังขาร เครื่องปรุงกาย , วจีสังขาร เครื่องปรุงวาจา , จิตสังขาร เครื่องปรุงจิต : ลมหายใจเข้าออก ชื่อว่าเครื่องปรุงกาย , วิตก ความตรึกวิจาร ความตรอง ชื่อว่าเครื่องปรุงวาจา , สัญญา ความจำได้หมายรู้ และเวทนา ความรู้สึกสุข ทุกข์หรือไม่ทุกข์ไม่สุข ชื่อว่าเครื่องปรุงจิต. ธรรมทั้งปวงที่สัมปยุตกับจิต เว้นวิตกวิจาร ชื่อว่าเครื่องปรุงจิต ๑
นอกจากนี้ ลีลาในการอธิบายก็ทำนองเดียวกับที่เคยกล่าวมาแล้ว.
๗. อนุสยมก
( ธรรมเป็นคู่คืออนุสัย )
( ในหมวดนี้ ลีลาในการอธิบายเปลี่ยนไป โดยได้แบ่งหัวข้อเป็น ๗ วาระ คือ ๑. อนุสยวาร วาระว่าด้วยกิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน ๒. สานุสยวาร วาระว่าด้วยบุคคลผู้มีอนุสัย ๓. ปชหนวาร วาระว่าด้วยการละ ๔. ปริญญาวาร วาระว่าด้วยการกำหนดรู้ ๕. ปหีนวาร วาระว่าด้วยอนุสัยที่บุคคลละได้แล้ว ๖. อุปปัชชนวาร วาระว่าด้วยการเกิดขึ้น ๗. ธาตุวาร วาระว่าด้วยธาตุ คือผู้เกิดในธาตุไหน คือ กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ จะมีอนุสัยอะไรบ้าง ต่อไปนี้จะยกวาระทั้งเจ็ดขึ้นมากล่าวเป็นลำดับ แต่ก่อนจะถึงวาระทั้งเจ็ดนั้น มีบทตั้งที่อธิบายเรื่องอนุสัยไว้ อันนับเป็นหลักวิชาที่น่าสนใจ ) . อนุสัย ( กิเลสที่นอนเนื่องในสันดานหรือที่แฝงตัว ) ๗
ได้แก่อนุสัย คือ กามระคะ ( คือความกำหนัดในกาม ), ปฏิฆะ (ความขัดใจ ) , มานะ ( ความถือตัว ), ทิฏฐิ ( ความเห็น ) , วิจิกิจฉา ( ความลังเลสงสัย ), ภวราคะ ( ความยินดีในภพ คือความมีความเป็น ) , อวิชชา ( ความหลงไม่รู้ จริง ).
อนุสัยคือกามระคะย่อมแฝงตัวตามในที่ไหน ? ในเวทนาทั้งสอง ( คือสุขเวทนาและอุเบกขาเวทนา ) ในกามธาตุ. อนุสัยคือปฏิฆะย่อมแฝงตัวตามในที่ไหน ? ในทุกขเวทนา. อนุสัยคือมานะย่อมแฝงตัวตามในที่ไหน ? ในเวทนา ๒ ( คือสุขเวทนาและอุเบกขาเวทนา ) ในกามธาตุ , ๒ ในรูปธาตุ ในอรูปธาตุ . อนุสัยคือทิฏฐิย่อมแฝงตัวตามในที่ไหน ? ในธรรมที่เนื่องด้วยสักกายะ ( กายของตน ) ทั้งปวง . อนุสัยคือวิจิกิจฉาย่อมแฝงตัวตามในที่ไหน ? ในธรรมที่เนื่องด้วยสักกายะ ( กายของตน ) ทั้งปวง. อนุสัยภวราคะย่อมแฝงตัวตามในที่ไหน ? ในรูปธาตุและในอรูปธาตุ . อนุสัยคืออวิชชาย่อมแฝงตัวตามในที่ไหน ? ในธรรมที่เนื่องด้วยสักกายะ ( กายของตน ) ทั้งปวง.
๑. อนุสยวาร วาระว่าด้วยกิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน หรือที่แฝงตัวตาม อนุสัยคือกามราคะของผู้ใดย่อมแฝงตัวตาม อนุสัยปฏิฆะของผู้นั้นย่อมแฝงตัวตามใช่หรือไม่ ? ใช่ . อนึ่ง อนุสัยคือปฏิฆะของผู้ใดย่อมแฝงตัวตาม อนุสัยคือกามระคะของผู้นั้นย่อมแฝงตัวตามใช่หรือไม่ ? ใช่ ฯ ล ฯ
๒. สานุสยวาร วาระว่าด้วยบุคคลผู้มีอนุสัย ผู้ใดมีอนุสัยเป็นกามราคานุสัย ผู้นั้นย่อมมีอนุสัยเป็นปฏิฆานุสัยใช่หรือไม่ ? ใช่ . อนึ่ง ผู้ใดมีอนุสัยเป็นปฏิฆานุสัย ผู้นั้นย่อมมีอนุสัยเป็นกามราคานุสัยใช่หรือไม่ ? ใช่ ฯ ล ฯ
๓. ปชหนวาร วาระว่าด้วยการละ ผู้ใดละกามราคานุสัยได้ ผู้นั้นย่อมละปฏิฆานุสัยได้ใช่หรือไม่ ? ใช่ . อนึ่ง ผู้ใดละปฏิฆานุสัย ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้กามราคานุสัยใช่หรือไม่ ? ใช่ ฯลฯ
๔ . ปหีนวาร วาระว่าด้วยการกำหนดรู้ ผู้ใดกำหนดรู้กามราคานุสัย ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้ปฏิฆานุสัยใช่หรือไม่ ? ใช่. ผู้ใดกำหนดรู้ปฏิฆานุสัย ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้กามราคานุสัยใช่หรือไม่ ? ใช่ ฯลฯ
๕. ปหีนวาร วาระว่าด้วยอนุสัยที่ละได้แล้ว กามราคานุสัยอันผู้ใดละได้แล้ว ปฏิฆานุสัยอันผู้นั้นละได้แล้วใช่หรือไม่ ? ใช่ . ปฏิฆานุสัยอันผู้ใดละได้แล้ว กามราคานุสัยอันผู้นั้นละได้แล้วใช่หรือไม่ ? ใช่ ฯลฯ
๖. อุปปัชชนวาร วาระว่าด้วยการเกิดขึ้น กามราคานุสัยเกิดขึ้นแก่ผู้ใด ปฏิฆานุสัยย่อมเกิดแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? ใช่ . ปฏิฆานุสัยเกิดแก่ผู้ใด กามราคานุสัยย่อมเกิดแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? ใช่ ฯ ล ฯ
๗. ธาตุวาร วาระว่าด้วยธาตุ บุคคลเลื่อนแล้วจากกามธาตุ กำลังเข้าถึงกามธาตุ มีอนุสัยกี่อย่างแฝงตังตาม มีอนุสัยกี่อย่างที่ดับไป ? บุคคลเคลื่อนแล้วจากกามธาตุ กำลังเข้าถึงรูปธาตุ มีอนุสัยกี่อย่างแฝงตัวตาม มีอนุสัยกี่อย่างที่ดับไป ? บุคคลเคลื่อนแล้วจากกามธาตุ กำลังเข้าถึงอรูปธาตุ มีอนุสัยกี่อย่างแฝงตัวตาม มีอนุสัยกี่อย่างแฝงตัวตาม มีอนุสัยกี่อย่างที่ดับไป ? ฯลฯ ( เป็นคำถามนับจำนวนร้อยข้อ ต่อไปนี้เป็นคำตอบพอเป็นตัวอย่าง ) บุคคลเคลื่อนแล้วจากกามธาตุ กำลังเข้าถึงกามธาตุ บางคนก็มีอนุสัย ๗ อย่าง บางคนก็มีอนุสัย ๕ อย่างแฝงตัวตาม อนุสัยที่ดับไม่มี. บุคคลเคลื่อนแล้วจากกามธาตุ กำลังเข้าถึงรูปธาตุ บางคนมีอนุสัย ๗ อย่าง บางคนมีอนุสัย ๕ อย่าง บางคนมีอนุสัย ๗ อย่าง บางคนมีอนุสัย ๕ อย่าง บางคนมีอนุสัย ๓ อย่างแฝงตัวตาม อนุสัยที่ดับไม่มี ฯลฯ
(หมายเหตุ: เมื่อกล่าวถึง บุถุชน คือผู้ยังหนาไปด้วยกิเลส ก็กล่าวถึงว่า อนุสัย ๗ แฝงตัวตาม ส่วนบุคคล ผู้มีอนุสัยเพียง ๕ ได้แก่พระโสดาบันและพระสกทาคามี เพราะท่านเหล่านี้ละอนุสัยได้ ๒ คือ ทิฏฐิ ( ความเห็นผิด ) วิจิกิจฉา ( ความลังเลสงสัย ) ยังเหลืออีก ๕ คือ กามราคะ ( ความกำหนัดในกาม ) ปฏิฆะ ( ความขัดใจ ) มานะ ( ความถือตัว ) , ภวราคะ ( ความยินดีในความมีความเป็น คือในรูปฌาน อรูปฌาน ), อวิชชา (ความไม่รู้ ) คำว่า ความไม่รู้สำหรับพระอริยบุคคล หมายถึงความไม่รู้ชั้นสูงที่ทำให้ยังมิได้เป็นพระอรหันต์ , มีอนุสัย ๓ ได้แก่พระอนาคามี คือท่านละกามราคะ , ปฏิฆะ , ทิฏฐิ , วิจิกิจฉาได้ แต่ยังละมานะ , ภวราคะ และอวิชชาไม่ได้ ).
จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๘
________________________________________
'๑' . ตรงที่เรียงตัวพิเศษไว้นี้ เป็นหลักวิชาพิเศษ ที่อธิบายถึงจิตตสังขารอย่างน่าสนใจ จึงได้ทำเครื่องหมายให้สังเกตโดยง่าย คำว่า สัมปยุต คือเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์ มีวัตถุเป็นอันเดียวกัน
'๑' . คำว่า กามธาตุ มีความหมายประกอบในเวทนา ๒ , ส่วนคำว่า รูปธาตุ และอรูปธาตุ ไม่เกี่ยวกับเวทนาทั้งสองนั้นเลย
เล่มที่ ๓๙ ชื่อยมก ภาคที่ ๒
เป็นอภิธัมมปิฎก ( เล่ม ๖ )
( ได้กล่าวแล้วว่า ในเล่มที่ ๓๙ นี้ มีหัวข้อแห่งยมกเพียง ๓ คือ ๑. จิตตยมก ( ธรรมที่เป็นคู่คือจิต ) ๒. ธัมมยมก ( ธรรมที่เป็นคู่คือธรรม ) ๓. อินทริยยมก ( ธรรมที่เป็นคู่คืออินทรีย์ คือธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ) วิธีอธิบายทั้งสามหัวข้อไม่เหมือนกัน ดังจะกล่าวต่อไปเมื่อถึงหัวข้อนั้น ๆ ) .
๑. จิตตยมก
ธรรมเป็นคู่คือจิต
หัวข้อใหญ่ของจิตยมก คือ อุทเทส หรือบทตั้ง กับ นิทเทส หรือบทอธิบาย แล้วมีหัวข้อย่อยที่บทตั้ง และคำอธิบายเกี่ยวข้องด้วย ๔ วาระ คือ ๑. ปุคคลวาร วาระว่าด้วยบุคคล ๒. ธัมมวาร วาระว่าด้วยธรรม ๓. ปุคคลธัมมวาร วาระว่าด้วยบุคคลและธรรม ๔. มิสสกวาร วาระว่าด้วยจิตที่ผสมด้วยกิเลส.
ก. อุทเทสหรือบทตั้ง
๑. ปุคคลวาร วาระว่าด้วยบุคคล จิตของบุคคลใดย่อมเกิดขึ้น ยังไม่ดับ จิตของบุคคลนั้นจักดับ จักไม่เกิดขึ้น อนึ่ง จิตของบุคคลใดจักดับ จักไม่เกิดขึ้น จิตของบุคคลนั้นย่อมเกิดขึ้น ยังไม่ดับ ฯ ล ฯ
๒. ธัมมวาร วาระว่าด้วยธรรม จิตย่อมเกิดขึ้นยังไม่ดับ จิตนั้นจักดับ จักไม่เกิดขึ้น อนึ่ง จิตใด จักดับ จักไม่เกิดขึ้น จิตนั้นย่อมเกิดขึ้น ยังไม่ดับ ๑ ฯ ล ฯ
๓. ปุคคลธัมมวาร วาระว่าด้วยบุคคลและธรรม จิตใดของบุคคลใดย่อมเกิดขึ้น ยังไม่ดับ จิตนั้นของบุคคลนั้นจักดับ จักไม่เกิดขึ้น อนึ่ง จิตใดของบุคคลใดจักดับ จักไม่เกิดขึ้น จิตนั้นของบุคคลนั้น ย่อมเกิด ยังไม่ดับ . ฯลฯ
๔. มิสสกวาร วาระว่าด้วยจิตที่ผสมด้วยกิเลส จิตอันมีราคะของผู้ใดย่อมเกิดขึ้น ; จิตปราศจากราคะของผู้ใดย่อมเกิดขึ้น ; ฯ ล ฯ จิตนั้น ๆ ของผู้นั้นจักดับ จักไม่เกิดขึ้น อนึ่ง จิตนั้น ๆ ของผู้ใดจักดับ จักไม่เกิดขึ้น จิตนั้น ๆ ของผู้นั้นย่อมเกิดขึ้น ยังไม่ดับ ฯ ล ฯ
ข. นิทเทส หรือบทอธิบาย
๑. บทนำตั้งในปุคคลวารมาตั้งคำถามว่า เป็นเช่นนั้นใช่หรือไม่ แล้วตอบว่า ในขณะเกิดขึ้น แห่งจิตสุดท้าย จิตของผู้นั้นย่อมเกิดขึ้น ยังไม่ดับ ( แต่ ) จักดับ จักไม่เกิดขึ้น. ในขณะเกิดขึ้นแห่งจิตของบุคคลนอกนี้ จิตของเขาย่อมเกิดขึ้น ยังไม่ดับ ( แต่ ) จักดับด้วย จักเกิดขึ้นด้วย ฯ ล ฯ
๒. บทนำตั้งในธัมมวารมาตั้งเป็นคำถามว่า เป็นเช่นนั้นใช่หรือไม่ แล้วตอบว่า ใช่ แต่ในกรณีที่ว่าจิตใดย่อมไม่เกิดขึ้น ย่อมดับ จิตนั้นจักไม่ดับ จักเกิดขึ้น ดังนี้ ตอบว่า ไม่ใช่อย่างนั้น และในกรณีที่ว่าจิตใด จักไม่ดับ จักเกิดขึ้น จิตนั้นย่อมไม่เกิด ( แต่ ) ย่อมดับ ดังนี้ ตอบว่า ไม่มี .
๓. นำบทตั้งในปุคคลธัมมวารมาตั้งเป็นคำตอบแล้วตอบเช่นเดียวกับในธัมมวาร.
๔. บทอธิบายในมิสสกวาร มิได้ตั้งเป็นคำถามตอบ แต่กล่าวว่า เมื่ออธิบายถึงจิตของบุคคลใดโดยภาวะของตน เมื่ออธิบายถึงจิตใดและจิตของบุคคลใด โดยอรรถอันเดียวกัน ( กล่าวย้อนไปถึงวารทั้งสามข้างต้น ) บุคคลใดมีจิตประกอบด้วยราคะ ฯ ล ฯ มีธรรมอันไม่มีข้าศึก ธรรมที่เป็นคู่ ( ยมก ) ๓ ประการ คือ มูลยมก ( ธรรมที่เป็นคู่อันเป็นมูล ) จิตตตยมก ( ธรรมที่เป็นคู่คือจิต ) ธัมมยมก ( ธรรมที่เป็นคู่คือธรรม ) ย่อมเป็นไป จนถึงธรรมที่มีข้าศึกและไม่มีข้าศึก ( คือเมื่อกล่าวถึงจิตของบุคคลมีราคะ จนถึงไม่มีข้าศึก ย่อมเข้าในลักษณะยมก ๓ ประการ )
๒. ธัมมยมก
ธรรมที่เป็นคู่คือธรรม
๑. ปัณณัตติวาร วาระว่าด้วยบัญญัติ
ก. อุทเทสหรือบทตั้ง
กุศล เป็นกุศลธรรม กุศลธรรม เป็นกุศล. อกุศล เป็นอกุศลธรรม เป็นอกุศล. อัพบากฤต เป็นอัพยากตธรรม อัพยากตธรรม เป็นอัพยากฤต ฯ ล ฯ
ข. นิทเทส หรือบทอธิบาย
กุศล เป็นกุศลธรรมใช่หรือไม่ ? ใช่ . กุศลธรรม เป็นกุศลใช่หรือไม่ ? ใช่. อกุศล เป็นอกุศลธรรมใช่หรือไม่ ? ใช่ . อกุศลธรรม เป็นอกุศลใช่หรือไม่ ใช่ . อัพยากฤต เป็นอัพยากตธรรมใช่หรือไม่ ? ใช่. อัพยากตธรรม เป็นอัพยากฤติใช่หรือไม่ ? ใช่ ฯ ล ฯ
๒. ปวัตติวาร วาระว่าด้วยความเป็นไป
ก. อุปปาทวาร วาระว่าด้วยความเกิดขึ้น
กุศลเกิดขึ้นแก่ผู้ใด อกุศลธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่. อนึ่ง อกุศลธรรมเกิดขึ้นแก่ผู้ใด กุศลธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่.
กุศลเกิดขึ้นแก่ผู้ใด อัพยากตธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? ในขณะเกิดขึ้นแห่งกุศลทั้งหลายในอรูป ( ซึ่งมีขันธ์ ๔ ) กุศลธรรมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้น อัพยากตธรรมย่อมไม่เกิดขึ้น. ในขณะเกิดขึ้นแห่งกุศลทั้งหลายในขันธ์ ๕ ทั้งกุศลธรรมและอัพยากตธรรมย่อมเกิดแก่ผู้นั้น. อนึ่ง อัพยกตธรรมเกิดขึ้นแก่ผู้ใดกุศลธรรมย่อมเกิดแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? ในขณะที่เกิดขึ้นแห่งจิตที่ไม่ประกอบด้วยกุศลอันเป็นไปแก่สัตว์ทั้งปวงผู้กำลังเกิด อัพยากตธรรมย่อมเกิดแก่สัตว์เหล่านั้น กุศลธรรมย่อมไม่เกิด แต่ในขณะที่เกิดขึ้นแห่งกุศลทั้งหลายในขันธ์ ๕ ทั้งอัพยากตธรรมและกุศลธรรมย่อเกิดขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้น.
กุศลเกิดขึ้นแก่ผู้ใด อัพยากตธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? ในขณะเกิดขึ้นแห่งอกุศลทั้งหลายในอรูป ( ซึ่งมีขันธ์ ๔ ) อกุศลธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้น อัพยากตธรรมย่อมไม่เกิดขึ้น. ในขณะเกิดขึ้นแห่งอกุศลทั้งหลายในขันธ์ ๕ ทั้งกุศลธรรมและอัพยากตธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้น . อนึ่ง อัพยากตธรรมเกิดขึ้นแก่ผู้ใด อกุศลธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? ในขณะเกิดขึ้นแห่งจิตที่ไม่ประกอบด้วยอกุศล อันเป็นไปแก่สัตว์ทั้งปวงผู้กำลังเกิด อัพยากตธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้น อกุศลธรรมย่อมไม่เกิดขึ้น . แต่ในขณะที่เกิดขึ้นแห่งอกุศลทั้งหลายในขันธ์ ๕ ทั้งอัพยากตธรรมทั้งอกุศลธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้น ฯ ล ฯ
ข. นิโรธวาร วาระว่าด้วยความดับ
กุศลเกิดขึ้นแก่ผู้ใด อกุศลธรรมของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ . อนึ่ง อกุศลธรรมของผู้ใดดับ กุศลธรรมของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่.
กุศลธรรมของผู้ใดดับ อัพยากตธรรมของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ? ในขณะดับแห่งกุศลทั้งหลายในอรูป กุศลธรรมของผู้นั้นย่อมดับ อัพยากตธรรมย่อมไม่ดับ. ในขณะดับแห่งกุศลทั้งหลายในขันธ์ ๕ ทั้งกุศลธรรมทั้งอัพยากตธรรมย่อมดับ. อนึ่ง อัพยากตธรรมของผู้ใดดับ กุศลธรรมของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ? ในขณะดับแห่งจิตอันไม่ประกอบด้วยกุศลที่เป็นไปแก่สัตว์ทั้งปวง ผู้กำลังเคลื่อน ( จุติ ) อัพยากตธรรมของสัตว์เหล่านั้นย่อมดับ กุศลธรรมย่อมไม่ดับ . แต่ในขณะดับแห่งกุศลทั้งหลายในขันธ์ ๕ ทั้งอัพยากตธรรมทั้งกุศลธรรมของสัตว์เหล่านั้นย่อมดับ.
กุศลธรรมของผู้ใดดับ อัพยากตธรรมของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ? ในขณะดับแห่งอกุศลทั้งหลายในอรูป อกุศลธรรมของผู้นั้นย่อมดับ อัพยากตธรรมย่อมไม่ดับ ในขณะดับแห่งอกุศลทั้งหลายในขันธ์ ๕ ทั้งอกุศลธรรมทั้งอัพยากตธรรมของผู้นั้นย่อมดับ . อนึ่ง อัพยากตธรรมของผู้ใดดับ อกุศลธรรมของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ? ในขณะดับแห่งจิตอันไม่ประกอบด้วยอกุศลที่เป็นไปแก่สัตว์ทั้งปวง ผู้กำลังเคลื่อน ( จุติ ) อัพยากตธรรมของสัตว์เหล่านั้นย่อมดับ อกุศลธรรมย่อมไม่ดับ แต่ในขณะดับแห่งอกุศลทั้งหลายในขันธ์ ๕ ทั้งอัพยากตธรรมทั้งอกุศลธรรมของสัตว์นั้นย่อมดับ ฯ ล ฯ
ค. อุปปาทนิโรธวาร วาระว่าด้วยความเกิดขึ้นและความดับ
กุศลธรรมเกิดขึ้นแก่ผู้ใด อกุศลธรรมของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ . อนึ่ง อัพยากตธรรมของผู้ใดดับ กุศลธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ .
กุศลธรรมเกิดขึ้นแก่ผู้ใด อัพยากตธรรมของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ . อนึ่ง อัพยากตธรรมของผู้ใดดับ กุศลธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ .
กุศลธรรมเกิดขึ้นแก่ผู้ใด อัพยากตธรรมของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ . อนึ่ง อัพยากตธรรมของผู้ใดดับ อกุศลธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ .
๓. ภาวนาวาร วาระว่าด้วยการทำให้เกิด
ผู้ใดทำกุศลธรรมทำให้เกิดขึ้น ผู้นั้นย่อมละอกุศลธรรมได้ใช่หรือไม่ ? ใช่ . อนึ่ง ผู้ใดละอกุศลธรรมได้ ผู้นั้นย่อมทำกุศลธรรมให้เกิดใช่หรือไม่ ? ใช่ . ผู้ใดไม่ทำกุศลธรรมให้เกิด ผู้นั้นย่อมละอกุศลธรรมไม่ได้ใช่หรือไม่ ? ใช่ . อนึ่ง ผู้ใดละอกุศลธรรมไม่ได้ ผู้นั้นย่อมทำกุศลธรรมให้เกิดไม่ได้ใช่หรือไม่ ? ใช่ ฯ ล ฯ
๓. อินทริยยมก
( ธรรมที่เป็นคู่คืออินทรีย์ ได้แก่ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน )
๑. ปัณณัตติวาร วาระว่าด้วยบัญญัติ
อินทรีย์มี ๒๒ มีอินทรีย์คือตา เป็นต้น มีอินทรีย์ของพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้สัจจธรรมเป็นที่สุด ( ดูรายละเอียดที่พระอภิธรรมเล่ม ๒ ) ในหัวข้อ ๕. อินทริยวิภังค์ แจกอินทรีย์
ก. อุทเทส หรือบทตั้ง
ตา เป็นอินทรีย์คือตา อินทรีย์คือตา เป็นตา ; หู เป็นอินทรีย์คือหู อินทรีย์คือหู เป็นหู ; จมูก เป็นอิทรีย์คือจมูก อินทรีย์คือจมูก เป็นจมูก ฯ ล ฯ.
ข. นิทเทส หรือบทอธิบาย
ตา เป็นอินทรีย์คือตาใช่หรือไม่ ? ตา คือตาทิพย์ ตาปัญญา มิใช่อินทรีย์คือตา ส่วนอินทรีย์คือตา เป็นตาด้วย เป็นอินทรีย์คือตาด้วย . อินทรีย์คือตา เป็นตาใช่หรือไม่ ? ใช่ . หู เป็นอินทรีย์คือหูใช่หรือไม่ ? หูที่เป็นหูทิพย์ ที่เป็น ตัณหาโสตะ ( กระแสคือตัณหา ๒ ) ไม่ใช่อินทรีย์คือหู ส่วนอินทรีย์คือหู เป็นหูด้วยเป็นอินทรีย์คือหูด้วย . อินทรีย์คือหู เป็นหูใช่หรือไม่ ? ใช่ จมูก เป็นอินทรีย์คือจมูกใช่หรือไม่ ? ใช่ . อินทรีย์คือจมูก เป็นจมูกใช่หรือไม่ ? ใช่ ฯ ล ฯ
๒. ปวัตติวาร วาระว่าด้วยความเป็นไป
อินทรีย์คือ ตา เกิดขึ้นแก่ผู้ใด อินทรีย์คือ หู ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? ผู้กำลังเกิดเป็นสัตว์ที่มีตา แต่ไม่มีหู อินทรีย์คือตาย่อมเกิดขึ้น แต่อินทรีย์คือหูย่อมไม่เกิดขึ้น. ผู้กำลังเกิดเป็นสัตว์ที่มีทั้งตาทั้งหูทั้งอินทรีย์คือตาอิทรีย์คือหูย่อมเกิดขึ้น . อนึ่ง อินทรีย์ หู เกิดขึ้นแก่ผู้ใด อินทรีย์คือ ตา ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? ผู้กำลังเกิดเป็นสัตว์ที่มีทั้งหู แต่ไม่มีตา อินทรีย์คือหูย่อมเกิดขึ้น แต่อินทรีย์คือตาย่อมไม่เกิดขึ้น. ผู้กำลังเกิดเป็นสัตว์ที่มีทั้งหูทั้งตา ทั้งอินทรีย์คือหูทั้งอินทรีย์คือตาย่อมเกิดขึ้น ฯ ล ฯ
๓. ปริญญาวาร วาระว่าด้วยการกำหนดรู้
ผู้ใดกำหนดรู้อินทรีย์คือ ตา ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้อินทรีย์คือ หู ใช่หรือไม่ ? ใช่ อนึ่ง ผู้ใดกำหนดรู้อินทรีย์คือ หู ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้อินทรีย์คือ ตา ใช่หรือไม่ ? ใช่ .
ผู้ใดกำหนดรู้อินทรีย์คือ ตา ผู้นั้นย่อมละได้ซึ่งอินทรีย์คือ โทมนัส ( ความเสียใจ ) ใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ . อนึ่ง ผู้ใดละได้ซึ่งอินทรีย์คือ โทมนัส ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้อินทรีย์คือ ตา ใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ ฯ ล ฯ
จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๙
________________________________________
'๑' . พึงสังเกตว่า คำว่า บุคคล กับคำว่า ธรรม ในวาระทั้งสองนี้ต่างกันอย่างไร
'๒' . ตรงนี้เป็นการเล่นคำ เพราะโสตะ แปลว่า หู ก็ได้ แปลว่า กระแส ก็ได้
เล่มที่ ๔๐ ชื่อยมก ภาคที่ ๑
เป็นอภิธัมมปิฎก ( เล่ม ๗ )
คำว่า ปัฏฐาน เป็นชื่อของคัมภีร์ที่ ๗ แห่งอภิธัมมปิฎก โปรดย้อนไปดูคำอธิบายอีกครั้งหนึ่ง ( ในข้อ ๗ แห่งอภิธัมมปิฎก )
คัมภีร์ปัฏฐานที่พิมพ์ในฉบับไทยมี ๖ ตั้งแต่เล่มที่ ๔๐ ถึงเล่มที่ ๔๕ คือ เล่มที่ ๔๐ ว่าด้วยอนุโลมติกปัฏฐาน ได้แก่ปัจจัยอันเกี่ยวกับธรรม ๓ อย่าง คือ กุศลธรรม ๓ อย่าง , เวทนา ๓ อย่าง , วิบาก ๓ อย่าง , อุปาทินนะ ๓ อย่าง , สังกิลิฏฐะ ๓ อย่าง ( คือพูดถึงปัฏฐานแห่งธรรมใน คัมภีร์ธัมมสังคณี ( ดูข้อ(๑) ธรรมที่เป็นกุศล ถึง (๕) ธรรมที่เศร้าหมอง )
เล่มที่ ๔๑ เป็นตอนที่ ๒ วาระว่าด้วยอนุโมติกปัฏฐาน ต่อมาจากเล่มที่ ๔๐ คืออธิบายถึงปัจจัยแห่งหัวข้อธรรม ๓ อย่างในคัมภีร์ธัมมสังคณี ตั้งแต่ข้อ ๖ ถึงข้อ ๒๒ . ( ดูข้อ(๖) ธรรมที่มีวิตก ถึง (๒๒) ธรรมที่เห็นได้และถูกต้องได้ )
เล่มที่ ๔๒ เป็นตอนที่ ๓ วาระว่าด้วยอนุโมติกปัฏฐานตอนต้น อธิบายถึงปัจจัยแห่งหัวข้อธรรม ๒ อย่างในคัมภีร์ธัมมสังคณี ตั้งแต่แม่บทที่ ๒ เหตุโคจฉกะ ถึงแม่บทที่ ๑๐ ปรามาสโคสฉกะ. ( ดูข้อ ๒. แม่บท ถึง ๑๐. แม่บท )
เล่มที่ ๔๓ เป็นตอนที่ ๔ วาระว่าด้วยอนุโมติกปัฏฐานตอนปลาย อธิบายถึงปัจจัยแห่งหัวข้อธรรม ๒ อย่างในคัมภีร์ธัมมสังคณี ตั้งแต่แม่บทที่ ๑๑ มหันตรทุกะ ถึงแม่บทที่ ๑๔ ปิฏฐิทุกะ ( ดูข้อ ๑๑. แม่บท ถึง ๑๔. แม่บท )
เล่มที่ ๔๔ เป็นตอนที่ ๕ วาระว่าด้วยธรรมหมวด ๒ หมวด ๓ ผสมกัน , ธรรมหมวด ๓ หมวด ๒ ผสมกัน , ธรรมหมวด ๓ หมวด ๓ ผสมกัน , ธรรมหมวด ๒ หมวด ๒ ผสมกัน แต่ก็คงใช้ข้อธรรมในคัมภีร์ธัมมสังคณีเป็นบทตั้งเช่นเดิม.
เล่มที่ ๔๕ เป็นตอนที่ ๖ วาระว่าด้วยหัวข้อสำคัญ ๓ ประการ คือ ๑.ปัจจนียปัฏฐาน ว่าด้วยธรรมที่เป็นปัจจัยโดยปฏิเสธข้อธรรมในคัมภีร์ธัมมสังคณี คือนำข้อธรรมในคัมภีร์ธัมมสังคณีมาตั้งแล้วปฏิเสธว่า อาศัยธรรมที่มิใช่ข้อนั้น ๆ ธรรมที่มิใช่ข้อนั้น ๆ ก็เกิดขึ้น ๒. อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน ว่าด้วยธรรมที่เป็นปัจจัย โดยอาศัยข้อธรรมในคัมภีร์ธัมมสังคณี แต่ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นธรรมมิใช่ข้อธรรมในคัมภีร์ธัมมสังคณี เช่น อาศัยธรรมเกิดธรรมที่มิใช่กุศล ๓. ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน ว่าด้วยธรรมที่เป็นปัจจัย โดยอาศัยธรรมที่มิใช่ข้อธรรมในคัมภีร์ธัมมสังคณี แต่เกิดธรรมในคัมภีร์ธัมมสังคณี เช่น อาศัยธรรมอันมิใช่กุศล เกิดอกุศลธรรม , อาศัยธรรมอันมิใช่กุศล เกิดอัพยากตธรรม. ข้อสังเกตง่าย ๆ คือ ปัจจนียปัฏฐาน ปฏิเสธทั้งสองฝ่ายที่ถูกอาศัย ทั้งฝ่ายที่เกิดขึ้น , อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน ปฏิเสธเฉพาะธรรมที่เกิด , ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน ปฏิเสธเฉพาะธรรมที่ถูกอาศัย.
เมื่อพิจารณาดูโดยสังเขปเช่นนี้แล้ว ก็พอเข้าใจได้ว่า คัมภีร์ปัฏฐานแสดงถึงปัจจัย ๒๔ ชนิด ตามเนื้อหาว่าเป็นปัจจัยในลักษณะไหน ครั้นแล้วจึงนำข้อธรรมหมวด ๓ หมวด ๒ ในคัมภีร์ธัมมสังคณีมาเป็นบทตั้ง เอาปัจจัย ๒๔ มากล่าวถึงว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร หลายแง่หลายมุม ถ้าจะเทียบด้วยการทอผ้า ข้อธรรมในคัมภีร์ธัมมสังคณีเท่ากับเป็นเส้นด้ายยืน ส่วนปัจจัย ๒๔ เหมือนด้ายในกระสวย ที่พุ่งไปมาระหว่างด้ายยืน ให้สำเร็จเป็นลวดลายต่าง ๆ ).
บัดนี้จะเริ่มต้นด้วยข้อธรรมในเล่ม ๔๐ ต่อไป
มากานิเขปวาร
( วาระแห่งการตั้งแม่บท )
เหตุปัจจัย ๑. ( ปัจจัย หรือเครื่องสนับสนุน ที่เป็นเหตุ )
๒. อารัมมณปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นอารมณ์ )
๓. อธิปติปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นใหญ่)
๔. อนันตรปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นของไม่มีอะไรคั่นในระหว่าง )
๕. สมนันตรปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นของกระชั้นชิด )
๖. สหชาตปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นของเกิดพร้อมกัน)
๗. อัญญมัญญปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นของอิงอาศัยกันและกัน )
๘. นิสสยปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นที่อาศัยโดยตรง )
๑๐. ปุเรชาตปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นของเกิดก่อน )
๑๑. ปัจฉาชาตปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นของเกิดทีหลัง )
๑๒. อาเสวาปัจจัย ( ปัจจัยโดยการส้องเสพ )
๑๓. กัมมปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นกรรม คือการกระทำ )
๑๔. วิปากปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นผลของกรรม)
๑๕. อาหารปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นผลอาหาร )
๑๖. อินทริยปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นอินทรีย์ )
๑๗. ฌานปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นฌาน คือสมาธิแน่วแน่ )
๑๘. มัคคปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นมรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับกิเลสและดับทุกข์ )
๑๙. สัมปยุตตปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นของประกอบกัน คือเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน )
๒๐. วิปปยุตตปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นของไม่ประกอบกัน)
๒๑. อัตถิ ( ปัจจัยที่เป็นของมีอยู่)
๒๒. นัตตถิปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นของไม่มี )
๒๓. วิตตปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นของไปปราศ คือพ้นไป หมดไป )
๒๔. อวิคตปัจจัย ( ปัจจัยที่เป็นของไม่ปราศ คือไม่พ้นไป ไม่หมดไป)
ปัจจยวิภังควาร
วาระว่าด้วยการแจก คือการอธิบายปัจัยทีละข้อ
๑.เหตุปัจจัย คือเหตุที่เป็นปัจจัยแห่งธรรมที่ประกอบกับเหตุ และแห่งรูปที่มีธรรมอันประกอบกับเหตุนั้นเป็นสมุฏฐาน โดยฐานะ เ ป็นฐานะเป็นเหตุปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นเหตุ ( เหตุเทียบด้วยรากไม้ต้นไม้จะมีผลเจริญงอกงามก็เพราะได้อาศัยรากดูดน้ำและโอชะอื่น ๆ มาหล่อเลี้ยง ).
๒.อารัมมณปัจจัย อายตนะหรืออารมณ์ คือ รูป , เสียง , กลิ่น , รส , โผฏฐัพพะ ( สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย ) , ธัมมะ ( สิ่งที่รู้ด้วยใจ ) เป็นปัจจัยแห่งวิญญาณธาตุ คือความรู้แจ้งอารมณ์ทาง ตา หู เป็นต้น และแห่งธรรมที่ประกอบกับวิญญาณธาตุนั้น ๆ โดยฐานะเป็นอารัมณปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นอารมณ์ ( อารมณ์คือสิ่งที่จิตเจตสิกยึดถือเหมือนยึดเกาะท่อนไม้ ).
๓.อธิปติปัจจัย ธรรมที่เป็นใหญ่ คือ ฉันทะ ( ความพอใจ ) วิริยะ ( ความเพียร ) จิตตะ ( ความเอาใจฝักใฝ่ ) วิมังสา ( ความพิจารณาสอบสวน ) เป็นปัจจัยแห่งธรรมที่ประกอบกับฉันทะ เป็นต้นแต่ละข้อ และแห่งรูปที่มีธรรมที่ประกอบกับฉันทะ เป็นต้น เป็นสมุฏฐาน โดยฐานะเป็นอธิปติปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นใหญ่. อนันตรปัจจัย
๔. อนันตรปัจจัย จักขุวิญญาณธาตุ และธรรมที่ประกอบกับจักขุวิญญาณธาตุนั้น เป็นปัจจัยแห่งมโนธาตุ และแห่งธรรมที่ประกอบกับมโนวิญญาณธาตุนั้น โดยฐานะเป็นอนันตรปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่ไม่มีระหว่างคั่น. โดยนัยนี้ โสตวิญญาณธาตุ จนถึง มโนวิญญาณธาตุ และธรรมที่ประกอบกับโสตวิญญาณธาตุ เป็นต้น เป็นปัจจัยแห่งมโนธาตุ และแห่งธรรมที่ประกอบกับมโนธาตุนั้น โดยฐานะเป็นปัจจัย คือเครื่องสนับสนุนที่ไม่มีระหว่างคั้น. ธรรมที่เป็นกุศลก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่เป็นกุศลหลัง ๆ โดยฐานะเป็นปัจจัย คือเครื่องสนับสนุนที่ไม่มีระหว่างคั่น . ธรรมที่เป็นกุศลก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่เป็นอัพาหฤตหลัง ๆ โดยฐานะเป็นอนันตรปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่ไม่มีระหว่างคั่น. ธรรมที่เป็นอกุศลก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่เป็นอกุศลหลัง ๆ โดยฐานะเป็นอันตรปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่ไม่มีระหว่างคั่น. ธรรมที่เป็นอกุศลก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่เป็นอัพยากฤตหลัง ๆ โดยฐานะเป็นอนันตรปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่ไม่มีระหว่างคั่น. ธรรมที่เป็นอัพยากฤตก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่เป็นอัพยากฤตหลัง ๆ โดยฐานะเป็นอนันตรปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่ไม่มีระหว่างคั่น. ธรรมที่เป็นอัพยากฤตก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่เป็นกุศลหลัง ๆ โดยฐานะเป็นอนันตรปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่ไม่มีระหว่างคั่น. ธรรมที่เป็นอัพยากฤตก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่เป็นอกุศลหลัง ๆ โดยฐานะเป็นอนันตรปัจจัยคือเป็นเครื่องสนับสนุนที่ไม่มีระหว่างคั่น.
๕. สมนันตรปัจจัย มีอธิบายอย่างเดียวกับข้อ ๔ คืออนันตรปัจจัย ต่างแต่สิ่งที่เป็นปัจจัยในข้อนี้เป็นปัจจัย โดยฐานะเป็นสมนันตรปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนอย่างกระชั้นชิด. ( มติของอาจารย์ในชั้นหลังมีอยู่ต่าง ๆ กัน บางท่านว่า อนันตรปัจจัย ( ปัจจัยโดยความเป็นของไม่มีอะไรคั้นในระหว่าง ) กับ สมนันตรปัจจัย ( ปัจจัยโดยความเป็ของกระชั้นชิด ) ต่างมีพยัญชนะ แต่เนื้อความเป็นอันเดียวกัน . บางอาจารย์กล่าวว่าต่างกัน คือ อนันตรปัจจัย เป็นของไม่มีอรรถะ คือเนื้อความอย่างอื่นคั่น . ส่วน สมนันตรปัจจัย เป็นของไม่กาละคั่น - ดู อภิธัมมัตถภาวินี หน้า ๒๔๑ ).
๖. สหชาตปัจจัย ธรรม ๔ อย่างที่ไม่มีรูป ( คือรูป เวทนา , สังขาร , และ วิญญาณ ) เป็นปัจจัยของกันและกัน โดยฐานะเป็นสหชาตปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เกิดพร้อมกัน . มหาภูตรูป ๔ ( ดิน , น้ำ , ไฟ , ลม ) เป็นปัจจัยของกันและกัน โดยฐานะเป็นสหชาตปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เกิดพร้อมกัน . ในขณะที่ก้าวลง ( สู่ครรภ์มารดา คือขณะปฏิสนธิ ) นามและรูปเป็นปัจจัยของกันแลกัน โดยฐานะเป็นสหชาตปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เกิดพร้อมกัน. ธรรมที่เป็น จิต และ เจสิก เป็นปัจจัยแห่งรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน โดยฐานะเป็นสหชาตปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เกิดพร้อมกัน. มหาภูตรูป ( รูปใหญ่คือ ดิน , น้ำ , ไฟ , ลม ) เป็นปัจจัยแห่ง อุปาทารูป ( รูปอาศัย คือรูปที่ปรากฏเพราะอาศัยมหาภูตรูป เช่น ความเป็นหญิง ความเป็นชาย ) โดยฐานะเป็นสหชาตปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เกิดพร้อมกัน. ธรรมที่มีรูปเป็นปัจจัยของธรรมที่ไม่มีรูปในกาลบางครั้ง โดยฐานะเป็นสหชาตปัจจัย คือมิใช่เป็นเครื่องสนับสนุนที่เกิดพร้อมกัน. แต่ในกาลบางครั้งก็เป็นปัจจัย มิใช่โดยฐานะเป็นสหชาตปัจจัย คือมิใช่เป็นเครื่องสนับสนุนที่เกิดพร้อมกัน.
๗. อัญญมัญญปัจจัย ขันธ์ ๔ ที่ไม่มีรูป ( ได้แก่ เวทนา , สัญญา , สังขาร , และ วิญญาณ ) เป็นปัจจัย โดยฐานะเป็นอัญญมัญญปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่อิงอาศัยกันและกัน . มหาภูตรูป ๔ ( ดิน , น้ำ , ไฟ , ลม ) เป็นปัจจัย โดยฐานะเป็นอัญญมัญญปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่อิงอาศัยกันและกัน ในขณะก้าวลง ( ขณะปฏิสนธิ ) นามและรูปเป็นปัจจัย โดยฐานะเป็นอัญญมัญญปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่อิงอาศัยกันและกัน .
๘. นิสสยปัจจัย ขันธ์ ๔ ที่ไม่มีรูป ( ได้แก่ เวทนา , สัญญา , สังขาร , และ วิญญาณ ) เป็นปัจจัยของกันและกัน โดยฐานะเป็นนิสสยปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนเป็นที่อาศัย . มหาภูตรูป ๔ ( ดิน , น้ำ , ไฟ , ลม ) เป็นปัจจัยของกันและกัน โดยฐานะเป็นนิสสยปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นที่อาศัย. ในขณะที่ก้าวลง ( ขณะปฏิสนธิ ) นามและรูปเป็นปัจจัยของกันและกัน โดยฐานะเป็นนิสสยปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นที่อาศัย . ธรรมคือจิตและเจตสิกเป็นปัจจัยของรูปที่มีจิตเป็น สมุฏฐาน โดยฐานะเป็นนิสสยปัจจัย คือเครื่องสนับสนุนที่เป็นที่อาศัย อายตนะ คือ ตา , หู , ลิ้น , กาย เป็นปัจจัยแห่ง ธาตุ คือ ความรู้แจ้ง ( วิญญาณธาตุ ) ทางตา , หู , ลิ้น , กาย และธรรมที่ประกอบวิญญาณธาตุชนิดนั้น ๆ. มโนธาตุ ( ธาตุคือใจ ) มโนสิญญาณธาตุ ( ธาตุคือความรู้แจ้งทางใจ ) อาศัยรูปใดเป็นไป รูปนั้นเป็นปัจจัยแห่งมโนธาตุ และมโนวิญญาณธาตุและแห่งธรรมที่ประกอบกับมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุนั้น โดยฐานะเป็นนิสสยปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นที่อาศัย.
๙. อุปนิสสยปัจจัย ธรรมที่เป็นกุศลก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่เป็นกุศลหลัง ๆ โดยฐานะเป็นอุปนิสสยปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นที่อาศัยโดยสืบต่อกันมา. ต่อจากนี้มีข้อความคล้ายกับข้อ ๔ ต่างแต่เป็นปัจจัย โดยฐานะเป็นอุปนิสสยปัจจัย . แม้บุคคลก็เป็นปัจจัย โดยฐานะเป็นอุปนิสสยปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นที่อาศัยสืบต่อกันมา . แม้เสนาสนะก็เป็นปัจจัย โดยฐานะเป็นอุปนิสสยปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นที่อาศัยสืบต่อกันมา . คำว่า นิสสยปัจจัย กับ อุปนิสสยปัจจัย มีคำใกล้กัน นิสสย แปลว่า เป็นที่อาศัย อุปนิสสยะ แปลว่า ใกล้จะเป็นที่อาศัย แต่แปลหักตามเนื้อหาว่า เป็นที่อาศัยสืบต่อกันมา คืออาศัยพอเป็นเค้า เป็นเชื้อ มีความหนักแน่นน้อยกว่า นิสสยะ ).
๑๐. ปเรชาตปัจจัย อานตนะคือ ตา , หู , ลิ้น , กาย เป็นปัจจัยแห่งวิญญาณธาตุทางตา , หู , ลิ้น , กาย ตามประภทของตน และแห่งธรรมที่ประกอบด้วยวิญญาณธาตุนั้น ๆ โดยฐานะเป็นปุเรชาตปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เกิดก่อน . อายตนะคือ รูป , เสียง , กลิ่น , รส , โผฏฐัพพะ เป็นปัจจัยแห่งวิญญาณธาตุนั้น โดยฐานะเป็นปุเรชาตปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เกิดก่อน. อายตนะคือ รูป , เสียง , กลิ่น , รส , โผฏฐัพพะ เป็นปัจจัยแห่งมโนธาตุ และธรรมะที่ประกอบด้วยมโนธาตุ โดยฐานะเป็นปุเรชาตปัจจัยคือเครื่องสนับสนุนเกิดก่อน. มโนธรรมและมโนวิญญาณธาตุอาศัยรูปใดเป็นไป รูปนั้นเป็นปัจจัยแห่งมโนธาตุและแห่งธรรมที่ประกอบด้วยมโนธาตุ โดยฐานะเป็นปุเรชาตปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เกิดก่อน. รูปนั้นเป็นปัจจัยแห่งมโนวิญญาณธาตุในกาลบางครั้ง โดยฐานะเป็นปุเรชาตปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เกิดก่อนในกาลบางครั้งก็เป็นปัจจัย โดยมิใช่ฐานะเป็นปุเรชาตปัจจัย คือมิใช่เป็นเครื่องสนับสนุนที่เกิดก่อน.
๑๑.ปัจฉาชาตปัจจัย ธรรมที่เป็นจิตและเจตสิก ย่อมเป็นปัจจัยแห่งกายนี้ซึ่งเกิดก่อน โดยฐานะเป็นปัจฉาชาตปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เกิดภายหลัง.
๑๒. อาเสวนปัจจัย ธรรมที่เป็นกุศลก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่เป็นกุศลหลัง ๆ โดยฐานะเป็นอาเสวนปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนโดยการส้องเสพ. ธรรมที่เป็นอกุศลก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่เป็นอกุศลหลัง ๆ โดยฐานะเป็นอาเสวนปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนโดยการส้องเสพ . ธรรมที่เป็นอัพยากฤตฝ่ายกิริยาก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่เป็นอัพยากฤตฝ่ายกิริยาหลัง ๆ โดยฐานะเป็นอาเสวนปัจจัย เป็นเครืองสนับสนุนโดยการส้องเสพ. ( ธรรมประเภทเดียวกันเมื่อส้องเสพหรือประพฤติบ่อย ๆ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดธรรมประเภทเดียวกันนั้นต่อไปอีก ).
๑๓. กัมมปัจจัย กรรมที่เป็นกุศลและอกุศลย่อมเป็นปัจจัยแห่งขันธ์ที่เป็นวิบาก และแห่ง กฏัตตารูป ( รูปที่เกิดเพราะทำกรรมไว้ เรียกว่า กัมมชรูป ก็ได้ ) โดยฐานะเป็นกัมมปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นกรรมคือการกระทำ. กรรมที่เป็นกุศลและอกุศลนั้น ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่ประกอบด้วยเจตนา และแห่งรูปที่มีธรรมอันประกอบด้วยเจตนานั้นเป็นสมุฏฐาน โดยฐานะเป็นกัมมปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นกรรมคือการกระทำ.
๑๔. วิปากปัจจัย ขันธ์ ๔ ที่ไม่มีรูปซึ่งเป็นผลของกรรมย่อมเป็นปัจจัยของกันและกัน โดยฐานะเป็นวิปากปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นผลของกรรม.
๑๕. อาหารปัจจัย อาหารเป็นคำ ๆ ( อาหารที่กลืนกิน ) เป็นปัจจัยของกายนี้ โดยฐานะเป็นอาหารปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นอาหาร อาหารที่ไม่มีรูป เป็นปัจจัยแห่งธรรมที่ประกอบกัน ( สัมปยุตตธรรม ) ๑ . และแห่งรูปที่มีสัมปยุตตธรรมนั้นเป็นสมุฏฐาน โดยฐานะเป็นอาหารปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นอาหาร.
๑๖. อินทริยปัจจัย อินทรีย์คือ ตา , หู , ลิ้น , กาย เป็นปัจจัยแห่ง วิญญาณธาตุ ทางตา , หู , จมูก , ลิ้น , กาย และธรรมที่สัมปยุตด้วยวิญญาณธาตุชนิดนั้น ๆ โดยฐานะเป็นอินทรีย์ปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นอินทรีย์ ( คือธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ). อินทรีย์คือรูปชีวิต เป็นปัจจัยแห่ง กฏัตตารูป รูปซึ่งเกิดแต่กรรม ) โดยฐานะเป็นอินทรีย์ปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นอินทรีย์. อินทรีย์ที่ไม่มีรูป เป็นปัจจัยแห่งสัมปยุตตธรรม และรูปที่มีสัมปยุตตธรรมนั้นเป็นสมุฏฐาน โดยฐานะเป็นอินทริยปัจจัยคือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นอินทีรย์.
๑๗. ฌาณปัจจัย องค์แห่งฌานย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่สัมปยุต ( ประกอบ ) ด้วยฌาน และรูปที่มีธรรมที่สัมปยุตด้วยฌานนั้นเป็นสมุฏฐาน โดยฐานะเป็นฌานปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นฌาน.
๑๘. มัคคปัจจัย องค์แห่งมรรคย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่สัมปยุตด้วยมรรค และแห่งรูปที่มีธรรมอันสัมปยุตด้วยมรรคนั้นเป็นสมุฏฐาน โดยฐานะเป็นมัคคปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นมรรค.
๑๙. สัมปยุตตปัจจัย ขันธ์ ๔ ที่ไม่มีรูป ( ได้แก่ เวทนา , สัญญา , สังขาร, และ วิญญาณ ) เป็นปัจจัยของกันและกัน โดยฐานะเป็นสัมปยุตตปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นของประกอบกัน ( คือเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน ).
๒๐. วิปปยุตตปัจจัย ธรรมที่เป็นรูปย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่ไม่มีรูป. ธรรมที่ไม่มีรูปย่อมย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่มีรูป โดยฐานะเป็นวิปปยุตตปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่ไม่ประกอบกัน ( ไม่เกิดพร้อมกันไม่ดับพร้อมกัน ).
๒๑. อัตถิปัจจัย ขันธ์ ๔ ที่ไม่มีรูป เป็นปัจจัยของกันและกัน. มหาภูตรูป ๔ ( ดิน , น้ำ , ไฟ , ลม ) เป็นปัจจัยของกันและกัน , ธรรมที่เป็น จิต และ เจตสิก เป็นปัจจัยแห่งรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน , อายตนะคือตา , หู , จมูก , ลิ้น , กาย เป็นปัจจัยแห่ง จักขุวิญญาณธาตุ เป็นต้น และแห่งธรรมที่สัมปยุตด้วย จักขุวิญญาณธาตุ เป็นต้นนั้น ๆ , อายตนะคือรูป , เสียง , กลิ่น , รส , โผฏฐัพพะ เป็นปัจจัยแห่ง จักขุวิญญาณธาตุ เป็นต้น และแห่งธรรมที่สัมปยุตด้วย จักขุวิญญาณธาตุ นั้น ๆ, โดยความเป็นอัตถิปัจจัยคือความเป็นเครื่องสนับสนุนที่มีอยู่. มโนธาตุ , และ มโนวิญญาณธาตุ อาศัยรูปใดเป็นไป รูปนั้นย่อมเป็นปัจจัยแห่ง มโนธาตุ แห่ง มโนวิญญาณธาตุ และแห่งธรรมที่สัมปยุตด้วย มโนธาตุ , และ มโนวิญญาณธาตุ นั้น โดยฐานะเป็น อัตถิปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่มีอยู่.
๒๒. นัตถิปัจจัย ธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกที่ดับไปในขณะกระชั้นชิด ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า โดยฐานะเป็น นัตถิปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่ไม่มี
๒๓. วิตตปัจจัย ธรรมที่เป็น จิต และ เจตสิก ที่ไปปราศ คือพ้นไป หมดไปในขณะกระชั้นชิด ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า โดยฐานะเป็น วิตตปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นไปปราศ คือพ้นไป หมดไป
๒๔. อวิตตปัจจัย มีคำอธิบายเหมือน อัตตถิปัจจัย.
(หมายเหตุ: ปัจจัยข้อที่ ๒ – ๓- ๔- ๕ มีข้อความตอนท้ายพ้องกันมิได้กล่าวไว้ ขอถือโอกาสนำมากล่าวรวมไว้ ในหมายเหตุนี้ คือกล่าวถึงธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้น เพราะปรารภธรรมใด ๆ หรือเกี่ยวเนื่องกับธรรมใด ๆ ธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกนั้น ๆ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมนั้น ๆ โดยฐานะเป็นอารัมมณปัจจัยบ้าง , อธิปติปัจจัยบ้าง , อนันตรปัจจัยบ้าง , สมนะนตรปัจจัยบ้าง ).
________________________________________
'๑' . สัมปยุจจธรรม คือธรรมที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์ และมีวัตถุอันเดียวกัน
อนุโลมติกปัฏฐาน
( ปัจจัยแห่งธรรมะหมวด ๒ ๓ กล่าวไปตามลำดับ
กุสลติกะ หมวด ๓ แห่งกุศล
๑. ปฏิจจาร วาระว่าด้วยการอาศัย
ก. อุทเทส บทตั้ง เพราะอาศัยกุศลธรรม กุศลธรรมพึงเกิดขึ้น เพราะเครื่องสนับสนุนที่เป็นเหตุก็มี. กุศลธรรม อัพยากตธรรมพึงเกิดขึ้น เพราะเครื่องสนับสนุนที่เป็นเหตุก็มี เพราะอาศัยกุศลธรรม ทั้งกุศลธรรมและอัพยากตธรรมพึงเกิดขึ้น เพราะเครื่องสนับสนุนที่เป็นเหตุก็มี ฯ ล ฯ
ข. นิทเทส บทอธิบาย เพราะอาศัยกุศลธรรม กุศลธรรมย่อมเกิดขึ้น เพราะเครื่องเกิดขึ้น เพราะเครื่องสนับสนุนที่เป็นเหตุ คือเพราะอาศัยขันธ์ ๑ ที่เป็นกุศล ขันธ์ ๓ ย่อมเกิดขึ้น ( คือในขันธ์หรือส่วนที่เป็นนาม อันได้แก่ เวทนา , สัญญา , สังขาร , และ วิญญาณ ถ้าอาศัยขันธ์ใดขันธ์หนึ่งใน ๔ ขันธ์นี้ อีก ๓ ข้อที่เหลือก็เกิดขึ้น ). เพราะอาศัยขันธ์ ๓ ขันธ์ ๑ ย่อมเกิดขึ้น ( โดยทำนองเดียวกัน ถ้าอาศัยขันธ์ ๓ ข้อใด ๆ ก็ตาม ขันธ์อีกข้อหนึ่งใน ๔ ข้อที่ไม่พ้องกับขันธ์ ๓ ย่อมเกิดขึ้น ). เพราะอาศัยขันธ์ ๒ ขันธ์ ๒ ย่อมเกิดขึ้น ( อาศัยขันธ์ ๒ ข้อ ใน ๔ ข้อ อีก ๒ ข้อที่ไม่พ้องกันย่อมเกิดขึ้น ).
เพราะอาศัยกุศลธรรม อัพยากติธรรมย่อมเกิดขึ้น เพราะเครื่องสนับสนุนที่เป็นเหตุ คือเพราะอาศัยขันธ์ทั้งหลายที่เป็นกุศล รูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานย่อมเกิดขึ้น .
เพราะอาศัยกุศลธรรม ทั้งกุศลธรรมและอัพยากติธรรมย่อมเกิดขึ้น เพราะเครื่องสนับสนุนที่เป็นเหตุ คือเพราะอาศัยขันธ์ ๑ ที่เป็นกุศล ขันธ์ ๓ และรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานย่อมเกิดขึ้น. เพราะอาศัยขันธ์ ๓ คือ ขันธ์ ๑ และรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานย่อมเกิดขึ้น . เพราะอาศัยขันธ์ ๒ ขันธ์ ๒ และรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานย่อมเกิดขึ้น.
(หมายเหตุ: ทั้งบทตั้งและบทอธิบายได้นำมาแสดงพอเป็นตัวอย่าง . ในอุทเทสหรือบทตั้งนั้น ถอดไว้อย่างข้างบนนี้ก็ได้ อย่างเป็นคำถามก็ได้ เช่น ถามว่า เพราะอาศัย ....ก็มี ใช่หรือไม่ ? ครั้นถึงนิทเทสหรือบทอธิบาน ก็เท่ากับเป็นคำตอบไปในตัว แต่จะสังเกตุว่า ได้มีการไม่ตอบอยู่ข้อหนึ่ง คือข้อที่ว่า อาศัยกุศลธรรม เกิดอกุศลธณรมก็มีนั้น คืออย่างไร ? เมื่อไม่มีคำตอบ จึงทำให้บางท่านสันนิษฐานว่า สภาพเช่นนั้นไม่มี. แต่ก็น่าจะไม่มี โดยฐานะเป็นเหตุปัจจัย คงอยู่ในฐานะเป็นปัจจัยอย่างอื่น เช่น อุปนิสสยปัจจัย เพราะในอุปนิสสยปัจจัยนั้น มีคำอธิบายไว้บางตอนว่า “ กุศลธรรมก่อน ๆ เป็นปัจจัยแห่งอกุศลธรรมหลัง ๆ บางชนิด โดยฐานะเป็นอุปนิสสยปัจจัย ” ซึ่งอรรถกถายกตัวอย่างว่า อาศัยความดี เช่น ทาน , ศีล , สุตะ, ปัญญา แล้วเกิด มานะ ความถือตัว และ ทิฏฐิ ความเห็นผิด หรือเกิด ราคะ , โทสะ, โมหะ เป็นต้นได้. บางตอนมีคำอธิบายอุปนิสสยปัจจัยไว้ว่า “ อกุศลธรรมก่อน ๆ เป็นปัจจัยแห่งกุศลธรรมหลัง ๆ บางชนิด โดยฐานะเป็นอุปนิสสยปัจจัย ” ซึ่งอรรถกถายกตัวอย่างว่า อาศัย ราคะ ก็มีการ ให้ทาน รักษาศีล รักษาอุโบสถ ทำฌาน ทำวิปัสสนา ทำมรรค ทำอภิญญา ทำสมาบัติ ให้เกิดขึ้น. ตกลงว่า ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ และ ปัตถนา ( ความปรารถนา ) เป็นปัจจัย โดยฐานะอุปนิสสยปัจจัยแห่งศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาก็มี หรือบางคนฆ่าสัตว์แล้วพยายามให้ทานแก้ตัวก็มี . แต่คำอธิบายและตัวอย่างดังกล่าวมานี้ พบเฉพาะในอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น ).
๒. สหชาตวาร วาระว่าด้วยธรรมที่เกิดร่วมกัน
เพราะอาศัยกุศลธรรม กุศลธรรมที่เกิดร่วมกันย่อมเกิดขึ้น เพราะเครื่องสนับสนุนที่เป็นเหตุ. ( คำอธิบายเรื่องอาศัยขันธ์ ๑ เกิดขึ้น ๓ เป็นต้น เหมือนปฏิจจวารข้างต้น ).
๓. ปัจจยวาร วาระว่าด้วยปัจจัย คือเครื่องสนับสนุน
เพราะกุศลธรรมเป็นปัจจัย กุศลธรรมย่อมเกิดขึ้น เพราะเครื่องสนับสนุนที่เป็นเหตุ. คำอธิบายเรื่องอาศัยขันธ์ ๑ เกิดขันธ์ ๓ เป็นต้น เหมือนปฏิจจวารข้างต้น ).
๔. นิสสยวาร วาระว่าด้วยธรรมเป็นที่อาศัย
เพราะอาศัยกุศลธรรม กุศลธรรมย่อมเกิดขึ้น เพราะเครื่องสนับสนุนที่เป็นเหตุ . ( คำอธิบายเหมือนข้างต้น).
๕. สังสัฏฐวาร วาระว่าด้วยธรรมที่ระคนกัน
เพราะอาศัยกุศลธรรม กุศลธรรมที่ระคนกันย่อมเกิดขึ้น เพราะเครื่องสนับสนุนที่เป็นเหตุ ( คำอธิบายเหมือนข้างต้น ).
๖. สัมปยุตตวาร วาระว่าด้วยธรรมที่ประกอบกัน
เพราะอาศัยกุศลธรรม กุศลธรรมที่ประกอบกัน ( เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์และวัตถุอันเดียวกัน ) ย่อมเกิดขึ้น เพราะเครื่องสนับสนุนที่เป็นเหตุ . ( คำอธิบายเหมือนข้างต้น ).
๗. ปัญหาวาร วาระว่าด้วยคำถาม
หัวข้อวาระนี้น่าจะใช้คำว่า วาระว่าด้วยการตอบปัญหา กล่าวคือไม่มีคำถามปรากฏ มีแต่คำตอบอรรถกถาอธิบาย คำตอบบ่งถึงคำถามอยู่แล้ว ).
กุศลธรรมเป็นปัจจัยแห่งกุศลธรรม โดยฐานะเหตุปัจจัย คือเครื่องสนับสนุนที่เป็นเหตุ คือเหตุที่เป็นกุศล , เป็นปัจจัยแห่งขันธ์ที่ประกอบกัน ( สัมปยุตตขันธ์ ขันธ์ที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน ) โดยฐานะเป็นเหตุปัจจัย .
กุศลธรรมเป็นปัจจัยแห่งอัพยากตธรรม โดยฐานะเป็นเหตุปัจจัย คือเหตุที่เป็นกุศล คือเหตุที่เป็นกุศล เป็นปัจจัยแห่งรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน โดยฐานะเป็นเหตุปัจจัย.
กุศลธรรมเป็นปัจจัยที้งของกุศลธรรมและอัพยากตธรรม โดยฐานะเป็นเหตุปัจจัย คือเหตุที่เป็นกุศล เป็นปัจจัยแห่งสัมปยุตตขันธ์ และแห่งรูปอันมีจิตเป็นสมุฏฐานในฐานะเป็นเหตุปัจจัย ฯ ล ฯ
เวทนาติกะ หมวด ๓ แห่งเวทนา ๒
๑. ปฏิจจาร วาระว่าด้วยการอาศัย
อาศัยธรรมที่สัมปยุตตด้วยสุขเวทนา เกิดธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา เพราะเหตุปัจจัย คือเพราะเครื่องสนับสนุนที่เป็นเหตุ. อาศัยขันธ์ ๑ ที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา เกิดขันธ์ ๒ , อาศัยขันธ์ ๒ , เกิดขันธ์ ๑ , ในขณะแห่งปฏิสนธิอาศัยขันธ์ ๑ ที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา เกิดขันธ์ ๒ , อาศัยขันธ์ ๒ เกิดขันธ์ ๑ .
( ข้อนี้อรรถกถามิได้อธิบายไว้ ผู้เขียนขออธิบายตามความเห็นส่วนตัว คือในเรื่องนี้ เมื่อกันเวทนาออกมา ในฐานะที่ถูกสัมปยุต จึงเหลือขันธ์ ๓ อยู่เพียง ๓ คือ สัญญา , สังขาร , และ วิญญาณ. คำว่าอาศัยขันธ์ ๑ ที่สัมปยุตด้วยเวทนา เช่น อาศัยวิญญาณขันธ์ เกิดขันธ์ ๒ คือเกิดสัญญาขันธ์และสังขารขันธ์. คำว่า อาศัยขันธ์ ๒ เกิดขึ้น ๑ เช่น อาศัยสัญญาขันธ์และสังขารขันธ์ เกิดวิญญาณขันธ์ ).
๒. สัมปยุตตวาร วาระว่าด้วยธรรมที่ประกอบกัน
ความจริงแบ่งวาระได้เช่นเดียวกับ กุสสติกะ คือ ๗ วาระ แต่ลีลาในการอธิบายคล้าย ๆ กัน ท่านจึงรวบรัดด้วยเครื่องหมายเปยยาล หรือ ฯ เป ฯ อันเท่ากับ ฯลฯ แล้วกล่าวถึงสัมปยุตตวารอย่างย่อ ๆ ).
อาศัยธรรมที่สัมปยุต ( เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน ) ด้วยสุขเวทนา เกิดสัมปยุตตธรรม คือสัมปยุตด้วยสุขเวทนา เพราะเหตุปัจจัย คือเพราะอาศัยขันธ์ ๑ ที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา เกิดขันธ์ ๒ ที่สัมปยุต , อาศัยขันธ์ ๒ เกิดขันธ์ ๑ ที่สัมปยุต.
๓. ปัญหาวาร วาระว่าด้วยคำถาม
ธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา โดยฐานะเป็นเหตุปัจจัย คือเป็นเครื่องสนับสนุนที่เป็นเหตุ คือเหตุที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา เป็นปัจจัยแห่งสัมปยุตตขันธ์โดยฐานะเป็นเหตุปัจจัย. ในขณะแห่งปฏิสนธิ เหตุที่สัมปยุตด้วยสุขเสทนา ย่อมเป็นปัจจัยแห่งสัมปยุตตขันธ์โดยฐานะเป็นเหตุปัจจัย ฯล ฯ
วิปากติกะ หมวด ๓ แห่งวิบาก ๔
๑. ปฏิจจวาร วาระว่าด้วยการอาศัย
อาศัยธรรมที่เป็นวิบาก ธรรมที่เป็นวิบากย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยเหตุปัจจัย คือเพราะเครื่องสนับสนุนเป็นเหตุ ( ต่อจากนั้นพูดถึงเรื่องขันธ์ ๑ ขันธ์ ๓ ทำนองเดียวกับ กุสสติกะ ).
วาระอื่น ๆ เช่น สหชาตวาร , ปัจจยวาร , นิสสยวาร เป็นต้น ก็แบบเดียวกับ กุสสติกะ ที่กล่าวมาแล้ว ).
อุปาทินนติกะ หมวด ๓ แห่งธรรมที่ถูกยึดถือ ๕
๑. ปฏิจจวาร วาระว่าด้วยการอาศัย
อาศัยธรรมที่ถูกยึดถือ และเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เกิดธรรมที่ถูกยึดถือ และธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เพราะเหตุปัจจัย คือเพราะเครื่องสนับสนุนเป็นเหตุ . ( ต่อจากนั้นพูดถึงเรื่องขันธ์ ๑ ขันธ์ ๓ ทำนองเดียวกับ กุสสติกะ )
วาระอื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกับที่กล่าวแล้ว).
สังกิลิฏฐติกะ หมวด ๓ แห่งธรรมที่เศร้าหมอง ๖
๑. ปฏิจจวาร วาระว่าด้วยการอาศัย
อาศัยธรรมที่เศร้าหมอง และเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง เกิดธรรมที่เศร้าหมอง และธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง เพราะเหตุปัจจัย คือเพราะเครื่องสนับสนุนเป็นเหตุ ( ต่อจากนั้นพูดถึงเรื่องขันธ์ ๑ ขันธ์ ๓ ทำนองเดียวกับ กุสสติกะ ).
วาระอื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกับที่กล่าวแล้ว ).
จบพระไตรปิฏก เล่มที่ ๔๐
________________________________________
'๑' . คำว่า หมวด ๓ หมายถึงธรรมะ ๒๒ หมวด หมวดละ ๓ รวม ๖๖ โปรดดูที่พระอภิธรรม เล่ม ๑ หน้า ๑ ตั้งแต่ ๑. แม่บท (๑) ธรรมที่เป็นกุศลถึงข้อ ๒๒. ธรรมที่เห็นได้และถูกต้อง และต่อไปนี้จะกล่าวเฉพาะหมด ๓ แรก ที่เรียกว่า กุสสติกะ ก่อน
'๒' . หมายถึงธรรมะหมวด ๓ ลำดับที่ ๒ โปรดดูที่พระอภิธรรมเล่ม ๑ ลำดับที่ ๒ เช่นเดียวกัน
'๓' . รูปขันธ์ไม่เกี่ยว เพราะมิใช่นาม
'๔' . หมายถึงธรรมะหมวด ๓ ลำดับที่ ๓ โปรดดูที่พระอภิธรรมเล่ม ๑ ลำดับที่ ๓ เช่นเดียวกัน
'๕' . หมายถึงธรรมะหมวด ๓ ลำดับที่ ๔ โปรดดูที่พระอภิธรรมเล่ม ๑ ลำดับที่ ๔ เช่นเดียวกัน
'๖' . ดูที่พระอภิธรรมเล่ม ๑ ลำดับที่ ๕ เช่นเดียวกัน
เล่มที่ ๔๑ ชื่อปัฏฐาน ภาคที่ ๒
เป็นอภิธัมมปิฎก ( เล่ม ๘ )
( ข้อความในเล่มที่ ๔๑ นี้ ก็ทำนองเดียวกับเล่มที่ ๔๐ คืออธิบายธรรมะหมวด ๓ ซึ่งค้างมาจาก เล่มที่ ๔๐ จนจบ . ในเล่มอธิบายไว้เพียง ๕ หมวด ในเล่มที่ ๔๑ อธิบายต่ออีก ๑๗ หมวด เมื่อรวมทั้งหมด จึงเป็น ๒๒ หมวด เป็นอันจบธรรมะหมวดที่ ๓ . รวม ๒ เล่มนี้ เรียกว่า อนุโลมติกปัฏฐาน คือแสดงถึงปัจจัย ๒๔ แห่งธรรมหมวด ๓ รวม ๒๒ หมวด อันกล่าวไปโดยลำดับ . ผู้ใคร่ทราบเนื้อความว่า ธรรมหมวด ๓ ที่เหลืออีก ๑๗ หมวดที่กล่าวถึงในเล่มที่ ๔๑ นี้ มีอะไรบ้าง โปรดดูข้อความที่พระอภิธรรมเล่ม ๑ หน้า ๑ ).
จบพระไตรปิฏก เล่มที่ ๔๑
เล่มที่ ๔๒ ชื่อปัฏฐาน ภาคที่ ๓
( เป็นอภิธัมมปิฎก )
อนุโลมทุกปัฏฐาน ปัจจัยแห่งธรรมะหมวด ๒ ตามลำดับ
ตอนต้น
( พระไตรปิฎกเล่มนี้ คู่กับเล่มที่ ๔๓ กล่าวคือเล่มที่ ๔๐ กับเล่มที่ ๔๑ คู่กันในการอธิบาย ธรรมะ หมวด ๓ จบ ๒๒ หมวด แต่เล่มที่ ๔๒ กับเล่มที่ ๔๓ คู่กันในการอธิบายธรรมะ หมวด ๒ รวม ๑๔ หมวด โดย เล่มที่ ๔๒ อธิบายได้ ๑๐ หมวด เล่มที่ ๔๓ อธิบายต่ออีก ๔ หมวด อันเป็นตอนจบของธรรมะหมวด ๒. การตั้งวาระในแต่ ละหัวข้อ คงตั้งได้ ๗ วาระ เช่น ที่ผ่านมาแล้วในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔๐ ).
๑. เหตุทุกะ หมวด ๒ แห่งเหตุ๑
๑. ปฏิจจวาร วาระว่าด้วยการอาศัย
อาศัยธรรมที่เป็นเหตุ ธรรมที่เป็นเหตุย่อมเกิดขึ้น เพราะเหตุเป็นปัจจัย คืออาศัยความไม่ โลภ เกิดความไม่คิดประทุษร้าย ความไม่หลง, อาศัยความไม่คิดประทุษร้าย เกิดความไม่โลภ ความไม่หลง, อาศัยความไม่หลง เกิดความไม่โลภ ไม่คิดประทุษร้าย, อาศัยความโลภ เกิดความหลง,อาศัยความ หลง เกิดความโลภ,อาศัยความคิดประทุษร้าย เกิดความหลง, อาศัยความหลง เกิดความคิด ประทุษร้าย ฯ ล ฯ
วาระในระหว่างนี้ ตั้งแต่ ๒ ถึง ๖ เป็นเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว.
๒. ปัญหาวาร วาระว่าด้วยคำถาม
ธรรมเป็นเหตุ เป็นปัจจัยของธรรมที่เป็นเหตุ โดยฐานะเป็นปัจจัยคือเหคุ ได้แก่ความไม่โลภ เป็นปัจจัยของความไม่คิดประทุษร้าย ของความไม่หลง โดยฐานะเป็นปัจจัยคือเหตุ ฯ ล ฯ
๒. สเหตุทุกะ หมวด ๒ แห่งธรรมที่มีเหตุ
๑. ปฏิจจวาร วาระว่าด้วยการอาศัย
อาศัยธรรมที่มีเหตุ ธรรมที่มีเหตุย่อมเกิดขึ้น เพราะเหตุเป็นปัจจัย คืออาศัยขันธ์ ๑ ที่มีเหตุ เกิดขันธ์ ๓, อาศัยขันธ์ ๒ เกิดขันธ์ ๒ ฯ ล ฯ
วาระอื่น ๆ อนุโลมตามที่กล่าวมาแล้ว.
๓. เหตุสัมปยุตตทุกะ หมวด ๒ แห่งธรรมที่สัมปยุตด้วยเหตุ
๑. ปฏิจจวาร วาระว่าด้วยการอาศัย
อาศัยธรรมที่สัมปยุตด้วยเหตุ ( เกิดดับพร้อมกับเหตุ ) ธรรมที่สัมปยุตด้วยเหตุย่อมเกิดขึ้น เพราะเหตุเป็นปัจจัย ฯ ล ฯ
วาระอื่น ๆ อนุโลมตามที่กล่าวมาแล้ว.
๔. เหตุสเหตุกทุกะ หมวด ๒ แห่งเหตุและธรรมที่มีเหตุ
๑. ปฏิจจวาร วาระว่าด้วยการอาศัย
อาศัยเหตุและธรรมที่มีเหตุ เหตุและธรรมที่มีเหตุย่อมเกิดขึ้น เพราะเหตุเป็นปัจจัย คืออาศัย ความไม่โลภ เกิดความไม่คิดประทุษร้าย ความไม่หลง ฯ ล ฯ
วาระอื่น ๆ อนุโลมตามที่กล่าวมาแล้ว.
๕. เหตุเหตุสัมปยุตตทุกะ
หมวด ๒ แห่งเหตุและธรรมที่สัมปยุตด้วยเหตุ
๑. ปฏิจจวาร วาระว่าด้วยการอาศัย
อาศัยเหตุและธรรมที่สัมปยุตด้วยเหตุ เหตุและธรรมที่สัมปยุตเหตุย่อมเกิดขึ้น เพราะเหตุเป็นปัจจัย คืออาศัยความไม่โลภ เกิดความไม่คิดประทุษร้าย ความไม่หลง ฯ ล ฯ
วาระอื่น ๆ อนุโลมตามที่กล่าวมาแล้ว.
๖. น เหตุสเหตุกทุกะ หมวด ๒ แห่งธรรมที่มิใช่เหตุ แต่มีเหตุ
๑. ปฏิจจวาร วาระว่าด้วยการอาศัย
อาศัยธรรมที่มิใช่เหตุ ธรรมที่มิใช่เหตุย่อมเกิดขึ้น เพราะเหตุเป็นปัจจัย ฯ ล ฯ
วาระอื่น ๆ อนุโลมตามที่กล่าวมาแล้ว.
(หมายเหตุ : ถ้าท่านผู้อ่านย้อนไปอ่านข้อความในหน้าพระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๑ ในบท ก. แม่บทหรือบทตั้งฝ่ายอภิธรรม ) ๒. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มเหตุ ( เหตุโคจฉกะ ) แล้ว จะรู้สึกว่าพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔๒ นี้ นำกลุ่มเหตุ ซึ่งแยกออกเป็น ๖ หัวข้อนั้น มาตั้งเป็นบทยืน แล้วนำข้อความเรื่องปัจจัย มาเป็นบทสอดผสมให้กลมกลืนกัน. ต่อจากนั้นก็ได้นำกลุ่มธรรมะอื่น ๆ ที่ถัดกันไป มาเป็นบทยืนอีกจนจบชุด ต่อไปจะแสดง เฉพาะหัวข้อให้เห็น จะไม่ตั้งวาระอีก พึงทราบว่าวิธีจัดวาระเช่นเดียวกันกับที่แล้ว ๆ มา ).
รายการบทตั้ง จัดเป็นหมวด
( โปรดดูข้อความในหน้าพระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๑ ในบท ก. แม่บทหรือบทตั้งฝ่ายอภิธรรม ตั้งแต่ ข้อ ๒. ถึงข้อ ๑๐ ประกอบด้วย และเพื่อให้เห็นง่าย จะเริ่ม ย้อนกล่าวกลุ่มเหตุที่กล่าวมาแล้วด้วย จะถือว่าข้อความต่อไปนี้เป็นการช่วยขยายรายละเอียดในหน้าพระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๑ ในบท ก. แม่บทหรือบทตั้งฝ่ายอภิธรรม นั้นก็ได้๒).
ธรรมหมวด ๒
๑. กลุ่มเหตุ หรือเหตุโคจฉกะ ๖ คู่
๑. หมวด ๒ แห่งเหตุ คือธรรมที่เป็นเหตุ ( น เหตุ ).
๒. หมวด ๒ แห่งธรรมที่มีเหตุ คือธรรมที่มีเหตุ ( สเหตถกะ) คู่กับธรรม ที่ไม่มีเหตุ ( อเหตุกะ ).
๓. หมวด ๒ แห่งธรรมที่สัมปยุตด้วยเหตุ คือธรรมที่สัมปยุตด้วยเหตุ ( เหตุสัมปยุต ) คู่กับธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยเหตุ ( เหตุวิปปยุต).
๔. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นเหตุและมีเหตุ คือธรรมที่เป็นเหตุและมี เหตุ คู่กับธรรมที่มีเหตุ แต่มิใช่เหตุ.
๕. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นเหตุและสัมปยุตด้วยเหตุ คือธรรมที่เป็น เหตุและสัมปยุตด้วยเหตุ คู่กับธรรมที่สัมปยุตด้วยเหตุ แต่มิใช่เหตุ.
๖. หมวด ๒ แห่งธรรมที่มิใช่เหตุ แต่มีเหตุ คือธรรมที่มิใช่เหตุ แต่มีเหตุ คู่กับธรรมที่มิใช่เหตุ และไม่มีเหตุ.
๒. กลุ่มธรรม ๒ ข้อที่ไม่สัมพันธ์กัน คู่น้อย หรือจูฬันตรทุกะ ๗ คู่
๑. หมวด ๒ แห่งธรรมที่มีปัจจัย คือธรรมที่มีปัจจัย ( สัปปัจจยะ ) คู่กับ ธรรมที่ไม่มีปัจจัย ( อัปปัจจยะ ).
๒. หมวด ๒ แห่งธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง คือธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง ( สังขตะ) คู่กับธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ( อสังขตะ).
๓. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เห็นได้ คือธรรมที่เห็นได้ ( สนิทัสสนะ ) คู่กับ ธรรมที่เห็นไม่ได้ ( อนิทัสสนะ).
๔. หมวด ๒ แห่งธรรมที่ถูกต้อง คือธรรมที่ถูกต้องได้ ( สัปปฏิฆะ) คู่ กับธรรมที่ถูกต้องไม่ได้ ( อัปปฏิฆะ).
๕. หมวด ๒ แห่งธรรมที่มีรูป คือธรรมที่มีรูป ( รูปี ) คู่กับธรรมที่ไม่มี รูป ( อรูปี ).
๖. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นโลกิยะ คือธรรมที่เป็นโลกิยะ คู่กับธรรมที่ เป็นโลกุตตระ.
๗. หมวด ๒ แห่งธรรมที่บางคนพึงรู้ได้ คือธรรมที่บางคนพึงรู้ได้ ( เกนจิ วิญเญยยะ ) คู่กับธรรมที่บางคนไม่พึงรู้ได้ ( เกนจิ น วิญเญยยะ ).
๓. กลุ่มอาสวะ คือกิเลสที่ดองสันดาน หรืออาสวโคจฉกะ ๖ คู่
๑. หมวด ๒ แห่งอาสวะ คือธรรมที่เป็นอาสวะ คู่กับธรรมที่มิใช่อาสวะ.
๒. หมวด ๒ แห่งธรรมที่มีอาสวะ คือธรรมที่มีอาสวะ ( สาสวะ ) คู่กับ ธรรมที่ไม่มีอาสวะ ( อนาสวะ).
๓. หมวด ๒ แห่งธรรมที่สัมปยุตด้วยอาสวะ คือธรรมที่สัมปยุตด้วย อาสวะ ( อาสวสัมปบุต ) คู่กับธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยอาสวะ ( อาสววิปปยุต ).
๔. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นอาสวะ แต่ไม่มีอาสวะ คือธรรมที่เป็น อาสวะ แต่ไม่มีอาสวะ คู่กับธรรมที่มีอาสวะ แต่ไม่เป็นอาสวะ.
๕. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นอาสวะและสัมปยุตด้วยอาสวะ คือธรรม ที่เป็นอาสวะและสัมปยุตด้วยอาสวะ คู่กับธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยอาสวะ และไม่มีอาสวะ.
๖. หมวด ๒ แห่งธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยอาสวะ แต่มีอาสวะ คือธรรม ที่ไม่สัมปยุตด้วยอาสวะ แต่มีอาสวะ คู่กับธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยอาสวะ และไม่มีอาสวะ.
๔. กลุ่มสัญโญชน์ คือกิเลสที่ผูกมัด หรือสัญโญชนโคจฉกะ ๖ คู่
๑. หมวด ๒ แห่งสัญโญชน์ คือธรรมที่เป็นสัญโญชน์ คู่กับธรรมที่มิใช่ สัญโญชน์.
๒. หมวด ๒ แห่งธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ คือธรรมเป็นที่ตั้งแห่ง สัญโญชน์ ( สัญโญชนียะ ) คู่กับธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ ( อสัญโญชนียะ ).
๓. หมวด ๒ แห่งธรรมที่สัมปยุตด้วยสัญโญชน์ คือธรรมที่สัมปยุตด้วย สัญโญชน์ ( สัญโญชนสัปยุต ) คู่กับธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยสัญโญชน์ ( สัญโญชนวิปปยุต ).
๔. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นสัญโญชน์ และเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ คือธรรมที่เป็นสัญโญชน์และเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ คู่กับธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ แต่มิใช่สัญโญชน์.
๕. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นสัญโญชน์ และสัมปยุตด้วยสัญโญชน์ คือธรรมที่เป็นสัญโญชน์ และสัมปยุตด้วยสัญโญชน์ คู่กับธรรมที่สัมปยุตด้วยสัญโญชน์ แต่มิใช่สัญโญชน์.
๖. หมวด ๒ แห่งธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยสัญโญชน์ แต่เป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ คือธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยสัญโญชน์ แต่เป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ คู่กับธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยสัญโญชน์ และไม่เป็น ที่ตั้งแห่งสัญโญชน์.
๕. กลุ่มคันถะ คือกิเลสที่ร้อยรัด หรือคันถโคจฉกะ ๖ คู่
มีวิธีจัดประเภทอย่างเดียวกันกับข้อ ๔ กลุ่มสัญโญชน์ ต่างแต่เปลี่ยนคำว่า สัญโญชน์ เป็นคันถะ เท่านั้น.
๖. กลุ่มโอฆะ คือกิเลสที่ทำสัตว์ให้จมลงในวัฏฏะ คือความเวียนว่ายตายเกิด หรือ โอฆโคจฉกะ มี ๖ คู่
มีวิธีจัดประเภทอย่างเดียวกับสัญโญชน์.
๗. กลุ่มโยคะ คือกิเลสเครื่องประกอบหรือผูกสัตว์ไว้ในวัฏฏะ หรือโยคโคจฉกะ มี ๖ คู่
มีวิธีจัดประเภทอย่างเดียวกับสัญโญชน์.
๘. กลุ่มนีวรณ์ คือกิเลสอันกั้นจิต หรือนีวรณโคจฉกะ มี ๖ คู่
มีวิธีจัดประเภทอย่างเดียวกับสัญโญชน์.
๙. กลุ่มปรามาส คือกิเลสเครื่องจับต้องในทางที่ผิดความจริง มี ๕ คู่
๑. หมวด ๒ แห่งปรามาส คือธรรมที่เป็นปรามาส คู่กับธรรมที่มิใช่ ปรามาส.
๒. หมวด ๒ แห่งธรรมที่ถูกจับต้อง คือธรรมที่ถูกจับต้อง ( ปรามัฏฐะ ) คู่กับธรรมที่ไม่ถูกจับต้อง ( อปรามัฏฐะ ).
๓. หมวด ๒ แห่งธรรมที่สัมปยุตด้วยปรามาส คือธรรมที่สัมปยุตด้วย ปรามาส ( ปรามาสสัมปยุต ) คู่กับธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยปรามาส ( ปรามาสวิปปยุต ).
๔. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นปรามาสและถูกจับต้อง คือธรรมที่เป็น ปรามาสและถูกจับต้อง คู่กับธรรมที่ถูกจับต้อง แต่ไม่เป็นปรามาส.
๕. หมวด ๒ แห่งธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยปรามาส แต่ถูกจับต้อง คือ ธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยปรามาส แต่ถูกจับต้อง คู่กับธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยรามาส และไม่ถูกจับต้อง.
จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔๒
________________________________________
'๑' . โปรดดู เหตุโคจฉกะ ในหน้าพระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๑ ในบท ก. แม่บทหรือบทตั้งฝ่ายอภิธรรม ) ๒. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มเหตุ ( เหตุโคจฉกะ )
'๒' . ความจริงในที่นั้นก็มีข้อความพิศดารอยู่เหมือนกัน แต่ได้ย่อกล่าวไว้เพียงบางบท และถือโอกาสนำหัว ข้อ ที่มิได้กล่าวไว้แล้วในที่นั้นมากล่าวให้เต็มอีกครั้งหนึ่งในที่นี้
เล่มที่ ๔๓ ชื่อปัฏฐาน ภาคที่ ๔
( เป็นอภิธัมมปิฎก )
เล่มนี้ยังว่าด้วยปัจจัยแห่งธรรมะหมวด ๒ ตามลำดับ ( อนุโลมทุกปัฏฐาน ) ต่อมาจากเล่มที่ ๔๒ เป็นแต่ได้นำข้อธรรมในหมวด ๒ ตอนต่อไปมาตั้งเป็นบทยืน อธิบายให้ผสมกลมกลืนกับเรื่องปัจจัย ฉะนั้นในที่นี้จะแสดง หัวข้อต่อมาจากเล่มที่ ๔๒.
๑๐ กลุ่มธรรม ๒ ข้อที่ไม่สัมพันธ์กัน คู่ใหญ่ หรือมหันตรทุกะ ๑๔ คู่
๑. หมวด ๒ แห่งธรรมที่มีอารมณ์ คือธรรมที่มีอารมณ์ ( สารัมมณะ ) คู่กับ ธรรมที่ไม่มีอารมณ์ ( อนารัมมณะ ).
๒. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นจิต คือธรรมที่เป็นจิต คู่กับธรรมที่มิใช่จิต ( โน จิตตะ ).
๓. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นเจตสิก คือธรรมที่เป็นเจตสิก คู่กับธรรมที่ มิใช่เจตสิก.
๔. หมวด ๒ แห่งธรรมที่สัมปยุตด้วยจิต คือธรรมที่สัมปยุตด้วยจิต (จิตตสัมปยุต ) คู่กับธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยจิต ( จิตตวิปปยุต ).
๕. หมวด ๒ แห่งธรรมที่ระคนด้วยจิต คือธรรมที่ระคนด้วยจิต (จิตตสัง สัฏฐะ ) คู่กับธรรมที่ไม่ระคนด้วยจิต ( จิตตวิสังสัฏฐะ ).
๖. หมวด ๒ แห่งธรรมที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน คือธรรมที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน คู่กับธรรมที่ไม่มีจิตเป็นสมุฏฐาน ( โน จิตตสมุฏฐานะ ).
๗. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต คือธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ( จิตตสหภู ) คู่กับธรรมที่ไม่เกิดพร้อมกับจิต.
๘. หมวด ๒ แห่งธรรมที่หมุนไปตามจิต คือธรรมที่หมุนไปตามจิต ( จิตตานุปริวัตตี ) คู่กับธรรมที่ไม่หมุนไปตามจิต.
๙. หมวด ๒ แห่งธรรมที่มีธรรมอันระคนด้วยจิตเป็นสมุฏฐาน คือธรรม ที่มีธรรมอันระคนด้วยจิตเป็นสมุฏฐาน ( จิตตสังสัฏฐสมุฏฐานะ ) คู่กับธรรมที่ไม่มีธรรมอันระคนด้วยจิตเป็นสมุฏฐาน.
๑๐. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เกิดพร้อมกัน มีธรรมที่ระคนด้วยจิตเป็นสมุฏฐาน คือธรรมที่เกิดพร้อมกันมีธรรมที่ระคนด้วยจิตเป็นสมุฏฐาน ( จิตตสังสัฏฐสมุฏฐานสหภู ) คู่กับธรรมที่ไม่เป็นเช่นนั้น.
๑๑. หมวด ๒ แห่งธรรมที่หมุนไปตาม มีธรรมที่ระคนด้วยจิตเป็นสมุฏฐาน คือธรรมที่หมุนไปตามมีธรรมที่ระคนด้วยจิตเป็นสมุฏฐาน ( จิตตสังสัฏฐสมุฏฐานานุปริวัตตี ) คู่กับธรรมที่ไม่เป็นเช่นนั้น.
๑๒. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นภายใน คือธรรมที่เป็นภายใน (อัชฌัตติกะ) คู่กับธรรมที่เป็นภายนอก ( พาหิระ ).
๑๓. หมวด ๒ แห่งธรรมคือความยึดถือ คือธรรมคือความยึดถือ (อุปาทา ) คู่กับธรรมคือความไม่ยึดถือ ( อนุปาทา ).
๑๔. หมวด ๒ แห่งธรรมที่ถูกยึดถือ คือธรรมที่ถูกยึดถือ (อุปาทินนะ ) คู่กับธรรมที่ไม่ถูกยึดถือ ( อนุปาทินนะ ).
๑๑. กลุ่มอุปาทาน หรืออุปาทานโคจฉกะ มี ๖ คู่
กลุ่มนี้ว่าด้วยอุปาทาน คือกิเลสเป็นสิ่งยึดถือ แบ่งออกเป็น ๖ คู่ มีวิธีจัดประเภทเหมือนกลุ่ม สัญโญชน์.
๑๒. กลุ่มกิเลส หรือกิเลสโคจฉกะ มี ๘ คู่
๑. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นกิเลส คือธรรมที่เป็นกิเลส คู่กับธรรมที่ไม่ เป็นกิเลส.
๒. หมวด ๒ แห่งธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง คือธรรมอัน เป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง ( สังกิเลสิกะ ) คู่กับธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง ( อสังกิเลสิกะ ).
๓. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เศร้าหมอง คือธรรมที่เศร้าหมอง ( สังกิลิฏฐะ ) คู่กับธรรมที่ไม่เศร้าหมอง ( อสังกิลิฏฐะ ).
๔. หมวด ๒ แห่งธรรมอันสัมปยุตด้วยกิเลส คือธรรมที่สัมปยุตด้วยกิเลส ( กิเลสสัมปยุต ) คู่กับธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยกิเลส ( กิเลสวิปปยุต ).
๕. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นกิเลสและเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง คือธรรมที่เป็นกิเลสและเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง คู่กับธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง แต่มิใช่กิเลส.
๖. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นกิเลสและเศร้าหมอง คือธรรมที่ป็นกิเลส และที่เศร้าหมอง คู่กับธรรมที่เศร้าหมอง แต่มิใช่กิเลส.
๗. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นกิเลสและสัมปยุตด้วยกิเลส คือธรรมที่ป็น กิเลส และสัมปยุตด้วยกิเลส คู่กับธรรมที่สัมปยุตด้วยกิ้ลส แต่มิใช่กิเลส.
๘. หมวด ๒ แห่งธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยกิเลส แต่เป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง คือธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยกิเลส แต่เป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง คู่กับธรรมที่ไม่สัมปยุตด้วยกิเลส และไม่เป็นที่ตั้ง แห่งความเศร้าหมอง.
๑๓. กลุ่มธรรม ๒ ข้อรั้งท้าย หรือปิฏฐิทุกะ มี ๑๘ คู่
๑. หมวด ๒ แห่งทัสสนะ คือธรรมที่พึงละด้วยทัสสนะ ( ความเห็น ) คู่กับ ธรรมที่ไม่พึงละด้วยทัสสนะ.
๒. หมวด ๒ แห่งภาวนา คือธรรมที่พึงละด้วยภาวนา ( การเจริญ ) คู่กับ ธรรมที่ไม่พึงละด้วยภาวนา.
๓. หมวด ๒ แห่งธรรมที่มีเหตุอันพึงละด้วยทัสสนะ คือธรรมที่มีเหตุ อันพึงละด้วยทัสสนะ ( ความเห็น ) คู่กับธรรมที่ไม่เป็นเช่นนั้น.
๔. หมวด ๒ แห่งธรรมที่มีเหตุอันพึงละด้วยภาวนา คือธรรมที่มีเหตุ อันพึงละด้วยภาวนา ( การเจริญ ) คู่กับธรรมที่ไม่เป็นเช่นนั้น.
๕. หมวด ๒ แห่งธรรมที่มีวิตก คือธรรมที่มีวิตก ( ความตรึก ) คู่กับธรรม ที่ไม่วิตก.
๖. หมวด ๒ แห่งธรรมที่มีวิจาร คือธรรมที่มีวิจาร ( ความจรอง ) คู่กับ ธรรมที่ไม่มีวิจาร.
๗. หมวด ๒ แห่งธรรมที่มีปีติ คือธรรมที่มีปีติ ( ความอิ่มใจ ) คู่กับธรรม ที่ไม่มีปีติ ( อัปปีติกะ ).
๘. หมวด ๒ แห่งธรรมที่ไปกับปีติ คือธรรมที่ไปกับปีติ ( ปีติสหคตะ) คู่ กับธรรมที่ไม่ไปกับปีติ ( น ปีติสหคตะ ).
๙. หมวด ๒ แห่งธรรมที่ไปกับความสุข คือธรรมที่ไปกับความสุข ( สุขสหคตะ ) คู่กับธรรมที่ไม่ไปกับความสุข ( น สุขสหคตะ).
๑๐. หมวด ๒ แห่งธรรมที่ไปกับอุเบกขา คือธรรมที่ไปกับอุเบกขา ( ความวางเฉย ) คู่กับธรรมที่ไม่ไปกับอุเบกขา ( น อุเปกขาสหคตะ).
๑๑. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นกามาวจร คือธรรมที่เป็นกามาวจร ( ท่องเที่ยวไปในกาม ) คู่กับธรรมที่ไม่เป็นกามาวจร.
๑๒. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นรูปาวจร คือธรรมที่เป็นรูปาวจร ( ท่องเที่ยวไปในรูป ) คู่กับธรรมที่ไม่เป็นรูปาวจร.
๑๓. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นอรูปาวจร คือธรรมที่เป็นอรูปาวจร ( ท่องเที่ยวไปในอรูป ) คู่กับธรรมที่ไม่เป็นอรูปาวจร.
๑๔. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นปริยาปันนะ๑ คือธรรมที่เป็นปริยาปันนะ ( โลกิยะ ) คู่กับธรรมที่เป็นอปริยาปันนะ ( โลกุตตระ ).
๑๕. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นนิยยานิกะ คือธรรมที่เป็นนิยยานิกะ ( นำออกจากทุกข์ ) คู่กับธรรมที่เป็นอนิยยานิกะ ( ไม่นำออกจากทุกข์ ).
๑๖. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นนิยตะ คือธรรมที่เป็นนิยตะ ( แน่นอน ) คู่ กับธรรมที่เป็นอนิยตะ ( ไม่แน่นอน ).
๑๗. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นสอุตตระ คือธรรมที่เป็นสอุตตระ ( มี ธรรมอื่นยิ่งกว่า ) คู่กับธรรมที่เป็นอนุตตระ ( ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ).
๑๘. หมวด ๒ แห่งธรรมที่เป็นสรณะ คือธรรมที่เป็นสรณะ ( มีข้าศึก ) คู่กับธรรมที่เป็นสรณะ ( ไม่มีข้าศึก ).
เพี่อความเข้าใจยิ่งขึ้น เฉพาะบางคำโปรดย้อนไปดูข้อความในหน้าข้อความน่ารู้จากพระ ไตรปิฎก หมายเลข๘๖-๙๔
จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔๓
________________________________________
'๑' . มีคำอธิบายว่า กุศลในภูมิ ๓, อกุศล, วิบากในภูมิ ๓. อัพยากฤตฝ่ายกิริยาในภูมิ ๓ และรูปทั้งปวง เป็นธรรมฝ่ายโลกิยะ; มรรค ๔, ผล ๔, นิพพาน เป็นธรรมฝ่ายโลกุตตระ. คำว่า ภูมิ ๓ หมายถึง กามาวจร, รูปาวจร, และ อรูปาวจร
เล่มที่ ๔๔ ชื่อปัฏฐาน ภาคที่ ๕
( เป็นอภิธัมมปิฎก )
( ได้กล่าวไว้แล้วในเล่มที่ ๔๐ปัฏฐาน ภาคที่ ๑ ว่า พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔๔ ว่าด้วยธรรม หมวด ๒ กับหมวด ๓ ผสมกัน ; ธรรมหมวด ๓ กับหมวด ๒ ผสมกัน ; ธรรมหมวด ๓ กับหมวด ๓ ผสมกัน ; ธรรมหมวด ๒ กับหมวด ๒ ผสมกัน โดยใช้ธรรมะในคัมภีร์ธัมมสังคณีเป็นบทตั้งเช่นเดิม ในที่นี้จะแสดงตัวอย่างให้เห็นหมวด ๒ ข้อ ดังต่อไปนี้ ).
๑. ธรรมหมวด ๒ กับหมวด ๓ ผสมกัน ( อนุโลมทุกติกปัฏฐาน )
เพราะอาศัยธรรมอันเป็นเหตุ อันเป็นกุศล จึงเกิดธรรมอันเป็นเหตุ อันเป็นกุศล เพราะเหตุ เป็นปัจจัย ฯ ล ฯ
( พึงสังเกตุว่า ธรรมอันเป็นเหตุ เป็นธรรมในหมวด ๒, ธรรมอันเป็นกุศล เป็นธรรมในหมวด ๓, ในที่นี้กล่าวถึงธรรมที่เป็นทั้งเหตุ เป็นทั้งกุศลผสมกัน เช่น อาศัย อโลภะ ซึ่งเป็นทั้งเหตุทั้งกุศล เกิด อโทสะ หรือ อโมหะ ซึ่งเป็นทั้งเหตุทั้งกุศล ).
๒. ธรรมหมวด ๓ กับหมวด ๒ ผสมกัน ( อนุโลมติกทุกปัฏฐาน )
เพราะอาศัยธรรมอันเป็นกุศล อันเป็นเหตุ จึงเกิดธรรมอันเป็นกุศล อันเป็นเหตุ เพราะเหตุ เป็นปัจจัย ฯ ล ฯ
( พึงสังเกตุว่า ธรรมอันเป็นกุศล เป็นธรรมในหมวด ๓, ธรรมอันเป็นเหตุ เป็นธรรมในหมวด ๒, เป็นแต่ในที่นี้นำธรรมในหมวด ๓ มาเรียงไว้ก่อน เนื้อหาก็คงเป็นเช่นเดียวกับข้อ ๑ ).
๓. ธรรมหมวด ๓ กับหมวด ๓ ผสมกัน ( อนุโลมติกติกปัฏฐาน )
เพราะอาศัยธรรมอันเป็นกุศล อันสัมปยุตด้วยสุขเวทนา จึงเกิดธรรมอันเป็นกุศล อันสัมปยุต ด้วยสุขเวทนา เพราะเหตุเป็นปัจจัย ฯ ล ฯ
( พึงสังเกตุว่า ธรรมอันเป็นกุศล เป็นธรรมในหมวด ๓, ธรรมอันสัมปยุตด้วยสุขเวทนา ก็ เป็นธรรมในหมวด ๓ ).
๔. ธรรมหมวด ๒ กับหมวด ๒ ผสมกัน ( อนุโลมทุกทุกปัฏฐาน )
( เพราะอาศัยธรรมอันเป็นเหตุ อันมีเหตุ จึงเกิดธรรมอันเป็นเหตุ อันมีเหตุ เพราะเหตุเป็น ปัจจัย ฯ ล ฯ
( พึงสังเกตุว่า ธรรมอันเป็นเหตุ เป็นธรรมในหมวด ๒, ธรรมอันมีเหตุ ก็เป็นธรรมในหมวด ๒ ).
จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔๔
เล่มที่ ๔๕ ชื่อปัฏฐาน ภาคที่ ๖
( เป็นอภิธัมมปิฎก )
( ได้กล่าวไว้แล้วในเล่มที่ ๔๐ปัฏฐาน ภาคที่ ๑ เช่นกันว่า ในเล่มที่ ๔๕ นี้ แบ่งออกเป็น ๓ หัวข้อ คือ
๑. ปัจจนียปัฏฐาน ปฏิเสธทั้งฝ่ายที่ถูกอาศัยและฝ่ายที่เกิดขึ้น๒. อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน ปฏิเสธเฉพาะธรรมที่ เกิด ๓. ปัจจนียาอนุโลมปัฏฐาน ปฏิเสธเฉพาะธรรมที่ถูกอาศัย ดังจะแสดงตัวอย่างให้เห็นดังต่อไปนี้ ).
๑. ปัจจนียปัฏฐาน ( ปฏิเสธทั้งฝ่ายที่ถูกอาศัยทั้งฝ่ายที่เกิดขึ้น )
เพราะอาศัยธรรมที่ มิใช่กุศล ( น กุสลํ ธมฺมํ ) จึงเกิดธรรมที่ มิใช่กุศล เพราะเหตุเป็นปัจจัย ฯ ล ฯ
๒. อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน ( ปฏิเสธเฉพาะที่เกิด )
เพราะอาศัยธรรมที่เป็นกุศล จึงเกิดธรรมที่ มิใช่กุศล ( น กุสโล ธมฺโม ) เพราะเหตุเป็นปัจจัย ฯ ล ฯ
( พึงสังเกตุว่า คำว่า ธรรมที่มิใช่กุศล มิใช่หมายความว่า ธรรมที่เป็นอกุศล เท่านั้น เพราะธรรมที่มิใช่กุศล อาจหมายถึงธรรมอื่น ๆ อะไรก็ได้ที่มิใช่กุศลก็แล้วกัน เช่น อัพยากตธรรม ขอยกตัวอย่าง ประกอบเช่นมิใช่สีขาว ไม่จำเป็นต้องหมายความว่า สีดำ เท่านั้น จะเป็น สีแดง, สีเหลือง ก็อยู่ใน ประเภท มิใช่สีขาว ด้วย ).
๓. ปัจจนียาอนุโลมปัฏฐาน ( ปฏิเสธเฉพาะที่ถูกอาศัย )
เพราะอาศัยธรรม ที่มิใช่กุศล จึงเกิดธรรมที่เป็นกุศล เพราะเหตุเป็นปัจจัย ฯ ล ฯ
จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔๕
จบพระอภิธัมมปิฎก
และ
จบ พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน
ขอผู้มีทุกข์ จงพ้นทุกข์
ขอผู้มีภัย จงพ้นภัย
ขอผู้เศร้าโศก จงหายเศร้าโศก
ขอจงมีความสงบสุข โดยทั่วกันเทอญ.