ลักษณะการจัดหมวดหมู่ของแต่ละปิฎก
ได้กล่าวแล้วว่า พระไตรปิฎกนั้น แบ่งออกเป็นวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎก โดยลำดับ พระโบราณาจารย์ฝ่ายไทยได้ใช้วิธีย่อหัวข้อสำคัญในแต่ละปิฎก เพื่อจำง่ายเป็นอักษรย่อ ในการใช้อักษรย่อนั้น วินัยปิฎกมี ๕ คำ สุตตันตปิฎก ๕ คำ อภิธัมมปิฎก ๗ ดังต่อไปนี้....
สุตตันตปิฎก
หัวข้อย่อแห่งสุตตันตปิฎกมี คือ ที , ม, สัง, อัง, ขุ ดังต่อไปนี้ :-
๑ . ที = ทีฆนิกาย แปลว่า หมวดยาว หมายถึงหมวดที่รวบรวมพระสูตรขนาดยาวไว้ส่วนหนึ่งไม่ปนกับพระสูตรประเภทอื่น ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น ๓๔ สูตร
๒. ม = มัชฌิมนิกาย แปลว่า หมวดปานกลาง หมายถึงหมวดที่รวบรวมพระสูตรขนาดกลางไม่สั้นเกินไป ไม่ยาวเกินไปไว้ส่วนหนึ่ง ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น ๑๕๒ สูตร
๓. สัง= สังยุตตนิกาย แปลว่า หมวดประมวล คือประมวลเรื่องประเภทเดียวกันไว้เป็นหมวดหมู่ เช่น เรื่องพระมหากัสสป เรียกกัสสปสังยุต เรื่องอินทรีย์ ( ธรรมะที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน) เรียกอินทริยสังยุต เรื่องมรรค ( ข้อปฏิบัติ ) เรียกมัคคสังยุต ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น ๗,๗๖๒ สูตร ๑.
๔. อัง = อังคุตตรนิกาย แปลว่า หมวดยิ่งด้วยองค์ คือจัดลำดับธรรมะไว้เป็นหมวด ๆ ตามลำดับตัวเลข เช่น หมวดธรรมะข้อเดียว เรียกเอกนิบาต หมวดธรรมะ ๒ ข้อ เรียกทุกนิบาต หมวดธรรมะ ๓ ข้อ เรียกติกนิบาต ดังนี้เป็นต้น จนถึงหมวดธรรมะ ๑๐ ข้อ เรียกทสกนิบาต หมวดธรรมะเกิน ๑๐ ข้อ เรียกอติเรกทสกนิบาต ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น ๙,๕๕๗ สูตร ๑.
๕. ขุ = ขุททกนิกาย แปลว่า หมวดเล็กน้อย รวบรวมข้อธรรมที่ไม่จัดเข้าใน ๔ หมวดข้างต้นมารวมไว้ในหมวดนี้ทั้งหมด เมื่อจะแบ่งโดยหัวใหญ่ก็มี ๑๕ เรื่อง คือ :-
๑. ขุททกปาฐะ แปลว่า บทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยมากเป็นบทสวดสั้น ๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
๒. ธรรมบท แปลว่า บทแห่งธรรม คือธรรมภาษิตสั้น ๆ ประมาณ ๓๐๐ หัวข้อ ( ส่วนเรื่องพิสดารมีท้องเรื่องประกอบปรากฏในอรรถกถา)
๓. อุทาน แปลว่า คำที่เปล่งออกมา หมายถึงคำอุทานที่เป็นธรรมภาศิต มีท้องเรื่องประกอบเป็นเหตุปรารภในการเปล่งอุทานของพระพุทธเจ้า
๔. อิติวุตตกะ แปลว่า “ ข้อความที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้” เป็นการอ้างอิงว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสข้อความไว้อย่างนี้ ไม่มีเรื่องประกอบ มีแต่ที่ขึ้นต้นว่า ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ตรัสไว้อย่างนี้
๕. สุตตนิบาต แปลว่า รวมพระสูตร คือรวบรวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน มีชื่อสูตรบอกกำกับไว้
๖. วิมานวัตถุ แปลว่า เรื่องของผู้ได้วิมาน แสดงเหตุดีที่ให้ได้ผลดีตามคำบอกเล่าของผู้ได้ผลดีนั้น ๆ
๗. เปตวัตถุ แปลว่า เรื่องของเปรตหรือผู้ล่วงลับไป ที่ทำกรรมชั่วไว้
๘. เถรคาถา ภาษิตต่าง ๆ ของพระเถระผู้เป็นอรหันตสาวก
๙. เถรีคาถา ภาษิตต่าง ๆ ของพระเถรีผู้เป็นอรหันตสาวิกา
๑๐. ชาดก แสดงภาษิตต่าง ๆ เกี่ยวโยงกับคำสอนประเภทเล่านิทาน ( ท้องเรื่องพิสดารมีในอรรถกถา เช่นเดียวกับธรรมบท)
๑๑. นิทเทส แบ่งออกเป็นมหานิทเทสกับจูฬนิทเทส คือมหานิทเทสเป็นคำอธิบายพระพุทธภาษิตในสุตตนิบาต ( หมายเลข ๕ ) รวม ๑๖ สูตร ส่วนจูฬนิทเทส เป็นคำอธิบายพระพุทธภาษิตในสุตตนิบาต ( หมายเลข ๕ ) ว่าด้วยปัญหาของมาณพ ๑๖ คน กับ ขัคควิสาณสูตร กล่าวกันว่าเป็นภาษิตของพระสารีบุตรเถรเจ้า
๑๒. ปฏิสัมภิทามัคค์ แปลว่า ทางแห่งปัญญาอันแตกฉาน เป็นคำอธิบายหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งกล่าวกันว่าพระสารีบุตรเถรเจ้าได้กล่าวไว้
๑๓. อปทาน แปลว่า คำอ้างอิง เป็นประวัติส่วนตัวที่แต่ละท่านเล่าไว้ ซึ่งอาจแบ่งได้ คือเป็นอดีตประวัติของพระพุทธเจ้า ของพระเถระอรหันตสาวก ของพระเถรีอรหันตสาวิกา ส่วนที่เป็นประวัติการทำความดีของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น มีคำอธิบายว่า เป็นพุทธภาษิตตรัสเล่าให้พระอานนท์ฟัง
๑๔. พุทธวังส แปลว่า วงศ์ของพระพุทธเจ้า หลักการใหญ่เป็นการแสดงประวัติของพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๔ องค์ รวมทั้งของพระโคตมพุทธเจ้าด้วยจึงเป็น ๒๕ องค์ นอกจากนั้นมีเรื่องเบ็ดเตล็ดแทรกเล็กน้อย
๑๕. จริยาปิฎก แปลว่า คัมภีร์แสดงจริยา คือการบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งแบ่งหลักใหญ่ออกเป็นทาน ( การให้) ศีล ( การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย) และเนกขัมมะ ( การออกบวช )
ข้อสังเกตท้ายสุตตันตปิฎก
พระสุตตันตปิฎกซึ่งเเบ่งออกเป็น ๕ นิกายดังกล่าวมาแล้ว คือทีฆนิกายจนถึงขุททกนิกายนั้น บางครั้งพระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า ๕ นิกายนี้แหละ จะเรียกว่าประมวลได้ครบทั้งสามปิฎกก็ได้ คือถือว่านอกจากพระพุทธวจนะที่อยู่ใน ๔ นิกายข้างต้นแล้ว พระพุทธวจนะที่เหลือจัดเข้าในขุททกนิกาย คือหมวดเบ็ดเตล็ดทั้งหมด คือทั้งวินัยปิฎกและอภิธัมมปิฎก จัดเข้าในขุททกนิกายทั้งสิ้นคำว่า นิกายนี้ ในที่บางแห่งใช้คำว่า อาคม แทนพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาทที่ปรากฏแปลในฉบับจีน ชาวจีนใช้คำว่า อาคม หมายรวมแทนพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท
________________________________________
๑. การนับจำนวนสูตรนี้กล่าวตามหลักฐานของอรรถกถา เพราะในสังยุตตนิกายและอังคุตตรนิกาย บางแห่งก็บอกชื่อสูตร บางแห่งก็บอกชื่อ ส่วนใหญ่ไม่บอกชื่อสูตร
เล่มที่ ๙ ชื่อทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์
เป็นพระสุตตันตปิฎก(เล่ม ๑)
หน้า ๑
ทีฆนิกาย แปลว่า “ หมวดหรือพวกขนาดยาว” ได้แก่พระสูตรหรือพระธรรมเทศนาที่ยาว นำมาจัดไว้เป็นหมวดหรือพวกไว้ในที่นี้. คำว่า สีลขันธวัคค์ แปลว่า “ วรรคที่ว่าด้วยกองศีล” ทีฆนิกาย หรือหมวดยาวนี้มี ๓ วรรค คือสีลขันธวัคค์ (มี ๑๓ สูตร ) มหาวัคค์ ( มี ๑๐ สูตร) ปาฏิกวัคค์ ( มี ๑๑ สูตร) แต่ละวรรคตั้งชื่อตามข้อความในสูตรบ้าง ตามชื่อของสูตรบ้าง คือในสีลขันวัคค์ สูตรแรกมีเรื่องศีล จึงตั้งชื่อสีลขันธวัคค์ ในมหาวัคค์ สูตรแรก ชื่อมหาปทานสูตร จึงตั้งชื่อมหาวัคค์ ในปาฏิกวัคค์ สูตรแรก ชื่อปาฏิกสูตร จึงตั้งชื่อกปาฏิวัคค์. พระไตรปิฎก ทีฆนิกายนี้มี ๓ เล่ม เล่มละวรรค ตามชื่อที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งสิ้นมี ๓๔ สูตร.
พระสูตรในเล่ม ๘ หรือในทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์มี ๑๓ สูตร ตามลำดับดังต่อไปนี้:-
๑. พรหมชาลสูตร สูตรที่เปรียบเหมือนข่ายอันประเสริฐที่ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง คือกล่าวถึงลัทธิ ศาสนาต่าง ๆ ที่มีในครั้งนั้น ที่เรียกว่าทิฎฐิ ๖๒ เป็นการชี้ให้เห็นว่า พระพุทธศาสนามีหลักธรรมแผกจาก ๖๒ ลัทธินั้นละเอียด.
๒ . สามัญญผลสูตร ว่าด้วย “ การของความเป็นสมณะ” หรือผลของการบวช.
๓. อัมพัฏฐสูตร ว่าด้วย “ การโต้ตอบกับอัมพัฏฐมาณพ” มีข้อความกล่าวถึงประวัติศาสตร์ ศากยวงศ์.
๔. โสณทัณฑสุตร ว่าด้วย “ การโต้ตอบกับโสณทัณฑพราหมณ์ ” มีข้อความกล่าวถึงคุณลักษณะ ๕ อย่าง ของพราหมณ์.
๕ . กูฏทันตสูตร ว่าด้วย “ การโต้ตอบกับกูฏทันตพราหมณ์ ” เรื่องการบูชายัญ โดยวิธีสังเคราะห์ดีกว่าการบูชายัญด้วยการฆ่าสัตวฺ รวมทั้งปัญหาการปกตครองประเทศ ให้ได้ผลางเศรษฐกิจ ลดจำนวนโจรผู้ร้าย.
๖. มหาลิสูตร ว่าด้วย “ การโต้ตอบกับเจ้าลิจฉวีชื่อมหาลิ?” เรื่องตาทิพย์ หูทิพย์ และความสามารถที่สูงขึ้นไปกว่านั้น คือการทำกิเลสอาสวะให้กมดไป.
๗. ชาลิยะสูตร ว่าด้วย “ การโต้ตอบกับนักบวช ๒ คน คนหนึ่งชื่อชาลิยะ ” เรื่องชีวะ กับสรีระ.
๘ . มหาสีหนาทสูตร ๑. ว่าด้วย “ การบรรลือสีหนาท ” ของพระพุทธเจ้าโดยมีคุณธรรมเป็นพื้นรองรับ
๙ โปฏฐปาทสูตร ว่าด้วย “การโต้ตอบกับโปฏฐปาทปริพพาชก ” เรื่องอัตตาและธรรมะชั้นสูงอื่น ๆ .
๑๐ สุภสูตร ว่าด้วย “ การโต้ตอบระหว่างพระอานนทเถระกับสุภมาณพ โตเทยยบุตร”
๑๑. เกวัฏฏสูตร ว่าด้วย “ การแสดงธรรม” เรื่องปาฏิหารย์ ๓ แก่คฤหบดี ชื่อเกวัฏฏะ.
๑๒. โลหิจจสูตร ว่าด้วย “การโต้ตอบกับโลหิจจพราหมณ์ ” ถึงเรื่องมิจฉาทิฏฐิและศาสดาที่ควรติไม่ควรติ.
๑๓. เตวิชชสูตร ว่าด้วย “พราหมณ์ผู้รู้ไตรวิทยาเคยเห็นพระพรหมหรือไม่ ” และว่าด้วยวิธีเข้าอยู่ร่วมกับพระพรหม.
ขยายความ
๑. พรหมชาลสูตร
สูตรว่าด้วยข่ายอันประเสริฐ
พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เดินทางอยู่ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาฬันทา มีปริพพาชก ( นักบวชนอกศาสนา) ชื่อสุปปิยะ พร้อมด้วยศิษย์ชื่อพรหมทัตมาณพ เดินทางมาข้างหลัง. สุปปิยะ ปริพพาชก ติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ศิษย์กล่าวสรรเสริญ . เมื่อถึงเวลากลางคืนภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันถึงเรื่องศิษย์อาจารย์กล่าวแย้งกันเรื่องสรรเสริญ ติเตียนพระรัตนตรัย พระผู้มีพระภาคทรงทราบจึงตรัสเตือนมิให้โกรธเมื่อมีผู้ติเตียนพระรัตนตรัย มิให้ยินดีหรือเหลิงเมื่อมีผู้สรรเสริญ ๒. แล้วตรัสว่า คนอาจกล่าวชมเชยพระองค์ด้วยศีล ๓ ชั้น คือศีลอย่างเล็กน้อย ศีลอย่างกลาง ศีลอย่างใหญ่.๓.
ศีลอย่างเล็กน้อย ( จูฬศีล)
๑. เว้นจากฆ่าสัตว์ , ลักทรัพย์, ประพฤติล่วงพรหมจรรย์.
๒. เว้นจากพูดปด, พูดส่อเสียด ( ยุให้แตกกัน) , พูดคำหยาบ ๆ , พูดเพ้อเจ้อ.
๓. เว้นจากทำลายพืชและต้นไม้.
๔. ฉันมื้อเดียว เว้นจากการฉันอาหารในเวลากลางคืน , เว้นการฉันในเวลาวิกาล, เว้นจากฟ้อนรำขับร้อง ประโคม และดูการเล่น, เว้นจากทัดทรง ประดับประดาร่างกายด้วยระเบียบดอกไม้ของหอม เครื่องทา เครื่องย้อมผัดผิวต่าง ๆ , เว้นจากที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่มีภายในใส่นุ่นหรือสำลี, เว้นจากการรับทองและเงิน.
๕. เว้นจากการรับข้าวเปลือกดิบ, เนื้อดิบ, เว้นจากการรับหญิง หรือหญิงรุ่นสาว, เว้นจากการรับทาสี ทาสา, เว้นจากการรับแพะ, แกะ, ไก่, สุกร, ช้าง, โค, ม้า, ลา, เว้นจากการรับนา, สวน.
๖. เว้นจากการชักสื่อ, การค้าขาย, การโกงด้วยตาชั่ง ด้วยเงินเหรียญ ( สำริด) และด้วยการนับ ( ชั่ง, ตวง, วัด,) . เว้นจากการใช้วิธีโกงด้วยให้สินบน หลอกลวงและปลอมแปลง, เว้นจากการตัด ( มือ , เท้า ) การฆ่า การมัด การซุ่มชิงทรัพย์ ( ในทาง ) การปล้น การจู่โจมทำร้าย.
ศีลอย่างกลาง ( มัชฌิมศีล )
๑. เว้นจากการทำลายพืช ๒. เว้นจากการสะสมอาหารและผ้า เป็นต้น
๓. เว้นจากการเล่นหลากชนิด เช่น ฟ้อนรำ เป็นต้น
๔. เว้นจากการพนันต่างชนิด ๕. เว้นจากที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่
๖. เว้นจากการประดับประดาตกแต่งร่างกาย
๗. เว้นจากการติรัจฉานกถา ( พูดเรื่องไร้ประโยชน์หรือที่ขัดกับสมณเพศ)
๘. เว้นจากการพูดแข่งดีหรือข่มขู่กัน ๙. เว้นจากการชักสื่อ
๑๐. เว้นจากการพูกปด, การพูดประจบ , การพูดอ้อมค้อม ( เพื่อหวังลาภ), การพูดกด, การพูดเอาลาภแลกลาภ ( หวังของมากด้วยของน้อย). ( ในแต่ละข้อนี้มีการแจกรายละเอียดออกไปมาก).
ศีลอย่างใหญ่ ( มหาศีล)
๑. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ทายนิมิต , ทายฝัน, ทายหนูกัดผ้า เป็นต้น.
๒. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ดูลักษณะแก้วมณี , ลักษณะไม้ถือ, ลักษณะผ้า , ลักษณะศัสตรา เป็นต้น.
๓. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ทายทักเกี่ยวกับพระราชา ด้วยพิจารณาดาวฤกษ์
๔. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ทายจันทรุปราคา สุริยปราคา เป็นต้น.
๕. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ทายฝนชุก ฝนแล้ง เป็นต้น.
๖. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น การบน , การแก้บน , การประกอบยา เป็นต้น.
( ในที่นี้มีคำว่า ติรัจฉานวิชา อย่างพิสดาร ฝรั่งใช้คำว่า low arts เมื่อพิสจารณาตามศัพท์ “ ติรัจฉาน” ซึ่งแปลว่า “ ไปขวาง” ก็หมายความว่า วิชาเหล่านี้ขวาง หรือไม่เข้ากับความเป็นสมณะ มิได้หมายความว่าเป็นวิชาของสัตว์ดิรัจฉาน เพราะฉะนั้น ถ้อยคำที่พระไม่ควรพูด จึงจัดเป็นติรัจฉานกถา คือถ้อยคำที่ขวาง หรือขัดกับสมณสารูป. วิชาที่พระไม่ควรเกี่ยวจึงจัดเป็นติรัจฉานวิชา คือวิชาที่ขวาง หรือขัดกับความเป็นพระ . ส่วนสัตว์ดิรัจฉานที่มีชื่ออย่างนั้น เพราะเพ่งกิริยาที่ไม่ตั้งตัวตรง เดินไปอย่างคน แต่เอาตัวลง เอาศีรษะไปก่อน เมื่อไม่ได้ไปตรง ก็ชื่อว่าไปขวาง).
ทิฏฐิ ๖๒ ประการ
ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงความคิดเห็น ๖๒ ประการของสมณพราหมณ์ในครั้งนั้น คือพวกที่มีความเห็นปรารภเบื้องตั้นของสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นมาอย่างไร ( ปุพพันตกัปปิกะ) ๑๘ ประเภท กับพวกที่มีความเห็นปรารภเบื้องต้นสิ่งต่าง ๆ ว่าจะลงสุดท้ายอย่างไร ( อปรัตกัปปิกะ) ๔๔ ประเภท ( รวมเป็น ๖๒ ) ดังต่อไปนี้:-
ความเห็นปรารภเบื้องต้น ๑๘
ทิฏฐิหรือความเห็นประเภทนี้ ( ปุพพันตกัปปิกะ) ที่มี ๑๘ นั้น แบ่งออกเป็น ๕ หมวด คือหมวดที่เห็นว่าเที่ยง ( สัสสตวาทะ) ๔, เห็นว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ( เอกัจจสัสสติกะ เอกัจจอสัสสติกะ) ๔, เห็นว่ามีที่สุดและไม่มีที่สุด ( อันตานันติกะ) ๔, พูดซัดส่ายไม่ตายตัวเหมือนปลาไหล ( อมราวิกเขปิกะ) ๔, เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ มีขึ้นเองโดยไม่มีเหตุ ( อธิจจสมุปปันนะ) ๒ รวมเป็น ๑๘ ดังรายละเอียด คือ :-
(๑) หมวดเห็นว่าเที่ยง ( สัสสตวาทะ) ๔
๑. เห็นว่าตัวตน ( อัตตา) และโลกเที่ยง เพราะระลึกชาติได้ ตั้งแต่ชาติได้ ตั้งแต่ชาติเดียว จนถึงแสนชาติ.
๒. เห็นว่าตัวตน และโลกเที่ยง เพราะระลึกได้เป็นกัปป์ ๆ ตั้งแต่กัปป์เดียวถึง ๑๐ กัปป์.
๓. เห็นว่าตัวตน และโลกเที่ยง เพราะระลึกชาติได้มากกัปป์ ๆ ตั้งแต่ ๑๐ กัปป์ถึง ๔๐ กัปป์.
๔. นักเดา เดาตามความคิดคาดคะเนว่า โลกเที่ยง.
(๒) หมวดเห็นว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ( เอกัจจสัสสติกะ เอกัจจอสัสสติกะ) ๔
๑. เห็นว่าพระพรหมเที่ยง แต่พวกเราที่พระพรหมสร้างไม่เที่ยง.
๒. เห็นว่าเทวดาพวกอื่นเที่ยง พวกที่มีโทษเพราะเล่นสนุกสนาน ( ขิฑฑาปโทสิกา) ไม่เที่ยง.
๓. เห็นว่าเทวดาพวกอื่นเที่ยง พวกที่มีโทษเพราะคิดร้ายผู้อื่น ( มโนปโทสิกา) ไม่เที่ยง.
๔. นักเดา เดาตามความคิดคาดคะเนว่า ตัวตนฝ่ายกายไม่เที่ยง ตัวตนฝ่ายจิตเที่ยง.
(๓) หมวดเห็นว่ามีที่สุดและไม่มีที่สุด ( อัตตานันติกะ) ๔
๑. เห็นว่าโลกมีที่สุด. ๒. เห็นว่าโลกไม่มีที่สุด.
๓. เห็นว่าโลกมีที่สุด เฉพาะด้านบนกับตัวล่าง ส่วนด้านกว้างหรือด้านขวางไม่มีที่สุด.
๔. นักเดา เดาตามความคาดคิดคะเนว่า โลกมีที่สุดก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่.
(๔) หมวดพูดซัดส่ายไม่ตายตัวแบบปลาไหล ( อมราวิกเขปิกะ) ๔
๑. เกรงว่าจะพูดปด จึงพูดปฏิเสธว่า อย่างนี้ก็ไม่ใช่, อย่างนั้นก็ไม่ใช่ , อย่างอื่นก็ไม่ใช่ , มิใช่ ( อะไร) ก็ไม่ใช่.
๒. เกรงว่าจะยึดถือ จึงพูดปฏิเสธแบบข้อ ๑.
๓. เกรงว่าจะถูกซักถาม จึงพูดปฏิเสธแบบข้อ ๑ .
๔. เพราะโง่เขลา จึงพูดปฏิเสธแบบข้อ ๑ และไม่ยอมรับหรือยืนยันอะไรเลย.
(๕) หมวดเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ มีขึ้นเอง ไม่มีเหตุ ( อธิจจสมุปปันนะ ) ๒
๑. เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ มีขึ้นเองโดยไม่มีเหตุ เพราะเคยเกิดเป็นอสัญญีสัตว์.
๒. นักเดา เดาเอาตามความคิดคาดคะเนว่า สิ่งต่าง ๆ มีขึ้นเองโดยไม่มีเหตุ.
ความเห็นปรารภเบื้องปลาย ๔๔
ทิฏฐ หรือความเห็นปรารภเบื้องปลาย ( อปรันตกัปปิกะ) ที่มี ๔๔ นั้น แบ่งออกเป็น ๕ หมวด หมวดที่เห็นว่ามีสัญญาความจำได้หมายรู้ (สัญญีวาทะ) ๑๖ , หมวดที่เห็นว่าไม่มีสัญญา ( อสัญญีวาทะ) ๘, หมวดที่เห็นว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ( นวสัญญีนาสัญญีวาทะ) ๘. หมวดที่เห็นว่าขาดสูญ ( อุจเฉทวาทะ) ๗, หมวดที่เห็นว่าสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน ( ทิฏฐิธัมมนิพพานวาทะ) ๕ รวมเป็น ๔๔ ดังรายละเอียด คือ :-
(๑) หมวดเห็นว่ามีสัญญา ( สัญญีวาทะ) ๑๖
๑. ตนมีรูป ๒. ตนไม่มีรูป
๓. ตนทั้งมีรูป ทั้งไม่มีรูป ๔. ตนมีรูปก็มิใช่ ไม่มีรูปก็มิใช่
๕. ตนมีที่สุด ๖. ตนไม่มีที่สุด
๗. ตนทั้งมีที่สุด ทั้งไม่มีที่สุด ๘. ตนมีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่
๙. ตนมีสัญญา ( ความจำได้หมายรู้) เป็นอันเดียวกัน
๑๐. ตนมีสัญญาต่างกัน ๑๑. ตนมีสัญญาเล็กน้อย
๑๒. ตนมีสัญญาหาประมาณมิได้ ๑๓. ตนมีสุขโดยส่วนเดียว
๑๔. ตนมีทุกข์โดวยส่วนเดียว ๑๕. ตนมีทั้งสุขทั้งทุกข์
๑๖. ตนไม่มีทุกข์ไม่มีสุข
ตนทั้งสิบหกประเภทนี้ ตายไปแล้ว ก็มีสัญญา คือความจำได้หมายรู้ทั้งสิ้น.
(๒) หมวดเห็นว่าไม่มีสัญญา ( อสัญญีวาทะ) ๘
เห็นว่าตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๘ ข้างต้น คือตนมีรูป จนถึงตนมีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งแปดประเภทนี้ ตายไปแล้ว ก็ไม่มีสัญญา คือไม่มีความจำได้หมายรู้.
(๓) หมวดเห็นว่ามีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ( เนวสัญญีวาทะ) ๘
เห็นว่าตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๘ ข้างต้น คือตนมีรูป จนถึงตนมีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งแปดประเภทนี้ ตายไปแล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่.
ทั้งสามหมวดนี้ รวมเรียกว่า อุทธมาฆตนิกา แปลว่า พวกที่มีความเห็นเกี่ยวกับสภาพเมื่อตายไปแล้วจเป็นอย่างไร.
(๔) หมวดเห็นว่าขาดสูญ ( อุจเฉทวาทะ) ๗
๑. ตนที่เป็นของมนุษย์และสัตว์ ๒. ตนที่เป็นของทิพย์ มีรูป กินอาหารหยาบ
๓. ตนที่เป็นของทิพย์ มีรูป สำเร็จจากไป ๔. ตนที่เป็นอากาสนัญจายตนะ ๔.
๕. ตนที่เป็นวิญญาณัญจายตนะ ๖. ตนที่เป็นอากิจจัญญายตนะ
๗. ตนที่เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะ
ทั้งเจ็ดประเภทนี้ เมื่อสิ้นชีพแล้ว ก็ขาดสูญ ไม่เกิดอีก.
(๕) หมวดเห็นสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน ( ทิฏฐิธัมมนิพพาน) ๕
๑. เห็นว่าการเพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ เป็นนิพพานอย่างยอดในปัจจุบัน. ๒, ๓, ๔, ๕ เห็นว่าการเพียบพร้อมด้วยฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เป็นนิพพานอย่างยอดในปัจจุบัน.
สรูป
ในที่สุดได้ตรัสสรูปว่า สมณพราหมณ์ทุกพวกที่ทิฏฐิความเห็นความเห็นต่าง ๆ รวม ๖๒ ประการเหล่านี้ ย่อมได้เสวยอารมณ์ เพราะอาศัยอายตนะสำหรับถูกต้อง ๖ อย่าง ( คือตา, หู , จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ,), เพราะเหตุที่เสวยอารมณ์จึงเกิดตัณหาความทะยานอยาก, เพราะเหตุที่มีความทะยานอยาก จึงมีความยึดมั่นถือมั่น, เพราะเหตุที่มีความยึดมั่นถือมั่น จึงมีภพ คือความมีความเป็น, เพราะเหตุที่มีความมีความเป็น ( ภพ) จึงมีชาติ คือความเกิด , เพราะเหตุที่มีความเกิด จึงมีความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก คร่ำครวญ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ และความคับแค้นใจ. สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมติดอยู่ในข่ายแห่งความเห็นทั้งหกสิบสองนี้เหมือนปลาติดข่ายฉะนั้น.
ส่วนตถาคตเป็นผู้ถอนตัญหาอันจะนำให้เวียนอยู่ในภพได้แล้ว กายยังดำรงอยู่ตราบใด ก็มีผู้แลเห็นเมื่อกายทำลายไปแล้ว ก็ไม่มีผู้แลเห็น.
๒. สามัญญผลสูตร
สูตรว่าด้วยผลของความเป็นสมณะ
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามะม่วงของหมอชีวก ใกล้กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่คืนวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันอุโบสถ เดือน ๑๒ พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปเฝ้า ทูลถามถึงผลของดีของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน และตรัสเล่าว่า เคยไปถามครู ๕. ทั้งหกมาแล้ว แต่ตอบไม่ตรงคำถาม เปรียบเหมือนถามถึงเรื่องมะม่วง แต่ไปตอบเรื่องขนุน ๖. จึงต้องกลับ . พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเป็นข้อ ๆ ดังนี้ :-
๑. ผู้เคยเป็นทาสหรือกรรมกรของพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อออกบวชประพฤติตนดีงามแล้ว จะทรงเรียกร้องให้กลับไปเป็นทาสหรือกรรมกรตามเดิมหรือไม่. พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสตอบว่า ไม่เรียกกลับ แต่จะแสดงความเคารพถวายปัจจัย ๔ และถวายความคุ้มครองอันเป็นธรรม. ตรัสสรุปว่า นี่เป็นผลของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน.
๒. คนทำนาของพระเจ้าอชาตศัตรุ เมื่อออกบวชประพฤติตนดีงามแล้ว จะทรงเรียกร้องให้กลับไปทำนาให้ตามเดิมหรือไม่ ตรัสตอบเหมือนข้อแรก จึงนับเป็นผลของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน.
๓. คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี ฟังธรรมเลื่อมใสแล้วออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ สมบรูณ์ด้วยศีล ( พรรณนาศีลอย่างเล็กน้อย อย่างกลาง อย่างใหญ่ เหมือนในพรหมชาลสูตร), สำรวมอินทรีย์ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้บาปอกุศลเกิดขึ้นท่วมทับจิต, มีสติสัมปชัญญะ, มีความสันโดษ ยินดีด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้, ออกป่าบำเพ็ญสมาธิ ละกิเลสที่เรียกว่านีวรณ์ ๕ เสียได้ จึงได้บรรลุฌานที่ ๑ นี้ก็เป็นผลของความเป็นสมณที่เห็นได้ในปัจจุบัน.
๔. ได้บรรลุฌานที่ ๒
๕. ได้บรรลุฌานที่ ๓
๖. ได้บรรลุฌานที่ ๔
( ความเป็นไปแห่งฌานทั่งสี่มีรายละเอียดอย่างไร. ได้แปลไว้แล้วในหน้า ๑๒๕ หมายเลข ๒ ถึง ๕ )
๗. น้อมจิตไปเพื่อเกิดความรู้เห็นด้วยปัญญา ( ญาณทัสสนะ) ว่า กายมีความแตกทำลายไปเป็นธรรมดา วิญญาณก็อาศัยและเนื่องในกายนี้ ( วิปัสสนาญาณ ญาณอันทำให้เห็นแจ้ง).
๘. นิรมิตร่างกายอื่นจากกายนี้ได้ ( มโนมยิทธิ คือฤทธิ์ทางใจ).
๙. แสดงฤทธิ์ได้ เช่น น้อยคนทำให้เป็นมากคน มากคนทำให้เป็นน้อยคน เดินน้ำ ดำดิน เป็นต้น ( อิทธิวิธิ)
๑๐. มีหูทิพย์ ได้ยินเสียงใกล้ไกล ที่เกินวิสัยของมุนษย์ธรรมดา (ทิพย์โสต).
๑๑. กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ ( เจโตปริยญาณ).
๑๒. ระลึกชาติในอดีตได้ ( ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ).
๑๓. เห็นสัตว์อื่นตายเกิดด้วยตาทิพย์ ( เรียกว่าทิพย์จักษุ หรือจุตูปปาตญาณ คือญาณรู้ความตาย และความเกิดของสัตว์).
๑๔. รู้จักทำอาสวะ คือกิเลสที่หมักหมม หรือหมักดองในสันดานให้สิ้นไป ( อาสวักขยญาณ). ลำดับ
( เมื่อจะย่อผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบันทั้งสิบสี่ข้อนี้เป็นหมวด ๆ ก็อาจย่อได้ ๓ หมวด คือ
หมวดที่ ๑ ทำให้พ้นจากฐานะเดิม คือพ้นจากความเป็นทาส เป็นกรรมกร พ้นจากความเป็นชาวนา ได้รับการปฏิบัติด้วยดี แม้จากพระมหากษัตริย์ คือผลข้อ ๑ กับข้อ ๒.
หมวดที่ ๒ เมื่ออบรมจิตใจจนเป็นสมาธิ ก็เป็นเหตุให้ได้ฌาน ที่ ๑ ถึง ๔ อันทำให้ละกิเลสอย่างกลางได้ คือผลข้อ ๓, ๔, ๕, และ ๖.
หมวดที่ ๓ ทำให้ได้วิชชา ๘ อันเริ่มแต่ข้อ ๗ ได้วิปัสสนาญาณ จนถึงข้อ ๑๔ ได้อาสวักขยญาณ).
พระเจ้าอชาตศัตรุทรงเลื่อมใส ปฏิญญาพระองค์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต แล้วกราบทูลขอขมาในการที่ปลงพระชนม์พระราชบิดา ( คือพระเจ้าพิมพิสาร) ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสรับขมา.
เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรุเสด็จกลับแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ถ้าพระเจ้าอชาตศัตรุไม่ปลงพระชนม์พระราชบิดา ก็จะได้ดวงตาเห็นธรรม ( เป็นพระโสดาบัน).
________________________________________
๑. ฉบับยุโรปเรียกชื่อสูตรนี้ว่า กัสสปสีหนาทสูตร แปลว่า สูตรอันก้วยการบรรลือสีหนาท กับกัสสปผู้เป็นนักบวชพวกชีเปลือย
๒. แปลไว้ละเอียดแล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๒๒๕
๓. คำว่า ศีลอย่างเล็กน้อย อย่างกลาง และอย่างใหญ่นี้ฝรั่งใช้คำว่า ความประพฤติอย่างสั้น อย่างกลาง อย่างยาว
๔. ได้อธิบายศัพท์ไว้แล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๗ ถึง ๙
๕. ครูทั้งหกคือ ๑. ปูรณะ กัสสป ๒. มักขลิ โคสาละ ๓. อชิตะ เกสกัมพล ๔. ปกุธะ กัจจายนะ ๕. นิคัณฐะ นาฎบุตร ๖. สัญชัย เวลัฎฐบุตร.
๖ . ฝรั่งแปลว่า สาเก ?(bread fruit tree) ไทยแปลว่า ขนุนบ้าง ขนุนสำมะลอบ้าง
________________________________________
๓. อัมพัฏฐสูตร
สูตรว่าด้วยการโต้ตอบอัมพัฏฐมาณพ
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้เมืองอุกกัฏฐา ซึ่งโปกขรสาติพราหมณ์ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าปเสนทิให้เป็นผู้ครอบครอง .
โปกขรสาติพราหมณ์ได้ยินกิตติศัพท์สรรเสริญพระพุทธเจ้า จึงใช้อัมพัฏฐมาณพผู้เป็นศิษย์ให้ไปเฝ้าเพื่อสังเกตดูว่าจะมีมหาปุริลักษณะครอบตามคัมภีร์มนต์ของตนหรือไม่.
อัมพัฏฐมาณพไปแสดงอาการอวดดี คือพระผู้มีพระภาคประทับนั่ง แต่ตนเดินบ้าง ยืนบ้าง สนทนาด้วย เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเตือน จึงประกาศตนว่าเป็นพราหมณ์ ควรแสดงอาการอย่างนี้ต่อคนชั้นไพร่ศีรษะโล้น ซึ่งเกิดจากเท้าของพระพรหม ( เป็นความนิยมของพวกพราหมณ์ว่า ถ้าโกนศีรษะจะถูกเหยียดหยามเป็นคนชั้นต่ำ) และเพิ่มความโกรธเคืองยิ่งขึ้น เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ อัมพัฏฐมาณพยังไม่จบพรหมจรรย์ของพราหมณ์ แต่สำคัญตนว่าจบแล้ว” จึงด่าสกุลศากยะว่าเป็นสกุลทาสสกุลไพร่ ไม่เคารพพราหมณ์.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ศากยสกุลเคยทำผิดอะไรไว้ จึงเล่าว่า ครั้งหนึ่งตนเดินทางไปกรุงกบิลพัสดุ์ด้วยธุระบางอย่างของโปกขรสาติพราหมณ์ ได้เข้าไปสู่อาคารโถงของเจ้าศากยะ เจ้าศากยะและศากยกุมารมากหลายนั่งบนอาสนะสูง ในอาคารโถง ต่างซิกซี้จี้ด้วยนิ้วมือ ชะรอยจะหัวเราะตนก็เป็นได้. ไม่มีใครสักคนหนึ่งกล่าวเชิญตนด้วยอาสนะ การไม่เคารพนับถือ ไม่อ่อนน้อมพราหมร์ของเจ้าศากยะไพร่ ๆ อย่างนั้นเป็นการไม่สมควร. นี่เป็นการประณามศากยสกุลว่าเป็นไพร่ครั้งที่ ๒.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า แม้นกไส้ เมื่ออยู่ในรังของตนก็ยังส่งเสียงร้องตามชอบใจ เจ้าศากยะเหล่านั้นถือว่ากรุงกบิลพัสดุ์เป็นของตน จึงยังไม่นับถือโทษด้วยเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านี้.
อัมพัฏฐมาณพอ้างเหตุผลต่อไปว่า ในวรรณะทั้งสี่นั้น วรรณะทั้งสาม คือ กษัตริย์ แพศย์ ( พ่อค้า) และศูทร ( คนงาน) ย่อมตกอยุ่ในฐานะเป็นผู้บำเรอพวกพราหมณ์ การที่เจ้าศากยะไพร่ ๆ ไม่เคารพนับถือไม่อ่อนน้อมพราหมณ์ จึงเป็นการไม่สมควร นี่เป็นการประณามศากยสกุลว่าเป็นไพร่ครั้งที่ ๓.
พระผู้มีพระภาคเห็นอัมพัฏฐมาณพกล่าวรุกรานศากยะสกุลอย่างหนักเช่นนั้น จึงตรัสถามว่า ท่านสกุล ( โครต ) อะไร เมื่ออัมพัฏฐมาณพกราบทูลว่า กัณหายนโครต พระองค์จึงตรัสเตือนให้ระลึก ( ประวัติศาสตร์ ) ว่า ต้นสกุลของศากยะ คือพระเจ้าโอกกากราช ซึ่งเป็นกษัตริย์ แต่ต้นตระกุลของกัณหายนะ คือนางทาสีของพระเจ้าโอกกากราชผู้มีนามว่า ทิสา ก็เมื่อต้นสกุลศากยะเป็นลูกกษัตริย์ ต้นสกุลกัณหายนะ เป็นลูกนางทาสีเช่นนั้น ก็จงระลึกถึงสกุลดั้งเดิมดูเถิด.
มาณพทั้งหลายที่ตามมาด้วย ก็พูดอื้ออึง ห้ามพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระโคดมอย่าได้กล่าวหาว่าอัมพัฏฐมาณพเป็นลูกนางทาสีเลย เพราะอัมพัฏฐมาณพมีชาติอันดี สดับตรับฟังมาก มีถ่อยคำอันดีงาม และเป็นบัณฑิต.
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามอัมพัฏฐมาณพว่า ที่พระองค์ตรัสอย่างนี้ เป็นความจริงหรือไม่ อัมพัฏฐมาณพนิ่งอึ้ง พระผู้มีพระภาคตรัสย้ำถามถึงครั้งที่ ๓ จึงยอมรับว่าเป็นความจริง.
มาณพที่มาด้วย จึงอื้ออึง ประณามว่า อัมพัฏฐมาณพเป็นลูกทาสี มีชาติไม่ดี พระสมณโคดมพูดเป็นธรรม เราหลงรุกรานว่าพูดไม่ถูก.
พระผู้มีพระภาคทรงเห็นมาณพเหล่านั้นกลับไปรุกรานอัมพัฏฐมาณพเช่นนั้น ก็ตรัสห้าม และทรงเล่าถึงความยิ่งใหญ่ของกัณหะ ( บุตรทาสี) ผู้เดินทางไปเรียนพรหมมนต์ ณ ชนบทภาคใต้ แล้วกลับมาขอพระราชธิดาของพระเจ้าโอกกากราชนามว่า มัททรูปี ครั้งแรกพระเจ้าโอกกากราชไม่พระราชทาน ในที่สุดก็พระราชทาน เพราะเกรงฤทธิ์ของกัณหะ ( เป็นการตรัสช่วยแก้หน้าให้แก่อัมพัฏฐมาณพ).
ต่อจากนั้นตรัสถามถึงประเพณีนิยม เพื่อให้อัมพัฏฐมาณพตอบเป็นข้อ ๆ เกี่ยวกับกษัตริย์ กับพราหมณ์ใครจะสูงกว่ากัน ( เพื่อให้คลายความถือดี) คือ:-
๑. บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นกษัตริย์ มารดาเป็นพราหมณ์ จะได้อาสนะ ( ที่นั้ง) และน้ำ ในพวกพราหมณ์หรือไม่ ? ตอบว่า ได้. พวกพราหมณ์จะยอมให้บริโภคอาหารในพิธีสารท ( อาหารอุทิศให้ผู้ตาย) ในพิธีถาลิปากะ ( อาหารเนื่องในงานมงคล) ในยัญญพิธี ( อาหารในการบูชายัญ) และในปาหุนะ ( อาหารต้อนรับแขก) หรือไม่? ตอบว่า ย่อมให้บริโภค . พวกพรามหณ์จะสอนมนต์ให้หรือไม่ ? ตอบว่า สอน. จะห้ามผู้นั้นแต่งงานกับสตรีพราหมณ์หรือไม่ ? ตอบว่า ไม่ห้าม . จะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์หรือไม่ ? ตอบว่า ไม่ ถามว่า เพราะเหตุใด ? ตอบว่า เพราะยังไม่บริสุทธิ์ฝ่ายมารดา.
๒. บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นพราหมณ์ มารดาเป็นกษัตริย์ จะได้ที่นั่ง ได้น้ำ เป็นต้นหรือไม่ ? ตอบว่า ได้ จะห้ามผู้นั้นแต่งงานกับสตรีพราหมณ์หรือไม่ ? ตอบว่า ไม่ห้าม . จะได้อภิเษกเป็นกษัตริย์หรือไม่ ? ตอบว่า ไม่. ถามว่า เพราะเหตุไร ? ตอบว่า เพราะยังไม่บริสุทธิ์ฝ่ายบิดา.
( ตรัสสรุปเพียงชั้นนี้ก่อนว่า นี่แหละเมื่อเปรียบหญิงกับหญิง เปรียบชายกับชายกันแล้ว กษัตริย์ก็ประเสริฐกว่า และพราหมณ์เลวกว่า. ( เพราะอัมพัฏฐมาณพยอมรับรองตามประเพณีนิยมว่า กษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับพราหมณ์ ทำให้กษัตริย์ไม่บริสุทธิ์ ).
ครั้นแล้วตรัสถามต่อไปว่า
๓. พราหมณ์ที่ถูกลงโทษโกนศีรษะ ถูกเอาขี้เถ้าโรยศีรษะ ถูกเนรเทศจากรัฏฐะ หรือจากนครจะได้นั่งและน้ำในพวกพรามหณ์หรือไม่ ? ตอบว่า ไม่ได้. จะร่วมบริโภคอาหารในพิธีกรรมต่าง ๆ หรือไม่ ? ตอบว่า ไม่ได้. พราหมณ์จะสอนมนต์ให้หรือไม่ ? ตอบว่า ไม่. จะถูกห้ามแต่งงานกับสตรีพราหมณ์หรือไม่ ? ตอบว่า ถูกห้าม.
๔. กษัตริย์ที่ถูกลงโทษโกนศีรษะ ถูกเอาขี้เถ้าโรยบนศีรษะ ถูกเนรเทศจากรัฏฐะ หรือจากนครจะได้ที่นั่งและน้ำในพวกพราหมณ์หรือไม่? ตอบว่า ได้. จะได้ร่วมบริโภคอาหารในพิธีกรรมต่าง ๆ หรือไม่ ? ตอบว่า ได้. พราหมณ์จะสอนให้หรือไม่ ? ตอบว่า สอน . จะถูกห้ามแต่งงานกับสตรีพราหมณ์หรือไม่ ? ตอบว่า ไม่ห้าม.
จึงสรุปให้เป็นว่ากษัตริย์ประเสริฐกว่าพราหมณ์ แล้วตรัสรับรองภาษิตของพรหมชื่อสนังกุมารที่ว่า
“ ในหมู่ชนที่ถือโคตร กษัตริย์ประเสริฐสุด แต่ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ( ความรู้สึกและความประพฤติ) ผู้นั้นประเสริฐสุดในเทวดาและมนุษย์ .” ( สุภาษิตนี้ ถือว่าความรู้ความประพฤติสำคัญกว่าชาติสกุล ).
เมื่ออัมพัฏฐมาณพกราบทูลถามว่า ความประพฤติและความรู้นั้นเป็นอย่างไร จึงตรัสตอบเป็นใจความว่า
“ ใครก็ตามยังถือชาติ ถือโคตร ถือตัว ถืออาวาหะ วิวาหะ คนเหล่านั้นย่อมอยู่ห่างไกลจากความรู้และความประพฤติอันยอดเยี่ยม ต่อเมื่อละความถือชาติ ถือโคตร ถือตัว ถืออาวาหะ วิวาหะได้ จึงจะทำให้แจ้งได้ซึ่งความรู้และความประพฤติอันยอดเยี่ยม.”
ครั้นแล้วตรัสอธิบายถึงการที่กุลบุตรออกบวชตั้งอยู่ในศีลธรรม บำเพ็ญฌาน ๔ และวิชชา ๘ ( ดังที่กล่าวแล้วในสามัญญผลสูตร) ว่า ชื่อว่าสมบูรณ์ ด้วยความรู้และความประพฤติอย่างยอดเยี่ยม ไม่มีความรู้ความประพฤติอื่นยิ่งกว่า
ครั้นแล้วได้ทรงแสดงปากทางแห่งความเสื่อม ๔ ประการของความสมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤตินัน คือสมณพราหมณ์ผู้มิได้บรรลุความรู้และความประพฤตินั้น
๑. หาบบริขารของนักบวชออกป่ากินผลไม้ที่ตก
๒. ทำอย่างข้อ ไม่ได้ จึงถือจอบและตะกร้าออกป่ากินเผือกมันผลไม้
๓. ทำอย่างข้อ ๑ - ๒ ไม่ได้ จึงสร้างโรงบูชาไฟที่ท้ายคามหรือนิคม บำเรอไฟอยู่ ( คอยหาเชื่อเพลิงใส่ไฟมิให้ดับ เป็นการบำเรอไฟหรืออัคนีเทพ)
๔. ทำอย่างข้อ ๑ - ๒ - ๓ ไม่ได้ ก็ปลูกบ้าน มีประตู ๔ ด้าน ในถนน ๔ แยก เพื่อคอยบูชาสมณพราหมณ์ซึ่งเดินทางมาแต่ ๔ ทิศ ตามกำลังความสามารถ. ( อรรถกถาอธิบายว่า เอาดีทางคุณธรรมชั้นสูงไม่ได้ ก็เอาดีทางบวชเป็นดาบส).
ครั้นแล้วตรัสถามอัมพัฏฐมาณพว่า ตัวอัมพัฏฐมาณพพร้อมทั้งอาจารย์ สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติดังกล่าวหรือเปล่าเมื่อตอบว่า เปล่า และยังห่างไกลจากคุณสมบัติเช่นนั้น จึงตรัสถามต่อไปว่า เพียงกระทำแบบดาบส ๔ ประเภทนั้น ทำได้หรือเปล่า ตอบว่า ทำไม่ได้ จึงตรัสสรุปให้ฟังให้ฟังว่า ตัวอัมพัฏฐมาณพพร้อมทั้งอาจารรย์ เสื่อมจากความสมบูรณ์ด้วยความรู้ความประพฤติ ( วิชชาจรณะ) อันยอดเยี่ยมและเสื่อมจากปากทางแห่งความเสื่อม ๔ อย่างของความรู้และความประพฤตินั้น ( เป็นการเตือนให้เห็นว่าที่ทนงตนมาแต่เดิมนั้น ที่แท้ก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย แม้ขนาดคุณสมบัติชั้นเลว ๆ ของผู้ไม่สามารถมีความรู้ความประพฤติอันยอดเยี่ยมนั้น คือเพียงแค่ทำอย่างดาบส ก็ทำไม่ได้).
ครั้นแล้วทรงแสดงถึงความผิดพลาดของโปกขรสาติพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของอัมพัฏฐมาณพ ) ๒ ประการ คือ ๑. พูดว่า “ สมณศีรษะโล้นเป็รไพร่ เป็นพวกดำ เป็นผู้เกิดจากเท้าพรหม จะเจรจากับพราหมณ์ ผู้รู้วิชชา ๓ ( รู้ไตรเพท) ได้อย่างไร.” แต่ตัวเองก็เสื่อมหรือไม่มีวิชชานั้นบริบูรณ์อะไรเลย . ๒ บริโภคของพระราชทานจากพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ไม่โปรดให้โปกขรสาติพราหมณ์นั้นอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์ เมื่อจะทรงปรึกษาอะไรด้วยก็ทรงปรึกษาโดยมีม่านกั้น. โปกขรสาติพราหมณ์รับภิกษาที่เป็นของพระราชทานโดยธรรม แต่ทำไมเล่าพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงไม่ทรงอนุญาตให้พราหมณ์นั้นอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์. ๑.
แล้วตรัสถามอัมพัฏฐมาณพว่า เพียงที่คนวรรณะศูทรหรือทาสของศูทรยืนในที่ซึ่งทรงพระเจ้าปเสนทิประทับบนคอช้าง หรือประทับยืนบนเครื่องลาดเพื่อเสด็จขึ้นสู่รถ หรือในที่ซึ่งทรงปรึกษาเรื่องอะไร ๆ กับมหาอำมาตย์ผู้ใหญ่หรือกับเจ้านาย แล้วคนวรรณะศูทรหรือทาสของศูทรเหล่านั้นกล่าวถ้อยคำว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลมีพระราชดำรัสอย่างนี้ ๆ ( พูดเลียนพระราชดำรัส) จะทำให้ศูทรหรือทาสของศูทรกลายเป็นพระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ไปได้หรือไม่ . เมื่ออัมพัฏฐมาณพตอบว่า เป็นไม่ได้ จึงตรัสเปรียบเทียบให้ฟังว่า พวกพราหมณ์สมัยนี้พากับสวดหรือกล่าวตามบทแห่งมนต์เก่าแก่ ซึ่งพวกฤษีรุ่นก่อน ๆ ได้เคยสวดมาแล้ว เช่น ฤษีอัฏฐกะ วามเทพ เวสสามิตต์ (วิศวามิตร) ยมตัคคี อังคีรส ภารัทวาชะ วาเสฏฐ กัสสปะ ภคุ ตัวอัมพัฏฐมาณพ พร้อมด้วยอาจารย์ก็เรียนมนต์เหล่านั้น เพียงเท่านั้นจะทำให้อัมพัฏฐมาณพเป็นฤษีหรือหรือผู้ปฏิบัติเพื่อเป็นฤษีได้หรือไม่. อัมพัฏฐมาณพตอบว่า เป็นไม่ได้.
แล้วตรัสถามว่า พวกฤษีรุ่นก่อน ๆ เพียบพร้อมไปด้วยกามคุณ ๕ บริโภคอาหารดี ๆ มีสตรีผู้ประดับด้วยผ้าและสายรัดเอวคอยบำเรอ ขี่รถเทียมด้วยม้า ใช้ปฏักยาว ๆ แทงสัตว์พาหนะ เที่ยวไปในที่ต่าง ๆ มีบุรุษผูกสอดดาบยาวคอยอารักขาในนคร ซึ่งมีเครื่องอุปกรณ์พร้อมสรรพ มีคูอันขุดไว้ มีซี่เหล็กอันยกขึ้นไว้ ( ที่ประตู) เหมือนอย่างตัวท่าน ท่าน พร้อมด้วยอาจารย์ในสมัยนี้หรือไม่. อัมพัฏฐมาณพตอบว่า ฤษีรุ่นก่อน ๆ ไม่ทำอย่างนี้ จึงสรุปให้เห็นว่า อัมพัฏฐมาณพ พร้อมทั้งอาจารย์มิได้เป็นฤษี หรือผู้ปฏิบัติเพื่อเป็นฤษี.
อัมพัฏฐมาณพได้สังเกตพระพุทธลักษณะ แต่ยังมีอยู่บางข้อที่เห็นไม่ได้ เช่น พระคุยหฐาน ตั้งอยู่ในฝัก และพระชิวหา (ใหญ่ยาว) พอจะปิดพระพักตร์ และช่องพระนาสิกพระโสตได้ พระผู้มีพระภาคจึบทรงแสดงอิทาภิสังขาร ( แสดงฤทธิ์) และทรงกระทำให้เห็นได้.
อัมพัฏฐมาณพกลับไปเล่าให้โปกขรสาติพราหมณ์ฟังทุกประการ โปกขรสาติพราหมณ์โกรธที่อัมพฏฐมาณพไปรุกรานพระผู้มีพระภาค จึงใช้เท้าเตะ และใครจะไปเฝ่า แต่พวกพราหมณ์ค้านว่าค่ำแล้วควรไปในวันรุ่งขึ้น.
แต่โปขรสาติพราหมณ์คงไปจนได้ โดยให้จุดคบเพลิง เมื่อไปเฝ่ากราบทูลถามเรื่องที่โต้ตอบกับอัมพัฏฐมาณพแล้ว จึงกราบขอโทษแทนอัมพัฏฐมาณพ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็มีพระพุทธดำรัสว่า อัมพัฏฐมาณพจงเป็นสุขเถิด.
โปกขรสาติพราหมณ์พิจารณาพระพุทธลักษณะและได้เห็นครบ ๓๒ ( ต้องตามลักษณะมนต์ของตน) แต่ ๒ ข้อเห็นไม่ได้ พระผู้มีพระภาคต้องทรงแสดงฤทธิ์และทำให้เห็น แล้วจึงอาราธนาพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉันในวันรุ่งขึ้น และเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อถวายภัตตาหารแล้ว ได้สดับพระธรรมเทศนาเรื่องอนุบุพพิกา ๒. และอริยสัจจ์ ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงประกาศตน พร้อมทั้งบุตร ภริยา บริษัทและอำมาตย์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
๔ โสณทัณฑสูตร
สูตรว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโสณทัฑะ
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นอังคะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ กรุงจัมปา ประทับที่ริมฝั่งสระน้ำชื่อคัคครา.
ครั้งนั้นพราหมณ์ชื่อโสณฑัณฑะได้รับพระราชทานจากพระเจ้าพิมพิสารให้ครองกรุงจัมปา พราหมณ์คฤหบดีชาวกรุงจัมปาได้ทราบว่าพระผู้มีพระภาคประทับ ณ ริมสระน้ำชื่อคัคครา และพระองค์เป็นผู้มีกิตติศัพท์ ขจรขจายไปว่า เป็นพระอรหันตสัมพุทธเจ้าและอื่น ๆ อีก จึงชวนกันเดินทางไปเพื่อจะเฝ้าเป็นกลุ่ม ๆ .
โสณฑัณฑพราหมณ์ซึ่งเข้านอนกลางวันชั้นบนปราสาท มองเห็นพราหมณ์คฤหบดีชาวกรุงจำปาเดินทางไปเป็นกลุ่ม ๆ เช่นนั้น จึงเรียกมหาอำมาตย์ สนองโอฐ ๓. ( ขัตตะ) มาถาม ทราบความแล้ว จึงสั่งให้คนเหล่านั้นคอย เพื่อตนจะได้ร่วมเดินทางไปด้วย.
พวกพรามหณ์ชาวต่างแดนประมาณ ๕๐๐ คนที่มาพักในกรุงจัมปาด้วยกรณียกิจบางอย่าง ทราบว่าโสณทัณฑพราหมณ์จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็เข้าไปห้ามไว้ อ้างความยิ่งใหญ่ของโสณทัณฑพราหมณ์โดยชาติโดยทรัพย์ โดยมีมาณพเป็นอันมากมาจากทิศ ต่างชนบท เพื่อเรียกมนต์ โดยเป็นผู้แก่กว่าพระสมณโคดมโดยเป็นผู้ได้รับความเคารพนับถือจากพระเจ้าพิมพิสารและโปกขรสาติพราหมณ์ โดยเป็นผู้ครองกรุงจำปาจึงไม่ควรไปหาพระสมณโคดม ควรที่พระสมณโคดมจะมาหามากกว่า.
โสณทัณฑพราหมณ์ตอบอ้างความยิ่งใหญ่ของพระผู้มีพระภาคโดยพระชาติ โดยสละทรัพย์สมบัติออกบวชผนวช โดยมีพระรูปงดงาม โดยมีศีล มีถ้อยคำไพเราะ โดยเป็นอาจารย์ของคนมาก โดยเป็นผู้สิ้นกามราคะ โดยเป็นกัมมวาที กริยาวาที ( กล่าวว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ) โดยออกบวชจากสกุลกษัตริย์อันสูง ไม่เจือปน ( สกุลอื่น ) โดยออกบวชจากสกุลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีคนจากรัฐอื่น จากชนบทอื่นมากกราบทูลถามปัญหา มีเทพดาอเนกนับหลายพันพากันไปถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ มีกิตติศัพท์ขจรขจายไปว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น โดยประกอบด้วยมหาปริสลักษณะ ๓๒ ประการ โดยทรงต้อนรับปราศัยให้บันเทิง มีบริษัท ๔ เคารพนับถือ มีเทวาและมนุษย์ทั้งหลายเลื่อมใสยิ่ง ประทับในคามนิคมใด ๆ อมนุษย์ก็ไม่เบียดเบียนในที่นั้น โดยมีผู้กล่าวว่า ทรงเป็นคณาจารย์เลิศกว่าเจ้าลัทธิเป็นอันมาก มีพระยศเฟื่องฟุ้งไปเพราะความรู้ ความประพฤติ ( วิชชา จรณะ) ไม่เหมือนสมณพราหมณ์เหล่านั้น .
พระเจ้าพิมพิสาร พร้อมทั้งโอรสมเหสี บริษัทและอำมาตย์, พระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งโอรส ฯลฯ โบกขรสาติพราหมณ์ พร้อมทั้งบุตรภริยา ฯลฯ ก็ถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ เมื่อเสด็จมา จึงชื่อว่าเป็นแขกที่เราจะพึงถวายความเคารพสักการะเพราเหตุนี้ จึงไม่ควรที่จะให้พระองค์เสด็จมาหาเรา ควรที่เราจะไปเฝ้าพระองค์. เมื่อโสณทัณฑพราหมณ์กล่าวพรรณราพระพุทธคุณอย่างนี้ พรามหณ์ที่คัดค้านก็กล่าวว่า ถ้าพระสมณะโคดมเป็นเช่นที่ท่านกล่าวนี้แม้อยู่ไกลร้อยโยชน์ก็ควรจะสะพายเสบียงเดินทางไปเฝ้า.
ขณะที่ไปเฝ้านั้น โสณทัณฑพราหมณ์เกิดความปริวิตกว่า ตนจะถามปัญหาไม่ได้ดีบ้าง จะตอบปัญหาไม่ได้ดีบ้าง ครั้นจะไปพอใกล้แล้วกลับเสีย ก็จะถูกหาว่าเป็นคนโง่ จึงกลัวไม่กล้าเข้าใกล้บ้าง ความผิดพลาดแต่ละข้อนี้จะทำให้บริษัทจับผิด เป็นเหตุให้เสื่อมยศ เสื่อมทรัพย์.
แต่พระผู้มีพระภาคทรงรู้วาระจิตของพราหมณ์ จึบทรงเลือกถามปัญหาที่โสณทัณฑพราหมณ์เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ คือปัญหาไตรเพท ซึ่งทำให้โสณทัณฑพราหมณ์ดีใจมาก คือตรัสถามว่า ผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติกี่อย่างจึงบัญยัติว่าเป็นพราหมณ์ และควรเรียกตัวเองได้ว่าเป็นพรามหณ์
โสณทัณฑพราหมณ์ตอบว่า ๑. มีชาติดี คือเกิดจากมารดาบิดาเป็นพราหมณ์ สืบสายมา ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ๒. ท่องจำมนต์ในพระเวทได้ ๓. มีรูปงาม ๔. มีศีล ๕. เป็นผู้ฉลาดมีปัญญา.
ตรัสถามว่า ใน ๕ อย่างนี้ ถ้าลดลงเสีย ๑ เหลือ ๔ พอจะกำหนดคุณสมบัติของผู้ควรเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่. โสณทัณฑพราหมณ์ตอบว่า ตัดข้อมีผิวพรรณดีออก.
ตรัสถามว่า ถ้าลดลงเสียอีก ๑ เหลือ ๓ จะลดอะไร โสณทัณฑพรามหณ์ลดข้อท่องจำมนต์.
ตรัสถามว่า ถ้าลดลงเสียอีก ๑ เหลือ ๒ จะลดอะไร โสณทัณฑพราหมณ์ลดข้อที่เกี่ยวกับชาติ คือกำเนิดจากมารดาบิดาเป็ณพราหมณ์.
พอลดข้อนี้ พวกพราหมณ์ที่มาด้วย ก็ช่วยกันของร้องว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น เพราะเป็นการกล่าวกระทบผิวพรรณ กระทบมนต์ กระทบชาติ จะเสียทีแก่พระสมณโคดม.
โสณทัณฑพราหมณ์ก็โต้ตอบว่า หลานของตนคืออังคกะมาณพที่นั่งอยู่ในที่ประชุมนี้ มีผิวพรรณดี ท่องจำมนต์ได้ดี เกิดดีจากมารดาบิดามารดาทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นพราหมณ์สืบต่อมา ๗ ชั่วบรรพบุรุษ แต่ก็ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มน้ำเมา. ผิวพรรณ มนต์ ชาติ จะทำอะไรได้. เมื่อใดพราหมณ์เป็นศีล มีปัญญา รวม ๒ คุณสมบัตินี้ จึงควรบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ และควรเรียกตัวเองว่าเป็นพราหมณ์.
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ถ้าลดเสีย ๑ เหลือ ๑ พอจะกำหนดคุณสมบัติของผู้ควรเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่. โสณทัณฑพราหมณ์กราบทูลว่า ลดไม่ได้ เพราะศีลชำระปัญญา ปัญญาชำระศีล ในที่ใดมีศีลในที่นั้นมีปัญญา ในที่ใดมีปัญญาในที่นั้นมีศีล ศีลกับปัญญากล่าวได้ว่าเป็นยอดในโลก เปรียบเหมือนใช้มือล้างมือใช้เท้าล้างเท้า ศีลกับปัญญาก็ชำระกันและกันฉันนั้น.
พระผู้มีพระภาคตรัสรับรองภาษิตของโสณทัณฑพราหมณ์ว่าถูกต้อง และตรัสถามต่อไปว่า ศีลเป็นอย่างไร ? ปัญญาเป็นอย่างไร ? โสณทัณฑพราหมณ์จึงกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคตรัสอธิบาย.
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถึงการที่บุคคลเลื่อมใสในพระองค์ ออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ในศีล ๓ ชั้น ( ดั่งในสามัญญผลสูตร) บำเพ็ญสมาธิจนได้บรรลุฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และได้วิชา ๘ มีวิปัสสนาญาณ เป็นต้น มีอาสวักขยญาณเป็นที่สุด ( ดั่งได้กล่าวไว้แล้วในสามัญญผลสูตร) เป็นอันตรัสอธิบายถึงศีลและอธิบายถึงปัญญา ( รอบยอดที่ปัญญาอันทำให้สิ้นอาสวะคือกิเลสที่หมักดองในสันดาน).
เมื่อพระผู้มีพระภาคแสดงธรรมจบ โสณทัณฑพราหมณ์กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต แล้วอาราธนาพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ฉันในวันรุ่งขึ้น.
ครั้นรุ่งขึ้นถวายภัตตาหารเสร็จแล้ว จึงกราบทูลว่า ถ้าตนอยู่ในบริษัท ลุกขึ้นจากอาสนะกราบถวายบังคมก็ตาม ถ้าไปในยาม ลงจากยานกราบถวายบังคมก็ตาม พวกบริษัทก็จะจับผิดได้ เป็นเหตุให้เสื่อมยศเมื่อยศเสื่อมก็จะทำให้เสื่อมทรัพย์ เพราะได้ทรัพย์มาเพราะยศ. ถ้าตนไปในบริษัทประคองอัญชลี ขอให้ทรงถือว่าตนลุกขึ้นจากอาสนะ ถ้าไปในยานยกปฏักขึ้น ขอให้ทรงถือว่าตนลงจากยาน ถ้าเบี่ยงร่ม ๔. ขอให้ทรงถือว่าตนกราบถวายบังคมด้วยเศียรเกล้า.
( หมายเหตุ พระสูตรนี้แสดงว่าโสณทัณฑพราหมณ์ยอมตัดความสำคัญเรื่องผิวพรรณ เรื่องมนต์เรื่องชาตกำเนิดพราหมณ์ทิ้ง ให้เหลือแต่ศีลกับปัญญา ก็ทำให้คนเป็นพราหมณ์ได้ อันเข้ากับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคจึงประทานสาธุการรับรองภาษิตของพราหมณ์นั้น.
ศาสตราจารย์ ริดส์เดวิดส์ เห็นว่า แม้ทางพระพุทธศาสนาจะเสนอหลักการแบบนี้ ก็ทำการเลิกล้มความคิดเห็นของพราหมณ์ไม่สำเร็จ พราหมณ์ยังคงถือชาติเป็นสำคัญตลอดมา แต่ผู้เขียนเห็นว่า พระพุทธเจ้ามิได้ทรงแทรกแซงความเชื่อถือของพราหมณ์ ใครจะถือก็ถือไป แต่หลักธรรมมีอยู่อย่างนี้ ก็ทรงแสดงให้ฟัง ผลที่ปรากฏก็มีอยู่คือพราหมณ์ที่เข้ามานับถือพระพุทธศาสนามิใช่น้อย พากันถือตามหลักธรรมพระพุทธศาสนา เข้าทำนองว่า เมื่อเราไม่สามารถจะเกี่ยวหญ้ามุ่งทุ่งทั้งทุ่งได้ อย่างน้อยเอามามุงหลังคาเฉพาะของเราเอง ก็ยังดีกว่าตากแดดตากฝนไปตามคนอื่น ยิ่งในสมัยนี้ รัฐธรรมนูญอินเดียไม่ยอมรับรองสิทธิพิเศษของชาติชั้นวรรณะ ผู้นำอินเดียพากันสดุดีหลักธรรมเรื่องนี้ของพระพุทธเจ้า ก็ยิ่งเห็นกันขึ้นว่า หลักธรรมนี้เป็นประเสริฐอย่างไร).
________________________________________
๑. แสดงว่าความจริงพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงปฏิบัติต่อพราหมณ์ไม่ใช่ในฐานะสูงศักดิ์กว่าพระองค์อย่างไรเลย แม้เช่นนั้น พราหมณ์นั้นก็ยังยกย่องตัวเองว่าสูงกว่ากษัตริย์
๒. การสอนเรื่องทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์ในการออกบวช
๓. ฝรั่งแปลว่า คนเฝ้าประตู แต่อรรกถาอธิบายว่า เป็นมหาอำมาตย์ผู้สามารถในการตอบคำถาม
๔. ตรงนี้ฉบับแปลภาษาอังกฤษของศาสตราจารย์ ริดส์ เดวิดส์ ผิดไปอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าน้อมปฏักลง ให้ถือว่าลงจากยาน ถ้าโปกมือ ให้ถือว่าก้มลงถวายบังคม โปรดดูฉบับอังกฤษ หน้า ๑๕๘ และ ๒๕๙
________________________________________
๕ กูฏทัตสูตร
สูตรว่าด้วยกูฏทันตพราหมณ์ ( พราหมณ์ฟันเขยิน )
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ บ้านพราหมณ์ชื่อขานุมัตตะ ประทับ ณ อัมพลัฏฐิกา ( สวนมะม่วงหนุ่ม).
สมัยนั้นกูฏทันตราหมณ์ครอบครองหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อขานุมัตตะ ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานให้. อนึ่ง กูฏทันตพราหมณ์เตรียมประกอบยัญญพิธี เอาโคผู้ ๗๐๐ , ลูกโคผู้ ๗๐๐, ลูกโคเมีย ๗๐๐ , แพะ ๗๐๐ แกะ ๗๐๐ ?๑. ผูกติดไว้กันเสา เพื่อเตรียมบูชายัญ.
พราหมณ์คฤหบดีชาวขานุมัตตะได้ทราบเรื่องว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมา และเป็นผู้มีกิตติศัพท์ขจรขจายไปว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ก็เดินไปเป็นหมู่ ๆ เพื่อเฝ้า กูฏทันตพราหมณ์เห็นเข้า ( เช่นเดียวกับเรื่องโสณทัณฑพราหมณ์) ถามทราบเรื่องก็สั่งให้รอ ตนจะร่วมไปเฝ้าด้วย แต่ถูกพราหมณ์ที่เดินทางมา ( เพื่อรับของถวาย) ในมหายัญคัดค้าน และกูฏทันตพราหมณ์โต้ตอบ ( เช่นเดียวกับเรื่องโสณทันฑพราหมณ์) ในที่สุดจึงร่วมกันไปเฝ้าทั้งหมด.
กูฏทันตพราหมณ์จึงกราบทูลถามให้ทรงอธิบายถึงยัญญสัมปทา ( ความถึงพร้อม คือสมบูรณ์แห่งยัญ ๓ ประการ อันมีส่วนประกอบ ( บริขาร) ๑๖ อย่าง).
พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าถึงพระเจ้ามหาวิชิตะในอดีตกาลผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ได้ชัยชนะปฐมมณฑลอันยิ่งใหญ่ ใคร่จะบูชามหายัญ เพื่อประโยชน์และความสุข จึงตรัสเรียกพราหมณ์ปุโรหิตมาให้ช่วยสอนวิธีบูชามหายัญนั้น.
พราหมณ์ปุโรหิตแนะนำให้ปราบโจรผู้ร้ายก่อน แต่ไม่ใช่ด้วยวิธี แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีฆ่าหรือจองจำ เพราะพวกที่เหลือจากถูกฆ่าก็จะเบียดเบียนชนบทในภายหลัง ( ตัวตายตัวแทน) โดยที่แท้ควรถอนรากโจรผู้ร้าย ( ด้วยวิธีจดการทางเศรษฐกิจให้ดี) คือแจกพืชแก่กสิกรในชนบทที่อุตสาหะประกอบอาชีพ ให้ทุนแก่พ่อค้าที่อุตสาหะในการค้าให้อาหาร และค่าจ้างข้าราชการ ( ให้ทุกคนมีอาชีพมีรายได้) พระราชทรัพย์ก็เพิ่มพูน ชนบทก็จะไม่มีเสี้ยนหนาม มนุษย์ทั้งหลายก็จะรื่นเริงอุ้มบุตรให้ฟ้อนอยู่ที่อก ไม่ต้องปิดประตูเรือน.
เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตะทรงทำตามคำแนะนำนั้นก็ได้ผลดี จึงตรัสเรียกพราหมณ์ปุโรหิตมา ขอให้สอนเรื่องการบูชามหายัญ. พราหมณ์ปุโรหิตจึงแนะนำให้ขออนุญาตบูชามหายัญ โดยแจ้งให้กษัตริย์ผู้น้อยกว่าที่อยู่ในนิคมชนบท, อำมาตย์ ข้าราชการบริพารที่อยู่ในนิคมชนบท, พราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมชนบท , คฤหบดีที่อยู่ในนิคมชนบทได้ทราบเรื่อง และอนุญาตให้บูชามหายัญ. เมื่อทรงปฏิบัติตามนั้นก็ได้รับอนุญาตจากบุคคลทั้งสี่ประเภทเหล่านั้น . นี้นับเป็นฝ่ายอนุมัติ ๔ ซึ่งเป็นเครื่องประกอบของยัญนั้น.
องค์พระเจ้ามหาวิชิตะเอง ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ ประการ คือ ๑. มีชาติดี ๒ มีรูปร่างงาม ๓. มีทรัพย์มาก ๔. มีกำลังรบ ๕. มีศรัทธาบริจากทาน ๖. สดับตรับฟังมาก ( มีการศึกษาดี) ๗. รู้ความหมายของภาษิตนั้น ๆ ( อธิบายความหมายได้) ๘. เป็นผู้ฉลาดมีปัญญา. คุณสมบัติ ๘ ประการนี้เป็นเครื่องประกอบของยัญนั้น.
คุณสมบัติพราหมณ์ปุโรหิตอีก ๔ คือ ๑. มีชาติดี ๒. ท่องจำมนต์ได้ ๓. มีศีล ๔. เป็นผู้ฉลาดมีปัญญา คุณสมบัติ ๔ ประการนี้เป็นเครื่องประกอบของยัญนั้น. ( รวมเป็น ๑๖ คือฝ่ายอนุมัติ ๔ คุณสมบัติของราชา ๘ คุณสมบัติของปุโรหิต ๔).
ต่อไปพราหมณ์จึงแสดงปุโรหิตจึงแสดงถึง ยัญ ๓ ประการ คือต้องไม่มีความเดือดร้อนใจว่า โภคทรัพย์เป็นมาก ๑ . จักหมดไป ๒. กำลังหมดไป ๓. หมดไปแล้ว.
แล้วพราหมณ์ปุโรหิตได้แสดงถึงการบันเทาความเดือดร้อนใจของผู้บูชายัญที่จะพึงมีในฝ่ายผู้รับทาน ๑๐ ประการ คือผู้ฆ่าสัตว์, ผู้ลักทรัพย์. ผู้ผิดในกาม, ผู้พูดปด, ผู้พูดเสียด, ผู้พูดคำหยาบ, ผู้พูดเพ้อเจ้อ. ผู้ละโมภบอยากได้ของคนอื่น , ผู้พยาบาทปองร้ายผู้อื่น , ผู้เห็นผิดทำนองคลองธรรม อาจมาสู่ยัญญพิธี โดยตั้งใจว่ายัญนี้อุทิศผู้ที่ปฏิบัติดี ตรงกันข้ามกับฝ่ายชั่ว ๑ ประการ.
เมื่อมีเครื่องประกอบยัญ ๑๖ ประการดั่งต่อไปนี้ ก็ไม่มีผู้ใดกล่าวติเตียนได้โดยธรรม.
ครั้นแล้วได้แสดงวิธีบูชาต่อไป ในยัญนั้น ไม่มีการฆ่าโค , แพะ , แกะ, ไก่ , สุกรและวัตว์ต่าง ๆ ก็ไม่ต้องถึงความพินาศ, ไม่มีการตัดต้นไม้ เพื่อสร้างปราสาท ( ต้อนรับผู้มาดูพิธี) ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคามาเพื่อแวดวงประดับโรงพิธี หรือเพื่อปูลาดกับพื้น พวกทาสีกรรมกรก็ไม่ต้องถูกขู่เข็ญลงโทษ มีหน้านองด้วยน้ำตาทำงาน ใครปรารถนาจะทำก็ทำ ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ เพราะยัญนั้นสำเร็จด้วยเนยใส, น้ำมัน, เนยข้น,น้ำผึ้ง น้ำอ้อย.
ผู้ที่เดินทางมาในการนี้ นำเครื่องบรรณาการมาถวาย พระเจ้ามหาวิชิตะก็ไม่ทรงรับ กลับตรัสให้นำของพระองค์เพื่มให้กลับไป แต่บุคคลเหล่านั้นไม่นำกลับ กลับสละตาม (คือแจกทานตามพระเจ้ามหาววิชิตะ) . ต่างตั้งยัญศาลาขึ้น ๔ ทิศ ( กษัตริย์ทิศบูรพา , อำมาตย์ทิศทักษิณ, พราหมณ์มหาศาลทิศประจิม, คฤหดีทิศอุดร) แจกทานร่วมในการนี้.
กูฏทันตพราหมณ์กราบทูลถามว่า ยังมียัญอื่นที่มีการเริ่มน้อยกว่า แต่มีผลมากกว่ายัญ ๓ บริขาร ๑๖ ที่กล่าวแล้วหรือไม่ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มี ก็ถามต่อไปอีกถึงยัญที่มีการริเริ่มน้อยกว่า แต่มีผลมากกว่า เป็นการถามตอบหลายวาระ. สิ่งที่มีการริเริ่มน้อยกว่า แต่มีผลมากกว่ากันโดยลำดับ ซึ่งผู้มีพระภาคตรัสตอบมีดังนี้ :-
๑. การให้ทานเป็นนิตย์ อุทิศผู้มีศีล.
๒. การสร้างวิหาร ( ที่อยู่) อุทิศสงฆ์ที่มาจาก ๔ ทิศ.
๓. การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ.
๔. การสมาทานศีล ๕ คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด และดื่มสุราเมรัย.
๕. การออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ในศีล ๓ ประเภท บำเพ็ญสมาธิจนได้ฌาน ๔ บำเพ็ญปัญญาจนได้วิชชา ๘ ( ดั่งกล่าวไว้แล้วในสามัญญผลสูตร).
กูฏทัตพราหมณ์มีความเลื่อมใสในพระธรรมเทศนา ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ปล่อยสัตว์อย่างละ ๗๐๐ หลายประเภทนั้นให้เป็นอิสระ และเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาต่อไป ( อนุบุพพกถาและอริยสัจจ์ ๔ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ( เป็นพระโสดาบัน).
( พระสูตรนี้ทำให้เห็นว่า เพียงการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะหรือการรักษาศีล ๕ ก็ยังผลมากกว่าการบำเพ็ญมหายัญใหญ่โต จึงน่าจะเป็นเครื่องเตือนใจผู้คิดทำบุญซึ่งมักจะบ่นว่าไม่มีทุนทำบุญ ให้ทราบว่าบุญนั้นไม่จำเป็นต้องลงทุนเอาทรัพย์แลกเสมอไป เพียงแต่การรักษาศีล ๕ ก็เป็นบุญอันสูงกว่านนั้น).
๖. มหาลิสูตร
สุตรว่าด้วยการโต้ตอบกับเจ้าฉวีชื่อมหาลิ
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ศาลาเรือนยอด ป่ามหาวัน กรุงไพศาลี พวกพราหมณ์ที่เป็นทูตชาวโกศลและชาวมคธมากหลาย ?๒. มีธุระไปพักอยู่ในกรุงไพศาลี ได้ทราบข่าวจึงจะพากันไปเฝ้าด้วย เจ้าลิจฉลีชื่อ โอฏฐัทธะ ( ปากแหว่ง ) ๓ พร้อมด้วยบริษัทก็ไปเฝ้าด้วย.
สมัยนั้น พระนาคิตะ เป็นพุทธอุปฐาก ไม่ยอมให้เข้าเฝ้า อ้างว่าพระผู้มีพระภาคกำลังทรงหลีกเร้น ( ทำความสงบ ) อยู่. สามเณรสีหะจึงเจรจากับพระนาคิตะให้บุคคลเหล่านั้นเข้าเฝ้า พระนาคิตะเกี่ยงให้สามเณรสีหะไปกราบทูลเอง.
เมื่อสามเณรสีหะไปกราบทูล จึงตรัสสั่งให้ปูอาสนะที่ร่มเงาด้านหลังวิหาร เสด็จไปต้อนรับบุคคลเหล่านั้น.
เมื่อตรัสปราศัยกับบุคคลเหล่าที่เข้าเฝ้าแล้ว โอฏฐัทธะ ลิจฉวี ก็กราบทูลถามเรื่องตาทิพย์ หูทิพย์ ว่ามีหรือไม่ ตรัสตอบว่า มี แล้วทรงแสดงเหตุผลว่า สุดแต่กำลังสมาธิที่เจริญให้มาก เพื่อให้มีตาทิพย์หรือหูทิพย์ และตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายมิได้ประพฤติพรามจรรย์ในสำนักของพระองค์เพื่อเจริญสมาธิ ( ที่เป็นเหตุให้ได้ตาทิพย์หูทิพย์เหล่านั้น) เพราะยังมีธรรมที่สูงกว่านั้นที่ควรทำให้แจ้ง คือ ๑. การทำสัญโญชน์ ( กิเลสที่ผูกมัด) ให้สิ้นไป ๓ ประการ อันทำให้เป็นพระโสดาบัน ๒. ทำสัญโญชน์ ๓ ประการนั้นให้สิ้น ทำระคะ โทสะ โมหะให้น้อยลง อันทำให้เป็นสกทาคามี ๓. ทำสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการให้สิ้น อันทำให้เป็นพระอนาคามี ๔. ทำอาสวะให้สิ้น ทำให้แจ้งความหลุดพ้นเพราะสมาธิ ( เจโตวิมุติ) และความหลุดพ้นเพราะปัญญา ( ปัญญาวิมุติ ) ?๔.
เมื่อโอฏฐัทธะ ลิจฉลี กราบทูลถามถึงข้อปฏิบัติที่ทำให้แจ้ง ( บรรลุ ) ธรรมเหล่านั้น ก็ตรัสแสดงมรรคองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ) เป็นต้น มีสัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ ) เป็นที่สุด.
ครั้นแล้วตรัสเล่าเรื่องมัณฑิยปริพพาชก กับชาลียปริพพาชกไปทูลถามพระองค์ เรื่องชีวะ กับ สรีระ มีข้อความอย่างเดียวกับข้อความในชาลียสูตร ซึ่งจะกล่าวต่อไปสูตรนี้ . เมื่อจบพระธรรมเทศนาโอฏฐัธะ ลิจฉวี ก็ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค.
( หมายเหตุ : โอฏฐัธะ ลิจฉวี มีชื่อเดิมว่า มหาลิ เวลาพระผู้มีพระภาคโต้ตอบด้วย ก็ทรงใช้ชื่อมหาลิ ).
๗. ชาลิยสูตร
สุตรว่าด้วยข้อความที่ตรัสโต้ตอบชาลิปริพพาชก
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โฆษิตตาราม กรุงโกสัมพี นักบวช ๒ คน คือ มัณฑิยปริพพาชกกับชาลิยะ ผู้เป็นศิษย์ของอาจารย์ผู้ใช้บาตรไม้ ( ชาลิยะ ทารุปัตติกะ) ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลถามปัญหาว่า ชีวะ ( สภาพที่เป็นอยู่ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ สภาพที่ครองสรีระ ในบางลัทธิเรียกจิตบ้าง อัตตาบ้าง) กับสรีระ เป็นอันเดียวกัน หรือเป็นคนละอัน.
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ บรรยายลักษณะของผู้ออกบวช ตั้งอยู่ในศีล บำเพ็ญสมาธิจนได้ฌาน ตั้งแต่ที่ ๑ ถึง ๔ และได้วิชา ๘ ( ตามที่กล่าวไว้แล้วในสามัญญผลสูตร) แล้วตรัสว่า ภิกษุผู้รู้เห็นอย่างนี้ไม่ควรกล่าวว่า ชีวะ กับสรีระ เป็นอันเดียวกัน หรือกล่าวว่า ชีวะ กับสรีระ เป็นคนละอัน พระองค์ทรงรู้ทรงเห็นอย่างนี้ จึงไม่ตรัสว่า ชีวะ กับสรีระ เป็นอันเดียวกันหรือต่างกัน.
เมื่อจบพระธรรมเทศนา นักบวช ๒ คนชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค.
๘. มหาสีหนาทสูตร
สูตรว่าด้วยการลือสีหนาท
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าที่ให้อภัยแก่เนื้อ ชื่อกัณณกถละ ใกล้เมืองอุชุญญา. นักบวชชีเปลือย ชื่อกัสสปได้เข้าไปเฝ้า กราบทูลถามว่า ได้ยินเขาพูดกันว่า พระสมโคดมทรงติการบำเพ็ญตบะทุกชนิดทรงกล่าวโทษผู้บำเพ็ญตบะ มีชีวิตอยู่อย่างปอน ๆ ใช่หรือไม่.
พระผู้มีพระะภาคตรัสตอบปฏิเสธ และทรงชี้แจงตามที่ทรงเห็นด้วยทิพย์จักษุว่า ผู้บำเพ็ญตบะมีชีวิตอยู่อย่างปอน ๆ บ้าง อยู่อย่างมีทุกข์น้อยบ้าง บางพวกตายไปแล้วเกิดในนรกก็มี บางพวกตายไปแล้วเข้าถึงสุตติโลกสวรรค์ก็มี เมื่อทรงรู้เห็นตามเป็นจริงอย่างนี้ จะตรัสการบำเพ็ญตบะทุกชนิด และกล่าวโทษผู้บำเพ็ญตบะที่มีชีวิตอยู่อย่างปอน ๆ ทำไมกัน.
แล้วตรัสว่า สมณพราหมณ์บางคนที่เป็นบัณฑิตละเอียดอ่อน แตกฉานด้วยปัญญา ย่อมกล่าวตรงกันข้ามกับพระองค์ในบางฐานะ ไม่ตรงกันในบางฐานะ
: ๑. บางข้อที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวว่าดี เรากล่าวว่าดี บางข้อที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวว่าไม่ดี เรากล่าวว่าไม่ดีก็มี,
๒. บางข้อที่สมณะพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวว่าดี เรากล่าวว่าไม่ดี บางข้อที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวว่าไม่ดี เรากล่าวว่าดีก็มี,
๓. บางข้อที่เรากล่าวว่าดี พวกอื่นกล่าวว่าดี บางข้อที่เรากล่าวว่าไม่ดี พวกอื่นกว่าว่าไม่ดีก็มี ,
๔. บางข้อเรากล่าวว่าดี พวกอื่นกล่าวว่าไม่ดี บางข้อเรากล่าวว่าไม่ดี พวกอื่นกล่าวว่าดีก็มี.
เราเคยเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้วกล่าวว่า ในฐานะที่กล่าวไม่ตรงกัน จงยกไว้ แต่ในข้อใดที่กล่าวตรงกัน ขอให้วิญญูชนสอบสวนเปรียบเทียบระหว่างศาสดากับศาสดา สงฆ์กับสงฆ์ดูเถิดว่า ธรรมเหล่าใดที่เป็นอกุศล มีโทษ ไม่ควรส้องเสพไม่ควรแก่อริยบุคคล เป็นธรรมฝ่ายดำ ใครเล่าละธรรมเหล่านี้ไม่ให้มีเหลือมากกว่ากัน พระสมณโคดมหรือคณาจารย์เหล่าอื่น ? มีฐานะอยู่ที่วิญญูชนสอบสวนแล้ว ก็สรรเสริญเรา ( พระผู้มีพระภาค) ในข้อนั้นโดยมาก. แม้ในธรรมที่เป็นกุศล ที่ว่าใครจะประพฤติปฏิบัติมากกว่ากัน ก็เป็นเช่นนั้น แม้ระหว่างสาวกกับสาวก ในส่วนที่เกี่ยวกับละอกุศล ประพฤติกุศล ก็เป็นเช่นนั้น คือวิญญูชนย่อมสรรเสริญสาวกของเราโดยมาก ๕ แล้วทรงแสดงมรรคมีองค์ ๘ ว่าเป็นข้อประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้เราเองเห็นเอง.”
ชีเปลือยชื่อกัสสปกราบทูลถึงข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ที่จัดเป็นความเป็นสมณะ ความเป็นผู้ประเสริฐ ?๖ เช่น การเปลือยกาย ยืนถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และกินอาหารเลียมือที่เลอะ อาหาร ( แทนการล้าง) เป็นต้น.
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ผู้ประพฤติเช่นนั้น ถ้าไม่เจริญ ไม่ทำให้เจริญแจ้งซึ่งความสมบูรณ์ด้วยศีล ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ และความสมบรูณ์ด้วยปัญญา ก็ชื่อว่าไกลจากความเป็นสมณะ ไกลจากความเป็นผู้ประเสริฐ. ต่อเมื่อเจริญเมตตาจิต อันไม่มีเวร ไม่มีความพยายาม และทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ( ความหลุดพ้นเพราะสมาธิ) และปัญญาวิมุติ ( ความหลุดพ้นเพราะปัญญา) อันปราศจากอาสวะได้ในปัจจุบัน นับเป็นสมณะเป็นพราหมณ์ได้.
ชีเปลือยชื่อกัสสปกล่าวต่อไปว่า การประพฤติตบะ ( แบบเปลือยกาย เป็นต้น) นั้น เป็นความเป็นสมณะ ความเป็นผู้ประเสริฐที่ทำได้ยาก. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เป็นปกติหรือธรรมดาในโลกที่ทำได้ยาก แต่การเจริญเมตตาจิต อันไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท และทำให้แจ้งเจโตวิมุติ อันปราศจากอาสวะได้ในปัจจุบัน เป็นความสมณะ และความเป็นผู้ประเสริฐที่ทำได้ยากกว่า.
ชีเปลือยชื่อกัสสปกล่าวต่อไปว่า สมณะพราหมณ์เป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เป็นปกติหรือธรรมดาในโลก ที่สมณะและพราหมณ์เป็นผู้รู้ได้ยาก แต่การเจริญเมตตาจิตแบบที่กล่าว และทำให้แจ้งเจโตวิมุต ปัญญาวิมุติ อันปราศจากอาสวะ รู้ได้ยากยิ่งกว่าบำเพ็ญตบะแบบเปลือยกาย เป็นต้น .
เมื่อชีเปลือยชื่อกัสสปกราบทูลถามถึงความสมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ว่าเป็นอย่างไร ก็ตรัสอธิบายถึงด้วยศีล ๓ ชั้น ฌาน ๔ และวิชชา ๘ ( อย่างที่ตรัสในสามัญญผลสูตร) ว่าเป็นความถึงพร้อมศีล สมาธิ ปัญญา โดยลำดับ.
ครั้นแล้วตรัสสรุปให้เห็นว่า พระองค์กล้าบรรลือสีหนาทในท่ามกลางบิรษัท กล้าตอบปัญญา และทำให้ผู้เลื่อมใสปฏิบัติตามได้ ( เพราะทรงประพฤติปฏิบัติได้ผลมาเองในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ข้างบนนั้น).
ชีเปลือยชื่นชมธรรมภาษิตของพระผู้มีพระภาค และขอบวช เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า จะต้องอบรมก่อน ๔ เดือนในฐานะที่เคยเป็นเดียรถีย์มาก่อน ก็กลับตอบว่า แม้อบรมถึง ๔ ปี ก็จะย่อม. ในที่สุดเมื่อบวชแล้วไม่นาน ก็ได้บรรลุอรหัตตผล ๗? .
๙ . โปฏฐปาทสูตร
สูตรว่าด้วยการโต้ตอบกับโปฏฐปาทปริพพาชก
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. เช้าวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จสู่กรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ทรงเห็นว่า ยังเช้านัก จึงเสด็จและไปที่มัลลการาม อันเป็นที่อยู่ของโปฏฐปาทปริพพาชก พร้อมด้วยบริษัทปริพพาชกประมาณ ๓,๐๐๐ คน โปฏฐปาทปริพพาชกได้กล่าวต้อนรับและนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ ตนเองนั่งเหนืออาสนะที่ต่ำกว่า.
ครั้นแล้วโปฏฐปาทปริพพาชกได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับอภิสัญญานิโรธ ( การดับความจำได้หมายรู้อันยิ่งใหญ่) โปรดดูในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๒๐๐ ประกอบด้วย) ซึ่งเคยเป็นปัญหาถกเถียงกันในหมู่สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิต่าง ๆ มาแล้ว รวม ๔ ประเด็น คือ ?:-
๑. สมณพราหมณ์บางพวกเห็นว่า สัญญา ( ความจำได้หมายรู้ - ในที่พึงสังเกตว่า ในสมัยนั้นบัญญัติเรียกสภาพที่ครองชีวิตร่างกายต่าง ๆ กัน เรียกว่าอัตตา ตัวตนบ้าง , ชีวะ สภาพที่เป็นอยู่บ้าง , สัตตะ สภาพที่มีที่เป็นบ้าง, สัญญา ความจำได้หมายรู้หรือสภาพที่จำได้หมายรู้บ้าง ) ของคน เกิดขึ้นบ้าง ดับไปบ้าง โดยไม่มีเหตุปัจจัย เมื่อเกิดขึ้นคนก็มีสัญญา เมื่อดับไปคนก็ไม่มีสัญญา.
๒. พวกอื่นกล่าวคัดค้านว่าไม่เป็นเช่นนั้น สัญญานั้นแหละเป็นอัตตาตัวตนของคน อัตตานั้นเข้ามาบ้าง ออกไปบ้าง เมื่อเข้ามาคนก็มีสัญญา เมื่อออกไปคนก็ไม่มีสัญญา.
๓. พวกอื่นคัดค้านว่าไม่เป็นเช่นนั้น ที่แท้มีสมณพราหมณ์ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก สมณพราหมณ์เหล่านั้นนำเข้าได้ นำออกได้ซึ่งสัญญาของคน เมื่อนำเข้าคนก็มีสัญญา เมื่อนำออกคนก็ไม่มีสัญญา.
๔. พวกอื่นคัดค้านว่าไม่เป็นเช่นนั้น ที่แท้เทพผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เทพเหล่านั้นนำเข้าได้ นำออกได้ซึ่งสัญญาของคน เมื่อนำเข้าคนก็มีสัญญา เมื่อนำออกคนก็ไม่มีสัญญา.
โปฏฐปาทปริพพาชกกล่าวต่อไปว่า ( ระหว่างที่ฟังเขาโต้เถียงกันนั้น ) ข้าพระองค์ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคว่า เป็นผู้ฉลาดในธรรมเหล่านี้ เป็นผู้รู้ปกติของอภิสัญญานิโรธ อภิสัญญนิโรธเป็นอย่างไร ?
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สมณพราหมณ์ที่กล่าวว่าสัญญาของคนเกิดขึ้นดับไปโดยไม่มีเหตุปัจจัยนั้น นับว่ามีความผิดพลาดแต่เบื้องต้น เพราะสัญญาของคนเกิดขึ้นดับไปโดยมีเหตุปัจจัย คือสัญญาอันหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะสิกขา ( การศึกษา หรือสำเนียก ทางพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น ๓ คือ สัญญาอันหนึ่งย่อมดับไปเพราะสิกขา การรักษาในศีล จิตตสิกขา การศึกษาในสมาธิ และสัญญาสิกขา การศึกษาในปัญญา ) สัญญาอันหนึ่งย่อมดับไปเพราะสิกขา.
๑ . ครั้นแล้วตรัสพรรณนาถึงการที่กุลบุตรออกบวช ตั้งอยู่ในศีล ( ๓ ชั้นตามที่กล่าวแล้วในสามัญญผลสูตร) บำเพ็ญสมาธิจนได้ฌานที่ ๑ เมื่อได้ฌานที่ ๑ แล้ว กามสัญญา ( ความจำได้หมายรู้ในกามคืออารมณ์ที่น่าใคร่ ) ที่เคยมีก็ย่อมดับไป สัญญาอันละเอียดอันเป็นจริงในปิติ ( ความอิ่มใจ ) และสุขอันเกิดแต่ความสงัด ย่อมมีในสมัยนั้น นี้คือสัญญาอันหนึ่ง ย่อมดับเพราะสิกขา.
๒. ในฌานที่ ๒ สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ ( อันละเอียดเป็นจริง ) ในปิติ และสุข ย่อมดับไป สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ในปิติสุข อันเกิดแต่สมาธิ ย่อมมีในสมัยนั้น.
๓. ในฌานที่ ๓ สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ ในปิติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ย่อมดับไป สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ในอุเบกขา ( ความวางเฉย ) และสุขย่อมมีในสมัยนั้น.
๔. ในฌานที่ ๔ สัญญาอันสุขสุขุม อันเป็นสัจจ์ในอุเบกขา และสุข ย่อมดับไป สัญญาอันสุขุมอันเป็นสัจจ์ในความไม่ทุกข์ไม่สุข ย่อมมีในสมัยนั้น.
๕. ในอรูปฌานที่ ๑ ( เอกาสานัญจายตนะ ) รูปสัญญา ( ความจำได้หมายรู้ในรูป ) ย่อมดับไป สัญญาอันสุขขุม อันเป็นสัจจ์ในอากาสาณัญจายตนะ ( อรูปฌานที่มีอากาศไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ ) ย่อมมีในสมัยนั้น.
๖. ในอรูปฌานที่ ๒ ( วิญญาณัญจาตนะ ) สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ในอากาสานัญจายตนะย่อมดับไป สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ในอวิญญาณัญจายตนะ ( อรูปฌานที่มีวิญาณไม่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ ) ย่อมมีในสมัยนั้น.
๗. ในรูปฌานที่ ๓ ( อากิญจัญญายตนะ ) สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ในวิญญาณัญจายตนะ ย่อมดับไป สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ในอากิญจัญญายตนะ ( อรูปฌานที่มีความคิดว่าไม่มีอะไรแม้เล็กน้อยเป็นอารมณ์ ) ย่อมมีในสมัยนั้น.
๘. ภิกษุที่มีสัญญาของตน พ้นจากสัญญานั้น ๆ แล้วก็ถูกต้องสัญญาอันเลิศ ( ขึ้นไป ) โดยลำดับ เมื่อตั้งอยู่ในสัญญาอันเลิศแล้ว ก็คิดว่า การคิดไม่ดี ไม่คิดดีกว่า เพราะเมื่อคิดปรุงแต่ง สัญญาอันเลิศก็ดับไป สัญญาอันหยาบก็จะเกิดขึ้น เธอจึงไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง เมื่อไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง สัญญานั้น ( หมายถึงสัญญาอันเลิศ ) ก็ดับไป สัญญาหยาบอันอื่นก็ไม่เกิดขึ้น เธอจึงชื่อว่าถูกต้อง ( ได้บรรลุ ) นิโรธ ( ความดับ).
( หมายเหตุ ) : ข้อความเป็นลำดับมาแต่ข้อ ๑ ถึง ๘ แสดงการที่สัญญาอันหนึ่งดับไป สัญญาอันหนึ่งเกิดขึ้นแทน ดีขึ้นกว่าสัญญาเดิมเรื่อย ๆ จนในที่สุด เมื่อเลิกคิด เลิกปรุงแต่ง สัญญาก็ดับไป เป็นอันตอบปัญหาของโปฏฐปาทปริพพาชกที่อยากรู้ความดับอภิสัญญา คือสัญญาใหญ่ หมายถึงสัญญาชั้นสูง อย่างชัดเจน ตามหลักวิชาปฏิบัติทางรูปฌาน และอรูปฌาน ).
เมื่อตรัสอธิบายอย่างนี้แล้ว จรึงตรัสถามโปฏฐปาทปริพพาชกว่า ท่านเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนหรือไม่ถึงการเข้าสมาบัติ ทั้ง ๆ ที่มีความรู้สึกตัว ในการดับอภิสัญญาตามดับชนิดนี้ ซึ่งปริพพาชกตอบว่า ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เพิ่งมาได้ทราบตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอย่างนี้.
________________________________________
" ๑. " คำแปลตัวเลขของฝรั่งผิดเป็นอย่างละ ๑๐๐ ทุกประเภท ทั้ง ๆ ที่พระไตรปิฎกฉบับอักษรโรมันก็ว่า ๗๐๐
" ๒. " แสดงว่ากรุงไพศาลีนครหลวงของแคว้นในขณะนั้น เป็นศูนย์กลางการทูตที่ฝ่ายมคธและโกศลติดต่อด้วย
" ๓. " การตั้งชื่อคนตามลักษณะร่างกายดูจะนิยมกันมาก เช่น กูฏทันตะ ( ฟันเขยิน ) ลกุณฏกภัททิยะ ( ภัททิยะค่อม) กาฬุทายี ( อาทุยีดำ )
" ๔. " ในที่นี้เป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่สูงกว่าหูทิพย์ ตาทิพย์ คือการทำกิเลสให้หมดเป็นขั้น ๆ ได้เป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่อย่างต่ำถึงสูงสุด คือเป็นพระอรหันต์ อันแสดงฤทธิ์เดชมิใช่จุดประสงค์ทางพระพุทธศาสนา
" ๕. " เป็นพระดำรัสที่แน่ใจในความประพฤติปฏิบัติที่ว่า ถ้าสอบสวนกันจริง ๆ ว่าจะปฏบัติตามที่พูดหรือไม่ พระองค์ทรงท้าให้สอบสวนที่เดียว
" ๖. " อรรถกแก้ว่า จัดเป็นกรรม คือการกระทำของสมณะ ของพราหมณ์
" ๗." พระสูตรนี้เห็นได้ว่า สาระสำคัญอยู่ที่ประพฤติปฏิบัติได้จริงได้จริงอย่างพูด จึงทำให้พระผู้พระภาคทรงกล้าบรรลือสีหนาท โดยท้าให้สอบเปรียบเทียบด้วยซ้ำ
________________________________________
ข้อซักถามเพิ่มเติม
โปฏฐปาทปริพพาชกกราบทูลถามเพิ่มเติม และพระผู้มีพระภาคตรัสตอบเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้??:-
๑ . ทูลถามว่า ทรงบัญญัติสัญญาอันเลิศ อันเดียวหรือมาก ตรัสตอบว่า บัญญัติทั้งอันเดียว ทั้งมาก ตาม ( ความจริง) ที่จะถูกต้อง ( บรรลุ ) นิโรธได้.
๒ . ทูลถามว่า สัญญา ( ความจำได้หมายรู้ ) เกิดก่อน ญาณ ( ความรู้ ) เกิดทีหลัง หรือว่าญาณเกิดก่อนสัญญาเกิดทีหลัง หรือว่าสัญญา กับญาณเกิดพร้อมกัน ตรัสตอบว่า สัญญาเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง
๓ . ทูลถามว่า สัญญาเป็นอัตตา ( ตัวตน ) ของคนหรือว่าสัญญากับอัตตาเป็นคนละอัน ( ไม่ใช่อันเดียวกัน) ตรัสซักว่า อัตตาที่ท่านเข้าใจเป็นอย่างไร . ทูลตอบว่า อัตตาตามที่ตนเข้าใจ คือมีรูปประกอบด้วยธาตุ ๔ กินอาหารเป็นคำ ๆ ตรัสว่า อัตตาของท่านเป็นอัตตาอย่างหยาบ ถ้าเป็นเช่นนั้น สัญญาก็เป็นอย่างหนึ่ง อัตตาก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะอัตตายังตั้งอยู่นั้นแหละ สัญญาอันหนึ่งเกิดขึ้น อีกอันหนึ่งดับไป. ( ในข้อนี้ปริพพาชกชี้อัตตาไปที่ร่างกาย จึงตรัสตอบตามที่เขาชี้ว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น สัญญา กับอัตตาก็คนละอันกัน )
๔. ทูลต่อไปว่า ตนเข้าใจว่าสัญญาสำเร็จขึ้นจากใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งปวง มีอินทรีย์ ๑. อันไม่บกพร่อง ตรัสตอบว่า ถ้าอย่างนั้น สัญญาก็เป็นอย่างอื่น อัตตาก็เป็นอย่างอื่น . เพราะอัตตาที่สำเร็จด้วยใจยังตั้งอยู่นั้นแหละ สัญญาอันหนึ่งเกิดขึ้น อีกอันหนึ่งก็ดับไป ( ในข้อนี้ปริพพาชกพูดอธิบายเพิ่มเติม ลักษณะของอัตตาตามความเข้าใจของตนว่า อัตตาเกิดจากใจ ).
๕. ทูลต่อไปว่า ตนเข้าใจว่าอัตตาไม่มีรูป เป็นของเกิดแต่สัญญา ตรัสตอบว่า ถ้าอย่างนั้นสัญญาก็เป็นอย่างอื่น อัตตาก็เป็นอย่างอื่น เพราะอัตตาไม่มีรูป เป็นของเกิดแต่สัญญา ยังตั้งอยู่นั้นแหละ สัญญาอันหนึ่งเกิดขึ้น อีกอันหนึ่งก็ดับไป.
๖. ทูลถามว่า ตน ( ผู้ถาม ) อาจหรือไม่ที่จะรู้ว่า สัญญาเป็นอัตตาของคน หรือสัญญาเป็นอย่างอื่น ตรัสตอบว่า โปฏฐปริพพาชกมีความเห็นอย่างอื่น มีความชอบใจอย่างอื่น ( คนละศาสนา) จึงยากที่จะรู้ได้. ทูลถามต่อไปตามแนวทิฏฐิ ๑๐ ที่เกี่ยวด้วยส่วนสุดว่า ถ้าอย่างนั้น โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง , โลกมีที่สุด หรือไม่มีที่สุด , ชีวะ กับสรีระ เป็นอันเดียวกัน หรือเป็นคนละอัน, สัตว์๒. ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด, สัตว์ตายแล้วทั้งเกิดทั้งไม่เกิด หรือว่าเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่. ( แบ่งออกเป็น ๕ หมวด หมวดละ ๒ ข้อ จึงเป็น ๑๐) ตรัสตอบเป็นข้อ ๆ ว่า พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์ ๓. ปัญหานั้น เพราะไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน.
ทูลถามว่า ถ้าอย่างนั้น ทรงพยากรณ์อะไร ? ตรัสตอบว่า ทรงพยากรณ์เรื่องทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เพราะมีประโยชน์และเป็นไปเพื่อนิพพาน.
แล้วพระผู้มีพระภาคก็เสด็จลุกจากอาสนะไป.
ต่อมาอีก ๒ - ๓ วัน จิตตะผู้เป็นบุตรแห่งนายควาญช้าง กับโปฏฐปาทปริพพาชก ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค. โปฏฐปาทปริพพาชกกราบทูลเล่าว่า เมื่อพระองค์เสด็จกลับ ( ในวันที่เสด็จไป ณ มัลลิการามนั้น ) พวกปริพพาชกพากันกล่าวแดกดันข้าพระองค์ว่า ไม่ว่าพระองค์ตรัสอะไร ข้าพระองค์กราบทูลรับรองไปหมดว่าอย่างนั้น พระเจ้าข้า อย่างนี้ พระเจ้าข้า. พวกเขาไม่เห็นเลยว่า พระองค์ทรงแสดงธรรมแง่เดียว ( บอกยืนยันให้แน่ลงไปในแง่เดียว ) ว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นต้น . ข้าพระองค์ตอบไปว่า เมื่อพระสมณโคดมแสดงปฏิทาอันจริงแท้ ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม วิญญูบุรุษข้าพจ้า จะไม่รับรองสุภาษิต โดยความเป็นสุภาษิตได้อย่างไร.
ทรงชี้แจงเรื่องแสดงธรรมแง่เดียว หลายแง่
ตรัสตอบว่า ทรงแสดงธรรมแง่เดียว ( เอกังสิกะ ) ก็มี . ที่ทรงแสดงธรรมหลายแง่ก็คือ เรื่องโลกเที่ยง , ไม่เที่ยง , โลกมีที่สุด , ไม่มีที่สุด เป็นต้น . ที่ทรงแสดงธรรมแง่เดียวคือเรื่องทุกข์ , เหตุให้ทุกข์เกิด , ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ .
ตรัสเล่าต่อไปว่า พระองค์เคยเสด็จเข้าไปหาสมณพราหมณ์พวกที่มีความเห็นมีวาทะว่า เมื่อตายไปแล้ว อัตตาจะมีความสุขโดยส่วนเดียว ไม่มีโรค แล้วซักถามว่า ท่านรู้เห็นโลกซึ่งมีความโดยสุขโดยส่วนเดียวหรือเปล่า ก็ตอบว่า เปล่า ถามว่า ท่านรู้จักหนทาง หรือข้อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพื่อให้บรรลุโลกที่มีความสุขโดยส่วนเดียว หรือเปล่า ก็ตอบว่า เปล่าอีก . คำพูดของสมณะพราหมณ์เหล่านั้น จึงชื่อว่าไม่มีปาฏิหาริย์มิใช่หรือ โปฏฐหาริย์มิใช่หรือ โปฏฐปาทปริพพาชกรับว่า ไม่มีปาฏิหาริย์ เลื่อนลอย.
ครั้นแล้วทรงเปรียบพวกที่กล่าวว่า เมื่อตายไปแล้ว อัตตาจะมีความสุขโดยส่วนเดียว ไม่มีโรคแต่ไม่รู้อะไรจริงจังเลยกับข้อที่ตนกล่าวนั้น ว่าเปรียบเหมือนคนที่รักหญิงงามชาวชนบท แต่ไม่รู้ว่าเป็นใครชื่ออะไร สกุลอะไร อยู่ที่ไหน หรือเปรียบเหมือนคนตังบันใดขึ้นบนทางสี่แพร่งเพื่อจะขึ้นปราสาท แต่ไม่รู้ว่าปราสาทอยู่ในทิศไหน สูงต่ำหรือปานกลางอย่าง .
ต่อจากนั้นทรงแสดงการได้อัตตา ๓ ปราเภท คือการได้อัตตาหยาบ ซึ่งมีรูปประกอบด้วยธาตุ ๔ กินอาหารเป็นคำ ๆ , การได้อัตตามีรูป ซึ่งเกิดจากใจ , การได้อัตตาที่ไม่มีรูป ซึ่งเกิดจากสัญญา . ( โดยใจความคือทรงแสดงการได้อัตตาภาพในกามภพ เช่น มนุษย์และสัตว์ทั้วไป รวมทั้งเทพชั้นกามาวจร เป็นประเภทอัตตาหยาบ , ทรงแสดงการได้อัตตภาพในกามภพ คืออัตตาของรูปพรหม และทรงแสดงการได้อัตตภาพในอรูปภพคืออัตตา ๔ . ของอรูปพรหม พรหมไม่มีรูป ) แล้วทรงชี้ให้เห็นว่า ทรงแสดงธรรม เพื่อให้ละอัตตา ๓ ประเภทนั้น เมื่อปฏิบัติแล้ว ก็จะละธรรมที่ทำให้เศร้าหมองและมีธรรมอันผ่องแผ้วเจริญยิ่ง ทำให้บรรลุความเป็นผู้สมบูรณ์ไพบูลด้วยปัญญาในปัจจุบัน และแม้จะมีใครกล่าวว่า การได้บรรลุสภาพเช่นนั้น ทำให้เป็นทุกข์ก็ทรงแสดงได้ว่า มีความปราโมทย์ ความอิ่มใจ ความสงบ มีสติสัมปชัญญะ และความอยู่เป็นสุข. ( ประเด็นสำคัญในตอนนี้มีอยู่ว่า มีสมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า เมื่อตายแล้วอัตตาจะเป็นสุข แต่ตัวเองไม่รู้ไม่เห็น และไม่ทราบขอปฏิบัติ ส่วนทางพุทธศาสนาแทนที่จะสอนให้บรรลุอัตตา กลับสอนให้ประพฤติปฏิบัติเพื่อละอัตตา แล้วชี้ได้ด้วยว่า อัตตามี ๓ ประเภท ถ้าละได้ก็จะมีสุข ) .
ทรงเปรียบให้ฟังว่า การสอนอย่างชี้ข้อปฏิบัติเพื่อละอัตตาได้นี้ เปรียบเหมือนตั้งบันใดขึ้นสู่ปราสาทซึ่งมีปราสาทอยู่จริง ๆ ไม่ใช่ชี้ไม่ได้.
ต่อจากนั้นทรงอธิบายรับรองความเห็นของจิตตะ บุตรแห่งนายควาญช้าง ( ซึ่งไปเฝ้าพร้อมกับโปฏฐปาทปริพพาชก ) ที่ว่า เมื่ออยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง อัตตาก็ไม่อยู่ในสภาพอื่น เช่น เมื่อได้อัตตาหยาบก็ไม่อยู่ในสภาพอัตตา ( ละเอียด ) มีรูปเกิดจากใจ หรือไม่มีรูปเกิดจากสัญญา เมื่ออยู่ในตอนไหนก็จริงในตอนนั้น ตอนอื่นไม่จริง เปรียบเหมือนน้ำนม , นมสัม , เนยข้น , เนยใส . ก้อนเนยใสตอนไหนเป็นอะไรก็ไม่เป็นอย่างอื่น.
ทรงสรุปในที่สุดว่า ถ้อยคำเรื่องอัตตาเหล่านี้เป็นเพียงโลกสมัญญา ( ชื่อทางโลก ) โลกนิรุติ ( คำพูดของโลก ) โลกโวหาร ( โวหารทางโลก ) และโลกบัญญัติ ( บัญญัติทางโลก) ซึ่งตถาคตก็พูดด้วยถ้อยคำเหล่านั้นแต่ไม่ยึดถือ .
เมื่อจบพระธรรมเทศนา โปฏฐปาทปริพาชกสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ส่วนจิตตะ บุตรแห่งนายควาญช้างขอบวช แล้วได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในกาลต่อมาไม่นาน.
๑๐. สุภสูตร
สูตรว่าด้วยการโต้ตอบกับสุภมาณพ โตเทยยบุตร
สูตรนี้เป็นภาษิตของพระอานนท์ เล่าเรื่องว่า พระอานนท์อยู่ในเชตวนารามอนาถปิณฑิกคฤหบดี ใกล้กรุงสาวัตถี เมื่อพระผู้มีพระภาคนิพพานแล้วไม่นาน.
ครั้นนั้น สุภมาณพผู้เป็นบุตรโดยโตเทยยพราหมณ์ พักอาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี ด้วยธุระบางอย่างและส่งได้มาณพคนหนึ่งไปนิมนต์พระอานนท์ให้สงเคราะห์ไปเยี่ยมตนถึงที่อยู่ พระอานนท์อ้างว่า วันนี้ท่านดื่มยา ต่อวันรุ่งขึ้นจึงจะไป.
ครั้นวันรุ่งขึ้นพระอานนท์ไปเยี่ยม สุภมาณพจึงถามว่า ท่านอุปฐากพระโคดมผู้เจริญมานาน พระโคดมสรรเสริญธรรมอะไร และชักชวนประชุมชนให้ตั้งอยู่ในธรรมอะไร. พระอานนท์ตอบว่า พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญกองศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นอริยะ และทรงชักชวนประชุมชนให้ตั้งอยู่ในกองศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นอริยะนี้. สุภมาณพถามให้อธิบายถึงกองศีล ( สีลขันธ์ ) กองสมาธิขันธ์ ) และกองปัญญา ( ปัญญาขันธ์) อันเป็นอริยะโดยลำดับ.
พระอานนท์อธิบายกองศีล โดยใจความว่า บุคคลมีศรัทธา ออกบวชแล้ว เว้นจากทางแห่งอกุศล ๑๐ ประการ และศีล ๓ ประเภท ( ดั่งกล่าวแล้วในส่วนสามัญญผลสูตร ) ส่วนกองสมาธิ อธิบายถึงการสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ( สำรวมอินทรีย์ ) ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ มีความสันโดษด้วยปัจจัย คือ จีวร บิณฑบาต ชำระจิตจากนิวรณ์ ( ธรรมอันกั้นจิตมิให้บรรลุคุณความดี ) ๕ ประการ ได้ฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ส่วนกองปัญญา อธิบายถึงวิชชา ๘ มีวิปัยยนาญาณ ( ญาณเห็นแจ้งสภาวธรรมตามเป็นจริง ) เป็นต้น จนถึงอาสวักขยญาณ ( ฌาณอันทำอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดานให้สิ้นไป ) เช่นเดียวกับที่ปรากฏในสามัญญผลสูตร.
เมื่อแสดงธรรมจบ สุภมาณพ โตเทยยบุตร สรรเสริญธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
๑๑. เกวัฏฏสูตร
สูตรว่าด้วยการแสดงธรรมแก่บุตรคฤหบดีชื่อเกวัฏฏะ
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามะม่วงของปาวาริกะ ใกล้เมืองนาฬันทา . ณ ที่นั้น บุตรคฤหบดีชื่อเกวัฏฏะเข้าไปเฝ้า ขอให้ทรงชวนภิกษุผู้แสดงอิทธปาฏิหาริย์ได้ให้แสดง ก็จะมีคนเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้น.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระองค์มิได้แสดงธรรมว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านจงแสดงอิทธปาฏิหาริย์แก่คฤหบดีผู้นุ่งผ้าขาว.
แม้ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ บุตรคฤหบดีชื่อเกวัฏฏะ ก็ยังยืนยันจะให้ทรงชวนภิกษุผู้แสดงอิทธปาฏิหาริย์ได้ให้แสดง ก็จะมีคนเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้น.
พระผู้มีพระภาคจึงทรงชี้แจงว่า ปาฏิหาริย์ที่ทรงทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งด้วยพระองค์เองและประกาศแล้ว มีอยู่ ๓ อย่าง คือ ?
๑ . อิทธิปาฏิหาริย์ แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์.
๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจทายใจได้เป็นอัศจรรย์.
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ สั่งสอน ( มีเหตุผลดี ) เป็นอัศจรรย์.
แล้วทรงอธิบายวิธีแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ และสรุปในที่สุดว่า คนที่ไม่มีความเชื่อความเลื่อมใสก็อาจกล่าวได้ว่า ภิกษุที่แสดงฤทธิ์ได้นั้น เพราะมีคันธารวิชา ( วิชชาของคันธาระ).
อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจทายใจของคนได้ คนที่ไม่มีความเชื่อ ความเลื่อมใส ก็อาจกล่าวได้ว่า ภิกษุที่ดักใจทายใจได้นั้น ก็เพราะมีมณีกาวิชา.
ครั้นแล้วทรงแสดงถึงอนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือการสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ ว่าควรประพฤติปฏิบัติอย่างไร ตลอดจนการปฏิบัติได้ผลในศีล ๓ ประเภท ในฌาน ๔ ในวิชชา ๘ ( ดั่งกล่าวไว้แล้วในสมมัญญผลสูตร).
แล้วทรงเล่าถึงภิกษุรูปหนึ่งข้องใจในปัญหาที่ว่า ธาตุ ๔ เป็นต้น จะดับโดยไม่เหลือในที่ไหน ภิกษุรูปนั้นเที่ยวตระเวนถามเทวดาต่าง ๆ จนกระทั้งถึงท้าวมหาพรหมก็ตอบไม่ได้ ในที่สุดท้าวใหาพรหมขอให้มาถามพระพุทธเจ้า ซึ่งตรัสสอนเป็นใจความรวบยอดว่า ดับวิญญาณเสียได้ ธาตุ ๔ เป็นต้น ก็ดับไม่เหลือในที่นั้น. ( เป็นการแสดงว่าฤทธิ์ช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ แต่คำสั่งสอนสำคัญกว่า ) .
๑๒.โลหิจจสูตร
สูตรว่าด้วยการโต้ตอบกับโลหิจจพราหมณ์
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จแวะพัก ณ ตำบลบ้านชื่อสาลวติกา ซึ่งพระเจ้าปเสนทโกศลพระราชทานให้โลหิจจพราหมณ์ครอบครอง.
ทรงแก้ความเห็ยผิด
สมัยนั้น โลหิจจพราหมณ์มีความเห็นผิดเกิดขึ้นว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้บรรลุกุศลธรรมแล้วไม่พึงบอกแก่ผู้อื่น เพราะคนอื่นจะทำอะไรแก่อีกคนหนึ่งได้ การบอกแก่คนอื่น จัดว่าเป็นความโลภ ( ความอยากได้ ) ที่เป็นบาปอันหนึ่ง เปรียบเหมือนคนตัดเครื่องพันธนาการเก่าออกแล้ว กลับทำเครื่องพันธนาการใหม่ ( ให้แก่ตัวเอง ) อีก
โลหิจจพราหมณ์ได้ข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึงตำบลบ้านชื่อสาลวติกา จึงใช้ช่างกัลบก ชื่อโรสิกะ ให้ไปกราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาฉันในวันรุ่งขึ้น.
รุ่งขึ้นเมื่อเสด็จไปฉันเสร็จแล้ว ก็ได้ทรงโต้ตอบกับโลหิจจพราหมณ์ถึงเรื่องความเห็นผิดนั้น ทรงเปรียบเทียบให้เห็นว่า โลหิจจพราหมณ์ซึ่งครอบครองตำบลบ้านสาลวติกาก็ตาม พระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งทรงครอบครองแคว้นโกศลก็ตาม ถ้าบริโภคผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในดินแดนที่ปปกครองแต่ผู้เดียว ไม่ยอมแบ่งปันให้ผู้ใดเลยดังนี้ คนที่จะแสดงความคิดเห็นไม่ให้แบ่งปันแก่ผู้อื่นอย่างนี้ จะเชื่อว่าทำอันตรายแก่ผู้ที่ ( เป็นข้าทาสบริวาร ) อาศัยอยู่หรือไม่ โลหิจจพราหมณ์ยอมรับว่าเป็นการทำอันตรายแก่คนเหล่านั้น ( เพราะเมื่อไม่ได้รับส่วนแบ่ง เช่น อาหาร เป็นต้น คนเหล่านั้นก็อยู่ไม่ได้ ) ตรัสถามต่อไปว่า จะเป็นการตั้งเมตตาจิต คิดจะอนุเคราะห์คนเหล่านั้น หรือว่าเป็นศัตรู. กราบทูลตอบว่า เป็นศัตรู. ตรัสถามต่อไปว่า เมื่อตั้งจิตเป็นศัตรูจะเชื่อว่ามีความเห็นผิดหรือเห็นชอบ พราหมณ์กราบทูลถามว่า เป็นการเห็นผิด. ( อันนี้เป็นการต้อนให้พราหมณ์นั้นยอมรับว่าตนมีความเห็นผิด เพราะจำนนต่อเหตุผล).
จึงทรงเปรียบเทียบให้ฟังต่อไปว่า การกล่าวว่า ผู้ครอบครองบริโภคผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแต่ผู้เดียวไม่แบ่งปันแก่ใครเลย ก็เช่นเดียวกันการกล่าวว่า ผุ้บรรลุกุศลธรรมไม่ควรบอกแก่ใคร ๆ ซึ่งเป็นการทำอันตรายเป็นการตั้งจิตเป็นศัตรูต่อผู้ที่ควรจะได้รับ และเป็นการมีความเห็นผิด.
ศาสดา ๓ ประเภท
แล้วทรงแสดงถึงศาสดา ( ผู้สอนศาสนา ) ๓ ประเภทที่ควรโจทท้วง และคำโจทท้วงก็ถูกต้องตามธรรมคือ
๑. ศาสดาที่ออกบวชแล้ว ไม่ได้บรรลุประโยชน์ของความเป็นสมณะด้วยตนเอง ได้แต่แสดงธรรมสอนผู้อื่น ( ดีแต่สอนผู้อื่น ตนเองปฏิบัติไม่ได้ หรือไม่ได้ผล ) สาวกจึงไม่ตั้งใจฟัง พากันเลี่ยงหนี.
๒. ศาสดาที่ออกบวชแล้ว ไม่ได้บรรลุประโยชน์ของความเป็นสมณะด้วยตนเอง ได้แต่แสดงธรรมสอนผู้อื่น แต่สาวกตั้งใจฟังคำสั่งสอน ไม่พากันเลี่ยงหนี.
๓. ศาสดาที่ออกบวชแล้ว ไม่ได้บรรลุประโยชน์ของความเป็นสมณะและแสดงธรรมสั่งสอน แต่สาวกไม่ตั้งใจฟังคำสอน พากันเลี่ยงหนี.
ศาสดาที่ไม่ควรติ
โลหิจจพราหมณ์กราบทูลถามว่า ศาสดาที่ไม่ควรติมีในโลกหรือไม่ ตรัสตอบว่า มี คือศาสดามีคุณสมบัติสมบูรณ์ในตัวเอง ทั้งสาวกที่ออกบวชแล้วตั้งอยู่ในศีล ได้บรรลุฌานที่ ๑ ถึง ๔ และได้วิชชา ๘ ประการ (ตามที่กล่าวแล้วในสามัญญผลสูตร ) ศาสดาประเภทนี้ไม่ควรถูกติ ( เพราะสั่งสอนได้ผลสมบูรณ์ คือ ตนเองก็ได้บรรลุคุณธรรม สาวกก็ได้บรรลุคุณธรรม)
โลหิจจพราหมณ์กราทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
๑๓ . เตวิชชสูตร
ว่าด้วยไตรเวท
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จแวะพัก ณ ตำบลบ้านพราหมณ์ชื่อมนสากตะ ประทับ ณ ป่ามะม่วง ริมฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ด้านเหนือของตำบลบ้านพราหมณ์ ชื่อมนสากตะ
สมัยนั้น พราหมณ์มหาศาล ( พราหมณ์ที่เป็นเศรษฐี) มีชื่อเสียงหลายคนพักอาศัยอยู่ในตำบลบ้านนั้น เช่น วังกิสพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์ โปขรสาติพราหมณ์ ชาณุสโสนิพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ และพราหมณ์ที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ.
คำสนทนาของมาณพ ๒ คน
มาณพ ๒ คน คนหนึ่งชื่อวาเสฏฐะ ( ผู้สืบสกุลวสิษฐะ ) อีกคนหนึ่งชื่อภารัทวาชะ ( ผู้สืบสกุลภารัทวาชะ ) เดินสนทนากันถึงเรื่องทางตรงที่จะไปสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหม. มาณพชื่อวาเสฏฐะ อ้างถ้อยคำของโปขรสาติพราหมณ์ มาณพชื่อภารัทวาชะ อ้างถ้อยคำของตารุกขพราหมณ์ เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราลทูลเล่าความที่ตนโต้เถียงกัน เพื่อให้ทรงชี้แจง. และในการกราบทูลเพิ่มเติมได้กล่าวว่า แม้พราหมณ์ต่าง ๆ จะบัญญัติหนทางไว้ต่าง ๆ กัน แต่ก็นำผู้กระทำตามไปสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหมได้ เปรียบเหมือนทางต่าง ๆ หลายสาย ซึ่งอยู่ไม่ไกลความ , นิคม ก็ไปร่วมกันที่คาม ( หมู่บ้าน ) .
พระผู้มีพระภาคตรัสถามให้วาเสฏฐมาณพ ยืนยันถึง ๓ ครั้งว่า ทางต่าง ๆ เหล่านั้น นำไปสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหมได้.
ข้อตรัสชักถาม
๑ . พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า มีพราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทสักคนหนึ่งไหม ที่เคยเห็นพระพรหม กราบทูลว่า ไม่มี.
๒. ตรัสถามว่า อาจารย์ของพราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทมีสักคนหนึ่งไหม ที่เคยเห็นพระพรหม กราบทูลว่า ไม่มี.
๓. ตรัสถามว่า อาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์พวกนั้น มีสักคนหนึ่งไหม ที่เคยเห็นพระพรหม กราบทูลว่า ไม่มี.
๔. ตรัสถามว่า ใครคนใดคนหนึ่ง ๗ ชั่วยุคอาจารย์ของพราหมณ์ มีไหม ที่เคยเห็นพระพรหม กราบทูลว่า ไม่มี
ตรัสถามว่า อาจารย์ของพราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทมีสักคนหนึ่งไหม ที่เคยเห็นพระพรหม กราบทูลว่า ไม่มี
๕. ตรัสถามว่า ฤษีรุ่นก่อน ๆ ที่แต่งมนต์ ร่ายมนต์ ซึ่งพวกพราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทในสมัยนั้น เช่น อัฏฐกะ , วามกะ เป็นต้น มีใครบ้างเคยกล่าวว่าตนรู้เห็นพระพรามอยู่ในที่ใด อยู่อย่างไร อยู่ที่ไหน . กราบทูลว่า ไม่มี
จึงตรัสสรุปว่า เปรียบเหมือนคนตาบอดจูงคนตาบอด ทั้งคนต้น คนกลาง และคนสุดท้าย ต่างก็มองไม่เห็น พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท ทั้งคนต้น คนกลาง และคนสุดท้ายก็ไม่เคยเห็นพระพรหม คำกล่าวของหพราหมณ์เหล่านั้นจึงว่างเปล่า.
๖. ตรัสถามต่อไปว่า พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทและคนอื่น ๆ ต่างเห็นดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกจึงพากันสรรเสริญ ประคองอัญชลี กราบไหว้ เพียงเท่านี้จะเพียงพอหรือไม่ ที่พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทนั้นจะชี้ทางที่จะไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับดวงจันทร์ดวงอาทิตย์. กราบทูลว่า ไม่พอ.
จึงตรัสสรุปในตอนนี้ว่า แม้พียงมองเห็นก็ยังไม่พอที่จะชี้ทาง ก็พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท พร้อมทั้งอาจารย์ อาจารย์ของอาจารย์ เป็นต้น ไม่เเคยเห็นพระพรหมเลย ก็ยังแสดงทางตรงไปสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหมได้.
๗. จึงตรัสถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้อยคำของพราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท จึงชื่อว่าไม่มีปาฏิหาริย์ ( เลื่อนลอยไม่มีหลักฐาน ) ใช่หรือไม่ . กราบทูลว่า ใช่ . จึงตรัสต่อไปว่า เมื่อไม่รู้ไม่เห็น แต่แสดงทางตรงเพื่อไปสู่ความอยู่รวมกันพระพรหม จึงมิใช่ฐานะที่จะเป็นจริงได้.
อุปมา ๕ ข้อ
๑. ตรัสเปรียบเทียบการที่พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท ไม่เคยเห็นพระพรหม แต่แสดงทางไปสู่ความอยู่ร่วมกับพระพรหมว่าเหมือนชายผู้รักหญิงงามชาวชนบท แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร ชื่อไร รูปร่างเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน .
๒. หรือเปรียบเหมือนคนที่ตั้งบันไดขึ้นสู่ปราสาท ในทางสี่แพร่ง แต่ไม่รู้ว่าปราสาทนั้นอยู่ที่ไหน.
๓. การที่พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท ละธรรมะที่ทำให้เป็นพราหมณ์ สมาทาน ( ยึดถือ ) ธรรมที่ไม่ทำให้เป็นพราหมณ์ แล้วพากันออกนามพระอินทร์ พระโสมะ พระวรุณ พระอิสาน พระปชาบดี พระพรหม พระมหินทร์ การออกนาม การอ้อนวอน การปรารถนา การยินดี ก็ไม่ทำให้ไปอยู่ร่วมกับพระพรหมได้ เมื่อตายไป เปรียบเหมือนคนอ้อนวอนฝั่งน้ำให้เข้ามาหา ก็ย่อมเข้ามาไม่ได้.
๔. การที่พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท ยังหมกมุ่น สยบอยู่ บริโภคกามคุณ ๕ ( คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ ) ซึ่งนับเป็นเครื่องจองจำผูกมัดในอริวินัย จะไปสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหมย่อมเป็นไปไม่ได้ เปรียบเหมือนคนต้องการข้ามแม่น้ำ แต่เอาเชือกมัดมือไพล่หลังตัวเองอย่างแน่นหนาอยู่ที่ฝั่งนี้ จะข้ามไปสู่ฝั่งโน้นไม่ได้.
๕. การที่พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทถูกนีวรณ์ ๕ ( กิเลสที่กั้นจิตมิให้บรรลุความดี อันเป็นกิเลสชั้นกลางคือความพอใจในกาม ความพยาบาท เป็นต้น ) รัดรึงไว้ จะเข้าสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหม ย่อมเป็นไปไม่ได้ เปรียบเหมือนคนที่ต้องการข้ามแม่น้ำ แต่เอาผ้าคลุมศีรษะ นอนเสียทางฝั่งนี้ ก็จะข้ามไปสู่ฝั่งโน้นไม่ได้.
คุณสมบัติของพระพรหมกับพราหมณ์
ตรัสถามว่า พราหมณ์ผู้ใหญ่ผู้สูงอายุที่เป็นชั้นอาจารย์ของอาจารย์เคยกล่าวถึงพระพรหมว่า
๑. มีสิ่งหวงแหน (เช่น สตรี ) หรือไม่
๒. มีจิตผูกเวรหรือไม่
๓. มีจิตพยาบาทหรือไม่
๔. มีจิตเศร้าหมอง ( ด้วยกิเลส ) หรือไม่
๕. ทำจิตเป็นให้ไปในอำนาจได้หรือไม่
มาณพกราบทูลตอบว่า พระพรหมตามคำกล่าวของพราหมณ์ผู้ใหญ่ไม่เป็นเช่นนั้น ๔ ข้อ ข้อที่ ๕ เป็นเช่นนั้น ( คือมีคุณสมบัติในทางดีงาม ) แล้วตรัสถามว่า พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทเป็นอย่างพระพรหมหรือไม่ ก็ตอบในทางตรงกันข้าม คือยังมีสิ่งหวงแหน มีจิตผูกเวร มีจิตพยาบาท มีจิตเศร้าหมอง ไม่สามารถคุมจิตไว้ในอำนาจได้.
ตรัสถามต่อไปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทจะเปรียบเทียบเข้ากับพระพรหมหรือไม่ ตอบว่า ไม่ได้ จึงตรัสสรุปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อตายแล้ว พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท จะเข้าถึงความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหมนั้น จึงมิใช่ฐานะที่เป็นไปได้.
ตรัสต่อไปว่า พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท เข้าไปใกล้ , จมลงไป , ถึงความวิบัติ ( ในทางที่ผิด ) แต่ก็สำคัญว่าข้ามสู่แดนที่มีความสุขยิ่งกว่า ๕ . เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่าเป็นป่าไตรเวท ที่ไม่มีบ้าน , เป็นป่าไตรเวท ที่ไม่มีน้ำ , เป็นความเสื่อมแห่งไตรเวท.
มาณพถามถึงทางไปสู่พระพรหม
วาเสฏฐมาณพกราบทูลถามถึงทางที่จะไปสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหม. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พระองค์ทรงรู้จักพระพรหม พรหมโลก ข้อปฏิบัติเพื่อให้ไปสู่พรหมโลก ตลอดจนพระพรหมผู้ปฏิบัติอย่างไรจึงจะเข้าถึงพรหมโลกได้.
เมื่อมาณพขอให้ทรงแสดง จึงตรัสถึงการที่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก บุคคลฟังธรรมออกประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ในศีล ( รายละเอียดดั่งที่กล่าวในสามัญญผลสูตร ) ละนีวรณ์ ๕ ได้ แผ่เมตตาจิตไปสู่ ๔ ทิศ นี้เป็นทางไปสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหม . เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ ก็ชื่อว่ามีคุณสมบัติเปรียบเทียบเข้ากันได้กับพระพรหม ( เป็นการถามตอบคุณสมบัติของภิกษุผู้ประพฤติตนดี เจริญเมตตาเจโตวิมุติเทียบกับคุณสมบัติของพระพรหมตามตำรับโบราณทีละข้อ ซึ่งมาณพก็กราบทูลรับรองว่าเข้ากันได้).
จึงตรัสสรุปในที่สุดว่า ภิกษุเช่นนั้นเมื่อตายไป ย่อมมีฐานะที่จะเข้าสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหมได้. มาณพ ๒ คนกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต.
( หมายเหตุ พระสูตรนี้ หรือหลาย ? ๆ สูตรที่แล้วมาแสดงว่า การถือศาสนาตามตำรา เช่น เรื่องพระพรหมนั้นยังไม่พอ ควรเอาความรู้ความประพฤติเข้าจับด้วย หมายความว่า ต้องรู้ ต้องเข้าใจปฏิบัติให้เห็นผลได้จริง ๆ ไม่ใช่ทำอะไรตาม ๆ กัน โดยไม่รู้อะไรจริง).
________________________________________
๑. อินทรีย์ในที่นี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ละอย่างเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน
๒. คำว่า สัตว์ ในที่นี้ แปลจากคำว่า ตถาคต ตามคำอธิบายของอรรถกถาที่กล่าวถึงทิฏฐิ ๑๐ แต่ในที่อื่น คำว่า ตถาคต ใช่เป็นพระนามเรียกพระพุทธเจ้า
๓. คำว่า พยากรณ์ แปลว่า ทำให้แจ้ง คือตอบหรืออธิบาย ไม่ใช่ทำนาย อย่างที่ใช่ในความหมายบางอย่างในภาษาไทย
๔ ทรงใช้คำว่า อัตตา ตามชาวโลก แต่ถือเพียงว่าเป็นโวหาร หรือคำพูดของชาวโลก แต่ไม่ทรงยึดถือตามข้อความท้ายพระสูตรนี้
๕ เปรียบเหมือนคนที่ถูกภาพลวง เห็นทะเลทรายเป็นน้ำ
________________________________________
เล่มที่ ๑๐ ชื่อทีฆนิกาย มหาวัคค์
เป็นพระสุตตันตปิฎก (เล่ม ๒)
หน้า ๑
ได้กล่าวไว้แล้วว่า ทีฆนิกาย เป็นที่รวมแห่งพระสูตรขนาดยาว และคำว่ามหาวัคค์ ตั้งชื่อตามสูตรแรกที่มีคำว่า มหา อยู่หน้า คือมหาปทานสูตร อนึ่งในวรรคนี้มีสูตรที่มีคำว่า มหา อยู่หน้าหลายสูตรด้วยกัน . และพระสูตรทั้งสิบสูตรในเล่มนี้มีลำดับดังต่อไปนี้ :-
๑ . มหาปทานสูตร ว่าด้วย “ ข้ออ้างใหญ่” กล่าวถึงประวัติและเรื่องเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์และพระประวัติละเอียดของพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า.
๒. มหานิทานสูตร ว่าด้วย “ ต้นเหตุใหญ่” กล่าวถึงประวัติปฏิจจสมุปบาท หรือกฏแห่งเหตุผลที่เกี่ยวโยงกันเป็นลูกโซ่ รวมทั้งทฤฎีเรื่องอัตตา.
๓. มหาปรินิพพานสูตร ว่าด้วย “ มหาปรินิพพานของพระพุทธเจ้า” เริ่มด้วยเหตุการณ์ก่อนปรินิพพานจนถึงแจกพระบรมสารีริกธาตุ.
๔. มหาสุทัสสนสูตร ว่าด้วย “ ประวัติพระเจ้ามหาสุทัสสนะ จักรพรรดิ์” เป็นเรื่องตรัสเล่าแก่พระอานนท์ในเวลาใกล้ปรินิพพาน.
๕. ชนวสภสูตร ว่าด้วย “ ยักษ์ชื่อชนวสภะ” กราบทูลเรื่องราวต่าง ๆ แด่พระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสเล่าแก่พระอานนท์อีกต่อหนึ่ง.
๖. มหาโควินทสูตร ว่าด้วย “ มหาโควินทพราหมณ์”
๗. มหาสมยสูตร ว่าด้วย “การประชุมใหญ่” เป็นการประชุมของเทวดาซึ่งมาเฝ้าพระพุทธเจ้า.
๘. สักกปัญหสูตร ว่าด้วย “ ปัญหาของท้าวสักกะ” ๑๐ ข้อ.
๙. มหาสติปัฏฐานสูตร ว่าด้วย “ การตั้งสติแบบใหญ่” ๔ อย่าง คือการตั้งสติกำหนดพิจารณา กายเวทนา จิต และธรรม.
๑๐. ปายาสิราชัญญสูตร ๑ . ว่าด้วย “ พระเจ้าปายาสิ” ผู้ไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิด แสดงการโต้ตอบระหว่างพระกุมารกัสสปกับพระปายาสิอย่างละเอียด.
ขยายความ
๑. มหาปทานสูตร
สูตรว่าด้วยข้ออ้างด้วยของใหญ่
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ กเรริกุฏิ ( กุฏิมีมณฑปทำด้วยไม้กุ่มตั้งอยู่เบื้องหน้า ) ในเชตวนารวมของอนาถปิณฑิกคฤบดี ใกล้กรุงสาวัตถี.
ณ โรงโถงที่ทำด้วยไม้กุ่มนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายผู้สนทนากันเรื่อง “ ปุพเพนิวาส” คือความเป็นไปในชาติก่อน โดยทรงเล่าเรื่องพระพุทธในอดีต ๖ พระองค์ รวมทั้งพระองค์เองด้วยเป็น ๗ พระองค์ดังต่อไปนี้?:-
๑. พระวิปัสสี
พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงสมภพในสกุลกษัตริย์ ในกัปป์ที่ ๓๑ ก่อนหน้ากัปป์ที่ ๓๑ ก่อนหน้ากัปป์ปัจจุบันนี้ มีพระนามโดยพระโคตรว่า โกณฑัญญะ มีประมาณแห่งอายุ ๘ หมื่นปี ตรัสรู้ ณ โคนไม้แคฝอย . มีคู่แห่งอัครสาวกนามว่า ขัณฑะ กับติสสะ . มีการประชุมสาวก ๓ ครั้ง การประชุมสาวก มีภิกษุ ๖ ล้าน ๘ แสนรูปครั้งหนึ่ง มีภิกษุ ๑ แสนรูปครั้งหนึ่ง มีภิกษุ ๘ หมื่นรูปครั้งหนึ่ง ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งสามครั้ง. มีภิกษุเป็นยอดพุทธอุปฐาก ๒ . ชื่ออโสกะ มีพระพุทธบิดาพระนามว่า พันธุมา พระพุทธมารดาพระนามว่า พันธุมตี มีพันธุมตีนครเป็นธานี.
๒. พระสิขี
พระสิขีพุทธเจ้าทรงสมภพในสกุลกษัตริย์ ในกัปป์ที่ ๓๑ ก่อนหน้ากัปป์ปัจจุบันนี้ มีพระนามโดยพระโคตรว่า โกณฑัญญะ มีประมาณแห่งอายุ ๗ หมื่นปี ตรัสรู้ ณ โคนต้นบุณฑริก มีคู่แห่งอัครสาวกนามว่า อภิภู กับสมภวะ. มีการประชุมอัครสาวก ๓ ครั้ง . การประชุมสาวกมีภิกษุ ๑ แสนรูปครั้งหนึ่ง ๘ หมื่นรูป ครั้งหนึ่ง ๗ หมื่นรูปครั้งหนึ่ง ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งสามครั้ง . มีภิกษุเป็นยอดพุทธอุปฐาก ชื่อเขมังกระ มีพระพุทธบิดาพระนามว่า อรุณะ พระพุทธมารดาพระนามว่า ปภาวตี มีอรุณวตีนครเป็นราชธารี.
๓. พระเวสสภู
พระเวสสภูพุทธเจ้าทรงสมภพในกุลกษัตริย์ ในกัปป์ที่ ๓๑ ก่อนหน้ากัปป์ปัจจุบันนี้ มีพระนามโดยพระโคตรว่า โกณฑทัญญะ มีประมาณแห่งอายุ ๖ หมื่นปี ตรั้สรู้ที่โคนไม้สาละ มีคู่แห่งอัครสาวกนามว่าโสณะกับอุตตระ มีการประชุมสาวก ๓ ครั้ง . การประชุมสาวกมีภิกษุ ๘ หมื่นรูปครั้งหนึ่ง ๗ หมื่นรูปครั้งหนึ่ง ๖ หมื่นรูปครั้งหนึ่ง ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งสามครั้ง. มีภิกษุเป็นยอดพุทธอุปฐาก ชื่ออุปสันตะ. มีพุทธบิดาพระนามว่า สุปปตีตะ พระพุทธมารดาพระนามว่า ยสวตี มีอโนมนครเป็นราชธานี.
๔. พระกุกสันธะ
พระกุกสันธพุทธเจ้าทรงสมภพในสกุลพราหมณ์ ในภัททกัปป์นี้ มีพระนามโดยพระโคตรว่า กัสสปะ มีประมาณแห่งอายุ ๔ หมื่นปี. ตรัสรู้ ณ โคนไม้ซึก มีคู่แห่งอัครสาวกนามว่า วิธูระ กับสัญชีวะ. มีการประชุมสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๔ หมื่นรูป ล้วนเป็นพระขีณาสพ. มีภิกษุเป็นยอดพุทธอุปฐาก ชื่อวุฑฒิชะ. มีพระพุทธบิดาเป็นพราหมณ์นามว่า อัคคิทัตตะ มีพระพุทธมารดาเป็นพราหมณีนามว่า วิสาขา มีเขมวตีนครของพระเจ้าเขมะเป็นราชธานี.
๕. พระโกนาคมนะ
พระโกนาคมนพุทธเจ้าทรงสมภพในสกุลพราหมณ์ ในภัททกัปป์นี้ มีพระนามโดยพระโคตรว่า กัสสปะ มีประมาณแห่งอายุ ๓ หมื่นปี. ตรัสรู้ ณ โคนไม้มะเดื่อ. มีคู่แห่งอัครสาวกนามว่า ภิยโยสะ กับอุตตระ. มีการประชุมสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๓ หมื่นรูป ล้วนเป็นพระขีณาสพ. มีภิกษุเป็นยอดพุทธอุปฐากชื่อโสตถิชะ. มีพระพุทธบิดาเป็นพราหมณ์นามว่า ยัญญทัตตะ พระพุทธมารดาเป็นพราหมณีนามว่า อุตตรา. มีโสภวตีนครของพระเจ้าโสภะเป็นราชธานี
๖. พระกัสสปะ
พระกัสสปพุทธเจ้าทรงสมภพในสกุลพราหมณ์ ในภัททกัปป์นี้ มีพระนามโดยพระโคตรว่า กัสสปะ มีประมาณแห่งอายุ ๒ หมื่นปี ตรัสรู้ ณ โคนไม้นิโครธ ( ไทร). มีคู่อัครสาวกนามว่า ติสสะ กับภารัทวาชะ. มีการประชุมสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๒ หมื่นรูป ล้วนเป็นพระขีณาสพ . มีภิกษุเป็นยอดพุทธอุปฐาก ชื่อสัพพมิตตะ. มีพระพุทธบิดาเป็นพราหมณ์นามว่า พรหมทัตตะ พระพุทธมารดาเป็นพราหมณีนามว่า ธนวตี มีพาราณสีนครของพระเจ้ากิงกิเป็นราชธานี.
๗. พระองค์เอง ( พระโคตมะ)
พระองค์เองทรงสมภพในสกุลกษัตริย์ ในภัททกัปป์นี้ มีพระนามโดยพระโครตรว่า โคตมะ มีปริมาณแห่งอายุน้อย ผู้ใดมีชีวิตอยู่นานก็เพียง ๑๐๐ ปี ที่เกินกว่านั้นมีน้อย. ตรัสรู้ ณ โคนไม้อัสสัตถะ (โพธิ์) . มีคู่แห่งอัครสาวกนามว่า สารีบุตร กับโมคคัลลานะ มีการประชุมสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๑, ๒๕๐ รูป ล้วนเป็นพระขีณาสพ. มีภิกษุเป็นยอดพุทธอุปฐาก ชื่ออานนท์ มีพุทธบิดาพระนามว่า สุธโธทนะ พระพุทธมารดาพระนามว่า มายา มีกบิลพัสดุนครเป็นราชธานี.
เมื่อตรัสเล่าอย่างนี้แล้ว ก็เสด็จจากอาสนะเข้าสู่วิหาร. ต่อมาได้ตรัสเล่าประวัติพระวิปัสสีพุทธเจ้าโดยแสดงว่าเป็นธรรมดาของผู้จะเป็นพระพุทธเจ้า ดังต่อไปนี้:-
ธรรมดาของพระโพธิสัตว์
๑. พระโพธิสัตว์จุติจากดุสิต มีสติสัมปชัญญะ ลงสู่พระครรภ์พระมารดา.
๒. เมื่อพระโพธิสัตว์ลงสู่พระครรภ์พระมาดา จะมีแสงสว่างอันโอฬารปรากฏในโลก. หมื่นโลกธาตุสะเทือนสะท้านหวั่นไหว.
๓. มีเทพบุตร ๔ ตนมาอารักขาทั้งสี่ทิศ เพื่อป้องกันมนุษย์และอมนุษย์มิให้เบียดเบียนพระโพธิสัตว์หรือพระมารดา.
๔. พระมารดาพระโพธิสัตว์ทรงตั้งอยู่ในศีล ๕ โดยปกติ.
๕. พระมารดาพระโพธิสัตว์ไม่ทรงมีความรู้สึกทางกามในบุรุษทั้งหลาย และจะเป็นผู้อันบุรุษใด ๆ ผู้มีจิตกำหนัดก้าวล่วงไม่ได้.
๖. พระมารดาพระโพธิสัตว์มีลาภ บริบูรณ์ด้วยกามคุณ ๕ ( รูป , เสียง , กลิ่น , รส, โผฏฐพพะ).
๗. พระมารดาพระโพธิสัตว์ไม่มีโรค มองเห็นพระโพธิสัตว์ในพระครรภ์เหมือนเห็นเส้นด้ายในแก้วไพฑูรย์ ( ตั้งแต่ข้อ ๓ ถึง ๗ หมายถึงระหว่างทรงพระครรภ์).
๘. เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วันแล้ว พระมารดาย่อมสวรรคต เข้าสู่สวรรค์ชั้นดุสิต.
๙. สตรีอื่นบริหารครรภ์ ๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้างจึงคลอด ส่วนมารดาพระโพธิสัตว์บริหารพระครรภ์ ๑๐ เดือนพอดีจึงคลอด.
๑๑. เมื่อประสูติ เทวดารับก่อน มนุษย์รับภายหลัง.
๑๒. เมื่อประสูติจากพระครรภ์ ยังไม่ทันถึงพื้น เทพบุตร ๔ ตนจะรับวางไว้เบื้องหน้าพระมารดาและบอกให้ทราบว่า พระโอรสที่เกิดมีศักดิ์ใหญ่.
๑๓. เมื่อประสูติ พระโพธิสัตว์เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาด ไม่แปดเปื้อนด้วยคัพภมลทิน.
๑๔. เมื่อประสูติ จะมีธารน้ำร้อนน้ำเย็นตกลงมาสนานพระกายพระโพธิสัตว์และพระมารดา.
๑๕. ทันใดที่ประสูติ พระโพธิสัตว์จะผินพระพักตร์ทางทิศเหนือ ดำเนินด้วยพระบาท ๗ ก้าว เปล่งพระวาจาประกาศเรื่องที่จะทรงเป็นเลิศในโลก และเรื่องชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย.
๑๖. เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติ จะมีแสงสว่างอันโอฬารปรากฏในโลก และหมื่นโลกธาตุสะเทือนสะท้าน.
วิปัสสีกุมารประสูติจนถึงเสด็จออกผนวช
เมื่อวิปัสสีกุมารประสูติแล้ว พระเจ้าพันธุมา พุทธบิดา ก็ตรัสให้เชิญพวกพราหมณ์ผู้รู้ลักษณะมาทำนาย. พวกพราหมณ์พิจารณาแล้วกราบทูลว่า พระราชกุมารประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ถ้าครองเรือนจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ถ้าเสด็จออกผนวช จักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า . พระราชบิดาจึงให้ถนอมเลี้ยงพระราชกุมารเป็นอันดี. พระราชกุมารนั่งบนตักของพระราชบิดาในการวินิจฉัยอรรถคดีก็ทรงพิจารณาวินิจฉัยได้ด้วยดีพระญาณปรีชา จึงได้รับขนานนามว่า “ วิปัสสี ” ( ผู้เห็นแจ้ง ).
ต่อจากนั้นเล่าเรื่องวิปัสสีกุมารเสด็จสู่ราชอุทยาน พร้อมด้วยนายสารถี ได้ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช จึงเสด็จออกผนวช.
ตรัสรู้และแสดงธรรม
เมื่อผนวชแล้ว ทรงพิจารณาหลักธรรมเรื่องปฎิจจสมุปบาท ( ธรรมที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยเหตุที่เกี่ยวโยงกันเหมือนลูกโซ่ ) ทรงพิจจารณาความเกิด ความดับแห่งขันธ์ ๕ ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งแรกจะทรงงดแสดงธรรม เพราะเห็นว่า ธรรมะที่ตรัสรู้นั้นลึกซึ้ง แต่ในที่สุดทรงเห็นว่า ผู้ที่พอจะรู้ตามได้ก็มี จึงทรงแสดงธรรม และได้โปรดราชบุตรชื่อขัณฑะ และปุโรหิตชื่อติสสะ ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม ขอบรรพชาอุปสมบท และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในที่สุด ต่อมาได้มีผู้ออกบวชมากขึ้น จึงทรงส่งสาวกไปประกาศศาสนา ต่อเมื่อครบ ๖ ปี จึงให้กลับมากรุงพันธุมตี เพื่อฟังปาฏิโมกข์ ซึ่งพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงในภิกษุสงฆ์ ( มีเนื้อความเช่นเดียวกับโอวาทปาฏิโมกข์).
ทรงแสดงว่าเรื่องเหล่านี้นอกจากทรงทราบด้วยพระองค์เอง เพราะทรงเข้าใจแจ่มแจ้งซึ่งธรรมธาตุ เป็นอย่างดี แม้เทพดาก็เคยมากราบทูลเรื่องเหล่านี้ เช่น ในสมัยที่ประทับ ณ โคนไม้สาละใหญ่ในสุภวันใกล้เมืองอุกกัฏฐา.
( หมายเหตุ : พระสูตรนี้ อาจจะมีรายละเอียดที่ทำให้เกิดปัญหาการถอดความหมายหรือการตีความเป็นธรรมะ เช่น บางท่านได้ถอดความว่า ที่ว่ามีแสงสว่างเกิดขึ้นหรือแผ่นดินไหว เทียบด้วยจะช่วยโลกให้ปัญญา และมีข่าวใหญ่แพร่ไปในโลก เป็นที่น่าตื่นเต้นในคุณความดีคล้ายแผ่นดินไหว เป็นต้น. แต่หลักการใหญ่ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ใช่อยู่ที่รายละเอียด เรื่องชื่อ เรื่องสาวกของพระพุทธเจ้า พระองค์ต่าง ๆ แต่อยู่ที่แสดงว่า ในพระพุทธศาสนาไม่มีการผูกขาดความรู้ ความฉลาด ความสามารถตรัสรู้สัจจธรรม เพื่อผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ ผู้ใดบำเพ็ญบารมีเพียงพอ ก็อาจเป็นพระพุทธเจ้าได้ทั้งนั้น. หลักธรรมจึงเป็นของกลาง ท่านผู้ใดพินิจพิจารณษค้นคว้าก็อาจตรัสรู้ได้).
๒ . มหานิทานสูตร
สูตรว่าด้วยต้นเหตุใหญ่
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิคม ชื่อกัมมาสธัมมะ ในแคว้นกุรุ. พระอานนท์เข้าไปเฝ้า กราบทูลว่า แม้ปฏิจจสมุปบาท ( ธรรมที่เกิดขึ้นอาศัยกันและกัน) เป็นของลึกซึ้งและทีเงาลึกซึ่ง แต่ปรากฏเป็นของตื้นสำหรับท่าน. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า อย่าพูดอย่างนั้น ๓ . ปฏิจจสมุปบาทนี้ลึกซึ้ง เพราะไม่ตรัสรู้ธรรมนี้ สัตว์จึงไม่ล่วงพ้นอบาย ( ภูมิอันเสื่อม) ทุคคติ ( ที่ไปอันชั่ว ) วินิบาติ ( สภาพอันตกต่ำ ) สงสาร (การท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิด) ยุ่งเหยิง สับสน เหมือนต้นหญ้า ( ที่ตกเกลื่อนกลาดอยู่ ยากที่จะจัดระเบียบต้นปลาย).
อะไรเป็นปัจจัยแห่งอะไร
๑. ต่อจากนั้นทรงแนะนำเรื่องปฏิจจสมุปบาทต่อไป ถ้ามีผู้ถามว่า ความแก่ความตายมีปัจจัยหรือไม่ พึงตอบว่า มี โดยชี้ไปที่ความเกิด ( ชาติ) ว่า เพราะความเกิดเป็นปัจจัย จึงมีความแก่และความตาย.
๒. เพราะภพ ( ความมีความเป็น ) เป็นปัจจัย จึงมีชาติ ( ความเกิด).
๓. เพราะอุปาทาน (ความยึดถือ) เป็นปัจจัย จึงมีภพ.
๔. เพราะตัญหา ( ความทะยานอยาก) เป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน.
๕. เพราะเวทนา ( ความรู้สึกที่เกิดจากสัมผัสทางตา หู เป็นต้น) เป็นปัจจัย จึงมีตัณหา.
๖. เพราะผัสสะ ( ความถูกต้อง ) เป็นปัจจัย จึงมีเวทนา.
๗. เพราะรูปนาม ( สิ่งที่ไม่มีรูปร่าง มีแต่ชื่อ เรียกว่านาม ได้แก่เวทนา ความรู้สึกอารมณ์, สัญญา ความจำได้หมายรู้, เจตนา ความจงใจ, ผัสสะ ความถูกต้อง, มนสิการ ความทำไว้ในใจ ส่วนสิ่งที่เป็นรูป คือธาตุ ๔ และรูปอันปรากฏเพราะอาศัยธาตุ ๔ ) เป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ.
๘. เพราะวิญญาณ ( ปฏิสนธิวิญญาณ ) คือธาตุรู้ที่ถือกำเนิด ๔ . เป็นปัจจัย จึงมีรูปนาม.
๙. เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ .
๑๐. เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป.
๑๑. เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ.
๑๒. เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา.
๑๓. เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัญหา.
๑๔. เพราะมีตัญหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน.
๑๕. เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ.
๑๖. เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ.
๑๗. เพราะชาติ (ความเกิด) เป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ ( ความแก่ ความตาย ) ในตอนนี้ระหว่างนามรูป กับวิญญาณ . โปรดดูข้อ ๙ ข้อ ๑๐, ต่างฝ่ายเป็นปัจจัยของกันและกัน แล้วจึงเนื่องไปถึงอันอื่น ).
ต่อจากนั้นทรงอธิบายรายละเอียด พร้อมทั้งเหตุผลประกอบหัวข้อทั้งสิบเจ็ดข้อนั้น แต่มีข้อน่าสังเกตที่ทรงใช้ศัพท์เกี่ยวกับสัมผัส คือทรงอธิบายสัมผัสว่า มี ๖ มีสัมผัสทางตา จนถึงสัมผัสทางใจ แล้วทรงใช้คำว่า อธิวจนสัมผัส ซึ่งอรรถกถาอธิบายว่า เป็นสัมผัสทางใจ และ ปฏิฆสัมผัส ซึ่งอรรถกถาอธิบายว่า เป็นสัมผัสที่เนื่องด้วยรูปขันธ์ คือสัมผัสทางร่างกาย คำอธิบายปฏิจจสมุปบาทโดยละเอียด จักมีแจ้งในการย่อความเล่มที่ ๑๖ เพราะในเล่มว่าด้วยปฏิจจสมุปบาทตลอด).
ในที่สุดตรัสสรุปในชั้นนี้ก่อนว่า ข้อวิญญาณ กับนาม รูป ต่างเป็นปัจจัยของกันและกันนี้ ย่อมเป็นเหตุให้สัตว์เกิด แก่ ตาย จุติ อุปบัติ ๕ . เป็นเหตุให้มีทางแห่งคำเรียกชื่อ มีทางแห่งการพูดจา มีทางแห่งการบัญญัติ มีการรู้ได้ด้วยปัญญา และมีวัฎฎะ ความหมุ่นเวียน และความเป็นอย่างนี้.
การบัญญัติและไม่บัญญัติอัตตา
ต่อจากนั้นทรงแสดงการบัญยัติอัตตา ๔ ประการ คือ
๑. บัญญัติอัตตา “ เล็กน้อย ” ว่ารูป
๒. บัญญัติอัตตา “ หาที่สุดมิได้ ” ว่ามีรูป
๓. บัญญัติอัตตา “ เล็กน้อย ” ว่าไม่มีรูป และ
๔. บัญญัติอัตตา “ หาที่สุดมิได้ ” ว่าไม่มีรูป ๖ .
การบัญญัติอย่างนี้ย่อมมี ๓ ประการ คือ
บัญญัติอัตตา เฉพาะในปัจจุบันนี้เท่านั้น ( เพราะความเห็นว่าตายแล้วสูญ )
บัญญัติอัตตา ที่มีความเป็นอย่างนั้น ( เพราะมีความเห็นว่าเที่ยง ไม่เปลี่ยนแปลง )
บัญญัติด้วยต้องการจะลบล้างความเห็นผิดของฝ่ายอื่น จูงมาสู่ความเห็นของตน ( ซึ่งเข้าใจว่าถูก ).
ส่วนการไม่บัญญัติอัตตา ก็เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับการบัญญัติที่กล่าวมาแล้ว.
ความคิดเห็นเรื่องเวทนาเกี่ยวกับอัตตา
ครั้นแล้วทรงแสดงความคิดเห็นของบุคคล ๓ ข้อเกี่ยวกับเวทนา และอัตตา คือ
๑. เห็นว่าเวทนา (ความรู้สึกอารมณ์เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไมสุข ) เป็นอัตตา ( ตัวตน) ของเรา
๒. เห็นว่าเวทนามิใช่อัตตาของเรา อัตตาของเราไม่รู้สึกอารมณ์
๓. เห็นว่าเวทนามิใช้อัตตาของเรา อัตตาของเราไม่รู้สึกอารมณ์ก็มิใช่ อัตตาของเราย่อมเสวยอารมณ์ อัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา.
แล้วทรงแสดงเหตุผลให้เห็นจริงทั้งสามข้อว่า ไม่ควรยึดถืออย่างนั้น ในที่สุดตรัสสรุปว่า ภิกษุผู้ไม่เห็นทั้งสามอย่างนั้น ย่อมไม่ยึดถืออะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดถือ ก็ไม่สะดุ้งดิ้นรน เมื่อไม่สะดุ้งดิ้นรน ก็ดับสนิทเฉพาะตน รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว ไม่อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ได้ทำหน้าที่เสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีก. ภิกษุผู้หลุดพ้นแล้วเช่นนี้ ไม่ควรที่ใคร ๆ จะกล่าวว่า ท่านมีความเห็นว่าสัตว์ตายแล้วเกิด, สัตว์ตายแล้วไม่เกิด , สัตว์ตายแล้วทั้งเกิดและไม่เกิด , และสัตว์ตายแล้วเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่. ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะวัฏฏะ ย่อมหมุนเวียนไปตราบเท่าที่ยังมีทางแห่งคำเรียกชื่อ มีทางแห่งคำพูดจา มีบัญญัติ มีทางแห่งการบัญญัติ มีการนัดกันรู้ มีการรู้ได้ด้วยปัญญา และยังหมุนเวียนอยู่. ภิกษุผู้หลุดพ้นเพราะรู้ความจริงนั้น ไม่ควรที่ใคร ๆ จะมีความเห็นว่าท่านไม่รู้ไม่เห็น.
หมายเหตุ:- การที่พระอรหันต์ไม่ติดอยู่ในความเห็นข้อใดข้อหนึ่ง ที่ว่าสัตว์ตายแล้วเกิดหรือไม่นั้น เป็นเพราะไม่ติดอยู่ในสมมติบัญยัติเกี่ยวกับกระแสหมุนเวียน เมื่อรู้เท่ากระแสหมุนเวียนและหลุดพ้นได้จึงไมควรที่จะกล่าวว่าที่ไม่รู้ไม่เห็น ).
ที่ตั้งแห่งวิญาณ ๗ อย่าง
ต่อจากนั้นทรงแสดงวิญญาณฐิติ ( ที่ตั้งแห่งวิญญาณ ) ๗ อย่าง คือ :-
๑. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญา ( ความจำได้หมายรู้ ) ต่างกัน เช่นมนุษย์ เทวดาบางพวกและเปตรบางพวก ๗ .
๒. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น เทพ พวกพรหม ที่เกิดด้วยปฐมฌานและสัตว์ที่อยู่ในบาย ๔.
๓. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น เทพพวกอาภัสสรพรหม
๔. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น เทพพวกสุภกิณหพรหม.
๕. สัตว์เหล่าหนึ่งก้าวล่วงความกำหนดหมายในรูป ทำในใจว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ ( เป็นพรหมไม่มีรูปพวกที่ ๑ ).
๖. สัตว์เหล่าหนึ่งก้าวล่วงอากาสานัญยตนะ ทำในใจว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ ( เป็นพรหมไม่มีรูปพวกที่ ๒ ).
๗. สัตว์เหล่าหนึ่งก้าวล่วงวัญญาณัญจายตนะ ทำในใจว่า ไม่มีอะไร เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ ( เป็นพรหมไม่มีรูปพวกที่ ๓ ).
อายตนะ ๒
ครั้นแล้วทรงแสดงอายตนะ ๒ คือ
๑. อสัญญีสัตตายตนะ อายตนะ หรือที่ต่อ คืออสัญญีสัตว์ ( อสัญญีสัตว์เป็นพวกมีแต่รูป ไม่มีวิญญาณ จึงไม่จัดเข้าในวิญญาณฐิติ ๗ อย่าง แต่เรียกว่าอายตนะ )
๒. เนวสัญญานาสัญญายตนะ อายตนะ หรื่อที่ต่อ คือที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ( นี้เป็นพรหมไม่มีรูป พวกที่ ๔ เพราะเหตุที่วิญญาณในอรูปพรหมชั้นนี้สุขุมละเอียดอ่อนมาก จึงไม่ควรกล่าวว่ามีวิญญาณ หรือไม่มีวิญญาณ ฉะนั้น จึงไม่จัดเข้าในวิญญาณฐิติ ๗ แต่เรียกว่าอายตนะ เป็นอันว่า ต้องกล่าวว่า วิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒ จึงจะครอบคลุมสัตว์โลกได้หมดทุกชนิด ) .
ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา
ตรัสสรุปเฉพาะตอนนี้ว่า ผู้ใดรู้วิญญาณฐิติทั้งเจ็ดรู้อายตนะทั้งสองรู้ความเกิดขึ้น รู้ความดับไป รู้ความพอใจ รู้โทษ และรู้การแล่นออก ( หลุดพ้น ) จากวิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒ แล้ว ควรหรือที่จะชื่นชมยินดีววิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒ นั้น . พระอานนท์กราบทูลว่า ไม่ควร . จึงตรัสว่า ภิกษุผู้รู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ ย่อมหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น ( ด้วยอุปาทาน ) เรียกว่าเป็นปัญญาวิมุติ ( ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา ).
วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น ) ๘
ทรงแสดงวิโมกข์ ๘ แก่พระอานนท์ต่อไป คือ?:-
๑. บุคคลมีรูป เห็นรูป.
๒. บุคคลมีความกำหนดหมายในสิ่งไม่มีรูป เห็นรูปภายนอก.
๓. บุคคลน้อมใจว่า “ งาม .”
๔. บุคคลทำไว้ในใจว่า อากาศไม่มีที่สุด เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ.
๕. บุคคลทำไว้ในใจว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เข้าถึงวิญญาณณัญจายตนะ.
๖. บุคคลทำไว้ในใจว่า ไม่มีอะไร เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ.
๗. บุคคลก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะ เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ.
๘. บุคคลก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะ เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ. ๘ .
สรุปเกี่ยวกับวิโมกข์ ๘
ภิกษุเข้าสู่วิโมกข์ ๘ นี้ ได้ทั้งอนุโลม ( ตามลำดับ ) และปฏิโลม ( ถอยกลับจากหลังไปหาหน้า) เข้าได้ออกตามต้องการ ย่อมทำให้แจ้ง ( บรรลุ ) ความหลุดพ้นด้วยสมาธิ ( เจโตวิมุติ ) และความหลุดพ้นด้วยปัญญา ( ปัญญาวิมุติ ) อันไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นอาสวะได้ในปัจจุบัน ภิกษุนี้ เรียกว่าอภุโตภาควิมุต ( ผู้พ้นทั้งสองทาง ) ไม่มีอุภโตภาควิมุตอย่างอื่นยอดเยี่ยมกว่า ประณีตกว่า.
เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระอานนท์ก็ชื่นชมภาษิตของพระของพระผู้มีพระภาค.
( หมายเหตุ : มหานิทานสูตรนี้ เป็นการแสดงเรื่องความเวียนว่ายตายเกิด โดยเเสดงเงื่อนต้น ที่วิญญาณและนามรูป ต่างเป็นปัจจัยของกันและกัน ทำให้เวียนว่ายตายเกิด และเป็นเหตุให้มีการบัญญัติอัตตาตัวตน ผู้รู้แจ้งความจริงย่อมไม่ติดในบัญญัตินั้น ๆ ในที่สุดได้แสดงถึงวิญญาณฐิติ คือที่ตั้งแห่งวิญญาณ หรือประเภทแห่งสัตว์โลก ๗ กับแสดงอายตนะ ๒ คือพวกที่วิญญาณไม่ปรากฏ กับปรากฏ แต่ไม่ชัด ๒ พวก ในที่สุดได้แสดงวิโมกข์ คือความหลุดพ้น ๘ ประการ ที่ผู้เข้าออกได้คล่องแคล่ว จะชื่อว่าผู้พ้นด้วยสมาธิและปัญญา ความจริงควรจะได้อธิบายรายละเอียดว่า ข้อไหนมีความพิสดารอย่างไร แต่ถ้าทำอย่างนั้นจะไม่จบตามกำหนด จึงต้องขอผ่านไป เสนอแต่ความสำคัญ ).
________________________________________
๑. ฉบับยุโรปเป็นปายาสิสูตร
๒. ผู้รับใช้พระพุทธเจ้า
๓. อรรถกถาแก้ว่า เป็นของง่าย และตื้นสำหรับพระอานนท์จริง แต่ยากสำหรับคนทั่งไป ทั้งนี้เพราะพระอานนท์เป็นพหูสูตผู้สดับตรับฟังมาก และมีปัญญา
๔. คำว่า วิญญาณ ในที่นี้ หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ เพราะทรงใช้คำว่า วิญญาณ ก้าวลงในท้องของมารดา ในตอนขยายความต่อจากนี้. แต่ในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่มที่ ๑๖ หน้า ๖ ทรงอธิบายวิญญาณว่า ได้แก่วิญญาณ ๖ อันหมายถึงธาตุรู้ที่ปรากฏทางตา หู เป็นต้น.
๕. อุปบัติ อ่านว่า อุปะบัด เป็นคำคู่กับจุติ. จุติ หมายถึงเคลื่อนจากฐานะเดิม อุปบัติ หมายถึงเข้าถึงฐานะใหม่
๖. คำว่าอัตตาเล็กน้อย ถ้าเทียบกับศาสนาพราหมณ์ น่าจะหมายถึงอัตตาของแต่ละคน ส่วนอัตตาหาที่สุดมิได้ หรืออนันตอัตตา น่าจะหมายถึงอัตตาใหญ่ หรืออัตตาสากล ที่เรียกว่าปรมาตมัน แต่อรรถกถาอธิบายว่า ผู้ไม่ได้เจริญกสิณนิมิต ย่อมบัญญัติอัตตาเล็กน้อย ถ้าได้เจริญกสิณนิมิต ย่อมบัญญัติอัตตาหาที่สุดมิได้
๗ . อรรถกถาอธิบายว่า ได้แก่พวกเวมานิกเปรต คือเปตรที่ได้วิมาน ซึ่งได้รับความสุขความทุกข์สลับกันไป เปตรพวกนี้ ไม่จัดอยู่ในอบายภูมิ . ดูอรรถกถาเล่ม ๒ หน้า ๑๒๙
๘. คำแปลเหล่านี้ได้ที่นี่ หมายเลข ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐,
๓. มหาปรินิพพานสูตร
ว่าด้วยมหาปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
เริ่มเรื่องเล่าว่า พระพุทธเจ้าประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ พระเจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์แคว้นมคธ ต้องการจะตีแคว้นวัชชีไว้ในอำนาจ ๑ . จึงส่งวัสสการพราหมณ์ให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเล่าความให้ทรงทราบแล้ว ให้วัสสการพราหมณ์ฟังดูว่าจะทรงพยากรณ์อย่างไร เพราะเชื่อว่าจะไม่ตรัสผิดความจริง.
วัสสการพราหมณ์เข้าไปเฝ้ากราบทูลเรื่องนั้น พระผู้มีพระภาคก็ตรัสถามพระอานนท์ทีละข้อถึงธรรมะ ๗ ประการที่ชาววัชชีประพฤติกัน อันจะหวังความเจริญได้โดยส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม ว่าพระอานนท์เคยได้ฟังบ้างหรือเปล่า พระอานนท์ก็กราบทูลว่า เคยได้ฟัง ธรรมะ ๗ ประการนั้น คือชาววัชชี
๑. จะหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์.
๒. จะพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจของชาววัชชี.
๓. จะไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ จะไม่ถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว จะประพฤติปฏิบัติในวัชชีธรรมอันเป็นของเก่า.
๔. จะเคารพเชื่อฟังชาววัชชีผู้แก่เฒ่า.
๕. จะไม่ก้าวล่วงข่มแหงกุลสตรี ( หญิงที่มีสามีแล้ว ) และกุลกุมารี ( หญิงสาวที่ยังไม่มีสามี ).
๖. จะเคารพนับถือเจดีย์ของชาววัชชีทั้งภายในและภายนอก ไม่ละเลยพลีกรรมอันเป็นธรรมที่เคยให้เคยทำ.
๗. จะจัดการรักษาคุ้มครองอันเป็นธรรม ในพระอรหันต์ของชาววัชชี จะตั้งใจว่า พระอรหันต์ที่ยังไม่มาขอให้มา ที่มาแล้วขอให้เป็นสุข.
ครั้นแล้วได้ตรัสแก่วัสสการพราหมณ์ว่า พระองค์เคยตรัสแสดงวัชชีปริหานิยธรรม ( ธรรมะอันเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อมของชาววัชชี ) ๗ ประการ เมื่อประทับ ณ สารันทเจดีย์.
วัสสการพราหมณ์ก็กราบทูลว่า เพียงข้อใดข้อหนึ่งก็หวังความเจริญได้ ไม่มีเสื่อม จะกล่าวไยถึง ๗ ข้อ พระเจ้าอชาตศัตรูไม่ควรทำการรบกับชาววัชชี เว้นไว้แต่วิธียุและทำให้แตกกัน แล้วกราบทูลลากลับไป.
เมื่อวัสสการพราหมณ์กลับไปแล้ว จึงตรัสให้เรียกประชุมภิกษุที่อยู่กรุงราชคฤห์ทั้งหมด แล้วทรงแสดงธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อมของภิกษุ ๗ อย่าง รวมเป็น ๕ นัย ๖ อย่าง ๑ นัย ( รวมเป็น ๓๑ ข้อ ).
ระหว่างที่ประทับ ณ เขาคิชฌกูฏใกล้กรุงราชคฤห์นั้น ทรงแสดงเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา โดยมาก.
เสด็จสวนมะม่วงหนุ่มและเมืองนาฬันทา
ต่อจากนั้นเสด็จสวนมะม่วงหนุ่ม แสดงธรรมเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา โดยมาก แล้วเสด็จเมืองนาฬันทา พระสารีบุตรเข้าไปเฝ้ากราบทูลสรรเสริญพระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสโต้ตอบด้วย และในที่นั้นก็ทรงแสดงธรรมเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา โดยมาก
เสด็จปาฏลิคาม
ครั้นแล้วเสด็จสู่ป่าฏลิคาม อุบาสกปาฏลิคาม มาเฝ้ากราลทูลเชิญให้เข้าไปในที่พัก ทรงแสดงโทษของความวิบัติจากศีล ๕ ประการ คือ ๑ . เสื่อมทรัพย์ ๒. มีกิตติศัพท์ในทางชั่ว ๓. เมื่อเข้าสู่บริษัทไม่องอาจ มีอาการเก้อเขิน ๔. เป็นผู้หลง ถึงแก่ความตาย ๕. เมื่อตายแล้ว ก็เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต ๒. นรก แล้วทรงแสดงอานิสงส์แห่งความสมบูรณ์ด้วยศีล ๕ ประการ ในทางตรงกันข้ามกับศีลวิบัติ.
กล่าวถึงสุนิธพราหมณ์และวัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ชาวมคธ มาสร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันชาววัชชี ( ชายแดนมคธกับวัชชี ตรงนั้นมีแม่น้ำคงคากั้นเป็นเขตแดน ทางมคธจึงสร้างเมืองยุทธศาสตร์ไว้ที่ปาฏลิคาม ) และได้นิมนต์พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ฉันภัตตาหาร ณ ที่อยู่ของตน เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปฉันเสร็จแล้ว ทรงอนุโมทนา และเสด็จเดินทางต่อไป มหาอำมาตย์ทั้งสองตามส่งเสด็จ และตั้งชื่อประตูที่เสด็จผ่านว่า ประตูโคดม ตั้งชื่อท่าน้ำที่เสด็จข้ามแม่น้ำคงคาว่า ท่าโคดม.
เสด็จโกฏิคามและนาทิกคาม
เมื่อเสด็จข้ามแม่น้ำคงคาแล้ว ได้เสด็จต่อไป (ในแคว้นวัชชี ) สู่โกฏิคาม . ณ ที่นั้นทรงแสดงธรรมเรื่องอริยสัจจ์ ๔ และแสดงเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา โดยมาก ต่อจากนั้นได้เสด็จไปพัก ณ โรงพักคนเดินทางทำด้วยอิฐ ในนาทิกคาม. ณ ที่นั้นทรงแสดงธรรมปรารภคำถามของพระอานนท์ที่ว่า ผู้นั้นผู้นี้ตายไป มีคติเป็นอย่างไร โดยแสดงหลักธรรมที่ผู้ประพฤติปฏิบัติอาจพยาการณ์ตนเองได้ว่า จะพ้นคติที่ตกต่ำหรือไม่ และแม้ ณ นาทิกคามนั้น ก็ทรงแสดงเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา โดยมาก.
เสด็จป่ามะม่วงของนางอัมพปาลี
จากนาทิกคามได้เสด็จไปพัก ณ ป่ามะม่วงของนางอัมพปาลี และได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายให้มีสติสัมปชัญญะ และโดยเฉพาะได้แสสดงการตั้งสติ ( สติปัฏฐาน) ๔ ประการ.
นางอัมพปาลี ซึ่งเป็นหญิงนครโสเภณี ทราบว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จมาประทับ ณ ป่ามะม่วงของตน ก็สั่งเตรียมยานอย่างดี เดินทางไปเฝ้า และนิมนต์พระผู้มีพระภาคไปฉันที่บ้านของตน พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น.
ฝ่ายกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลายทราบว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จมาประทับ ณ ป่ามะม่วงของนางอัมพปาลีใกล้กรุงเวสาลี ก็สั่งเตรียมยานอย่างดี แต่งกายงดงาม ออกเดินทางไป สวนทางกับยานของนางอัมพปาลีถามทราบความว่า นางอัมพปาลีนิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ฉันในวันรุ่งขึ้น จึงขอร้องให้มอบให้ตนเป็นผู้ถวายอาหารแทน โดยจะให้เงินแสนหนึ่ง นางอัมพปาลีตอบว่า แม้จะให้เมืองเวสาลี พร้อมทั้งอาหารก็ไม่ยอมให้ถวายอาหารแทนตน เมื่อกษัตริย์ลิจฉวีไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็กราบทูลนิมนต์ฉันในวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นางอัมพปาลีนิมนต์ไว้แล้ว ก็ดีดมือแสดงความเสียดาย.
เมื่อไปฉันที่บ้านนางอัมพปาลีในวันรุ่งขึ้น นางอัมพปาลีก็ได้ถวายป่ามะม่วงแก่ภิกษุสงฆ์. ณ ป่ามะม่วงนั้น ทรงแสดงธรรมเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา โดยมาก.
เสด็จจำพรรษา ณ เวฬวคาม
ต่อจากนั้นได้เสด็จไปยังเวฬวคาม ( หมู่บ้านไม้มะตูม ) และตรัสอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์จำพรรษารอบเมืองเวสาลีได้ตามอัธยาศัย . ในระหว่างพรรษาทรงประชวร แต่ทรงเห็นว่า ยังไม่ได้ลาอุปฐาก ( ผู้รับใช้ ) ยังไม่ได้ลาภิกษุสงฆ์ ยังไม่สมควรปรินิพพาน จึงทรงขับไล่อาพาธด้วยความเพียร อธิษฐานชีวิตสังขาร ( ตั้งพระหฤทัยให้ดำรงชีวิตอยู่ ). เมื่อหายประชวรแล้ว พระอานนท์เข้าเฝ้ากราบทูลความกังวลใจที่เห็นทรงประชวร ตรัสตอบว่า พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมไม่มีภายใน ไม่มีภายนอก ไม่มีกำมือของอาจารย์ในธรรมทั้งหลาย ( ไม่ปิดบังธรรมะ ) ไม่ได้ทรงยึดถือว่าบริหารภิกษุสงฆ์ และมิได้ทรงยึดถือว่าภิกษุสงฆ์เป็นผู้เล่าเรียนจากพระองค์. ทรงเปรียบพระองค์ซึ่งแก่เฒ่าล่วงวัย มีพระชนมายุถึง ๘๐ ปีว่า เหมือนเกวียนเก่าที่ซ่อมด้วยไม้ไผ่ ตรัสเตือนให้พึ่งตน พึ่งธรรมะ และตรัสสอนสติปัฏฐาน ๔.
ทรงปลงอายุสังขาร
เมื่อเสด็จพักผ่อนกลางวัน ณ ปาวาลเจดีย์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนิมิตโอภาสอันชัดเจน ( บอกใบ้อย่างชัดเจน ) แก่พระอานนท์ว่า ผู้ใดเจริญอิทธิบาท ( ธรรมที่ให้บรรลุความสำเร็จผล ) ๔ ประการดีแล้ว ถ้าปรารถนาก็อาจมีอายุยืนอยู่ได้ถึงกัปป์หรือเกินกัปป์ ๓. แต่พระอานนท์นึกไม่ถึง จึงมิได้กราบทูลอาราธนา.
เมื่อพระอานนท์ออกไปจากที่เฝ้า มาร ๔. จึงมาอาราธนาให้นิพพาน พระองค์ทรงมีสติสัมปชัญญะปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์นั้น ( ปลงพระหฤทัยว่า ต่อไปนี้อีก ๓ เดือน จะเสด็จปรินิพพาน ) ก็เกิดแผ่นดินไหวมหัศจรรย์ เป็นต้น.
พระอานนท์กราทูลถาม จึงตรัสตอบถึงเหตุแห่งแผ่นดินไหว แล้วทรงแสดงบริษัท ๘ มีขัตติยบริษัท เป็นต้น และการที่พระองค์เคยเสด็จเข้าไปสู่บริษัทเหล่านั้น ทำพระองค์ให้เข้ากันได้กับบริษัทเหล่านั้นแล้วทรงแสดงอภิภายยตนะ ( อารมณ์อันครอบงำธรรมะที่เป็นข้าศึก หรือธรรมะฝ่ายต่ำ ) ๘ ประการ วิโมกข์ ( ธรรมะเป็นเครื่องหลุดพ้นจากธรรมะที่เป็นข้าศึก ) ๘ ประการ.
แล้วตรัสเล่าเรื่องที่ปลงอายุสังขาร พระอานนท์จึงกราบทูลอาราธนาให้ทรงพระชนชีพอยู่อีก ตรัสว่า มิใช่กาลที่จะขอร้องเสียแล้ว เพราะได้ทรงแสดงนิมิต ( เครื่องหมาย ) แสดงโอกาส ( แสงสว่าง – หมายถึงการบอกใบ้ ) อย่างชัดเจนแล้วหลายครั้ง คือที่กรุงราชคฤห์ ๑๐ แห่ง ที่กรุงเวสาลี ๖ แห่ง แต่พระอานนท์ก็มิได้อาราธนา บัดนี้พระองค์ทรงปลงอายุสังขารเสียแล้ว จึงมิใช่ฐานะที่จะทรงคืนความตั้งพระหฤทัย.
เสด็จป่ามหาวันประชุมภิกษุสงฆ์
ต่อจากนั้นเสด็จสู่เรือนยอด ณ ป่ามหาวัน ทรงเรียกประชุมสงฆ์ที่อยู่ในกรุงเวสาลีทั้งหมด ณ ที่นั้น แล้วทรงแสดงสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ๔ อย่าง สัมมัปปธาน ( ความเพียรชอบ) ๔ อย่าง อิทธิบาท ( ธรรมอันให้บรรลุความสำเร็จ ) ๔ อย่าง อีนทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ) ๕ อย่าง พละ ( ธรรมอันเป็นกำลัง ) ๕ อย่าง โพชฌงค์ ( ธรรมอันเป็นองค์ประกอบให้ได้ตรัสรู้ ) ๗ อย่าง และมรรค ( ข้อปฏิบัติหรือทางดำเนิน) ๘ อย่าง ( รวม ๓๗ ประการ) ว่าเป็นอภิญญาเทสิตธรรม ( ธรรมที่ทรงแสดงแล้วด้วยความรู้ยิ่ง ) แล้วตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท อีก ๓ เดือนแต่นี้ พระองค์จะปรินิพพาน .
เสด็จภัณฑคามและที่อื่น ๆ
แล้วเสด็จจากกรุงเวสาลีสู่ภัณฑคาม ทรงแสดงอริยธรรม ( ธรรมอันประเสริฐ ) ๔ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุติ ( ความหลุดพ้น ) และทรงแสดงเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา โดยมาก.
ต่อจากนั้นเสด็จสู่หัตถิคาม , อัมพคาม และโภคนคร โดยลำดับ ณ โภคนคร ทรงแสดงมหาปเทส ( หลักอ้างอิงสำหรับสอบสวนข้ออ้างของผู้อื่นที่ว่า เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ) ๔ ประการ โดยให้สอบกับพระสูตรเทียบกับพระวินัยก่อน.
เสด็จกรุงปาวา ฉันอาหารของนายจุนทะ
ครั้นแล้วเสด็จสู่กรุงปาวา นายจุนทะบุตรช่างทองนิมนต์ฉัน ก็เสด็จไปฉัน พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย ตรัสเรียกให้นำสูกรมัททวะ ( มีผู้แปลว่า มังสะสุกรอ่อนบ้าง เห็ดชนิดหนึ่งบ้าง ) มาที่พระองค์ให้ถวายอาหารอื่นแด่พระสงฆ์ เมื่อฉันอาหารแล้วตรัสสั่งให้นำสูกรมัททวะนั้นไปฝังเสีย ต่อมาทรงประชวรลงพระโลหิตมีเวทนากล้า แต่ก็ทรงมีสติสัมปชัญญะอดกลั้นอาพาธนั้น ไม่ทรงเดือดร้อน.
ระหว่างที่เสด็จสู่กรุงกุสินารา
ทรงเดินทางต่อไปยังกรุงกุสินารา ทรงแวะจากทาง ให้พระอานนท์ปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้นถวายแล้วตรัสสั่งพระอานนท์ให้ไปตักน้ำมา ครั้งแรกน้ำขุ่นเพราะเกวียนประมาณ ๕๐๐ ผ่านไป พระอานนท์จึงไม่ตักกราบทูลเชิญให้เสด็จต่อไปยังกกุธานที แต่ตรัสซ้ำให้ไปตักน้ำมา คราวนี้กลับได้น้ำใส.
ณ ที่นั้น ปุกกุสะ มัลลบุตร เดินทางจะไปกรุงปาวา เข้าไปเฝ้าสนทนาด้วย พระองค์ก็รับสั่งโต้ตอบด้วย เมื่อจะจากไปได้ถวายผ้าเนื้อเกลี้ยงสีทองคู่หนึ่งแด่พระผู้มีพระภาค ตรัสแนะให้ถวายพระองค์ผื่นหนึ่ง ถวายพระอานนท์ผื่นหนึ่ง เมื่อปุกกุสะไปแล้ว พระอานนท์ก็นำผ้าผืนที่ได้รับไปถวายพระผู้มีพระภาค และกราบทูลว่า พระฉวีวรรณผ่องใสยิ่งนัก ตรัสตอบว่า พระฉวีวรรณของพระองค์ย่อมผ่องใสเป็นพิเศษ ๒ คราว คือในคืนที่จะตรัสรู้ กับในคืนที่จะปรินิพพาน.
ต่อจากนั้นเสด็จข้ามแม่น้ำกกุธา ตรัสสั่งพระอานนท์ให้บอกแก่นายจุนทะอย่าให้เดือดร้อนว่าพระองค์ฉันอาหารของเขาแล้วปรินิพพาน ให้ชี้แจงว่า บิณฑบาตที่ถวายก่อนตรัสรู้และก่อนปรินิพพานนั้นมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.
ครั้นแล้วเสด็จเลียบฝั่งนอกแม่น้ำหิรัญญวดี สู่ป่าไม้สาละของมัลลกษัตริย์ ใกล้กรุงกุสินารา ให้ตั้งเตียงผินพระเศียรไปทางทิศอุดร ทรงบรรทมมีสติสัมปชัญญะ ตรัสปรารภการบูชาด้วยการประพฤติธรรมว่ายอดเยี่ยม.
สถานที่ควรสังเวช ๔ แห่ง
ทรงแสดงสังเวชนียสถาน คือสถานที่ควรสังเวช ๔ คือที่ที่พระตถาคตประสูติ , ตรัสรู้ , แสดงธรรมจักร และปรินิพพาน ว่าเมื่อภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาจาริกไป มีจิตเลื่อมใส และตายลง ก็จะเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์.
วิธีปฏิบัติในสตรีและพระพุทธสรีระ
ทรงแสดงวิธีปฏิบัติในสตรี ( มาตุคาม ) ตามที่พระอานนท์กราบทูลถามว่า ไม่ควรมอง ถ้าจะเป็นจะมอง ก็ไม่ควรพูดด้วย ถ้าจำเป็นจะพูดด้วย ก็ให้ตั้งสติ. แล้วทรงแสดงวิธีปฏิบัติต่อพระพุทธสรีระ เช่นเดียวกับพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ในเมื่อพระอานนท์กราบทูลถาม โดยทรงแสดงว่า ให้ห่อด้วยผ้าใหม่ แล้วห่อด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าใหม่ แล้วห่อด้วยสำลี รวม ๕๐๐ ชั้น แล้วใส่ในรางเหล็กเต็มด้วยน้ำมัน ปิดด้วยรางเหล็ก ทำจิตกาธานด้วยของหอมแล้ว ทำการเผา สร้างสตูปไส้ในทางสี่แพร่ง.
ผู้ควรแก่สตูป
ทรงแสดงถึงบุคคลผู้เป็นถูปารหะ ( ผู้ควรแก่สตูป ) ๔ คือ พระพุทธเจ้า พระปัจจเจกพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ์.
ตรัสสรรเสริญพระอานนท์
พระอานนท์เข้าไปสู่วิหารเหนี่ยวสลักเพชร (หัวลิ้มประตู ทำรูปเป็นศรีษะวานร ) ยืนร้องไห้ ด้วยคิดว่า ท่านยังเป็นเสขะ ( ผู้ยังต้องศึกษา คือเป็นเพียงพระโสดาบัน ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ) แต่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงอนุเคราะห์ท่าน จักปรินิพพานเสียแล้ว.
พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ตรัสเรียกให้เข้าเฝ้า แล้วตรัสปลอบใจว่า เป็นธรรมดาที่จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ จะปรารถนาให้สิ่งที่มีความทรุดโทรมเป็นธรรมดามิให้ทรุดโทรม ย่อมเป็นไปไม่ได้ แล้วตรัสสรรเสริญพระอานนท์ว่า ตั้งเมตตาทางกาย วาจา ใจ ในพระองค์มาตลอดกาลนาน ได้ชื่อว่าทำบุญไว้แล้ว จงเริ่มตั้งความเพียรเถิด จะเป็นผู้สิ้นอาสวะโดยพลัน.
ครั้นแล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา ตรัสสรรเสริญพระอานนท์ว่า ภิกษุผู้อุปฐาก ( รับใช้ ) พระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและในอนาคต ก็อย่างยิ่งเพียงเท่าพระอานนท์. ทรงสรรเสริญว่า พระอานนท์เป็นบัณฑิต รู้กาลที่ควรจะจัดให้ใครเข้าเฝ้า และเป็นที่พอใจใคร่สดับธรรมของบริษัท ๔.
ตรัสเรื่องกรุงกุสินารา
พระอานนท์กราบทูลถามว่า อย่าปรินิพพานในกรุงกุสินารานี้ ซึ่งเป็นเมืองเล็ก เมืองดอย เป็นกิ่งเมือง ขอให้เสด็จไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ ๆ เช่น จัมปา ราชคฤห์ สาวัตถี โกสัมพี พาราณสี แต่ตรัสตอบว่า กรุงกุสินารา เคยเป็นราชธานีนามว่า กุสาวตี ซึ่งพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์ทรงปกครองเคยเจริญรุ่งเรืองยิ่งมาแล้ว . ครั้นแล้วตรัสสั่งให้พระอานนท์ไปแจ้งข่าวที่จะปรินิพพานแก่มัลลกษัตริย์ซึ่งพากันเศร้าโศก และมาเฝ้าในราตรีนั้น พระอานนท์ก็จัดให้เข้าถวายบังคมเป็นครอบครัวไป เสร็จสิ้นภายในยามแรกแห่งราตรี.
โปรดสุภัททปริพพาชก
ครั้งนั้น ปริพพาชก ( นักบวชนอกพุทธศาสนา ) ชื่อสุภัททะ มาเฝ้า พระอานนท์จะไม่ให้เข้าเฝ้า แต่พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้าได้ เมื่อกราบทูลถาม ทรงโต้ตอบแสดงธรรมให้ฟัง ก็ขอบวชและเพียรพยายามจนได้บรรลุอรหัตตผลในไม่ช้า นับเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายที่ทันเห็นพระพุทธเจ้า.
พระดำรัสตรัสสั่ง
ครั้นแล้วสั่งความแก่พระอานนท์ ดังต่อไปนี้ :-
๑. ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว จักเป็นพระศาสดาของท่านทั้งหลายเมื่อเราล่วงลับไป.
๒. เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุทั้งหลายไม่พึงเรียกกัยด้วยคำว่า อาวุโส เช่น ที่เรียกกันอยู่ในบัดนี้ พึงเรียกภิกษุอ่อนกว่า โดยชื่อ โดยโครต หรือ ด้วยคำว่า อาวุโส ( ผู้มีอายุ ) พึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า ถันเต ( ท่านผู้เจริญ ) หรือ อายัสมา ( ท่านผู้มีอายุ ).
เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว เมื่อสงส์ปรารถนาก็จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียได้.
เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงส์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ คือปล่อยให้ทำอะไรตามใจชอบไม่พึงว่ากล่าวตักเตือน.
ทรงเปิดโอกาสให้ซักถาม
ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้ว ทรงเปิดโอกาสว่า ถ้าภิกษุแม้รูปหนึ่งมีความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติ ก็ให้ถามได้ อย่าเดือดร้อนใจว่า ศาสดาอยู่ต่อหน้า แต่มิได้ถามในที่ต่อหน้า . แต่ก็หามีผู้ใดถาม พระอานนท์จึงกราบทูลแสดงความอัศจรรย์ ตรัสตอบว่า เพราะภิกษุที่ประชุมกันอยู่ถึง ๕๐๐ นี้ อย่างต่ำก็เป็นพระโสดาบัน.
ปัจฉิมโอวาท
ครั้นแล้วตรัสว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ? บัดนี้เราเตือนท่าน สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ( สมบรูณ์ ) เถิด” นี้เป็นปัจฉิมวาจาของพระตถาคต.
ลีลาในการปรินิพพาน
ครั้นแล้วทรงเข้าฌานที่ ๑ ออกจากฌานที่ ๑ เข้าสู่ฌานที่ ๒ เป็นลำดับไปจนครบรูปฌาน ( ฌานมีรูปเป็นอารมณ์ ) ๔ อรูปฌาน ( ฌานมีสิ่งมิใช่รูปเป็นอารมณ์ ) ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ ( สมาบัติที่ดับสัญญาความกำหนดหมาย และเวทนา ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข ) ๕. ต่อจากนั้นทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ ย้อนกลับเข้าสู่อรูปฌานที่ ๔ ( คล้ายกับออกจากตึกชั้นที่ ๙ ย้อนลงสู่ชั้นที่ ๘ ) โดยนัยนี้ ทรงย้อนกลับไปถึงฌานที่ ๑ ออกจากฌานที่ ๑ เข้าสู่ฌานที่ ๒ เรื่อยไปจนถึงฌานที่ ๔ เมื่อออกจากฌานที่ ๔ แล้วก็ปรินิพพาน ( เป็นการไม่ติดในรูปฌานหรือในอรูปฌาน เพราะนิพพานในระหว่างแห่งรูปฌานและอรูปฌาน ) .
เมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ก็เกิดแผ่นดินไหว และมีหลายท่านกล่าวภาษิตในทางธรรม เหตุการณ์นี้ยังความโศกสลดให้เกิดแก่ภิกษุผู้ยังไม่ปราศจากราคะ และยังธรรมสังเวชให้เกิดแก่ภิกษุผู้ปราศจากราคะแล้ว.
การถวายพระเพลิง
มัลลกษัตริย์ก็จัดการถวายพระเพลิงพระศพพระผู้มีพระภาค ภายหลังที่ตั้งพระศพจัดเครื่องสักการะบูชาครอบ ๗ วัน และภายหลังที่พระมหากัสสปเถระ พร้อมด้วยภิกษุบริษัทมาถวายบังคมพระศพเสร็จแล้ว อนึ่ง ในบริษัทของพระมหากัสสปนั้น ขณะที่ภิกษุทั้งหลายกำลังร้องไห้คร่ำครวญในข่าวปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ก็มีภิกษุรูปหนึ่งผู้บวชเมื่อแก่ชื่อสุภัททะ กล่าวห้ามภิกษุเหล่านั้นมิให้เศร้าโศก ควรจะดีใจว่า ต่อไปจะไม่มีใครมาห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ ปรารถนาจะทำอะไรก็ทำได้ตามพอใจ ( ซึ่งพระมหากัสสปได้ปรารภเป็นเหตุเสนอให้สงฆ์ทำสังคายนา ดังปรากฏในวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ คลิกดูที่นี่ ๗. ปัญจสติกขัรธกะ ( หมวดว่าด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑)
เมื่อถวายพระเพลิงแล้ว ก็มีกษัตริย์และพราหมณ์จากแคว้นต่าง ๆ มาขอพระสารีริกธาตุ ( พระอัฏฐิ ) ครั้งแรกมัลลกษัตริย์จะไม่ให้ แต่โทณพราหมณ์พูดเกลี้ยกล่อมให้เห็นแก่ความสงบ จึงได้ตกลงแบ่งให้ไปต่างก็นำไปทำสูตปบรรจุและทำการฉลองในนครของตน.
________________________________________
๑.แคว้นมคธ มีกรุงราชคฤห์เป็นราชธานี แคว้นวัชชี มีกรุงเวสาลีเป็นราชธานี
๒. คำว่า วินิบาต หมายถึงไปเกิดเป็นเวมานิกเปตร มีทุกข์สลับกัน คืออาจอยู่วิมานสมัยหนึ่ง ทนทุกข์ทรมานสมัยหนึ่ง
๓. อรรถกถาแก้ว่า อยู่ได้อีกร้อยปีหรือยิ่งกว่า
๔. คำว่า มาร อาจหมายได้หลายอย่าง ทั้งเทวปุตตมารและมัจจุมารสุดแต่จะอธิบายให้เหมาะสมเป็นปุคคลาธิษฐาน คือแสดงบุคคลเป็นที่ตั้ง หรือธรรมมาธิษฐาน แสดงธรรมะเป็นที่ตั้ง
๕. รวมทั้งเก้าข้อนี้ เรียกอนุบุพพวิหาร คือธรรมเป็นเครื่องอยู่แห่งจิตใจโดยลำดับ คล้ายวิหาร ๙ ชั้น แต่ละชั้นมีอารมณ์แห่งจิตต่างกันไป
๔. มหาสุทัสสนสูตร
สูตรว่าด้วยพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์
พระสูตรนี้เท่ากับเป็นการขยายความในมหาปรินิพพานสูตร ตอนที่ตรัสตอบพระอานนท์ เรื่องกรุงกุสินาราเคยเป็นราชธานีนามว่า กุสาวตี ซึ่งพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์ทรงปกครอง ).
พระผู้มีพระภาคทรงพรรณาความมั่งคั่งสมบูรณ์ของกรุงกุสาวตี และทรงพรรณนาถึงรัตนะ ๗ ประการ ที่เกิดขึ้นแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะจักพรรดิ์ คือ?:-
๑. จักรแก้ว ซึ่งหมุนไปในทิศต่าง ๆ ได้ นำชัยชนะมาสู่.
๒. ช้างแก้ว เป็นช้างเผือก ชื่ออุโบสถ.
๓. ม้าแก้ว สีขาวล้วน ชื่อวลาหก.
๔. แก้วมณี เป็นแก้วไพฑูรย์.
๕. นางแก้ว รูปร่างงดงาม มีสัมผัสนิ่มนวล.
๖. ขุนคลังแก้ว (คฤปติรตนะ ) ช่วยจัดการทรัพย์สินอย่างเลิศ.
๗. ขุนพลแก้ว ( ปริณายกรตนะ ) ๑ . บัณฑิตผู้สั่งสอนแนะนำ
อนึ่ง พระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์ . ทรงมีความสำเร็จ ( ฤทธิ์ ) ๔ ประการ คือ :-
๑. รูปงาม
๒. อายุยืน
๓. มีโรคน้อย
๔. เป็นที่รักของพราหมณ์และคฤหบดี ( ประชาชน ).
นอกจากนั้นยังทรงพรรณนาถึงสระโบกขรณี, ทรัพย์สิน , ปราสท อันวิจิตรงดงามน่าชื่นชม.
การบำเพ็ญฌานและพรหมวิหาร
ครั้นแล้วทรงแสดงว่าพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์ทรงเห็นว่า ผลดีต่าง ๆ เหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะผลแห่งกรรมดีคือทาน ( การให้ ) ทมะ ( การฝึกจิต ) และ สัญญมะ ( การสำรวมจิต ). จึงทรงบำเพ็ญฌานสงบความตรึกทางกาม ความตรึกทางพยาบาท และความตรึกทางเบียดเบียน ได้บรรลุฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ ทรงแผ่พระมนัสอันประกอบด้วยเมตตา ( คิดให้เป็นสุข ) กรุณา ( คิดให้พ้นทุกข์ ) มุทิตา ( พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี) และอุเบกขา ( วางใจเป็นกลาง ) ไปทั่งสี่ทิศ.
ทรงสั่งลดการเข้าเฝ้าให้น้อยลง ( เพื่อทรงมีเวลาอบรมทางจิตใจได้มากขึ้น ) ภายหลังพระราชเทวีพระนามว่า สุภัททา สั่งจัดจตุรังคินีเสนา ( ทัพช้าง ทัพม้า ทัพรถ ทัพเดินเท้า ) ซึ่งขุนพลแก้วก็จัดให้ พระนางเดินทางไปเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ขอให้ทรงเห็นแก่สมบัติ เห็นแก่ชีวิต . แต่กลับตรัสตอบขอให้พระราชเทวีทรงขอร้องใหม่ในทางตรงกันข้าม คืออย่าเห็นแก่สมบัติ อย่าเห็นแก่ชีวิต เพราะการพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นของธรรมดา การตายของผู้มีความกังวล ห่วงใย เป็นทุกข์ และถูกติเตียน.
พระราชเทวีก็ทรงกรรเเสง และฝืนพระหฤทัย เช็ดน้ำพระเนตร ขอร้องใหม่ ตามที่พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงแนะนำนั้น และต่อมาไม่ช้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะก็สวรรคต และเข้าถึงพรหมโลก เพราะเจริญพรหมวิหาร.
ตรัสสรุปเป็นคำสอน
ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคตรัสสรุปว่า พระองค์เองได้เป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์นั้น พรั่งพร้อมสมบูรณ์ด้วยสมบัตินานาประการ แม้จะมีนครอยู่ในปรกครองมากหลาย ๒ . ก็อยู่ครอบครองได้เพียงนครเดียว คือนครกุสาวตี. แม้จะมีปราสาทมากหลาย แต่อยู่ครอบครองได้เพียงปราสาทเดียว คือธัมมปราสาท . แม้จะมีเรือนยอดมากหลาย แต่ก็อยู่ครอบครองได้เพียงหลังเดียว คือเรือนยอดชื่อมหาวิยูหะ. แม้จะมีบัลลังก์มากหลาย แต่ก็ได้ใช้คราวละเพียงบัลลังก์เดียว. แม้มีช้างมากหลาย แต่ก็ขี่ได้เพียงคราวละตัวเดียว คือพญาช้างอุโบสถ. แม้จะมีม้ามากหลาย แต่ก็ขึ้นขี่ได้เพียงละคราวเดียว คือพญาม้าวลาหก. แม้จะมีรถมากหลาย แต่ก็ขึ้นสู่ได้เพียงคราวละคันเดียว คือรถเวชยันต์. แม้จะมีสตรีมากหลาย แต่ก็มีสตรีที่ปฏิบัติรับใช้เพียงคราวละคนเดียว. แม้จะมีคู่ผ้า ( ผ้านุ่งผ้าห่ม ) มากหลาย แต่ก็นุ่งห่มเพียงคราวละคู่เดียว. แม้จะมีถาดอาหารมากหลาย แต่บริโภคได้อย่างมากเพียงจุทะนานเดียว พร้อมทั้งกับข้าว. ดูเถิด อานนท์ ! สังขารทั้งปวงเหล่านั้น ล่วงไปแล้ว ดับแล้ว ปรวนแปรแล้ว. สังขารไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าวางใจอย่างนี้ จึงควรที่จะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง ควรเพื่อจะคลายกำหนัด ควรเพื่อจะพ้นไปเสีย.
๕ ชนวสภสูตร
สูตรว่าด้วยยักษ์ชื่อชนวสภะ
( พระสูตรนี้ก็มีข้อความขยายความแห่งมหาปรินิพพานสูตรเช่นเดียวกัน คือเล่าเรื่องที่พระผู้มีพระภาคตรัสเมื่อประทับ ณ โรงพักคนเดินทาง ทำด้วยอิฐที่นาทิกคาม ระหว่างเสด็จสู่กรุงเวสาลี).
พระอานนท์กราบทูลถามถึงว่า ผู้นั้นผู้นี้ตายไปเกิดที่ไหน และพระผู้มีพระภาคตรัสตอบเป็นราย ๆ ไป.
ในส่วนที่เกี่ยวกับพระเข้าพิมพิสาร พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าว่า ได้มาปรากฏต่อพระองค์ ประกาศตนว่าไปเกิดเป็นยักษ์ ๓ . ชื่อชนวสภะ และว่าตนมีความหวังจะได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี ( คือพระเจ้าพิมพสารเป็นพระโสดาบันอยู่แล้ว จึงหวังจะได้บรรลุขั้นต่อไป คือการเป็นพระสกทาคามี ได้แก่พระอริยบุคคลผู้จะมาเกิดเพียงครั้งเดียว ) แล้วเล่าว่า ตนเคยไปประชุมที่ธรรมสภาในดาวดึงเทวโลก ได้เห็นว่าผู้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ซึ่งไปเกิดในที่นั้นรุ่งเรืองเหนือเทพอื่น ๆ ทั้งผิวพรรณ และโดยยศ พร้อมทั้งได้เล่าถึงภาษิตต่าง ๆ ของสนังกุมารพรหม ซึ่งกล่าวในธรรมสภา ในใจความดังต่อไปนี้:-
๑. ผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ทำให้บริบูรณ์ในศีล ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ( สูงสุดในชั้นกาม ) ลงมาถึงชั้นจาตุมหาราช ( เทพประจำทิศทั้งสี่ ) อย่างต่ำที่สุด ก็เป็นคนธรรพ์ ( เทพที่สิงอยู่ ณ ต้นไม้).
๒. อิทธิบาท ( คุณให้บรรลุความสำเร็จ ๔ อย่าง ) ทำให้สมณพราหมณ์ในอดีต อนาคต ปัจจุบันแสดงฤทธิ์ได้ด้วยประการต่าง ๆ .
๓. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสรู้โดยลำดับ ซึ่งการบรรลุโอกาส ๓ เพื่อบรรลุความสุข. โอกาส ๓ คือ : ๑. คนที่เคยคลุกคลีด้วยกาม ด้วยอกุศลธรรม ภายหลังไม่คลุกคลี ย่อมได้สุขโสมนัส ( สุขกาย สุขใจ หมายถึง บรรลุฌานที่ ๑ ) ๒. คนที่มีเครื่องปรุงกาย เครื่องปรุงวาจา เครื่องปรุงจิตอันหยาบ อันไม่สงบระงับ ภายหลังสงบระงับได้ ย่อมได้สุขโสมนัสยิ่งขึ้น ( หมายถึงได้บรรลุฌานที่ ๒ ถึงที่ ๔ ) . ๓. คนที่ไม่รู้จักสิ่งที่เป็นกุศล , อกุศล , มีโทษ , ไม่มีโทษ , ควรเสพ , ไม่ควรเสพ , เลว , ประณีต , ดำ , ขาว และมีส่วนเปรียบ ตามความเป็นจริง ภายหลังได้สดับอริยธรรมปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จึงรู้จักสิ่งเหล่านั้นตามความจริงก็จะละอวิชาเสียได้ วิชชาก็จะเกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะมีสุขโสมนัสยิ่งขึ้น ( หมายถึงได้บรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผล ).
๔. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ อย่างไว้ดีแล้ว ( ทรงแสดงการตั้งสติพิจารณากาย , เวทนา , จิต , ธรรม ทั้งภายในภายนอก ).
๕. ธรรม ๗ ประการ คือ ความเห็นชอบ , ความดำริชอบ , การเจรจาชอบ , การกระทำชอบ , การเลี้ยงชีพชอบ , ความเพียรชอบ , การตั้งสติชอบ เป็นบริขารของสมาธิ เป็นไปเพื่อเจริญสมาธิ ทำสมาธิให้บริบูรณ์ . ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง อันแวดล้อมด้วยองค์ ๗ เหล่านี้ ชื่อว่าอนิยสมาธิ อันเรียกว่า มีอุปนิสัย ( บริวาร ) บ้าง มีบริขาร (เครื่องประกอบ ) บ้าง.
หมายเหตุ :- ในพระสูตรนี้ เรื่องที่เกี่ยวกับเทวดาและสวรรค์เป็นเรื่องที่พึงศึกษาและพิจารณา แต่สาระสำคัญได้ว่า อยู่ที่ข้อธรรมอันพึงปฏิบัติที่ย่อไว้ รวม ๕ ข้อดังกล่าวมาแล้ว.
๖ . มหาโควินทสูตร
สูตรว่าด้วยมหาโควินทพราหมณ์
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์. บุตรแห่งคนธรรพ์ชื่อปัญจสิขะเข้าไปเฝ้ากราบทูลเล่าเรื่องที่ได้พบเห็นมาจากเทพชั้นดาวดึงส์ ในที่ประชุมชื่อสุธัมมสภา ท้าวสักกะได้กล่าวพรรณนาพระคุณของพระพุทธเจ้า ๘ ประการ คือ:-
๑. ทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์และความสุขเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์.
๒. ทรงแสดงธรรมอันเห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกมาดู ควรน้อมเข้ามาในตนเป็นต้น.
๓. ทรงแสดงธรรมอันเป็นกุศล , อกุศล , มีโทษ , ไม่มีโทษ, ควรเสพ , ไม่ควรเสพ , เลว , ปราณีต , ดำ , ขาว และมีส่วนเปรียบ.
๔. ทรงบัญญัติด้วยดี ซึ่งข้อปฏิบัติอันจะนำไปสู่พระนิพพานแก่พระสาวก. พระนิพพานและข้อปฏิบัติก็เข้ากันได้เหมือนน้ำในแม่น้ำคงคากับยมุนา.
๕. ทรงได้สหาย คือพระเสขะ ๔ . ผู้ปฏิบัติ และพระอรหันต์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว แต่ก็ทรงปลีกพระองค์จากพระสหายเหล่านั้น ทรงประกอบความยินดีในการอยู่แต่พระองค์เดียว ๕ .
๖. ทรงมีลาภ และชื่อเสียงอันเพียบพร้อม มีกษัตริย์ เป็นต้น รักใคร่ แต่ก็เสวยกระยาหารอย่างปราศจากความเมา.
๗. ทรงพูดอย่างใดอย่างนั้น ทำอย่างใดอย่างนั้น.
๘. ทรงข้ามความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง มีความดำริอันสมบูรณ์ ( ไม่ติดอยู่เพียงขั้นใดขั้นหนึ่ง ).
ทั้งแปดข้อนี้ ท้าวสักกะกล่าวว่า ไม่มีศาสดาใดเทียบพระผู้มีพระภาคทั้งในอดีตและปัจจุบัน.
ต่อมามีแสงสว่างอันโอฬารปรากฏขึ้น สนังกุมารพรหมก็นรมิตอัตตภาพอันหยาบให้ปรากฏแก่เทพชั้นดาวดึงส์ ถามทราบความว่า กำลังสนทนากันเรื่องอะไร แล้วสนังกุมารพรหมก็เล่าเรื่องโชติปาลมาณพผู้เป็นบุตรของโควินทพราหมณ์ ปุโรหิตของพระเจ้าทิสัมปติ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นปุโรหิตแทนบิดาของตน เมื่อท่านถึงแก่กรรม เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้วก็ทำหน้าที่เจริญรอยตามบิดา จนคนทั้งหลายขนานนามมาว่า มหาโควินทพรหามณ์.
ต่อมาเมื่อพระเจ้าทิสัมปติสวรรคต เรณุราชกุมารผู้เป็นพระราชโอรส และเป็นพระสหายของมหาโควินทพราหมณ์ขึ้นเสวยราชย์ ก็ตรัสสั่งโควินทพราหมณ์ให้แบ่งราชสมบัติออกเป็น ๗ ส่วน ส่วนหนึ่งเพื่อพระองค์ อีก ๖ ส่วนเพื่อกษัตริย์ราชกุมารอื่น ๆ ที่เป็นพระสหายรักใคร่ จึงมี ๗ แคว้น ๗ ราชธานี ดังนี้
๑. แคว้นกาลิงคะ ราชธานี ชื่อทันตปุระ
๒. แคว้นอัสสกะ ราชธานี ชื่อโปตนะ
๓. แคว้นอวันตี ราชธานี ชื่อมาหิสสติ ๖ .
๔. แคว้นโสจิระ ๗ . ราชธานี ชื่อโรรุกะ ๘ .
๕. แคว้นวิเทหะ ราชธานี ชื่อมิถิลา
๖. แคว้นอังคะ ราชธานี ชื่อจัมปา
๗. แคว้นกาสี ราชธานี ชื่อพาราณสี.
มหาโควินทพราหมณ์เป็นปุโรหิตถวายอนุสาสน์แด่พระมหากษัตริย์ทั้งเจ็ดแคว้นนั้น. ต่อมาได้กราบทูลลาพระมหากษัตริย์ทั้งเจ็ดออกบวช ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นที่เคารพนับถือของคนทั้งหลาย เป็นราชาของราชาทั้งหลาย เป็นพรหมของพวกพราหมณ์ และเป็นเทวดาของพวกคฤหบดี ใครไอ จาม หรือพลาดหกล้มก็เปล่งวาจาว่า ขอนมัสการมหาโควินทพราหมณ์บ้าง สัตตปุโรหิต ( ปุโรหิตของพระราชาทั้งเจ็ด ) บ้าง มหาโควินทพราหมณ์ได้เจริญฌานมีพรหมวิหาร ๔ เป็นอารมณ์ มีสาวกปฏิบัติตามได้ผลเป็นอันมาก นี่เป็นเรื่องเล่าของสนังกุมารพรหมในเทวสภาในดาวดึงส์ . ปัญจสิขะ บุตรแห่งคนธรรพ์ เล่าถวายพระผู้มีพระภาคอีกต่อหนึ่ง.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระองค์เองได้เสวยพระชาติเป็นมหาโควินทพราหมณ์ในครั้งนั้น แต่ในครั้งนั้น ทรงชี้ทางแก่สาวกเพียงแค่ที่จะไปอยู่ร่วมกับพรหมได้ แต่ในชาตินี้ทรงแสดงมรรค ๘ อันเป็นไปเพื่อพระนิพพาน ( สูงกว่าพรหมโลก )
๗ . มหาสมยสูตร
สูตรว่าด้วยการะประชุมใหญ่
พระผุ้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามหาวัน ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป.
ครั้งนั้น เทพชั้นสุทธาวาส ๔ ตน คิดว่า เทวดาจาก ๑๐ โลกธาตุประชุมกันเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ น่าที่พวกตนจะไปเฝ้า และกล่าวคาถากันคนละบท โดยใจความพรรณนาความประสงค์ที่มา ความประพฤติชอบของพระสงฆ์ และพรรณนาว่า ผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะย่อมไม่ไปสู่อบาย
ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ตรัสเล่าว่า เทวดามาประชุมครั้งใหญ่ แล้วตรัสประกาศชื่อของเทวดาเหล่านั้นโดยละเอียด
หมายเหตุ: พระสูตรนี้แสดงหลักทางพระพุทธศาสนาว่า พุทธะ คือท่านผู้ตรัสรู้นั้น เป็นผู้ที่สูงกว่าเทวดาทุกประเภท ไม่ว่าเทวดาชั้นต่ำสุด หรือสูงสุด ถึงชั้นพรหมก็พากันนอบน้อมต่อพุทธะหรือพระพุทธเจ้า เพราะพุทธะเป็นสัญญลักขณ์ของความบริสุทธิ์สะอาดปราศจากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง และเป็นสัญญลักขณะแห่งเทพปัญญาความรู้เท่าทันความจริงที่เป็นเหตุให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้
๘ . สักกปัญหาสูตร
สูตรด้วยปัญหาของท้าวสักกะ
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ถ้ำอิทสาละ ใกล้เวทยิกบรรพต ทางทิศเหนือของหมู่บ้านพราหมณ์ ชื่ออัมพสณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ.
ท้าวสักกะใคร่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค จึงเรียกปัญจสิขะบุตรคนธรรพ์มา ชวนให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วยกัน ปัญจสิขะถือพิณมีสีเหลืองเหมือนผลมะตูมไปด้วย เมื่อไปถึงที่ประทับแล้ว ท้าวสักกะจึงให้ปัญจสิขะบุตรคนธรรพ์หาทางทำความพอพระทัยให้พระผู้มีพระภาคก่อนที่จะได้เข้าไปเฝ้า.
ปัญจสิขะบุครคนธรรพ์ถือพิณเข้าไปยืน ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ไม่ไกลหรือใกล้เกินไป ดีดพิณ กล่าวคาถาด้วยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระอรหันต์ และกาม.
พระผู้มีพระภาคตรัสชมแก่ปัญจสิขะบุตรคนธรรมพ์ว่า เสียงพิณกับเสียงเพลงขับเข้ากันดี แล้วตรัสถามว่า คาถาอันเกี่ยวด้วยพระพุทธ เป็นต้นนี้ แต่งไว้ตั้งแต่ครั้งไร . ปัญจสิขะกราบทูลว่า ตังแต่ครั้งพระผู้มีพระภาคตรัสรู้ใหม่ ๆ ประทับที่ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งน้ำเนรัญชรา.
ครั้นได้โอกาส ท้าวสักกะพร้อมด้วยบริวารก็เข้าไปเฝ้า เมื่อได้ตรัสสัมโมทียกถาพอสมควรแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงให้ท้าวสักกะกราบทูลถามปัญหาได้ ต่อไปนี้เป็นคำถามและพระพุทธดำรัสตอบ.
๑. ถาม:เทวา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ และหมู่สัตว์เป็นอันมากอื่น ๆ ถูกอะไรผูกมัดแม้ตั้งใจว่าจะไม่จองเวร ไม่ใช่อาชฌา ไม่มีศัตรู ไม่เบียดเบียน อยู่อย่างไม่มีเวร แต่ก็ต้องจองเวร ใช่อาญา มีศัตรู เบียดเบียน และอยู่อย่างมีเวร.
ตอบ:มีความริษยาและความตระหนี่เป็นเป็นเครื่องผูกมัด.
๒. ถาม: ความริษยาและความตระหนี่เกิดจากอะไร.
ตอบ: เกิดจากสิ่งเป็นที่รักและสิ่งอันไม่เป็นที่รัก เมื่อไม่มีสิ่งเป็นที่รักและไม่ที่รัก ก็ไม่มีความริษยาและความตระหนี.
๓. ถาม: สิ่งเป็นที่รักและไม่และเป็นที่รักเกิดจากอะไร.
ตอบ: เกิดจากคามพอใจ เมื่อไม่มีความพอใจ ก็ไม่มีสิ่งที่เป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก. ๙ .
๔. ถาม: ความพอใจเกิดจากอะไร.
ตอบ: เกิดจากความตรึก ( วิตก ) เมื่อไม่มีความตรึก ก็ไม่มีความพอใจ.
๕. ถาม:ความตรึกเกิดจากอะไร .
ตอบ: เกิดจากปปัญจสัญญาสังขานิทาน คือส่วนแห่งความกำหนดหมายกิเลส ( ตัญหา ความทะยานอยาก , มานะ ความถือตัว , ทิฏฐิ ความเห็น ) เป็นเหตุให้เนิ่นช้า.
๖. ถาม:ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงเชื่อว่าปฏิบัติข้อที่ปฏิบัติที่สมควร ที่ให้ถึงความดับส่วนแห่งความกำหนดหมายกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า.
ตอบ :โสมนัส ( ความดีใจ ) โทมนัส ( ความเสียใจ ) อุเบกขา ( ความวางเฉย ) มีอยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งควรส้องเสพ อีกอย่างหนึ่งไม่ควรส้องเสพ คือเมื่อส้องเสพโสมนัส เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง กุศลธรรมเสื่อมไป อกุศลธรรมเจริญขึ้น สิ่งนั้นก็ไม่ควรส้องเสพ ; ถ้าอกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้นสิ่งนั้นก็ควรส้องเสพ . ธรรมที่ควรส้องเสพนั้น คือที่มีวิตก ( ความตรึก ) มีวิจาร ( ความตรอง ) ; ที่ไม่มีวิตก วิจาร ; ที่ไม่มีวิตก วิจาร แต่ปราณีตขึ้นไปกว่า . ( หมายถึงโสมนัส เป็นต้น อันเกิดเพราะเนกขัมมะบ้าง เพราะวิปัสสนาบ้าง เพราะอนุสสติบ้าง เพราะปฐมฌาน เป็นต้นบ้าง – อรรถกถาบ้าง ). ภิกษุปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติข้อปฏิบัติที่สมควร ที่ให้ถึงความดับส่วนแห่งความกำหนดหมายกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า.
๗.ถาม:ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงเชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมปาฏิโมกข์ ( ศีลที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ).
ตอบ:ความประพฤติทางกาย ( กายสมาจาร ) ความประพฤติทางวาจา ( วจีสมาจาร ) และการแสวงหา ( ปริเยสนา ) อย่างหนึ่งควรส้องเสพ อีกอย่างหนึ่งไม่ควรส้องเสพ คือเมื่อส้องเสพความประพฤติทางกายเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง กุศลธรรมเสื่อมไป อกุศลธรรมเจริญขึ้น สิ่งนันก็ไม่ควรส้องเสพ ; ถ้าอกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น สิ่งนั้นก็ควรส้องเสพ ภิกษุผู้บฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมปาฏิโมกข์.
๘.ถาม:ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์ ( คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ).
ตอบ : อารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น มี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งควรส้องเสพ อีกอย่างหนึ่งไม่ควรส้องเสพ. ( พอตรัสถึงเพียงนี้ ท้าวสักกะก็กราทูลถามว่า เข้าใจความหมายว่า ที่ไม่ควรส้องเสพ และควรส้องเสพนั้น กำหนดด้วย เมื่อส้องเสพแล้วอกุศลธรรมหรือกุศลธรรมจะเจริญกันกันแน่ ).
๙.ถาม: สมณพราหมณ์ทั้งปวง มีวาทะ มีศีล มีฉันทะ มีจุดหมายปลายทาง อย่างเดียวกันใช่หรือไม่.
ตอบ:ไม่ใช่ เพราะโลกธาตุเป็นอเนก มีธาตุต่าง ๆ กัน สัตว์ยึดถือธาตุอันใด ก็กล่าวเพราะความยึดถือธาตนั้นว่า นี้แลจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ.
๑๐. ถาม:สมณพราหมณ์ทั้งปวง มีความสำเร็จ มีความปลอดโปร่งจากกิเลสเครื่องยึด ( โยคักเขมี ) เป็นพรหมจารี มีที่สุดล่วงส่วน ใช่หรือไม่ ( คำว่า ล่วงส่วน หมายความว่า เด็ดขาด ไม่กลับกำเริบหรือแปรปรวนอีก.
ตอบ:ไม่ใช่ จะมีความสำเร็จ เป็นต้น ล่วงส่วน ก็เฉพาะผู้ที่พ้นแล้วจากตัญหา ( ความทะยานอยาก) เท่านั้น.
ท้าวสักกะจึงกราบทูลว่า ตัญหาอันทำให้หวั่นไหว เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร ย่อมฉุดคร่า บุรุษเพื่อให้เกิดในภพนั้น ๆ ถึงความสูงบ้าง ต่ำบ้าง . ครั้นแล้วได้แสดงความพอใจที่พระผู้มีพระภาคทรงตอบปัญหาแก้ความสงสัยได้ เท่าที่เคยไปถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่น แทนที่จะตอบ กลับมาย้อนถามว่า เป็นใคร ครั้นรู้ว่าเป็นท้าวสักกะ ก็กลับถามปัญหายิ่ง ๆ ขึ้นว่า ทำกรรมอะไรไว้จึงเกิดเป็นท้าวสักกะ ท้าวสักกะก็ตอบไปตามที่ได้ฟัง ที่เล่าเรียนมา สมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็อิ่มเอิบใจ ว่าได้เห็นท้าวสักกะ ได้ถามปัญหา แล้ะท้าวสักกะได้ตอบแก่เรา กลายมาเป็นสาวกของข้าพระองค์ไป.
ครั้นแล้วกล่าววาจาสุภาษิตอีกหลายประการ ในที่สุดได้เอามือลูบแผ่นดิน แล้วเปล่งอุทานว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส รวม ๓ ครั้ง.
หมายเหตุ : พระสูตรนี้ มีท่วงทำนอง จะแก้ความเคารพบูชาเทวดาสำคัญ ๆ เช่น พระอินทร์หรือท้าวสักกะของบุคคลส่วนใหญ่ โดยชี้ให้เห็นว่าในพระพุทธศาสนา เทวดาเหล่านั้น ยังต่ำกว่าพระพุทธพุทธเจ้า ผู้มีพระปัญญาตรัสรู้ เท่ากับเป็นหลักการอันหนึ่งที่แสดงว่า ท่านผู้เป็นพุทธะ เป็นผู้ตรัสรู้หมดกิเลส มีความบริสุทธิ์สะอาดสูงกว่าเทวดาทั้งปวง.
________________________________________
๑. คำว่า ขุนพลแก้ว ในที่นี้ใช้ตามที่โบราณเคยใช้มา ตามคำอธิบายแท้ ๆ หมายถึงบัณฑิต ผู้เป็นที่ปรึกษาที่ฉลาดสามารถ แต่ในตอนต่อไป แสดงว่าเป็นผู้จัดกองทัพในการไปไหนด้วย คำโบราณที่ใช้ว่าขุนพลแก้วจึงมีทางเป็นไปได้
๒. คำว่า มากหลาย เป็นการถือเอาความจากคำว่าแปดหมื่นสี่พัน คือไม่จะเป็นต้องมีตัวเลขเท่านั้น ใช้เป็นสำนวนสำหรับหมายความว่ามาก
๓. คำว่า ยักษ์ ในที่นี้ หมายถึงเทวดาชั้นจาตุมหาราช โดยปกติคำว่ายักษ์ แปลได้หลายอย่าง เช่น สัตว์ , เทพ , พระขีณาสพ , ราษส สุดแต่ความหมายในที่นั้น ๆ
๔. พระเสขะ คือพระอริยบุคคลชั้นต่ำกว่าพระอรหันต์ ยังต้องศึกษาเพื่อบรรลุธรรมอันสูงขึ้นไป
๕. อรรถกถาแก้ว่า แม้จะอยู่ในท่ามกลางสาวกเหล่านั้นก็ทรงเข้าสมาบัติ ไม่ติดหมู่คณะ.
๖. ในอรรถกถาว่า มเหสยะ
๗. หมายเหตุในอรรถกถาว่า โสวีระ
๘. หมายเหตุในอรรถกถาว่า โรทุกะ เรื่องชื่อแคว้นชื่อเมืองชื่อเมือง นำมากล่าวไว้ในที่นี้เพื่อประโยชน์ทางโบราณคดีด้วย
๙. คำว่า ความพอใจ แปลจากคำว่า ฉันทะ อรรถกถาอธิบายว่า ฉันทะมี ๕ ประการ คือ ๑. ปริเยสฉันทะ ความพอใจในการแสวงหา ๒. ปฏิลาภฉันทะ ความพอใจในการได้มา ๓. ปริโภคฉันทะ ความพอใจในการบริโภค หรือใช้สอย ๔. สันนิธิฉันทะ ความพอใจในการสะสม ๕. วิสัชชนฉันทะ ความพอใจในการสละ
๙. มหาสติปัฏฐานสูตร
สูตรว่าด้วยการตั้งสติอย่างใหญ่
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิคม ชื่อกัมมาสธัมมะ แคว้นกุรุ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า หนทางเป็นที่ไปอันเอกเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ เพื่อก้าวล่วงความโศก ความคร่ำครวญ เพื่อให้ความทุกข์กายใจตั้งอยู่ไม่ได้ เพื่อบรรลุที่ต้องถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน คือการตั้งสติ ๔ อย่างได้แก่:-
๑. ตั้งสติกำหนดพิจารณากายในกาย ( กายส่วนย่อยในกายส่วนใหญ่ ๑ ).
๒. ตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนาในเวทนา ( ความรู้สึกอารมณ์ส่วนย่อยในความรู้สึกอารมณ์ส่วนใหญ่ ).
๓. ตั้งสติกำหนดพิจารณาในจิต ( จิตส่วนจิตย่อยในจิตส่วนใหญ่ คือจิตดวงใดดวงหนึ่ง ในจิตที่เกิดขึ้นดับไปมากดวง ).
๔. ตั้งสติกำหนดพิจารณา ธรรมในธรรม ( ธรรมส่วนย่อยในธรรมส่วนใหญ่ ).
การพิจารณากายแบ่งออกเป็น ๖ ส่วน
๑. พิจารณากำหนดลมหายใจเข้าออก ( อานาปานบรรพ ).
๒. พิจารณาอิริยบถของกาย เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน ( อิริยาปถบรรพ ).
๓. พิจารณารู้ตัวในความเคลื่อนไหว เช่น ก้าวไป ก้าวมา คู้แขน เหยีบดแขน กิน ดื่ม เป็นต้น ( สัมปชัญญบรรพ ).
๔. พิจารณาความน่าเกลียดของร่างกาย ซึ่งแบ่งออกเป็นส่วนย่อยต่าง ๆ มีผม ขน เป็นต้น ( ปฏิกูลมนสิการบรรพ).
๕. พิจารณาร่างกายโดยความเป็นธาตุ (ธาตุบรรพ ) .
๖. พิจารณาร่างกายที่เป็นศพ มีลักษณะต่าง ๆ ๙ อย่าง ( นวสีวถีกาบรรพ ).
การพิจารณาเวทนา ( ความรู้สึกอารมณ์ ) ๙ อย่าง
๑. สุข
๒. ทุกข์
๓. ไม่ทุกข์ไม่สุข
๔. สุขประกอบด้วยอามิส ( เหยื่อล่อมีรูป เสียง เป็นต้น )
๕. สุขไม่ประกอบด้วยอามิส
๖. ทุกข์ประกอบด้วยอามิส
๗. ทุกข์ไม่ประกอบด้วยอามิส
๘. ไม่ทุกข์ไม่สุขประกอบด้วยอามิส
๙. ไม่ทุกข์ไม่สุขไม่ประกอบด้วยอามิส.
การพิจารณาเวทนาจิต ๑๖ อย่าง
๑. จิตมีราคะ ๒. จิตปราศจากราคะ ๓. จิตมีโทสะ ๔ . จิตปราศจากโทสะ ๕. จิตมีโมหะ ๖. จิตปราศจากโมหะ ๗. จิตหดหู่ ๘. จิตฟุ้งซ่าน ๙. จิตใหญ่ ( จิตในฌาน ) ๑๐. จิตไม่ใหญ่ ( จิตที่ไม่ถึงฌาน ) ๑๑. จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ๑๒. จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ๑๓. จิตตั่งมั่น ๑๔. จิตไม่ตั่งมั่น ๑๕. จิตหลุดพ้น ๑๖. จิตไม่หลุดพ้น.
การพิจารณาธรรมแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน
๑. พิจารณาธรรมที่กั้นจิตมิให้บรรลุสมาธิ ที่เรียกว่านีวรณ์ ๕ ( นีวรณบรรพ ).
๒. พิจารณาขันธ์ ๕ คือ รูป , เวทนา , สัญญา , สังขาร, วิญญาณ ( ขันธบรรพ ).
๓. พิจารณาอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ( อายตนบรรพ).
๔. พิจารณาธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ที่เรียกว่าโพฌงค์ ( โพฌงคบรรพ ).
๕. พิจารณาอริยสัจจ์ ๔ (สัจจบรรพ).
อนึ่ง การพิจารณากาย , เวทนา , จิต , ธรรม ทั้งสี่ข้อนี้ นอกจากมีรายการพิเศษดังกล่าวมาแล้ว ยังมีรายการพิจารณาที่ตรงกันอีก ๖ ประการ คือ ๑. ที่อยู่ภายใน ๒. ที่อยู่ภายนอก ๓. ที่อยู่ทั้งภายในภายนอก ๔. ทีมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ๕. ทีมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ๖. ที่มีทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา.
อานิสงส์สติปัฏฐาน
ครั้นแล้วทรงสรุปผลของการปฏิบัติ ในการตั้งสติ ๔ อย่างนี้ว่า จะเป็นเหตุให้ได้บรรลุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง คือบรรลุอรหัตตผลในปัจจุบัน ถ้ายังมีเชื้อเหลือ ก็จะได้บรรลุความเป็นพระอนาคามี ( ผู้ไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีก ) ภายใน ๗ ปี หรือลดลงมาโดยลำดับถึงภายใน ๗ วัน.
๑๐ . ปายาสิราชัญญสูตร
สูตรว่าด้วยพระเจ้าปายาสิ
เหตุการณ์เกิดขึ้นในแคว้นโกศล พระกุมารกัสสป พร้อมด้วยภิกษุสงส์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป จาริกไปในแคว้นนั้น แวะพัก ณ ป่าไม้สีเสียด อันตั้งอยู่ทิศเหนือของเสตัพยนคร . สมัยนั้น พระเจ้าปายาสิ ( เป็นเพียงราชัญญะ คือพระราชาที่มิได้อภิเษก ) ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าปเสนทิโกศลให้ครอบครองเสตัพยนคร.
พระเจ้าปายาสิมีความเห็นผิดเกิดขึ้นว่า โลกอื่นไม่มี สัตว์เป็นอุปปาติกะ ( เกิดใหญ่โตขึ้นทันที เช่น เทพ ) ไม่มี ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี.
เมื่อได้สดับกิตติศัพท์อันงามของพระกุมารกัสสป พราหมณ์คฤหบดีทั้งหลายก็พากันเดินทางไปหาเป็นกลุ่ม ๆ พระเจ้าปายาสิทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น ตรัสถามทราบความก็เสด็จไปด้วย เมื่อผู้ที่ไปกล่าวสัมโมทนียกถาปราศรัยตามสมควรแล้ว พระเจ้าปายาสิก็ประกาศทิฏฐิของพระองค์ดังกล่าวแล้วแก่พระเถระ ซึ่งจะย่อตคำโต้ตอบเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้:-
๑. พระเถระถามว่า ที่ทรงเห็นว่าโลกอื่นไม่มี เป็นต้นนั้น พระจันทร์พระอาทิตย์เป็นเทวดาหรือมนุษย์ ในโลกนี้หรือโลกอื่น. ตรัสตอบว่า พระจันทร์พระอาทิตย์อยู่ในโลกอื่น มิใช่เทวดาหรือมนุษย์ในโลกนี้.
๒ . ตรัสเล่าว่า มีมิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิตของพระองค์ที่ประพฤติชั่วมีประการต่าง ๆ เมื่อบุคคลเหล่านั้นเจ็บไข้ ซึ่งพระองค์เห็นว่าจะไม่หายแน่ ก็เสด็จไปหา และสั่งว่า ถ้าไปตกนรก เพราะประพฤติชั่วตามคำของสมณพราหมณ์แล้ว ขอให้กลับมาบอก พวกเหล่านั้นรับคำแล้ว ก็ไม่มีใครมาบอกเลย . พระองค์จึงไม่เชื่อโลกอื่นมี. พระเถระกล่าวว่า เปรียบเหมือนโจรที่ทำผิดราชบุรุษจับได้ ก็นำตระเวนไปสู่ที่ประหารชีวิต โจรเหล่านั้นจะขอผัดผ่อนให้ไปบอกพวกพ้องก่อนจะได้หรือไม่ ตรัสตอบว่า ไม่ได้. พระเถระจึงกล่าวว่า พวกที่ทำชั่วก็เช่นกัน ถ้าไปตกนรก ก็คงไม่ได้รับอนุญาตจากนายนิรยบาลให้มาบอก.
๓. ตรัสเล่าว่า พระองค์เคยสั่งคนที่ทำความดีว่า ถ้าตายไปสู่สุคติโลกสวรรค์ เพราะประพฤติดีตามคำของพราหมณ์แล้ว ขอให้กลับมาบอก. พวกนั้นรับคำ ก็ไม่มีใครมาบอกเลย พระองค์จึงไม่เชื่อว่าโลกอื่นมี. พระเถระทูลว่า เปรียบเหมือนคนตกลงไปในหลุมอุจจาระมิดศีรษะ พระองค์สั่งให้ราชบุรุษช่วยยกขึ้นจากหลุ่มนั้น เอาซี่ไม้ไผ่ปาดอุจจาระออก ทำความสะอาดหมดจดแล้ว นำพวงมาลัยเครื่องลูบไล้และผ้ามีราคาแพงมาให้นุ่งห่ม พาขึ้นสู่ปราสาท บำเรอด้วยกามคุณ ๕ บุรุษนั้นจะอยากลงไปอยู่ในหลุมอุจจาระอีกหรือไม่. ตรัสตอบว่า ไม่อยาก. ถามว่าเพราะเหตุไร. ตรัสตอบว่า เพราะหลุมอุจจาระไม่สอาด มีกลิ่นเหม็น ปฏิกูล. พระเถระทูลว่า มนุษย์ก็เป็นผู้ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น ปฏิกูล สำหรับเทวดาทั้งหลาย พวกทำความดีที่ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ จะกลับมาบอกอย่างไร.
๔. ตรัสเล่าว่า พระองค์เคยสั่งคนที่ทำความดีว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ผู้ที่ทำความดีจะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ถึงความเป็นสหายของเทพชั้นดาวดึงส์ เมื่อท่านทั้งหลายไปเกิดเช่นนั้นแล้ว ขอให้กลับมาบอกด้วย พวกนั้นรับคำแล้ว ก็ไม่มีใครมาบอกเลย พระองค์จึงไม่เชื่อว่าโลกอื่นมี พระเถระทูลว่า ร้อยปีของมนุษย์เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของชั้นเทพดาวดึงส์ ๓๐ ราตรี เป็น ๑ เดือน , ๑๒ เดือน เป็น ๑ ปี , ๑ พันปีทิพย์เป็นประมาณแห่งอายุของเทพชั้นดาวดึงส์. ผู้ทำความดีที่ไปเกิดในที่นั้นคิดว่า อีกสัก ๒- ๓ วัน จะไปบอก พระเจ้าปายาสิ จะมาบอกได้หรือไม่. ตรัสตอบว่า มาไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าคงตายไปนานแล้ว แต่ก็ใครบอกแก่ท่านเล่าว่า เทพชั้นดาวดึงส์มีอายุยืนขนาดนั้น ข้าพเจ้าไม่เชื่อเลย. พระเถระทูลว่า เปรียบเหมือนคนที่เสียจักษุแต่กำเนิด มองไม่เห็นอะไรเลย จึงกล่าวว่า สีดำ ขาว เขียว เหลือง แดง แสดไม่มี คนที่เห็นสีเช่นนั้นก็ไม่มี ดวงดาว พระจันทร์ พระอาทิตย์ไม่มี ผู้เห็นดวงดาว พระจันทร์ พระอาทิตย์ก็ไม่มี เพราะข้าพเจ้าไม่รู้ไม่เห็น สิ่งนั้นจึงไม่มีดังนี้ ผู้นั้นจะชื่อว่ากล่าวชอบหรือไม่. ตรัสตอบว่า กล่าวไม่ชอบ. พระเถระจึงทูลว่า พระองค์ที่ปฏิเสธเรื่องเทพชั้นดาวดึงส์ก็เป็นเช่นนั้น. สมณพราหมณ์บางพวกที่เสพเสนาสนะป่าอันสงัด ไม่ประมาท ทำความเพียร ชำระทิพยจักษุ มองเห็นโลกนี้โลกอื่นและสัตว์อุปปาติกะด้วยจักษุอันเป็นทิยย์ เหนือจักษุของมนุษย์มีอยู่. เรื่องของปรโลกพึงเห็นอย่างนี้ ไม่พึงเข้าใจว่าจะได้เห็นได้ด้วยตาเนื้อนี้.
๕. ตรัสเล่าว่า พระองค์เคยเห็นสมณพราหมณ์ที่มีศีลมีธรรมอันงาม ใคร่มีชีวิต ไม่อยากตายใคร่ความสุข เกลียดทุกข์ จึงทรงคิดว่า ถ้าสมณพราหมณ์ผู้มีศีลธรรมอันงามเหล่านี้ รู้ตัวว่าตายไปแล้ว จะดีกว่าชาตินี้ ก็ควรจะกินยาพิษ เชือดคอตาย ผูกคอตาย หรือโดดเหวตาย แต่เพราะไม่รู้ว่าตายไปแล้วจะดีกว่าชาตินี้ จึงรักชีวิต ไม่อยากตาย ใคร่ความสุข เกลียดทุกข์ ข้อนี้เป็นเหตุให้พระองค์ไม่ทรงเชื่อว่าโลกอื่นมี สัตว์อุปปาติกะ ( เกิดเติบโตขึ้นทันที ) มี ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมี. พระเถระทูลเปรียบเทียบถวายว่าพราหมณ์คนหนึ่งมีภริยา ๒ คน คนหนึ่งมีบุตรอายุ ๑๐ หรือ ๑๒ ปี อีกคนหนึ่งมีครรภ์จวนคลอด. พราหมณ์นั้นถึงแก่กรรม มาณพผู้เป็นบุตรจึงพูดกับมารดาเลี้ยงว่า ทรัพย์สมบัติทั้งปวงนี้ ตกเป็นของข้าพเจ้าทั้งหมดของท่านไม่มีเลย ขอท่านจงมอบความเป็นทายาทของบิดาแก่ข้าพเจ้า.
นางพราหมณีผู้เป็นมารดาเลี้ยงตอบว่า เจ้าจงรอก่อนจนกว่าเราจะคลอด ถ้าคลอดเป็นชาย ก็จะได้ส่วนแบ่งส่วนหนึ่ง ถ้าเป็นหญิง แม้น้องหญิงนั้นก็จะต้องตกเป็นของเจ้า. ๒ . แต่มาณพนั้นก็เซ้าซี้อย่างเดิม แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ นางพราหมณีจึงถือมีดเข้าไปในห้อง ผ่าท้องเพื่อจะรู้ว่าเด็กในท้องเป็นชายหรือหญิง เป็นการทำลายตัวเอง ทำลายชีวิต ทำลายเด็กในครรภ์ และทำลายทรัพย์สมบัติ เพราะเป็นผู้เขลา แสวงหาสมบัติโดยไม่แยบคาย จึงถึงความพินาศ. สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีธรรมอันดี ที่เป็นบัณฑิต ย่อมไม่ชิงสุกก่อนสุก ย่อมรอจนกว่าจะสุก สมณะพราหมณ์เหล่านี้ดำรงชีวิตอยู่นานเพียงใด ผู้อื่นก็ได้ประสบบุญมากเพียงนั้น และท่านก็ปฏิบัติเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
๖. ตรัสแย้งต่อไปว่า เคยตรัสสั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ โดยให้ใส่ลงไปในหม้อทั้งเป็น ปิดผาแล้วเอาหนังสดรัด เอาดินเหนียวที่เปียกยาให้แน่น ยกขึ้นสู่เตาแล้วจุดไฟ เมื่อรู้ว่าผู้นั้นตายแล้ว ก็ให้ยกหม้อลง กะเทาะดินเหนียวที่ยาออก เปิดฝาค่อย ๆ มองดู เพื่อจะได้เห็นชีวะของโจรนั้นออกไปก็ไม่เห็นเลย จึงทำให้ไม่เชื่อว่ามีโลกอื่น.
พระเถระทูลถามว่า ทรงระลึกได้หรือไม่ว่า เคยบรรทมหลับกลางวัน แล้วทรงฝันเห็นสวน ป่า ภูมิสถานและสระน้ำอันน่ารื่นรมย์หรือไม่. ตรัสว่า ระลึกได้. ถามว่า ในสมัยนั้น คนค่อม คนหรือเด็ก ๆ เฝ้าพระองค์อยู่ใช่หรือไม่. ตรัสตอบว่า ใช่. ถามว่า พวกเหล่านั้นเห็นชีวะของพระองค์เข้าออกหรือไม่. ตรัสตอบว่าไม่เห็น. พระเถระจึงทูลว่า คนมีชีวิต ยังไม่เห็นชีวะของพระองค์ผู้ทรงพระชนมชีพอยู่เข้าออก เหตุไฉนพระองค์จะทรงเห็นชีวะของคนตายเข้าออกเล่า.
๗. ตรัสแย้งต่อไปว่า เคยตรัสสั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ ให้ชั่งน้ำหนักดูเมื่อเป็น แล้วให้เราเชือกรัดคอให้ตายแล้วชั่งดูอีก ในขณะที่เป็นมีน้ำหนักเบากว่า อ่อนกว่า ใช้การงานได้ดีกว่าเมื่อตายแล้ว เหตุนี้จึงไม่ทรงเชื่อเรื่องโลกอื่น. พระเถระทูลถามว่า พึงชั่งก้อนเหล็กที่เผาไฟตลอดวัน ร้อนลุกโพลง กับก้อนเหล็กที่เย็นเทียบกันดู อย่างไหนจะเบากว่า อ่อนกว่า ใช้การงานได้ดีกว่า. ตรัสตอบว่า ก้อนเหล็กที่ประกอบกับธาตุไฟ ธาตุลม ร้อนลุกโพลง เบากว่า อ่อนกว่า ใช้การงานได้ดีกว่า . พระเถระทูลต่อไปว่า ร่างกายก็เหมือนกันประกอบ ด้วยอายุ ( เครื่องสืบต่อหล่อเลี้ยง) ประกอบด้วยไออุ่น ประกอบด้วยวิญญาณ ก็เบากว่า อ่อนกว่าใช้การงานได้ดีกว่า.
๘. ตรัสแย้งต่อไปว่า เคยตรัสสั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ ให้ฆ่าโดยไม่กระทบกระทั่งผิว , หนัง , เนื้อ , เอ็น , กระดูก , เยื่อในกระดูก เพื่อจะดูชีวะออกไป ( จากร่าง ) เมื่อเขาทำอย่างนั้น และเมื่อโจรนั้นจะตายแน่ก็สั่งให้จับนอนหงาย เพื่อจะดูชีวะออกไป ก็ไม่เห็นชีวะออกไป. สั่งให้จับนอนตะแคงที่ละข้าง ให้ยกขึ้นให้เอาศีรษะลง ให้ใช้ฝ่ามือ , ก้อนดิน , ท้อนไม้ , ศัสตราเคาะดู , ให้ดึงเข้า ให้ผลักออก ให้พลิกไปมา เพื่อจะดูชีวะออกไป ก็ไม่เห็นชีวะออกไป. โจรนั้นมีตา หู จมูก ลิ้น มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ก็ไม่รู้สึกอายตนะนั้น ๆ ( คือไม่รู้สึกเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ) พระเถระทูลเปรียบเทียบถวายว่า เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์เดินทางไปชนบทชายแดนแห่งหนึ่ง เป่าสังข์ขึ้น ๓ ครั้ง แล้ววางสังข์ไว้บนดิน ชาวบ้านได้ยินเสียงสังข์ชอบใจก็พากันมารุมถามว่าเสียงอะไร. เขาตอบว่า เสียงสังข์นั้น ชาวบ้านก็จับสังข์หงาย พร้อมทั้งพูดว่า “ สังข์เอ๋ยจงเปล่งเสียง” แต่สังข์ก็ไม่เปล่งเสียง จึงจับคว่ำ จับตะแคงยกขึ้น เอาหัวลง เอาฝ่ามือ, ก้อนดิน , ท้อนไม้ , ศัสตราเคาะ ดึงเข้ามา ผลักออกไป จับพลิกไปมา เพื่อจะให้สังข์นั้นเปล่งเสียง สังข์นั้นก็ไม่เปล่งเสียง . คนเป่าสังข์เห็นว่า คนเหล่านั้นเป็นคนบ้านนอก เป็นคนเขลาหาเสียงสังข์โดยไม่แยบคาย จึงหยิบสังข์ขึ้นมาเป่า ๓ ครั้งให้เห็นแล้วก็หลีกไป. คนเหล่านั้นจึงรู้ว่า สังข์นี้ประกอบด้วยคน ประกอบด้วยความพยายาม ประกอบด้วยลม จึงเปล่งเสียงได้ ถ้าไม่ประกอบด้วยเหตุเหล่านั้นก็เปล่งเสียงไม่ได้. กายก็เช่นเดียวกัน ประกอบด้วยอายุ ประกอบด้วยไออุ่น ประกอบด้วยวิญญาณ จึงก้าวเดินถอยหลัง ยืน นั่ง นอนได้ เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมะ ( อารมณ์ที่เกิดกับใจ) ได้. ถ้าไม่ประกอบด้วยสิ่งเหล่านั้น ก็ทำอะไรไม่ได้.
๙. ตรัสแย้งต่อไปว่า เคยตรัสสั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ โดยให้ตัดผิวหนัง , ตัดหนัง , เนื้อ , เอ็น, กระดูก , เยื่อในกระดูก เพื่อจะดูชีวะ ก็ไม่เห็นชีวะ จึงไม่ทรงเชื่อว่าโลกอื่นมี เป็นต้น. พระเถระทูลเปรียบเทียบถวายว่า มีชฎิล ( นักบวชเกล้าผมเป็นเชิง ) ผู้บูชาไฟรูปหนึ่ง อยู่ในกุฏิ มุงด้วยใบไม้ในป่า พวกเดินทางพักแรมชาวชนบทคณะหนึ่ง ๓ . ออกเดินทางมาพักแรมคืน รอบอาศรมของชฎิลผู้บูชาไฟนั้นแล้วจากไป. ชฎิลจึงเดินไปในที่ที่เขาพักแรมด้วยหวังว่าจะได้เครื่องใช้อะไรบ้าง ในที่นั้น ( ที่เขาทิ้ง แต่อาจเป็นประโยชน์แก่ชฎิลผู้อยู่ป่า ) เมื่อเข้าไปก็เห็นเด็กแดง ๆ คนหนึ่ง เป็นเด็กชายนอนหงายอยู่. จึงนำมาเลี้ยงไว้จนเติบโต มีอายุได้ ๑๐ ปี หรือ ๑๒ ปี . ต่อมาชฎิลมีธุระที่จะต้องไปในชนบท จึงเรียกเด็กมาสั่งให้บูชาไฟ ( คอยเอาไฟใส่ในกองไฟ ) อย่าให้ดับได้. ถ้าไฟดับ มีดอยู่นี่ ไม่สีไฟอยู่นี่ จงจุดไฟให้ติด บูชาไฟต่อไป. เมื่อสั่งเสร็จและไปแล้ว เด็กมัวเล่นเพลินไป ไฟก็ดับ . เด็กคิดถึงคำสั่ง จึงเอามีดมาถากไม้สีไฟด้วยหวังจะได้ไฟ ก็ไม่ได้ไฟ จึงผ่าไม้สีไฟออกเป็น ๒ ซีก ๓ ซีก จนถึง ๒๐ ซีก ทำเป็นชิ้น ๆ ใส่ครกตำ แล้วเอามาโรยที่ลมด้วยหวังจะได้ไฟ แต่ก็ไม่ได้. ชฎิลกลับมาเห็นเช่นนั้น ถามทราบความแล้ว จึงคิดว่า เด็กนี้ยังอ่อน ไม่ฉลาด จะหาไฟโดยวิธีที่ไม่ถูกได้อย่างไร จึงเอาไม้สีไฟมาสีให้เด็กดูถึงวิธีทำไฟให้ติด. พระองค์ก็เช่นเดียวกัน ทรงหาโลกอื่นโดยวิธีที่ไม่ถูก. ในที่สุดได้แนะนำให้พระเจ้าปายาสิทรงสละความเห็นผิดนั้นเสีย.
แต่พระเจ้าปายาสิทรงอ้างว่า ทรงสละไม่ได้ เพราะพระเจ้าปเสนทิโกศล และพระราชาในรัฏฐะอื่น ๆ ก็ทรงทราบกันทั่วไปว่า พระองค์มีความเห็นอย่างนี้ ก็จะพากันติเตียนได้. พระกุมารกัสสปเถระจึงยกอุปมา เพื่อจูงใจให้ทรงละความเห็นผิดนั้น ๆ แต่เมื่อยังไม่ทรงยอม ก็ยกอุปมาอื่นอีก โดยนัยนี้เป็นอุปมา ๔ ข้อดังต่อไปนี้:-
๑. เปรียบเหมือนพ่อค้าเกวียนหมู่ใหญ่ เดินทางจากภาคตะวันออกไปตะวันตก แล้วได้แบ่งกองเกวียนออกเป็น ๒ กอง กองละประมาณ ๕๐๐ เล่ม ให้ขบวนหนึ่งล่วงหน้าไปก่อน อีกขบวนหนึ่งจะตามไปภายหลัง ขบวนที่ล่วงหน้าไปก่อนถูกคนเดินทางสวนหลอกให้ทิ้งหญ้าทิ้งน้ำ เล่าว่าข้างหน้าฝนตกในทางกันดาร พุ้มไม้, หญ้า , ไม้ , และน้ำบริบูรณ์ หัวหน้ากองเกวียนหลงเชื่อจึงพาพวกไปตายหมดสิ้น เพราะทิ้งหญ้าทิ้งน้ำแล้วก็หาน้ำและหญ้าข้างหน้าไม่ได้ พวกไปทีหลังไม่ยอมเชื่อคนหลอก ไม่ยอมทิ้งหญ้าทิ้งน้ำ จึงเดินทางข้ามทางกันดารโดยสวัสดี. แล้วเปรียบว่าพระองค์แสวงหาโลกอื่นโดยไม่แยบคาย จะพลอยให้คนที่เชื่อถือพากันถึงความพินาศไปด้วย เหมื่อนนายกองเกวียนคณะแรก.
๒. เปรียบเหมือนชายเลี้ยงหมูคนหนึ่ง ไปสู่หมู่บ้านอื่น เห็นคูถ ( อุจจาระ ) แห้ง ที่เขาทิ้งไว้เป็นอันมากก็คลี่ผ้าห่มออก เอาคูถแห่งใส่แล้วห่อทูลเหนือศีรษะมา ในระหว่างทางฝนตก คูถนั้นก็ไหลเลอะเปรอะไป คนทั้งหลายจึงพากันติเตียนว่าเป็นบ้า หรือไปแบกห่อคูถมาทำไม. เขาตอบกลับว่า ท่านต่างหากเป็นบ้าเพราะของที่แบกมานี่เป็นอาหารของหมู. พระองค์ก็เปรียบเหมือนอย่างนั้น ขอจงทรงสละความคิดเห็นผิดนั้นเสียเถิด.
๓. เปรียบเหมือนนักเลงสกา ๒ คนเล่นสกากัน คนหนึ่งย่อมกลืนลูกโทษที่มาถึงตัว ๔ . (หมายถึงลูกสกาที่จะทำให้แพ้ ). อีกคนหนึ่งงบอกว่า ท่านชนะเรื่อยข้างเดียว ขอลูกสกาให้ข้าพเจ้าทำพิธีบ้าง . คนชนะจึงส่งให้ไป. นักเลงคนที่ ๒ จึงเอายาพิษทาลูกสกา. เมื่อเล่นครั้งที่ ๒ นักเลงสกาคนแรกก็กลืนลูกโทษที่มาถึงนั้นอีก ( และตายเพราะกลืนยาพิษเข้าไปด้วย) . พระองค์ก็เปรียบเหมือนนักเลงสกา ( ที่กลืนยาพิษไปกับลูกสกาด้วย) ของจงทรงสละความเห็นผิดนั้นเสียเถิด.
๔. เปรียบเหมือนชาย ๒ คนชวนกันไปยังชนบทเพื่อหาทรัพย์ ไปพบป่านในระหว่างทางก็ห่อป่านเดินทางไป ครั้นไปพบด้ายที่ทอจากป่าน คนหนึ่งเห็นด้ายมีราคากว่าก็ทิ้งป่านห่อด้ายไป อีกคนหนึ่งไม่ยอมทิ้ง ด้วยถือว่าแบกมาไกลแล้ว ผูกรัดไว้ดีแล้ว. โดยนัยนี้ไปพบผ้าเปลือกไม้. ผ้าฝ้าย , เหล็ก , โลหะ , ดีบุก ตะกั่ว, เงิน, ทอง คนหนึ่งทิ้งของเก่าถือเอาของใหม่ที่มีราคากว่า แต่อีกคนหนึ่งไม่ยอมทิ้ง ถือว่าแบกมาไกลแล้วผูกรัดไว้ดีแล้ว เมื่อกลับไปถึงบ้าน บุตร ภริยา เพื่อนฝูงแบกห่อป่าน ก็ไม่ชื่นชม แต่บุตร จริยาเพื่อนฝูงของผู้แบกห่อทองกลับมา ต่างชื่นชม. พระองค์จะเป็นอย่างผู้แบกห่อป่าน ขอจงสละความเห็นผิดนั้นสียเถิด.
พะระเจ้าปายาสิทรงเลื่อมใสในพระกุมารกัสสปเถระ สรรเสริญภาษิต ประกาศพระองค์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็รนสรณะตลอดพระชนมชีพ แล้วทรงถามถึงวิธีบูชายัญ ซึ่งพระเถระก็ถวายคำแนะนำให้บูชาโดยไม่มีการฆ่าสัตว์ พระเจ้าปายาสิก็ทรงปฏิบัติตาม โดยให้มีการแจกทาน ( ทำงานสังคมสงเคราะห์) แล้วเพิ่มของที่ให้ดีขึ้นโดยลำดับ.
จบความย่อแห่งพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐
________________________________________
๑. การอธิบายไว้ในวงเล็บอย่างนี้ เป็นไปตามบาลีพุทธภาษิต ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ หน้า ๔๐๙ เช่นคำว่า พิจารณากายในกาย เพียงพิจารณาลมหายใจเข้าออก ก็ถือว่าลมหายใจเป็นกายอย่างหนึ่ง ลมหายใจจึงเป็นกายส่วนย่อยในกายส่วนใหญ่
๒. พึงสังเกตว่า วัฒธรรมเกี่ยวกับการจัดมรดกตามคตินี้ หญิงไม่มีสิทธิอะไรในทรัพย์สินของบิดาเลย สุดแต่ชายผู้เป็นพี่จะจัด เพราะตัวเองตกอยู่ในฐานะที่พี่ชายจะใช้สอย หรือถือเอาเป็นภริยาได้ ( ถ้าเป็นน้องต่างมารดา)
๓. อาจจะเป็นพวกเร่ร่อน กางเต๊นท์พักแรมในที่ต่าง ๆ
๔. แสดงว่าลูกสกาเป็นแบบลูกเต๋า ในอรรถกถาแก้ว่า เล่นด้วยลูกสี่เหลี่ยม ( ลูกเต่า ) ก็มี เล่นด้วยลูกขลุบ หรือลูกคลี ( คุล ) ก็มี การกลืนลูกสกา อาจเป็นเคล็ดให้ได้ชัยชนะเรื่อย ๆ
เล่มที่ ๑๑ ชื่อทีฆนิกาย ปาฏิวัคค์
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๓
หน้า ๑
พระไตรปิฎกเล่มนี้ ยังอยู่ในประเภท ‘ ทีฆนิกาย ’ คือ ‘ หมวดพระสูตรขนาดยาว’ และปฏิกวัคค์ คือวรรคที่เริ่มต้นด้วยปาฏิสูตร ในวรรคนี้มี ๑๑ สูตร ตามลำดับดังนี้:-
๑. ปาฏิกสูตร ว่าด้วย ‘ชีเปลือยบุตรแห่งปาฏิกะ (ช่างทำถาด) ’ ผู้คุยโอ่ยกตนเสมอด้วยพระพุทธเจ้า.
๒. อุทุมพริกสูตร ๑ ว่าด้วย ‘เหตุการณ์ในปริพพาชการาม ซึ่งพระนางอุมุมพริกาสร้างถวาย ’ กล่าวถึงการโต้ตอบระหว่างพระพุทธเจ้า กับนิโครธปริพพาชก เรื่องนักบวช.
๓. จักกวัตติสูตร ๒ ว่าด้วย ‘ พระเจ้าจักรพรรดิ์ ’ และความเสื่อม ความเจริญแห่งศีลธรรม และเรื่องพระเมตไตรยพุทธเจ้า.
๔. อังคัญญสูตร ว่าด้วย ‘ บุคคลผู้เลิศกว่าคนอื่น ’ด้วยความรู้และความประพฤติ แสดงถึงเรื่องวรรณะ หรือชั้นแห่งบุคคล ๔ ประเภท รวมทั้งที่มาเดิมของโลก ซึ่งเป็นวรรณะ ๔ .
๕. สัมปสาทนียสูตร ว่าด้วย ‘คุณธรรมที่น่าเลื่อมใส ’กล่าวถึงคำพรรณนาพระคุณอันน่าเลื่อมใสของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค.
๖. ปาสาทิกสูตร ว่าด้วย ‘ พระธรรมเทศนาที่น่าเลื่อมใส ’กล่าวถึงธรรมวินัยที่กล่าวไว้ไม่ดี และที่กล่าวไว้ดี พร้อมทั้งข้อปฏิบัติของสาวก.
๗. ลักขณสูตร ว่าด้วย ‘มหาปุริสลักษณะ’ ๓๒ ประการ พร้อมด้วยเหตุผลที่ให้เกิดลักษณะนั้น ๆ.
๘. สิงคาลกสูตร ๓ ว่าด้วย ‘สิงคาลกมาณพ ’ส่วนใหญ่เป็นการสอนธรรมะของผู้ครองเรือน และเรื่องทิศ ๖ ที่อุปมาด้วยบุคคล ๖ ประเภท.
๙. อาฏานาฏิยสูตร ว่าด้วย ‘การรักษาในอานาฏานคร ’ซึ่งท้าวจาตุมหาราชกราบทูลพระผู้มีพระภาค.
๑. สังคีติสูตร ว่าด้วย ‘การร้อยกรองหรือสังคายนาคำสอน’พระสารีบุตรได้แสดงธรรมเป็นตัวอย่าง ในการจัดประเภทคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งเป็นแบบอย่างของการสังคายนาในภายหลัง.
๑๑. ทสุตตรสูตร ว่าด้วย ‘หมวดธรรมอันยิ่งขึ้นไปจนถึงสิบ ’ เป็นการแสดงธรรมของพระสารีบุตรจำแนกธรรมหมวดหนึ่ง หมวดสอง จนถึงหมวดสิบ ซึ่งเป็นตัวอย่างแห่งการร้อยกรองพระธรรมวินัยได้ดี เช่น สังคีติสูตร.
ขยายความ
๑. ปาฏิกสูตร
สูตรว่าด้วยชีเปลือยบุตรเเห่งปาฏิกะ ( ช่างทำถาด)
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิคมชื่ออนุปปิยะ แคว้นมัลละ เช้าวันหนึ่งเสด็จออกบิณฑบาตแต่ยังเช้าอยู่ จึงเสด็จแวะไปยังอารามของภัคควโคตรปริพพาชก ตรัสสนทนากับภัคควโคตรปริพพาชก ผู้ทูลถามเรื่องบุตรลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ผู้เข้ามาบวชแล้วสึกไป โดยให้เหตุผลว่า:-
๑. ตนจะไม่อยู่อุทิศพระผู้มีพระภาคต่อไป.
๒. เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ดู.
๓. เพราะไม่ทรงบัญญัติสิ่งที่เป็นเลิศ ( ไม่ชี้สิ่งประเสริฐสุด หรือสิ่งที่เป็นต้นเดิมของสิ่งทั้งหลายว่าได้แก่อะไร)
ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ในข้อ ๑ พระองค์ได้ตรัสถามเขาว่า พระองค์ได้เคยขอร้องให้เขามาอยู่อุทิศพระองค์ ๔ หรือว่าเขาเคยมากราบทูลว่า จะอยู่อุทิศพระองค์บ้างหรือเปล่า เขาตอบว่า เปล่า. เมื่อเป็นเรื่องเปล่า จึงมิไช่เรื่องจะบอกเลิกใคร.
ในข้อ ๒ ตรัสถามเขาว่า พระองค์เคยตรัสหรือไม่ว่าจงมาอยู่อุทิศพระองค์เถิด แล้วพระองค์จะทรงแสดงฤทธิปาฏิหาริย์ให้ดู ก็ตอบว่า เปล่า. ตรัสถามต่อไปว่า ถ้าแสดงฤทธิ์ให้ดูหรือไม่แสดงก็ตาม จะทำให้สิ้นทุกข์ได้หรือไม่ ตอบว่า ไม่ทำให้สิ้นทุกข์ได้. จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น การแสดงฤทธิ์จะทำอะไรได้.
ในข้อ ๓ ตรัสถามเขาว่า พระองค์เคยตรัสหรือไม่ว่าจงมาอยู่อุทิศพระองค์เถิด แล้วพระองค์จะทรงบัญญัติที่เลิศเเก่เขา. เขาตอบว่า เปล่า. จึงตรัสถามต่อไปว่า จะบัญญัติสิ่งที่เลิศหรือไม่ก็ตาม จะทำให้สิ้นทุกข์ได้หรือไม่. ตอบว่า ไม่ทำให้สิ้นทุกข์ได้. จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น การบัญญัติสิ่งที่เลิศจะทำอะไรได้. อนึ่งได้ตรัส ( เป็นเชิงทบทวนความทรงจำ) ว่า สุนักขัตตะเคยกล่าวพรรณนาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไว้ เป็นอเนกประการในวัชชีคาม.
เรื่องชีเปลือยชื่อโกรักขัตติยะ
ตรัสเล่าต่อไปว่า เคยตรัสแก่สุนักขัตตลิจฉวีบุตร ถึงชีเปลือยชื่อโกรักขัตติยะ ผู้ประพฤติวัตรดั่งลูกสุนัข คือลงคลาน ๔ เท้า กินอาหารที่ตกอยู่บนพื้นดิน ด้วยใช้ปากงับ ( ไม่ใช้มือหยับเข้าปาก ) ว่าจะตายด้วยโรคท้องอืดในวันที่ ๗ แล้วถูกนำไปทิ้งในป่าช้า ซึ่งมีกอหญ้าคมบาง. สุนักขัตตลิจฉวีจึงไปหาชีเปลือยชื่อโกรักขัตติยะเล่าคำของเราให้ฟัง และแนะนำให้บริโภคอาหารพอประมาณ ดื่มน้ำพอประมาณ เพื่อจะให้ถ้อยคำของเราคลาดเคลื่อน . ครั้นในวันที่ ๗ ชีเปลือยนั้นก็ตายและถูกนำไปทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งมีกอหญ้าคมบาง. เราจึงย้อนถามสุนักขัตตลิจฉวีว่า ที่เป็นอย่างนี้ ชื่อว่าเราแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แล้วหรือยัง สุนักขัตตลิจฉวีก็รับว่าแสดงแล้ว.
เรื่องชีเปลือยชื่อกฬารมัชฌกะ
ตรัสเล่าถึงชีเปลือยชือกฬารมัชฌกะ ผู้เลิศด้วยลาภ ยศ อาศัยอยู่ในวัชชีคาม ใกล้กรุงเวสาลี เป็นผู้ถือข้อปฏิบัติ ๗ ประการ คือ ๑. เปลือย ๒. ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เสพเมถุนธรรม ๓. ดื่มสุราและกินเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต ไม่กินข้าวสุก ขนมสด ๔. ไม่ล่วงเกินอุเทนเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่ทิศบูรพา ( ตะวันออก) ๕. ไม่ล่วงเกินโคตมกเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่ทิศอุดร ( เหนือ ) ของกรุงเวสาลี. ๕ เราเคยกล่าวแก่สุนักขัตตลิจฉวีว่า กฬารมัชฌกะ จะนุ่งผ้า มีภริยา กินข้าวสุก ขนมสด เพิ่มจากสุรา และเนื้อสัตว์ ) ล่วงเกินเจดีย์ทั้งปวงในกรุงเวสาลี เสื่อมยศและตาย เหตุการณ์ก็เป็นจริงดั่งที่เรากล่าว. เราจึงถามสุนักขัตตลิจฉวีว่า ที่เป็นอย่างนี้ ชื่อว่าเราแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แล้วหรือยัง. สุนักขัตตลิจฉวีก็รับว่าแสดงแล้ว.
เรื่องชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตร
ตรัสเล่าถึงชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตร ผู้เลิศด้วยลาภ ยศ อาศัยอยู่ในวัชชีคาม ใกล้กรงเวสาลี. ชีเปลือยผู้นี้เปล่งวาจาในท่ามกลางบริษัทว่า พระโคดมเป็นญาณวาทะ ( ผู้กล่าวรับรองญาณความรู้ ) ตนก็เป็นญาณวาทะ ควรจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วยกันได้. พระสมณโคดมมาครึ้งทาง ตนจะไปครึ้งทาง. พระสมณโคดมแสดงอิทธิปาฏิหาริย์กี่อย่าง ตนก็จะแสดงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ. เมื่อสุนักขัตตลิจฉวีมาเล่าให้ฟัง เราจึงกล่าวชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตรไม่ละทิ้งถ้อยคำนั้นคิดนั้น ไม่สละความเห็นนั้น ก็ไม่ควรมาอยู่ต่อหน้าเรา ถ้าขืนมาศรีษะก็จะแตก. สุนักขัตตลิจฉวีขอให้เรารักษาถ้อยคำที่เราพูดไว้. เราจึงให้สุนักขัตตลิจฉวีไปบอกแก่ชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตร. เช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อกลับจากบิณฑบาตในกรุงเวสาลี เราจึงไปพักกลางวันในอารามของชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตร. สุนักขัตตลิจฉวีก็รีบเที่ยวไปบอกพวกกษัตริย์ลิจฉวี รวมทั้งพราหมณมหาศาล ๖ คฤหบดีมหาศาล และสมณพราหมณ์ เจ้าลัทธิต่าง ๆ ให้รีบไปดูการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ระหว่างเรากับชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตร.
เมื่อชีเปลือยชื่อปากฏิบุตรทราบว่ามีคนมาประชุมเพื่อจะคอยดู ก็ตกใจกลัว จึงเดินไปยังอารามของปริพพาชกชื่อติณฑุกขานุ ( ตอไม้มะพลับ ) พวกบริษัทก็ไปตาม พูดขอร้องให้ไปแสดงตัว ชีเปลือยผู้นั้นก็พูดว่า จะไป แต่กระเสือกกระสนอยู่ในที่นั้น ลุกขึ้นไม่ได้. มหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีไปตาม เขาก็พูดว่าอย่างนั้น แต่ลุกขึ้นไม่ได้. ชาลิยะศิษย์ของปริพพาชกผู้ใช้บาตรไม้ จึงไปตาม และพูดว่าอย่างเจ็บ ๆ แต่ก็ไม่สำเร็จ ชีเปลือยไม่ยอมไปแสดงตัว. เราจึงแสดงธรรมแก่บริษัทที่ไปประชุมนั้นแล้วกลับที่พัก. และเราได้ถามสุนักขัตตลิจฉวีว่า ที่เป็นอย่างนี้ ชื่อว่าเราแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แล้วหรือยัง. สุนักขัตตลิจฉวีก็รับว่าแสดงแล้ว.
เรื่องของสิ่งที่เลิศหรือต้นเดิม ( อัคคัญญะ)
ตรัสต่อไปว่า “ เรารู้จักสิ่งที่เลิศ รู้จักสิ่งที่เลิศยิ่งขึ้นไปกว่านั้น แต่รู้แล้วก็ไม่ยึดถือ เมื่อไม่ยึดถือก็รู้แจ้งนิพพานเฉพาะตน เมื่อรู้จึงไม่ประสบควาวมเสื่อม.” ครั้นแล้วทรงแสดงสิ่งที่เลิศตามทัศสนะของศาสนาอื่นต่อไปว่า:-
๑. สมณพราหมณ์บางพวกบัญญัติสิ่งที่เลิศอันเป็นคำสอนของอาจารย์ คือเรื่องที่พระอิศวร ๗ สร้าง ( อิสสรกุตตะ) พระพรหมสร้าง ( พรหทกุตตะ) คือเมื่อโลกหมุนเวียนเปลี่ยนไป บางครั้งพรหมวิมานว่างไม่มีใคร ผู้ที่เกิดในที่นั้นคนแรกก็นึกว่าตนเป็นมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ไปเกิดทีหลังก็นึกว่าตนเป็นที่มหาพรหมสร้างขึ้น. ต่อมาพวกเหล่านั้นมาเกิดในโลกนี้ ออกบำเพ็ญเพียร ระลึกชาติได้ ก็เอาความเข้าใจสมัยที่เกิดในพรหมโลกมากล่าวว่า มีผู้สร้างและผู้ถูกสร้าง.
๒. สมณพราหมณ์บางพวกบัญญัติสิ่งที่เลิศอันเป็นคำสอนของอาจารย์เกี่ยวกับเทพพวกขิฑฑาปโทสิกะ ( ผู้เสียหายหรือมีโทษเพราะการเล่น ) คือเมื่อมาออกบวชบำเพ็ญเพียร ระลึกชาติได้ว่า ตนเคยเป็นเทพพวกขิฑฑปโทสิกะ ต้องจุติ คือพ้นฐานะเดิม เพราะการเล่นสนุกสนาน จึงเห็นว่าเทวดาพวกอื่นเที่ยง พวกขิฑฑาปโทสิกะไม่เที่ยง.
๓. สมณพราหมณ์บางพวกบัญญัติสิ่งที่เลิศอันเป็นคำสอนของอาจารย์เกี่ยวกับเทพพวกมโนปโทสิกะ ( ผู้เสียหายหรือมีโทษ เพราะคิดร้ายผู้อื่น ) คือเมื่อมาออกบวชบำเพ็ญเพียร ระลึกชาติได้ว่า ตนเคยเป็นพวกเทพพวกมโนปโทสิกะ ต้องจุติ คือพ้นจากฐานะเดิม เพราะคิดร้ายผู้อื่น จึงเห็นเทวดาพวกอื่นเที่ยง พวกมโนปโทสิกะไม่เที่ยง.
๔. สมณพราหมณ์บางพวกบัญญัติสิ่งที่เลิศอันเป็นคำสอนของอาจารย์เกี่ยวกับการมีเป็นขึ้นเองโดยไม่มีเหตุ ( อธิจจสมุปปันนะ” คือเมื่อมาออกบวชบำเพ็ญเพียร ระลึกชาติได้ว่า ตนเคยมีสัญญาเกิดขึ้น ขณะเป็นอสัญญีสัตว์ ไม่มีสัญญา พอเกิดสัญญาขึ้นก็จุติ จึงระลึกได้ สิ้นสุดลงเพียงเมื่อจะจุติเท่านั้น ย้อนหลังไปกว่านั้นไม่เห็นมีอะไร จึงเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ มีขึ้นเองโดยไม่มีเหตุ.
( ข้อปฏิบัติทั้งสี่นี้ เป็นทิฏฐิความเห็นที่มีมูลญานมาจากความรู้เพียงเปลาะใดเปลาะหนึ่ง ไม่รู้ตลอดสาย ทำให้เข้าใจผิด ดูพรหมชาลสูตรประกอบซึ่งย่อไว้แล้วใน พระสุตตันตะเล่ม ๑ หน้า ๑ )
ครั้นแล้วตรัสเรื่องสุภวิโมกข์ ( ซึ่งอรรถกถาอธิบายว่า การบำเพ็ญกสิณ คือการเพ่งรูปนิมิต แบบใช้สีเป็นอารมณ์). เมื่อจบพระพุทธดำรัส ภัคควโคตรปริพพาชกชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค.
( หมายเหตุ : เป็นสิ่งที่เป็นต้นเดิมของสิ่งทั้งหลายว่าได้ทรงแสดงแล้วอย่างไร).
๒. อุทุมพริกสูตร
สูตรว่าด้วยเหตุการณ์ในปริพพาชการาม ซึ่งนางอุทุมพริกาสร้างถวาย
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ สันธานคฤหบดี ๘ ออกจากกรุงราชคฤห์จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคในเวลากลางวัน และแวะไปหานิโครธปริพพาชก ซึ่งกำลังอยู่กับบริษัทใหญ่ประมาณ ๓ พันคนกำลังกล่าวถ้อยคำ ที่เป็นเรื่องภายนอกของสมณะ ( ติรัจฉานกถา) ด้วยเสียงอันดัง. เมื่อเห็นสันธานคฤหบดีเข้ามา ก็สั่งกันและกันให้สงบเสียง เพราะคฤหบดีผู้นี้เป็นสาวกฝ่ายคฤหัสถ์ที่อยู่ในกรุงราชคฤห์คนหนึ่งของพระสมณโคดม และเป็นพวกที่ไม่ชอบเสียงดัง พรรณาคุณของความเป็นผู้มีเสียงน้อย เมื่อรู้ว่าบริษัทมีเสียงน้อย ก็พึงเข้ามาหา.
เมื่อสันธานคฤหบดีเข้าไปหาโครธปริพพาชก กล่าวสัมโมทนียกถาปราศัยกันเสร็จแล้ว ก็กล่าวว่า นักบวชลัทธิอื่น ( อัญญเดียรถีย์ปริพพาชก ) ที่ประชุมกัน ส่งเสียงอื้ออึงเป็นคนละอย่างกับพระผู้มีพระภาค ผู้เสพเสวนาสนะอันสงัด.
นิโครธปริพพาชกจึงตอบว่า พระสมณโคดมจะสนทนาโต้ตอบ แสดงความสามารถทางปัญญากับใครได้ ปัญญาของพระสมณโคดมถูกกำจัดเสียแล้วในเรือนว่าง จึงไม่กล้าก้าวลงสู่บริษัท ไม่ควรที่จะโต้ตอบได้แต่เสพเสนาสนะอันสงัด เหมือนโคตาบอดที่หนีไปอยู่ป่าลึก เสพเสนาสนะอันสงัด ( โดยใจความว่า การที่เสพเสนาสนะอันสงัด ก็เพราะไม่มีปัญญาจะโต้ตอบกับใคร จึงต้องเลี่ยงหนีประชุมชน เหมือนโคตาบอดที่กลัวถูกทำร้าย ต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในที่เปลี่ยว ) ขอให้สมณโคดมมาสู่บริษัทเถิด เราจะสนทนาด้วยสักปัญหาหนึ่ง จะหมุนเสียให้เหมือนหม้อเปล่าทีเดียว.
พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับถ้อยคำสนทนาของทั้งสองฝ่ายด้วยพระโสตธาตุอันเป็นทิพย์ จึงเสด็จลงจากเขาคิชฌกูฏ เสด็จจงกรมในที่แจ้ง ริมฝั่งน้ำสุมาคธา. นิโครธปริพพาชกเห็นเช่นนั้นก็เตือนบริษัทให้สงบเสียงแล้วกล่าวว่า ถ้าพระสมณโคดมเสด็จมา ตนจะถามปัญหาเรื่องธรรมะที่ทรงแสดงแก่สาวกให้มีความปลอดโปร่งใจในการประพฤติพรหมจรรย์เบื้องต้น.
๑. พระผู้มีพระภาคเสด็จมาหานิโครธปริพพาชก ได้รับการต้อนรับปราศัยเป็นอันดี ได้รับนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ ส่วนนิโครธปริพพาชกนั่งบนอาสนะที่ต่ำกว่า ๙ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไต่ถามว่า สนทนาอะไรค้างอยู่ ปริพพาชกจึงกราบทูลว่า พูดกันว่า ถ้าพระองค์เสด็จมา จะถามเรื่องธรรมที่แสดงแก่สาวก ให้มีความปลอดโปร่งใจในการประพฤติพรหมจรรย์เบื้องต้น. ตรัสตอบว่า เป็นการยากที่ท่านผู้มีความเห็นอย่างอื่นมีความพอใจอย่างอื่น มีความประพฤติอย่างอื่น มีอาจารย์อย่างอื่น จะเข้าใจได้. ท่านจงถามปัญหาในลัทธิอาจารย์ของท่านเอง อันเกี่ยวด้วยการเกลียดชังความชั่วโดยการบำเพ็ญตบะดีกว่า. พวกปริพพาชกก็อื้ออึงขึ้น กล่าวกันว่า น่าอัศจรรย์ที่พระสมณโคดมเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอนุภาพมาก ไม่ตอบปัญหาในลัทธิของตนแต่กลับปวารณา ( ขอให้ถาม) ในลัทธิของผู้อื่น.
๒. นิโครธปริพพาชกสั่งให้ปริพพาชกเหล่านั้นสงบเสียงแล้วถามว่า พวกข้าพเจ้ามีวาทะเกลียดชังความชั่วโดยการบำเพ็ญตบะ ( ตโปชิคุจฉวาทะ ) ยึดความเกลียดชังความชั่วโดยใช้ตบะหรือความเพียรอยู่. ประพฤติอย่างไรจึงจะสมบูรณ์ อย่างไรจึงไม่สมบูรณ์. พระผู้มีพระภาคก็ตรัสตอบตามลัทธิของเขา เช่น เปลือยกายยืนถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และกินอาหารเลียมือที่เลอะอาหารแทนการล้าง เป็นต้น แล้วตรัสถามว่า ประพฤติอย่างนี้ ชื่อว่าบริบูรณ์หรือยัง ปริพพาชกกราบทูลว่า บริบรูณ์แล้ว . แต่กลับตรัสว่า จะทรงชี้ข้อเศร้าหมองในการปฏิบัติอย่างนี้ที่ ( ถือกันว่า ) บริบูรณ์แล้วให้ฟัง.
๓. ปริพพาชกถามว่า จะทรงชี้ข้อเศร้าหมองในการปฏิบัตินี้อย่างไร ตรัสตอบว่า ๑. การที่บำเพ็ญตบะแล้วอิ่มเอิบใจ เต็มความปรารถนาด้วยตบะนั้น ๒. ยกตน ข่มผู้อื่น เพราะตบะนั้น ๓. มัวเมา เพราะตบะนั้น ๔. ทำลาภสักการะและชื่อเสียงให้เกิด เพราะตบะนั้น แล้วอิ่มเอิบใจ เต็มความปรารถนาด้วยลาภสักการะและชื่อเสียนั้น ๕. ยกตน ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและชื่อเสียงนั้น ๖. มัวเมา เพราะลาภสักการะและชื่อเสียงนั้น ๗. แบ่งแยกในเรื่องอาหารว่า นี้ชอบใจ นี้ไม่ชอบใจ อันไหนไม่ชอบใจก็เพ่งเล็งละทิ้ง อันไหนชอบใจก็ติดใจ ไม่เห็นโทษ ๘. บำเพ็ญตบะเพราะใคร่จะได้ลาภชื่อเสียง เพื่อให้พระราชา, มหาอำมาตย์, กษัตริย์, พราหมณ์ , คฤหบดี, เดียรถีย์สักการะตน ๙. รุกรานสมณพราหมณ์บางพวกด้วยเรื่องการบริโภคพืชผลไม้ ๑๐. ริษยาและตระหนี่ในสกุลเมื่อเห็นสมณพราหมณ์บางพวกมีผู้สักการะเคารพนับถือ ๑๑. นั่งแสดงตนในทาง ( ที่คนผ่านไปมา ) ๑๒. พูดไม่ตรงความจริง ชอบว่าไม่ชอบ ไม่ชอบว่าชอบ ๑๓. เมื่อตถาคตหรือสาวกของตถาคตแสดงธรรม ไม่ยอมรับปริยายที่ควรยอมรับ ๑๐ ๑๔ เป็นผู้มักโกรธ และผูกโกรธ ๑๕. เป็นคนมักลบหลู่บุญคุณท่านและตีเสมอ ๑๖. เป็นคนมักริษยาและตระหนี ๑๗ . เป็นคนโอ้อวดและมีมายา ๑๘. เป็นคนกระด้างและดูหมิ่นท่าน ๑๙. มีความปรารถนาลามก ตกอยู่ใต้อำนาจของความปรารถนาลามก ๒๐. มีความเห็นผิด ประกอบด้วยความเห็นยึดส่วนสุด ๒๑. ยึดแต่ความเห็นของตน ถือมั่น สลัดยาก. แต่ละอย่างนี้เป็นความเศร้าหมองของผู้บำเพ็ญตบะ.
ครั้นแล้วตรัสถามว่า การเกลียดชังความชั่วโดยบำเพ็ญตบะดังกล่าวมานี้ จะนับว่าเศร้าหมองหรือไม่. นิโครธปริพพาชกยอมรับว่าเป็นความเศร้าหมอง มีฐานะที่ผู้บำเพ็ญตบะบางคนอาจประกอบด้วยความเศร้าหมองครบทุกข้อ จึงไม่ต้องกล่าวถึง เพียงข้อใดข้อหนึ่ง ( ว่าจะมีใครไม่มีความเศร้าหมองนี้บ้างเลย).
๔. ต่อจากนั้นทรงแสดงการบำเพ็ญตบะที่บริสุทธิ์ คือตรงกันข้ามกับ ๒๑ ข้อข้างต้น. นิโครธปริพพาชกยอมรับว่าเป็นการเกลียดชังความชั่ว โดยบำเพ็ญตบะที่บริสทธิ์ ถึงความเป็นยอดและสาระแต่พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ยังไม่ใช่ถึงความเป็นยอดหรือสาระ แต่ถึงความเป็นสะเก็ดเท่านั้น.
๕. นิโครธปริพพาชกขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงวิธีบำเพ็ญตยะ ที่ถึงความเป็นยอดหรือเป็นแก่น. จึงทรงแสดงความสังวร ๔ ประการ คือ ๑. ไม่ฆ่าสัตว์, ไม่ใช้ให้ฆ่า, ไม่ยินดีต่อผู้ฆ่า ๒. ไม่ลักทรัพย์, ไม่ใช้ให้ลัก, ไม่ยินดีต่อผู้ลัก ๓. ไม่พูดปด, ไม่ยินดีต่อผู้พูดปด ๔ . ไม่เสพกามคุณ, ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเสพ, ไม่ยินดีต่อผู้เสพ และทรงแสดงการเสพเสนาสนะ ( ที่นอนที่นั่งหรือที่อยู่อาศัย ) อันสงัด นั่งทำสติกำจัดนิวรณ์ ๕ คือ ๑. อภิชฌา ๑๑ ( ความอยากได้ ) ๒. พยาบาท ( ความปองร้าย) ๓. ถีนมิทธะ ( ความหดหู่ง่วงงุน) ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ( ความฟุ้งสร้านรำคาญใจ) ๕. วิกิจฉา ( ความลังเลสงสัย). เมื่อละนิวรณ์ ๕ ได้ เมื่อความเศร้าหมองแห่งจิตลดนอยลงเพราะปัญญาแล้ว ก็เจริญพรหมวิหาร ๔ แผ่ไปทั้วทุกทิศ สู่โลก ทั้งสิ้น. ครั้นตรัสแล้วตรัสถามว่า เท่านี้ การบำเพ็ญตบะจะชื่อว่าบริสุทธิ์หรือไม่. กราบทูลว่า บริสุทธิ์ ถึงความเป็นยอดเป็นสาระ แต่ตรัสตอบว่า ยังไม่ถึงความเป็นยอดความเป็นสาระ ถึงเพียงแค่เปลือกเท่านั้น.
๖. นิโครธปริพพาชกขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงวิธีบำเพ็ญตบะที่ถึงความเป็นยอดหรือเป็นแก่น . จึงตรัสแสดงข้อปฏิบัติต่อไป โดยเท้าความการปฏิบัติข้างต้น แล้วแสดงการได้ผล คือการระลึกชาติได้ ตั้งแต่ ๑ ชาติถึงแสนชาติและหลายกัปป์ แล้วตรัสว่า เป็นเพียงกะพี้.
๗. เมื่อทราบถูกขอร้องให้แสดงต่อไปอีก จึงตรัสถึงการได้ผล คือทิพยจักษุ แล้วทรงสรุปว่าการบำเพ็ญตบะอย่างนี้ ถึงความเป็นยอดเป็นแก่น . แล้วสรุปต่อไปว่า เป็นอันตอบปัญหาครั้งแรกที่นิโครธปริพพาชกทูลถามที่ว่า ทรงแนะนำสาวกด้วยธรรมอะไร ให้มีความปลอดโปร่งใจในการปฏิบัติพรหมจรรย์เบื้องต้น คือทรงและนำถึงฐานะอันยิ่งว่า ประณีตกว่าที่แสดงไว้อีก.
ปริพพาชกทั้งหลายก็แสดงความประหลาดใจที่ตนไม่เห็นไม่รู้ฐานะที่ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ( ยิ่งกว่าการได้พิพย์จักษุที่ว่ายอด แล้วยังมีอะไรยอดขึ้นไปอีก ๑๒ )
สันธานคฤหบดีจึงกราบทูลทบทวนถึงข้อที่นิโครธปริพพาชกกล่าวกระทบกระทั้งพระผู้มีพระภาคในตอนแรก ซึ่งทำให้นิโครธปริพพาชกนั่งนิ่งเก้อเขิน. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า กล่าวไว้อย่างนั้นจริงหรือไม่ นิโครธปริพพาชกรับว่าจริง และกราบทูลขออภัย. จึงตรัสถามให้ตอบด้วยความจริงใจ ถึงถ้อยคำบอกพวกปริพพาชกเก่า ๆ ว่า เขากล่าวถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตว่าชอบส่งเสียงดัง พูดเรื่องไร้สาระหรือว่าชอบสงบอยู่เสนาสนะอันสงัด . นิโครธปริพพาชกก็ยอมรับว่าเคยได้ยินได้ฟังมาว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต ทรงปฏิบัติเหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคในปัจจุบันนี้.
จึงตรัสสรุปว่า วิญญูชนผู้สูงอายุนั้น ( หมายถึงปริพพาชกโบราณ ) มิได้คิดว่า “ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อความตรัสรู้, ทรงฝึกพระองค์แล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อการฝึก ( ให้ผู้อื่นฝึกตนเอง ) , ทรงสงบระงับแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบระงับ , ทรงข้ามพ้นแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อการข้ามพ้น, ทรงดับเย็นแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อความดับเย็น ” .
นิโครธปริพพาชกจึงกราบทูลขออภัยซ้ำอีก. พระผู้มีพระภาคตรัสประทานอภัยแล้ว จึงทรงแสดงการปฏิบัติอย่างได้ผลในพระธรรมวินัยนี้ภายใน ๗ ปี ถึง ๗ วัน แล้วตรัสว่า มิได้ทรงประสงค์จะได้เขามาเป็นศิษย์, มิได้ประสงค์จะให้เขาเลิกเรียน ( แบบปริพพาชก ) จะให้เลิกจากชีวะ ( การดำเนินชีวิตแบบปริพพาชก ), มิได้ทรงประสงค์จะให้ตั้งอยู่ในอกุศลธรรม , ถ่ายถอนจากกุศลธรรม. หากทรงแสดงธรรมเพื่อให้ละอกุศลธรรม เมื่อปฏบัติอย่างไรจะละอกุศลธรรมได้ ธรรมอันผ่องแผ่วจะเจริญขึ้น ก็จงทำให้ปัญญาบริบูรณ์ ทำให้แจ้งความไพบูรณ์อยู่ในปัจจุบันเถิด.
________________________________________
๑. ฉบับบุโรป ชื่ออุทุมพริก สีหนาทสูตร
๒. ฉบับบุโรป ชื่อจักกวัตติ สีหนาทสูตร
๓. ฉบับบุโรป ชื่อสิงคาโลวาทสูตร สูตรว่าด้วยการประทานโอวาทแก่มาณพชื่อสิงคาลกะ
๔. เป็นสำนวน หมายความว่า มาบวช
๕. เรื่องนี้มีประโยชน์ทรงภูมิศาสตร์ จึงนำรายละเอียดมาลงไว้ด้วย
๖. คำว่า มหาศาล หมายความว่า มีทรัพย์มาก
๗. อรรถกถาแก้ว่า ได้แก่พระพรหม เพราะคำว่า อิสสระ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ ในที่นี้ได้แปลตามศัพท์ที่น่าจะเป็นไปได้
๘. สันธานคฤหบดีผู้นี้เป็นคนสำคัญ มีบริวารมาก เป็นอนาคามีบุคคลคือพระอริยบุคคลชั้นที่ ๓ รองลงมาจากพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญ ปรากฏในพระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๒ หน้า ๑๖๘ ว่าประกอบด้วยคุณธรรม ๖ อย่าง คือ มีความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว มีศีลอันประเสริฐมีญาณความรู้อันประเสริฐ, มีวิมุติความหลุดพ้นอันประเสริฐ
๙. มีหลายสูตรที่เจ้าสำนักปริพพาชกเชิญให้พระพุทธเจ้าประทับนั่งบนอาสนะ แล้วตนเองนั่งบนอาสนะต่ำกว่า จะเป็นด้วยถือทรงเป็นกษัตริย์หรืออย่างไร เป็นเรื่องน่าสังเกต เท่าที่ย่อมาแล้ว มีโปฏฐปาทสูตร ( พระสุตตันตะเล่ม ๑ หน้า ๓) และปฏิกสูตร ก่อนสูตรหน้านี้
๑๐. ในพระพุทธศาสนา ถ้าใครกล่าวถูกตรงตามความจริง ก็ถือว่ากล่าวถูกต้อง ไม่มีการปฏิเสธความจริงเพียงเพราะพูดเป็นคนในศาสนาอื่น
๑๑. พึงสังเกตว่า ในที่นี้ ไม่ใช่คำว่า กามฉันท์ ความพอใจในกาม แต่ใช้ อภิชฌา แทน
๑๒. เรื่องนี้เป็นการตอบปัญหาทีเดียวได้ผล ๒ ทาง คือตอบปัญหาแบบชี้ให้เห็นความบกพร่องในลัทธิของปริพพาชกนั้นด้วยความรับรองของพวกเขาเองอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเป็นการตอบปัญหาเดิมที่เขาถามเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วย
________________________________________
๓. จักกวัติสูตร
สูตรว่าด้วยพระเจ้าจักรพรรดิ์
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นครมาตุลา แคว้นมคธ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้พึ่งตนพึ่งธรรมและเจริญสติปัฏฐาน ๔ ๑ แล้วตรัสเล่าเรื่องรัตนะ ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิ์พระนามว่า ทัฬหเนมิ คือ:-
๑. จักร ( ลูกล้อรถ ) แก้ว ( จักกรัตนะ ) ๒. ช้างแก้ว ( หัตถิรัตนะ )
๓. ม้าแก้ว ( อัสสรัตนะ ) ๔. แก้วมณี ( มณีณีรัตนะ )
๕. นางแก้ว ( อิตถีรัตนะ ) ๖. ขุนคลังแก้ว ( คฤหปติรัตนะ)
๗. ขุนพลแก้ว ( ปริณายกรัตนะ )
พระเจ้าทัฬหเนมิตรัสสั่งบุรุษคนให้คอยดูว่า จักรแก้วเคลื่อนจากฐานเมื่อไรให้บอก จำเนียรกาลผ่านมา เมื่อจักรแก้วเคลื่อนจากที่ บุรุษนั้นก็ไปกราบทูล พระองค์จึงตรัสเรียกพระราชบุตรองค์ใหญ่มอบราชสมบัติให้แล้วปลงพระเกสาพระมัสสุ ทรงผ้ากาสยะ ( ผ้าย้อมฝาด ) ออกผนวชเป็นบรรพชิต. เมื่อออกผนวชเป็นฤษีได้ ๗ วัน จักรแก้วก็อันตรธานหายไป.
พระราชา ( พระองค์ใหม่ ) ก็ทรงเสียพระราชหฤทัย เล่าความถวาย. พระราชฤษีก็ตรัสปลอบว่า จักรแก้วเป็นของให้กันไม่ได้ และทรงแนะนำให้บำเพ็ญจักกวัตติวัตร คือข้อปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ์ มีฐานะอยู่ที่เมื่อปฏิบัติแล้ว จักรแก้วอันเป็นทิพย์ ก็กำตั้งพัน , มีกง , ดุมสมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง จักปรากฏขึ้นแก่พระราชาผู้รักษาอุโบสถในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ผู้ขึ้นสู่ชั้นบนปราสาท. กราบทูลถามว่า วัตรอันประเสริฐของพระเจ้าจักรพรรดิ์เป็นอย่างไร. ตรัสตอบว่า “ ๑. จงอาศัยธรรมสักการะเคารพนับถือธรรมให้ความคุ้มครองอันเป็นธรรมแก่มนุษย์แลสัตว์ ไม่ยอมให้ผู้ทำอันเป็นอธรรมเป็นไปได้ในแว่นแคว้น ๒ . ๒. ผู้ใดไม่มีทรัพย์ก็มอบทรัพย์ให้ ๓. เข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้เว้นจากความเมา ประมาท ตั้งอยู่ในขันติ ( ความอดทน ) โสรัจจะ ( ความสงบเสงี่ยม ) และถามถึงสิ่งเป็นกุศล, อกุศล , มีโทษ , ไม่มีโทษ, ควรเสพ, ไม่ควรเสพ, อะไรทำเข้าเป็นไปเพื่อเสียประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน , อะไรทำเข้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุขตลอดกาลนาน. เมื่อฟังแล้ว ก็รับเอาสิ่งที่เป็นกุศลมาประพฤติ. นี้แลคือวัตรอันประเสริฐของพระเจ้าจักรพรรดิ์นั้น.”
( หมายเหตุ : ข้าพเจ้าย่อวัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ์ได้ ๓ อย่าง แต่ในอรรถกถาแจกไปตามพยัญชนะได้ถึง ๑๐ อย่าง คือ ให้อารักขาอันเป็นธรรมแก่ ๑ . พลกาย หรือกองทางทหารที่อยู่ใกล้ชิด เป็นอันโตชน ) ๒. กษัตริย์ (น่าจะหมายถึงพระราชวงศ์และกษัตริย์เมืองขึ้น ) ๓. ผู้ติดตาม ๔. พราหมณ์คฤหบดี ๕. ชาวนิคมชนบท ๖. สมณพราหมณ์ ๗. เนื้อและนก ๘. ขัดขวางผู้กระทำการที่ไม่เป็นธรรม ๙. เพิ่มให้ทรัพย์แก่ผู้ไม่มีทัรพย์ ๑๐. เข้าไปหาสมณะพราหมณ์แล้วถามปัญหา. และแล้วอธิบายต่อไปว่า แยกเป็น ๑๒ ข้อก็ได้ คือแยก คฤหบดีออกจากพราหมณ์และแยกนกออกจากเนื้อ. แต่ที่ข้าพเจ้าย่อเหลือเพียง ๓ ก็เพราะประเด็นแรกมุ่งในทางเคารพธรรม ให้ความคุ้มครองอันเป็นธรรม และปราบอธรรม จักเป็นข้อที่ ๑ - ผู้จัดทำ ).
เมื่อพระราชา ( ผู้เป็นราชบุตร ) กระทำตาม จักรแก้วก็ปรากฏขึ้นตามที่พระราชฤษีทรงกล่าวไว้ พระราชาจึงทรงถือเต้าน้ำด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงหมุนจักแก้วไปด้วยพระหัตถ์เบื้องขวา รับสั่งว่า จักรแก้วอันเจริญจงหมุนเถิด จงมีชัยเถิด แล้วยกกองทัพมีองค์ ๔ ติดตามไปทั้งสิ้นจนจดสมุทร สั่งสอนพระราชาในทิศนั้น ๆ ให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ แล้วมอบให้ครอบครองสมบัติต่อไปตามเดิม ( เพียงให้ยอมแพ้เท่านั้น). เมื่อได้ชัยชนะทั้งสี่ทิศแล้ว ก็เสด็จกลับสู่ราชธานีตามเดิม.
พระเจ้าจักรพรรดิ์ พระองค์ที่ ๒ - ๓ - ๔ - ๕ - ๖ และที่ ๗ ก็เป็นอย่างนี้ พระเจ้าจักรพรรดิ์ที่ ๗ เมื่อออกผนวชและมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรสแล้ว จักแก้วก็อันตรธานหายไป พวกอำมาตย์ราชบริพารก็ถวายคำแนะนำเรื่องวัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ์.
ความผิดพลาดในพระราชาองค์ที่ ๘
พระราชาสดับแล้ว ก็ทรงจัดการรักษาคุ้มครองอันเป็นธรรม แต่ไม่พระราชทานทรัพย์แก่ผู้ไม่มีทรัพย์ ( ในข้อนี้เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันก็คือ ไม่จัดการด้านสังคมสงเคราะห์ ไม่มีการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ) ความยากจนไพบูล เมื่อความยกจนไพบูล คนก็ลักทรัพย์ของผู้อื่น. ราชบุรุษจับได้ก็นำไปปถวายให้ทรงจัดการ เมื่อทรงไต่ส่วนได้ความเป็นสัตย์ และทรบว่าเพราะไม่มีอาชีพ ก็พระราชทานทรัพย์ให้ไปเลี้ยงตน เลี้ยงมารดาบิดา บุตรภรรยาประกอบการงานและบำรุงสมณพราหมณ์ . ต่อมามีคนลักทรัพย์ของผู้อื่นและถูกจับได้อีก ทรงไต่สวนได้ความเป็นสัตย์อย่างเดิม ก็พระราชทานทรัพย์อีก . ข่าวก็ลือกันไปว่า ถ้าใครลักทรัพย์ก็จะได้พระราชทานทรัพย์ คนก็ลักทรัพย์กันมากขึ้น
ต่อมา ราชบุรุษจับคนลักทรัพย์ได้อีก แต่คราวขึ้นพระราชาทรงเกรงว่า ถ้าพระราชทานทรัพย์ การลักทรัพย์อีกก็จักเพิ่มยิ่งขึ้น จึงตรัสสั่งให้มัด โกนศีรษะ พาตระเวนไปตามถนนหนทาง ด้วยบัณเฑาะว์เสียงกร้าว ๓ . นำออกทางประตูพระนครใต้ ปราบกันอย่างถอนราก ตัดศีรษะเสีย.
เมื่อมนุษย์ได้ข่าว ก็พากันสร้างศัสตราอันคมขึ้น และคิดว่า ถ้าลักทรัยพ์ใครก็ต้องตัดษีรษะเจ้าทรัพย์บ้าง จึงเกิดการปล้นหมู่บ้านนิคมนครและการปล้นในหนทาง.
อายุลด อธรรมเพิ่ม
จากการที่ไม่ให้ทรัพย์แก่ผู้ไร้ทรัพย์ ก็มากด้วยด้วยความยกจน มากด้วยการลักทรัพย์ มากด้วยการใช้ศัสตรา มากด้วยการฆ่า มากด้วยการพูดปด อายุผิวพรรณของสัตว์ทั้งหลายก็เสื่อมลง คือมนุษย์มีอายุ ๘ หมื่นปี บุตรมีอายุเพียง ๔ หมื่นปี และลดลงเรื่อย ๆ ในเมื่อความชั่วเกิดมากขึ้น เช่น การพูดเท็จอย่างจงใจ, การพูดส่อเสียด, การประพฤติผิดในกาม . เมื่ออายุลดลงเหลือ ๕ พันปี มากไปด้วยธรรม ๒ อย่าง คือการพูดหยาบ และการพูดเพ้อเจ้อ. เมื่ออายุลดลงมาถึง ๒,๕๐๐ ปี มากไปด้วยธรรม ๒ อย่าง โลภอยากได้ของเขา และพยาบาทปองร้ายเขา. เมื่ออายุลดลงมาถึง ๑ พันปี มากไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดคลองธรรม เมื่ออายุลดลงมาถึง ๕๐๐ ปี มากไปด้วยธรรม ๓ อย่าง คือ ๑. ความกำหนัดที่ผิดธรรม ๔ . ( อธมฺมราค) ๒. ความโลภรุนแรง (วิสมโลภ ) ๓. ธรรมะที่ผิด ( อรรถกถาอธิบายว่า ความกำหนัดพอใจผิดปกฏิ เช่น ชายในชาย หญิงในหญิง ). เมื่ออายุลดลงมาถึง ๒๕๐ ปี มากไปด้วยธรรม คือการไม่ปฏิบัติชอบในมารดา , บิดา , ในสมณะ, ในพราหมณ์ , การไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล . เมื่อเสื่อมลงอย่างนี้ ทั้งอายุและผิวพรรณ มนุษย์มีอายุ ๒๕๐ ปี บุตรก็มีอายุเพียง ๑๐๐ ปี.
เหลืออายุ ๑๐ ปี เกิดมิคสัญญี
จักมีสมัยที่บุตรของมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี หญิงสาวอายุ ๕ ปี ก็มีสามีได้ ; รสเหล่านี้จะอันตรธานไป คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย รสเค็ม ; เมล็ดพืช ชื่อกุทรุสกะ ไทยแปลกันว่าข้าวหญ้ากับแก้) จะเป็นโภชนะอันเลิศ เสมือนหนึ่งข้าวสุกแห้งข้าวสาลีและเนื้อสัตว์เป็นโภชนะอันเลิศในสมัยนี้
( คือของเลวสมัยนี้กลายเป็นของดีในสมัยเสื่อม ) ; กุสลกัมบถ ( ทางแห่งกุศล ) ประการ จะอันตรธาน อกุศลกัมบถ ( ทางแห่งอกุศล ) ๑๐ประการ จะรุ่งเรืองยิ่ง; แม้คำว่า กุศล ก็ไม่มี ผู้ทำกุศลจะมีที่ไหน ; การไม่ปฏิบัติชอบในมารดาบิดา ในสมณะ ในพราหมณ์ การไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล จะได้รับการบูชาสรรเสริญ ซึ่งตรงกันข้ามกับสมัยปัจจุบันนี้; จะไม่มีคำว่า มารดา, น้า , บิดา , ป้า , อา , ภริยาของอาจารย์ , ภริยาของครู . โลกจะเจือปนกันเหมือนสัตว์ เช่น แพะ ไก่ สุกร; จักมีอาฆาต, พยาบาท, มุ่งร้ายกัน, คิดฆ่ากันอย่างรุนแรง , แม่คิดต่อลูก ลูกคิดต่อแม่ , ต่อคิดต่อลูก ลูกคิดต่อพ่อ , พี่ชายคิดต่อน้องหญิง น้องหญิงคิดต่อพี่ชาย.
จะเกิดมีสัตถันตรกัปป์ ๕ . คือกัปป์ที่อยู่ในระหว่างศัสตรา ๗ วัน คนทั้งหลายจะมีความสำคัญในกันและกันว่าเป็นเนื้อ ( มิคสัญญา ๖ . ) จะมีศัสตรา อันคมเกิดขึ้นในมือ ฆ่ากันและกันด้วยสำคัญว่าเนื้อ.
กลับเจริญขึ้นอีก
มีบุคคลบางคนหลบไปอยู่ในป่าดง พงชัฏ กินเหง้าไม้ ผลไม้ในป่า เมื่อพ้น ๗ วันแล้ว ออกมา. ก็ดีใจร่าเริงที่รอดชีวิต จึงตั้งใจทำกุศลกรรม ละเว้นการฆ่าสัตว์ และบำเพ็ญกุศลกรรม ละเว้นอกุศลกรรม เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อายุก็ยืนขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง ๘ หมื่นปี.
พระเจ้าจักรพรรดิ์อีกพระองค์หนึ่ง
เมื่อมนุษย์มีอายุยืน ๘ หมื่นปีนั้น หญิงสาวอายุ ๕ พันปีจึงมีสามีได้. มนุษย์จะมีโรคเพียง ๓ อย่าง คือ ๑ . ความปรารถนา ( อยากอาหาร) ๒. ความไม่อยากกินอาหาร ( เกียจคร้านอยากจะนอน ) ๓ . ความแก่. ชุมพูทวีปนี้จะมั่งคั่งรุ่งเรือง มีคามนิคมราชธานีแบบไก่บินถึง ( ใกล้เคียงกัน ) ยัดเยียดไปด้วยมนุษย์. กรุงพาราณสีจะเป็นราชธาณีนามว่า เกตุมตี อันมั่งคั่ง มีคนมาก อาหารหาง่าย. จักมีพระเจ้าจักรพรรดิ์พระนามว่า สังขะ เป็นพระราชาผู้ปกครองโดยธรรม มีชัยชนะจบ ๔ ทิศ ปกครองชนบทถาวรสมบูรณ์ด้วยรัตนะทั้งเจ็ด.
พระเมตไตรพุทธจ้า
เมื่อมนุษย์อายุ ๘ หมื่นปีนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่า เมตไตรย จักบังเกิดในโลกเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา ( ความรู้ ) จรณะ ( ความประพฤติ ) เป็นต้น แสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย พร้อมทั้งอรรถะพยัญชนะ บริหารภิกษุสงฆ์มีพันเป็นอเนกเช่นเดียวกับที่เราบริหารภิกษุสงฆ์มีร้อยเป็นอเนก . พระเจ้าสังขจักรพรรดิ์จักให้ยกปราสาทที่พระเจ้ามหาปนาทะให้สร้างขึ้น ครอบครอง แจกจ่ายทาน และออกผนวชในสำนักพระเมตไตรยพุทธเจ้า ในไม่ช้าก็จะทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมด้วยความรู้ยิ่งด้วยพระองค์เอง ( คือสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ).
ครั้นแล้วตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลายพึ่งตน พึ่งธรรม เจริญสติปัฏฐาน ๔ และสอนให้ท่องเที่ยวไปในโคจรของบิดา ( ดำเนินตามพระองค์ ) ก็จักเจริญด้วยอายุ วรรณะ ( ผิวพรรณ ) สุข โภคะ ( ทรัพย์สมบัติ ) และพละ ( กำลัง ).
๑. ทรงแสดงการเจริญอิทธิบาท ( คุณให้บรรลุความสำเร็จ ) ๔ ประการ ว่าเป็นเหตุให้ดำรงอยู่ได้ตลอดกัปป์หรือกว่ากัปป์.
๒. ทรงแสดงการมีศีล สำรวมในปาฏิโมกข์ ( ศีลที่เป็นประธาน ) ว่าเป็นเหตุให้มีวรรณะ.
๓. ทรงแสดงการเจริญฌาณทั้งสี่ ว่าเป็นเหตุให้มีสุข.
๔. ทรงแสดงพรหมวิหาร ๔ ว่าเป็นเหตุให้มีโภคะ ( ทรัพย์สมบัติ ).
๕. ทรงแสดงการทำให้แจ้งเจโตวิมุต ( ความหลุดพ้นเพราะสมาธิ ) ปัญญาวิมุติ ( ความหลุดพ้นเพราะปัญญา ) อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน ว่าเป็นเหตุให้มีพละ ( กำลัง ).
ตรัสในที่สุดว่า ไม่ทรงเห็นกำลังอย่างอื่นสักอย่างหนึ่งที่ครอบงำได้ยากเท่ากำลังของมาร. เพราะสมาทานกุศลธรรม บุญก็จะเจริญยิ่ง.
๔. อัคคัญญสูตร
สูตรว่าด้วยสิ่งที่เลิศหรือที่เป็นต้นเดิม
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขาในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. สมัยนั้นสามเณรชื่อว่าเสฏฐะและภารัทวาชะ ( เดิมนับศาสนาอื่น ) อยู่ปริวาส ( อบรม ) ในภิกษุทั้งหลาย ปรารถนาความเป็นภิกษุ ชวนกันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ผู้กำลังจงกรมอยู่ในที่แจ้ง เพื่อฟังธรรม. พระผู้มีพระภาคตรัสว่าพวกท่านมีชาติเป็นพราหมณ์ มีสกุลเป็นพราหมณ์ ออกบวช. พวกพราหมณ์ที่เป็นชั้นหัวหน้า ไม่ด่าไม่บริภาษบ้างหรือ. กราทูลตอบว่า ด่าอย่างเต็มที่. ตรัสถามว่า ด่าอย่างไร. กราบทูลว่า ด่าว่าพราหมณ์เป็นวรรณประเสริฐ เป็นวรรณะขาว บริสุทธิ์ วรรณะอื่นเลว เป็นวรรณะดำ ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เป็นบุตรของพรหม เกิดจากปากพรหม เป็นพรหมทายาท. พวกท่านละวรรณะอันประเสริฐ ไม่เข้าสู่วรรณะเเลว คือ พวกสมณะศีรษะโล้น ซึ่งเป็นพวกไพร่ พวกดำ พวกเกิดจากเท้าของพระพรหม ซึ่งเป็นการไม่ดี ไม่สมควรเลย. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พราหมณ์พวกนั้นลืมตน เกิดจากองค์กำเนิดของพราหมณีแท้ ๆ ยังกล่าวว่าประเสริฐสุด เกิดจากปากพรหม เป็นต้น ซึ่งเป็นการกล่าวตู่พระพรหมและพูดปด ๗
แล้วตรัสเรื่องมนุษย์ ๔ วรรณะ ที่ทำชั่วทำดีได้อย่างเดียวกัน และเรื่องที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ( ผู้เป็นกษัตริย์ ) แต่ปฏิบัติต่อพระองค์ ซึ่งพวกพราหมณ์ถือว่าเป็นพวกดำ ( เพราะปลงศีรษะออกบวช ) อย่างเต็มไปด้วยความเคารพ.
ครั้นแล้วตรัส ( เป็นเชิงปลอบใจ หรือให้หลักการใหม่ ) ว่า ท่านทั้งหลายมาบวช จากโคตร จากสกุลต่าง ๆ เมื่อมีผู้ถามว่า เป็นใคร ก็ตอบกล่าวว่า พวกเราเป็นสมณะศากยบุตร. ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นในตถาคตผู้นั้นย่อมควรที่จะกล่าวว่า เราเป็นบุตร เป็นโอรสของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดจากธรรม อันธรรมสร้างเป็นธรรมทายาท ( ผู้รับมรดกธรรม) ทั้งนี้เพราะคำว่า ธัมมกาย ( กายธรรม ) พรหมกาย ( กายพรหม ) และผู้เป็นธรรม ผู้เป็นพรหม นี้เป็นชื่อของตถาคต.
( เป็นการแก้ข้อด่าของพวกพราหมณ์ โดยสร้างหลักการใหม่ให้พวกมาบวชจากทุกวรรณะได้ชื่อว่ามีกำเนิดใหม่ที่ไม่แพ้พวกพราหมณ์ ).
ครั้นแล้วตรัสเรื่อง สมัยหนึ่งโลกหมุนเวียนไปสู่ความพินาศ สัตว์ทั้งหลายไปเกิดในชั้นอาภัสสรพรหมกันโดยมาก. เมื่อโลกหมุนกลับ ( คือเกิดใหม่ภายหลังพินาศ ) สัตว์เหล่านั้นก็จุติมาสู่โลกนี้ เป็นผู้เกิดขึ้นจากใจกินปีติเป็นภักษา ( ยังมีอำนาจฌาณอยู่ ) มีแสงสว่างในตัว ไปได้ในอากาศ ( เช่นเดียวกับเมื่อเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม ).
อาหารชั้นแรก
แล้วเกิดมีรสดิน ( หรือเรียกว่าง้วนดิน ) อันสมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น รส สัตว์ทั้งหลายเอานิ้วจิ้มง้วนดินลิ้มรสดูก็ชอบใจ เลยหมดแสงสว่างในตัว เมื่อแสงสว่างหายไป ก็มีพระจันทร์ พระอาทิตย์ มีดาวนักษัตร มีคืนวัน มีเดือน มีกึ่งเดือน มีฤดู และปี. เมื่อกินง้วนดินเป็นอาหาร กายก็หยาบกระด้าง ความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏ พวกมีผิวพรรณดี ก็ดูหมิ่นพวกมีผิวพรรณทราม. เพราะดูหมิ่นผู้อื่นเรื่องผิวพรรณ เพราะความถือตัวและดูหมิ่นผู้อื่น ง้วนดินก็หายไป ต่างก็พากับบ่นเสียดาย แล้วก็เกิดสะเก็ดดินที่สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรส ขึ้นแทน ให้เป็นอาหารได้ แต่เมื่อกินเข้าไปแล้วร่างกายก็หยาบกระด้างยิ่งขึ้น ความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏชัดขึ้น เกิดการดูหมิ่น ถือตัว เพราะเหตุผิวพรรณนั้นมากขึ้น สะเก็ดดินก็หายไป เกิดเถาไม้สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรส ขึ้นแทน ให้กินเป็นอาหารได้ ความหยาบกระด้างของกาย และความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏมากขึ้น เกิดการดูหมิ่น ถือตัว เพราะเหตุผิวพรรณนั้นมากขึ้น เถาไม้ก็หายไป ข้าวสาลี ไม่มีเปลือก มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสารก็เกิดขึ้นแทน ใช้เป็นอาหารได้ ข้าวนี้เก็บเย็นเช้าก็แก่แทนที่ขึ้นมาอีก ไม่ปรากฏพร่องไปเลย ความหยาบกระด้างของกาย ความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏมากขึ้น.
เพศหญิงเพศชาย
จึงปรากฏเพศหญิงเพศชาย. เมื่อต่างเพศเพ่งกันแลกันเกินขอบเขต ก็เกิดความกำหนัดเร่าร้อนและเสพเมถุนธรรมต่อหน้าคนทั้งหลาย เป็นที่รังเกียจ และพากันเอาสิ่งของขว้างปา เพราะสมัยนั้นถือการเสพเมถุนเป็นอธรรม เช่นกับที่สมัยนี้ถือว่าเป็นธรรม ( ถูกต้อง ) . ต่อมาจึงรู้จักสร้างบ้านเรือน ปกปิดซ่อนเร้น.
การสะสมอาหาร
ต่อมามีผู้เกียจคร้านที่จะนำข้าวสาลีตอนเช้าเพื่ออาหารเช้า นำมาตอนเย็นเพื่ออาหารเย็น จึงนำมาครั้งเดียวให้พอทั้งเช้าทั้งเย็น. ต่อมาก็นำมาครั้งเดียวให้พอสำหรับ ๒ วัน ๔ วัน ๘ วัน มีการสะสมอาหาร จึงเกิดมีเปลือกห่อห่มข้าวสาร ที่ถอนแล้วก็ไม่งอกขึ้นแทน ปรากฏความพร่อง ( เป็นตอน ๆ ที่ถูกถอนไป ). มนุษย์เหล่านั้นจึงประชุมกับปรารภความเสื่อมลงโดยลำดับ แล้วการแบ่งข้าวสาลีกำหนดเขต ( เป็นของคนนั้นคนนี้ ).
อกุศลธรรมเกิดขึ้นกษัตริย์เกิดขึ้น
ต่อมาบางคนรักษาส่วนของตน ขโมยของคนอื่นมาบริโภค เมื่อถูกจับได้ ก็เพียงแต่สั่งสอนกันไม่ให้ทำอีก เขาก็รับคำ ต่อมาขโมยอีก ถูกจับได้ถึงครั้งที่ ๓ ก็สั่งสอนเช่นเดิมอีก แต่บางคนก็ลงโทษ ตบด้วยมือ ขว้างด้วยก้อนดิน ตีด้วยไม้ . เขาจึงประชุมกันปรารภว่า การลักทรัพย์ การติเตียน การพูดปด การจับท่อนไม้เกิดขึ้น ควรจะแต่งตั้งคนขึ้นให้ทำหน้าที่ติคนที่ควรติ ขับไล่คนที่ควรขับไล่ โดยพวกเราจะแบ่งส่วนข้าวสาลีให้ จึงเลือกคนที่งดงามมีศักดิ์ใหญ่แต่งตั้งเป็นหัวหน้า เพื่อปกครองคน ( ติและขับไล่คนที่ทำผิด ) คำว่า “ มหาสมมต ” ( ผู้ที่มหาชนแต่งตั้ง ) กษัตริย์ ( ผู้เป็นใหญ่แห่งนา ) ราชา ( ผู้ทำความอิ่มใจ สุขใจแก่ผู้อื่น ) จึงเกิดขึ้น.
กษัตริย์ก็เกิดขึ้นจากคนพวกนั้น มิใช่พวกอื่น ๘ จากคนเสมอกัน มิใช่คนไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม . ธรรมะจึงเป็นสิ่งประเสริฐสุดในหมู่ชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต.
เกิดพราหมณ์, แพศย์, ศูทร
ยังมีคนบางกลุ่มออกบวชมุ่งลอยธรรมที่ชั่วเป็นอกุศล จึงมีนามว่า พราหมณ์ ( ผู้ลอยบาป ) , สร้างกุฏิหญ้าขึ้น เพ่งในกุฏินั้น จึงมีนามว่า ฌายกะ ( ผู้เพ่ง ) ; บางคนไปอยู่รอบหมู่บ้านรอบนิคม แต่งตำรา ( อรรถกถาว่า แต่งพระเวทและสอนให้ผู้อื่นสวดสาธยาย ) คนจึงกล่าวว่า ไม่เพ่ง. นามว่า อัชฌายกะ ( ผู้ไม่เพ่ง ) จึงเกิดขึ้น เดิมหมายความเลว แต่บัดนี้หมายความดี ( อัชฌายกะ ) ปัจจุบันนี้แปลว่า ผู้สาธยาย ).
ยังมีคนบางกลุ่ม ถือการเสพเมถุนธรรม อาศัยการล่าสัตว์เลี้ยงชีวิต จึงมีชื่อว่าศูทร ( พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยตกหาย ข้อความนี้ทั้งวรรค จึงต้องแปลตามฝรั่ง อรรถกถาอธิบายคำว่า สุทท ( ศูทร ) ว่าเพี้ยนมาจากคำว่า ลุทท ( นายพราน ) หรือ ขุทท ( งานเล็ก ๆ น้อย ๆ ) เป็นเชิงว่าพวกแพศย์ คือผู้ทำงานสำคัญ แต่พวกศูทรทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เข้าใจกันทั่วไป คือศูทรเป็นพวกคนงานหรือคนรับใช้ ).
ครั้นแล้วตรัสสรุปว่า ทั้งพราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็เกิดจากคนพวกนั้น มิใช่เกิดจากคนพวกอื่น เกิดจากคนที่เสมอกัน มิใช่เกิดจากคนที่ไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม. ( แสดงว่าการแบ่งชั้นวรรณะนั้น ในชั้นเดิมได้มาจากหลักการอื่น นอกจากการแบ่งงานหรือหน้าที่กันตามความสมัครใจ แล้วก็ไม่ใช่ว่าใครวิเศษกว่าใครมาแต่ต้น แท้จริงก็คนชั้นเดียวกันมาแต่เดิม ทั้งนี้เป็นการทำลายทิฏฐิมานะ ช่วยให้ลดการดูหมิ่นกันและกัน เป็นการปฏิเสธหลักการของพราหมณ์ ที่ว่าใครเกิดจากส่วนไหนของพระพรหม ซึ่งสูงกว่าต่ำกว่ากัน ).
สมณมณฑล
แล้วตรัสต่อไปว่า มีสมัยหนึ่งซึ่งบุคคลในวรรณะทั้งสี่มีกษัตริย์ เป็นต้น ไม่พอใจธรรมะของตน ออกบวชไม่ครองเรือน จึงเกิดสมมณฑล หรือคณะของสมณะขึ้น จากคณะทั้งสี่ คือเกิดจากคนเหล่านั้น มิใช่เกิดจากคนพวกอื่น เกิดจากคนที่เสมอกัน มิใช่เกิดจากคนที่ไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม ( อันนี้เป็นการพิสูจน์อีกว่า คนชั้นสมณะที่พวกพราหมณ์ดูหมิ่นอย่างยิ่งนั้น ก็เกิดจากวรรณะทั้งสี่ ซึ่งมีมูลเดิมมาด้วยกัน ไม่ใช่สูงต่ำกว่ากัน ).
การได้รับผลเสมอกัน
ครั้นแล้วตรัสสรุปว่า ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร และสมณะ ๑๐ ถ้าประพฤติทุจจริตทางกาย , วาจา , ใจ , มีความเห็นผิด , ประกอบกรรมซึ่งเกิดจากความเห็นผิด เมื่อตายไป ก็จะเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก เหมือนกัน. ถ้าตรงกันข้าม คือประพฤติสุจจริตทางกาย , วาจา , ใจ , มีความเห็นชอบ , ประกอบกรรม ซึ่งเกิดจากความเห็นชอบ เมื่อตายไป ก็จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกัน . หรือถ้าทำทั้งสองอย่าง ( คือชั่วก็ทำ ดีก็ทำ ) ก็จะได้รับทั้งสุขทั้งทุกข์เหมือนกัน.
อนึ่ง วรรณะทั้งสี่นี้ ถ้าสำรวมกาย , วาจา , ใจ , อาศัยการเจริญโพธิปักขิยะธรรม ๗ ประการ ๑๑ ก็จะปรินิพพานได้ในปัจจุบันเหมือนกัน.
และวรรณะทั้งสี่เหล่านี้ ผู้ใดเป็นภิกษุ เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ หมดกิจ ปลงภาระ หลุดพ้น เพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้นก็นับว่าเป็นยอดแห่งวรรณะเหล่านั้นโดยธรรม มิใช่โดยอธรรม. เพราะธรรมะเป็นสิ่งประเสริฐสุดในหมู่ชนทั้งหลายในปัจจุบันและอนาคต.
ในที่สุดตรัสย้ำถึงภาษิตของสนังกุมารพรหมและของพระองค์ ที่ตรงกันว่า “ กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่ชนผู้ถือโคตร แต่ผู้ใดมีวิชชา ( ความรู้ ) จรณะ ( ความประพฤติ ) ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐสุดในเทวดาและมนุษย์ ”
( หมายเหตุ : พระสูตรนี้ มีลีลาแสดงความเป็นมาของโลก แต่แสดงแล้ว ก็ยกธรรมะเป็นจุดสูงสุดในเทวดาและมนุษย์. วรรณะทั้งสี่ก็มาจากคนพวกเดียวกัน ไม่มีใครวิเศษกว่ากัน แต่ภายหลังคนเข้าใจผิดดูหมิ่นกันไปเอง. การแสดงเรื่องความเป็นมาของโลก อาจวินิจฉัยได้เป็น ๒ ประการ คือประการแรก เป็นการเอาหลักของศาสนาพราหมณ์มาเล่า แต่อธิบายหรือตีความเสียใหม่ให้เข้ารูปเข้ารอยกับคติธรรมทางพระพุทธศาสนา อันนี้ชี้ให้เห็นว่าพราหมณ์เข้าใจของเก่าผิด จึงหลงยกตัวเองว่าประเสริฐ. อีกอย่างหนึ่งเป็นการเล่าโดยมิได้อิงคติของพราหมณ์ โดยถือเป็นของพระพุทธศาสนาแท้ ๆ ก็แปลกดีเหมือนกัน เพราะถ้าเทียบส่วนใหญ่กับส่วนเล็กในทางวิทยาศาสตร์แล้วปรมาณูที่มีโปรตอนเป็นศูนย์กลาง มีอีเล็กตรอน เป็นตัววิ่งวน รวมทั้งมีนิวตรอนเป็นส่วนประกอบด้วยนั้น มีลักษณะใกล้เคียงกับสุริยะระบบ ซึ่งมีดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลาง มีดาวเคราะห์ ( PLAMETS ) เช่นโลกเรา และดาวพระศุกร์ พระเสาร์ เป็นต้น วนรอบคล้ายอีเล็กตรอน มีบางโอกาสที่ปรมณูอาจถูกแยก ถูกทำลาย เพราะเหตุภายนอก เช่น ที่นักวิทยาศาสตร์จัดทำฉันใด สุริยะระบบ หรือ SOLAR SYSTEM ก็เช่นเดียวกัน อาจถูกทำลายหรือสลายตัว แล้วเกิดใหม่ได้ในเมื่อธาตุไฮโดรเยนกับออกซิเยนรวมตัวกันเป็นน้ำ พวกฝุ่นผงที่แหลกก็เข้ามารวมตัวกันในน้ำได้และแข้มแข็งในที่สุด เป็นเรื่องเสนอชวนให้คิด แต่มิได้ชวนให้ติดในเกร็ด เพราะสาระสำคัญอยู่ที่การถือธรรมะเป็นใหญ่เป็นหลักของสังคมทุกชั้น ).
________________________________________
๑. โปรดดูมหาสติปัฏฐานสูตร พระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๔ เพื่อเข้าใจว่าเจริญสติปัฏฐาน ๔ นั้นทำอย่างไร
๒. ข้อนี้ก็เก็บใจความจริง ๆ สำนวนบาลียาวมาก
๓. แปลจากคำว่า ขรสฺสเรน ปณเวน อรรถกถาอธิบายว่า ด้วยใช้กลองเสียงหยาบ ที่ใช้สำหรับคนจะถูกฆ่า. บัณเฑาะว์เป็นกลองชนิดหนึ่ง
๔. เช่น ไม่เลือกว่าเป็นมารดา , ป้า , บิดา , ลุง , อา เป็นต้น -อรรถกถา
๕. คำว่า สัตถันตรกัปป์นี้ อรรถกถาอธิบายว่า อันตรกัปป์ที่พินาศในระหว่าง คือโลกยังไม่ถึงสังวัฏฏกัปป์ ก็พินาศด้วยศัสตราเสียในระหว่าง อันตรกัปป์มี ๓ อย่าง คือ ทุพภิกขันตรกัปป์ กัปป์พินาศในระหว่างเพราะอดอาหาร โรคันตรกัปป์ กัปป์พินาศในระหว่างเพราะโรค สัตถันตรกัปป์ กัปป์พินาศในระหว่างศัสตราเป็นผลแห่งกรรมชั่วของมนุษย์ คือถ้าโลภจัด ก็พินาศเพราะอดอาหาร หลงจัด ก็พินาศเพราะโรค ถ้าโทสะจัด ก็พินาศเพราะศัสตรา
๖. คำว่า มิคสัญญา แปลว่า ความสำคัญว่าเนื้อ ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ ก็ใช้ว่า มิคสัญญี แปลว่า ผู้มีความสำคัญว่าเนื้อ
๗. เรื่องนี้ได้แปลพระพุทธภาษิตไว้โดยละเอียด ในข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฏก หมายเลข ๒๒๑ , ๒๒๒, ๒๒๓ ในที่นี้จึงกล่าวโดยรวบรัด
๘. คำว่า มิใช่พวกอื่น เดิมตามฉบับยุโรป สงสัยว่าฉบับไทย จะตกคำว่า มิใช่
๙. ฝรั่งแปลว่า เดินเท้าไปประกอบการค้าต่าง ๆ จากคำว่า วิสํ ุ กมฺมนฺเต ปโยเชสํ ุ . แต่อรรถกถาแก้ว่า ประกอบการงานที่เด่น หรือชั้นสูง มีการเฝ้ารักษา และการค้า เป็นต้น โคปกวาณิชกมฺมาทิเก วิสฺสุเต อุคฺคเต กมฺมนฺเต ปโยเชสํ ุ .
๑๐. ฉบับที่ฝรั่งแปล ไม่มีคำว่า สมณะ ถ้าเป็นเช่นนั้น พระไตรปิฎกฉบับยุโรปก็ตกที่สำคัญหลายวรรค
๑๑. อรรถกถาแก้ว่า ได้แก่โพธิปักขิยะธรรมทั้งสามสิบเจ็ดนั้นแหละ แต่ถ้าจัดตามหัวข้อใหญ่ก็มี ๗ มีสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน เป็นต้น ย้อนดูพระสุตตันตะเล่ม ๒
๕. สัมปสาทนียสูร
ว่าด้วยคุณธรรมที่น่าเลื่อมใสของพระพุทธเจ้า
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามะม่วงซึ่งเศรษฐีขายผ้าเป็นผู้ถวาย ( ปาวาริกัมพวัน ). พระสารีบุตรเข้าไปเฝ้ากราบทูลว่า ท่านเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคว่า ไม่มีสมณพราหมณ์ใดในอดีต อนาคต ปัจจุบัน ยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคในทางตรัสรู้. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ท่านเปล่งวาจาอย่างอาจหาญ บรรลือสีหนาทยืนยันแน่ลงไปโดยส่วนเดียว ท่านกำหนดรู้จิตของพระผู้มีพระภาคในอดีต อนาคต ปัจจุบัน หรือว่ามีศีล มีธรรม มีปัญญา มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ และหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ ๆ . พระสารีบุตรตอบว่า เปล่า พระเจ้าข้า. จึงตรัสถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไฉนจึงเปล่งวาจาอย่างอาจหาญ บรรลือสีหนาท ยืนยันแน่ลงไปโดยส่วนเดียวอย่างนี้.
พระสารีบุตรแสดงความแน่ใจ
พระสารีบุตรกราบทูลแสดงความแน่ใจของท่านว่า เปรียบเหมือนนายประตูผู้ฉลาดเฝ้าอยู่ทางประตูเข้าออก ไม่เห็นทางอื่น เช่น ที่ต่อกำแพง หรือช่องกำแพง แม้ที่แมวจะเข้าออกได้ เขาย่อมแน่ใจว่าสัตว์ตัวใหญ่ย่อมเข้าออกพระนครนี้ ทรงประตูเท่านั้น ตัวท่านเองก็เป็นเช่นนั้น รู้นัยแห่งธรรมว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต อนาคต ปัจจุบัน ทรงละนีวรณ์ ๕ อันเป็นครื่องเศร้าหมองแห่งจิต อันทำปัญญาให้อ่อนกำลัง ทรงตั้งจิตไว้ด้วยดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริงแล้ว จึงได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑ . อันยอดเยี่ยม. ท่านได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อสดับธรรม เมื่อสดับธรรมธรรมแล้วก็รู้ยิ่งธรรมบางอย่างในธรรมนั้น ถึงความสำเร็จใน ( อริยสัจจ) ธรรม เลื่อมใสในพระศาสดาว่า พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคแสดงดีแล้ว พระสงฆ์ปฏิบัติดีแล้ว.
ข้อน่าเลื่อมใส ๑๕ ข้อ
ครั้นแล้วท่านได้แสดงธรรมะอันยอดเยี่ยมที่พระผู้มีพระภาคแสดงแก่ท่าน ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสรู้อย่างไม่มีส่วนเหลือ ไม่มีข้อที่ควรรู้ยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งจะพึงมีสมณพราหมณ์อื่นยิ่งไปกว่า เป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้:-
๑. กุศลธรรม (เเสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการตามหัวข้อใหญ่ มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น จนถึงมรรคมีองค์ ๘ ย้อนดูพระสุตตันตะ เล่ม ๒ หน้า ๒
๒. ธรรมในการปฏิบัติอายตนะ ( ทั้งภายในและภายนอก คือตากับรูป, หูกับเสียง, จมูกกับกลิ่น, ลิ้นกับรส, กายกับโผฏฐัพพะ, และใจกับธรรมะ ).
๓. ธรรมในการก้าวลงสู่ครรภ์ ( มี ๔ ชนิด มีการก้าวลงสู่ครรภ์ การตั้งอยู่ การออกจากครรภ์ โดยไม่มีความรู้สึกตัว; รู้ตัวในข้อแรก ไม่รู้ตัวในข้อ ๒ หลัง; รู้ตัวในข้า ๒ แรก ไม่รู้ตัวในข้อหลัง; รู้ตัวทั้งสามข้อ).
๔. (ที่หนังสือไม่มีหัวข้อนี้)
๕. ธรรมในทัสสนสมาบัติ ( เข้าฌานที่มีการเห็นอารมณ์ต่าง ๆ รวม ๔ อย่าง คือเห็นอาการ ๓๒ มีผม ขน เป็นต้น ; พิจารณากระแสวิญญาณของบุรุษ อันตั้งอยู่ในโลกนี้และโลกโลกอื่น ; พิจารณาวิญญานของบุรุษอันไม่ตั้งอยู่ในโลกนี้และโลกอื่น. ความพิสดารโปรดย้อนกลับไปดูอรรถกถา ( ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ). หมายเลข ๑๒๗-๑๓๒.
๖. ธรรมในการบัญญัติบุคคล ( มี ๗ อย่าง มีอุภโตภาควิมุต ผู้พ้นโดยส่วนทั้งสอง เป็นต้น จนถึง สัทธานุสารี ผู้แล่นไปตามศรัทธา ).
๗. ธรรมในกลุ่มที่เป็นประธาน ( คือโพชฌงค์องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ ๗ อย่าง มีสติ เป็นต้น ).
๘. ธรรมในข้อปฏิบัติ ( มี ๔ อย่าง มีปฏิบัติลำบากและรู้ได้ช้า เป็นต้น ).
๙. ธรรมในความประพฤติเกี่ยวกับคำพูด ( มี ๔ อย่าง คือ ไม่พูดเท็จ ; ไม่พูดส่อเสียด คือไม่ยุให้แตกร้าวกัน ; ไม่พูดแข่งดีหวังจะได้ชัยชนะ เช่น เมื่อถูกว่า ท่านเป็นคนทุศีล ก็ตอบว่า ท่านนะสิทุศีล อาจารย์ของท่านก็ทุศีล ; พูดด้วยใช้ปัญญา มีข้ออ้างอิง ถูกต้องตามกาล).
๑๐. ธรรมในวิธีการสั่งสอน ( คือรู้วิธีสั่งสอนให้เป็นพระอริยบุคคล ๔ ชั้น มีพระโสดาบัน เป็นต้น ).
๑๑. ธรรมในการรู้ความหลุดพ้นของผู้อื่น ( รู้ความหลุดพ้นของพระอริยบุคคล ๔ ).
๑๒. ธรรมในสัสสตวาทะ คือลัทธิที่เห็นว่าเที่ยง ( มี ๓ อย่าง คือเห็นว่าตนและโลกเที่ยง เพราะระลึกชาติได้ ( ย้อนไปดูที่พระสุตันตะปิฎกเล่ม ๑ หน้า ๑ ) เห็นว่าเที่ยง ( สัสสตวาทะ ) ๔ ข้อ ๑ – ๓
๑๓. ธรรมในญาณหยั่งรู้ความจุติ ( เคลื่อนหรือตาย ) และอุปบัติ ( เกิดขึ้น ) ของสัตว์ทั้งหลาย ทิพย์จักษุ เห็นสัตว์ได้ชั่วได้ดีตามกรรมของตน ).
๑๔. ธรรมในการแสดงฤทธิ์ ( ทั้งฤทธิ์ทีมีอาสวะและกิเลส . และฤทธิ์ที่ไม่มีอาสวะและกิเลส ).
๑๕. พระผู้มีพระภาคทรงบรรลุธรรมที่บุรุษผู้มีศรัทธาพึงบรรลุด้วยความเพียร ด้วยเรี่ยวแรง ด้วยความบากบั่นของบุรุษ , ไม่ทรงประกอบพระองค์ให้ชุ่มด้วยกาม , ไม่ทรงประกอบการทรมานพระองค์ให้ลำบาก , ทรงได้ฌาน ๔ อันเป็นเครื่องของจิตใจชั้นสูง อันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามพระประสงค์ โดยไม่ลำบาก.
ครั้นแล้วท่านก็ย้ำความแน่ใจของท่านว่า เมื่อไม่มีใครถาม ท่านก็ยืนยันว่า ไม่มีสมณพราหมณ์ทั้งในอดีต อนาคต ปัจจุบันจะยิ่งไปกว่าพระผู้มีพระภาคในทางตรัสรู้. แต่ถามว่า มีสมณพราหมณ์ในอดีต ในอนาคต ที่เสมอด้วยพระผู้มีพระภาคในทางตรัสรู้หรือไม่ ก็ตอบว่า มี. แต่ถ้าถามถึงปัจจุบันก็ตอบว่าไม่มี. ถ้าถูกถามอีกว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็ตอบว่า เคยได้สดับมาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต อนาคต ที่เสมอด้วยพระองค์ในทางตรัสรู้. และได้เคยสดับในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ( เช่นเดียวกัน ) ว่า มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่ในโลกธาตุเดียวกัน จะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นพร้อมกัน ๒ พระองค์. พระผู้มีพระภาคก็ตรัสรับรองภาษิตของพระสารีบุตร.
คำของพระอุทายี
พระอุทายีก็กราบทูลสรรเสริญพระผู้มีพระภาคว่า เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ทรงความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ทั้ง ๆ ที่ทรงฤทธิ์มาก มีอนุภาพมาก แต่ก็ไม่ทรงทำพระองค์ให้ปรากฏ ( โอ้อวด )
๖ ปาสาทิกสูตร
๖. สูตรว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่น่าเลื่อมใส
พระผู้มีพระภาคประทับในปราสาท ในป่ามะม่วงของเจ้าศากยะผู้เชี่ยวชาญในวิชชาธนู ( เวธญฺฌา สกฺยา ). ครั้นนั้น นิครถนาฏบุตร ( เจ้าลัทธิคนหนึ่งของศาสนานิครนถ์ หรือศาสนาเชน ) ถึงแก่กรรมที่กรุงปาวา พวกนิครนถ์เกิดแตกกันเป็นสองฝ่าย ทะเลาะกันอย่างรุนแรง. พระจุนทะ ๒ . ( น้อยชายพระสารีบุตร ) จำพรรษาใกล้กรุงปาวาจนตลอดพรรษาแล้ว ก็ไปหาพระอานนท์ ณ สามคาม ไหว้พระอานนท์แล้วเล่าความให้ฟัง พระอานนท์จึงชวนพระจุนทะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลให้ทรงทราบ .
๖ ศาสดา , หลักธรรม , สาวก
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถึงศาสดา , หลักธรรมคำสอนและสาวก แบ่งออกเป็นประเภทดังนี้:-
๑. ศาสดาไม่ดี , หลักธรรมไม่ดี , สาวกไม่ดี , ก็เป็นที่ติเตียนทั้งสามฝ่าย ใครปฏิบัติตาม ก็ประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก.
๒. ศาสดาไม่ดี , หลักธรรมไม่ดี แม้สาวกจะดี คือปฏิบัติตาม ก็เป็นที่ติเตียนทั้งสามฝ่าย ใครทำความเพียรตาม ก็ประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก.
๓. ศาสดาดี , หลักธรรมดี , สาวกไม่ดี ศาสดาและหลักธรรมย่อมได้รับสรรเสริญ แต่สาวกถูกติเตียน. ใครปฏิบัติตาม ก็ได้ประสบบุญเป็นอันมาก.
๔. ศาสดาดี , หลักธรรมดี , สาวกดี ย่อมได้รับสรรเสริญทั้งสามฝ่าย ใครทำความเพียรตาม ก็ได้ประสบบุญเป็นอันมาก.
๕. ศาสดาดี , หลักธรรมดี , สาวกไม่เข้าใจเนื้อความ ( แห่งธรรม ) แจ่มแจ้ง. เมื่อศาสดาตายแล้ว สาวกก็เดือดร้อนภายหลัง.
๖. ศาสดาดี , หลักธรรมดี , สาวกเข้าใจเนื้อความ ( แห่งธรรม ) แจ่มแจ้ง . เมื่อศาสดาตายแล้ว สาวกก็ไม่เดือดร้อนภายหลัง.
พรหมจรรย์บริบูรณ์หรือไม่
ตรัสต่อไปอีกว่า พรหมจรรย์ที่ประกอบด้วยองค์เหล่านี้แล้ว
๑. แต่ศาสดามิใช่เป็นเถระ ผู้รู้เห็นเหตุการณ์มานาน ก็ยังชื่อว่าบกพร่องในข้อนี้ ถ้าศาสดาเป็นเถระ เป็นต้น จึงชื่อว่าบริบูรณ์ในข้อนี้.
๒. ถ้าศาสดาเป็นเถระ เป็นต้น แต่ภิกษุเป็นสาวกชั้นเถระไม่ฉลาดอาจหาญ ไม่บรรลุธรรมอันเกษม ไม่สามารถจะบอกเล่าว่า สัทธรรมย่ำยีปรัปวาท ( ข้อกล่าวของผู้อื่น ) ก็ยังชื่อว่าบกพร่องในข้อนี้ ถ้าสาวกชั้นเถระเป็นผู้ฉลาดอาจหาญ เป็นต้น จึงชื่อว่าบริบูรณ์ในข้อนี้
๓ ถ้าศาสดาและสาวกชั้นเถระเข้าลักษณะที่ดี แต่ภิกษุผู้เป็นสาวกชั้นกลางยังไม่ดี ( เหมือนชั้นเถระ ) ก็ยังชื่อว่าบกพร่องในข้อนี้. โดยนัยนี้ กินความถึงภิกษุผู้เป็นสาวกที่บวชใหม่; นางภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาชั้นเถระ; ชั้นกลาง; ผู้บวชใหม่; อุบาสกผู้ประพฤติพรหมจรรย์, ผู้บริโภคกาม; อุบาสิกาผู้ประพฤติพรหมจรรย์, ผู้บริโภคกาม ๓ . ถ้ายังไม่ดีสมบูรณ์ พรหมจรรย์ก็ยังไม่สมบูรณ์. ต่อเมื่อดีสมบูรณ์ พรหมจรรย์จึงชื่อว่าสมบูรณ์
๔. ครั้นตรัสแล้วตรัสถึงพระองค์ พระธรรมคำสั่งสอน และพระสาวก ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ ว่ามีคุณลักษณะสมบูรณ์ พรหมจรรย์จึงชื่อว่าสมบูรณ์.
๕. ตรัสถึงพระองค์และพระสงฆ์ ว่าถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ ยศ แล้วตรัสถึงคำของอุทกทกดาบทรามบุตร ที่ว่าเห็นอยู่ แต่ไม่เห็น ซึ่งไขความว่า เห็นใบมีดโกนที่ลับดีแล้ว แต่ไม่เห็นคมมีดโกนดังนี้ ว่าเป็นภาษิตที่ไร้ประโยชน์. ที่ถูกควรจะหมายถึงไม่เห็นพรหมจรรย์ ที่สมบุณ์บริบูรณ์และประกาศดีแล้ว จึงจะชื่อว่ากล่าวชอบ.
ตรัสแนะนำให้จัดระเบียบหรือสังคายนาพระธรรม
ตรัสแนะพระจุนทะให้เทียบเคียงธรรมที่ทรงแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง พึงสังคยนา พึงวิจารอรรถะกับอรรถะ พยัญชนะกับพยัญชนะ เพื่อให้พรหมจรรย์ตั้งอยู่ยั่งยืน เป็นไปเพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ เพื่อประโยชน์เกื่อกูล และความสุขแก่เทวาและมนุษย์ ๔ . แล้วทรงชี้แจงว่า ธรรมทที่ทรบแสดงด้วยปัญญาอันยิ่ง มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น มีมรรคมีองค์ ๘ เป็นที่สุด ( ที่เรียกว่าโพธิปักขิยธรรม คือธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งปัญญาตรัสรู้ ๓๗ ประการ ย้อนไปดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๒ หน้า ๒ )
ตรัสแนะลักษณะสอบสวนพระธรรม
ตรัสแนะให้ศึกษาพระธรรม ( ทั้งสามสิบเจ็ดประการเหล่านั้น ย้อนไปดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๒ หน้า ๒ ) โดยพร้อมเพียง ไม่วิวาทกันแล้วตรัสแนะวิธีสอบสวนพระธรรมเมื่อพระสงฆ์พรหมจารีกล่าวธรรม.
๑. ถ้ารู้สึกว่า ถือเอา อรรถะผิด ยกยัญชนะผิด ก็ไม่พึงเห็นด้วย ( อภินันท์ ) หรือคัดค้าน พึงกล่าวกะเธอว่า พยัญชนะนี้ กับพยัญชนะอีกอันหนึ่งของอรรถะนี้ และอรรถะนี้ เเละ อรรถะนี้ กับอรรถะอีกอันหนึ่งของพยัญชนะนี้ อย่างไหนจะชอบด้วยอุบายกว่ากัน. ถ้าผู้กล่าวธรรมกล่าวว่า พยัญชนะนี้ อรรถะนี้ ชอบด้วยอุบายกว่าก็ไม่พึงยกย่องหรือคัดค้าน พึงกำหนดหมายให้ดี เพื่อพิจารณาอรรถะและพยัญชนะนั้น ๆ . ( คำว่า พยัญชนะหมายถึงตัวอักษรหรือถ้อยคำ อรรถะ หมายถึงความหมายของตัวอักษรหรือถ้อยคำ).
๒. ถ้ารู้สึกว่า ถือเอาอรรถะผิด ยกพยัญชนะถูก ก็พึงสอบถาม อรรถะของพยัญชนะฝ่ายสองฝ่าย ว่าอันไหนจะชอบด้วยอุบายกว่ากัน แล้วพิจารณา ( เหมือนข้อ ๑ ).
๓. ถ้ารู้สึกว่า ถือเอาอรรถะถูก ยกพยัญชนะผิด ก็พึงสอบถาม พยัญชนะสองฝ่ายของอรรถะนี้ ว่าอันไหนจะชอบด้วยอุบายกว่ากัน แล้วพิจารณา ( เหมือนข้อ ๑ ).
๔. ถ้ารู้สึกว่า ถือเอาอรรถะถูก ยกพยัญชนะถูก ก็พึงอนุโมทนา.
อาสวะปัจจุบันกับอนาคต
แล้วตรัสว่า มิได้ทรงแสดงธรรมเพื่อให้สำรวมอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ) ที่เป็นปัจจุบัน หรือเพื่อให้ทำลายอาสวะที่เป็นอนาคตอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่เพื่อทั้งสองอย่าง.
แล้วทรงแสดงการที่อนุญาตปัจจัย ๔ ว่า เพื่อบำบัดร้อนหนาวและเพื่อพอยังชีวิตให้เป็นไป เป็นต้น.
ตรัสแนะข้อโต้ตอบกับเจ้าลัทธิอื่น
๑. ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวหาว่า สมณะศากยบุตรประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข พึงถามว่าประกอบแบบไหน เพราะมีอยู่มากด้วยกัน คือบางคนฆ่าสัตว์ , ลักทรัพย์, พูดปด , บำเรอ ( ตน ) ด้วยกามคุณอย่างนี้ชื่อว่าประกอบตนใช้ชุ่มด้วยความสุขแบบชาวบ้าน ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน.
๒. ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวหาว่า สมณศากยบุตรประกอบตนให้ชุ้มด้วยความสุข ๔ อย่าง ( ดังกล่าวในข้อ ๑ ) ก็พึงประเสธว่า ไม่เป็นจริง . แล้วทรงแสดงการประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ที่เป็นไปเพื่อนิพพานว่าได้แก่ความสุขในฌาน ๔. ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวว่า สมณะศากยบุตรประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ๔ อย่างนี้ ก็พึงรับรองว่ากล่าวถูกต้อง.
๓. ถ้านักบวชลัทธิอื่นถามถึงผลและอานิสงส์ ( ผลดี ) ที่ผู้ประกอบให้ตนชุ่มด้วยความสุข ( ในฌาน ๔ ) จะพึงหวังได้ ก็พึงตอบว่า มี ๔ อย่าง คือ ๑. เป็นพระโสดาบัน จะได้ตรัสรู้ต่อไป เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ ๒. เป็นพระสกิทาคามีผู้จะกลับมาเกิดเพียงครั้งเดียว เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ และทำราคะ โทสะ โมหะ ให้น้อยลง ๓. เป็นพระอนาคามีผู้ไม่กลับมาเกิดอีก เพราะสิ้นสัญโญชน์เบื้องต่ำทั้งห้า. ๔ . ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นอาสวะอยู่ในปัจจุบัน ( เป็นพระอรหันต์ ) ๕ .
๔. นักบวชลัทธิอื่นกล่าวหาว่า สมณศากยบุตรมีธรรมอันไม่ตั้งมั่น พึงชี้แจงว่า ธรรมะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่สาวก มิให้ก้าวล่วงจนตลอดชีวิต มีอยู่ คือภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวะแล้วย่อมไม่ควรกล้าวล่วงฐานะ ๙ อย่างจนตลอดชีวิต คือ ๑. ไม่ฆ่าสัตว์โดยจงใจ ๒. ไม่ลักทรัพย์ ๓. ไม่เสพเมถุน ๔. ไม่พูดปดทั้งที่รู้ ๕. ไม่สะสมอาหารบริโภคเหมือนคนที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่เรือนคลัง ๖. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ ๗. ไม่ลำเอียงเพราะชัง ๘. ไม่ลำเอียงเพราะหลง ๙. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว.
๕. นักบวชลัทธิอื่นอาจกล่าวหาว่า พระสมณโคดมบัญญัติญาณทัสสนะ (ความเห็นด้วยญาณ) อันไม่มีขอบเขตปรารภระยะกาลนานไกลอันเป็นอดีต ไม่ปรารภระยะกาลนานไกลอันเป็นอนาคต เพราะเป็นผู้เขลา. ญาณหยั่งรู้ความเป็นไปในชาติก่อน ปรารภอดีตกาลนานไกลของพระตถาคต มีอยู่ ปรารถนาจะระลึกเท่าใด ก็ระลึกได้เท่านั้น ส่วนญาณที่เกิดจากปัญญาตรัสรู้ ที่ปราารภอนาคตกาลนานไกล ย่อมเกิดขึ้นแก่พระตถาคตว่า ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่มีการเกิดอีก.
ก. อดีต , อนาคต , ปัจจุบัน ที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่มีประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์.
ข. อดีต , อนาคต , ปัจจุบัน ที่จริง แท้ แต่ไม่มีประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์.
ค. อดีต , อนาคต , ปัจจุบัน ที่จริง , แท้ มีประโยชน์ ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะตอบปัญหานั้นในเรื่องนั้น.
ฆ. คถาคตเป็นผู้กล่าวให้เหมาะแก่กาล , กล่าวความจริง , กล่าวสิ่งที่เป็นจริง, กล่าวแต่สิ่งมีประโยชน์ , กล่าวเป็นธรรม , กล่าวเป็นวินัย ในธรรมที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน. ฉะนั้น จึงเรียกว่าตถาคต.
ง. ตถาคตตรัสรู้โดยชอบสิ่งซึ่งโลก พร้อมทั้งเทวดา มาร พรหม สมณพราหมณ์ ได้รู้แจ้งด้วยอายตนะ , ได้บรรลุ , ได้แสดงหา , ได้ตรองถึงแล้ว. ฉะนั้น จึงเรียกว่าตถาคต.
จ. ตถาคตตรัสแสดงถึงสิ่งใดในระหว่างที่ตรัสรู้ จนถึงปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ สิ่งนั้นย่อมเป็นอย่างนั้นทั้งหมด ไม่เป็นอย่างอื่น . ฉะนั้น จึงเรียกว่าตถาคต.
ฉ. ตถาคตพูดได้อย่างใด ทำได้อย่างนั้น ทำได้อย่างใด พูดได้อย่างนั้น. ฉะนั้น จึงเรียกว่าตถาคต.
ช. คถาคตเป็นใหญ่ , ไม่มีใครครอบงำได้ , รู้เห็นตามเป็นจริง , เป็นผู้มีอำนาจ ( โดยคุณธรรม ). ฉะนั้นจึงเรียกตถาคต ๖ .
๗. ถ้านักบวชลัทธิอื่นถามว่า สัตว์ตายแล้วเกิด หรือไม่เกิด หรือว่าเกิดทั้งไม่เกิด หรือว่าเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่. พึงตอบว่า ข้อนั้นพระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ๗ .
๗. ถ้านักบวชลัทธิอื่นถามว่า เหตุไฉนพระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ข้อนั้น ( ที่กล่าวให้ข้อ ๖ ) พึงตอบว่า เพราะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน. ถ้าถามว่าอะไรเล่าที่ทรงพยากรณ์ พึงตอบว่า ทุกข์, เหตุให้ทุกข์เกิด , ความดับทุกข์ , และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ( อริยสัจจ์ ๔). ถ้าถามว่า เหตุไฉนาพระผู้มีพระภาคจึงพยากรณ์เรื่อง ( อริยสัจจ์ ๔ ) นั้น. พึงตอบว่า เพราะประกอบด้วยประโยชน์ ประกอบด้วยธรรม เป็นไปเพื่อนิพพาน.
ไม่ทรงอนุมัติทิฏฐิต่าง ๆ เพราะเหตุไร
ทรงแสดงว่าเรื่องที่ควรพยากรณ์ ก็ทรงพยากรณ์ ไม่ควรพยากรณ์ จะทรงพยากรณ์ทำไม ทรงแสดงทั้งทิฏฐิที่ปรารภที่สุดเบื้องต้น ทั้งทิฏฐิที่ปรารภที่สุดเบื้องปลาย ( ดูพรหมชาลสูตร หน้า ๒๙๑ - ๒๙๓ ซึ่งในพระสูตรนี้นำมากล่าวเพียงบางส่วน ) แล้วตรัสว่า ไม่ทรงอนุมัติตามคำกล่าวของสมณพราหมณ์เหล่านั้น เพราะที่ยืนยันลงไปอย่างนั้น ยังมีสัตว์ประเภทอื่นอีก ที่เป็นอย่างอื่น.
แล้วทรงแสดงสติปัฐาน ( การตั้งสติ ) ๘ ๔ อย่างว่า เพื่อละ เพื่อก้าวล่วงทิฏฐิทั้งสองประเภทนั้น.
พระอุปทานะยืนถวายอยู่งานพัด ณ เบื้องพระปฤษฏางค์พระพุทธเจ้า กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาว่า น่าอัศจรรย์ น่าเลื่อมใส ( ปาสาทิกะ ) พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้เรียกชื่อธรรมปริยายนี้ว่า “ ปาสาทิกะ ”
________________________________________
๑. ในตอนนี้มีคำที่ชี้ความหมาย ๔ คือ ๑. นีวรณ์ กิเลสอันกั้นจิตมิให้บรรลุคุณความดี ๒. สติปัฏฐานการตั้งสติ ๓ . โพชฌงค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ และ ๔. อนุตตรสัมมาสัมโพธิฐาณ ญาณคือการตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม
๒. ในสำนวนบาลี เรียกจุนทะ สมณุทเทส ( สามเณรจุนทะ)เป็นคำเรียกติดปากมาจากสมัยที่ท่านเป็นสามเณร)
๓ . มีข้อน่าสังเกตในที่นี้ คือคำว่า อุบาสก อุบาสิกา หรือสาวกฝ่ายคฤหัสถ์นั้น มีทั้งสองประเภท คือประเภทถือพรหมจรรย์ และประเภทครองเรือนธรรมดา
๔. นี้เป็นที่มาสำคัญ ที่แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงแนะให้สังคายนาให้วิจารพระธรรมที่ทรงแสดงแล้ว ดั่งที่อ้างไว้ที่ ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก )
๕. พระโสดาบันละกิเลสที่เรียกว่า สัญโญชน์ ( เครื่องร้อยรัดหรือเครื่องผูก ) ๓ อย่างคือ ๑ . สักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ๓. สีลัพพตปรามาส ความเชื่อถือโชคลางหรือพิธีกรรม. พระอนาคามีละเพิ่มได้อีก ๒ คือ ๔. กามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม ๕. ปฏิฆะ ความขัดใจ. พระอรหันต์ละสังโญชน์ได้ทั้งสิบ คือ ๕ ข้อแรกที่กล่าวมาแล้ว และ ๖. รูปราคะ ความติดใจในรูป หมายถึงติดรูปฌาน ๗. อรูปราคะ ความติดใจในรูปสิ่งที่มิใช่รูป หมายถึงติดอรูปฌาน ๘. มานะ ความถือตัว ๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งสร้าน ๑๐. อวิชชา ความไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง ๕ ข้อแรกเรียกสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ข้อหลังเรียกสัญโญชน์เบื้องสูง
๖. ควรดูหน้า ซึ่งนำข้อความพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ มาแปลด้วย
๗. ย้อนดูที่พระสุตตันตะปิฎกเล่ม ๑ หน้า ๔ หมายเลข ๖ ด้วย
๘. ย้อนดูที่พระสุตตันตะปิฎกเล่ม ๒ หน้า ๔ ด้วย
๗. ลักขณสูตร
สูตรว่าด้วยมหาปุริสลักขณ ๓๒ ประการ
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนารามของอนาถบิณฑิกคฤหบดี ใกล้กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นตรัสแสดงมหาปุริสลักขณะ ๓๒ ประการ ที่ทำให้มหาบุรษมีคติ ๒ คือถ้าอยู่ครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ถ้าออกบวช จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
มหาปุริสลักขณะ ๓๒ ประการ มีพระบาทตั้งลงด้วยดี ( มีพื้นพระบาทเสมอ ไม่แหว่งเว้า ) เป็นข้อต้น มีพระเศียรประดับด้วยอุณหิส ( กรอบพระพักตร์ ) เป็นข้อสุดท้าย แล้วทรงแสดงลักษณะแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเพราะกระทำกรรมดีต่าง ๆ ไว้.
เช่นข้อแรก เพราะเคยสมาทานมั่นในกุศลธรรม สมาทานมั่นในกุศลธรรมอันยิ่งข้อใดข้อหนึ่ง เช่น กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ในการจำแนกทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถ เกื้อกูลมารดา บิดา สมณพราหมณ์ และอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล.
ข้อสุดท้าย เพราะเคยเป็นหัวหน้าในการบำเพ็ญกุศลธรรม มีกายสุจริต เป็นต้น.
(หมายเหตุ : การเเสดงเหตุผลที่ได้มหาปุริสลักษณะแต่ละข้อ ในพระสูตรนี้มิได้เป็นตามลำดับข้อและในที่นี้ได้นำมากล่าวอย่างย่นย่อที่สุด เพื่อสามารถย่อพระไตรปิฎกเล่มอื่น ๆ ได้อีก มิฉะนั้นจะต้องขยายอีกหลายเล่ม แต่ข้อเสนอว่า ถ้าท่านผู้ใดสนใจจะอ่านเรื่องนี้ละเอียด อาจหาอ่านหนังสือปฐมสมโพธิกถาฉบับที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงชำระ ซึ่งพิมพ์แพร่หลายพอสมควร ๑ . อ่านได้จุดสำคัญของพระสูตรนี้ แสดงว่าการได้ดีไม่ใช่เกิดขึ้นลอย ๆ ต้องประกอบเหตุจึงได้รับผล).
๘. สิงคลากสูตร
สูตรว่าด้วยสิงคาลกมาณพ
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวัน ( ป่าไผ่ ) ใกล้กรุงราชคฤห์. เช้าวันหนึ่งเสด็จกรุงราชคฤห์เพื่อบิฑบาต ได้ทอดพระเนตรเห็นสิงคลกมาณพมีผ้าเปียก มีผมเปียก ไหว้ทิศทั้งหกอยู่ ตรัสถาม ทราบว่าเป็นการทำตามคำสั่งของบิดา จึงตรัสว่า ในอริยวินัยไม่พึงไหว้ทิศแบบนี้. เมื่อมาณพกราบทูลถามว่า พึงไหว้อย่างไร จึงตรัสแสดงธรรมเป็นลำดับว่า เพราะเหตุที่อริยสาวก ( สาวกของพระอริยะ ) ละกรรมกิเลส ๔ ได้ ; ไม่ทำกรรมชั่วโดยฐานะ ๔ ; ไม่เสพปากทางแห่งความเสื่อมทรัพย์ (โภคานํ อปายมุขานิ ) ๖ ประการ ; เขาปราศจากความชั่ว ๑๔ ดังกล่าวได้แล้ว เป็นผู้ปกปิดทิศ ๖ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อชัยชนะในโลกทั้งสอง คือโลกนี้และโลกหน้า, เมื่อตายไปก็จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.
กรรมกิเลส ๔
กรรมกิเลส คือการกระทำที่เศร้าหมอง มี ๔ อย่างที่อริยสาวกละได้ คือ ๑. ฆ่าสัตว์ ๒. ลักทรัพย์ ๓. ประพฤติผิดในกาม ๔. พูดปด.
ไม่ทำความชั่วโดยฐานะ ๔
อริยสาวกไม่ทำกรรมชั่วโดยฐานะ ๔ คือความลำเอียง เพราะรัก , เพราะชัง , เพราะหลง , เพราะกลัว ทำกรรมชั่ว.
อบายมุข ๖
อริยะสาวกไม่เสพปากทางแห่งความเสื่อมทรัพย์ ๖ อย่าง คือ ๑. เป็นนักเลงสุรา ๒. เที่ยวกลางคืน ๓. เที่ยวการเล่น ๔. เล่นการพนัน ๕. คบคนชั่วเป็นมิตร ๖. เกียจคร้าน . ครั้นแล้วทรงแสดงโทษของอบายมุขแต่ละข้อ ข้อละ ๖ อย่าง.
มิตรเทียม ๔ ประเภท
ทรงแสดงมิตรเทียม ( มิตตปฏิรูปกะ) ๔ ประเภท คือ ๑. มิตรปอกลอก ๒. มิตรดีแต่พูด ๓. มิตรหัวประจบ ๔. มิตรชวนในทางเสียหาย พร้อมทั้งแสดงลักษณะของมิตรเทียมทั้งสี่ประเภทนั้น ประเภทละ ๔ ประการ.
มิตรแท้ ๔ ประเภท
ทรงแสดงมิตรแท้ ๔ ประเภท คือ ๑. มิตรมีอุปการะ ๒. มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข ๓. มิตรแนะประโยชน์ ๔. มิตรอนุเคราะห์ ( อนุกัมปกะ ) ๒ . พร้อมทั้งแสดงลักษณะของมิตรแท้ทั้งสี่ประเภทนั้น ประเภทละ ๔ ประการ.
ทิศ ๖ คือบุคคล ๖ ประเภท
อริยสาวกเป็นผู้ปกปิด ( ปฏิบัติชอบ ) ทิศทั้งหก คือ ควรทราบว่า ๑. ทิศเบื้องหน้า ได้แก่มารดาบิดา ๒. ทิศเบื้องขวา ได้แก่อาจารย์ ๓. ทิศเบื้องหลัง ได้แก่บุตรภรรยา ๔. ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่มิตรอำมาตย์ ( คำว่า อำมาตย์ เป็นสำนวนบาลี หมายถึงมิตรอย่างเดียว ) ๕. ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ทาส กรรมกร ๖. ทิศเบื้องบน ได้แก่สมณพราหมณ์ ( คำว่า พราหมณ์ ก็เหมือนกัน เป็นสำนวนแฝดกับคำว่า สมณะ คงหมายเฉพาะสมณะ).
ครั้นแล้วแสดงการปฏิบัติต่อบุคคลทั้งหกประเภท ที่เปรียบเหมือนทิศ ๖ เหล่านี้ ฝ่ายละ ๕ ประการ เป็นการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันทุกฝ่าย เช่น มารดาบิดากับบุตรธิดา; อาจารย์กับศิษย์; สามีกับภรรยา; มิตรกับมิตร; นายจ้างกับลูกจ้าง; สมณะกับประชาชน.
สิงคลมาณะก็เลื่อมใสพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต.
(หมายเหตุ: พระสูตรนี้ชาวยุโรปเลื่อมใสกันมากว่าจะแก้ปัญหาสังคมได้ เพราะเสนอหลักทิศ ๖ อันแสดงว่าบุคคลทุกประเภทในสังคมควรปฏิบัติต่อกันในทางที่ดีงาม ไม่มีการกดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลงไป. อนึ่ง ในที่นี้ไม่ได้แปลรายละเอียดทั้งหมด เพื่อรวบรัด ผู้ต้องการทราบรายละเอียดโปรดอ่านหนังสือนวโกวาท ซึ่งพิมพ์แพร่หลายแล้วนับจำนวนล้านฉบับ).
๙. อาฏานาฏิยสุรา
สูตรว่าด้วยการรักษาในอาฏานาฏานคร
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ ในราตรีหนึ่งท้าวมหาราชทั้งสี่ ๓ . พร้อมด้วยเสนารักษ์ คนธรรพ์ รุกขเทวดา ) , กุมภัณฑ์และนาค มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค.
เมื่อท้าวมหาราชทั้งสี่ถวายบังคมแล้ว ท้าวเวสสวัณ ( มีนามอย่างหนึ่งว่าท้าวกุเวร ) กราบทูลว่า มียักษ์ชั้นผู้ใหญ่ชั้นกลางชั้นต่ำ ที่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคก็มี ไม่เลื่อมใสก็มี แต่ที่ไม่เลื่อมใสมีมาก เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เพื่อเว้นจากฆ่าสัตว์ , ลักทรัพย์ , ประพฤติผิดในกาม , พูดปด, ดิ่มสุราเมรัย. พวกยักษ์เหล่านั้นไม่เว้นจากสิ่งเหล่านี้โดยมากจึงไม่ชอบ. มีสาวกของพระสาวกของพระผู้มีพระภาคเสพเสนาสนะอันสงัดในป่า ซึ่งพวกยักษ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่เลื่อมใสในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคอาศัยอยู่ เพื่อคุ้มครองรักษารักษาเพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงเรียนการรักษา ชื่ออาฏานาฏิยา เพื่อทำยักษ์เหล่านั้นให้เลื่อมใส . พระผู้มีพรพภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ. ท้าวเวสสวัณจึงกล่าวการรักษา ๔ . ชื่ออาฏานาฏิยา.
ใจความแห่ง “ รักขา ” นั้น เป็นถ้อยคำนมัสการพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ มีพระวิปัสสี เป็นต้น พระโคดมพุทธเจ้าพุทธเจ้าเป็นองค์ที่สุด พร้อมทั้งพรรณนาถึงคุณลักษณะของพระองค์. มีการกล่าวพรรณนาถึงท้าวมหาราชทั้งสี่องค์ ประจำทิศต่าง ๆ พร้อมด้วยบุตร ซึ่งเคารพ นมัสการพระพุทธเจ้า. เมื่อภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เรียน “ รักขา ” นี้ ท่องบ่นดีแล้ว อมนุษย์ใด ๆ จะเป็นยักษ์ คนธรรมพ์ กุมภันฑ์ นาค ตลอกจนพวกพ้อง ถ้ามีจิตประทุษร้าย เข้าไปใกล้ ผู้เรียน “ รักขา” นี้ จะเข้าพวกไม่ได้ จะชื่อว่าประพฤติผิดเหมือนโจร จะถูกลงโทษ . พวกยักษ์ มหายักษ์ เสนาบดี มหาเสนาบดีจะคอยชี้ความผิดของอมนุษย์เหล่านั้น.
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟัง และทรงพระอนุญาตให้เรียน “ รักขา ” นี้ได้.
(หมายเหตุ: พระสูตรนี้?เมื่อพิจารณาอย่างกว้าง ๆ ย่อมแสดงถึงความแข้มแข็งของพระพุทธศาสนาเป็นการเสนอหลักการให้ถอนความกลัวต่อภูตผีปีศาจ ซึ่งคนสมัยนั้นยังเชื่อกันอยู่ทั่วไป เพราะเมื่อนายของพวกยักษ์ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ และนาคเองยังมาอ่อนน้อมกราบไหว้คุณความดีของพระพุทธเจ้า พวกบริวารก็แกะกะไม่ถนัดนัก เป็นการนำความดีชั้นสูงมาช่วยให้ผู้หวาดกลัวมีความอุ่นใจในคุณความดีที่เหนือกว่า เท่ากับเอาชนะความชั่วด้วยความดี).
๑๐. สังคีติสูตร
สูตรว่าด้วยการร้อยกรองหรือสังคายนาคำสอน
พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จจาริกในแคว้นมัลละ ทรงแวะ ณ นครปาวา ประทับอยู่ในป่ามะม่วงของนายจุนทะบุตรช่างทอง.
ครั้งนั้น มัลลกษัตริย์สร้างสัณฐาคาร ๕ . ขึ้นใหม่ ยังไม่มีใครใช้ เมื่อทราบว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จมาจึงนิมนต์ให้ทรงใช้ก่อน มัลลกษัตริย์จะใช้ภายหลัง พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว เสด็จไปพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์. พระองค์เองประทับนั่งพิงเสากลาง ภิกษุสงฆ์นั่งพิงฝาด้านตะวันออก มัลลกษัตริย์นั่งพิงฝาด้านตะวันตก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจนดึก จึงตรัสให้มัลลกษัตริย์กลับได้. ครั้นเห็นภิกษุสงฆ์ยังไม่ง่วง จึงตรัสสั่งพระสารีบุตรให้แสดงธรรมแทน. พระองค์เองทรงปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น ทรงพักผ่อนสำเร็จสีหไสยา ( บรรทมแบบราชสีห์ คือตะแคงขวา ).
พระสารีบุตรปรารภความที่นครถนาฏบุตรถึงแก่กรรม สาวกแตกกันเป็นสองฝ่าย โต้เถียงกันด้วยเรื่องธรรมวินัย จึงสอนแนะให้ภิกษุทั้งหลายสังคายนาพระธรรมไม่วิวาทกัน เพื่อให้พรหมจรรย์ตั้งอยู่ยั่งยืน. ครั้นแล้วท่านได้แสดงตัวอย่างการสังคายนาธรรมเป็นหมวด ๆ ( ซึ่งจะนำมากล่าวในที่นี้พอเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้:-
หมวด ๑. ธรรมอย่างหนึ่ง คือสัตว์เป็นอยู่ได้ด้วยอาหาร.
หมวด ๒. ธรรม ๒ อย่าง คือ ๑. นาม ๒. รูป; ๑. อวิชชา ( ความหลงไม่รู้จริง) ๒. ภวตัณหา ( ความทะยานอยากมีอยากเป็น ) ; ๑. ภวทิฏฐิ ( ความเห็นที่ติดในความมีความเป็น ) ๒. วิภวทิฏฐิ ( ความเห็นที่ติดในความไม่มีไม่เป็น ) ฯลฯ.
หมวด ๓. รากเหง้าแห่งอกุศล ๓ อย่าง คือ ๑ . โลภะ (อยากได้ ) ๒. โทสะ ( คิดประทุษร้าย ) ๓ . โมหะ ( หลง ). รากเหง้าแห่งกุศล ๓ อย่างคือ ๑ . ไม่โลภ ๒. ไม่คิดประทุษร้าย ๓ ไม่หลง ฯลฯ.
หมวด ๔. การตังสติ (สติปัฏฐาน ดูมหาสติปัฏฐานสูตร ) พระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๔ ๔; ความเพียรชอบ (สัมมัปปธาน ) ๔ คือ ๑ . เพียงระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น ๒ . เพียงละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ๓. เพียรทำกุศลให้เกิด ๔ . เพียงทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญยิ่งขึ้น ) ฯลฯ.
หมวด ๕. ขันธ์ ๕ คือ ๑. รูปขันธ์ ( กองรูป ) ๒. เวทนาขันธ์ (กองเวทนา ความรู้สึกอารมณ์ ) ๓. สัญญาขันธ์ กองสัญญา ความจำได้หมายรู้) ๔. สังขารขันธ์ ( กองสังขาร หรือความคิด หรือเจตนาที่ดีชั่ว ) ๕. วิญญาณขันธ์ ( กองวิญญาณ คือความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา หู เป็นต้น ) ฯลฯ.
หมวด ๖. อายตนะภายใน ๖ คือ ๑. ตา , ๒. หู, ๓. จมูก, ๔. ลิ่น, ๕. กาย, ๖. ใจ ฯลฯ.
หมวด ๗. อริยทรัพย์ (ทรัพย์อันประเสริฐ ) ๗ คือ ๑. ศรัทธา (เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ) ๒. ศีล ( รักษากายวาจาให้เรียบร้อย ) ๓. หิริ (ละอายต่อบาป ) ๔. โอตปปะ ( เกรงกลัวต่อบาป ) ๕. สุตะ ( ศึกษาหรือสดับตรับฟัง ) ๖. จาคะ ( เสียสละ ) ๗. ปัญญา ( รอบรู้สิ่งที่ควรรู้ ) ฯลฯ.
หมวด ๘. ความผิด ๘ คือ ๑. มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด ) ๒. มิจฉาสังกัปปะ ( ความดำริผิด ) ๓. มิจฉาวาจา ( วาจาผิด ) ๔. มิจฉากัมมันตะ ( การกระทำผิด ) ๕. มิจฉาอาชีวะ ( เลี้ยงชีพผิด ) ๖. มิจฉาวายามะ ( เพียรพยายามผิด) ๗. มิจฉาสติ ( ระลึกผิด ) ๘. มิจฉามสมาธิ ( ตั้งใจมั่นผิด ) ฯลฯ.
หมวด ๙. ที่ตั้งแห่งความอาฆาต ๙ คือ ๑. เขาได้ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ( เสียหาย) ต่อเรา ๒. เขากำลังประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเรา ๓. เขาจักประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเรา ๔. เขาได้ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อคนที่รักที่ชอบใจของเรา ๕. เขากำลังทำอย่างนั้น ๖. เขาจักทำอย่างนั้น ๗. เขาได้ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนที่เราไม่รักไม่ชอบใจ ๘. เขากำลังทำอย่างนั้น ๙. เขาจักทำอย่างนั้น ฯลฯ.
หมวด ๑๐. ธรรมะที่ทำที่พึ่ง ( นาถกรณธรรม ) ๑๐ คือ ๑. มีศีล สำรวมปาฏิโมกข์ ( ศีลที่เป็นประธาน ) ๒. สดับตรับฟังมาก ทรงจำได้ดี ๓. คบเพื่อนที่ดี ๔. ว่าง่าย ๕. ขยันช่วยทำกิจธุระของเพื่อน ๖. ใคร่ในธรรม ๗. สันโดษ ( ยินดีตามมีตามได้ ) ๘. ลงมือทำความเพียร ๙. มีสติ ๑๐. มีปัญญา ฯลฯ.
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นจากบรรทม ก็ตรัสชมเชยว่า พระสารีบุตรได้กล่าวสังคีติปริยาย ( บรรยายเรื่องสังคายนา ) แก่ภิกษุทั้งหลายเป็นอย่างดี .
๑๑. ทสุตตรสูตร
สูตรว่าด้วยหมวดธรรมอันยิ่งขึ้นไปจนถึงสิบ
พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประทับ ณ ฝั่งสระน้ำชื่อคัคครา ใกล้กรุงจัมปา ( ราชธานีแห่งแคว้นอังคะ ).
พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ( ทำนองเดียวกับสังคีติสูตร ส่วนด้วนบน ซึ่งในที่นี้จะนำมากล่าวตั้งแต่หมวด ๑ ถึงหมวด ๑๐ พอเป็นตัวอย่าง ) ดังต่อไปนี้:-
หมวด ๑. ธรรมอย่างหนึ่ง มีอุปการะมาก คือความไม่ประมาทในกุศลธรรม ฯลฯ.
หมวด ๒. ธรรม ๒ อย่าง มีอุปการะมาก คือ ๑. สติ ความระลึกได้ ๒. สัมปชัญญะ ความรู้ตัว ฯลฯ.
หมวด ๓. ธรรม ๓ อย่าง มีอุปการะมาก คือ ๑. คบสัตบุรุษ ( คนดี ) ๒. ฟังธรรม (ของท่าน ) ๓. ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ฯลฯ.
หมวด ๔. ธรรม ๔ อย่าง มีอุปการะมาก คือจักร ๔ อันได้แก่ ๑. อยู่ในประเทศหรือที่อยู่อันสมควร ๒. คบ ( หรือเข้าใกล้ ) สัตบุรุษ ๓. ตั้งตนไว้ชอบ ๔. ความเป็นผู้มีบุญอันได้ทำไว้ในกาลก่อน ฯลฯ.
หมวด ๕. ธรรม ๕ อย่าง มีอุปการะมาก คือองค์ ๕ ที่ควรตั้งไว้เป็นประธาน อันได้แก่ ๑. มีศรัทธาเชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ๒. มีโรคน้อย ๓. ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ๔. ลงมือทำความเพียร ๕. มีปัญญาเห็นความเกิดความดับ ฯลฯ.
หมวด ๖. ธรรม ๖ อย่าง มีอุปการะมาก คือสาราณิยธรรม ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำกันแลกันให้ระลึกถึง อันได้แก่ ๑. ตั้งกายกรรมอันประกอบด้วยเมตตา ๒. ตั้งวจีกรรมอันประกอบด้วยเมตตา ๓. ตั้งมโนกรรมอันประกอบด้วยเมตตา ๔. แบ่งบันลาภ ๕. มีศีลอันดีเสมอกัน ๖. มีทิฏฐิ ( ความเห็น ) อันดีเสมอกัน ฯลฯ.
หมวด ๗. ธรรม ๗ อย่าง มีอุปการะมาก คืออริยทรัพย์ ๗ อย่าง ( กล่าวไว้แล้วในสังคีติสูตร ส่วนด้านบน ) ; ธรรม ๗ อย่าง ควรเจริญ คือโพชฌงค์ ( องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ ) ๗ อันได้แก่ ๑. สติ ๒. ธัมมวิจยะ เลือกเฟ้นธรรม ๓. วิริยะ ความเพียร ๔. ปีติ ความอิ่มใจ ๕. ปัสสัทธิ ความสงบความอิ่มใจ ๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น ๗. อุเบกขา ความวางเฉยอย่างมีสติกำกับ.
หมวด ๘. ธรรม ๘ อย่าง มีอุปการะมาก คือเหตุ ๘ ปัจจัย ๘ อันเป็นไปเพื่อได้ปัญญาซึ่งเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ , ทำปัญญาที่ได้แล้วให้เจริญบริบูรณ์ยิ่งขึ้น อันได้แก่ ๑. ตั้งความละอายใจ ความเกรงกลัว ความรัก ความเคารพในศาสดา เเละเพื่อนพรหมจารี ๒. เข้าไปหาไต่ถามเป็นครั้งคราว ๓ ฟังธรรมแล้ว ก็ทำความสงบกาย สงบใจ ๖ . ให้ถึงพร้อมทั้งสองอย่าง ๔. สำรวมในปาฏิโมกข์ ( ศีลที่เป็นประธาน ) สมบูรณ์ด้วยอาจาระ ( มารยาท ) และโคจร ( รู้จักที่ควรไปไม่ควรไป ) ๕. สดับตรับฟังมาก ๖. ลงมือทำความเพียร ๗. มีสติ ๘. เห็นความเกิดความดับในขันธ์ ๕ ฯลฯ.
หมวด ๙. ธรรม ๙ อย่าง มีอุปการะมาก คือองค์แห่งความบริสุทธื์ที่ควรตั้งไว้เป็นประธาน ( ปาริสุทธิปาธานิยังคะ ) อันได้แก่ ๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล ๒. จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต ๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความเห็น ๔. กังขาวิตณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเหตุข้ามความสงสัยเสียได้ ๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งการเห็นด้วยญาณซึ่งทางและมิใช่ทาง ๖. ปฏิปทายาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งการเห็นด้วยญาณซึ่งข้อปฏิบัติ ๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งการเห็นด้วยญาณ ๘. ปัญญาวิสุทธิ ความหมดจดแห่งปัญญา ๙. วิมุตติวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความหลดพ้น ฯลฯ.
หมวด ๑๐. ธรรม ๑๐ อย่าง มีอุปการะมาก คือธรรมะที่เป็นที่พึ่ง (นาถกรณธรรม ) ๑๐ ( ซึ่งกล่าวไว้ในสังคีติสูตร ส่วนด้านบน ) ฯลฯ.
เมื่อแสดงธรรมจบ ภิกษุทั้งหลายก็ชื่นชมภาษิตของพระสารีบุตร.
(หมายเหตุ : ข้อธรรมในทสุตตรสูตรนี้ ตั้งแต่หมวด ๑ ถึง ๑๐ ยืนตัวอยู่ ๑๐ หัวข้อ คือ ๑. ธรรมมีอุปการะมาก ๒. ธรรมที่ควรเจริญ ๓. ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ๔. ธรรมที่ควรละ ๕. ธรรมที่มีส่วนแห่งความเสื่อม ๖. ธรรมที่มีส่วนแห่งความเจริญ ๗. ธรรมที่เข้าใจได้ยาก ๘. ธรรมที่ควรทำให้เกิดขึ้น ๙. ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ๑๐. ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง แล้วแจกรายละเอียดออกไปตามหมวดว่า หมวด ๑ ได้แก่อะไร หมวด ๒ ได้แก่อะไร จนถึงหมวด ๑๐ ได้แก่อะไร ในที่นี้แสดงพอเป็นตัวอย่าง ).
จบความย่อแห่งพระไตรปิฎก เล่ม ๑๑
________________________________________
๑. พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ จำนวน ๒,๐๐๐ ฉบับ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
๒. ในนวโกวาทใช้ว่า มิตรมีความรักใคร่ คือ ทุกข์ ๆ ด้วย สุข ๆ ด้วย โต้เถียงคนที่ติเตียนเพื่อน รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน ส่วนมิตรมีอุปการะประเภทแรก คือป้องกันเพื่อนผู้ประมาท ป้องกันทรัพย์ของเพื่อนผู้ประมาท เมื่อมีภัยเอาเป็นที่พึ่งได้ เมื่อมีธุระออกทรัพย์ช่วยเหลือเกินกว่าที่ออกปาก. ในที่นี้ได้เทียบให้ดูมิตรมีอุปการะ กับมิตรอนุเคราะห์ ซึ่งมีชื่อคล้ายกันว่ามีลักษณะต่างกันอย่างไร
๓. ท้าวมหาราชทั้งสี่ คือ ท้าวธตรฐ มีคนธรรพ์เป็นบริวารครองทิศบูรพา ; ท้าววิรุฬหก มีกุมภัณฑ์เป็นบริวาร ครองทิศทักษิณ; ท้าววิรูปักข์ มีนาคเป็นบริวาร ครองทิศประจิม ; ท้าวกุเวรหรือเวสสุวัณ มียักษ์เป็นบริวาร ครองทิศอุดร
๔. คำว่า “ รักขา” มีลักษณะเดียวกับ “ปริตร” คือสวดสำหรับคุ้มครองป้องกันภัย
๕. โรงโถงหรือหอประชุม
๖. กายวูปกาเสน จิตฺตวูปกาเสน เป็นคำนาม เมื่อเทียบกับคุณศัพท์ วูปกฏฺฐ
เล่มที่ ๑๒ ชื่อมัชนิกาย มูลปัณณาสก์
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๔
หน้า ๑
เล่มที่ ๑๒ ชื่อมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (เป็นสุตตันตปิฎก)
พระสุตตันตปิฎก ตั้งแต่เล่ม ๙ ถึงเล่ม ๑๑ ที่ย่อมาแล้ว รวม ๓ เล่ม เป็นทีฆนิกาย คือหมวดหรือพวกแห่งพระสูตรขนาดยาว บัดนี้มาถึงหมวดถัดมา คือมัชฌิมนิกาย คือหมวด หรือพวกเเห่งพระสูตรขนาดกลาง ไม่ยาวหรือสั้นเกินไป ถ้าพิจารณาดูตัวเลข หรือจำนวนพระสูตรในทีฆนิกายกับมัชฌิมนิกายเทียบเคียงกันดูแล้ว ก็พอจะเห็นได้ดังนี้ ทีฆนิกาย เล่ม ๙ มี ๑๓ สูตร , เล่ม ๑๐ มี ๑๐ สูตร , เล่ม ๑๑ มี ๑๑ สูตร รวม ๓ เล่ม มี ๓๔ สูตร. ส่วนมัชฌิมนิกาย มี? ?? ๓ เล่มเช่นกัน คือเล่ม ๑๒ มี ๕๐ สูตร, เล่ม ๑๓ มี ๕๐ สูตร , เล่ม ๑๔ มี ๕๒ สูตร รวม ๓ เล่ม มี ๑๕๒ สูตร. เมื่อเทียบดูความต่างจากจำนวนสูตรแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ทีฆนิกายมีสูตรยาวกว่าสูตรมัชฌิมนิกายประมาณ ๕ เท่า.
ทีข้อที่ควรสังเกต คือพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ เล่มนั้น มีชื่อเรียกกำหนดด้วยคำว่า ปัณณาสก์ หรือปัณณาสกะ ( หมวด ๕๐ ) เป็นหลัก เพราะมีเล่มละประมาณ ๕๐ สูตร เกินไปบ้างเล็กน้อย เพียง ๒ สูตร เฉพาะเล่มสุดท้าย. เล่ม ๑๒ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (หมวด ๕๐ ที่เป็นรากหรือโคน เทียบด้วยรากหรือโคนต้นไม้ ) เล่ม ๑๓ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ( หมวด ๕๐ ที่เป็นท่อนกลาง ) เล่ม ๑๔ มัชฌิมมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ( หมวด ๕๐ ที่เป็นยอดหรือเป็นปลาย )
อนึ่ง พึงทราบไว้ด้วยว่า เพื่อสะดวกแก่การท่องจำหรือกำหนดหมาย ในปัณณาสก์หนึ่ง ๆ หรือเล่มเล่มหนึ่ง ๆ ซึ่งมี ๕๐ สูตรนั้น ท่านแบ่งออกเป็น ๕ วรรค วรรคละ ๑๐ สูตร ( คงมีวรรคละ ๑๒ สูตร อยู่วรรคเดียวในเล่ม ๑๔ หรือเล่มสุดท้ายแห่งมัชฌิมนิกาย ).
ในทีฆนิกายเคยย่อให้ก่อนว่า แต่ละเล่มมีสูตรชื่ออะไร ใจความว่าอย่างไรบ้าง ย่อ ๆ แล้วจึงขยายความภายหลัง แต่ในมัชฌิมนิกาย ซึ่งมีพระสูตรเพิ่มขึ้น ๕ เท่าตัว เราต้องเจียดหน้ากระดาษไว้ย่อเล่มต่อไปอีกหลายเล่ม จึงของด ไม่นำชื่อพระสูตรย่อ ๆ มากล่าวไว้ จะย่อมเป็นลำดับไปทีเดียว ท่านผู้ประสงค์จะทราบว่าในเล่ม ๑๒ , ๑๓ และ ๑๔ มีสูตรอะไรบ้าง ก็อาจเปิดสารบัญดูได้ ทั้งนี้เพราะต้องการให้สามารถย่อพระไตรปิฎกฉบับบาลีให้หมดทั้งสี่สิบห้าเล่มลงใน ๑ เล่มภาษาไทยนี้ให้ได้.
เล่มที่ ๑๒ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
มี ๕๐ สูตร
สูตรที่ ๑ ถึงที่ ๑๐ เรียกมูลปริยายวรรค คือวรรคที่นำด้วยมูลปริยายสูตร
สูตรว่าด้วยเรื่องราวอันเป็นมูลแห่งธรรมทั้งปวง
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โคนไม้สาละใหญ่ ในป่าชื่อสุภคะ ( ป่าโชคดี ) ใกล้เมืองอุกกัฏฐา ณ ที่นั้นได้ทรงแสดงเรื่องราวอันเป็นมูลแห่งธรรมทั้งปวง ( สัพพธัมมมูลปริยาย ) มีใจความสำคัญแบ่งออกเป็น ๘ ส่วน หรือ ๘ นัย เนื่องด้วยปุถุชน ( คนที่ยังหนาไปด้วยกิเลส ) ๑ นัย เนื่องด้วยเสขะ ( พระอริยบุคคลผู้ยังศึกษา หมายถึงพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี ) ๑ นัย เนื่องด้วยพระขีณาสพ ( พระอรหันต์ ผู้สิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดาน ) ๔ นัย เนื่องด้วยพระศาสดา ๒ นัย. ( เมื่อกล่าวถึงบุคคลผู้เกี่ยวข้องแท้ ๆ ก็มี เพียง ๔ ประเภท ).
๑. ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมรู้ตามความจำ ( สญฺชานาติ ) ถึงสิ่งต่าง ๆ ๑ . แล้วยึดถือว่าเป็นของเราเพราะไม่ได้กำหนดรู้ตามเป็นจริงซึ่งสิ่งนั้น ๆ. นี้เป็นกำหนดภูมิปุถุชนนัยที่ ๑ .
๒. ภิกษุผู้เป็นเสขะ รู้ยิ่งด้วยปัญญา ( อภิชานาติ ) ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เพลา ๒ . การยึกถือว่าเป็นของเรา เพราะสิ่งนั้น ๆ พระเสขะควรกำหนดรู้ได้. นี้เป็นกำหนดภูมิพระเสขะนัยที่ ๒.
๓. ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ รู้ยิ่งด้วยปัญญาซึ่งสิ่งต่าง ๆ ย่อมไม่ถือว่าเป็นของเรา ๑ . เพราะกำหนดสิ่งนั้น ๆ แล้ว ๒ . เพราะสิ้นราคะความกำหนัดยินดี ๓. เพราะความสิ้นโทสะความคิดประทุษร้าย ๔. เพราะสิ้นโมหะความหลง นี้เป็นกำหนดภูมิพระขีณาสพนัยที่ ๓ , ๔ , ๕ และ ๖.
๔. พระศาสดา รู้ยิ่งด้วยปัญญาซึ่งสิ่งต่าง ๆ ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา ๑. เพราะกำหนดรู้ในสิ่งนั้น ๆ แล้ว ๒. เพราะสิ้นตัญหาด้วยประการทั้งปวง ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว. นี้เป็นกำหนดภูมิพระศาสดานัยที่ ๗ และ ๘.
๒. สัพพาสวสังวรสูตร
สูตรว่าด้วยการสำรวมระวังอาสวะทุกชนิด
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนารามของอนาถปิณฑิกคฤหบดี ใกล้กรุงสาวัตถี ตรัสเทศนาเรื่องการสำรวมระวังอาสวะทุกชนิด มี ๗ หลักการใหญ่ คืออาสวะที่พึงละได้ด้วย ๑. การเห็น ๒. การสำรวมระวัง ๓. การส้องเสพ ๔. การอดทน ๕. การงดเว้น ๖. การบันเทา ๗. การอบรม พร้อมมทั้งรายละเอียด ( พระสูตรนี้แปลไว้ละเอียดแล้วที่ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๑๑๗ )
๓. ธัมมทายาทสูตร
สูตรว่าด้วยผู้รับมรดกธรรม
พระผู้มีพระภาคพระทับ ณ เชตวนาราม ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้เป็นผู้รับมรดกธรรม ( ธัมมทายาท ) อย่าเป็นผู้รับมรดกอามิส ( อามิสทายาท).
๑. แล้วตรัสยกตัวอย่างว่า พระองค์ฉันพระกระยาการเหลือ ภิกษุ ๒ รูปหิวเป็นกำลังมาเฝ้าพระองค์ก็ทรงอนุญาตว่า ถ้าจะฉันก็ฉันได้ ถ้าไม่ฉันก็จะทรงเททิ้ง. รูปหนึ่งทนหิว ไม่ฉัน ด้วยระลึกถึงพระพุทณพจน์ที่ให้รับมรดกธรรม ไม่รับมรดกอามิส. อีกรูปหนึ่งฉันอาหารที่เหลือนั้น . ตรัสว่า ทรงสรรเสริญภิกษุที่ยอมหิวมากกว่า.
๒. เมื่อพระศาสดาเสด็จหลีกไปแล้ว พระสารีบุตรได้ตั้งปัญหาถามภิกษุเหล่านั้นว่า ด้วยเหตุเพียงไร สาวกจะเชื่อว่าไม่ศึกษาหรือศึกษาวิเวก ( ความสงัด ) ในเมื่อพระศาสดาเป็นผู้สงัดแล้ว ภิกษุทั้งหลายขอให้พระสารีบุตรตอบเอง.
๓. พระสารีจึงบุตรเฉลยว่า เมื่อพระศาสดาเป็นผู้สงัดแล้ว แต่สาวก ๑ . ไม่ศึกษาความสงัด ๒. ไม่ละธรรมที่พระศาสดาสอนให้ละ ๓. เป็นผู้มักมาก ย่อหย่อน เห็นแก่หลับนอน ทอดธุระในความสงัด. ไม่ว่าจะเป็นภิกษุผู้เถระ, ปูนกลางหรือบวชใหม่ ก็ถูกติเตียนโดนฐานะ ๓ เหล่านี้. ถ้าพระศาสดาเป็นผู้สงัดและสาวก ๑. ศึกษาความสงัด ๒. ละธรรมที่พระศาสดาสอนให้ละ ๓. ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน ทอดธุระในการหลับนอน มีความสงัดเป็นเบื้องหน้า. ก็เป็นที่สรรเสริญโดยฐานะ ๓ ทั้งภิกษุที่เป็นเถระ, ปูนกลางและบวชใหม่.
๔. ครั้นแล้วได้แสดงทางสายกลาง คือมรรคมีองค์ ๘ มีความเห็นชอบ เป็นต้น สำหรับละธรรมที่ชั่ว คือ ๑. ความโลภและคิดประทุษร้าย ๒. ความโกรธและผูกโกรธ ๓. ลบหลู่บุญคุณท่านและตีเสมอ ๔. ริษยา และตระหนี่ ๕. มายาและโอ้อวด ๖. กระด้างและแข่งดี ๗. ถือตัวและดูหมิ่นท่าน ๘. มัวเมาและประมาท. ( ธรรมฝ่ายชั่วเหล่านี้ เมื่อคิดเป็นรายข้อจะรวมเป็น ๑๖ ข้อ เรียกว่าอุปกิเลส คือเครื่อวเศร้าหมองแห่งจิตอันปรากฏในวัตถูปมสูตรที่ ๗ ในเล่มที่ ๑๒ นี้ ในที่นี้แสดงควบข้อละ ๒ ประการตามสำนวนบาลีเฉพาะสูตรนี้ ).
๔. ภยเภรวสูตร
สูตรว่าด้วยความกลัวและสิ่งที่กลัว
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ชาณุสโสณิพราหมณ์เข้าไปเฝ้า กราบทูลสรรเสริญว่าทรงเป็นหัวหน้า เป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้แแนะนำกุลบุตรที่ออกบวชอุทิศพระองค์.
แล้วกราบทูลต่อไปว่า เสนาสนะอันสงัดอันตั้งอยู่ในป่าและราวป่า อดทนได้ยาก ๓ . ความสงัดความเป็นผู้อยู่ผู้เดียวทำได้ยาก ยินดีได้ยาก ประหนึ่งว่าป่าจะนำใจของภิกษุผู้ไม่ได้สมาธิไปเสีย.
พระผู้มีพระภาคตรัสรับว่าเมื่อก่อนตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ก็ทรงเคยคิดถึงเสนาสนะป่าเช่นนั้น แล้วได้ทรงแสดงความคิดของพระองค์ก่อนตรัสรู้ ( ๑๖ ข้อที่เกี่ยวกับเสนาสนะป่า ) ดังต่อไปนี้ :-
( ข้อ ๑ ถึง ๑๖ ) ทรงคิดว่า สมณพราหมณ์บางพวก ๑. มีการงานทางกายไม่บริสุทธิ์ ๒. มีการงานทางวาจาไม่บริสุทธิ์ ๓. มีการงานทางใจไม่บริสุทธิ์ ๔. มีอาชีพไม่บริสุทธิ์ ๕. มีความอยากได้ มีราคากล้าในกาม ๖. มีจิตพยาบาท ๗. มีความหดหู่ง่วงงุนรัดรึงจิต ๘. มีจิตไม่สงบ ๙. มีความลังเลสงสัย ๑๐. เป็นผู้ยกตน, ข่มผู้อื่น ๑๑. เป็นผู้สะดุ้งหวาดกลัว ๑๒. ใคร่ลาภสักการะชื่อเสียง ๑๓. เกียจคร้าน มีความเพียรเลว ๑๔. หลงลืมตน ๑๕. มีจิตไม่ตั้งมั่น หมุ่นไปผิด ๑๖. มีปัญญาทราม น้ำลายไหลเวลาพูด . สมณพราหมณ์เหล่านี้เสพเสนาสนะอันสงัดอันตั้งอยู่ในป่าและราวป่า ย่อมเรียกร้องเอาอกุศลเพราะเหตุโทษ ๑๖ ข้อนั้นมาเป็นความกลัวและสิ่งที่น่ากลัวและสิ่งที่น่ากลัว . แต่พระองค์ ( พระโพธิสัตว์ ) ไม่มีโทษ ๑๖ ข้อนั้น ทรงเห็นความสมบูรณ์ ( อันตรงกับข้ามกับโทษ ๑๖ ข้อในพระองค์ ) จึงมีขนตก ( ไม่หวาดกลัว ไม่ขนพอง ) อยู่ป่าได้ดีผู้หนึ่งในพระอริยเจ้าผู้เสพเสนาสนะอันสงัดอันตั้งอยู่ในป่าทั้งหลาย.
การเผชิญความกลัว
ครั้นแล้วทรงแสดงถึงความคิดของพระองค์ ( เมื่อก่อนตรัสรู้ ) ต่อไปอีกว่า เมื่อถึงวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ ควรทดลองอยู่ในเสนาสนะที่น่ากลัวน่าขนพองสยองเกล้า เช่น สวน , ป่า , ต้นไม้ ที่คนเข้าใจว่าศักดิ์สิทธิ์ ๔ . เพื่อจะได้เห็นความกลัวและสิ่งที่น่ากลัว. เมื่อทดลองเข้าไปสู่ที่เช่นนั้น เมื่อสัตว์เดินมานกยูงทำกิ่งไม้ตกลงมา หรือลมพัดถูกเศษใบไม้ เราก็คิดว่า ความกลัวและสิ่งที่น่าากลัวกำลังมา และมาในขณะที่เราอยู่ในอาการใด เช่น กำลังเดิน , ยืน , นั่งหรือนอน เราก็จะอยู่ในอาการนั้น ไม่เปลี่ยนอาการเป็นอย่างอื่นขจัดความกลัวและสิ่งที่น่ากลัวให้จงได้ แล้วเราก็ทำตามที่คิดนั้น.
บางพวกหลงวันหลงคืน
สมณพราหมณ์บางพวกก็หลงกลางคืนว่าเป็นกลางวัน หลงกลางวันว่าเป็นกลางคืน แต่พระองค์มิได้เป็นเช่นนั้น.
ทรงแสดงข้อปฏิบัติของพระองค์
ครั้นแล้วทรงแสดงข้อปฏิบัติของพระองค์ คือการตั้งสติจนมีอารมณ์เป็นอันเดียว ได้ฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ แล้วทรงได้วิชชาและแสงสว่าง ประเภทระลึกชาติได้ในยามที่ ๑ ประเภททิพย์จักษุ เห็นการเกิดการตายของสัตว์ทั้งหลายในยามกลาง , ประเภททำอาสวะให้สิ้นในยามสุดท้าย. แล้วตรัสสรูปในที่สุดว่า อาจมีผู้คิดว่าพระองค์ยังไม่หมดราคะ โทสะ โมหะ จึงต้องเสพเสนะสนะอันสงัดอันตั้งอยู่ในป่า ซึ่งไม่ควรคิดเช่นนั้น. พระองค์ทรงเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ อย่าง จึงเสพเสนาสนะอันสงัดอันตั้งอยู่ในป่า คือ : ๑. ความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันของพระองค์ ๒. ทรงมุ่งอนุเคราะห์คนรุ่นหลัง ( เพื่อให้ถือเป็นตัวอย่าง ).
ชาณุสโสณิพราหมณ์ก็รับรองว่า ทรงอนุเคราะห์คนรุ่นหลังอย่างแท้จริง แล้วประกาศความเลื่อมใสในพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต.
๕ . อนังคณสูตร
สูตรว่าด้วยบุคคลผู้ไม่มีกิเลส
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชวตนาราม . พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายถึงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. มีกิเลส ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่ามีกิเลส ๒. มีกิเลส รู้ตามความจริงว่ามีกิเลส ๓. ไม่มีกิเลสไม่รู้ตามความจริงว่าไม่มีกิเลส ๔. ไม่มีกิเลส รู้ตามความจริงว่าไม่มีกิเลส. ประเภทที่ ๑ เลว ประเภทที่ ๒ ประเสริฐสุด ; ในประเภทที่มีกิเลส ประเภทที่ ๓ เลว ประเภทที่ ๔ ประเสริฐสุดใน ๒ ประเภทที่ไม่มีกิเลส.
๒. พระโมคคัลลนะกล่าวถามถึงเหตุผลที่บุคคลเหล่านั้นดีเลวกว่ากัน พระสารีบุตรตอบโดยใจความว่า ๒ พวกที่ไม่รู้ตามความจริง จะเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีกิเลส มีจิตเศร้าหมองทำกาลกิริยา . ส่วน ๒ พวกที่รู้ตามความจริง ถ้ามีกิเลสก็พยายามเพื่อละกิเลส ถ้าไม่มีกิเลส ราคะก็จะไม่ตามรบกวน ในที่สุดก็จะเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลส ไม่มีจิตเศร้าหมองทำกาลกิริยา.
๓ . แล้วพระสารีบุตรได้อธิบายว่า คำว่า อังคณะ ( กิเลสที่เปรียบเหมือนเนิน ) เป็นชื่อของอกุศลบาปธรรมอันเป็นที่ท่องเที่ยวแห่งความปรารถนา ( มีความปรารถนาอย่างนั้นอย่างนี้เป็นส่วนสำคัญ ).
๔. ต่อไปได้แสดงตัวอย่างแห่งความปรารถนาของภิกษุซึ่งเกิดขึ้นในทางที่ผิด รวม ๑๓ ตัวอย่าง พร้อมทั้งเกิดความโกรธ ความไม่พอใจตามมาด้วย แล้วสรุปในท้ายของทุกข้อว่า ความโกรธ และความไม่พอใจทั้งสองอย่างนั้น เป็นอังคณะ ( กิเลสที่เปรียบเหมือนเนิน ). ตัวอย่างแห่งความปรารถนา ๑๓ ข้อ เช่น ภิกษุต้องอาบัติ ก็ปรารถนาให้ภิกษุอื่นอย่ารู้เรื่องเป็นข้อแรก ปรารถนาให้ตนเท่านั้นได้ลาภ ภิกษุอื่นอย่าได้ลาภ เป็นข้อสุดท้าย ครั้นไม่สมปรารถนาก็เกิดความโกรธ ทั้งความปรารถนาและความโกรธนั้นจัดเป็นอังคณะ ( กิเลส ) ด้วยกันทั้งสองอย่าง.
๕. ครั้นแล้วแสดงต่อไปว่า แม้ภิกษุจะอยู่ป่า อยู่เสนาเสนะอันสงัด นุ่งห่มผ้าสีหมอง ( อันแสดงว่าเคร่ง ) แต่ถ้าละอกุศลบาปธรรมที่มีความปรารถนาเป็นส่วนสำคัญเหล่านี้ไม่ได้ เพื่อนพรหมจารีก็ไม่เคารพนับถือ เปรียบเหมือนถาดสำริดที่ใส่ซากศพ ย่อมเป็นที่รังเกียจ ไม่ชวนให้บริโภค แต่ถ้าละอกุศลเหล่านี้ได้ แม้จะอยู่ใกล้บ้าน รับนิมนต์ ทรงคฤหบดีจีวร ( ซึ่งไม่เคร่งเหมือนพระอยู่ป่า ) แต่เพื่อพรหมจารีก็เคารพนับถือ เปรียบเหมือนถาดสำริดที่ใส่ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี มีแกงและกับอันมากมาย ย่อมไม่เป็นที่รังเกียจ แต่กลับชวนให้บริโภค.
พระโมคคัลลนะก็กล่าวสรรเสริญพระสารีบุตรว่า เหมือนช่างถากไม้ที่ถากได้ดีถึงใจสำหรับภิกษุที่ยังมีกิเลส ส่วนสำหรับภิกษุผู้ไม่มีกิเลส เปรียบเหมือนบุคคลได้พวงมาลัยดอกไม้หอม เสมือนได้ดื่มกินธรรมปริยายนี้ด้วยปากและด้วยใจ.
๖ . อากังเขยยสูตร
สูตรว่าด้วยความหวังของภิกษุ
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชวตนาราม ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายให้สำรวมในปาฏิโมกข์ ( ศีลที่เป็นประธาน ) สมบูรณ์ด้วยมายาท และการรู้จักไปในที่อันควร เห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย .
ต่อจากนั้นได้ทรงแสดงความหวัง ๑๗ ข้อ เริ่มต้นแต่ความหวังขนาดธรรมดา ให้เป็นที่รักเคารพของเพื่อนพรหมจารีขึ้นไปจนถึงความหวังขั้นสูงสุด คือการทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ( เป็นพระอรหันต์ ) ว่า ถ้าหวังแต่ละข้ออย่างนั้น ก็พึงทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบความสงบจิต ( เจโตสมณะ ) ภายใน ไม่ปล่อยให้ฌานเสื่อม ประกอบด้วยวิปัสสนา เจริญการอยู่ในเรือนว่าง ( ข้อปฏิบัติที่แสดงในที่นี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ).
๗ . วัตถูปมสูตร
สูตรอุปมาด้วยผ้าที่ย้อมสี
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคคติ เป็นหวังได้ เปรียบเหมือนผ้าที่เศร้าหมองมีมลทินจับ ช่างย้อมจะย้อมในน้ำสีใดก็ตาม ก็มีสีไม่ดี ไม่บริสุทธิ์. เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นหวังได้ เปรียบเหมือนผ้าที่บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ช่างย้อมจะย้อมในน้ำสีใด ๆ ก็ตาม ก็มีสีดี บริสุทธิ์ . ทั้งนี้เพราะผ้าไม่บริสุทธิ์หรือบริสุทธิ์นั้นเอง.
๒. ครั้นแล้วทรงแสดงอุปกิเลส เครื่องเศร้าหมองจิต ) ๑๖ ประการ คือ ๑. โลภ ๒. พยาบาท ๓. โกรธ ๔. ผูกโกรธ ๕. ลบหลู่บุญคุณท่าน ๖. ตีเสอม ๗. ริษยา ๘. ตระหนี่ ๙. ม ายา ๑๐. โอ้อวด ๑๑. กระด้าง ๑๒. แข่งดี ๑๓. ถือตัว ๑๔. ดูหมิ่น ๑๕. มัวเมา ๑๖. ประมาท.
๓ . ภิกษุผู้รู้ความจริงเกี่ยวกับอุปกิเลสแห่งจิต ๑๖ อย่างเหล่านี้เเล้ว ย่อมละอุปกิเลสแห่งจิตเหล่านี้ ( แต่ละอย่าง ) เสียได้. เมื่อละได้แล้ว ก็มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะละกิเลสที่พึงละด้วยมรรคเบื่องต่ำได้ ( โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค และอนาคามิมรรค ) จึงได้ความรู้อรรถ รู้ด้วยธรรมว่า ตนคิดความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ . ได้ความปราโมมทย์อันประกอบด้วยธรรม เกิดปีติ มีกายอันสงบระงับ ได้เสวยสุข มีจิตตั้งมั่น. ภิกษุมีศีล มีธรรม มีปัญญาอย่างนี้ ฉันบิณฑบาตข้าวสาลีมีแกงและกับมากมาย ก็ไม่มีอันตราย เป็นผู้เปรียบเหมือนผ้าอันบริสุทธิ์หรือทองเงินอันบริสุทธิ์.
๔. เธอมีจิตประกอบด้วยเมตตา , กรุณา , มุทิตา, อุเบกขา แผ่ไป ๔ ทิศ รวมทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ในที่ทั้งปวง รู้อริยสัจจ์ ๔ เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จิตก็หลัดพ้นจากอาสวะ เมื่อหลุดพ้นก็เกิดญาณหยั่งรู้ ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก. ภิกษุนี้ชื่อว่าอาบน้ำแล้วด้วยการอาบน้ำภายใน.
๕. สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ นั่งอยู่ไม่ไกล จึงชวนพระผู้มีพระภาคไปสู่แม่น้ำพาหุกา เพื่อสนานกาย เมื่อตรัสถามเหตุผล พราหมณ์จึงกราบทูลว่า เพราะแม่น้ำนี้ชนเป็นอันมากถือกันว่าเป็นบุญลอยบาปที่ทำไว้แล้วได้. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสอธิบายว่า แม่น้ำต่าง ๆ ที่มีชื่อนั้นไม่ทำให้คนพาลบริสุทธิ์ได้ . แต่ถ้าไม่ทำชั่วก็ไปสู่แม่น้ำคยาทำไม แม้น้ำดื่มก็เป็นแม่น้ำคยา อยู่แล้ว . สุนทริกทวาบาชพราหมณ์เลื่อมใสทูลขอบวช เมื่อบวชแล้วไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.
๘ . สัลเลขสูตร
สูตรว่าด้วยการขัดเกลากิเลส
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม พระมหาจุนทะเข้าไปเฝ้า กราบทูลถามปัญหาเรื่องการละ การสละทิฏฐิที่ประกอบด้วยอัตตวาทะ ( วาทะเกี่ยวกับตน ) โลกวาทะ ( วาทะเกี่ยวกับโลก ). ๕ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงว่า ทิฏฐินั้น ๆ ไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั้น นั้นไม่ใช่ตัวตนของเรา ก็จะละสละทิฏฐิเหล่านั้นได้.
๒. ตรัสต่อไปว่า ภิกษุเข้ารูปฌาน ( ฌานมีรูปเป็นอารมณ์ ) ทั้งสี่แต่ละอย่าง แล้วนึกว่าเราอยู่ด้วยการขัดเกลาดังนี้ ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นการขัดเกลาในอริยวินัย เรียกได้ว่าธรรมะเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน.
๓. แล้วตรัสว่า ภิกษุเข้าอรูปฌาน ( ฌานมีสิ่งมิใช่รูปเป็นอารมณ์ ) แล้วนึกว่าเราอยู่ด้วยการขัดเกลาดังนี้ ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นการขัดเกลาในอริยวินัย เรียกได้แต่ว่าธรรมะเป็นเครื่องอยู่อันเป็นสงบระงับ.
๔. ตรัสสอนให้ทำการขัดเกลาว่า คนอื่นเขาทำความชั่ว เราจักทำความดี ( ทรงแสดงการเบียดเบียนและอกุศลกรรมบถ ๑๐ มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น มีความเห็นผิดเป็นที่สุด , มิจฉัตตะ ๑๐ (ความผิด ( มีความเห็นผิด เป็นต้น มีความหลุดพ้นผิดเป็นที่สุด และทรงแสดงโทษอื่น ๆ อีก เช่น อุปกิเลส เป็นฝ่ายชั่ว ตรงกันข้ามเป็นฝ่ายดี รวมฝ่ายละ ๔๔ ข้อ ).
๕. ตรัสสอนว่า เพียงแต่คิดในการกุศลธรรม ก็ยังมีอุปการะมาก จึงไม่ต้องกล่าวถึงการลงมือทำด้วยกายและวาจา . ฉะนั้น จึงควรคิดว่า คนอื่นเขาเบียดเบียน เราจักไม่เบียดเบียน เป็นต้น.
๖. ตรัสว่า เปรียบเหมือนพึงมีทางเรียบอีกทางหนึ่ง เพื่อเลี่ยงทางไม่เรียบ พึงมีท่าน้ำที่เรียบอีกท่าหนึ่ง เพื่อเลี่ยงท่าน้ำที่ไม่เรียบ. การทำความดี เช่น การไม่เบียดเบียน ก็เพื่อเลี่ยงความชั่ว เช่น การเบียดเบียน.
๗. อกุศลธรรมทั้งหมดมีการเบียดเบียน เป็นต้น มีความตกต้ำเป็นที่ไป กุศลธรรมทั้งหมด เป็นต้น มีความสูงขึ้นเป็นที่ไป.
๘. ตรัสว่า คนที่จม (ลงไปในหล่ม ) จะอุ้มคนที่จม ( ลงไปในหล่มด้วยกัน ) ขึ้นมาได้นั้น มิใช่ฐานะที่มีได้ คนที่ไม่จมจึงอุ้มคนที่จมขึ้นมาได้. คนที่ไม่ฝึก ไม่หัด ไม่ดับเย็นด้วยตนเอง จะฝึก จะหัด จะทำใหคนอื่นดับเย็น มิใช่ฐานะที่มีได้ คนที่ฝึกหัดดับเย็นด้วยตนเอง จึงฝึกหัดให้คนอื่นดับเย็นได้. และทรงแจกรายละเอียดว่า ความไม่เบียดเบียนจึงเป็นไปเพื่อดับเย็น ( ปรินิพพาน ) ของผู้เบียดเบียน เป็นต้น.
(หมายเหตุ: คำสรุปท้ายพระสูตรนี้ คือบท ๔๔ สนธิ ๕ เรียกว่าสัลเลขสูตร ลึกซึ่งเหมือนสาคร. คำว่า บท ๔๔ คือความชั่ว ๔๔ อย่าง ตรงกันข้ามกับความดี ๔๔ อย่าง สนธิ ๕ คือที่ต่อ ๕ แห่ง ได้แก่เงื่อนไข ๕ ประการ พึงนับจากที่ย่อไว้ในข้อ ๔ มาถึงข้อ ๘ ก็จะเห็นเงื่อนไขหรือสนธิ ๕ ).
๙ . สัมมาทิฏฐิสูตร
สูตรว่าด้วยความเห็นชอบ
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชวตนาราม. พระสารีบุตรได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องความเห็นชอบ โดยยกอาการรู้จักอกุศลและมูลรากของอกุศล การรู้จักกุศลและมูลรากของกุศลขึ้นแสดงก่อน เมื่อภิกษุทั้งหลายถามถึงปริยายอย่างอื่นอีก ก็แสดงยักย้ายนัยเรื่อย ๆ ไปอีก ๑๕ ข้อ ) รวมเป็น ๑๖ ข้อทั้งนัยแรก ).
๑๕ ข้อหลัง คือ ๑. อาหาร ๒. ทุกข์ ๓ . ชรามรณะ ( ความแก่ความตาย ) ๔ . ชาติ ( ความเกิด ) ๕ . ภพ ( ความมีความเป็น ) ๖. อุปาทาน ( ความยึดมั่นถือมั่น ) ๗. ตัญหา ( ความทะยานอยาก ) ๘. เวทนา ( ความรู้สึกอารมณ์ว่าทุกข์สุข เป็นต้น ) ๙. ผัสสะ ( ความถูกต้องทางตา เป็นต้น ) ๑๐. สฬายตนะ ( อายตนะ ๖. มีตา เป็นต้น ) ๑๑ . นามรูป ( สิ่งที่เป็นเพียงชื่อ คือเรื่องของจิตใจ เรียกนาม สิ่งที่ถูกต้องได้เห็นได้เรียกรูป ๑๒. วิญญาณ ( ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา เป็นต้น ) ๑๓. สังขาร ( เครื่องปรุงแต่งกาย วาจา จิต ) ๑๔. อวิชชา ( ความไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ) ๑๕. อาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ). โดยรู้จักสิ่งนั้น เหตุเกิดของสิ่งนั้นความดับของสิ่งนั้น ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับสิ่งนั้น .
๑๐ . สติปัฏฐานสูตร
สูตรว่าด้วยการตั้งสติ ๔ ประการ
ข้อความในพระสูตรนี้ซ้ำกับข้อความในมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งอยู่ในเล่ม ๑๐ สูตรที่ ๙ อันย่อไว้แล้วที่ พระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๔
จบวรรคที่ ๑ ขึ้นวรรคที่ ๒ ชื่อสีหนาทวรรค
คือวรรคมีสีหนาทสูตรเป็นหน้า มี ๑๐ สูตร.
________________________________________
๑. คำว่า สิ่งต่าง ๆ เป็นคำรวบรัด ในบาลีแสดงไว้ถึง ๒๑ อย่าง มีดิน เป็นต้น มีนิพพานเป็นที่สุด
๒. เพลาการยึดถือ คือการถือเหมือนกัน แต่เพลากว่าปุถุชน แต่ไม่ถึงกับละได้เหมือนพระอรหันต์
๓. ทุรภิสมฺภวานิ อรรถกถาแก้ว่า ทุสฺสหานิ
๔. อารามเจตยานิ วนเจติยานิ รุกฺขเจติยานิ
๕. วาทะเกี่ยวกับตนเช่นเห็นรูปเป็นตน วาทะเกี่ยวกับโลก เช่น เห็นว่าตนและโลกเที่ยง เป็นต้น
๑๑ . จูฬสีหนาทสูตร
สูตรว่าด้วยการบรรลือสีหนาทเล็ก ๑
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชวตนาราม ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า สมณะที่ ๑ ถึงที่ ๔ ( โสดาบัน ถึงอรหันต์ ) มีเฉพาะในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ลัทธิอื่นว่างจากสมณะเหล่านี้. ท่านทั้งหลายพึงบรรลือสีหนาทโดยชอบนี้เถิด.
๒. ตรัสต่อไปว่า ถ้านักบวชลัทธิอื่นถามถึงเหตุผลที่กล่าวอย่างนี้ ก็พึงอ้างความเลื่อมใสในศาสดาในธรรม การทำให้สมบูรณ์ในศีล และอ้างผู้ร่วมประพฤติธรรม ซึ่งเป็นที่รักพอใจทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ถ้าเขาอ้างว่าในลัทธิของเขาก็มีเหมือนกัน จะมีอะไรทำให้ต่างกัน ก็พึงถามว่า ความสำเร็จ ( สูงสุด ) ของท่านมีอย่างเดียวหรือหลายอย่าง ถ้าจะตอบให้ชอบ เขาก็ควรตอบว่า มีอย่างเดียว พึงถามต่อไปว่า ความสำเร็จนั้น ๆ สำหรับผู้มีราคะ โทสะ โมหะ และกิเลสอื่น ๆ อีก หรือว่าสำหรับผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ และกิเลสอื่น ๆ ถ้าจะตอบให้ชอบ เขาก็ควรตอบว่า สำหรับผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ และกิเลสอื่น ๆ.
๓ ตรัสถึงภวทิฏฐิ (ความเห็นยึดเรื่องความมีความเป็น ) วิภวทิฏฐิ ( ความเห็นยึดความไม่มีไม่เป็น ) สมณพราหมณ์ผู้ติดอย่างหนึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่ออีกอย่างหนึ่ง ถ้าไม่รู้เท่าทันตามเป็นจริง เรากล่าวว่าจะไม่หมดกิเลส ไม่พ้นไปจากความแก่ความตายและความทุกข์ ได้. ต่อเมื่อรู้เท่าทันตามเป็นจริง จึงหมดกิเลส และพ้นไปจากความแก่ความตายและความทุกข์ได้.
๔. ทรงแสดงอุปาทาน ( ความยึดมั่นถือมั่น ) ๔ อย่าง คือความยึดมั่นในกาม , ทิฏฐิ , ศีลพรต (ข้อปฏิบัติประจำลัทธิ พิธี ) และวาทะว่าตัวตน แล้วตรัสถึงสมณพราหมณ์บางพวก ที่ปฏิญญาตนว่า กล่าวถึงการกำหนดรู้อุปาทานทั้งปวง แต่ก็ไม่บัญญัติการกำหนดรู้อุปาทานทั้งปวงจริง คงบัญญัติอย่างเดียวบ้าง ๒ อย่างบ้าง ๓ อย่างบ้าง ขาดไป ๓ อย่าง ๒ อย่างบ้าง อย่างเดียวบ้าง ( คืออุปาทานมี ๔ เมื่อบัญญัติการกำหนดรู้เพียงอย่างเดียว ก็ขาดไป ๓ อย่าง บัญญัติการกำหนดรู้เพียง ๒ อย่าง ก็ขาดไป ๒ อย่าง และบัญญัติการกำหนดรู้เพียง ๓ อย่าง ก็ขาดไปอย่างหนึ่ง ไม่สมบูรณ์ได้ ) ความเลื่อมใสในธรรมวินัยในศาสดา เป็นต้น จึงไม่ถึงความดีเลิศ ( สัมมัคคตะ ) เพราะข้อนั้นเป็นไปในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ไม่ดี.
๕. ครั้นแล้วตรัสถึงอุปาทาน ๔ ว่าเกิดจากตัญหา , ตัญหาเกิดจากเวทนา , เวทนาเกิดจากผัสสะ , ผัสสะเกิดจากอายตนะ ๖ , อายตนะ ๖ เกิดจากรูปนาม , นามรูปเกิดจากวิญญาณ , วิญญาณเกิดจากสังขาร , สังขารเกิดจากอวิชชา , เมื่อละอวิชชาได้ วิชชาก็เกิดขึ้น จึงทำให้ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทานทั้งสี่ เมื่อไม่มีอุปาทานก็ไม่ดิ้นรน เมื่อไม่ดิ้นรน ย่อมดับสนิท ( ปรินิพพาน ) เฉพาะตน สิ้นชาติ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อเป็นอย่างนี้อีก . ( คำอธิบายศัพท์ในข้อ ๕ นี้ มีอยู่แล้วในสัมมาทิฏฐิสูตรที่ ๙ พระสุตตันตะเล่มที่ ๔ หน้า ๑ ซึ่งย่อมาแล้ว).
๑๒ . มหาสีหนาทสูตร
สูตรว่าด้วยการบรรลือสีหนาทใหญ่
พระผู้มีพระภาคประทับในราวป่า ด้านตะวันตกแห่งพระนคร นอกกรุงเวสาลี.
๑. สุนักขัตตลิจฉวี ๒ ซึ่งหลีกไปจากธรรมวินัย ได้กล่าววาจาในที่ชุมนุมชนในกรุงเวสาลีว่า พระสมณโคดมไม่มีอุตตริมนุสสธรรม ( ฤทธิ์อำนาจพิเศษ ) แสดงธรรมตามที่นึกเดาเอา พิจารณาเอา ตามปฏิภาณของตน แต่ธรรมนั้นก็นำให้ผู้ที่ทำตามพ้นทุกข์ได้. พระสารีบุตรได้บิณฑบาตในกรุงเวสาลี ได้ทราบเรื่อง จึงนำความมากราบทูลพระผู้มีพระภาค.
๓. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สุนักขัตตลิจฉวีกล่าวด้วยความโกรธ คิดว่าจะกล่าวโทษ แต่ที่กล่าวว่าธรรมะที่เราแสดงนำให้ผู้ทำตามพ้นทุกข์ได้นั้น ก็เป็นการกล่าวคุณ . แล้วทรงแสดงว่า สุนักขัตตลิจฉวีไม่มีญาณหยั่งรู้ธรรมเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า , เกี่ยวกับการแสดงฤทธิ์ได้ของพระพุทธเจ้า , เกี่ยวกับทิพย์โสต ( หูทิพย์ ) ของพระพุทธเจ้า , เกี่ยวกับเจโตปริยญาณ ( ญาณกำหนดรู้จิตผู้อื่น ) ของพระพุทธเจ้า.
กำลัง ๑๐
๓. ทรงแสดงกำลังของพระตถาคต ๑๐ ประการ คือ ๑. ฐานาฐานญาณ ( ญาณกำหนดรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ ) ๒. วิปากญาณ ( ญาณกำหนดรู้ผลแห่งกรรมในอดีตอนาคตและปัจจุบัน ) ๓. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ (ญาณกำหนดทางไปสู่ภูมิทั้งปวง ) ๔. นานาธาตุญาณ ( ญาณกำหนดรู้ธาตุต่าง ๆ ) ๕. นานาธิมุตติกญาณ ( ญาณกำหนดรู้อัทธยาศัยต่าง ๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ) ๖. อินทริยปโรปริยัตตญาณ ) ญาณกำหนดรู้ความหย่อนและความยิ่งแห่งอินทรีย์ คือศรัทธา, ความเพียร , สติ , สมาธิ , ปัญญาของสัตว์ทั้งหลาย ) ๗. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ( ญาณกำหนดรู้อาการ มีความเศร้าหมอง เป็นต้น แห่งธรรมมีฌาน เป็นต้น ) คือฌานาทิสังกิเลสาญาณ ๘. ปุพฺเพนิวาสานุสสติญาณ ( ญาณกำหนดระลึกชาติหนหลังได้ ) ๙. จุตูปปาตญาณ หรือทิพย์จักษุญาณ ( ญาณกำหนดรู้ความจุติความเกิดของสัตว์ทั้งหลาย ) ๑๐. อาสวักขยญาณ ( ญาณอันทำให้กิเลสที่หมักดองสันดานสิ้นไปได้ ) แล้วตรัสสรุปในที่สุดของแต่ละข้อว่า เพราะมีญาณแต่ละข้อนี้ จึงปฏิญญาความเป็นใหญ่ ๓ บรรลือสีหนาทในบริษัท ประกาศพรหมจักร ( ธรรมะซึ่งเปรียบเหมือนลูกล้อหมุนไปสู่ความเจริญอันประเสริฐ).
เวสารัชชะ ๔
๔. แล้วทรงแสดงความเป็นผู้แกล้วกล้า (เวสารัชชะ) ของพระตถาคต ๔ อย่าง ซึ่งเป็นเหตุให้พระองค์ทรงปฏิญญาความเป็นใหญ่ บรรลือสีหนาทในบริษัท ประกาศพรหมจักร คือไม่ทรงเห็นว่าจะมีพมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกจะกล่าวทักท่วงได้โดยชอบธรรมว่า
๑. ธรรมที่ทรงปฏิญญาว่าตรัสรู้แล้ว มิได้ทรงตรัสรู้
๒. อาสวะที่ทรงปฏิญญาว่าสิ้นไปแล้ว ยังไม่สิ้นไป
๓. ธรรมที่ตรัสว่าทำอันตราย ไม่ทำอันตรายได้
๔. ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่ผู้ใด ไม่นำผู้นั้นซึ่งทำตามให้สิ้นทุกข์โดยชอบได้.
บริษัท ๘
๕. แล้วทรงแสดงถึงบริษัท ๘ ที่พระองค์ผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้แกล้วกล้า ๔ ประการ เสด็จเข้าไปหา เคยประทับนั่งสนทนาสากัจฉา ( ไต่ถาม โต้ตอบ ) กับบริษัทเหล่านั้น นับจำนวนหลายร้อยบริษัท คือ กษัตริย์ , พราหมณ์ , คฤหบดี ( ผู้ครองเรือน ) , สมณะ , เทพชั้นจาตุมหาราช , เทพชั้นดาวดึงส์ , มาร , พรหม . ไม่ทรงเห็นนิมิตหมายที่ว่าจะเกิดความกลัว ความหวาดกลัว ความหวาดแก่พระองค์ในบริษัทนั้น ๆ.
กำเนิด ๔
๖. แล้วทรงแสดงกำเนิด ๔ คือกำเนิดจากไข่ (อัณฑชะ ) , กำเนิดจากปุ่มเปือก ( เกิดจากครรภ์มารดา = ชลาพุชะ) , กำเนิดจากของโสโครก ( สังเสทชะ เช่น ในของเปื่อยเน่า ในน้ำครำ ), และเกิดเติบโตขึ้นทันที ( โอปปาติกะ เช่น เทพ , สัตว์นรกบางจำพวก , มนุษย์บางจำพวก , เปรตบางจำพวก ).
คติ ๔
๗. แล้วทรงแสดงตติ ๕ คือนรก, กำเนิดเดียรฉาน , ภูมิแห่งเปรต , มนุษย์ , เทพ ซึ่งพระองค์ทรงทราบ พร้อมทั้งทรงหนทางและข้อปฏิบัติที่จะให้ไปเกิดในคตินั้น ๆ นอกจากนั้นยังทรงแสดงด้วยว่าทรงรู้จักนิพพาน ( สภาพที่ดับเย็น ปราศจากกิเลสและความทุกข์ ) พร้อมทั้งหนทางและข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงพระนิพพานด้วย.
การประพฤติพรหมจรรย์มีองค์ ๔
๘. ทรงแสดงการประพฤติพรหมจรรย์มีองค์ ๔ ของพระองค์ คือ ๑. บำเพ็ญตบะอย่างยิ่ง ๒. เป็นผู้ปอนหรือเศร้าหมองอย่างยิ่ง ๓. เป็นผู้รังเกียจ ( ในการทำลายชีวิตสัตว์ ) อย่างยิ่ง ๔. เป็นผู้สงัดอย่างยิ่ง.
แล้วทรงแสดงตัวอย่าง ในการบำเพ็ญตบะ เช่น ทดลองเปลือยกาย นั่งกระหย่ง นอนบนหนาม เป็นต้น; ในการเป็นผู้ปอน เช่น ปล่อยให้ธุลีละอองหมักหมม จับกายอยู่จนเป็นสะเก็ด เหมือนสะเก็ดไม้โดยไม่คิดจะลูบทิ้ง ; ในการรังเกียจ เช่น มีสติก้าวเดิน ตั้งความเอ็นดู แม้ในหยดน้ำ เพื่อมิให้สัตว์มีชีวิตขนาดเล็กถึงความพินาศ ; ในการเป็นผู้สงัด เช่น ทรงเข้าอยู่ป่า หลีกเลี่ยงมิให้พบคนเลี้ยงโค เลี้ยงปศุสัตว์คนหาหญ้าหาฟืน คนทำงานในป่า . ( นี้เป็นการแสดงว่าทรงทดลองหมดทุกอย่างที่นักบวชที่นักบวชสมัยนั้นประพฤติปฏิบัติกัน อันเป็นประโยนช์อย่างยิ่งในภายหลังที่ทรงคัดค้านการทรมานตัว จะได้ทรงอ้างได้ว่า ทรงทดลองมาแล้วไม่ได้ผล).
การทรมานพระองค์อย่างอื่นอีก
ทรงแสดงการทดลองของพระองค์เกี่ยวกับอาหาร คือมูลโค รวมทั้งมูตร แลกรีส ( อุจจาระ ) ของพระองค์เอง.
ทรงแสดงถึงการเข้าไปอยู่ในป่าที่น่ากลัว ซึ่งคนผู้ยังไม่ปราศจากราคะเข้าไปสู่ป่าเช่นนั้น ย่อมขนพองสยองเกล้าโดยมาก.
ทรงแสดงถึงการบรรทมหนุนกระดูกศพในป่าช้า บางครั้งเด็กเลี้ยงโคมาถ่มน้ำลายรด ปัสสวะรด เอาขี้ฝุ่นโรย เอาซี่ไม้ยอนช่องพระกรรณ แต่ก็ไม่ทรงมีจิตคิดร้ายในเด็กเหล่านั้น เป็นตัวอย่างแห่งการอยู่ด้วยอุเบกขา . ๔
ทดลองความบริสุทธิ์เพราะเหตุต่าง ๆ
๑. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยอาหาร จึงทรงยังพระชนมชีพด้วยผลกะเบา เคี้ยวผลกะเบา ผลกระเบาป่น ดื่มน้ำกะเบา บริโภคกะเบาที่ทำเป็นชนิดต่าง ๆ; ทรงยังพระชนมชีพด้วยถั่ว , งา , ข้าวสาร ( ลองเป็นอย่าง ๆ ไป ) ลดลงจนเหลือเพียงกะเบา , ถั่ว , งา หรือข้าวสารเพียงเมล็ดเดียว เพราะขาดอาหารนั้น ทำให้พระกายซูบซีด ซวนล้ม เมื่อลูบพระกาย พระโลมาซึ่งมีรากเน่าก็หลุดจากพระกาย แต่มิได้ทรงบรรลุธรรมอันยิ่งของมนุษย์ เพราะมิได้ทรงบรรลุปัญญาอันประเสริฐอันจะทำให้ถึงที่สุดทุกข์ได้.
๒. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยสงสาร ( การท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิด ). ก็ไม่มีการท่องเที่ยวไป ในที่ใดที่ไม่ทรงเคยไป จะพึงหาได้ง่ายโดยกาลอันนานนี้ เว้นไว้แต่เทพชั้นสุทธาวาสเพราะถ้าท่องเที่ยวไปในเทพชั้นสุทธาวาส ( ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระอนาคามี ผู้ไม่กลับมาสู่มนุษย์โลกอีก ) พระองค์ก็จะไม่มาสู่โลกนี้อีก.
๓. และ ๔. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยการเกิด ( อุปบัติ ) , การอยู่ ( อาวาส ). ก็ไม่มีการเกิด , การอยู่ ในที่ไหนที่ไม่ทรงเคยเกิด , เคยอยู่ โดยกาลอันนานนี้ เว้นแต่เทพชั้นสุทธาวาส เพราะถ้าทรงเกิด , ทรงอยู่ในเทพชั้นสุทธาวาส ก็จะไม่มาสู่โลกนี้อีก.
๕. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยยัญ ก็ไม่มียัญชนิดไหนที่ไม่ทรงเคยบูชาโดยกาลอันนานนี้.
๖. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยการบำเรอไฟ ( คือหาเชื่อใส่ไฟตลอดเวลา ) ก็ไม่มีไฟที่ไม่เคยทรงบำเรอโดยกาลอันนานนี้.
คนหนุ่มจึงมีปัญญาจริงหรือ ?
๗. สมณะพราหมณ์บาวพวกกล่าวว่า คนยังหนุ่มอยู่ในปฐมวัย จึงประกอบด้วยความเป็นผู้เฉลียวฉลาดด้วยปัญญา เมื่ออายุถึง ๘๐, ๙๐ , ๑๐๐ ก็เสื่อมจากความเป็นผู้เฉลี่ยวฉลาดด้วยปัญญานั้น ซึ่งไม่พึงเห็นเช่นนั้น เพราะพระองค์เองมีพระชนมมายุ ๘๐ ดำเนิน , พระสาวก ๔ รูปมีอายุถึง ๑๐๐ ก็ยังประกอบด้วย สติ คติ และความทรงจำอันยอดเยี่ยม ประกอบด้วยความเป็นผู้เฉลียวฉลาดด้วยปัญญาอันยอดเยี่ยม. สาวกเหล่านั้นทูลถามปัญหาเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔, ก็ทรงตอบไป , เธอก็ทรงจำไว้ได้ ไม่ต้องถามเป็นครั้งที่สอง. การแสดงธรรม , การแยกบทแห่งธรรม การตอบปัญหาของตถาคตไม่มีที่สิ้นสุด ( คือดำเนินไปได้ติดต่อกัน ) เว้นไว้แต่กิน ดื่ม หรือถ่ายอุจจาระปัสสาวะ เป็นต้น. สาวกทั้งสี่รูปนั้น ผู้มีอายุ ๑๐๐ ก็จะทำกาละเมื่อล่วง ๑๐๐ ปี . แม้ท่านทั้งหลายจะหามตถาคตไปด้วยเตียง ความแปรเป็นอย่างอื่นแห่งความเป็นผู้เฉลียวฉลาดด้วยปัญญา ย่อมไม่มีเลยเเก่ตถาคต.
พระนาคสมาละถวายอยู่งานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ กราบทูลว่า ท่านสดับธรรมบรรยายนี้แล้วเกิดขนลุก ควรเรียกธรรมปริยายนี้ว่ากระไร ตรัสตอบว่า ควรเรียกได้ว่า โลมหังสนปริยาย ( เรื่องที่ทำให้ขนลุก)
(หมายเหตุ: มหาสหนาทสูตรนี้ สมเป็นการบรรลือสีหนาทที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการเปล่งพระวาจาอย่างอาจหาญ เล่าความที่เคยทดทองปฏิบัติมาแล้วทุกอย่าง ตามที่เข้าใจกันว่า จะตรัสรู้ได้ แต่ก็ไม่สำเร็จการค้านข้อปฏิบัติของสมณพราหมณ์ครั้งนั้น จึงเป็นการค้านอย่างมีเหตุผลยิ่ง).
๑๓ . มหาทุกขักขันธสูตร
สูตรว่าด้วยกองทุกข์ สูตรใหญ่
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ตรัสกะภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องที่นักบวชศาสนาอื่นกล่าวว่า พระสมณโคดมและพวกเขาบัญญัติข้อที่ควรกำหนดรู้เกี่ยวกับกาม ( ความใคร่และสิ่งที่น่าใคร่ ) รูป ( ธาตุทั้งสี่ ประชุมกันเป็นกาย ) และเวทนา ( ความรู้สึกเป็นสุขทุกข์หรือไม่ทุกข์ไม่สุข ) เหมือน ๆ กัน ไม่มีอะไรต่างกัน.
ตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลายลองนย้อนถามดูว่า อะไรคือความพอใจ ( อัสสาทะ ) , โทษ ( อาทีนวะ ), การพ้นไป ( นิสสรณะ= แล่นออก ) ของกาม , รูป และเวทนา ซึ่งนักบวชลัทธิอื่นจะตอบไม่ได้ และมีความอึดอัดยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะมิใช่ปัญหาในวิสัย . ทรงยืนยันว่า ไม่มีใครตอบปัญหานี้ได้เป็นที่พอใจ เว้นไว้แต่ตถาคต สาวกของตถาคต หรือผู้ฟังจากศาสนานี้.
๓. ทรงแสดงกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนา รักใคร่ ชอบใจ ว่าเป็น ความพอใจ ( อัสสาทะ ) ของกาม ; ทรงแสดงการต้องประกอบอาชีพต่าง ๆ ลำบากตรากตรำ หนาวร้อน หิวกระหาย เป็นต้น , การที่เพียรพยายาม แต่ไม่ได้ผล ต้องเศร้าโศกเสียใจ, เมื่อได้ผลแล้วก็ต้องทุกข์กายทุกข์ใจ เนื่องด้วยการอารักขา ( สินทรัพย์ที่เกิดขึ้น ) เพื่อมิให้เป็นอันตราย , เมื่อมีอันตรายเกิดขึ้นก็เศร้าโศกเสียใจ , ทะเลาะวิวาทกับคนทั้งหลาย แล้วทำร่างกายกัน , ใช้อาวุธทำสงครามฆ่าฟันกัน , ก่อสร้างป้อม , ถูกลงโทษทรมานต่าง ๆ เพราะทำความผิด เช่น ตัดช่อง, ปล้นสะดม เป็นต้น , ที่มีกามเป็นเหตุว่า แต่ละอย่างเหล่านี้ เป็นโทษของกาม เป็นกองทุกข์ที่เห็นทันตา . เมื่อตายไปก็เข้าถึงอบาย , ทุคคติ , วินิบาต , นรก เพราะประพฤติทุจจริตทางกายวาจาใจที่มีกามเป็นเหตุ เป็นโทษของกาม เป็นกองทุกข์ในอนาคต . ทรงแสดงการนำความพอใจความกำหนัดยินดีในกามออกเสียว่า เป็นการพ้นไปจากกาม . สมณะพราหมณ์ที่ไม่รู้เรื่องเหล่านี้ตามเป็นจริงที่กำหนดรู้กามด้วยตนเอง หรือชักชวนผู้อื่นเพื่อกำหนดรู้ ซึ่งผู้อื่นปฏิบัติตามแล้ว จักกำหนดรู้กาม ย่อมเป็นไปไม่ได้. ต่อเมื่อรู้ตามความจริง จึงกำหนดรู้กามด้วยตนเองหรือชักชวนผู้อื่นให้กำหนดรู้ได้.
๔. ทรงแสดงความสุขกายสุขใจ เพราะมีผิวพรรณงดงามว่าเป็นความความยินดีแห่งรูป; ทรงแสดงความแก่เฒ่า หลังโกง ฟันหัก ผมหงอก เป็นต้น จนถึงตายถูกทอดทิ้งในป่าช้า มีกระดูกสีขาว ว่าเป็นโทษของรูป ; ทรงแสดงการนำความพอใจ ความกำหนัดยินดีในรูปออกเสียว่าเป็นการพ้นไปจากรูป . แล้วตรัสเรื่องสมณพราหมณ์ที่ไม่รู้เรื่องเหล่านี้ตามเป็นจริง และที่รู้เรื่องเหล่านี้ตามเป็นจริงเหมือนเรื่องกาม ในข้อ ๓ ).
๕. ทรงแสดงการเข้าฌานที่สี่ ทีละข้อในสมัยที่เข้าฌานนั้น ๆ ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตน เบียดเบียนคนอื่น หรือเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ย่อมเสวยเวทนาอันไม่มีการเบียดเบียนว่าเป็นความยินดีแห่งเวทนา ; ทรงแสดงเวทนาที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ว่าเป็นโทษของเวทนา ; แล้วทรงแสดงการนำความพอใจ ความกำหนัดยินดีในเวทนาออกเสียว่า เป็นการพ้นไปจากเวทนาและสมณพราหมณ์ผู้ไม่รู้ตามเป็นจริงและรู้ตามเป็นจริงเกี่ยวกับเวทนา เช่นเดียวกับเรื่องกาม ( ในข้อ ๓ ).
๑๔ . จูฬทุกขักขันธสูตร
สูตรว่าด้วยกองทุกข์ สูตรเล็ก ๕
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ตรัสแสดงธรรมแก่มหานามศากยะ ผู้กราบทูลถามว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต. ข้าพระองค์ละธรรมอะไรภายในไม่ได้ บางคราวธรรมะคือโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง จึงครอบงำจิตตั้งอยู่ . ตรัสตอบว่าละธรรมภายในนั้นไม่ได้จึงเป็นเช่นนั้น ถ้าละธรรมภายในนั้นได้ ก็จะไม่ครองเรือน ไม่บริโภคกาม.
๒. ตรัสถึงอริยสาวก และแม้พระองค์เอง เมื่อก่อนตรัสรู้ ถ้ายังไม่เห็นดีด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงว่า กามมีควาวมยินดีน้อย มีทุกข์โทษมากแล้ว ก็ยังมิได้บรรลุความสุขอื่นจากกามหรืออกุศลธรรมหรือปราณีตกว่านั้น ยังไม่หมดความเวียนมาในกาม ต่อเมื่อเห็นดีด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว จึงได้บรรลุความสุขที่อื่นจากกามหรืออกุศลธรรม หรือประณีตกว่านั้น หมดความเวียนมาในกาม.
๓. แล้วตรัสแสดงความพอใจของกาม , โทษของกาม , การออกไปจากกาม เช่นเดียวกับมหาทุกขักขันธสูตรที่ย่อมาแล้ว.
๔. แล้วตรัสเล่าเรื่องที่ทรงโต้ตอบกับพวกนิครถ์ทรงเทียบให้ดูว่า พระองค์ทรงมีความสุขมากกว่าพระเจ้าพิมพิสารอย่างไร ซึ่งพวกนิครนถ์ได้ยอมรับว่าจริง.
๑๕ . อนุมานสูตร
สูตรว่าด้วยการอนุมาน
พระมหาโมคคัลลานะอยู่ในป่าชื่อเภสกฬา อันเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อ ใกล้นครสุงสุมาคิระ แคว้นภัคคะ ท่านแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย พอกำหนดเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้ :-
๑. ท่านแสดงถึงภิกษุผู้ปวารณาตนให้ภิกษุอื่นว่ากล่าว แต่ก็เป็นผู้ว่ายาก จึงไม่มีใคร ( เพื่อนพรหมจารี ) อยากว่ากล่าวตักเตือนหรือคุ้นเคยด้วย แล้วแสดงธรรมะที่ทำให้ว่ายากหลายข้อ มีความปรารถนาลามกเป็นต้น มีการยึดแต่ความเห็นของตนเป็นข้อสุดท้าย.
๒. แสดงถึงภิกษุผู้แม้ไม่ปวารณาตนให้ภิกษุผู้อื่นว่ากล่าว แต่เป็นผู้ว่าง่าย จึงมีเพื่อพรหมจารีอยากว่ากล่าวตักเตือนหรือคุ้นเคยด้วย แล้วแสดงธรรมะที่ทำให้ว่าง่ายฝ่ายตรงกันข้าม.
๓. สอนภิกษุทั้งหลายให้อนุมาน ( คาดคะเน ) ตนเองได้ด้วยตนว่า ถ้าประกอบด้วยความชั่วมีความปรารถนาลามก เป็นต้น ก็คงไม่เป็นที่พอใจของผู้เอื่น จึงควรตั้งจิตที่จะไม่มีความปรารถนาลามก เป็นต้น.
๔. สอนภิกษุทั้งหลายให้พิจารณาตนด้วยตนว่ามีความชั่ว เช่น ความปรารถนาลามก เป็นต้น หรือไม่ ถ้ามีก็ควรพยายามละเสีย , ถ้าไม่มีก็ควรศึกษาเนือง ๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู้ด้วยความปีติปราโมทย์.
ภิกษุทั้งหลายก็ชื่อชมภาษิตของพระเถระ.
๑๖ . เจโตขีลสูตร
สูตรว่าด้วยการอนุมาน
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชวตนาราม ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องที่ว่า ถ้าภิกษุยังละกิเลสที่เปรียบเหมือนตอของจิต ( เจโตขีละ ) ๕ ประการ และถอนกิเลสที่เปรียบเหมือนเครื่องผูกมัดจิต ( เจตโสวินิพันธะ ) ๕ ประการไม่ได้ ก็มิใช่ฐานะที่ภิกษุนั้นจะถึงความเจริญงอกงามไพบูลในพระธรรมวินัยนี้.
ตอของจิต ๕
๒. แล้วทรงแสดงกิเลสที่เปรียบเหมือนตอของจิต ๕ ประการ คือ
๑. สงสัยในพระศาสดา
๒. สงสัยในพระธรรม
๓. สงสัยในพระสงฆ์
๔. สงสัยในสิกขา ( ข้อที่จะต้องศึกษา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา )
๕. โกรธเคืองในเพื่อนพรหมจารี เมื่อมีความสงสัยหรือโกรธเคืองข้อใดข้อหนึ่งนี้แล้ว จิตก็ไม่น้อมไปเพื่อความเพียร.
เครื่องผูกมัดจิต ๕
๓. แล้ทรงแสดงกิเลสที่เปรียบเหมือนเครื่องผูกมัดจิต ๕ ประการ คือ
๑. ไม่ปราศจากความกำหนัดพอใจรักใคร่ในกาม
๒. ไม่ปราศจากความกำหนัดพอใจรักใคร่ในในกาย
๓. ไม่ปราศจากความกำหนัดพอใจรักใคร่ในรูป
๔. กินแล้วก็ประกอบสุขในการนอน
๕. ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยหวังว่าจะไปเกิดในเทพพวกใดพวกหนึ่ง เมื่อมีกิเลสเหล่านี้ข้อใดข้อหนึ่ง จิตก็ไม่น้อมไปเพื่อความเพียร.
๔. ถ้าละและถอนกิเลสข้างต้นเสียได้ ก็มีฐานะที่จะถึงความเจริญงอกงามไพบูลในพระธรรมวินัยนี้.
๕. ทรงแสดงภิกษุผู้ประกอบด้วยอิทธิบาท คือคุณธรรมที่ให้ถึงความสำเร็จ ๔ ประการ คือ ๑. พอใจ ๒. เพียร ๓. คิด ๔. ไตร่ตอง พร้อมทั้งมีความกระตือรือร้น ( อุสฺโสฬฺหิ ) เป็นที่ ๕ รวมเป็นมีคุณธรรม ๑๕ อย่าง คือละกิเลสอย่างละ ๕ สองอย่างข้างต้น กับคุณธรรมอีก ๕ อย่าง ก็สามารถจะตรัสรู้ได้ เปรียบเหมือนแม่ไก่กกไข่ดี แม้ไม่ปรารถนาอะไรมาก ลูกไปก็ออกมาได้ฉะนั้น.
๑๗ . วนปัตถสูตร
สูตรว่าด้วยการอยู่ป่าของภิกษุ
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ตรัสแสดงธรรมเรื่องภิกษุผู้อยู่ป่า ( ๔ ประเภท ) คือ
๑. ถ้าอยู่แล้ว สติไม่ตั้งมั่น จิตไม่เป็นสมาธิ อาสวะไม่สิ้น ไม่บรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากกิเลสอันยอดเยี่ยมทั้งปัจจัย ๔ ก็หาได้ยาก ก็ควรหลีกไปจากป่านั้น ไม่ควรอยู่ในเวลากลางวันหรือกลางคืน
๒. ถ้าอยู่แล้วสติไม่ตั้งมั่น เป็นต้น แต่ปัจจัย ๔ หาได้ไม่ยาก ก็ควรพิจารณาว่าตนไม่ได้บวชเพราะเหตุแห่งปัจจัย ๔ พิจารณาแล้วก็ควรหลีกไปจากป่านั้น ไม่ควรอยู่
๓. ถ้าอยู่แล้ว สติตั้งมั่น เป็นต้น แต่ปัจจัย ๔ หาได้ยากก็ควรพิจารณาว่าตนไม่ได้บวชเพราะเหตุแห่งปัจจัย ๔ พิจารณาแล้วก็ควรอยู่ป่านั้น ไม่ควรหลีกไป
๔. ถ้าอยู่แล้ว สติตั้งมั่น เป็นต้น และปัจจัย ๔ ก็หาได้ไม่ยาก ก็ควรอยู่ในป่านั้นแม้ตลอดชีวิต ไม่ควรหลีกไป.
๒. ทรงแสดงถึงภิกษุผู้อยู่อาศัย คาม , นิคม , นคร , ชนบท และ บุคคล โดยทำนองเดียวกับการอยู่ป่า ๔ ข้อข้างต้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับบุคคล หมายถึงการติดตาม ( ทำนองศิษย์ติดตามอาจารย์ ) โดยทรงเล็งถึงการที่จะดีขึ้นทางคุณธรรมเป็นสำคัญ ส่วนปัจจัย ๔ หาได้ยากหรือไม่ยากไม่เป็นประมาณ.
๑๘ . มธุปิณฑิกสูตร
สูตรว่าด้วยธรรมะที่น่าพอใจเหมือนขนมหวาน
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ตรัสตอบคำถามของทัณฑปาณิศากยะ ที่ว่า “ ทรงมีวาทะอย่างไร ตรัสบอกอย่างไร” โดยทรงชี้ไปว่า ทรงมีวาทะและตรัสบอกในทางที่จะไม่ทะเลาะกับใคร ๆ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก และในทางที่สัญญา ( ความกำหนดหมายด้วยกิเลส - กิเลสสัญญา - อรรถกถา ) จะไม่แฝงตัวตาม ๖. บุคคลผู้อยู่อย่างไม่ประกอบด้วยกาม ผู้ลอยบาป ผู้สิ้นความสงสัย รังเกียจ ปราศจากความทะยานอยากในภพน้อยใหญ่.
๒. ทรงเล่าเรื่องข้างต้นให้ภิกษุทั้งหลายฟัง เมื่อภิกษุรูปหนึ่งขอให้ทรงอธิบาย ก็ทรงอธิบายอย่างย่อ ๆ ภิกษุทั้งหลายจึงไปหาพระมหากัจจานเถระให้อธิบายโดละเอียด พระเถระจึงอธิบายขยายความของพระพุทธภิตสั้น ๆ ที่ว่า “ ส่วนแห่งความกำหนดหมายกิเลสเป็นเหตุใหเนิ่นช้า ( ปปัญจสัญญาสังขา ๗. ) ย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าไม่เพลิดเพลิน ไม่ยึดถือ ในเหตุนั้น ( อายตนะ ๑๒ ) ได้ นั้นแหละเป็นที่สุดแห่งกิเลสที่แฝงอยู่ ( อนุสัย ๗ กิเลสที่นอนซ่อนอยู่ในสันดาน ), นั้นแหละ เป็นที่สุดแห่งการจับท่อนไม้ ศัสตราการทะเลาะ การชี้หน้าด่าทอ การส่อเสียด การพูดปด” โดยขยายความแสดงลำดับธรรมะ ดังนี้
๑. อาศัยอายตนะภายในอายตนะภายนอก เกิดความรู้แจ้งอารมณ์ เรียกว่าวิญญาณ
๒ . รวมธรรม ๓ ประการ คืออายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ เรียกว่าผัสสะ ( ความถูกต้อง )
๓. เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา ( คือความรู้สึกทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข )
๔. รู้สึกอารมณ์ใด ก็จำอารมณ์นั้นได้ ( มีเวทนาก็มีสัญญา )
๕. จำอารมณ์ใดได้ ก็ตรึกถึงอารมณ์นั้น ( มีสัญญาก็มีวิตก )
๖. ตรึกอารมณ์ใด ก็เนิ่นช้าอยู่กับอารมณ์นั้น
๗. เนิ่นช้าอยู่กับอารมณ์ใด ส่วนแห่งความกำหนดหมายกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้าในรูปที่พึงรู้ได้ด้วยตา เป็นต้น ที่เป็นอดีต , อนาคต, ปัจจุบัน ย่อมครอบงำเขา เพราะเหตุนั้น.
๘. เมื่อมีอายตนะภายใน มีอายตนะภายนอก มีวิญญาณ ก็มีฐานะที่จักบัญญัติผัสสะได้ , เมื่อมีการบัญญัติผัสสะ ก็มีฐานะที่จักบัญญัติเวทนาได้ , เมื่อมีการบัญญัติเวทนา ก็มีฐานะที่จักบัญญัติวิตก ( ความตรึก ) ได้, เมื่อมีการบัญญัติวิตก ก็มีฐานะที่จักบัญญัติการครอบงำของส่วนแห่งความกำหนกหมายกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า.
๓ . พระผู้มีพระภาคทรงทราบก็ทรงอนุโมทนาว่า ถ้าพระองค์ทรงอธิบาย ก็จักตรัสอธิบาย เช่นเดียวกับพระมหากัจจานะ พระอานนท์ กราบทูลสรรเสริญคำอธิบายนี้ว่า เหมือนคนหิวกระหายอ่อนกำลังได้ขนมหวาน จึงตรัสให้เรียกธรรมปริยายนี้ว่า มธุปิณฑิกปริยาย ( บรรยายที่เปรียบเหมือนขนมหวาน).
๑๙ . เทวธาวิตักกสูตร
สูตรว่าด้วยความตรึกสองทาง
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายถึงความนึกคิดที่เกิดขึ้นในสมัยที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ทรงแบ่งความคิดนึก ( วิตกความตรึก ) ออกเป็น ๒ ส่วน คือฝ่ายชั่ว ได้แก่คิดนึกในกาม , คิดนึกปองร้าย , คิดนึกเบียดเบียน ; ฝ่ายดี ได้แก่คิดนึกออกจากกาม , คิดนึกไม่ปองร้าย , คิดนึกไม่เบียดเบียน . เมื่อความคิดนึกฝ่ายชั่วเกิดขึ้นและทรงรู้เท่าทันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ พระองค์จึงทรงละ ทรงบันเทา ทรงทำให้สิ้นสุดซึ่งความคิดนึกฝ่ายชั่วได้.
๒. ตรัสต่อไปว่า ภิกษุตรึกตรองถึงเรื่องใดมาก จิตก็จะน้อมไปทางนั้น ( ทั้งทางคิดชั่วและคิดดี). พระองค์ทรงเห็นโทษของอกุศลธรรม เห็นอานิสงส์ ( ผลดี ) ของกุศลธรรม เมื่อทรงทราบว่า ความคิดฝ่ายดีกำลังเกิดขึ้น ก็ไม่ทรงเห็นภัย จากการคิดนั้น ไม่ว่าในกลางคืนกลางวัน หรือทั้งกลางคืนกลางวัน แต่ถ้าตรึกตรอง ( วิตกวิจาร ) นานเกินไป กายลำบาก จิตก็จะฟุ้งสร้าน เมื่อจิตฟุ้งสร้านก็จะห่างจากสมาธิ พระองค์จึงทรงตั้งจิตไว้ภายใน ทำให้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ทำให้เป็นสมาธิ. ทรงเปรียบการเห็นโทษของความชั่ว เห็นคุณของความดี เหมือนคนเลี้ยงโคที่ต้อนโคไปให้พ้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยข้าวกล้า เพราะเห็นโทษ ( ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อโคไปกินข้าวกล้าของคนอื่น ) ทรงเปรียบการทำสติถึงธรรมเหล่านั้น เหมือนคนเลี้ยงโคที่พัก ณ โคนไม้หรือกลางแจ้ง ทำสติถึงโคเหล่านั้น.
๓. ตรัสต่อไปถึงการที่ทรงมีความเพียร ตั้งสติมั่น มีกายสงบระงับ มีจิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่งเข้าฌานที่ ๑ จนถึงฌานที่ ๔ ; ระลึกชาติได้ในยามแรก ; ได้จุตูปปตฌาณ ( ญาณเห็นความตายความเกิดของสัตว์ ) หรือทิพย์จักษุ ( ตาทิพย์ ) ในยามกลาง ; ได้อาสวักขยญาณ ( ญาณอันทำอาสวะให้สิ้น ) รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง รู้จักอาสวะ เหตุเกิดอาสวะ ความดับอาสวะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ ตามเป็นจริงในยามสุดท้ายแห่งราตรี.
๔. ทรงเปรียบมารเหมือนผู้คิดร้าย ปิดทางดี เปิดทางไม่ได้ ให้หมู่เนื้อไปสู่ความพินาศ และเปรียบพระตถาคตเหมือนผู้มุ่งดี ที่ปิดทางร้ายเปิดทางให้เนื้อเดินทางไปสู่ความเจริญ แล้วตรัสว่า ได้ทรงทำหน้าที่ของศาสดาแล้ว . นั้นโคนไม้ นั้นเรือนว่าง จงเพ่งเถิด อย่าประมาท อย่าเดือดร้อนภายหลังเลย นี่และคือคำสอนของเรา.
๒๐ . วิตักกสัณฐานสูตร
สูตรว่าด้วยที่ตั้งของความตรึกหรือความคิด
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ตรัสสอนว่า ภิกษุผู้ทำสมาธิ ( ประกอบอธิจิต ) พึงใส่ใจเครื่องหมาย ๕ ประกอบอยู่เสมอ คือ:-
๑. เมื่อใส่ใจถึงเครื่องหมาย ๘ . ใด เกิดความคิดฝ่ายชั่ว ๙ . ขึ้น ให้เปลี่ยนเครื่องหมายนั้น ไปสู่เครื่องหมายอื่นอันประกอบด้วยกุศล ซึ่งจะเป็นเหตุให้คิดฝ่ายชั่ว ทำจิตให้เป็นสมาธิได้. เปรียบเหมือนเหมือนนายช่าง เอาลิ่มเนื้อละเอียดมาตอกเอาลิ่มเนื้อหยาบออกไปฉะนั้น.
๒. เมื่อใส่ใจถึงเครื่องหมายอื่น อันประกอบด้วยกุศล ความคิดฝ่ายชั่วยังเกิดขึ้น ก็พึงจารณาโทษของความคิดฝ่ายชั่ว ก็จะละความคิดฝ่ายชั่ว ทำจิตให้เป็นมาธิได้. เปรียบเหมือนชายหนุ่มหญิงสาวที่รักสวยรักงาม รังเกียจซากศพสัตว์ต่าง ๆ ที่มาคล้องอยู่ที่คอฉะนั้น.
๓. เมื่อพิจารณาโทษของความคิดฝ่ายชั่วเหล่านั้น ความคิดฝ่ายยังเกิดขึ้น ก็พึงไม่ระลึกไม่ใส่ใจความคิดฝ่ายชั่วเหล่านั้น ก็จะละความคิดฝ่ายชั่ว ทำจิตให้เป็นสมาธิได้. เปรียบเหมือนคนตาดี ไม่ต้องการเห็นรูป ก็หลับตาเสีย หรือมองไปทางอื่น.
๔. เมื่อไม่ระลึก ไม่ใส่ใจความคิดฝ่ายชั่วเหล่านั้น ความคิดฝ่ายชั่วยังเกิดขึ้น ก็พึงใส่ใจถึงที่ตั้งแห่งเหตุของความคิด ( วิตักกสังขารสัณฐานะ คือให้ดูอะไรเป็นเหตุให้ความคิดฝ่ายชั่วเกิดขึ้น ) ก็จะละความคิดฝ่ายชั่ว ทำจิตให้เป็นสมาธิได้ . เปรียบเหมือนคนเดินเร็ว เดินช้าลง หยุด ยืน นั่ง นอน สละอิริยาบถหยาบ ๆ ลง สำเร็จอิริยาบถละเอียดขึ้น.
๕. เมื่อใส่ใจถึงที่ตั้งแห่งเหตุของความคิดฝ่ายชั่วเหล่านั้น ความคิดฝ่ายชั่วยังเกิดขึ้น ก็พึงเอาฟันกดฟัน เอาลิ้นกดเพดาน ข่มขี่บีบคั้นจิต. เปรียบเหมือนคนมีกำลังกว่า จับคอคนมีกำลังน้อยกว่า ข่มขี่บีบคั้นฉะนั้น.
สรุป
เมื่อทำได้อย่างนั้น ภิกษุนี้ชื่อว่าชำนาญในทางที่เกี่ยวกับความคิด ( วิตก ความตรึก ) ประสงค์จะคิดเรื่องอะไร ก็คิดได้ ไม่ประสงค์จะคิดอะไร ก็ไม่คิดได้ นับว่าตัดตัญหาได้ คลายเครื่องรัดได้ ทำความทุกข์ให้ถึงที่สุดได้ ด้วยการตรัสรู้เรื่องจิตใจโดยชอบ.
จบวรรคที่ ๒ ขึ้นวรรที่ ๔ ชื่อโอปัมมวรรค คือวรรคที่กล่าวถึงข้ออุปมา มี ๑๐ สูตร.
________________________________________
๑. คำว่า เล็กหรือน้อย คู่กับใหญ่ หมายความว่ามีสูตรซ่ำกัน ๒ สูตร ก็ต้องใช้คำว่า น้อย สูตรหนึ่ง ใหญ่ สูตรหนึ่ง เพื่อเป็นเครื่องหมายจำง่าย และเป็นเครื่องหมายยาวสั้นกว่ากันด้วย
๒. เรื่องของสุนักขัตตลิจฉวีมีปรากฏในปาฏิกสูตรที่ ๑ แห่งเล่ม ๑๑ ซึ่งย่อไว้แล้วที่ พระสุตตันตะเล่มที่ ๓ หน้า ๑ โปรดดูประกอบด้วย
๓. คำว่า ความเป็นใหญ่แปลจากคำว่า อาสภณฺฐาน ซึ่งแปลตามตัวว่า ฐานะแห่งความเป็นโคผู้ ( อุสภะ ) โดยใจความ หมายถึงความเป็นหัวหน้า เป็นผู้นำ
๔. อรรถกถาเล่าว่า พวกเด็กเลี้ยงโคพยายามรังแกด้วยประการต่าง ๆ ด้วยต้องการจะให้รับสั่ง แต่ก็ทรงนิ่งเฉย อันเป็นพฤติการณ์ตอนหนึ่งระหว่างทรงค้นหาความจริงเพื่อตรัสรู้
๕. เล็กหรือใหญ่ คำนี้มิได้หมายความว่ากองทุกข์เล็กหรือกองทุกข์ใหญ่ หมายถึงสูตรใหญ่ สูตรเล็ก ที่มีชื่ออย่างเดียวกัน จึงต้องใช้คำว่า ใหญ่ เล็ก มาประกอบเพื่อจำง่าย
๖. คำว่า แฝงตัวตามแปลจากคำว่า อนุเสนฺติ โดยพยัญชนะว่า นอนตาม คือมีอยู่อย่างไม่ค่อยปรากฏตัวเหมือนตะกอนนอนก้นตุ่ม ต่อเมื่อมีอะไรมากกวานจึงขุ่นขึ้น
๗. คำนี้มีในสักกปัญหาสูตรที่ ๘ พระสุตตันตะเล่มที่ ๒ หน้า ๓ โปรดดูบันทึกทางวิชาการในภาค ๕ ด้วย
๘. คำว่า เครื่องหมายหรือนิมิตก็คืออารมณ์ที่จะให้จิตกำหนดนั้นเอง
๙. มีข้อน่าสังเกตุในที่นี้ คือแสดงความคิดฝ่ายชั่วว่าประกอบด้วยฉันทะ โทสะ โมหะ ตามธรรมดากิเลสฝ่ายชั่วเคยเรียงราคะ โทสะ โมหะ หรือโลภะ โทสะ โมหะ แต่ในที่นี้ใช้ ฉันทะ ความพอใจมาแทนราคะ หรือโลภะ
๒๑ . กกจูปมสูตร
สูตรว่าด้วยเปรียบด้วยเลื่อย
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ตรัสสอนภิกษุชื่อโมลิยผัคคุ ผู้คลุกคลีด้วยนางภิกษุณีทั้งหลายจนเกินขอบเขต เมื่อมีใครติเตียนนางภิกษุณีต่อหน้าเธอ เธอก็โกรธเคืองก่ออธิกรณ์ หรือเมื่อมีใครติเตียนเธอต่อหน้าภิกษุณีทั้งหลาย นางภิกษุณีทั้งหลายก็โกรธเคืองก่ออธิกรณ์ โดยทรงสั่งสอนให้ละความพอใจแบบชาวบ้าน ( เคหสิตะ = อาศัยบ้าน ) เมื่อมีใครติเตียนหรือทำร้ายด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ด้วยไม้พลองด้วยศัสตรา ซึ่งนางภิกษุณีทั้งหลายหรือแม้ซึ่งตัวเธอเอง ก็ให้สำเนียกว่า จักไม่ให้จิตปรวนแปร จักไม่เปล่งวาจาชั่วร้าย จักมีเมตตาจิต หวังอนุเคราะห์ ไม่ตกอยู่ในระหว่างแห่งโทสะ.
๒. ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย เล่าให้ฟังถึงเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายเคยยังพระหฤทัยของพระองค์ให้ยินดีมาแล้วในสมัยหนึ่ง ๑ . คือทรงแนะนำเรื่องฉันอาหารมื้อเดียว ๒ . ไม่ต้องสั่งสอนเพียงแต่แนะนำให้เกิดสติ เปรียบเหมือนสารถีขึ้นสู่รถที่เทียมไว้ดีแล้ว ให้รถแล่นไปแล่นกลับได้ตามปรารถนา ( ไม่ต้องเฆี่ยนตีม้า ). ครั้นแล้วตรัสสอนให้ละอกุศล ทำความเพียรในกุศลธรรมก็จะเจริญงอกงามในพระธรรมวินัยนี้ เปรียบเหมือนคนปรารถนาดี ถางป่าไม้สาละ ที่เต็มไปด้วยละหุ่ง ( อันเป็นภัยต่อไม้สาละ ) ตัดต้นสาละหนุ่มที่คดออก บะรุงด้วยดีซึ่งต้นสาละหนุ่มที่ตรง ที่เกิดดีแล้ว ป่านั้นก็จะเจริญงอกงาม.
๓. ตรัสเล่าเรื่อง แม่เจ้าเรือน ชื่อเวเทหิกา ซึ่งมีชื่อเสียงว่าสงบเสเงี่ยม แต่ถูกนางทาสีลองดี ก็ตีศีรษะนางทาสีแตก เลยกลายเป็นคนมีชื่อเสียงว่าโหดร้าย แล้วตรัสสอนว่า จึงพึงรู้ได้ว่า ภิกษุสงบเสงี่ยมหรือไม่ ก็ต่อเมื่อมีถ้อยคำที่ไม่พอใจมากระทบ และตรัสว่า ยังไม่ตรัสว่า ภิกษุเป็นผู้ว่าง่ายเพราะเห็นแก่ปัจจัย ๔ เพราะถ้าไม่ได้ปัจจัย ๔ ก็ไม่ว่าง่าย แล้วตรัสสอนว่า เมื่อเคารพนบนอบธรรมก็ควรเป็นว่าง่าย.
๔. ตรัสถึงถ้อยคำ ( ศัพท์เต็ม วจนปถา = ทางแห่งถ้อยคำ ) ๕ ประเภท คือ ๑. ถูกกาละ หรือไม่ถูกกาละ ๒. จริง หรือไม่จริง ๓. อ่อนหวาน หรือหยาบคาย ๔. ประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๕. พูดด้วยจิตเมตตา หรืออยู่ในระหว่างโทสะ ที่คนอื่นมาว่ากล่าวก็พึงสำเนียกว่าจักคุมจิตไม่ให้ปรวนแปร จักไม่เปล่งวาจาหยาบคาย มักมีเมตตาจิต หวังอนุเคราะห์ ไม่ตกอยู่ในระหว่างแห่งโทสะ แผ่จิตอันประกอบด้วยเมตตาไปยังบุคคลนั้นและสัตว์อื่นทั่วโลก.
๕. ตรัสสอนให้คอบคุมจิตให้มีคุณธรรรมดังกล่าวข้างต้น แล้วให้ทำจิตเสมอด้วยแผ่นดิน ซึ่งใครจะขุดให้หมดไปจากโลกไม่ได้ ; เสมอด้วยแม่น้ำคงคาซึ่งใครจะเอาคบหญ้ามาเผาให้แห่งไม่ได้ ; เสมอด้วยถึงที่ทำด้วยหนังแมวฟอกดีแล้วอ่อนนุ่ม ซึ่งใครจะเอาไม้เอาก้อนกรวดมาทำให้เกิดเสียงไม่ได้.
๖. ตรัสว่า โจรเอาเลื่อยมีคม ๒ ข้างมาเลื่อยตัดอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้ใดมีใจคิดประทูษร้ายในโจรนั้น ผู้นั้นไม่ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระองค์ . แล้วตรัสสอนให้ควบคุมจิตให้มีคุณธรรมดั่งข้างต้น.
๗. ตรัสรุปในที่สุดให้ภิกษุทั้งหลายใส่ใจเนือง ๆ ถึงพระโอวาทอันเปรียบด้วยเรื่องเลื่อยนี้ อันจะทำให้ไม่มีถ้อยคำที่อดทนไม่ได้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ ความสุขสิ้นกาลนาน.
๒๒ . อลคัททูปมสูตร
สูตรแสดงข้อเปรียบเทียบด้วยงูพิษ
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ภิกษุชื่ออริฏฐะ ผู้สืบสกุลที่เคยฆ่าแร้ง มีความเห็นผิดเกิดขึ้นว่า ธรรมะที่พระผู้มีพระภาคแสดงว่ามีอันตรายนั้น ไม่เป็นอันตรายแก่ผู้ส้องเสพจริง ภิกษุทั้งหลายตักเตือนก็ไม่ฟัง ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค ทรงเรียกไปชี้แจง ก็นั่งนิ่งเก้อเขินถอนใจ ไม่มีปฏิภาน.
๒. จึงตรัสต่อไปถึงบางคนผู้เรียนธรรม ๓ . แต่ไม่พิจารณาความหมายของธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา เมื่อไม่พิจารณาความหมาย ธรรมะของคนเหล่านั้นก็ไม่ทนต่อการเพ่ง คนเหล่านั้นเรียนธรรมะเพียงเพื่อจะยกโทษผู้อื่นและเพื่อเปลี้องวาทะของผู้อื่น จึงไม่ได้ประโยชน์ของการเรียน ธรรมะที่เรียนไม่ดี จึงเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เปรียบเหมือนคนต้องการงูพิษ แต่จับไม่ดี ก็อาจถูกงูกัดตายหรือปางตาย ส่วนคนที่เรียนดี พิจารณาความหมาย เป็นต้น ก็ได้รับประโยชน์จากการเรียน เหมือนคนต้องการงูพิษ จับงูพิษดี ก็ไม่ถึงแก่ความตาย ไม่ได้รับทุกข์ปางตายฉนั้น.
๓. ตรัสถามที่สำคัญต่อไปว่า เพราะฉะนั้น พึงเข้าใจความหมายแห่งภาษิตของเราแล้วทรงจำไว้ ถ้าไม่เข้าใจ ก็พึงไต่ถามเราหรือภิกษุผู้ฉลาด เราแสดงธรรมมีออุปมาด้วยเเพ เพื่อให้ถอนตัว ( นิตถรณะ ) ไม่ใช่เพื่อให้ยึดถือ ( คหณะ ) เหรียบเหมือนคนข้ามฝั่งน้ำด้วยอาศัยเเพ เมื่อถึงฝั่งแล้วไม่จำเป็นต้องแบกแพไปด้วย . เมื่อรู้ธรรมะที่เราแสดงเปรียบด้วยเเพ ก็พึงละแม้ธรรมะ จะกล่าวไยถึงอธรรมว่าจะไม่ต้องละ.
๔. ทรงแสดงที่ตั้งแห่งความเห็น ๖ อย่าง คือ รูป , เวทนา , สัญญา , สังขาร , สิ่งที่เห็น ที่ฟังที่ทราบ ที่รู้ ที่ค้นหาด้วยใจ ( รวม ๕ อย่าง ) ที่บุคคลเห็นว่า นั้นเป็นของเรา เราเป็นนั้น นั้นเป็นตัวตนของเรา กับ ( อย่างที่ ๖ ) ยึดถือความเห็นที่ว่า โลกหรืออัตตาเที่ยง ว่าเป็นของเรา เราเป็นนั้น นั้นเป็นตัวตนของเรา. อริยสาวกผู้ได้สดับย่อมเห็นว่า สิ่งเหล่านั้นมิใช่ของเรา เราไม่เป็นนั้น นั้นมิใช่ตัวตนของเรา. เมื่อเห็นอย่างนั้น ก็ไม่สดุ้งดิ้นรนในเมื่อสิ่งนั้นไม่มี.
๕. เมื่อภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลถามถึงความสะดุ้งดิ้นรน และความไม่สะดุ้งดิ้นรนในสิ่งที่ไม่มีทั้งภายนอกภายใน ๔ . เป็นลำดับ จึงตรัสชี้แจงทั้งสี่ประการ.
๖. ตรัสแสดงว่า เมื่อยังหวงแหน ยังมีวาทะว่าตัวตน ยังอาศัยทิฏฐิ ( ที่ผิด ) ก็จะต้องเกิดความโศกความคร่ำครวญ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ และคับแค้นใจ.
๗. ตรัสว่า เมื่อมีตน ก็มีการยึดว่า สิ่งที่เนื่องด้วยตนของเรามีอยู่, เมื่อมีสิ่งเนื่องด้วยตน ก็มีการยึดว่าตนของเรามีอยู่ , เมื่อไม่ได้ตนหรือสิ่งที่เนื่องด้วยตนโดยแท้จริง ความเห็นว่าโลกเที่ยง อัตตาเที่ยง จึงเป็นธรรมะของคนพาลอันบริบูรณ์ ครั้นแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายให้เห็นด้วยตนเองว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดถือ . อริยสาวกผู้รู้เห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย คลายกำหนัด และหลุดพ้น . ต่อจากนั้นทรงแสดงข้อเปรียบเทียบภิกษุผู้หลุดพ้นในทำนองผู้ชนะศึกที่ตีเมืองอื่นได้.
๘. ตรัสว่า พระองค์ทรงบัญญัติทุกข์และความดับทุกข์ทั้งในกาลก่อนและในปัจจุบัน แต่สมณพราหมณ์บางพวกก็ยังกล่าวหาว่าทรงสอนขาดสูญ แล้วทรงแสดงต่อไปว่า ไม่ทรงอาฆาตหรือเสียใจเพราะมีผู้อื่นด่า ไม่ทรงชื่นชมโสมนัสเพราะมีผู้อื่นสักการะเคารพนับถือบูชา แล้วตรัสสอนภิกษุให้ทำเช่นนั้นบ้าง กับได้ตรัสสรุปว่า สิ่งที่ไม่ใช่ของท่าน จงละเสีย สิ่งที่ไม่ใช่ของท่านคือ ขันธ์ ๕ ( ความมุ่งหลายคือ เพื่อคลายความยึดถือ ).
๙. ทรงแสดงถึงผู้ปฏิบัติได้ผลในพระธรรมวินัยที่ตรัสไว้ดีแล้ว ตั้งแต่พระอรหันต์ลงมาถึงชั้นต่ำสุด คือผู้มีความศรัทธา มีความรักในพระองค์.
๒๓ . วัมมิกสูตร
สูตรแสดงข้อเปรียบเทียบด้วยจอมปลวก
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม พระกุมารกัสสปนำปัญหาของเทวดา ๑๕ ข้อติดต่อกันไปทูลถามว่า ได้แก่อะไร ปัญหานั้นโดยใจความว่า พราหมณ์สั่งศิษย์ให้ขุดจอมปลวก ซึ่งเป็นควันในเวลากลางคืน เป็นเปลวไฟในเวลากลางวัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงเฉลยว่า จอมปลวก ได้แก่กาย ( ของมนุษย์ ) เป็นควันในเวลากลางคืน เพราะคิดเรื่องราวต่าง ๆ เป็นเปลวไฟในเวลากลางวัน คือวุ่นวิ่งทำการงานด้วยกาย ด้วยวาจาในเวลากลางวัน พราหมณ์ที่สั่งให้ขุด คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศิษย์ผู้ขุด คือพระเสขะ ( ท่านผู้ยังศึกษา ) ศรัสตราที่ขุด คือปัญญา.
๒๔ . รถวินีตสูตร
สูตรแสดงข้อเปรียบเทียบด้วยรถ ๗ ผลัด
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ . พระปุณณะ มันตานีบุตร เป็นผู้ได้รับสรรเสริญจากภิกษุทั้งหลายที่อยู่ในชาติภูมิ ( เป็นที่แห่งหนึ่งในสักกชนบท ขึ้นแก่กรุงกบิลพัสดุ์ ) พระสารีบุตรจึงถือโอกาสที่ท่านมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วไปพักกลางวันในป่า เข้าไปพบสนทนาธรรมะกัน.
ธรรมะที่ท่านสนทนากันนั้น คือเรื่องวิสุทธิ ( ความบริสุทธิ์หรือความหมดจด ) ๗ อย่าง มีความหมดจดแห่งศีลเป็นข้อแรก มีความหมดจดแห่งญาณทัสสะ ( ความเห็นด้วยญาณ ) เป็นข้อที่ ๗ ๕ . ซึ่งพระปุณณะกล่าวว่า ท่านมิได้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อวิสุทธิเพียงข้อใดข้อหนึ่ง แต่ประพฤติเพื่อความดับโดยไม่มีเชื่อเหลือเพราะ วิสุทธิเหล่านี้เป็นเพียงเหมือนรถ ๗ ผลัดที่ส่งให้ถึงที่หมาย ( รถจึงมิใช่ที่หมาย แต่ส่งให้ถึงที่หมายได้ ).
ทั้งสองท่านต่างชื่นชมภาษิตของกันและกัน.
๒๕ . นิวาปสูตร
สูตรแสดงข้อเปรียบเทียบด้วยเหยื่อหรืออาหารสัตว์
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายถึงสมณพราหมณ์ ๔ ประเภท ที่ตกอยู่ในเงื้อมมือของมาร ๓ ประเภท พ้นไปได้เพียง ๑ ประเภท เปรียบเหมือนเนื้อ ๔ ประเภทที่ตกอยู่ในเงื้อมมือของนายพรานปู้เอาเหยื่อล่อ ๓ ประเภท พ้นไปได้เพียงประเภทเดียว. ทรงเปรียบโลกาทิส ( รูป, เสียง , กลิ่น , รส, โผฏฐัพพะ หรือกามคุณ ๕ ) ด้วยเหยื่อล่อ, เปรียบมารด้วยนายพราน, เปรียบบริษัทของมารด้วยบริษัทของนายพราน , เปรียบสมณะพราหมณ์ด้วยหมู่เนื้อ.
๑. สามณพราหมณ์พวกแรก ติดโลกามิส ไม่พ้นเงื้อมมือมาร จึงเปรียบเหมือนเนื้อพวกแรกที่เห็นแก่เหยื่อล่อของนายพราน.
๒. สมณพราหมณ์พวกที่สอง ไม่ติดตอนแรก แต่ไปติดตอนหลัง ( ไม่อดทนต่อความอดอยาก ) เปรียบเหมือนเนื้อพวกที่สองที่หนีเหยื่อตอนแรก แต่ทนอดไม่ได้ ต้องมาหาเหยื่อในภายหลัง.
๓. สมณพราหมณ์พวกที่สาม ไม่ติดอามิสความเห็นผิด เปรียบเหมือนเนื้อพวกที่สามที่ไม่ติดเหยื่อล่อ แต่ถูกล้อมจับด้วยเครื่องมือจับสัตว์.
๔. สมณพราหมณ์พวกที่สี่ ซึ่งไม่ติดอามิส ไม่ติดทิกฐิ ไม่ประมาท จึงพ้นจากเงื้อมมือมาร เปรียบเหมือนเนื้อพวกที่สี่ ซึ่งไม่ติดเหยื่อล่อ และไม่ถูกล้อมจับได้.
ตรัสแสดงข้อปฏิบัติ คือรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ ๖ . ว่ามิใช่คติของมารและบริษัทของมาร มารมองไม่เห็น.
๒๖ . ปสราสิสูตร ๗
สูตรแสดงข้อเปรียบเทียบด้วยบ่วงดักสัตว์
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ณ อาศรมของพราหมณ์ชื่อรัมมกะ แสดงการแสวงหาว่ามี ๒ อย่าง คือการแสดงหาไม่ประเสริฐ กับการแสวงหาอันประเสริฐ.
๑ . การแสวงหาไม่ประเสริฐ คือแสวงหาสิ่งที่มี ความเกิด , ความแก่ , ความตาย , ความโศก , ความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ส่วนการแสวงหาอันประเสริฐ คือแสวงหาพระนิพพาน อันไม่มีความเกิด เป็นต้น เป็นธรรมดา.
๒. ตรัสเล่าเหตุการณ์ในสมัยที่พระองค์ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ว่า ทรงมีความเกิด เป็นต้น เป็นธรรมดา แต่ก็หาแสวงหาสิ่งที่มีความเกิด เป็นต้น เป็นธรรมดา จึงทรงพระดำริที่จะทรงแสวงหาพระนิพพาน.
๓. ตรัสเล่าเรื่องที่เสด็จออกผนวช เมื่อยังอยู่ในวัยหนุ่ม เสด็จไปศึกษาในสำนักของอาฬารดาบสกาลามโครต ทรงศึกษาปฏิบัติสมาบัติชื่ออากิญจัญญาตนะ ( นับเป็นสมาบัติที่ ๗ ซึ่งเพ่งอารมณ์เห็นว่าไม่มีอะไร ) เมื่อทรงเห็นว่ามิใช่ทางพระนิพพาน จึงเสด็จออกจากสำนักนั้น ไปศึกษาในสำนักของอุททกดาบสรามบุตร ทรงศึกษาปฏิบัติสมาบัติเนวสัญญายตนะ ( นับเป็นสมาบัติที่ ๘ ที่ละเอียดถึงขนาดว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ) ซึ่งก็ทรงเห็นว่ายังมิใช่ทางพระนิพพาน.
๔. จึงเสด็จไปสู่ตำบนอุรุเวลาเสนานิคม ทรงทำความเพียรจนได้ค้นพบพระนิพพาน และเห็นธรรมะนี่ลุ่มลึก จึงคิดจะไม่ทรงแสดงธรรม ต่อท้าวสหัมบดีพรหมมาอาราธนา จึงทรงตกลงพระหฤทัยจะแสดงธรรม.
๕. ครั้งแรกทรงคิดถึงดาบสทั้งสองที่เคยทรงศึกษาด้วย แต่ทรงทราบว่าตายเสียแล้ว จึงทรงรำลึกถึงพระปัญจวัคคีย์ ( ภิกษุ ๕ รูป ) ซึ่งเคยรับใช้พระองค์มาในระหว่างทรงทำความเพียร ในระหว่างที่เสด็จไปสู่กรุงพาราณสีได้ทรงพบอุปกาชีวก แต่อุปกาชีวกไม่เลื่อมใสที่ทรงตอบคำถามว่า ทรงตรัสรู้ได้เอง จึงหลีกไป ครั้นแล้วได้แสดงธรรมโปรดภิกษุปัญจวัคคีย์เมื่อเสด็จไปที่พักของเธอ.
๖. ใจความในพระธรรมเทศนา ( เป็นเชิงเตือนใจก่อนแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ) ว่า กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ ทำให้สมณพราหมณ์ผู้ติดอยู่ถึงความพินาศเหมือนเนื้อติดบ่วง.
๗. ทรงแสดงข้อปฏิบัติ ตั้งแต่ฌานที่ ๑ ถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ รวม ๙ ข้อ เหมือนในนิวาปสูตรว่า ไม่ไปสู่ทางของมาร.
๒๗ . จูฬหัตถิปโทปมสูตร
สูตรแสดงข้อเปรียบเทียบด้วยรอยเท้าช้าง สูตรเล็ก
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ชาณุสโสณิพราหมณ์ได้ฟังปริพพาชกผู้นุ่งผ้าผ่อนท่อนเก่า สรรเสริญพระพุทธเจ้า ๔ ข้อ ( จำแนกตามประเภทบุคคล ) คือ กษัตริย์ , พราหมณ์ , คฤหบดี , ผู้เป็นบัณฑิตแต่งปัญหาเตรียมยกวาทะ พอได้พบปะชื่นชมด้วยธรรมกถา ก็เลยไม่ถาม เลยไม่ได้ยกวาทะ กลายมาเป็นสาวกของพระสมณโคดมไป และ สมณะ ผู้เป็นบัณฑิตก็เช่นกัน แต่งปัญหาเตรียยกวาทะ พอได้พบปะชื่นชมด้วยธรรมกถา ก็เลยไม่ถาม เลยไม่ได้ยกวาทะ ขอโอกาสออกบวช ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อยู่ในปัจจุบัน. สมณะเหล่านั้นย่อมกล่าวว่า เมื่อก่อนไม่ได้เป็นสมณะ ไม่เป็นพราหมณ์ ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แต่ปฏิญญาตนว่าเป็น แต่บัดนี้เป็นสมณะ เป็นพราหมณ์ เป็นพระอรหันต์ ( จริง ๆ แล้ว ) . ชาณุสโสณิพราหมณ์ก็เลื่อมใส ลงจากรถขาว เทียมด้วยม้าขาว ทำผ้าห่มเฉวียงบ่า เปล่งวาจานมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า ( นโม ตสฺส ฯลฯ )
๒. ชาณุสโสณิพราหมณ์ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลความที่ได้สดับจากปริพพาชกผู้นุ่งผ้าท่อนเก่านั้นทุกประการ. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ พรรณาถึงการที่พระตถาคตเกิดขึ้นในโลก ทรงแสดงธรรมแล้ว คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีได้สดับธรรมออกบวช เว้นจากความชั่วต่าง ๆ มีศีล สำรวมอินทรีย์ มีสติสัมปชัญญะเสพเสนาสนะอันสงัด ชำระจิตจากนีวรณ์ ๘ . ๕ บำเพ็ญสมาธิจนได้ฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ , ได้ปุพเพนิวาสานุสสติฌาณ ( ญาณอันทำให้ระลึกชาติได้ ) , ได้จุตูปปาตญาณ ( ญาณเห็นความตาย ความเกิด หรือทิพยจักษุญาณก็เรียก ) , ได้อาสวักขยญาณ ( ญาณอันทำให้อาสวะคือกิเลสที่ดองสันดานให้สิ้น ) แต่ละขั้นที่บำเพ็ญมาตั้งแต่ได้ฌาณที่ ๑ จนถึงได้อาสวักขยญาณ ก็ยังไม่ปลงใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ดีโดยชอบ , พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว , พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว. ต่อเมื่อจิตพ้นจากอาสวะ และเกิดญาณรู้ว่าพ้นแล้ว ชาติสิ้นสุดแล้ว จบพรหมจรรย์แล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงความเป็นอย่างนี้อีก ที่เทียบด้วยร่องรอยของตถาคต ธรรมะที่ตถาคตส้องเสพ และหักรานแล้ว ๙ . จึงถึงความปลงใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ดีโดยชอบ เป็นต้น เปรียบเหมือนคนที่เข้าไปสู่ป่าที่ช้างอยู่ เห็นรอยเท้าช้างใหญ่ ยาว กว้าง เห็นที่ซึ่งช้างเสียดสีในเบื้องสูง ถ้าเป็นผู้ฉลาดก็ยังไม่ปลงใจทีเดียวว่า ช้างตัวนี้ใหญ่ เพราะมีช้างพัง ( ช้างตัวเมีย ) ชื่ออุจจากฬาริกา ที่มีรอยเท้าใหญ่ อาจเป็นรอยเท้าของช้างพังนั้นก็ได้ . หรือเห็นรอยเท้าช้างใหญ่ ยาว กว้าง เห็นที่ซึ่งช้างเสียดสีในเบื้องสูง เห็นรอยงาระเบื้องสูง ถ้าเป็นผู้ฉลาด ก็ยังไม่ปลงใจทีเดียวว่าช้างตัวนี้ใหญ่ เพราะมีช้างพังชื่ออุจจากเรณุกา ที่มีรอยเท้าใหญ่ อาจเป็นรอยเท้าของช้างพังนั้นก็ได้. ต่อเมื่อเห็นรอยเท้าช้างใหญ่ ยาว กว้าง เห็นที่ซึ่งช้างเสียดสีในเบื้องสูง เห็นรอยงาระในเบื้องสูง และเห็นพญาช้างนั้นซึ่งกำลังไปสู่โคนไม้หรือกลางแจ้ง หรือยืน หรือเทา ( นั่ง ) หรือนอน เขาจึงปลงใจว่า นี้แหละคือช้างใหญ่ฉะนั้น.
ชาณุสโสณิพราหมณ์ก็เลื่อมใสพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
๒๘ . มหาหัตถิปโทปมสูตร
สูตรแสดงข้อเปรียบเทียบด้วยรอยเท้าช้าง สูตรใหญ่
๑ พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ใจความว่า กุศลธรรมทุกอย่าง ย่อมรวมลงในอริยสัจจ์ ๔ เหมือนรอยเท้าสัตว์ทุกชนิดรวมลงในรอยเท้าช้าง.
๒. ครั้นแล้วได้อธิบายรายละเอียดเฉพาะทุกขอริยสัจจ์ข้อแรก โดยแสดงความเกิดแก่ตาย เป็นต้น ว่าเป็นทุกข์ และกล่าวรวบยอดอุปาทานขันธ์ ( กองแห่งรูปนามที่ยึดถือ ) ๕ อย่างว่าเป็นทุกข์ และได้อธิบายโดยพิเศษ เฉพาะกองรูปซึ่งแยกออกเป็นรูปใหญ่ (มหาภูตรูป ) คือรูปที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ กับอุปาทารูป ( รูปอาศัย คือต้องอาศัยธาตุ ๔ จึงปรากฏ ) แล้วได้แจกรายละเอียดเรื่องธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ทีละข้อจนจบ โดยสรุปท้ายในตอนท้ายในตอนจบว่า ความพอใจ ความอาลัยในอุปทานขันธ์ ๕ เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด นำออกเสียละเสีย ซึ่งความพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นความดับทุกข์ ส่วนข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ไม่ได้แสดงโดยตรงหากได้พูดไว้ท้ายการแจกรายละเอียดเรื่องทุกข์อต่ละข้อ.
๒๙ . มหาสาโรปมสูตร
สูตรแสดงข้อเปรียบเทียบด้วยแก่นไม้ สูตรใหญ่
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ ตรัสแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงการที่ผู้ออกบวชได้ผลดีบางอย่าง หรือทำความดีบางอย่างให้เกิดแล้วมัวเมาประมาท ยกตนข่มผู้อื่น เพราะเหตุแห่งผลดีหรือความดีนั้น ๆ เทียบด้วยผู้ถือเอาสิ่งที่มิใช่แก่นไม้ว่าเป็นแก่นไม้ ในที่สุดได้ทรงแสดงความหลุดพ้นแห่งใจที่ไม่กำเริบว่าเป็นเหมือนแก่นไม้ . ต่อไปนี้เป็นข้อเปรียบเทียบที่ทรงแสดง.
๑. ลาภสักการะชื่อเสียง เปรียบเหมือนกิ่งและใบไม้
๒. ความสมบูรณ์ด้วยศีล เปรียบเหมือนสะเก็ดไม้
๓. ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ เปรียบเหมือนเปลือกไม้
๔. ญาณทัสสะ ( ความหลุดพ้นแห่งใจที่กลับกำเริบ ) เปรียบเหมือนกะพี้ไม้.
๕. อกุปปา เจโตวิมุติ ( ความหลุดพ้นแห่งใจที่ไม่กลับกำเริบ ) เปรียบเหมือนแก่นไม้.
๓๐ . จูฬสาโรปมสูตร
สูตรแสดงข้อเปรียบเทียบด้วยแก่นไม้ สูตรเล็ก
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย มีใจความคล้ายคลึงกับสูตร ๒๙ ข้างบนนี้ โดยเฉพาะจูฬสาโรปมสูตรนี้แปลไว้อย่างละเอียดแล้วในข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๑.
จบวรรคที่ ๓ ขึ้นวรรคที่ ๔ ชื่อมหามกวรรค คือวรรคที่มีสูตรคู่ขนาดใหญ่ ( คู่กับ จูฬยมกวรรค คือวรรคที่มีสูตรคู่ขนาดเล็กซึ่งอยู่ถัดไป ) มี ๑๐ สูตร.
________________________________________
๑. หมายถึงสมัยแรก ๆ ภิกษุชั้นดีมีมาก ไม่ต้องกล่าวกันมาก เพียงแนะนำก็รับไปปฏิบัติ อรรถกถาเล่าเพื่อชี้ให้เห็นว่า พระโมลิยผัคคุเป็นพระดื้อว่ายาก
๒. เอกาสนโภชนํ ( การฉันบนอาสนะเดียว ) อรรถกถาแก้ว่า หมายถึงกำหนดเวลาฉันอาหารเช้าชั่วเที่ยง จะฉันสัก ๑๐ ครั้งในกำหนดนั้น ก็ชื่อว่าฉันมื้อเดียว เป็นเรื่องน่าพิจารณา
๓. ในรายละเอียดได้แจกออกไปด้วยว่า ธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เป็นต้น โดยใจความก็คือ ธรรมะในที่นี้ หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ๙ อย่าง มีสุตรเป็นต้น
๔. อรรถกถาชี้ว่าภายนอกเช่น เครื่องใช้ ภายใน ได้แก่ขันธ์ หรือส่วนประกอบที่รวมเป็นกายใจ
๕. ดูข้อความละเอียดในทสุตตรสูตรที่ ๑๑ แห่งพระไตรปิฎก เล่ม ๑๑ ซึ่งย่อไว้ในเล่มนี้แล้ว ลำดับแห่งวิสุทธิ ๗ (พระสุตตันตะเล่ม ๓ หน้าที่ ๔ ) มีในหมวด ๙ ซึ่งในที่นั้นแสดงวิสุทธิ ๙
๖. ธรรมะเป็นเครื่องอยู่แห่งใจ ๙ ประการนี้ มีแปลและอธิบายไว้แล้วในข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๑๙๙ , ๒๐๐
๗. ฉบับยุโรปเรียกอริยปริเยสนสูตร แปลว่า สูตรว่าด้วยการแสดงหาอันประเสริฐ
๘. พึงสังเกตอย่างหนึ่งว่านีวรณ์ ๕ ที่กล่าวถึงในสูตรนี้ และในหลายสูตร เช่น สามัญญผลสูตร ดูที่ (พระสุตตันตะ เล่ม ๑ หน้าที่ ๑ และสูตรอื่น ๆ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ ( ดูที่ พระสุตตันตะเล่ม ๓ หน้าที่ ๑ ใช้อภิชฌาแทนกามฉันท์ในข้อแรกเสมอ
๙. ความจริงตรงนี้ใช้สำนวนอุปมาเกี่ยวกับช้าง คือรอยเท้าช้าง เทียบด้วยร่องรอยของพระตถาคต , ที่ที่ช้างเสียดสี เทียบด้วยธรรมะที่พระตถาคตส้องเสพ , กิ่งใบไม้ที่ช้างเอางาระ เทียบด้วยธรรมะ ( ฝ่ายชั่ว ) ที่พระตถาคตหักราน อรรถกถาอธิบายว่า เปรียบเหมือนเสียดสีหรือเคี้ยวด้วยญาณ
๓๑ . จูฬโคสิงคสาลสูตร
สูตรว่าด้วยป่าไม้สาละชื่อโคสิงคะ สูตรเล็ก
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ที่พักแรมทำด้วยอิฐในนาทิกคาม เสด็จไปเยี่ยมพระอนุรุทธ์ พระนันทิยะ พระกิมพิละ ณ ป่าโคสิงตสาลวัน ๑ . แต่ผู้เฝ้าป่าไม่รู้จัก จึงไม่อนุญาตให้เสด็จเข้าไป พระอนุรุทธ์พูดกับผู้เฝ้าป่าแนะนำให้รู้จักว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมา แล้วชวนพระนันทิยะและพระกิมพิละมาเฝ้ารับบาตรจีวร ปูอาสนะถวาย.
๒. ตรัสถามถึงความอยู่เป็นผาสุก ก็กราบทูลว่า ต่างอยู่กันอย่างตั้งเมตตาทางกาย วาจา ใจ ต่อกัน พยายามไม่ทำอะไรตามใจตน แต่รู้จักทำตามใจผู้อื่น แม้จะมีกายต่างกัน แต่มีจิตเสมือนเป็นอันเดียวกัน.
๓. ตรัสถามถึงการอยู่อย่างไม่ประมาท มีความเพียร ก็กราบทูลถึงพฤติกการณ์ที่ได้อยู่กันอย่างไม่ประมาท มีความเพียร.
๔. ตรัสถามถึงการบรรลุคุณพิเศษ ก็กราบทูลถึงคุณพิเศษที่ได้เริ่มต้นแต่รูปฌาน ๔ จนถึงอรูปฌาน ๔ และคุณพิเศษที่สูงขึ้นไปกว่านั้นอีกข้อหนึ่ง คือสัญญาเวทยิตนิโรธ ( สมบัติที่ดับสัญญาและเวทนา )
๕. พระผู้มีพระภาคทรงสนทนาด้วยธรรมิกถากับพระเถระเหล่านั้นพอสมควรแล้วก็เสด็จหลีกไป. ต่อจากนั้นก็มีเสียงสดุดีจากยักษ์ชื่อทีฆปรชนถึงพระเถระทั้งสามรูปนั้น เมื่อไปเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าเป็นลาภของชาววัชชี ( นาทิกคามอยู่ในแคว้นวัชชี ) ที่พระผู้มีพระภาคเสด็จมาประทับอยู่พร้อมด้วยพระอนุรุทธ์ พระนันทิยะ และพระกิมพิละ และเสียงสดุดีนั้นก็กล่าวต่อกันไปถึงพรหมโลก.
๓๒ . มหาโคสิงคสาลสูตร
สูตรว่าด้วยป่าไม้สาละชื่อโคสิงคะ สูตรใหญ่
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าโคสิงคสาลวัน พร้อมด้วยพระเถระผู้ใหญ่ที่มีชื่อ คือ พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสป พระอนุรุทธ์ พระเรวตะ พระอานนท์ และพระสาวกผู้มีชื่อที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ .
๒. เวลาเย็นพระมหาโมคคัลลานะชวนพระมหากัสสปเพื่อไปฟังธรรมของพระสารีบุตร พระอานนท์ก็ชวนพระเรวตะไปหาพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรมเช่นกัน เมื่อไปประชุมพร้อมกันแล้ว พระสารีบุตรก็ตั้งปัญหาถามพระอานนท์ก่อนว่า ป่าโคสิงคสาลวันนี้งามแก่ภิกษุเช่นไร. พระอานนท์ ตอบว่า งามสำหรับภิกษุผู้สดับตรับฟังมาก. เมื่อถามพระเถระอื่น ๆ ต่างก็ตอบว่างามสำหรับภิกษุผู้มีคุณธรรมนั้น ๆ ตามที่ท่านพอใจ คือ พระเรวตะ ว่างามสำหรับภิกษุผู้หลีกเร้น ประกอบเจโตสมถะ ( ความสงบแห่งจิต ) ในภายใน. พระอนุรุทธ์ ว่างามสำหรับภิกษุผู้มีทิพยจักษุ. พระมหากัสสป ว่างามสำหรับภิกษุผู้อยู่ป่า , เที่ยวบิณฑบาต นุ่งห่มผ้าบังสกุล ( ผ้าเปื้อนฝุ่นที่เก็บตกนำมาปะติดปะต่อเป็นจีวร ) จึงถึงสมบูรณ์ด้วยศีล , สมาธิ , ปัญญา , วิมุติ , วิมุตติญาณทัสสนะ . พระโมคคัลลานะ ว่างามในเมื่อภิกษุ ๒ รูป สนทนาถามตอบอภิธัมมกถากัน เมื่อพระมหาโมคคัลลานะย้อนถามพระสารีบุตรบ้าง พระสารีบุตร จึงตอบว่า งามสำหรับภิกษุผู้คุมจิตไว้ในอำนาจได้ ปรารถนาจะอยู่ด้วยธรรมะเป็นเครื่องอยู่อันใดในเวลาไหน ก็อยู่ได้ดังประสงค์
๓. ครั้นแล้วพระสารีบุตรจึงชวนพระเถระเหล่านั้นไปเฝ้า กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ตรัสรับรองคำกล่าวของพระเถระทุกรูป แต่เมื่อกราบทูลถามว่า ภาษิตของรูปใดจะชื่อว่ากล่าวดีแล้ว ตรัสตอบว่า กล่าวดีทุกรูปโดยปริยาย ( คือในแง่ใดแง่หนึ่ง ) พระองค์เองตรัสว่า ป่านี้งามสำหรับภิกษุผู้กลับจากบิณฑบาต นั่งคู้บัลลังก์ ( ขัดสมธิ ) ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ตั้งใจว่าจะไม่เลิกสมาธิตราบใดที่จิตไม่พ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน.
(หมายเหตุ: เรื่องนี้เห็นชัดว่า พระเถระทั้งหลายกล่าว่า ป่านี้งามสำหรับผู้มีคุณพิเศษต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้เลอเลิศอยู่แล้ว แต่พระผู้มีพระภาคกลับตรัสว่า ป่านี้งามสำหรับภิกษุผู้ยังไม่มีคุณพิเศษอะไรเลย แต่เพียรพยายาม มีความตั้งใจมั่นว่า ถ้ายังไม่หมดอาสวะจะไม่ลุกขึ้น. นับเป็นข้อเฉลยที่น่าเลื่อมใสว่า พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงมองเฉพาะภิกษุผู้วิเศษด้วยคุณธรรมแล้ว แต่ทรงถือว่าผู้ยังไม่บรรลุอะไรเลยก็สำคัญอยู่มากเป็นพิเศษ สมกับการที่พระพุทธศาสนาตั้งขึ้นมิใช่เพื่อผู้มีคุณธรรมสูงแล้วเท่านั้น แต่เพื่อคนเดินถนนหรือสามัญชนธรรมดานี้เอง).
๓๓ . มหาโคปาลสูตร
สูตรแสดงข้อเปรียบเทียบด้วยคนเลี้ยงโค สูตรใหญ่
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ตรัสแสดงถึงการขาดและความสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมของภิกษุ ๑๑ อย่าง เทียบเคียงด้วยการขาดหรือการมีความสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติของคนเลี้ยงโค ๑๑ ข้อ ว่าจะทำให้ภิกษุไม่ควรถึงหรือควรถึงความเจริญงอกงามในพระธรรมวินัยนี้.
๒. คุณสมบัติของคนเลี้ยงโค เทียบด้วยคุณธรรมของภิกษุดังต่อไปนี้ ( การขาดคุณสมบัติ พึงรู้โดยตรงกันข้าม )
๑. รู้จักรูป เทียบด้วยรู้จักรูปใหญ่และรูปอาศัย ๒
๒. รู้จักลักษณะ เทียบด้วยรู้จักลักษณะพาล ลักษณะบัณฑิต เพราะการกระทำของคนเหล่านั้น
๓. เขี่ยไข่ขัง ( เมื่อแมลงวันหยอดไข่ขังที่แผลโค ) เทียบด้วยละ , บันเทา , ทำให้สิ้นไป ซึ่งความคิดฝ่ายชั่ว ( อกุศลวิตก)
๔. ปิดแผล เทียบด้วยสมรวมอินทรีย์ คือ ตา หู เป็นต้น มิให้อกุศลบาปธรรมท้วมทับจิต.
๕. สุมควัน เทียบด้วยแสดงธรรมที่ฟังแล้ว เล่าเรียนแล้วแก่ผู้อื่นได้ โดยพิสดาร
๖. รู้จักท่าน้ำ เทียบด้วยรู้จักเข้าไปหาภิกษุผู้เชี่ยวชาญทางต่าง ๆ เช่น ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ( แม่บทของธรรม เช่น บทตั้งของธรรม ) แล้วไต่ถาม
๗. รู้จักน้ำดื่ม เทียบรู้อรรถรู้ธรรม เมื่อมีผู้แสดงธรรมที่พระตถาคตประกาศแล้ว
๘. รู้ทาง ( วิถี ) เทียบด้วยรู้จักอริยมรรคมีองค์ ๘ ( มีความเห็นชอบเป็นต้น ) ตามเป็นจริง
๙. ฉลาดในโคจร ( ทำเลที่โคควรเที่ยวไป ) เทียบด้วยรู้จักสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ อย่าง ตามความจริง ( ดูที่พระสุตตันตะปิฎกเล่ม ๒ ) หน้าที่ ๔
๑๐. ไม่รีดนมจนหมด เทียบด้วยรู้จักประมาณในการรับเมื่อผู้มีศรัทธาอนุญาตให้นำปัจจัย ๔ ไปได้
๑๑. บูชาโคผู้ ที่เป็นพ่อโค เป็นผู้นำฝูง เทียบด้วยแสดงความเคารพนับถือ พระภิกษุผู้เป็นเถระบวชนาน เป็นบิดาสงฆ์ เป็นผู้นำของสงฆ์.
๓๔ . จูฬโคปาลสูตร
สูตรแสดงข้อเปรียบเทียบด้วยคนเลี้ยงโค สูตรเล็ก
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ใกล้นครอุกกเวลา แคว้นวัชชี ตรัสเล่าเรื่องคนเลี้ยงโคชาวมคธผู้ไม่ฉลาด ไม่พิจารณาฝั่งนี้ฝั่งโน้นของแม่น้ำคงคา พาโคข้ามผิดท่าน้ำ ทางฝั่งด้านเหนือของแคว้นวิเทหะในฤดูสารทท้ายพรรษา โคทั้งหลายก็ว่ายเวียนในกระแสน้ำ จมน้ำตายกลางแม่น้ำคงคา เทียบด้วยสมณะพราหมณ์ผู้ไม่ฉลาดในเรื่องต่าง ๆ คือโลกนี้ โลกหน้า บ่วงมาร มิใช่บ่วงมาร บ่วงมัจจุ มิใช่บ่วงมัจจุ พลอยให้คนที่เชื่อฟังปราศจากประโยชน์ ได้รับความทุกข์ไปด้วยตลอดกาลนาน.
๒. ครั้นแล้วทรงแสดงถึงคนเลี้ยงโคชาวมคธ ผู้ฉลาดให้โคผู้ ที่เป็นพ่อโค เป็นผู้นำฝูงข้ามน้ำก่อนแล้วจึงให้โคที่มีกำลัง โคฝึก ลูกโคตัวผู้ตัวเมีย และลูกโคที่อ่อนกำลังข้ามตามไป. ตรัสว่า แม้ลูกโคที่คลอดในขณะนั้น ก็ว่ายน้ำตามแม่โค ตัดกระแสน้ำไปได้. สมณพราหมณ์ผู้ฉลาดก็ฉันนั้น ทำให้คนที่เชื่อฟังได้รับประโยชน์ความสุขไปด้วยตลอดกาลนาน.
๓. ทรงเปรียบโคผู้ ผู้นำฝูง ด้วยพระอรหันต์ขีณาสพ ที่ตัดกระแสของมารข้ามไปได้ เปรียบโคมีกำลังฝึก ด้วยประอนาคามี ผู้ละสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการได้ เปรียบลูกโคผู้ โคเมีย ด้วยพระสกทาคามี เปรียบลูกโคอ่อนกำลัง ด้วยพระโสดาบัน เปรียบโคที่เกิดในขณะนั้น ด้วยผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๓ ที่เรียกว่า ธัมมานุสารี ( ผู้แล่นไปตามธรรมะ ) และสัทธานุสารี ( ผู้เเล่นไปตามศรัทธา ).
๓๕ . จูฬสัจจกสูตร
สูตรว่าด้วยสัจจกนิครนถ์ สูตรเล็ก
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ศาลาเรือนยอดในป่าใหญ่ ใกล้กรุงเวสาลี ( แคว้นวัชชี ) ในสมัยนั้นสัจจกนิครนถ์ก็อาศัยอยู่ในกรุงเวลาลี เป็นผู้ชอบโต้เถียง ยกตนว่าฉลาด ชนหมู่ใหญ่ยกย่องว่าดี . สัจจนิครนถ์พูดในที่ประชุมชนกรุงเวสาลีว่า ไม่เห็นใครแม้ที่จะปฏิญญาตนว่าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง ที่ตนโต้ตอบด้วยแล้วจะไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลออกมาจากรักแร้ อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้ตนจะโต้ตอบกับต้นเสา ต้นเสาก็ยังหวั่นไหว.
๒ สัจจกนิครนถ์พบพระอัสสชิเถระ เช้าวันหนึ่ง จึงเข้าไปหาปราศรัยแล้วถามว่า พระสมณโคดมและนำสาวกอย่างไร คำสอนส่วนใหญ่คืออะไร พระอัสสชิตอบว่า ทรงสอนว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน สังขารทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน. สัจจกนิครนถ์ก็กล่าวว่า ท่านฟังมาไม่ดีแล้ว ที่ได้ฟังพระสมณโคดมผู้มีวาทะอย่างนี้ ตนพบพระสมณโคดมคราวใดคราวหนึ่งก็จะถ่ายถอนเสียจากความเห็นอันชั่วนี้ให้ได้ สัจจกนิครนถ์จึงเข้าไปยังที่ประชุมชนของเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ เล่าความที่โต้ตอบกับพระอัสสชิให้ฟัง และอวดอ้างว่าจะฟัดฟาดพระสมณโคดมเสียด้วยวาทะเหมือนดึงขนแกะเล่น เป็นต้น.
๓. สัจจกนิครนถ์จึงพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวี ๕๐๐ ไปยังศาลาเรือนยอดป่ามหาวัน เมื่อพบพระพุทธเจ้าแล้วกล่าวขอโอกาสเพื่อให้ตอบปัญหา พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ถามได้ ก็ถามว่า ทรงแนะนำสาวกอย่างไร คำสอนส่วนใหญ่คืออะไร ตรัสตอบอย่างที่พระอัสสชิเถระตอบ. สัจจกนิครนถ์แย้งว่า พืชพันธุ์ไม้และคนสัตว์อาศัยแผ่นดินฉันใด คนเราก็อาศัยรูปเวทนา เป็นต้น ได้ประสบบุญและมิใช่บุญ ( เท่ากับว่า ถ้าปฏิเสธขันธ์ ๕ ว่าเป็นอัตตาเสียแล้ว ก็คล้ายกับไม่มีมูลฐาน เหมือนคน สัตว์ ต้นไม้ เมื่อไม่ดินก็ไม่มีที่ตั้ง ).
๔. ตรัสย้อนถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านกล่าวว่า ขันธ์ ๕ เป็นตนของท่านใช่ไหม. สัจจกนิครนถ์ตอบว่า ใช่ ประชุมชนใหญ่นี้ก็ว่าอย่างนั้น. ตรัสตอบว่า ประชุมชนใหญ่นี้จะทำอะไร ท่านจงแก้วาทะของตนเองเถิด สัจจกนิครนถ์ จึงยืนยันว่า ข้าพเจ้ากล่าวว่า ขันธ์ ๕ เป็นตนของข้าพเจ้า.
๕. ตรัสถามว่า กษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษก มีอำนาจต่าง ๆ ในแว่นแคว้นของพระองค์ เช่น การฆ่า การริบทรัพย์ การเนรเทศใช่หรือไม่ ทูลรับว่า ใช่ . ตรัสถามว่า ท่านกล่าวว่า รูป ( ส่วนหนึ่งใน ๕ ส่วนของขันธ์ ๕ ) เป็นตัวตนของท่าน ท่านจะมีอานาจในรูปนั้นว่า จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนั้นเลยได้หรือไม่. สัจจกนิครนถ์นิ่ง ตรัสถามย้ำถึง ๓ ครั้งก็นิ่ง ในที่สุดก็ยอมรับว่าไม่มีอำนาจให้รูปเป็นอย่างนั้นอย่างนี้. จึงตรัสถามไปทีละข้อจนถึงวิญญาณ ซึ่งสัจจกนิครนถ์ก็ยอมรับว่าไม่มีอำนาจให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้เช่นเดียวกันทุกข้อ.
๖. ตรัสถามว่า ขันธ์ ๕ เที่ยงหรือไม่เที่ยง . ตอบว่า ไม่เที่ยง . ตรัสถามว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่นนั้นเป็นทุกข์หรือสุข. ตอบว่า เป็นทุกข์. ตรัสถามว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาควรหรือที่จาตามเห็นว่า นั้นของเรา เราเป็นนั้น นั้นเป็นตัวตนของเรา ตอบว่า ไม่ควร. ตรัสถามว่า ผู้ใดติดทุกข์ ยึดทุกข์ ตามเห็นว่า ทุกข์นั้นเป็นของเรา เราเป็นนั้น นั้นเป็นตัวตนของเรา ผู้นั้นจะกำหนดรู้ทุกข์ หรือทุกข์ให้สิ้นไปหรือไม่. ตอบว่า ไม่ได้. ตรัสถามว่า ท่านติดทุกข์ ยึดทุกข์ ตามเห็นว่าทุกข์นั้นเป็นของเรา เป็นตนใช่หรือไม่ สัจจกนิครนถ์ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น.
๗. ตรัสเปรียบว่า คนที่ต้องการแก่นไม้ แต่ไปตัดต้นกล้วย จึงไม่ได้แม้แต้กระพี้ไม้ จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงแก่น ตัวท่านที่อวดตนในเรื่องการโต้ตอบว่า ผู้ที่พูดกับท่านจะต้องหวั่นไหว เหงื่อแตก แม้แต่เสาก็หวั่นไหว บัดนี้เหงื่อของท่านไหลเอง ตถาคตไม่มีเหงื่อไหลเลย สัจจกนิครนถ์ก็นิ่งเก้อเขิน. บุตรเจ้าลิจฉวีชื่อทุมมุขะ ก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงสัจจกนิครนถ์ว่าเหมือนปูถูกหักก้าม สัจจกนิครนถ์ก็ว่าบุตรเจ้าลิจฉวีว่าเป็นเรื่องของการสนทนาระหว่างพระสนณโคดมกับตน ( คนอื่นไม่ควรเกี่ยว).
๘. แล้วสัจจกนิครนถ์จึงทูลถามว่า สาวกของพระองค์จะข้ามความสงสัย ไม่ต้องพึงผู้อื่น ( ในเรื่องความเชื่อ ) ด้วยเหตุเพียงเท่าไร. ตรัสตอบว่า สาวกนั้นเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงว่า ขันธ์ ๕ ทุกชนิด ไม่เป็นของเรา เราไม่เป็นนั้น นั้นไม่เป็นตัวตนของเรา. ทูลถามว่า ภิกษุจะเป็นพระอรหันต์ขีณาสพด้วยเหตุเพียงเท่าไร ก็ตรัสตอบอย่างเดียวกับตอนแรก คือไม่ยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นของเรา เป็นต้น แล้วตรัสสรุปว่า ภิกษุผู้หลุดพ้นแล้วอย่างนี้ ย่อมประกอบด้วยอนุตตริยะ ( สิ่งยอดเยี่ยม ) ๓ ประการ คือ ทัสสนานุตตริยะ ( ความเห็นอย่างยอดเยี่ยม ) ปฏิปทานุตตริยะ ( ความปฏิบัติอย่างยอดเยี่ยม ) วิมุตตานุตตริยะ ( ความหลุดพ้นอย่างยอดเยี่ยม ) ย่อมเคารพบูชาตถาคตว่า ตรัสรู้ , ฝึกพระองค์ , ข้ามพ้น, ดับเย็น ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงแสดงธรรมเพื่อให้ผู้อื่นเป็นเช่นนั้น.
๙. สัจจกนิครนถ์กราบทูลยอมรับว่าตนผิด และนิมนต์พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉันภัตตาหาร ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงรับนิมนต์และเสด็จไปฉัน ณ อารามของนิครนถ์นั้นในวันรุ่งขึ้น.
๓๖ . มหาสัจจกสูตร
สูตรว่าด้วยสัจจกนิครนถ์ สูตรใหญ่
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ศาลาเรือนยอด ในป่าใหญ่ ใกล้กรุงเวสาลี . เช้าวันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเตรียมเสด็จเข้าสู่กรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต . พระอานนท์เห็นสัจจกนิครนถ์เดินมาแต่ไกล ก็อาราธนาพระผู้มีพระภาคให้ประทับนั่งอยู่ครู่หนึ่งก่อนเพื่อสงเคราะห์เขา. สัจจกนิครนถ์ก็เข้ามาเฝ้า กล่าวปราศัยแล้วตั้งกระทู้ขึ้นว่า :-
๒. มีสมณพราหมณ์บางพวกประกอบการอบรมกาย แต่ไม่ประกอบอบรมกาย แต่ไม่ประกอบการอบรมจิต เมื่อได้รับทุกขเวทนาทางกายก็อาจเป็นโรคขาแข็ง ( อัมพาต ) , หัวใจแตก ( น่าจะได้แก่โรคหัวใจวายหรือเส้นโลหิตในสมองแตกอย่างใดอย่างหนึ่ง ), อาเจียนเป็นโลหิต , จิตฟุ้งสร้าน เป็นบ้า , จิตของคนเหล่านั้นเป็นไปตามกาย เป็นไปตามอำนาจของกาย เพราะมิได้อบรมจิต. ส่วนสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งประการอบรมจิต แต่ไม่ประกอบการอบรมกาย เมื่อได้รับทุกขเวทนาทางจิต เจตสิก ก็อาจเป็นโรคขาแข็ง , หัวใจแตก , อาเจียนเป็นโลหิต , จิตฟุ้งสร้าน เป็นบ้า. กายของคนเหล่านั้นเป็นไปตามจิต เป็นไปตามอำนาจของจิต เพราะมิได้อบรมกาย . ข้าพเจ้าคิดว่า สาวกของพระสมณโคดมคงประกอบการอบรมจิต ไม่ประกอบการอบรมกาย.
๓. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า การอบรมกายที่ท่านได้ฟังมา ( ตามคำพูดของท่าน ) เป็นอย่างไร ? สัจจกนิครนถ์อ้างชื่อนันทะ วัจฉโครต , กิสะ สังกิจจโครต , มักขลิ โคสาลซึ่งเปลือยกาย ยืนถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และกินอาหารเลียมือ เป็นต้น จนถึงกินอาหารวันละครั้ง ๒ วันครั้ง จนถึงกึ่งเดือนครั้ง. ตรัสถามว่า ยังชีพด้วยอาหารเพียงเท่านั้นเองหรือ ? ทูลตอบว่า บางคราวก็กินดื่มอาหารดี ๆ ให้เกิดกำลังกาย. ตรัสตอบว่า ร่างกายของสมณพราหมณ์พวกนั้นที่ละทิ้งการทรมานตนในเบื้องแรก มาสะสมในภายหลัง จึงเจริญบ้าง เสื่อมบ้าง.
(หมายเหตุ: ประเด็นสำคัญตอนนี้ คือการตีความหมายถ้อยคำว่า อบรมกายเป็นอย่างไร อบรมจิตเป็นอย่างไร . เฉพาะการอบรมกาย พวกนิครนถ์ถือว่า คือการทรมานร่างกาย แต่แล้วก็กลับชี้ให้เห็นความย่อหย่อนในภายหลัง พระผู้มีพระภาคทรงติงไว้ในตอนท้าย อรรถกถาแก้ว่า ความหมายของฝ่ายพระพุทธศาสนาไม่เหมือนกัน โดยชี้ว่า อบรมกาย ได่แก่วิปัสสนา ( ปัญญา ) อบรมจิต ได้แก่สมถะ ( สมาธิ ) จึงควรเข้าใจว่า คำว่า กาย นั้น ไม่ได้หมายถึงร่างกายเสมอไป หากหมายถึงนามกายหรือธรรมะที่เกิดกับจิต คือเจตสิกซึ่งมีที่ใช้อยู่หลายแห่ง. แต่ก็น่าพอใจว่าพระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามนิครนถ์ตีความถ้อยคำของตนเองเสียก่อนเพื่อจะได้ไม่ยุ่ง.
๔. ตรัสถามต่อไปว่า การอบรมจิตที่ท่านได้ฟังมาเป็นอย่างไร? สัจจกนิครนถ์ไม่สามารถตอบได้. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า การอบรมกายข้างต้น ( ตามที่เขาเข้าใจ ) มิใช่การอบรมกายในอริยวินัย ก็เมื่อไม่รู้การอบรมกายแล้ว จะรู้การอบรมจิตอย่างไร. ครั้นแล้วจึงตรัสบอกให้คอยฟัง.
๕. ผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมจิต คือบุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อสุขเวทนา ( ความรู้สึกเป็นสุข ) ถูกต้องก็กำหนัดในสุข เมื่อทุกขเวทนาเกิดขึ้นเพราะสุขเวทนาดับไป ก็เศร้าโศกคร่ำครวญ หลงเลอะ. สุขเวทนาเกิดขึ้นครอบงำจิตของผู้นั้นได้ก็เพราะมิได้อบรมกาย ทุกขเวทนาเกิดขึ้นครอบงำจิตของผู้นั้นได้ก็เพราะมิได้อบรมจิต ๔ สุขเวทนาและทุกขเวทนาเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย ครอบงำจิตเพราะมิได้อบรมกาย มิได้อบรมจิตอย่างนี้.
๖. ผู้อบรมกาย อบรมจิต คืออริยสาวก ( สาวกของพระอริยเจ้า ) ผู้ได้สดับ ที่ตรงกันข้ามกับบุถุชนผู้มิได้สดับ สุขเวทนา ทุกขเวทนา ไม่ครอบงำจิตของผู้นั้นได้.
๗. สัจจกนิครนถ์กล่าวแสดงความพอใจเห็นด้วยกับพระดำรัสอธิบาย พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภายหลังที่เสด็จออกผนวชแล้ว ก็มิใช่ฐานะที่สุขเวทนาหรือทุกข์เวทนาจะครอบงำพระหฤทัยของพระองค์ตั้งอยู่ได้ ซึ่งสัจจกนิครนถ์ก็แสดงความเชื่อมั่นว่าเป็นเช่นนั้น.
๘. ครั้นแล้วตรัสเล่าเรื่องที่ทรงเห็นการครองเรือนเป็นเหมือนทางที่เต็มไปด้วยฝุ่น ส่วนการบรรพชาเหมือนที่กลางแจ้ง จึงเสด็จออกบรรพชา ทั้ง ๆ ที่พระมารดาบิดาทรงกันแสงไม่ปรารถนาให้ออก ตั้งแต่อยู่ในปฐมวัย พระเกสาดำสนิท แล้วตรัสเล่าต่อไปถึงการแสวงหาสันติวรบท ( ทางอันประเสริฐไปสู่สันติ ) ทรงศึกษาในสำนักอาฬารดาบท กาลามโครต และอุททกดาบท รามบุตร เมื่อไม่ทรงพอพระหฤทัยว่าจะเป็นไปเพื่อพระนิพพาน จึงเสด็จออกจากสำนักของดาบสนั้น จาริกไปโดยลำดับ ถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม.
๙. ตรัสเล่าถึงอุปมา ๓ ข้อที่ปรากฏแก่ปพระองค์ คือ
๑. ไม้สดชุ่มด้วยยาง แช่ในน้ำ ไม่สามารถจะสีให้ไฟติดได้ เปรียบเหมือนสมณพราหมณ์ที่มีกายไม่หลีกจากกาม มีความพอใจในกาม แม้จะบำเพ็ญเพียรได้รับทุกขเวทนากล้า ก็ไม่ควรได้ตรัสรู้.
๒. ไม้สดชุ่มด้วยยาง วางอยู่บนบก ไม่สามารถจะสีไฟให้ติดได้ เปรียบเหมือนสมณพราหมณ์ที่มีกายหลีกจากกาม แต่ยังมีความพอใจกาม แม้จะบำเพ็ญเพียรได้รับทุกขเวทนากล้า ก็ไม่ควรได้ตรัสรู้
๓. ไม้แห้งวางอยู่บนบก สามารถจะสีไฟให้ติดได้ เปรียบเหมือนสมณพราหมณ์ผู้มีกายออกจากกาม ละความพอใจในกามเสียได้ดี แม้จะไม่บำเพ็ญเพียรได้รับทุกขเวทนากล้า ก็ควรตรัสรู้ได้.
๑๐ . ตรัสเล่าถึงการทรมานพระกาย เช่น กดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุด้วยพระชิวหา ๕ จนกระทั้งพระเสโทไหลออกจากพระกัจจฉะ ; การกลั้นพระอัสสาสะปัสสาสะ ๖ ทรงพระโอษฐ์และพระนาสิก จนเกิดเสียงเมื่อลมออกทางช่องพระกรรณ; การกลั้นพระอัสสาสะทั้งทางพระโอษฐ์ ทรงพระนาสิก และทางพระกรรณจนมีความรู้สึกที่พระเศียรคล้ายคนเอาของแหลมคมมากดลงไป , จนลมเสียดพระอุทรคล้ายเอามีดเชือด , จนพระกายเร่าร้อนเหมือนถูกย่างบนหลุมถ่านเพลิง ทุกขเวทนาก็มิได้ครอบงำพระหฤหัยตั้งอยู่ได้; ทรงแสดงการอดพระกระยาหารด้วยประการทั้งปวง ; การกลับเสวยพระกระยาหารอ่อน ประเภทเยื่อถั่วต่าง ๆ ทีละน้อยประมาณมือหนึ่ง จนกระทั่งซูบผอม; แล้วทรงแสดงว่า สมณพราหมณ์ที่บำเพ็ญเพียรได้รับทุกขเวทนากล้าก็อย่างยิ่งเพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้.
๑๑. ตรัสถึงการที่ทรงระลึกถึงการสงัดจากกาม ได้ฌานที่ ๑ ที่ร่มเงาไม้หว้าในสมัยที่ยังทรงพระเยาว์ ว่าจะเป็นทางตรัสรู้ได้ จึงกลับเสวยพระกระยาหารหยาบ ซึ่งเป็นเหตุให้ภิกษุ ๕ รูปหาว่าพระองค์ทรงมักมากคลายความเพียร จึงพากันหลีกไป. พระองค์ทรงบำเพ็ญฌาน ได้ฌานที่ ๑ ถึง ๔ สุขเวทนาก็ไม่ครอบงำพระหฤทัยของพระองค์ตั้งอยู่ได้. ทรงได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ( ญาณระลึกชาติก่อนได้ ) ในยามแรก, ทรงได้จุตูปปาตญาณ ( ญาณเห็นความตายความเกิด ) ในยามกลาง, และทรงได้อาสวะขยญาณ ( ญาณอันทำอาสวะให้สิ้น ) ในยามสุดท้ายแห่งราตรี. สุขเวทนาเห็นปานนี้ ไม่ครอบงำพระหฤทัยของพระองค์ตั้งอยู่ได้.
๑๒. ตรัสถึงการทรงแสดงธรรมในบริษัทหลายร้อย ซึ่งแต่ละคนก็ติดว่าทรงแสดงธรรมปรารภเขาคนเดียว ซึ่งไม่ควรเห็นอย่างนั้น ทรงแสดงธรรมด้วยดีแก่เขาทั้งหลาย เพื่อให้รู้แจ้ง พอแสดงจบ ก็ทรงตั้งพระนมัสในนิมิตก่อนหน้า ( การแสดง ) นั้น ทำให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งในภายในอยู่เป็นนิตย์ด้วยสมาธิจิต.
๑๓. สัจจกนิครนถ์ยอมรับว่า เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น แล้วทูลถามว่า เคยทรงนอนหลับกลางวันหรือไม่. ตรัสตอบว่า ทรงระลึกได้ว่า ในเดือนสุดท้ายฤดูร้อนเสด็จกลับจากบิณฑบาต เมื่อเสวยเสร็จแล้ว ทรงปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น ทรงเอนข้าง มีสติสัมปชัญญะก้าวสู่ความหลับ. สัจจกนิครนถ์กล่าวว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวถึงการนอนหลับกลางวันว่าเป็นการอยู่ด้วยความหลง. ตรัสตอบว่า เพียงเท่านั้นยังไม่นับว่าหลง หรือไม่หลง แต่หลงเป็นอย่างไร ไม่หลงเป็นอย่างไร จักทรงแสดงให้ฟัง.
๑๔. ทรงแสดงว่า ผู้ยังละอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ) อันทำให้เศร้าหมอง ทำให้เกิดอีกไม่ได้ ผู้นั้นชื่อว่าผู้หลง ถ้าละได้ก็เรียกว่าผู้ไม่หลง. ตถาคตละอาสวะได้แล้ว เหมือนตาลยอดด้วนที่จะไม่งอกงามขึ้นมาได้อีก.
สัจจกนิครนถ์ชมเชยพระผู้มีพระภาคว่า น่าอัศจรรย์ที่เมื่อถูกถ้อยคำกระทบกระทั้ง ยังมีพระฉวีวรรณผ่องแผ้ว มีสีพระพักตร์ผ่องใสดังพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗ พร้อมทั้งเล่าให้ฟังว่า ตนเคยโต้กับครูทั้งหก คือ ปูรณะ กัสสปะ , มักขลิ โคสาล , อชิตะ เกสกัมพล, ปกุธะ กัจจายนะ , สัญชัย เวลัฏฐบุตร และนิครนถนาฏบุตร พอตนเริ่มวาทะด้วย ก็พูดเลี่ยงไปเสียนอกเรื่อง แสดงความโกรธ ความคิดประทุษร้าย และความไม่พอใจให้ปรากฏ ส่วนพระผู้มีพระภาคกลับมีพระฉวีวรรณผ่องแผ่ว มีพระพักตร์ผ่องใส.
ครั้นแล้วสัจจกนิครนถ์ก็กราบทูลลากลับไป.
๓๗ . จูฬตัณหาสังขยสูตร
สูตรว่าด้วยความสิ้นไปแห่งตัณหา สูตรเล็ก
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขาในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. ท้าวสักกะมาเฝ้ากราบทูลถามว่า กล่าวโดยย่อด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าพ้นเพราะสิ้นตัญหา มีความสำเร็จ , ปลอดโปร่งจากธรรมะที่ผูดมัด , เป็นพรหมจารี, มีที่สุดล่วงส่วน ( คือแน่นอนเด็ดขาด ) เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
๒. ตรัสตอบว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดถือ เธอจักรู้ยิ่ง, กำหนดรู้ธรรมะทั้งปวง เธอเสวยเวทนาใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นสุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข ก็พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นด้วยวามคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นด้วยการปล่อยวางในเวทนาเหล่านั้น ไม่ถือมั่นสิ่งใด ๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่นก็ไม่สะดุ้งดิ้นรน เมื่อไม่สะดุ้งดิ้นรนก็ดับเย็น ( ปรินิพพาน ) เฉพาะตน รู้ว่าสิ้นชาติ อยู่จนจบพรหมจรรย์ ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงทำเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่าพ้นเพราะสิ้นตัณหา ฯลฯ ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย . ท้าวสักกะก็ชื่นชมภาษิต และกราบทูลลากลับ.
๓. พระมหาโมคคัลลานะไปปรากฏกายในชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกะก็ต้อนรับเป็นอย่างดี เมื่อท่านถามถึงคำเฉลยปัญหาที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ย่อ ๆ เกี่ยวกับความหลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา ท้าวสักกะกลับพูดเลี่ยงไปเรื่องอื่น และชวนพระมหาโมคคัลลานะไปชมปราสาทชื่อเวชยันต์ ซึ่งสร้างขึ้นภายหลังชนะสงครามระหว่างเทวดากับอสูรอย่างวิจิตพิสดาร. พระมหาโมคคัลลานะเห็นท้าวสักกะเป็นผู้ประมาท ก็แสดงฤทธิ์เอาหัวแม่เท้าเขี่ยปราสาทเวชยันต์ให้หวั่นไหว ซึ่งทำให้ท้าวสักกะ ท้าวเวสสวัณ และเทพชั้นดาวดึงส์ พากันอัศจรรย์ในฤทธิ์อานุภาพของพระเถระเป็นอันมาก ๘ .
๔. เมื่อพระเถระเห็นเช่นนั้น จึงถามย้ำอีกถึงพระดำรัสเฉลยปัญหาเรื่องความหลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหาของพระผู้มีพระภาค . คราวนี้ท้าวสักกะเล่าถวายเป็นอันดี. พระเถระจึงลากลับมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลถามเรื่องการที่ทรงตอบปัญหานั้น ซึ่งก็ตรัสเล่าความให้ฟังตรงกัน.
๓๘ . มหาตัณหาสังขยสูตร
สูตรว่าด้วยความสิ้นไปแห่งตัณหา สูตรใหญ่
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. สมัยนั้นภิกษุชื่อสาติ ผู้เป็นบุตรของชาวประมงเกิดความเห็นผิดว่า วิญญาณดวงนั้นแหละแล่นไป ท่องเที่ยวไป มิใช่ดวงอื่น ( ถือว่าวิญญาณเที่ยงเป็นตัวยืนในการเวียนว่ายตายเกิด ) ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนว่า พระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสเช่นนั้น ก็ไม่เชื่อฟัง. ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงตรัสสั่งให้เรียกตัวภิกษุชื่อสาติมาสอบถาม และชี้ให้เห็นว่าเป็นการกล่าวตู่พระองค์ เพราะพระองค์ตรัสอยู่โดยปริยายเป็นเอนกว่า วิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย เว้นจากปัจจัย ความพระองค์ เพราะพระองค์ตรัสอยู่โดยปริยายเป็นเอนกว่า วิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย เว้นจากปัจจัย ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณย่อมไม่มี. ( เมื่อเกิดเพราะอาศัยเหตุปัจจัย จึงดับได้ ไม่ใช่ของยั่งยืนดังที่เข้าใจผิดไปนั้น). ภิกษุชื่อสาติก็นั่งก้มหน้าเก้อเขิน ถอนใจ.
๒. พระผู้มีพระภาคตรัสสอบถามความเข้าใจของภิกษุทั้งหลาย ก็กราบทูลตอบตรงตามหลัก คือวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยอื่นจากปัจจัย ความเกิดแห่งวิญญาณย่อมไม่มี. ครั้นแล้วจึงทรงแสดงที่วิญญาณอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น อันทำให้มีชื่อเรียก คือ อาศัยตา อาศัยรูป วิญญาณเกิดขึ้น เรียกว่าจักขุวิญญาณ ( ความรู้แจ้งทางตา ) เป็นต้น จนถึงอาศัยใจ อาศัยธรรมะ วิญญาณเกิดขึ้น เรียกว่ามโนวิญญาณ ( ความรู้แจ้งทางใจ ) เปรียบเหมือนไฟเกิดจากไม้ ก็เรียกว่าไฟไม้ เป็นต้น.
๓. แล้วตรัสแสดงหลักการเรื่องภูตะ ( สิ่งที่มีที่เป็น ) ว่า เกิดขึ้นเพราะอาหาร ดับไปเพราะดับอาหาร ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ด้วยปัญญาอันชอบ ก็จะละความสงสัยเสียได้. แม้ความเห็นอันบริสุทธิ์ผ่องแผ่วนี้ ก็ไม่ควรยึดติด เพราะทรงแสดงธรรมอุปมาด้วยแพ เพื่อให้ถอนตัว มิใช่เพื่อให้ยึดถือ.
๔. ทรงแสดงอาหาร ๔ อย่าง คือ ๑. กวฬิงการาหาร อาหารที่กลืนกิน ๒. ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ คือความถูกต้อง ๓. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือเจตนาที่จะทำความดีความชั่ว ๔. วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ ครั้นแล้วตรัสว่า อาหารทั้งสี่เหล่านี้ เกิดจากตัณหา ( ความทะยานอยาก ) ตัณหาเกิดจากเวทนา ( เรื่อยไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท ) จนถึงสังขารเกิดจากอวิชชาเป็นปัจจัย และตรัสสรุปว่า อวิชชาเป็นต้นเหตุให้เกิดกองทุกข์ ( เป็นลูกโซ่ไปโดยลำดับ).
๕. ตรัสถามให้ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ความแก่ ความตาย มีชาติเป็นปัจจัย สาวหาต้นเหตุขึ้นไปโดยลำดับจนถึงอวิชชาอีก แล้วทรงชี้ให้เห็นทั้งสายเกิดสายดับ . สายเกิด คือเพราะมีสิ่งที่เป็นปัจจัยจึงเกิดสิ่งนี้และสายดับก็ทำนองเดียวกัน เพราะดับอวิชชาโดยไม่เหลือ สิ่งอื่น ๆ ก็ดับไปโดยลำดับ.
๖. ตรัสถามให้เห็นว่า เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ ก็จะไม่คิดไปถึงที่สุดเบื้องต้น ว่าได้เคยมีเคยเป็น หรือไม่มีไม่เป็นหรือไม่ อย่างไร เป็นอย่างนี้แล้วเป็นอะไรต่อไป; ไม่คิดไปถึงที่สุดเบื้องปลาย คืออนาคตว่า จักมีจักเป็นหรือไม่ เป็นต้น ; ไม่สงสัยปรารภปัจจุบัน ว่าเรามีเราเป็นหรือไม่ เป็นต้น; เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ก็จะไม่อุทิศศาสดาอื่น ไม่ถือเอาเรื่องข้อวัตรและเรื่องมงคลตื่นข่าวของสมณพราหมณ์ทั้งหลายว่าเป็นสาระ และตรัสสรุปในที่สุดว่า นี่แหละเป็นธรรมะที่เห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้จำเพาะตน.
๗. ตรัสต่อไปว่า เพราะประชุมเหตุ ๓ อย่าง คือ ๑. มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน ๒. มารดามีระดู ๓. คนธรรพ์ปรากฏ จึงมีการตั้งครรภ์ ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่ง ก็ไม่มีการตั้งครรภ์ ( คำว่า ตั้งครรภ์ แปลหักจากคำว่า การก้าวลงของสัตว์ในครรภ์ ). มารดาบริหารครรภ์ อันนับเป็นภาระหนักด้วยความสงสัยอันใหญ่ตลอดเวลา ๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้าง แล้วก็คลอดและเลี้ยงเด็กที่เกิดนั้นด้วยโลหิตของตน ด้วยความสงสัยอันใหญ่. แล้วตรัสว่า คำว่า โลหิตในอริยวินัย คือน้ำนมของมารดา.
๘. ครั้นแล้วทรงแสดงถึงการที่เด็กนั้นเจริญวัยขึ้น เล่นของเล่นต่าง ๆ ของเด็ก จนกระทั้งเติบใหญ่ขึ้นพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนา รักใคร่ชอบใจ เห็นรูปเป็นต้น ก็กำหนัดในรูปที่น่ารัก ขัดเคืองในรูปที่ไม่น่ารัก ไม่มีสติตั้งมั่น ไม่รู้เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับแห่งอกุศลธรรมทั้งปวง เมื่อละความยินดียินร้ายไม่ได้ เสวยเวทนาเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข ก็ชื่นชม ยึดถือเวทนา จึงเกิดความพอใจ ความยึดมั่นถือมั่น เกิดภพเกิดชาติโดยลำดับ จนถึงเกิดความคับแค้นใจนี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวง
๙ ทรงแสดงถึงการที่พระตถาคตทรงเกิดขึ้นในโลก มีผู้สดับธรรมออกบวช ตั้งอยู่ในศีล สมาธิจนได้ฌานที่ ๑ ถึงที่ ๔ ( ทำนองเดียวกับข้อความในสามัญญผลสูตรดูที่) พระสุตตันตะเล่ม ๑ หน้าที่ ๑ ผู้นั้นไม่กำหนัดในรูปที่น่ารักไม่ขัดใจในรูปที่ไม่น่ารัก มีสติตั้งมั่น รู้เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับแห่งอกุศลธรรมทั้งปวง เมื่อละความยินดียินร้ายได้ เสวยเวทนาก็ไม่ชื่นชม ยึดถือเวทนา . ความพอใจ ความยึดมั่นถือมั่นจึงดับไป เป็นเหตุให้ดับภพดับชาติโดยลำดับ จนถึงดับความคับแค้นใจ. นี้เป็นความดับแห่งกองทุกข์ทั้งปวง.
๓๙ . มหาอัสสปุรสูตร
สูตรว่าด้วยคำสอนในนิคมชื่ออัสสปุระ สูตรใหญ่
๑. พระผู้มีพระภาคประทับในนิคมแห่งแคว้นอังคะชื่ออัสสปุระ . ตรัสสอนภิกษุทั้งหลาย มีใจความว่า คนเข้าใจพวกท่านว่าเป็นสมณะ พวกท่านก็มีชื่อว่าสมณะ ปฏิญญาตนว่าสมณะ จึงควรสำเหนียกที่จักสมาทานประพฤติธรรม อันทำให้เป็นสมณะ ทำให้เป็นพราหมณ์ ซึ่งจะทำให้ชื่อเป็นจริง คำปฏิญญาเป็นจริงทำให้การบริโภคปัจจัย ๔ ของคฤหัสถ์มีผลมาก มีอานิสงส์มากแก่เขา การบวชก็จะไม่เป็นหมั่น มีผล มีกำไร.
๒. ทรงขยายความของธรรมที่ทำไห้เป็นสมณะ ทำให้เป็นพราหมณ์ โดยสอนให้สำเหนียกว่า ๑. จักมีความละอาย ความเกรงกลัว ( ต่อความชั่ว ) และมีสิ่งที่พึงทำยิ่งขึ้นไปอีก คือ ๒. จักมีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เปิดเผย ไม่มีช่อง เป็นผู้สำรวม ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะความบริสุทธิ์ทางกายนั้น และมีสิ่งที่พึงทำยิ่งขึ้นไปอีก คือ ๓. จักมีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ฯลฯ ๙ ๔. จักมีความประพฤติทางใจบริสุทธิ์ ฯลฯ ๕. จักมีอาชีวะ ( การเลี้ยงชีพ ) อันบริสุทธิ์ ฯลฯ ๖. จักสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๗. จักประมาณในการบริโภค ๘. จักประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่น ( ไม่เห็นแก่นอนมากนัก ) ๙. จักประกอบด้วยสติ ( ความระลึกได้ ) สัมปชัญญะ ( ความรู้ตัว ) และมีสิ่งที่พึงทำยิ่งขึ้นไปอีก คือ ๑๐. เสพเสนาสนะอันสงัดนั่งคู้บัลลังก์ ( นั่งขัดสมาธิ ) ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ชำระจิตจากนีวรณ์ ๕ ๑๐
๓. ทรงเปรียบการละนีวรณ์ ๕ อย่าง เหมือนคนเป็นหนี้พ้นหนี้ , คนมีโรคหายจากโรค , คนถูกจองจำพ้นจากการจองจำ , คนเป็นทาสพ้นจากความเป็นทาส , คนเดินทางไกลข้ามทางกันดารได้สำเร็จ ย่อมมีความปราโมทย์โสมนัส.
๔. ทรงแสดงถึงภิกษุนั้นผู้ได้บรรลุรูปฌาน ๔ , ได้ปุพเพนิวาสานุสสติฌาณ ( ฌาณอันทำให้ระลึกชาติได้ ), ได้จุตูปปาตฌาณ ( ฌาณเห็นความตายความเกิด ) และอาสวักขยฌาณ ( ฌาณอันทำอาสวะให้สิ้น ) มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ชาติสิ้นแล้ว เป็นต้น เธอเห็นอริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง เหมือนคนเห็นหอยเห็นก้อนกรวดและฝูงปลาในน้ำใสฉะนั้น.
๕. ภิกษุนี้ เรียกว่าสมณะก็ได้ พราหมณ์ก็ได้ ผู้อาบน้ำแล้วก็ได้ ผู้ถึงเวทก็ได้ ผู้มีกิเลสไหลออกก็ได้ ๑๑ ผู้เป็นพระอริยเจ้าก็ได้ ผู้เป็นพระอรหันต์ก็ได้. แล้วทรงขยายความถ้อยคำเป็นคำ ๆ ไป คือที่ชื่อว่าสมณะ เพราะสงบอกุศลบาปธรรมแล้ว, ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยอกุศลบาปธรรมแล้ว, ชื่อว่าผู้อาบน้ำแล้ว เพราะอาบน้ำชำระอกุศลบาปธรรมแล้ว , ชื่อว่าผู้ถึงเวท ( ผู้รู้พระเวทจบ ) เพราะรู้จบอกอกุศลบาปธรรมแล้ว , ชื่อว่าผู้มีกิเลสไหลออก เพราะอกุศลบาปธรรมไหลออกแล้ว. ชื่อว่าพระอริยเจ้า เพราะไกลจากอกุศลบาปธรรม, ชื่อว่าพระอรหันต์ เพราะไกลจากอกุศลบาปธรรม.
๔๐ . จูฬอัสสปุรสูตร
สูตรว่าด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิคมชื่ออัสสปุระ สูตรเล็ก
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิคมชื่ออัสสปุระ แคว้นอังคะ. ตรัสสอนภิกษุทั้งหลาย ให้สำเหนียกในเรื่องชื่อ และคำปฏิญญาว่าเป็นสมณะเหมือนสูตรก่อน แต่แสดงข้อปฏิบัติต่างออกไปว่า พึงสำเหนียกว่าจักปฏิบัติอันชอบของสมณะ.
๒. ทรงไขความว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันชอบของสมณะ คือตราบใดยังละมลทินของสมณะ ( ๑๒ อย่าง ) ไม่ได้ พระองค์ก็ไม่ตรัสว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันชอบของสมณะ. มลทินของมสมณะ ( ๑๒ อย่าง ) คือ ๑. อภิชฌา ( เพ่งอยากได้ ) ๒. พยาบาท ( ปองร้าย ) ๓. โกรธ ๔. ผูกโกรธ ๕ . ลบหลู่บุญคุณท่าน ๖. ตีเสมอ ๗. ริษยา ๘. ตระหนี่ ๙. มักอวด ๑๐ . มายา ๑๑. ปรารถนาลามก ๑๒. เห็นผิด ทรงเปรียบเทียบการบวชของภิกษุนี้ ( ผู้ละมลทินของสมณะไม่ได้ ) ว่าเป็นเช่นเดียวกับเอาปลอกใส่อาวุธชื่อมตชะ มีคมสองข้างไว้ ( ซ่อนความคมไว้ข้างใน เท่ากับซ่อนมลทินไว้ข้างใน ).
๓. ทรงแสดงว่าไม่ตรัสถึงความเป็นสมณะด้วยเหตุสักว่าการทรงผ้าสังฆาฏิ , เพียงการเปลือยกาย, เพียงเอาฝุ่นทาตัว , เพียงลงอาบน้ำ , เพียงอยู่โคนไม้ , เพียงอยู่กลางแจ้ง , เพียงยืนแหงนหน้า , เพียงกินอาหารโดยกำหนดเวียนรอบ ( คือ ๑ เดือน หรือกึ่งเดือนกินครั้งหนึ่ง ), เพียงสาธยายมนต์ , เพียงทรงชฎา ( แบบฤษี) ( ทั้งหมดนี้เป็นลัทธิของสมณะนอกพระพุทธศาสนา ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพียงเท่านั้นยังไม่ตรัสว่าเป็นสมณะ ).
๔. ตรัสว่า ถ้าเพียงทรงผ้าสังฆาฏิ ( ผ้าซ้อน ) เป็นต้น จะทำให้บุคคลผู้มีมลทิน ละมลทิน ( ทั้งสิบสองอย่าง ) นั้นได้ ญาติมิตรก็จะพากันชักชวนให้ทรงผ้าสังฆาฏิ เป็นต้น ด้วยเข้าใจว่าจะทำให้ละมลทินได้ แต่เพราะทรงเห็นผู้ทรงผ้าสังฆาฏิ เป็นต้น ยังมีมลทินเหล่านั้น จึงไม่ตรัสถึงความเป็นสมณะเพียงทรงผ้าสังฆาฏิ เป็นต้น.
๕. ทรงแสดงถึงภิกษุผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติชอบของสมณะ คือละมลทิน ( ทั้งสิบสองอย่าง ) ได้ พิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ พ้นจากอกุศลบาปธรรมทั้งหลาย จึงเเกิดปราโมทย์ปีติ มีกายระงับ เสวยสุข มีจิตตั้งมั่น แผ่จิตอันประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔ หาประมาณมิได้ไปยังโลกทั้งสิ้น ทุกทิศทาง. เปรียบเหมือสระน้ำใสเย็นสนิท มีท่าลงอาบน้ำอันน่ารื่นรมย์ คนเดินทางมาแต่ ๔ ทิศ ถูกความร้อนเผา ลำบาก อยากน้ำ กระหายน้ำ มาถึงสระนั้น ก็จะนำความกระหายน้ำ ความกระวนกระวายเพราะความร้อนออกเสียได้. บุคคลออกบวชจากสกุลกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร มาถึงพระธรรมวินัย ที่พระตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา , กรุณา , มุทิตา , อุเบกขา ย่อมได้ความสงบระงับภายใน ผู้เช่นนี้ ตรัสว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันชอบของสมณะ.
๕. ผู้ที่ออกบวชจากสกุลกษัตริย์ , พราหมณ์ , แพศย์ , ศูทร ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ( ความหลุดพ้นเพราะสมาธิ) ปัญญาวิมุติ ( ความหลุดพ้นเพราะปัญญา ) อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน ตรัสว่า เป็นสมณะเพราะสิ้นอาสวะ.
จบวรรคที่ ๔ ขึ้นวรรคที่ ๕ ชื่อจูฬยมกวรรค คือวรรคที่มีสูตรคู่ ขนาดเล็ก มี ๑๐ สูตร
________________________________________
๑. พึงสังเกตว่า ในภาษาบาลีเองใช้คำว่า โคสิงคสาลวนทายะ คำว่า วนะ กับทายะ แปลว่า ป่า ด้วยกัน จึงแปลว่า ป่า คำหนึ่ง แปลทับศัพท์หนึ่งว่า ป่าชื่อโคสิงคสาลวัน คือป่าไม้สาละที่มีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งมีลักษณะเหมือนเขาโค เขาจึงถือเครื่องหมายนั้นตั้งชื่อป่า
๒. มหาภูตรูป รูปใหญ่ คือประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ , อุปาทารูป รูปอาศัย คือรูปที่ปรากฏได้เพราะอาศัยรูปใหญ่ อุปาทายรูปก็เรียก
๓. คือท่านผู้กำลังทำหน้าที่ละกิเลสด้วยมรรค ยังไม่เป็นพระโสดาบัน หรือผู้ตั้งอยู่ในผลโดยสมบูรณ์ นับเป็นก้าวแรกของพระอริยบุคคล
๔. อรรถกถาแก้ว่า อบรมกายได้แก่วิปัสสนา เพราะวิปัสสนาใกล้ข้างทุกขเวทนา จะสังเหตุว่า ผู้เจริญวิปัสสนานาน มักมีเหงือแตก รู้สึกร้อนบนศีรษะ ส่วนอบรมจิต ได้แก่สมถะ ( คือสมาธิ ) เพราะผู้เจริญสมาธิเข้าสมาบัติ ความทุกข์จะหายไป
๕. ใช้ฟันกดฟัน ใช้ลิ้นกดเพดาน จนเหงื่อไหลออกจากรักแร้
๖. กลั้นลมหายใจเข้าออกทางจมูก จนลมออกทางหู
๗. แสดงสัจจกนิครนถ์มิได้ถือว่า พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงแต่ชมเชยว่ามีลีลาเป็นเช่นนั้น
๘. เรื่องนี้ถ้าถอดเป็นธรรมะจะเห็นได้ว่า มีคติเตือนใจว่า มีปราสาทที่เลอเลิศขนาดนั้น ก็อย่ามัวเมาประมาทเเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งมิให้คนฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมดีมาก
๙. เครื่องหมาย ฯลฯ ในที่นี้หมายถึงซ้ำกับข้อความในข้อ ๒ ตั้งแต่ “ เปิดเผย” จนถึง “ ยิ่งขึ้นไปอีก คือ”
๑๐. เรื่องของนีวรณ์ ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๓ หน้าที่ ๑ ( ๒. อุทุมพริกสูตร ) หมายเลข ๕ ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๓ หน้า ๓ และที่ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๖๘
๑๑. โสตติยะ แปลตามศัพท์ว่า ผู้มีการสดับฟังได้อีกอย่างหนึ่ง ฝรั่งแปลว่า Well versed in sacred learning
๔๑ . สาเลยยกสูตร
สูตรว่าด้วยพราหมณ์
คฤหบดีชาวบ้านสาละ. สูตรใหญ่
๑. พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล เสด็จแวะพัก ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อสาละ. พวกพราหณ์คฤหบดีชาวบ้านสาละ ( สาเลยยกะ ) ได้ยินกิตติศัพท์ ก็พากันไปเฝ้า กราบทูลถามเหตุปัจจัย ที่ทำให้สัตว์บางพวกตายแล้วเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก และสัตว์บางพวกตายแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์. ตรัสตอบว่า พวกที่เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก เพราะประพฤติอธรรม เพราะประพฤติไม่สม่ำเสมอ ส่วนพวกที่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะประพฤติธรรม เพราะประพฤติสม่ำเสมอ.
๒. ทรงขยายความแห่งคำว่า ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ โดยแยกออกเป็นทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ ทางใจ ๓ ( ทุจจริต ๓ ซึ่งแจกออกเป็น ๑๐ อย่าง เรียกอกุศลกรรมบถ หรือทางแห่งอกุศล ) ซึ่งเป็นเหตุให้เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก..
๓. ทรงขยายความแห่งคำว่า ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ โดยแยกออกเป็นทาง ๓ ทางวาจา ๔ ทางใจ ๓ (สุจริต ๓ ซึ่งแจกออกเป็น ๑๐ อย่าง เรียกกุศลกรรมบถ หรือทางแห่งกุศล ) ซึ่งเป็นเหตุให้เข้าถึงสุคติโลกสรรค์.
๔. ทรงแสดงว่า ผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ หวังจะเข้าถึงฐานะใด ๆ ได้แก่กษัตริย์มหาศาล , พราหมณ์มหาศาล , คฤหบดีมหาศาล , เทพชั้นจาตุมหาราช , ชั้นดาวดึงส์ , ชั้นยามะ , ชั้นดุสิต , ชั้นนิมมานรดี , ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี , ชั้นพรหม , เทพพวกอาภะ ( มีแสงสว่าง ) , พวกปริตตาภะ , พวกอัปปมาณาภะ , พวกอาภัสสระ , พวกปริตตสุภะ , อัปปมาณสุภะ, พวกสภกินหกะ , พวกเวหัปผละ , พวกอวิหะ , พวกอตัปปะ, พวกสุทัสสะ, พวกสุทัสสี, พวกอกนิฏฐกะ , พวกอากาสานัญจายตนะ , พวกวิญญาณัญจายตนะ , พวกอากิญจัญญายตนะ, พวกเนวสัญญานาสัญญายตนะ หรือหวังทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน ก็มีฐานะที่เป็นไปได้ เพราะผู้นั้นประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ.
พราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านสาละ เลื่อมใสพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต
(หมายเหตุ: ในพระสูตรนี้ มีปัญหาเรื่องศัพท์อยู่หลายแห่ง
๑ . คำว่า สุจริต ทุจจริต กุศลกรรมบถ อกุศลกรรมบถ แจกออกเป็นอะไรบ้าง ควรดูหนังสือนวโกวาท หน้า ๓๒ , ๕๙ และ ๖๐
๒. คำว่า มหาศาลที่นำมาต่อท้ายกษัตริย์ , พราหมณ์ , คฤหบดี หมายความว่ามีทรัพย์มาก
๓. เทพชั้นจาตุมหาราช ถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตตี รวม ๑๖ ชั้น เรียกว่าสวรรค์ชั้นกามาวจร คือยังอยู่ในชั้นกาม ควรดูคำอธิบายในหนังสือธรรมวิภาค ปริจเฉทที่ ๒ หน้า ๗๙. หนังสือที่อ้างทั้งสองเล่ม โปรดดูมีภาค ๕ ด้วย . ส่วนลำดับเทพชั้นพรหมที่กล่าว
ถึงในที่นี้ ต่างจากที่กล่าวไว้ในที่อื่นเล็กน้อย เพื่อสะดวกแก่การเทียบเคียง ขอกล่าวถึงเทพชั้นพรหมที่ปรากฏในคำอธิบายของอรรถกถาทั่วไป คือชั้นรูปพรหม ( พรหมมีรูป ) มี ๑๖ ชั้น คือ ๑. พรหมปาริสัชชะ ๒. พรหมปุโรหิต ๓. มหาพรหม ( ๓ พวกนี้เป็นพวกได้ฌานที่ ๑ ) ๔. ปริตตาภะ ๕. อัปปมาณาภะ ๖. อาภัสสระ ( ๓ พวกนี้เป็นพวกได้ฌานที่ ๒ และที่ ๓ ) ๗. ปริตตสุภะ ๘. อัปปมาณสุภะ ๙. สุภกิณหะ ( ๓ พวกนี้เป็นพวกได้ฌาน ๔ ) ๑๐. เวหัปผละ ( พวกนี้บำเพ็ญฌานที่ ๕ ฌานนี้แยกออกไปจากฌานที่ ๔ จัดตามวิธีของอภิธรรม ) ๑๑. อสัญญีสัตว์ ( เป็นพรหมที่มาจากพวกเดียรถีย์ ที่บำเพ็ญฌานที่ ๕ นั้นแหละ แต่หน่ายหรือรังเกียจจิตใจจึงเป็นพวกมีแต่รูป ไม่มีนาม ) ๑๒. อวิหะ ๑๓. อตัปปะ ๑๔. สุทัสสะ ๑๕. สุทัสสี ๑๖. อกนิฏฐะ ( ๕ ประเภทนี้เป็นชั้นสุทธาวาส เป็นที่อยู่โดยเฉพาะของพระอนาคามี คือพระอริยบุคคลรองลงมาจากพระอรหันต์ ). ส่วนอรูปพรหม ( พรหมไม่มีรูป ) ๔ ชั้น คือ ๑. อากาสานัญจายตนะ ๒. วิญญาณัญจายตนะ ๓. อากิญจัญญายตนะ ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ รวมทั้งรูปพรหมและอรูปพรหมจึงเป็น ๒๑ ชั้น แต่ในพระสูตรนี้ คำว่าชั้นพรหม อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงพรหม ๓ ประเภทแรกที่ได้ปฐมฌาน คำว่า เทพพวกอาภะ ( มีแสงสว่าง) คือ ปริตตาภะ อัปปมาณาภะ อาภัสสระ จึงเท่ากับพวกอาภะ เป็นการกล่าวรวม ๆ ส่วนปริตตาภะถึงอาภัสสระเป็นการขยายความ. ในพระสูตรนี้ไม่กล่าวถึงอสัญญีสัตว์ เพราะแม้จะเป็นเทพชั้นพรหม แต่ทางพระพุทธศาสนาไม่ยกย่อง จึงเป็นอันว่า เมื่ออธิบายแล้วก็เข้ากันได้กับลำดับในที่อื่น . การแสดงหลักฐาน เพื่อประดับความรู้ในที่นี้ เพียงขั้นตำรา ไม่ใช่ขั้นวิจาร ว่ามีจริงหรือไม่ หรือจะถอดความอย่างไร เพราะจะต้องใช้หน้ากระดาษมาก และได้เขียนวิจารไว้บ้างแล้วในหนังสือเล่มอื่น เช่น คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา ).
๔๒ . เวรัญชกสูตร
สูตรว่าด้วยพราหมณ์
คฤหบดีชาวเมืองเวรัญชา
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสตอบปัญหาของพราหมณ์คฤหบดีชาวเมืองเวรัญชาที่มาถามเช่นเดียวกับสาเลยยกสูตร จึงตรัสตอบเช่นเดียวกับสาเลยยกสูตร. ผลของการแสดงธรรม พราหมณ์คฤหบดีนั้นเลื่อมใสพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
๔๓ . มหาเวทัลลสูตร
สูตรว่าด้วยเวทัลละคือการ
โต้ตอบด้วยการใช้ความรู้ สูตรใหญ่
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. พระมหาโกฏฐิตะไปหาพระสารีบุตรถามปัญหาต่าง ๆ ซึ่งพระสารีบุตรก็ได้ตอบชี้แจงดังต่อไปนี้:-
๑. ความหมายของคำว่า ผู้มีปัญญาทราม คือผู้ไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง.
๒. ความหมายของคำว่า ผู้มีปัญญา คือผู้รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง.
๓. ความหมายของคำว่า วิญญาณ คือรู้แจ้ง ได้แก่รู้แจ้งสุข ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข.
๔. ปัญญา กับ วิญญาณ ปนกันหรือแยกกันอย่างไร ตอบว่า เป็นธรรมปนกัน ยากที่จะแยกบัญญัติทำให้ต่างกันได้
๕. ปัญญา กับ วิญญาณ ปนกัน จะต่างกันอย่างไร ตอบว่า ปัญญาควรเจริญ ( ทำให้เกิดมี ) ส่วนวิญญาณควรกำหนดรู้ ( ปริญเญยยะ ).
๖. ที่เรียกว่าเวทนา เพราะเสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง.
๗. ที่เรียกว่าสัญญา เพราะจำได้ เช่น จำสีเขียว , เหลือง , แดง , ขาวได้.
๘. อเวทนา , สัญญา , อวิญญาณ ปนกันหรือแยกกัน ตอบว่า เป็นธรรมปนกัน ยากที่จะแยกบัญญัติทำให้ต่างกันได้ เพราะเสวยรู้สึกสิ่งใดก็จำสิ่งนั้นได้ จำสิ่งใดได้ก็รู้แจ้งสิ่งนั้น จึงแยกบัญญัติทำให้ต่างกันไม่ได้.
๙. มโนวิญญาณ ๑ . อันบริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวกับอินทรีย์ ๕ ( ไม่ปนกับเรื่องของตา , หู , จมูก , ลิ้น , กาย ) พึงรู้อะไรได้. ตอบว่า พึงรู้อากาสานัญจายตนะได้ว่า อากาศหาที่สุดมิได้; พึงรู้วิญญาณัญจายตนะได้ว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ ; พึงรู้ว่าอากิญจัญญายตนะได้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่มี . ถามว่า บุคคลย่อมรู้ธรรมที่ควรได้ด้วยอะไร. ตอบว่า ด้วยปัญญาจักษุ ( ดวงตาคือปัญญา ). ถามว่า ปัญญามีอะไรเป็นประโยชน์ ตอบว่า มีการรู้ยิ่ง , การกำหนดรู้. การละเป็นประโยชน์.
๑๐. ปัจจัยในการเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิมีกี่อย่าง ตอบว่า มี ๒ อย่าง คือการประกาศของผู้อื่น กับการทำไว้ในใจโดยแยบคาย . ถามว่า สัมมาทิฏฐิ อันองค์ ( ประกอบ ) เท่าไรอนุเคราะห์ จึงมีเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติเป็นผล เป็นอานิสงส์ ตอบว่า องค์ ๕ คือ ศีล , การสดับฟัง , การสนทนา , สมถะ ( ความสงบระงับ ) และวิปัสสนา ( ความเห็นแจ้ง).
๑๑. ภพมีเท่าไร ตอบว่า มี ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ถามว่า การเกิดในภพอีกต่อไปนั้นมีได้อย่างไร ตอบว่า มีได้เพราะยินดีในภพนั้น ๆ ของสัตว์ ผู้มีอวิชชาเป็นนีวรณ์ ( เครื่องกั้น ) มีตัญหาเป็นสัญโญชน์ ( เครื่องผูกมัด ). ถามว่า การเกิดในภพอีกต่อไปจะไม่มีได้อย่างไร ตอบว่า ไม่มีได้เพราะคลายอวิชชา ( ความไม่รู้ ) เพราะเกิดวิชชา ( ความรู้ ) เพราะดับตัญหาเสียได้.
๑๒. ฌานที่ ๑ เป็นอย่างไร ตอบว่า ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าฌานที่ ๑ อันมีวิตก ( ความตรึก ) วิจาร ( ความตรอง ) มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ( ความสงัด ) ฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ ( ความอิ่มใจ ) สุข และเอกัคคตา ( ความเป็นผู้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ). ฌานที่ ๑ ละองค์ ๕ ได้ ประกอบด้วยองค์ ๕. คือนีวรณ์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ คือมีวิตก เป็นต้น.
๑๓. อินทรีย์ ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มีอารมณ์ต่างกัน มีที่เที่ยวไปต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์ในที่เที่ยวไปของกันและกัน เช่น ตาฟังเสียงไม่ได้ หูเห็นรูปไม่ได้ ) อะไรเล่าเป็นที่อาศัย และเป็นตัวเสวยอารมณ์ในที่เที่ยวไปของอินทรีย์ ๕ เหล่านั้น ตอบว่า ใจ ( มโน ).
๑๔. อินทรีย์ ๕ อาศัยอะไรตั้งอยู่ . ตอบว่า อาศัยอายุ. อายุอาศัยอะไร. ตอบว่า อาศัยไออุ่น. ไออุ่นอาศัยอะไร . ตอบว่า อาศัยอายุ. อายุอาศัยไออุ่น ไออุ่นอาศัยอายุ เปรียบเหมือนแสงสว่างอาศัยเปลวไฟจึงปรากฏ. เปลวไฟอาศัยแสงสว่างจึงปรากฏ. อายุสังขาร ( ธรรมที่ปรุงแต่งคืออายุ ) กับเวทนียธรรม ( ธรรมที่พึงรู้สึกได้ ) ๒ . เป็นอันเดียวกัน หรืออื่นจากกัน. ตอบว่า ไม่เป็นอันเดียวกัน . ถ้าเป็นอันเดียวกัน การออกจาก(จากสมาบัติ ) ของภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ( สมาบัติดับสัญญาและเวทนา ) ก็ไม่พึงปรากฏ , แต่เพราะเป็นสิ่งอื่นจากกันจึงปรากฏได้.
๑๕. ธรรมกี่อย่างละกาย กายจึงนอนเหมือนท่อนไม้ไร้เจตนา. ตอบว่า ธรรม ๓ อย่าง คือ อายุ ไออุ่น วิญญาณ. ถามว่า คนตายกับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธต่างกันอย่างไร ตอบว่า คนตายสิ่งที่ปรุงกาย วาจา จิตดับ อายุสิ้น ไออุ้นดับ ( วูปสันตะ= สงบระงับ ) และอินทรีย์แตก ( ตา หู เป็นต้น ใช้การไม่ได้ ) ส่วนภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สิ่งที่ปรุงกาย วาจา จิตดับ แต่อายุยังไม่สิ้น ไออุ่นยังไม่ดับอินทรีย์ยังผ่องใส.
๑๖. ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุติ ๓ . อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขนั้น มีกี่อย่าง ตอบว่า มี ๔ อย่าง คือเพราะละสุขกาย , ทุกข์กาย , เพราะสุขใจ , ทุกข์ใจดับ ภิกษุจึงเข้าฌานที่ ๔ อันไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ มีแต่ความบริสุทธิ์แห่งสติอันเกิดจากอุเบกขา . ถามว่า ปัจจัยแห่ง “ การเข้า” เจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต ( เครื่องกำหนดหมาย ) มีกี่อย่าง ตอบว่า มี ๒ อย่าง คือการไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวง และการใส่ใจธาตุอันไม่มีนิมิต. ถามว่า ปัจจัยแห่ง “ การตั้ง” ในเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิตกี่อย่าง ตอบว่า มี ๓ อย่าง คือการไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวง , การใส่ใจธาตุอันไม่มีนิมติ และการปรุงแต่งในกาลก่อน ( ปุพฺเพ อภิสงฺขาโร น่าจะหมายความว่า ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะอยู่ในสมาธินั้นนานเท่าไร). ถามว่า ปัจจัยแห่ง “ การออก” จากเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มีกี่อย่าง ตอบว่า มี ๒ อย่าง คือการใส่ใจนิมิตทั้งปวง และการไม่ใส่ใจธาตุที่ไม่มีนิมิต.
๑๗. เจโตวิมุติอันไม่มีประมาณ , เจโตวิมุติอันมีความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ , เจโตวิมุติอันมีความสูญเป็นอารมณ์ และเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มีอรรถะและพยัญชนะต่างกัน หรือเหมือนกัน. ตอบว่า มีปริยายที่ธรรมเหล่านี้อาศัยแล้วมีอรรถะและพยัญชนะต่างกัน ; มีอรรถะอันเดียวกัน มีพยัญชนะต่างกัน. คือ :- เจโตวิมุติอันไม่มีประมาณ ได้แก่การที่ภิกษุมีจิตประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔ มีเมตตา เป็นต้น อันไม่มีประมาณ ไม่มีเวร แผ่ไปยังโลกทั้งปวง ทุกทิศ ; เจโตวิมุติอันมีความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ ได้แก่การที่ภิกษุก้าวล่วง ( อรูปฌาณชื่อ ) วิญญาณัญจยตนะ เข้าสู่ ( อรูปฌานชื่อ ) อากิญจัญญายตนะ ; เจโตวิมุติอันมีความสูญเป็นอารมณ์ ได้แก่การที่ภิกษุไปสู่ป่าก็ตาม สู่โคนไม้ก็ตาม สู่เรือนว่างเปล่าก็ตาม พิจารณาว่าสิ่งนี้สูญจากตัวตนหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยตัวตน ; เจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต ได้แก่การที่ภิกษุเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต ( เครื่องกำหนดหมาย ) เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวง . นี้เป็นปริยายที่ธรรมเหล่านี้อาศัยแล้ว มีอรรถและพญัญชนะต่างกัน. ส่วนปริยายที่ธรรมเหล่านี้อาศัยแล้ว มีอรรถะเดียวกัน มีพยัญชนะต่างกัน คือ ราคะ โทสะ โมหะ ชื่อว่าเป็นเครื่องทำให้ “ มีประมาณ” ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพ ละราคะ โทสะ โมหะ ได้เด็ดขาดแล้ว บรรดาเจโตวิมุติที่ “ ไม่มีประมาณ” ทั้งหลาย เจโตวิมุติที่ไม่กำเริบเป็นยอด . เจโตวิมุติที่ไม่กำเริบนั้นแหละสูญ คือว่างจากราคะ โทสะ โมหะ . ราคะ โทสะ โมหะ ชื่อว่าเป็น “ กิญจนะ ” คือกิเลสเครื่องกังวล ๔. ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพ ละราคะ โทสะ โมหะ ได้เด็ดขาดแล้ว. บรรดาเจโตวิมุติที่ “ ไม่มีกิญจนะ” ทั้งหลาย เจโตวิมุติที่ไม่กำเริบเป็นยอด. เจโตวิมุติที่ไม่กำเริบนั้นแหละเป็นสูญ คือว่างจากราคะ โทสะ โมหะ. ราคะ โ ทสะ โมหะ ชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำให้ “ มีนิมิต.” ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพ ละราคะ โทสะ โมหะ ได้เด็ดขาดแล้ว. บรรดาเจโตวิมุติที่ “ ไม่มีนิมิต ” ทั้งหลาย เจโตวิมุติที่ไม่กำเริบเป็นยอด. เจโตวิมุติที่ไม่กำเริบนั้นแหละเป็นสูญ คือว่างจากราคะ โทสะ โมหะ. นี้คือปริยายที่ธรรมเหล่านั้นอาศัยแล้วมีอรรถะเป็นอันเดียวกันมีพยัญชนะต่างกัน.
พระมหาโกฏฐิตะก็ชื่นชมภาษิตของพระสารีบุตรเถระ.
(หมายเหตุ: สูตรนี้เป็นหลักวิชาอย่างสำคัญ จึงย่อไว้ค่อนข้างพิสดาร. ในกรณีที่อธิบายวิญญาณว่า รู้แจ้งสุข , ทุกข์ , ไม่ทุกข์ไม่สุขนั้น นับว่าแปลกกว่าที่อื่น ซึ่งอธิบายวิญญาณว่า รู้แจ้งอารมณ์ทางตา , หู เป็นต้น แต่ถ้าดูในธาตุวิภังคสูตร ในพระไตรปิฎฏ เล่มที่ ๑๔ ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า ก็จะเห็นว่ามีเค้าอันเดียวกัน).
๔๔ . จูฬเวทัลลสูตร
สูตรว่าด้วยเวทัลละ
คือการโต้ตอบด้วยการใช้ความรู้ สูตรเล็ก
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์. วิสาขอุบาสก ( ผู้เป็นอดีตสามี ) เข้าไปหานางธัมมทินนาภิกษุณี (ผู้เป็นอดีตภริยา ) ตั้งคำถามต่าง ๆ ซึ่งนางธัมมาทินนาภิกษุณีก็ตอบชี้แจงดังต่อไปนี้:-
๑. คำว่า สักกายะ ( กายของตน ) คืออะไร . ตอบว่า ขันธ์ ๕ ที่คนยึดถือ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า กายของตน. ถามว่า เหตุให้เกิดกายของตนคืออะไร ตอบว่า ตัญหา ความทะยานอยาก คือทะยานอยากในกาม ในความมีความเป็น ในความไม่มีไม่เป็น. ถามว่า ความดับแห่งกายตนคืออะไร ตอบว่า คือการดับตัญหาโดยไม่เหลือ. ถามว่า ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับกายของตนคืออะไร ตอบว่า มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ มีความเห็นชอบ เป็นต้น. ถามว่าอุปาทาน ( ความยึดมั่นถือมั่น ) กับอุปาทานขันธ์ ๕ ( ขันธ์ ๕ ที่คนยึดถือ ) เป็นอันเดียวกัน หรืออุปาทานอื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ . ตอบว่า อุปาทาน กับอุปาทานขันธ์ ๕ มิใช่เป็นอันเดียวกัน แต่อุปาทานก็ไม่อื่นไปจากอุปาทานขันธ์ ๕ คือความกำหนัดด้วยความพอใจในรูปอุปาทานขันธ์ ๕ อันใด อันนั้นคืออุปาทาน.
๒. สักกายทิฏฐิ ( ความเห็นที่ยึดในกายของตน ) เป็นอย่างไร . ตอบว่า บุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่เห็นสัตบุรุษ ( คนดี ) ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเห็นรูปเป็นตน เห็นตนมีรูป เห็นรูปในตน เห็นตนในรูป ( เห็นเวทนา , สัญญา , สังขาร, วิญญาณ เช่นเดียวกัน จึงรวมเป็น ๔ x ๕ = ๒๐ ข้อ). ถามว่า สักกายทิฏฐิจะไม่มีได้อย่างไร ตอบว่า อริยสาวกผู้ได้สดับ ที่ตรงกันข้ามกับบุถุชน และไม่เห็นอย่างนั้น.
๓. อริยมรรคมีองค์ ๘ คืออะไร ตอบว่า มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นต้น. ถามว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะ. ( ปัจจัยปรุงแต่ง ) หรือเป็นอสังขตะ ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง ). ตอบว่า เป็นสังขตะ. ถามว่า ขันธ์ ๕. ๓ สงเคราะห์เข้าด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็แต่ว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ สงเคราะห์เข้าด้วยขันธ์ ๓. ตอบว่า ขันธ์ ๓ ไม่สงเคราะห์เข้าด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็แต่ว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ สงเคราะห์เข้าด้วยขันธ์ ๓ คือ การเจรจาชอบ, การกระทำชอบ , การเลี้ยงชีวิตชอบ สงเคราะห์เข้าด้วยศีลขันธ์ ( กองศีล ) ; พยายามชอบ ตั้งสติชอบ , ตั้งใจมั้นชอบ , ตั้งใจมั่นชอบ สงเคราะห์เข้าด้วยสมาธิขันธ์ ( กองสมาธิ ) ; เห็นชอบ, ดำริชอบ สงเคราะห์เข้าด้วยปัญญาขันธ์ ( กองปัญญา ). ถามว่า สมาธิ , สมาธินิมิต ( เครื่องกำหนดหมายของสมาธิ ), สมาธิปริกขาร ( เครื่องประกอบของสมาธิ ) และสมาธิภาวนา ( การเจริญหรืออบรมสมาธิ ) คืออะไร. ตอบว่า ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ สมาธิ ; สติปัฏฐาน ๔ คือ สมาธินิมิต ; สัมมัปปธาน ๔ ( ความเพียรชอบ ) คือ สมาธิปริกขาขาร และการเสพการทำให้มาก ซึ่งธรรมเหล่านั้น ( ทั้งสติปัฏฐาน และสัมมัปปธาน ) คือ สมาธิภาวนา.
๔. สังขาร ๓ คือ กายสังขาร ( เครื่องปรุงกาย ) วจีสังขาร ; (เครื่องปรุงวาจา) จิตตสังขาร ( ครื่องปรุงจิต ) คืออะไร ตอบว่า ลมหายใจเข้าออก เป็นกายสังขาร ; ความตรึก ความตรอง ( วิตก, วิจาร ) เป็นวจีสังขาร ; ความจำได้หมายรู้ และความรู้สึกอารมณ์ (สัญญา เวทนา ) เป็นจิตตสังขาร . ถามว่า เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนั้น ตอบว่า เพราะลมหายใจเข้าออก เป็นไปทางกาย เนื่องด้วยกาย จึงเป็นเครื่องปรุงกาย ; คนตรึกแล้ว ตรองแล้วก่อน จึงเปล่งวาจา ความตรึก ความตรอง จึงเป็นเครื่องปรุงวาจา ; สัญญา เวทนา เป็นไปทางจิต เนื่องด้วยจิต จึงเป็นเครื่องปรุงจิต.
๕. การเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ( สมาบัติอันดับสัญญาและเวทนา ) เป็นอย่างไร . ตอบว่า ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ไม่ต้องคิดว่า เราจักเข้า เรากำลังเข้า หรือเราเข้าแล้ว สู่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ . เป็นแต่ว่าอบรมจิตเช่นนั้นไว้ก่อน น้อมจิตไปเพื่อความเป็นเช่นนั้น ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ สังขารอะไรดับก่อน . ตอบว่า วจีสังขารดับก่อน . ต่อจากนั้นกายสังขาร ต่อจากนั้นจิตตสังขารจึงดับ. การออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติเป็นอย่างไร. ตอบว่า ภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติไม่ต้องคิดว่าเราจักออก เรากำลังออก เราออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เป็นแต่ว่าอบรมจิตเช่นนั้นไว้ก่อนน้อมจิตเพื่อความเป็นเช่นนั้น. เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ สังขารอะไรเกิดก่อน ตอบว่าจิตตสังขารเกิดก่อน ต่อจากนั้นกายสังขาร ต่อจากนั้นวจีสังขารจึงเกิด. ผัสสะอะไรบ้าง ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ตอบว่า ผัสสะ ๓ คือสุญญตผัสสะ ( ความถูกต้องความสูญหรือความว่าง ) อนิมิตตผัสสะ ( ความถูกต้องที่ไม่มีนิมิตหรือเครื่องกำหนดหมาย ) อัปปณิหิตผัสสะ ( ความถูกต้องที่ไม่มีที่ตั้ง ) จิตของภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติน้อมไปหาอะไร ตอบว่า น้อมโน้มไปหาวิเวก (ความสงัด ).
๖. เวทนา ๓ คือ สุข ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข . สุขเวทนา คือความสุข ความสำราญ ที่เป็นไปทางกายเป็นไปทางจิต ; ทุกขเวทนา คือความสำราญก็ไม่ใช่ ความไม่สำราญก็ไม่ใช่ ที่เป็นไปทางกาย เป็นไปทางจิต ; อทุกขมสุขเวทนา คือความมสำราญก็ไม่ใช่ ความไม่สำราญก็ไม่ใช่ ที่เป็นไปทางกาย เป็นไปทางจิต. สุขเวทนามีอะไรเป็นสุขมีอะไรเป็นทุกข์ ตอบว่า สุขเวทนามีความตั้งอยู่เป็นสุข มีความแปรปรวนเป็นทุกข์. ทุกขเวทนามีความตั้งอยู่เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นสุข . อทุกขมสุขเวทนามีความรู้เป็นสุข มีความไม่รู้เป็นทุกข์. อนุสัยอะไรแฝงตัวตาม ๖. เวทนาอะไร. ตอบว่า อนุสัยคือราคะ ( ความกำหนัดยินดี ) แฝงตัวตามสุขเวทนา , อนุสัยคือปฏิฆะ ( ความขัดใจ ) แฝงตัวตามทุกขเวทนา , อนุสัยคืออวิชชา ( ความไม่รู้ ) แฝงตัวตามอทุกขมสุขเวทนา. อนุสัยดั่งกล่าวแฝงตัวตามเวทนาดั่งกล่าวทั้งหมดหรือ. ตอบว่า ไม่ทั้งหมด. อะไรพึงละได้ด้วยเวทนาอะไร ตอบว่าราคานุสัย ( อนุสัยคือความกำหนัดยินดี ) พึงละได้ด้วยทุกขมสุขเวทนา , ปฏิฆะนุสัย (อนุสัยคือความขัดใจ) พึงละได้ด้วยทุกขเวทนา , อวิชชานุสัย ( อนุสัยคือความไม่รู้ ) พึงละได้ด้วยอทุกขมสุขเวทนา. อนุสัยดังกล่าวพึงละได้ด้วยทุกข์เวทนาดังกล่าวทั้งหมดหรือ. ตอบว่า ไม่ทั้งหมด. ( คำว่า ทั้งหมด ไม่ทั้งหมด ใช้ประกอบคำว่า เวทนา ) อธิบายว่า ภิกษุเข้าฌานที่ ๑ ย่อมละราคะได้ด้วยฌานที่ ๑ นั้น ราคานุสัยย่อมไม่แฝงตัวตามในฌานที่ ๑ นั้น ; ภิกษุพิจารณาว่า “ เมื่อไรหนอ เราจะเข้าสู่อายตนะที่พระอริยเจ้าเข้าอยู่ได้ ” ทำความปรารถนาให้เกิดในวิโมกข์อันยอดเยี่ยม ก็เกิดโทมนัส ( ความเสียใจ ) เพราะความปรารถนานั้น เธอย่อมละปฏิฆะได้ด้วยโทมนัสนั้น ปฏิฆานุสัยย่อมไม่แฝงตัวตามในโทมนัสนั้น ( ข้อความตรงนี้ อรรถกถาอธิบายไว้ละเอียดดี ผู้ต้องค้นคว้าละเอียด โปรดดูอรรถกถาที่พระสุตตันตะเล่ม ๑๒ หน้า ๒ ; ภิกษุเข้าฌานที่ ๔ ย่อมละอวิชชาได้ด้วยฌานที่ ๔ นั้น อวิชชานุสัยย่อมไม่แฝงตัวตามในฌานที่ ๔ นั้น. ( อรรถกถาชี้ฌานที่ ๑ ไปที่อนาคามีมรรค, ชี้ฌานที่ ๔ ไปที่อรหัตตมรรค).
๗. อะไรส่วนเปรียบด้วยเวทนาอะไร. ตอบว่า ราคะมีส่วนเปรียบด้วยสุขเวทนา , ปฏิฆะมีส่วนเปรียบด้วยทุกขเวทนา, อวิชชามีส่วนเปรียบด้วยทุกขมสุขเวทนา, อะไรมีส่วนเปรียบด้วยอวิชชา ตอบว่า วิชชา ( ความรู้ ) อะไรมีส่วนเปรียบด้วยวิชชา ตอบว่า วิมุติ ( ความหลุดพ้น ). อะไรมีส่วนเปรียบด้วยวิมุติ ตอบว่า นิพพาน, อะไรมีส่วนนิพพาน ตอบว่า ท่านถามปัญหาเกิน ( กำหนด ) ไป ไม่อาจจะจับที่สุดแห่งปัญหาได้ เพราะพรหมณ์จรรย์มีนิพพานเป็นที่มุ่งหมาย มีนิพพานเป็นที่สุด ถ้าท่านหวังจะทราบ ก็พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลถามเถิด จงทรงจำไว้ตามที่ตรัสตอบเถิด. ( คำว่า มีส่วนเปรียบ หมายทั้งส่วนเปรียบในทางเดียวกันและทั้งตรงข้าม).
วิสาขอุบาสกไหว้นางธัมมทินนาภิกษุณีทำทักษิณแล้วไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลคำถามคำตอบให้ทรงทราบทุกประการ. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า นางธัมมทินนาภิกษุณีเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ถ้าท่านจะถามเรา เราก็จะตอบอย่างที่นางธัมมทินนาภิกษุณีตอบแล้ว ท่านจงทรงจำเนื้อความนั้นไว้เถิด.
๔๕ . จูฬเวทัลลสูตร
สูตรว่าด้วยเวทัลละ
คือการโต้ตอบด้วยการใช้ความรู้ สูตรเล็ก
๑. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนภิกษุทั้งหลสย ถึงการสมาทานธรรมะ ( รับธรรมะมาประพฤติปฏิบัติ ) ๔ ประการ คือ ๑. การสมาทานธรรมะที่มีสุขใจในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบาก ( ผล) ต่อไป ๒. การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป ๓ . การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป ๔. การสมาทานธรรมะที่มีสุขในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป.
๒. ตรัสขยายความการสมาทานธรรมะทั้งสี่ข้อนั้นดังนี้ ข้อ ๑ การสมาทานธรรมะที่มีสุขในปัจจุบัน มีทุกข์ต่อเป็นวิบากไป คือพวกพราหมณ์บางพวกมีวาทะ มีความเห็นว่า โทษในกามทั้งหลายไม่มี จึงดื่มด่ำในกามทั้งหลาย เมื่อตายไปก็เข้าถึงอบาย ทุกคติ วินิบาต นรก ได้รับทุกขเวทนา. ข้อ ๒ การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป คือสมณพราหมณ์บางพวกที่ประพฤติพรตทรมานกายต่าง ๆ เช่น เปลือยกาย เป็นต้น จนถึงลงอาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง ( มีเวลาเย็นเป็นครั้งที่ ๓ ) เมื่อตายไปก็เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก. ข้อที่ ๓ การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป คือบุคคลบางคนเป็นคนมีราคะกล้า เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนือง ๆ เป็นคนมีโทสะกล้า เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนือง ๆ เป็นคนมีโมหะกล้า เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดเเต่โมหะกล้าเนือง ๆ . ผู้นั้นอันความทุกข์โทมนัสถูกต้องมีน้ำตานองหน้า ร้องไห้ ประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคคติโลกสวรรค์. ข้อที่ ๔ การสมาทานธรรมะที่มีสุขในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป คือบุคคลบางคนไม่เป็นคนมีราคะ โทสะ โมหะกล้า ไม่ได้เสวยทุกข์โทมนัส อันเกิดแต่ราคะ โทสะ โมหะ เนือง ๆ . สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔. เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคคติโลกสวรรค์.
๔๖ . มหาธัมมสมาทานสูตร
สูตรว่าด้วย
การสมาทานธรรมะ สูตรใหญ่
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ตรัสสอนภิกษุทั้งหลาย โดยมากสัตว์ทั้งหลายมีความใคร่ ความพอใจ ความประสงค์ ให้สิ่งที่ม่ปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจเสื่อมไป ให้สิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจเจริญยิ่ง แต่ทั้งที่ประสงค์อย่างนั้น สิ่งที่ไม่ปรารถนา เป็นต้นก็เจริญยิ่ง สิ่งที่น่าปรารถนา เป็นต้น ก็เสื่อมไป ทั้งนี้เพราะอะไร . ภิกษุทั้งหลายกราทูลขอให้พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเอง.
๒. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่รู้ธรรมที่ควรเสพไม่ควรเสพ ควรคบไม่ควรคบ เมื่อไม่รู้จึงเสพธรรมที่ไม่ควรเพส ไม่เสพธรรมที่ควรเสพ. คบธรรมที่ไม่ควรคบ ไม่คบธรรมที่ควรคบ เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เป็นต้น จึงเจริญยิ่ง สิ่งที่น่าปรารถนา เป็นต้น จึงเสื่อมไป. ทั้งนี้เพราะการทำเช่นนั้น เป็นการกระทำของผู้ไม่รู้ ( ผู้ไม่ฉลาด ). ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ รู้และทำในทางที่ตรงกันข้ามจึงได้รับผลดี เพราะการทำเช่นนั้นเป็นการกระทำของผู้รู้ ( ผู้ฉลาด ).
๓. ตรัสถึงการสมาทานธรรมมะ ๔ อย่าง ดั่งในสูตรก่อน เป็นแต่เรียงลำดับใหม่ดังนี้ ๑. มีทุกข์ ในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป ๒. มีสุขในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป ๓. มีทุกข์ในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป ๔. มีสุขใสนปัจจุบะน มีสุขเป็นวิบากต่อไป.
๔. ตรัสอธิบาย ในตอนแรกโดยชี้ความสำคัญไปที่ความไม่รู้หรือความรู้ ถ้าไม่รู้การสมาทานธรรมะทั้งสี่อย่างตามเป็นจริง ก็เป็นเหตุให้เสพสิ่งนั้น ไม่เว้นสิ่งนั้น ( ในทางที่ผิด ) ทำให้ธรรมะที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจเจริญขึ้น ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจเสื่อมไป แล้วทรงแสดงว่า ถ้ารู้การสมาทานธรรมะทั้งสี่อย่างตามเป็นจริง ก็จะเป็นเหตุให้ไม่เสพสิ่งนั้น ( อันเป็นทางถูก ) ทำให้ธรรมะที่ไม่น่าปรารถนา เป็นต้น เสื่อมไป ธรรมะที่น่าปรารถนา เป็นต้น เจริญขึ้น.
๕. ตรัสอธิบายถึงการสมาทานธรรมะทั้งสี่ข้อ ทีละข้ออีก โดยชี้ว่า ๑. การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิกบากต่อไป คือประพฤติชั่ว ( อกุศลกรรมบถ ๑๐ ) อย่างมีทุกข์ ( ไม่สบายกาย ) มีโทมนัส ( ไม่สายใจ ) เมื่อตายไปก็เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก. ๒. การสมาทานธรรมะที่มีสุขในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป คือประพฤติชั่วอย่างมีสุข ( สบายกาย ) มีโสมนัส ( สบายใจ ) เมื่อตายไปก็เข้าถึงอบายเป็นต้น. ๓. การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีความสุขเป็นวิบากต่อไป คือเว้นจากความชั่วอย่างมีทุกข์โทมนัส เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคคติโลกสวรรค์ ๔. การสมาทานธรรมะที่มีความสุขในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป คือเว้นจากความชั่วอย่างมีความสุขโสมนัส เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคคติโลกสวรรค์.
๖. ตรัสเปรียบข้อแรกด้วยกระโหลกน้ำเต้าขมที่ระคนยาพิษ ดื่มแล้วทำให้ตายหรือปางตาย ; ข้อที่ ๒ ด้วยขันน้ำดื่มทำด้วยสำริด มีสีกลิ่นดี แต่ระคนยาพิษ ดื่มแล้วทำให้ตายหรือปางตาย ; ข้อที่ ๓ ด้วยน้ำมูตรเน่าผสมด้วยยาต่าง ๆ คนเป็นโรคผมเหลืองดื่มแล้วทำให้เป็นสุขได้ ; ข้อที่ ๔ ด้วยนมส้ม น้ำผึ้ง เนยใส น้ำอ้อย ระคนเข้าด้วยกัน คนเป็นโรคลงโลหิตดื่มแล้วเป็นสุขได้.
๗. ตรัสสรุปในที่สุดว่า การสมาทานธรรมะที่มีสุขในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป ย่อมรุ่งเรืองรู่งโรจน์เหนือสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอื่นเป็นอันมาก เหมือนดวงอาทิตย์ในฤดูสารทในเดือนท้ายพรรษา เมื่อหมดฝนรุ่งเรืองรุ่งโรจน์เหนือความมืดทั้งปวงที่มีอยู่ในอากาศฉะนั้น.
๔๗ . วิมังกสูตร ๗
สูตรว่าด้วย
ภิกษุผู้พิจารณาสอบสวน
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ตรัสถึงภิกษุผู้ไม่รู้เรื่องจิตใจของคนอื่น ควรทำการสอบสวนในตถาคตเพื่อรู้ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงหรือไม่. ภิกษุทั้งหลายขอร้องให้ทรงอธิบาย จึงตรัสขยายความต่อไปว่า .
๒. ภิกษุผู้พิจารณาสอบสวน เมื่อไม่รู้เรื่องจิตใจของผู้อื่น ( คือไม่มีอำนาจจิตรู้จิตใจของผู้อื่นได้ ) ควรทำการสอบสวนในตถาคต ในธรรม ๒ อย่าง คือในธรรมที่พึงรู้แจ้งทางตาและทางหู ( กิริยาอาการหรือถ้อยคำใด ๆ ที่พึงใช้ตาใช้หูสังเกตสอบสวนได้ ) ว่าธรรมะที่พึงรู้แจ้งทางตาและทางหู ที่เศร้าหมอง , ที่ปนกัน ( คือดีบ้าง ชั่วบ้าง ) ของตถาคตมีหรือไม่มี ก็จะทราบว่าไม่มี. เมื่อสอบสวนยิ่ง ๆ ขึ้นไปว่า ท่านผู้นี้สมบูรณ์ด้วยกุศลธรรมนี้มานานแล้ว หรือพึงสมบูรณ์ด้วยกุศลธรรมนี้เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ก็จะทราบว่าสมบูรณ์มานานแล้ว มิใช่เพิ่งสมบูรณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ เมื่อสอบสวนยิ่ง ๆ ขึ้นไปว่า ภิกษุ ( ผู้เป็นศาสดาของเรา ) นี้ ถึงความเป็นผู้มีคนรู้จักมียศ ในการนี้ท่านมีโทษบางอย่างหรือไม่ ภิกษุ ( บางรูป ) ยังไม่มีโทษเกิดขึ้นตราบเท่าที่ยังไม่ถึงความเป็นผู้มีคนรู้จัก มียศ พอถึงความเป็นผู้มีคนรู้จัก มียศ ก็มีโทษบางอย่างเกิดขึ้น ( เช่น เห่อเหิม ถือตัว ). เธอสวบสวนอยู่ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ภิกษุถึงความเป็นผู้มีคนรู้จัก มียศ แต่ก็ไม่มีโทษบางอย่าง เมื่อสอบสวนยิ่ง ๆ ขึ้นไปว่าท่านผู้นี้เว้นความชั่วมิใช่เพราะกลัว เว้นความชั่วเพราะกลัวก็หามิได้ ( เว้นโดยอัธยาศัยสูงคุณธรรมสูง มิใช่เพราะกลัวถูกติเตียน เป็นต้น ) ย่อมไม่เสพกาม เพราะเป็นผู้ปราศจากราคะ เพราะสิ้นไปแห่งราคะใช่หรือไม่. ก็จะรู้ว่า ท่านผู้นี้เว้นความชั่วมิใช่เพราะกลัว เว้นความชั่วเพราะกลัวก็หามิไม่ ย่อมไม่เสพกามเพราะเป็นผู้ปราศจากราคะ เพราะสิ้นไปแห่งราคะ. ถ้ามีผู้อื่น ถามภิกษุ ( ผู้สวบสวน ) ว่า มีอาการอะไร มีข้อที่รู้ได้อะไรที่ทำให้กล่าวว่า ท่านผู้นี้เว้นความชั่วมิใช่กลัว เป็นต้น. ถ้าเธอจะตอบให้ชอบก็ตอบว่า ท่านผู้นี้อยู่ในสงฆ์หรืออยู่แต่ผู้ดียว ท่านก็ไม่ดูหมิ่นภิกษุที่ดี ที่ชั่ว ที่บริหารหมู่คณะ ที่ติดอามิส ที่ไม่ติดอามิส. อนึ่ง ข้าพเจ้าได้ฟังมาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ถึงพระดำรัสที่ว่า เราเว้นความชั่วมิใช่เพราะกลัว เราเว้นความชั่วเพราะกลัวก็หาไม่ เราไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะ เพราะสิ้นไปแห่งราคะดังนี้ . ข้อที่ว่าไม่ดูหมิ่นภิกษุทุกประเภท ไม่ว่าดีหรือเลวนั้น อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคมีพระหฤทัยสม่ำเสมอในบุคคลทั้งปวง เช่นในพระเทวทัตผู้คิดฆ่าและในพระราหุลผู้เป็นโอรส).
๓. เธอพึงถามตถาคตถึงธรรมะที่พึงรู้แจ้งทางตาหูอันเศร้าหมอง อันปนกัน ( ดีบ้าง ชั่วบ้าง ) อันผ่องแผ้วว่า ธรรมเหล่านี้ของตถาคตมีหรือไม่ เมื่อตถาคตจะตอบ ก็พึงตอบว่า “ ไม่มีธรรมที่เศร้าหมองและที่ปนกัน แต่มีธรรมที่ผ่องแผ้ว. นั้นเป็นทางเป็นที่โคจรของเรา แต่เราก็มิได้มีความทะยานอยาก เพราะคุณธรรมนั้น” สาวกจึงควรเข้าไปหาศาสดาผู้กล่าวอย่างนี้เพื่อฟังธรรม เธอรู้ยิ่งธรรมบางอย่างในธรรมที่แสดงนั้น ย่อมถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย เลื่อมใสในศาสดาว่า “ พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ตรัสรู้ดีโดยชอบ , พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว, พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว.” ถ้ามีผู้ถามภิกษุ ( ผู้สอบสวนนั้น ) ว่า มีอาการอะไร มีข้อที่รู้ได้อะไรเป็นเหตุให้กล่าว ( สรรเสริญพระรัตนตรัย ) อย่างนั้น . จะตอบให้ชอบ เพราะเข้าไปฟังธรรมและได้รู้ยิ่งธรรมบางอย่างในธรรมที่แสดงนั้นดังกล่าวแล้ว.
๔. ตรัสว่า ผู้มีศรัทธาตั้งลงในตถาคต เป็นศรัทธาที่มีราก เป็นศรัทธาอันตั้งมั่น ด้วยอาการด้วยบท ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ ศรัทธาของผู้นั้น เรียกว่ามีอาการ ( อันดี ) มีความเห็นเป็นจริงเป็นมูล เป็นศรัทธาอันมั่น ซึ่งสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก พึงนำไป ( หรือจูงไปที่อื่น ) ไม่ได้. นี้แหละคือการสอบสวนธรรมในตถาคต และตถาคตก็เป็นอันสวบสวนดีแล้วโดยธรรม.
(หมายเหตุ: สูตรนี้อีกสูตรหนึ่งที่ท้าให้สอบสวนคุณความดีหรือข้อบกพร่องของพระพุทธเจ้า พึงดูที่ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หัวข้อที่ ๒๑๗ ที่แสดงถึงพระพุทธเจ้าทรงปวารณาพระองค์ให้ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวได้ด้วย).
๔๘ . โกสัมพิยสูตร
สูตรว่าด้วย
ภิกษุชาวกรุงโกสัมพี
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โฆมิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี. สมัยนั้นภิกษุในกรุงโกสัมพีร้าวฉานทะเลาะวิวาทกัน ใช้วาจาทิ่มแทงกัน ไม่ ( สามารถ ) ทำความเข้าใจกันได้. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสั่งภิกษุรูปหนึ่งให้เรียกภิกษุเหล่านั้นมาประชุมกัน ตรัสสอบถาม เธอทั้งหลายรับว่าทะเลาะวิวาทกันจริง . จึงตรัสถามว่า ในสมัยที่ทะเลาะวิวาทกันนั้น เธอได้ตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจารีทั้งในที่แจ้งที่ลับบ้างหรือเปล่า. เมื่อกราบทูลว่า เปล่า พวกเธอรู้อะไรเห็นอะไรจึงทะเลาะวิวาทกัน ข้อนั้นย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน.
๒. ต่อไปได้ตรัสถึงสาราณิยธรรม ( ธรรมอันทำให้ระลึกถึงกัน ) ๖ ประการ คือ ๑. ตั้งกายกรรมอันประกอบด้วยเมตตา ๒. ตั้งวจีกรรมอันประกอบด้วยเมตตา ๓. ตั้งมโนกรรมอันประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจารีทั้งในที่แจ้งที่ลับ ๔. แบ่งปันลาภแก่เพื่อนพรหมจารี. ๕. มีศีลอันดีเสมอด้วยเพื่อนพรหมจารี ๖ . มีทิฏฐิความเห็นอันประเสริฐเสมอด้วยเพื่อนพรหมจารี. ธรรมทั้งหกอย่างนี้ทำให้ระลึกถึงกัน ทำให้เป็นที่รักเป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อสามัคคีกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน. ในธรรม ๖ อย่างนี้ ข้อที่เป็นยอด คือทิฏฐิความเห็นอันประเสริฐ อันนำออกจากทุกข์ได้.
๓. ครั้นแล้วได้ทรงไขความของทิฏฐิอันประเสริฐ อันนำออกจากทุกข์ได้ โดยชี้ไปถึงฌานที่ ๒ ถึงญาณที่ ๗ อันเป็นโลกกุตตระ ( ข้ามโลก ) ไม่ทั่วไปแก่บุถุชนทั้งหลาย ซึ่งเรียกว่าเป็นองค์ ๗ ที่ทำให้ผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ เหล่านี้ ประกอบด้วยโสดาปัตติผล . ญาณทั้งเจ็ดมีดังนี้:-
ญาณที่ ๑ ภิกษุไปสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่าง พิจารณาว่า ปริยฏฐานะ (กิเลสที่ครอบงำจิต ) ในภายใน ที่เป็นเหตุให้รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง ที่ยังละไม่ได้ มีอยู่หรือไม่ คือถ้าภิกษุถูกความกำหนัดในกาม ( กามราคะ ) , ความพยาบาท, ความหดหู่ง่วงงุน , ความฟุ้งสร้านรำคาญใจ , ความลังเลสงสัย , ความคิดที่เวียนอยู่ในโลกนี้ ( อธิโลกจินฺตา ) การทะเลาะวิวาท , ครอบงำจิต แล้วมารู้ว่าปริยุฏฐานะที่ยังละไม่ได้ไม่มี จิตของเราตั้งไว้ดีแล้ว เพื่อตรัสรู้สัจจธรรม. เธอก็ได้บรรลุญาณที่ ๑ อันเป็นอริยะ เป็นโลกตตระ เป็นอสาธารณะแก่บุถุชนทั้งหลาย.
ญาณที่๒ อริยสาวกพิจรณาว่า เราส้องเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้หรือเปล่า ซึ่งเราจะได้ความสงบระงับ ได้ความดับเย็น ( นิพพุติ ) เฉพาะตน. เธอรู้ว่า ส้องเสพ เจริญ ทำให้มากทิฏฐินี้. เธอก็ได้บรรลุญาณที่ ๒ ฯ ล ฯ .
ญาณที่๓ อริยสาวกพิจารณาว่า มีสมณพราหมณ์อื่นในภายนอกศาสนานี้ที่ประกอบด้วยทิฏฐิอย่างที่เรามีหรือไม่หนอ . เธอรู้ว่า ไม่มี. เธอก็ได้บรรลุญาณที่ ๓ ฯ ล ฯ .
ญาณที่๔ อริยสาวกพิจารณาว่า เราประกอบด้วยธรรมดา เช่นเดียวกับบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิประกอบด้วยธรรมดาชนิดนั้นหรือไม่ ธรรมดาสำหรับบุคคลเช่นนั้น คือต้องอาบัติ ก็แสดงเปิดเผย ทำให้ปรากฏในศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้โดยพลัน แล้วสำรวมระวังต่อไป. เธอประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น. เธอก็ได้บรรลุญาณที่ ๔ ฯ ล ฯ .
ญาณที่๕ อริยสาวกพิจารณาว่า เราประกอบด้วยธรรมดา เช่นเดียวกับบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิประกอบด้วยธรรมชนิดนั้นหรือไม่. ธรรมดาสำหรับบุคคลเช่นนั้น คือขวนขวายในกิจน้อยใหญ่ของเพื่อนพรหมจารี การเพ่งเล็งอย่างแรงกล้า เพื่อการศึกษาอธิษศีล , อธิจิต , อธิปัญญา ( ศีล สมาธิ ปัญญาอันยิ่ง ). เธอรู้ว่า เธอประกอบด้วยปัญญาเช่นนั้น. เธอก็ได้บรรลุญาณที่ ๕ ฯ ล ฯ.
ญาณที่๖ อริยสาวกพิจารณาว่า เราประกอบด้วยความเป็นผู้มีกำลัง เช่นเดียวกับบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกำลังนิดนั้นหรือไม่ . ความเป็นผู้มีกำลังสำหรับบุคคลเช่นนั้น คือเมื่อมีผู้แสดงธรรมที่พระตถาคตประกาศแล้ว เขาย่อมตั้งใจเงี่ยโสตสดับธรรม. เธอรู้ว่า เธอประกอบด้วยความเป็นผู้มีกำลังเช่นนั้น. เธอก็ได้บรรลุญาณที่ ๖ ฯ ล ฯ.
ญาณที่๗ อริยสาวกพิจารณาว่า เราประกอบด้วยความเป็นผู้มีกำลัง เช่นเดียวกับบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกำลังชนิดนั้นหรือไม่. ความเป็นผู้มีกำลังสำหรับบุคคลเช่นนั้น คือเมื่อมีผู้แสดงธรรมที่พระตถาคตประกาศแล้ว เขาย่อมได้ความรู้อรรถ ความรู้ธรรม ได้ความปราโมทย์ อันประกอบด้วยธรรม. เธอรู้ว่า เธอประกอบด้วยความเป็นผู้มีกำลังเช่นนั้น. เธอก็ได้บรรลุญาณที่ ๗ ฯ ล ฯ.
ตรัสสรุปว่า ธรรมดาของอริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ เป็นอันสอบสวนด้วยดี เพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผลอย่างนี้. อริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ อย่างนี้ ย่อมประกอบด้วยโสดาปัตติผล.
๔๙ . พรหมนิมันตนิกสูตร
สูตรว่าด้วยการ
เชื่อเชิญของพรหม
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังถึงเหตุการณ์สมัยหนึ่งที่ประทับ ณ โคนพญาไม้สาละในป่าสุภควัน ใกล้เมืองอุกฏฐา ครั้งนั้นพกาพรหมเกิดความเห็นผิดขึ้นว่า นี้เที่ยง ยั่งยืน ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่เคลื่อน ไม่อุปบัติ ๘ . ไม่มีความหลุดพ้น ( นิสสรณะ = แล่นออก ) อื่นที่ยิ่งกว่านี้. พระองค์จึงเสด็จไปปรากฏในพรหมโลก . พกาพรหมเห็นก็ทูลเชิญและแสดงทิฏฐิความเห็นของตนในเรื่องเที่ยง. พระองค์ตรั้สตอบว่า พกาพรหมมีอวิชชา ( ความไม่รู้ ) จึงกล่าวถึงสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง สิ่งที่ไม่ยั่งยืนว่ายั่งยืน เป็นต้น.
๒. ลำดับนั้น มารผู้มีบาปก็สิงพรหมปาริสัชชะ ๙ . ตนหนึ่ง ให้พูดห้ามปรามพระผู้มีพระภาคมิให้ว่ากล่าวพกาพรหม เพราะพกาพรหมคือผู้เป็นใหญ่ เป็นผู้สร้าง และได้พูดจาอย่างอื่นอีกเป็นเชิงว่าผู้ติเตียน ธาตุ ๔ ภูต เทวดา ประชาบดี พรหม ตายไปจะเกิดในกายอันต่ำทราม ผู้สรรเสริญธาตุ ๔ เป็นต้น ตายไปจะเกิดในกายอันปราณีต พร้อมทั้งห้ามพูดล่วงเกินพระพรหม. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป ! เรารู้จักท่าน ท่านอย่านึกว่าเราไม่รู้จัก. พระพรหม บริษัทของพระพรหม พรหมปาริสัชชะ ล้วนแต่อยู่ในมือของท่าน ล้วนแต่อยู่ในอำนาจของท่าน ท่านจึงคิดว่า ผู้นั้นอยู่ในมือ อยู่ในอำนาจของเรา. ดูก่อนมารผู้มีบาป ! แต่เรานี่แหละไม่อยู่ในมือ ไม่อยู่ในอำนาจของท่าน.
๓. ต่อจากนั้นพกาพรหมก็กล่าวยืนยันทิฏฐิของตนอีก ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสโต้ตอบเป็นเชิงเตือนว่า ทรงรู้จักคติและชุติ ( อานุภาพ ) ของพกาพรหม แล้วทรงแสดงว่าพกาพรหมยังไม่รู้ไม่เห็นพรหมอีก ๓ พวก คือ พวกอาภัสสระ พวกสุภกิณหะ และพวกเวหัปผละ ซึ่งพกาพรหมเคยเคลื่อนมาจากนั้น แต่มาอยู่ในที่นี้นานเกินไปก็เลยหลงลืมไป . พกาพรหมแสดงความประสงค์ว่า จะหายตัวไปจากพระผู้มีพระภาค แต่ก็หายไปไม่ได้. พระผู้มีพระภาคแสดงฤทธิ์หายไปได้ ให้พรหม บริษัทของพรหม และพรหมปาริสัชชะได้ยินพระดำรัส แต่ไม่เห็นพระกาย. พวกพรหมทั้งนั้นก็อัศจรรย์ใจในพุทธานุภาพ.
๔. มารผู้มีบาปก็สิงพรหมปาริสัชชะตนหนึ่ง ให้พูดห้ามปรามพระองค์อย่าให้แสดงธรรมแก่สาวกแกบรรพชิต อย่าติดในสาวก ในบรรพชิต พร้อมทั้งเล่าว่า สมณพราหมณ์ก่อนหน้าพระองค์ที่ปฏิญญาตนว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และนำสาวก บรรพชิต แสดงธรรมแก่สาวก แก่บรรพชิต ติดในสาวก ในบรรพชิต ตายไปก็เกิดในกายอันต่ำทราม แต่สมณพรามณ์ที่ตรงกันข้าม ( คือไม่สอนสาวก ไม่สอนบรรพชิต ) ตายไปกลับเกิดในกายอันประณีต, ข้าพเจ้าขอบอกกับท่านว่า จงมีความปรารถนาน้อย หาความสุขในปัจจุบันเถิด. การไม่บอกเป็นการดี ท่านจงอย่าสั่งสอนคนอื่นเลย.
๕. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป ! เรารู้จักท่าน ท่านอย่าสำคัญว่าเราไม่รู้ ท่านไม่มุ่งประโยชน์แก่เราจึงกล่าวอย่างนี้ ท่านคิดว่า พระสมณโคดมแสดงธรรมแก่ใคร ผู้นั้นจักพ้นอำนาจแห่งเรา สมณพราหมณ์ ( ที่กล่าวถึง ) เหล่านั้นมิได้ตรัสรู้เองโดยชอบ แต่ปฏิญญาตนว่าตรัสรู้เองโดยชอบ. ส่วนตัวเราตรัสรู้เองโดยชอบ จึงปฏิญญาว่าตรัสรู้โดยชอบ. จะแสดงธรรมหรือไม่แสดงแก่สาวกทั้งหลาย จะแนะนำหรือไม่แนะนำสาวกทั้งหลาย ตถาคตก็เป็นเช่นนั้นเท่านั้น ( ไม่ดีไม่ชั่วไปกว่าเดิม ) ทั้งนี้เพราะละอาสวะได้เด็ดขาดแล้ว เหมือนตาลยอดด้วนไม่ควรงอกขึ้นอีก ๑๐ .
๕๐ . มารตัชชนียสูตร
สูตรว่าด้วยมารถูกคุกคาม
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าเนื้อชื่อเภสกฬาวัน ใกล้นครสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ. สมัยนั้น พระมหาโมคคัลลานะจงกรม ( เดินไปมา ) ในที่แจ้ง . มารเข้าไปในท้อง เข้าไปในใส้ใหญ่ของพระเถระ พระเถระรู้สึกหนัก ๆ จึงนั่งพิจารณาดูก็ทราบ จึงไล่ให้มารออก มารก็ออกมาจากปาก ยืนพิงบานประตู ( แห่งบรรณศาลา ) .
พระมหาโมคคัลลานะก็กล่าวแสดงความรู้ทันและเล่าประวัติต่าง ๆ ซึ่งแสดงว่าองค์ท่านเคยเป็นมารมาแล้วชื่อทูสี มีน้องสาวชื่อกาฬี ตัวมารที่มาปรากฏนี้เป็นลูกของนางกาฬี จึงนับเป็นหลานของท่าน.
เมื่อรู้ว่าพระเถระรู้จักก็อันตรธานหายไปในที่นั้น.
จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
________________________________________
๑. มโนวิญญาณอันบริสุทธิ์ ในที่นี้ อรรถกถาแก้ว่า ได้แก่จิต ในรูปาวจรจตุตถฌาน ( ฌานที่ ๔ อันท่องเที่ยวในรูป คือยังมีรูปเป็นอารมณ์)
๒. อรรถกถาแก้ว่า อายุสังขาร ก็คืออายุนั้นเอง ส่วนเวทนียธรรม ได้แก่เวทนา คือความรู้สึกอารมณ์เป็นสุขเป็นทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข
๓. เจโตวิมุติ ความหลุดพ้นเพราะสมาธิ คือหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจสมาธิ
๔. โดยปกติ คำว่า อากิญจัญญายตนะ อันเป็นชื่อของอรูปฌานที่ ๓ แปลว่า มีความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ แต่ในที่นี้ คำว่า ไม่มีอะไรนั้น อาจแปลได้ว่า ไม่มีกิเลสเครื่องกังวลได้ด้วย เป็นการอธิบาย เพื่อให้อรรถะ คือเนื้อความลงรอยเดียวกัน
๕. ขันธ์ ๓ คือ สีลขันธ์ กองศีล สมาธิขันธ์ กองสมาธิ และปัญญาขันธ์ กองปัญญา
๖. อนุเสนฺติ อนึ่งคำว่าอนุสัยหมายถึงกิเลสที่มีอยู่อย่างแฝงตัวคล้ายตำกอนกันตุ่ม เมื่อมีอะไรมากวนจึงขุ่นขึ้นมา
๗. พระสูตรนี้ นับเป็นสูตรประหลาด เพราะสอนสาวกให้สวบสวนพิจารณาในพระผู้มีพระภาคเอง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สอนให้คอยจับผิดพระองค์เอง ซึ่งเเสดงว่าพระองค์ทรงเปิดเผยและแน่พระหฤทัยในความบริสุทธิ์ผุดผ่องจริง
๘. อ่านว่า อุปะบัติ เป็นคำคู่กับจุติ ซึ่งแปลว่า เคลื่อน อุปบัติ แปลว่าเข้าถึง หมายถึงการเกิด
๙. เป็นพรหมชั้นต่ำสุดของพรหมมีรูป ๑๖ ชั้น ดูที่หัวข้อ ๔๑ . สาเลยยกสูตรด้านบน
๑๐. สูตรนี้บ่งชัดถึงคติทางพระพุทธศาสนา ที่ถือว่า ชั้นพรหมยังตกอยู่ในอำนาจมาร คือพรหมก็ยังติดในฌาน ซึ่งจัดเป็นภวตัณหาหรือวิภาวตัณหา มารในที่นี้ เมื่อถอดความ ก็ได้แก่กิเลสมาร และอภิสังขารมาร ถ้าไม่ถอดความ ก็ได้แก่เทวปุตตมาร
เล่มที่ ๑๓ ชื่อมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๕
หน้า ๑
พระไตรปิฎก เล่ม ๑๓ นี้ ยังอยู่ในประเภทมัชฌิมนิกาย คือพระสูตรขนาดปานกลาง ไม่ยาวและไม่สั้นเกินไป ได้กล่าวแล้วว่า สูตรขนาดกลางมี ๓ เล่ม ได้แก่เล่ม ๑๒ คือ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์หมวดขนาดกลาง หมวด ๕๐ ที่เป็นตอนต้นหรือมูล. เล่ม ๑๓ คือเล่มนี้ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หมวดขนาดกลาง หมวด ๕๐ ที่เป็นตอนกลาง ส่วนเล่ม ๑๔ คือ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ หมวดขนาดกลาง หมวด ๕๐ ที่เป็นตอนปลาย.
เฉพาะเล่มนี้ มี ๕๐ สูตร มี ๕ วรรค ๆ ละ ๑๐ สูตร แต่มีที่สังเกตได้ง่าย คือเล่มนี้ แบ่งวรรคเป็นเรื่องบุคคลทั้งสิ้น กล่าวคือ วรรคที่ ๑ ชื่อคฤปติวรรค ว่าด้วยคฤหบดี คือผู้ครองเรือน วรรคที่ ๒ ชื่อ ภิกขุวรรค ว่าด้วยภิกษุ วรรคที่ ๓ ชื่อปริพพาชกวรรค ว่าด้วยปริพพาชกหรือนักบวชนอกพระพุทธศาสนาประเภทหนึ่ง วรรคที่ ๔ ชื่อราชวรรค ว่าด้วยพระราชา และ วรรคที่ ๕ ชื่อพราหมณวรรค ว่าด้วยพราหมณ์.
ขึ้นวรรที่ ๑ คฤปติวรรค ว่าด้วยคฤบดี มี ๑๐ สูตร
๑. กันทรกสูตร
สูตรว่าด้วยกันทรกปริพพาชก
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ฝั่งสระน้ำชื่อคัคครา ใกล้กรุงจำปา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มหมู่ใหญ่ บุตรแห่งนายควาญช้างชื่อเปสสะ และปริพพาชกชื่อกันทรกะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ปริพพาชกชื่อกันทรกะ กราบสรรเสริญว่า ทรงควบคุมพระสงฆ์ได้ดี เพราะเห็นภิกษุสงฆ์เป็นผู้นิ่ง. พระผู้มีพระภาคตรัสรับว่าเป็นจริง เพราะในภิกษุสงฆ์นี้ มีพระอรหันต์ขีณาสพ ผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ มีพระเสขะ ( พระอริยบุคคลผู้ยังศึกษา คือยังไม่บรรลุอรหัตตผล ) ผู้มีศีล มีความประพฤติสงบระงับ มีจิตตั้งมั่นดีในสติปัฏฐาน ๔ (ย้อนดูไปที่) พระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๔
๒. บุตรนายควาญช้างชื่อเปสสะกราบทูลสรรเสริญว่า ทรงบัญญัติสติปัฏฐาน ๔ ไว้ดีมาก ตนเองเป็นคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว ยังเจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็นครั้งคราว เป็นการน่าอัศจรรย์ที่พระผู้มีพระภาคทรงทราบประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อป่าชัฏคือมนุษย์ กากขยะคือมนุษย์ และความโอ้อวดของมนุษย์เป็นไปอยู่อย่างนี้ แล้วได้แสดงความคิดเห็นต่อไปว่า มนุษย์เป็นเหมือนป่าชัฏ ( รกและดูยาก ) แต่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ตื่น ( เปิดเผย ดูง่าย ) ตนสามารถทำช้างฝึกให้ไปได้ตามต้องการ ช้างย่อมแสดงความดื้อ ความโกง ความงอ ความคดให้ปรากฏ ส่วนพวกที่เป็นทาส เป็นคนรับใช้ เป็นกรรมกร ประพฤติทางกายอย่างหนึ่งทางวาจาอย่างหนึ่ง แต่จิตใจไปอีกอย่างหนึ่ง.
๓. พระผู้มีพระภาคตรัสรับรองว่า มุนษย์เป็นผู้เสมือนรกชัฏ ( ดูยาก ) ส่วนสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ตื้น ( เปิดเผยดูง่าย ) จริง. แล้วตรัสถึงบุคคล ๔ ประเภทที่มีอยู่ในโลก คือ ๑ . ทำตัวเองให้เดือดดร้อน ประกอบเนือง ๆ ในการทำตนเองให้เดือดร้อน ๒ . ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบเนือง ๆ ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ๓. ทำตัวเองให้เดือดร้อน ประกอบเนือง ๆ ในการทำตนเองให้เดือดร้อนด้วย ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบเนือง ๆ ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วย ๔. ไม่ทำทั้งสองอย่างนั้น ซึ่งเป็นผู้หมดความกระหาย ดับเย็นในปัจจุบัน. แล้วตรัสถามว่า บุตรนายควาญช้างชอบบุคคลประเภทไหน . บุตรนายควาญช้างตอบว่า ชอบใจบุคคลประเภทหลัง . เมื่อตรัสถามถึงเหตุผล ก็กราบทูลว่า ทั้งตนและผู้อื่นก็ใคร่สุขเกลียดทุกข์ ตนจึงชอบใจพวกที่ไม่ทำตนไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน แล้วกราบทูลลากลับ.
๔. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าบุตรนายควาญช้างชื่อเปสสะจะนั่งอยู่สักครู่จนกว่าเราจะอธิบายแจกบุคคล ๔ ประเภทนี้โดยพิศดาร ก็จะได้ประโยชน์อย่างใหญ่ แต่แม้เพียงเท่านี้ก็ได้ประโยนช์ใหญ่แล้ว. ภิกษุทั้งหลายขอให้ทรงแจกอธิบายโดยพิศสดาร จึงตรัสว่า ๑. พวกทำตนให้เดือดร้อน ประกอบเนือง ๆ ในการทำตนให้เดือดร้อน ได้แก่พวกถือวัตรในการเปลือยกาย ในเรื่องอาหาร ทรมานตน. ๒. พวกทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนประกอบเนือง ๆ ในการทำให้ผู้อื่นให้เดือดร้อน ได้แก่พวกพราน พวกโจร พวกฆ่าโจร พวกผู้คุมเรือนจำ ๑ . หรือพวกประกอบกรรมอันโหดร้ายอื่น ๆ ๓. พวกที่ทำทั้งตนให้เดือดร้อนทั้งผู้อื่นให้เดือดร้อน ได้แก่บุคคลบางคนเป็นกษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษก ( พิธีรดน้ำบนศีรษะเสวยราชย์ ) ๒ . หรือพราหมณมหาศาล ที่สร้างเรือนโถงขึ้นใหม่ โกนผม โกนหนวด นุ่งหนังเสือ บูชาไฟ ทำให้สัตว์ต่าง ๆ ถูกฆ่าบูชายัญ ทาสและกรรมกรก็ถูกลงโทษ ร้องไห้. ทำการงาน ( ในยัญญพิธี ) ๔. พวกที่ไม่ทำทั้งตนทั้งผู้อื่นให้เดือดร้อน คือผู้ออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ในศีล สมาธิ ได้ฌาน ๓ มีญาณอันทำอาสวะให้สิ้นเป็นที่สุด.
๒. อัฏฐกนาครสูตร
สูตรว่าด้วยคฤหบดีชาวเมืองอัฏฐกะ
๑. พระอานนท์อยู่ ณ เวฬวคาม ใกล้กรุงเวสาลี. สมัยนั้นคฤหบดีชื่อทสมะ ชาวเมืองอัฏฐกะไปธุระที่กรุงปาตลิบุตร และได้ไปยังกุกกุฏาราม ถามหาพระอานนท์กับภิกษุรูปหนึ่ง . ทราบว่าท่านอยู่ในเวฬวคามใกล้กรุงเวสาลี เมื่อเสร็จธุระในกรุงปาฏลิบุตรแล้ว จึงเดินทางไปหาพระอานนท์ ถามถึงธรรมะข้อหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ซึ่งภิกษุผู้ไม่ประมาทมีความเพียร ส่งใจไปในธรรมนั้นแล้ว จิตที่ไม่หลุดพ้นก็จะหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้นก็จะถึงความสิ้นไป ผู้นั้นย่อมบรรลุธรรมอันยอดเยี่ยม อันปลอดโปร่งจากกิเลสที่ผูกมัด.
๒. พระอานนท์ตอบว่า มีธรรมะเช่นนั้น และอธิบายว่า ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมได้ฌานที่ ๑ ถึง ๔ ได้เจโตวิมุติอันประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔ ได้อรูปฌาน ถึงอากิญจัญญายตนะ ( อรูปฌานที่ ๓ ) ตั้งอยู่ในธรรมะที่ได้นั้น ๆ แล้ว ก็อาจสิ้นอาสวะได้ แต่ถ้าไม่สิ้นก็จะละสัญโญชน์ ๕ ได้ เป็นอุปปาติกะ ( เกิดขึ้นใหญ่โตขึ้นทันที ) ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น ( ที่อยู่ของพระอนาคามี ) ไม่กลับมาจากโลกนั้น
๓. ทสมคฤหบดีชื่นชมภาษิตของพระเถระ กล่าวว่า ตนแสวงประตูอมตะประตูเดียว แต่ได้พบถึง ๑๑ ประตู เปรียบเหมือนคนแสวงหาปากขุมทรัพย์แห่งเดียว แต่ได้พบปากขุมทรัพย์ถึง ๑๑ แห่ง ( รูปฌาน ๔ , ฌานประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔ , และอรูปฌาน ๓ = ๔ + ๓ =๑๑ เปรียบเหมือนอาคารมี ๑๑ ประตู เมื่อไฟไหม้ บุคคลก็อาจทำตนปลอดภัยได้โดยอาศัยประตูใดประตูหนึ่ง ตนก็อาจทำตนให้ปลอดภัยได้โดยอาศัยประตูอมตะประตูใดประตูหนึ่งฉันนั้น . ก็พวกเดียรถีย์เหล่าอื่นยังแสวงหาทรัพย์บูชาอาจารย์ได้ ไฉนตนจะบูชาพระอานนท์บ้างไม่ได้. จึงนิมนต์ภิกษุชาวกรุงปาตลิบุตรและชาวเวสาลีประชุมกับถวายอาหาร ถวายผ้าคู่แก่ภิกษุทุกรูป ถวายไตรจีวรแก่พระอานนท์ และให้สร้างวิหาร ๕๐๐ แห่ง ๓ . ถวายพระอานนท์
(หมายเหตุ: สันนิษฐานว่า พระสูตรนี้แสดงเหตุการณ์ภายหลังพุทธปรินิพพาน เมื่อกรุงปาตลิบุตรเป็นราชธานีมคธแทนราชคฤห์แล้ว).
๓. เสขปฏิปทาสูตร
สูตรว่าด้วยข้อปฏิบัติของพระเสขะ
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ. สมัยนั้นเจ้าศากยะชาวกรุงกบิลพัสดุ์ให้สร้างสันถาคาร ( โรงโถง - โรงประชุม ) ขึ้นใหม่ ยังไม่มีใครใช้ได้ จึงนิมนต์พระผู้มีพระภาคให้ทรงใช้ก่อน. พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพแล้วเสด็จไปเมื่อเขากราบทูลเวลา. เมื่อเสด็จถึงจึงประทับพิงเสากลาง ภิกษุสงฆ์นั่งพิงฝาด้านตะวันตก เจ้าศากยะชาวกรุงกบิลพัสดุ์ทรงพิงฝาด้านตะวันออก. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจนดึก แล้วตรัสสั่งให้พระอานนท์แสดงเสขปฏิปทา ( ข้อปฏิบัติของพระเสขะ คือพระอริยะบุคคลผู้ยังศึกษา ) ส่วนพระองค์ทรงพักผ่อนสำเร็จสีหไสยา.
๒. พระอานนท์จึงเรียกมหานามศากยะ ( เข้าใจว่าจะเป็นประธานอยู่ในคณะเจ้าศากยะ ) กล่าวถึงการที่พระอริยะสาวกสมบูรณ์ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ( สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ) รู้ประมาณในการบริโภค ประกอบเนือง ๆ ซึ่งธรรมเป็นเครื่องตื่น ( ไม่เห็นแก่นอน ) ประกอบด้วยสัทธรรม ๗ อย่าง ๔ . ได้ฌาน ๔ อันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามต้องการ แล้วอธิบายขยายความเป็นข้อ ๆ ไป.
๓. ครั้นแล้วได้สรุปว่า อริยสาวกผู้ประกอบด้วยคุณธรรมดังกล่าวมาแล้ว ก็ควรจะตรัสรู้ได้ เปรียบเหมือนแม่ไก่กกไข่ดี แม้ไม่ต้องปรารถนาให้ไข่เป็นตัวออกมาโดยสวัสสดี ก็คงจะออกมาได้โดยสวัสสดี แล้วแสดงการได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ( ฌาณอันระลึกชาติได้ ) จุตูปปาตญาณ ( ญาณอันเห็นความตายความเกิด ) และอาสวักขยญาณ ( ญาณอันทำอาสาวะให้สิ้น ) ว่า เปรียบเหมือนลูกไก่ทำลายกะเปาะไข่ออกจากไข่เป็นขั้น ๆ ๓ ขันด้วยกัน.
๔. แล้วได้สรุปอีกตอนหนึ่งว่า คุณธรรมที่กล่าวข้างต้นเป็นจรณะ ( ความประพฤติ ) แต่ละอย่างของอริยสาวกนั้น ส่วนญาณทั้งสามมีปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เป็นต้น ก็เป็นวิชชา ( ความรู้ ) แต่ละอย่างของอริยสาวกนั้น อริยสาวกนี้จึงเรียกว่าผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาก็ได้ ผู้สมบูรณ์ด้วยจรณะก็ได้ ผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ( ความรู้และความประพฤติ ) ก็ได้ แล้วได้อ้างภาษิตของสนังกุมารพรหมที่ว่า กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่ชนผู้ถือโคตร. แต่ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐสุดในเทวดาและมนุษย์ . พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นประทานสาธุการในพระธรรมเทศนานี้ของพระอานนท์.
๔ . โปตลิยสูตร
สูตรว่าด้วยโปตลิยคฤหบดี
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิคมแห่งแคว้นอังคุตตราอาปะชื่ออาปณะ โปตลิยคฤหบดีเข้าไปเฝ้าในขณะที่ประทับพักผ่อนในกาลกลางวัน ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง เมื่อปราศัยกันพอสมควรแล้วตรัสเชิญให้นั่ง แต่คฤหบดีโกรธที่เรียกว่าคฤหบดี จึงนั่งเสีย ต่อมาเมื่อตรัสอีกถึง ๓ ครั้ง จึงประท้วงว่า เรียกตนเช่นนั้นไม่สมควร. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อาการ , เพศ , เครื่องกำหนดหมายของท่าน เป็นอย่างของคฤหบดี. โปตลิยะตอบว่า ถึงเช่นนั้นตนก็ห้ามการงานทั้งปวง ตัดขาดโวหารทั้งปวงเสียแล้ว. เมื่อตรัสถามให้อธิบาย จึงอธิบายว่า ตนได้มอบทรัพย์สินทั้งปวงให้เป็นมรดกแก่บุตรทั้งหลายแล้ว ตนไม่เกี่ยวข้องด้วย อยู่อย่างเพียงมีกินมีนุ่งห่มจึงชื่อว่าห้ามการงานทั้งปวง ตัดขาดโวหารเสียแล้ว . พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท่านกล่าวการตัดขาดโวหารไปอย่างหนึ่ง แต่การตัดขาดโวการในอริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง. เมื่อคฤหบดีขอให้ทรงอธิบาย จึงตรัสอธิบาย.
๒. ทรงแสดงธรรมะ ๘ ประการ ที่เป็นไปเพื่อตัดขาดโวหารในอริยวินัย คือ ๑. อาศัยการไม่ฆ่าสัตว์ละการฆ่าสัตว์ ๒. อาศัยการไม่ลักทรัพย์ ละการลักทรัพย์ ๓. อาศัยวาจาจริง ละการพูดเท็จ ๔. อาศัยวาจาไม่ส่อเสียด ละวาจาส่อเสียด ๕. อาศัยการไม่โลภเพราะความติด ละความโลภเพราะความติด ๖. อาศัยการไม่ติเตียนด่าว่า ละการติเตียนด่าว่า ๗. อาศัยการไม่โกรธคับแค้นใจ ละความโกรธคับแค้นใจ ๘. อาศัยการไม่ดูหมิ่นท่าน ละการดูหมิ่นท่าน. เมื่อคฤหบดีขอให้ทรงอธิบายทั้งแปดข้อ จึงตรัสอธิบายแต่ละข้อ โดยวางหลักว่าตนก็ไม่พึงติเตียนตนเองได้ ผู้นรู้พิจารณาแล้วก็ไม่ติได้ เพราะเหตุแห่งความชั่วนั้น ๆ เป็นปัจจัย.
๓. ครั้นแล้วตรัสอธิบายการตัดโวหารอย่างเด็ดขาดด้วยประการทั้งปวงในอริยวินัย โดยทรงเปรียบเทียบว่า อริยสาวกย่อมเห็นกามเหมือน ๑. ชิ้นกระดูกที่ไม่มีเนื้อติด ๒. ชิ้นเนื้อ ( ที่แร้ง , เหยี่ยว แย่งกัน) ๓. คบหญ้ามีไปลุก ( ที่ถือไปทวนลม ) ๔. หลุมถ่านเพลิง ๕. สิ่งที่ฝันเห็น ๖. ของที่ขอยืมเขามา ๗. ผลไม้ เมื่อพิจารณาเห็นด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ก็เจริญอุเบกขา ( ความวางเฉย ) ที่ความยึดมั่นในโลกามิส ( เหยี่อล่อของโลก ) ดับไปโดยไม่มีส่วนเหลือ . เมื่ออาศัยความบริสุทธิ์แห่งสติเพราะความวางเฉยอย่างนี้ ก็ได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ( ญาณอันระลึกชาติได้ ) จุตูปปาตญาณ หรือทิพย์จักษุญาณ ( ญาณเห็นความตายความเกิด หรือตาทิพย์ ) และเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ( ความหลุดพ้นเพราะสมาธิและปัญญา ) อันไม่มีอาสวะ.
โปตลิยคฤหบดีก็สรรเสริญพระธรรมเทศนา ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
๕ . ชีวกสูตร
สูตรว่าด้วยหมอชีวก
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามะม่วงของหมอชีวก โกมารภัจจ์ ใกล้กรุงราฤห์. หมอชีวกเข้าไปเฝ้ากราบทูลถามว่า ที่เขาพูดกันว่า พระสมณโคดมทรงทราบอยู่ก็เสวยเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าเจาะจงถวายนั้นเป็นความจริงเพียงไร ตรัสตอบว่า ทรงกล่าวถึงเนื้อสัตว์ที่ไม่ควรบริโภคโดยฐานะ ๓ คือ ที่ได้เห็น ที่ได้ฟัง ที่นึกรังเกียจ ( ว่าเขาฆ่าเจาะจงตน ) และทรงกล่าวถึงเนื้อสัตว์ที่ควรบริโภคโดยฐานะ ๓ คือ ที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ไม่ได้นึกรังเกียจ ( ว่าเขาฆ่าเจาะจงตน ).
๒. ตรัสอธิบายต่อไปว่า ภิกษุแผ่เมตตาจิต ( จนถึงอุเบกขาจิตเป็นที่สุด ) ไปทั่วโลก อยู่ด้วยจิตอันไม่มีเวร ไม่พยาบาท. คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนิมนต์เพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น ถ้าปรารถนาก็รับนิมนต์ได้ ครั้นรุ่งขึ้นไปฉัน เธอย่อมไม่คิดให้เขาถวายอาหารอันประณีต หรือถวายอีกในกาลต่อไป เธอไม่ติดบิณฑบาต มีปัญญาถ่ายถอน ( ไม่ยึดถือ ) ย่อมบริโภคบิณฑบาตนั้น. เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุนั้นจะคิดเบียดเบียนตน เบียดเบียนคนอื่น หรือเบียดเบียนทั้งตนทั้งคนอื่นหรือไม่. หมอชีวกกราบทูลรับว่า ไม่. ตรัสถามว่า เธอย่อมบริโภคอาหารอันไม่มีโทษมิใช่หรือ กราบทูลว่า เป็นเช่นนั้น และกราบทูลต่อไปว่า ตนเคยได้ฟังว่า พระพรหม เป็นผู้อยู่ด้วยเมตตา ข้าพระองค์เห็นว่าพระผู้มีพระภาคเป็นพยานที่เห็นได้ เพราะทรงด้วยเมตตา. ตรัสตอบว่า บุคคลมีความพยาบาทเพราะราคะ โทสะ โมหะ อันใด คถาคตละราคะ โทสะ โมหะ นั้นได้เด็ดขาดแล้ว ถ้าท่านหมายความข้อนี้ เราอนุมัติคำกล่าวนั้น . หมอชีวกกราบทูลว่า หมายอย่างนั้น แม้ในเรื่องกรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็เช่นกัน.
๓. ตรัสว่า ผู้ฆ่าสัตว์อุทิศพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต ย่อมประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมากโดยฐานะ ๕ คือ ๑. ประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมากโดยฐานะที่ ๑ คือข้อที่กล่าวว่า จงไปนำสัตว์ตัวโน้นมา ๒. โดยฐานะที่ ๒ คือสัตว์นั้นถูกลากคอมาย่อมเสวยทุกข์โทมนัส ๓. โดยฐานะที่ ๓ คือข้อที่กล่าวว่า จงฆ่าสัตว์นี้ ๔. โดยฐานะที่ ๔ คือเมื่อสัตว์ถูกฆ่าย่อมไม่เสวยทุกข์โทมนัส ๕. โดยฐานะที่ ๕ คือคนย่อมพูดรุกรานพระตถาคตหรือสาวกแห่งตถาคตด้วยเรื่องเนื่องอันไม่สมควร ๕ .
เมื่อจบพระธรรมเทศนา หมอชีวกกราบทูลรับว่า ภิกษุทั้งหลายฉันอาหารอันไม่มีโทษ แล้วกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
๖ . อุปาวาทสูตร
สูตรว่าด้วยอุบาลีคฤหหบดี
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามะม่วงของเศรษฐีขายผ้า ใกล้เมืองนาฬันทา. สมัยนั้นนิครนถนาฏบุตรอาศัยอยู่ในเมืองนาฬันทา พร้อมด้วยบริษัทใหญ่ ทีฆตปัสสีนิครนถ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ เมื่อตรัสเชิญให้นั่ง จึงถือเอาอาสนะต่ำกว่า นั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง.
๑. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า นิครนถนาฏบุตรบัญญัติกรรมกี่อย่าง ในการทำกรรมอันเป็นบาป. ทีฆตปัสสีนิครนถ์ทูลว่า นิครนถนาฏบุตรไม่เคยบัญญัติว่ากรรม เคยแต่บัญญัติว่า “ ทัณฑ์ ”. ตรัสถามว่า นิครนถนาฏบุตรบัญญัติทัณฑ์กี่อย่าง ในการทำกรรมอันเป็นบาป . ทูลตอบว่า ๓ อย่าง คือทัณฑ์ทางกาย , ทางวาจา , ทางใจ. ตรัสถามว่า ทัณฑ์ทั้งสามทางเป็นของอื่น ( จากกันแลกัน มิใช่อันเดียวกัน ) ใช่หรือไม่ . ทูลตอบว่า ใช่ . ตรัสถามว่า เมื่อแจกออกไปแล้ว นิครนถนาฏบุตรบัญญัติทัณฑ์อย่างไรว่ามีโทษมาก. ทูลตอบว่า ทัณฑ์ทางกาย เมื่อตรัสถามย่ำถึง ๓ ครั้ง ก็ทูลตอบย้ำถึง ๓ ครั้งว่า ทัณฑ์ทางกาย ( ไม่โทษมาก).
๒. เมื่อทีฆตปัสสีนิครนถ์ย้อนทูลถามบ้างว่า พระสมณโคดมบัญญัติทัณฑ์กี่อย่าง ในการทำกรรมอันเป็นบาป ก็ตรัสตอบว่า ไม่เคยทรงบัญญัติว่าทัณฑ์ เคยแต่บัญญัติว่ากรรม เมื่อเขาถามก็ทรงแจกออกเป็น ๓ อย่างเช่นเดียวกัน แต่ทรงแสดงว่า กรรมทางใจมีโทษมากกว่า และทรงย้ำตอบเช่นนั้นถึง ๓ ครั้ง เมื่อทีฆตปัสสีนิครนถ์ย้ำถามถึง ๓ ครั้ง. แล้วทีฆตปัสสีนิครนถ์ก็ลุกจากอาสนะหลีกไป เล่าความให้นิครนถนาฏบุตรผู้นั้งอยู่กับบริษัทที่เป็นคฤหัสถ์ชาวพาลุกคาม มีอุบาลีคฤหบดีเป็นประมุขฟังทุกประการ. นิครนถนาฏบุตรก็ชมเชยทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า ตอบถูก และย้ำว่า ทัณฑ์ทางกายมีโทษมากกว่า.
๓. อุบาลีคฤหบดีได้ฟัง ก็แสดงความประสงค์จะไปยกวาทะในเรื่องนี้ จะฟัดฟาดเสียเหมือนคนมีกำลังดึงขนแกะไปมา เป็นต้น. แต่ทีฆตปัสสีนิครนถ์คัดค้าน อ้างว่าพระสมณโคดมรู้มายากลับใจคน ย่อมกลับใจสาวกเดียรถีย์ได้ . นิครนถนาฏบุตรกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่อาบาลีคฤหบดีจะไปเป็นสาวกพระสมณโคดม มีแต่พระสมณโคดมจะมาเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี ต่างค้าน ต่องยืนยันกันอยู่อย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง ในที่สุดนิครนถนาฏบุตรก็ยุให้อุบาลีคฤหบดีไปยกวาทะจนได้.
๔. อุบาลีคฤหบดีกราบลานิครนถนาฏบุตรไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อได้ถวายบังคมและทูลถามถึงถ้อยคำสนทนาระหว่างพระองค์กับทีฆตปัสสีนิครนถ์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสเล่าความให้ฟัง . อุบาลีคฤหบดีกล่าวชมทีฆตปัสสีว่าพูดโต้ตอบตรงตามหลัก ( ของศาสนานิครนถ์ ) และได้กล่าวย้ำว่า ทัณฑ์ทางกายมีโทษมากว่า . พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าอุบาลีคฤบดีจะยอมตั้งอยู่ในสัจจะพูดจากัน ก็จะมีการสนทนากันในเรื่องนี้. อุบาลีคฤหบดียอมรับ. จึงตรัสถามว่า นิครนถ์เจ็บหนัก ห้ามน้ำเย็น รับแต่น้ำร้อน เมื่อไม่ได้น้ำเย็นก็ตายดังนี้ นิครนถนาฏบุตรบัญญัติผู้นี้ว่า จะไปเกิดที่ไหน. ทูลตอบว่า เกิดในเทพที่ชื่อว่า นโมสัตตะ ( ผู้ข้องอยู่ในจิตใจ) เพราะเกี่ยวเกาะอยู่ในเรื่องจิตใจตายไป. ตรัสเตือนให้คิดให้ดีเสียก่อนแล้วจึงตอบ คำต้นกับคำท้ายไม่ต่อกัน ( คือเดิมชี้ว่า โทษหรือทัณฑ์ทางกายมีโทษมากกว่า แต่ตอบว่า มีใจเป็นเหตุ ) แต่อุบาลีคฤหบดีก็ยังยืนยันว่าทัณฑ์ทางกายมีโทษมากกว่า.
๕. ตรัสถามว่า นิครนถ์สำรวมระวังแล้ว ๖ . แต่เดินไปเดินมายังทำสัตว์เล็ก ๆ ให้ตาย ดังนี้ นิครนถนาฏบุตรจะบัญญัติผลของผู้นั้นอย่างไร. ทูลตอบว่า ไม่บัญญัติการกระทำทีไม่มีเจตนาว่ามีโทษมาก ตรัสถามว่า มีเจตนาเล่า. ทูลตอบว่า ก็มีโทษมาก. ตรัสถามว่า นิครนถนาฏบุตรบัญญัติเจตนาเข้าในอะไร. ทูลตอบว่า ในมโนทัณฑ์ ( โทษทางใจ ). ตรัสเตือนอีกว่า ให้คิดให้ดีก่อนแล้วจึงตอบ เพราะคำต้นกับคำท้ายไม่ต่อกัน ( คือเดิมชี้ว่า ทัณฑ์ทางกายมีโทษมากกว่า แต่กลับชี้ไปที่เจตนาว่าสำคัญ ) แต่อุบาลีคฤหบดีก็ยังยืนยันว่า ทัณฑ์ทางกายมีโทษมากกว่า.
๖. ตรัสถามว่า เมืองนาฬันทานี้มั่นคง เฟื่องฟู มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่นใช่หรือไม่. ทูลตอบว่า ใช่ . ตรัสถามว่า ชายคนหนึ่งเงื้อดาบมา พูดว่าจะทำสัตว์มีชีวิตทั้งปวงในเมืองนาฬันทาให้เป็นเนื้องก้อนเดียวโดยขณะเดียว ครู่เดียว ( จะสับรวมให้เป็นเนื้อชิ้นเดียวในขณะเดียวกัน ) ดังนี้ ท่านเห็นว่าจะทำได้หรือไม่. ทูลตอบว่า แม้ชาย ๑๐ คน ๒๐ คน ๓๐ คน ๕๐ คน ก็ไม่พอที่จะทำเช่นนั้นได้ ( ทำไม่ทันในขณะเดียวกัน ). ตรัสตอบว่า สมณพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ มีความเชี่ยวชาญทางจิต อาจจะทำเมืองนาฬันทานี้ให้เป็นเถ้าถ่านด้วยใจคิดประทุษร้ายครั้งเดียวได้หรือไม่. ทูลตอบว่า ได้ . ตรัสเตือนอีกว่า ให้คิดให้ดีเสียก่อนแล้วจึงตอบ เพราะคำต้นกับคำท้ายไม่ตรงกัน ( คือเดิมชี้ว่า ทัณฑ์ทางกายมีโทษมากกว่า แต่กลับยอมรับว่า ผู้มีอำนาจจิต ทำลายเมืองได้ทันที แต่ผู้ใช้กำลังกายทำไม่ได้เช่นนั้น ) แต่อุบาลีคฤหบดีก็ยังยืนยันตามเดิม.
๗. ตรัสถามต่อไปว่า เคยได้ยินไหมว่า ป่าทัณฑกี , ป่ากาลิงคะ , ป่าเมชฌะ , ป่ามาตังคะ ที่กลายเป็น ป่าไปจริง ๆ . ทูลตอบว่า เคยได้ยิน . ตรัสถามว่า เคยได้ยินว่าเป็นป่าไปเพราะอะไร ทูลตอบว่าเพราะใจคิดประทุษร้ายของฤษี. จึงตรัสเตือนให้คิดให้ดีเสียก่อนล้วจึงตอบเช่นเดิมอีก.
๘. อุบาลีคฤหบดีทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต แต่พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนให้พิจารณาเสียก่อน เพราะการพิจารณาแล้วจึงทำ เป็นการดีสำหรับอุบาลีคฤหบดีทีมีคนรู้จักมาก อุบาลีคฤหบดีก็กลับเลื่อมใสยิ่งขึ้น แสดงจนเป็นอถบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิตเป็นครั้งที่ ๒. ตรัสเตือนให้ให้บิณฑบาตแก่พวกนิครนถ์ที่มาสู่เรือน เพราะตระกูลของท่านเคยเป็นที่เสมือนท่าน้ำสำหรับ ลงดื่มของนิครนถ์ทั้งหลายมานานแล้ว . อุบาลีคฤหบดีกราบทูลแสดงความเลื่อมใสยิ่นขึ้น เพราะตนเคยได้ยินแต่ว่าพระสมณโคดมตรัสให้ถวายทานแก่พระองค์และพระสาวกของพระองค์เท่านั้น ไม่ควรให้แก่ผู้อื่นและสาวกของผู้อื่น . ทานที่ให้แก่พระองค์และสาวกของพระองค์เท่านั้นจึงมีผลมาก. ที่ให้แก่ผู้อื่นและสาวกของผู้อื่นไม่มีผลมาก. แต่นี่พระผู้มีพระภาคกลับทรงชักชวนให้ให้ทานในพวกนิครนถ์ ซึ่งตนจะรู้กาลในข้อนี้เอง แล้วแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิตเป็นครั้งที่ ๓.
๙. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสแสดงอนุบุพพิกถาอริยสัจจ์ ๔ อุบาลีคฤหบดีได้ดวงตาเห็นธรรม ( เป็นพระโสดาบันบุคคล ) แล้วกราบทูลลากลับไป. เมื่อถึงบ้านก็สั่งนายประตูให้ห้ามนิครนถ์ชายหญิงมิให้เข้าบ้าน ไม่ห้ามภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา และให้แจ้งว่า อุบาลีคฤหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว. ทีฆตปัสสีนิครถ์ทราบเรื่อง จึงไปเล่าความให้นิครนถนาฏบุตรฟัง นิครนถนาฏบุตรไม่เชื่อ แม้จะเล่าย้ำถึง ๓ ครั้ง เป็นแต่ใช้ให้ทีฆตปัสสีไปดูให้รู้ด้วยตนเอง. เมื่อทีฆตปัสสีนิครนถ์ไปด้วยตนเอง นายประตูก็ห้ามเข้าจึงกลับมาเล่าให้นิครนถนาฏบุตรฟัง แต่นิครนถนาฏบุตรก็ยืนยันไม่เชื่อถึง ๓ ครั้ง แต่ในที่สุดก็กล่าวว่าตนจะไปดูเอง.
๑๐. นิครนถนาฏบุตร พร้อมด้วยบริษัทนิครนถ์ไปยังที่อยู่ของอุบาลีคฤหบดี นายประตูก็ห้ามเข้าอ้างว่าอุบาลีคฤหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว. นิครนถนาฏบุตรจึงใช้ให้นายประตูไปบอกว่า ตนมายืนอยู่ที่ภายนอกซุ้มประตู . เมื่อนายประตูไปบอก อุบาลีคฤหบดีก็สั่งให้ไปปูอาสนะที่ศาลาใกล้ประตูด้านกลาง แล้วอุบาลีคฤหบดีก็มา ณ ที่นั้น เลือกนั่งอาสนะที่ดีที่เลิศ พร้อมทั้งสั่งนายประตูให้ไปบอกนิครนถนาฏบุตรว่า ถ้าปรารถนาก็ให้เข้ามาได้. นิครนถนาฏบุตร พร้อมด้วยบริษัทก็เข้าไป. ในสมัยก่อนพอเห็นนิครนถนาฏบุตรมาแต่ไกล อุบาลีคฤหบดีก็จะลุกขึ้นต้อนรับ เอาผ้าห่มเช็ดอาสนนะที่ดีที่เลิศ เชิญให้นั่ง แต่บัดนี้กลับนั่งบนอาสนะที่ดีเลิศเสียเอง แล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านปรารถนาก็จงนั่ง. นิครนถนาฏบุตรจึงกล่าวว่าท่านเป็นบ้า เป็นคนเขลาไปแล้วหรือ และได้พูดเปรียบเปรยหยาบ ๆ อีก พร้อมกับกล่าวว่า ท่านถูกพระสมณโคดมกลับใจด้วยมายาสำหรับกลับใจเสียแล้วหรือ อุบาลีคฤหบดีกลับตอบว่า มายากลับใจนี้เป็นของดีแม้ใคร ๆ จะกลับใจด้วยมายานี้ ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขสิ้นกาลนาน.
๑๑. แล้วอุบาลีคฤหบดีได้เปรียบเทียบให้ฟังว่า คำสอนของนิครนถ์ อดทนต่อความยินดีของคนโง่ ไม่อดทนต่อความดีของบัณฑิต ไม่อดทนต่อการซักไซ้ขัดสี เปรียบเหมือนลูกลิงทนการย้อมสีได้ แต่จะเอามาทุบตี เอามาขัดสีเหมือนผ้าใหม่ที่จะย้อมสี ย่อมทนไม่ได้. นิครนถนาฏบุตรเตือนว่า บริษัท ( ประชุมชน ) พร้อมทั้งพระราชาก็ทราบกันอยู่ว่า อุบาลีคฤหบดีเป็นสาวกของนิครนถนาฏบุตร แล้วพวกเราจะทรงจำว่าท่านเป็นสาวกของใครกัน อุบาลีคฤหบดีจึงทำผ้าห่มเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไปในทิศทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ประกาศตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยคำสรรเสริญพระคุณอย่างยืดยาว เมื่อถูกถามว่ารวบรวมคำสรรเสริญพระคุณได้เมื่อไร ก็ตอบว่า ตนเปรียบเหมือนช่างดอกไม้ที่ร้อยพวงมาลัยอันวิจิตรจากดอกไม้ใหญ่ อันมีดอกไม้ต่าง ๆ ฉะนั้น . นิครนถนาฏบุตรถึงแก่อาเจียนเป็นโลหิตในที่นั้น.
________________________________________
๑. ผู้คุมสมัยก่อนมีหน้าที่ลงโทษทรมานต่าง ๆ ด้วย
๒. เฉพาะพระราชาที่เป็นใหญ่ แต่พระราชาเมืองขึ้น ซึ่งได้รับมอบหมายให้ครองราชย์ไม่ปรากฏพิธีมูรธาภิเษกจึงเรียกว่าราชัญญะ
๓. คำว่า ๕๐๐ นี้ ไม่จำเป็นต้องหมายว่าเป็นจริงตามตัวเลขหมายความว่าหลายแห่งก็ได้
๔. สัทธรรม ๗ อย่าง คือ ๑. ศรัทฑา ๒. หิริ ๓.โอตตัปปะ ๔. พาหุสัจจะ ( สดับตรับฟังมาก ) ๕. ลงมือทำความเพียร ๖. สติ ๗. ปัญญา
๕. นี้แปลตามอรรถกถา แต่เค้าศัพท์มีทางให้แปลได้ว่า ทำให้เข้าใจว่า ควรด้วยของที่ไม่ควร
๖. มีคำพิเศษสำหรับพวกนิครนถ์ คือ จาตุยามสํวรสํวุโต ผู้สำรวมแล้วด้วยการสำรวม ๔ ทาง คือไม่ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ พูดปด ไม่หวังกามคุณ ๕ อนึ่ง พวกนิครนถ์ไม่ใช้น้ำเย็น เพราะถือว่ามีสัตว์ จึงใช้แต่น้ำร้อน
๗ . กุกกุโรวาทสูตร
สูตรว่าด้วยโอวาทแก่ผู้ทำตัวดั่งสุนัข
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิคมแห่งชาวโกลิยะชื่อลิททวสนะ ในแคว้นโกลิยะ . ปุณณะบุตรแห่งโกลิยะ ผู้ประพฤติวัตรดั่งโค ๑ . กับชีเปลือย ชื่อเสนิยะ ผู้ประพฤติดั่งสุนัข เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกล่าวปราศรัยเสร็จแล้ว ปุณณะโกลิยะบุตรก็ทูลถามถึงชีเปลือยชื่อเสนิยะ ผู้ประพฤติวัตรดั่งสุนัข ว่ามีคติเป็นอย่างไร. พระผู้มีพระภาคทรงห้ามว่า อย่าถามเลย แต่ก็ถามย้ำถึง ๓ ครั้ง จึงตรัสตอบว่า ถ้าประพฤติเคยชินอย่างสุนัข ตายไปก็จะเกิดเป็นสุนัข แต่ถ้าประพฤติด้วยความคิดว่า จะเป็นเทวดาด้วยศีล ด้วยวัตรอย่างนี้ก็นับว่ามีความเห็นผิด ซึ่งจะมีคติ ๒ อย่าง คือนรก หรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน . พระดำรัสตอบนี้ ทำให้ชีเปลือยชื่อเสนิยะร้องไห้.
๒. ชีเปลือยชื่อเสนิยะ จึงทูลถามถึงปุณณะโกลิยบุตร ผู้ประพฤติดั่งโคบ้างว่า จะมีคติเป็นอย่างไร ก็ตรัสตอบทำนองเดียวกับเรื่องสุนัข ซึ่งทำให้ปุณณะโกลิยบุตรร้องไห้เช่นเดียวกัน.
๓. ปุณณะโกลิยบุตรจึงทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อตนและเสนิยะ จะได้ละการประพฤติวัตรดั่งนั้นเสีย. จึงตรัสแสดงกรรม ๔ อย่าง คือ ๑. กรรมดำ มีวิบากดำ คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาทางกายวาจาใจอันประกอบด้วยการเบียดเบียน จึงเข้าถึง ( เกิดใน ) โลกที่มีการเบียดเบียน , ได้รับสัมผัสที่มีการเบียดเบียน , ได้เสวยเวทนาที่มีการเบียดเบียน อันเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว ดังเช่นสัตว์ที่เกิดในนรก ๒. กรรมขาว มีวิบากขาว คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาที่ไม่มีการเบียดเบียน ได้รับสัมผัสที่ไม่มีการเบียดเบียน ได้เสวยเวทนาที่ไม่มีการเบียดเบียน อันเป็นสุขโดยส่วนเดียว ดังเช่นเทพชั้นสุภภิณหะ ( พรหมมีรูปชั้นที่ ๙ ในรูปพรหม ๑๖ ชั้น ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๔ หน้า ๕ ๓. กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาทางกายวาจาใจที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง จึงเข้าถึง ( เกิดใน ) โลกที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง ได้รับสัมผัสอันมีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง ได้เสวยเวทนาที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง อันมีทั้งสุขทั้งทุกข์คละกันไปดังเช่นมนุษย์บางเหล่า เทพบางเหล่า วินิปาติกะ ๒ . บางเหล่า ๔ . กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาวย่อมเป็นไปเพื่อสิ้นกรรม คือเจตนาเพื่อละกรรมดำซึ่งมีวิบากดำ เจตนาเพื่อละกรรมขาวซึ่งมีวิบากขาว เจตนา ๓ . เพื่อละกรรมทั้งดำทั้งขาว ซึ่งมีวิบากทั้งดำทั้งขาว ( เป็นเจตนาที่ไม่ต้องการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ปรารถนาจำทำกรรมใด ๆ อีกต่อไป).
๔. เมื่อจบพระธรรมเทศนา ปุณณะโกลิยบุตรกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ส่วนชีเปลือยชื่อเสนิยะกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะและขอบวช เมื่อทราบว่าผู้เคยเป็นเดียรถีย์มาก่อน ประสงค์จะบวชในพระธรรมวินัยจะต้องอบรมก่อน ๔ เดือน ก็มีศรัทธาจะขออบรมถึง ๔ ปี. เมื่อบวชแล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.
๘ . อภยราชกุมารสูตร
สูตรว่าด้วยอภยราชกุมาร
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ . อภยราชกุมาร ๔ . ไปหานิครนถนาฏบุตร ก็ได้รับชักชวนเสี้ยมสอนให้ไปยกวาทะพระผู้มีพระภาคเกี่ยวกับการกล่าววาจา ซึ่งนิครนถนาฏบุตรกล่าวว่า ถ้าถามปัญหา ๒ เงื่อนอย่างนี้แล้ว พระสมณโคดมจะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกคล้ายมีกระจับเหล็กติดอยู่ในคอฉะนั้น . คือถามว่า พระตถาคตกล่าววาจาที่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นหรือไม่. ถ้าตอบว่า กล่าว ก็จะย้อนได้ว่า ท่านกับบุถุชนจะต่างกันอย่างไรกัน เพราะแม้บุถุชนก็กล่าววาจาเช่นนั้น. ถ้าตอบว่า ไม่กล่าว ก็จะย้อนได้ว่า เหตุไฉนจึงว่ากล่าวพระเทวทัตอย่างรุนแรง จนพระเทวทัตโกรธไม่พอใจ.
๒. อภยราชกุมารไปเฝ้าพระผู้มีพระภสค มองดูดวงอาทิตย์เห็นยังไม่ใช่กาลอันสมควรที่จะยกวาทะจึงนิมนต์พระผู้มีพระภาคให้ไปฉันในวันรุ่งขึ้น โดยมีพระองค์เองเป็นที่ ๔ ( คือมีภิกษุอื่นด้วยอีก ๓ รูป ). เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ และเสด็จไปฉันเสร็จแล้ว อภยราชกุมารก็กราบทูลถามขึ้นว่า พระตถาคตตรัสวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นหรือไม่. ตรัสตอบว่า ในข้อนี้ มิใช่ปัญหาที่พึงตอบโดยแง่เดียว. ( คือตรัสทั้งสองอย่างโดยควรแก่เหตุ).
๓. พอตรัสตอบเท่านี้ อภยราชกุมารก็กราบทูลว่า ในข้อนี้ พวกนิครนถ์ฉิบหายแล้ว พร้อมทั้งเล่าความจริงที่นิครถนาฏบุตรสอนให้มาไต่ถามทุกประการ. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า เด็กที่อมเอาไม้หรือกระเบื้องเข้าไปในปาก เพราะความพลั้งเผลอของท่านหรือแม่นม ท่านจะทำอย่างไร. กราบทูลตอบว่า ถ้านำออกในเบื้องแรกไม่ได้ ก็ต้องประคองจับศีรษะด้วยมือซ้าย งอนิ้วนำของออกมาด้วยมือขวา แม้จะพร้อมกับโลหิตด้วย เพราะมีความอนุเคราะห์ในเด็ก . พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทราบว่าวาจาใดไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ หรือจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น ก็ไม่กล่าววาจานั้น. คำใดจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น. คำใดไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ หรือจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคนอื่น ตถาตคย่อมรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น. คำใดจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคนอื่น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น ทั้งนี้เพราะตถาคตมีความอนุเคราะห์ในสัตว์ทั้งหลาย.
๔. อภยราชกุมารกลาบทูลถามว่า มีผู้แต่งปัญหามาทูลถาม พระผู้มีพระภาคจะต้องทรงคิดก่อนหรือไม่ว่า ถ้าเขาถามอย่างนี้ จักตรัสตอบอย่างนี้ หรือว่าเรื่องนั้นแจ่มแจ้งแก่พระตถาคตโดยฐานะทีเดียว. ตรัสย้อนถามว่า ท่านเป็นผู้ฉลาดในส่วนประกอบน้อยใหญ่ของรถใช่หรือไม่ กราบทูลว่า ฉลาดในส่วนประกอบของรถ. ตรัสถามต่อไปว่า เมื่อมีผู้มาถามว่า นี้เป็นส่วนประกอบน้อยใหญ่อะไรของรถ ท่านจะต้องคิดก่อนหรือไม่ว่า ถ้าเขาถามอย่างนี้ จักตอบอย่างนี้ หรือว่าเรื่องนั้นแจ่มแจ้งแก่ท่านโดยฐานะทีเดียว. กราบทูลตอบว่า ข้าพระองค์เป็นช่างทำรถ รู้เจนจบในส่วนประกอบน้อยใหญ่ของรถ เรื่องนั้นแจ่มแจ้งแก่พระองค์โดยฐานะทีเดียว. จึงตรัสว่า แม้พระองค์ก็ฉันนั้น ทรงรู้แจ้งแทงตลอดธรรมธาตุแล้ว เรื่องนั้นจึงแจ่มแจ้งแก่พระองค์โดยฐานะทีเดียว.
อภยราชกุมารกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงพระองค์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดพระชนมชีพ.
๙ . พหุเวทนิยสูตร
สูตรว่าด้วยเวทนามากอย่าง
๑ .พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ช่างไม้ชื่อปัญจังคะ กับพระอุทายี กล่าวไม่ตรงกันในข้อว่า พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้กี่อย่าง พระอุทายีว่า มี ๓ อย่าง คือ สุข ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข. ช่างไม้ชื่อปัญจังคะกว่าวว่า มี ๒ อย่าง คือ สุข กับทุกข์ ส่วนไม่ทุกข์ไม่สุข พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสุขปราณีต ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถจะตกลงกันได้ . พระอานนท์ได้ฟังข้อสนทนาของทั้งสองฝ่าย จึงนำความกราบทูลพระผู้มีพระภาค.
๒. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีปริยายที่ต่างฝ่าย ต่างไม่อนุโมทนา แล้วตรัสว่า เวทนา ๒ ก็ทรงแสดงไว้โดยปริยาย เวทนา ๓, เวทนา ๔, เวทนา ๕, เวทนา ๖, เวทนา ๑๘, เวทนา ๓๖, เวทนา ๑๐๘ ก็ทรงแสดงไว้โดยปริยาย. ๕ . ธรรมะที่ทรงแสดงไว้โดยปริยาย ( เพียงแง่ใดแง่หนึ่ง) มีอยู่อย่างนี้ ผู้มี่ไม่ยินยอมรับรองคำที่กล่าวดี พูดดี ของกันและกันในธรรมะที่ทรงแสดงแล้วโดยปริยาย ก็หวังได้ว่าจะบาดหมางทะเลาะวิวาทกันทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก แต่ถ้าตรงกันข้าม ก็พร้อมเพรียงไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำท่า ( เข้ากันได้ ) มองกันและกันด้วยดวงตาที่แสดงความรัก.
๓. ครั้นแล้วตรัสถึงความสุขที่เป็นขั้น ๆ ๑๐ อย่างที่ประณีตขึ้นไปกว่ากันโดยลำดับ เริ่มแต่กามคุณ ๕ จนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ ๖ . (สมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนา).
๑๐ . อปัณณกสูตร
สูตรว่าด้วยธรรมะที่ไม่ผิด
๑ . พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ บ้านพราหมณ์ชื่อ “สาลา ” ( ในสาเลยยกสูตรที่ ๔๑ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ที่ย่อไว้แล้วที่พระสุตตันตะเล่ม ๔ หน้า ๕ ว่าชื่อ “สาลา” ณ ที่นั้น ได้ตรัสถามพราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านสาลาว่า ท่านมีศาสดาใด ๆ ที่น่าพอใจ ที่ท่านได้ศรัทธามีอาการ ( อันดี ) บ้างหรือไม่. เมื่อเขาตอบว่า ไม่มี จึงตรัสว่า เมื่อพวกท่านไม่ได้ศาสดาที่น่าพอใจ ก็จงสมาทานประพฤติธรรมะที่ไม่ผิด ธรรมะที่ไม่ผิด ที่สมบูรณ์แล้ว สมาทานแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ท่าน.
ธรรมะที่ไม่ผิดข้อแรก
๒. ตรั้นแล้วตรัสขยายความเรื่องธรรมะที่ไม่ผิดต่อไป . ทรงแสดงถึงสมณพราหมณ์ที่เห็นว่า “ ไม่มี ” ( นัตถิกทิฏฐิ ) เช่น ไม่มีผลของกรรมดีกรรมชั่ว กับสมณพราหมณ์ที่เห็นเป็นปฏิปักษ์กัน คือเห็นว่า “ มี ” พวกที่เห็นว่า “ไม่มี ” หวังได้ว่าจะเพิกถอนสุจริตทางกาย วาจา ใจ, สมาทาน ประพฤติทุจจริตทางกาย วาจา ใจ เพราะไม่เห็นของอกุศลธรรม ไม่เห็นอานิสงส์ของกุศลกรรม. ความเห็น ความดำริ และคำพูดถึงโลกหน้า ซึ่งมีอยู่ว่า “ ไม่มี ” ดังนี้ ย่อมเป็นความเห็นผิด ความดำริผิด และคำพูดผิด เขาย่อมกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อพระอรหันต์ผู้รู้จักโลกหน้า ย่อมทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าโลกหน้าไม่มี อันเป็นการบัญญัติต่อสัทธรรมและยกตนข่มผู้อื่นเพราะเหตุนั้น เดิมมีศีลดีก็ละเสีย, ตั้งความเป็นผู้ทุศีล, มีความเห็นผิด, ความดำริผิด , คำพูดผิด, มีความเป็นปฏิปักษ์ต่อพระอริยเจ้า มีการบัญญัติอสัทธรรม มีการยกตนข่มผู้อื่น ฉะนี้ อกุศลธรรมจึงชื่อว่าเกิดมีขึ้นเพราะความเห็นผิดเป็นปัจจัย. ในข้อนั้นวิญญูชนพิจารณาเห็นว่า ถ้าโลกหน้าไม่มี คนคนนี้ตายแล้วจักทำตนให้ปลอดภัยได้ แต่ถ้าโลกหน้ามี ก็จักเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก. แม้แต่สมณพราหมณ์จะกล่าวไว้ว่า โลกหน้ามี ถ้อยคำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะเป็นจริงหรือไม่ จงยกไว้ แต่คนนั้นก็ถือเอาโทษ ๗ . ทั้งสองฝ่าย คือถูกติเตียนในปัจจุบัน และตายไปก็จักเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก. คนคนนั้นชื่อว่าถือผิดสมาทานผิดซึ่งอปัณณกธรรม ( ธรรมะที่ไม่ผิด) แผ่ไปแต่ความเห็นแง่เดียวของตน เว้นฐานะอันเป็นกุศล. ส่วนผู้เห็นว่า “ มี ” ( ซึ่งเป็นทางตรงกันข้าม) ชื่อว่าถือถูก สมาทานถูกซึ่งปัณณกธรรม แผ่ไปซึ่งอปัณณกธรรม แผ่ไปซึ่งส่วนทั้งสอง ( ทั้งวาทะของตนและวาทะของคนอื่น ) เว้นฐานะอันเป็นอกุศล.
ธรรมะที่ไม่ผิดข้อที่ ๒
๓. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ทำไม่เป็นอันทำ ( อกิริยทิฏฐิ ) เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ก็ไม่เป็นอันฆ่า ไม่เป็นอันลัก ชื่อว่าเป็นฝ่ายถือผิด ส่วนที่เห็นว่า ทำเป็นอันทำ ชื่อว่าถือถูก สมาทานถูกซึ่งอปัณณกธรรม ฯลฯ.
ธรรมะที่ไม่ผิดข้อที่ ๓
๔. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ไม่มีเหตุปัจจัยแห่งความเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วของสัตว์ทั้งหลาย ( อเหตุทิฏฐิ ) สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ( เอง ) โดยไม่มีเหตุปัจจัย ชื่อว่าเป็นฝ่ายถือผิดส่วนที่เห็นว่ามีเหตุปัจจัย ชื่อว่าถือถูก สมาทานถูกซึ่งอปัณณกธรรม ฯ ล ฯ.
ธรรมะที่ไม่ผิดข้อที่ ๔
๕. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ไม่มีพรหมโลกที่ไม่มีรูปด้วยประการทั้งปวง แต่บางพวกกล่าวว่า มีด้วยประการทั้งปวง พวกที่เห็นว่ามี ย่อมปฎิบัติเพื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เพื่อดับรูปทั้งหลาย ( เป็นฝ่ายไม่ผิด ).
ธรรมะที่ไม่ผิดข้อที่ ๕
๖. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ความดับภพไม่มีด้วยประการทั้งปวง แต่บางพวกกล่าวว่ามีด้วยประการทั้งปวง พวกที่เห็นว่ามี ย่อมปฎิบัติเพื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เพื่อดับภพ ( ความมีความเป็น ) ทั้งหลาย.
บุคคล ๔ ประเภท
๗. ครั้นแล้วตรัสแจกบุคคล ๔ ประเภท ๑. ทำตนให้เดือดร้อน ๒. ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ๓. ทำตนทั้งผู้อื่นให้เดือดร้อน ๔. ไม่ทำทั้งตนทั้งผู้อื่นให้เดือดร้อนพร้อมทั้งคำอธิบาย ( ดั่งที่ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายในภาคหลังของกันทรกสูตรที่ ๑ แห่งพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ ซึ่งกำลังย่ออยู่นี้ ).
เมื่อจบพระธรรมเทศนา พราหมณคฤหบดีชาวบ้านสาลากราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
จบคหปติวรรคที่ ๑ ขึ้นภิกขุวรรคที่ ๒ มี ๑๐ สูตร
๑๑ . จูฬราหูโลวาทสูตร
สูตรว่าด้วยการประทานโอวาทแก่พระราหุล สูตรเล็ก
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์. ในเวลาเย็นพระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังสวนมะม่วงหนุ่ม ซึ่งพระราหุลอาศัยอยู่. พระราหุลเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ก็ปูอาสนะตั้งน้ำล้างพระบาทไว้. พระผู้มีพระภาคประทับบนอาสนะที่ปูไว้แล้ว ล้างพระบาท เหลือน้ำไว้หน่อยหนึ่งในภาชนะน้ำ. ครั้นแล้วตรัสเปรียบว่า ผู้ใดไม่มีความละอายในการพูดปดทั้งปดทั้ง ๆ รู้ ความเป็นสมณะของผู้นั้น ย่อมเป็นของน้อยเหมือนน้ำที่มีอยู่ในภาชนะน้ำ. ทรงเทน้ำที่เหลืออยู่ทิ้งแล้วตรัสเปรียบว่า ผู้ใดไม่มีความละอายในการพูดปดทั้ง ๆ รู้ ความเป็นสมณะของผู้นั้น ชื่อว่าเป็นสมณะของผู้นั้น ชื่อว่าเป็นอันคว่ำเสียแล้ว.
๒ . ตรัสว่า ผู้ใดไม่มีความละอายในการพูดปดทั้ง ๆ รู้ พระองค์ย่อมไม่ตรัสว่า จะมีบาปกรรมอะไรที่ผู้นั้นจะพึงทำไม่ได้ ( คือทำความชั่วได้ทุกชนิด ) เปรียบเหมือนช้างสงความของพระราชาที่ใช้อวัยวะทุกส่วนในการรบ เว้นแต่งวง ก็ยังไม่ชื่อสละชีวิตเพื่อพระราชา แต่ถ้าใช้งวงด้วย ก็ชื่อว่าสละชีวิตเพื่อพระราชาจึงไม่มีอะไรที่ช้างจะทำเพื่อพระราชาไม่ได้ ครั้นแล้วได้ตรัสสอนให้สำหนียกว่า จะไม่พูดปดแม้เพื่อจะหัวเราะเล่น.
๓ . ตรัสถามว่า แว่นมีไว้ทำอะไร พระราหุลกราบทูลว่า มีไว้ส่องดู. จึงตรัสสอนว่า การกระทำทางกาย, วาจา, ใจ ก็พึงพิจารณาแล้วด้วยดี จึงค่อยทำฉันนั้น. ครั้นแล้วตรัสอธิบายถึงการพิจารณาการกระทำทางกาย, วาจา, ใจ ในทางที่ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น. แล้วตรัสว่า สมณพราหมณ์ในอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ที่ชำระการกระทำทางกาย, วาจา , ใจให้บริสุทธิ์ ก็พิจารณาแล้วด้วยดี จึงชำระให้บริสุทธิ์, แล้วตรัสสอนให้สำเหนียกว่า จักพิจารณาด้วยดี ชำระการกระทำทางกาย, วาจา, ใจให้บริสุทธิ์.
๑๒ . มหาราหุโลวาทสูตร
สูตรว่าด้วยการประทานโอวาทแก่พระราหุล สูตรใหญ่
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนพระราหุลในระหว่างที่ท่านตามเสด็จไปบิณฑบาตในเวลาเช้าว่า พึงพิจารณาเห็นรูปทุกชนิด ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน, ภายใน ภายนอก, หยาบละเอียด, เลว ดี, ไกล ใกล้ ว่ารูปทั้งหมดนั้น มิใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. พระราหุลกลับจากที่นั้น นั่งคู้บัลลงก์ ( ขัดสมาธิ ) ณ โคนไม้ตันหนึ่ง ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า พระสารีบุตรเห็นเข้าจึงสอนให้เจริญอานาปาปานสติ ( สติกำหนดลมมหายใจเข้าออก). ในเวลาเย็นพระราหุลออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้ากราบทูลถามถึงวิธีเจริญอานาปานสติที่จะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.
๒. พระผู้มีพระภาคตรัสสอนเรื่องรูปภายใน ( ร่างกาย ) ที่แข้นแข็ง มีผม ขน เป็นต้น ที่เรียกว่าธาติดินภายใน ตลอดจนธาตุน้ำ, ไฟ, ลม , อากาศ ทั้งภายนอกภายใน ให้เห็นเป็นแต่สักว่าธาตุ ไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อเห็นตามเป็นจริงอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายธาตุเหล่านั้น ทำจิตให้คลายกำหนด ( หรือความติดใจ ) ในธาตุเหล่านั้น
๓. ครั้นแล้วตรัสสอนให้เจริญภาวนา ( อบรมจิต ) เสมอด้วยธาตุแต่ละอย่าง ซึ่งผัสสะที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจเกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ได้ โดยชี้ให้เห็นว่า ธาตุเหล่านั้นย่อมไม่แสดงอาการผิดปกติ เช่น เบื่อหน่าย เกลียดชังสิ่งสะอาดหรือสกปรกที่ทิ้งลงไปใส่หรือที่ธาตุเหล่านั้นฝ่านไป.
๔. ตรัสสอนให้เจริญเมตตาภาวนา ( ไมตรีจิต คิดจะให้เป็นสุข ) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละพยาบาท ( ความคิดปองร้าย ) ได้ , กรุณาภาวนา ( เอ็นดู คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ ) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละวิเหสา ( การคิดเบียดเบียน ) ได้ , มุทิตาภาวนา ( พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละอรติ ( ความไม่ยินดีหรือริษยา ) ได้, อุเบกขาภาวนา ( วางใจเป็นกลาง ) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละปฎิฆะ ( ความขัดใจ ) ได้, ๘ . อสุภภวานา เห็นความไม่งาม ) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละราคะ ( ความกำหนัดยินดี ) ได้, อนิจจสัญญาภาวนา ( กำหนดหมายสิ่งที่ไม่เที่ยง ) ซึ่งเป็นเหตุให้ละละอัสมิมานะ ( ความถือตัวถือตนได้).
๕. ครั้นแล้วตรัสสอนวิธีเจริญสติกำหนดลมหายใจเข้าออกที่มีเหตุผลมาก มีอานิสงส์มาก ( แบบเดียวกับที่ตรัสไว้ในอานาปานบรรพ คือหมวดว่าด้วยลมหายใจเข้าออกในมหาสติปัฎฐาน ที่ย่อมาแล้วในพระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๔
๑๓ . จูฬมาลุงกโยวาทสูตร
สูตรว่าด้วยการประทานโอวาทแก่พระมาลุงกยะ สูตรเล็ก
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม พระมาลุงกยบุตรคิดว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงตอบปัญกาเรื่องทิฏฐิ ( ๑๐ ประการ ) มีเรื่องโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นต้น (ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๑ หน้า ๔ ข้อซักถามเพิ่มเติม หมายเลข ๖ นั้น เราไม่พอใจเลย ถ้าทรงตอบปัญหา เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าไม่ทรงตอบ เราจะสึก. เธอจึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาคตามที่คิดนั้น.
๒. ตรัสถามว่า พระองค์เคยทรงชวนให้เธอมาบวชเพื่อจะตอบปัญหานี้หรือ เธอเข้ามาบวช ก็พูดว่าจะบวชเพื่อให้เราตอบปัญหานี้หรือ. เมื่อเธอตอบว่า เปล่าทั้งสองประการ จึงตรัสว่า เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่ได้กล่าวว่ามุ่งตอบปัญหานี้ เธอจะมาบอกคืนเอาแก่ใครเล่า. ผู้ใดกล่าวว่า จักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าเราไม่ตอบปัญหาเรื่องโลกเที่ยง เป็นต้น เราก็ไม่ตอบปัญหานั้น ผู้นั้นก็คงจะตายเปล่า.
๓. ครั้นแล้วตรัสเปรียบเหมือนคนถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ญาติพี่น้องหาหมอผ่าตัดลูกศรมาก็ไม่ยอมให้ผ่าเอาลูกศรออก จนกว่าจะรู้ว่าผู้ยิงเป็นใคร ( กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร ) ชื่อไร โคตรไร สูงต่ำ หรือดำขาวอย่างไร อยู่บ้านไหน เมืองไหน ธนูที่ใช้ยิงนั้น เป็นธนูแล่ง ( หน้าไม้ ) หรือเกาทัณฑ์ ( ไม่ใช้แล่ง ) และรายละเอียดอื่น ๆ อีกยึดยาว ซึ่งก็คงจะตายเปล่า.
๔. ครั้นตรัสถามว่า เมื่อมีความเห็นว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นต้น จะชื่อว่ามีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือไม่ กราบทูลว่า ไม่มี ตรัสต่อไปว่า เมื่อมีความเห็นว่าสัตว์ตายแล้วมีหรือไม่มี หรือมีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ดังนี้ ก็ยังคงมีความเกิด ความแก่ ความตาย มีความเศร้าโลกพิไรรำพัน ทุกข์กาย ทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ ซึ่งเราบัญญัติให้ทำลายเสียในปัจจุบัน.
๕. ตรัสสรุปให้ทรงจำไว้ถึงสิ่งที่ไม่ทรงตอบและทรงตอบ (พยาการณ์ ) แล้วตรัสชี้ไปถึงทิฏฐิ ( ๑๐ ประการ) มีเรื่องโลกเที่ยง เป็นต้น ว่าไม่ทรงตอบ เพราะไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ส่วนเรื่องที่ทรงตอบ คืออริยสัจจ์ ๔ เพราะมีประโยชน์ เป็นไปเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.
๑๔ . มหามาลุงกโยวาทสูตร
สูตรว่าด้วยการประทานโอวาทแก่พระมาลุงกยะ สูตรใหญ่
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลายทรงจำสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องร้อยรัด ) เบื้องต่ำ ๕ ประการซึ่งทรงแสดงไว้. พระมาลุงกยบุตรกราบทูลว่า ท่านทรงจำได้ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ทรงจำได้อย่างไร จึงกราบทูลว่า ได้แก่ ๑. สักกายทิฏฐิ ( ความเห็นเป็นเหตุยึดกายของตน ) ๒. วิจิกิจฉา ( ความลังเลสงสัย ) ๓. สีลัมพตปรามาส ( การลูบคลำศีลแลพรต คือเชื่อว่าจะเกิดผลดีด้วยศีลพรตนั้น ๆ หรือติดลัทธิพิธีโชคลาง) ๔. กามฉันท์ ) ความพอใจในกาม) ๕. พยาบาท ( ความคิดปองร้าย ).
๒. ตรัสกับพระมาลุงกยบุตร ๙ ว่า ท่านทรงจำไว้ว่า เราแสดงแก่ใคร พวกนักบวชลัทธิอื่นจักพูดแข่งดีด้วยการเปรียบเทียบกับเด็กอ่อนมิใช่หรือ เพราะว่าเด็กอ่อนนอนหงาย ย่อมไม่มีแม้ความคิดว่า “ กายของเตน” ความเห็นเป็นเหตุยึดถือกายของตนจักเกิดขึ้นได้อย่างไร. แต่ว่าอนุสัย ( กิเลสที่แฝงตัว) คือความเห็นเป็นเหตุยึดถือกายของตน ของเด็กนั้นย่อมแฝงตัวตามไป. แล้วตรัสแสดงต่อไปอีกเป็นข้อ ๆ เด็กย่อมไม่มีแม้ความคิดว่า “ ธรรมทั้งหลาย” ความสังสัยในธรรมทั้งหลายจักมีได้อย่างไร. แต่ว่าอนุสัยคือความสงสัยของเด็กนั้นย่อมแฝงตัวตามไป. เด็กย่อมไม่มีแม้ความคิดว่า “ ศีล ” การลูบคลำศีลแลพรตจักมีได้อย่างไร. แต่ว่าอนุสัยคือการลูบคลำศีลพรตของเด็กนั้นย่อมแฝงตัวตามไป. เด็กย่อมไม่มีแม้ความคิดว่า “ กาม ” ความพอใจในกามจักเกิดได้อย่างไร. แต่ว่าอนุสัยคือความพอใจในกามของเด็กย่อมแฝงตัวตามไป. เด็กย่อมไม่มีแม้ความคิดว่า “ สัตว์ทั้งหลาย ” ความพยาบาทในสัตว์ทั้งหลายจักเกิดได้อย่างไร แต่ว่าอนุสัยคือความพยาบาทของเด็กนั้นย่อมแฝงตัวตามไป.
๓. พระอานนท์จึงกราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงเรื่องสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ภิกษุทั้งหลายจักได้ทรงจำไว้ จึงตรัสอธิบายว่า บุถุชนผู้มิได้สดับ มิจจิตถูกสัญโญชน์ ๕ รึงรัด ไม่รู้การถอนตัวจากสัญโญชน์ ๕ ตามเป็นจริง สัญโญชน์นั้น ๆ จึงมีกำลัง จัดเป็นสัญโญชน์เบื้องต่ำ . ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ มีจิตไม่ถูกสัญโญชน์ ๕ รึงรัด รู้การถอนตัวจากสัญโญชน์ ๕ ตามเป็นจริง อริยสาวกนั้นจึงละสัญโญชน์ ๕ พร้อมทั้งอนุสัย ( กิเลสที่แฝงตัวตาม) เสียได้.
๔. ตรัสว่า มรรคา, ปฎิปทา ที่ทรงแสดงเพื่อละสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ บุคคลไม่อาศัยมรรคา, ปฎิปทานั้น จักละสัญโญชน์เหล่านั้นได้ มิใช่ฐานะที่มีได้ เปรียบเหมือนการตัดแก่นไม้ของต้นไม้ใหญ่ที่มีแก่นโดยไม่ตัดเปลือก ไม่ตัดกระพี้นั้น มิใช่ฐานะที่มีได้ ๑๐ หรือเปรียบเหมือนคนมีกำลังทรามกล่าวว่า จะใช้มือว่ายข้ามแม่น้ำคงคา ซึ่งมีน้ำเต็มฝั่งไปสู่ฝั่งโน้นได้โดยสวัสดี ก็ไม่พึงทำเช่นนั้นได้ฉันใด เมื่อแสดงธรรมแก่ใคร ๆ เพื่อละ “ กายของตน ” แต่จิตของผู้นั้น ไม่ส่งไปตาม ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น ไม่หลุดพ้น ก็พึงเห็นเป็นฉันนั้น ๑๐” .
๕. ตรัสแสดงมรรคา, ปฎิปทา เพื่อละสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ คือการที่ภิกษุสงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรม เข้าฌานที่ ๑ ถึงที่ ๔ ( อันเป็นรูปฌาน ฌานมีรูปเป็นอารมณ์ ) กับเข้าอรูปฌานที่ ๑ ถึงที่ ๓ ( อากิญจัญญายตนะ ) พิจารณาขันธ์ ๕ โดยความเป็นของไม่เที่ยง , เป็นทุกข์, เป็นโรค , เป็นฝี, เป็นลูกศร, เป็นของไม่สบาย, เป็นเครื่องเบียดเบียน, เป็นฝ่ายอื่น, เป็นของทรุดโทรม , เป็นของไม่ใช่ตัวตน เปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้น ( ขันธ์ ๕ ) น้อมจิตไปเพื่อธาตุอันเป็นอมตะคือนิพพาน. ผู้นั้นตั้งอยู่ในฌานแต่ละข้อนั้นย่อมถึงความสิ้นอาสวะได้ ถ้าละอาสวะไม่ได้ ก็จะได้เป็นพระอนาคามี.
๖. พระอานนท์กราบทูลถามว่า มรรคา, ปฎิปทา เพื่อละสัญโญชน์เหล่านั้นก็อย่างเดียวกันเหตุไฉนภิกษุบางรูปจึงเป็นผู้หลุดเพราะสมาธิ ( เจโตวิมุติ) บางรูปหลุดพ้นเพราะปัญญา ( ปัญญาวิมุติ ). ตรัสตอบว่า เพราะอินทรีย์ต่างกัน . ( คำว่า อินทรีย์ หมายถึงธรรมอันเป็นใหญ่ มี ๕ คือ ศรัทธา, ความเพียร, สติ, สมาธิ และปัญญา).
________________________________________
๑. อรรถกถาเล่าว่า เอาเขาโคมาติดศีรษะ เอาหางมาผูก เที่ยวกินหญ้าไปกับโคทั้งหลาย ส่วนที่ว่า ประพฤติวัตดั่งสุนัข คือทำอาการกิริยาทั้งปวงให้เหมือนสุนัข
๒. อรรถกถา คือคำอธิบายพระไตรปิฎกตอนนี้ ขยายความว่า ความสุขและความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวของมนุษย์ย่อมปรากฏ ส่วนของเทวดา ได้แก่ภูมมเทวดา คือเทพที่อยู่บนพื้นดิน และของพวกวินิปาติกะ ได้แก่พวกเวมานิกเปรตที่อยู่วิมาน มีความสุขและความทุกข์เป็นครั้งคราว ทั้งนี้ย่อมเป็นไปในสัตว์ดิรัจฉานมีช้าง เป็นต้นด้วย
๓. อรรถกถาอธิบายว่า มัคคเจตนา เจตนาที่เป็นไปในมรรค( คำว่า มรรค หมายถึงปัญญาอันตัดกิเลสได้เด็ดขาดตั้งแต่บางส่วนจนถึงหมดสิ้น ข้อไหนละได้แล้วไม่ต้องละใหม่อีก เป็นอันละได้เด็ดขาดไปเลย)
๔ . อภยราชกุมารเป็นโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร
๕. ในมหาสติปัฏฐานสูตร ทรงแสดงเวทนา ๙ ไว้ด้วยดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๔ และเวทนาเหล่านี้ แจกออกเป็นอะไรบ้าง ดูที่ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๒๑๑ เวทนา ๒ ถึง ๑๐๘
๖. เรื่องนี้แปลไว้แล้วอย่างละเอียดดูที่ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๒๑๓ แม้ในที่มาแปลจากเล่ม ๑๘ แต่ข้อความก็ตรงกัน
๗. กลิคฺคาโห ถือเอาโทษหรือถือเอาลูกโทษเป็นสำนวนสกา หมายความว่าแพ้
๘. ในที่นี้แสดงว่า อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง ทำให้ละปฎิฆะ ( ความขัดใจ ) แต่ในที่บางแห่ง เช่น ในสังคีติสูตร ( ๑๑/ ๒๖๑ ) แสดงว่า อุเบกขา เจโตวิมุติ เป็นความถอนตัวได้จากราคะ นับเป็นหลักวิชาที่น่าสนใจ
๙. อรรถกถาว่า “ พระมาลุงกยบุตรมีความเห็นผิดว่า บุคคลจะประกอบด้วยกิเลสก็เฉพาะตอนที่ถูกกิเลสครอบงำเท่านั้น ในขณะอื่นไม่ชื่อว่าประกอบด้วยกิเลส.” จึงเป็นการเหมาะสมที่ตรัสอธิบายให้เห็นว่าเด็กไม่มีกิเลสจริงหรือไม่ โดยตรัสว่า กิเลสประเภทแฝงตัวยังติดตามอยู่
๑๐. ฐานะที่เป็นไปได้ พึงทราบในทางตรงกันข้ามทั้งสองแห่ง อนึ่ง การตัดเปลือก ตัดกะพี้นั้น อรรถกถาเทียบด้วยสมภะ, วิปัสสนา ส่วนตัดแก่น เทียบด้วยมรรค
๑๕. ภัททาลิสูตร
สูตรว่าด้วยพระภัททาลิ
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนพระภัททาลิผู้ไม่กระทำให้บริบูรณ์ใน สิกขาโดยทรงเตือนให้สำนึกว่า พระผู้มีพระภาค ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สมณพราหมณ์ลัทธิอื่น จักรู้ว่า พระภัททาลิไม่กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา, ซึ่งพระภัททาลิก็ได้สำนึกตนกราบทูลขอขมา. พระผู้มีพระภาคตรัสรับขมาแล้ว ได้ตรัสแสดงความประพฤติของภิกษุสองฝ่าย คือฝ่ายที่ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ซึ่งถูกติเตียนกับฝ่ายที่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ซึ่งไม่ถูกติเตียน และบำเพ็ญคุณธรรมได้ตั้งแต่ฌาณ ๔ ฌาณ ๓ มีอาสวักขยญาณ ( ญาณอันทำอาสวะให้สิ้น ) เป็นที่สุด.
๒. ตรัสแสดงถึงภิกษุสองฝ่าย คือฝ่ายที่ต้องอาบัติบ่อย ๆ มากไปด้วยอาบัติ เมื่อภิกษุทั้งหลายว่ากล่าว ก็พูดหลีกเลี่ยงไปต่าง ๆ ภิกษุทั้งหลายก็จะพิจารณา ( จัดการกับ ) เธอ ในทางที่อธิกรณ์จะไม่สงบระงับไปโดยพลัน . แต่บางรูปต้องอาบัติบ่อย ๆ เป็นต้นแล้ว ไม่พูดหลีกเลี่ยงไปต่าง ๆ ภิกษุทั้งหลายก็จะพิจารณา ( จัดการกับ ) เธอ ในทางที่อธิกรณ์จะสงบระงับไปโดยพลัน. อีกฝ่ายหนึ่งต้องอาบัติเป็นครั้งคราว ไม่มากไปด้วยอาบัติ แต่พูดหลีกเลี่ยงก็มี ไม่หลีกเลี่ยงก็มี ภิกษุทั้งหลายก็พิจารณา ( จัดการกับ ) เธอ ในทางที่อธิการณ์จะไม่สงบระงับโดยพลัน ( สุดแต่ความประพฤติเมื่อถูกว่ากล่าวของเธอ ).
๓. ทรงแสดงถึงการที่ภิกษุบางรูปเป็นอยู่ด้วยศรัทธา ด้วยความรัก ( คือบวชใหม่ ยังไม่รู้เรื่องศาสนาดี ก็อยู่ด้วยอาศัยศรัทธา และความรักในอุปัชฌายะอาจารย์). ภิกษุทั้งหลายคิดสงเคราะห์เธอด้วยเกรงว่าศรัทธาและความรักของเธอจะเสื่อมไป เหมือนญาติมิตรรักษาตาข้างเดียวของชายผู้มีตาข้างเดียวฉะนั้น. เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามถึงเหตุทที่สิกขาบทมีน้อยในกาลก่อน มีภิกษุมากรูปตั้งอยู่ในอรหัตตผล แต่ในบัดนี้สิกขาบทกลับมากขึ้น ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผลกลับน้อยลง จึงตรัสตอบว่า เป็นด้วยสัตว์ทั้งหลายกำลังเสื่อมสัทธรรม กำลังอันตรธาน.
๔. ครั้นแล้วได้ตรัสว่า พระศาสดาย่อมไม่บัญญัติสิกขาบทจนกว่าธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ ( กิเลสดองสันดาน ) จะปรากฏในภิกษุสงฆ์ . ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะยังไม่ปรากฏในภิกษุสงฆ์ ตราบใดที่สงฆ์ยังไม่เป็นกลุ่มใหญ่ , ยังไม่มีลาภ, ยศ , ไม่มีการสดับตรับฟังมาก, ไม่รู้ราตรีนานขึ้น ( ล่วงเวลานานขึ้น ) และในที่สุด ตรัสแสดงธรรมเปรียบด้วยม้าอาชาไนย ที่ได้รับการฝึก ๑๐ ประการ ๑ . จนมีคุณสมบัติครบ ๑๐ อย่าง ควรแก่พระราชาฉันใด ภิกษุผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ) เป็นต้น จนถึงสัมมาวิมุติ ( ความหลุดพ้นชอบ) เป็นที่ ๑๐ ก็เป็นผู้ควรแก่การบูชา จนถึงเป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลกฉันนั้น.
๑๖. ลฑุกิโกปมสูตร
สูตรแสดงข้อเปรียบเทียบด้วยนางนกใส้
๑. พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในนิคมชื่ออาปณะ แคว้นอังคุตตราปะ . พระอุทายีเข้าไปเฝ้ากราบทูลสรรเสริญว่า ทรงนำธรรมที่เป็นทุกข์มากหลายออกไป ทรงนำเข้าไปซึ่งธรรมที่เป็นสุขมากหลายแล้วได้เล่าถึงสมัยก่อนที่ท่านเคยบริโภคอาหาร ทั้งในเวลาเย็น ทั้งในเวลาเช้า ทั้งในเวลาวิกาลกลางวัน ( เที่ยงแล้วไป ). ต่อมาเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสให้ภิกษุทั้งหลายเลิกฉันอาหารในเวลากาลกลางวัน ( เที่ยงแล้วไป ) ท่านก็เสียใจที่พระผู้มีพระภาคตรัสสั่งให้ละอาหารที่คฤหบดีผู้มีศรัทธาถวายในเวลาวิกาลกลางวัน แต่ด้วยความรัก ความเคารพ เป็นต้น ในพระผู้มีพระภาค ก็ละการฉันอาหารในเวลาวิกาลกลางวันนั้นเสีย คงฉันแต่เวลาเย็นและเวลาเช้า.
ต่อมาตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลายเลิกฉันอาหารในเวลากาลกลางคืน ท่านก็เสียใจ. แต่ด้วยความรักความเคารพ เป็นต้น ในพระผู้มีพระภาค ท่านก็ละการฉันอาหารในเวลาวิกาลกลางคืนเสีย. แล้วกราบทูลถึงการบิณฑบาตในเวลากลางคืนที่ทำให้เหยียบน้ำครำบ้าง ตกหลุมโสโครกบ้าง ถูกหนามตำบ้าง จนถึงถูกผู้หญิงนึกว่าผีหลอกร้อยโวยวาย และเมื่อทราบว่าเป็นภิกษุก็ด่าเอา ( อันแสดงว่า การที่ทรงห้ามนั้นเป็นการดี).
๒. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โมฆบุรุษบางคนเมื่อเรากล่าวว่า จงละสิ่งนี้ ก็กล่าวว่า จะมาขัดเกลาอะไรกัน เพราะเหตุเรื่องเล็กน้อยเท่านี้ จึงไม่ยอมละ และตั้งความไม่พอใจในเรา และในภิกษุผู้ใคร่การศึกษา. ข้อห้ามนั้นก็จะเป็นเครื่องผูกอันมีกำลังมั่นคงสำหรับเธอ เหมือนนางนกใส้ ซึ่งผูกด้วยเถาไม้ ก็ผูกไว้อยู่หรือถึงแก่ความตาย เพราะเครื่องผูกนั้นมีกำลังมั่นคง ( นกตัวเล็กผูกด้วยเถาไม้ก็รู้สึกว่าเป็นเครื่องผูกใหญ่ คนที่ไม่ดีก็เห็นข้อห้ามเล็ก ๆ ว่าเป็นของใหญ่โต ซึ่งยากจะปฏิบัติตามหรือละตามที่ห้ามได้ เพราะศรัทธาน้อยมีปัญญาน้อย ). ส่วนบุคคลบางคนเมื่อเรากล่าวว่า จะละสิ่งนี้ ก็กล่าวว่า พระผู้มีพระภาคตรัสสอนสั่งให้ละเรื่องเล็กน้อยจึงยอมละ และไม่ตั้งความไม่พอใจในเรา และในภิกษุผู้ใคร่การศึกษา ข้อห้ามนั้นก็จะเป็นเหมือนเครื่องผูกอันไม่มีกำลัง ไม่มั่นคงสำหรับเธอ เหมือนช้างสงครามของพระราชาสลัดเครื่องผูกที่ทำด้วยหนังอย่างมั่นคงให้ขาดได้ ( สำหรับภิกษุผู้มีศรัทธาและปัญญามาก แม้ข้อห้ามใหญ่ ๆ ก็ละตามได้ ยิ่งข้อห้ามเล็ก ๆ น้อย ๆ ยิ่งปฏิบัติตามได้ไม่ยาก เหมือนช้างสงครามที่ทำลายเชือกหนังได้สบาย ) และได้ตรัสเปรียบเรื่องทำนองเดียวกันด้วยคนจนที่จะสละเรือนจวนจะฟังได้โดยยาก ส่วนคนมั่งมีสละทรัพย์ได้ง่ายกว่า.
๓. ตรัสถึงบุคคล ๔ ประเภทที่ปฏิบัติเพื่อละ เพื่อสละอุปธิ ( มี ๔ อย่าง คือ ขันธ์ , กิเลส , เจตนา, กามคุณ ) แต่ ๑. บางพวกถูกกิเลส ๒ . ครอบงำ และไม่ละ ไม่บันเทา ๒. บางพวกถูกกิเลสครอบงำ ก็ละก็บันเทา ๓. บางพวกถูกกิเลสครอบงำเพียงครั้งเดียว เพราะหลงลืมสติ สติมาช้า แต่พอได้สติก็รีบละและบันเทา ๔. บางพวกรู้ว่า อุปธิ เป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ จึงทำตนให้ไม่มีอุปธิ.
๔. ครั้นแล้วตรัสแสดงความสุขที่เกิดแต่กามคุณ ซึ่งทรงสอนให้ละขึ้นไปเป็นชั้น ๆ จนถึงความสุขในรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ แล้วตรัสถามว่า เห็นว่ามีสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องร้อยรัด ) อะไรบ้างไหมไม่ว่าน้อยหรือมาก ที่ไม่ทรงสอนให้ละเสีย. ( โดยใจความว่า แม้จะมีความสุขเป็นชั้น ๆ แต่ถ้ายังมีอะไรแม้แต่น้อย ที่ยังไม่บริสุทธิ์แท้ ก็ยังตรัสสอนให้ละไปโดยลำดับ จนบริสุทธิ์สมบูรณ์ในที่สุด).
๑๗. จาตุมสูตร
สูตรว่าด้วยเหตุการณ์ในตำบลบ้านชื่อจาตุมา
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามะขามป้อม ใกล้ตำบลบ้านชื่อจาตุมา. ตรัสสั่งประณาม ( ขับไล่) ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ที่เดินทางมากับพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ มาถึงหมู่บ้านจาตุมา ก็ส่งเสียงเอะอะประศรัยร่าเริงกับภิกษุเจ้าถิ่น . บรรดาเจ้าศากยะชาวบ้านจาตุมาทรงทราบจึงไปกราบทูลขอให้ทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ เพราะมี ( บางรูป ) บวชใหม่ เมื่อไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคก็จะปรวนแปรไป เปรียบเหมือนพืชอ่อนไม่ได้น้ำ หรือลูกโคอ่อนที่ไม่เห็นแม่. ท้าวหัมบดีพรหมก็มากราบทูลขอให้ทรงอนุเคราะห์ ด้วยอ้างข้ออุปมาในทำนองเดียวกัน . เป็นอันบรรดาเจ้าศากยชาวบ้านจาตุมาและท้าวสหัมบดีพรหม ทำให้พระผู้มีพระภาคทรงพอพระหฤทัยได้.
๒. พระมหาโมคคัลลานะไปบอกให้ภิกษุเหล่านั้นมาเฝ้า. พระผู้มีพระภาคตรัสถามพระสารีบุตรว่า เธอคิดอย่างไร เมื่อเราประฌามภิกษุสงฆ์ . พระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าพระองค์คิดว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคทรงขวนขวายน้อย ประกอบการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน แม้เราก็จักขวนขวายน้อย ประกอบการอยู่เป็นสุขในปัจจุบันบ้าง ( คือไม่ยุ่งเกี่ยวกับหมู่คณะ ) . พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า อย่างเพิ่งคิดอย่างนั้นก่อน แล้วจึงตรัสถามพระโมคคัลลานะบ้าง. พระเถระกราบทูลว่า ข้าพระองค์คิดว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคทรงขวนขวายน้อยประกอบการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน บัดนี้เราและสารีบุตรจักบริหารภิกษุสงฆ์เอง. พระผู้มีพระผู้มีพระภาคจึงประทานสาธุการรับรองว่า เรา ( พระองค์เอง) หรือสารีบุตรกับโมคคัลลานะพึงบริหารภิกษุสงฆ์ได้.
๓. ครั้นแล้วตรัสสอนภิกษุทั้งหลายถึงภัย ๔ ประการ ที่พึงหวังได้ในการลงน้ำ คือ ๑. คลื่น ๒. จระเข้า ๓. วังวน ๔ . ปลาร้าย . ทรงเปรียบความไม่อดทนต่อโอวาทเมื่อเข้ามาบวชด้วยภัยคือคลื่น ; ทรงเปรียบความเห็นแก่ปากแก่ท้องด้วยภัยคือจรเข้ ; ทรงเปรียบกามคุณ ๕ ด้วยภัยคือวังวน และทรงเปรียบเทียบมาตุคามด้วยปลาร้าย ว่าเป็นภัยอันภิกษุผู้บวชในพระธรรมวินัยนี้พึงหวังได้.
( หมายเหตุ: พระสูตรนี้แสดงว่าพระผู้มีพระภาคทรงให้บทเรียนแก่ภิกษุผู้ส่งเสียงอื้ออึงเหล่านั้นอย่างแรง แต่เมื่อมีเหตุผลสมควร ก็ทรงเลิกลงโทษ คือมิใช่ลงโทษให้เสียคน แต่ให้กลับตัว ).
๑๘. นฬกปานสูตร
สูตรว่าด้วยเหตุการณ์ในหมู่บ้านชื่อนฬกปานะ
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าไม้ทองกวาว ใกล้หมู่บ้านชื่อนฬกปานะ. สมัยนั้นกุลบุตรผู้มีชื่อเสียงออกบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคหลายท่านด้วยกัน คือ พระอนุรุทธ์ , พระภัททิยะ , พระกิมพิละ , พระภัคคุ, พระโกณฑัญญะ , พระเรวตะ, พระอานนท์ และกุลบุตรผู้มีชื่อเสียงอื่น ๆ . พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับในกลางแจ้ง ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ผู้ที่ออกบวชอุทิศเรา ยินดียิ่งในพรหมจรรย์ละหรือ ? ตรัสถามถึง ๓ ครั้ง ภิกษุเหล่านั้นก็นิ่งอยู่.
๒. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสระบุพวกพระอนุรทธ์ ( มีรายนามดั่งที่กล่าวข้างต้น แต่ใช้คำว่า “ อนุรุทธ์ ” อนุรุทธ์และพวก ) ซึ่งพระอนุรุทธ์ก็กราบทูลว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายยินดียิ่งในพรหมจรรย์ จึงตรัสว่า ดีแล้ว. แล้วตรัสถามว่า ออกบวชเพื่อทำที่สุดทุกข์ใช่หรือไม่ . พระอนุรุทธ์ก็กราบทูลรับว่า ใช่. จึงตรัสถึงหน้าที่ที่ผู้บวชแล้วพึงกระทำว่า ถ้ามิได้บรรลุปีติและสุขอันสงัดจากกาม อันสงัดจากอกุศลธรรม หรือปีติสุขที่สงบระงับกว่านั้นแล้ว ความโลภ ( อภิชฌา ) , ความคิดปองร้าย, ความหดหู่ง่วงงุน, คววามลังเลสงสัย, ความฟุ้งสร้านรำคาญใจ, ความไม่ยินดี ( ในกุศลธรรม ), ความเกียจคร้านก็จะครอบงำจิตตั้งอยู่ได้. ต่อไปบรรลุปีติและสุขเช่นนั้นหรืออย่างอื่นที่สงบระงับกว่านั้น กิเลสดังกล่าวจึงไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ได้.
๓. ตรัสถามว่า เธอคิดว่า คถาคตละอาสวะไม่ได้จึงพิจารณาแล้วเสพ, พิจารณาแล้วอดทน, พิจารณาแล้วเว้น พิจารณาแล้วบันเทา ( ทำให้น้อยลง ) ใช่หรือไม่. กราบทูลว่า ไม่ได้คิดอย่างนั้น พระตถาคตทรงละอาสวะได้แล้ว จึงทรงทำเช่นนั้น. ตรัสรับรองว่าเป็นเช่นนั้น. ตรัสถามต่อไปว่า ตถาคตเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงพยากรณ์เมื่อสาวกตายไปว่า ผู้นี้ไปเกิดในที่โน้น ๆ . พระอนุรุทธ์กราบทูลขอให้ทรงตอบ จึงตรัสตอบว่า ที่ทรงพยากรณ์เช่นนั้น มิใช่เพื่อเพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อเรียกร้องคนให้มานับถือ มิใช่เพื่ออานิสงส์ลาภสักการะหรือชื่อเสียง มิใช่เพื่อให้คนรู้จักเราว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้. แต่กุลบุตรผู้มีศรัทธา มีความยินดีและปราโมทย์อันกว้างขวาง ได้สดับแล้ว ก็จะน้อมจิตไปเพื่อความเป็นเช่นนั้น ( ตามที่ทรงพยากรณ์ว่าไปเกิดในที่ดี ๆ อย่างไร ) ข้อนั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขของกุลบุตรเหล่านั้น แล้วตรัสขยายความในเรื่องนี้ว่า จะเป็นการเอาอย่างในทางที่ดีในเรื่องศรัทธา, ศีล , สุตะ ( การสดับฟังหรือการศึกษา ), จาคะ ( การสละ ) และปัญญา.
๑๙. โคลิสสานิสูตร
สูตรว่าด้วยภิกษุชื่อโคลิสสานิ
๑. สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ . พระสารีบุตรปรารภภิกษุชื่อโคลิสสานิผู้อยู่ป่า แต่มีความประพฤติย่อหย่อน (เห็นแก่ปัจจัย ) มีธุระเข้ามาในที่ประชุมสงฆ์ จึงแสดงข้อปฎิบัติสำหรับภิกษุป่า ๑๗ ข้อดังต่อไปนี้:-
ข้อปฎิบัติสำหรับภิกษุผู้อยู่ป่า ๑๗ ข้อ
๑. ภิกษุผู้อยู่ป่าไปในสงฆ์ พึงเคารพในเพื่อนพรหมจารี
๒. พึงฉลาดในอาสนะ ไม่นั่งเบียดภิกษุผู้แก่กว่า ไม่นั่งกันภิกษุผู้อ่อนกว่า
๓. ไม่พึงเข้าบ้านเกินเวลา พึงกลับแต่ยังวัน ๔. ไม่พึงเที่ยวไปในสกุลก่อนหรือหลังอาหาร ๓.
๕. ไม่พึงฟุ้งสร้านและขี้บ่น ๖. ไม่พึงเป็นคนปากกล้าพูดมาก
๗. พึงเป็นผู้ว่าง่ายและคบมิตรที่ดี
๘. พึงสำรวมทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ( สำรวมตา หู เป็นต้น)
๙. พึงรู้ประมาณในการบริโภคอาหาร ๑๐. พึงประกอบความเป็นผู้ตื่น ( ไม่เห็นแก่นอน )
๑๑. พึงลงมือทำความเพียร ๑๒. พึงมีสติตั้งมั่น
๑๓. พึงมีจิตตั้งมั่น ๑๔. พึงมีปัญญา
๑๕. พึงประกอบความเพียรในอภิธรรม อภิวินัย เพื่อสามารถตอบชี้แจงได้เมื่อมีผู้ถาม
๑๖. พึงประกอบความเพียรในวิโมกข์อันสงบระงับ อันมิใช่รูป ก้าวล่วงรูป เพื่อสามารถตอบชี้แจงได้เมื่อมีผู้ถาม
๑๗. พึงประกอบความเพียรในอุตตริมนุสสธรรม ( ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ) เพื่อสามารถตอบชี้แจงได้เมื่อมีผู้ถาม.
พระมหาโมคคัลลานะถามว่า ภิกษุผู้อยู่ป่าเท่านั้นหรือจึงควรประพฤติ หรือว่าแม้ภิกษุผู้อยู่ชายบ้าน ( เขตรอบ ๆ หมู่บ้าน ) ก็ควรประพฤติด้วย. พระสารีบุตรตอบว่า แม้ภิกษุผู้อยู่ป่ายังควรประพฤติ จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวว่า ภิกษุผู้อยู่ชายบ้านจะไม่ควรประพฤติ.
๒๐. กีฎาคิริสูตร
สูตรว่าด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิคมชื่อกีฎาคิริ
๑. พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นกาสี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่. ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายเรื่องการเว้นบริโภคอาหารในเวลากลางคืนว่า ทำให้มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย เบาสบาย มีกำลัง อยู่เป็นผาสุก. เมื่อเสด็จไปโดยลำดับก็เสด็จแวะพัก ณ นิคมชื่อกีฏาคิริ. ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะเป็นภิกษุเจ้าถิ่นอนู่ในกีฏาคิรินิคม กลับพูดในทางตรงกันข้าม คือกล่าวว่า พวกตนฉันอาหารในเวลาเย็นเวลาเช้า เวลาวิกาล กลางวัน ก็รู้สึกว่ามีอาพาธน้อย มีโรคน้อย เป็นต้น.
๒. พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ตรัสสั่งให้เรียกภิกษุพวกนั้นมาเฝ้า ตรัสถามได้ความตามจริงแล้วจึงตรัสถามว่า พวกเธอรู้หรือไม่ถึงธรรมที่เราแสดงแล้วว่า อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญแก่บุคคลผู้เสวยสุข หรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข อย่างไรกัน. กราบทูลว่า ไม่รู้. ตรัสถามต่อไปอีกว่า รู้หรือไม่ว่า อกุศลธรรมและกุศลธรรมเจริญหรือเสื่อมแก่บุคคลผู้เสวยเวทนาอะไรทีละข้อ ก็กราบทูลตอบว่า ไม่รู้. จึงตรัสอธิบายโดยพิสดารทีละข้อ โดยใจความว่า ทรงทราบแล้วถึงเรื่องเหล่านี้ จึงทรงแนะนำให้เข้าถึงสุขเวทนาบ้าง ทุกข์เวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง ตามความเหมาะสม.
๓. ทรงชี้แจงต่อไปว่า ไม่ตรัสสอนให้ภิกษุทุกรูปกระทำการด้วยความไม่ประมาท แต่ก็ไม่ตรัสสอนให้ภิกษุทุกรูปกระทำด้วยความประมาท . ภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวะ ทำหน้าที่เสร็จแล้วเราย่อมสอนภิกษุเหล่านั้นให้ทำการด้วยความไม่ประมาทก็หาไม่ เพราะเธอทำการด้วยความไม่ประมาทอยู่แล้ว เธอเป็นผู้ไม่ควรที่จะประมาท ส่วนภิกษุเหล่าใดยังต้องศึกษา ยังไม่บรรลุอหัตตผล เราย่อมสอนภิกษุเหล่านั้นให้ทำการด้วยความไม่ประมาท เพราะคิดว่า เธอเหล่านี้เสพเสนาสนะอันสมควร คบกัลยาณมิตรแล้ว ก็อาจทำให้แจ้งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ได้ในปัจจุบัน. เราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุเหล่านี้ จึงสอนให้ทำการด้วยความไม่ปราะมาท.
๔. ตรัสอธิบายถึงบุคคล ( ผู้ได้บรรลุคุณธรรม ) ๗ ประเภท พร้อมทั้งแจกรายละเอียด ดังต่อไปนี้:-
(๑) อุภโตภาควิมุต ผู้พ้นโดยส่วนทั้งสอง ( อรรถกถาอธิบายว่า พ้นทั้งแจกรูปกายด้วยอรูปกายด้วยอรูปสมาบัติพ้นจากนามกายด้วยมรรค) ได้แก่ผู้ ถูกต้อง วิโมกข์อันสงบระงับด้วยกาย ( คือนามกาย ) สิ้นอาสวะเพราะเห็นด้วยปัญญา ๔.
(๒) ปัญญาวิมุต ผู้พ้นด้วยปัญญา ได้แก่ผู้ ไม่ได้ถูกต้อง วิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย สิ้นอาสวะเพราะเห็นด้วยปัญญา ๕.
ทั้งสองประเภทนี้ไม่ต้องทรงสอนให้ทำการด้วยความไม่ประมาท เพราะทำการด้วยความไม่ประมาทอยู่แล้ว ( คือเป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว ไม่เป็นไปได้ที่จะประมาทอีก ).
(๓) กายสักขี ผู้ถูกต้องผัสสะแห่งฌานก่อนแล้ว จึงทำให้แจ้งนิพพานในภายหลัง. ได้แก่ผู้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย แต่สิ่งสิ้นอาสวะเพียงบางส่วน ๖.
(๔) ทิฏฐิปัตตะ ผู้บรรลุเพราะเห็นธรรมด้วยปัญญา ได้แก่ผู้มิได้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับ ด้วยนามกาย สิ้นอาสวะเพียงบางส่วน เห็นธรรมที่ตถาคตแสดงแล้วอย่างแจ่มแจ้งด้วยปัญญา ๗.
(๕) สัทธาวิมุต ผู้พ้นเพราะศรัทธา ได้แก่ผู้มิได้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย สิ้นอาสวะเพียงบางส่วน มีศรัทธาตั้งมั่นในตถาคต ๘.
(๖) ธัมมานุสารี ผู้แล่นไปตามธรรมะ ได้แก่ผู้มิได้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย สิ้นอาสวะเพียงบางส่วน เพ่งพอประมาณซึ่งธรรมะที่ตถาคตแสดงแล้วด้วยปัญญา ๙.
(๗) สัทธานุสารี ผู้แล่นไปตามศรัทธา ได้แก่ผู้มิได้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย มีศรัทธามีความรักในตถาคต.
ตั้งแต่กายสักขีถึงสัทธานุสารี รวม ๕ ประเภท เป็นพระอริยบุคคลที่ยังไม่ถึงขั้นพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคยังทรงสอนให้ทำการด้วยความไม่ประมาท เพราะทรงเห็นผลของความไม่ประมาท.
(หมายเหตุ: พระอริยบุคคล ๗ ประเภทนี้ กำหนดด้วยคุณสมบัติพิเศษทางจิตใจที่ต่างกันเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ มีอธิบายไว้พิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรค และอรรถกถาทั่วไป ในที่นี้จึงแสดงไว้พอรู้จักชื่อและคุณสมบัติตามควร ).
๕. ครั้นแล้วตรัสว่า พระองค์มิได้ตรัสว่า จะต้องอยู่ในอรหัตตผลได้ในชั้นแรกทีเดียว แต่จะตั้งอยู่ในอรหัตตผลได้ด้วยการศึกษาโดยลำดับ, การกระทำโดยลำดับ , การปฎิบัติโดยลำดับ. แล้วตรัสอธิบายว่า บุคคลมีศรัทธาแล้ว ก็เข้าไปหา นั่งใกล้ เงี่ยโสตสดับธรรม แล้วทรงจำไว้ พิจารณาเนื้อความ ธรรมะย่อมทนต่อการเพ่ง ครั้นแล้วก็เกิดฉันทะอุตสาหะ ความชั่งใจ การตั้งความเพียร ครั้นแล้วย่อมทำให้แจ้งบรมสัจจะด้วยนามกาย ย่อมแทงทะลุ เห็นแจ้งบรมสัจจะนั้นด้วยปัญญา. ถ้าไม่มาศรัทธาก็ไม่มีข้ออื่น ๆ มีการเข้าไปหาเป็นต้น. ท่านทั้งหลาย ( หมายถึงภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะที่ประพฤติไม่ดีเหล่านั้น ) ปฏิบัติพลาด ปฏิบัติผิดแล้ว โมฆบุรุษเหล่านี้หลีกห่างไปจากพระธรรมวินัยนี้ ( ไม่รู้ว่า ) ไกลสักเพียงไร.
๖. ตรัสต่อไปว่า มีคำเวยยากรณ์ ( คำร้อยแก้วหรือคำชี้แจง ) อันมีบท ๔ ( อริยสัจจ์ ๔ ) วิญญูบุรุษพึงรู้ได้ไม่นานด้วยปัญญา ซึ่งเนื้อความแห่งธรรมใดที่เรายกขึ้นแสดงแล้ว เราจักแสดงธรรมนั้นแก่ท่าน ท่านทั้งหลายจักรู้ธรรมะนั้นได้. ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลถามว่า พวกตนกับผู้รู้ธรรมเป็นอย่างไรกัน. ตรัสตอบว่า ศาสดาใดหนักในอามิส อยู่อย่างคลุกคลีด้วยอามิส ศาสดานั้นย่อมไม่มีราคาที่จะพึงประเมินหรือต่อรอง ( สำนวนการค้า หมายความว่าไม่มีใครถามราคา ตั้งราคาหรือต่อรองราคา เพราะไม่มีราคาที่ควรสนใจ แล้วตรัสถึงพระตถาคตว่า ไม่ทรงคลุกคลีด้วยอามิสด้วยประการทั้งปวง สาวกผู้มีศรัทธา สอบสวน ๑๐ แล้วปฏิบัติตาม
๑. ย่อมรู้สึกว่า พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดา ตนเป็นสาวก
๒. ย่อมรู้สึกว่า ศาสนาของพระศาสดางอกงามมีโอชะ ( น่าเลื่อมใส )
๓. ย่อมรู้สึกพากเพียรเพื่อบรรลุจุดที่มุ่งหมายโดยไม่หยุดความเพียร
๔. ย่อมหวังผลได้อย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่าง คืออรหัตตผลในปัจจุบัน ถ้ามีกิเลสยังเหลือก็จะใช้ได้เป็นพระอนาคามี .
จบวรรคที่ ๒ ขึ้นวรรคที่ ๓ ชื่อปริพพาชกวรรค มี ๑๐ สูตร
๒๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร
สูตรว่าด้วยวัจฉโคตตปริพพาชก สูตรเล็ก
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ศาลาเรือนยอด ในป่าใหญ่ ใกล้กรุงเวสาลี เสด็จไปบิณฑบาตในเวลาเช้า แวะสนทนากับวัจฉโคตตปริพพาชก ณ อารามของปริพพาชกชื่อเอกปุณฑรีกะ วัจฉโคตตปริพพาชกทูลเชิญให้ประทับ ณ อาสนะ ตนเองถือเอาอาสนะต่ำกว่า แล้วทูลถามว่า มีผู้พูดกันว่า พระสมณโคดมเป็นสัพพัญญู รู้สิ่งทั้งปวง เห็นสิ้งทั้งปวง มีญาณทัสสะปรากฏสมบูรณ์ทุกอิริยาบถดังนี้ จะเป็นการกล่าวตู่หรือไม่. ตรัสตอบว่า ไม่เป็นการกล่าวตู่.
๒. ตรัสต่อไปว่า ผู้กล่าวว่าพระสมณโคดมรู้วิชชา ๓ ก็กล่าวได้ เพราะพระองค์ทรงได้ ๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ( ญาณระลึกชาติได้ ) ๒. จุตูปปาตญาณ ( ญาณเห็นความตายความเกิด หรือที่เรียกว่าทิพย์จักษุ ) ๓. อาสวักขยญาณ ( ญาณอันทำอาสวะให้สิ้น ).
๓. วัจฉโคตตปริพพาชกทูลถามอีกเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้ คือ ๑. คฤหัสถ์ยังไม่ละกิเลสเครื่องร้อยรัดของคฤหัสถ์ ตายไปจะทำที่สุดทุกข์ได้มีหรือไม่ ตรัสตอบว่า ไม่มี ๒. คฤหัสถ์ยังไม่ละกิเลสเครื่องร้อยรัดของคฤหัสถ์ ตายไปจะเข้าถึงสวรรค์มีหรือไม่ ตรัสตอบว่า มี มิใช่หนึ่ง มิใช่ร้อย สองร้อย สามร้อย สี่ร้อย หรือห้าร้อย แต่โดยที่แท้ มีมากกว่านั้น ที่คฤหัสถ์ยังไม่ละกิเลสเครื่องร้อยรัดของคฤหัสถ์ ตายไปเข้าถึงสวรรค์ได้. ๓. อาชีวก ( นักบวชนอกศาสนาประเภทหนึ่ง ) ตายไปจะทำที่สุดทุกข์ได้มีหรือไม่ ตรัสตอบว่า ไม่มี ๔. อาชีวกตายไปจะเข้าถึงสวรรค์มีหรือไม่ ตรัสตอบว่า เท่าที่ทรงระลึกได้ ๙๐ กัปป์ ยังไม่ทรงเห็นอาชีวกเข้าถึงสวรรค์เลย เว้นแต่อาชีวกพวกหนึ่งที่เป็นกัมมวาที ( กล่าวว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ) และกิริยาวาที ( กล่าวว่าทำเป็นอันทำ ) ๑๑
๒๒. อัคคิวัจฉโคตตสูตร
สูตรว่าด้วยวัจฉโคตตปริพพาชกผู้ฟังข้อเปรียบเทียบเรื่องไฟ
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . วัจฉโคตตปริพพาชกเข้าไปเฝ้าทูลถามถึงทิฏฐิ ๑๐ มีโลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง เป็นต้น ว่าทรงเห็นอย่างนั้นหรือไม่ ตรัสตอบปฏิเสธว่า มิได้ทรงเห็นอย่างนั้น, วัจฉโคตตปริพพาชกจึงทูลถามว่า ทรงเห็นโทษอะไรจึงไม่ทรงเข้าไปติดทิฏฐิเหล่านี้ด้วยประการทั้งปวง. ตรัสตอบว่า เป็นเหมือนป่า เหมือนเครื่องผูกมัด เป็นต้น ซึ่งก่อทุกข์ให้ ทั้งไม่เป็นไปเพื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัดเพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน. ตถามคตนำออกซึ่งคำว่า ทิฏฐิ เพราะตถาคตเห็นความเกิดขึ้น ความดับไปของขันธ์ ๕ ( มีรูป เป็นต้น) จึงหลุดพ้นอย่างไม่ถือมั่น เพราะสิ้นความยึดถือ สิ้นความคิดว่าเรา ความคิดของเราและกิเลสประเภทแฝงตัว คือความถือตัว เพราะคลายกำหนัด ดับได้ สละได้ สลัดได้ ( ซึ่งกิเลสเหล่านั้น ).
๒. วัจฉโคตตปรินิพพาชกทูลถามเป็นข้อ ๆ ว่า ๑. ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน. ตรัสตอบว่า ไม่มีคำว่า “ เกิด ” ๒. ถ้าอย่างนั้น “ ไม่เกิด ” ใช่หรือไม่. ตรัสตอบว่า ไม่มีคำว่า “ ไม่เกิด ” . ๓. ถ้าอย่างนั้น “ เกิดด้วย ไม่เกิดด้วย ” ใช่หรือไม่ ตรัสตอบว่า ไม่มีคำว่า “ เกิดด้วย ไม่เกิดด้วย ” ๔. ถ้าอย่างนั้น “ เกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่ ” ใช่หรือไม่. ตรัสตอบปฏิเสธอีก.
๓. เมื่อทูลถามถึงเหตุผลที่ตรัสตอบปฏิเสธ และแสดงความรู้สึกครั้งแรกก็เลื่อมใส แต่บัดนี้หมดความเลื่อมใสเสียแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ธรรมะนี้ลึกซึ่ง ยากที่ท่านผู้มีความเห็นอย่างอื่น มีความพอใจอย่างอื่น มีความเพียรอย่างอื่น มีความเพียรอย่างอื่น มีอาจารย์อื่นจะรู้ได้ เราขอถามให้ท่านตอบ คือ : ๑. ถ้าไฟลุกโพลงอยู่เบื้องหน้าท่าน ท่านรู้หรือไม่. ทูลตอบว่า รู้. ๒. ไฟลุกโพลงขึ้นเพราะอาศัยอะไร. ทูลตอบว่า เพราะอาศัยเชื้อหญ้าและไม้ ๓. ถ้าไฟดับเบื้องหน้าท่าน ท่านรู้หรือไม่. ทูลตอบว่า รู้. ๔. ไฟไปทางทิศไหน ทูลตอบว่า ไม่มีคำตอบ เพราะไฟนั้นลุกโพลงขึ้นเพราะอาศัยเชื้อ เพราะหมดเชื้อและไม่เติมเชื้ออื่นอีก ก็ไม่มี “ อาหาร ” นับได้ว่า “ ดับแล้ว ”. จึงตรัสว่า ตถาคตก็ฉันนั้น ละขันธ์ ๕ ทำไม่ให้มีการเกิดอีกแล้ว ก็พ้นจากการนับว่าเป็นขันธ์ ๕ เป็นผู้ลึกซึ่ง นับไม่ได้ หยั่งไม่ได้ เปรียบเหมือนมหาสมุทรไม่มีคำว่า เกิดหรือไม่เกิดเป็นต้น.
วัจฉโคตตปริพพาชกกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาว่า มีแก่นสาร และแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
๒๓. มหาวัจฉโคตตสูตร
สูตรว่าด้วยวัจฉโคตตปริพพาชก สูตรใหญ่
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ . วัจฉโคตตปริพพาชกเข้าไปเฝ้าขอให้ทรงแสดงกุศลและอกุศลโดยย่อ ซึ่งได้ตรัสแสดงดังนี้:-
(๑) ธรรมอันเป็นอกุศล ๓ คือความโลภ, ความคิดประทุษร้าย, ความหลง.
(๒) ธรรมอันเป็นกุศล ๓ อย่าง คือความไม่โลภ, ความไม่คิดประทุษร้าย, ความไม่หลง.
(๓) ธรรมอันเป็นอกุศล ๑๐ อย่าง คือฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์ , ประพฤติผิดในกาม, พูดปุด , พูดส่อเสียด ( ยุให้เขาแตกร้าวกัน ), พูดคำหยาบ , พูดเพ้อเจ้อ, อยากได้ของเขา, ปองร้ายเขา เห็นผิด ( จากคลองธรรม ).
(๔) ธรรมอันเป็นกุศล ๑๐ อย่าง คือที่ตรงกันข้ามกับอกุศล ๑๐ อย่าง.
ภิกษุละตัณหาได้เด็ดขาด ย่อมเป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวะ หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ.
๒. ปริพพาชกทูลถามว่า ภิกษุสาวกของพระโคดมมีสักรูปหนึ่งหรือไม่ ที่ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน ( เป็นพระอรหันต์ ). ตรัสตอบว่า มีมิใช่น้อย กว่า ๕๐๐ รูป. เมื่อทูลถามถึงนางภิกษุณีผู้เป็นสาวิกา ที่เป็นพระอรหันต์เช่นนั้น ก็ตรัสตอบว่า มีมากกว่า ๕๐๐ เช่นกัน. ต่อจากนั้นทูลถามถึงอุบาสกอุบาสิกาผู้ละสัญโญชน์ ๕ ได้ ( เป็นพระอนาคามี ) และผู้ปราศจากความสงสัย ไม่ต้องอาศัยผู้อื่นเป็นปัจจัยอยู่ในสัตถุศาสนา ( เป็นพระโสดาบัน ) ว่ามีสักผู้หนึ่งหรือไม่. ตรัสตอบว่า มีมากกว่า ๕๐๐ .
๓. ปริพพาชกทูลว่า ถ้าได้บรรลุธรรมนั้นเพียงพระสมณโคดม แต่ยังขาดสาวก สาวิกา ที่เป็น ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้ได้บรรลุธรรมนั้น พรหมจรรย์ก็ยังชื่อว่าไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ( ที่ยังขาด ) แต่นี่บรรลุธรรมนั้นทุกฝ่ายแล้ว พรหมจรรย์จึงชื่อว่าบริบูรณ์ด้วยองค์นั้น แล้วทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต พร้อมทั้งขอบรรพชาอุปสมบท เมื่อทราบว่านักบวชศาสนาอื่นจะต้องอบรมก่อนถึง ๔ เดือน ก็แสดงความพอใจจะอบรมถึง ๔ ปี. ๑๒
๔. เมื่ออุปสมบทแล้วได้กึ่งเดือน ภิกษุวัจฉโคตตก็เข้าไปเฝ้ากราบทูลว่า ท่านได้บรรลุที่พึงบรรลุด้วยญาณ ด้วยวิชชาของพระเสขะหมดสิ้นแล้ว ( เป็นพระอริยบุคคลผ่านมาทุกชั้นแล้ว เพียงแต่ยังมิได้เป็นพระอรหันต์ ) ขอให้ทรงแสดงธรรมให้ยิ่งขึ้นไป จึงทรงแสดงธรรม ๒ อย่าง คือสมถะ ( การทำใจให้สงบ ) และวิปัสสนา ( การเห็นแจ่มแจ้ง ) และตรัสว่า ธรรม ๒ อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อแทงทะลุธาตุเป็นอเนก.
๕. ครั้นแล้วทรงแสดงว่า ภิกษุวัจฉโคตตปรารถนาจะทำอะไร ก็ทำได้ในความสามารถ ทาง ๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธ์ได้ ๒. ทิพยโสต หูทิพย์ ๓. เจโตปริยญาณ ( ญาณกำหนดรู้ใจของผู้อื่น ) ๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ( ญาณระลึกชาติได้ ) ๕. จุตูปปาตญาณ ( ญาณรู้ความตายความเกิด ) หรือทิพย์จักษุ ( ตาทิพย์ ) ๖. อาสวะขยญาณ ( ญาณอันทำอาสวะให้สิ้น ). ภิกษุวัจฉโคตตรกราบลาหลีกไปบำเพ็ญเพียร ในไม่ช้าก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์. เมื่อภิกษุทั้งหลายจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ท่านจึงฝากไปกราบมนัสการ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสสรรเสริญให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า ท่านเป็นผู้มีวิชชา ๓ มีฤทธิ์ มีอานุภาพมาก.
๒๔. ทีฆนขสูตร
สูตรว่าด้วยปริพพาชกชื่อทีฑนขะ
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ถ่ำสูกรขาตา ( ถ้ำสุกรขุด ) เขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์. ปริพพาชก ชื่อทีฆนขะ ( ไว้เล็บยาว ) มาเฝ้า แสดงความเห็นว่า ทุกอย่างไม่ควรแก่ตน ๑๓ ตรัสตอบว่า ถ้าอย่างนั้น ความเห็นนั้น ก็ไม่ควรแก่ท่านด้วย. ทูลต่อไปว่า ตนชอบใจความเห็นที่ว่า สิ่งนั้นเหมือนกันหมด ๑๔ ตรัสตอบว่า คนที่พูดอย่างนี้ ยังไม่ละทิฏฐินั้น ซ้ำยังไปถือทิฏฐิอื่นอีกด้วย มีอยู่มาก แต่คนที่พูดอย่างนี้แล้วละทิฏฐินั้นไม่ถือทิฏฐิอื่น มีน้อยมาก.
๒. ครั้นแล้วตรัสแสดงถึงสมณพราหมณ์บางพวกที่เห็นว่า ทุกสิ่งควรแก่ตนบ้าง ทุกสิ่งไม่ควรแก่ตนบ้าง เห็นว่า บางอย่างควร บางอย่างไม่ควรบ้าง. ฝ่ายที่เห็นว่า ทุกสิ่งควรแก่ตน ใกล้ไปทางยินดี ยึดมั่นยึดถือ. ฝ่ายที่เห็นว่า ทุกสิ่งไม่ควรแก่ตน. ใกล้ไปในทางไม่ยินดี ไม่ยึดมั่น ไม่ยึดถือ . ปรพพาชกจึงกล่าวว่า พระสมณโคดมยกย่องความเห็นของตน. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสต่อไปว่า ฝ่ายที่เห็นว่า บางอย่างควร บางอย่างไม่ควร ก็ใกล้ไปทางยินดีบ้าง ไม่ยินดีบ้าง เป็นต้น. แล้วตรัสต่อไปว่า วิญญูชนย่อมพิจารณาเห็นว่า การยึดถือทิฏฐิเหล่านี้ ย่อมทำให้ทะเลาะวิวาทกัน ทำให้เบียดเบียนกัน จึงละทิฏฐิเหล่านั้น และไม่ยึดถือทิฏฐิอื่น.
๓. ตรัสสอนว่า ควรพิจารณาเห็นกายนี้โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นต้น จนถึงไม่ใช่ตัวตน. เมื่อพิจารณาอย่างนี้ ก็จะละความพอใจในกายเสียได้.
๔. ครั้นแล้วตรัสเรื่องเวทนา ๓ คือ สุข ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข และชี้ให้เห็นความไม่เที่ยง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น เป็นต้น ของเวทนาเหล่านั้น. เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ อริยสาวกย่อมเบื่อหน่ายในเวทนาทั้งสามและเมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด และหลุดพ้น รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว สิ้นชาติ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ฯ ล ฯ . ผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างนี้ ย่อมไม่วิวาทกับใคร ๆ . สิ่งใดที่เขาพูดกันในโลก ก็พูดตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดถือ.
๕. พระสารีบุตรนั่งพัดอยู่เบื้องพระปฤษฏางค์พระผู้มีพระภาค มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ( เป็นพระอรหันต์ ) ส่วนปริพพาชกชื่อทีฆนขะ ได้ดวงตาเห็นธรรม ( เป็นโสดาบันบุคคล ) เมื่อเห็นธรรมแล้ว ปริพพาชกชื่อทีฆนขะกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
________________________________________
๑. พึงสังเกตว่า ในพระสูตนนี้ ทรงใช้คำว่า ปรินิพฺพายติ ( สงบระงับ ) แก่ม้าที่หมดพยศ ทั้ง ๆ ที่คำนี้ใช้ได้ในความหมายสูงถึงปรินิพพาน
๒. ภาษาบาลีใช้คำว่า สรสงฺปฺปา อรรถกถาแก้ว่า ได้แก่วิตก ความตรึก ( ซึ่งคงเป็นพวกอกุศล หรือกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก )
๓. เพื่อไม่ละเมิดสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรคปาจิตติยกัณฑ์ ดูที่พระวินัยเล่ม ๒ ในสิกขาบทที่ ๖ อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์
๔. ได้แก่พระอรหันต์ ๕ ประเภท คือ ๔ ประเภทที่ออกจากอรูปสมาบัติ ๔ แต่ละข้อ แล้วพิจารณาสังขารบรรลุอรหันตผล กับพระอนาคามีที่บรรลุอรหัตตผล จึงรวมเป็น ๕ ประเภท
๕. ได้แก่พระอรหันต์ ๕ ประเภท คือ สุขวิปัสสก๑ ผู้ออกจากฌาน ๔ แล้วได้บรรลุอรหัตตผลอีก ๔ จึงรวมเป็น ๕ ประเภท
๖. ได้แก่ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลจนถึงอรหัตตมรรค รวม ๖ ประเภท
๗. ได้แก่พระอริยบุคคล ๖ ประเภท เช่นเดียวกับกายสักขี
๘. ได้แก่พระอริยบุคคล ๖ ประเภท เช่นเดียวกับกายสักขี
๙. ธัมมานุสารี และสัทธานุสารี ( ข้อ ๖ – ๗ ) ได้แก่พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค
๑๐. คำว่า สอบสวนนี้ แสดงว่าทางพระพุทธศาสนาไม่นิยมให้มีศรัทธาอย่างงมงาย นิยมให้สอบสวนหาความจริงก่อน
๑๑. ข้อนี้ว่าโดยเหตุผลทางสามัญสำนึก ก็พอจะเห็นได้ว่า พวกที่สอนให้คนอื่นไม่สนใจในความดีความชั่ว เพราะถือว่าไม่เป็นอันทำและไม่ให้ผลดีชั่ว ก็เท่ากับชักชวนในทางผิด ทำให้เสียศีลธรรม คนเช่นนี้จะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ได้อย่างไร
๑๒. ในกรณีที่ทรงพิจารณาเห็นเหมาะสมเป็นพิเศษเฉพาะรายก็ทรงยกเว้นให้ไม่ต้องอบรม ทั้งนี้เป็นไปตามจริตอัธยาศัยของบุคคลเป็นราย ๆ ไป
๑๓. เป็นการพูดกระทบว่า แม้พระผู้มีพระภาคก็ไม่ควรแก่เขา
๑๔. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบเอาจำนน ก็เลี่ยงไปทางอื่นว่า อะไร ๆ ก็แค่นั้นแหละ หรือราคาเดียวกัน เพื่อจะชี้ว่า อย่านึกว่าใครสูงต่ำกว่าใคร ปริพพาชกผู้นี้โกรธเคืองว่า พระผู้มีพระภาคจูงเอาพระสารีบุตร ซึ่งเป็นลุงของตนมาบวช
๒๕. มาคัณฑิยสูตร
สูตรว่าด้วยมาคัณฑิยปริพพาชก
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เครื่องลาดทำด้วยหญ้า ในโรงบูชาไฟของพราหมณ์ภารทวาชโคตร ในนิคมแห่งแคว้นกุรุชื่อกัมมาสธัมมะ ตรัสโต้ตอบกับมาคัณฑิยปริพพาชก ผู้กล่าวหาพระผู้มีพระภาคว่า ทรงกำจัดความเจริญ เพราะตรัสสอนให้สำรวมตา หู จมูก กาย ใจ ๑ . ครั้งแรกตรัสถามว่า คนบางคนเคยได้รับบำเรอด้วยรูป, เสียง, กลิ่น , รส, โผฏฐัพพะ ( สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย ) อันน่าปรารถนารักใคร่ชอบใจแล้วภายหลังรู้ความจริงทั้งสองฝ่ายเกิดฝ่ายดับ รู้โทษ รู้ความพอใจ รู้การถอนตัวออก จึงบันเทาความทะยานอยากในรูป ความเร่าร้อนเพราะรูป ปราศจากความระหาย มีจิตสงบระงับในภายในดังนี้ ท่านจะกล่าวถึงผู้นี้ว่าอย่างไร. ทูลตอบว่า ไม่กล่าวว่าอย่างไร.
๒. ตรัสเล่าเรื่องพระองค์เองผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ( รูป เสียง เป็นต้น ) มีปราสาท ๓ หลัง สำหรับฤดูฝน, ฤดูหนาว, ฤดูร้อน พระองค์ได้รับการบำเรอด้วยดนตรีไม่มีบุรุษเจือปน ไม่ต้องลงชั้นล่างของปราสาทตลอด ๔ เดือน ในปราสาทสำหรับฤดูฝน. สมัยอื่นทรงทราบความจริงเกี่ยวกับกามคุณดั่งกล่าวข้างต้น จึงทรงบันเทาความทะยานอยาก เป็นต้น มีจิตสงบระงับภายใน. เมื่อทรงเห็นผู้อื่นยังไม่ปราศจากราคะถูกความทะยานอยากในกามบีบคั้น ถูกความเร่าร้อนเพราะกามเผาไหม้ เสพกามอยู่ ก็ไม่ทรงกระหยิ่มยินดีไปตาม เพราะทรงยินดีด้วยความยินดีอันอื่นจากกามอื่น จากอกุศลธรรม จึงไม่ทรงยินดีต่อสิ่งที่เลวกว่า.
๓. ตรัสเปรียบตามที่มาคัณฑิยปริพพาชกทูลขอรับรองว่าเป็นเช่นนั้น เป็นข้อ ๆ คือ
๑. คนที่เคยเพียบพร้อมด้วยกามคุณในโลกนี้ ภายหลังทำความดีได้ไปเกิดเป็นเทพชั้นดาวดึงส์ เพียบพร้อมด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์ ย่อมไม่เห็นกามสุขของมนุษย์ดีกว่า ที่ตนควรกลับไปหาอีก
๒. คนเป็นโรคเรื้อน ถูกหนอนไชเกาปากแผลด้วยเล็บ ย่างตัวที่หลุมถ่านเพลิง เมื่อรักษาหายแล้ว ย่อมไม่กระหยิ่มยินดีต่อคนเป็นโรคเรื้อนคนอื่นเพื่ออย่างตัวที่หลุมถ่านเพลิงและกินยา
๓. คนเป็นโรคเรื้อน ที่รักษาหายแล้ว ถูกผู้มีกำลังกว่าจับแขนให้เข้าไปหาหลุมถ่านเพลิง จะพยายามเบี่ยงตัวไปทางโน้นทางนี้ เพราะกายย่างตัวมีสัมผัสเป็นทุกข์ มีความเร่าร้อนมาก แต่ที่เคยสำคัญว่าเป็นสุขในกายย่างตัวที่ไฟ ก็เพราะถูกโรคครอบงำ
๔. คนเป็นโรคเรื้อน ยิ่งเกายิ่งย่างตัวปากแผลก็ไม่สอาดยิ่งขึ้น มีกลิ่นเหม็นยิ่งขึ้น เน่ายิ่งขึ้น ความเอร็ดอร่อยพอใจ ย่อมมีเพราะเหตุคือการเกาปากแผล. ความเอร็ดอร่อยพอใจ เพราะอาศัยกามคุณ ๕ ก็ฉันนั้น.
๕. ตรัสถามว่า เคยเห็นพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้เพรียบพร้อมด้วยกามคุณ ไม่ละกามตัญหา แต่มีจิตสงบระงับภายใน ในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตหรือไม่. ทูลตอบว่า ไม่เคยเห็น. ตรัสว่า แม้พระองค์ก็ไม่ทรงเคยเห็นหรือเคยฟังว่ามีเช่นนั้น. จึงตรัสสรูปว่า ต้องรู้ความจริงและกามตัญหาจึงมีจิตสงบ ระงับภายในอยู่ แล้วทรงเปล่งอุทานว่า
ลาภมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง
พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
บรรดาหนทางไปสู่พระนิพพาน
หนทางมีองค์ ๘ เป็นทางอันเกษม.
มาคัณฑิยปริพพาชกกล่าวว่า ตนเคยได้ยินครูบาอาจารย์ปริพพาชกรุ่นก่อน ๆ กล่าวอย่างนี้เหมือนกัน จึงตรัสถามความหมายว่า ความไม่มีโรคกับนิพพานเป็นอย่างไร. มาคัณฑยปริพพาชกเอามือลูบตัวแล้วทูลว่า นี่แหละความไม่มีโรค นี่แหละนิพพาน ข้าพระเจ้าไม่มีโรค มีความสุข อะไร ๆ ก็ไม่เบียดเบียนในบัดนี้.
๕. ตรัสตอบว่า คนตาบอดแต่กำเนิด ไม่เคยเห็นสีต่าง ๆ ไม่เคยเห็นสิ่งราบเรียบและไม่สม่ำเสมอไม่เคยเห็นดวงดาว พระจันทร์ พระอาทิตย์ ได้ยินคนตาดีเขาพูดว่า ผ้าสีขาวดี ก็แสวงหาผ้าขาว แต่ถูกคนบางคนหลอกเอาผ้าสกปรกเปื้อนน้ำมันมาให้ว่า นี่แหละผ้าขาว ก็หลงห่มและชื่นชมว่าผ้าสะอาด มิใช่เพราะรู้เห็น แต่เพราะเชื่อคนตาดีเขาว่า. พวกปริพพาชก ลัทธิอื่นก็ฉันนั้น ไม่รู้จักความไม่มีโรค ไม่เห็นพระนิพพานแต่กล่าวคาถานี้ ที่ว่าลาภมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง. คาถานี้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลก่อนตรัสไว้ แต่ปัจจุบันนี้ กลายเป็นคาถาของบุถุชนไปโดยลำดับ. ท่านกล่าวถึงกายนี้อันเป็นโรค เป็นฝี แล้วชี้ความไม่มีโรคและนิพพานไปที่กายนี้ ก็เพราะท่านไม่มีอริยจักษุ ที่จะรู้จักความไม่มีโรคที่จะเห็นพระนิพพานได้.
๖. มาคัณฑิยปริพพาชกทูลขอให้ทรงแสดงธรรมที่จะเป็นเหตุให้ตนรู้จักความไม่มีโรค เห็นพระนิพพานได้ ก็ทรงแสดงเรื่องความเกิดควาวมดับแห่งกองทุกข์ อันอาจรู้เห็นได้ด้วยตนเองโดยการฟังและปฏิบัติธรรม ซึ่งทำให้มาคัณฑิยปริพพาชากเลื่อมใสสรรเสริญพระธรรมเทศนา ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และขอบรรพชาอุปสมบท เมื่อทราบว่าจะต้องอบรมก่อน ๔ เดือน ก็แสดงความจำนงจะรับการอบรมถึง ๔ ปี และเมื่อได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน บำเพ็ญเพียรก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.
๒๖. สันทกสูตร
สูตรว่าด้วยสันทกปริพพาชก
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี. พระอานนทเถระ พร้อมด้วยภิกษุมากหลายไปสนทนากับสันทกปริพพาชก พร้อมด้วยบริษัท สันทกปริพพาชกนั่งบนอาสนะต่ำกล่า ขอให้พระอานนท์แสดงธรรมตามคติแห่งอาจารย์ของพระอานนท์ . ท่านจึงแสดงเรื่องที่พระผู้มีพระภาคตรัสบอกถึงการไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ๔ อย่าง การประพฤติพรหมจรรย์ที่ไม่น่าพอใจ ๔ อย่าง.
๒. การไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ๔ อย่าง คือ
๑. ศาสดาเป็นนัตถิกวาทะ ผู้มีความเห็นว่า “ ไม่มี ” เช่น ไม่มีผลของกรรมดีกรรมชั่ว
๒. ศาสดาเป็นอกิริยวาทะ ผู้มีความเห็นว่า “ ไม่เป็นอันทำ” เช่น ฆ่าสัตว์ก็ไม่เป็นอันฆ่า
๓. ศาสดาเป็นอเหตุกวาทะ ผู้มีความเห็นว่า “ มีมีเหตุ ” คือบุญบาปไม่มีเหตุปัจจัย
๔. ศาสดาเป็นผู้มีความเห็นในเรื่อง “ สังสารสุทธิ ๒ ” คือไม่ว่าพาลหรือปัณฑิตเมื่อเวียนว่ายตายเกิดแล้ว ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เหมือนกัน. ศาสดาทั้งสี่ประเภทนี้ วิญญูบุรุษพิจารณาแล้ว ย่อมไม่เลื่อมใสประพฤติพรหมจรรย์เพราะเห็นว่าเมื่อบุญไม่มี บาปไม่มี เป็นต้น เราไม่ต้องการบวชประพฤติพรหมจรรย์เพราะเห็นว่าเมื่อบุญไม่มี บาปไม่มี เป็นต้น เราไม่ต้องการบาชประพฤติพรหมจรรย์ ก็จะมีคติเท่าเทียมกับศาสดา.
๓. ส่วนการประพฤติพรหมจรรย์ที่ไม่น่าพอใจ ๔ อย่าง ๑. ศาสดาอ้างว่าตนเองเป็นสัพพัญญู มีญาณทัสสนะสมบูรณ์ แต่ช่วยตัวเองไม่ได้ ๒. ศาสดาเป็นคนถือความจริงตามที่ฟังมา สอนตามที่ฟังมาตามที่สืบต่อมา สอนโดยอ้างตำรา ๓. ศาสดาเป็นนักเดา ๔. ศาสดาเป็นคนโง่ เมื่อถูกถามก็ตอบซัดส่ายไปมา. วิญญูบุรุษพิจารณาแล้ว รู้ความจริงแล้วก็เบื่อหน่ายหลีกไป จัดเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ที่ไม่น่าพอใจ ที่วิญญูบุรุษไม่อยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย และอยู่ประพฤติก็ไม่ได้บรรลุธรรมที่ถูกต้องที่เป็นกุศล.
๔. แล้วพระอานนท์ได้กล่าวถึงการประพฤติพรหมจรรย์ที่ได้ผล คือที่ผู้ออกบวชสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม ได้บรรลุฌาน ๔ วิชชา ๓ เป็นพรหมจรรย์ที่สาวกจะได้บรรลุคุณวิเศษอันโอฬาร ซึ่งวิญญูบุรุษอยู่ประพฤติพรหมจรรย์โดยแท้ และเมื่ออยู่ประพฤติก็ได้บรรลุธรรมที่ถูกต้องที่เป็นกุศล.
๕. สันทกปริพพาชกกล่าวว่า พระอรหันต์ยังบริโภคกาม. พระอานนท์ตอบว่า พระอรนหันต์เป็นผู้ไม่ควรที่จะประพฤติล่วงฐานะ ๕ คือ ไม่จงใจฆ่าสัตว์, ไม่ลักทรัพย์, ไม่เสพเมถุน, ไม่พูดปดทั้ง ๆ รู้และไม่ทำการสะสมบริโภคกาม. ปริพพาชกกล่าวอีกว่า พระอรหันต์มีญาณทัสสนะว่า อาสวะของเราสิ้นแล้วใช่หรือไม่ . พระอานนท์ตอบว่า เหมือนคนมีมือเท้าขาดอยู่โดยปกติ เมื่อพิจารณาก็รู้ว่ามือเท้าของเราขาดฉันใด แม้พระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้วโดยปกติ เมื่อพิจารณาก็รู้ว่าอาสวะของเราสิ้นแล้วฉันนั้น.
๖. ปริพพาชกถามถึงผู้ที่นำตนให้พ้นจากทุกข์ได้ว่า มีเท่าไรในพระธรรมวินัยนี้ พระอานนท์ตอบว่า มีมากกว่า ๕๐๐ ปริพพาชกก็สรรเสริญพระอานนท์ว่า แสดงธรรมไม่ยกธรรมะของตน ไม่ข่มธรรมะของคนอื่นเป็นการแสดงธรรมตามเหตุ ๓ แต่ก็มีผู้นำตนออกจากทุกข์ได้มากถึงเพียงนั้น ส่วนอาชีวกที่บัญญัติกันว่า เป็นผู้นำตนออกจากทุกข์ได้มีเพียง ๓ คน คือ นันทะ วัจฉโคตร กิสะ สังกิจจโคตร และ มักขลิ โคสาละ. แล้วกล่าวกะบริษัทของตน อนุญาตให้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมได้ ส่วนตนเองยากที่จะสละลาภสักการะชื่อเสียงไปได้โดยง่าย. เมื่อกล่าวแล้วก็ส่งบริษัทของตนไปประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค.
๒๗. มหาสกุลุทายิสูตร
สูตรว่าด้วยสกุลุทายิปริพพาชก สูตรใหญ่
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นปริพพาชกที่มีชื่อเสียง อาศัยอยู่ในปริพพาชการาม อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง หลายคนด้วยกัน เช่น อันนภารปริพพาชก วรตรปริพพาชก สกุลุทายิปริพพาชก และปริพพาชกที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ . ในเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้เสด็จแวะ ณ อารามของปริพพาชกนั้น สกุลุทายิปริพพาชกทูลเชิญให้ประทับ ณ อาสนะที่ปูไว้ ตนเองนั่งบนอาสนะที่ต่ำกว่า แล้วเล่าถวายถึงข้อความสนทนากับสมณพราหมณ์ลัทธิต่าง ๆ ซึ่งประชุมกันในศาลาฟังความคิดเห็น ( ตามศัพท์ กุตูหลศาลา แปลว่า ศาลาตื่นข่าว แต่อรรถกถาแสดงไปในรูปว่า คนส่วนใหญ่ประชุมกันเพื่อจะฟังว่า ใครจะพูดอะไร ) ในวันก่อน ๆ ที่ว่า เป็นลาภของชาวอังคะ , มคธะ ที่มีสมณพราหมณ์เจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีคนรู้จัก มียศ เป็นเจ้าลัทธิ อันคนส่วนมากนับถือกันว่าเป็นผู้ดีงาม จำพรรษาอยู่ในกรุงราชคฤห์. แล้วระบุชื่อครูทั้งหกมีปูรณกัสสป เป็นต้น มีนิครนถนาฏบุตรเป็นที่สุดและพระสมณโคดม แล้วได้เกิดปัญหาว่า ในท่านเหล่านี้ ใครเป็นผู้ที่สาวกสักการะเคารพบูชาอาศัยอยู่.
๒. แล้วได้ทูลเล่าต่อไปว่า บางคนได้พูดถึงเจ้าลัทธิทั้งหกแต่ละคนว่า สาวกได้คัดค้านหาว่าปฏิบัติผิด ไม่แสดงความเคารพสักการะ แต่เมื่อกล่าวถึงพระสมณโคดมก็พากันสรรเสริญว่า ในขณะที่ทรงแสดงธรรมถ้าสาวกรูปใดไอ ก็จะมีเพื่อนพรหมจารีใช่เข่ากระตุ้นไม่ให้ทำเสียง จึงไม่มีเสียงจามเสียงไอจากสาวกของพระสมณโคดมในขณะที่ทรงแสดงธรรม. หมู่มหาชนประสงค์จะฟัง ก็จะได้ฟังตามพอใจ. แม้สาวกของพระสมณะโคดมที่บอกคืนสิกขาสึกออกไป ก็กล่าวสรรเสริญศาสดา สรรเสริญพระธรรม สรรเสริญพระสงฆ์ เป็นคนทำงานวัดบ้าง เป็นอุบาสกบ้าง สมาทานศึกษาในสิกขาบท ๕ ( ศีล ๕) พระสมณโคดมจึงเป็นผู้อันสาวกสักการะเคารพนับถือบูชา อาศัยอยู่อย่างนี้.
๓. ตรัสถามว่า ท่านเห็นสาวกของเราเห็นธรรมกี่อย่างในเราจึงสักการะเคารพ เป็นต้น. สกุลุทายิปริพากทูลว่า ๕ อย่าง คือพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ ๑. มีอาหารน้อย พรรณนาคุณแห่งความเป็นผู้มีอาหารน้อย ๒. ถึง ๔ ( รวม ๓ ข้อ ) สันโดษด้วยจีวร ( เครื่องนุ่งห่ม), บิณฑบาต ( อาหาร ) และเสนาสนะ ( ที่นอนที่นั่งหรือที่อยู่อาศัย ) ตามมีตามได้ พรรณนาคุณแห่งความ+สันโดษนั้น ๆ ๕. เป็นผู้สงัด พรรณนาคุณแห่งความสงัด.
๔. ตรัสตอบชี้แจงพึงธรรม ๕ ประการที่สาวกเห็นแล้วสักการะเคารพ เป็นต้น ในพระองค์โดยละเอียดแล้วตรัสชี้ข้อธรรมอื่นอีก ๕ ข้อ คือ ๑. เห็นว่าทรงศีล ๒. เห็นว่าทรงแสดงธรรม เพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่เพื่อไม่รู้ยิ่ง; มีเหตุ; มิใช่ไม่มีเหตุ; มีปาฏิหารย์ มิใช่ไม่มีปาฏิหารย์ ๓ . เห็นว่าทรงปัญญา ๔. เห็นว่าทรงตอบปัญหาเรื่องอริยสัจจ์ ๔ อย่างน่าพอใจ ๕. เราได้บอกปาฏิปทาแก่สาวกของเรา สาวกของเราปฏิบัติตามแล้ว ก็เจริญสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ อย่าง, สัมมัปปธาน ( ความเพียรชอบ ) ๔ อย่าง , อิทธิบาท ( ธรรมะให้บรรลุความสำเร็จ ) ๔ อย่าง, อินทรีย์ ( ธรรมะอันเป็นใหญ่มีศรัทธา เป็นต้น ) ๕ อย่าง, พละ ( ธรรมะอันเป็นกำลัง ) ๕ อย่าง , โพชฌงค์ ( องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ ) ๗ อย่าง, อริยมรรค ( ทางอันประเสริฐ ) มีองค์ ๘ , วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น ) ๘ อย่าง, ๔ อภิภายตนะ ( อายตนะอันเป็นใหญ่ ) ๘ อย่าง ( มีความสำคัญในรูปภายในเห็นรูปภายนอกครอบงำรูปเหล่านั้น รู้เห็น เป็นต้น ), กสิณายตนะ ( อายตนะคือกสิณ ๕ ) ๑๐ อย่าง ( มีปฐวีกสิณคือกสิณมีดินเป็นอารมณ์ เป็นต้น ) , ฌาน ๔ ( มีฌานที่ ๑ เป็นต้น ), รู้ว่ากายมีรูปไม่เที่ยง มีความแตกดับไปเป็นธรรมดา วิญญาณอาศัยเนื่องกับกายนั้น, นิรมิตกายอื่นได้ ( มโนยิทธิ – ฤทธิ์ทางใจ ), แสดงฤทธิ์ได้ , มีหูทิพย์, รู้ใจคนอื่น ( เจโตปริยญาณ), ระลึกชาติได้ , มีตาทิพย์ หรือเห็นความตายความเกิด, ได้บรรลุความหลุดพ้นเพราะสมาธิและเพราะปัญญา อันไม่มีอาสวะ ( ข้อที่ ๔ นี้ยาวมากเพราะปรารภธรรมะที่สาวกเจริญและได้บรรลุหลายอย่าง).
สกุลุทายิปริพพาชกก็ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค.
๒๘. สมณมุณฑิกสูตร
สูตรว่าด้วยปริพพาชกผู้เป็นบุตรแห่งนางสมณะผู้โกนผม
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ปริพพาชกชื่ออุคคาหมานะ (ผู้เรียนเก่ง เป็นชื่อฉายาชื่อปกติว่า สุมนะ) ผู้เป็นบุตรแห่งนางสมณะผู้โกนผม อาศัยอยู่ในมัลลิการาม พร้อมด้วยบริษัทปริพพาชกประมาณ ๕๐๐ . ช่างไม้ชื่อปัญจังคะไปยังมัลลิการามสนทนาปราศัยกัน. อุคคาหมานปริพพาชกกล่าวว่า ตนบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ อย่างว่าเป็นสมณะ สมบูรณ์ด้วยกุศล มีกุศลยอดเยี่ยม บรรลุความเป็นเลิศ ไม่มีใครรบชนะได้ คือ ๑. ไม่ทำกรรมชั่วทางกาย ๒. ไม่ทำกรรมชั่วทางวาจา ๓. ไม่ทำกรรมชั่วทางใจ ๔. ไม่ประกอบอาชีพชั่ว. ช่างไม้ชื่อปัญจังคะได้ฟังก็นำมาเล่าถวายให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบทุกประการ.
๒. ตรัสตอบว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เด็กเล็ก ๆ ที่ยังนอนหงาย ( ในเบาะ) ก็จะเป็นสมณะ สมบูรณ์ด้วยกุศล เป็นต้น ตามคำของปริพพาชกนั้น. เพราะเก็กนั้นทำความชั่ว ๔ อย่างนั้นไม่ได้ นอกจากดิ้นรน ( ทางกาย), ร้องไห้ ( ทางวาจา) , แสดงอาการชอบหรือไม่ชอบ ๖ ) ( ทางใจ) และนอกจากดื่มนมมารดา ( ทางอาชีพ). จึงเป็นอันยังไม่ทรงรับรองถ้อยคำของปริพพาชกผู้นั้น.
๓. ตรัสแสดงธรรมะ ๑๐ ประการที่ทำให้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยกุศล เป็นต้น คือ ๑. ควรรู้ศีลอันเป็นอกุศล พร้อมทั้งรู้สมุฏฐาน, ความรู้ความดับ, ความรู้ว่าปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อดับศีลอันเป็นอกุศล ๒. ควรรู้ศีลอันเป็นกุศล, ควรรู้สมุฏฐาน, ควรรู้ความดับ, ควรรู้ว่าปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อศีลอันเป็นกุศล ๓. ควรรู้ความดำริทั้งฝ่ายอกุศลและฝ่ายกุศลเช่นเดียวกับศีล ครั้นแล้วแจกรายละเอียดออกไปว่า จิตเป็นสมุฏฐานของศีล , สัญญา ( ความจำ ) เป็นสมุฏฐานของความดำริ. ความดับแห่งศีลที่เป็นอกุศล คือเว้นทุจจริตทางกาย วาจา ใจ เว้นอาชีพที่ผิด สำเร็จชีวิตด้วยอาชีพที่ชอบ, ความดับแห่งศีลที่เป็นกุศล คือรู้เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติตามเป็นจริง , ความดับแห่งความดำริอันเป็นอกุศล คือเข้าฌานที่ ๑. ความดับแห่งความดำริอันเป็นกุศล คือเข้าฌานที่ ๒. ปฏิบัติเพื่อคววามดับศีลอันเป็นอกุศลและกุศลก็คือ ตั้งความเพียรชอบ ดูรายละเอียดที่( สัมมัปปธาน) ที่พระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๒ ในข้อเสด็จป่ามหาวันประชุมภิกษุสงฆ์ ๔ ประการ, ปฏิบัติเพื่อดับความดำริอันเป็นอกุศลและกุศลก็คือ ตั้งความเพียรชอบ ๔ ประการเช่นเดียวกัน.
๔. ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมะ ๑๐ ประการที่ทรงบัญญัติว่า สมบูรณ์ด้วยกุศล เป็นต้น จนถึงอันใครรบชนะไม่ได้ คือภิกษุประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ และสัมมาญาณะ ( ฌาณเห็นชอบ) และสัมมาวิมุติ ( ความหลุดพ้นชอบ) อันเป็นของพระอเสขะ ( พระอรหันต์).
๒๙. จูฬสกุลุทายิสูตร
สูตรว่าด้วยสกุลุทายิปริพพาชก สูตรเล็ก
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์. เช้าวันหนึ่งเสด็จไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้เสด็จแวะ ณ อารามของปริพพาชก อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ตรัสสนทนากับสกุลุทายิปริพพาชก ถึงเรื่องผู้ปฏิบัติตนว่าเป็นสัพพัญญู ( รู้สิ่งทั้งปวง ) แต่เมื่อถูกถามเข้า ก็ตอบเลี่ยงไปมาและแสดงความโกรธให้ปรากฏ ตลอดจนเรื่องคุณพิเศษมีการระลึกชาติได้ เป็นต้น กับเรื่องวรรณอันยอดเยี่ยม จนถึงเรื่องข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุโลกที่มีความโลกที่มีความสุขโดยส่วนเดียว ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสแสดงข้อปฏิบัติตั้งแต่ต่ำจนถึงสูงคืออาสวักขยญาณ ( ญาณอันทำอาสวะให้สิ้น ).
เมื่อจบพระธรรมเทศนา สกุลุทายิปริพพาชกทูลสรรเสริญ แสดงตนเป็นผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต และขอบรรพชาอุปสมบท แต่บริษัท ( ศิษยานุศิษย์ ) ขอร้องไว้มิให้ออกบวช ด้วยให้เหตุผลว่าเคยอยู่อย่างเป็นอาจารย์ อย่าไปอยู่อย่างเป็นศิษย์เลย. จึงมิได้ออกบวช.
๓๐. เวขณสสูตร
สูตรว่าด้วยปริพพาชกชื่อเวณสะ
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ปริพพาชกชื่อเวขณสะเข้าไปเฝ้า ทูลเรื่อง “ วรรณะอันยอดเยี่ยม ” แต่ชี้ไม่ได้ชัดลงไปว่า วรรณะไหน ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสชี้แจงให้เห็นว่ามีสิ่งที่เลิศกว่ากันเป็นชั้น ๆ รวมทั้งกามสุข สุขในกาม สุขที่เลิศกว่าสุขในกาม.
เมื่อจบธรรมเทศนา เวขณสปริพพาชกทูลสรรเสริญ แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
จบวรรคที่ ๓ ขึ้นวรรคที่ ๔ ชื่อราชวรรค
คือวรรคว่าด้วยพระราชา มี ๑๐ สูตร
๓๑. ฆฏิการสูตร
สูตรว่าด้วยช่างหม้อชื่อฆฏิการะ
๑ . พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะจากทางทรงทำพระอาการยิ้มแย้มให้ปรากฏ พระอานนท์กราบทูลถามถึงเหตุที่ทรงยิ้ม จึงตรัสเล่าว่า ในที่นี้ เคยมีนิคมชื่อเวภฬิคะ มั่งคั่งรุ่งเรือง มีคนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอาศัยนิคมนี้อยู่อารามของพระองค์ตั้งอยู่ ณ ที่นี้ พระองค์ประทับนั่งสั่งสอนภิกษุสงฆ์ในอารามนี้. มีช่างหม้อชื่อฆฏิการะเป็นอุปฐาก ( ผู้รับใช้ ) ที่เลิศ ของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า. ช่างหม้อมีมาณพชื่อโชติปาละเป็นสหายรัก.
๒. ช่างหม้อชื่อฆฏิการะชวนโชติปาลมาณพไปเฝ้าพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้ง มาณพก็ตอบปฏิเสธว่า จะมีประโยชน์อะไรที่เห็นสมณะศรีษะโล้นผู้นั้น. จึงเปรียนเป็นชวนให้เอาเชือก ๗ ( คลุกผงสำหรับถูตัว ) ไปสู่แม่น้ำ เพื่อสนานกาย. โชติปาลมาณพก็รับคำ. เมื่อเห็นมาณพไปสนทนานกายแล้ว ช่างหม้อชื่อฆฏิการะก็ชวนไปเฝ้าพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าอีก อ้างว่าอารามอยู่ไม่ไกล . โชติปาลมาณพก็คัดค้านเช่นเดิมถึง ๓ ครั้ง. ช่างหม้อจึงจับเข็มขัดของมาณพแล้วชวนอีก มาณพก็คัดค้านอีก คราวนี้ช่างหม้อจับผลชวนอีก โชติปาลมาณพนึกแปลกใจว่า ตนสนานศรีษะแล้ว ช่างหม้อซึ่งเป็นคนต่างชาติกัน ( ต่างวรรณะ มีวรรณะต่ำกว่า ) กลับมาจับผม คงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย จึงบอกให้ปล่อยผมแล้วชวนกันไปฟังธรรม เมื่อฟังธรรมแล้วโชติปาลมาณพออกบวช ส่วนช่างหม้อจำเป็นต้องเลี้ยงมารดาผู้เสียจักษุ และเป็นคนชรา จึงมิได้ออกบวช.
๓. ต่อมาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับ ณ ป่าอิสิปตนะ แขวงกรุงพาราณสี พระราชาแห่งแคว้นกาสีพระนามว่า กิกิ เสด็จไปเฝ้า สดับพระธรรมเทศนา มีความเลื่อมใสทูลเชิญเสด็จเสวย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ในวันรุ่งขึ้น และได้อาราธนาให้ทรงจำพรรษา ตรัสปฏิเสธ อ้างว่าทรงรับอาราธนาไว้ก่อนแล้ว. เมื่อพระราชาทูลถามว่า มีใครจะเป็นอุปฐากยิ่งกว่าพระองค์หรือ จึงตรัสพรรณนาคุณของช่างหม้อชื่อฆฏิการะซึ่งมีคุณธรรมและมีความใกล้ชิดคุ้นเคย พระเจ้ากิกิมีความเลื่อมใส จึงตรัสให้ส่งข้าวสารแห่งข้าวสาลีซึ่งเกิดในดินเหลือง ๕๐๐ หาบ ๘ หร้อมทั้งกับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสารนั้นไปพระราชทาน แต่ช่างหม้อไม่รับ สั่งให้ถวายคืน. ตรัสสรุปแก่พระอานนท์ว่า พระองค์เองเป็นโชติปาลมาณพในสมัยนั้น.
(หมายเหตุ: การที่ช่างหม้อฆฏิการะไม่รับข้าวสาลีและกับอันมากมายนั้น เห็นว่าทำได้โดยไม่ผิดเพราะช่างหม้อเป็นชาวโกศล พระราชาเป็นชาวกาสี ไม่ได้อยู่ในปกครองหรือเป็นผู้ปกครองกัน ถ้าอยู่แคว้นเดียวกันคงจะถือเป็นความผิดได้).
๓๒. รัฏฐปาลสูตร
สูตรว่าด้วยกุลบุตรชื่อรัฏฐปาละ
๑ . พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นกุรุ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ นิคมแห่งแคว้นกุรุ ชื่อว่าถุลลโกฏฐิตะ. รัฏฐปาละบุตรแห่งสกุลผู้หนึ่งมีแห่งนิคมนั้น สดับพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาค มีความเลื่อมใสขอบรรพชาอุปสมบท พระผู้มีพระภาคตรัสให้ไปขออนุญาตมารดาบิดาก่อนเมื่อไปขออนุญาต มารดาบิดาปฏิเสธ จึงลงนอนกับพื้น อดอาหารถึง ๗ มารดาบิดาจึงอนุญาตในที่สุดเมื่อบวชแล้ว ติดตามพระศาสดาไปยังกรุงสาวัตถี ท่านบำเพ็ญเพียรได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.
๒. ต่อมาท่านได้ลาพระผู้มีพระภาคไปเยี่ยมมารดาบิดา เมื่อไปถึงบ้านก็ถูกขับไล่ ไม่ได้อาหารถูกด่าเพราะไม่มีผู้จำได้ ภายหลังนางทาสีจำได้ จึงเล่าความแก่มารดาของพระรัฏฐปาละ มารดาจึงปล่อยให้นางทางสีพ้นจากความเป็นทาส และบอกแก่บิดา บิดาออกตามพบแล้วนิมนต์ไปฉันที่บ้านในวันรุ่งขึ้น. เมื่อท่านไปฉันก็เอาทรัพย์มาล่อ ท่านก็ไม่แสดงความยินดี. ภริยาของท่านถามว่า ท่านประพฤติพรหมจรรย์เพื่อนางอัปสรที่ ( สวยงาม ) เช่นไร ท่านตอบว่า มิได้ประพฤติพรมจรรย์เพื่อนางอัปสร. เมื่อฉันเสร็จแล้วได้กล่าวธรรมภาษิต แล้วไปพักอยู่ ณ ราชอุทยานชื่อมิคาจีระ ของพระเจ้าโกรัพยะ.
๓. ณ พระราชอุทยานนั้น ท่านได้แสดงธรรมแด่พระเจ้าโกรัพยะผู้ตรัสว่า บางคนออกบวชเพราะประกอบด้วยความเสื่อม อันเนื่องมาจากความแก่ , ความเจ็บไข้, ความเสื่อมจากทรัพย์ และความเสื่อมจากญาติ ( รวม ๔ ประการ ) ท่านออกบวชเพราะอะไร พระรัฏฐปาละจึงแสดงธัมมุทเทส ( ข้อธรรม ) ๔ ประการ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ คือ ๑. โลกอันความแก่นำเข้าไปใกล้ ไม่ยั่งยืน ๒. โลกไม่มีเครื่องต้านทานไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน ๓. โลกไม่มีเจ้าของ จำละสิ่งทั้งปวงไป ๔. โลกพร่อง ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัญหา. เมื่อพระเจ้าโกรัพยะตรัสถามถึงความหมาย ก็อธิบายโดยละเอียด ซึ่งพระเจ้าโกรัพยะก็ทรงเลื่อมใส.
๓๓. มฆเทวสูตร
สูตรว่าด้วยพระเจ้ามฆเทพ
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามะม่วงของพระเจ้ามฆเทพ ใกล้กรุงมิถิลา ทรงทำพระอาการยิ้มแย้มให้ปรากฏ เมื่อพระอานนท์กราบทูลถามถึงเหตุที่ทรงยิ้ม จึงตรัสเล่าว่า กรุงมิถิลานี้เคยมีพระราชาพระนามว่ามฆเทพ เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ทรงประพฤติธรรมในพราหมณคฤหบดี ชาวนิคมชนบททั้งหลายทรงอยู่จำอุโบสถในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ ตรัสสั่งช่างกัลบกว่า ถ้าเห็นเส้นพระเกสาหงอกเมื่อไรให้บอก เมื่อล่วงกาลมานาน ช่างกัลบกเห็นพระเกสาหงอกก็กราบทูลให้ทรงทราบ ตรัสให้เอาแหนบถอนให้ถอดพระเนตร ครั้นแล้วพระเจ้ามฆเทพจึงตรัสเรียกเชฏฐโอรส ( ลูกชายคนโต ) มา ทรงมอบราชสมบัติให้แล้ว ตรัสสั่งให้ปฏิบัติทำนองเดียวกับพระองค์ ( คือเมื่อเส้นพระเกสาหงอกให้ออกผนวช ) ให้รักษากัลยาณวัตรอันนี้ อย่าเป็นคนสุดท้าย ที่ทำให้กัลยาณวัตรนี้ขาดสูญ แล้วจึงออกบวช.
๒. ทรงแผ่เมตตาจิต กรุณาจิต มุทิตาจิต และอุเบกขาจิตไปทั้งหกทิศ สู่โลกทั้งปวง เจริญพรหมวิหาร ๔ ดังกล่าวมานี้ เมื่อสวรรคตก็เข้าถึงพรหมโลก. พระโอรสของพระเจ้ามฆเทพ พระราชนัดดาของพระเจ้ามฆเทพ ก็ทรงประพฤติสืบต่อกันมาโดยนัยนี้ สืบมาจนถึงพระเจ้านิมิ ซึ่งเป็นพระธัมมิกราชา องค์สุดท้าย เมื่อมาถึงพระราชบุตรของพระเจ้านิมิ ผู้ทรงพระนามว่า พระเจ้าฬารชนกะ ก็ทรงตัดกัลยาณวัตรนั้น ไม่เสด็จออกผนวช จึงนับเป็นพระองค์สุดท้ายแห่งกษัตริย์เหล่านั้น, ตรัสสรุปว่า วัตรนั้นเพียงให้ถึงพรหมโลก แต่กัลยาณวัตรที่ทรงตั้งไว้ในปัจจุบันนี้ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ทำให้ตรัสรู้ และให้ได้นิพพาน. ในที่สุดตรัสเตือนให้รักษากัลยณวัตรของพระองค์ อย่างเป็นคนสุดท้าย.
๓๔. มธุรสูตร
สูตรว่าด้วยพระเจ้ามธุรราช อวันตีบุตร
๑ . พระมหากัจจานะอยู่ในป่าไม้คุนธา ๙ พระเจ้ามธุรราช อวันตีบุตรเข้าไปหา ตรัสถามถึงเรื่องที่พวกพราหมณ์ถือว่า วรรณะพราหมณ์ประเสริฐสุด วรรณะอื่นเลว วรรณะพราหมณ์ขาว วรรณะอื่นดำ วรรณะพราหมณ์บริสุทธิ์ วรรณะอื่นไม่บริสุทธิ์ วรรณะพราหมณ์เป็นบุตรของพรหม เกิดจากปากพรหม อันพระพรหมสร้างสรรค์ เป็นพรหมทายาท. พระเถระตอบว่า เป็นเพียงคำอวดอ้าง ( โฆโสเยว) เท่านั้น แล้วได้อธิบายว่า วรรณะใดมั่งมี วรรณะอื่นก็ย่อมเป็นคนรับใช้ ซึ่งทำให้พระเจ้ามธุรราชยอมรับว่าวรรณะทั้งสี่เสมอกัน.
๒. พระเถระอธิบายต่อไปว่า วรรณะใดประพฤติชั่ว ( ทางกาย, วาจา , ใจ ) วรรณะนั้นเมื่อตายไปก็เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินบาต นรก เสมอกัน. วรรณะใดเว้นจากประพฤติชั่ว ( ทางกาย , วาจา , ใจ ) วรรณะนั้นเมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกัน. วรรณะใดประพฤติผิด เช่น ตัดช่อง ปล้นสะดม ล่วงเกินภริยาผู้อื่น วรรณะนั้นก็ต้องถูกลงโทษเสมอกัน. วรรณะใดออกบวช ก็มีผู้อภิวาทต้อนรับ นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะนิมนต์ให้รับปัจจัย ๔ หรือได้รับความคุ้มครองอันเป็นธรรมเสมอกัน.
๓. พระเจ้ามธุรราชตรัสสรรเสริญพระธรรมเทศนา ถามถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าประทับ ณ ที่ไหน เมื่อทรงทราบว่าปรินิพพานแล้ว จึงตรัสว่า ถ้าทรงทราบว่ายังทรงพระชนม์อยู่ก็จะเสด็จไปเฝ้า แม้ไกลถึง ๑๐๐ โยชน์ แต่เพราะปรินิพพานแล้ว จึงได้แต่ประกาศพระองค์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดพระชนมชีพ.
๓๕. โพธิราชกุมารสูตร
สูตรว่าด้วยโพธิราชกุมาร
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในป่าเนื้อชื่อเภสกฬา ใกล้เมืองสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ . โพธิราชกุมารให้สร้างปราสาทชื่อโกกนุท เสร็จใหม่ ๆ ยังไม่ได้ใช้ จึงตรัสให้มาณพสัญชิกาบุตรให้ไปนิมนต์พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉัน รุ่งขึ้นเมื่อเสด็จไป โพธิราชกุมารกราบทูลขอให้ทรงเหยียบผ้า ( ขาว ) ที่ปู แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงดุษณีถึง ๓ ครั้ง. พระอานนท์จึงขอให้ทรงนำผ้าออกเสีย ๑๐ พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จเข้าไปประทับนั่งเหนืออาสนะ.
๒. เมื่อพระผู้มีพระภาคฉันเสร็จแล้ว โพธิราชกุมารจึงกราบทูลว่า ตนมีความเห็นว่า ความสุขจะพึงบรรลุได้ด้วยความสุขไม่ได้ พึงบรรลุได้ด้วยความทุกข์ ( ต้องแสวงหาด้วยความทุกข์จึงได้ความสุข ) พระผู้มีพระภาคจึงเล่าถึงการที่ทรงแสวงหา “ สันติวรบท” ( ทางอันประเสริฐไปสู่สันติ ) ด้วยวิธีทรมานพระกายต่าง ๆ ก็มิได้ตรัสรู้ ต่อเมื่อทรงบพเพ็ญเพียรทางจิตใจ จึงตรัสรู้ได้. ( ความละเอียดเหมือนมหาสัจจกสูตร ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๔ หน้า ๔ (หัวข้อ ๓๖ . มหาสัจจกสูตร) ข้อที่ ๘ ถึงข้อ ๑๑ แล้วตรัสเล่าถึงการแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ( ภิกษุ ๕ รูป จนกระทั้งภิกษุเหล่านั้นได้ทำให้แจ้งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ( เป็นพระอรหันต์ ).
๓. โพธิราชกุมารกราบทูลถามว่า ภิกษุได้พระตถาคตเป็นผู้แนะนำ จะต้องกินเวลานานสักเท่าไรจึงทำให้แจ้งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ได้. ตรัสย้อนถามโพธิราชกุมารซึ่งเป็นผู้ชำนาญในการขึ้นขี่ช้าง จับขอ เมื่อมีผู้มาศึกษาศิลปะนี้ ถ้าไม่ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ ข้อ จะศึกษาสำเร็จได้หรือไม่ . กราบทูลว่า ขาดคุณสมบัติเพียงข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่สำเร็จ จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง ๕ ข้อ ในทางตรงกันข้าม ถ้าประกอบด้วยคุณสมบัติเพียงข้อใดข้อหนึ่งก็สำเร็จ จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง ๕ ข้อ.
๔. จึงตรัสอธิบายถึงคุณสมบัติ ๕ ข้อ คือ ๑. ศรัทธา ๒. มีโรคน้อย ๓. ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ๔ . มีความเพียรไม่ทอดธุระ ๕. มีปัญญา ( การขาดคุณสมบัติพึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม คุณสมบัติทั้งห้าข้อนี้ ใช้ได้แม้ในการฝึกศิลปะขึ้นช้างและจับขอ ใช้ได้ทั้งในการประพฤติพรหมจรรย์ อนึ่ง คุณสมบัติ ๕ ประการนี้ ตรัสเรียกว่า ปธานิยังคะ องค์อันเป็นประธาน ๕ อย่าง .) แล้วตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์อันเป็นประธาน ๕ ประการนี้ จะพึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ได้ ภายใน ๗ ปี ๖ ปี ๕ ปี ลงมาจนถึงสั่งสอนในเวลาเย็น ได้บรรลุคุณพิเศษในเวลาเช้า สั่งสอนในเวลาเช้า ได้บรรลุคุณพิเศษในเวลาเย็น . โพธิราชกุมารก็ประกาศความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม.
๕. มาณพสัญชิกาบุตรทูลโพธิราชกุมารตรัสว่า ท่านประกาศคุณพระพุทธ พระธรรม ถึงอย่างนี้ ยังไม่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะอีก. โพธิราชกุมารตรัสว่า ท่านอย่ากล่าวอย่างนั้น ข้าพเจ้าจำได้ฟังมาจากยายว่า ยายเคยประกาศตั้งแต่ข้าพเจ้ายังอยู่ในท้องว่า ไม่ว่าเป็นหญิงหรือเป็นชายก็จะเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต. แม่นมของข้าพเจ้าก็เคยเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ประกาศว่า โพธิราชกุมาร เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต . ข้าพเจ้าขอประกาศเป็นครั้งที่ ๓ ว่าเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
๓๖. อังคุลีมาลสูตร
สูตรว่าด้วยพระองคุลิมาล
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. สมัยนั้นมีโจรชื่อองคุลิมาลในแว่นแคว้นโกศล เที่ยวฆ่ามนุษย์เอานิ้วมือมาร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องร่าง. เช้าวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีครั้นเสวยเสร็จ กลับจากบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีครั้นเสวยเสร็จ กลับจากบิณฑบาตก็เสด็จเดินทางไกลไปยังที่ที่องคุลิมาลอยู่ มีคนเลี้ยงโค เลี้ยงแกะ และชาวนาวิ่งมาห้ามมิให้เสด็จไป อ้างว่าโจรองคุลิมาลอยู่ทางนั้น ก็คงเสด็จต่อไปโดยดุษณีภาพ โจรองคุลิมาลเห็นเข้าจับอาวุธไล่ตามไปจนสุดกำลัง ก็ไม่สามารถตามทันได้ จึงกล่าวว่า “ หยุดก่อนสมณะ!” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ เราหยุดแล้ว ท่านจงหยุดสิ องคุลิมาล!” องคุลิมาลทูลถามว่า “ ทรงดำเนินไป เหตุไฉนจึงตรัสว่า หยุดแล้ว.” ตรัสตอบว่า “ เราวางอาชญาในสัตว์ทั้งหลายจึงชื่อว่าหยุด ส่วนท่านไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลายจึงชื่อว่าไม่หยุด” องคุลิมาลได้คิด ก็เลื่อมใส กราบทูลขอบวช ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคกลับไปกรุงสาวัตถีและพักอยู่ในที่นั้น ( เชตวนาราม)
๒. พระเจ้าปเสนทิเตรียมยกทัพออกปราบโจรองคุลิมาล เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยไพร่พล เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถาม ก็กราบทูลว่า จะไปปราบโจรองคุลิมาล. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ถ้าพบโจรองคุลิมาลบวชแล้วตั้งอยู่ในคุณธรรมจะทรงทำอย่างไร พระเจ้าปเสนธิกราบทูลว่า จะอภิวาทต้อนรับ ถวายปัจจัย ๔ และถวายความคุ้มครองอันเป็นธรรม. พระผู้มีพระภาคจึงชี้ให้ทรงรู้จักภิกษุองคุลิมาลซึ่งนั่งอยู่ในที่เฝ้าด้วย ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระเจ้าปเสนทิทรงตกพระทัยกลัว จึงตรัสปลอบไม่ให้กลัว พระเจ้าปเสนทิก็ตรัสปราศัยกับพระองคุลิมาลเป็นอันดี และตรัสปวารณาที่จะถวายปัจจัย ๔ แต่พระองคุลิมาลทูลว่า มีไตรจีวรบริบูรณ์แล้ว พระเจ้าปเสนทิจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กราบทูลสรรเสริญว่า พระองค์ไม่สามารถปราบองคุลิมาลได้แม้ด้วยท้อนไม้และศัสตรา แต่พระผู้มีพระภาคทรงปราบได้ โดยไม่ต้องใช้ท่อนไม้และศัสตรา แล้วกราบทูลลากลับ.
๓. พระองคุลิมาลไปบิณฑบาตพบหญิงมีครรภ์แก่ ก็มีความกรุณา เมื่อกลับมากราบทูล พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนให้พระองคุลิมาลกล่าวสัจจวาจา พระองคุลิมาลก็ไปกล่าวสัจจวาจา ให้พร ให้มีความสวัสดีทั้งมารดาและทารก หญิงนั้นก็คลอดทารกโดยสวัสดี.
๔. ต่อมาท่านบำเพ็ญเพียรก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์. เมื่อท่านไปบิณฑบาตก็ถูกก้อนดิน ท่อนไม้ก้อนกรวดที่เขาขว้างไป มีศีรษะแตก มีโลหิตไหล มีสังฆาฏิขาดวิ่นมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า กรรมที่จะให้ผลไปหมกไหม้ในนรกเป็นเวลาหลายหมื่นหลายแสนปี เป็นอันท่านได้รับผลในปัจจุบัน. พระองคุลิมาลก็หลีกเร้นเข้าไปอยู่ในถ้ำ และเปล่งอุทานเป็นธรรมภาษิตในทางส่งเสริมหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา.
๓๗. ปิยชาติกสูตร
สูตรว่าด้วยสิ่งที่เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. บุตรน้อยคนหนึ่งของคฤหบดีผู้หนึ่งถึงแก่กรรม. คฤหบดีผู้นั้นก็ไม่เป็นอันทำงาน ไม่เป็นอันบริโภคอาหาร ไปสู่ป่าช้าคร่ำครวญถึงบุตรที่รัก แล้วไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามทราบความแล้ว จึงตรัสสอนว่า ความโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ เป็นของเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก . แต่คฤหบดีกล่าวว่า ความยินดี ความดีใจก็เกิดจากสิ่งเป็นที่รักด้วย ( เป็นเชิงไม่รับว่าความรักจะทำให้ทุกข์โดยส่วนเดียว ในทางทำให้สุขก็มี).
๒. ขณะนั้น นักเลงสกาหลายคนเล่นสกาอยู่ในที่ไม่ไกล คฤหบดีจึงเข้าไปหานักเลงสกาเหล่านั้นเล่าความที่จนกล่าวโต้ตอบกับพระผู้มีพระภาคทุกประการ. นักเลงสกาก็เห็นด้วยว่า ความยินดี ความดีใจ เกิดจากสิ่งเป็นที่รัก . คฤหบดีเห็นว่า ความเห็นของตนตรงกับพวกนักเลงสกาก็จากไป
๓. เรื่องที่โต้ตอบกันนี้ ก็เป็นข่าวลือไปถึงราชสำนัก. พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสนทนากับพระนางมัลลิกาถึงเรื่องนี้ เพื่อที่จะให้ทราบแน่ พระนางมัลลิกาจึงส่งนาฬิชังฆพราหมณ์ไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค. พระองค์ทรงตรัสยืนยันว่า ความเศร้าโศก เป็นต้น เป็นของเกิดจากสิ่งที่เป็นที่รักจริง และได้ตรัสชี้ตัวอย่างมากหลาย ถึงคนที่ถึงกับเป็นบ้าไป หรือฆ่าหญิงคนรักและฆ่าตัวเป็นเพราะผู้เป็นที่รักตายไปบ้าง เพราะความรักมีอันปรวนแปรไปบ้าง แล้วนาฬิชังพราหมณ์ก็กลับมากราบทูลพระนางมัลลิกา .
๔. พระนางมัลลิกาจึงทูลถามพระเจ้าปเสนทิโกศลถึงบุคคลและแว่นแคว้นต่อไปนี้ คือ กุมารีชื่อ วชิรา, นางวาสภขัตติยา, วิฑูฑภเสนบดี, พระนางมัลลิกาเอง และแคว้นกาสีและโกศล ว่าเป็นที่รักของพระเจ้าปเสนทิหรือไม่ ตรัสตอบว่า เป็นที่รัก ทูลถามว่า ถ้าบุคคลแล้วแว้นแคว้นเปลี่ยนแปลงไปจะทรงเศร้าโศกหรือไม่ ตรัสตอบว่า เศร้าโศก . พระนางมัลลิกาจึงตรัสสรุปว่า เพราะเหตุผลดังกล่าวนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถึงเรื่องที่ว่า ความเศร้าโศก เป็นต้น เป็นของเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก.
๕. พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงเลื่อมใส เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับทำพระภูษาเฉวียงพระอังสาประคองพระอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค ทรงเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า มโน ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ขอนอบน้อมแก่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุธเจ้าพระองค์นั้น.
๓๘. พาหิติยสูตร
สูตรว่าด้วยผ้าที่ทอมาจากแคว้นพาหิติ
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงช้างเสด็จออกจากกรุงสาวัตถี เห็นพระอานนท์แต่ไกล ก็ตรัสสั่งบุรุษผู้หนึ่งให้ไปกล่าวกะพระอานนท์ว่า พระเจ้าปเสนทินมัสการบาททั้งสองของพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า ถ้าพระอานนท์ไม่มีธุระรีบด่วนขอได้โปรดรอก่อน แล้วเสด็จลงจากช้าง ชวนพระอานนท์ไปยังริมฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ต่างประทับนั่งเหนืออาสนะที่ปูไว้ พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตรัสถามถึงว่า พระผู้มีพระภาคทรงประพฤติความประพฤติทางกายวาจาใจ อันเป็นการแข่งดี ( ควรแก่การยกโทษ ) กับสมณพราหมณ์ผู้รู้หรือไม่ พระอานนท์ทูลตอบว่า ไม่.
๒. ตรัสถามว่า ความประพฤติทางกายวาจาใจ อันเป็นการแข่งดี ( ควรแก่การยกโทษ ) กับสมณพราหมณ์ผู้รู้เป็นอย่างไร . ทูลตอบว่า ที่เป็นอกุศล. ที่เป็นอกุศลเป็นอย่างไร. ทูลตอบว่า ที่มีโทษ. ที่มีโทษเป็นอย่างไร. ทูลตอบว่า ที่มีการเบียดเบียน. ที่มีการเบียดเบียนเป็นอย่างไร ทูลตอบว่า ที่มีผลเป็นทุกข์. ที่มีผลเป็นทุกข์เป็นอย่างไร ทูลตอบว่า ที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง. อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อมเมื่อมีผู้ประพฤติเช่นนั้น ส่วนในทางดี พึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม.
๓. พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเลื่อมใสในสุภาษิตของพระอานนท์ ถึงกับตรัสว่า ถ้าพระอานนท์ใช้ช้างแก้ว ม้าแก้ว หรือบ้านส่วยได้ ก็จะถวายสิ่งเหล่านั้น เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ไม่ควรแก่พระอานนท์ จึงขอได้โปรดรับผ้าที่ทอมาจากแคว้นพาหิติ ยาว ๑๒ ศอก กว้าง ๘ ศอก ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรุทรงใส่หลอดไม้ไผ่สำหรับทำฉัตร ๑๑ มาถวาย เพื่อเป็นการอนุเคราะห์. เมื่อพระอานนท์อ้างว่าไตรจีวรของท่านบริบูรณ์แล้ว จึงทูลอ้อนวอนให้รับ พระอานนท์ก็รับ แล้วไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ แล้วถวายผ้านั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
๓๙. ธัมมเจติยสูตร
สูตรว่าด้วยเจดีย์คือพระธรรม
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เมทฬุปนิคม แคว้นสักกะ. พระเจ้าปเสนทิโกศลมีพระราชกรณียกิจเสด็จไปยังนครนั้นโดยลำดับ ในการเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทรงมอบพระขรรค์และพระอุณหิส ( กรอบพระพักตร์ ) แก่ทีฆการายอำมาตย์ แล้วเสด็จดำเนินไปยังวิหารซึ่งปิดประตู ค่อย ๆ เข้าไปสู่ระเบียง ทรงกระแอมแล้วเคาะบานประตู . พระผู้มีพระภาคก็ทรงเปิดประตู . จึงเสด็จเข้าไปสู่วิหาร หมอบลงที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ทรงจุมพิตพระบาทพระผู้มีพระภาคด้วยพระโอษฐ์ ทรงนวดฟั้นฝ่าพระบาทด้วยพระหัตถ์ ประกาศนามของพระองค์. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ทรงเห็นอำนาจประโยชน์อะไรจึงทรงแสดงความเคารพอย่างยิ่งในสรีระนี้.
๒. ตรัสตอบสรรเสริญว่า
๑. ไม่ทรงเห็นพรหมจรรย์อื่นจากพรหมจรรย์นี้ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์เห็นปานนี้ ทรงมีความรู้ด้วยญาณอันประจักษ์ในพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้โดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
๒. ทรงเห็นภิกษุทั้งหลายพร้อมเพียงไม่วิวาทกันเข้ากันได้ดี
๓. ทรงเห็นภิกษุทั้งหลายร่าเริงยินดี อินทรีย์แช่มชื่น คงจะได้บรรลุคุณพิเศษอันโอฬาร
๔. พระสาวกเตือนกันและกันมิให้ส่งเสียงเอ็ดอึงแม้ไอจาม ในขณะที่พระผู้มีพระภาคแสดงธรรม แสดงว่าทรงฝึกหัดบริษัทได้ดี โดยไม่ต้องใช้อาชญาและศัสตรา
๕. - ๘. ทรงเห็นบัณฑิตผู้เป็นกษัตริย์, พราหมณ์, คฤหบดี, สมณะ ผูกปัญหาถามว่า จะยกวาทะพระสมณโคดม แต่แล้วก็กลายเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคไป
๙. ช่างไม้ชื่ออิสิทันตะ กับปุราณะ ได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดีจากพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่ก็ไม่แสดงความเคารพในพระองค์เท่าในพระพุทธเจ้า ครั้งนั้นทรงทดลองอยู่ในโรงพักแคบ ๆ ช่างไม้สองคนทราบว่าพระพุทธเจ้าอยู่ทางไหน ก็นอนหันศีรษะไปทางนั้น หันเท้าไปทางพระเจ้าปเสนทิโกศล
๑๐. ตรัสชี้แจงให้เห็นว่าพระผู้มีพระภาคและพระองค์ก็เป็นกษัตริย์เหมือนกัน มีอายุ ๘๐ เหมือนกัน เป็นชาวโกศลเหมือนกัน เพราะเหตุนี้จึงทรงแสดงความเคารพอย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาค.
เมื่อพระเจ้าปเสนทโกศลเสด็จจากไปแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภาษิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ธัมมเจดีย์ ทรงถือว่ามีประโยชน์และเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ทรงสอนให้ภิกษุทั้งหลายเล่าเรียนทรงจำไว้.
________________________________________
๑. ลัทธิของมาคัณฑิยปริพพาชกนั้นมีอยู่ว่า ควรเจริญตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ควรเห็น ควรฟัง ควรดม ควรลิ้ม ควรถูกต้อง และควรรู้สิ่งที่ยังไม่เคย เมื่อได้เห็นได้ฟัง เป็นต้นแล้ว จึงควรก้าวล่วงเสีย เป็นการบัญญัติความเจริญในเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๒ . คำนี้ไม่มีในบาลี ขอยืมมาใช้จากข้อความในสูตรอื่นเพื่อให้ได้ศัพย์เฉพาะ แม้คำว่า นัตถิกวาทะ เป็นต้น ก็ใช้เพื่อให้ตรงกับเนื้อความ
๓. อายตเนว ธมฺมเทสนา อรรถกถามิได้แก้ไว้ แต่คำว่า อายตนะ อรรถกถาอธิบายไว้หลายแห่งว่า ได้แก่การณะ ดูอรรถกถาภาค ๓ ( พระวินัยเล่มที่ ๓)และพระสุตตันตะเล่มที่ ๖ หน้า ๒
๔. ดูความละเอียดที่ซ้ำกัน ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๑
๕. คำว่า กสิณ หมายถึงแบบที่ทำขึ้น เพื่อเพ่งทำจิตให้เป็นสมาธิ มี ๑๐ คือ ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม , สีเขียว, สีเหลือง, สีแดง, สีขาว, อากาศ, วิญญาณ
๖. วิกุชฺชิตมตฺตา ฝรั่งแปลว่า นอกจากแสดงความโกรธ. อรรถกถาอธิบายว่า นอกจากร้องไห้หัวเราะ
๗. เวลาถูตัวใช้มือดึงชายสองข้าง ตรงกลางโรยฝุ่นเพื่อใช้ถูตัว
๘. มีปัญหาเรื่องคำว่า ปณฺฑุมุทิกสฺส เกิดในดินมีสีเหลืองค้นหาคำอธิบายในบาลีไม่พบ ได้สอบในภาษาสันสกฤตมีคำว่า ปาณฺฑุมฺฤท ดินเหลือง อนึ่ง คำว่า ๕๐๐ หาบนั้น บาลีว่า ๕๐๐ วาหะ พระอรรถหถาจารย์ แก้ว่า ๑ วาหะ เท่ากับ ๒๐๐ เกวียน ส่วนกับข้าวนั้น อรรถกถาแก้ว่า ได้แก่น้ำมัน น้ำอ้อย เป็นต้น. อนึ่ง คำว่า ปณฺฑุมุทิกสฺส มีทางสันนิษฐานตามศัพย์อีกอย่างหนึ่ง คือข้าวสาลีที่หุงแล้วมีสีเหลืองและอ่อนนุ่ม แม้คำว่า เกิดในดินสีเหลือง ก็เป็นเรื่องสันนิษฐานทั้งสิ้น ดินสีเหลืองจะดีสำหรับข้าวสาลีอย่างไรก็ยังไม่ได้สอบสวน
๙. คุนธา จะเป็นไม้อะไรยังไม่ทราบ อรรถกถาแก้ว่า ไม้คุนธาดำ แต่มีคำที่ใกล้เคียงคือคุนหา แปลว่า ต้นกะเม็ง , หญ้าปากกา. ผู้เขียนไม่รู้จักต้นกะเม็ง แต่พบคำอธิบายว่า มีชื่อภาษาลาตินว่า eclipta alba ใบ ราก ใช้เป็นยาถ่าย ทำให้อาเจียน ราก ก็ใช้เป็นยาได้
๑๐. อรรถกถาเล่าว่า โพธิราชกุมารเสี่ยงทายว่า ถ้าจะได้บุตร ขอให้ทรงเหยียบ. ในพระวินัย มีข้อห้ามเหยียบ ผ้าขาวที่ปูไว้ในบ้าน แต่ภายหลังทรงอนุญาตให้เหยียบได้ ถ้าเจ้าของบ้างประสงค์ให้เป็นมงคล
๑๑. ฉตฺตนาฬี
๔๐. กัณณกัตถลสูตร
สูตรว่าด้วยเหตุการณ์ในป่าเนื้อชื่อกัณณกัตถล
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าเนื้อ ( ป่าเป็นให้อภัยแก่เนื้อ ) ชื่อกัณณกัตถละ ใกล้นครอุทัญญา. พระเจ้าปเสนทิโกศลมีพระราชกรณียกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง เสด็จไปถึงพระนครนั้นโดยลำดับ ทรงทราบว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่นั้น จึงส่งราชบุรุษไปกราบทูลว่า จะเสด็จไปเฝ้าหลังเสวยแล้ว. พระนางโสมาและพระนางสกุลาซึ่งเป็นพระภคิณี จึงกราบทูลขอให้พระเจ้าปเสนทิโกศลถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าและทูลถามถึงความสุขแทนพระนางด้วย. พระเจ้าปเสนทิโกศลไปเฝ้ากราบทูลข้อที่พระนางทั้งสองสั่งให้กราบทูล. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า สองพระนางหาทูตอื่นไม่ได้หรือ. ตรัสตอบว่า พระนางทั้งสองเห็นว่าหม่อมฉันจะมาเฝ้าจึงฝากกราบทูล. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสประทานพรให้พระนางทั้งสองมีความสุข.
๒. พระเจ้าปเสนทิได้กราบทูลถามถึงเรื่อง ๔ เรื่อง คือ ๑. เรื่องความเป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง ( สัพพัญญุตา ) ๒. เรื่องวรรณะ ๔ ๓. เรื่องอธิเทพ ๔. เรื่องอธิพรหม ๑ . ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสตอบ และพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ทรงแสดงความพอพระทัยชื่นชม.
๓. ในเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่มีสมณะ หรือพราหมณ์ที่รู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างคราวเดียวกัน. ในเรื่องเกี่ยวกับความแตกต่างกับของวรรณะทั้งสี่ ตรัสตอบว่า ถือกันว่า วรรณะ กษัตริย์ และพราหมณ์ เป็นเลิศทางการอภิวาท การลุกขึ้นต้อนรับ การทำอัญชลีกรรม การทำสามีจิกรรม ( การปฏิบัติชอบโดยอาศัยไมตรี ) แต่ในทางปฏิบัติ ( องค์หรือคุณธรรมอันเป็นประธาน ๕ อย่าง เช่นเดียวกับที่ตรัสไว้ในโพธิราชกุมารสูตร ( ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๕ ) หน้า ๔ วรรณะทั้งสี่มีคุณธรรมเหล่านี้ย่อมได้ผลเสมอกัน ทรงเปรียบด้วยไฟ แม้เกิดจากไม้ต่างชนิด แต่เปลวไฟ สีไฟ แสงไฟ ย่อมไม่ต่างกัน. ในเรื่องที่เกี่ยวกับ เทวดา ตรัสว่า เทวดาที่มีความคิดเบียดเบียน ย่อมมาสู่โลกนี้อีก ส่วนที่ไม่มีความคิดเบียดเบียน ย่อมไม่มาสู่โลกนี้อีก ( ตอนนี้วิฑูฑภะผู้เป็นเสนาบดี ได้ถามสอดขึ้นว่า เทวดาที่มีความคิดเบียดเบียนที่มีสู่โลกนี้ จะทำให้เทวดาที่ไม่คิดเบียดเบียนเคลื่อนจากฐานะ ( จุติ ) หรือขับไล่ไปได้หรือไม่ พระอานนท์ ๒ . ก็ตอบโดยอุปมาอุปไมยให้เห็นว่าจะขับไล่ หรือทำให้จุติไม่ได้ แม้แต่ในโลกนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงครอบครองราชสมบัติในเขตใด ก็ทรงมีอำนาจเฉพาะในเขตนั้น ) ในเรื่องที่เกี่ยวกับพรหม ( ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๔ ) หน้า ๕ ก็ตรัสทำนองเดียวกับเรื่องเทวดา.
จบวรรคที่ ๔ ขึ้นวรรคที่ ๕ ชื่อพราหมณวรรค
ว่าด้วยพราหมณ์ มี ๑๐ สูตร
๔๑. พรหมายุสูตร
สูตรว่าด้วยพราหมณ์ชื่อพรหมายุ
๑ . พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นวิเทหะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่. พรหมายุพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้เฒ่า เป็นพราหมณ์ผู้ใหญ่ เชี่ยวชาญไตรเวท รู้จักศาสตร์ ว่าด้วยคดีโลกและมหาปุริสลักษณะได้ยินกิตติศัพย์เดี่ยวกับพระผู้มีพระภาค จึงใช้อุตตรมาณพ ( ผู้เป็นศิษย์ ) ให้ไปติดตามดูมหาปุริสลักษณะ เมื่ออุตตรมาณพได้ไปสังเกตเห็นเป็นส่วนมาก บางส่วนที่เห็นยาก พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงอิทธาภิสังขาร ( แสดงโดยฤทธ์ ) ให้เห็น และบางข้อก็ไม่ต้องแสดงฤทธิ์ เพียงแต่เปิดโอกาสให้เห็นอย่างธรรมดา นอกจากนั้นอุตตรมาณพยังติดตามดูความเป็นไปของพระผู้มีพระภาคทุกอริยาบทตลอดเวลา ๗ เดือน แล้วไปแจ้งให้พรหมายุพราหมณ์ทราบถึงลักษณะ ๓๒ ประการ และความเป็นไปแห่งอริยาบททั้งปวง.
๒. พรหมายุมาณพก็ลุกจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไปยังทิศที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ เปล่งอุทานนอบน้อมพระผู้มีพระภาค ( นโม ตสฺส ฯลฯ ๓ ครั้ง ) แล้วได้เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงป่ามะม่วงของพระเจ้ามฆเทพ เมื่อไปถึงแล้วได้ใช้อุตตรมาณพเข้าไปกราบทูลก่อน ( ด้วยถือว่าเป็นมารยาทที่จะเข้าไปเฝ้าต่อเมื่อได้รับอนุญาตหรือเชื้อเชิญ ) เมื่อมาณพไปเฝ้ากราบทูล และพระผู้มีพระภาคทรงเปิดโอกาสแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพิจารณาดูมหาปุริสลักษณะ เมื่อได้เห็นครบทั้งสามสิบสองประการแล้ว จึงทูลถามปัญหา.
๓. ปัญหาที่ทูลถามนั้นเกี่ยวกับคุณธรรมของพราหมณ์ผู้รู้เวท , ผู้มีไตรวิชชา , ผู้มีความสวัสดี , ผู้เป็นพระอรหันต์ , เป็นเกวลี ( ผู้มีความบริบูรณ์สิ้นเชิง ), ผู้เป็นมุนี, ผู้เป็นพุทธะ . พระผู้มีพระภาคตรัสตอบแสดงคุณธรรมเหล่านั้นแล้ว พรหมายุพราหมณ์ก็หมอบแทบพระบาทด้วยเศียรเกล้า เอาปากจุมพิตพระบาท เอามือนวดฟั้นพระบาท ประกาศนามของตน.
๔. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปพพิกถา ( ถ้อยคำที่กล่าวโดยลำดับ ) และเรื่องอริยสัจจ์ ๔ พรหมายุพราหมณ์ได้บรรลุธรรมะแล้ว จึงนิมนต์พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉันในวันรุ่งขึ้น เมื่อเสด็จไปฉันแล้วพักอยู่ในแคว้นวิเทหะนั้นอีก ๗ วัน ก็เสด็จจากไป. ต่อมาไม่ช้าพรหมายุก็ถึงแก่กรรม. เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามถึงคติ จึงตรัสตอบว่า เป็นอนาคามีบุคคล ไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก.
๔๒. เสลสูตร
สูตรว่าด้วยเสลพราหมณ์
๑ . พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นอังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะประทับ ณ นิคมชื่ออาปณะแห่งแคว้นนั้น เกณิยชฏิล ( นักบวชเกล้าผมเป็นเซิงชื่อเกณิยะ ) ได้สดับกิตติศัพท์เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาคก็ไปเฝ้า ได้ฟังธรรม มีความเลื่อมใส จึงนิมนต์พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉัน. พระผู้มีพระภาคทรงเตือนว่า ภิกษุสงฆ์มีจำนวนถึง ๑,๒๕๐ รูป ถึง ๒ ครั้ง เกณิยชฏิลก็ยังคงยืนยันตามเดิม ๓ . พระผู้มีพระภาคจึงทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ.
๒. เกณียชฏิลเตรียมบอกญาติมิตรให้ไปช่วยงาน ต่างก็ช่วยเหลือเป็นอันดี ครั้งนั้นพราหมณ์ชื่อเสละ ผู้เชี่ยวชาญในพระเวท เป็นอาจารย์สอนมนต์แก่มาณพ ๓๐๐ คนในอาปณนิคม ทราบจากเกณิยชฏิลถึงพระพุทธเจ้าก็เลื่อมใส พาหมู่มาณพไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พิจารณาดูพระพุทธลักษณะเห็นต้องตามมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ แล้วได้กราบทูลโต้ตอบกับพระผู้มีพระภาคโดยทูลเชิญให้เสวยราชย์ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พระองค์เป็นราชาในทางธรรม ทรงหมุนล้อรถไปโดยธรรม เป็นล้อที่ใครจะให้หมุนกลับ ( ปฏิวัติ ) ไม่ได้. ทูลถามถึงแม่ทัพธรรม ทรงชี้ไปที่พระสารีบุตร และได้ทรงแสดงธรรมสอนใจเรื่องอื่นอีกเสลพราหมณ์ พร้อมทั้งบริษัทก็ได้บรรพชาอุปสมบท.
๓. เกณิยชฏิลก็นิมนต์พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉัน ทรงอนุโมทนาปรารภเรื่องการบูชาไฟว่าเป็นประธานของยัญ ( ตามแบบของพราหมณ์ ) สาวิตติฉันท์เป็นประธานของฉันท์ เป็นต้น พระสงฆ์เป็นประธานของผู้บูชายัญผู้หวังบุญ . ส่วนพระเสละพร้อมด้วยบริษัทบวชแล้วไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.
๔๓. อัสสลายนสูตร
สูตรว่าด้วยมาณพชื่ออัสสลายนะ
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ครั้งนั้นพวกพราหมณ์ชาวแว่นแคว้นต่าง ๆ ประมาณ ๕๐๐ มาพักอยู่ในกรุงสาวัตถีด้วยกรณียกิจบางอย่าง ต่างปรึกษากันว่า พระสมณโคดมบัญญัติความบริสุทธิ์ทั้งสี่วรรณะ ( ไม่กดพวกวรรณะต่ำ ) ใครหนอจะสามารถโต้ตอบกับพระสมณโคดมในเรื่องนี้ . ครั้งนั้นมาณพหนุ่มอายุ ๑๖ ชื่ออัสสลายนะ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญไตรเวท พร้อมด้วยคัมภีร์ประกอบ พักอยู่ในกรุงสาวัตถีนั้น. พวกพราหมณ์เหล่านั้น จึงไปหามาณพนั้น ขอให้ไปโต้ตอบ. มาณพไม่ยอม อ้างว่าพระสมณะโคดมเป็นธรรมวาที ( ผู้กล่าวธรรม ) . พวกพราหมณ์ก็แค่นไค้จนถึง ๓ ครั้ง และในท้ายแห่งครั้งที่ ๓ ได้กล่าวว่าอย่าแพ้ทั้งที่ยังไม่ทันได้รบ. มาณพก็ยืนยันตามเดิมว่า ไม่สามารถโต้ตอบกับพระสมณโคดม แต่จะไปตามถ้อยคำของพวกพราหมณ์.
๒. มาณพจึงไปพร้อมด้วยพราหมณ์คณะใหญ่ เมื่อได้เข้าเฝ้าแล้วจึงถามพระมติว่า จะทรงคิดเห็นอย่างไร ในข้อที่พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวว่า วรรณะพราหมณ์เท่านั้นประเสริฐ เป็นฝ่ายขาว บริสุทธิ์ ส่วนวรรณะอื่นตรงกันข้าม. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ อ้างว่าพราหมณ์เกิดจากองค์กำเนิดของนางพราหมณ์ จะว่าเกิดจากปากพรหมเป็นผู้ประเสริฐได้อย่างไร. แล้วได้ตรัสถึงประเพณีในแคว้นโยนกกับกัมโพช และชนบทชายแดนอื่น ๆ ที่มีคนเพียง ๒ วรรณะ คืออัยยะ ( นาย ) กับทาส คนเป็นนายแล้วเป็นทาสก็ได้ คนเป็นทาสแล้วเป็นนายก็ได้. ในกรณีเช่นนี้ พวกพราหมณ์จะเอากำลัง เอาความสะดวกใจอะไรมาอ้างในข้อที่ว่า พราหมณ์เป็นผู้ประเสริฐ เป็นต้น แต่มาณพก็ยังยืนยันถ้อยคำตามเดิมว่า แม้เช่นนั้นพวกพราหมณ์ก็ยังถือว่า วรรณะพราหมณ์ประเสริฐ.
๓. ตรัสถามว่า ผู้ประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปก็เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาตนรก เพียงวรรณะใดวรรณะหนึ่ง เช่น กษัตริย์ ส่วนวรรณะอื่นไม่เป็นเช่นนั้นหรือ ทูลตอบว่า เปล่า. ตรัสถามทำนองเดียวกัน ในทางทำดีว่า วรรณใดวรรณหนึ่งเมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ วรรณะอื่นไม่เป็นเช่นนั้นหรือ ทูลตอบว่า เปล่า. จึงตรัสสรุปทั้งสองตอนว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ จะกล่าวว่าวรรณะพราหมณ์ประเสริญสุดได้อย่างไร ( เมื่อไม่มีอะไรพิเศษ คงได้รับผลเท่าเทียมกับวรรณะอื่น ) แต่อัสสลายนมาณพก็ยังคงยืนกรานว่า พวกหพราหมณ์กล่าวว่า พราหมณ์วรรณะประเสริฐ.
๔. ตรัสถามว่า วรรณะใดวรรณะหนึ่งเท่านั้นหรือจึงควรเจริญพรหมวิหาร ๔, ควรถือด้ายถูตัวไปอาบน้ำลอยธุลีลอง , ควรสีไฟให้ติดได้มีเปลวไฟ , มีสี, มีแสง ก็ตอบว่า ทำได้ด้วยกัน จึงตรัสสรุปทั้งสามตอนนี้อีกให้เห็นว่า จะกล่าวว่าวรรณะพราหมณ์ประเสริฐสุดได้อย่างไร แต่มาณพก็ยังยืนยันตามเดิม.
๕. ตรัสถามว่า ชายหนุ่มที่เป็นกษัตริย์อยู่ร่วมกับหญิงสาวที่เป็นพราหมณ์ หรือชายหนุ่มที่เป็นพราหมณ์อยู่ร่วมกับหญิงสาวที่เป็นกษัตริย์ มีบุตรออกมา จะเรียกกษัตริย์ก็ได้ พราหมณ์ก็ได้ ใช่หรือไม่. ทูลรับรอง. ( แสดงว่าพราหมณ์ไม่ประเสริฐจริง).
๖. ตรัสถามว่า แม่ม้ากับพ่อฬาอยู่ร่วมกันเกิดลูกขึ้น เรียกว่าม้าก็ได้ ฬาก็ได้ ใช่หรือไม่ ทูลตอบว่า ลูกที่เกิดแต่สัตว์ทั้งสองนั้น เป็นม้าอัสดร ตนเห็นความต่างกันในข้อนี้ แต่ไม่เห็นความต่างกันแห่งบุคคลในรายก่อน ( ข้อ ๕ ).
๗. ตรัสถามว่า มาณพสองคนเป็นพี่น้องร่วมอุทร คนหนึ่งสาธยายมนต์ได้ ได้รับการฝึกหัด อีกคนหนึ่งมิใช่ผู้สาธยายมนต์ มิใช่ผู้ได้รับการฝึกหัด พวกพราหมณ์จะเชิญให้คนไหนบริโภคก่อนในพิธีสารท ( อุทิศให้ผู้ตาย ), ในอาหารบรรณาการ, ในยัญญพิธีและในของต้อนรับ ทูลตอบว่า เชิญให้ผู้สาธยายมนต์ผู้ได้รับการฝึกหัดให้บริโภคก่อน เพราะของที่ให้ในผู้ไม่สาธยายมนต์ ผู้มิได้รับการฝึกหัด จะมีผลมากได้อย่างไร.
๘. ตรัสถามว่า มาณพสองคนเป็นพี่น้องร่วมอุทร คนหนึ่งสาธยายมนต์ได้ ได้รับการฝึกหัด แต่เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม อีกคนหนึ่งไม่สาธยายมนต์ ไม่ได้รับการฝึกหัด แต่มีศีล มีกัลยาณธรรม พวกพราหมณ์จะเชิญให้คนไหนบริโภคก่อน. ทูลตอบว่า เชิญผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมให้บริโภคก่อน เพราะของที่ผู้ทุศีลมีบาปธรรม จะมีผลมากได้อย่างไร.
๙. ตรัสสรุปว่า ครั้งแรกท่านกล่าวถึงชาติ ( ว่าสำคัญ ) ครั้นแล้วกล่าวถึงมนต์ ( ว่าสำคัญ) ครั้นแล้วก็ยกมนต์นั้นเสีย กล่าวถึงความบริสุทธิ์ที่มีในวรรณะทั้งสี่ตามที่เราบัญญัติไว้. ( แสดงว่าทรงยกเหตุผลต้อนให้มาณพยอมแสดงว่า ชาติไม่สำคัญเท่ามนต์ มนต์ไม่สำคัญเท่าความประพฤติ เป็นการจำนนต่อเหตุผลอย่างสมบูรณ์ ) อัสสลายนมาณพก็นิ่งเก้อเขิล ก้มหน้า.
๑๐. จึงตรัสเล่าเรื่องอสตะ เทวลฤษี ไปปราบพราหมณฤษี ๗ ตน ผู้มีความเห็นผิดในเรื่องวรรณะพราหมณ์ว่าประเสริฐสุด ด้วยการแสดงเหตุผล จนฤษีทั้งเจ็ดนั้นยอมจำนน. ( เป็นการยกประวัติศาสตร์มาสอนว่า ในครั้งโบราณก็มีผู้ปราบคนเห็นผิดเรื่องชาติวรรณะมาแล้ว)
เมื่อจบพระธรรมเทศนา อัสสลายนมาณพกราบทูลสรรเสริญ แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
๔๔. โฆฏมุขสูตร
สูตรว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโฆฏมุขะ
๑ . ท่านพระอุเทนะอยู่ในป่ามะม่วงชื่อเขมิยะ ใกล้กรุงพาราณสี. โฆฏมุขพราหมณ์มีธุระไปสู่กรุงสาวัตถี ไปพบพระอุเทนะที่ป่ามะม่วงนั้น จึงสนทนาด้วย โดยแสดงความคิดเห็นว่า การบวชที่เป็นธรรมไม่มี. พระอุเทนะจึงเข้าไปสู่วิหาร และพราหมณ์ก็ตามเข้าไปสนทนากันในวิหาร พราหมณ์ได้พูดย้ำความคิดเห็นเดิมอีก. พระอุเทนะตกลงกับพราหมณ์ว่า ถ้ายอมรับในข้อที่ควรยอมรับ ถ้าคัดค้านในข้อที่ควรคัดค้านก็จะสนทนากันได้ พราหมณ์ยอมรับข้อเสนอนั้น.
๒. พระอุเทนะจึงกล่าวว่า มีบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. ทำตนให้เดือดร้อน ๒. ทำคนอื่นให้เดือดร้อน ๓. ทำตนให้เดือดร้อนด้วย ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วย ๔. ไม่ทำตัวเองให้เดือดร้อน ทั้งไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนเป็นผู้ดับเย็น อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ในบุคคล ๔ ประเภทนี้ ประเภทไหนเป็นที่พอใจของพราหมณ์. พราหมณ์ตอบว่า ตนไม่พอใจ ๓ ประเภทแรก พอใจประเภทหลัง.
๓. พระอุเทนะถามว่า มีบริษัท ๒ ประเภท คือพวกหนึ่งกำหนัดยินดีในทรัพย์สินสิ่งต่าง ๆ อีกพวกหนึ่งไม่กำหนัดยินดี ออกบวช ในบริษัท ๒ ประเภทนี้ พราหมณ์เห็นว่าคนที่ไม่เบียดเบียนตน ทั้งไม่เบียดเบียนคนอื่น มีอยู่มากบริษัทประเภทไหน. พราหมณ์ตอบว่า มีมากในประเภทที่ไม่กำหนัดยินดีในทรัพย์สิ้นสิ่งต่าง ๆ. ท่านพระอุเทนะจึงกล่าวชี้ให้เห็นว่า บัดนี้เราก็ได้รู้ถ้อยคำของท่านที่ว่า การบวชที่เป็นธรรมไม่มี ( เมื่อพราหมณ์ยอมรับว่า พวกออกบวช ซึ่งไม่กำหนัดยินดี เป็นพวกไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นโดยมาก ก็เป็นอันชี้อยู่ในตัวว่า การบวชที่เป็นธรรมมีอยู่ ). พราหมณ์ยอมรับว่า การบวชที่เป็นธรรมมีและได้ขอให้แจงประเภทบุคคลทั้งสี่โดยพิศดาร.
๔. พระเถระจึงแจกอธิบายทั้งสี่ประเภท ( ตามนัยที่พระผู้มีพระภาคเคยทรงอธิบาย ( พระสุตตันตะ เล่ม ๕ หน้า ๑ ) อันปรากฏในกันทรกสูตรที่ ๑ ที่ย่อไว้แล้วข้างต้น). หมายเลข ๓
๕. โฆฏมุขพราหมณ์แสดงความเลื่อมใส สรรเสริญภาษิตของท่านพระอุเทนะ ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระอุเทนะ กับพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะตลอดชีวิต แต่พระเถระห้ามไว้ ขอให้ถึงพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นสรณะของท่านเป็นสรณะเถิด. พราหมณ์จึงถามถึงพระพุทธเจ้า เมื่อทราบว่าปรินิพพานแล้ว จึงกล่าวว่าถ้ายังทรงพระชนม์อยู่ แม้จะต้องเดินทางตั้งร้อยโยชน์ก็จะไปเฝ้า แต่เมื่อปรินิพพานแล้ว จึงขอถึงพระสมณโคดมและพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระอุเทนะจงทรงจำว่าตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต พร้อมกับได้แสดงความจำนงขอถวายภิกษาเป็นนิตย์ ( ถวายอาหารประจำ ) แด่พระเถระ. พระเถระถามว่า พระราชาแคว้นอังคะทรงถวายนิจจภิกขา ๔ . ทุก ๆ วันอย่างไร ? พราหมณ์จตอบว่า ถวายวันละ ๕๐๐ กหาปณะ. พระเถระตอบว่า การรับเงินทองไม่ควรแก่ท่าน พราหมณ์จึงเปลี่ยนเป็นจะสร้างวิหารถวายท่าน ท่านจึงแนะให้สร้างอุปฐานศาลา ( โรงฉัน ) สำหรับสงฆ์ ในกรุงปาฏลิบุตร ซึ่งพราหมณ์ก็ได้ปฏิบัติตามด้วยความเลื่อมใสยิ่ง.
๔๕. จังกีสูตร
สูตรว่าด้วยจังกีพราหมณ์
๑ . พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะ ประทับ ณ ป่าไม้สาละ อันเป็นที่ทำพลีกรรมแด่เทพ ด้านเหนือของหมู่บ้านพราหมณ์นั้น. สมัยนั้นจังกีพราหมณ์ครอบครองหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะ ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานให้ครอบครอง จังกีพราหมณ์เห็นพราหมณคฤหบดีเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเป็นกลุ่ม ๆ ถามทราบความก็จะไปบ้าง แต่ก็ถูกพราหมณ์ชาวต่างถิ่นที่ไปในที่นั้นคัดค้าน จังกีพราหมณ์ก็โต้ตอบ ( เช่นเดียวกับโสณทัณฑพราหมณ์ ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๑ หน้า ๒ เรื่องโสณทัณฑสูตร ในที่สุดได้ไปเฝ้า. ในที่เฝ้านั้นมีมาณพหนุ่มคนหนึ่งอายุ ๑๖ ปี ชื่อกาปทิกะ เป็นผู้เชี่ยวชาญในเวททั้งสาม พร้อมทั้งคัมภีร์ประกอบ พูดสอดแทรกการสนทนาระหว่างพระผู้มีพระภาคกับพราหมณ์ผู้ใหญ่ เมื่อตรัสให้รอก่อน ก็หาทางไล่เลียง ( เป็นการลองดีเพื่อให้จำนน).
๒. เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเปิดโอกาส จึงทูลถามปัญหาเป็นข้อ ๆ คือ ๑. พวกพราหมณ์เชื่อถือบทแห่งมนต์ โดยอ้างตำราว่า นี้เป็นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ จะทรงเห็นอย่างไร ๒. ด้วยเหตุเพียงเท่าไรชื่อว่ามีการรักษาสัจจะ ๓. ด้วยเหตุเพียงเท่าไรชื่อว่ามีการตรัสรู้สัจจะ ๔. ด้วยเหตุเพียงเท่าไรชื่อว่ามีการบรรลุสัจจะ.
๓. ในข้อ ๑ ตรัสย้อนถามให้ยอมรับว่าไม่มีใครในพวกพราหมณ์และครูบาอาจารย์ของพราหมณ์ที่ยืนยันว่าตนรู้ความจริง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเหมือนคนตาบอดจูงคนตาบอด มีธรรม ๕ อย่าง คือความเชื่อ, ความพอใจ, การฟังสืบ ๆ มา, การตรึกตามอาการ , ความชอบใจเพราะตรงกับความเห็นของตน ธรรมเหล่านี้มีผล ๒ ประการ คือสิ่งที่เชื่อ เป็นต้นนั้น อาจไม่จริงก็ได้ อาจจริงก็ได้. จึงไม่ควรยึดตามความเชื่อ เป็นต้นว่านี้แลจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ ( ข้อนี้ไม่เชิงปฏิเสธศรัทธาหรือความเชื่อ แต่นิยมให้รู้แจ้งประจักษ์มากกว่าใช้หลักเพียงเชื่อผู้อื่น หรือชอบใจว่าถูกกับความเห็นของตน เป็นต้น).
ในข้อ ๒ เรื่องการรักษาสัจจะ ตรัสว่าให้รักษาสัจจะ โดยยอมรับว่ามีความเชื่ออย่างนี้ มีความพอใจอย่างนี้ เป็นต้น อย่าเพิ่งปลงใจว่า อันนี้จริงอย่างอื่นเป็นโมฆะ ๕ .
ในข้อ ๓ เรื่องการตรัสรู้สัจจะ ทรงแสดงถึงการรู้เท่าทันธรรมะอันเป็นที่ตั้งแห่งความโลภความคิดประทุษร้ายและความหลง สดับฟังธรรมะ ทรงจำไว้ได้ มีความอุตสาหะ ตั้งความเพียรตรัสรู้ “ ปรมัตถสัจจะ ” ( ความจริงโดยปรมัตถ์ คือจริงแท้ ไม่ใช่จริงเพียงสมมุติ ) ด้วยปัญญา.
ในข้อ ๔ เรื่องการบรรลุความจริง ทรงแสดงถึงการส้องเสพ ทำให้มากซึ่งธรรมะ ( ที่ได้สดับ ได้ทรงจำไว้ได้เหล่านั้น). และได้ทรงแสดงธรรมอันเป็นอุปการะแก่การบรรลุสัจจะ มีความเพียร , การชั่ง หรือไตร่ตรอง เป็นต้น ตามที่มาณพทูลถาม.
๔. มาณพทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา ยอมรับว่าเคยนึกดูหมิ่นสมณะมาก่อน แต่พระผู้มีพระภาคทำให้เกิดความรักความเคารพในสมณะ แล้วแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรระตลอดชีวิต.
๔๖. เอสุการีสูตร
สูตรว่าด้วยเอสุการีพราหมณ์
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม เอสุการีพราหมณ์บัญญัติการบำเรอ ๔ ประการ คือ ๑ . วรรณะทั้งสี่ควรบำเรอพราหมณ์ ๒. กษัตริย์, แพศย์ , ศูทร ควรบำเรอกษัตริย์ ๓. แพศย์, ศูทร ควรบำเรอแพศย์ . ๔. ศูทรเท่านั้นควรบำเรอศูทร ( สูงกว่าบำเรอพวกต่ำกว่าไม่ได้) ในข้อนี้พระสมณโคดมตรัสว่าอย่างไร. ตรัสถามว่า ทั่วโลกยอมรับรองข้อบัญญัตินี้ของพราหมณ์หรือไม่. ทูลตอบว่า ไม่รับรอง. จึงตรัสว่า พวกพราหมณ์บัญญัติเอาเอง เหมือนบังคับคนไม่กินเนื้อให้กินเนื้อแล้วยังเรียกร้องเอามูลค่า ( ของเนื้อ ) อีกด้วย.
๒. ตรัสว่า ไม่ทรงกล่าวว่าควรบำเรอทุกอย่าง แต่ก็ไม่ทรงกล่าวว่าไม่ควรบำเรอทุกอย่าง เมื่อบำเรอแล้วเกิดความชั่วไม่เกิดความดีงามก็ไม่ควรบำเรอ เมื่อบำเรอแล้วความดีงามไม่เกิดวามชั่วก็ควรบำเรอ.
๓. ตรัสว่า ไม่ทรงกล่าวว่าความเป็นผู้มีตระกูลสูง ความเป็นผู้มีวรรณะโอฬาร หรือความเป็นผู้มีทรัพย์มาก ว่าดีหรือเลว เพราะคนที่มีสกุลสูง , มีวรรณะโอฬาร ( คือวรรณะทั้งสาม ยกเว้นศูทร ) และคนที่มีทรัพย์มาก อาจทำได้ทั้งความชั่วความดี ( ความชั่วความดีจึงอยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่อยู่ที่สกุลสูง เป็นต้น).
๔. เอสุการีพราหมณ์ทูลถามถึงการที่พวกพราหมณ์บัญญัติทรัพย์ ๔ ประการ คือ ๑. ทรัพย์ที่ดีของพราหมณ์คือการเที่ยวภิกขาจาร ๖ . ( เที่ยวขออาหาร ) ๒. ทรัพย์ที่ดีของกษัตริย์คือธนู และกระบอกลูกธนู ๓. ทรัพย์ที่ดีของแพศย์คือกสิกรรม และโครักขกรรม ( การเลี้ยงโครีดนม) ๔. ทรัพย์ที่ดีของศูทรคือการเกี่ยวหญ้า การหาบหาม แต่วรรณะทั้งสี่นั้นก็ดูหมิ่นทรัพย์ที่ดี ไปทำกิจอันไม่สมควร ( คือประกอบอาชีพอื่นนอกจากอาชีพเดิมประจำวรรณะ ) ในข้อนี้พระสมณโคดมตรัสว่าอย่างไร. ตรัสว่า เป็นการบัญญัติเอาเองแบบเรื่องการบำเรอ. แล้วตรัสว่า ทรงบัญญัติโลกุตตรธรรมอันประเสริฐว่าเป็นทรัพย์ที่ดีของคน. คนที่จะเรียกว่า กษัตริย์ พรหามณ์ แพศย์ ศูทร ก็เพราะเกิดขึ้นในสกุลนั้น ๆ.
๕. แล้วทรงแสดงว่า บุคคลทุกวรรณะออกบวช ทำตามพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เว้นความชั่ว ก็ย่อมได้บรรลุธรรมะที่ถูกต้องเสมอกัน และเมื่อตรัสถามพราหมณ์ก็ยอมรับว่า วรรณะทั้งสี่สามารถเจริญเมตตาจิตไปในถิ่นที่นั้น ๆ ได้เหมือนกัน อาจถือด้ายถูตัวไปสนานกายได้เท่ากัน อาจก่อไฟให้ติดได้เหมือนกัน
เอสุการีพราหมณ์ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
๔๗. ธนัญชานิสูตร
สูตรว่าด้วยธนัญชานิพราหมณ์
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์. สมัยนั้นท่านพระสารีบุตรจาริกไปในชนบท “ ทักขิณาคิริ ” ( ภูเขาภาคใต้ ) พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่. มีภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาในกรุงราชคฤห์แล้วเดินทางไปทักขิณาคิริชนบท เข้าไปหาพระสารีบุตรสนทนากัน พระสารีบุตรถามถึงธนัญชานิพราหมณ์ ก็เล่าให้ฟัง ว่าเป็นผู้ประมาท อาศัยพระราชา “ ปล้น” พราหมณ์คฤหบดี , อาศัยพราหมณคฤหบดี “ ปล้น” พระราชา เป็นต้น . เมื่อพระสารีบุตรไปสู่กรุงราชคฤห์ได้พบกับธนัญชานิพราหมณ์ ก็ไต่ถามว่า ยังไม่ประมาทอยู่หรือ. พราหมณ์ตอบว่า จะไม่ประมาทได้ได้อย่างไร เพราะตนมีภาระจะต้องเลี้ยงดูมารดาบิดา บุตรภริยาและบ่าวไพร่ เป็นต้น.
๒. พระสารีบุตรจึงถามว่า ผู้ประะพฤติไม่เป็นธรรม ประพฤติผิด เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา เป็นต้น นายนิรยบาลจะยอมให้แก้ตัวอย่างนั้นหรือไม่ ตอบว่า ไม่ได้. ถามว่า ผู้ประพฤติไม่เป็นธรรม ประพฤติผิดกับผู้ประพฤติเป็นธรรม ประพฤติไม่ผิด เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ใครจะดีกว่าใคร. ธนัญชานิพราหมณ์ยอมรับว่า ผู้ประพฤติเป็นธรรม ประพฤติไม่ผิดดีกว่า. พระสารีบุตรจึงกล่าวสรุปว่า ยังมีการงานที่ถูกต้องตามธรรมะอย่างอื่นที่จะพึงกระทำกะณียกิจแก่มารดาบิดา เป็นต้นโดยไม่ต้องทำบาป และได้บำเพ็ญปฏิปทาอันเป็นบุญด้วย.
๓. ต่อมาธนัญชานิพราหมณ์เจ็บหนัก จึงใช้คนไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค และกราบเรียนพระสารีบุตรและอาราธนาพระสารีบุตรไปสู่ที่อยู่ของตนเพื่ออนุเคราะห์ พระสารีบุตรก็ถามพราหมณ์ว่า นรก กับกำเนิดดิรัจฉานอันไหนจะดีกว่ากัน. พราหมณ์ตอบว่า กำเนิดดิรัจฉานดีกว่า. จึงถามเปรียบเทียบเรื่อยไปจากต่ำจนถึงสูง คือเปรตวิสัย, มนุษย์ , เทพชั้นจาตุมหาราช, ชั้นดาวดึงส์, ชั้นยามะ, ชั้นดุสิต, ชั้นนิมมานรดี, ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีและพรหมโลก เมื่อเห็นว่าพวกพราหมณ์มีจิตน้อมไปเพื่อพรหมโลก จึงแสดงข้อปฏิบัติเพื่อไปเกิดในพรหมโลกให้ธนัญชานิพราหมณ์ฟัง คือการเจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ.
๔. ธนันญชานิพราหมณ์สั่งฝากพระสารีบุตรกราบพระบาทพระผู้มีพระภาคด้วย เมื่อพระสารีบุตรกลับไม่นานก็ถึงแก่กรรม แล้วไปเกิดในพรหมโลก. เมื่อพระสารีบุตรไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และเมื่อตรัสถามว่า เมื่อยังมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไป เหตุไฉนจึงแนะธนัญชานิพราหมณ์ให้ตั้งอยู่ในพรหมโลกอันต่ำทรามแล้วหลีกไปเสีย. พระสารีบุตรกราบทูลว่า เพราะท่านคิดว่า พวกพราหมณ์น้อมจิตไปเพื่อพรหมโลก ( โดยมาก ). พระผู้มีพพระภาคจึงตรัสว่า ธนัญชานิพราหมณ์ถึงแก่กรรมไปเกิดในพรหมโลกแล้ว.
๔๘. วาเสฏฐสูตร
สูตรว่าด้วยวาเสฏฐมาณพ
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าอิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้านชื่ออิจฉานังคละ สมัยนั้นพราหมณมหาศาล ( ผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก ) ที่มีชื่อเสียง เช่น จังกีพราหมณ์ เป็นต้น ก็อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชื่ออิจฉานังคละมาณพ ๒ คน คือวาเสฏฐะ กับภารทวาชะสนทนากันว่า บุคคลจะเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร. ภารทวาชะกล่าวว่า ผู้เกิดจากมารดาบิดา เป็นพราหมณ์สืบต่อมา ๗ ชั่วอายุคน ไม่มีใครคัดค้านได้ ( ในเรื่องวงศ์สกุล ) จึงเป็นพราหมณ์ได้. แต่วาเสฏฐมาณพค้านว่า ต้องมีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร จึงเป็นพราหมณ์ได้. ทั้งสองไม่สามารถตกลงกันได้ จึงตกลงกันว่าจะไปทูลถามพระผู้มีพระภาค.
๒. เมื่อไปทูลถาม จึงกล่าวเป็นคาถา ( คำกวี) ใจความว่า จะเป็นพราหมณ์ได้ เพราะชาติ หรือเพราะการกระทำ. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเป็นคาถาเช่นเดียวกัน โดยใจความว่า เป็นพราหมณ์ มิใช่เพราะชาติแต่เพราะการกระทำที่ดีงามต่าง ๆ . เมื่อจบธรรมเศนา มาทั้งสองทูลสรรเสริญ แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
๔๙. สุภสูตร
สูตรว่าด้วยสุภมาณพบุตรโตเทยยพราหมณ์
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. สมัยนั้นสุภมาณพบุตรโตเทยยพราหมณ์ มีธุระบางอย่างไปพักในกรุงสาวัตถี ทราบว่าพระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม จึงไปเฝ้า ทูลถามว่า พวกพราหมณ์กล่าวว่า คฤหัสถ์จึงได้บรรลุญายธรรม ( ธรรมที่ถูกต้อง ) อันเป็นกุศล ส่วนบรรพชิตมิได้บรรลุดังนี้ ๗ . พระสมณโคดมตรัสในเรื่องนี้อย่างไร. ตรัสตอบว่า พระองค์เป็น “ วิภชวาทะ ” ( ผู้กล่าวจำแนกตามเหตุผล) มิใช่ “เอกังสวทะ” ( ผู้พูดในแง่เดียว ) ในเรื่องนี้. แล้วตรัสว่า พระองค์ไม่ตรัสสรรเสริญการปฏิบัติผิดคฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ถ้าปฏิบัติผิด ก็ไม่ได้บรรลุญายธรรม ( ธรรมที่ถูกต้อง ) อันเป็นกุศล เพราะเหตุมีความปฏิบัติผิดเป็นมูล. พระองค์ตรัสสรรเสริญการปฏิบัติชอบ. คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ถ้าปฏิบัติชอบก็ได้บรรลุญายธรรมอันเป็นกุศล เพราะเหตุมีการปฏิบัติชอบเป็นมูล.
๒. มาณพทูลถามอีกว่า พวกพราหมณ์เขากล่าวว่า การงานในการครองเรือนเป็นงานใหญ่ มีการริเริ่มมาก มีผลมาก แต่การงานในการบวชเป็นการงานน้อย มีการริเริ่มน้อย มีผลน้อย จะตรัสในข้อนี้อย่างไร. ตรัสตอบว่า แม้ในข้อนี้ก็ทรงกล่าวจำแนก ไม่กล่าวยืนยันลงไปอย่างเดียว. แล้วทรงแสดงว่า การงานที่ใหญ่แต่มีผลน้อยก็มี ทั้งสองอย่างนี้ทรงชี้ไปที่การทำนา และตรัสต่อไปว่า การงานที่น้อย มีผลน้อยก็มี มีผลมากก็มี ทั้งสองอย่างนี้ชี้ไปที่การค้า แล้วตรัสว่า การครองเรือนเป็นงานใหญ่ มีผลน้อยก็มี มีผลมากก็มี การงานในการบวชเป็นงานน้อย มีผลน้อยก็มี มีผลมากก็มีเปรียบเหมือนการทำนาและการค้านั้น.
๓. แล้วมาณพได้ทูลอีกถึงข้อที่พวกพราหมณ์บัญญัติธรรม ๕ อย่าง เพื่อบำเพ็ญ เพื่อบรรลุกุศลคือสัจจะ, ตบะ ( ความเพียร ), พรหมจรรย์ ( ไม่เสพกาม ), อัชเฌนะ ( การสาธยายมนต์ ), จาคะ ( การสละ ). ตรัสถามว่า พวกพราหมณ์เหล่านั้น พร้อมทั้งครูบาอาจารย์ เคยมีสักคนหนึ่งหรือไม่ที่กล่าวว่าได้รู้แจ้งเห็นจริงเหมือนคนแห่งธรรมะทั้งห้านั้นด้วยตนเองด้วยปัญญาอันยิ่ง. เมื่อมาณพทูลตอบว่า ไม่มีใคร ก็ตรัสเปรียบเหมือนคนตาบอดจูงคนตาบอด ซึ่งทำให้มาณพโกรธเคือง ถึงกับใช้ถ้อยคำรุนแรง อ้างพราหมณ์มีชื่อต่าง ๆ มาข่ม เช่น โปกขรสาติพราหมณ์ เป็นต้น.
๔. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสชี้ให้เห็นว่า พราหมณ์เหล่านั้นพูดด้วยพิจารณาบ้าง ไม่พิจารณาบ้างมีประโยชน์บ้าง ไม่มีประโยชน์บ้าง เป็นต้น ตามที่มาณะรับรอง ยังมีนีวรณ์ ๕ ( กิเลสอันกั้นจิต) ยังติดกามคุณ ๕ ( มีรูป เสียง เป็นต้น ) แล้วทรงย้อนถามถึงคุณธรรม ๕ ประการที่พรหามณ์บัญญัตินั้นว่ามีในคฤหัสถ์มากหรือมีในบรรพชิตมาก ซึ่งมาณพได้ยอมรับว่ามีในบรรพชิตมาก มีในคฤหัสถ์น้อย ( เริ่มแย้งกับข้อกล่าวในตอนแรกที่ว่า งานคฤหัสถ์เป็นงานใหญ่ มีผลมาก).
๕. แล้วตรัสแสดงว่า ธรรม ๕ อย่างนั้น เป็นเพียงบริขาร ( เครื่องใช้ ) ของจิต จิตจึงสำคัญกว่า ทรงสอนให้เจริญจิตที่ไม่มีเวร ไม่มีความคิดเบียดเบียน เมื่อมาณพขอให้ทรงแสดงทางที่จะไปอยู่ร่วมกับพรหม ก็ตรัสแสดงการแผ่พรหมวิหารจิต ( มีเมตตา เป็นต้น)
๖. สุภมาณพทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต เมื่อเดินทางกลับได้พบชาณุสโสณิพราหมณ์และเล่าให้ฟังถึงการที่พระผู้มีพระภาคทรงยุบธรรมะ ๕ อย่างมาไว้ที่จิตเป็นบริขารของจิต อันไม่มีเวร ไม่คิดเบียดเบียน ชาณุสโสณิพราหมณ์ก็ลงจากรถเทียมด้วยม้าขาว ทำผ้าห่มเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไปยังทิศทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ เปล่งอุทานว่า เป็นลาภของพระเจ้าปเสนทิโกศลที่มีพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในแคว้น.
๕๐. สคารวสูตร
สูตรว่าด้วยสคารวมาณพ
๑ . พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่. สมัยนั้นนางพราหมณีมีนามว่า ธนัญชานี อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชื่อปัจจลกัปปะ นางเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อพลาดล้ม ก็เปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า มโน ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสฺมพุทฺธสฺส. สมัยนั้น สคารวมาณพซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเวททั้งสามได้ฟังว่า นางพราหมณี ธนัญชานี กล่าวถ้อยคำอย่างนั้น ก็กล่าวว่า นางพราหมณี ธนัญชานีเป็นผู้ตกต่ำล่มจม ทั้ง ๆ ที่มีพราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท ก็ยังกล่าวคุณของสมณะศีรษะโล้น. นางตอบว่า ถ้าท่านรู้ถึงศีลและปัญญาของพระผู้มีพระภาค ก็จะไม่สำคัญเห็นว่าพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ควรด่าควรบริภาษเลย. มาณพจึงสั่งว่า ถ้าสมณะมาหมู่บ้านนี้ ก็พึงบอกแก่ข้าพเจ้า. นางพราหมณีก็รับคำ.
๒. ต่อมาเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล ทรงแวะพัก ณ หมู่บ้านชื่อปัจจกัปปะประทับ ณ ป่ามะม่วงของโตเทยยพราหมณ์ นางธนัญชานีพราหมณีจึงไปแจ้งให้สคารวมาณพทราบ. สคารวมาณพได้ทราบก็ไปเฝ้าทูลถามว่า พระโคดมเป็นพวกไหนของสมณพราหมณ์ ที่ปฏิญญาถึงเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ว่าตนรู้แจ้งในปัจจุบัน อยู่จบพรหมจรรย์ บรรลุถึงความเป็นผู้ถึงฝั่งอย่างสมบูรณ์. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พระองค์ตรัสว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีต่าง ๆ กัน คือที่เป็นพวกฟังสืบ ๆ กันมาก็มี เช่น พวกพราหมณ์ที่รู้วิชา ๓ ( รู้ไตรเวท), ที่ปฏิญญาถึงเบื้องแห่งพรหมจรรย์ ด้วยเหตุสักว่า ควาวมเชื่อก็มี เช่น พวกนักเดา นักคิดพิจารณา , ที่รู้แจ้งธรรมด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนก็มี พระองค์อยู่ในพวกหลังนี้.
๓. ครั้นแล้วตรัสเล่าพระดำริตั้งแต่ยังมิได้เสด็จออกผนวช เห็นโทษของการครองเรือน แล้วเสด็จออกผนวชจนถึงทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา แล้วทรงเลิกทุกกรกิริยาจนได้บำเพ็ญฌานและได้วิชชา ๓ ใน ๓ ยามแห่งราตรี ( ดูที่พระสัตตันตะ เล่ม ๔ หน้า ๔ ) ข้อความพิสดารเช่นเดียวกับในมหาสัจจกสูตร
๔. มาณพได้ทูลได้ทูลถามถึงเรื่องเทวดาอีกเล็กน้อย เมื่อตรัสตอบแล้ว ก็ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
จบวรรคที่ ๕ และจบความย่อแห่งพระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๓
________________________________________
๑. ในเรื่องใช้คำว่า เทพ ว่าพรหมธรรมดา ในตอนสรุปใช้คำว่า อธิเทพ อธิพรหม คำว่า อธิ แปลได้ว่า ใหญ่ , หรือยิ่ง
๒. พระอานนท์เห็นวิฑูฑภเสนาบดี ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าปเสนทิสอดถาม จึงตอบสอดบ้าง ถือว่าเป็นเรื่องของลูกควรจะพูด. พระะเจ้าปเสนทิยังไม่รู้จัก ถึงกับทูลถามชื่อต่อพระผู้มีพระภาค และตรัสชมเชยตอบพระอานนท์
๓ การเลี้ยงพระแบบอินเดีย แม้พระมาก ก็ไม่ต้องเตรียมภาชนะสำหรับพระเลย เพราะมีอะไรกี่อย่างก็ใส่ลงไปในบาตทั้งหมด พระคงฉันในบาตรทั้งของคาวหวาน ที่ต้องเตรียมก็มีบ้าง เช่น ภาชนะอาหาร , เตาหุงหาอาหาร ภาชนะใส่น้ำ, การปูอาสนะ, การเตรียมฟืนทำเชื่อไฟ
๔. เข้าลักษณะถวายนิตยภัตต์ และพึงเห็นเป็นหลักฐานในพระไตรปิฎกที่ใช้คำว่า นิจจภิกขา แทนคำว่าเงินประจำ
๕. เมื่อยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง เพียงแต่มีความเชื่อ ก็ควรพูดเพียงว่า มีความเชื่ออย่างนี้ อย่าเพิ่งยืนยันเด็ดขาดลงไปว่า นี่จริง อย่างอื่นไม่จริง เป็นการสอนเรื่องความเชื่ออย่างดียิ่ง
๖. อรรถกถาอธิบายว่า พราหมณ์แม้มีทรัพย์นับจำนวนโกฏิ ก็ควรเที่ยวขออาหารบริโภค
๗. พวกพราหมณ์รังเกียจบรรพชิตที่โกนศีรษะ มักให้ร้ายต่าง ๆ ถือว่าเป็นชาติต่ำเลวทราม เกิดจากเท้าของพระพรหม
เล่มที่ ๑๔ ชื่อมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
เป็นสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖
หน้า ๑
พระไตรปิฎกเล่มนี้ เป็นเล่มที่ ๓ หรือ เล่มสุดท้ายของมัชฌิมนิกาย หรือนัยหนึ่งสูตรขนาดกลาง เมื่อเริ่มลำดับมัชฌิมนิกายจากเล่มแรกเป็นโคน ( มูล ) เล่มต่อมาเป็นท่อนกลาง ( มัชฌิมะ ) เล่มนี้ซึ่งเป็นเล่มสุดท้าย จึงชื่อว่ามัชฌิมนิกาย อุปริปันณณาสก์ ( ๕๐ สูตรเบื้องบน อันเทียบได้กับส่วนปลายของต้นไม้ ) ในเล่มนี้มี ๕ วรรค วรรคละ ๑๐ สูตร คงพิเศษอยู่วรรคเดียว คือ วิภังควรรค ซึ่งมีถึง ๑๓ สูตร เมื่อรวมจำนวนสูตรในมัชฌิมนิกายทั้งสาม เล่มเข้าด้วยกัน เล่มที่ ๑๓ มี ๔๐ สูตร และเล่มนี้ คือเล่มที่ ๑๔ มี ๕๒ สูตร จึงเป็น ๑๕๒ สูตร.
ขึ้นวรรคที่ ๑ ชื่อเทวทหวรรค ( วรรคมีเทวทหสูตรเป็นสูตรแรก)
๑. เทวทหสูตร
สูตรว่าด้วยเหตุการณ์ในเทวทหนิคม
๑. พระผู้มีพระภาคประทับในนิคมเทวทหะ แคว้นสักกะ ณ ที่นั้นได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า มีสมณพราหมณ์บางพวกมีความเห็นว่า สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุขที่บุคคลเสวยทั้งปวง เนื่องมาจากเหตุที่ทำไว้ในกาลก่อน เมื่อกรรมเก่าหมดไป ไม่ทำกรรมใหม่ ไม่มีกิเลสต่อไปอีก ก็สิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม ก็สิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ก็สิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ทุกข์ทั้งปวงก็ทำลายไปหมด. ผู้มีวาทะอย่างนี้เป็นพวกนิครนถ์ ( นักบวชพวกหนึ่ง มีนิครนถนาฏบุตรเป็นหัวหน้า )
๒. ตรัสเล่าว่า พระองค์เสด็จเข้าไปหาพวกนิครนถ์เหล่านั้น ถามว่า พวกท่านมีความเห็นอย่างนั้นจริงหรือ ถ้าพวกนั้นรับว่าจริง ก็จะตรัสถามว่า รู้หรือไม่ว่าได้เคยเป็นอะไร หรือไม่เคยเป็นอะไร ในกาลก่อนเคยทำบาปกรรมหรือไม่เคยทำในกาลก่อน รู้หรือไม่ว่าทุกข์ที่หมดไปแล้วมีเท่านี้ ทุกข์ที่จะพึงทำให้หมดไปมีเท่านี้ เมื่อทุกข์หมดไปเท่านี้แล้ว ทุกข์ทั้งปวงจึงจักหมดไป รู้หรือไม่ว่าการละอกุศลธรรม การทำกุศลธรรม ให้พร้อมย่อมมีได้ในปัจจุบัน ก็ตอบว่า ไม่รู้ทุกคำถาม. พระองค์จึงตรัสต่อไปว่า เมื่อไม่รู้ก็ไม่ควรจะยืนยันว่า สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุขทั้งปวง เนื่องมาจากเหตุที่ทำไว้ในกาลก่อน. เปรียบเหมือนคนที่ถูกยิงด้วยลูกศร เมื่อหมอผ่าตัดถอนลูกศรออก เอาไฟย่างปากแผล เมื่อหายแล้วก็ยังนึกออกถึงเวทนาที่เคยได้รับในการถูกยิงในการผ่าตัดและในการย่างปากแผล แต่พวกนิครนถ์ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เกี่ยวกับการเกิดหรือกระทำในกาลก่อนจะกล่าวยืนยันว่า เวทนาที่ได้รับ เนื่องมาจากเหตุที่ทำไว้ในกาลก่อนอย่างไร.
๓. พวกนิครนถ์แย้งว่า นิครนถ์นาฏบุตรเป็นสัพพัญญู รู้เเจ้งเห็นจริงสิ่งทั้งปวง กล่าวไว้อย่างนี้ และพวกเราก็พอใจเห็นด้วย. จึงตรัสตอบนิครนถ์พวกนั้นว่า ธรรม ๕ ประการ คือ ความเชื่อ, ควาวมพอใจ, การฟังสืบ ๆ มา , การตรึกตามอาการ , ความชอบใจตรงตามความเห็นของตน มีผลเป็น ๒ ทาง ( คือผิดก็ได้ถูกก็ได้ เป็นการเตือนไม่ให้ติดความเชื่อ ความพอใจ เป็นต้น ).
๔. ครั้นแล้วตรัสถามว่า ในสมัยใดมีความพยายาม ความเพียรกล้า ในสมัยกล้า ในสมัยนั้นย่อมได้เสวยทุกข์เวทนากล้า แต่สมัยใดความพยายาม ความเพียรไม้กล้า ในสมัยนั้นก็มิได้เสวยเวทนาทุกขเวทนากล้าใช่หรือไม่ เมื่อพวกนิครนถ์ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น ( อันเป็นการยอมรับว่าตนสร้างทุกขเวทนาขึ้นเองในปัจจุบัน ขัดกันกับหลักการที่ว่า เวทนาเกิดมาจากการกระทำในกาลก่อน ). พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ควรกล่าวว่า เวทนาทุกชนิด เนื่องมาจากเหตุที่กระทำไว้ในกาลก่อน .
๕. ตรัสถามว่าพวกนิครนถ์ว่า ด้วยความพยายามและความเพียร จะสามารถเปลี่ยนกรรมที่จะให้ผลในปัจจุบันหรือให้ผลในชาติหน้า หรือให้ผลเป็นทุกข์ กลายเป็นตรงกันข้ามจะได้หรือไม่ ตอบว่า ไม่ได้ จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นความพยายามความเพียรของพวกนิครนถ์ก็ชื่อว่าไร้ผล.
๖. ตรัสกับภิกษุทั้งหลายต่อไปว่า พวกนิครนถ์ที่มีความเห็นอย่างนี้ ย่อมถูกติเตียนโดยฐานะ ๑๐ คือติเตียนโดยฐานะ ๑๐ คือ ๑. ถ้าสัตว์เสวยสุขทุกข์ เพราะเหตุที่ทำไว้ในกาลก่อน พวกนิครนถ์ ( ที่ได้รับทุกข์หนักเพราะทรมานตัว ) ก็คงทำกรรมชั่วไว้ ๒. ถ้าสัตว์เสวยสุขทุกข์ เพราะท่านผู้เป็นใหญ่สร้าง ( หรือบันดาล ) ท่านผู้เป็นใหญ่ก็คงจะชั่วชาติ จึงสร้างให้พวกนิครนถ์ได้รับทุกข์ ๓. ถ้าสัตว์เสวยสุขทุกข์ เพราะเหตุบังเอิญ พวกนิครนถ์ก็ประสบเหตุบังเอิญที่ชั่ว เพราะได้รับทุกขเวทนาอย่างหนัก ๔. ถ้าสัตว์เสวยสุขทุกข์ เพราะชาติกำเนิด ชาติกำเนิดของนิครนถ์ก็คงจะชั่ว จึงทำให้เสวยทุกขเวทนาหนัก. ๕. ถ้าสัตว์เสวยสุขทุกข์ เพราะความพยายามในความปัจจุบัน ความพยายามในปัจจุบันของพวกนิครนถ์ก็คงจะชั่ว จึงทำให้เสวยทุกข์เวทนาหนัก ๖. ถ้าสัตว์เสวยสุขทุกข์ เพราะเหตุที่ทำไว้ในกาลก่อน หรือมิใช่เพราะเหตุที่ทำไว้ในกาลก่อน พวกนิครนถ์ก็ถูกติเตียน ๗. ถ้าสัตว์เสวยสุขทุกข์ เพราะท่านผู้เป็นใหญ่สร้างหรือไม่ก็ตาม พวกนิครน์ก็ถูกติเตียน ๘. ถ้าสัตว์เสวยสุขทุกข์ เพราะเหตุบังเอิญหรือไม่ก็ตาม พวกนิครนถ์ก็ถูกติเตียน ๙. ถ้าสัตว์เสวยสุขทุกข์ เพราะชาติกำเนิดหรือไม่ก็ตาม พวกนิครนถ์ก็ถูกติเตียน ๑๐. ถ้าสัตว์เสวยสุขทุกข์ เพราะความพยายามในปัจจุบันหรือไม่ก็ตาม พวกนิครนถ์ก็ถูกติเตียน ( เพราะลัทธิของพวกนี้คือทรมานตัวให้ได้รับความลำบาก).
๗. ครั้นแล้วทรงแสดงวิธีที่ความพยายาม ความเพียรจะมีผล คือไม่ปล่อยตัวให้ทุกข์ครอบงำไม่สละสุขที่ถูกธรรม ไม่ติดอยู่ในสุขนั้น มีปัญญารู้เห็นตามเป็นจริง ก็จะคลายความกำหนัดยินดีเสียได้ ความทุกข์ก็จะหมดไปได้. ความพยายาม ความเพียร จึงชื่อว่ามีผล. ( ตอนนี้เป็นการแสดงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ).
๘. ทรงแสดงต่อไปว่า ภิกษุพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า ถ้าอยู่สบาย อกุศลธรรมจะเจริญ กุศลธรรมจะเสื่อม ถ้าตนไว้ในทุกข์ อกุศลธรรมจะเสื่อม กุศลธรรมจะเจริญ ก็จะตั้งตนไว้ในทุกข์ เพื่อให้อกุศลธรรมเสื่อม และเพื่อให้กุศลธรรมเจริญ. แต่ในสมัยอื่นจะไม่ทำเช่นนั้น เพราะสำเร็จประโยนช์แล้วจึงไม่ต้องทำเช่นนั้นอีก เปรียบเหมือนช่างศรอย่างลูกศร ดัดลูกศรที่ง่ามไม้ ทำให้ตรงใช้การได้ ภายหลังก็ไม่ต้องย่าง หรือดัดซ้ำอีกอย่างนี้ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่ความพยายามความเพียรชื่อว่ามีผล.
๙. ครั้นแล้วทรงแสดงถึงการมีบุคคลออกบวช เว้นความชั่ว มีศีล สำรวมอินทรีย์ เจริญสมาธิละนีวรณ์ ๕ บำเพ็ญฌาณทั้งสี่ ได้วิชชา ๓ มีอาสวักขยฌาณ (ความรู้อันทำให้สิ้นอาสวะ ) เป็นที่สุด ความพยายาม ความเพียร ก็ชื่อว่ามีผลเป็นข้อ ๆ มา.
๑๐. ทรงแสดงในที่สุดว่า พระคถาคตได้เสวยสุขเวทนาอันไม่มีอาสวะ (ตรงกันข้ามกับนิครนถ์ที่เสวยทุกขเวทนาอันหนัก ) จึงได้รับการสรรเสริญทั้งสิบ ฐานะ ( ตรงกันข้ามกับการที่พวกนิครนถ์ถูกติเตียนทั้งสิบฐานะดั่งกล่าวแล้ว ตามข้อ ๖).
๒. ปัญจัตตยสูตร
สูตรว่าด้วยความเห็น ๕ ประการที่จัดเป็นประเภทได้ ๓
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ตรัสแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายถึงสมณพราหมณ์บางพวกที่มีความเห็นปรารภส่วนสุดเบื้องปลาย ( เมื่อตาย ) คือ ๑. อัตตาที่มีความจำได้หมายรู้ ย่อมไม่มีโรคหลังจากตายแล้ว ๒. อัตตาที่ไม่มีความจำได้หมายรู้ ย่อมไม่มีโรคหลังจากตายแล้ว ๓. อัตตาที่มีความจำได้หมายรู้ก็ไม่ใช่ ไม่มีความจำได้หมายรู้ก็ไม่ใช่ ย่อมไม่มีโรคหลังจากตายแล้ว ๔. บางพวกบัญญัติความขาดสูญของสัตว์ที่เป็นอยู่ ๕. บางพวกบัญญัตินิพพานในปัจจุบัน ๑ . ความเห็นทั้งห้าประการนี้จัดได้เป็น ๓ ประเภท คือ ๑. บัญญัติตนว่าไม่มีโรคหลังจากตาย ๒. บัญญัติความขาดสูญของสัตว์ ๓. บัญญัตินิพพานในปัจจุบัน.
๒. ครั้นแล้วทรงแจกรายละเอียดแห่งความเห็น ๕ ประการนั้น และตรัสรูปในตอนท้ายว่า ตถาคตรู้เท่า เห็นความถอนตัวจากความเห็นนั้น ๆ ได้ จึงก้าวล่วงความเห็นนั้น. แล้วได้ทรงแสดงถึงความเห็นปรารภเบื้องปลาย และความเห็นปรารภเบื้องต้น แล้วชี้ให้เห็นว่าตถาคตมีความไม่ยึดมั่นถือมั่น หลัดพ้น ( อนุปาทาวิโมกข์).
๓. กินติสูตร
สูตรว่าด้วยความคิดว่า “ เป็นอย่างไร ”
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ราวป่า อันเป็นที่นำพลีกรรมไปทำพิธี ใกล้กรุงกุสินารา ณ ที่นั้นได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ความคิดเห็นในพระองค์เป็นอย่างไร คือเห็นว่าพระองค์ทรงแสดงธรรม เพราะเหตุแห่งจีวร , บิณฑบาต , เสนาสนะ , ความเป็นนั้นเป็นนี่ หรือไม่เป็นนั้นเป็นนี่อย่างนั้นหรือ. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า มิได้คิดเช่นนั้น.
๒. ตรัสต่อไปว่า เมื่อไม่คิดเช่นนั้น เธอคิดอย่างไรเล่า กราบทูลว่า คิดว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมด้วยความอนุเคราะห์. จึงตรัสว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ท่านทั้งหลายทั้งปวงก็พึงพร้อมเพียงไม่วิวาทกัน ศึกษาในสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น จนถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ ( โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ) เมื่อศึกษาอย่างนี้ ถ้าภิกษุ ๒ รูป มีวาทะต่างกันในอภิธรรม ๒ ก็พึงเข้าไปหาภิกษุที่ว่าง่ายกว่า พูดให้รู้ถึงความต่างกันโดยอรรถะพยัญชนะ เตือนว่าอย่าให้วิวาทกัน อันไหนถือมาผิด ( หรือเรียนมาผิด ) ก็พึงทรงจำไว้แล้วกล่าวแต่ที่เป็นธรรมเป็นวินัย.
๓. ต่อจากนั้นทรงแสดงเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ภิกษุผู้มีวาทะต่างกันโดยอรรถะ เสมอกันโดยพยัญชนะบ้าง , เสมอกันโดยอรรถะ ต่างกันโดยพยัญชนะบ้าง, เสมอกันทั้งโดยอรรถะทั้งพยัญชนะบ้าง ควรเข้าไปหาฝ่ายที่ว่าง่าย แล้วชี้แจงและทรงจำไว้ให้ดี กล่าวแต่ที่เป็นธรรมเป็นวินัย.
๔. ต่อจากนั้นทรงแสดงว่า เมื่อภิกษุพร้อมเพรียงกันศึกษาอยู่ มีภิกษุรูปใดรูปหนึ่งต้องอาบัติ ก็ยังไม่พึงโจทท้วง พึงพิจารณาตัวบุคคลก่อน ถ้าพอว่ากล่าวได้ไม่ยุ่งยาก ก็พึงว่ากล่าว ถ้าจะยุ่งยาก เกิดการเบียดเบียน ก็พึงวางเฉย.
๕. ถ้ามีปากเสียงกัน มีความไม่พอใจเกิดขึ้น ก็พึงกล่าวกะภิกษุผู้ว่าง่าย ให้เห็นโทษว่าสมณะพึงติเตียน , ไม่ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน, เมื่อภิกษุอื่นถามว่า อาจจะทำให้ภิกษุเหล่านั้นออกจากอกุศล ตั้งอยู่ในกุศลได้หรือไม่ ถ้าจะตอบให้ดี ก็พึงตอบว่า เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค สดับธรรมที่ทรงแสดงแล้ว กล่าวธรรมนั้น แก่ภิกษุเหล่านั้น พวกเธอก็ออกจากอกุศล ตั้งอยู่ในอกุศลได้. ตอบอย่างนี้ไม่เป็นการยกตน ( ว่าสามารถ ) ไม่เป็นการข่มผู้อื่น ( ว่าไม่สามารถ ) และก็จะไม่ถูกตำหนิ.
๔. สามคามสูตร
สูตรว่าด้วยเหตุการณ์ที่เกิดในหมู่บ้านชื่อสามะ
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ สามคาน แคว้นสักกะ ครั้งนั้นนิครนถนาฏบุตรถึงแก่กรรมในกรุงปาวาแล้วไม่นาน สาวกก็แตกกัน ทะเลาะกัน พระจุนทะเข้าไปหาพระอานนท์เล่าความให้ฟัง พระอานนท์จึงนำเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลเรื่องราว และแสดงความปรารถนาที่จะเห็นว่าไม่มีการวิวาทเกิดขึ้นในสงฆ์ซึ่งเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก.
๒. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสแก่พระอานนท์ ทรงแสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ , มูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท ๖ ประการ, อธิกรณ์ ๗ อย่าง, และในที่สุดได้ทรงแสดงธรรมสำหรับอยู่รวมกัน ๖ ประการที่เรียกว่าสาราณิยธรรม อันเป็นไปเพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์และมีเมตตาต่อกัน เพื่อสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ๔ .
๕. สุนักขัตตสูตร
สูตรว่าด้วยสุนักขัตตลิจฉวี
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ศาลาเรือนยอด ในป่าใหญ่ใกล้กรุงเวสาลี สมัยนั้นภิกษุหลายรูปพยากรณ์อรหัตตผลในสำนักพระผู้มีพระภาค ( คือพูดว่าตนเป็นพระอรหันต์ ) สุนักขัตตลิจฉวีได้ทราบ จึงเข้าไปกราบทูลถามว่า ภิกษุพวกนั้นพยากรณ์โดยชอบ ( ได้บรรลุจริง ๆ ) หรือสำคัญผิดว่าได้บรรลุ . ตรัสตอบว่ามีทั้งสองประเภท แต่ประเภทที่สำคัญผิดว่าได้บรรลุ ตถาคตก็คิดว่าจักแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น ส่วนผู้ที่แต่งปัญหาเข้ามาถามตถาคต ( เพื่อลองดี ) แม้ตถาคตคิดว่าจักแสดงธรรมแก่เขา ความคิดนั้นก็เป็นอย่างอื่น ( คือรู้สึกว่าฝ่ายหนึ่งเข้าใจผิด อีกฝ่ายหนึ่งตั้งอยู่ในอิจฉาจาร คือความอยาก ความปรารถนาเป็นตัวนำ).
๒. เมื่อสุนักขัตตลิจฉวีกราบทูลขอให้ทรงแสดงธรรมเพื่อภิกษุทั้งหลายจักได้ทรงจำไว้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงเรื่องกาม ๕ คือ รูป เสียง เป็นต้น ที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ แล้วทรงแสดงถึงฐานะที่อาจเป็นไปได้ที่บุคคลผู้น้อมไปในโลกามิส ( เหยื่อล่อของโลกมีรูป เสียง เป็นต้น) ย่อมพูดย่อมตรึกตรองแต่เรื่องประเภทนั้น คบบุคคลที่น้อมจิตไปในโลกามิสด้วยกัน ไม่สนใจฟังถ้อยคำที่เนื่องด้วย ( ฌานสมาบัติที่เป็น ) อาเนญชะ ๕ ( คือไม่หวั่นไหว ) ไม่คบบุคคลที่มีใจน้อมไปในอาเนญชะนั้น จึงพึงทราบว่าได้ว่าเป็นผู้น้อมไปในโลกามิส.
๓. ครั้นแล้วได้ทรงแสดงต่อไปถึงฐานะที่อาจเป็นไปได้ ที่ผู้น้อมจิตไปในอาเนญชะ , ในอากิญจัญญายตนะ ( อรูปสมาบัติที่ ๓ ), ในเนวสัญญานาสัญญายตนะ ( อรูปสมาบัติที่ ๔ ) ๖ และในสัมมานิพพาน ( สภาพที่ดับกิเลสและความทุกข์โดยชอบ ) แต่ละข้อ ย่อมพูด ย่อมตรึกตรองแต่เรื่องที่ตนสนใจ ไม่สนใจฟังในเรื่องที่ต่ำกว่า ( ระบุชื่อเป็นชั้น ๆ จนถึงสัมมานิพพานซึ่งถือว่าสูงสุด ) จึงพึงทราบได้ว่าเป็นผู้น้อมไปในอาเนญชะ. ในอากิญจัญญายตนะ เป็นต้น จนถึงสัมมานิพพาน.
๔. แล้วทรงแสดงถึงฐานะที่อาจเป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปรู้ว่า ลูกศรคือตัณหาอันพระสมณะ ( พระพุทธเจ้า ) ได้ตรัสไว้ พิษร้ายคืออวิชชา ย่อมกำเริมเพราะฉันทราคะ ( ความกำหนัดเพราะพอใจ ) และพยาบาท ( ความคิดปองร้าย ) ถ้าละลูกศรคือตัณหาได้ นำพิษร้ายคืออวิชชาออกได้ ตนก็จะน้อมไปในสัมมานิพพาน แต่ก็ประกอบเนือง ๆ ในทางที่แสลงต่อสัมนิพพาน จึงถูกราคะครอบงำจิตถึงความตาย ( จากศาสนา ) หรือทุกข์ปางตาย ( ต้องอาบัติเศร้าหมองอื่น ๆ ) และทรงแสดงภิกษุที่ตรงกันข้าม คือรู้แล้วไม่ประกอบเนือง ๆ ในทางที่แสลงต่อสัมมานิพพานจึงไม่เป็นเช่นนั้น . ทรงเปรียบเหมือนคนถูกลูกศรไปให้หมอผ่าตัดถอนเอาลูกศรออกแล้ว แต่กินของแสลง และไม่รักษาปากแผลให้ดี แผลก็อาจกำเริมทำให้ถึงตาย หรือทุกข์ปางตายได้ และเหมือนบุคคลที่ไม่กินของแสลง รักษาปากแผลดี แผลก็ไม่กำเริบ.
๕. ตรัสต่อไปว่า ภิกษุผู้สำรวมในอายตนะ ๖ ( มี ตา, หู เป็นต้น ) รู้ว่ากิเลสเป็นรากของความทุกข์ เป็นผู้ไม่มีกิเลส หลุดพ้นเพราะสิ้นกิเลสแล้ว ก็มิใช่ฐานะที่จะนำกายเข้าไปเกลือกกลั้วในสิ่งที่ตั้งแห่งกิเลสและคิดในทางที่เป็นกิเลส เปรียบเหมือนคนรู้ผู้รักชีวิตย่อมไม่ดื่มยาพิษ ไม่ยื่นมือ หรือหัวแม่มือ หัวแม่เท้า เข้าหางูพิษ.
๖. อาเนญชสัปปายสูตร
สูตรว่าด้วยปฏิปทาเป็นที่สบายแก่อาเนญชะ ๖
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิคมชื่อกัมมาสธัมมะ แคว้นกุรุ ณ ที่นั้น ได้ตรัสชี้ให้เห็นโทษของกามและกามสัญญา ( ความกำหนดหมายเกี่ยวกับกาม ) ว่า ทั้งสองอย่างนี้เป็นบ่วงมาร , เป็นวิสัยของมาร, เป็นเหยื่อล่อของมาร , เป็นที่โคจรของมาร.
๒. ทรงแสดงว่าอริยสาวกพิจารณาเห็นอย่างนี้ อยู่ด้วยจิตอันเป็นมหัคคตะ ( เป็นฌาน ) เมื่อตายไปก็มีฐานะที่วิญญาพึงเข้าถึงอาเนญชะ ( ความเป็นสภาพที่ไม่หวั่นไหว ) นี้จัดเป็นข้อปฏิบัติที่ ๑ อันเป็นที่สบายแก่ ( เข้ากันได้กับ ) อาเนญชะ.
๓. ทรงแสดงข้อปฏิบัติที่ ๒ อันเป็นที่สบายแก่อาเนญชะ เช่นข้อแรก แต่เพิ่มการพิจารณารูป ทั้งมหาภูตรูป ( รูปใหญ่ได้แก่ธาตุทั้งสี่ ) และอุปาทายรูป ( รูปที่ปรากฏเพราะอาศัยธาตุทั้งสี่ ).
๔. ทรงแสดงข้อปฏิบัติที่ ๓ อันเป็นที่สบายแก่อาเนญชะ แต่เพิ่มการพิจารณารูปและรูปสัญญา ( ความกำหนดหมายรูป ) ให้เห็นไม่เที่ยง ไม่ควรยินดี .
๕. ทรงแสดงข้อปฏิบัติที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ อันเป็นที่สบายแก่อากิญจัญญายตนะ ( อรูปสมาบัติที่ ๓ ) ว่า ได้แก่ ๑. การที่อริยสาวกพิจารณาเห็นว่า กาม, กามสัญญา , รูป, รูปสัญญา , อาเนญชสัญญา ดับไม่มีเหลือ ในอากิญจัญญายตนะ ( สมาบัติหรือฌานที่มีความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ ). พิจารณาเห็นว่าอากิญจัญญายตนะ ว่างจากตน จากสิ่งที่เนื่องด้วยตน และ ๓. พิจารณาเห็นว่า เราไม่มีในที่ไหน ๆ , เราไม่เกี่ยวข้องกับใคร ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับเราในที่ไหน ๆ , เราไม่มีเกี่ยวข้องอะไรเลย ( พิจารณาความไม่มีอะไร ๔ แง่ ).
๖. ทรงแสดงข้อปฏิบัติที่เป็นที่สบายแก่เนวสัญญานาสัญญายตนะ ( อรูปสมาบัติที่ ๔ ) ว่า ได้แก่การที่อริยสาวกพิจารณาเห็นว่า กาม , กามสัญญา , รูป , รูปสัญญา, อาเนญชสัญญา ดับไม่มีเหลือในเนวสัญญานาสัญญายตนะ (สมบัติที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่).
๗. พระอานนท์กราบทูลถามว่า ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้วางเฉยได้ จะพึงปรินิพพานหรือไม่ปรินิพพาน . ตรัสตอบว่า ปรินิพพานก็มี ไม่ปรินิพพานก็มี . ที่ไม่ปรินิพพานก็เพราะยังมีอุปาทาน คือยืดมั่นเนวสัญญานาสัญญายตนะ ที่ปรินิพพานก็เพราะไม่มีอุปาทาน.
๘. พระอานนท์กราบทูลถามว่า ความหลุดพ้นอันเป็นอริยะ ( อริยวิโมกข์ ) เป็นอย่างไร ตรัสตอบว่า ได้แก่อมตะ คือความหลุดพ้นแห่งจิต เพราะไม่ยืดมั่นสิ่งต่าง ๆ ที่รวมเรียกว่าสักกะ ( กายของตน ) คือ กาม, กามสัญญา, รูป, รูปสัญญา, อาเนญชสัญญา, อากิญจัญญายตนสัญญาและเนวสัญญานาสัญญาตนสัญญา.
๙. ครั้นแล้วตรัสชี้แจงว่า นั่นโคนไม้, นั่นเรือนไม้, นั่นเรือนว่าง, ท่านทั้งหลายจงเพ่ง, จงอย่าประมาท, จงอย่าเดือดร้อนในภายหลัง. นี้แลคืออนุสาสนีของเรา.
๗. คณกโมคคัลลานสูตร
สูตรว่าด้วยพราหมณ์ชื่อคณกโมคคัลลานะ
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขาในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี ตรัสตอบเรื่องอนุปพพสิกขา ( ข้อศึกษาโดยลำดับ ) อนุปพพปฏิปทา ( ข้อปฏิบัติโดยลำดับ ) ในพระธรรมวินัยนี้ แก่คณกโมคคัลลานพราหมณ์ผู้ทูลถาม โดยชี้ไปที่:-
๑. การมีศีลสำรวมในปฏิโมกข์ ( ศีลที่เป็นประธาน )
๒. การสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๓. ความเป็นผู้รู้ประมาณในอาหาร
๔. การประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น ( ไม่เห็นแก่นอนมากนัก )
๕. การมีสติสัมปชัญญะ ๖. การบำเพ็ญสมาธิชำระจิตจากนีวรณ์ ๕
๗. การสงบจากกาม จากอกุศลธรรม บำเพ็ญฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔
๒. พราหมณ์ถามว่า พระนิพพานมีอยู่ ทางไปสู่พระนิพพานมีอยู่ พระสมณโคดมผู้ทรงชักชวนให้ไปก็มีอยู่ เหตุไฉนบางคนที่ได้รับคำสั่งสอนแล้วจึงได้บรรลุ บางคนจึงมิได้บรรลุ. ตรัสตอบว่า เหมือนชี้ทางให้คนไปกรุงราชคฤห์ แต่ไปทางอื่นเสียก็ไปไม่ถึง ถ้าไปถูกทางตามที่ชี้ก็ถึงได้. คนกโมคคัลลานพราหมณ์ กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
๘. โคปกโมคคัลลานสูตร
สูตรว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโมคคัลลานะ
๑. พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วไม่นาน พระอานนท์อยู่ในเวฬวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ พระเจ้าอชาตศัตรูกำลังให้ซ่อมแซมกรุงราชคฤห์ เพื่อทรงต้อนรับพระเจ้า ( จัณฑ ) ปัชโชต ( ผู้เป็นสหายของพระเจ้าพิมพิสารพระราชบิดา ) พระอานนท์แวะไปสนทนากับโคปโมคคัลลานพราหมณ์ ( ซึ่งกำลังอยู่ที่โรงงาน). พราหมณ์ถามถึงภิกษุผู้มีคุณธรรมเท่าพระพุทธเจ้าว่า มีหรือไม่ ตอบว่า ไม่มี แล้วชี้ว่า พระพุทธเจ้าทรงชี้ทางพระสาวกเป็นผู้ดำเนินตามทาง.
๒. วัสสการพราหมณ์ตรวจงานมาพบ จึงถามว่า พระศาสดาทรงตั้งใครเป็นที่พึ่งที่ระลึกแทนพระองค์ . ตอบว่า ไม่ได้ทรงตั้งใคร. ถามว่า มีใครที่สงฆ์แต่งตั้งให้เเทนหรือไม่ ตอบว่า ไม่มี. ถามว่าถ้าอย่างนั้น ก็ไม่มีที่พึ่งที่ระลึก. ตอบว่า มี คือมีพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก. พราหมณ์ขอให้อธิบาย จึงอธิบายถึงการที่ภิกษุประชุมกันสวดปาฏิโมกข์ จัดการกับภิกษุที่ต้องอาบัติ ไม่ใช่ถือว่าบุคคลจัดการ แต่พระธรรมจัดการ. เมื่อถามว่า มีภิกษุสักรูปหนึ่งไหมที่ท่านเคารพนับถืออยู่อาศัย ตอบว่า มี. ถามว่า เมื่อตอบปฏิเสธว่า ไม่มีใครแทนพระพุทธเจ้า แล้วกลับตอบรับว่า มีผู้ที่ท่านเคารพนับถืออยู่อาศัย จะหมายความอย่างไร.
๓. พระอานนท์จึงตอบว่า พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมะที่น่าเลื่อมใส ๑๐ ประการไว้ ธรรมเหล่านี้ มีในผู้ใด เราย่อมเคารพนับถืออยู่อาศัยผู้นั้น. ธรรมะ ๑๐ ประการ คือ ๑. มีศีล ๒. มีการสดับมาก ๓. ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ( สันโดษ ) ๔. ได้ฌาน ๔ ตามต้องการ ๕. แสดงฤทธิ์ได้ ๖. มีหูทิพย์ ๗. กำหนดรู้จิตใจของผู้อื่น ๘. ระลึกชาติได้ ๙. มีตาทิพย์ ๑๐. ทำอาสวะให้สิ้น.
๔. วัสสการพราหมณ์ถามอุปนนทเสนาบดีว่า ท่านเหล่านี้ ชื่อว่าเคารพบูชาผู้ควรเคารพบูชาหรือไม่. เสนาบดียอมรับว่า เคารพบูชาผู้สมควร . วัสสการพราหมณ์จึงถามพระอานนท์ถึงที่อยู่ เมื่อทราบว่าอยู่ ณ เวฬุวนาราม ก็พูดเท้าความถึงพระผู้มีพระภาคเรื่องการบำเพ็ญฌาน โดยถามว่า พระโคดมทรงสรรเสริญฌาน ทุกชนิดหรือไม่. ตอบว่า มิได้ทรงสรรเสริญฌานทุกชนิด แต่จะไม่สรรเสริญฌานเสียทั้งหมดก็หาไม่. พระผู้มีพระภาคไม่ตรัสสรรเสริญผู้บำเพ็ญฌานอย่างไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับนีวรณ์ ๕ ( กิเลสอันกั้นจิตมิให้บรรลุความดี ) ปล่อยให้นีวรณ์ครอบงำ. ตรัสสรรเสริญภิกษุผู้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บำเพ็ญฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔.
๕. วัสสการพราหมณ์ยอมรับว่า พระโคดมทรงฒิฌานที่ควรติ ทรงสรรเสริญฌานที่ควรสรรเสริญแล้วลาไป. โคปกโมคคัลลานพราหมณ์พูดกับพระอานนท์ว่า ยังไม่ตอบคำของตน ( ในข้อ ๑ ) พระอานนท์ว่าตอบแล้ว คือไม่มีภิกษุที่มีคุณธรรมเท่าพระพุทธเจ้า . พระองค์เป็นผู้ชี้ทาง พระสาวกเป็นผู้ดำเนินตามทาง.
๙. มหาปุณณมสูตร
สูตรว่าด้วยคืนพระจันทร์เต็มดวง สูตรใหญ่
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขาในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี ประทับนั่งในที่แจ้ง แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ในคืนพระจันทร์เต็มดวง ๑๕ ค่ำ ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลถามเรื่องอุปาทานขันธ์ (ขันธ์ที่ยึดถือ ) ๕ อย่าง พระผู้มีพระภาคตรัสตอบโดยใจความ คือ:-
๑. ขันธ์ ๕ มีความพอใจเป็นมูล ๒. อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นอันเดียวกัน อุปาทานไม่อื่น จากอุปาทานขันธ์ ๕ คือความกำหนัดเพราะพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ จัดเป็นอุปาทาน ๓. มีความต่างกันแห่งความกำหนัดเพราะพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ เช่น ความคิดปรารถนาให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ในอนาคต ๔. คำว่า ขันธ์ หมายถึงขันธ์ ๕ ทั้งสามกาล ทั้งภายใน, ภายนอก, หยาบ, ละเอียด, เลว, ประณีต, ไกล, ใกล้ ๕. เหตุปัจจัยที่ให้บัญญัติขันธ์ ๕ คือธาตุ ๔ เป็นเหตุปัจจัยให้บัญญัติรูปขันธ์ (กองรูป ) ผัสสะ เป็นเหตุปัจจัยให้บัญญัติเวทนาขันธ์ , สัญญาขันธ์,และสังขารขันธ์ นามรูปเป็นปัจจัยให้บัญญัติวิญญาณ ๖. สักกายทิฏฐิ ๘ คือความเห็นรูปเป็นต้น ( ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๔ หน้า ๕) ในหัวข้อ๔๔ . จูฬเวทัลลสูตรหมายเลข ๒ ๗. สักกายทิฏฐิ จะไม่มีได้ ด้วยไม่เห็นว่ารูปเป็นตน เป็นต้น. ๘. ความสุขกาย สุขใจ เป็นอัสสาทะ ( ความพอใจ ) ในขันธ์ ๕, ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์แปรปรวน เป็นโทษในขันธ์ ๕, การละความกำหนัดเพราะพอใจ เป็นการหลุดพ้น หรือการถอนตัวในขันธ์ ๕ . ๙. ภิกษุรู้เห็นขันธ์ ๕ ตามเป็นจริง ไม่ยึดถือ ก็จะไม่มีอหังการ ( ความถือว่าเป็นเรา ) มมังการ ( ความถือว่าเป็นของเรา ) และมานะ ( ความถือตัว ) เป็นกิเลสแฝงตัว.
๒. ภิกษุรูปหนึ่งเกิดสงสัยว่า ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา ( ไม่ใช่ตัวตน ) กรรมที่อนัตตาเป็นผู้ทำ จะถูกต้องอัตตาอะไร จึงตรัสถามให้เธอเห็นทีละข้อว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดมั่นถืออย่างไร.
เมื่อจบพระธรรมเทสนา ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ( เป็นพระอรหันต์).
________________________________________
๑. คำว่า นิพพาน ในปัจจุบันพระพุทธศาสนาก็แสดงถึงเหมือนกัน แต่ในที่นี้ หมายถึงเข้าใจผิดว่า ความสุข บางชั้น เช่น สุขในกาม สุขในฌาน ว่าเป็นพระนิพพานในปัจจุบน
๒ คำว่า อภิธรรม ในที่นี้ อรรถกถาแก้ว่า ธรรมอันวิเศษยิ่ง คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ( ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๒ ในหัวข้อเสด็จป่ามหาวัน ) มีสติปัฏฐาน ๔ ( ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๒ หน้า ๔ ) ในหัวข้อ๙. มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นต้น
๔. ความสำคัญแห่งสูตรนี้ ได้กล่าวไว้แล้ว ( ดูที่ความน่ารู้เรื่องพระไตรปิฎกเรื่องพระจุนนเถระผู้ปรารถนาดี
๕. อรรถกถาแก้ว่า สมาบัติ ๖ เบื้องต่ำ ( รูปฌาน ๔ อรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ รวมเป็น ๖)
๖. ความหมายของอรูปสมาบัติทั้งสองข้อนี้ (ดูที่ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก) หมายเลข ๘ - ๙
๗. คำว่า อาเนญชะนี้ได้แก่อะไร เป็นปัญหาสำคัญยิ่งทางวิชาการ . ในสุนักขัตตสูตรที่ ๕ แสดงว่าฌานหรือสมาบัติ ๖ เป็นอาเนญชะ ( รูปฌาน ๔ อรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ) แต่เวลาอธิบายอเนญชาภิสังขาร พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายว่า เจตนาในอรูปฌาน ๔ เป็นอเนญชาภิสังขาร ไม่พูดถึงรูปฌานเลย คงเอารูปฌานไปไว้ใน ปุญญาภิสังขาร แต่ลีลาพระพุทธภาษิตที่แสดงในสูตรนี้และในสุนักขัตตสูตร ก่อนถึงสูตรนี้ อาเนญชะ มีความหมายคลุมทั้งรูปฌาน ๔ และอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ดังกล่าวแล้ว. อนึ่ง คำว่า อาเนญชะ แปลว่า ความเป็นสภาพไม่หวั่นไหว. แต่ในเล่ม ๒๑ จตุกกนิบาติ อังคุตตรนิกาย ทรงอธิบายอาเนญชะว่า ได้แก่รูปฌาน ๔
๘. ความเห็นเป็นเหตุยึดกายของตน
๑๐ . จูฬปุณณมสูตร
สูตรว่าด้วยคือพระจันทร์เต็มดวง สูตรเล็ก
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขาในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. ประทับนั่งในที่แจ้ง แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ในคืนพระจันทร์เต็มดวง ๑๕ ค่ำ ตรัสสอนเรื่องอสัตบุรุษ ( คนชั่ว ) และสัตบุรุษ ( คนดี ) โดยแสดงว่าอสัตบุรุษประกอบด้วยอสัทธรรม ๗ ประการ คือ ๑. คบอสัตบุรุษ ๒. คิดอย่างอสัตบุรุษ ๓. ปรึกษาอย่างอสัตบุรุษ ๔. พูดอย่างอสัตบุรุษ ๕. ทำอย่างอสัตบุรุษ ๖. เห็นอย่างอสัตบุรุษ ๗. ให้อย่างอสัตบุรุษ พร้อมทั้งแสดงรายละเอียด ส่วนสัตบุรุษ ทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม. คติของอสัตบุรุษคือนรกหรือกำเนิดดิรัจฉาน ส่วนคติของสัตบุรุษ คือความเป็นใหญ่ในเทพหรือความเป็นใหญ่ในมนุษย์.
จบวรรคที่ ๑ ขึ้นวรรคที่ ๒ ชื่ออนุปทวรรค
แปลว่า วรรคมีอนุปทสูตรเป็นหัวหน้า มี ๑๐ สูตร
๑๑ . อนุปทสูตร
สูตรว่าด้วยลำดับบทธรรม
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสรรเสริญพระสารีบุตรว่ามีปัญญาและเห็นแจ้งบทธรรมตามลำดับภายในครึ้งเดือน คือรูปฌาน ๔ , อรูปฌาน ๔, สัญญาเวทยิตนิโรธ, มีความชำนาญและบรรลุถึงฝั่งแห่งศีล , สมาธิ, ปัญญา, วิมุตติ, วิมุตติญาณทัสสนะ, หมุนธรรมจักร ตามที่พระตถาคตหมุนไปแล้วได้ ๑ .
๑๒ . ฉวิโสธนสูตร
สูตรว่าด้วยข้อสอบสวน ๖ อย่าง
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนวิธีสอบสวนภิกษุผู้พยาการณ์อรหัตตผล ( ผู้พูดว่าตนเป็นพระอรหันต์ ) โดยวิธีตั้งปัญหาให้ตอบรวม ๖ ข้อ คือ ๑. รู้เห็นอย่างไรในโวหาร ๔ คือการพูดว่า ได้เห็นได้ฟัง ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ในสิ่งที่ได้เห็นได้ฟังทราบได้รู้แจ้ง ๒. รู้เห็นอย่างไรในขันธ์ ๕ ที่ยึดถือ ๓. รู้เห็นอย่างไรในธาตุ ๖ ๔. รู้เห็นอย่างไรในอายตนะภายในภายนอก ๖ คู่ คือตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง เป็นต้น ๕. รู้เห็นอย่างไรในกายที่มีวิญญาณครองตน ๖. รู้เห็นอย่างไรในนิมิตทั้งปวงภายนอก จิตจึงหลุดพ้นจากอาสวะ ถอนอหังการ ( ความถือเรา ) มมังการ ( ความถือว่าของเรา ) และมานะ ( ความถือตัว ) ซึ่งเป็นอนุสัย ( กิเลสที่แฝงตัว ) เสียได้. พร้อมทั้งแสดงคำตอบในทางรู้เท่าและตั้งอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา จนได้อาสวักขยญาณ คือญาณอันทำอาสวะให้สิ้นเป็นที่สุด ๒ .
๑๓ . สัปปุริสธัมมสูตร
สูตรว่าด้วยธรรมะของดี
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ตรัสแสดงทั้งธรรมะของคนดีและธรรมะของคนชั่ว ( สัปปุริสธรรม , อสัปปุริสธรรม ) โดยแสดงธรรมะของคนชั่วก่อน แล้วแสดงธรรมะของคนดีกำกับ เป็นคู่ ๆ ไป รวม ๒๐ คู่ ในที่นี้จะแสดงแต่ฝ่ายชั่ว ( ฝ่ายดีพึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม ) คือยกตนข่มผู้อื่น เพราะ :-
๑. ออกบวชจากตระกูลสูง ๒. ออกบวชจากตระกูลใหญ่ ๓. มีคนรู้จัก มียศ ๔. มีลาภปัจจัย ๔ ๕. สดับตรับฟังมาก ๖. ทรงจำวินัยได้ ๗. เป็นนักกล่าวธรรม ๘. อยู่ป่า ๙. ทรงผ้าบังสกุล ( ผ้าเปื้อนฝุ่นที่เก็บตกเอามาปะติดปะต่อเป็นจีวร ) ๑๐. ถือบิณฑบาต ๑๑. อยู่โคนต้นไม้ ๑๒. อยู่ป่าช้า ๑๓. – ๑๖. ได้รูปฌาน ที่ ๑ ถึงที่ ๔ ๑๗. – ๒๐. ได้อรูปฌานที่ ๑ ถึงที่ ๔.
ส่วนภิกษุผู้ก้าวล่วงอรูปฌานที่ ๔ เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธได้ ย่อมสิ้นอาสวะ ไม่ยึดถือสิ่งใด ๆ .
๑๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร
สูตรว่าด้วยธรรมที่ควรเสพและไม่ควรเสพ
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ตรัสแสดงธรรมะที่ควรเสพและไม่ควรเสพเป็น ๓ ตอน พระสารีบุตรกราบทูลขยายความย่อให้พิศดารทั้งสามตอนนั้น ตรัสรับรองว่าถูกต้อง คือ:-
๑. ความประพฤติทางกาย, ความประพฤติทางวาจา, ความประพฤติทางใจ, ความคิด, การได้สัญญา (ความกำหนดหมาย ), การได้ทิฏฐิ ( ความเห็น ), การได้อัตตาภาพ . รวม ๗ หัวข้อ ) แต่ละข้อมีทั้งควรเสพและไม่ควรเสพ.
๒. รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ , และธรรมะ ที่พึงรู้แจ้งได้ทางตา , หู, จมูก, ลิ้น, กาย, และใจ แต่ละข้อมีทั้งควรเสพและไม่ควรเสพ.
๓. ปัจจัย ๔ มีจีวร เป็นต้น , คาม , นิคม, นคร, ชนบท, และบุคคล แแต่ละข้อมีทั้งควรเสพและไม่ควรเสพ.
พระสารีบุตรอธิบายในหลักใหญ่ที่ว่า ถ้าเสพเข้าอกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ก็ไม่ควรเสพ ถ้าอกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญก็ควรเสพ. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ใดรู้อรรถ ( เนื้อความ ) แห่งคำที่ตรัสไว้อย่างย่อ ๆ โดยพิสดาร ผู้นั้นย่อมได้รับประโยชน์และความสุข.
๑๕. พหุธาตุกสูตร
สูตรว่าด้วยธาตุหลายอย่าง
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า ภัย, อันตราย, อุปสัคเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต . พระอานนท์กราบทูลว่า ด้วยเหตุเพียงไรภิกษุจึงควรแก่ถ้อยคำว่า ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต เป็นผู้พิจารณาสอบสวน. ตรัสตอบว่า ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ, ฉลาดในอายตนะ, ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท และฉลาดในฐานะ ( สิ่งที่เป็นไปได้) และอฐานะ ( สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ).
๒. ในข้อฉลาดในธาตุ ทรงแสดงความเป็นผู้ฉลาดในธาตุ ๑๘ ( อายตนะภายในมีตา เป็นต้น ๖ , อายตนะภายนอกมีรูป เป็นต้น ๖, วิญญาณมีจักขุวิญญาณ เป็นต้น ๖, รวมเป็น ๑๘ ) ; ธาตุ ๖ คือ ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ, อากาศ, วิญญาณ; ธาตุ ๖ คือ สุขกาย, ทุกข์กาย, สุขใจ, ทุกข์ใจ, เฉย ๆ , อวิชชา, ( ความไม่รู้; ธาตุ ๖ คือ กาม, เนกขัมมะ, (ออกจากกาม), พยาบาท, ไม่พยาบาท, เบียดเบียน, ไม่เบียดเบียน; ธาตุ ๓ คือ กาม, รูป, อรูป; ธาตุ ๒ คือธาตุที่ปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตาธาตุ ) ธาตุที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง ( อสังขตาธาตุ ).
๓. ในข้อฉลาดในอายตนะ ทรงแสดงความเป็นผู้ฉลาดในอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖.
๔. ในข้อฉลาดในปฏิจจมุปบาท ( ความอาศัยเหตุเป็นปัจจัยเกิดขึ้น) ทรงแสดงความเป็นผู้ฉลาดทั้งใน เหตุปัจจัยสายเกิด คือเพราะมีสิ่งนนี้ จึงมีสิ่งต่อ ๆ ไป ทั้งในเหตุปัจจัยสายดับ คือเพราะกับสิ่งนี้ สิ่งต่อ ๆ ไปจึงดับ.
๕. ในข้อฉลาดในฐานะและอฐานะ ทรงแสดงความเป็นผู้ฉลาดในสิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิเป็นไปไม่ได้ ที่จะเห็นสังขารว่าเป็นเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน และสิ่งที่เป็นไปได้ เช่น บุถุชนเป็นไปได้ที่จะเห็นสังขารว่าเป็นเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน.
๑๖. อิสิคิลิสูตร
สูตรว่าด้วยภูเขาชื่ออิสิคิลิ
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ภูเขาชื่ออิสิคิลิ ใกล้กรุงราชคฤห์ ตรัสเล่าว่า ชื่อของภูเขาลูกต่าง ๆ เคยเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น แต่ภูเขาอิสิคิลิมีชื่อนี้มาไม่ แล้วตรัสเล่าเรื่องพระปัจจเจกพุทธเจ้า ( พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เฉพาะพระองค์ มิได้ตั้งศาสนาขึ้น ) ประมาณ ๕๐๐ รูป ที่อาศัยอยู่ ณ ภูเขานี้ มนุษย์ทั้งหลายเห็นแต่ท่านเข้าไป ไม่เห็นออกมา เลยตั้งชื่อว่า ภูเขาอิสิคิลิ ( ภูเขากลืนฤษี ) แล้วได้แสดงพระนามของพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์ต่าง ๆ มีพระอริฏฐะ เป็นต้น.
๑๗. มหาจัตตาฬีกสูตร
สูตรว่าด้วยธรรมะหมวด ๔๐ หมวดใหญ่
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย มีใจความสำคัญเป็น ๓ ตอนคือ:-
๑. ทรงแสดงสัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ ) ที่มีที่อาศัย มีคุณธรรมอื่น ๆ อีก ๗ ข้อ เป็นเครื่องประกอบ ( บริขาร ) คือความเห็นชอบ, เจรจาชอบ, กระทำชอบ, เลี้ยงชีวิตชอบ, พยายามชอบ, ระลึกชอบ.
๒. ทรงแสดงสัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ) ว่าเป็นหัวหน้าและว่า รู้จักทั้งฝ่ายเห็นชอบและฝ่ายเห็นผิด. ทรงอธิบายความเห็นผิดว่า ได้แก่เห็นว่า ทานที่ให้ไม่มี ผลกรรมดีกรรมชั่วไม่มี เป็นต้น แล้วทรงแสดงสัมมาทิฏฐิว่ามี ๒ อย่าง คือที่มีอาสวะ กับที่ไม่มีอาสวะ ( ชั้นต่ำสำหรับบุถุชน ชั้นสูงสำหรับพระอริยะ ) แล้วทรงแสดงสัมมาทิฏฐิในฐานะเป็นหัวหน้า ในการแจกรายระเอียดของข้ออื่น ๆ .
๓. ทรงแสดงว่า ธรรมปริยายที่เรียกว่า “ มหาจัตตาฬีสกะ” “หมวด ๔๐ หมวดใหญ่” คือเป็นฝ่ายกุศล ๒๐ ฝ่ายอกุศล ๒๐ ( ตั้งหลักมรรค ๘ เติมสัมมาญาณะ ความรู้โดยชอบ สัมมาวิมุติ ความหลุดพ้นโดยชอบเป็น ๑๐ กุศลธรรมเป็นอเนกเหล่าอื่นที่ถึงความเกิดมีบริบูรณ์ เพราะธรรมะฝ่ายถูกทั้งสิบข้อนั้นเป็นปัจจัย จัดเป็นฝ่ายกุศล ๒๐ ตั้งหลักมิจฉัตตะ ความผิด มีความเห็นผิด เป็นต้น มีความหลุดพ้นผิดเป็นที่สุด เป็น ๑๐ อกุศลธรรมเป็นอเนกเหล่าอื่นที่ถึงความเกิดมีบริบูรณ์ เพราะธรรมะฝ่ายผิด ๑๐ ข้อนั้นเป็นปัจจัย จัดเป็นฝ่ายอกุศล ๒๐ ).
๑๘. อานาปานสติสูตร
สูตรว่าด้วยการตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขาในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. ตรัสแสดงธรรม ในท่ามกลางพระเถระผู้มีชื่อเสียง พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ โดยแสดงว่า อานาปาสติที่เจริญ ทำให้มากแล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก , ทำสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์, สติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ ที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำโพชฌงค์ ( องค์แห่งปัญญาตรัสรู้ ) ๗ ให้บริบูรณ์, โพชฌงค์ ๗ ที่เจริญให้มากแล้ว ทำให้วิชชา ( ความรู้ ) และวิมุติ ( ความหลุดพ้น ) ให้บริบูรณ์.
๒. ต่อจากนั้นทรงแสดงรายละเอียดในการเจริญอานาปานสติอย่างธรรมดา ( เช่น ที่แสดงในอานาปานบรรพ มหาสติปัฏฐานสูตร (ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๒ หน้า ๔). ในหัวข้อ๙. มหาสติปัฏฐานสูตร การเจริญอานาปนสติให้เกี่ยวกับกาย , เวทนา, จิตและธรรม; การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ให้เกี่ยวกับโพชฌงค์ ๗ มีสติ เป็นต้น.
๑๙. กายคตาสติสูตร
สูตรว่าด้วยสติกำหนดพิจารณากาย
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ภิกษุทั้งหลายสนทนากันถึงเรื่องที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า กายคตาสติ ( สติกำหนดพิจารณากาย ) ที่เจริญ ทำให้มากแล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสถามทราบความจึงทรงแสดงรายละเอียด ( แบบที่ทรงแสดงในมหาสติปัฏฐานสูตร ( ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๒ หน้า ๔). ในหัวข้อ๙. มหาสติปัฏฐานสูตร คือ การกำนหนดพิจารณากายแบ่งออกเป็น ๖ ส่วน คือ ๑. พิจารณาลมหายใจเข้าออก ๒. พิจารณาอริยบทของกาย เช่น ยืน เดิน ๓. พิจารณาความเคลื่อนไหวของกาย เช่น คู้แขน เหยียดแขน เป็นต้น ๔. พิจารณาความน่าเกลียดของกาย ๕. พิจารณาร่างกายโดยความเป็นธาตุ ๖. พิจาณาร่างกายที่เป็นศพมีลักษณะต่าง ๆ.
๒. ครั้นแล้วทรงแสดงการเจริญกายคตาสติ จนได้ฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ แล้วตรัสแสดงอานิสงส์ของกายคตาสติว่าเป็นส่วนแห่งวิชชา เป็นต้น พร้อมด้วยอุปมาต่าง ๆ และในที่สุดได้แสดงว่า ทำให้มีอานิสงส์ ๑๐ อย่าง คือ ๑ อดทนความไม่ยินดีและความยินดี ๒. ครอบงำความหวาดกลัวได้ ๓. อดทนต่อหนาวร้อนถ้อยคำล่วงเกิน และทุกขเวทนา เป็นต้น ๔. ได้ฌาน ๔ ตามปรารถนา ๕. ได้อิทธิวิธี ( แสดงฤทธิ์ได้ ) ๖. ได้หูทิพย์ ๗. ได้เจโตปริยญาณ ( ญาณกำหนดรู้ใจผู้อื่น ) ๘. ระลึกชาติได้ ๙. เห็นความตายความเกิดของสัตว์ทั้งหลาย (ทิพยจักษุ ) และ ๑๐. ทำอาสวะให้สิ้นได้.
๒๐. สังขารูปปัตติสูตร
สูตรว่าด้วยความคิด ๓ กับการเข้าถึงสภาพตามที่คิดไว้
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงการที่ภิกษุประกอบด้วยศรัทธา ( ความเชื่อ ) , ศีล ( การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ), สุตะ ( การสดับตรับฟัง ), จาก ( การสละ ) และปัญญาว่า ตั้งจิตจะไปเกิดในสิ่งที่ดี ๆ อย่างไร เมื่ออบรมความคิดเจตนากับธรรมะเป็นเครื่องอยู่ ( มีศรัทธาเป็นต้น ), ให้มากแล้ว ก็จะเกิดในฐานะนั้น ๆ ได้ตามปรารถนา ตั้งแต่ความเป็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณมหาศาล จนถึงเทพ, พรหมทั้งรูปพรหมและอรูปพรหม และในที่สุด ถึงทำอาสวะให้สิ้นได้.
จบวรรคที่ ๒ ขึ้นวรรคที่ ๓ ชื่อสุญญสูตรเป็นหัวหน้า มี ๑๐ สูตร
๒๑. จูฬสุญญตสูตร
สูตรว่าด้วยความว่างเปล่า สูตรเล็ก
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขาในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี . ตรัสตอบคำถามของพระอานนท์ถึงเรื่องที่ในสมัยก่อนและสมัยปัจจุบัน ( ขณะนั้น ) ทรงอยู่โดยมากด้วยสุญญตาวิหาร ( ธรรมะเป็นเครื่องอยู่ คือการทำในใจถึงความว่างเปล่า ) พร้อมทั้งทรงแสดงรายละเอียดในทางปฏิบัติ โดยการไม่ใส่ใจถึงสัญญา ( ความกำหนดหมาย ) อย่างหนึ่ง แล้วใส่ใจความเป็นหนึ่งโดยอาศัยสัญญาอีกอย่างหนึ่ง สูงขึ้นไป โดยลำดับแล้วพิจารณาถึงสัญญาที่ไม่ใส่ใจว่า แต่นึกว่าสัญญาที่กำลังใส่ใจ ( อันมีอารมณ์สูงกว่า ) ว่าเป็นของไม่สูญ เริ่มต้นแต่ไม่ใส่ใจมนุสสสัญญา ( ความกำหนดหมายในมนุษย์ ) แล้วใส่ใจในอรัญญสัญญา ( ความกำหนดหมายในป่า ) เลื่อนลำดับสูงขึ้นไป จนถึงทำอาสวะให้สิ้นได้เป็นที่สุด. แล้วตรัสว่า สมณะหรือพราหมณ์ในอดีต อนาคต ปัจจุบัน ที่เข้าสู่สุญญตาอันบริสุทธิ์ยอดเยี่ยม ก็จะเข้าสู่สุญญตา ( ตามที่ทรงแสดงมาแล้ว ) นี้อยู่.
๒๒. มหาสุญญตสูตร
สูตรว่าด้วยความว่างเปล่า สูตรใหญ่
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ. ตรัสกับพระอานนท์ถึงเรื่อง “ การเข้าสุญญตาภายใน” เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวง ( ทำใจให้ว่างจากความเกาะเกี่ยว ) เข้าฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ แล้วใส่ใจสุญญตาภายใน มีความรู้ตัวอยู่เสมอ แล้วใส่ใจสุญญตาภายนอก สุญญตาทั้งภายในทั้งภายนอก ใส่ใจอาเนญชา ๔ แล้วคอยกำหนดดูว่าจิตจะน้อมไป เพื่อสุญญตาภายใน เพื่ออาเนญชาหรือไม่ ครั้นตรัสสอนให้มีความรู้ตัวในความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทั้งกาย , วาจา , ใจ.
๒. ต่อจากนั้นทรงแสดงอุปัทวะ ( อันตราย ) แห่งอาจารย์แห่งศิษย์และแห่งการประะพฤติพรหมจรรย์และตรัสว่า อันตรายแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ ทีผลร้ายมากว่าอันตรายทั้งสองข้างต้น. และตรัสสอนให้ปฏิบัติต่อศาสดาฉันมิตร มิใช่ศรัตรู คือให้ตั้งใจฟังธรรม ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ความสุขสิ้นกาลนาน. ในที่สุดตรัสว่า พระองค์ทรงว่าทั้งในทางข่ม ทั้งในทางประคอง ( ไม่ใช่มุ่งแต่ลงโทษหรือมุ่งแต่ยกย่องเพียงอย่างเดียว ). ผู้ใดมีสาระก็จะดำรงอยู่ได้.
๒๓. อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร
สูตรว่าด้วยสิ่งอัศจรรย์และไม่เคยมีก็มีขึ้น
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ภิกษุทั้งหลายสนทนากันถึงเรื่องความอัศจรรย์ในการที่พระผู้มีพระภาคทรงระลึกพระชาติได้ว่าเคยเป็นอย่างนั้น ๆ มา . เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสถามทราบความ ก็ตรัสให้พระอานนท์กล่าวถึงความอัศจรรย์เท่าที่ทราบ พระอานนท์ก็กราบทูลตามที่เคยสดับมาในที่เฉพาะพระพักตร์ ก็ความอัศจรรย์ต่าง ๆ ของพระโพธิสัตว์ เมื่อเกิดเมื่อดำรงอยู่ในเทพชั้นดุสิต ก็ทรงมีสติสัมปชัญญะ เป็นต้น จนถึงความอัศจรรย์ เมื่อประสูติจากพระครรภ์มารดา. ( โปรดดูข้อความที่ย่อไว้แล้วในมหาปทานสูตร) ข้อ ๑ ถึง ๑๕ )
๒. ตรัสเพิ่มเติมว่า เวทนา ( ความเสวยหรือรู้สึกอารมณ์ ) สัญญา ( ความกำหนดหมาย ) และวิตก ( ความตรึก ) ที่ตถาคตรู้แจ้งแล้ว ย่อมเกิดขึ้น ย่อมปรากฏ ย่อมดับไป ๕ .
๒๔. พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตธัมมสูตร
สูตรว่าด้วยสิ่งอัศจรรย์และไม่เคยมีก็มีขึ้นของพระพักกุลเถระ
ท่านพระพักกุละอยู่ในเวฬุวนาราม ใกล้กรุงราคฤห์ ชีเปลือยชื่อกัสสปะ เคยเป็นสหายตั้งแต่ครั้งเป็นคฤหัสถ์ของท่านพระพักกุละ เข้าไปหาท่านพระพักกุละ ถามทราบความว่าบวชมาถึง ๘๐ ปี แล้วได้ถามถึงปัญหาเรื่องเคยเสพเมถุนกี่ครั้ง พระพักกุละตอบว่า ไม่ควรถามเช่นนั้น ควรจะถามว่า กามสัญญา ( ความกำหนดหมายในกาม ) เกิดขึ้นกี่ครั้ง แล้วก็เล่าให้ฟังว่า ตลอด ๘๐ ปีนี้ ท่านไม่เคยมีกามสัญญา รวมทั้งสัญญาในการพยาบาท ในการเบียดเบียนเลย แล้วท่านได้เล่าถึงสิ่งที่ท่านไม่เคยต่าง ๆ ( อันแสดงความเป็นผู้บริสุทธิ์พิเศษ ) ของท่านตลอดเวลา ๘๐ ปี. ชีเปลือยเลื่อมใสขอบวช บำเพ็ญเพียรไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์. ต่อมาไม่ช้าท่านพระพักกุละถือลูกกุญแจเข้าไปสู่วิหาร บอกแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ท่านจะปรินิพพานในวันนี้ แล้วได้นั้งปรินิพพานในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นความน่าอัศจรรย์ . ( เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ภายหลังพุทธปรินิพพาน).
๒๕. ทันตภูมิสูตร
สูตรว่าด้วยภูมิหรือสถานที่ที่ฝึกไว้
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ชยเสนราชกุมาร ( ราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ) เสด็จดำเนินเล่น ตรัสสนทนากับสามเณรรูปหนึ่งผู้บวชไม่นาน ผู้อาศัยอยู่ในกุฏิในป่า เมื่อทรงขอให้สามเณรแสดงธรรม สามเณรออกตัวต่าง ๆ ในที่สุดก็ทรงแค่นไค้ให้แสดงจนได้ เมื่อแสดงจบแล้ว. ราชกุมารตรัสว่า เป็นไปไม่ได้ที่ภิกษุผู้ไม่ประมาทบำเพ็ญเพียรจะบรรลุความเป็นผู้มีจิตอารมณ์เป็นหนึ่ง. สามเณรจึงนำความมากราบทูลพระผู้มีพระภาค. พระองค์ตรัสว่า ชยเสนราชกุมารอยู่ในท่ามกลางกาม ที่จะรู้เห็นถึงสิ่งที่พึงรู้พึงเห็นได้ด้วยเนกขัมมะ ( การออกจากกามนั้น ) ย่อมเป็นไปไม่ได้.
๒. ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมแก่สามเณร เปรียบเทียบให้เห็นความต่างกัน ระหว่างช้าง,ม้า,โค ที่ได้รับการฝึกกับที่มิได้รับการฝึก ว่าจะให้ไปสู่ที่หมายได้ ต่างกันอย่างไร. หรือเปรียบเหมือนคนหนึ่งยืนบนยอดเขา อีกคนหนึ่งยืนอยู่เชิงเขา จะให้เห็นอะไร ๆ เหมือนผู้ยืนอยู่บนยอดเขาอย่างไร แล้วได้ทรงแสดงข้อเปรียบเทียบอื่นอีก รวมทั้งข้อที่ออกบวชบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ บำเพ็ญฌานได้วิชชา ๓ มีความสิ้นอาสวะในที่สุด.
๒๖. ภูมิชสูตร
สูตรว่าด้วยพระเถระชื่อภูมิชะ
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. เช้าวันหนึ่ง ท่านพระภูมิชะเข้าไปที่ยังประทับของชยเสนราชกุมาร นั่งเหนืออาสนะที่ปูลาดไว้. ชยเสนราชกุมารกล่าวว่า บุคคลจะทำความหวังหรือไม่ก็ตามประพฤติพรหมจรรย์ก็ไม่ควรจะบรรลุผลได้. ท่านพระภูมิชะทูลตอบว่า ท่านไม่ได้ฟังมาจากพระผู้มีพระภาค แต่ก็เชื่อว่าจะทรงตอบว่า ไม่สำคัญที่ทำความหวังหรือไม่ทำ ถ้าประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย ( อโยนิโส ) ก็ไม่ควรบรรลุผล แต่ถ้าประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคาย ก็ควรบรรลุผลได้. ราชกุมารกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นศาสดาของท่านก็เหมือนยืนอยู่บนศีรษะของสมณพราหมณ์ทั้งปวง. แล้วได้ถวายอาหารของพระองค์ให้ท่านพระภูมิชะฉัน.
๒. ท่านพระภูมิชะกลับมากราบทูลพระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า ที่ตอบไปนั้นไม่ผิด และได้ทรงชี้แจงเพิ่มเติม เปรียบสมณพราหมณ์ผู้มีความเห็นผิด จนถึงมีความตั้งใจมั่นผิด ประพฤติพรหมจรรย์ จึงไม่ควรบรรลุผล ว่าเหมือนคนต้องการน้ำมัน แต่ไปคั้นน้ำมันจากทราย หรือต้องการนมโค แต่รีดนมจากเขาโค ต้องการไฟ แต่เอาไม้สดชุ่มด้วยยางมาสีไฟติด. ครั้นแล้วทรงแสดงการปฏิบัติถูกในทางที่ตรงกันข้าม.
๒๗. อนุรุทธสูตร
สูตรว่าด้วยพระอนุรุทธเถระ
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ช้างไม้ชื่อปัญจกังคะ ส่งคนไปนิมนต์พระอนุรุทธ์พร้อมด้วยภิกษุอื่นอีก ๓ รูป ๖ ( รวม ๔ รูป ไปฉันที่บ้าน เมื่อฉันเสร็จแล้ว จึงถามว่าปัญหาถึงเรื่อง อัปปมาณาเจโตวิมุติ ( ความหลุดพ้นแห้งจิตอันไม่มีประมาณ ) กับมหัคคตาเจโตวิมุติ ( ความหลุดพ้นแห่งจิตที่เป็นฌาน) มีอรรถะ ( ความหมาย ) และพยัญชนะ ( ตัวอักษร ) ต่างกัน หรือว่ามีอรรถะอย่างเดียวกัน มีพยัญชนะต่างกัน. พระเถระตอบว่า มีอรรถะและพยัญชนะต่างกัน. โดยอธิบายว่า อัปปมาณาเจโตวิมุติ ได้แก่การแผ่จิต อันประกอบไปด้วยพรหมวิหาร ๔ มีเมตตา เป็นต้น อันหาประมาณจำกัดมิได้ไปยังโลกทั้งโลกปวง ทั้งหกทิศ ( รวมทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง ). ส่วนมหัคคตาเจโตวิมุติ ได้แก่การเจริญฌาน ( แผ่กสิณนิมิตไป ) กำหนดขอบเขตเพียงโคนไม้แห่งเดียวบ้าง, ๒ – ๓ แห่งบ้าง, กำหนด ๒ – ๓ เขตบ้านบ้าง, กำหนดแว่นแคว้นใหญ่ ๑ บ้าง , ๒ – ๓ บ้าง, กำหนดแผ่นดินมีสมุทรเป็นขอบเขตบ้าง, แล้วได้อธิบายเพิ่มเติมและตอบปัญหาของพระอภิยะกัจจานะอีกเกี่ยวกับเรื่องเทพที่มีแสงสว่าง.
๒๘. อุปักกิเลสสูตร
สูตรว่าด้วยเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี. สมัยนั้นภิกษุชาวกรุงโกสัมพีแตกกันต่างว่ากล่าวเสียดสีกันต่าง ๆ พระผู้มีพระภาคทรงห้ามปรามก็ไม่ฟัง จึงตรัสแสดงธรรมเป็นคติการทะเลาะวิวาทแล้วเสด็จไปสู่พาลกโลณการคาม ( หมู่บ้านทำเกลือชื่อพาลกะ ) ณ ที่นั้นได้ทรงแสดงธรรมแก่พระภคุ แล้วเสด็จไปสู่ป่าจีนวังสะ ผู้เฝ้าป่าไม่ยอมให้เข้า พระอนุรุทธ์ได้ทราบจึงแจ้งแก่คนเฝ้าป่ามิให้ห้าม เพราะท่านเป็นพระศาสดาของพวกเรา และได้บอกพระนันทิยะ พระกิมพิละมาเฝ้าต้อนรับ. พระผู้มีพระภาคตรัสถึงความผาสุก, ความสามัคคี, ความไม่ปรามาท, และคุณพิเศษ ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๔ หน้า ๔ ) เทียบดูด้วย ) ในข้อ ๓๑ . จูฬโคสิงคสาลสูตร ท่านเหล่านั้นกล่าวตอบในทางที่ดีงาม.
๒. ในส่วนที่เกี่ยวกับคุณพิเศษ กราบทูลว่า รู้สึกว่ามีแสงสว่าง และเห็นรูป แต่ไม่นาน แสงสว่างนั้นและการเห็นรูปก็หายไป ไม่ได้บรรลุนิมิตนั้นอีก. ตรัสตอบว่า ควรบรรลุนิมิตนั้น แล้วตรัสเล่าเหตุการณ์ เมื่อก่อนตรัสรู้ว่าเคยทรงประสบภาวะเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ทรงสอบสวนถึงต้นเหตุ ซึ่งทรงแก้ทีละอย่าง ๆ เหตุเหล่านั้นคือความสงสัย, การไม่ทำในใจ, ความหดหู่ง่วงงุน, ความหวาดสะดุ้ง , ความตื่นเต้น, ความย่อหย่อน, ความเพียรตึงเกินไป, ความเพียรหย่อนเกินไป, ความอยาก, ความกำหนดหมายต่าง ๆ , การเพ่งรูปมากเกินไป. ( รวมเป็นความเศร้าหมองแห่งจิต ๑๑ อย่าง ) ๗ ในที่สุด เมื่อทรงทราบว่าเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตก็ทรงละได้หมดทุกอย่าง.
๓. ตรัสเล่าต่อไปอีกว่า เมื่อทรงบำเพ็ญเพียรไป ก็ทรงรู้สึกว่ามีแสงสว่าง แต่ไม่ทรงเห็นรูปบ้าง ทรงเห็นรูป แต่ไม่ทรงรู้สึกว่ามีแสงสว่างบ้าง ตลอดคืนบ้าง ตลอดวันบ้าง ตลอดทั้งวันทั้งคืนบ้าง เมื่อทรงสอบสวนถึงเหตุปัจจัย ก็ทรงคิดว่า ในสมัยใดไม่สนใจรูปนิมิต ( เครื่องหมายคือรูป ) สนใจอกโอภาสนิมิต ( เครื่องหมายคือแสงสว่าง ) ในสมัยนั้นย่อมก็รู้สึกว่ามีแสงสว่าง แต่ไม่เห็นรูป; ในสมัยใดไม่สนใจโอภาสนิมิต สนใจแต่รูปริมิต ในสมัยนั้นย่อมเห็นรูป แต่ไม่รู้สึกว่าแสงสว่าง.
๔. ต่อจากนั้นทรงแสดงถึงการที่ทรงรู้สึกว่ามีแสงสว่างน้อย เห็นรูปน้อย, ทรงรู้สึกว่ามีแสงสว่างไม่มีประมาณ เห็นรูปไม่มีประมาณ เมื่อทรงสอบสวนถึงเหตุปัจจัย ก็ทรงคิดว่า ในสมัยใดสมาธิน้อย ในสมัยนั้นจักษุก็น้อย ทำให้รู้สึกว่าแสงสว่างน้อย เห็นรูปน้อย ด้วยจักษุน้อย แต่ในสมัยใดสมาธิไม่มีประมาณ ในสมัยนั้นจักษุก็ไม่มีประมาณ ทำให้รู้สึกว่าแสงสว่างไม่มีประมารณ เห็นรูปไม่มีประมาณ ( แสดงว่ากำลังของสมาธิเป็นสำคัญ ถ้ากำลังน้อยก็ทำให้ทิพยจักษุมีความสามารถน้อยไปด้วย ) ครั้นทรงทราบว่าได้ทรงละอุปกิเลสแห่งจิต ( ทั้งสิบเอ็ด ) ได้แล้ว ก็ทรงคิดว่าได้เจริญสมาธิโดยส่วน ๓ แล้วในบัดนี้.
๕. ต่อจากนั้นทรงแสดงว่า ได้ทรงเจริญ ๑. สมาธิที่มีทั้งวิตกวิจาร ( ได้แก่ฌานที่ ๑ ) ๒. สมาธิที่ไม่มีวิตก แต่มีวิจาร ( ได้แก่ฌานที่ ๒ ในฌาน ๕ ) ๓. สมาธิที่ไม่มีวิตกวิจาร ( ได้แก่ฌารที่ ๒, ๓, ๔, ในฌาน ๔ และฌานที่ ๓, ๔, ๕ ในฌาน ๕ ) ๔. สมาธิที่มีปีติ ( ได้แก่ฌานที่ ๑, ๒, ในฌาน ๔ และฌานที่ ๑, ๒, ๓, ในฌาน ๕ ) ๕. สมาธิที่ไม่มีปีติ ( ได้แก่ฌานที่ ๓, ๔ ในฌาน ๔ และฌานที่ ๔, ๕ ในฌาน ๕ ) ๖. สมาธิที่ประกอบด้วยความสุข ( ไ ด้แก่ฌานที่ ๑, ๒, ๓, ในฌาน ๔ และฌานที่ ๑ ถึง ๔ ในฌานที่ ๕) ๗. สมาธิที่ประกอบด้วยอุเบกขา ( ได้แก่ฌานที่ ๔ ในฌาน ๔ และฌานที่ ๕ ในฌาน ๕ ) เมื่อได้เจริญสมาธิอย่างนี้แล้วก็เกิดญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณ ) ขึ้นว่า ความหลุดพ้นของพระองค์ไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก.
(หมายเหตุ: สูตรนี้แสดงหลักวิชาในการปฏิบัติจิตใจชั้นสูง ซึ่งเกิดปัญหาแก่พระสาวก แต่พระองค์ก็ทรงแสดงว่าได้แก้ปัญหาตกมาแล้ว ก่อนตรัสรู้ ในที่นี้ไม่ค่อยได้อธิบายศัพท์ไว้พิสดาร เพราะเห็นว่าจะต้องอธิบายยืดยาวและใช้หน้ากระดาษมาก อย่างไรก็ตาม สูตรนี้น่าเลื่อมใสเป็นพิเศษในทางปฏิบัติที่แสดงว่า พระพุทธศาสนานั้นมิใช่เรื่องสำหรับพูดเท่านั้น แต่จะต้องอาศัยความเข้าใจอย่างลึกซึ่งในทางปฏิบัติด้วย และพึงสังเกตว่าในสูตรนี้ นับเป็นหลักฐานแรกที่แสดงฌาน ๕ เพราะที่แล้วมาแสดงแต่ฌาน ๔ เท่านั้น ).
๒๙. พาลบัณฑิตสูตร
สูตรว่าด้วยพาลและบัณฑิต
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงลักษณะของคนพาล ๓ อย่าง คือ คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว คนพาลจะต้องประสบทุกข์โทมนัสถึง ๓ ประการในปัจจุนับ และตายไปก็จะเข้าสู่นรก, กำเนิดดิรัจฉาน หรือถ้าเกิดในมนุษย์ ก็เกิดในตระกูลต่ำ ยากจน มีผิวพรรณทราม มีโรคภัยเบียดเบียน ไม่มีลาภ . ส่วนบัณฑิตมีลักษณะ ๓ คือ คิดดี พูดดี ทำดี บัณฑิตย่อมได้เสวยสุขโสมนัสถึง ๓ ประการในปัจจุบัน และตายไปก็จะเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ แล้วทรงสมบัติจักรพรรดิ์โดยละเอียดว่า เทียบกันไม่ได้เลย กับสมบัติกับสมบัติทิพย์. หรือถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็เกิดในตระกูลสูงมั่งคั่ง รูปงาม มีลาภ.
________________________________________
๑. ศัพท์ต่าง ๆ ในสูตรนี้ มีในที่อื่นที่ผ่านมาแล้วทั้งสิ้น เช่น ที่ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๒๑๓ และหมายเลข ๓๘
๒. ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ชัดเพียง ๕ ข้อ ส่วนข้อ ๖ แสดงตามมติอรรถกถาที่ให้แยกปัญหาเรื่องกายของตนกับกายของผู้อื่น นอกจากนั้นอรรถกถายังแสดงมติอื่นอีก
๓. คำว่า สังขาร ที่แปลว่าความคิด เป็นการแปลถือเอาความ มีพระพุทธภาษิตบ่งชัดว่า ได้แก่เจตนาในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ ซึ่งย่อไว้ในเล่มต่อ ๆ ไป
๔. อาเนญชาหรืออาเนญชะ ดูคำอธิบายในอาเนญชสัปปายสูตร ( ในพระสุตตันตะเล่ม ๖ หน้า ๑ ) ในข้อ ๖. อาเนญชสัปปายสูตร
๕. อรรถกถาอธิบายว่า มีโอกาสพิจารณาสังขารธรรมได้ตลอดเวลา ๗ วัน ไม่เหมือนสาวกที่พิจารณาได้เฉพาะ เมื่อประจวบกับสิ่งเหล่านั้นเฉพาะหน้าเมื่อถึงโอกาส
๖. ในเมืองไทยมักมีผู้ถือกันว่านิมนต์พระ ๔ รูปเฉพาะไปสวดศพ แต่หลักฐานในพระไตรปิฎกนอกจากสูตรนี้แล้ว ยังมีในอภัยราชกุมารสูตร ( ในพระสุตตันตะเล่ม ๕ หน้า ๒ ) ในข้อ ๘ . อภยราชกุมารสูตร เเสดงว่าไม่มีการถือ
๗. ความเศร้าหมองแห่งจิตหรืออุปกิเลสทั้งสิบเอ็ดอย่างนี้ เป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมะชั้นสูง ผู้ต้องการทราบคำอธิบายละเอียด โปรดดูคำอธิบายคำของพระอรรถกถาจรรย์
๓๐. เทวทูตสูตร
สูตรว่าด้วยเทวทูต
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงธรรมว่า ผู้มีทิพย์จักษุ ย่อมเห็นสัตว์ทั้งหลายตาย, เกิด, เลว, ประณีต, ผิวพรรณดี, มีคติดี, มีคติชั่ว เข้าถึงฐานะต่าง ๆ ตามกรรม เปรียบเหมือนคนมีตาดียืนอยู่ตรงกลาง ( ระหว่างเรือน ๒ หลัง) ย่อมมองเห็นคนข้างนอก เดินไปเดินมาสู่เรือนฉะนั้น.
๒. ทรงแสดงถึงนายนิรยบาล ( ผู้รักษานรก ) หลายคน จับคนที่ไม่ดีไปแสดงแก่พญายมขอให้ลงโทษ พญายมถามถึงเทวทูต ๕ คือ เด็ก, คนแก่, คนเจ็บไข้, คนถูกลงโทษเพราะทำความผิดและคนตาย แล้วชี้แจงให้เห็นว่าจะต้องได้รับผลแห่งการกระทำ ( ที่ชั่ว ) นั้น ๆ แล้วทรงแสดงการลงโทษต่าง ๆ ที่นายนิรยบาลเป็นผู้ทำ รวมทั้งแสดงถึงมหานรก, นรกคูถ, ( อุจจาระ ) และนรกชื่อกุกกุละ ซึ่งมีการลงโทษทรมานอย่างน่าสยดสยอง.
๓๑. ภัทเทกรัตตสูตร
สูตรว่าด้วยราตรีเดียวกันที่ดี
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงบทตั้ง ( อุทเทส ) และคำอธิบายหรือการแจกแจง ( วิภังค์ ) เกี่ยวกับบุคคลผู้มีราตรีเดียวอันดี โดยใจความคือไม่ให้ติดตามเรื่องล่วงมาแล้ว ไม่ให้หวังเฉพาะเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ให้เห็นแจ้งปัจจุบัน ให้รีบเร่งทำความเพียรเสียในวันนี้ ใครจะรู้ว่าความตายจะมีในวันพรุ่ง เพราะจะผัดเพี้ยนต่อมฤตยูผู้มีเสนาใหญ่ ย่อมไม่ได้. คนที่มีความเพียรอย่างนี้ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืน เรียกว่ามีราตรีเดียวอันดี ( อันเจริญ ). การไม่ติดตามอดีต การไม่หวังเฉพาะอนาคต ตรัสอธิบายว่า ไม่ให้มีความยินดีเพลิดเพลินในอดีตและอนาคตนั้น.
๓๒. อานันทภัทเทกรัตตสูตร
สูตรว่าด้วยพระอานนท์อธิบายภัทเทกรัตต
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม สมัยนั้นพระอานนท์กล่าวธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายในโรงฉัน ( อุปฐานศาลา ) โดยอธิบายททั้งบทตั้ง และคำอธิบายแห่งภัทเทกรัตตสูร. พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสถามทราบความ ทรงรับรองคำอธิบายนั้น.
๓๓. มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร
สูตรว่าด้วยพระมหากัจจานะอธิบายภัทเทกรัตต
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. มีเรื่องเล่าถึงพระมหากัจจานะแสดงธรรมอธิบายขยายความ แห่งภัทเทกรัตตสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสย่อ ๆ ให้พิศดาร เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ ก็ตรัสชมเชยและว่า ถ้าถามให้ทรงอธิบาย ก็จะทรงอธิบายในทำนองเดียวกันนี้.
๓๔. โลมสกังคิยสูตร
สูตรว่าด้วยพระโลมสกังคิยะ
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. เรื่องเล่าว่า เทพบุตรถามพระโลมกังคิยะ เรื่องภัทเทกรัตตสูตร ทั้งบทตั้งทั้งคำอธิบาย ท่านตอบไม่ได้ . จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลถามให้ทรงแสดงทั้งบทตั้งและคำอธิบาย ใจความก็อย่างเดียวกับสูตรที่ ๓๑.
๓๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร
สูตรว่าด้วยการจำแนกกรรม สูตรเล็ก
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ทรงตอบคำถามของสุภมาณพบุตรแห่งโตเทยยพราหมณ์ เกี่ยวกับผลร้ายผลดีต่าง ๆ ๗ คู่ว่า เนื่องมาจากกรรมคือการกระทำของสัตว์ คือ :-
๑. มีอายุน้อย เพราะฆ่าสัตว์ มีอายุยืน เพราะไม่ฆ่าสัตว์
๒. มีโรคมาก เพราะเบียดเบียนสัตว์ มีโรคน้อย เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์
๓. มีผิวพรรณทราม เพราะขี้โกรธ มีผิวพรรณดี เพราะไม่ขี้โกรธ
๔. มีศักดาน้อย เพราะมักริษยา มีศักดามาก เพราะไม่มักริษยา
๕. มีโภคทรัพย์น้อย เพราะไม่ให้ทาน มีโภคทรัพย์มาก เพราะให้ทาน
๖. เกิดในตระกูลต่ำ เพราะกระด้างถือตัวไม่อ่อนน้อม เกิดในตระกูลสูง เพราะไม่กระด้างถือตัว แต่รู้จักอ่อนน้อม.
๗. มีปัญญาทราม เพราะไม่เข้าไปหาสมณพราหมณ์ ไต่ถามเรื่อง การกุศล อกุศล เป็นต้น มีปัญญาดีเพราะเข้าไปหาสมณพราหมณ์ ไต่ถามเรื่องกุศล อกุศล เป็นต้น.
สุภมาณพบุตโตเทยยพราหมณ์กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
๓๖. มหากัมมวิภังคสูตร
สูตรว่าด้วยการจำแนกกรรม สูตรใหญ่
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์. ตรัสแสดงธรรมแก่พระอานนท์ ภายหลังที่ตรัสปรารภเรื่องพระสมิทธิตอบคำถามของปริพพาชก โปตลิบุตรแง่เดียว แทนที่จะตอบแบ่งตามเหตุผล เมื่อพระอานนท์กราบทูลขอร้อง จึงทรงแสดงเรื่องการจำแนกกรรมเรื่องใหญ่ โดยแสดงถึงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. ทำชั่วแล้วไปเกิดในอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก ๒. ทำชั่วแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ๓. ทำดีแล้วได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์ ๔. ทำดีแล้วไปเกิดในอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก ซึ่งทำให้สมณพราหมณ์ บางพวกผู้เห็นไม่ตลอดสายเข้าใจผิด ทรงรับรองเฉพาะคำกล่าวที่ถูกต้อง ที่ไม่ถูกก็ไม่ตรัสรับรอง นอกจากนั้น ทรงแสดงเหตุผล คือกรรมดีกรรมชั่วที่ทำก่อนทำหลัง และการมีความเห็นถูกเห็นผิดก่อนตายว่า อาจแทรกส่งผลให้คนเข้าใจผิดได้ แต่ความจริงกรรมทุกอย่างจะส่งผลทั้งสิ้น ( เพียงแต่เข้าใจให้ตลอดสายและไม่สับเหตุผล )
๓๗. สฬายตนวิภังคสูตร
สูตรว่าด้วยการแจกอายตนะ ๖
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงธรรมเรื่องการแจกอายตนะ ๖ โดยตั้งบทตั้ง ( อุทเทส) ว่า
ควรทราบอายตนะภายใน ๖ , อายตนะภายนอก ๖, หมวดวิญญาณ ๖, หมวดผัสสะ ๖, มโนปวิจาร ( ความท่องเที่ยวไปแห่งใจ ) ๑๘, ทางไปของสัตว์ (สัตตบท ) ๓๖ เป็นต้น ครั้นแล้วทรงแจกอายตนะภายใน ๖ ว่ามีตา เป็นต้น, อายตนะภายนอก ๖ ว่ามีรูป เป็นต้น, วิญญาณกาย ๖ มีจักขุวิญญาณ เป็นต้น, ผัสสกาย ๖ มีจักขุสัมผัส เป็นต้น, มโนปวิจาร ๑๘ คือเห็นรูป , ฟังเสียง เป็นต้นแล้ว ใจก็ท่องเที่ยวไปสู่รูปที่เป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส โทมนัส และอุเบกขา ( เวทนาทางใจ ) ๓ ? อายตนะ ๖ = ๑๘ ), ส่วนสัตตบทหรือทางไปของสัตว์ ๓๖ ทรงแสดงโสมนัส ( ความดีใจ ) ที่อาศัยเรือน ๖ , อาศัยเนกขัมมะ ( การออกจากกาม ) ๖ , โทมนัส ( ความเสียใจ ) ที่อาศัยเรือน ๖ ; อาศัยเนกขัมมะ ๖ ; อุเบกขาที่อาศัยเรือน ๖ ; อาศัยเนกขัมมะ ๖ ( เวทนาทางใจ ๓ ? ๒ คือ เรือนกับเนกขัมมะ ? อายตนะ ๖ = ๓ ? ๒ ? ๖ = ๓๖ )
ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมให้อาศัยส่วนที่อาศัยเนกขัมมะ ให้ละส่วนที่อาศัยเรือน แล้วทรงแสดงคุณลักษณะของศาสดา.
๓๘. อุทเทสวิภังคสูตร
สูตรว่าด้วยบทตั้งและคำอธิบาย ๖
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงอุทเทสวิภังค์ คือบทตั้ง พร้อมทั้งคำอธิบายที่ว่า ภิกษุพึงพิจารณาโดยประการที่วิญญานของเธอจะไม่ซัดส่วยไปภายนอก ไม่ตั้งอยู่ในภายใน ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่สะดุ้ง เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะไม่มีความเกิดขึ้นแห่งชาติ ชรา มรณะ และเหตุให้เกิดทุกข์เกิดอีกต่อไป. ตรัสเพียงย่อ ๆ เท่านั้นแล้วก็เสด็จลุกขึ้นเข้าสู่พระวิหาร.
๒. ภิกษุทั้งหลายจึงไปหาพระมหากัจจานเถระ ขอให้อธิบายความโดยพิสดาร ซึ่งท่านก็ได้อธิบายชี้แจงเป็นข้อ ๆ ไป ( แต่มีข้อน่าสังเกตว่า ในประโยคว่า วิญญาณไม่ตั้งอยู่ในภายใน ท่านใช้คำว่า จิต แทนคำว่า วิญญาณ ว่าไม่ติดอยู่ในองค์ฌาน ). เมื่อภิกษุทั้งหลายไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค ก็ตรัสชมเชย พระมหากัจจานเถระ และตรัสสอนให้ทรงไว้อย่างที่ได้แสดงไว้แล้ว.
๓๙. อรณวิภังคสูตร
สูตรว่าด้วยการแจกธรรมที่ไม่มีข้าศึก
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงอรณวิภังค์ คือการแจกธรรมที่ไม่เป็นข้าศึก . มีใจความสำคัญ คือ :-
ไม่พึงประกอบเนือง ๆ ซึ่งกามสุข และการทรมานตัวให้ลำบาก พระตถาคตตรัสรู้ทางสายกลาง ที่ไม่อาศัยส่วนสุดทั้งสอง อันทำให้เกิดดวงตา เกิดญาณ เพื่อตรัสรู้นิพพาน. พึงรู้การยกย่อง การรุกราน แล้วไม่พึงแสดงธรรมยกย่องหรือรุกรานบุคคล, ไม่พึงกล่าววาจาในที่ลับ ( ไม่พูดส่อเสียด ), ไม่พึงกล่าววาจาเลอะเทอะในที่พร้อมหน้า, พึงพูดโดยไม่รีบด่วน, ไม่พึงยึดถือถ้อยคำในพื้นชนบท ไม่พึงข้ามบัญญัติทางโลก ( คือไม่ยึดมั่นถือมั่นโวหารทางโลก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ขวางโลก โดยไม่ยอมพูดรู้เรื่องกับชาวโลก. พร้อมทั้งตรัสอธิบายโดยละเอียดว่า ข้อปฏิบัติหรือธรรมะที่กล่าวมานี้เป็นธรรมะที่ไม่มีข้าศึก.
ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้รู้จักธรรมที่มีข้าศึกและไม่มีข้าศึก และให้ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่ไม่มีข้าศึก. แล้วตรัสสรรเสริญว่า กุลบุตรชื่อสุภูติเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่ไม่มีข้าศึก.
๔๐. ธาตุวิภงคคสูตร
สูตรว่าด้วยการแจกธาตุ
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ เสด็จแวะพัก ณ กรุงราชคฤห์ ทรงอาศัยที่อยู่ของช่างหม้อชื่อภัคคะพักแรมคืน . ตรัสแสดงธรรมแก่กุลบุตรชื่อปุกกุสาติผู้บวชอุทิศพระองค์ แต่ไม่รู้จักพระองค์โดยใจความสำคัญ คือ:-
บุรุษนี้มีธาตุ ๖ , มีอายตนะสำหรับถูกต้อง ๖, มีความท่องเที่ยวไปแห่งใจ ๑๘ อโนปวิจาร ), มีธรรมที่ควรตั้งใจไว้ในใจ ๔ , บุคคลตั้งอยู่ในธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจแล้ว กิเลสย่อมไม่เป็นไป เมื่อกิเลสไม่เป็นไป ก็เรียกได้ว่า มุนีผู้ระงับ, ไม่ควรประมาทปัญญา , ควรตามรักษาสัจจะ , ควรเจริญการสละ, ควรศึกษาความสงบ แล้วได้ตรัสอธิบายรายละเอียด.
๒. ในการแจกรายละเอียด ทรงแสดงธาตุ ๖ ดิน , น้ำ , ไฟ,ลม , อากาศ , วิญญาณ ; อายตนะ สำหรับถูกต้อง ๖ คือ ตา, หู , จมูก , ลิ้น, กาย , ใจ ; มโนปวิจาร ๑๘ คือความท่องเที่ยวไปแห่งใจในโสมนัส ( ความดีใจ ) ๖ ในโทมนัส ( ความเสียใจ ) ๖ ในอุเบกขา ( ความรู้สึกเฉย ๆ ) รวมเป็น ๑๘ ; ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ คือ ปัญญา , สัจจะ , จาคะ ( การสละกิเลส ) , และอุปสมะ ( ความสงบระงับ ). แล้วตรัสอธิบายแต่ละข้อโดยพิสดารต่อไปอีก โดยเฉพาะวิญญาณ ตรัสอธิบายว่า ได้แก่สิ่งที่รู้แจ้งสุข ทุกข์ และไม่ทุกข์ไม่สุข ( ดูมหาเวทัลลสูตรเทียบดูด้วย ในพระสุตตันตะ เล่ม ๔ หน้า ๕ ) ในข้อ ๔๓ . มหาเวทัลลสูตร
๓. พระปุกกุสาติก็รู้ได้ทันทีว่าตนพบพระศาสดาแล้ว จึงก้มลงกราบขอประทานอภัยโทษ พระผู้มีพระภาคตรัสประทานอภัย. พระปุกกุสาติ ( ซึ่งเดิมบวชเอาเอง ) จึงกราบทูลขอบวชบรรพชาอุปสมบท. ตรัสสั่งให้หาบาตรจีวร ในขณะที่หาบาตรจีวรนั้น ก็ถูกแม่โคขวิดถึงแก่ชีวิต. เมื่อมีผู้กราบทูลถามถึงคติในสัมปรายภพ ( ภพเบื้องหน้า ) ของปุกกุสาติ ก็ตรัสตอบว่า เป็นอนาคามี เพราะละสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการได้.
๔๑. สัจจวิภังคสูตร
สูตรว่าด้วยการแจกอริยสัจจ์
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าอิสิปตนนิคทายวัน แขวงกรุงพาราณสี. ตรัสเล่าเรื่องที่ทรงแสดงธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน แล้วตรัสแนะให้คบพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นบัณฑิต เป็นผู้อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจารี ( คือเพื่อนผู้รวมประพฤติพรหมจารย์ หรือเพื่อนภิกษุด้วยกัน ) ตรัสเปรียบพระสารีบุตรด้วยผู้ให้ดำเนิด เปรียบพระโมคคัลลานะด้วยผู้เลี้ยงดู ( แม่นม ). พระสารีบุตรแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระโมคคัลลานะก็แนะนำให้ตั้งอยู่ในมรรคผลที่สูง ๆ ขึ้นไป และพระสารีบุตรเป็นผู้อาจอธิบายอริยสัจจ์ ๔ โดยพิสดาร.
๒. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จลุกขึ้นเข้าไปสู่พระวิหาร. พระสารีบุตรก็แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย อธิบายเรื่องอริยสัจจ์ ๔ โดยพิสดาร.
๔๒. ทักขิณาวิภังคสูตร
สูตรว่าด้วยการแจกทักษิณา ( ของทำทาน )
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ. พระนางมหาปชาบดีโคตมี นำคู่ผ้าใหม่ซึ่งทรงกรอด้ายเองไปถวายพระผู้มีพระภาค ขอให้ทรงรับเป็นเป็นการอนุเคราะห์. พระผู้มีพระภาคตรัสแนะให้ถวายในสงฆ์ อันจะชื่อว่าบูชาทั้งพระองค์และพระสงฆ์ . พระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงยืนยันขอถวายพระผู้มีพระภาคตามเดินเป็นครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็ทรงแนะนำตามเดิมแม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓.
๒. พระอานนท์จึงกราบทูลขอให้พระองค์ทรงรับ โดยอ้างอุปการคุณ ซึ่งพระนางมหาปชาบดีโคตมี เคยมีต่อพระผู้มีพระภาคในการที่ทรงเลี้ยงดู ทรงให้ดื่มถัญญ์ ( น้ำนม ) ภายหลังที่พระพุทธมารดาสวรรคต และอ้างอุปการคุณที่พระผู้มีพระภาคทรงมีต่อพระนางมหาปชาบดี โคตมี เป็นเหตุให้พระนางถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ, ทรงเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย, ทรงประกอบด้วยความเลื้อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่ , ทรงหมดความสงสัยในอริยสัจจ์ ๔ ประการ. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลอาศัยผู้ใด แล้วตั้งอยู่ในคุณธรรมตามที่พระอานนท์กล่าวมานั้น พระองค์ไม่ตรัสการที่บุคคลนั้นกราบไว้ ลุกขึ้นต้อนรับ ทำอัญชลีกรรม ( พนมมือไหว้ ) สามีจิกรรม ( การแสดงอัธยาศัยไมตรีให้เหมาะสมแก่ฐานะ ) และการให้ปัจจัย ๔ มีผ้านุ่งห่ม เป็นต้น ว่าเป็นการตอบแทนอันดีต่อผู้ที่ตนอาศัยนั้น.
๓. แล้วทรงแสดงทักษิณา ( ของให้หรือของถวาย ) ที่เจาะจงบุคคล ๑๔ ประเภทเป็นข้อ ๆ ไป คือ การที่บุคคลถวายทานหรือให้ทาน ๑. ในพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒. ในพระปัจเจกพุทธเจ้า ๓. ในพระอรหันตสาวกของพระตถาคต ๔. ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล ๕. ในพระอนาคามี ๖. ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ๗. ในพระสกทาคามี ๘. ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล ๙. ในพระโสดาบัน ๑๐. ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ๑๑. ในท่านผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม ภายนอก ( พระพุทธศาสนา ) ๑๒. ในบุถุชน ( คนยังหนาด้วยกิเลส ) ผู้มีศีล ๑๓. ในบุถุชนผู้ทุศีล ๑๔. ในสัตว์ดิรัจฉาน.
๔. แล้วทรงแสดงว่า ทักษิณา มีคุณอันพึงหวังได้ คือทานที่ให้ในสัตว์ดิรัจฉาน มีคุณถึงร้อย , ในบุถุชนผู้ทุศีล มีคุณถึงพัน , ในบุถุชนผู้มีศีล มีคุณถึงแสน , ในท่านผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม ภายนอก ( พระพุทธศาสนา ) มีคุณถึงแสนโกฏิ , ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล มีคุณเป็นอสงไขย ( นับไม่ได้ ) อัปไมย ( ประมาณไม่ได้ ) จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงทานที่ถวายในบุคคลที่สูงขึ้นไปกว่านี้.
๕. แล้วทรงแสดงทักษิณา ( ของถวาย ) ที่เป็นไปในสงฆ์ ๗ ประเภท คือ ๑. ในสงฆ์สองฝ่าย (ภิกษุสงฆ์ , ภิกษุณีสงฆ์ ) มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๒. ในสงฆ์สองฝ่าย เมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว ๓. ในภิกษุสงฆ์ ๔. ในภิกษุณีสงฆ์ ๕. ทักษิณาที่เจาะจงภิกษุ หรือภิกษุณีจำนวนเท่านั้นเท่านี้จากสงฆ์ ๖. ทักษิณาที่เจาะจงภิกษุเท่านั้นเท่านี้จากสงฆ์ ๗. ทักษิณาที่เจาะจงภิกษุณีเท่านั้นเท่านี้จากสงฆ์.
๖. ตรัสว่า ในอนาคตกาลนานไกล จักมีโคตรภู ๑ (สงฆ์ ) ผู้มีผ้ากาสาวะที่คอ เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรมบุคคลจักถวายทานอุทิศสงฆ์ในโคตรภู (สงฆ์ ) ผู้ทุศีลเหล่านั้น แม้ทักษิณาที่เป็นไปในสงฆ์นั้น เราก็กล่าวว่านับไม่ได้ประมาณไม่ได้. เราไม่กล่าวว่า ทานที่เจาะจงบุคคลมีผลมากกว่าทักษิณาที่เป็นไปในสงฆ์โดยปริยายไร ๆ เลย.
๗. ตรัสแสดงความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ อย่าง คือทักษิณาที่ ๑. บิริสุทธิ์ฝ่ายทายก ( ผู้ให้ ) ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ( ผู้รับ ) ๒. บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ๓. ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก ทั้งฝ่ายปฏิคาหก ๔. บริสุทธ์ทั้งฝ่ายทายก ทั้งฝ่ายปฏิคาหก. พร้อมทั้งทรงแสดงรายละเอียดกำหนดความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ ด้วยการที่บุคคลมีศีล มีกัลยาณธรรม และทุศีล มีบาปธรรม.
จบวรรคที่ ๔ ขึ้นวรรคที่ ๕
ชื่อสฬายตนวรรค แปลว่า วรรคกำหนดด้วยอายตนะ ๖
๔๓. อนาถปิณฑิโกวาทสูตร
สูตรว่าด้วยการให้โอวาทแก่อนาถปิณฑิกคฤหบดี
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. สมัยนั้นอนาถปิณฑิกคฤหบดีไม่สบาย เป็นไข้หนัก จึงส่งคนไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ และให้ถวายบังคมแทนตน กับส่งคนไปอาราธนาพระสารีบุตรไปยังที่อยู่ของตน เพื่อเป็นการอนุเคราะห์ พระสารีบุตรรับนิมนต์แล้วก็ไปเยี่ยมไต่ถาม โดยมีพระอานนท์ตามไปด้วย เป็นปัจฉาสมณะ ( ภิกษุผู้ติดตาม ) คฤหบดีกล่าวตอบว่า มีทุกขเวทนากล้า จึงกล่าวธรรมสั่งสอน คือ :-
๑. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือรูป หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ .
๒. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือรูป กลิ่น เสียง รส โผสฐัพพะ ( สิ่งที่พึงถูกต้องด้วยกาย ) ธรรมะ ( สิ่งที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยใจ ) และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมะ.
๓. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือวิญญาณ ( ๖ ) มีจักขุวิญญาณ ( ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา ) เป็นต้น และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยวิญญาณ ( ๖ ) มีจักขุวิญญาณเป็นต้น.
๔. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือสัมผัส ( ความถูกต้อง ๖ ) มีจักขุสัมผัส ( ความถูกต้องทางตา เป็นต้น และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยสัมผัส ( ๖ ) มีจักขุสัมผัส เป็นต้น
๕. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือเวทนา ( ความรู้สึกหรือเสวยอารมณ์ ๖ ) มีจักขุสัมผัสสชาเวทนา ( ความรู้สึกอารมณ์อันเกิดแต่สัมผัสทางตา ) เป็นต้น และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยเวทนา ( ๖ ) มีจักขุสัมผัสสชาเวทนา เป็นต้น.
๖. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ และธาตุรู้ ( วิญญาณธาตุ ) และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยธาตุดิน เป็นต้น.
๗. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือ ( ขันธ์ ๕ ) รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยรูป เป็นต้น.
๘. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือ ( อรูปฌาน ๔ คือ ) อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ และเนวสัญญานาสัญญายตนะ ๒ และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยอากาสานัญจายตนะ เป็นต้น.
๙. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือโลกนี้โลกหน้า และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยโลกนี้โลกหน้า.
๑๐. ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือสิ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ได้แสวงหา ได้ติดตามด้วยใจ และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยสิ่งนั้น.
อนาถปิณฑิกคฤหหบดีได้ฟัง ก็ร้องไห้ พระอานนท์จึงถามว่า ท่านยังติดยังอาลัยอยู่หรือ . คฤหบดีตอบว่า มิได้ติด มิได้อาลัย แต่ไม่เคยได้ฟังธรรมิกถาอย่างนี้ . เมื่อทราบว่าธรรมิกถาเช่นนี้ ไม่ได้แสดงแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว แต่แสดงแก่บรรพชิต จึงขอร้องพระสารีบุตรให้แสดงแก่คฤหัสถ์บ้าง เพราะกุลบุตรที่มีกิเลสน้อยมีอยู่จะเป็นผู้รู้ธรรมะได้ ไม่ได้ฟังก็จะเสื่อมจากธรรมะไป. พอพระสารีบุตรและพระอานนท์กลับแล้วไม่นาน อนาถปิณฑิกคฤหบดีก็ถึงแก่กรรมไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต แล้วกลับมาปรากฏตนถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กล่าวสุภาษิตและชมเชยพระสารีบุตร.
๔๔. ฉันโนวาทสูตร
สูตรว่าด้วยการให้โอวาทพระฉันนะ
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์. พระสารีบุตร , พระมหาจุนทะ , และพระฉันนะ อยู่ที่เขาคิชฌกูฏ . พระฉันนะไม่สบาย เป็นไข้หนัก. พระสารีบุตรจึงชวนพระมหาจุนทะไปเยี่ยมถามอาการ พระฉันนะเล่าทุกขเวทนากล้าให้ฟังและแสดงความจำนงจะฆ่าตัวตาย พระสารีบุตรก็ห้ามไว้และแสดงธรรมให้ฟัง มิให้ยึดถืออายตนะภายในมีตา เป็นต้น วิญญาณมีจักขุวิญญาณ เป็นต้น อายตนะภายนอกมีรูป ( ที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยจักขุวิญญาณ ) เป็นต้น ว่าเป็นของเรา เราเป็นนั้น นั่นเป็นตัวตนของเรา. เมื่อพระสารีบุตรกับพระมหาจุนทะกลับไปแล้ว พระฉันนะก็ฆ่าตัวตาย พระสารีบุตรไปกราบทูลถาม พระผู้มีพระภาคก็ตรัสตอบโดยใจความว่า ผู้ใดละทิ้งกายนี้ ยึดถือกายอื่น เรากล่าวว่ามีโทษ แต่ภิกษุฉันนะเป็นผู้ไม่มีโทษ . อรรถกถาแก้ว่า สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกับการสิ้นชีวิต ที่เรียกว่าสมสีสี ).
๔๕. ปูณโณวาทสูตร
สูตรว่าด้วยการประทานโอวาทแก่พระปุณณะ
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . พระปุณณะเข้าไปเฝ้ากราบทูลขอให้ประทานโอวาท จึงทรงแสดงธรรมสั่งสอนให้ไม่เพลิดเพลินยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผโฐัพพะ และธรรมะที่น่าปรารถนา รักใคร่ชอบใจ เมื่อดับความเพลิดเพลินได้ก็ดับทุกข์ได้.
๒. พระปุณณะกราบทูลว่า ท่านจักไปอยู่ในชนบทอื่นชื่อสุนาปรันตะ. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชาวสุนาปรันตะดุร้าย ถ้าเขาด่าเธอ เธอจะทำอย่างไร กราบทูลว่า ข้าพระองค์จักคิดว่า ด่ายังดีกว่าทำร้ายด้วยมือ . ตรัสถามว่า ถ้าเขาทำร้ายด้วยมือ จะทำอย่างไร กราบทูลว่า ยังดีกว่าใช้ก้อนดินทำร้าย. ตรัสถามว่า ถ้าเขาใช้ก้อนดินทำร้าย จะทำอย่างไร กราบทูลว่า ยังดีกว่าใช้ท่อนไม้ทำร้าย . ตรัสถามว่า ถ้าเขาใช้ท่อนไม้ทำร้าย จะทำอย่างไร กราบทูลว่า ยังดีกว่าทำร้ายด้วยศัสตรา. ตรัสถามว่า ถ้าเขาทำร้ายด้วยศัสตรา จะทำอย่างไร กราบทูลตอบว่า ยังดีกว่าฆ่าด้วยศัสตราที่คม. ตรัสถามว่า ถ้าเขาฆ่าด้วยศัสตราที่คม จะทำอย่างไร กราบทูลว่า บุคคลบางคนยังต้องหาคนมาฆ่า แต่นี่ดีที่ไม่ต้องหา ได้คนที่มาฆ่าให้.
๓. พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนา และตรัสอนุญาตให้ไปได้ ท่านไปอยู่ในที่นั้น ได้แสดงธรรมให้มีผู้ประกาศตนเป็นอุบาสก ๕๐๐ คน และท่านเองก็ได้บรรลุวิชชา ๓ ( ระลึกชาติได้ , ทิพยจักษุเห็นสัตว์ เกิดตาย , ทำอาสวะให้สิ้น ) ภายในพรรษานั้น และได้ปรินิพพานในกาลต่อมา.
๔๖. นันทโกวาทสูตร
สูตรว่าด้วยการให้โอวาทของพระนันทกะ
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . พระนางมหาปชาบดี โคตมี พร้อมด้วยนางภิกษุณีทั้งหลายเข้าไปเฝ้ากราทูลขอให้ประทานโอวาท , จึงทรงมอบหมายให้พระนันทกะผู้ไม่ประสงค์จะให้โอวาทแก่นางภิกษุณี เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ ท่านจึงไปสอน ให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ( ทนอยู่ไม่ได้ ) ไม่ใช่ตัวตน ของอายตนะภายในมีตา เป็นต้น อายตนะภายนอกมีรูป เป็นต้น วิญญาณ ( ความรู้แจ้งอารมณ์ ) มีจักขุวิญญาณ ( ความรู้แจ้งทางตา ) เป็นต้น พร้อมด้วยคำด้วยคำถามซักถามให้ตอบด้วยความเห็นจริงของผู้ฟังเอง และพร้อมด้วยคำเปรียบด้วยเปรียบเทียบหลายข้อ. พระผู้มีพระภาคตรัสชมเชยมาก.
๔๗. จูฬราหุโลวาทสูตร
สูตรว่าด้วยประทานโอวาทแก่พระราหุล สูตรเล็ก
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนพระราหุลให้เห็นความเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ( ทนอยู่ไม่ได้ ) และไม่ใช่ตัวตนของอายนตะภายในมีตา เป็นต้น อายตนะภายนอกมีรูป เป็นต้น วิญญาณมีจักขุวิญญาณ ( ความรู้แจ้งอารมณ์ด้วยตา ) เป็นต้น สัมผัส (ความถูกต้อง ) มีจักขุสัมผัส เป็นต้น เวทนา ( ความรู้สึกอารมณ์ ) มีเวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นต้น. พระราหุลก็มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วยอุปทาน.
๔๘. ฉฉักกสูตร
สูตรว่าด้วยธรรมะหมวด ๖ รวม ๖ ข้อ
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายถึงธรรมะหมวด ๖ รวม ๖ ข้อ คือ ๑. อายตนะภายใน ๖ มีตา เป็นต้น ๒. อายตนะภายนอก ๖ มีรูป เป็นต้น ๓. วิญญาณกาย ( หมวดวิญญาณ ) ๖ มีจักขุวิญญาณ เป็นต้น ๔. ผัสสกาย ( หมวดความถูกต้อง ) ๖ มีจักขุสัมผัส เป็นต้น ๕. เวทนากาย ( หมวดเวทนาคือความรู้สึกอารมณ์ ) ๖ มีเวทนาที่เกิดเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นต้น ๖. ตัญหากาย ( หมวดตัญหา ความทะยานอยาก ) ๖. มีตัญหาที่เกิดจากเวทนาอันเนื่องมาแต่จักขุสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นต้น. พร้อมทั้งตรัสสอนให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตนของสิ่งเหล่านั้น. เมื่อจบพระธรรมเทศนา ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ( เป็นพระอรหันต์ ).
๔๙. สฬายตนวิภังคสูตร
สูตรว่าด้วยการแจกอายตนะ ๖
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ทรงแสดงธรรมชื่อว่า “ มหาสฬายตนิกะ” ( ธรรมที่เกี่ยวด้วยอายตนะ ๖ อย่างพิสดาร ) โดยทรงแสดงว่า เมื่อไม่รู้ไม่เห็นธรรม ๖ หมวด ดั่งที่ทรงแสดงในฉฉักกสูตร ( ก่อนหน้าสูตรนี้สูตรเดียว ) ตามเป็นจริง ความลำบาก เดือดร้อนกระวนกระวาย ทั้งทางกายและทางจิตก็จะเจริญขึ้น ผู้ไม่รู้นั้น ย่อมได้เสวยทั้งทุกข์กายทุกข์ใจ . แล้วทรงแสดงให้เห็นว่า ถ้ารู้เห็นตามเป็นจริง ไม่กำหนัดยินดี ก็จะชื่อว่าทำมรรคมีองค์ ๘ ให้บริบูณ์ เมื่อทำได้อย่างนั้น ก็จะชื่อว่าทำธรรมะอื่น ( ในโพธิปักขิยธรรม ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๒ หน้า ๒ ) ในข้อเรื่องเสด็จป่ามหาวันให้บริบูรณ์ด้วย.
๒. ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมะที่เทียมคู่ คือสมถะ ( การทำใจให้สงบ ) และวิปัสสนา ( การทำปัญญาให้เห็นแจ้ง ) และแสดงธรรมที่ควรกำหนดรู้ คือขันธ์ ๕ ; ธรรมที่ควรละ คืออวิชชา ( ความไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ) และภวตัญหา ( ความอยากเป็นนั้นเป็นนี่ ) ; ธรรมที่ควรเจริญ คือสมถะและวิปัสสนา ; ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง คือวิชชา ( ความรู้อริยสัจจ์ ๔ ) และวิมุติ ( ความหลุดพ้น).
๕๐. นครวินเทยยสูตร
สูตรว่าด้วยพราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านนครวินทะ
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ . เสด็จแวะพัก ณ หมู่บ้านพราหมณ์แคว้นโกศลชื่อนครวินทะ ตรัสแสดงธรรมแก่พราหมคฤหบดีเหล่านั้น ผู้มาเฝ้าว่า ถ้านักบวชลัทธิอื่นถามท่านว่า สมณพราหมณ์เช่นไร ไม่ควรสักการะเคารพนับถือบูชา ก็พึงตอบว่า ได้แก่สมณพราหมณ์พวกที่ยังไม่ปราศจากราคะ ( ความกำหนัดยินดี ) โทสะ ( ความคิดประทุษร้าย ) โมหะ ( ความหลง ) ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ( สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย ) และธรรมะ ( สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ ) มีจิตยังไม่สงบระงับในภายใน ยังประพฤติเสมอบ้าง ไม่เสมอบ้าง ( ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ) ทางกาย วาจา ใจ ทั้งนี้เพราะพวกเราเอง ( ที่เป็นคฤหัสถ์ ) ก็มีความประพฤติเช่นนั้น เมื่อไม่เห็นความประพฤติสม่ำเสมอ (เรียบร้อย ) หรือคุณธรรมที่ยิ่งขึ้นไปของสมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงไม่ควรสักการะบูชาสมณพราหมณ์เหล่านั้น . ถ้านักบวชลัทธิอื่นจะพึงถามถึงสมณพราหม์ที่ควรสักการะเคารพนับถือบูชา ก็พึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม ( คือที่ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ).
๒. ครั้นแล้วตรัสต่อไปถึงการที่นักบวชลัทธิอื่นจะพึงถามอาการและความเป็นไปของสมณพราหมณ์ ที่พวกท่านกล่าวว่า เป็นผู้ปราศจากราคะ ปฏิบัติเพื่อนำออกซึ่งราคะ ปราศจากโทสะ ปฏิบัติเพื่อนำออกซึ่ง โทสะ ปราศจากโมหะ ปฏิบัติเพื่อนำออกซึ่งโมหะ พวกท่านพึงตอบว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นเสพเสนาสนะป่าอันสงัด ไม่มีรูป เสียง เป็นต้น ที่เห็นแล้ว ฟังแล้ว เป็นต้น จะทำให้ยินดียิ่ง.
พราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านนครวินทะ กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
๕๑. ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร
สูตรว่าด้วยความบริสุทธิ์แห่งบิณฑบาต
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์. เวลาเย็นพระสารีบุตรออกจากที่เร้นมาเฝ้าถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง จึงตรัสถามพระสารีบุตรว่า อินทรีย์ของท่านผ่องใส ฉวีวรรณของท่านบริสุทธิ์ ท่านอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อะไรมาก เมื่อพระสารีบุตรกราบทูลว่า อยู่ด้วยสุญญตาวิหาร ( ธรรมเป็นเครื่องอยู่มีความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ ) จึงตรัสว่า ดีแล้วที่อยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่แห่งมหาบุรุษ.
๒. ครั้นแล้วตรัสถึงการที่ภิกษุผู้หวังจะมาอยู่มากด้วยสุญญตาวิหาร พึงพิจารณาว่า เราเข้าสู่หมู่บ้าน เพื่อบิณฑบาตโดยทางใด เที่ยวไปในที่ใด กลับจากบิณฑบาตโดยทางใด ในทางนั้น ที่นั้น เรามีความพอใจ มีความกำหนัดยินดี มีความคิดประทุษร้าย ความหลง ความขัดข้องแห่งจิตในรูป เสียง เป็นต้น หรือไม่ เมื่อพิจารณารู้ว่าเรายังมีความพอใจในรูป เสียง เป็นต้น ก็พึงพยายามเพื่อละอกุศลบาปธรรมเหล่านั้น ถ้าไม่พิจารณาเห็นว่าเราไม่มีความพอใจในรูป เสียง เป็นต้น ก็พึงอยู่ด้วยปีติปราโมทย์นั้น ศึกษาอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน.
๓. ต่อจากนั้นพึงพิจารณาว่า เราละกามคุณ ๕ ( รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนา รักใคร่พอใจ ) และนีวรณ์ ๕ ( กิเลสอันกั้นจิตมิให้บรรลุความดี ) ได้แล้วหรือยัง เมื่อพิจารณาเห็นว่ายังละไม่ได้ ก็พึงพยายามเพื่อละ เมื่อพิจารณาเห็นว่าละได้แล้ว ก็พึงอยู่ด้วยปีติปราโมทย์นั้น ศึกษาอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน.
๔. ครั้นแล้วทรงพิจรณาแสดงการพิจรณาข้อธรรมอื่นอีก คือ อุปาทานขันธ์ ๕ กำหนดรู้แล้วหรือยัง ; สติปัฏฐาน ๔ เจริญแล้วหรือยัง ; ความเพียรชอบ ๔ เจริญแล้วหรือยัง ; ธรรมะอันให้บรรลุความสำเร็จ ๔ อย่าง, ธรรมอันเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ๕ อย่าง , ธรรมอันเป็นกำลัง ๕ อย่าง , ธรรมะอันเป็นองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ ๗ อย่าง , ทางมีองค์ ๘ อันประเสริฐ , สมถะ ( การทำจิตให้สงบ ) และวิปัสสนา ( การทำปัญญาให้เห็นแจ้ง ) เจริญแล้วหรือยัง ; วิชชา ( ความรู้อริยสัจจ์ ๔ ) , วิมุติ ( ความหลุดพ้น ) ทำให้แจ้งแล้วหรือยัง . เมื่อพิจารณาเห็นว่าอะไรยัง ก็พึงพยายามเพื่อทำการนั้น ๆ เมื่อเห็นว่าทำสำเร็จแล้ว ก็พึงอยู่ด้วยปีติปราโมทย์นั้น ศึกษาอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน ( ดูที่ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ) และที่ พระสุตตันตะ เล่ม ๒ หน้า ๔ ประกอบด้วย.
๕. ตรัสสรุปในที่สุดว่า สมณะหรือพราหมณ์ในอดีตกาล อนาคตกาลนานไกล หรือในบัดนี้ที่ทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ก็พิจารณาแล้วอย่างนี้ ทำให้บิณฑบาตบริสุทธิ์อย่างนี้.
๕๒. อินทริยภาวนาสูตร
สูตรว่าด้วยการอบรมอินทรีย์
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าไผ่ ใกล้นิคม ชื่อกัชชังคลา. ตรัสถามอุตตรมาณพผู้เป็นศิษย์ของปาราสิริยพราหมณ์ว่า พราหมณ์ผู้นั้นแสดงถึงการอบรมอินทรีย์ ๓ แก่สาวกอย่างไร มาณพกราบทูลว่า พราหมณ์สอนไม่ให้เห็นรูป ไม่ให้ฟังเสียง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น คนตาบอดหูหนวกก็จักชื่อว่าได้อบรมอินทรีย์ด้วย มาณพก็เก้อเขิล นิ่งก้มหน้า.
๒. จึงตรัสกะพระอานนท์ว่า ปาราสิริยพราหมณ์แสดงการอบรมอินทรีย์แก่สาวก ต่างจากการอบรมอินทรีย์ในอริยวินัย ( วินัยของพระอริยเจ้า ) เมื่อพระอานนท์กราบทูลขอให้ทรงอธิบาย จึงตรัสแสดงถึงการอบรมอินทรีย์ เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ และรู้ธรรมะว่า ความพอใจ ความไม่พอใจ หรือทั้งพอใจและไม่พอใจเกิดขึ้น ก็ให้รู้เท่าทันว่าเกิดขึ้นแล้ว แต่เป็นของหยาบอันปัจจัยปรุงแต่ง ส่วนความวางเฉยเป็นของสงบระงับและปราณีต ทรงสรุปว่า ทำอย่างนี้เป็นการอบรมอินทรีย์อันยอดเยี่ยมในอริยวินัย.
๓. แล้วทรงแสดงข้อปฏิบัติของเสขะ ( พระอริยบุคคลที่ยังมิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ยังศึกษาอยู่ ) ว่า เมื่อเห็นรูป เสียง เป็นต้น เกิดความพอใจ ไม่พอใจ หรือทั้งพอใจและไม่พอใจขึ้น ก็เบื่อหน่ายเกลียดชัง ความรู้สึกพอใจ เป็นต้น ที่เกิดขึ้นนั้น.
๔. ทรงแสดงการที่พระอริยเจ้าอบรมอินทรีย์แล้ว คือเมื่อเห็นรูป เสียง เป็นต้น เกิดความพอใจ เป็นต้น ใคร่จะอยู่อย่างกำหนดหมายว่าไม่เป็นปฏิกูล ( น่าเกลียด ) ในสิ่งปฏิกูล ; กำหนดหมายว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูล ; กำหนดหมายว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล ; กำหนดหมายว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและปฏิกูล ; หรือใคร่จะเพิกถอนทั้งสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล อยู่อย่างวางเฉย มีสติสัมปชัญญะ ก็ทำได้ทุกอย่าง.
จบวรรคที่ ๕ และจบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔
________________________________________
๑. โคตรภูสงฆ์ หมายถึงสงฆ์โดยชื่อ แต่ความประพฤติย่อหย่อน อรรถกถาแสดงว่า ได้แก่ผู้มีผ้ากาสาวะพันที่มือหรือคอพอเป็นเครื่องหมาย แต่มีบุตรภริยา และประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น กสิกรรม พาณิชยกรรม ตามปกติ. อนึ่ง คำว่า โคตรภู นี้ ยังหมายถึงผู้อยู่กึ่งกลางระหว่างพระอริยเจ้า กับบุถุชน คือคนที่ยังหนาไปด้วยกิเลส
๒. โปรดดูคำอธิบายในข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๗
๓. คำว่า อินทรีย์ ในที่นี้ หมายถึงสิ่งที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เล่มที่ ๑๕ ชื่อสังยุตตนิกาย สคาถวรรค
เป็นสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗
ท่านผู้อ่านได้ทราบมาแล้วว่า พระสุตตันตปิฎก เท่าที่ย่อมาแล้วมี ๖ เล่ม เป็นหมวดยาว คือ ทีฑนิกาย ๓ เล่ม เป็นหมวดขนาดกลาง คือมัชฌิมนิกาย ๓ เล่ม . พระสุตตันตปิฎก เริ่มแต่เล่มที่ ๙ เมื่อจบมัชฌิมนิกายจึงถึงเล่มที่ ๑๔ . บัดนี้มาถึงสังยุตตนิกาย ซึ่งเป็นหมวดประมวลเรื่องต่าง ๆ ไว้เป็นหมวดหมู่เริ่มแต่เล่มที่ ๑๕ ถึงเล่มที่ ๑๙ รวม ๕ เล่ม.
เมื่อมาถึงหมวดประมวลหรือสังยุตตนิกายนี้ ผู้เขียนมีความเสียใจที่จะต้องย่ออย่างสั้นที่สุด เพื่อให้สามารถย่อเล่มที่ ๒๐ ถึงเล่มที่ ๔๕ รวม ๒๖ เล่ม ให้รวบรัดได้ลงใน ๒ เล่มที่ยังค้างอยู่ แต่การย่อสังยุตตนิกายอย่างสั้นที่สุดนี้ ก็เป็นโอกาสดีอย่างหนึ่ง คือในการพิมพ์ครั้งต่อไป ก็อาจจะย่อเพิ่มเป็นอีกเล่ม ๑ ต่างหาก สำหรับสังยุตตนิกายโดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ต้องสุดแต่ความเหมาะสม.
สังยุตตนิกาย ๕ เล่ม แบ่งออกเป็น
เล่มที่ ๑๕ ชื่อสุงยุตตนิกาย สคาถวรรค หมายความว่าทุกสูตรในเล่มนี้ ( ซึ่งมีถึง ๒๗๑ สูตร ) เป็นสูตรที่มี “ คาถา ” หรือคำสอน อันเป็น “ บทกวี ” คำว่าสคาถวรรค วรรคที่มีคาถา จึงเป็นชื่อของเล่มที่ ๑๕ นี้.
เล่มที่ ๑๖ ชื่อสังยุตตนิกาย นิทานวรรค คำว่า นิทานวรรค แปลว่า วรรคว่าด้วยต้นเหตุ คืออธิบายถึงธรรมะที่เป็นเหตุปัจจัยของความเวียนว่ายตายเกิด ที่เรียกว่าปฏิจจสมุปปบาท.
เล่มที่ ๑๗ ชื่อสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค คำว่า ขันธวารวรรค แปลว่า วรรคว่าด้วยวาระที่กล่าวถึงขันธ์ คือกองรูป กองนาม หมายความว่า ร่างกายจิตใจของคนเราแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน เป็นส่วนรูปธรรมกองหนึ่ง เป็นส่วนจิตใจหรือนามธรรมอีกกองหนึ่ง.
เล่มที่ ๑๘ ชื่อสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค คำว่า สฬายตนวรรค แปลว่า วรรคว่าด้วยอายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอันรวมกล่าวเรื่องตา หู เป็นต้น ในเล่มที่ ๑๘ นี้ทั้งเล่ม.
ส่วนเล่มที่ ๑๙ ชื่อมหาวรรค คำว่า มหาวรรค เปลว่า วรรคว่าด้วยวาระใหญ่ หมายความว่า ธรรมะเรื่องสำคัญ ๆ เช่น มรรค, โพชฌงค์, อินทรีย์ เป็นต้น ได้นำมากล่าวไว้ในเล่ม ๑๙ นี้ทั้งสั้น.
มีข้อที่ควรสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่าในแต่ละเล่มของ ๕ เล่มนี้ ซึ่งเรียกว่าวรรค ( ใหญ่ ) แต่ละวรรคประจำเล่มแล้ว ยังแบ่งเป็นส่วนใหญ่ เรียกว่าสังยุตต์ แบ่งเป็นส่วนย่อย เรียกว่าวรรค ( โดยมากมีวรรคละ ๑๐ สูคร ) หรือถ้าทำเป็นแผนผังวิธีแบ่งส่วน จะเห็นได้ดังนี้:-
วรรค ( ใหญ่ ) รวมทั้งเล่มเป็น ๑ วรรคใหญ่
สังยุตต์ ( รวมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง)
วรรค ( เล็ก ) รวมสูตรประมาณ ๑๐ สูตรต่อ ๑ วรรค
เฉพาะเล่มที่ ๑๕ หรือสังยุตตนิกาย สคาวรรค แบ่งออกเป็น ๑๒ สังยุตต์ ดังต่อไปนี้:-
๑. เทวตาสังยุตต์ ประมวลเรื่องเทวดา ที่ไปทูลถามปัญหาต่อพระพุทธเจ้า มีทั้งหมด ๘๑ สูตร แสดงคำถามของเทวดา คำตอบของพระพุทธเจ้า ที่เป็นคาถาหรือบทกวีทั้งคำถามคำตอบ.
๒. เทวปุตตสังยุตต์ ประมวลเรื่องเทพบุตร ที่ไปทูลถามปัญหาต่อพระพุทธเจ้า มีทั้งหมด ๓๐ สูตร แสดงคำของเทพบุตร คำตอบของพระพุทธเจ้า ที่เป็นคาถาหรือบทกวีทั้งคำถามคำตอบ.
๓. โกสลสังยุตต์ ประกอบเรื่องที่ตรัสโต้ตอบกับพระเจ้าปเสนทิโกศล มีทั้งหมด ๒๕ สูตร.
๔. มารสังยุตต์ ประมวลเรื่องมาร ซึ่งไปปรากฏภายในลักษณะต่าง ๆ กัน บางครั้งได้มีการโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า บางครั้งมิได้พูด แต่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตในเมื่อทรงทราบว่าเป็นมาร ในสังยุตต์นี้มี ๒๕ สูตร.
๕. ภิกขุณีสังยุตต์ ประมวลเรื่องนางภิกษุณี แสดงถึงการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่นางภิกษุณีต่างรูป มี ๑๐ สูตร.
๖. พรหมสังยุตต์ ประมวลเรื่องพรหม แสดงการที่พระพรหมมาเฝ้า พระผู้มีพระภาคตรัสภาษิตโต้ตอบ มี ๑๕ สูตร.
๗. พราหมณสังยุตต์ ประมวลเรื่องพราหมณ์ มีพราหมณ์ต่าง ๆ ตั้งปัญหาถามบ้าง กล่าววาจาก้าวร้าวบ้าง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสโต้ตอบเป็นภาษิตให้ได้เห็นธรรม มี ๒๒ สูตร ส่วนใหญ่ มีผลเป็น ๒ คือพรหามณ์ออกบวชเป็นพระอรหันต์ กับพราหมณ์เลื่อมใสปฏิญญาตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
๘. วังคีสสังยุต์ ประมวลเรื่องเกี่ยวกับพระสังคีสเถระ มี ๑๒ สูตร.
๙. วนสังยุตต์ ประมวลเรื่องเกี่ยวกับป่า คือพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่พระเถระต่าง ๆ ที่อยู่ในป่า มี ๑๔ สูตร.
๑๐. ยักขสังยุตต์ ประมวลเรื่องยักษ์ ที่มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค และพระองค์ได้ตรัสโต้ตอบ มี ๑๒ สูตร.
๑๑. สักกสังยุตต์ ประมวลเรื่องท้าวสักกะจอมเทพชั้นดาวดึงส์ ที่มาเฝ้า และพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม มี ๒๕ สูตร.
สาระสำคัญของคำสอนในเล่ม ๑๕ นี้ อยู่ที่ภาษิตสั้น ๆ จับใจ มากกว่าเรื่องที่จะให้ติดในเรื่องเทวดาหรือมาร พรหม. อนึ่ง จำนวนพระสูตรนี้ รวมแล้วได้ ๒๗๑ สูตร.
เล่มที่ ๑๖ ชื่อสังยุตตนิกาย นิทานวรรค
เป็นสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘
ได้กล่าวแล้วว่า พระไตรปิฏกเล่มนี้ กล่าวด้วยเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ความเกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัย รวมทั้งเมื่อกล่าวถึงความดับ ก็แสดงเหตุปัจจัยที่ดับเป็นต่อ ๆ กันไป คำว่า นิทาน เล็งถึงเหตุปัจจัย จึงใช้เป็นชื่อของเล่มนี้ว่า นิทานวรรค รวมทั้งเล่มมี ๙ สังยุตต์ คือ:-
๑. อภิสมยสังยุตต์ ประมวลเรื่องเกี่ยวกับการตรัสรู้ โดยแสดงถึงเหตุปัจจัยส่งผลต่อ ๆ กันให้มีการเวียนว่ายตายเกิด และในทางตรงกันข้าม เมื่อดับเหตุปัจจัยก็ส่งผลต่อ ๆ กันให้ดับความเวียนว่ายตายเกิดได้.
๒. ธาตุสังยุตต์ ประมวลเรื่องธาตุ กล่าวถึงธาตุในทางธรรมหลายชนิด เช่น ธาตุที่เนื่องด้วย ตา หู จมูก ลิ้น เป็นต้น รวมถึงการที่สัตว์ทั้งหลายเข้ากันได้โดยธาตุ .
๓. อนมตัคคสังยุตต์ ประมวลเรื่องสงสารวัฏฏ์ หรือความเวียนว่ายตายเกิด มีเบื่องต้นและที่สุดอันตามไม่พบ จึงควรที่จะเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในสังขาร ควรที่จะหลุดพ้นไป.
๔. กัสสปสังยุตต์ ประมวลเรื่องพระมหากัสสปะ แสดงถึงการที่พระมหากัสสปะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคและมีพระพุทธดำรัสด้วย รวมทั้งเหตุการณ์อื่น ๆ เกี่ยวกับกับพระมหากัสสปะ เช่น การสั่งสอนนางภิกษุณี เป็นต้น.
๕. ลาภสักการสังยุตต์ ประมวลเรื่องลาภสักการะ ที่ทำให้คนเสียคน ทำให้อยู่ไม่เป็นสุข จึงไม่ควรปล่อยให้ลาภสักการะชื่อเสียงครอบงำจิตจนลืมตัว เพราะถ้าไม่รู้เท่า ก็จะเป็นเสมือนหนึ่งเบ็ดที่มีเหยื่อล่อให้หลงกลืนลงเข้าไป.
๖. ราหุลสังยุตต์ ประมวยเรื่องพระราหุล เกี่ยวด้วยการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องต่าง ๆ แก่พระราหุล.
๗. ลักขณสังยุตต์ ประมวลเรื่องพระลักขณะ ท่านผู้เดินทางไกลไปกับพระมหาโมคคัลลานะผู้ได้เห็นสิ่งแปลก ๆ ต่าง ๆ แต่พระลักขณะไม่เห็น พระมหาโมคคัลลานะจึงชวนท่านไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลเล่าถวาย พระผู้มีพระภาคตรัสตอบชี้แจงเหตุผล.
๘. โอปัมมสังยุตต์ ประมวลเรื่องเปรียบเทียบ เป็นคำสอนต่าง ๆ เช่น เรื่องสุนัขขี้เรือนอยู่ที่ไหนก็ไม่สบาย คนชั่วบางคนก็มีลักษณะเป็นเช่นนั้น.
๙. ภิกขุสังยุตต์ ประมวลเรื่องภิกษุ แสดงถึงการที่พระผู้มีพระภาคบ้าง พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบ้าง แสดงธรรมสั่งสอนภิกษุทั้งหลาย.
เล่มที่ ๑๗ ชื่อสังยุตตนิกาย นิทานวรรค
เป็นสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙
พระไตรปิฏกเล่มนี้ ส่วนใหญ่ว่าด้วยเรื่องขันธ์ ๕ คือ ๑. รูป (ธาตุทั้งสี่ประชุมกันเป็นกาย และรูปอาศัย คืออาการอื่น ๆ ที่อาศัยธาตุทั้งสี่ปรากฏขึ้น เช่น ตา หู จมูก เป็นต้น ) ๑ . ๒. เวทนา ( ความรู้สึกอารมณ์เป็นสุข เป็นทุกข์ และมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ซึ่งเกิดจากสัมผัส ๖ มีสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ) ๓. สัญญา (ความจำได้หมายรู้ เช่น จำรูป จำเสียง เป็นต้น ) ๔. สังขาร ( ความคิดหรือเจตนาที่เป็นไปในรูป เสียง เป็นต้น ) ๕. วิญญาณ ( ความรู้แจ้งอารมณ์ หมายถึงรู้สึกว่า เห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้น).
พระไตรปิฏกเล่มนี้ รวมทั้งหมดมี ๑๓ สังยุตต์ คือ :-
๑. ขันธสังยุตต์ ประมวลเรื่องขันธ์ กล่าวถึงขันธ์ ๕ พร้อมทั้งรายละเอียดต่าง ๆ.
๒. ราธสังยุตต์ ประมวลเรื่องพระราธะ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมสั่งสอนพระราธะผู้เดิมเป็นพราหมณ์ ภายหลังมาบวชในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นผู้ว่าง่าย รับฟังโอวาทด้วยความเคารพ.
๓. ทิฏฐิสังยุตต์ ประมวลเรื่องทิฏฐิ คือความคิดเห็นที่เนื่องด้วยขันธ์ ๕.
๔. โอกกันตสังยุตต์ ประมวลเรื่องข้ามพ้นภูมิชั้นต่ำหรือภูมิบุถุชน.
๕. อุปปาทสังยุตต์ ประมวลเรื่องความเกิดขึ้น แห่งตา หู เป็นต้น เท่ากับเป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์.
๖. กิเลสสังยุตต์ ประมวลเรื่องกิเลส คือความชั่วภายในจิตใจที่ทำใจให้เศร้าหมอง.
๗. สาริปุตตสังยุตต์ ประมวลเรื่องพระสารีบุตร.
๘. นาคสังยุตต์ ประมวลเรื่องนาค คือสัตว์ประเภทงู.
๙. สุปัณณสังยุตต์ ประมวลเรื่องครุฑ คือสัตว์ประเภทนก.
๑๐. คันธพพกายสังยุตต์ ประมวลเรื่องเทพพวกคนธรรพ์ คือเทพที่สิ่งอยู่ ณ กลิ่นแห่งรากไม้, แก่นไม้, กระพี้ไม้, เปลือกไม้, สะเก็ดไม้, ดอกไม้, ผลไม้, รสไม้, กลิ่นไม้.
๑๑. วลาหกสังยุตต์ ประมวลเรื่องเวลาหกคือเมฆ คือเมฆหนาว, เมฆร้อน, เมฆหมอก, เมฆลม, และเมฆฝน.
๑๒. วัจฉโคตตสังยุตต์ ประมวลเรื่องวัจฉโคตตปริพพาชก ควรดูข้อความหน้า พระสุตตันตะ เล่ม ๕ หน้า ๓ ข้อที่ ๒๑ ถึง ๒๔ ประกอบด้วย).
๑๓. สมาธิสังยุตต์ ประมวลเรื่องสมาธิ คือการทำใจให้ตั้งมั่น.
________________________________________
๑. รูปเกิดขึ้นเพราะอาหาร ถ้าดับอาหาร รูปก็ดับ คำอธิบายตอนนี้ปรากฏในเล่ม ๑๖ หน้า ๗๒ ถึง ๗๕
เล่มที่ ๑๘ ชื่อสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
เป็นสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐
พระไตรปิฏกเล่มนี้ ว่าด้วยเรื่องอายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในชั้นแรกไม่จัดเป็นสังยุตต์ แต่จัดเป็นหมวด ๕๐ ( ปัณณากะ ) รวม ๔ หมวด คือปัณณสกะที่ ๑ ถึงที่ ๔ รวมทั้งสิ้นประมาณ ๒๐๐ สูตร ว่าด้วยเรื่องตา หู เป็นต้น ๑ . ต่อไปจึงจัดเป็นสังยุตต์ รวม ๑๐ สังยุตต์ คือ:-
๑. เวทนาสังยุตต์ ประมวลเรื่องเวทนา แสดงถึงเวทนา ๒ ประการ ถึงเวทนา ๑๐๘ ประการ.
๒. มาตุคามสังยุตต์ ประมวลเรื่องมาตุคาม คือผู้หญิง.
๓. ชัมพุขาทกสังยุตต์ ประมวลเรื่องปริพพาชกชื่อชัมพุขาทกะ ผู้โต้ตอบกับพระสารีบุตร.
๔. โมคคัลลานสังยุตต์ ประมวลเรื่องพระโมคคัลลานะ.
๕. จิตตคหปติปุจฉาสังยุตต์ ประมวลเรื่องคำถามของจิตตคฤหบดี.
๖. คามณิสังยุตต์ ประมวลเรื่องนายบ้าน คือผู้ปกครองหมู่บ้านมีชื่อต่าง ๆ กัน แสดงถึงการที่พระผู้มีพระภาคสั่งสอนนายบ้านเหล่านั้น.
๗. อสังขตสังยุตต์ ประมวลเรื่องอสังขตะ. คือสิ่งที่มิได้ถูกปัจจัยปรุงแต่ง.
๘. อัพยากตสังยุตต์ ประมวลเรื่องที่พระผู้มีพระภาคไม่ตรัสชี้ชัด คือเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ ทำให้โต้เถียงกันเปล่า ๆ .
________________________________________
๑. ทั้งหมด ๔ หมวดนี้ น่าจะเรียกว่าสฬายตนสังยุตต์ ประมวลเรื่องอายจนะ ๖
เล่มที่ ๑๙ ชื่อสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
เป็นสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑
เล่ม ๑๙ นี้ ว่าด้วยธรรมะสำคัญเรื่องใหญ่ ๆ รวม ๑๒ สังยุตต์ คือ:-
๑. มัคคสังยุตต์ ประมวลเรื่องมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์.
๒. โพชฌงคสังยุตต์ ประมวลเรื่องโพชฌงค์ ๗ คือองค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้มีสติ เป็นต้น.
๓. สติปัฏฐานสังยุตต์ ประมวลเรื่องสติปัฏฐาน ๔ คือการตั้งสติ ๔ ประการ มีตั้งสติไว้ที่กาย เป็นต้น.
๔. อินทรียสังยุตต์ ประมวลเรื่องอินทรีย์ ๕ คือธรรมอันเป็นเรื่องใหญ่ในหน้าที่ของตน มีศรัทธาความเชื่อ เป็นต้น.
๕. สัมมัปปธานสังยุตต์ ประมวลเรื่องความเพียรชอบ ๔ ปารการ มีเพียรทำไม่ให้เกิดความชั่ว ที่ยังไม่เกิด เป็นต้น.
๖. พลสังยุตต์ ประมวลเรื่องพละ ๕ ปารการ มีศรัทธาความเชื่อ เป็นต้น.
๗. อิทธิปาทสังยุตต์ ประมวลเรื่องอิทธิบาท ๔ คือธรรมะอันให้บรรลุความสำเร็จ ๔ ประการ มีฉันทะความพอใจ เป็นต้น.
พึงสังเกตว่า ตั้งแต่สังยุตต์ที่ ๑ ถึงที่ ๗ นี้ ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๒ ประการ เป็นแต่ไม่เรียงลำดับตามหมวดเท่านั้น.
๘. อนุรุทธสังยุตต์ ประมวลเรื่องพระอนุนุทธ์ ผู้เป็นพุทธอนุชา.
๙. ฌานสังยุตต์ ประมวลเรื่องฌาน คือการเพ่งอารมณ์จนจิตสงบได้ฌานที่ ๑ ถึงที่ ๔.
๑๐. อานาปานสังยุตต์ ประมวลเรื่องสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ซึ่งเป็นวิธีทำจิตให้สงบประการหนึ่งที่นับว่าสำคัญ.
๑๑. ปัตติสังยุตต์ ประมวลเรื่องการที่จะเป็นพระโสดาบัน คือพระอริยบุคคลชั้นที่ ๑ ซึ่งเป็นชั้นแรกใน ๔ ชั้น.
๑๒. สัจจสังยุตต์ ประมวลเรื่องอริยสัจจ์ ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นหลักสำคัญทางพระพุทธศาสนา
จบความย่อแห่งพระไตรปิฏก ตั้งแต่เล่ม ๑๕ ถึงเล่ม ๑๙ อันเป็นสังยุตตนิกาย ( หมวดประมวลเรื่องราว ) รวม ๕ เล่ม
เล่มที่ ๒๐ ชื่ออังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๑๒
หน้า ๑
เมื่อจบหมวดประมวลเรื่องราวหรือสังยุตตนิกายแล้ว จึงมาถึงหมวดที่แสดงหลักธรรมเป็นจำนวนซึ่งเรียกว่าอังคุตตรนิกาย. พระไตรปิฏกในหมวดนี้ยังคงเป็นสุตตันตปิฏก มีด้วยกันทั้งหมด ๕ เล่ม เริ่มด้วย เล่มที่ ๒๐ จนถึงเล่มที่ ๒๔ ในการนี้เล่มที่ ๒๐ ว่าด้วยหลักธรรมจำนวน ๑, ๒ ,๓ จึงใช้คำบาลีว่า เอก - ทุกติกนิบาท; เล่มที่ ๒๑ ว่าด้วยหลักธรรมจำนวน ๔ จึงใช้คำบาลีว่า จตุกกนิบาต; เล่มที่ ๒๒ ว่าด้วยธรรมจำนวน ๕ - ๖ จึงใช้คำบาลีว่า ปัญจก- ฉักกนิบาต ; เล่ม ๒๓ ว่าด้วยหลักธรรม จำนวน ๗ – ๘- ๙ จึงใช้คำบาลีว่า สัตตก - อัฏฐก- นวกนิบาต; เล่มที่ ๒๔ ว่าด้วยหลักธรรมจำนวน ๑๐ - ๑๑ จึงใชคำบาลีว่า มสก-เอกาทสกนิบาต.
การกำหนดจำนวนพระสูตรว่าในหมวดไหน หรือนิกายไหน มีกี่สูตรนั้น ในตอนแรก ๆ ก็กำหนดง่ายนับง่าย เพราะแต่ละสูตรก็มีข้อความยึดยาว คือ ๑๐ สูตรหรือกว่านั้นเล็กน้อย ก็รวมเป็น ๑ เล่ม แต่ในตอนหลังนี้ แต่ละเล่มมีกว่าพันสูตร เพราะข้อความไม่กี่บันทัดก็นับได้ว่าเป็นสูตรหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นตั้งแต่สังยุตตนิกาย เป็นต้นมา จึงควรกำหนดประเภทของหลักธรรม และในอังคุตตรนิกายนี้ควรกำหนดจำนวนเป็นเกณฑ์ว่า จำนวน ๑ มีธรรมะอะไรบ้าง จำนวน ๑๐ มีอะไรบ้าง ดังนี้ ก็จะสดวกขึ้น อย่างไรก็ตามเพื่อให้มองเห็นจำนวนพระสูตรในแต่ละนิกายอีกครั้งหนึ่ง ขอนำมากล่าวไว้ในที่นี้ เพื่อให้พิจารณาดังต่อไปนี้ :-
๑. ทีฆนิกาย หมวดพระสูตรขนาดยาว (เล่ม ๙ ถึง ๑๑ รวม ๓ เล่ม) มี ๒๔ สูตร.
๒. มัชฌิมนิกาย หมวดพระสูตรขนาดกลาง ( เล่ม ๑๒ ถึง ๑๔ รวม ๓ เล่ม ) มี ๑๕๒ สูตร.
๓. สังยุตตนิกาย หมวดพระสูตรที่ประมวลเรื่องราว (เล่ม ๑๕ ถึง ๑๙ รวม ๕ เล่ม ) ๗,๗๖๒ สูตร.
๔. อังคุตตรนิกาย หมวดพระแสดงหลักธรรมเป็นจำนวน ( เล่ม ๒๐ ถึง ๒๔ รวม ๕ เล่ม) มี ๙,๕๕๗ สูตร.
๕. ขุททกนิกาย หมวดพระสูตรเล็กน้อยหรือเบ็ดเตล็ด ( เล่ม ๒๕ ถึง ๓๓ รวม ๙ เล่ม ) ไม่ได้แสดงจำนวนสูตรไว้ แต่มีคำกล่าวว่า สูตรที่เหลือจาก ๔ นิกายข้างต้นก็นับเข้าในขุททกนิกายทั้งสิ้น.
เมื่อเทียบดูจำนวนสูตร ในพระสูตตันตปิฏกทั้งห้านิกาย ก็จะเห็นได้ว่ามาถึงนิกายหลัง ๆ ตั้งแต่นิกายที่ ๓ ( สังยุตตนิกาย ) มา เรื่องเบ็ดเตล็ดหรือเรื่องย่อย ๆ มีมากขึ้นจนไม่สามารถจะย่อได้ทุกสูตรดั่งแต่ก่อนจึงต้องย่ออย่างจับสาระสำคัญเป็นหมวดใหญ่ ๆ ไว้.
เฉพาะในเล่ม ๒๐ คืออังคุตตรนิกาย ที่ว่าด้วยหลักธรรมเป็นจำนวน ๑- ๒- ๓ นี้ ท่านผู้อ่านย่อมเห็นได้ชัดว่า ควรจะได้แบ่งส่วนสำคัญออกเป็น ๓ ส่วนตามจำนวนเลขนั้น คือรวมหลักธรรมจำนวน ๑ เรียก เอกนิบาต รวมหลักธรรมจำนวน ๒ เรียกทุกนิบาต รวมหลักธรรมจำนวน ๓ เรียกติกนิกลบาต . ก่อนที่จะกล่าวรายละเอียดพอสมควร จะขอชี้แจงส่วนใหญ่หรือความสำคัญใน ๓ ชั้นนั้น เป็นการนำทางไว้ในเบื้องแรก คือ :-
เอกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑ ข้อ
ในหมวดนี้ แบ่งออกเป็นหมวดใหญ่ ๖ หมวดด้วยกัน คือ :-
๑. เอกธัมมาทิปาลิ บาลีว่าด้วยธรรมะข้อ ๑ เป็นต้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมะข้อ ๑ หรือ ๑ ข้อ มีความสำคัญในทางต่าง ๆ กัน ทานไหนบ้าง.
๒. เอกปุคคปาลิ บาลีว่าด้วยบุคคลคนหนึ่ง จะเป็นใครก็ตาม ที่มีลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ นับว่าเป็นผู้หายากหรือคนอัศจรรย์ เป็นต้น.
๓. เอตทัคคปาลิ บาลีว่าด้วยเอตทัคคะ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่พระผู้มีพระภาคทรงยกย่องให้เป็นเลิศในทางต่าง ๆ ตามความรู้ ความสามารถ ความประพฤติ และความถนัด.
๔. อัฏฐานปาลิ บาลีว่าด้วยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น เป็นไปไม่ได้ที่คนผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ( ผู้ไม่มีความคิดเห็นวิปลาสหรือพระโสดาบันขึ้นไป จะฆ่ามารดาบิดา.
๕. อปรา เอกธัมมาทิปาลิ บาลีว่าด้วยธรรมะข้อ ๑ เป็นต้น อีกส่วนหนึ่ง เป็นการกล่าวเพิ่มเติมจากหมวดที่ ๑.
๖. ปสาทกรธัมมาทิปาลิ บาลีว่าด้วยธรรมมะที่ทำให้เกิดความเลื่อมใส เป็นต้น.
ธรรมะทั้งหกหมวดนี้ รวมกันแล้ว มี ๑,๐๐๐ สูตรพอดี บางหมวดก็มีมาก บางหมวดก็มีน้อยโดยปกติจัด ๑๐ สูตรเป็น ๑ วรรค , ๕๐ สูตรเป็น ๑ ปัณณาสกะ ซึ่งในการย่อต่อไปจะไม่กล่าวถึงวรรคและปัณณาสกะ จะกล่าวแต่เนื้อหาธรรมะในหมวดนั้น ๆ .
ทุกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๒ ข้อ
ในหมวดนี้ แบ่งส่วนใหญ่ออกเป็น ๔ ส่วน แต่ไม่กล่าวถึงเนื้อธรรมะ หากล่าวถึงหมวด ๕๐ ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และหมวดพิเศษที่ไม่นับเข้าในหมวด ๕๐ แต่ในหมวด ๕๐ นั้น ( ซึ่งหมายความว่ามี ๕๐ สูตร ) ยังแบ่งเป็นวรรคอีกหมวดละ ๕ วรรค วรรคละ ๑๐ สูตร ชื่อวรรคกล่าวตามประเภทธรรมะ เช่น กัมมกณรวรรค (วรรคว่าด้วยเครื่องลงโทษ).
ติกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๓ ข้อ
ในหมวดนี้ แบ่งส่วนใหญ่ออกเป็น ๔ ส่วน เช่นเดียวกับทุกนิบาต คงแปลกออกไปแต่ชื่อวรรคเท่านั้น ต่อไปนี้จะเป็นการย่ออย่างขยายความ.
ขยายความ
เอกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑ ข้อ
ในการขยายความแห่งไตรปิฏกเล่ม ๒๐ นี้ เนื้องด้วยไม่สามารถจะกล่าวโดยพิสดารทุกเนื้อถ้อยกระทงความ จึงจะใช้วิธีพิจารณาดูว่า ในหมวดไหนมีความสำคัญอย่างธรรมดา ก็จะนำมากล่าวพอเป็นตัวอย่างไม่น้อยกว่า ๑๐ ข้อ เรื่องไหนมีความสำคัญทางหลักฐานจริง ๆ เช่น เรื่องเอตทัคคะ ที่พระผู้มีภาคทรงยกย่องผู้นี้ว่าเลิศทางไหน ก็จำเป็นที่จะต้องระบุนามหมดทุกท่าน.
๑. เอกธัมมาทิปาลิ
บาลีว่าด้วยธรรมะ ๑ ข้อ เป็นต้น
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ไม่ทรงเห็นรูปอย่างอื่นแม้รูปหนึ่ง ที่รึงรัดจิตของบุรุษได้เหมือนรูปของหญิงเลย.
ต่อจากนั้นทรงแสดงทีละข้อถึงเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของหญิงที่รัดรึงจิตของบุรุษได้อย่างไม่มีเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอื่นเสมอเสมือน.
โดยทำนองเดียวกัน ทรงแสดงรูป เสียง เป็นต้น ของบุรุษว่ารึงรัดจิตของหญิงได้ อย่างไม่มีรูปเสียงอื่น เป็นต้น เสมอเหมือน.
๒. ทรงแสดงว่า ไม่ทรงเห็นธรรมอื่นข้อหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้ความพอใจในกามที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้นที่เกิดขึ้นแล้วเจริญไพบูลยิ่งขึ้น เหมือนสุภนิมิต ( เครื่องหมายว่างาม คือการกำหนดจิตถึงสิ่งสวยงาม ) ที่บุคคลไม่ใส่ใจโดยแยบคาย.
ทรงแสดงต่อไปว่า ปฏิฆนิมิต ( เครื่องหมายที่เป็นเหตุขัดใจ ) เป็นเหตุให้เกิดพยาบาท ( ความคิดปองร้าย ) ; ความไม่ยินดี, ความเกียจคร้าน, ความซบเซา, ความเมาอาหาร, ความท้อแท้แห่งจิต เป็นเหตุให้เกิดความหดหู่ง่วงงุน; ความไม่สงบแห่งจิต เป็นเหตุให้เกิดความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ; การไม่ใส่ใจโดยแยบคาย ( ไม่พิจารณาโดยละเอียดถี่ถ้อน ) เป็นเหตุให้เกิดความลังเลสงสัย
ทรงแสดงต่อไปว่า คือแสดงถึงธรรมะที่เป็นเหตุไม่ให้นีวรณ์ ๕ ที่กล่าวมาแล้วเกิดขึ้นที่เกิดขึ้นแล้วก็จะละได้เป็นข้อ ๆ คือ อสุภนิมิต ( เครื่องหมายหรือการกำหนดหมายถึงสิ่งไม่งาม ) เป็นคู่ปรับกับกามฉันท์ ( ความพอใจในกาม) ; เมตตา (ไมตรีจิตคิดจะให้เป็นสุข ) เป็นคู่ปรับกับพยาบาท ( ความคิดปองร้าย) ; ธาตุคือความริเริ่มความก้าวออก ความก้าวไปข้างหน้า ( อารัมภธาตุ นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ ) เป็นคู่ปรับกับถีนมิทธะ ( ความหดหู่ง่วงงุน ) ; ความสงบแห่งจิต ( เจตโส วูปสมะ ) เป็นคู่ปรับกับอุทธัจจกุกกุจจะ ( ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ) ; การไม่ใส่ใจโดยแยบคาย ( โยนิโสมนสิการ ) เป็นคู่ปรับวิจิกิจฉา ( ความลังเลสงสัย).
๓. ทรงแสดงว่า ไม่ทรงเห็นธรรมะอื่นแม้ข้อหนึ่ง ที่ถ้าไม่อบรมแล้วก็ใช้งานไม่ได้เหมือนจิต.
แล้วทรงแสดงจิตอีก ๙ ลักษณะ คือธรรมะที่อบรมแล้ว ย่อมใช้งานได้, ไม่อบรมแล้ว เป็นไปเพื่ออนัตถะ ( ความพินาศ ), อบรมแล้ว เป็นไปเพื่ออัตถะ ( ประโยชน์), ไม่อบรมแล้ว ไม่ปรากฏแล้ว เป็นไปเพื่ออนัตถะใหญ่, อบรมแล้ว ปรากฏแล้ว เป็นไปเพื่ออัตถะใหญ่, ไม่อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่ออนัตถะใหญ่, อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่ออัตถะใหญ่ , ไม่อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว นำทุกข์มาให้, อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว นำความสุขมาให้ ธรรมะแต่ละข้อนี้ไม่มีอะไรเสมอเหมือนจิต.
๔. ทรงแสดงเรื่องจิตอีก ๑๐ ข้อ คือไม่ทรงเห็นธรรมอื่นแม้ข้อหนึ่ง ที่บุคคลไม่ฝึกแล้ว เป็นไปเพื่ออนัตถะใหญ่, ฝึกแล้ว เป็นไปเพื่ออัตถะใหญ่, ไม่คุ้มครองแล้ว , ไม่รักษาแล้ว, ไม่สำรวมระวังแล้ว, ไม่ฝึกไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมระวัง ( กล่าวรวมถึง ๔ ข้อ ) เป็นไปเพื่ออนัตถะใหญ่ ถ้าตรงกันข้าม คือคุ้มครองแล้ว เป็นต้น ก็เป็นไปเพื่ออัตถะใหญ่.
๕. ทรงแสดงเรื่องจิตต่อไปอีก เปรียบเหมือนข้าวเปลือกแห่งข้าวสาลีหรือข้าวเหนียว ถ้าตั้งไว้ผิดก็ตำมือตำเท้า หรือทำให้เลือดออกไม่ได้ ต่อเมื่อตั้งไว้ถูก จึงตำมือตำเท้า หรือทำให้เลือดออกได้ จิตก็ฉันนั้น ถ้าตั้งไว้ผิดก็ทำลายอวิชชา ( ความไม่รู้ ) ไม่ได้ ทำวิชชาความรู้ให้เกิดขึ้นไม่ได้ ต่อตั้งไว้ถูกจึงทำลายอวิชชาและทำวิชชาให้เกิดขึ้นได้. นอกจากนั้นยังทรงแสดงถึงการที่จิตอันโทษประทุษร้าย เป็นเหตุให้ไปนรก กับจิตฝ่องใส เป็นเหตุให้ไปสวรรค์, จิตขุ่นมัว ทำให้ไม่รู้ประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น ไม่ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ส่วนจิตผ่องใสทำให้รู้ประโยชน์ดังกล่าวและทำให้รู้แจ้งธรรมอันยิ่งของมนุษย์ได้, จิตอ่อน ควรแก่การงานยิ่งกว่าธรรมอย่างอื่นเหมือนไม้จันทน์เลิศกว่าไม้ชนิดอื่น เพราะอ่อน ควรแก่การงาน, จิตเปลี่ยนแปลงเร็วจนอุปมาได้ยาก, จิตผ่องใส เศร้าหมองได้ เพราะอุปกิเลส ๑ . ที่จรมา หลุดพ้นได้จากอุปกิเลสที่จรมา.
๖. ทรงแสดงเรื่องจิตต่อไปอีกว่า บุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่รู้ตามความจริง ไม่มีการอบรมจิต ส่วนอริยสาวกรู้ตามความจริง มีการอบรมจิต, ถ้าภิกษุส้องเสพ อบรมใส่ใจเมตตาจิตแม้เพียงชั่วลัดนิ้วมือ ก็ชื่อว่าอยู่อย่างไม่ว่างจากฌาน ทำตามคำสอนของศาสดา บริโภคอาหารของราษฏรอย่างไม่เสียเปล่า จะกล่าวไยถึงการทำให้มากซึ่งเมตตาจิตนั้น, ธรรมทั้งฝ่ายอกุศลและกุศลมีในเป็นหัวหน้า ใจเกิดขึ้นก่อน อกุศลและกุศลจึงตามมา . แล้วทรงแสดงความประมาท ความเกียจคร้านว่า ทำอกุศลธรรมเกิดขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป. และความไม่ประมาททำให้กุศลธรรมเกิดขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมไป.
๗. ทรงแสดงถึงการริเริ่มความเพียรในทำนองเดียวกับความไม่ประมาท แล้วทรงแสดงธรรมฝ่ายชั่ว ฝ่ายดีเป็นคู่ ๆ ไป ที่ทำให้อกุศลเกิดขึ้น หรือกุศลเกิดขึ้น เช่นเดียวกับความประมาท ความไม่ประมาทคือความปรารถนามาก, , ความปรารถนาน้อย , , ความไม่สันโดษ ( ไม่ยินดีด้วยของของตน ), , ความสันโดษ, , ความไม่ใส่ใจโดยแยบคาย, , ความใส่ใจโดยแยบคาย, , ความไม่รู้ตัว, , ความเป็นผู้คบคนชั่วเป็นมิตร, , คบคนดีเป็นมิตร.
ทรงแสดงโดยทำนองนี้ จนครบ , ๑๒ ข้อใหญ่ หรือประมาณ ๑๒๐ , หัวข้อย่อย).
๒. เอกปุคคลปาลิ
บาลีว่าด้วยบุคคลหนึ่ง
ทรงแสดงว่าบุคคลผู้หนึ่งที่เกิดมาในโลก เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก คือพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, ยากที่จะปรากฏขึ้นในโลก, เกิดขึ้นก็เป็นอัจฉริยมนุษย์, การทำกาละ ( ตาย ) ก็ทำให้ชนเป็นอันมาก เดือดร้อนใจถึง, เกิดขึ้นก็ไม่มีผู้ใดเทียม, เกิดขึ้นก็เหมือนดวงตา แสงสว่าง ทำให้มีการบรรลุคุณธรรมต่าง ๆ จนถึงอรหัตตผล ในที่สุดทรงแสดงว่า ไม่ทรงเห็นบุคคลอื่นแม้คนหนึ่งที่จะแสดงธรรมจักรได้ดีตามที่พระตถาคตแสดงแล้วได้เหมือนพระสารีบุตร.
๓. เอตทัคคปาลิ
บาลีว่าด้วยเอตทัคคะ คือบุคคลที่ได้รับยอย่องว่าเป็นผู้เลิศ
ฝ่ายภิกษุ
๑ . พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นผู้เลิศในทางรู้ราตรี (รัตตัญญูเป็นคนเก่าแก่เห็นเหตุการณ์มามาก).
๒. พระสารีบุตร เป็นผู้เลิศในทางมีปัญญามาก.
๓. พระมหาโมคคัลลานะ เป็นผู้เลิศทางมีฤทธิ์.
๔. พระมหากัสสปะ เป็นผู้เลิศในทางกล่าวขัดเกลา ( ธูตวาทะ พูดยกย่องธุดงค์ ).
๕. พระอนุรุทธะ เป็นผู้เลิศในทางมีทิพยจักษุ.
๖. พระภัททิยะ กาฬิโคธายบุตร เป็นผู้เลิศในทางมีสกุลสูง.
๗. พระลกุณฏกะ ภัททิยะ เป็นผู้เลิศในทางมีเสียงไพเราะ.
๘. พระปิณโฑละ ภารทวาชะ เป็นผู้เลิศในทางบรรลือสีหนาท (เปล่งวาจาอย่างองอาจ).
๙. พระปุณณะ มันตานีบุตร เป็นผู้เลิศในทางแสดงธรรม.
๑๐. พระมหากัจจานะ เป็นผู้เลิศในทางจำแนกอรรถแห่งภาษิตโดยพิสดาร.
๑๑. พระจุลลปันถกะ เป็นผู้เลิศในทางนิรมิตกายอันสำเร็จด้วยใจ.
๑๒. พระจุลลปันถกะ เป็นผู้เลิศในทางฉลาดในวิวัฏฏะ (ธรรมที่ไม่เวียนว่าย ) ฝ่ายสมาธิ.
๑๓. พระมหาปันถกะ เป็นผู้เลิศในทางฉลาดในวิวัฏฏะฝ่ายปัญญา.
๑๔. พระสุภูติ เป็นผู้เลิศในทางมีอรณวิหาร ( ธรรมเป็นเครื่องอยู่ที่ไม่มีข้าศึก).
๑๕ . พระสุภูติ เป็นผู้เลิศในทางควรแก่การของถวาย ( ทักขิเณยยะ).
๑๖. พระเรวตะ ขทิรวนิยะ เป็นผู้เลิศอยู่ป่า.
๑๗. พระกังขาเรวตะ เป็นผู้เลิศในทางเข้าฌาน.
๑๘. พระโสณะ โกลิวิสะ เป็นผู้เลิศในทางปรารภความเพียร.
๑๙. พระโสณะ กุฏกัณณะ เป็นผู้เลิศในทางกล่าววาจาไพเราะ.
๒๐. พระสีวลี เป็นผู้เลิศในทางมีลาภ.
๒๑. พระวักกลิ เป็นผู้เลิศในทางน้อมใจไปตามความเชื่อ ( สัทธาธิมุต).
๒๒. พระราหุล เป็นผู้เลิศในทางใคร่ต่อการศึกษา.
๒๓. พระรัฏฐปาละ เป็นผู้เลิศในทางบวชด้วยศรัทธา.
๒๔. พระกุณฑธานะ เป็นผู้เลิศในทางจับฉลาก ๒ . เป็นองค์แรก
๒๕. พระวังคีสะ เป็นผู้เลิศในทางมีปฏิภาณ.
๒๖. พระอุปเสนะ วังคันตบุตร เป็นผู้เลิศในทางทำให้เกิดความเลื่อมใสทั่วไป.
๒๗. พระทัพพะ มัลลบุตร เป็นผู้เลิศในทางจัดเสนาสนะ ( จัดที่อยู่อาศัย).
๒๘. พระปิลินทวัจฉะ เป็นผู้เลิศในทางเป็นที่รักเป็นที่พอใจของเทวดา.
๒๙. พระพาหิยะ ทารุจีริยะ เป็นผู้เลิศในทางตรัสรู้ได้เร็ว.
๓๐. พระกุมารกัสสปะ เป็นผู้เลิศในทางกล่าวธรรมะอันวิจิตร (ด้วยอุปมา).
๓๑. พระมหาโกฏฐิตะ เป็นผู้เลิศในทางบรรลุปฏิสัมภิทา ( ความแตกฉาน).
๓๒. พระอานนท์ เป็นผู้เลิศในทางพหุสุต ( สดับตรับฟังมาก).
๓๓. พระอานนท์ เป็นผู้เลิศในทางมีสติ ( ความระลึกได้ ความทรงจำ).
๓๔. พระอานนท์ เป็นผู้เลิศในทางมีคติ ( คติ แปลว่า ทางไปหรือที่ไป อรรถกถาอธิบายว่า ตั้งอยู่ในบทเดียว เรียนได้หกพันบท จำได้ทุกบทตามที่พระพุทธเจ้าตรัส น่าจะหมายความว่าเป็นผู้รู้จักหลักการในการเรียนรู้ คือเมื่อจับหลักได้อย่างหนึ่งแล้ว แม้จะอธิบายยักย้ายนัยไปอย่างไร ก็เข้าใจและจำได้หมด รวมความว่า เมื่อได้หลักเพียงข้อเดียวก็มีทางเข้าใจไปได้มากข้อ).
๓๕. พระอานนท์ เป็นผู้เลิศในทางมีธิติ ( ธิติ โดยทั่วไปแปลว่า ความอดทน อรรถกถาแก้ว่าความเพียร คือเพียรในการเรียน, การท่องจำ, การทรงจำ, การอุปฐาก หรือรับใช้พระศาสดา).
๓๖. พระอานนท์ เป็นผู้เลิศในทางอุปฐาก (รับใช้พระพุทธเจ้า).
๓๗. พระอุรุเวลกัสสปะ เป็นผู้เลิศในทางมีบริษัท (บริวาร) มาก.
๓๘. พระกาฬุทายี เป็นผู้เลิศในทางทำสกุลให้เลื่อมใส.
๓๙. พระพักกุละ เป็นผู้เลิศในทางมีอาพาธน้อย.
๔๐. พระโสภิตะ เป็นผู้เลิศในทางระลึกชาติได้.
๔๑. พระอุบาลี เป็นผู้เลิศในทางทรงจำพระวินัย.
๔๒. พระนันทกะ เป็นผู้เลิศในทางให้โอวาทแก่นางภิกษุณี.
๔๓. พระนันทะ เป็นผู้เลิศในทางสำรวมอินทรีย์ ( คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ).
๔๔. พระมหากัปปินะ เป็นผู้เลิศในทางให้โอวาทแก่ภิกษุ.
๔๕. พระสาคตะ เป็นผู้เลิศในทางฉลาดในธาตุไฟ ( หมายถึงฉลาดในการเข้าสมาบัติ มีธาตุไฟเป็นอารมณ์ทำให้เกิดธาตุไฟขึ้นได้).
๔๖. พระราธะ เป็นผู้เลิศในทางทำให้เกิดปฏิภาณ ( ในการแสดงพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า).
๔๗. พระโมฆราชะ เป็นผู้เลิศในทางทรงจีวรสีหมอง.
(หมายเหตุ: นับตามทางที่เลิศได้ ๔๗ ทาง แต่นับจำนวนบุคคล จะได้เพียง ๔๑ ท่าน เพราะบางท่านได้รับยกย่องว่าเป็นผู้เลิศหลายทาง)
ฝ่ายภิกษุณี
๑ . พระนางมหาปชาบดี โคตมี เป็นผู้เลิศในทางรู้ราตรี ( รัตตัญญู เพราะเป็นภิกษุณีองค์แรก ).
๒. พระนางเขมา เป็นผู้เลิศในทางมีปัญญามาก ( พระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารออกทรงผนวช).
๓ . นางอุปปลวัณณา เป็นผู้เลิศในทางมีฤทธิ์.
๔. นางปฏาจารา เป็นผู้เลิศในทางทรงจำพระวินัย.
๕. นางธัมมทินนา เป็นผู้เลิศในทางแสดงธรรม.
๖. พระนางนันทา ( น้องพระอนุรุทธ์) เป็นในทางเข้าฌาน.
๗. นางโสณา เป็นผู้เลิศในทางปรารภความเพียร.
๘. นางสกุลา เป็นผู้เลิศในทางมีทิพยจักษุ.
๙. นางกุณฑลเกสา เป็นผู้เลิศในทางตรัสรู้ได้เร็ว.
๑๐. นางภัททากาปิลานี เป็นผู้เลิศในทางระลึกชาติได้.
๑๑. พระนางภัททา กัจจานา ( พระนางยโสธรา ) เป็นผู้เลิศในทางบรรลุอภิญญาใหญ่ ( อรรถกถาแสดงว่ามีความสามารถระลึกเหตุการณ์ในกัปป์ต่าง ๆ ย้อนหลังไปได้มากนับไม่ถ้วน).
๑๒. นางกิสาโคตมี เป็นผู้เลิศในทางทรงจีวรสีหมอง.
๑๓. นางสิคาลมาตา เป็นผู้เลิศในทางน้อมไปตามความเชื่อ ( สัทธาธิมุต).
ฝ่ายอุบาสก ( สาวกที่มิได้บวช)
๑ . พ่อค้าชื่อตปุสสะ และภัลลิกะ เป็นผู้เลิศในทางถึงสรณะ ( ถึงพระพุทธ พระธรรม เป็นสรณะ) รายแรก.
๒. อนาถปิณฑิกะ คฤหบดี ( ผู้มีชื่อเดิมว่า สุทัตตะ) เป็นผู้เลิศในทางถวายทาน.
๓. จิตตะ คฤหบดี ผู้อยู่ ณ นครมัจฉิกาสณฑ์ เป็นผู้เลิศในทางแสดงธรรม.
๔. หัตถกะ อาฬวกะ ( ชาวอาฬวี) เป็นผู้เลิศในทางสงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔ ๓ .
๕. มหานาม ศากยะ เป็นผู้เลิศในทางถวายของที่ประณีต.
๖. อุคคะ คฤหบดี ชาวกรุงเวสาลี เป็นผู้เลิศในทางถวายของที่ชอบใจ.
๗. อุคคตะ คฤหบดี เป็นผู้เลิศในทางอุปฐาก (รับใช้) พระสงฆ์.
๘. สูระ อัมพัฏฐะ เป็นผู้เลิศในทางมีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหว.
๙. ชีวก โกมารภัจจ์ เป็นผู้เลิศในทางเลื่อมใสในบุคคล (เจาะจงเฉพาะผู้ที่เห็นตนว่าดีงาม).
๑๐. คฤหบดี ผู้เป็นบิดาของนกุลมาณพ เป็นผู้เลิศในทางมีความคุ้นเคย ( กับพระพุทธเจ้า).
ฝ่ายอุบาสิกา (สาวิกาที่มิได้บวช)
๑ . นางสุชาดา ผู้เป็นธิดาของกุฏุมพี ( เศรษฐี ) ชื่อเสนิยะ เป็นผู้เลิศในทางถึงสรณะ เป็นคนแรก ( นางสุชาดาคนนี้เป็นผู้ถวายข้าวมธุปายาสแด่พระผู้มีพระภาค และเป็นมารดาของยสกุลบุตร).
๒. นางวิสาขา มิคารมาตา ๔ . เป็นผู้เลิศในทางถวายทาน.
๓. นางขุชชุตตรา เป็นผู้เลิศในทางสดับตรับฟังมาก.
๔. นางสามาวดี เป็นผู้เลิศในทางมีเมตตาเป็นธรรมเครื่องอยู่.
๕. นางอุตตรา ผู้เป็นมารดาของนันทมาณพ เป็นผู้เลิศในทางเข้าฌาน.
๖. นางสุปปวาสา ธิดาของโกลิยกษัตริย์ เป็นผู้เลิศในทางถวายของปราณีต.
๗. นางสุปปิยา อุบาสิกา เป็นผู้เลิศในทางพยาบาลไข้.
๘. นางกาติยานี เป็นผู้เลิศในทางเลื่อมใสไม่หวั่นไหว.
๙. คฤหปตานี ผู้เป็นมารดาของนกุลมาณพ เป็นผู้เลิศในทางมีความคุ้นเคย ( กับพระพุทธเจ้า).
๑๐. นางกาลี อุบาสิกา เป็นผู้เลิศในทางเลื่อมใส เพราะฟังจากผู้อื่น ( ฟังผู้อื่นสรรเสริญพระรัตนตรัยได้บรรลุโสดาปัตติผล).
๔. อัฏฐานปาลิ
บาลีว่าด้วยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
๑ . ทรงแสดงฐานะที่เป็นไปไม่ได้ แล้วแสดงฐานะที่เป็นไปได้ ประกอบรวมประมาณ ; ๓๐ ข้อ โดยใจความเรื่องคนชั่วคนดี ความชั่วความดีเป็นไปไม่ได้ทีจะปรากฏผลในทางตรงกันข้าม เช่น ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ( พระอริยบุคคลชั้นโสดาบันขึ้นไป ) เป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นสังขารว่าเที่ยง ว่าเป็นสุข เห็นธรรมะว่าเป็นอัตตา ( ตัวตัน ) แต่เป็นไปได้ที่จะเห็นสังขารว่าเที่ยง ว่าเป็นสุข เห็นธรรมะว่าเป็นอัตตา ( ตัวตน ) ; ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ เป็นไปไม่ได้ที่จะฆ่ามารดา , ฆ่าบิดา, ฆ่าพระอรหันต์, ทำโลหิตของพระตถาคตให้ห้อด้วยจิตคิดประทุษร้าย, ทำลายสงฆ์ให่แตกกัน, อุทิศศาสดาอื่น ( หันไปนับถือศาสนาอื่น), แต่เป็นไปได้ที่บุถุชนจะทำเช่นนั้น; เป็นไปไม่ได้ที่ในโลกธาตุเดียวกันจะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อม ๆ กัน ๒ พระองค์ แต่เป็นไปได้ที่ในโลกธาตุเดียวจะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว.
๕. อปรา เอกธัมมาทิปาลิ
บาลีว่าด้วยธรรมะข้อหนึ่ง เป็นต้น อื่นอีก
ทรงแสดงธรรมะข้อเดียวที่เป็นไปเพื่อเหตุผลในทางที่ดีที่ชั่วต่าง ๆ รวมประมาณ ๔๐ ข้อ เช่น ลำดับ อนุสสติ ๑๐ ทีละข้อ มีพุทธานุสสติ ( การระลึกถึงพระพุทธเจ้า ) เป็นต้นว่า เจริญ ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อเบื่อหน่าย, คลายกำหนัด , ดับทุกข์ , สงบระงับ , รู้ยิ่ง, ตรัสรู้ และนิพพานได้. นอกจากนั้น ทรงแสดงถึงมิจฉาทิฏฐิ ( ความเห็นผิด ) ว่าเป็นเหตุให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นและเจริญขึ้น ส่วนสัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ) เป็นเหตุให้กุศลธรรมเกิดขึ้นและเจริญขึ้น เป็นต้น.
๖. ปสาทกรธัมมามาทิปาลิ
บาลีว่าด้วยธรรมะที่ทำให้เกิดความเลื่อมใส เป็นต้น
ทรงแสดงลาภอย่างแน่นอน ( เป็นลาภโดยส่วนเดียว ) (ของภิกษุ ) คือการอยู่ป่า, การถือบิณฑบาต, การทรงไตรจีวร ( ไม่สะสมมาก), การเป็นผู้แสดงธรรม, การเป็นผู้ทรงจำวินัย, การสดับตรับฟังมาก, การบวชได้ยั่งยืน, การสมบูรณ์ด้วยอากัปปกิริยา ( มารยาท), การสมบูรณ์ด้วยบริวาร, การมีบริวารมาก, ความเป็นกุลบุตร ( ผู้ชาย ), ความเป็นผู้มีผิวพรรณงาม, ความเป็นผู้มีถ้อยคำไพเราะ, ความเป็นผู้ปรารถนาน้อย, ความเป็นผู้มีอาพาธ ( โรคภัยไข้เจ็บ ) น้อย.
ทรงแสดงว่า ถ้าภิกษุเจริญฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ; เจริญเจโตวิมุติ ( ความหลุดพ้นจากกิเลสเพราะสมาธิ ) อันประกอบด้วยเมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา; เจริญสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ ; เจริญอิทธิบาท ( คุณให้บรรลุความสำเร็จ ) ๔ ; เจริญอินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่มีศรัทธาและความเพียร เป็นต้น) ๕ ; เจริญธรรมอันเป็นกำลัง ๕ ; เจริญธรรมอันเป็นองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ ๗ ; ( โพชฌงค์มีสติ เป็นต้น ) ; เจริญมรรคมีองค์ ๘ (มีความเห็นชอบ เป็นต้น) แม้ชั่วลัดนิ้วมือเดียว ก็ชื่อว่าไม่ว่างจากฌาน, ทำตามคำสอนของศาสดา, บริโภคอาหารของราษฏรไม่เสียเปล่า จะกล่าวไยถึงการทำธรรมะดั่งกล่าวแต่ละข้อนั้นให้มาก.
ในตอนสุดท้ายทรงสรรเสริญกายคตาสติ คือสติที่เป็นไปในกาย ( รู้ตัวในความเป็นไปของกายต่าง ๆ ดูที่ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕ หน้า ๑ ว่าเป็นเหตุให้ได้บรรลุอมตธรรม.
________________________________________
๑. อุปกิเลส คือเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต มี ๑๖ อย่าง มีความโลภ ความคิดประทุษร้าย ความโกรธ เป็นต้น ดูที่พระสุตตันตะ ๔ หน้า ๑ ในข้อ๗ . วัตถูปมสูตร
๒. คำว่า สลาก แปลว่า ซี่ไม้ เมื่อมีของถวายไม่เหมือนกันหรือไม่พอจำนวนแก่พระก็ต้องใช้วิธีจับฉลากด้วยคุณความดีของท่าน ท่านจับฉลากได้เป็นองค์แรก
๓. สังคหวัตถุ เรื่องของการสงเคราะห์ ๔ อย่าง คือ ๑. การให้ ๒. การพูดไพเราะ ๓. การบำเพ็ญประโยชน์ ๔. การวางตัวให้เหมาะสมคือให้เข้ากันได้ตามฐานะ
๔. คำนี้ แปลว่า มารดาของมิคารเศรษฐี ความจริงเศรษฐีผู้นี้เป็นบิดาของสามีนางวิสาขาและค่อนข้างเกเร นางวิสาขาเอาความดีชนะจนบิดาของสามียอมให้เกียรติเรียกเป็นมารดา
๑. ทุกนิบาต
ชุมนุมธรรมะที่มี ๒ ข้อ
ปฐมปัณณาสก์ หรือหมวด ๕๐ สูตร ๑
วรรคที่ ๑ ชื่อกัมมกรณวรรค ว่าด้วยเครื่องลงโทษ
๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายถึงโทษ ๒ อย่าง คือโทษในปัจจุบันและโทษในภพหน้า . โทษในปัจจุบัน เช่น การจับโจรได้แล้วลงโทษ โดยด้วยแส้ โบยด้วยหวาย ตัดมือ ตัดเท้า ตัดศีรษะ เป็นต้น ๑ . ส่วนในโทษภพหน้า ได้แก่ผลของทุจจริตทางกาย วาจา ใจ ซึ่งจะทำให้เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรกเมื่อตายไปแล้ว. ตรัสสอนให้กลัวโทษ เห็นภัยในโทษก็จะพ้นจากโทษทั้งปวงได้.
๒. ทรงแสดงถึงความเพียร ๒ อย่าง คือความเพียรในการทำปัจจัย ๔ ให้เกิดขึ้นของคฤหสถ์ กับความเพียรเพื่อสละกิเลสทั้งปวงของบรรพชิต ทรงยกย่องความเพียรของบรรพชิตว่าเป็นเลิศ ( ในทางศาสนา ) แล้วสอนให้ภิกษุตั้งความเพียรเพื่อสละกิเลสทั้งปวง.
๓. ทรงแสดงธรรมะ ๒ อย่างที่ทำให้เดือดร้อน คือเมื่อทำทุจริตทางกาย วาจา ใจ ไม่ทำสุจริต ทางกาย วาจา ใจ ก็เดือดร้อนว่าได้ทำทุจจริต เดือดร้อนว่าไม่ได้ทำสุจจริต ส่วนธรรมะ ๒ อย่างที่ทำไม่ให้เดือดร้อน พึงพราบโดยนัยตรงกันข้าม
๔. ทรงแสดงว่า ทรงเห็นคุณของธรรมะ ๒ อย่าง คือความไม่สันโดษในกุศลธรรม ( คือไม่หยุดยั้งยินดีเพียงคุณความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่พยายามก้าวหน้าเรื่อยไปจนถึงที่สุดคืออรหัตตผล ) กับความเป็นผู้ไม่ถอยหลังในความเพียร แล้วทรงแสดงผลดีที่ทรงได้รับมาจากคุณธรรมที่กล่าวนี้ แล้วตรัสสอนภิกษุทั้งหลายเน้นให้ไม่ถอยหลังในความเพียร.
๕. ทรงแสดงธรรม ๒ อย่าง คือการพิจารณาเห็นด้วยความพอใจในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสที่ผูกมัด กับการพิจารณาเห็นด้วยความเบื่อหน่ายในธรรมเช่นนั้น ทรงแสดงโทษของการพิจารณาเห็นด้วยความพอใจ คือการละกิเลสและหลุดพ้นจากทุกข์ไม่ได้ ส่วนการพิจารณาเห็นด้วยความเบื่อหน่าย ทำให้ละความพอใจ คือการละกิเลสและหลูดพ้นจากทุกข์ไม่ได้ ส่วนการพิจารณาเห็นด้วยความเบื่อหน่าย ทำให้ละกิเลสและหลุดพ้นจากทุกข์ได้.
๖. ทรงแสดงธรรมฝ่ายดำ ๒ อย่าง คือความไม่ละอาย และความไม่เกรงกลัว ( ต่อบาป) และทรงแสดงธรรมฝ่ายขาว คือความละอาย และความเกรงกลัว ( ต่อบาป).
๗. ทรงแสดงธรรมฝ่ายขาวที่คุ้มครองโลก คือความละอาย และความเกรงกลัวต่อบาป ถ้าธรรมทั้งสองนี้ไม่คุ้มครองโลก ก็จะไม่รู้ว่าใครเป็นมารดา น้า ป้า ภริยาของอาจารย์ ของครู โลกจะปนเปกันเหมือน แพะ ไก่ สุกร สนัขบ้าน สนุขป่า.
๘. ทรงแสดงการเข้าพรรษา ๒ อย่าง คือการเข้าพรรษาแรก กับการเข้าพรรษาหลัง ( ดูที่ พระวินัย เล่มที่ ๔) ในข้อ ๓. วัสสูปนายิกาขันธกะ (หมวดวันเข้าพรรษา)
วรรคที่ ๒ ชื่ออธิกรณณวรรค ว่าด้วยอธิกรณ์
๑ . ทรงแสดงกำลังกล้า ๒ อย่าง คือ กำลังคือการพิจารณา ( ปฏิสังขานพละ ) กับกำลังคือการอบรม ( ภาวนาพละ) แล้วตรัสอธบายกำลังคือการพิจารณาว่า ได้แก่การพิจารณาเห็นโทษของทุจจริต แล้วละทุจจริต เจริญสุจริตบริหารให้บริสุทธิ์ได้ . ส่วนกำลังคือการอบรม ได้แก่กำลังของพระเสขะ ( พระอริยบุคคลผู้ยังศึกษา) ซึ่งเป็นเหตุให้ละราคะ โทสะ โมหะ ไม่ทำอกุศล ไม่เสพบาป. ครั้นแล้วทรงอธิบายกำลังทั้งสองอย่างนี้ ยักย้ายนัยต่อไปอีก ๒ แนว โดยอธิบายถึงกำลังการพิจารณาตามแนวเดิม ส่วนกำลังคือการอบรมได้แก่การเจริญโพชฌงค์ ( องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ ๗ อย่าง) มีสติ เป็นต้น แนวหนึ่ง กับอีกแนวหนึ่งได้แก่การเจริญฌาน ( การเพ่งอารมณ์ ) ทั้งสี่.
๒. ทรงแสดงธรรมเทศนาของพระตถาคตว่า มี ๒ อย่าง คืออย่างย่อ กับอย่างพิศดาร.
๓. ทรงแสดงถึงภิกษุที่ถูกกล่าวหาในอธิกรณ์ กับภิกษุผู้โจทฟ้องว่า ถ้าไม่พิจารณาตนให้ดี เรื่องก็จะยืดเยื้อแรงร้ายขึ้น และภิกษุทั้งหลายก็จะอยู่ไม่ผาสุก แล้วทรงแสดงรายละเอียดในการพิจาณาตนของภิกษุทั้งสองฝ่ายนั้น.
๔. ทรงแสดงธรรมแก่พาหมณ์ผู้หนึ่งถึงเหตุคือการประพฤติธรรม ประพฤติไม่เรียบร้อย ว่าเป็นเหตุให้เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินาต นรกเมื่อตายแล้ว. ส่วนการประพฤติเรียบร้อย เป็นเหตุให้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เมื่อตายแล้ว.
๕. ทรงแสดงธรรมชาณุสโสณิพราหมณ์เรื่องการเข้าถึงนรก สวรรค์ โดยชี้ไปที่การกระทำทุจจริตและการกระทำสุทจริตโดยลำดับ.
๖. ทรงแสดงธรรมแก่พระอานนท์ว่า ทุจจริตไม่ควรทำโดยเด็ดขาด ( ไม่มีทางผ่อนให้) เพราะเมื่อทำเข้าตนก็ติติดได้ ผู้รู้พิจารณาแล้วก็ติได้, กิตติศัพท์ชั่วย่อมฟุ่งไป, เป็นผู้หลงเมื่อตาย, ตายแล้วก็เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก. ส่วนสุจริตทรงแสดงโดยประการตรงกันข้าม.
๗. ทรงสอนให้ละอกุศล เพราะอาจจะละได้ ถ้าละไม่ได้ หรือถ้าละแล้วไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์ ก็จะไม่ทรงสอนให้ละ แล้วทรงสอนให้เจริญกุศล เพราะอาจจะเจริญได้ ถ้าเจริญไม่ได้ หรือเจริญแล้ว ไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์ ก็จะไม่ทรงทรงสอนให้เจริญ.
๘. ทรงแสดงถึงธรรมะ ๒ อย่าง ที่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนอันตรธาน คือการบกบทพยัญชนะผิด กับการแนะนำความหมายผิด . ส่วนธรรม ๒ อย่างที่ไม่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนอันตรธาน คือการบกบทพยัญชนะถูก กับการแนะนำความหมายถูก.
วรรคที่ ๓ ชื่อพาลวรรค ว่าด้วยคนพาล
๑ . ทรงแสดงคนพาล ๒ ประเภท คือไม่เห็นโทษ ( ของตน ) กับเมื่อผู้อื่นแสดงคืนโทษ ( ผู้อื่นขอโทษ) ไม่ยอมรับแล้ว ทรงแสดงบัณฑิต ๒ ประเภทในทางตรงกันข้าม.
๒.ทรงแสดงบุคคลที่กล่าวตู่พระตถาคต ๒ ประเภท คือ ๑ . ผู้คิดประทุษร้าย ตกอยู่ในอำนาจความคิดประทุษร้าย ๒. ผู้มีศรัทธาถือเอาผิด ( จำผิด, เข้าใจผิด).
๓. ทรงแสดงบุคคลที่กล่าวตู่พระตถาคต ๒ ประเภทอีก ๒ ข้อ คือข้อแรก ผู้ที่แสดงถ้อยคำที่พระตถาคตมิได้กล่าว มิได้พูดว่า พระตถาคตกล่าวไว้ พูดไว้ กับผู้ที่แสดงถ้อยคำที่พระตถาคตกล่าวไว้ พูดไว้ว่า ตถาคตมิได้กล่าวไว้ มิได้พูดไว้ กับอีกข้อหนึ่ง ผู้แสดงพระสูตร ที่มีอรรถอันควรแนะนำว่า มีอรรถอันแนะนำแล้ว แสดงพระสูตรที่มีอรรถอันแนะนำแล้ว มีอรรถอันควรแนะนำ ( แสดงสับสนไปจากหลักธรรม).
๔. ทรงแสดงคติของตนที่ทำกรรมซึ่งต้องปกปิด ( กรรมชั่ว ) ว่า ได้แก่นรก หรือกำเนิดดิรัจฉาน ส่วนผู้ทำกรรมไม่ต้องปกปิด ( กรรมดี) มีคติเป็น ๒ คือเทพ หรือมนุษย์.
๕. ทรงแสดงว่า ผู้เห็นผิด และผู้ทุศีล มีคติเป็น ๒ ในทางชั่ว ส่วนผู้เห็นชอบและผู้มีศีลก็มีคติ เป็น ๒ ในทางดี เช่นเดียวกับข้อ ๔.
๖. ทรงแสดงธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ( ความรู้ ) ๒ อย่าง คือ สมถะ ( การทำจิตให้สงบ) และวิปัสสนา ( การทำปัญญาให้เห็นแจ้ง ) แล้วทรงแสดงผลว่า อบรมสมถะ ชื่อว่าอบรมจิต อบรมจิต ( สมาธิ) แล้วทำให้ละราคะ ) ความกำหนัดยินดี ) ไ ด้ อบรมวิปัสสนาแล้ว ชื่อว่าอบรมปัญญา อบรมปัญญาแล้ว ทำให้ละอวิชชา ( ความไม่รู้จริง) ได้.
๗. ทรงแสดงว่า จิตที่เศร้าหมองเพราะราคะ ย่อมไม่หลุดพ้น ปัญญาที่เศร้าหมองเพราะอวิชชา ย่อมชื่อว่าไม่ได้รับการอบรม ด้วยเหตุนี้ เพราะคลายราคะ จึงชื่อว่าเจโตวิมุต ( ความหลุดพ้นเพราะสมาธิ ) เพราะคลายอวิชชา จึงชื่อว่าปัญญาวิมุต ( ความหลุดพ้นเพราะปัญญา).
วรรคที่ ๔ ชื่อสมจิตตวรรค ว่าด้วยจิตสม่ำเสมอ
๑ . ทรงแสดงภูมิของอสัตบุรุษ ( คนชั่ว) และภูมิของสัตบุรุษ ( คนดี ) โดยชี้ไปที่ความเป็นผู้ไม่กตัญญูกตเวที หรือความเป็นผู้กตัญญูกตเวที ( รู้คุณที่ผู้อื่นทำแล้ว ชื่อกตัญญู ตอบแทนหรือประกาศคุณที่ผู้อื่นทำแล้ว ชื่อกตเวที .)
๒. ทรงแสดงว่า บุคคล ๒ ท่าน คือมารดาบิดาเป็นผู้ที่จะสนองคุณโดยมาก แม้บุตรจะแบกมารดาบิดาไว้บนบ่าคนละข้างตั้ง ๑๐๐ ปี ปฏิบัติบำรุงด้วยประการต่าง ๆ ให้มารดาบิดาถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่านั้น หรือทำให้มารดาบิดาเสวยราชสมบัติ ก็ยังไม่ชื่อว่าตอบแทนคุณได้ เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก เป็นผู้เลี้ยงดู แสดงโลกนี้แก่บุตร แล้วทรงแสดงการแทนคุณ คือทำมารดาบิดาที่ไม่มีศรัทธา ที่ทุศีลที่ตระหนี่ ที่มีปัญญาทราม ให้มีศรัทธา ให้มาศีล ให้รู้จักเสียสละ ให้มีปัญญา ( ให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม).
๓. ตรัสแสดงธรรมแก่พราหมณ์ผู้หนึ่งว่า พระองค์เป็นทั้งกิริยวาที ( ผู้พูดว่าทำ ) และอกิริยวาที ( ผู้พูดว่าไม่ทำ ) คือให้ทำสุจริต แต่ไม่ทำทุจจริต.
๔. ทรงแสดงธรรมแก่อนาถปิณฑิกคฤหบดีว่า ทักขิเณยยบุคคล ( บุคคลลผู้ควรแก่ทักษิณาหรือของถวาย ) คือพระเสขะ ( พระอริยบุคคลที่ยังศึกษา คือตั้งแต่ผู้อยู่ในโสดาปัตติมรรคขึ้นไปถึงอรหัตตมรรค ) กับพระอเสขะ ( พระอรหันต์ ผู้ไม่ต้องศึกษา เพราะบรรลุถึงฐานะอันสูงสุดแล้ว ) ควรถวายทานในท่านเหล่านี้.
๕. พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายถึงบุคคล ๒ ประเภท คือ ผู้มีสัญโญชน์ภายใน ( มีกิเลสเครื่องร้อยรัดภายใน ) มีศีลสมบูรณ์ เมื่อตายแล้วก็เกิดใหม่ในหมู่พวกเทพพวกใดพวกหนึ่ง และจะกลับมาสู่โลกนี้อีก ส่วนผู้มีสัญโญชน์ภายนอก มี ๒ ปนะเภท คือผู้มีศีลสมบูรณ์ เข้าสู่เจโตวิมุต ( ฌานหรือสมาบัติ ) อันใดอันหนึ่ง เกิดในหมู่เทพพวกใดพวกหนึ่งแล้วไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก กับอีกประเภทหนึ่งคือมีศีลสมบูรณ์ ปฏิบัติเพื่อดับกาม ( ความใคร่ ) เพื่อดับภพ ( ความเป็นนั้นเป็นนี่ ) เพื่อสิ้นตัญหา เพื่อสิ้นความโลภ เมื่อตายไปแล้ว เกิดในหมู่เทพพวกใดพวกหนึ่งแล้วไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก.
๖. พราหมณ์ชื่ออารามทัณฑะถามพระมหากัจจานะถึงเหตุให้กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีทะเลาะกันเองกับพวกของตน พระเถระตอบชี้ไปที่ความยึดในกามราคะ ( ความกำหนัดหรือความติดในกาม ) เมื่อถามถึง สมณะทะเลาะกันเองกับสมณะเพราะเหตุไร ก็ตอบว่า เพราะติดทิฏฐิราคะ ( ความติดในทิฏฐิความเห็น ). เมื่อถามว่า มีท่านผู้ก้าวล่วงความยึดในกามราคะและทิฏฐิราคะหรือไม่ ก็ตอบว่า มี และชี้ให้ทราบว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี พราหมณ์เลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ.
๗. พระมหากัจจานะแสดงธรรมแก่กัณฑรายนพราหมณ์ ชี้ให้เห็นว่า คนมีอายุแม้มาก แต่ยังบริโภคกาม ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นเถระ ( ผู้เฒ่าผู้ใหญ่) ส่วนคนหนุ่มตั้งอยู่ในปฐมวัย ถ้าไม่บริโภคกาม ก็ชื่อว่าเป็นเถระได้.
๘. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเปรียบภิกษุชั่วด้วยโจร เปรียบภิกษุผู้รักษาศีลว่าเหมือนพระราชา ที่ทำให้ชนบทไม่มีความผาสุกหรือมีความผาสุกได้ สุดแต่ฝ่ายไหนจะมีกำลังกว่ากัน.
๙. ตรัสว่า ไม่ทรงสรรเสริญการปฏิบัติของคฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ( นักบวช ). คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ปฏิบัติผิดแล้ว ก็ไม่ได้บรรลุกุศลธรรมที่ถูก. ทรงสรรเสริญการปฏิบัติชอบของคฤหัสถ์หรือบรรพชิต. คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมได้บรรลุกุศลธรรมที่ถูก.
๑๐. ตรัสว่า ภิกษุที่คัดค้านอรรถะธรรมะด้วยพระสูตรที่จำมาผิด มีพยัญชนะวิจิตร ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อไม่เป็นประโยชน์และความสุข และประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก ทั้งทำให้พระสัทธรรมอันตรธาน. แล้วทรงแสดงถึงภิกษุที่รับรองอรรถะธรรมะด้วยพระสูตรที่ทรงจำไว้ดี มีพยัญชนะวิจิตร ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์และความสุขะ และประสบบุญเป็นอันมาก ทั้งดำรงพระสัทธรรมไว้.
วรรคที่ ๕. ชื่อปริสวรรค ว่าด้วยบริษัท
๑ . ทรงแสดงถึงบริษัท ๒ อย่าง คือตื้นอย่างหนึ่ง ลึกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าตื้นเพราะขาดคุณธรรม ๒ . ที่ชื่อว่าลึกเพราะมีคุณธรรม ; บริษัท ๒ อย่าง คือที่ ( แตก ) เป็นพวก กับที่พร้อมเพรียงกัน ; บริษัท ๒ อย่าง ที่มีคนเลิศ กับไม่มีคนเลิศ ที่ไม่มีคนเลิศ คือมักมาก ย่อหย่อน เห็นแก่นอน ทอดธุระในความสงัด เป็นต้น ที่มีคนเลิศ คือที่ตรงกันข้าม; บริษัท ๒ อย่าง คือที่ไม่ประเสริญ กับประเสริฐ เพราะไม่รู้หรือเพราะรู้ อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง ; บริษัท ๒ อย่าง คือบริษัทขยะ กับบริษัทที่มีแก่นสาร บริษัทขยะ คือที่ลำเอียงเพราะรัก เพราะชัง เพราะหลง เพราะกลัว บริษัทที่มีแก่นสาร คือที่ไม่ลำเอียงเพราะรัก เป็นต้น ; บริษัทที่แนะนำยาก ๓ . กับบริษัทที่แนะนำง่าย; บริษัท ๒ อย่าง คือที่หนักในอามิส ( เห็นแก่ลาภ ) ไม่หนักในสัทธรรม กับที่หนักในสัทธรรม ไม่หนักในอามิส; บริษัท ๒ อย่าง คือที่ไม่สม่ำเสมอ กับที่สม่ำเสมอ ( กำหนดด้วยภิกษุที่มีการกระทำไม่ถูกธรรมวินัยถูกธรรมวินัย ) บริษัท; ๒ อย่าง คือที่ไม่ประกอบด้วยคุณธรรมกับที่ประกอบด้วยคุณธรรม ; บริษัท ๒ อย่าง คือที่กล่าวเป็นอธรรม กับที่กล่าวเป็นธรรม.
(หมายเหตุ: ในหมวด ๕๐ ที่ ๑ ซึ่งมี ๕ วรรค มี ๕๐ สูตรนี้ ได้โดยย่อมากล่าวให้เห็นทุกสูตร ส่วน หมวด ๕๐ ต่อ ๆ ไป จะย่อพอเห็นความที่สำคัญ).
ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ สูตรที่ ๒
( แบ่งออกเป็น ๕ วรรค ๆ ละ ๑๐ สูตร เช่นเดียวกับวรรคที่ ๑ ว่าด้วยบุคคล วรรคที่ ๒ ว่าด้วยความสุข วรรคที่ ๓ ว่าด้วยสิ่งที่มีเครื่องหมาย วรรคที่ ๔ ว่าด้วยธรรม และวรรคที่ ๕ ว่าด้วยพาล ).
๑ . ทรงแสดงบุคคล ๒ ประเภท ในลักษณะต่าง ๆ เช่น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กับพระเจ้าจักรพรรดิ์ เป็นผู้เกิดเพื่อประโยชน์และความสุขแก่โลก, เป็นอัจฉริยมนุษย์, สิ้นชีวิตก็ทำให้คนส่วนมากเดือดร้อนถึง, เป็นผู้ควรแก่สตูป ( ก่อเจดีย์ไว้ใส่อัฏฐิธาตุหรือกระดูกเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว) เป็นต้น.
๒. ทรงแสดงความสุข ๒ อย่าง หลายประเภท ความสุขของคฤหัสถ์ กับความสุขในการบรรพชา, ความสุขในกาม กับความสุขในการออกจากกาม, ความสุขที่มีกิเลส กับความสุขที่ไม่มีกิเลส, ความสุขที่มีอาสวะ ( กิเลสที่ดองอยู่ในสันดาน ) กับความสุขที่ไม่มีอาสวะ , ความสุขที่มีอามิส กับความสุขที่ไม่มีอามิส, ความสุขที่ประเสริฐ ( อริยะ) กับความสุขที่ไม่มีประเสริฐ, ความสุขทางกาย กับความสุขทางใจ, ความสุขที่มีปีติ ( ความอิ่มใจ ) กับความสุขที่ไม่มีปีติ , ความสุขที่มีความสำราญ กับความสุขที่มีความวางเฉย , ความสุขที่เนื่องด้วยสมาธิ กับความสุขที่ไม่เนื่องด้วยสมาธิ เป็นต้น.
๓. ทรงแสดงว่า อกุศลบาปธรรมย่อมเกิดขึ้นเพราะมีนิมิต ( เครื่องหมายในจิตใจ ) มิใช่เกิดขึ้นโดยไม่มีนิมิต. เพราะละนิมิตได้ อกุศลบาปธรรมก็จะไม่มี. แล้วทรงแสดงหลักการโดยทำนองเดียวกันว่า อกุศลบาปธรรมย่อมเกิดขึ้นเพราะมีต้นเหตุ ( นิทาน ) , มีเหตุ, มีเครื่องปรุง, มีปัจจัย, ในรูป, มีเวทนา, มีสัญญา, ( ความจำได้หมายรู้ ), มีวิญญาน ( ความรู้แจ้งอารมณ์ ), มีอารมณ์ที่ปัจจัยปรุงแต่ง.
๔. ทรงแสดงธรรมที่เป็นคู่กัน ๒ อย่าง หลายประเภท คือเจโตวิมุต ( ความหลุดพ้นเพราะสมาธิ ) กับปัญญาวิมุติ ( ความหลุดพ้นเพราะปัญญา ), ความเพียร กับความที่จิตอมีอารมณ์เป็นหนึ่ง , นาม กับรูป, วิชชา ( ความรู้) กับวิมุติ ( ความหลุดพ้น ), ภวทิฏฐิ ( ความเห็นว่าเที่ยง ) กับวิภวทิฏฐิ ( ความเห็นว่าขาดสูญ ), ความไม่มีหิริ กับความไม่มีโอตตัปปะ, หิริ ( ความละอายต่อปาป ) กับการโอตตัปปะ ( ความเกรงกลัวต่อบาป ), ความเป็นผู้ว่ายาก กับการคบคนชั่วเป็นมิตร, ความเป็นผู้ว่าง่าย กับการคบคนดีเป็นมิตร, ความเป็นผู้ฉลาดในธาตุ กับความเป็นผู้ฉลาดในมนสิการ ( ความใสใจหรือทำในใจ ), ความเป็นผู้ฉลาดในอาบัติ กับความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากอาบัติ.
๕. ทรงแสดงคนพาลกับบัณฑิต ๒ ประเภท หลายอย่าง โดยแบ่งไปตามลักษณะ คือผู้เอาภาระที่ยังไม่มาถึง กับไม่เอาภาระที่มาถึง เป็นพาล ที่ตรงกันข้ามเป็นบัณฑิต , ผู้สำคัญว่าควรในของที่ไม่ควรกับสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร เป็นพาล ที่ตรงกันข้ามเป็นบัณฑิต, ผู้สำคัญผิดในเรื่องต่าง ๆ เช่น อาบัติ, ธรรมะ, วินัย, ว่าไม่เป็นอาบัติ ไม่เป็นธรรมะ ไม่เป็นวินัย เป็นคนพาล ที่ตรงกันข้ามเป็นบัณฑิต แล้วทรงแสดงว่าอาสวะ ( กิเลสที่ดองในสันดาน ) ย่อมเจริญและไม่เจริญแก่บุคคล ๒ ประเภท ที่สำคัญผิดต่าง ๆ กับที่ไม่สำคัญผิดต่าง ๆ ในเรื่องที่ควรรังเกียจเรื่องอาบัติ, ธรรมะและวินัย.
ตติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ สูตรที่ ๓
( มี ๕๐ สูตร และ ๕ วรรค เช่นเดียวกัน วรรคที่ ๑ ว่าด้วยความหวัง, วรรคที่ ๒ ว่าด้วยการขอร้อง , วรรคที่ ๓ ว่าด้วยทานการให้, วรรคที่ ๔ ว่าด้วยการต้อนรับ, วรรคที่ ๕ ว่าด้วยสมาบัติ).
๑. ทรงแสดงความหวังที่ละได้ยาก คือความหวังในลาภ กับความหวังในชีวิต, บุคคลที่หาได้ยาก คือบุพพการี ( ผู้ทำคุณก่อน ) กตัญญูกตเวที ( ผู้รู้คุณและตอบแทน), บุคคลที่หาได้ยาก คือผู้อิ่ม กับผู้ทำให้คนอื่นอิ่ม, บุคคลที่ทำให้อิ่มได้ยาก คือผู้เก็บไว้ ( ไม่ใช้เอง ไม่ให้ใคร ) กับผู้สละสิ่งที่ได้มาแล้ว, ส่วนบุคคลที่ทำให้อิ่มได้ง่าย คือที่ตรงกันข้าม, ปัจจัยให้เกิดราคะ ( ความกำหนัดยินดี ) คือความกำหนดเครื่องหมายสิ่งที่งาม ( สุภนิมิต ) กับการไม่ใส่ใจโดยแยบคาย, ปัจจัยให้เกิดโทสะ คือความกำหนดเครื่องหมายสิ่งที่ขัดใจ ( ปฏิฆนิมิต ) กับการไม่ใส่ใจโดยแยบคาย, ปัจจัยให้เกิดความเห็นผิด คือเสียงโฆษณาจากคนอื่น กับการไม่ใส่ใจโดยแยบคาย, อาบัติ ๒ อย่าง ๓ ประเภท คืออาบัติเบา กับอาบัติหนัก, อาบัติชั่วหยาบ กับอาบัติไม่ชั่วหยาบ, อาบัติมีส่วนเหลือ ( ต้องเข้าแล้วยังไม่ขาดจากความเป็นภิกษุ ) กับอาบัติไม่มีส่วนเหลือ ( ต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ).
๒. ทรงแสดงว่า ภิกษุผู้มีศรัทธาขอร้องโดยชอบ พึงขอร้องให้ ( ตนเอง ) เป็นเช่นพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ เพราะทั้งสองท่านนั้นเป็นเครื่องชั่ง เป็นเครื่องประมาณ ( เป็นมาตรฐาน ) แห่งภิกษุทั้งหลายที่เป็นสาวกของพระองค์, ส่วนภิกษุณีผู้มีศรัทธา พึงขอร้องให้เป็นเช่นนางเขมา กับนางอุปปลวัณณา; อุบาสกผู้มีศรัทธา พึงขอร้องให้เป็นเช่นจิตตฤหบดี กับหัตถกะ อาฬวกะ; อุบาสิกาผู้มีศรัทธา พึงขอร้องให้เป็นให้เป็นเช่นขุชชุตตรา อุบาสิกา กับนางเวฬกัณฏกิยา ผู้เป็นมารดาของนันทมาณพ ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๑๒ หน้า ๑ ( ฝ่ายอุบาสิกา (สาวิกาที่มิได้บวช) (หมายเลข ๕) จะเห็นว่า ในที่นั้นชื่ออุตตรา ผู้เป็นมารดาของนันทมาณพ ถ้าเป็นคนเดียวกันก็น่าจะมีชื่อนำหน้าหลายอย่าง อรรถกถาแก้ว่า นางขุชชุตรา เป็นผู้เลิศทางปัญญา นันทมาตา ( มารดาของนันทมาณพ ) เป็นผู้เลิศในทางฤทธิ์ ) ต่อจากนั้นทรงแสดงว่า คนพาลกับบัณฑิตต่างประกอบด้วยธรรม ๒ อย่าง ในทางที่ตรงกันข้าม เช่น คนพาลไม่พิจารณาสอบสวน ชมผู้ไม่ควรชม ติผู้ไม่ควรติ ส่วนบัณฑิตตรงกันข้าม เป็นต้น.
๓. ทรงแสดงถึงการให้ การบูชา การสละ เป็นต้น ว่ามี ๒ อย่าง คือการให้อามิส ( สิ่งของ ) กับการให้ธรรม.
๔. ทรงแสดงถึงการต้อนรับ การแสวงหา เป็นต้น ว่ามี ๒ อย่าง คือการต้อนรับด้วยอามิส ( สิ่งของ ) กับการต้อนรับด้วยธรรม.
๕. ทรงแสดงถึงความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาบัติ ( เข้าฌาน) กับความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาบัติ และธรรมฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว เป็นคู่ ๆ กันไป.
พระสูตรที่ไม่นับเข้าในหมวด หมวด ๕๐
(หมายความว่า หมวดนี้ประมวลพระสูตรที่เป็นพระสูตรที่เป็นเศษของ ๕๐ อันเหลือมาจากที่ประมวลไว้ในหมวด ๕๐ หมวดที่แล้วมา หรือเท่ากับเป็นหมวดรวบรวมพระสูตรที่เป็นเศษของ ๑๕๐ สูตร).
ใจความในหมวดนี้ คงกล่าวถึงธรรมที่มีจำนวน ๒ ข้อ ฝ่ายชั่วฝ่ายดีคู่กัน เช่น ความโกรธกับความผูกโกรธ, ความลบหลู่บุญคุณท่าน กับการตีเสมอ, ความริษยา กับความตระหนี, มายา กับความโอ้อวด, ความไม่ละอาย กับความไม่เกรงกลัว . ในฝ่ายดีพึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม.
________________________________________
๑. ที่แสดงไว้ในบาลีมีถึง ๒๖ อย่าง
๒. คำว่า ขาดคุณธรรม หมายความรวม ในบาลีแสดงว่า ที่ฟุ้งสร้าน ถือตัว พูดเพ้อ ปากกล้า พูดไม่สำรวม หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์
๓. คำว่า แนะนำยาก แนะนำง่าย เป็นคำแปลหักให้เข้าใจง่าย
๑. ติกนิบาต
ชุมนุมธรรมะที่มี ๓ ข้อ
ปฐมปัณณาสก์ หรือหมวด ๕๐ ที่ ๑
วรรคที่ ๑ ชื่อพาลวรรค ว่าด้วยคนพาล
ทรงแสดงว่า ภัย ( สิ่งที่น่ากลัว ) อุปัทวะ ( สิ่งที่เบียดเบียนหรือเป็นอันตราย ) อุปสัค ( สิ่งที่ขัดข้อง ) ทั้งปวง ย่อมเกิดจากคนพาล ไม่เกิดจากบัณฑิต ; ทั้งพาลทั้งบัณฑิตมีกรรม ( การกระทำ ) เป็นลักษณะ พึงทราบคนพาลด้วยธรรม ๓ ประการ คือทุจจริตทางกาย , ทางกาย , ทางใจ ส่วนบัณฑิตพึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม ; ลักษณะ เครื่องหมายและความประพฤติของคนพาลมี ๓ อย่าง คือ คิดชั่ว พูดชั่ว ส่วนบัณฑิตพึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม ; นอกจากนั้นทรงแสดงว่า คนพาลประกอบด้วยธรรมะ ๓ ประการ หลายประเภท เช่น ไม่เห็นโทษ ล่วงเกิน ( ที่ตนทำ ) , เห็นแล้วไม่ทำคืน, เมื่อมีผู้อื่นแสดงโทษล่วงเกิด (ขอโทษ ) ไม่รับ ; ตั้งปัญหาโดยไม่แยบคาย, ตอบปัญหาไม่แยบคาย, เมื่อคนอื่นตอบปัญหาโดยแยบคาย ไม่อนุโมทนา (ไม่รับรองว่าถูกต้อง ) ; มีการกระทำทางกาย , ทางวาจา, ทางใจ อันเป็นอกุศล ; อันเป็นโทษ ; อันมีการเบียดเบียน ; ส่วนบัณฑิตพึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม; ทรงแสดงทุจจริต ๓ ว่าเป็นเหตุบริหารตนอย่างขุดรากตัวเอง กำจัดตัวเอง มีโทษอันผู้รู้ตามว่ากล่าวได้ ทำให้ประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก ; ทรงแสดงมลทิน คือความเป็นผู้ทุศล , ความริษยา , ความตระหนี่ว่า ทำให้เหมือนนำตนไปตั้งไว้ในนรก กับตรงกันข้ามทำให้เหมือนตนไปตั้งไว้ในสวรรค์.
วรรคที่ ๒ ชื่อรถการวรรค ว่าด้วยช่างทำรถ
ทรงแสดงถึงการที่ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ อย่างว่า ปฏิบัติมิใช่เพื่อประโยชน์ความสุขแก่คนมาก คือผู้ชักชวนในการกระทำทางกาย, ทางวาจา , ทางใจ อันไม่ควร แล้วทรงแสดงฝ่ายดีทางตรงกันข้าม ; การที่ภิกษุบวช , รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน นับเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกตลอดชีวิต ; บุคคล ๓ ประเภท คือผู้ไม่มีความหวัง , ผู้มีความหวัง , ผู้ปราศจากความหวัง ; ผู้ไม่มีความหวัง คือผู้ตกต่ำ, ผู้มีความหวัง คือราชบุตรผู้รอการกภิเภก , ผู้ปราศจากความหวังคือพระราชาผู้ได้รับอภิเษกแล้ว เทียบกับคดีธรรม ผู้ไม่มีความหวัง คือผู้ทุศีล, ผู้มีความหวัง คือผู้มีศีล, ผู้ปราศจากความหวัง คือผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน ( ผู้เป็นอรหันต์แล้ว) ; พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมราชา อาศัยธรรม เคารพธรรม ทรงให้การรักษาคุ้มครองการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ว่าอย่างนี้ควรเสพ ไม่ควรเสพ ย่อมทรงหมุนธรรมจักร ซึ่งสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ก็ปฏิวัติไม่ได้ ( ทำให้ย้อนกลับไม่ได้) ในโลก เปรียบเหมือนพระเจ้าจักรพรรดิ์ ( ทางโลก ) ที่อาศัยธรรม เคารพธรรม ให้การรักษาคุ้มครองอันเป็นธรรมแก่มนุษย์และสัตว์ ย่อมหมุนล้อรถได้โดยธรรม ซึ่งข้าศึกจะปฏิวัติหรือหมุนกลับไม่ได้ด้วยมือ ; ทรงเล่าเรื่องช่างทำรถที่ทำล้อรถข้างหนึ่งกินเวลา ๖ เดือน ขาด ๖ คืน แต่ล้อรถอีกข้างหนึ่งเสร็จภายใน ๖ วัน พระราชาตรัสถาม ก็ทดลองให้ดูล้อรถข้างหนึ่งที่ทำนานหมุนไปได้ เมื่อหยุดหมุนก็ไม่ล้ม แต่ข้างที่เสร็จไว เมื่อหยุดหมุนก็ล้ม เพราะมีความคด ทรงสอนให้ละความคดทางกาย วาจา ใจ เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องนั้น . ทรงข้อปฏิบัติไม่ผิด ๓ ประการ คือความสำรวมอินทรีย์ ( คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ). รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร, ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น ( ไม่เห็นแก่การนอนมากนัก ) ; ทรงแสดงทุจจริตทางกาย วาจา ใจ ว่าเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ส่วนสุจริตกาย วาจา ใจ ตรงกันข้าม; ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายเบื่อหน่ายด้วยอายุ, วรรณะ ( ผิวพรรณ ), สุข , ยศ และความเป็นใหญ่อันเป็นทิพย์ แต่ก็พึงเบื่อหน่ายทุจจริตกาย วาจา ใจก่อน ; พ่อค้าที่ประกอบด้วยองค์ ๓ คือไม่ตรวจตราการงานด้วยดีในเวลาเช้า, เที่ยง, เย็น ก็ไม่ควรจะได้รับโภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้มาแล้วให้เจริญขึ้น, ทรงแสดงว่า ภิกษุผู้ไม่ตรวจสมาธินิมิต ( เครื่องหมายในสมธิ ) ด้วยดีในเวลาเช้า, เที่ยง, เย็น ก็ไม่ควรได้บรรลุกุศลธรรมที่ยังมิได้บรรลุ หรือกุศลธณรมที่บรรลุแล้วให้เจริญขึ้นฉันนั้น ; พ่อค้าที่ประกอบด้วยองค์ ๓ ย่อมถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ความไพบูลในโภคทรัพย์ในเวลาไม่นาน คือมีตาดี , ขยัน , ถึงพร้อมด้วยที่อาศัย ( รู้จักคนกว้างขวาง ), ทรงแสดงว่า ภิกษุมีตาดี คือรู้อริยสัจจ์ ๔ , ขยัน คือไม่ทอดธุระในกุศลธรรม, ถึงพร้อมด้วยที่อาศัย คือเข้าไปหาท่านผู้รู้เป็นครั้งคราว เพื่อไต่ถามปัญหา ก็จะถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ความไพบูลในกุศลธรรมฉันนั้น.
วรรคที่ ๓ ชื่อปุคคลวรรค ว่าด้วยบุคคล
๑. พระสวิฏฐะ กับพระมหาโกฏฐตะ ไปหาพระสารีบุตร พระสารีบุตรจึงถามพระสวิฏฐะว่า บุคคล ๓ ประเภท คือ กายสักขี ( ผู้บรรลุฌานก่อนแล้วจึงทำนิพพานให้แจ้ง ได้แก่พระอริยบุคคล ๖ ประเภทที่ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล จนถึงตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค), ๑ . ทิฏบิปัตตะ ( ผู้ถึงที่สุดแห่งทิฏฐิ คือรู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔ ได้แก่พระอริยบุคคล ๖ ประเภท เหมือนกายสักขี ), สัทธาวิมุต ( ผู้หลุดพ้นเพราะศรัทธา ได้แก่พระอริยบุคคล ๖ ประเภทเช่นเดียวกัน ที่ต่างกันก็คือ ลักษณะเฉพาะก่อนที่จะได้บรรลุมรรคผล) ในบุคคล ๓ ประเภทนี้ พระสวิฏฐะชอบว่าใครจะดีกว่า ประณีตกว่ากัน. พระสวิฏฐะตอบว่า ชอบ สัทธาวิมุต ว่าดีกว่า ประณีตกว่าเพราะมีอินทรีย์ คือศรัทธามีประมาณยิ่ง. แล้วพระสารีบุตรจึงย้อนถามพระมหาโกฏฐิตะว่า ชอบบุคคลประเภทไหน พระมหาโกฏฐิตะตอบว่า ชอบ กายสังขี เพราะมีอินทรีย์ คือสมาธิมีประมาณยิ่ง. พระมหาโกฏฐิตะถามพระสารีบุตรบ้างว่า ชอบบุคคลประเภทไหน พระสารีบุตรตอบว่า ชอบ ทิฏฐิปัตตะ เพราะมีอินทรีย์ คือปัญญาประมาณยิ่ง. แล้วทั้งสามท่านจึงพากันไไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลให้ทรงทราบ ตรัสตอบว่ายากที่จะชี้ลงไปโดยส่วนเดียวว่า ใครจะดีว่า ประณีตกว่ากัน เพราะต่างก็ปฏิบัติเพื่ออรหัตต ( ผล ) และเป็นพระสกทาคามีหรือพระอนาคามีด้วยกัน.
(หมายเหตุ: คำอธิบายในวงเล็บว่า บุคคลทั้งสามประเภท ได้แก่พระบริยบุคคล ๖ ประเภท คือ ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล จนถึงอรหัตตมรรคนั้น เป็นคำอธิบายตามอรรถกถาปุคคลบัญญัติ แต่สังเกตตามพระพุทธภาษิตในตอนท้ายคล้ายกับว่า ตั้งแต่สกทาคามีอนาคามีขึ้นไปถึงท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค มิได้กล่าวถึงพระอริยบุคคลชั้นโสดาบุคคลชั้นโสดาบันเลย จึงน่าสังเกตเป็นหลักวิชาประกอบค้นคว้าต่อไป).
ต่อจากนั้นทางแสดงถึงคนไข้ ๓ ประเภท คือ ๑. ได้อาหาร, ยา, คนพยาบาล ซึ่งเป็นที่สบายหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่หายจากอาพาธนั้น ๒. ได้อาหาร, ยา, คนพยาบาล ซึ่งเป็นที่สบายหรือไม่ก็ตาม ก็หายจากอาพาธนั้น. ๓. ต่อเมื่อได้อาหาร, ยา , คนพยาบาล ซึ่งเป็นที่สบายจึงหายจากอาพาธนั้น. ทรงอาศัยบุคคลประเภทหลัง จึงทรงอนุญาตอาหาร , ยา , คนพยาบาล สำหรับผู้เป็นไข้ และอาศัยคนไข้ ( ประเภทหลัง) นี้ จึงพยาบาลคนไข้อื่น ๆ ( ๒ ประเภทแรก ) ด้วย , แล้วทรงแสดงธรรมเปรียบเทียบถึงบุคคล ๓ ประเภท ( ในทางธรรม ) คือ ๑. ได้เห็นพระตถาคตหรือไม่ก็ตาม, ได้ฟังพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ก้าวลงสู่ทำนองอันชอบในกุศลธรรม. ๒. ได้เห็นพระตถาคตหรือไม่ก็ตาม, ได้ฟังพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศหรือไม่ก็ตาม ก็ก้าวลงสู่ทำนองอันชอบในกุศลธรรมได้. ๓. ต่อเมื่อได้เห็นพระตถาคต ได้ฟังพระธรรมวินัยอันพระตถาคตประกาศแล้ว จึงก้าวลงสู่ทำนองอันชอบในกุศลธรรมได้, เพราะอาศัยบุคคล ( ประเภทหลัง) นี้ จึงทรงอนุญาตการแสดงธรรม และเพราะอาศัยบุคคล ( ประเภทหลัง ) นี้ จึงควรแสดงธรรมแก่คนอื่น ( ๒ ประเภทแรก ) ด้วย.
ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือผู้ปรุงกายสังขาร ( เจตนาทางกาย) ปรุงวจีสังขาร ( เจตนาทางวาจา) และปรุงมโนสังขาร ( เจตนาทางใจ ) อันมีการเบียดเบียน ย่อมเข้าสู่ (เกิดใน) โลกที่มีการเบียดเบียนถูต้องผัสสะ อันมาการเบียนดเบียน เสวยเวทนาอันมีการเบียดเบียน มีทุกข์โดยส่วนเดียว เช่น สัตรนรก , ส่วนที่ตรงกันข้าม คือไม่เกี่ยวกับการเบียดเบียนเลย ก็ได้รับผลตรงกันข้าม เช่น เทพสุภกิณหะ, พวกที่ปรุงกายสังขาร เป็นต้น มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่เบียดเบียนบ้าง ก็ได้รับผลผสมกัน ( ทุกข์บ้าง สุขบ้าง ) เช่น มนุษย์บางพวก เทพบางพวก วินิบาต ( เปรตที่อยู่วิมาน ) บางพวก.
ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภทที่มีอุปการะมาก คือ ๑. ผู้ที่เป็นเหตุให้บุคคลถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ๒. ผู้ที่เป็นเหตุให้บุคคลรู้อริยสัจจ์ ๔ ตามความเป็นจริง ๓. ผู้ที่เป็นเหตุให้บุคคลทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน. ไม่มีบุคคลอื่นจะมีอุปการะยิ่งกว่าบุคคลทั้งสามประเภทนี้ และบุคคลทั้งสามประเภทนี้ มิใช่จะตอบแทนคุณได้โดยง่ายด้วยการแสดงความเคารพหรือให้ปัจจัย ๔.
ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือ ๑. คนมีจิตเปรียบด้วยแผล คือคนขี้โกรธ ถูกว่ากล่าวเล็กน้อย ก็แสดงอาการโกรธเคือง เหมือนแผลถูกไม้หรือกระเบื้อง ก็มีเลือดหรือหนองไหล ๒. คนมีจิตเปรียบด้วยสายฟ้า คือรู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง เหมือนคนตาดีเห็นรูปในเวลากลางคืนอันมืดสนิทในระหว่างที่ฟ้าแลบ ๓. คนมีจิตเปรียบด้วยเพชร คือทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน เหมือนเพชรทำลาย ( ตัด ) แก้วมณี หรือแผ่นหินได้.
ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือ ๑. คนที่ไม่ควรคบ ได้แก่คนที่เสื่อมจากศีล สมาธิ ปัญญา ๒ ๒. คนที่ควรคบ ได้แก่คนที่เสมอกันด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ๓. คนที่ควรคบอย่างสักการะเคารพ ได้แก่คนที่ยิ่งกว่าโดยศีล สมาธิ ปัญญา.
ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือ ๑. คนที่ควรเกลียด ไม่ควรคบ ได้แก่คนทุศีล ไม่เป็นสมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ เป็นคนเน่าใน ๒. คนที่ควรวางเฉย ไม่ควรคบ ได้แก่คนขี้โกรธ ถูกว่ากล่าวเล็กน้อย ก็แสดงอาการโกรธเคือง ๓. คนที่ควรคบ ได้แก่คนที่มีศีล มีกัลยาณธรรม. ( ตรัสเปรียบเทียบขำ ๆ สำหรับบุคคลประเภท ๑ และ ๒ คือประเภทที่ ๑ เปรียบเหมือนงูที่เลื้อยลงไปในอุจจาระ แม้ไม่กัดก็เปื้อน ประเภทที่ ๒ เหมือนเอาไม้หรือกระเบื้องไปเขี่ยหลุมอุจจาระ รังแต่จะเกิดกลิ่นเหม็นยิ่งขึ้น).
ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือ ๑. คนพูดเหม็น ( พูดเป็นอุจจาระ ) ได้แก่ผู้พูดปดทั้ง ๆ รู้ เพื่อตน เพื่อผู้อื่นหรือเพราะเห็นแก่อามิส ๒. คนพูดหอม ( พูดเป็นดอกไม้ ) ได้แก่ผู้ไม่พูดปดทั้ง ๆ ที่ รู้ เพื่อตน เพื่อผู้อื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิส ๓. คนพูดหวาน ( พูดเป็นน้ำผึ้ง ) ได้แก่ผู้ที่เว้นจากการพูดคำหยาบพูดแต่คำที่รื่นหู เป็นที่พอใจแห่งคนมาก.
ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือ ๑. คนตาบอด ได้แก่ผู้ไม่มีตาที่จะทำโภคทรัพย์ให้เกิด ที่จะทำโภคทรัพย์ที่เกิดแล้วให้เจริญ กับไม่มีตาที่จะรู้ธรรมอันเป็นกุศลหรือกุศล ๒. คนมีตาข้างเดียว ได้แก่ผู้มีตาที่จะทำโภคทรัพย์ให้เกิด ที่จะทำโภคทรัพย์ที่เกิดแล้วให้เจริญแต่อย่างเดียว แต่ไม่มีตาที่จะรู้กุศลธรรมหรืออกุศลธรรม ๓. คนมีตาทั้สองข้าง ได้แก่คนที่มีตาทั้งสองประเภทนั้น ( ตาทางโลก, ตาทางธรรม).
ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือ ๑. ผู้มีปัญญาเหมือนหม้อคว่ำที่กรองน้ำไม่ลง ได้แก่คนที่ไม่สนใจฟังธรรมทั้งในขณะแสดงธรรมและขณะที่ตนลุกไปแล้ว ๒. คนมีปัญญาเหมือนชายพกที่ใส่ของไว้เวลาลุกขึ้นก็หล่นเรี่ยราด ได้แก่คนที่สนใจฟังธรรมะขณะแสดง ลุกขึ้นแล้วไม่สนใจ ๓. คนมีปัญญาหนาแน่น ( เหมือนหม้อน้ำหงายเปิดฝากรองน้ำลงไปได้ไม่หก ) ได้แก่คนที่สนใจฟังธรรม ลุกไปแล้วก็สนใจ ( พิจารณาเบื้องตน ท่ามกลางและที่สุด).
วรรคที่ ๔ ชื่อเทวทูตวรรค ว่าด้วยทูตของเทวดา
ทรงแสดงว่า ตระกูลที่บุตรบูชามารดาบิดาในเรือนของตน ชื่อว่าเป็นตระกูลที่มีพรหม, มีบูรพาจารย์ ( อาจารย์คนแรก ), มีผู้ควรแก่การของคำนับ. คำทั้งสามคำนี้เป็นชื่อของมารดาบิดา เพราะท่านเป็นผู้มีอุปการะมากเป็นผู้เลี้ยงดูแสดงโลกนี้แก่บุตร.
ตรัสตอบคำถามของพระอานนท์ โดยทรงแสดงว่า มีภิกษุที่ได้สมาธิ โดยประการที่จะไม่มีการถือเรา ถือของเราและถือตัว ในร่างกายอันมีวิญญาณครองนี้, จะไม่มีการถือเรา เป็นต้น ในนิมิต ( เครื่องหมาย ) ทั้งปวง ภายนอก , จะเข้าถึงเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอยู่.
ตรัสกับพระสารีบุตรว่า ทรงแสดงธรรมโดยย่อบ้าง โดยพิสดารบ้าง ทั้งโดยย่อทั้งพิศดารบ้าง แต่ผู้รู้ธรรมะหาได้ยาก. เมื่อพระสารีบุตรกราบทูลขอร้องให้ทรงแสดง จึงทรงแสดงให้สำเนียกว่า จักมีคุณธรรมอย่างที่ตรัสตอบพระอานนท์ ( ข้างบนนี้ ) แล้วตรัสว่า ภิกษุผู้ทำได้อย่างนี้ ชื่อว่าตัดตัญหาได้ แก้เครื่องผูกมัดได้ ทำที่สุดได้ เพราะตรัสรู้ธรรมเป็นเหตุละมานะได้โดยชอบ.
ทรงแสดงโลภะ โทสะ โมหะ ว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม ( การกระทำ ) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ได้รับผลในชาติปัจจุบัน ชาติหน้า หรือชาติต่อ ๆ ไป และทรงแสดงอโลภะ อโทสะ อโมหะ ว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม ( การกระทำ ) เช่นเดียวกัน ( แต่เป็นไปในทางดี ).
ตรัสตอบคำถามของหัตถกะ อาฬวกะ ( ชาวแคว้นอาฬวี ) ว่าทรงบรรทมเป็นสุขคนหนึ่งในโลก แม้ราตรีฤดูหนาวจะเย็น หิมะจะตก ดินจะแตกระแหง เครื่องปูลาดจะน้อย ใบไม้จะโปร่ง ผ้ากาสายะจะเย็น ลมจะพัด เพราะทรงละราคะ โทสะ โมหะ ( อันทำให้เกิดความเดือดร้อนทางกาย ทางจิต ) ได้เด็ดขาดแล้ว.
ทรงแสดงเรื่องเทวทูต ๓ คือคนแก่ คนเจ็บ คนตาย ซึ่งควรเป็นเครื่องเตือนใจคน ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แล้วแสดงการที่ผู้ทำกรรมชั่วจะถูกทรมานในนรกอย่างไร.
ทรงแสดงการที่เทพชั้นดาวดึงส์ไม่พอใจ เมื่อทราบว่ามนุษย์ไม่ปฏิบัติต่อมารดาบิดา เป็นต้น ไม่รักษาอุโบสถ และพอใจเมื่อทราบว่ามนุษย์ปฏิบัติดี.
ทรงแสดงว่า ท้าวสักกะสอนเทพชั้นดาวดึงส์ สรรเสริญการรักษาอุโบสถมีองค์ ๘ ในวันอุโบสถ .
ทรงแสดงความที่พระองค์เป็น ( กษัตริย์ ) สุขุมาลชาติ แล้วทรงละความเมาในความเป็นหนุ่มสาว ความเมาในความไม่มีโรค ความเมาในชีวิตเสียได้.
ทรงแสดงอาธิปไตย ( ความเป็นใหญ่ ) ๓ อย่าง คือ อัตตาธิปไตย ( ถือตนเป็นใหญ่ ) โลกาธิปไตย ( ถือโลกเป็นใหญ่ ) และธัมมาธิปไตย ( ถือธรรมะเป็นใหญ่ ) แล้วทรงอธิบายถึงคนที่เว้นความชั่ว ประพฤติความดี เพราะปรารภตนบ้าง ปรารภโลกบ้าง ปรารภธรรมะบ้าง.
________________________________________
๑. อธิบายตามอรรถกถาปุคคลบัญญัติ อภิธัมมปิฎก หน้า ๕๕
๒. มีเงื่อนไขพิเศษสำหรับบุคคลประเภทนี้ ที่ว่าไม่ควรคบนั้น เว้นไว้แต่จะเอ็นดู จะอนุเคราะห์ คือคบเพื่อช่วยให้เขาดีขึ้นกว่าเดิม
วรรคที่ ๕ ชื่อจูฬวรรค ว่าด้วยเรื่องเล็กน้อย
ทรงแสดงว่า กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมได้บุญมาก เพราะพร้อมหน้าธรรมะ ๓ อย่าง คือ ๑. พร้อมหน้าศรัทธา ๒. พร้อมหน้าไทยธรรม ( ของถวาย ) ๓. พร้อมหน้าผู้ควรแก่ของถวาย ( ทักขิไณยบุคคล ).
คนมีศรัทธาพึงทราบโดยฐานะ ๓ คือ ๑. ใคร่เห็นท่านผู้มีศีล ๒. ใคร่ฟังพระสัทธรรม ๓. ยินดีในการบริจากทาน.
บุคคลเห็นอำนาจประโยชน์ ๓ อย่าง จึงควรแสดงธรรม คือ ๑. ผู้แสดงย่อมรู้อรรถรู้ธรรม ๒. ผู้ฟังย่อมรู้อรรถรู้ธรรม ๓. ทั้งผู้แสดงทั้งผู้ฟังสองฝ่ายย่อมรู้อรรถรู้ธรรม.
กถา ( ถ้อยคำ ) ย่อมเป็นไปโดยฐานะ ๓ คือ ๑. ผู้แสดงธรรม ๒. ผู้ฟังธรรม ๓. ทั้งผู้แสดงทั้งผู้ฟังย่อมรู้อรรถรู้ธรรม.
สิ่งที่บัณฑิตบัญญัติ ที่สัตบุรุษ ( คนดี ) บัญญัติ ๓ อย่าง คือ ๑. ทาน การให้ ๒. บรรพชา การถือบวช ๓. มาตาปิตุปัฏฐาน บำรุงเลี้ยงมารดาบิดา.
มนุษย์ย่อมได้บุญมาก ในที่ที่บรรพชิตผู้มีศีลอาศัยอยู่ เป็นการได้บุญโดยฐานะ ๓ คือทางกาย ทางวาจา ทางใจ.
ลักษณะของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง ( สังขตลักษณะ ) ๓ อย่าง คือความเกิดขึ้นปรากฏ ความเสื่อมปรากฏ ความแปรปรวนปรากฏ ส่วนลักษณะของสิ่งที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง (อสังขตลักษณะ) ตรงกันข้าม.
อันโตชน ( คนภายใน ) ที่อาศัยหัวหน้าครอบครัว ผู้มีศรัทธา ย่อมเจริญด้วยความเจริญ ๓ อย่าง คือเจริญศรัทธา ด้วยศีล ด้วยปัญญา เหมือนไม้สาละใหญ่ เจริญด้วยกิ่งใบ ด้วยเปลือกและสะเก็ด ด้วยกะพี้และแก่น.
ควรทำความเพียรโดยฐานะ ๓ คือ ๑. เพื่อมิให้เกิดอกุศลบาปธรรมที่ยังไม่เกิด ๒. เพื่อให้เกิดกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ๓. เพื่ออดทนต่อทุกขเวทนากล้า. ภิกษุผู้ทำได้อย่างนี้ ชื่อว่ามีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ เพิ่อทำความทุกข์ให้ถึงที่สุดโดยชอบ.
มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๓ จึงทำการของโจรได้ คือ ๑. อาศัยทางอันไม่สม่ำเสมอ ๒. อาสัยป่ารก ๓. อาศัยกำลัง. ภิกษุชั่วก็ประกอบด้ยองค์ ๓ คืออาศัยทางอันไม่สม่ำเสมอ เทียบด้วยการกระทำทางกาย วาจา ใจ อันไม่เรียบร้อย อาศัยป่าชัฏ เทียบด้วยมีความเห็นผิด อาศัยกำลัง เทียบด้วยอาศัยพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา ( สนับสนุน).
ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒
( ในหมวด ๕๐ นี้ คงมี ๕ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตร เช่นเดียวกับหมวด ๕๐ ที่แล้วมา. วรรคทั้งห้า คือ ๑. พราหมณวรรค ว่าด้วยพรหามณ์ ๒. มหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่ ๓. อานันทวรรค ว่าด้วยพระอานนท์ ๔. สมณวรรค ว่าด้วยสมณะ ๕. โลกรณผลวรรค ว่าด้วยเมล็ดเกลือ. ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า ในหมวด ๕๐ ที่ ๑ ย่อไว้ค่อนข้างพิศดาร พอถึงหมวด ๕๐ ต่อไป ก็ย่อสั้นลงไปอีก ดังที่เป็นมาแล้วในทุกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๒ ข้อ , ในติกนิบาต ชุมนุมธณรมะที่มี ๓ ข้อนี้ ก็จะทำเช่นเดียวกัน หมายเลข ข้างหน้าข้อความจึงเท่ากับเป็นเครื่องหมายวรรคที่เท่านั้นเท่านี้ด้วย.
๑. ตรัสสอนพราหมณ์ชรา อายุประมาณ ๑๒๐ ปี ๒ คน ที่มาเฝ้าขอให้ทรงสั่งสอน จึงตรัสว่าโลกอันความแก่ ความเจ็บ ความตาย นำเข้าไปใกล้ จึงสำรวมทางกาย วาจา ใจ เพื่อเป็นเครื่องต้านทานเป็นที่เร้น เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ไปในเบื้องหน้าของผู้ที่ละโลกนี้ไป
และทรงสอนพราหมณ์ชราทั้งสองคน ในทำนองเดียวกัน เป็นแต่แสดงว่า โลกร้อน ( ลุกเป็นไฟ ) เพราะความแก่ ความเจ็บ ความตาย.
ตรัสตอบปัญหาของพราหมณ์ผู้หนึ่ง เรื่องธรรมที่เห็นได้ด้วยตนเอง ( สันทิฏฐิกะ ) ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันผู้รู้พึงทราบจำเพราะตน โดยชี้ให้เห็นว่า เมื่อคนกำหนัดแล้ว คิดประทุษร้ายแล้ว หลงแล้ว ย่อมคิดเบียดเบียนตน คนอื่น ทั้งตนทั้งผู้อื่น ได้ประสบความทุกข์โทมนัส เมื่อละราคะ โทสะ โมหะได้ ก็ไม่เป็นเช่นนั้น . และนี่เเหละคือธรรมที่เห็นได้ด้วยตนเอง เป็นต้น.
ตรัสตอบปัญาหของพราหมณ์ปริพพาชกผู้หนึ่ง เรื่องธรรมะที่เห็นได้ด้วยตนเอง เป็นต้น โดยชี้ไปที่ราคะ โทสะ โมหะเช่นเดิม เป็นแต่ย้ายสำนวนว่า ผู้กำหนัดแล้ว คิดประทุษร้ายแล้ว หลงแล้ว ย่อมคิดเบียดเบียนดั่งกล่าวข้างต้น, ย่อมประพฤติทุจริตกาย วาจา ใจ , ย่อมไม่รู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งของตนทั้งของผู้อื่นตามความเป็นจริง.
ตรัสตอบปัญหาของชาณุสโสณิพราหมณ์ เรื่องนิพพานที่เห็นได้ด้วยตนเอง ( สันทิฏฐิกะ ) ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู เป็นต้น โดยชี้ไปที่การที่บุคคลถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำจิต ย่อมคิดเบียดเบียนตนและผู้อื่น หรือคิดเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่นดั่งกล่าวข้างต้น.
ตรัสตอบปัญหาของพราหมณมหาศาลคนหนึ่ง ถึงเรื่องความเสื่อมของมนุษย์และบ้านเมือง โดยชี้ไปที่การที่มนุษย์ยินดีในอธรรม, โลภอย่างไม่เลือกทาง ( วิสมโลภ) , มีธรรมะที่ผิดนำทาง .
ตรัสตอบปัญหาของวัจฉโคตรปริพพาชก ผู้ได้ฟังมาว่า พระองค์สอนให้ถวายทานแก่พระองค์และสาวกของพระองค์เท่านั้น ไม่ควรให้แก่ผู้อื่นและสาวกของผู้อื่น ทานที่ถวายแก่พระองค์และสาวกของพระองค์มีผลมาก ที่ให้แก่ผู้อื่นและสาวกของผู้อื่นไม่มีผลมาก. ตรัสปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ผู้ใดห้ามผู้ให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าทำอันตรายแก่คน ๓ ประเภท คือ แก่ผู้ให้ แก่ผู้รับ และทำลายตนเองก่อน แล้วตรัสว่า ผู้ใดเทน้ำล้างถาดหรือน้ำล้างชามลงไปในน้ำครำหรือในหลุมโสโครก ด้วยคิดว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในนั้น จะได้ยังชีพ ก็ยังได้บุญ จึงไม่ต้องกล่าวถึงการให้ทานแก่มนุษย์ แต่ตรัสว่า ทานที่ให้แก่ผู้มีศีลมีผลมาก, ให้แก่ผู้ทุศีลไม่มีผลมาก, ทานที่ให้แก่ผู้ละองค์ ๕ ( นีวรณ์กิเลสอันกั้นจิตมิให้บรรลุความดี ๕ ) ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ( ศีล, สมาธิ , ปัญญา, วิมุติ, วิมุติติฌาณทัสสนะ ) มีผลมาก.
ตรัสแสดงธรรมแก่ติกัณณพราหมณ์ ผู้สรรเสริญพราหมณ์ผู้รู้วิชชา ๓ ( พระเวททั้งสาม ) โดยอธิบายวิชชา ๓ ในพระพุทธศาสนา คือ ปุพเพนิวาสานุสสตญาณ ( ละรึกชาติได้ ) จุตูปาตญาณ ( เห็นความตายความเกิดหรือมีทิพยจักษุ ) และอาสวักขยญาณ ( ญาณอันทำให้สิ้น).
ทรงแสดงธรรมแก่ชาณุสโสณิพราหมณ์ โดยอธิบายเรื่องวิชชา ๓ ในพระพุทธศาสนาดั่งกล่าวข้างต้น ต่างจากพระเวททั้งสามของพราหมณ์.
ทรงแสดงธรรมแก่สังคารวพราหมณ์ เรื่องการบูชายัญ และปาฏิหาริย์ ๓ คือ อิทธิปาฏิหาริย์ ( แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ ), อาเทสนาปาฏิหาริย์ ( ดักใจทายใจ ได้เป็นอัศจรรย์ ) และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ( สั่งสอนเป็นอัศจรรย์ ) เมื่อตรัสอธิบายและตรัสถามให้พราหมณ์ตอบพราหมณ์ก็ตอบแสดงความพอใจในอนุสาสนีปฏิหาริย์ ( สั่งสอนเป็นอัศจรรย์ ) ว่าดีงามกว่า ประณีตกว่า.
๒. ทรงแสดงติตถายตนะ ( ลัทธิศาสนา , ลัทธิเดียรถีย์ ) ๓ คือ ถือว่าสุข ทุกข์ มิใช่ทุกข์ มิใช่สุข ที่บุคคลเสวยทั้งปวง เกิดขึ้น ๑. เพราะเหตุที่ทำไว้ในกาลก่อน ๒. เพราะพระผู้เป็นเจ้าบันดาล ( อิสสรนิมมานเหตุ ) ๓. เพราะไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย. ทรงค้านลัทธิศาสนาทั้งสามนั้นว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ที่บุคคลประพฤติทุจจริตกาย วาจา ใจ ก็คงจะเนื่องมาจากเหตุสามประการนี้. แล้วทรงแจกธาตุ ๖ อายตนะ ๖ มโนปวิจาร ๑๘ ( ความท่องเที่ยวไปแห่งใจในอารมณ์ ๖ มีรูป เสียง เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส, โทมนัส , อุเบกขา จึงเป็น ๑๘ คืออารมณ์ ๖ ? เวทนา ๓ = ๑๘ ) อริยสัจจ์ ๔ ( มีข้อน่าสังเกตในการอธิบายอริยสัจจ์ ๔ ทรงอธิบายอริยสัจจ์ข้อที่ ๑ กับที่ ๔ คือ ทุกข์ กับ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ตามแนวทั่วไป ๆ ไป แต่อริยสัจจ์ข้อที่ ๒ กับที่ ๓ คือ ทุกขสมัย ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทสายเกิดตลอดสาย ว่าเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ส่วนทุกขนิโรธ ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทสายดับตลอดสาย ว่าเป็นความดับทุกข์ ).
ทรงแสดงอมาตาปุตติกภัย คือภัยที่แม่ลูกพลัดกัน ตามความเข้าใจของบุถุชน ( คนที่ยังหนาไปด้วยกิเลส ) ว่าได้แก่ไฟไหม้, น้ำท้วม, โจรปล้นและทรงชี้ว่า บางครั้งแม่ลูกก็พบกันได้ ส่วนภัยที่แม่ลูกพลัดกัน คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งแม่หรือลูกจะปราถนาให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายไม่ได้ แล้วทรงแสดงมรรคมีองค์ ๘ ว่าเป็นข้อปฏิบัติเพื่อละ เพื่อก้าวล่วงภัยทั้งสามนี้.
ตรัสตอบคำถามของพราหมณ์คฤหบดี ชาวบ้านพราหมณ์ ชื่อ เวนาคปุระ ผู้เห็นอินทรีย์และพระฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์ผ่องใส จึงกราบทูลถามว่า ทรงใช้ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ มีอาสันทิ บัลลังก์ เป็นเต้น ได้ตามต้องการใช่หรือไม่ ทรงชี้แจงว่า ที่นั่งหรือที่นอนสูงใหญ่ แบบนั้นไม่ควรแก่สมณะ แต่มีอยู่ ๓ อย่างที่ทรงได้ตามต้องการ คือที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ ที่เป็นทิพย์ อันได้แก่การเข้าฌาน ๔ , ที่เป็นพรหม อันได้แก่การเจริญพรหมวิหาร ๔ มีเมตตา เป็นต้น, ที่เป็นอริยะ อันได้แก่การละ ราคะ โทสะ โมหะ.
ตรัสปรารภสรภปริพพาชก ผู้เข้ามาบวชแล้วหลีกไปจากพระธรรมวินัย เที่ยวอวดอ้างว่าตนรู้ทั่วถึงธรรมของสมณศากยบุตรแล้ว เมื่อรู้ทั่วแล้ว จึงหลีกไปจากพระธรรมวินัยนั้น. พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จไปยังอารามของปริพพาชก ถามให้สรภปริพพาชกตอบในที่ประชุมปริพพาชกว่า รู้ทั่วถึงธรรมของสมณศากยบุตรอย่างไร ถ้าบกพร่องก็จะช่วยเติมให้ ตรัสถามถึง ๓ ครั้ง สรภปริพพาชกก็ไม่ตอบ นั่งนิ่งเก้อเขิล ก้มหน้า จึงตรัสว่า ผู้ที่พูดโอ้อวดเช่นนี้ เมื่อตรัสสอบถามเข้า ก็มีทางไปอยู่ ๓ ทาง คือ ๑. พูดเลี่ยงไปเลี่ยงมา ๒. แสดงอาการโกรธเคือง ๓. นั่งนิ่งเก้อเขิล ก้มหน้า.
ตรัสแสดงธรรมแก่ชาวนิคมเกสปุตตะแคว้นกาลามะ ผู้ทูลถามถึงสมณพราหมณ์ต่าง ๆ ที่ยกย่องวาทะของตนข่มผู้อื่น ตรัสสอนมิให้เชื่อ ๑. โดยฟังตามกันมา ๒. โดยนำสืบกันมา ๓. โดยตื่นข่าวลือ ๔. โดยอ้างตำรา ๕. โดยนึกเดาเอา ๖. โดยคาดคะเน ๗. โดยตรึกตามอาการ ๘. โดยพอใจว่าชอบแก่ความเห็นของตน ๙. โดยเห็นว่าพอเชื่อได้ ๑๐. โดยเห็นว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา แต่ให้สอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเอง.
แล้วตรัสถามให้เห็นจริงในโทษของความโลภ ความคิดประทูษร้าย ความหลง และคุณของความไม่โลภ ไม่คิดประทุษร้าย ไม่หลง ตรัสเรื่องการเจริญพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา ( ไมตรีจิตคิดจะให้เป็นสุข ) กรุณา ( สงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์) มุทิตา ( ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ไม่ริษยา ) อุเบกขา ( วางใจเป็นกลาง ) แล้วแสดงว่า ผู้มีจิตไม่ผูกเวร ไม่พยาบาท ไม่เศร้าหมอง มีจิตบริสุทธิ์ ย่อมวางใจ ( หรือเบาใจสบายใจได้ ) ๔ อย่าง คือ ๑. ถ้าผลของความดีความชั่วมี ตนก็จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ( เพราะตนทำความดี ) ๒. ถ้าผลของความดีความชั่วไม่มี ก็รักษาตัวให้มีความสุขได้ในปัจจุบัน ๓. ถ้าทำบาปเป็นอันทำตนไม่ทำบาปก็คงจะไม่ประสบทุกข์ ๔. ถ้าทำบาปไม่เป็นอันทำ ก็เห็นตัวเองว่าบริสุทธิ์ทั้งสองทาง ( คือไม่ว่าจะทางทำบาปเป็นอันทำ หรือทำบาปแล้วไม่เป็นอันทำ ตนก็ไม่มีข้อเสียหายทางไหนเลย ) ชาวกาลามะกราบทูลเห็นด้วยกับความวางใจหรือความอุ่นใจ ๔ ประการเกี่ยวกับโลกหน้าของผู้มีจิตอันไม่ผูกเวร เป็นต้น คือ ๑. ถ้าโลกหน้ามี ถ้าผลแห่งกรรมดีกรามชั่วมี ก็มีฐานะอยู่ที่เราจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๒. ถ้าโลกหน้าไม่มี ถ้าผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี เราก็บริหารตนให้ไม่มีเวรอยู่เป็นสุขได้ในปัจจุบัน ๓. ถ้าทำบาปเป็นอันทำ เราไม่ได้ทำบาปก็คงจะไม่ได้รับทุกข์ ๔. ถ้าทำบาปไม่เป็นอันทำ เราก็มองเห็นตัวเองบริสุทธิ์ทั้งสองทาง.
พระนันทกะแสดงธรรมสอน สาฬหะ หลานมิคารเศรษฐี และโรหนะ หลานเปขุณิยเศรษฐี ( อรรถกถาว่า เขณิยเศรษฐี ) มิให้เชื่อตามที่ฟังตามกันมา เป็นต้น คล้ายคลึงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนชาวกาลามะ ต่างแต่แสดงโลภะ คู่กับ อภิชฌา โทสะ คู่กับพยาบาท โมหะ คู่กับอวิชชา ( ว่าเป็นพวกเดียวกันในคู่นั้น ๆ ) แล้วแสดงถึงข้อปฏิบัติพรหมวิหาร ๔ มีเมตตา เป็นต้น จนจิตหลุดพ้นจากอาสวะ นิพพานได้ในปัจจุบัน.
พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงเรื่องกถาวัตถุ ( เรื่องของคำพูด ) ๓ อย่าง คือถ้อยคำที่ปรารภอดีต , อนาคต, และปัจจุบัน และเรื่องบุคคลผู้ควรพูดด้วย ไม่ควรพูดด้วย พึงทราบด้วยการเผชิญถ้อยคำ คือปัญหาที่ควรตอบแง่เดียว , ควรตอบแยกตามเหตุผล ( หลายแง่ ), ควรย้อนถาม หรือความระงับไว้ไม่ตอบ ถ้าบุคคลไม่ตอบตามที่ควร ก็ไม่ควรพูดด้วย ถ้าตอบตามที่ควร ก็ควรพูดด้วย นอกจากนั้นยังทรงแสดงผู้ควรพูดด้วย ไม่ควรพูดด้วย ที่มีลักษณะอื่น ๆ อีก.
ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า ถ้านักบวชลัทธิอื่นถามว่า ราคะ โทสะ โมหะ ต่างกันอย่างไร พึงตอบว่า ราคะมีโทษน้อย แต่คลายช้า , โทสะมีโทษมาก แต่คลายเร็ว, โมหะมีโทษมาก และคลายช้า. สุภนิมิต ( เครื่องหมายที่สวยงาม ) ทำราคะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วให้เจริญยิ่งขึ้น. ปฏิฆนิมิต ( เครื่องหมายที่ทำให้ขัดใจ ) ทำโทสะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วให้เจริญยิ่งขึ้น. อโยนิโส มนสิการ ( การไม่ทำไว้ในใจคือไม่พิจารณาโดยแยบคาย ) ทำโมหะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วให้เจริญยิ่งขึ้น.
ทรงแสดงโลภะ โทสะ โมหะ ว่าเป็นอกุศลมูล ( มูลรากแห่งอกุศล ) อโลภะ อโทสะ อโมหะ ว่าเป็นกุศลมูล ( มูลรากแห่งกุศล )
ทรงแสดงธรรมแก่นางวิสาขา เรื่องอุโบสถ ๓ อย่าง คือ โคปาลอุโปสถ ( อุปโบสถ หรือการรักษาศีล หรือจำศีลแบบคนเลี้ยงโค ) ได้แก่การรักษาอุโบสถด้วยความโลภ คิดแต่จะกินสิ่งนั้นสิ่งนี้ เหมือนคนเลี้ยงโค คิดแต่เรื่องการหากินของโค นิคคัณฐอุโบสถ ( อุโบสถของนักบวชพวกนิครนถ์ ) ได้แก่อุโบสถแบบนิครนถ์ คือเว้นชักชวนให้จากการฆ่าสัตว์เจาะจงอุทิศ เจาะจงบางประเภท ไม่นุ่งผ้าด้วยคิดว่าหมดกิเลส ชักชวนให้พูดปดในสมัยที่ควรชักจูงให้พูดจริง บริโภคของที่ไม่มีผู้อื่นให้ ( ไม่ได้ประเคน ) ในเวลารุ่งเช้า อุโบสถทั้งสองแบบนี้ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก. ส่วนอุโบสถประเภทที่ ๓ คือ อริยอุโบสถ ( อุโบสถแบบพระอริยเจ้า ) ได้แก่เพียรชำระจิตที่เศร้าหมองด้วยความพยายาม และระลึกถึง ( คุณของ ) พระพุทธเจ้า , ระลึกถึง ( คุณของ ) พระธรรม , ระลึกถึง ( คุณของ ) พระสงฆ์ , ระลึกถึงศีลของตน , ระลึกคุณที่ทำให้เป็นเทวดา และพิจารณาองค์อุโบสถทีละข้อ ซึ่งตนตั้งใจรักษาคืนหนึ่งกับวันหนึ่งเทียบกับพระอรหันต์. แล้วตรัสแสดงอานิสงส์ของอริยอุโบสถว่า มากยิ่งกว่าการครองราชย์ในชนบททั้งสิบหก.
๓. พระอานนท์โต้ตอบกับฉัทปริพพาชก อธิบายการละราคะ โทสะ โมหะ พร้อมทั้งข้อปฏิบัติเพื่อละให้ฟัง ปริพพาชกกล่าวชมเชย.
พระอานนท์โต้ตอบกับคฤหบดีคนหนึ่ง ผู้เป็นสาวกของชีวกผู้ถามว่า ใครกล่าวธรรมไว้ดีแล้ว ใครปฏิบัติในโลก ใครเป็นพระสุคต ( ผู้ไปดี ) ในโลก. พระอานนท์ถามว่าผู้ใดแสดงธรรมเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ผู้นั้นจะเชื่อว่ากล่าวธรรมไว้ดีแล้วหรือไม่ ตอบว่า กล่าวธรรมไว้ดีแล้ว. ถามว่า ผู้ใดปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ผู้นั้นชื่อว่าปฏิบัติในโลกหรือไม่ ตอบว่า ใช่ ถามว่าผู้ใดละราคะ โทสะ โมหะ ได้เด็ดขาด ผู้นั้นชื่อว่าเป็นพระสุคตในโลกหรือไม่ ตอบว่า เป็น. พระอานนท์จึงตอบสรุปว่า เป็นอันท่านตอบปัญหาของท่านด้วยตนเองแล้ว. คฤหบดีสาวกของอาชีวกก็ชมเชยว่า แสดงธรรมไม่ยกตนไม่ข่มผู้อื่น จึงแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต.
พระผู้มีพระภาค ทรงหายประชวรจากไข้ไม่นานนัก มหานามศากยะ ( พี่พระอนุรุทธเถระ มีศักดิ์เป็นน้องพระผู้มีพระภาค ) เข้าไปเฝ้ากราบทูลถามปัญหาเรื่องสมาธิกับญาณ อย่างไหนจะเกิดก่อน. พระอานนท์เกรงจะเป็นการรบกวนพระผู้มีพระภาค จึงจับแขนชวนมหานามศากยะไปสนทนากันที่อื่น แล้วกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงศีล สมาธิ ปัญญา ไว้อย่างที่เป็นเสขะ ( ของผู้ยังศึกษา ) ทั้งที่เป็นอเสขะ ( ของผู้ไม่ต้องศึกษา คือที่เป็นพระอรหันต์ ) พร้อมทั้งแสดงรายการเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นเสขะ.
พระอานนท์แสดงธรรมแก่เจ้าลิจฉวี ๒ องค์ คือ อภัยกับปัณฑิตกุมารกะ ผู้เล่าถึงเรื่องนิครนถนาฏบุตร ผู้ปฏิญญาถึงญาณทัสสนะของตนเองว่ารู้รอบไม่มีส่วนเหลือไม่ว่าจะเดิน, ยืน, หลับ, ตื่น ญาณทัสสนะจะปรากฏติดต่อสมบูรณ์ตลอดเวลา. นิครนถนาฏบุตรนั้นบัญญัติความสิ้นสุดแห่งกรรมเก่าด้วยตบะ ( ความเพียร ทรมานตน ), การชักสะพาน ( งดเว้น เลิกทำ ) กรรมใหม่ด้วยการไม่ทำ, เพราะสิ้นกรรม ก็สิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ จึงสิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ความทุกข์ทั้งปวงจึงหมดสิ้นไป ความก้าวล่วงทุกข์ ย่อมมีได้ด้วยความบริสุทธิ์อันไม่เสื่อมโทรม เห็นได้ด้วยตนเองดังนี้ ในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร. พระอานนท์ตอบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนิชชราวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์อันไม่ชรา ไม่เสื่อมโทรม ) ๓ ประการ เพื่อดับทุกข์ เพื่อทำให้แจ้งด้วยนิพพาน คือภิกษุตั้งอยู่ในศีล ( ปาฏิโมกข์ ), เจริญฌาน ๔ ( สมบูรณ์ด้วยสมาธิ ), ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน. สองมาณพก็ชื่นชมภาษิตของพระเถระ.
พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงธรรมแก่พระอานนท์ว่า ท่านทั้งหลายจงอนุเคราะห์ญาติมิตรสายโลหิตให้ตั้งอยู่ในความเชื่ออันไม่หวั่นไหวในพระรันตตรัย.
พระผู้มีพระภาคทรงตอบคำถามของพระอานนท์ ผู้กราบทูลถามเรื่องเหตุที่ให้มีภพ ( คือความมีความเป็น ) โดยทรงชี้ว่า กรรมเป็นนา, วิญญาณเป็นพืช, ตัญหาเป็นยางเหนียว ( ในพืช ). ตรัสชมเชยพระอานนท์ว่า เป็นพระเสขะ ยากที่จะมีผู้เสมอในทางปัญญา เมื่อตรัสเรื่องศีล, พรต, พรหมจรรย์ เป็นต้นว่า มีแก่นสาร มีผลทุกอย่างหรือ พระอานนท์ตอบแบ่งว่า อย่างไหนเมื่อเสพเข้าอกุศลธรรมเจริญ อย่างนั้นก็มีแก่นสาร มีผล. ตรัสตอบคำถามของพระอานนท์เรื่องกลิ่นที่ไปได้ทั้งตามลมและทวนลม โดยทรงชี้ไปที่กลิ่นศีล.
ตรัสแสดงธรรมแก่พระอานนท์ เรื่องโลกธาตุขนาดเล็ก จำนวนพัน, ขนาดกลางจำนวน ๒ พัน ขนาดใหญ่ จำนวน ๓ พัน มีพระจันทร์ พระอาทิตย์ จำนวนพัน ๆ ๑ .
๔. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงกรณียกิจของสมณะ คือการสมาทานอธิศีล, อธิจิต, และอธิปัญญา. อรรถกถา อธิบายว่า อธิศีล อธิจิต อธิปัญญาไว้น่าฟังมาก คือกล่าวว่า เรื่องนี้ก็คือ เรื่องของศีล การรักษา กายวาจาให้เรียบร้อย จิตที่ประกอบด้วยคุณธรรมคือสมาธิ และปัญญาความรอบรู้นั้นเอง ถ้าจะรู้ว่าเป็น “ อธิ ” คือ “ ยิ่ง ” ก็ให้ตั้งเกณฑ์ศีล , จิต หรือปัญญาธรรมดา แล้วเทียบกับศีล จิต ปัญญา ที่สูงกว่า อันที่สูงกว่า ก็เป็นอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เช่นเมื่อเทียบกับศีล ๕ ศีล ๑๐, ก็เป็นอธิศีล, เมื่อเทียบกับศีล ๑๐ , ปาริสุทธิศีล ก็เป็นอธิศีล, เมื่อเทียบกับโลกิยศีล , โลกุตตรศีล ก็เป็นอธิศีล; เมื่อเทียบกับกามาวจรจิต, รูปาวจรจิตก็เป็นอธิจิต, เมื่อเทียบกับรูปาวจรจิต, อรูปาวจรจิตก็เป็นอธิจิต ดังนี้เป็นต้น ).
ตรัสแสดงธรรมเรื่องลาเดินตามหลังโค ร้องว่า ฉันเป็นโค ฉันเป็นโค แต่สีกาย เสียง และรอยเท้าก็ไม่เหมือนของโคฉันใด ภิกษุบางรูปที่เดินตามหลังภิกษุสงฆ์ กล่าวว่า ฉันเป็นภิกษุ ฉันเป็นภิกษุ แต่ความพอใจในการสมาทาน อธิศีล, อธิจิต , อธิปัญญา ของภิกษุนั้น ย่อมไม่เหมือนของภิกษุเหล่าอื่น จึงได้แต่ตามหลังเท่านั้น.
ตรัสแสดงเรื่องกิจที่ควรทำก่อนของผู้ครองเรือนที่เป็นชาวนา ๓ อย่าง คือ ๑. ไถพื้นให้ดี ๒.ปลูกพืชโดยกาลอันสมควร ๓. นำน้ำมา ( ไขน้ำเข้านา ) โดยสมัยอันสมควร ทรงเปรียบเทียบด้วยกิจที่ควรทำก่อนของภิกษุ ๓ อย่าง คือ การสมาทานอธิศีล, อธิศีล, อธิปัญญา.
ตรัสสอนภิกษุวัชชีบุตร ผู้ปรารภว่าสิกขาบท ๑๕๐ ( เท่าที่บัญญัติไว้ในครั้งนั้น แต่ต่อมายังทรงบัญยัติไว้มากกว่านั้น ) ซึ่งมาสู่อุทเทสทุกกึ่งเดือน ( คือที่สวดปาฏิโมกข์ทบทวนกันทุกกึ่งเดือน ) มากไป ไม่สามารถจะรักษาได้. พระองค์ตรัสถามว่า เธอจะสามารถศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาวิกขาได้หรือไม่. เมื่อกราบทูลตอบว่า รักษาได้ จึงตรัสว่า เมื่อเธอศึกษา อธิศีล เป็นต้นแล้ว ก็จะละราคะ โทสะได้ ไม่ทำ ไม่เสพอกุศล.
ตรัสตอบคำถามของภิกษุรูปหนึ่ง เรื่องพระเสขะ ว่าได้แก่ผู้ศึกษาอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา .
ตรัสแสดงว่า พระโสดาบัน เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำพอประมาณในสมาธิ ทำพอประมาณในปัญญา แต่ก็อาจต้องอาบัติเล็กน้อยได้ มี ๓ ประเภท คือ เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๒ . ๓ จึงจะท่องเที่ยวไปในเทพและมนุษย์อย่างมากเพียง ๗ ครั้งก็ทำที่สุดทุกข์ได้, ท่องเที่ยวไปสู่ ๒ - ๓ สกุล ( ๒ - ๓ ชาติ ) ก็ทำที่สุดทุกข์ได้, เกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งเดียวก็ทำที่สุดทุกข์ได้. ทรงแสดงพระ สกทคามี พิเศษออกไปว่า เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ และเพราะมีราคะ โทสะ โมหะน้อยลง ( กว่าพระโสดาบัน ) จึงจะมาสู่โลกนี้ เพียงครั้งเดียวแล้วทำที่สุดทุกข์ได้. ทรงแสดง พระอนาคามี ว่าทำให้บริบูรณ์ในศีล , ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ, ทำพอประมาณในปัญญา เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๕ ) เพิ่มการละกามราคะ ความกำหนัดในกาม และปฏิฆะ ความขัดใจ รวมเป็นข้อที่ ๔ และที่ ๕ จึงเป็นพระอนาคามีประเภทใดประเภทหนึ่งใน ๕ ประเภท คือ ๑. อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี ( ผู้มีกระแสในเบื้องบน ไปสู่อกนิฏฐภพ ) ๒. สสังขารปรินิพพานยี ( ดับกิเลสในภพที่เกิด ต้องใช้ความพยายาม ) ๓. อสังขารปรินิพพานยี ( ดับกิเลสในภพที่เกิดโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม ) ๔. อุปหัจจปรินิพพานยี ( มีอายุเกินกึ่ง จึงดับกิเลส คำว่า ดับกิเลส หมายถึงบรรลุอรหัตตผล เพ่งถึงกิเลสปรินิพพาน อนึ่ง คำอธิบายของอรรถกถาอังคุตตรนิกาย ตรังนี้คำบาลีเคลื่อนคลาด อาจทำให้ตีความหมายผิด ) ๕. อัตราปรินิพพายี ( มีอายุไม่ถึงกึ่งดับกิเลสได้ ). แล้วตรัสแสดงถึงท่านผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ( พระอรหันต์ ) ว่าเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล , สมาธิ, และปัญญา. ตรัสอธิบาย การมีศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ว่าเป็นอธิศีลสิกขา, การเจริญฌาน ๔ ว่าเป็นอธิจิตตสิกขา , การรู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริงว่าเป็นอธิปัญญาสิกขา. อีกนัยหนึ่งทรงแสดง การทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ว่าเป็นอธิปัญญาสิกขา.
ตรัสสอนภิกษุกัสสปโคตร ผู้อยู่ในนิคมปังกธา ถึงภิกษุที่พระองค์ตรัสสรรเสริญและไม่ตรัสสรรเสริญ แม้เป็นภิกษุหนุ่มถ้าใคร่การศึกษา สรรเสริญการศึกษา ชักชวนเพื่อการศึกษา เป็นต้น ก็ตรัสสรรเสริญ.
๕. ตรัสถึงกิจรีบด่วน ของผู้ครองเรือนที่เป็นชาวนา ๓ ประการ คือการไถ , การปลูกพืช, และการไขน้ำเข้านาเทียบด้วยสิกขา
๓. ตรัสแสดงการบัญญัติปวิเวก ( ความสงัด ) ๓ ประการของนักบวชลัทธิอื่น คือ จีวรวิเวก ( ความสงัดจากกิเลสที่เกิดขึ้น เพราะผ้านุ่งห่ม ) ปิณฑปาตวิเวก ( ความสงัดจากกิเลสที่เกิดขึ้นเพราะอาหาร ) เสนาสนปวิเวก ( ความสงัดจากกิเลสที่เกิดขึ้น เพราะที่อยู่อาศัย ) โดยกำหนดการใช้ผ้านุ่งห่มการบริโภคอาหาร ที่อยู่อาศัยอย่างนั้นอย่างนี้. ส่วนปวิเวกในพระธรรมวินัยมี ๓ อย่าง คือ ๑. มีศีล ละความทุศีลได้ สงัดจากกิเลสเพราะเหตุนั้น ๒. มีความเห็นถูก ละความเห็นผิดได้ สงัดจากกิเลสเพราะเหตุนั้น ๓. สิ้นอาสวะ ละอาสวะได้ สงัดจากกิเลสเพราะเหตุนั้น.
ทรงแสดงการที่ภิกษุละสัญโญชน์ ๓ ได้ ต่อมา ๓ นำตนออกจากอภิชฌา ( ความโลภ ) พยาบาท ( ความคิดปองร้าย ) ได้, เจริญฌานที่ ๑ ได้ ถ้าสิ้นชีวิตในสมัยนั้นก็จะไม่มาสู่โลกนี้ ( เป็นพระอนาคามี ).
ทรงแสดงบริษัท ๓ ประเภท คือ ที่เลิศ, ที่เป็นพรรค เป็นพวก , ที่สามัคคีกัน.
ทรงแสดงม้าอาชาไนย ที่ควรแก่พระราชา คือสมบูรณ์ด้วยผิวพรรณ, กำลัง , และฝีเท้า เทียบด้วยภิกษุมีศีล, มีความเพียร, มีปัญญารู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง.
อีกนัยหนึ่งเทียบด้วยภิกษุ มีศีล, มีความเพียร, ละสัญโญชน์ ๕ ได้ ( เป็นพระอนาคามี ) .
อีกนัยหนึ่งเทียบด้วยภิกษุ มีศีล, มีความเพียร, ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ.
ทรงแสดงว่าผ้าเปลือกไม้ แม้จะใหม่, ปานกลาง , หรือเก่า ก็มีสีทราม มีสัมผัสหยาบ มีราคาถูก ถ้าเป็นผ้าเก่า เขาก็ใช้เป็นผ้าเช็ดหม้อ หรือทิ้งที่กองขยะเปรียบเหมือนภิกษุผู้ทุศีล ไม่ว่าจะเป็นภิกษุใหม่ ปานกลาง, หรือผู้เฒ่า การที่ทุศีลเทียบด้วยมีสีทราม, ทำคนที่คบหาให้ขาดประโยชน์มีทุกข์ เทียบด้วยมีสัมผัสหยาบ, การรับปัจจัย ๔ ซึ่งไม่มีผลมากแก่ผู้ถวาย เทียบด้วยมีราคาถูก. ส่วนผ้ากาสีตรงกันข้าม มีสีดี มีสัมผัสนุ่มนวล มีราคาแพง แม้เก่าแล้วเขาก็ใช้ห่อรันตะ หรือใส่ไว้ในกรักของหอม. แล้วทรงเทียบด้วยภิกษุผู้มีศีล ในทางตรงกันข้ามกับภิกษุผู้ทุศีล. ในที่สุดตรัสสอนให้เป็นอย่างผ้ากาสี อย่าเป็นอย่างผ้าเปลือกไม้
ตรัสสอนว่าบุคคลทำกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเดียวกัน ๔ แต่กรรมส่งผลให้บางคนไปสู่นรก บางคนได้รับผลในปัจจุบันเพียงเล็กน้อยไม่มาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่แกการที่บุคคลอบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาหรือไม่ เปรียบเหมือนเอาเมล็ดเกลือใส่ลงในจอกน้ำเล็ก ๆ น้ำในจอกนั้นก็เค็มได้ แต่ถ้าใส่ลงไปในแม่น้ำคงคาก็ไม่เค็ม เพราะเป็นห่วงน้ำใหญ่ .
ทรงแสดงอุปกิเลส ( เครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ( ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๒ หน้า ๓ ) ของภิกษุผู้บำเพ็ญสมาธิ ว่ามี ๓ ชั้น คืออย่างหยาบ ได้แก่ทุจจริตกาย วาจา ใจ, อย่างกลางได้แก่ความตรึก ( วิตก ) ในกาม ในการคิดปองร้าย ในการเบียดเบียน , อย่างละเอียด ได้แก่ความตรึกถึงชาติ ความตรึกถึงชนบท และความตรึกที่ไม่ต้องการให้ใครดูหมิ่น เปรียบเหมือนเครื่องเศร้าหมองของเงินทองมีทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด แล้วทรงแสดงถึงการที่จิตเป็นสมาธิ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง เป็นเหตุให้บรรลุอภิญญา ๖ คือ ๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ ๒. ทิพพโสต หูทิพย์ ๓. เตโตปริยญาณ กำหนดรู้ใจผู้อื่น ๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้ ๕. จุตูปปาตญาณ มีทิพยจักษุ เห็นความตายความเกิดของสัตว์ทั้งหลาย และ ๖. อาสวักขยญาณ บรรลุเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ.
ทรงแสดงว่าภิกษุผู้บำเพ็ญสมาธิ พึงใส่ใจนิมิต ( เครื่องหมายในจิตใจ ) ๓ อย่าง โดยกาลอันสมควร ได้แก่สมาธินิมิต (เครื่องหมายคือสมาธิหรือความมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ) ปัคคาหนิมิต ( เครื่องหมายคือความเพียร ) อุเบกขานิมิต ( เครื่องหมายคือความวางเฉย ). ถ้าใส่ใจแต่สมาธินิมิตอย่างเดียว จิตก็จะน้อมไปเพื่อความเกียจคร้านได้, ถ้าใส่ใจแต่ปัคคาหนิมิตอย่างเดียว จิตก็น้อมไปเพื่อความฟุ้งสร้านได้. ถ้าใส่ใจแต่อุเบกขานิมิตอย่างเดียว จิตก็ไม่พึงตั้งมั่นโดยชอบ เพื่อสิ้นอาสวะได้ . ต่อเมื่อใส่ใจนิมิตทั้งสามโดยกาลอันสมควร จิตจึงอ่อน ควรแก่การงาน ผ่องใสตั้งมั่นโดยชอบเพื่อสิ้นอาสวะ เปรียบเหมือนช่างทองที่หลอมทองเงิน ย่อมสูบ ( เป่าลม ) โดยกาลอันสมควร, พรมน้ำโดยกาลอันสมควร, วางเฉยโดยกาลอันสมควร.
________________________________________
๑. ข้อนี้นักดาราศาสตร์คงจะพอใจที่พบว่า หลักฐานเมื่อ ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงชี้แจงว่ายังมีโลกอื่นมีพระจันทร์ พระอาทิตย์อื่นอีกมาก
๒. สัญโญชน์ ๓ คือสักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน วิจิกิจฉา ความสงสัยในพระรัตนตรัย และสีลัพพตปรามาส การลูบคลำศีลและพรต คือถือโชคลาง หรือติดในลัทธิพิธี
๓. สำนวนตรงนี้ก็คือ ละกามราคะ กับปฏิฆะ อันเป็นสัญโญชน์อีก ๒ ข้อ ได้ แต่ใช้คำอื่นแทน
๔. พระพุทธภาษิตนี้ แสดงว่าคนทำกรรมเหมือนกัน แต่ได้รับผลไม่เหมือนกัน เพราะพื้นฐานภายในของบางคนเปรียบเหมือนจอกใส่น้ำเล็ก ๆ เอาเกลือใส่ลงไปก็เค็มได้ แต่ของบางคนเหมือนแม่น้ำ เกลือที่ใส่ลงไปทำให้เค็มไม่ได้ นับว่าน่าพิจารณามาก
๕๐. ตติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๓
( ในหมวด ๕๐ ที่ ๓ นี้ คงแบ่งออกเป็น ๕ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตร เช่นเดียวกับหมวด ๕๐ ที่แล้ว ๆ มา. วรรคที่ ๑ ชื่อสัมโพธิวรรค ว่าด้วยการตรัสรู้ , วรรคที่ ๒ ชื่ออาปายิกวรรค ว่าด้วยผู้ที่เกิดในอบาย, วรรคที่ ๓ ชื่อกุสินารวรรค ว่าด้วยมงคล . หมายเลขหน้าข้อความพึงทราบว่าหมายถึงลำดับวรรคด้วยเช่นเคย ).
๑. ตรัสว่า เมื่อก่อนตรัสรู้ขณะที่พระองค์ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงคิดว่าอะไรหนอเป็นความพอใจเป็นโทษ เป็นความพ้นไปในโลก แล้วทรงคิดว่า ความสุขกายสุขใจที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยโลก ชื่อว่าความพอใจในโลก, ข้อที่โลกไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ชื่อว่าโทษในโลก, การนำออก การละความกำหนัด เพราะความพอใจในโลกเสียได้ ชื่อว่าความพ้นไปในโลก แล้วตรัสว่า ตราบใดที่ยังไม่ทรงรู้เรื่องทั้งสามนี้ตามเป็นจริง ก็ไม่ทรงปฏิญญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมพุทธโพธิญาณ.
ตรัสแสดงยักย้ายนัย เรื่องทัสสาทะ ( ความพอใจ ) อาทีนวะ ( โทษ ) และนิสสรณะ ( ความพ้นไป ) ในโลกและของโลกอีก ๒ นัย. ทรงแสดงว่า การร้องเพลงเป็นการร้องไห้ในอริยวินัย , การฟ้อนรำเป็นการกระทำของคนบ้าในอริยวินัย, การหัวเราะจนเห็นไรฟันเกินขอบเขต เป็นการกระทำของเด็กในอริยวินัย ( ในที่นี้มุ่งถึงการที่ภิกษุทำการเช่นนั้นเพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อชาวโลก หรือคฤหถ์ทั่ว ๆ ไปผู้จะหัวเราะ ร้องเพลง หรือฟ้อนรำ ) ครั้นตรัสสอนให้ชักสะพาน ( เลิกเด็ดขาด ) ในการร้องเพลงและฟ้อนรำ เมื่อมีความบันเทิงในธรรมก็ควรทำแต่เพียงยิ้มแย้ม.
ตรัสแสดงว่า ไม่มีความอิ่ม ในการเสพของ ๓ อย่าง คือในการเสพความหลับ ในการเสพสุราเมรัย และในการเสพเมถุน.
ตรัสแสดงธรรมแก่อนาถปิณฑิกคฤหบดี ว่าเมื่อมิได้รักษาจิตแล้ว แม้การกระทำทางกาย, ทางวาจา , ทางใจ ก็เป็นอันไม่ได้รักษา , เมื่อไม่เป็นอันรักษาจึงเหมือนถูกฝนตกรดเป็นของเน่า และมีการตายอันไม่เจริญ ( ไม่ดีงาม ) เปรียบเหมือนเรือนยอดที่มุงไม่ดี ยอดเรือน , กลอนเรือน ( ไม้ที่รับสิ่งมุง ) ข้างฝา , จึงชื่อว่าไม่เป็นอันรักษา ถูกฝนรั่วรด เป็นของผุ . เมื่อรักษาจิตแล้ว พึงทราบโดยนัย ตรงกันข้าม พร้อมทั้งข้ออุปมา.
ตรัสแสดงธรรมแก่อนาถปิณฑิกคฤหบดี ว่าเมื่อจิตผิดปกติ ( พยาปันนะ น่าจะแปลว่าพยาบาท แต่อรรถกถาอธิบายว่า ละปกติภาพ และผู้เขียนเห็นด้วย เพราะแปลว่าผิดปกติได้ทั้งโดยใจความและโดยพยัญชนะ ) แม้กระทำทางกาย , ทางวาจา, ทางวาจา, ทางใจ ก็เป็นอันผิดปกติได้ด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะมีการตายที่ไม่เจริญ แล้วทางอุปมาด้วยเรือนยอดที่มุงไม่ดีดังข้อแรก พร้อมทั้งแสดงในทางตรงกันข้าม.
ทรงแสดงต้นเหตุที่ให้เกิดการกระทำ (กัมมนิทาน ) ๓ ประการ ( ฝ่ายชั่ว) คือความโลภ , ความคิดประทุษร้าย, ความหลง และทรงแสดงต้นเหตุที่ให้เกิดการกระทำ ( ฝ่ายดี ) อีก ๓ ประการ คือความไม่โลภ , ความไม่คิดประทุษร้าย, ความไม่หลง.
ทรงแสดงต้นเหตุที่ให้เกิดการกระทำนัยอื่น อีก ๓ ประการ ( ฝ่ายชั่ว ) คือฉันทะ ความพอใจอันเกิดเพราะปรารภอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ด้วยอำนาจแห่งความพอใจที่เป็นอดีต , อนาคต, ปัจจุบัน พร้อมทั้งทรงแสดงฝ่ายดีที่ตรงกันข้าม.
๒. ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท ที่ถ้าไม่ละการกระทำดังจะกล่าวต่อไปว่า จะไปเกิดในอบาย ในนรก คือ ๑. ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ ๒. โจทฟ้องผู้ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ ด้วยข้อกล่าวหาว่าไม่ประะพฤติพรหมจรรย์ ( เสพกาม ) อันไม่มีมูล ๓ มีวาทะ มีทิฏฐิว่า กามไม่มีโทษ จึงเสพกาม.
ทรงแสดงว่า ความปรากฏแห่งบุคคล ๓ ประเภท หาได้ยากในโลก คือพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า , บุคคลผู้แสดงธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว , และบุคคลที่กตัญญูกตเวที.
ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือผู้ประมาณได้ง่าย ได้แก่ผู้ฟุ้งสร้าน เป็นต้น, ผู้ประมาณยาก ได้แก่ผู้ไม่ฟุ้งสร้าน เป็นต้น ( ตรงกันข้าม ), ผู้ประมาณไม่ได้ ได้แก่พระอรหันต์ขีณาสพ ( ผู้หมดกิเลส )
ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือผู้เกิดในเทพชั้นอากาสานัญจายตนะ มีอายุ ๒ หมื่นปีกัปป์ , ผู้เกิดในเทพชั้นวิญญาณัญจายตนะ มีอายุ ๔ หมื่นกัปป์, ผู้เกิดในเทพชั้นอากิญจัญญายตนะ มีอายุ ๖ หมื่นกัปป์ , บุถุชนเกิดในเทพเหล่านั้นตั้งอยู่ตลอดอายุนั้น ๆ แล้ว ก็ไปสู่นรกบ้าง , กำเนิดดิรัจฉานบ้าง , เปรตวิสัยบ้าง ; ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคตั้งอยู่ตลอดอายุนั้นแล้ว ก็นิพพานในภพนั้น นี่คือความต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับ กับบุถุชนผู้มิได้สดับ. ทรงแสดงวิบัติ ๓ คือความวิบัติแห่งศีล, ความวิบัติปห่งจิต , ความวิบัติแห่งทิฏฐิ ( ความเห็น ), ความวิบัติแห่งศีล ได้แก่การประพฤติกายทุจจริต ๓ วจีทุจจริต ๔, ความวิบัติแห่งจิต ได้แก่การมีความโลภ กับการคิดปองร้าย ส่วนความวิบัติแห่งทิฏฐิ ได้แก่การเห็นผิดจากคลองธรรม ( เช่น เห็นว่า ทานที่ให้ไม่มี ผลบุญญบาปไม่มี เป็นต้น ) แล้วทรงแสดงสัมปทา ( สมบัติตรงกันข้ามกับวิบัติ ) อีก ๓ อย่าง คือ ศีลสัมปทา, จิตตสัมปทา , ทิฏฐสัมปทา
ทรงแสดงวิบัติ ๓ และสัมปทา ๓ ตามชื่อเดิมตามคำอธิบายเดิม แต่เพิ่มว่า วิบัติเป็นเหตุให้ไปสู่อบาย ทุคคติ วินิบาต นรก สัมปทาเป็นเหตุให้ไปสู่สุคคติโลกสวรรค์.
ทรงแสดงวิบัติ ๓ อีกนัยหนึ่ง คือ ๑. กัมมันตวิบัติ ( ความวิบัติแห่งการงาน ) ได้แก่กายทุจจริต วจีทุจจริต ๒. อาชีววิบัติ ( ความวิบัติแห่งอาชีพ ) ได้แก่เลี้ยงชีพในทางที่ผิด, ทิฏฐิวิบัติ ( ความวิบัติแห่งความเห็น ) ได้แก่เห็นผิดจากคลองธรรมดังกล่าวแล้ว. แล้วทรงแสดงสัมปทาหรือสมบัติ ๓ ในทางตรงกันข้าม.
ทรงแสดงความสะอาด ( โสเจยยะ ) ๓ ประการ คือความสอาดกาย ได้แก่กายสุจริต , สะอาดวาจา ได้แก่วจีสุจจริต , สะอาดใจ ได้แก่มโนสุจริต
แล้วทรงแสดงความสะอาด ๓ ตามชื่อเดิม แต่อธิบายในทางที่สูงกว่าเดิม คือสะอาดกายที่ได้แก่กายสุจริตนั้น แต่เฉพาะข้อ ๓ ของกายสุจริต เป็นการเว้นจากประพฤติผิดพรหมจรรย์ ( เสพเมถุน ) สวยสะอาดใจ ได้แก่รู้ว่านีวรณ์ ๕ ( กิเลสอันกั้นจิตมิให้บรรลุความดี มีกามฉันท์ เป็นต้น ) มีอยู่ในภายในหรือไม่มี , รู้ว่าละนีวรณ์ ๕ ที่เกิดขึ้นแล้ว และจะไม่เกิดอีกต่อไป .
ทรงแสดงความเป็นมุนี ๓ อย่าง ( อรรถกถาแก้ว่า ความเป็นมุนี คือความเป็นคนดีหรือเป็นบัณฑิต ) คือความเป็นมุนีทางกาย ได้แก่เว้นจากฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และประพฤติผิดพรหมจรรย์ ; ความเป็นมุนีทางวาจา ได้แก่เว้นจากพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ ; พูดเพ้อเจ้อ ; ความเป็นมุนีทางใจ คือทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ.
๓. ทรงแสดงถึงภิกษุ ผู้เป็นบิณฑบาต ปรารถนาจะได้อย่างนั้นอย่างนี้ เกิดกุศลวิตก ๑ ๓ ทานที่ให้แก่ภิกษุเช่นนี้ไม่มีผลมาก เพราะเป็นผู้อยู่อย่างประมาท , ส่วนภิกษุผู้ไม่ติดในบิณฑบาต ไม่ปรารถนาจะได้อย่างนั้นอย่างนี้ มีกุศลวิตก ๓ ทานที่ให้แก่ภิกษุเช่นนี้มีผลมาก เพราะเป็นผู้อยู่อย่างไม่ประมาท.
ทรงแสดงว่าเพียงแต่คิดไป ในทิศที่มีภิกษุทะเลาะวิวาทกัน ก็ไม่ผาสุกเสียแล้ว จะกล่าวไปไยถึงการไปในทิศนั้น และทำให้ปลงใจว่า ภิกษุเหล่านั้นละกุศลวิตก ทำให้มากซึ่งอกุศลวิตก , ส่วนภิกษุผู้สามัคคีกับพึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม.
ทรงแสดงว่า พระองค์แสดงธรรม เพื่อความรู้ยิ่ง , มีเหตุ ( สนิทาน ), มีปาฏิหารย์. ตรัสแก่มหานามศากยะ ว่ามีศาสดา ๓ ประเภท คือ ๑. บัญญัติให้กำหนดรู้กาม แต่ไม่บัญญัติให้กำหนดรู้รูปเวทนา ๒. บัญญัติให้กำหนดรู้กาม และรูป แต่ไม่บัญญัติให้รู้กำหนดเวทนา ๓. บัญญัติให้กำหนดรู้ทั้งสามอย่าง แล้วตรัสถามว่าคติของศาสดาทั้งสามประเภทนี้ เหมือนกันหรือต่างกัน. ภรัณฑุ กาลามโคตรพูดแนะมหานามศากยะให้ตอบว่ามีคติอย่างเดียว พระผู้มีพระภาคตรัสแนะให้ตอบว่า มีคติต่างกัน ต่างฝ่ายต่างแนะนำอย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง ภรัณฑุ กาลามโคตรจึงหลีกไป ไม่กลับมาสู่กรุงกบิลพัสดิ์อีก.
หัตถกเทพบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่าตนไม่อิ่มด้วยธรรม ๓ ประการ ( จน ) ถึงแก่กรรม ( ซึ่งเป็นคุณธรรมที่สืบเนื่องมาแต่อดีตชาติ และทำอยู่แม้ในปัจจุบัน ) คือไม่อิ่มด้วยการเฝ้าพระผู้มีพระภาค , ไม่อิ่มด้วยการฟังพระสัทธรรม , ไม่อิ่มด้วยการอุปฐากพระสงฆ์ .
ตรัสสอนภิกษุรูปหนึ่ง มิให้ทำตนเป็นเดน ( อาหาร ) ที่เขาทิ้ง ส่งกลิ่นคาว มีแมลงวันตอม โดยตรัสอธิบายแก่ที่ประชุมภิกษุทั้งหลายว่า ความโลภเปรียบเหมือนเดน ( อาหาร ) ความคิดปองร้ายเปรียบเหมือนกลิ่นคาว วิตกหรือความตรึกที่เป็นบาปอกุศลเปรียบด้วยแมลงวัน.
ตรัสตอบคำถามของพระอนุรุทธเถระ ว่า มาตุคาม ( ผู้หญิง ) ประกอบด้วยธรรม ๓ อย่าง เมื่อตายไปจะสู่คติที่ชั่ว คือเวลาเช้ามีจิตถูกรึงรัดด้วยมลทิล คือความตระหนี เวลากลางวันมีจิตถูกรึงรัดด้วยความริษยา เวลาเย็นมีจิตถูกรึงรัดด้วยกามราคะ .
พระสารีบุตรแนะนำแก่พระอนถรุทธเถระ ผู้กล่าวว่า ข้าพเจ้ามองดูโลกตั้งพันด้วยทิพยจักษุ , ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน , ตั้งสติมั่นไม่หลงลืม, มีกายสงบไม่กระสับกระส่าย, มีจิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง แต่จิตของข้าพเจ้ามิได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่น.
พระสารีบุตรชี้แจงว่า ๒ การที่ท่านคิดว่าเรามองดูโลกตั้งพันด้วยทิพยจักษุนี้จัดเข้าในความถือตัวของท่าน , การที่ท่านคิดว่าเราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน , ตั้งสติมั่นไม่หลงลืม , มีกายสงบไม่กระสับกระส่าย , มีจิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง นี้จัดเข้าในความฟุ้งสร้านของท่าน , การที่ท่านคิดว่า แต่จิตของเรามิได้หลุดพ้นจากอาสวะไม่ถือมั่น นี้จัดเข้าในความสำคัญใจของท่าน ท่านจงละธรรม ๓ ประการนี้เสีย อย่าใส่ใจ จงน้อมไปในอมตธาตุเถิด พระอนุรุทธเถระทำตามก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.
ตรัสแสดงสิ่ง ๓ ประการ ที่คนนำไปอย่างปกปิด ไม่เปิดดเผย คือมาตุคาม , มนต์ของพราหมณ์ , ความเห็นผิด แล้วตรัสแสดงสิ่งที่เปิดเผยแล้วรุ่งโรจน์ คือมณฑลแห่งดวงจันทร์ มณฑลแห่งดวงอาทิตย์ และพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาสแล้ว.
ทรงแสดงบุคคล ๓ ประเภท คือ ๑. ผู้เหมือนรอยขีดบนหิน ได้แก่คนมักโกรธและมีความโกรธตั้งอยู่นาน. ๒. ผู้เหมือนรอยขีดบนดิน ได้แก่คนมักโกรธ แต่มีความโกรธไม่ตั้งอยู่นาน. ๓. ผู้เหมือนรอยขีดบนน้ำ ได้แก่คนที่ถูกว่ากล่าวด้วยคำหยาบช้าไม่น่าพอใจ ก็ยังเป็นไปได้ ( ทนได้ ) แช่มชื่นอยู่ได้.
๔. ทรงแสดงนักรบที่ประกอบด้วยองค์ ๓ ว่าควรแก่พระราชา คือ ๑. ยิงไกล เทียบด้วยภิกษุผู้พิจารณาเห็นขันธ์ ๕ ตามเป็นจริงแล้วไม่ยึดถือ ๒. ยิงไว เทียบด้วยภิกษุผู้รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง ๓. ทำลายกายใหญ่ได้ เทียบด้วยภิกษุผู้ทำลายกองอวิชชาใหญ่ได้.
ทรงแสดงบริษัท ๓ คือที่แนะนำยาก, แนะนำง่าย , ที่ต้องรู้อัธยาศัยแล้วแนะนำ.
ทรงแสดงถึงมิตรที่ประกอบด้วยองค์ ๓ ว่า ควรคบ คือ ๑. ให้สิ่งที่ให้ได้ยาก ๒.ทำสิ่งได้ยาก ๓. อดทนสิ่งที่ทนได้ยาก.
ทรงแสดงว่า พระตถาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ทำนองคลองธรรมก็คงมีอยู่แล้ว คือข้อที่สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง, สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์, ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ( ไม่ใช่ตัวตน ) เป็นแต่พระตถาคตเป็นผู้ตรัสรู้ บอกเล่า แสดง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่าย.
ทรงแสดงว่า บรรดาวาทะของสมณะเป็นอันมาก วาทะของมักขลิเลวที่สุด คือมีวาทะและความเห็นว่า กรรม ( การกระทำ ) ไม่มี กริยา (อาการที่ทำ ) ไม่มี วิริยะ ( ความเพียร ) ไม่มี เป็นการคัดค้านพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งอดีตอนาคต และปัจจุบัน ผู้กล่าวว่า กรรม, กิริยา , ความเพียรมี.
ทรงแสดงสัมปทา ( ความถึงพร้อมหรือความสมบูรณ์ ) ๓ อย่าง และวุฑติ ( ความเจริญ ) ๓ อย่าง คือความถึงพร้อม และความเจริญด้วยศรัทธา , ศีลและปัญญา.
ทรงแสดงบุคคลประเภทด้อย กับประเภทดี เทียบด้วยม้าด้อย กับม้าดี อย่างละ ๓ ประเภท คือประเภทด้อย ๑. สมบูรณ์ด้วยฝีเท้า แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยสีกาย ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูง และความสมส่วนได้แก่ภิกษุที่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง แต่เมื่อถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็พูดตะกุกตะกักตอบไม่ได้และเป็นผู้ไม่มีลาภปัจจัย ๔ ๒. สมบูรณ์ด้วยฝีเท้า, สมบูรณ์ด้วยสีกาย แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูง และความสมส่วน ได้แก่ภิกษุที่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง เมื่อถูกถามปัญหาดังกล่าวก็ตอบได้ ไม่พูดตะกุกตะกัก, แต่ไม่มีลาภปัจจัย ๔ ๓. สมบูรณ์ทั้งสามอย่าง ได้แก่ภิกษุผู้รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง, ตอบปัญหาได้, ทั้งมีลาภปัจจัย ๔. ส่วนประเภทดี ๑. สมบูรณ์ด้วยฝีเท้า แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยฝีกาย ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูง และความสมส่วน ได้แก่ภิกษุผู้เป็นพระอนาคามี แต่ตอบปัญหาไม่ได้ ทั้งไม่มีลาภปัจจัย ๔ . ๒. สมบูรณ์ด้วยฝีเท้า, สมบูรณ์ด้วยสีกาย แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูง และความสมส่วน ได้แก่ภิกษุผู้เป็นพระอนาคามีตอบปัญหาได้ แต่ไม่มีลาภปัจจัย ๔. ๓. สมบูรณ์ทั้งสามอย่าง ได้แก่ภิกษุผู้เป็นพระอนาคามีตอบปัญหาได้ และมีลาภปัจจัย ๔.
(หมายเหตุ: ในที่นี้แสดงคนเทียบด้วยม้าทั้งด้อยประเภทดี ม้าประเภทด้อยใช้คำว่า อสฺสขํโก ซึ่งเมืองไทยเราแปลกันว่า ม้ากระจอก ส่วนม้าประเภทดีใช้คำว่า สทสฺโส ( สตฺ ดี = อสฺส = ม้า ) เวลากล่าวถึงคุณสมบัติของม้า กลับแสดงคุณสมบัติแบบเดียวกันทั้งสามประเภท พึงเห็นว่า ม้าประเภทด้อยนั้น แม้จะมีคุณสมบัติดีก็ดีอย่างม้าด้อยหรือม้ากระจอก แต่เวลาเเสดงถึงคุณสมบัติของคนประเภทด้อยกับประเภทดี แม้จะกล่าวถึงคุณสมบัติเทียบด้วยม้าที่สมบูรณ์ด้วยฝีเท้า เป็นต้น อย่างเดียวกัน แต่ก็แบ่งประเภทด้อยว่ารู้อริยสัจจ์ ๔ ส่วนประเภทดีเป็นพระอนาคามี ).
ทรงแสดงบุคคลประเภทดีเลิศ (บรุษอาชาไนย ) เทียบด้วยม้าอาชาไนย โดยคุณสมบัติของม้าอาชาไนยที่สมบูรณ์ทั้งสามประการ แต่แสดงคุณสมบัติของบุคคลต่างออกไปในข้อสมบูรณ์ด้วยฝีเท้า คือเป็นพระอรหันต์ ( ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ) ส่วนที่สามารถตอบปัญหา กับมีลาภ คงเหมือนกัน.
ทรงแสดงถึงภิกษุผู้ประกอบด้วย ธรรม ๓ อย่าง คือกองศีล, สมาธิ, ปัญญา อันเป็นอเสขะ ( ศีล สมาธิ ปัญญา ของพระอรหันต์ ) ว่าเป็นผู้สำเร็จล่วงส่วน อยู่จบพรหมจรรย์ ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
ทรงแสดงถึงภิกษุผู้ประกอบด้วย ธรรม ๓ อย่างอีก ๒ ประเภท คืออิทธิปาฏิหารย์ ) ( แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ ), อาเทสนาปฏิหาริย์ ( ทายใจได้เป็นอัศจารย์ ), อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ( สั่งสอนได้เป็นอัศจรรย์ ), กับอีกประเภทหนึ่งประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ), สัมมาญาณะ ( ความรู้ชอบ), สัมมาวิมุติ ๓ . ( ความหลุดพ้นชอบ ) ว่าเป็นผู้สำเร็จล่วงส่วน อยู่จบพรหมจรรย์ ประเสร็ฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
๕. ทรงแสดงว่า บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ อย่าง ในทางชั่วทางดี จะเป็นเหมือนถูกนำไปตั้งไว้ในนรกหรือสวรรค์ ในฝ่ายชั่ว คือประกอบด้วยการกระทำทางกาย , วาจา, ใจ อันเป็นอกุศล, มีโทษ, ไม่สม่ำเสมอ, ไม่สะอาด ในฝ่ายดี พึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม.
ทรงแสดงถึงคนพาลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ อย่าง แยกตามการกระทำทางกาย วาจา ใจ ที่เป็นอกุศล, มีโทษ, ไม่สม่ำเสมอ, ไม่สะอาด ดังกล่าวข้างต้น ) ว่าเป็นผู้บริหารตนอย่างถูกขุด มีโทษ ถูกติเตียน ประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก ส่วนบัณฑิตตรงกันข้าม. ทรงแสดงการไหว้ ๓ อย่าง คือทางกาย วาจา ใจ และ สุจริต ๓ อย่าง คือทางกาย วาจา ใจ.
พระสูตรที่ไม่นับเข้าในหมวด ๕๐
( หมายความว่า เป็นพระสูตรที่เป็นเศษจาก ๑๕๐ สูตรที่กล่าวมาแล้ว)
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงปฏิปทา ๓ อย่าง คือ ๑. หยาบช้า ๒. เผาตน ๓. สายกลาง โดยทรงอธิบายว่า ปฏิปทาอย่างหยาบช้า ได้แก่ที่เห็นว่า กามไม่มีโทษ จึงบริโภคกาม, อย่างเผาตน ได้แก่ทรมานตนมีเปลือยกาย เป็นต้น, อย่างสายกลาง ได้แก่การเจริญสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ อย่าง.
ทรงแสดงปฏิปทา ๓ อย่างตามชื่อเดิมอีก เป็นแต่อธิบายต่างออกไปว่า อย่างหยาบช้า, อย่างเผาตนเหมือนอย่างข้างต้น แต่อย่างสายกลาง ได้แก่ความเพียรชอบ ๔ อย่าง. โดยนัยนี้ได้ทรงแสดงปฏิปทา ๓ อย่าง เฉพาะข้อสุดท้าย โดยแสดงหมวดธรรมในโพธิปักขิยธรรม ( ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๒ ) ในข้อเสด็จป่ามหาวัน ทีละหัวข้อจนจบถึงมรรคมีองค์ ๘ . อนึ่ง ทรงแสดงผู้ประกอบด้วยธรรมะฝ่ายชั่ว ๓ อย่าง ฝ่ายดี ๓ อย่าง คือตัวเองประกอบอกุศลกรรมบถ ๑๐ ( มีฆ่าสัตว์เป็นต้น ) แต่ละข้อด้วยตนเอง , ชักชวนผู้อื่นให้ทำ, มีความยินดีในอกุศลกรรมบถแต่ละข้อว่าเป็นผู้เหมือนถูกนำไปตั้งไว้ในนรก ในสวรรค์ สุดแต่เป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว .
ทรงแสดงสุญญตสมาธิ
สมาธิมีความไม่มีที่ตั้งเป็นอารมณ์) เพื่อกำหนดรู้ เพื่อละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น (คือละอุปกิเลส ๑๖ ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๔ หน้า ๑ ). ในหัวข้อ ๗ . วัตถูปมสูตร
จบเล่มที่ ๒๐ อังคุตตรนิกาย เอก- ทุก- ติกนิบาต
________________________________________
๑. อกุศลวิตก ๓ คือตรึกในกาม , ตรึกในการปองร้าย , ตรึกในการเบียดเบียน . กุศลวิตก ๓ คือการตรึกในการออกจากกาม , ตรึกในการไม่ปองร้าย , ตรึกในการไม่เบียดเบียน
๒. ข้อความที่เรียงด้วยตัวใหญ่เป็นพิเศษนี้ เพื่อชี้ว่า ตราบใดที่ยังละทิ่งคำว่า “ เรา ” “เขา ” อันเป็นความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ก็ยากที่จะตรัสรู้ ภาษิตเช่นนี้พุทธศาสนิกชนที่สนใจธรรมะชั้นสูงคงพอเข้าใจมาก
๓. พระอรรถกถาจารย์อิบายว่า สัมมาทิฏฐิ ได้แก่วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิ, สัมมาญาณ ได้แก่ผลญาณ, สัมมาวิมุติ ได้แก่ธรรม คือผลสมาบัติที่เหลือ อันเป็นเรื่องของคุณธรรมภายใน
เล่มที่ ๒๑ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๓)
หน้า ๑
พระไตรปิฎกเล่มนี้ ตลอดเล่มว่าด้วยธรรมะจำนวน ๔ พิจารณาดูจากหมวดใหญ่ที่แบ่งแยกออกเป็นส่วน ๆ แล้ว พอประมาณได้ว่า มีพระสูตรราว ๓๐๐ สูตร?กล่าวคือในเล่มนี้ แบ่งออกเป็นหมวด ๕๐(ปัณณาสก์) ๔ หมวด, หมวดนอก ๕๐ (ขนาดยาวมี ๗ วรรค ประมาณ ๗๐) ๑ หมวด, หมวดนอก ๕๐(ขนาดสั้น) ๑หมวด. คำว่า นอก ๕๐ คือไม่สงเคราะห์เข้าในหมวด ๕๐ ( ปัณณาสกาสังคหิตะ).
ปฐมปัณณาสกะ หมวด ๕๐ ที่ ๑
(ในหมวดนี้มี ๕ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตร คือ ๑. ภัณฑคามวรรค ว่าด้วยเหตุการณ์ในภัณฑคาม หรือหมู่บ้านชื่อภัณฑะ ๒. จรวรรค ว่าด้วยอิริยาบทเดิน ๓. อุรุเวลวรรค ว่าด้วย เหตุการณ์ในตำบลอุรุเวลา ๔. จักกวรรค ว่าด้วยล้อรถ ล้อธรรม ๕.โรหิตัสสวรรค ว่าด้วยโรหิตตัสสเทพบุตร).
๑. ตรัสว่า ที่เราและท่านทั้งหลาย เวียนว่ายท่องเที่ยวอยู่ตลอดกาลนาน
ก็เพราะไม่ตรัสรู้ศีล สมาธิ ปัญญาวิมุติ (ความหลุดพ้น ) อันเป็นอริยะต่อเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว จึงถอนตัณหาเสียได้ ไม่มีการเกิดอีก.
ตรัสว่า ถ้าไม่ประกอบด้วยธรรมะ ๔ อย่าง ข้างต้น ชื่อว่าตกจากพระธรรมวินัยนี้ต่อประกอบด้วยธรรมะ ๔ อย่างนั้น จึงชื่อว่าไม่ตกจากพระธรรมวินัยนี้.
ตรัสว่า คนพาลประกอบด้วยธรรมะ ๔ อย่าง ชื่อว่า บริหารตนให้ถูกขุด มีโทษควรติเตียน ประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมากคือไม่พิจารณาสอบสวน ๑. ชมผู้ที่ควรติ ๒. ติผู้ที่ควรชม ๓. แสดงความเลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๔. แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อม ใส. ส่วนบัณฑิตตรงกันข้าม.
ทรงแสดงว่า คนพาลปฏิบัติผิด ในบุคคล ๔ ประเภท คือมารดา, บิดา,พระตถาคต, สาวกของพระตถาคต. ส่วนบัณฑิตตรงกันข้าม.
ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. ผู้ไปตามกระแส ได้แก่ผู้เสพกาม ทำบาป ๒. ผู้ทวนกระแส ได้แก่ผู้ไม่เสพกาม ไม่ทำบาปแต่ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความทุกข์ โทมนัสร้องให้ ๓. ผู้มีตนให้ตั้งอยู่ได้ ( ลอยน้ำ) ได้แก่พระอนาคามี ๔. ผู้ข้ามฝั่งได้ ยืนอยู่บนบกได้แก่พระ อรหันต์.
ทรงแสดงบุคคล ๔ประเภท คือ ๑. ผู้สดับน้อย ทั้งไม่ เข้าถึงด้วยการสดับ ได้แก่ผู้สดับน้อย ทั้งไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๓. ผู้สดับมาก แต่ไม่เข้าถึงด้วยการสดับ ได้แก่ผู้สดับมาก แต่ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๔. ผู้สดับมาก ทั้งเข้าถึงด้วยการสดับ ได้แก่ผู้สดับมาก ทั้ง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.
ทรงแสดงคนฉลาด ที่ได้รับการแนะนำ เป็นผู้กล้าหาญ สดับฟังมาก ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ชื่อว่าทำหมู่ให้งาม ๔ ประเภท คือ ภิกษุ, ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา.
ทรงแสดงความเป็นผู้แกล้วกล้า ๔ อย่างของพระตถาคต ที่ทรงบรรลือสีหนาทหมุนล้อธรรมอันประเสริฐ คือ ๑. ทรงปฏิญญาว่าตรัสรู้แล้ว ไม่มีใครคัดค้านได้ว่า ไม่ได้ ตรัสรู้ ๒. ทรงปฏิญญาว่าสิ้นอาสวะแล้ว ไม่มีใครคัดค้านได้ว่า ยังไม่สิ้นอาสวะ ๓. ตรัสว่าธรรมเหล่าใดเป็น อันตราย ไม่มีใครคัดค้านได้ว่า ธรรมเหล่านั้นไม่ควรเป็นอันตรายแก่ผู้เสพ ๔. ตรัสแสดงธรรมเพื่อประโยชน์ แก่ผู้ใด ไม่มีใครคัดค้านได้ว่า ธรรมนั้นไม่นำผู้ทำตามให้สิ้นทุกข์โดยชอบได้จริง.
ทรงแสดงความเกิดแห่งตัณหา ๔ ประการ คือตัณหาเกิด เพราะเหตุแห่งเครื่องนุ่งห่ม, อาหาร, ที่อยู่อาศัย, ความเป็นหรือความไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ( อรรถกถาแก้ว่า เพราะเหตุแห่งสิ่งที่ประณีตและสิ่งที่ประณีตขึ้นไปกว่า ).
ทรงแสดงเครื่องประกอบสัตว์ ( ผูกมัด ) สัตว์ไว้ในภพ ๔ ประการ คือกาม ( ความใคร่และสิ่งที่น่าใคร่ ), ภพ ( ความมีความเป็น ), ทิฏฐิ (ความเห็น ) อวิชชา ( ความ ไม่รู้อายตนะ ๖ ตามเป็นจริง ๑?. ) แล้วทรงแสดงธรรมอีก ๔ อย่าง ที่ตรงกันข้ามชื่อวิสังโยคะ ( เครื่องคลายหัด ).
๒. ตรัสว่า เมื่อภิกษุเดิน, ยืน, นั่ง, นอน ถ้าความตรึกในกาม, ในการ พยาบาท,ในการเบียดเบียนเกิดขึ้น เธอรับไว้ไม่ละเสีย เธอก็ชื่อว่าไม่มีความเพียร เป็นผู้เกียจคร้าน แต่ถ้าไม่รับไว้ ละเสีย เธอก็จะชื่อว่ามีความเพียรไม่เกียจคร้าน.
ทรงชักชวนภิกษุทั้งหลาย ให้มีศิลสมบูรณ์ มีปาฏิโมกข์ สมบูรณ์ ให้สำรวมด้วยดีในพระปาฏิโมกข์ ( ศีลอันเป็นใหญ่เป็นประธานของภิกษุที่สวดทุกกึ่งเดือน ) ให้ สมบูรณ์ด้วยมารยาทและโคจร ( การรู้จักไปในที่ควร ) ให้เป็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน สิกขาบททั้งหลาย แล้วแสดงอิริยาบท ๔ ที่มีนีวรณ์ ๕ เกิดขึ้น ถ้าไม่ละนีวรณ์ก็ชื่อว่าเกียจคร้าน ถ้าละก็ชื่อว่า ไม่เกียจคร้านดั่งข้างต้น..
ทรงแสดงการตั้งความเพียรชอบ ( สัมมัปปธาน ) และการตั้ง ความเพียร ( ปธาน ) อย่างละ ๔ ประการ คือเพียรระวังบาปมิให้เกิดขึ้น, เพียรละบาปที่เกิดขึ้น แล้ว, เพียรทำความดีให้เกิดขึ้น, เพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้ว..
เป็นแต่ในถาคอธิบายของปธาน ทรงอธิบายว่า ๑. ได้แก่การสำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู เป็นต้น ๒. ได้แก่การละอกุศลวิตก ๓. ได้แก่การเจริญโพชฌงค์ ๗ มีสติ เป็นต้น ๔. ได้แก่การรักษาสมาธินิมิต ( เครื่องหมายในใจที่ทำให้เกิดสมาธิ) มีความกำหนดหมายใน กระดูก ( อัฏฐิกสัญญา ) เป็นต้น..
ทรงแสดงการบัญญัติสิ่งที่เลิศ ๔ ประการ คือ ๑. บรรดาผู้มีอัตตภาพ อสุรินทราหูเป็นเลิศ ๒. บรรดาผู้บริโภคกามพระเจ้ามันธาตุราชเป็นเลิศ ๓. บรรดาผู้มี ความเป็นเป็นใหญ่ พญามารเป็นเลิศ ๔. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศในโลก พร้อมทั้ง เทวโลก ทั้งมาร ทั้งพรหม..
ทรงแสดงถึงญาณที่รู้ลักษณะอันสุขุม ( ละเอียดอ่อน ) ๔ ประการ คือความสุขุมแห่งรูป, เวทนา,สัญญา, สังขาร ซึ่งภิกษุผู้มีสิ่งเหล่านี้แล้ว ย่อมไม่เห็นสิ่งอื่นยิ่งกว่า ประณีตกว่าไม่ปรารถนาสิ่งอื่น ( รูป, เวทนา, สัญญา, สังขารอันสุขุม ) ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่า.
ทรงแสดงการลุอำนาจแก่ความลำเอียง ๔ ( อคติมานะ ) คือลำเอียงเพราะรัก, ลำเอียงเพราะชัง, ลำเอียงเพราะหลง, ลำเอียงเพราะกลัว..
แล้วทรงแสดงในทางตรงกันข้าม คือการไม่ลุอำนาจแก่ความ ลำเอียง ๔. ทรงแสดงถึงถิกษุผู้แจกอาหาร ( ภัตตุทเทสกะ ) ผู้ตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ เพราะ ตั้งอยู่ในความลำเอียง หรือไม่ตั้งอยู่ในความลำเอียงทั้งสี่นี้.
๓. ทรงแสดงว่า ทรงพิจราณาแล้วไม่เห็นใครยิ่งกว่าพระองค์ โดยกองศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุติ, จึงทรงตกลงเคารพธรรมที่ทรงตรัสรู้. ทันใดนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมก็มากราบทูลว่า พระ พุทธเจ้าในอดีตอนาคต และพระองค์เองในปัจจุบันก็เคารพธรรมทั้งสิ้น. ตรัสบอกภิกษุทั้งหลายต่อไปว่า.
ทรงเคารพธรรมแล้วเมื่อสงฆ์ถึงความเป็นใหญ่?๒. ก็ทรงเคารพ ในสงฆ์ด้วย. ทรงเล่าเรื่องพราหมณ์ผู้เฒ่าสูงอายุหลายคน ผู้พากันกล่าวหาพระองค์ เมื่อ ตรัสรู้ใหม่ ๆ ณ ริมฝั่งน้ำเนรัญชราว่า ไม่กราบไหว้ ต้อนรับพราหมณ์ผู้เฒ่า ผู้สูงอายุ. พระองค์ทรงดำริว่า แม้ จะเจริญโดยชาติ มีอายุสูง ถ้าไม่มีคุณธรรมก็นับว่าเป็นผู้ใหญ่ ( เถระ ) ที่เป็นพาลต่อมีคุณธรรม แม้จะอยู่ในปฐมวัยก็นับได้ว่าผู้ใหญ่ ( เถระ ) ผู้เป็นบัณฑิต แล้วทรงแสดงธรรมที่ทำให้เป็นผู้ใหญ่ ๔ ประเภท คือ ๑. มีศีล ๒. สดับตรับรับฟังมาก ๓. ได้ฌานตามปรารภนาโดยง่าย ๔. บรรลุเจโตวิมุติปัญญาวิมุติ อัน ไม่มีอาสวะ.
ทรงแสดงว่า พระตถาคต ตรัสรู้โลก, เหตุเกิดแห่ง โลก, ความดับโลก, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก. แล้วแสดงคุณธรรมของพระตถาคต.
ทรงแสดงว่า พระตถาคตเป็นผู้คงที่ ในสิ่งที่เห็นได้, ฟังได้, ทราบได้, รู้ได้ (คำว่า ทราบได้ หมายความถึงดมกลิ่น, ลิ้มรส, ถูกต้องสัมผัส ส่วนรู้ได้ หมายถึงรู้ได้ ด้วยใจ ).
ทรงแสดงว่า ทรงประพฤติพรหมจรรย์ มิใช่เพื่อ หลอกลวงคน. มิใช่เพื่อเรียกร้องคนให้มานับถือ, มิใช่เพื่อประโยชน์แก่ลาภ, สักการะและชื่อเสียง, ที่แท้เพื่อ สำรวม,เพื่อละกิเลส, เพื่อคลายกำหนัดยินดี, เพื่อดับทุกข์.
ทรงแสดงว่า ภิกษุผู้พูดปด, กระด้าง, พูดพล่าม, มี กิเลสหลายทาง เหมือนทางสี่แพร่ง, ถือตัว, มีจิตไม่ตั้งมั่นชื่อว่าไม่นับถือพระองค์, เป็นผู้ห่างจากพระธรรมวิ นัยนี้,ไม่เจริญงอกงามในพระธรรมวินัยนี้.
ทรงแสดงถึงของน้อยที่หาได้ง่ายและไม่มีโทษ คือ ๑. ผ้าบังสุกุล ( ผ้าเปื้อนฝุ่น คือเศษผ้าที่เขาทิ้งในที่ต่าง ๆ ) ๒. อาหารที่เดินหาด้วยลำแข้ง ( บิณฑบาต ) ๓. ที่นอนที่นั่งคือโคนไม้๔. ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า.
ทรงแสดงวงศ์ของพระอริยะ ที่เป็นของเก่า ไม่เป็นที่ รังเกียจใน ๓ กาล คือ ๑. สัญโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ๒. สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ๓. สันโดษ ด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ไม่ทำการแสวงหาอันไม่สมควร เพราะสิ่งทั้งสามนั้นไม่ได้ก็ไม่เดือดร้อน ได้ก็ไม่ติด ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษทั้งสามข้อนั้น ๔. ยินดีในการเจริญกุศลธรรม ในการละอกุศลธรรม.เธอก็ จะครอบงำความไม่ยินดีเสียได้.
ทรงแสดงบทธรรม ๔ ประการ คือ ความไม่โลภ, ความไม่พยาบาท, ความระลึกชอบ, ความตั้งใจมั่นชอบ ว่าเป็นของเก่า ไม่มีใครรังเกียจทั้งสามกาล.
ทรงแสดงธรรมแก่ปริพพาชกที่มีชื่อเสียง หลายคน ณ ฝั่งแม่น้ำสัปปินี ถึงบทแห่งธรรม ๔ ดังกล่าวแล้วเป็นแต่มีคำอธิบายละเอียดมากขึ้น โดยทำนองว่า ถ้าใคร คัดค้าน ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนโลภ, คนพยาบาท, คนหลงลืมสติ, คนมีจิตไม่ตั้งมั่น .
๔. ทรงแสดงจักร ๔ ( ธรรมเปรียบเหมือนล้อรถ ) คือ ๑. การอยู่ในสถานที่อันสมควร ๒. การพึ่ง ( คบ ) สัตบุรุษ ( คนดี) ๓. การตั้งตนไว้ชอบ ๔. ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้ในกาลก่อน.
ทรงแสดงสังคหวัตถุ ๔ ( เรื่องของการสงเคราะห์ ) คือ๑. การให้ ๒. การเจรจาอ่อนหวาน ๓. การบำเพ็ญประโยชน์ ๔. การวางตนสม่ำเสมอหรือเหมาะสม.
ทรงแสดงว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมให้รู้จักกายของตน (สักกายะ ), ความเกิดแห่งกายของตน, ความดับแห่งกายของตน, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับกายของตนเหมือนราชสีห์บรรลือสีหนาท.
ทรงแสดงความเลื่อมใส ๔ ประการ คือ ๑. พระ ตถาคตเป็นเลิศสัตว์ทั้งหลาย ๒. อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเลิศแห่งธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง ๓. วิราคธรรม ( ความ คลายกำหนัดยินดี ) อันได้แก่นิพพานเป็นเลิศแห่งธรรมที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ๔. พระอริยสงฆ์ ๔ คู่ ๘ บุคคล เป็นเลิศแห่งหมู่ทั้งหลาย. ผู้ใดเลื่อมใสใน ๔ อย่างนี้ ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศอันจะมีผลเลิศ.
วัสสการพราหมณ์ กราบทูลแสดงความคิดเห็นเรื่อง มหาบุรุษผู้มีปัญญามากกว่า ได้แก่ผู้สดับตรับฟังมาก, ผู้รู้เนื้อความของภาษิต, ผู้มีสติทรงจำดี, ผู้ขยันในการ งาน. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มหาบุรุษผู้มีปัญญามาก คือผู้ที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่คนเป็นอันมาก ทำชนหมู่ใหญ่ให้ตั้งอยู่ในธรรมที่ถูกอันเป็นกุศล, เป็นผู้มีความชำนาญในเรื่องของการตรึกคือคิดหรือไม่คิดเรื่อง ใด ๆ ได้ตามปรารถนา, ได้ฌาน ๔ ตามต้องการ, ทำให้แจ้งเจโตวิมุติอันไม่มีอาสวะ ( เป็นพระอรหันต์ ).
โทณพราหมณ์เห็นพระผู้มีพระภาค ประทับ ณ โคนไม้ ต้นหนึ่งน่าเลื่อมใส จึงเข้าไปเฝ้าทูลถามว่า พระองค์เป็นเทพ, คนธรรพ์, ยักษ์, มนุษย์หรือ ทีละข้อ พระองค์ ปฏิเสธทุกข้อ แล้วทรงอธิบายว่าถ้ายังอาสวะไม่ได้ ก็จะเป็นตามที่ถามนั้น พระองค์ละอาสวะได้เด็จขาดแล้ว จึงเป็นพุทธะ เปรียบเหมือนดอกบัวเกิดในน้ำ โผล่พ้นน้ำ ไม่เปียกน้ำ.
ทรงแสดงว่า ภิกษุ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ อย่าง ไม่ควรจะเสื่อมชื่อว่าอยู่ใกล้พระนิพพาน คือ ๑. มีศิล ๒. สำรวมอินทรีย์ ( มีตา หู เป็นต้น ) ๓. รู้ประมาณ ในอาหาร ๔. ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น ( ไม่เห็นแก่นอน ).
ทรงแสดงว่า ภิกษุผู้ละความยึดถือว่าเป็นจริงในเรื่อง เฉพาะเรื่อง ( เช่น ไม่เห็นว่าโลกเที่ยง ) ชื่อว่าเป็นผู้มีการแสวงหาอันประเสริฐ ไม่บกพร่อง, มีกายสังขารอันสงบระงับ (ได้ฌานที่ ๔ ลมหายใจซึ่งมีกายสังขารเครื่องปรุงกายดับ ), เป็นผู้หลีกเร้นแล้ว (ละอัสมิมานะ ความ ถือตัวได้ ).
ตรัสตอบอุชชยพราหมณ์ ผู้กล่าวว่า พระสมณโคดม ไม่ทรงสรรเสริญยัญ โดยทรงชี้แจงว่า พระองค์มิได้สรรเสริญยัญทุกชนิด แต่ก็มิได้ติยัญทุกชนิด คือไม่สรรเสริญ ยัญที่มีการฆ่าสัตว์ เพราะพระอรหันต์หรือผู้บรรลุอรหัตตมรรค ย่อมไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น แต่สรรเสริญยัญที่ ไม่มีการฆ่าสัตว์ เช่น นิจจทาน ( ทานที่ให้เป็นประจำ ) อนุกุลยัญ (ยัญที่เป็นไปตามลำดับสกุล คือการให้ทาน ตามจารีตของสกุลสืบ ๆมา ) เพราะพระอรหันต์ หรือผู้บรรลุอรหัตตมรรคย่อมเข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น .
ตรัสตอบอุทายิพราหมณ์ ในทำนองเดียวกับอุชชย พราหมณ์ ( เป็นแต่นิคมคาถาคือบทกวีสรูปข้อธรรมท้านสูตรต่างกัน ).
๕. ตรัสแสดงการเจริญสมาธิ ( สมาธิภาวนา ) ๔ อย่าง ที่เป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ได้แก่เจริญฌาน ๔, ที่เป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ ( การเห็นด้วยญาณ) ได้แก่การใส่ใจในความกำหนดหมายแสงสว่างตั้งความกำหนดหมายว่าเป็นกลางวัน คืออบรมจิตให้มีแสงสว่าง ด้วยจิตสงัดไม่ถูกรึงรัด ว่าเหมือนกันทั้งกลางวันกลางคืน, ที่เป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ ได้แก่รู้แจ้งเวทนา, สัญญา, วิตก ( ความตรึก ) ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป, ที่เป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ ได้แก่เห็นความเกิดขึ้น ดับไปแห่ง ขันธ์ ๕.
ทรงแสดงการตอบปัญหา ๔ อย่าง คือปัญหาที่ควร ตอบโดย ๑. แง่เดียว ๒. แยกตอบ ( ตามเหตุผล ) ๓. ย้อนถาม ๔. หยุดไว้ ( ไม่ตอบ ) .
ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือผู้หนักในความ โกรธ, ในการลบหลู่บุญคุณท่าน, ในลาภ, ในสักการะ ไม่หนักในสัทธรรมส่วนฝ่ายดีอีก ๔ ประเภท คือผู้ หนักในสัทธรรม ไม่หนักใน ๔ ข้อฝ่ายชั่วนั้น .
ทรงแสดงอสัทธรรม ๔ คือความเป็นผู้หนักใน ความโกรธ เป็นต้นดังกล่าวแล้ว และทรงแสดงสัทธรรม ๔ ในทางตรงกันข้าม .
โรหิตัสสเทพบุตรกราบทูลถามว่า ในที่ใดไม่มีผู้ เกิด, แก่, ตาย, เคลื่อน ( จุติ ), เข้าถึง ( อุปปัติ ) อาจหรือไม่ที่จะรู้จะเห็นจะบรรรลุที่สุดแห่งโลกนั้นด้วยการ ไป ตรัสตอบว่า ไม่อาจ . โรหิตัสสเทพบุตรกราบทูลแสดงความอัศจรรย์ใจและเล่าความว่า ในสมัยหนึ่งตน เคยเป็นฤษีชื่อโรหิตัสสะ มีฤทธิ์เหาะไปในอากาศได้รวดเร็ว ขนาดก้าวเดียวข้ามมหาสมุทรตลอดเวลา ๑๐๐ ปี ยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก?๓. ก็ถึงแก่กรรมเสียในระหว่าง . พระผู้มีพระภาคตรัสว่าพระองค์ไม่ตรัสว่า ที่สุดแห่ง โลก ที่ไม่มีผู้เกิด, แก่, ตาย, เคลื่อน, เข้าถึง, ที่พึงรู้, พึงเห็น พึงบรรลุด้วยการไปจะมีได้ และไม่ตรัสว่า บุคคล ไม่บรรลุที่สุดแห่งโลกแล้วจะทำทุกข์ให้สิ้นไปได้ ( ทำที่สุดทุกข์ ) .
ก็แต่ว่าพระองค์ทรงบัญญัติโลก, เหตุเกิดแห่งโลก, ความดับ โลก, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ในร่างกายนี้แหละ อันมีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา ( ความจำได้ หมายรู้ ) มีใจครอง ?๔. ครั้นวันรุ่งขึ้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายทราบถึงการ โต้ตอบนั้น .
พระผู้มีพระภาคตรัสถึงสิ่งทีไกลกันยิ่ง ๔ อย่าง คือท้องฟ้ากับแผ่นดิน, ฝั่งนี้กับฝั่งโน้นของมหาสมุทร, ทางที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและอัสดงค์, ธรรมะของคนดีกับ คนชั่ว.
ตรัสชมเชยพระวิสาขะ ปัญจาสิบุตร ผู้แสดงธรรม ในโรงฉันด้วยถ้อยคำอันสมบูรณ์, สละสลวย, ไม่มีโทษ, เข้าใจง่าย, เนื่องด้วยความไม่เวียนว่ายตายเกิด, ไม่อาศัยความเวียนว่ายตายเกิด .
ทรงแสดงความวิปลาส ( ความผิดพลาด, ความ คลาดเคลื่อน ๔ อย่าง คือ สัญญาวิปลาส, จิตตวิปลาส, ทิฏฐิวิปลาส ( ความวิปลาสแห่งความกำหนดหมาย, แห่งจิต, แห่งความเห็น) ๑.ในสิ่งไม่เที่ยงว่าเที่ยง, ๒. ในทุกข์ว่าสุข, ๓. ในสิ่งมิใช่ตนว่าตน, ๔. ในสิ่งไม่ งามว่างาม .
ตรัสแสดงเครื่องเศร้าหมองของสมพราหมณ์ ๔ อย่าง คือ ๑. ดื่มสุราเมรัย ๒. เสพเมถุนธรรม ( ธรรมของคนคู่ ) ๓. ยินดีรับเงินทอน ไม่เว้นจากการรับ ทองเงิน ๔. เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ เปรียบเหมือนหมอก, หิมะ, ธุลีควัน, อสุรินทราหู, เป็นเครื่องเศร้าหมอง แห่งพระจันทร์พระอาทิตย์ฉะนั้น .
________________________________________
'๑' . นับเป็นหลักฐานที่อธิบายอวิชชาต่างออกไปจากที่อื่น ซึ่งโดยมากแก้ว่า อวิชชา คือไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง
'๒' . อรรถกถาแก้ว่า ความเป็นใหญ่มี ๔ อย่าง คือเป็นใหญ่โดยรู้ราตรีนานคือเก่า แก่ ๒. เป็นใหญ่โดยไพบูล ๓. เป็นใหญ่โดยพรหมจรรย์ ๔. เป็นใหญ่โดยเลิศด้วยลาภ
'๓' . อรรถกถาแก้ว่า จักกวาฬโลก โลกคือจักรวาล ( อันเวิ้งวางไม่มีที่สิ้นสุด )
'๔' . พระสูตรนี้ให้ข้อคิดที่สำคัญยิ่งหลายประการ เช่น แสดงว่า แม้มีฤทธิ์มากเหาะไปได้ ไว ก็ไม่สามารถค้นหาที่สุดแห่งโลกจักรวาลได้ เทียบทฤษฎีวิทยาศาสตร์ ที่ว่าแสงซึ่งเดินทางวินาทีละ ๑๘๖, ๒๗๒ ไมล์ แสงของดาวบางดวงต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๖๕๐ ปี จึงมาถึงโลกเรา หลักวิชาดั่งกล่าวจึงรับรอง ภาษิตของโรหิตัสสเทพบุตร แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงโลกอีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่าสังขารโลก โดยชี้มาที่ ร่างกายมนุษย์นี้เองว่า ถ้ารู้แล้วก็ทำทุกข์ให้สิ้นไปได้
________________________________________
ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒
(ในหมวดใหญ่นี้ แบ่งออกเป็น ๕ วรรค ๆ ละประมาณ ๑๐ สูตรเช่นเคย วรรคที่ ๑ ซื่อปุญญาภิสัณฑวรรค ว่าด้วยความไหลมาแห่งบุญ, วรรคที่ ๒ ชื่อปัตตกัมมวรรค ว่าด้วยกรรม หรือ การกระทำอันสมควร . วรรคที่ ๓ ชื่ออปัณณกวรรค ว่าด้วยข้อปฏิบัติไม่ผิด. วรรคที่ ๔ ชื่อมจลวรรค ว่าด้วย สมณะผู้ไม่หวั่นไหว . วรรคที่ ๕ ชื่ออสุรวรรค ว่าด้วยอสูร . โปรดทราบว่าตัวเลขหน้าข้อความที่จะย่อต่อไปนี้ เป็นเครื่องบอกวรรคไปในตัวด้วย ).
๑. ทรงแสดงความไหลมาแห่งบุญ, แห่งกุศล
มีความสุขเป็นอาหาร ซึ่งเป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์และความสุข ๔ อย่าง คือภิกษุผู้ บริโภคปัจจัย ๔ ของผู้ใด แล้วเข้าสู่เจโตสมาธิอันไม่มีประมาณอยู่ ความไหลมาแห่งบุญของผู้นั้น ย่อมไม่มี ประมาณ ( ลำดับปัจจัย ๔ แต่ละข้อนับเป็น ๑ ข้อ ).
ทรงแสดงความไหลมาแห่งบุญ, แห่งกุศล อีก ๔ อย่าง คืออริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, ประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่ คือศีลที่ไม่ขาด, ไม่ทะลุ, ไม่ด่าง, ไม่พร้อย, เป็นไท เป็นไปเพื่อสมาธิ.
ตรัสแสดงธรรมแก่คฤหบดี คฤหปตานี ผู้เดินทาง ระหว่างเมืองมธุรา กับเมืองเวรัญชา เรื่องการอยู่ร่วมกัน ๔ อย่าง คือ ๑. ศพอยู่ร่วมศพ ได้แก่สามีและภริยาทุศีล มีธรรมอันเลวด้วยกัน ๒. ศพอยู่ร่วมกับเทพี ได้แก่สามีทุศีล แต่ภริยามีศีลธรรม ๓. เทพอยู่ร่วมกับศพ ได้แก่สามี มีศีลธรรม แต่ภริยาทุศีล ๔. เทพอยู่ร่วมกับเทพี ได้แก่สามีภริยามีศีลธรรมด้วยกัน.
ตรัสแสดงเรื่องการอยู่ร่วมกัน ๔ อย่าง เช่นเดียว กับข้างต้น เป็นแต่อธิบายต่างออกไปกำหนดทุจจริต สุจริตกาย วาจา ใจ ( รวมฝ่ายละ ๑๐ ที่เรียกว่าอกุศลกรรม บถ และกุศลกรรมบถ ) เป็นฝ่ายชั่วและฝ่ายดี.
ตรัสแสดงธรรมแก่บิดาและมารดาของนกุลมาณพ ผู้มีความปรารถนาจะเห็นกันทั้งในปัจจุบันและอนาคตว่า ถ้าสองฝ่ายมีศรัทธา, ศีล, การบริจาคและปัญญาเสมอ กัน ก็จะเห็นกันทั้งในปัจจุบันและอนาคต ( ได้อยู่ร่วมกันอีก ) .
ครั้งเสด็จประทับ ณ นิคมชื่อปัชชเนละแห่งโกลิยกษัตริย์ ตรัสแสดงธรรมแก่นางสุปปวาสา ธิดาโกลิยกษัตริย์ เรื่องอริยสาวิกาถวายอาหารแก่ปฏิคาหก ( ผู้รับ ) ชื่อ ว่าให้อายุ, ผิวพรรณ, ความสุขและกำลัง ; ครั้นให้แล้วก็จะเป็นผู้มีส่วนได้สิ่งทั้งสี่อย่างนั้นที่เป็นทิพย์.
ตรัสแสดงธรรมแก่อนาถปิณฑิกคฤหบดี ทำนอง เดียวกับนางสุปปวาสา
และแสดงเรื่องข้อปฏิบัติชอบ ของคฤหัสถ์ผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๔ ประการ อันทำให้ได้ยศ เป็นไปเพื่อสวรรค์ คืออุปฐากภิกษุสงฆ์ด้วยปัจจัย ๔ .
๒. ตรัสแก่อนาถปิณฑิกคฤหบดี
ถึงธรรมะที่ปรารถนา รักใคร่ชอบใจ อันหาได้ยาก ( ยากจะสมหวัง ) ๔ ประการ คือ ๑. ขอให้มีทรัพย์ ๒. ขอให้มียศ ๓. ขอให้อายุยืน ๔. ขอให้ตายแล้วไปสู่สุคติโลกสวรรค์.
แล้วทรงแสดงข้อปฏิบัติที่ให้สำเร็จประสงค์ ๔ ประ การคือ ๑. ถึงพร้อมด้วยความเชื่อ ๒. ถึงพร้อมด้วยศีล ๓. ถึงพร้อมด้วยการบริจาค ๔. ถึงพร้อมด้วยปัญญา โดย เฉพาะข้อปัญญา ตรัสอธิบายว่า ได้แก่รู้เท่าทันนีวรณ์๑ ๕ ว่าเป็น เครื่องเศร้าหมองแห่งจิตแล้วละได้.
ผู้เช่นนั้นย่อมทำกรรมที่ควร ๔ อย่าง คือเมื่อได้ทรัพย์ มาด้วยความเพียรอันชอบธรรมแล้ว ๑. ย่อมทำตัวเอง, มารดา, บิดา, บุตร, ภริยา, ทาส, กรรมกร, มิตรสหายให้ เป็นสุข. ๒. เมื่อมีอันตรายเกิดขึ้น ใช้ทรัพย์นั้นป้องกัน ทำตนให้มีความสวัสดี ๓. ทำพลี ๕ คือ ญาติพลีสง เคราะห์ญาติ, อติถิพลี ต้อนรับแขก, ปุพเพตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย, ราชพลี เสียภาษีอากรแก่หลวง, เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา ( หรือเสียสละเพื่อบูชาคุณความดีที่ทำมนุษย์ให้เป็นเทวดา ). ๔. ถวายทานแด่สมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติชอบ. ถ้าทรัพย์หมดไป เพราะใช้จ่ายนอกจากกรรมอันควร ๔ อย่างนี้ ชื่อว่าหมดไปอย่างไม่สมควร, ต่อ หมดไปตามหลักนี้ จึงชื่อว่าหมดไปอย่างสมควร.
ตรัสแสดงความสุขที่คฤหัสถ์ผูบริโภคกามจะพึงได้รับตามกาล อันสมควร ( สุขของผู้ครองเรือน ) ๔ ประการ คือ ๑. สุขเกิดจากการมีทรัพย์, ๒. สุขจากการใช้ จ่ายทรัพย์, ๓. สุขจากการไม่เป็นหนี้, ๔. สุขจากการงานที่ไม่มีโทษ.
ตรัสว่า สกุลที่บูชามารดาบิดาในเรือนของตน ชื่อว่า มีพรหม, มีบูรพาจารย์, มีบูรพเทพ ( เทวดาผู้เป็นต้นเดิม ), มีผู้ควรของคำนับ. คำเหล่านี้เป็นชื่อของมารดาบิดา เพราะท่านเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้เลี้ยงดู แสดงโลกนี้แก่บุตร.
ตรัสว่า ผู้ฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติผิดในกาม, พูดปด เป็นผู้เหมือนถูกนำไปตั้งไว้ในนรก.
ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. ถือรูปเป็นประ มาณ เลื่อมใสในรูป ๒. ถือเสียงเป็นประมาณ เลื่อมใสในเสียง, ๓. ถือความปอน คือ ความเศร้าหมองเป็นประ มาณ เลื่อมใสในความปอน ๔. ถือธรรมะเป็นประมาณ เลื่อมใสในธรรมะ.
ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือผู้มีราคะ, โทสะ, โมหะ, มานะ ( ความถือตัว ). งูกัดภิกษุรูปหนึ่งตาย
ตรัสสอนให้แผ่เมตตาจิต ในสกุลพญางูทั้งสี่ แต่ในบท กวีท้ายสูตรสอนให้แผ่เมตตาในสัตว์ทุกประเภท.
ทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสว่า ลาภ สักการะ ชื่อ เสียงเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตเพื่อฆ่าตน เพื่อความเสื่อม เปรียบเหมือนต้นกล้วยตกเครือ, ต้นไผ่ตกขุย, ต้นอ้อตกขุย, ม้าอัสดรตกลูกเพื่อฆ่าตน เพื่อความเสื่อมฉะนั้น.
ตรัสแสดงความเพียร ๔ อย่าง คือเพียรระงับบาปมิให้ เกิดขึ้น, เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว, เพียรทำความดีให้เกิดขึ้น, เพียรรักษาความดีที่เกิดแล้ว,
ตรัสแสดงว่า ในสมัยใดพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม ในสมัยนั้นข้าราชการ, พราหมณ์คฤหบดี, ชาวนิคมชนบท ก็พลอยไม่ตั้งอยู่ในธรรมด้วย พระจันทร์, พระอาทิตย์, ดาวฤกษ์, กลางคืน กลางวัน ฤดู เป็นต้น ก็แปรปรวนได้ด้วย. แต่ถ้าพระราชาตั้งอยู่ในธรรม ผู้อื่นก็พลอยตั้งอยู่ ในธรรมด้วย ฤดู เดือน ปี เป็นต้น ก็ไม่ปรวนแปรแล้วตรัสสรุปในท้ายพระสูตรว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดได้รับยกย่อง ว่าประเสริฐ ถ้าไม่ประพฤติธรรม ประชาชนก็พลอยไม่ประพฤติตามด้วย แว่นแคว้นทั้งปวงก็อยู่เป็นทุกข์ ถ้าตรง กันข้าม ก็อยู่เป็นสุข เปรียบเหมือนโคหัวหน้าฝูง เมื่อข้ามน้ำว่ายไปคดเคี้ยว โคทั้งปวงก็ว่ายน้ำคดไปตาม ถ้าไป ตรง โคทั้งปวงก็ว่ายน้ำไปตรง.
๓. ทรงแสดงข้อปฏิบัติไม่ผิดของผู้ริเริ่มเพื่อทำอาสวะให้สิ้น ๔ ประการ
คือ ๑. มีศีล. ๒. สดับตรับฟังมาก ๓. ปรารภความเพียร ๔. มีปัญญา. และอีก ๔ ประการ คือประกอบด้วยความตรึกในการออกจากกาม, ในการไม่พยาบาท, ในการไม่เบียดเบียน, ความเห็นชอบ.
ตรัสว่า อสัตบุรุษ ( คนชั่ว ) ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ คือ ๑. ไม่ต้องถามก็เปิดเผยความชั่วของคนอื่น ยิ่งถูกถามก็ยิ่งกล่าวความชั่วของคนอื่นอย่างบริบูรณ์ พิศดาร. ๒. แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยคุณความดีของคนอื่น หรือเปิดเผยก็ไม่บริบูรณ์ไม่พิสดาร ๓. แม้ถูกถามก็ไม่ เปิดเผยความชั่วของตน หรือเปิดเผยก็ไม่บริบูรณ์ไม่พิสดาร ๔. ไม่ต้องถามก็เปิดเผยคุณความดีของตน ยิ่งถูกถาม ก็ยิ่งกล่าวความดีของตนอย่างบริบูรณ์พิสดาร.
ส่วนสัตบุรุษ ( คนดี ) ทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม. ตรัสสอน ให้ภิกษุทั้งหลาย ทำตนเหมือนหญิงสาวที่นำมา ( สู่สกุลสามี ) ใหม่ ๆซึ่งมีความละอาย ความเกรง กลัวมากในแม่ผัว, พ่อผัว, ในสามี โดยที่สุดแม้ในทาสและกรรมกร แต่เมื่ออยู่ร่วมกันนานเข้าก็พูดรุกรานเอา ภิกษุ บวชใหม่ก็ฉันนั้น ย่อมมีความละอาย ความเกรงกลัวมากในภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา โดยที่สุดแม้ในคนทำ งานวัดและสามเณร แต่เมื่ออยู่ร่วมกันนานเข้าก็รุกรานเอา.
ทรงแสดงสิ่งที่เลิศ ๔ อย่าง คือ ศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุติ (ความ หลุดพ้น ). และอีก ๔ อย่าง คือรูป, เวทนา ( ความรู้สึกอารมณ์ ). สัญญา ( ความจำได้หมายรู้ ) และภพ ( ความมีความเป็น ).
เมื่อใกล้จะปรินิพพาน ตรัสเปิดโอกาสให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้มีความสงสัยในพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค ในข้อปฏิบัติ กราบทูลถามได้ อย่าเดือดร้อนภายหลังว่าอยู่ ต่อหน้าพระศาสดา แต่มิได้ถาม. แม้ตรัสถึง ๓ ครั้งก็ไม่มีผู้ถาม จึงตรัสว่า ถ้าไม่ถามเพราะความเคารพในพระ ศาสดา ก็ให้บอกแก่สหาย ( ถามแทนได้ ) แต่ก็ไม่มีใครถาม. พระอานนท์แสดงความอัศจรรย์ใจ พระผู้มีพระภาค เจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุที่ประชุมอยู่นี้อย่างต่ำเป็นพระโสดาบัน เที่ยงที่จะได้ตรัสรู้ในภายหน้า.
ตรัสเรื่องที่ไม่ควรคิด ( อจินไตย ) ๔ อย่าง คือวิสัย ของพระพุทธเจ้า, วิสัยของฌาน ( การทำจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ ). ผลของกรรม, ความคิดเรื่องโลก ( เช่น ใคร สร้างโลก เป็นต้น ).
ตรัสเรื่องความบริสุทธิ์ของทักขิณา ( ของถวาย ) ๔ อย่าง คือ ๑. บริสุทธิ์ฝ่ายผู้ให้ ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายผู้รับ ๒. บริสุทธิ์ฝ่ายผู้รับ ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายผู้ให้ ๓. ไม่บริสุทธิ์ทั้ง ฝ่ายผู้ให้ ผู้รับ ๔. บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายผู้ให้ ผู้รับ ( ทรงอธิบายความบริสุทธิ์ด้วยการมีศีลและกัลยาณธรรม ).
ตรัสตอบพระสาริบุตร แสดงการกระทำในชาติก่อน ของบุคคล ๔ ประเภทที่ปวารณาสมณพราหมณ์ ( อนุญาตให้ขอ ) แล้ว ไม่ให้ตามที่ขอ, ไม่ให้ตามที่ต้องการ, ให้ ตามต้องการ, ให้ยิ่งกว่าความต้องการ ( ขอน้อยให้มาก ) เป็นเหตุให้เป็นพ่อค้าที่ขาดทุน, ไม่ได้ผลตามที่ต้องการ ได้ผลตามต้องการ, ได้ผลดียิ่งกว่าที่ต้องการโดยลำดับ.
ตรัสตอบคำถามของพระอานนท์ เรื่องความชั่ว คือ ความโกรธ, ความริษยา, ความตะหนี่, ความมีปัญญาทรามว่าเป็นเหตุให้มาตุคามไม่ได้นั่งในสภา, ไม่ได้ทำการ งาน, ไม่ได้ถึงกัมโมชะ คือโอชะแห่งการงาน ( อรรถกถา อธิบายว่า ไม่ได้เดินทางไกลไปแคว้นกัมโพชะหรือไป นอกแว่นแคว้น ).
๔. ทรงแสดงความชั่วความดีฝ่ายละ ๔
ที่เป็นเหตุให้ บุคคลตกนรกขึ้นสวรรค์เหมือนถูกนำไปตั้งไว้ ( เช่น เกี่ยวกับศีล, ทุศีล, สุจริต, ทุจริต, หนักในความชั่ว, ไม่ หนักในความดี ). ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือผู้มืดมามืดไป, มืดมาสว่างไป, สว่างมามืดไป, สว่างมาสว่าง ไป โดยทรงแสดงว่า เกิดมาไม่ดี แล้วทำความชั่ว, เกิดมาไม่ดี แต่ทำความดี, เกิดมาดีแต่ทำความชั่ว, เกิดมาดี และทำความดี ( ดีชั่วกำหนดด้วยสุจริต ทุจริต ).
ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือพร่องมาพร่องไป, พร่องมาเต็มไป, เต็มมาพร่องไป, เต็มมาเต็มไป โดยอธิบายเช่นเดียวกับพวกมืดและสว่างข้างต้น.
ตรัสเรื่องบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. สมณะผู้ไม่หวั่น ไหวได้แก่พระเสขะ ( พระอริยบุคคลผู้ยังต้องศึกษา ) ผู้ปรารถนาความปลอดโปร่งจากกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ๒. สมณะดอกบัวขาว ได้แก่ภิกษุผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ( เป็นพระอรหันต์ ) แต่มิได้ถูก ต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย๒ ๓. สมณะดอกปทุม ( บัวหลวง ) ได้แก่ภิกษุผู้ทำให้แจ้งวิมุติทั้งสองนั้น แล้วได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย ๔. สมณะผู้ละเอียด ( สุขุมาล ) ในสมณะทั้งหลาย ได้แก่ภิกษุผู้ไม่มักมากในปัจจัย ๔ ต่อเมื่อมีผู้ขอร้องจึงใช้สอยมาก ไม่มีผู้ขอร้องก็ใช้สอยน้อย, มีโรคน้อย, ได้ฌาน ๔ ตามต้องการ,ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ
แล้วทรงแสดงสมณะ ๔ ประเภท ตามชื่อเดิมอีก ต่าง แต่คำอธิบายตามลำดับข้อ คือพระโสดาบัน, พระสกทาคามี, พระอนาคามี, พระอรหันต์.
อีกปริยายหนึ่ง ได้แก่ภิกษุผู้มีมรรค ๘, ผู้มีสัมมัตตะ, ๑๐ ( เพิ่มสัมมาญาณะ, สัมมาวิมุติ ) แต่ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย, ผู้มีสัมมัตตะ ๑๐ ทั้งได้ถูกต้อง วิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย, ผู้ไม่มีความมักมากในปัจจัย ๔
และอีกนัยหนึ่งทรงแสดงสมณะ ๔ ประเภท ตาม ชื่อเดิมดังกล่าวข้างต้นว่า ได้แก่ภิกษุผู้เป็นพระเสขะ, ผู้เห็นความเกิดความดับในขันธ์๕ แต่ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย, ผู้เห็นความเกิดความดับขันธ์ ๕ ทั้งได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย, ผู้ไม่มักมากในปัจจัย ๔.
๕. ตรัสแสดงอสูร ๔ ประเภท
คือ ๑. อสูรที่มีอสูร เป็นบริวาร ได้แก่บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรมมีบริษัทเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม ๒. อสูรที่มีเทพเป็นบริวาร ได้แก่ บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม แต่มีบริษัทเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ๓. เทพที่มีอสูรเป็นบริวาร ได้แก่บุคคลผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม แต่มีบริษัทเป็นผู้ทุศีลมีบาปธรรม ๔. เทพที่มีเทพเป็นบริวาร ได้แก่บุคคลผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม ทั้งมีบริษัทเป็นเช่นนั้นด้วย. ( พระสูตรนี้แสดงความเป็นยักษ์เป็นเทวดาด้วยคุณธรรม อันนับเป็นพระธรรมเทศนา ที่ทันสมัยอยู่ตลอดกาล ).
ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. ผู้ได้เจโตสมถะ ( ความสงบแห่งจิต ) ภายใน แต่ไม่ได้อธิปัญญา ธัมมวิปัสสนา ( ความเห็นแจ้งธรรมะ อันเป็นอธิปัญญา ). ๒. ผู้ได้อธิปัญญา ธัมมวิปัสสนา แต่ไม่ได้เจโตสมถะในภายใน ๓. ผู้ไม่ได้ทั้งสองอย่าง ๔. ผู้ได้ทั้งสองอย่าง.
ตรัสอธิบายขยายความ บุคคล ๔ ประเภทข้างต้น อีก หลายนัย
ตรัสแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. ผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อ ประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น เปรียบเหมือนดุ้นฟืนถูกไฟไหม้สองข้าง ตรงกลางก็เปื้อนอุจจาระ ใช้ประโยชน์ของ ไม้ในบ้านก็ไม่ได้ ในป่าก็ไม่ได้ ๒. ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่นไม่เพื่อประโยชน์ตน ยังดีกว่าข้อแรก ๓. ผู้ปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ตน ไม่เพื่อประโยชน์ผู้อื่น ยังดีกว่า ๒ ข้อข้างต้น ๔. ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น นับว่าดีกว่าทุกข้อ. ( พึงสังเกตว่า ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนหมายความว่า ทำตนให้บรรลุมรรคผล จึงยกย่องว่าสูง กว่าประโยชน์ผู้อื่น เพราะถ้าตนเองได้บรรลุ ก็อาจบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น. ยกตัวอย่าง ถ้าพระพุทธเจ้า ไม่ได้ตรัสรู้ ตั้งแต่ศาสนาขึ้นเพื่อสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ ย่อมไม่ได้ผลจริงจังเหมือนตรัสรู้ด้วยพระองค์เองก่อน ).
แล้วตรัสอธิบายบุคคล ๔ ประเภทในชื่อเดิมอีกหลายนัย เช่น ปฏิบัติเพื่อนำออกซึ่งราคะ, โทสะ, โมหะ ; ชักชวนผู้อื่นเพื่อการนั้นในหนึ่ง,
อีกนัยหนึ่ง พิจารณาได้เร็วในกุศลธรรม, ทรงจำธรรมะ ที่สดับแล้วได้ดี, พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมะที่ทรงจำไว้แล้ว, ปฏิบัติเพื่อรู้อรรถรู้ธรรม นี้เป็นฝ่ายประโยชน์ตน ส่วนประโยชน์ผู้อื่น คือชักชวนแนะนำเพื่อเป็นเช่นนั้น.
อีกนัยหนึ่ง ประโยชน์ตน คือเว้นจากการล่วงละเมิดศีล ๕ ประโยชน์ผู้อื่น คือชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการล่วงละเมิดศีล ๕ ( แม้ในนัยหลังนี้ การที่ตนอยู่ในศีลธรรมก่อนผู้ อื่น ก็ยังนับว่าสูงกว่าการดีแต่ชวนให้ผู้อื่นอยู่ในศีลธรรม แต่ตนเองล่วงละเมิด ).
ตรัสแสดงบุคคล ๔ ประเภท แก่โปตลิยปริพพาชก คือ ๑. ผู้ติคนที่ควรติ แต่ไม่ชมคนที่ควรชม ๒. ชมคนที่ควรชม แต่ไม่ติคนที่ควรติ. ๓. ไม่ติคนที่ควรติ ไม่ชม คนที่ควรชม ๔. ติคนที่ควรติ ชมคนที่ควรชม ทั้งสี่ประเภทนี้ มีข้อแม้อยู่ว่า เป็นไปโดยกาละและติชมตามความ จริง ปริพพาชกทูลว่า ตนชอบพอใจบุคคลประเภทที่ ๓ เพราะวางเฉย. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระองค์ชอบ บุคคลประเภทที่ ๔ เพราะรู้กาลนัยที่นั้น ๆ.
________________________________________
'๑' . นีวรณ์คือกิเลสอันกั้นจิตให้บรรลุความดี โดยปกติแสดงว่ากามฉันท์ความพอใจเป็น ข้อแรก บางแห่งก็ใช้คำว่าอภิชฌา ( ความเพ่งเล็งหรือโลภ ) ในที่นี้ใช้อภิชฌาวิสมโลภ ( โลภขนาดรุนแรง ) เป็น ข้อแรก
'๒' . วิโมกข์ ๘ มีอะไรบ้าง เรื่องทำนองนี้เคยมีรายละเอียดมาแล้ว ให้ย้อนกลับไปดูพระ ไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ชื่อทีฆนิกาย มหาวัคค์ (สุตตันตปิฎก )ตรง วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น ) ๑. ถึง ๘
ตติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๓
(ในหมวดนี้มี ๕ วรรคเช่นกัน วรรคที่ ๑ ชื่อวลาหกวรรค ว่าด้วยฝน หมวดที่ ๒ ชื่อเกสีวรรค ว่าด้วยนายเกสีผู้ฝึกม้า หมวดที่ ๓ ชื่อภยวรรค ว่าด้วยภัย หมวดที่ ๔ ชื่อปุคคลวรรค ว่าด้วยบุคคล หมวดที่ ๕ ชื่ออาภาวรรค ว่าด้วยแสงสว่าง).
๑. ทรงแสดงเรื่องฝน ๔ อย่าง
คือ ๑. คำราม แต่ไม่ตก ได้แก่บุคคลผู้พูด แต่ไม่ทำ ๒. ตก แต่ไม่คำราม ได้แก่บุคคลผู้ทำ แต่ไม่พูด ๓. ทั้งไม่คำรามทั้งไม่ตก ได้แก่ บุคคลผู้ทั้งไม่พูดทั้งไม่ทำ ๔. ทั้งคำรามทั้งตก ได้แก่บุคคลผู้ทั้งพูดทั้งทำ.
ทรงแสดงเรื่องฝนในลักษณะเดิมอีก ๔ อย่าง แต่ อธิบายถึงคุณสมบัติของบุคคลต่างออกไป ประเภท ๑ ได้แก่ผู้เรียนรู้ธรรมะ ( ศาสนาของพระศาสดามีองค์ ๙ ) แต่ ไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง. ประเภทที่ ๒ ได้แก่ผู้ไม่เรียนรู้ธรรมะ แต่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง. ประเภทที่ ๓ ได้แก่ผู้ทั้งไม่เรียนรู้ธรรมะทั้งไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง. ประเภทที่ ๔ ได้แก่ผู้ทั้งเรียนรู้ธรรมมะทั้งรู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง.
ทรงแสดงเรื่องหม้อ ๔ อย่าง คือหม้อที่เปล่า แต่ปิด, เต็ม แต่เปิด, เปล่าและปิด, เต็มและปิด ( หม้อเปล่า เทียบด้วยไม่รู้อริยสัจจ์ ๔, หม้อเต็ม เทียบด้วยรู้อริยสัจจ์ ๔, หม้อเปิด เทียบด้วยมีกริยาอาการไม่น่าเลื่อมใส, หม้อปิด เทียบด้วยมีกริยาอาการน่าเลื่อมใส ).
ทรงแสดงเรื่องห่วงน้ำ ๔ อย่าง คือห่วงน้ำที่ตื้น มีเงาลึก. ที่ลึก มีเงาตื้น, ที่ตื้น มีเงาตื้น, ที่ลึก มีเงาลึก. ( ลึก, ตื้น เทียบด้วยไม่รู้ หรือรู้อริยสัจจ์ ๔ เงาตื้น, เงา ลึก เทียบด้วยมีกริยาอาการไม่น่าเลื่อมใสหรือน่าเลื่อมใส ).
ทรงแสดงมะม่วง ๔ อย่าง คือดิบข้างใน สุกข้างนอก, สุกข้างใน ดิบข้างนอก, ดิบข้างใน ดิบข้างนอก, สุกข้างใน สุกข้างนอก ( ดิบ หรือสุกข้างใน เทียบด้วยไม่รู้หรือ รู้อริยสัจจ์ ๔ ; ดิบ หรือสุกข้างนอก เทียบด้วยมีกริยาอาการไม่น่าเลื่อมใสหรือน่าเลื่อมใส ).
ทรงแสดงหนู ๔ ประเภท คือขุดรู แต่ไม่อยู่, อยู่ แต่ ไม่ขุดรู, ไม่ขุดรูและไม่อยู่, ขุดรูและอยู่ ( ขุดรูหรือไม่ขุดรู เทียบด้วยเรียนหรือไม่เรียนธรรมะ ; อยู่หรือไม่อยู่ เทียบ ด้วยรู้อริยสัจจ์ ๔ หรือไม่ )
ทรงแสดงโคถึก ( โคมีกำลัง ) ๔ ประเภท คือร้าย ต่อโคของตน ไม่ร้ายต่อโคของผู้อื่น, ร้ายต่อโคของผู้อื่น ไม่ร้ายต่อโคของตน, ร้ายต่อโคของตน และร้ายต่อโค ของผู้อื่น, ไม่ร้ายต่อโคของตน และไม่ร้ายต่อโคของผู้อื่น ( ร้าย เทียบด้วยรุกรานหรือทำให้หวาดกลัว โคของตน ของผู้อื่น เทียบด้วยบริษัทของตนหรือของผู้อื่น ).
ทรงแสดงต้นไม้ ๔ อย่าง คือไม้กะพี้มีไม้กะพี้เป็น บริวาร, ไม้กะพี้มีไม้แก่นเป็นบริวาร, ไม้แก่นมีไม้กะพี้เป็นบริวาร, ไม้แก่นมีไม้แก่นเป็นบริวาร. ไม้กะพี้ เทียบ ด้วยบุคคลที่ทุศีล, ไม้แก่น เทียบด้วยบุคคลผู้มีศีล.
ทรงแสดงงูพิษ ๔ อย่าง คือพิษแล่น แต่ไม่ร้าย, พิษ ร้าย แต่ไม่แล่น, พิษทั้งแล่นทั้งร้าย, พิษทั้งไม่แล่นไม่ร้าย ( พิษแล่นหรือไม่แล่น เทียบด้วยขี้โกรธหรือไม่ ; พิษ ร้ายหรือไม่ร้าย เทียบด้วยมีความโกรธคงอยู่นานหรือไม่ ).
๒. ตรัสถามนายเกสี สารถีฝึกม้า
ว่า ฝึกอย่างไรบ้าง เขาตอบว่า ฝึกโดยวิธีหยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ทั้งหยาบทั้งละเอียดบ้าง ถ้าฝึกไม่ได้ก็ฆ่าเสีย เพื่อมิให้เสียชื่อสกุล อาจารย์. เมื่อเขาถามว่า ทรงฝึกคนอย่างไร ก็ตรัสตอบอย่างที่เขาตอบ โดยอธิบายว่า ฝึกโดยวิธีหยาบ คือชี้ความ ชั่วและผลของความชั่ว, วิธีละเอียด คือชี้ความดีและผลของความดี, วิธีทั้งหยาบทั้งละเอียด คือชี้ทั้งสองอย่าง. ฆ่าเสีย คือทั้งตถาคตและเพื่อนพรหมจารีไม่ว่ากล่าวสั่งสอนผู้นั้น.
ทรงแสดงม้าอาชาไนย ที่ดีของพระราชาประกอบด้วย องค์ ๔ คือความซื่อตรง, ฝีเท้า๑, ความอดทน, ความเสงี่ยม เปรียบด้วยภิกษุประกอบด้วยคุณธรรมทั้งสี่นี้ ก็เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก.
ทรงแสดงม้าอาชาไนยที่ดี ๔ ประเภท คือ ๑. เห็น เงาปฏักก็สำนึกตน ๒. ถูกปฏักแทงถึงขุมขนจึงสำนึกตน ๓. ถูกปฏักแทงถึงหนังจึงสำนึกตน ๔. ถูกปฏักแทง ถึงกระดูกจึงสำนึกตน. เทียบด้วยบุรุษอาชาไนย ๔ ประเภท คือ ๑. เพียงได้ฟังข่าวว่าคนอื่นทุกข์หรือตาย ก็เกิด สังเวช ตั้งความเพียร ทำให้แจ้งสัจจธรรมอันยิ่ง ๒. ต้องเห็นเองจึงเกิดความสังเวช แล้วตั้งความเพียร เป็นต้น ๓. ต้องเป็นญาติสายโลหิตของตน มีทุกข์หรือตายจึงเกิดสังเวช แล้วตั้งความเพียร เป็นต้น ๔. ต้องตัวเองได้รับ ทุกขเวทนากล้าแข็งเจ็บปวดจึงเกิดความสังเวช แล้วตั้งความเพียร เป็นต้น.
ทรงแสดงช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๔ จึงนับว่าควรแก่พระราชา คือรู้จักฟัง, รู้จักฆ่า, รู้จักอดทน, รู้จักไป เทียบด้วยภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ เช่น เดียวกัน ชื่อว่าเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ( รู้จักฟัง คือฟังธรรม, รู้จักฆ่า คือฆ่าความคิดที่ชั่ว, รู้จักอดทน คืออดทนหนาว ร้อน, สัมผัสเหลือบ ยุง เป็นต้น, รู้จักไป คือไปในทิศที่ไม่เคยไป คือไปพระนิพพาน ).
ทรงแสดงฐานะ ๔ คือ ๑. ฐานะที่ไม่น่าพอใจ ทำเข้า ก็เป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์ ๒. ฐานะที่ไม่น่าพอใจ แต่ทำเข้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ ๓. ฐานะที่น่าพอใจ แต่ทำ เข้าเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์ ๔. ฐานะที่น่าพอใจ ทั้งทำเข้าก็เป็นไปเพื่อประโยชน์.
ทรงแสดงว่า ควรทำความไม่ประมาทในฐานะ ๔ คือในการละทุจจริต ๓ และมิจฉาทิฏฐิ ในการเจริญสุจริต ๓ และสัมมาทิฏฐิ. เมื่อทำเช่นนั้นได้ ย่อมไม่กลัวความ ตายในอนาคต.
และควรทำความไม่ประมาทในฐานะ ๔ คือไม่ กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด, ไม่คิดประทุษร้ายในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความคิดประทุษร้าย, ไม่ หลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง, ไม่มัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา. เมื่อทำเช่นนั้นได้ ก็จะไม่ สดุ้งหวาดหวั่น ไม่ต้องไปตามถ้อยคำของสมณะ ( ไม่ถูกจูงไปตามชอบใจ ).
ทรงแสดงเรื่องสถานที่ควรสังเวช แต่ก็ควรดูของ กุลบุตรผู้มีศรัทธา ๔ แห่ง คือที่ซึ่งพระตถาคตประสูตร, ตรัสรู้, แสดงธรรมจักร ( แสดงธรรมครั้งแรก ),ปริ นิพพาน.
ทรงแสดงเรื่องภัย ( สิ่งที่น่ากลัว ) ๔ อย่าง คือความ เกิด, ความแก่, ความเจ็บไข้, ความตาย.
และภัยอีก ๔ อย่าง คือภัยอันเกิดจากไฟ, น้ำ, พระ ราชา, โจร.
๓. ทรงแสดงเรื่องภัย ๔ อย่าง
คือ ภัยอันเกิดจากการติ ตัวเองได้, ผู้อื่นติได้, การลงโทษ, ทุคคติ ( คติที่ชั่ว ).
ภัย ๔ อย่างสำหรับผู้ลงน้ำ คือภัยอันเกิดจากคลื่น, จระเข้, วังวน, ปลาร้าน ( คลื่นเปรียบด้วยความโกรธ, จระเข้เปรียบด้วยความเห็นแก่ปากแก่ท้อง, วังวนเปรียบ ด้วยกามคุณ ๕ คือรูป เสียง เป็นต้น ที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ, ปลาร้ายเปรียบด้วยมาตุคามหรือหญิง ข้อ เปรียบเทียบเหล่านี้สำหรับภิกษุ ).
ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือผู้ได้ฌานที่ ๑ ถึง ฌานที่ ๔ แล้วติดใจในฌานทั้งสี่นั้น เมื่อสิ้นชีวิต ก็ไปเกิดเป็นพรหมมีอายุ ๑ กัปป์. เกิดเป็นอาภัสสพรหมมีอายุ ๒ กัปป์. เกิดเป็นสุภกิณหพรหมมีอายุ ๔ กัปป์, เกิดเป็นเวหัปผลพรหมมีอายุ ๕๐๐ กัปป์ ( ตามลำดับฌานที่ ๑ ถึง ๔ )หมดอายุแล้วก็อาจไปสู่นรก กำเนิดดิรัจฉานและภูมิแห่งเปรตได้อีก ส่วนอริยสาวกไปเกิดในที่นั้นแล้ว หมด อายุแล้วก็ปรินิพพานในภพนั้น นี้เป็นความต่างกันระหว่างบุถุชนผู้มิได้สดับกับอริยสาวกผู้ได้สดับ.
ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือผู้ได้ฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ แล้วพิจารณาขันธ์ ๕ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จนถึงไม่ใช่ตัวตน เมื่อสิ้นชีวิต ย่อมเกิดในเทพชั้นสุทธาวาส อันไม่ทั่วไปแก่บุถุชน.
ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท ผู้เจริญพรหมวิหาร ๔ เมื่อสิ้น ชีวิตแล้วได้ไปเกิดในพรหมโลกตามลำดับชั้น ( เหมือนฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ ) เมื่อหมดอายุแล้ว อาจไปสู่นรก กำเนิด ดิรัจฉานและภูมิแห่งเปรตได้ ส่วนอริยสาวกเมื่อหมดอายุแล้วก็นิพพานในภพนั้น.
ทรงแสดงบุคคล ๔ อย่าง ผู้เจริญพรหมวิหาร ๔ แล้ว พิจารณาขันธ์ ๕ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เมื่อสิ้นชีวิตย่อมเกิดในเทพชั้นสุทธาวาส อันไม่ ทั่วไปแก่บุถุชน
ทรงแสดงว่า ความอัศจรรย์ ๔ ประการ ย่อมปรากฏ เพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ๑. เมื่อก้าวลงสู่พระครรภ์ ๒. เมื่อประสูติ ๓. เมื่อ ตรัสรู้ ๔. เมื่อทรงแสดงธรรมจักร จะมีแสดงสว่างอันโอฬารปรากฏขึ้น ก้าวล่วงเทวานุภาพ ส่องไปในที่แสงพระ จันทร์พระอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง ทำให้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในที่นั้น ๆ จำกันและกันได้ด้วยแสงสว่างนั้นว่า แม้ผู้อื่นก็ มีมาเกิดในที่นี้.
ทรงแสดงความอัศจรรย์ ๔ ประการ ที่ปรากฏ เพราะ เหตุเช่นเดียวกันอีก คือสัตว์ที่มีความยินดีในอาลัย ( กามคุณ ๕ ), มีความยินดีในมานะ ( ความถือตัว ), มีความยินดี ในความไม่สงบระงับ, มีความยินดีในอวิชชา ( ความไม่รู้ ) เมื่อฟังธรรมที่พระตถาคตทรงแสดง อันเป็นเครื่องนำ ออกซึ่งสิ่งเหล่านั้น ย่อมตั้งจิต เพื่อรู้ทั่วถึง ( ธรรมเหล่านั้น ).
ทรงแสดงความอัศจรรย์ ๔ อย่างในพระอานนท์ คือ บริษัทที่เป็นภิกษุ, ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา เข้าไปหา ก็ชื่นใจด้วยการดู, ชื่นใจด้วยการกล่าวธรรม ยังไม่ทันอิ่ม พระอานนท์ก็นิ่งเสีย ( ก่อน ).
ทรงแสดงความอัศจรรย์ ๔ อย่างในพระเจ้าจักรพรรดิ์ เช่นเดียวกับพระอานนท์ เป็นแต่เปลี่ยนบริษัทเป็นกษัตริย์, พราหมณ์, คฤหบดี, สมณะ เปลี่ยนจากกล่าวธรรมเป็นมี พระดำรัส แล้วตรัสเปรียบพระอานนท์ว่าเป็นเช่นนั้น.
๔. ทรงแสดงบุคคล ๔ประเภท
ตามคุณธรรม คือพระ สกทาคามี, พระอนาคามีประเภทมีกระแสในเบื้องบนเข้าถึงอกนิฏฐภพ, พระอนาคามีประเภทปรินิพพานในระหว่าง และพระอรหันต์. กำหนดคุณธรรมของท่านเหล่านี้ด้วยการละสัญโญชน์ ( กิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพ ).
บุคคล ๔ ประเภทอีกอย่างหนึ่ง คือผู้มีปฏิภาณสมควร แต่ไม่เปรื่องปราด, ผู้มีปฏิภาณเปรื่องปราด แต่ไม่สมควร, ผู้มีปฏิภาณสมควรด้วยเปรื่องปราดด้วย, ผู้มีปฏิภาณทั้ง ไม่สมควร ทั้งไม่เปรื่องปราด๒ ( ยุตตปฏิภาณในที่นี้ ผู้เขียนแปลว่า ปฏิภาณอันสมควร มุตตปฏิภาณแปลว่า ปฏิภาณเปรื่องปราด. ฉบับฝรั่งเป็นปฏิภาณ แปลว่า มีปัญญาถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ช้าหรือเร็ว แล้วแค่คำว่า ยุตต มุตต ที่นำมาประกอบข้างหน้า ).
บุคคล ๔ ประเภท คือรู้ได้ไว, ต้องอธิบายจึงรู้ได้, พอ แนะนำได้, ไม่มีทางจะรู้ ( ตรัสรู้ ) ได้.
บุคคล ๔ ประเภท คือที่เป็นอยู่ด้วยอาศัยผลของความ หมั่น มิใช่อาศัยผลของกรรม, อาศัยผลของกรรม ไม่อาศัยผลของความหมั่น, อาศัยทั้งสองอย่าง ไม่อาศัยทั้งสองอย่าง ( อาศัยผลของความหมั่น คือทำเอาในชาตินี้ ไม่อาศัยผลบุญเก่า, อาศัยผลของกรรม คืออาศัยผลของบุญและบาปเก่า ).
บุคคล ๔ ประเภท คือที่มีโทษ, มีโทษมาก, มีโทษน้อย, ไม่มีโทษ.
บุคคล ๔ ประเภท คือไม่ทำให้บริบูรณ์ในศีล สมาธิ และปัญญา, ทำให้บริบูรณ์ในศีล แต่ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิและปัญญา, ทำให้บริบูรณ์ในศีล สมาธิ แต่ไม่ทำ ให้บริบูรณ์ในปัญญา, ทำให้บริบูรณ์ทั้งในศีล สมาธิ และปัญญา.
บุคคล ๔ ประเภท คือผู้ไม่หนักในศีล, สมาธิ, ปัญญา ไม่มีศีล, สมาธิ, ปัญญาเป็นใหญ่ ; ผู้หนักในศีล, ไม่หนักในสมาธิ, ปัญญา, มีศีลเป็นใหญ่, ไม่มีสมาธิ, ปัญญา เป็นใหญ่ ; ผู้หนักในศีล, สมาธิ ไม่หนักในปัญญา, มีศีล, สมาธิเป็นใหญ่ ไม่มีปัญญาเป็นใหญ่ ; ผู้หนักในทั้งสาม มีทั้งสามเป็นใหญ่.
บุคคล ๔ ประเภท คือผู้มีกายหลีกออกแต่มีจิตไม่หลีก ออก, ผู้มีกายไม่หลีกออก แต่มีจิตหลีกออก, ผู้มีกายและจิตไม่หลีกออก, ผู้มีกายและจิตหลีกออก.
บุคคล ๔ ประเภท คือผู้แสดงธรรมพูดน้อย พูดไม่มี ประโยชน์ บริษัทก็ไม่ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์, ผู้แสดงธรรมพูดน้อย แต่พูดมีประโยชน์ บริษัทก็ ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์, ผู้แสดงธรรมพูดมาก พูดไม่มีประโยชน์ บริษัทก็ไม่ฉลาดในประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์, ผู้แสดงธรรมพูดมาก พูดมีประโยชน์ บริษัทก็ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์. ผู้แสดง ธรรมแต่ละประเภทย่อมนับได้ว่าเป็นผู้แสดงธรรมของบริษัทชนิดนั้น ๆ.
ผู้พูด ๔ ประเภท คือผู้พูดที่ถือเอาเนื้อความได้ แต่ถือ เอาพยัญชนะไม่ได้, ผู้พูดที่ถือเอาพยัญชนะได้ แต่ถือเอาเนื้อความไม่ได้, ผู้พูดที่ถือเอาไม่ได้ทั้งสองอย่าง.
๙. ทรงแสดงแสงสว่าง ๔ อย่าง
คือแสงจันทร์, แสงอาทิตย์, แสงไฟ, แสงปัญญา ในแสงทั้งสี่นี้แสดงปัญญาเป็นเลิศ๓.
ทรงแสดงกาล ๔ คือการฟังตามกาล, การสนทนา ธรรมตามกาล, การสงบระงับ ( สมถะ ) ตามกาล, การเห็นแจ้ง ( วิปัสสนา ) ตามกาล. แล้งทรงแสดงว่า เมื่อ อบรม ๔ นี้ให้ดีแล้วก็จะทำให้อาสวะสิ้นไปได้โดยลำดับ.
ทรงแสดงวจีทุจจริต คือพูดปด, พูดส่อเสียด, พูดคำ หยาบ, พูดเพ้อเจ้อ.
กับวจีสุจริต ๔ คือพูดจริง, พูดไม่ส่อเสียด, พูดละเอียด อ่อน, พูดมีคติ (มนุตาภาสา)๔
ทรงแสดงสาระ ๔ คือ คือสาระ อันได้แก่ศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุติ ( ความหลุดพ้น ).
________________________________________
'๑' . คำว่า ฝีเท้า เมื่อเทียบด้วยคุณธรรม ในพระสูตรนี้ไม่ได้แสดงไว้ แต่ในพระสูตรอื่น เคยเทียบด้วยฌานอรรถกถาแห่งพระสูตรนี้ ก็แก้ว่า ได้แก่ญาณเช่นเดียวกัน
'๒' . คำว่า ปฏิภาน ปฏิภาณ มีความหมายต่างกัน ปฏิภาน หมายถึงเชาวน์ปัญญา ส่วน ปฏิภาณ หมายถึงการโต้ตอบ คำบาลีในพระไตรปิฎกยังไม่ยุตินัก เพราะผู้ควบคุมการพิมพ์ อาจแก้ตัวอักษรเป็น ปฏิภาณแบบเดียวกันหมด. อรรถกถาแก้ว่า ยุตตปฏิภาณ คือถามปัญหาที่ควร มุตตปฏิภาณ คือถามไว
'๓' . ในที่นี้ทรงใช้คำเปลี่ยนไปหลายอย่าง ที่มีความหมายถึงแสงสว่างทั้งสิ้น คือ อาภา, ปภา, อาโลกะ, โอภาสะ, ปัชโชตะ
'๔' . ที่มาอื่น ๆกล่าวถึงสุจริตเพียงปฏิเสธว่าไม่ทำทุจจริต แต่ในที่นี้ชัดกว่านั้น
จตตุถปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๔
(มี ๕ วรรคเช่นเคย วรรคที่ ๑ ชื่ออินทริยวรรค ว่าด้วยธรรมอันเป็นใหญ่, วรรคที่ ๒ ชื่อปฏิปทาวรรค ว่าด้วยข้อปฏิบัติ, วรรคที่ ๓ ชื่อ สัญเจตนิยวรรค ว่าด้วยความจงใจ, วรรคที่ ๔ ชื่อ โยธาชีววรรค ว่าด้วยนักรบ, วรรคที่ ๕ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่).
๑. ทรงแสดงอินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่ ) ๔
คือความ เชื่อ, ความเพียร, ความตั้งใจมั่น, ปัญญา.
ทรงแสดงกำลัง ๔ อย่าง แบ่งเป็น ๔ นัย คือ ๑. กำลังคือความเชื่อ, ความเพียร, ความตั้งใจมั่น, ปัญญา. ๒. กำลังคือปัญญา, ความเพียร, ความไม่มีโทษ, การสงเคราะห์. ๓. กำลังคือความระลึกได้, ความตั้งใจมั่น, ความไม่มีโทษ, การสงเคราะห์. ๔. กำลังคือการ พิจราณา, การอบรม, ความไม่มีโทษ, การสงเคราะห์.
ทรงแสดงกัปป์ที่นับไม่ได้ ๔ อย่าง๑ คือสังวัฏฏกัปป์. สังวัฏฏัฏฐายีกัปป์, วิวัฏฏกัปป์, วิวัฏฏัฏฐายีกัปป์ ทั้งสี่กัปป์นี้นับไม่ได้โดยง่ายว่า เท่านี้ปี, เท่านี้ ร้อยปี, พันปี, แสนปี.
ทรงแสดงโรค ๒ อย่าง คือโรคทางกายและโรคทาง จิต แล้วตรัสว่า ผู้ที่ยืนยันความไม่มีโรคทางกายตั้งแต่ ๑ ปี ๒ ปี เป็นต้น ถึง ๕๐ ปี หรือแม้ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปี ยัง พอเห็นได้ แต่ผู้ที่จะยืนยันความไม่มีโรคทางจิตแม้เพียงครู่หนึ่ง นอกจากพระขีณาสพ ( ผู้สิ้นอาสวะคือกิเลสอันดอง สันดาน ) แล้ว ก็หาได้ยากในโลก.
แล้วทรงแสดงโรคของบรรพชิต ๔ อย่าง คือการที่ภิกษุ มีความปรารถนามาก ไม่สันโดษด้วยปัจจัย ๔ ตั้งความปรารถนาเพียรพยายาม เพื่อไม่ถูกดูหมิ่น เพื่อได้ลาภสักการะ ชื่อเสียง ๑. เข้าสู่สกุล ๒. นั่ง ๓. กล่างธรรม ๔. กลั้นอุจจาระปัสสาวะ เพื่อให้เขารู้จักตน.
พระสาริบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่า ภิกษุ ภิกษุณีจะรู้ว่าเสื่อมจากอกุศลธรรมหรือไม่ ให้พิจารณาธรรม ๔ อย่างในตน คือความเป็นผู้ไพบูลด้วยราคะ, โทสะ, โมหะ และปัญญาจักษุของผู้นั้นไม่เป็นไปในฐานะที่ควรและไม่ควรอันลึกซึ้ง.
พระอานนท์แสดงธรรมแก่นางภิกษุณีรูปหนึ่ง ผู้ใช้ คนไปนิมนต์ อ้างว่าตนเป็นไข้ โดยชี้แจงว่ากายเกิดขึ้นเพราะอาหาร, ตัณหา, มานะ ( ความถือตัว ) และเมถุนบุคคล พึงอาศัยอาหาร ละอาหาร, อาศัยตัณหา ละตัณหา, อาศัยมานะ ละมานะได้ แต่เมถุนบุคคลพึงละ พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า พึงชักสะพานเสีย ( ละโดยเด็ดขาด ) นางภิกษุณีได้สดับ ก็ลุกขึ้นจากเตียงกล่าวขอขมา.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระตถาคตและพระวินัยของพระ ตถาคตเมื่อตั้งอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่คนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก ( ตรัสอธิบายว่า ธรรม ที่พระตถาคตแสดงแล้ว เรียกพระวินัยของพระตถาคต ).
ตรัสแสดงธรรม ๔ อย่างว่า เป็นไปเพื่อความเลอะเลือน เพื่ออันตรธาน แห่งพระสัทธรรม คือ ๑. ภิกษุทั้งหลายเรียนพระสูตรด้วยบทพยัญชนะที่ยกขึ้นผิด มีเนื้อความอันแนะนำผิด ๒. ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่ายาก ๓.ภิกษุผู้สดับตรับฟังมากไม่สอนผู้อื่นให้ท่อง จำพระสูตรโดยเคารพ เมื่อภิกษุผู้สดับฟังมากเหล่านั้นล่วงลับไป พระสูตรก็ชื่อว่ามีมูลรากอันขาด ( ไม่มีผู้ทรง จำได้ ) ก็ไม่เป็นที่พึ่ง ๔. ภิกษุผู้เป็นเถระเป็นผู้มักมาก ย่อหย่อน เอาแต่นอนหลับทอดธุระในความสงัด ไม่ปรารภ ความเพียรเพื่อบรรลุธรรมที่ยังมิได้บรรลุ ทำให้คนรุ่นหลังถือเป็นตัวอย่าง. ในทางดีทรงแสดงโดยนัย ตรงกันข้าม.
๒. ทรงแสดงปฏิปทา ๔ อย่าง
มีชื่อเดียวกัน แต่ต่างใน คือ ๑. ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า ๒. ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว ๓. ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า ๔. ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว.
ทรงแสดงปฏิปทา ๔ อย่าง มีชื่อเดียวกัน แต่ต่างใน คือ ๑. ปฏิบัติไม่อดทน ๒. ปฏิบัติอดทน ๓. ปฏิบัติข่ม ๔. ปฏิบัติสงบ.
พระมหาโมคคัลลานะตอบพระสาริบุตร ว่า ท่านอาศัย การปฏิบัติลำบาก และรู้ได้ช้า มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ.
พระสาริบุตรตอบพระมหาโมคคัลลานะ ว่า ท่านอาศัย การปฏิบัติสะดวก และรู้ได้เร็ว มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ.
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. ผู้ต้อง ใช้ความเพียรดับกิเลสได้ในปัจจุบัน ๒. ผู้ต้องใช้ความเพียร ดับกิเลสได้เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ๓. ผู้ไม่ต้องใช้ความเพียร ดับกิเลส ได้ในปัจจุบัน ๔. ผู้ไม่ต้องใช้ความเพียร ดับกิเลสได้เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ( สองประเภทแรกตรัสอธิบายในทางผู้ปฏิบัติสายวิปัสสนา สองประเภทหลังตรัสอธิบายในทางผู้ปฏิบัติสายสมถะ ส่วนที่ดับกิเลสได้ในปัจจุบัน หรือเมื่อตายไปแล้ว ขึ้นอยู่แก่อินทรีย์ คือ ธรรมอันเป็นใหญ่ มีกำลังแรงหรืออ่อน ).
พระอานนท์แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุภิกษุณีที่ พยากรณ์การบรรลุความเป็นพระอรหันต์ ( พูดว่าได้บรรลุ ) ในสำนักของเรา ย่อมมีทางเป็นไปได้อย่างใดอย่างหนึ่ง รวม ๔ ทาง คือ ๑. เจริญวิปัสสนา ( ปัญญาอันเห็นแจ้ง ) มีสมถะเป็นหัวหน้า มรรคเกิดขึ้นเมื่เจริญมรรคก็ละสัญโญชน์ ( กิเลส ที่ร้อยรัดหรือผูกมัด ) ได้ กิเลสพวกอนุสัย ( แฝงตัวหรือนอนอยู่ในสันดาน ) ย่อมไปหมด ๒. เจริญสมถะ ( ความสงบใจ ) มีวิปัสสนาเป็นหัวหน้า แล้วหมดกิเลส ๓. เจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาคู่กัน แล้วหมดกิเลส ๔. มีจิตแยกจากความฟุ้งสร้าน ในธรรม ( วิปัสสนูปกิเลส =เครื่องทำวิปัสสนาให้เศร้าหมอง เช่น สิ่งที่ทำให้หลงเข้าใจผิดมีแสงสว่าง เป็นต้น ) จิตสงบตั้งหมั่น ในภายในมีอารมณ์เป็นหนึ่งแล้วหมดกิเลส.
๓. ทรงแสดงว่า เมื่อมีกาย วาจา ใจ
สุขทุกข์ภายในย่อมเกิดขึ้น เพราะมีเจตนาทางกาย วาจา ใจ เป็นเหตุ, หรือเพราะอวิชชา ( ความไม่รู้ ) เป็นปัจจัย เกิดสุขทุกข์ภายในขึ้น เพราะปรุงกาย สังขาร,วจีสังขาร, มโนสังขาร ( ปรุงเจตนาทางกาย วาจา ใจ ) เองก็ตาม, ผู้อื่นปรุงก็ตาม ( ผู้อื่นชักชวน ) รู้ตัวก็ตาม ( ทำไป อย่างผู้รู้ผิดชอบ ), ไม่รู้ตัวก็ตาม ( ทำไปอย่างไม่รู้ผิดชอบ ) อวิชชาชื่อว่าตกไปตามในธรรมเหล่านั้น คือเกี่ยวข้องอยู่ทั่วไป ) ๒เพราะดับอวิชชาได้โดยไม่เหลือ อื่น ๆ ก็ดับไปด้วย. แล้วทรงแสดงการได้อัตตภาพ ๔ อย่าง ที่เนื่องด้วย เจตนาของตนบ้าง ของผู้อื่นบ้าง แล้วตรัสตอบปัญหาของพระสาริบุตร เรื่องผู้ที่มาเกิดและไม่มาเกิดอีก.
พระสาริบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงปฏิสัมภิทา ( ความแตกฉาน ) ๔ อย่างที่ท่านทำให้แจ้ง คือความแตกฉานในอรรถ ( เนื้อความ ), ในธรรม ( คำสอน ), ในนิรุตติ ภาษาพูด ) และในปฏิภาณ ( ญาณความรู้ ) เป็นเหตุให้ท่านตอบปัญหาได้ในที่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา.
พระสาริบุตรตอบปัญหาของพระมหาโกฏฐิตะ ผู้ถามว่า เพราะดับอายตนะสำหรับถูกต้อง ๖ ( ตา หู เป็นต้น ) โดยไม่เหลือ ยังมีอะไรอย่างอื่นอยู่อีก โดยตอบว่า ไม่ควรกล่าวว่า มีอะไรอื่น, ไม่มีอะไรอื่น, มีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่. เพราะเมื่อพูดเช่นนั้น ก็จะชื่อว่ากล่าวถึงธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ให้กลายเป็น เนิ่นช้า ( คำว่า เนิ่นช้า หมายถึงโลกิยธรรม ยังห่างจากพระนิพพาน ) แล้วเฉลยว่า เพราะดับอายตนะสำหรับถูกต้อง ๖ ก็ เป็นความดับ, ความสงบระงับแห่งธรรมที่เนิ่นช้า.
พระมหาโกฏฐิตะตอบปัญหาของพระอานนท์ ในทำนอง เดียวกับที่พระสาริบุตรตอบ.
พระสาริบุตรตอบปัญหาของพระอุปวานะ ผู้ถามว่า ภิกษุทำที่สุดทุกข์ได้ด้วยวิชชาใช่หรือไม่, ด้วยจรณะ ( ความประพฤติ ๑๕ อย่าง ) ใช่หรือไม่, ด้วยทั้งวิชชาและจรณะ ใช่หรือไม่, เว้นจากทั้งสองอย่างใช่หรือไม่, โดยตอบปฏิเสธว่า ไม่ใช่เช่นนั้นสักข้อเดียว เพราะถ้าเป็นอย่าง ๓ ข้อแรก ผู้ทำที่สุดทุกข์ ( ผู้ทำให้ทุกข์สิ้นไป ) ก็ยังมีอุปาทาน ( ความยึดถือ ) ถ้าเป็นอย่างข้อหลัง บุถุชนก็จะทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะ บุถุชนเป็นผู้เว้นจากวิชชาและจรณะ ผู้วิบัติจากจรณะ ย่อมไม่รู้เห็นตามเป็นจริง ผู้สมบูรณ์ด้วยจรณะ ย่อมรู้เห็นตามจริง ย่อมทำที่สุดทุกข์ได้ ( ธรรมะที่โต้ตอบกันนี้ละเอียดอ่อนมาก ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณตามไปด้วยดี )
พระผู้มีพระภาค ตรัสสอนให้เอาอย่างพระสาริบุตรและพระ โมคคัลลานะ เป็นต้นดั่งที่กล่าวมาแล้วในเอกนิบาต ( ธรรมะจำนวน ๑ ).
ตรัสสอนพระราหุล มิให้ยึดถือธาตุ ๔ ว่าเป็นของเรา เรา เป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา ให้เห็นธาตุ ๔ ว่า มิใช่ตน มิใช่สิ่งที่เนื่องด้วยตน
ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. ภิกษุผู้เข้าเจโตวิมุติ ๓ อันสงบระงับอย่างใดอย่างหนึ่ง, ใส่ใจความดับกายของตน ๔ จิตของเธอไม่แล่นไป ไม่ตั้งอยู่ในความดับกายของตน เธอจึงหวังความดับกายของตนไม่ได้ ๒. ภิกษุผู้เข้าเจโตวิมุติ ( เหมือนข้อ ๑ ) จิตของเธอแล่นไปตั้งอยู่ในความดับกายของตน เธอจึงหวังความดับกายของตนได้ ๓. ภิกษุผู้เข้าเจโตวิมุติ อันสงบระงับ อย่างใดอย่างหนึ่งใส่ใจในการทำลายอวิชชา จิตของเธอไม่แล่นไป ไม่ตั้งอยู่ในการทำลายอวิชชา เธอจึงหวังการทำลายอวิชชาไม่ได้ ๔. ภิกษุผู้เข้าเจโตวิมุติ ( เหมือนข้อ ๓ ) จิตของเธอแล่นไป ตั้งอยู่ในการทำลายอวิชชา เธอจึงหวังการทำลายอวิชชาได้.
พระสาริบุตรตอบปัญหาของพระอานนท์ ที่ว่าเหตุไรสัตว์ บางเหล่าในโลกนี้จึงไม่นิพพานในปัจจุบัน โดยชี้แจงว่า เพราะสัตว์เหล่านั้นไม่รู้ตามความจริงว่า ๑. ธรรมเหล่านี้เป็นฝ่าย เสื่อม ๒. ธรรมเหล่านี้เป็นฝ่ายเสมอตัว ๓. ธรรมเหล่านี้เป็นฝ่ายได้กำไร ๔. ธรรมเหล่านี้เป็นฝ่ายทำลายกิเลส ๕ .
เมื่อประทับ ณ โภคนคร พระผู้มีพระภาคตรัสมหาปเทส ( ข้ออ้างใหญ่ ) สำหรับตัดสินพระธรรมวินัย ๔ ประการ คือ ไม่พึงรับรอง ไม่พึงคัดค้าน ๑. เมื่อภิกษุอ้างว่าได้สดับ ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ๒. เมื่อภิกษุอ้างว่าพระสงฆ์ในอาวาสโน้น??พร้อมด้วยพระเถระ และผู้เป็น หัวหน้าได้สดับ ได้รับมาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ๓. เมื่อภิกษุอ้างว่าตนได้สดับได้รับมาในที่เฉพาะหน้าของ พระเถระมากหลายในโอวาสโน้น ซึ่งเป็นผู้สดับตรับฟังมาก จำพระสูตรได้ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ๔. เมื่อภิกษุ อ้างว่าตนได้สดับ ได้รับมาในที่เฉพาะหน้าของพระเถระรูปหนึ่งในโอวาสโน้น ซึ่งเป็นผู้สดับตรับฟังมาก ( เหมือนข้อ ๓ ). การได้สดับ ได้รับมาทั้งสี่ข้อนั้น มีใจความว่านี้เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสอนของพระศาสดา, พึงทรงจำบทพยัญชนะ นั้น ๆ ให้ดีแล้วสอบในพระสูตร เทียบในพระวินัย ถ้าไม่เข้ากัน ก็พึงแน่ใจว่า ไม่ใช่ถ้อยคำของพระผู้มีพระภาค. ภิกษุนี้ถือ มาผิด พึงทิ้งเสีย ถ้าเข้ากันได้ ( กับพระสูตรพระวินัย ) พึงแน่ใจว่า ใช่ถ้อยคำของพระผู้มีพระภาค ภิกษุนี้ถือมาถูกแล้ว.
๔. ทรงแสดงนักรบประกอบด้วยองค์ ๔
ว่า ควรแก่พระ ราชา คือ ๑. ฉลาดในภูมิประเทศเทียบด้วย ภิกษุผู้มีศีล ๒. ยิงไกล เทียบด้วยภิกษุผู้เห็นด้วยปัญญาตามเป็นจริง ไม่ ยึดถือขันธ์ ๕ ๓. ยิงไว เทียบด้วยภิกษุผู้รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง ๔. ทำลายกายใหญ่ เทียบด้วยภิกษุผู้ทำลายกองแห่ง อวิชชาใหญ่ได้.
ทรงแสดงว่า ไม่มีใคร ๆ เป็นประกันได้ ถึงสิ่งที่มีความแก่, ความเจ็บ, ความตายเป็นธรรมดา มิให้แก่, เจ็บ, ตายได้ กับไม่มีใครเป็นประกันได้ ถึงผลของกรรมชั่ว มิให้เกิดขึ้นได้.
ตรัสตอบวัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ แคว้นมคธ ผู้กล่าว ว่า ตนมีความเห็นว่า ผู้กล่าวถึงสิ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง ได้ทราบ ได้รู้ เป็นผู้ไม่มีโทษ โดยทรงชี้แจงว่า พระองค์ไม่ตรัสว่า สิ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง เป็นต้นนั้น ควรกล่าว หรือไม่ควรกล่าวทั้งหมด, ถ้ากล่าวเข้า อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ก็ไม่ ควรกล่าว, ถ้ากล่าวเข้า อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญ ก็ควรกล่าว.
ตรัสตอบชาณุสโสณิพราหมณ์ ผู้กล่าวว่า ตนเห็นว่าไม่มีใครที่จะ ต้องตายเป็นธรรมดา ไม่กลัวไม่หวาดสะดุ้งต่อความตาย. ฝ่ายที่กลัว ที่หวาดสะดุ้ง คือยังไม่ปราศจากราคะตัณหาในกาย ยัง รักกาม ; รักกาย ; ไม่ได้ทำความดีไว้ ; มีความสงสัยในพระสัทธรรม. ฝ่ายที่ไม่กลัว ไม่หวาดสะดุ้ง คือที่ตรงกันข้าม.
ตรัสแสดงสัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการ๖ แก่นักบวชลัทธิอื่น คือ ๑. สัตว์ทั้งปวงไม่ควรฆ่า ๒. กามไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ๓. ภพทั้ง ปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ๔. พราหมณ์ไม่ยึดถือสิ่งใด ๆ .
ตรัสตอบปัญหาของภิกษุรูปหนึ่งดังต่อไปนี้ ๑. โลกอันจิต ย่อมนำไป ย่อมคร่าไป ไปสู่อำนาจของจิตที่เกิดขึ้นแล้ว. ๒. พระองค์แสดงธรรมไว้มาก ( มีถึง ๙ ลักษณะ ที่เรียกว่า นวังคสัตถุศาสนา มีพระสูตร เป็นต้น ) ภิกษุรู้เนื้อความรู้ธรรมะแห่งคาถาแม้เพียง ๔ บท แต่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็ควรแก่คำว่า สดับตรับฟังมาก เป็นผู้ทรงธรรมได้ ๓. ผู้เข้าใจตลอดเนื้อความ เห็นอริยสัจจ์ ๔ ด้วยปัญญา ชื่อว่าผู้มี นิพเพธิกปัญญา ( ปัญญาชำแรกหรือทำลายกิเลส ). ๔. ผู้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตมีปัญญามาก คือผู้ไม่คิดเบียดเบียนตน ไม่คิด เบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย คิดแต่ประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์แก่โลก ทั้งปวง.
ตรัสตอบคำถามของวัสสการพราหมณ์ ว่า ไม่เป็นไปได้ ที่คนชั่ว๗ จะรู้จักคนชั่วว่าเป็นคนชั่ว จะรู้จักคนดีว่าเป็นคนดี แต่เป็นไปได้ที่คนดีจะรู้จักคนดีว่าเป็นคนดี จะรู้จักคนชั่วว่าเป็นคนชั่ว จะรู้จักคนดีว่าเป็นคนดี แต่เป็นไปได้ที่คนดีจะรู้จักคนดีว่าเป็นคนดี จะรู้จักคนชั่วว่าเป็นคนชั่ว วัสสการพราหมณ์กราบทูลแสดงความพอใจ แล้วยกตัวอย่างจริง ๆ ประกอบพุทธดำรัส๘.
อุปกะบุตรแห่งนางมัณฑิกา ( เป็นผู้ฝักฝ่ายของพระเทวทัต ) ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ตนเห็นว่าผู้ติเตียนผู้อื่น ย่อมไม่ทำความดีให้เกิดขึ้น นับเป็นคนควรถูกติเตียนว่ากล่าว ( ที่พูดเช่นนี้ เพื่อจะเสียดสีที่พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระเทวทัต ). พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ทำเช่นนั้น และควร ถูกติเตียนว่ากล่าว ( เพราะการที่พูดเช่นนี้ ก็เพื่อหาทางจะติเตียนผู้อื่น ). อุปกะก็ได้สติ ยอมรับว่าพระผู้มีพระภาคทรงนำบ่วง คือวาทะคล้องตัวเขา ซึ่งกำลังโผล่พ้นน้ำขึ้นมา. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ทรงบัญญัติเรื่องอกุศล เรื่องควรละอกุศล เรื่องกุศล เรื่องควรเจริญกุศล. อุปกะนำความนั้นไปกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรุก็ถูกพิโรธขับไล่ไม่ต้องการจะทรงเห็นอีก เพราะรุกราน พระผู้มีพระภาค .
ทรงแสดงธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ๔ ประการ คือ ๑. ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยนามกาย ได้แก่วิโมกข์ ๘ ( ให้ย้อนกลับไปดูเล่มที่ ๑๐ ที่ชื่อทีฆนิกาย มหาวัคค์(เป็นสุตตันตปิฎก) ตรงบนที่ วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น ) ๘ ประกอบด้วย ) ๒. ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยสติ ได้แก่ปุพเพนิวาส ( ความเป็นอยู่ในชาติ ก่อน ) ๓. ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยจักษุ ได้แก่จุตูปปาตะ ( การเคลื่อน การเข้าถึง หรือการตาย การเกิดเห็นได้ด้วยทิพยจักษุ ) ๔. ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาได้แก่อาสวักขยะ ( ความสิ้นไปแห่งอาสวะ คือหมดกิเลส ).
ตรัสสรรเสริญภิกษุสงฆ์ ที่ประชุมกันในวันอุโบสถว่า ในหมู่ภิกษุ นั้น มีภิกษุที่บรรลุความเป็นเทพ คือผู้ได้ฌาน ๔ ; มีภิกษุที่บรรลุความเป็นพรหม คือผู้เจริญพรหมวิหาร ๔ ; มีภิกษุที่บรรลุความ เป็นผู้ไม่หวั่นไหว
( อาเนญชัปปัตตะ ) ได้แก่ภิกษุผู้เจริญอรูปฌาน ๔ ( ตรงนี้เป็นอันยืนยันว่า อาเนญชะนั้น ได้แก่อรูปฌาน ๔ แต่ในที่อื่นตรัสแสดงถึงรูปฌาน ๔ ด้วย ( โปรดดูบันทึกในเล่มที่ ๑๔ ชื่อมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ( เป็นสุตตันตปิฎก ) ในหัวข้อที่ ๖.อาเนญชสัปปายสูตร ) ; มีภิกษุผู้บรรลุความเป็นอริยะ ได้แก่ ผู้รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง .
๕. ทรงแสดงอานิสงส์ ( ผลดี ) ๔ ประการ
แห่งธรรมที่ได้สดับ ที่ขึ้นปาก ที่เพ่งดวงใจ ที่ขบด้วยทิฏฐิ คือ ๑. ภิกษุเรียนธรรมแล้วหลงลืมสติ ทำกาละ ( ตาย ) เข้าถึงเทพนิกายพวกใดพวก หนึ่ง. บทแห่งธรรมของเธอผู้มีความสุขย่อมแจ่มชัด สติเกิดขึ้นช้า เธอย่อมก้าวหน้าไปสู่คุณวิเศษโดยรวดเร็ว( วิเสสคามี ) ๒. ภิกษุเรียนธรรมแล้วหลงลืมสติ ทำกาละ เข้าถึงเทพนิกายพวกใด พวกหนึ่ง. บทแห่งธรรมของเธอผู้มีความสุขไม่แจ่มชัด แต่ว่าเธอมีฤทธิ์ บรรลุความเป็นผู้เชี่ยวชาญทางจิต( เจโตวสิปตุโต ) ย่อมแสดงธรรมแก่เทวบริษัท สติเกิดขึ้นช้า เธอย่อมก้าวหน้าไปสู่ คุณวิเศษโดยรวดเร็ว. ๓. เหมือนข้อ ๒ แต่บทแห่งธรรมไม่ปรากฏ เธอไม่มีฤทธิ์ ไม่บรรลุความเชี่ยวชาญทางจิตแสดงธรรม แต่ได้แสดงธรรมแก่เทวบริษัท สติเกิดขึ้นช้า เธอย่อมก้าวหน้าไปสู่คุณวิเศษโดยรวดเร็ว ๔. เหมือนข้อ ๓ เธอไม่มีคุณสมบัติ ทั้งสามอย่าง แต่เตือนผู้เกิดภายหลังให้ระลึกได้ว่าเคยประพฤติพรหมจรรย์ สติเกิดขึ้นช้า เธอย่อมก้าวหน้าไปสู่คุณวิเศษโดย รวดเร็ว.
ทรงแสดงฐานะ ๔ ที่พึงทราบได้โดยฐานะ ๔ คือ ๑. ศีล พึงทราบได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน ๒. ความสะอาดพึงทราบได้ด้วยการสนทนา ๓. กำลัง ( ใจ ) พึงทราบได้ในเวลามีอันตรายเกิด ขึ้น ๔. ปัญญา พึงทราบได้ด้วยการถาม การตอบ. ทั้งสี่ข้อนี้ ต้องอาศัยเวลานาน และผู้ทราบก็ต้องใส่ใจและมีปัญญา.
ตรัสแสดงธรรมแก่เจ้าลิจฉวีชื่อภัททิยะ ผู้มาทูลถามว่า มีคนเขา พูดกันว่า พระองค์มีมายา รู้มายาเป็นเครื่องกลับใจคน ซึ่งใช้เป็นเครื่องกลับใจสาวกเดียรถีย์อื่น ๆ จะเป็นการหาความหรือไม่. ตรัสตอบว่า ไม่ควรเชื่อโดยฟังตามกันมา เป็นต้น ( ๑๐ ประการดั่งกล่าวไว้แล้ว ดูที่ ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒ กล่าวไว้ว่า ทรงตรัสสอนมิให้เชื่อ ๑. โดยฟังตามกันมา ๒. โดยนำสืบกันมา ๓.โดยตื่นข่าวลือ ๔. โดยอ้างตำรา ๕. โดยนึกเดาเอา ๖.โดยคาดคะเน ๗. โดยตรึกตามอาการ ๘. โดยพอใจว่าชอบแก่ความเห็นของตน ๙. โดยเห็นว่าพอเชื่อถือได้ ๑๐. โดยเห็นว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา แต่ให้สอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเอง ) ต่อเมื่อรู้ได้ด้วย ตนเองว่า ชั่วดีอย่างไร จึงค่อยละหรือทำให้เกิดมีขึ้น แล้วตรัสถามให้เห็นโทษของโลภะ โทสะ โมหะ และคุณของอโลภะ อโทสะ อโมหะ ด้วยตนเอง. ครั้นแล้วตรัสว่า ผู้ใดเป็นคนดี ผู้นั้นย่อมชักชวนสาวกให้ละโลภะ โทสะ โมหะ สารัมภะ ( ความ แข่งดี ). เจ้าลิจฉวีชื่อภัททิยะ ก็เลื่อมใสในพระธรรมเทศนา ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า เราได้กล่าวหรือเปล่าว่า จงมาเป็นสาวกของเรา เราจักเป็นศาสดาของท่าน ภัททิยะลิจฉวีกราบ ทูลว่า มิได้ตรัสดังนั้น แล้วกราบทูลสรรเสริญว่า มายากลับใจนี้ ( ถ้าเป็นมายาจริง ) ก็ดีและเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุข แก่ทุกคน.
พระอานนท์แสดงธรรมแก่ราชบุตรแห่งโกลิยกษัตริย์ ชาว สาปุคนิคมหลายองค์ ถึงองค์แห่งความเพียร เพื่อความบริสุทธิ์ ๔ อย่าง คือองค์แห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์แห่งศีล. แห่งจิต, แห่งทิฏฐิ ( ความเห็น ) และแห่งวิมุติ ( ความหลุดพ้น ) โดยชี้ไปที่การสำรวมในพระปาฏิโมกข์, การเข้าฌาน ๔, การรู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง, การทำจิตให้คลายกำหนัดในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด การเปลื้องจิตในธรรมที่ควร เปลื้องโดยลำดับครบ ๔ ข้อ.
พระมหาโมคคัลลานะ ถามวัปปศากยะผู้เป็นสาวกของนิครนถ์ ถึงเรื่องฐานะที่เป็นเหตุให้อาสวะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาท่วมทับบุคคลในโลกหน้า ( สัมปรายภพ ) พระผู้มีพระภาคเสด็จ มาตรัสถามและตรัสโต้ตอบกับวัปปศากยะ โดยทรงตั้งปัญหาให้ตอบ และเห็นจริงได้ด้วยตนเองว่า อาสวะที่เกิดขึ้นเพราะ ความริเริ่มทางกาย วาจา ใจ และเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ถ้าบุคคลเว้นได้ไม่ทำกรรมใหม่ ทั้งทำกรรมเก่าให้สิ้นไป ก็จะไม่เห็น ฐานะที่อาสวะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาท่วมทับบุคคลในโลกหน้า. ในที่สุดวัปปศากยะกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต๙.
( รวมเป็นบุคคลสำคัญ ๓ คนที่เปลี่ยนศาสนาจากนิครนถ์มาเป็นพุทธศาสนิก คือวัปปศากยะ ผู้เป็นอาพระพุทธเจ้า, สีหเสนาบดีแห่งกรุงเวสาลี แคว้นวัชชี และอุบาลีคฤหบดีแห่งเมืองนาฬันทา ( สีหเสนาบดีเปลี่ยนศาสนา....สีหเสนาบดีเป็นสาวกนิครนถ์ ( ศาสนาเชน ) ได้ฟังคณะกษัตริย์ลิจฉวี สรรเสริญคุณพระรัตนตรัยก็ใคร่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อไปปรึกษากับอาจารย์คือนิครนถนาฏบุตร ก็ถูกห้ามปราบถึง ๓ ครั้ง ในที่สุดได้ตัดสินใจไปเฝ้าโดยไม่บอกอาจารย์. เมื่อได้ไปเฝ้ากราบทูลถามถึงข้อที่มีคนกล่าวหาพระผู้มีพระภาค ซึ่งได้ทรงชี้แจงโดย ละเอียดแล้วทรงแสดงธรรมโปรด. สีหเสนาบดีได้ดวงตาเป็นธรรม ( เป็นโสดาบันบุคคล ) และได้นิมนต์ฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น. พวกนิครนถ์เที่ยวพูดว่า สีหเสนาบดีฆ่าสัตว์มาทำเป็นอาหารเลี้ยงพระ พระสมณโคดมรู้อยู่ก็ยังฉันเนื้อสัตว์นั้น. สีหเสนาบดีได้ทราบ ก็ปฏิเสธว่าไม่จริง แล้วก็ถวายอาหารแด่พระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ต่อไปจนเสร็จ. พระผู้มีพระภาคทรงปรารภเหตุนั้น จึงทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามฉันเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่านำถวายเจาะจงภิกษุ ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้ฉัน และทรงอนุญาตปลาและ เนื้อที่บริสุทธิ์โดยเงื่อนไข ๓ ประการ คือ ไม่ได้เห็น, ไม่ได้ฟัง, ไม่ได้นึกรังเกียจ ( ว่าเขาฆ่าเพื่อให้ตนรับบริโภค ). และให้ย้อนไปดูเล่มที่ ๕ ชื่อมัชฌิมนิกาย ( มัชฌิมปัณณาสก์ เป็นสุตตันตปิฎก..ในข้อที่ ๖. อุปาลิวาทสูตร...ว่าด้วยอุบาลี คฤหบดี ) ดูประกอบด้วย .
ตรัสแสดงธรรมแก่เจ้าลิจฉวีชื่อสาฬหะ และอภยะ เรื่อง สมณพราหมณ์ผู้มีความประพฤติทางกาย วาจา ใจ และการเลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์ ว่าเป็นผู้ไม่ควรเพื่อตรัสรู้ต่อบริสุทธิ์จึงควร ตรัสรู้ .
ตรัสตอบพระนางมัลลิกา ผู้กราบทูลถามปัญหา ๔ ข้อ โดย ทรงชี้แจงว่า ๑. มาตุคามผู้มักโกรธ ไม่ให้ทาน มีใจริษยา จะเป็นผู้มีรูปทรามและยากจน มีศักดิ์น้อย. ๒. มาตุคาม ผู้มักโกรธ แต่ให้ทาน ไม่มีใจริษยา จะเป็นผู้มีรูปทราม แต่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีศักดิ์ใหญ่ ๓. มาตุคาม ผู้ไม่มักโกรธ แต่ไม่ให้ทาน มีใจ ริษยา จะเป็นผู้มีรูปงาม แต่ยากจน มีศักดิ์น้อย ๔. มาตุคาม ผู้ไม่มักโกรธ ทั้งให้ทานและมีใจไม่ริษยา จะเป็นผู้ทั้งมีรูปงาม ทั้งมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีศักดิ์ใหญ่. พระนางมัลลิกากราบทูลว่าชะรอยพระนางจะเป็นคนขี้โกรธในชาติอื่น จึงทรงมีรูปทราม. ชะรอยจะเคยถวายทานจึงมั่งคั่ง และชะรอยจะไม่มีใจริษยา จึงมีศักดิ์ใหญ่เหนือหญิงทั้งปวงในราชสกุล แล้วทรงแสดงพระ ประสงค์ว่า จะไม่มักโกรธ ทั้งจะถวายทาน และไม่มีใจริษยาตั้งแต่วันนี้ไป.
ตรัสแสดงเรื่องบุคคล ๔ ประเภท คือผู้ทำตนให้เดือดร้อน เป็นต้น ( พ้องกับข้อความใน ๑. กันทรกสูตร ให้ย้อนกลับไปดูที่ เล่มที่ ๑๓ ชื่อมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เป็นสุตตันต ปิฎก )
ตรัสแสดงเรื่องตัณหา อันเป็นเสมือนข่ายดักสัตว์ โดยทรงแสดง ตัณหาวิจริต ( ความท่องเที่ยวไปแห่งตัณหา คือความทะยานอยาก ) ที่ปรารภขันธ์ ๕ ที่เป็นไปในภายใน ๑๘ อย่าง ที่ปรารภ ขันธ์ ๕ ที่เป็นไปในภายนอก ๑๘ อย่าง เป็นไปในกาล ๓ จึงเป็น ๑๐๘ ( ๑๘ + ๑๘ = ๓๖ = ๑๐๘ ).
ทรงแสดงสิ่งที่เกิดขึ้น ๔ อย่าง คือ ๑. ความรักเกิดจากความรัก ( เห็นคนอื่นเขาพูดด้วยถ้อยคำไม่ดีงามต่อคนที่ตนรัก ก็เลยคิดประทุษร้ายคนอื่นนั้นด้วย ). ๓. ความรักเกิดจากความคิดประทุษร้าย ( เห็นคนอื่นเขาพูดด้วยถ้อยคำที่ไม่ดีงามต่อคนที่ตนเกลียด ก็เลยรักคนอื่นนั้นด้วย ) ๔. ความคิดประทุษร้ายเกิดจากความคิด ประทุษร้าย ( เห็นคนอื่นเขาพูดด้วยถ้อยคำอันดีงามต่อคนที่ตนเกลียด ก็เลยเกลียดคนอื่นนั้นด้วย ). แล้วตรัสต่อไปว่า ภิกษุผู้เข้า ฌานทั้งสี่ย่อมไม่เกิดความรัก ความคิดประทุษร้ายทั้งสี่ประเภทนั้น, ยิ่งสิ้นอาสวะด้วยความรัก ความคิดประทุษร้ายก็เป็นอันละ ได้อย่างถอนราก และภิกษุนั้นก็จะไม่ฟุ้งสร้าน ( ไม่ถือตน หรือถือกายของตนตามแนวสักกายทิฏฐิ ๒๐ อย่าง ( ดูประกอบ...๒. สักกายทิฏฐิ ( ความเห็นที่ยึดในกายของตน ) เป็นอย่างไร. ตอบว่า บุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่ เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่เห็นสัตบุรุษ ( คนดี ) ไม่ฉลาดในธรรมของ สัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเห็นรูปเป็นตน เห็นตนมีรูป เห็นรูปในตน เห็นตนในรูป ( เห็นเวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ เช่นเดียวกัน จึงรวมเป็น ๔x๕ = ๒๐ ข้อ). ถามว่า สักกายทิฏฐิจะไม่มีได้อย่างไร ตอบว่า อริยสาวกผู้ได้สดับ ที่ตรงกันข้ามกับบุถุชน และไม่เห็นอย่างนั้น ) , ไม่ฟุ้งตอบ ( ไม่ด่าตอบคนที่ด่า เป็นต้น ), ไม่เป็นควัน ( เพราะมีความท่อง เที่ยวแห่งตัณหา ปรารภขันธ์ ๕ ภายใน ), ไม่ลุกเป็นเปลว ( เพราะมีความท่องเที่ยวแห่งตัณหา ปรารภขันธ์ ๕ ภายนอก ), ไม่ถูก เผา ( ละอัสมิมานะ ความถือตัวว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ได้ ).
________________________________________
'๑' . สังวัฏฏกัปป์ คือกัปป์เสื่อม, สังวัฏฏัฏฐายี, คือกัปป์ที่ยังตั้งอยู่ในความเสื่อม, วิวัฏฏกัปป์ คือกัปป์เจริญ, วิวัฏฏัฏฐายีกัปป์ คือกัปป์ที่ยังตั้งอยู่ในความเจริญ รวม ๔ กัปป์ เป็นมหากัปป์ ( และยังมีขยายอยู่อีกนิดหนึ่งคือ สัตถันตรกัปป์ คำว่า สัตถันตรกัปป์นี้ อรรถกถาอธิบายว่า อันตรกัปป์ที่พินาศในระหว่าง คือโลกยังไม่ถึงสังวัฏฏกัปป์ ก็พินาศด้วย ศรัสตราเสียในระหว่าง อันตรกัปป์มี ๓ อย่าง คือ ทุพภิกขันตรกัปป์ กัปป์พินาศในระหว่างเพราะอดอาหาร โรคันตรกัปป์ กัปป์พินาศในระหว่างเพราะโรค สัตถันตรกัปป์ กัปป์พินาศในระหว่างศัสตราเป็นผลแห่งกรรมชั่ว ของมนุษย์คือถ้าโลภจัด, ก็พินาศเพราะอดอาหาร หลงจัด ก็พินาศเพราะโรค ถ้าโทสะจัด ก็พินาศเพราะศัสตรา )
'๒' . ข้อความตอนนี้ค่อนข้างเป็นธรรมะชั้นสูง ยากจะเข้าใจ หมายความว่า เจตนาที่เป็น เหตุให้ทำการต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ ทำให้เกิดสุขทุกข์ได้ และอวิชชาย่อมเป็นต้นเหตุใหญ่ ที่ทำให้เกิดการปรุง แต่งเจตนา แล้วเป็นเหตุให้เกิดสุขทุกข์อีกต่อหนึ่ง ดับอวิชชาได้อย่างเดียว ก็ดับได้หมดเป็นทิวแถว. ในทางวิชาการ กายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ในที่นี้ หมายเจตนาทางกาย วาจา ใจ ทั้ง ๆ ที่ในที่อื่น กายสังขาร ( เครื่องปรุง กาย ) หมายถึงลมหายใจเข้าออก, วจีสังขาร ( เครื่องปรุงวาจา ) หมายถึงวิตก ความตรึก วิจารความตรอง, มโน สังขาร หรือจิตตสังขาร ( เครื่องปรุงจิต ) หมายถึงสัญญา ความจำได้หมายรู้และเวทนา ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือ ไม่ทุกข์ไม่สุข ซึ่งต่างจากความหมายในที่นี้ เพราะในที่นี้ เมื่อมีความหมายว่า เจตนาทางกาย วาจา ใจ ก็หมายถึง เจตนาที่เป็นต้นเหตุให้มีการกระทำทั้งดีและชั่วทางกาย วาจา ใจ นั้น
'๓' . เจโตวิมุติ ความหลุดพ้นแห่งจิต ในที่นี้หมายเอาสมาบัติหรือฌาน ๘ คือฌานมีรูปเป็น อารมณ์ ๔ มีนามเป็นอารมณ์ ๔
'๔' . สักกกายนิโรธ ความดับกายของตน อรรถกถาแก้ว่า ได้แก่ดับความเวียนว่ายตายเกิด ในภูมิ ๓ ได้แก่นิพพาน
'๕' . หานภาคิยะ, ฐิติภาคิยะ, วิเสสภาคิยะ, นิพเพธภาคิยะ
'๖' . เห็นได้ว่า เป็นการแสดงความหมายของพราหมณ์ตามหลักพระพุทธศาสนา มิใช่ตามหลัก ของพราหมณ์จริง ๆ เพราะพราหมณ์จริง ๆ ประพฤติตรงกันข้าม
'๗' . คนชั่ว คนดี ในที่นี้ใช้คำบาลีว่า อสัปปุริสะ สัปปุริสะ
'๘' . อรรถกถาแก้ไว้น่าฟังว่า คนชั่วเปรียบเหมือนคนตาบอด คนตาบอดนั้นย่อมมองไม่เห็นทั้ง คนตาดีทั้งคนตาบอด ส่วนคนดีเปรียบเหมือนคนตาดี ซึ่งมองเห็นทั้งคนตาดีทั้งคนตาบอด
'๙' . วัปปศากยะได้กราบทูลเปรียบเทียบว่า เข้าไปหาพวกนิครนถ์ไม่ได้กำไร ทั้งได้รับความลำบาก เหมือนหวังกำไร ซื้อลูกม้ามาเลี้ยง กำไรก็ไม่ได้ ทั้งได้รับความลำบาก ( เพราะลูกม้าเป็นโรคตาย )
________________________________________
หมวดนอกจาก ๕๐
(หมวดนี้ เรียกว่าปัณณาสกสังคหิตวรรค คือวรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐ จัด เป็นหมวดพิเศษ แบ่งเป็นหมวดย่อยหรือวรรค ๗ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตรเช่นกัน คือวรรคที่ ๑ ชื่ออสัปปุริสวรรค ว่าด้วยคนชั่ว. วรรคที่ ๒ ชื่อโสภนวรรค ว่าด้วยคนดีงาม. วรรคที่ ๓ ชื่อทุจจริตวรรค ว่าด้วยความประพฤติชั่ว. วรรคที่ ๔ ชื่อกัมมวรรค ว่าด้วยกรรมคือการกระทำ. วรรคที่ ๕ ชื่ออาปัตติภยวรรค ว่าภัยคือสิ่งที่น่ากลัวแห่งอาบัติ. วรรคที่ ๖ ชื่อ อภิญญาวรรค ว่าด้วยความรู้แจ้ง. วรรคที่ ๗ ชื่อกัมมปถวรรค ว่าด้วยกรรมบถ คือทางแห่งกรรมดีกรรมชั่ว ).
๑. ทรงแสดง คนชั่ว ( อสัปปุริสะ ) และคนดี ( สัปปุริสะ )
ด้วยเรื่องละเมิดศีล ๕ ชักชวนเพื่อละเมิดศีล ๕ หรือตั้งอยู่ในศีล ๕ ชักชวนเพื่อตั้งอยู่ในศีล ๕ รวมทั้งธรรมะฝ่ายชั่วฝ่ายดีอื่น ๆ.
๒. ทรงแสดง คนที่ประทุษร้ายบริษัท เพราะทุศีล มีบาปกรรม
คนที่ทำบริษัทให้งาม เพราะมีศีล มีกัลยาณธรรม และ
ทรงแสดงความชั่วความดีอื่น ๆ ที่ทำให้ตกนรกหรือขึ้นสวรรค์เหมือน ถูกนำไปวางไว้.
๓. ทรงแสดง วจีทุจจริต ๔
คือพูดเท็จ, พูดส่อเสียด, พูดคำหยาบ, พูดเพ้อเจ้อ
แล้วทรงแสดงคนพาลและบัณฑิต ผู้ประกอบด้วยความชั่ว ความดีต่าง ๆ ในที่สุด
ทรงแสดงกวี ๔ ประเภท คือจินตากวี ( กวีทางความคิด ), สุตกวิ ( กวีทางสดับฟัง ), อัตถกวิ ( กวีทางเนื้อความ ) และปฏิภาณกวิ ( กวีทางปัญญา หรือ ญาณ ).
๔. ทรง แสดงกรรม ๔ อย่าง
คือกรรมดำมีวิบาก (ผล ) ดำ, กรรมขาวมีวิบากขาว, กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว, กรรมไม่ดำไม่ขาวมีวิบากไม่ดำไม่ขาว๑ .
ทรงแสดงว่า สมณะที่ ๑ ได้แก่พระโสดาบัน, สมณะที่ ๒ ได้แก่พระ สกทาคามี, สมณะที่ ๓ ได้แก่พระอนาคามี, สมณะที่ ๔ ได้แก่พระอรหันต์ มีเฉพาะในพระธรรมวินัยนี้เท่านั้น.
แล้วทรงแสดงว่า เพราะอาศัยคนดี จึงหวังอานิสงส์ ( ผล ) ได้ ๔ ประการ คือเจริญด้วยศีล, สมาธิ, ปัญญา,วิมุติ ( ความหลุดพ้น ) .
๕. ตรัสกะพระ อานนท์ว่า
ภิกษุชั่วเห็นประโยชน์ ๔ ประการ จึงพอใจด้วยการทำสงฆ์ให้แตกกัน คือถ้าภิกษุพร้อมเพรียงกันก็จะกำจัด เราผู้ทุศีล, ผู้มีความเห็นผิด, ผู้เลี้ยงชีวิตผิด, ผู้อยากได้ลาภ แต่แตกกันก็จะกำจัดเราไม่ได้.
แล้วทรงแสดงภัยแห่งอาบัติ และอานิสงส์แห่งการศึกษา. ทรงแสดงการนอน ๔ อย่าง คือ ๑. การนอนของเปรต ( นอนหงาย ) ๒. การนอนของผู้บริโภคกาม ( ตะแคงซ้าย ) ๓. การนอนของ ราชสีห์ ( ตะแคงขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า เอาหางสอดไว้ในระหว่างเท้า ) ๔. การนอนของพระตถาคต ( เข้าฌานที่ ๔ )
ทรงแสดงบุคคลผู้ควรแก่สตูป ๔ ( ดูมหาปรินิพพานสูตรผู้ควรแห่งสตูป ทรงแสดงถึงบุคคลผู้เป็นถูปารหะ ( ผู้ควรแก่สตูป ) ๔ คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ์ ).
ทรงแสดงธรรม ๔ อย่างที่เป็นไปเพื่อความเจริญด้วยปัญญา คือ ๑. คบคนดี ๒. ฟังธรรมของท่าน ๓. ไตร่ตรองโดยแยบคาย ๔. ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม.
ทรงแสดงธรรม ๔ อย่างที่มีอุปการะแก่มนุษย์ ( เหมือนกับธรรมที่ ให้เจริญด้วยปัญญา ).
ทรงแสดงโวหารคือคำพูดที่ไม่ประเสริฐและประเสริฐ ฝ่ายละ ๔ อย่าง คือพูดว่า ได้เห็น ได้ฟัง. ได้ทราบ, ได้รู้, ในสิ่งที่มิได้เห็น, มิได้ฟัง, มิได้ทราบ, มิได้รู้ ; หรือพูดว่า ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง, ไม่ได้ทราบ, ไม่ได้รู้, ในสิ่งที่ได้เห็น, ได้ฟัง, ได้ทราบ. ได้รู้ นี้เป็นฝ่ายไม่ประเสริฐ ก็คือตรงกันข้าม ได้แก่พูดตามเป็นจริง .
๖. ทรงแสดง ธรรม ๔ อย่าง
คือที่ควรกำหนดรู้ด้วยความรู้ยิ่ง ได้แก่ขันธ์ ๕ ที่บุคคลยึดถือ, ที่ควรละด้วยความรู้ยิ่ง ได้แก่อวิชชา ( ความไม่รู้ ) กับภวตัณหา ( ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ ), ที่ควรเจริญได้แก่สมถะ ( ความสงบใจ ) และวิปัสสนา ( ความเห็นแจ้ง ), ที่ควร ทำให้แจ้ง ได้แก่วิชชา (ความรู้ ) และวิมุติ ( ความหลุดพ้น ).
ทรงแสดงการแสวงหาอันไม่ประเสริฐ และประเสริฐฝ่ายละ ๔ อย่าง คือการแสวงหาสิ่งที่มีความแก่, ความเจ็บ, ความตาย, ความเศร้าหมองเป็นธรรมดา, ฝ่ายดีคือตรงกันข้าม.
ทรงแสดงเรื่องของการสงเคราะห์ ( สังคหวัตถุ ) ๔ อย่าง คือการให้, การพูดไพเราะ, การบำเพ็ญประโยชน์, การวางต่ำสม่ำเสมอ.
ทรงแสดงความเกิดขึ้นแห่งตัณหา ๔ อย่าง คือเกิดขึ้นเพราะปัจจัย ๔ แก่พระมาลุงกยบุตร.
ทรงแสดงว่า ตระกูลอันถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์ จะตั้งอยู่ไม่ได้นานด้วยฐานะ ๔ คือไม่แสวงหาของที่หาย, ไม่ซ่อมแซมสิ่งที่ชำรุด, ใช้จ่าย ( ดื่มกิน ) ไม่มีประมาณ, ตั้งหญิงหรือชายผู้ทุศีล ให้เป็นใหญ่. ส่วนที่จะตั้งอยู่ได้นาน คือตรงกันข้าม .
ทรงแสดงเรื่องม้าอาชานัย ๔ ประเภท เปรียบด้วยคุณธรรมของภิกษุ ( เหมือนที่กล่าวมาแล้วในหมวดที่ ๓ว่า( ทรงแสดงม้าอาชาไนยที่ดี ๔ ประเภท คือ ๑. เห็นเงา ปฏักก็สำนึกตน ๒. ถูกปฏักแทงถึงขุมขนจึงสำนึกตน ๓. ถูกปฏักแทงถึงหลังจึงสำนึกตน ๔. ถูกปฏักแทงถึงกระดูกจึงสำนึกตน. เทียบด้วยบุรุษอาชาไนย ๔ ประเภท คือ ๑. เพียงได้ฟังข่าวว่าคนอื่นมีทุกข์หรือตาย ก็เกิดความสังเวช ตั้งความเพียร ทำให้แจ้ง สัจจธรรมอันยิ่ง ๒. ต้องเห็นเองจึงเกิดความสังเวช แล้วตั้งความเพียร เป็นต้น ๓. ต้องเป็นญาติสายโลหิตของตน มีทุกข์หรือตาย จึงเกิดความสังเวช แล้วตั้งความเพียร เป็นต้น ๔. ต้องตัวเองได้รับทุกขเวทนากล้าแข็งเจ็บปวดจึงเกิดความสังเวช แล้วตั้งความ เพียร เป็นต้น .) เป็นแต่เพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่ง คือ สมบูรณ์ด้วยกำลัง เทียบด้วยปรารภความเพียร ).
ทรงแสดงกำลัง ๔ ได้แก่กำลังคือความเพียร, สติ ( ความระลึกได้ ), สมาธิ, ปัญญา.
ทรงแสดงว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ อย่าง ไม่ควรอยู่ป่า คือ ประกอบด้วยความตรึกในกาม, ในการปองร้าย, ในการเบียดเบียน, เป็นผู้มีปัญญาทราม. ถ้าตรงกันข้ามก็ควรอยู่ป่า .
ทรงแสดงคนพาลและบัณฑิตประกอบด้วยกรรมฝ่ายละ ๔ อย่าง คือการกระทำทางกาย วาจา ใจ และความเห็นอันมีโทษหรือไม่มีโทษ.
๗. ทรงแสดงว่า ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ อย่าง
จะตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ เหมือนถูกนำไปวางไว้คือ ๑. ประพฤติชั่ว ( กายทุจจริต ๓ วจีทุจจริต ๔ มโนทุจจริต ๓ รวมเป็นอกุศลกรรมบท๑๐ ) ด้วยตนเอง, ๒. ชักชวนผู้อื่นเพื่อประพฤติชั่ว ๓. ยินดีในความชั่ว ๔. พรรณนาคุณของคนชั่ว. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.
หมวดพระสูตรนอก ๕๐
(หมวดนี้ มีข้อความสั้นที่สุด คือตรัสสอนให้เจริญสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ อย่าง, สัมมัปปธาน ( ความเพียรชอบ ) ๔ อย่าง, อิทธิบาท ( ธรรมอันให้ถึงความสำเร็จ ) ๔ อย่าง, เพื่อรู้ยิ่ง, เพื่อกำหนดรู้, เพื่อความสิ้นไป, เพื่อละอุปกิเลส ๑๖ อย่าง มีราคะ เป็นต้น ( แสดงอุปกิเลส ( ครื่องเศร้าหมองจิต ) ๑๖ ประการ คือ ๑. โลภ ๒. พยาบาท ๓. โกรธ ๔. ผูกโกรธ ๕. ลบหลู่บุญคุณท่าน ๖. ตีเสมอ ๗. ริษยา ๘. ตระหนี่ ๙. มายา ๑๐. โอ้อวด ๑๑. กระด้าง ๑๒. แข่งดี ๑๓ ถือตัว ๑๔. ดูหมิ่น ๑๕. มัวเมา ๑๖. ประมาท . ภิกษุผู้รู้ความจริงเกี่ยวกับอุปกิเลสแห่งจิต ๑๖ อย่างเหล่านี้ ( แต่ละอย่าง ) เสียได้. เมื่อละได้แล้ว ก็มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะละกิเลส ที่พึงละด้วยมรรคเบื้องต่ำได้ ( โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค และอนาคามิมรรค ) จึงได้ความรู้อรรถ รู้ธรรมว่า ตนมีความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์. ได้ความปราโมทย์อัยประกอบด้วยธรรม เกิดปีติ มีกายอันสงบระงับ ได้เสวยสุข มีจิตตั้งมั่น. ภิกษุมีศีล มีธรรม มีปัญญาอย่างนี้ ฉันบิณฑบาตข้าวสาลีมีแกงและกับมากมาย ก็ไม่มีอันตราย เป็นผู้เปรียบเหมือนผ้า อันบริสุทธิ์หรือทองเงินอันบริสุทธิ์ .)แต่ในที่นั้นใช้คำว่า โลภะ แทนราคะ.
จบเล่มที่ ๒๑ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
________________________________________
'๑' . ๗.กุกกุโรวาทสูตร สูตรว่าด้วยโอวาทแก่ผู้ทำตัวดั่งสุนัข
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิคมแห่งชาวโกลิยะชื่อหลิททวสนะ ในแคว้นโกลิยะ. ปุณณะบุตรแห่งโกลิยะ ผู้ประพฤติวัตรดั่งโค ( อรรถกถาเล่าว่า เอาเขาโคมาติดศีรษะ เอาหางมาผูก เที่ยวกินหญ้าไปกับโคทั้งหลาย ส่วนที่ว่า ประพฤติวัตรดั่งสุนัข คือทำอาการกริยาทั้ง ปวงให้เหมือนสุนัข ) กับชีเปลือยชื่อเสนิยะ ผู้ประพฤติวัตรดั่งสุนัข เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กล่าวปราศรัยเสร็จ ปุณณะ โกลิยบุตรก็ทูลถามถึงชีเปลือยชื่อเสนิยะ ผู้ประพฤติวัตรดั่งสุนัข ว่าจะมีคติเป็นอย่างไร. พระผู้มีพระภาคทรงห้ามว่า อย่าถาม เลย แต่ก็ถามย้ำถึง ๓ ครั้ง จึงตรัสตอบว่า ถ้าประพฤติเคยชินอย่างสุนัข ตายไปก็จะเกิดเป็นสุนัข แต่ถ้าประพฤติด้วยความคิดว่า จะเป็นเทวดาด้วยศีล ด้วยวัตรอย่างนี้ก็นับว่ามีความเห็นผิด ซึ่งจะมีคติ ๒ อย่าง คือนรก หรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน. พระดำรัส ตอบนี้ ทำให้ชีเปลือยชื่อเสนิยะร้องให้.
๒. ชีเปลือยชื่อเสนิยะ จึงทูลถามถึงปุณณะโกลิบุตร ผู้ประพฤติวัตรดังโคบ้างว่า จะมีคติ เป็นอย่างไร ก็ตรัสตอบทำนองเดียวกับเรื่องสุนัข ซึ่งทำให้ปุณณะโกลิยบุตรร้องให้เช่นเดียวกัน. ๓. ปุณณะโกลิยบุตรจึงทูลขอให้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อตนและเสนิยะ จะได้ละการประพฤติวัตรดั่งนั้นเสีย จึงตรัสแสดงธรรม ๔ อย่าง คือ ๑. กรรมดำ มีวิบากดำ คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาทางกายวาจาใจอันประกอบด้วยการเบียดเบียน จึงเข้าถึง ( เกิดใน โลกที่มีการเบียด เบียน, ได้รับสัมผัสที่มีการเบียดเบียน, ได้เสวยเวทนาที่มีการเบียดเบียน อันเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว ดังเช่นสัตว์ที่เกิดในนรก ๒. กรรมขาว มีวิบากขาว คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาทางกายวาจาใจอันไม่มีการเบียดเบียน ได้รับสัมผัสที่ไม่มีการเบียดเบียน ได้เสวยเวทนาที่ไม่มีการเบียดเบียน อันเป็นสุขโดยส่วนเดียว ดังเช่นเทพชั้นสุภภิณหะ ( พรหมมีรูปชั้นที่ ๙ ในรูปพรหม ๑๖ ชั้น )
๓. กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาทางกายวาจาใจที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการ เบียดเบียนบ้าง จึงเข้าถึง ( เกิดใหม่ ) ในโลกที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง ได้รับสัมผัสอันมีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มี การเบียดเบียนบ้าง ได้เสวยเวทนาที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง อันมีทั้งสุขทั้งทุกข์คละกันไป ดังเช่นมนุษย์บางเหล่า เทพบางเหล่า วินิปาติกะ ( อรรกถา คือคำอธิบายพระไตรปิฏกตอนนี้ ขยายความว่า ความสุขและความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวของ มนุษย์ย่อมปรากฏ ส่วนของเทวดา ได้แก่ภุมมเทวดา คือเทพที่อยู่บนพื้นดิน และของพวกวินิปาติกะ ได้แก่พวกเวมานิกเปรตที่อยู่ วิมาน มีความสุขและความทุกข์เป็นครั้งคราว ทั้งนี้ย่อมเป็นไปในสัตว์ดิรัจฉาน มีช้าง เป็นต้นด้วย ) บางเหล่า
๔. กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาวย่อมเป็นไปเพื่อสิ้นกรรม คือเจตนาเพื่อละกรรมดำซึ่งมีวิบากดำ เจตนาเพื่อละกรรมขาวซึ่งมีวิบากขาว เจตนา (อรรถกถาอธิบายว่า มัคคเจตนา เจตนาที่เป็นไปในมรรค ( คำว่า มรรค หมายถึงปัญญาอันตัดกิเลสได้เด็ดขาด ตั้งแต่บางส่วนจนถึง หมดสิ้น ข้อไหนละได้แล้วไม่ต้องละใหม่อีก เป็นอันละได้เด็ดขาดไปเลย ) เพื่อละกรรมทั้งดำทั้งขาว ซึ่งมีวิบากทั้งดำทั้งขาว ( เป็น เจตนาที่ไม่ต้องการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ปรารถนาจะทำกรรมใด ๆ อีกต่อไป ).
๔. เมื่อจบพระธรรมเทศนา ปุณณะโกลิยบุตรกราบ ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ส่วนชีเปลือยชื่อเสนิยะกราบทูลสรรเสริญ พระธรรมเทศนาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะและขอบวช เมื่อทราบว่าผู้เคยเป็นเดียรถีย์มาก่อน ประสงค์จะบวชในพระธรรมวินัยจะต้อง อบรมก่อน ๔ เดือน ก็มีศรัทธาจะขออบรมถึง ๔ ปี. เมื่อบวชแล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.
เล่มที่ ๒๒ ชื่ออังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔)
หน้า ๑
พระไตรปิฎกเล่มนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือตอนที่ ๑ ชื่อปัญจกนิบาต ว่าด้วย ธรรมะจำนวน ๕ ตอนที่ ๒ ชื่อฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมะจำนวน ๖.
ปัญจกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๕ ข้อ
ในหมวดนี้ จัดเป็นหมวด ๕๐ รวม ๕ หมวด หมวดละ ๕ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตร กับพระสูตรนอกหมวด ๕๐ อีกต่างหาก รวมทั้งสิ้น ประมาณเกือบ ๓๐๐ สูตร.
ปฐมปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๑
( ในหมวดนี้ มี ๕ วรรค. วรรคที่ ๑ ชื่อเสขพลวรรค ว่าด้วยธรรมอันเป็นกำลังของ พระเสขะ คือ พระอริยบุคคลผู้ยังศึกษา. วรรคที่ ๒ ชื่อพลวรรค ว่าด้วยธรรมอันเป็นกำลัง. วรรคที่ ๓ ชื่อปัญจังคิกวรรค ว่าด้วยธรรมะมีองค์ ๕. วรรคที่ ๔ ชื่อสุมนวรรค ว่าด้วยนางสุมนาราชกุมารี. วรรคที่ ๕ ชื่อมุณฑราชวรรค ว่าด้วยพระ เจ้ามุณฑะ ).
๑. ตรัสแสดงกำลังของพระเสขะ ๕ อย่าง
อันได้แก่กำลังคือ ความเชื่อ, ความอายต่อบาป. ความเกรงกลัวต่อบาป, ความเพียร และปัญญา และได้ตรัสแสดงธรรมยักย้ายนัยต่าง ๆ โดย อาศัยหลักธรรม ๕ ประการที่กล่าวนี้ เช่น ถ้าขาดธรรมเหล่านี้จะอยู่เป็นทุกข์ในปัจจุบัน และหวังทุคคติได้เมื่อสิ้นชีวิตไป แต่ถ้ามีธรรมเหล่านี้จะอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และหวังสุคติได้เมื่อสิ้นชีวิตไป.
๒. ตรัสแสดงกำลัง ๕ ของพระตถาคต
เช่นเดียวกับข้อ ๑
และได้ตรัสถึงธรรมอันเป็นกำลัง ๕ อย่าง อันได้แก่กำลัง คือความเชื่อ, ความเพียร, ความระลึกได้, ความตั้งใจมั่นและปัญญา.
กับได้ตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น คือตนเองสมบูรณ์ด้วยศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุติ, วิมุตติญาณทัสสนะ ๑ และชักชวนผู้อื่นเพื่อให้สมบูรณ์ด้วยธรรมเหล่านั้น. ถ้าขาดในด้านตนเองหรือในด้าน ชักชวนผู้อื่นในทางใดทางหนึ่งหรือขาดทั้งสองอย่าง ก็ชื่อว่าบกพร่องในทางนั้น ๆ.
๓. ตรัสว่า ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีที่พึ่ง ประพฤติไม่สมส่วนใน เพื่อนพรหมจารี
เป็นไปไม่ได้ที่จะบำเพ็ญธรรมะที่เป็นมารยาท, ธรรมของพระเสขะ, ศีล, ความเห็นชอบ และความตั้งใจมั่นชอบให้บริบูรณ์ได้ และเป็นไปไม่ได้ที่จะบำเพ็ญธรรมะที่เป็นมารยาท, ธรรมของพระเสขะ, กองศีล, กองสมาธิ, และกองปัญญาให้บริบูรณ์ได้. ต่อเมื่อมีความเคารพ มีที่พึ่ง ประพฤติสมส่วนในเพื่อนพรหมจารี จึงเป็นไปได้ที่จะ บำเพ็ญธรรมเหล่านั้นให้บริบูรณ์ได้.
ทรงแสดงว่า ความเศร้าหมองแห่งจิต ๕ อย่าง คือความพอใจ ในกาม, ความคิดปองร้าย, ความหดหู่ง่วงงุน, ความฟุ้งสร้านรำคาญใจ, และความลังเลสงสัย ( ซึ่งเรียกว่านีวรณ์ ๕ ในที่อื่น ) ทำให้จิตไม่อ่อน ไม่ควรแก่การงาน, ไม่ผ่องใสเปล่งปลั่ง, ไม่ตั้งมั่นด้วยดี เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ เปรียบเหมือนเหล็ก, โลหะ, ดีบุก, ตะกั่ว, และเงิน เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งทองฉะนั้น. เมื่อจิตปราศจากเครื่องเศร้าหมองเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อ อภิญญา ๖ มีการแสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น มีการทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะเป็นที่สุด.
ทรงแสดงว่า บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมไม่มีคุณธรรมดังต่อไปนี้ ขาดอุปนิสสัย คือ สัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ ), ยถาภูตญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณตามเป็นจริง ), นิพพิทา ( ความ เบื่อหน่าย ), วิราคะ ( ความคลายกำหนัด ), วิมุตติญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณซึ่งความหลุดพ้น ). ถ้ามีศีลก็ตรงกันข้าม คือมีคุณธรรมเหล่านี้ มีอุปนิสสัยสมบูรณ์.
ทรงแสดงว่า สัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ) ที่องค์ ๕ อนุเคราะห์ แล้ว ย่อมมีเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุตติ เป็นผล เป็นอานิสงส์ คือศีล, การสดับตรับฟัง, การไต่ถามโต้ตอบ, สมถะ ( ความสงบ จิต ) และวิปัสสนา ( ความเห็นแจ้ง ).
ทรงแสดงวิมุตตายตนะ ( เหตุแห่งความหลุดพ้น ) ๕ ประการ ที่ ภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร จะมีจิตที่ยังไม่หลุดพ้นได้หลุดพ้น จะมีอาสวะที่ยังไม่สิ้นถึงความสิ้นไป คือ ๑. ศาสดาหรือเพื่อน พรหมจารีที่เคารพแสดงธรรมให้ฟัง ภิกษุก็เห็นอรรถเห็นธรรม เกิดปิติปราโมทย์ มีกายสงบ เสวยสุข มีจิตตั้งมั่น ๒. ภิกษุแสดง ธรรมที่ได้ฟังแล้ว เรียนแล้วแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร ก็เห็นอรรถเห็นธรรม จนถึงมีจิตตั้งมั่น. ๓. ภิกษุสาธยาย ( ท่องบ่น ) ธรรมที่ได้ฟัง แล้ว เรียนแล้วโดยพิสดาร ก็เห็นอรรถเห็นธรรม จนถึงมีจิตตั้งมั่น. ๔. ภิกษุตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมที่ได้ฟังแล้ว เรียนแล้ว ก็เห็นอรรถเห็นธรรม จนถึงมีจิตตั้งมั่น. ๕. ภิกษุอื่นเอาสมาธินิมิตอันใดอันหนึ่งไว้ด้วยดี, ใส่ใจด้วยดี, ทรงจำด้วยดี, แทงทะลุด้วย ดีด้วยปัญญา ก็เห็นอรรถเห็นธรรม จนถึงมีจิตตั้งมั่น.
ทรงแสดงว่า ญาณ ๕ ย่อมเกิดขึ้นเฉพาะตน แก่ผู้เจริญสมาธิ อันไม่มี ประมาณ๒ ผู้มีปัญญารักษาตน มีสติเฉพาะหน้า คือความรู้เกิดขึ้นเฉพาะตนว่า ๑. สมาธินี้ มีสุขในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบาก ( ผล ) ต่อไป ๒. สมาธินี้ประเสริฐ ไม่มีอามิส ( เหยื่อล่อ ) ๓. สมาธินี้คนชั่วส้องเสพไม่ได้ ๔. สมาธิ นี้สงบประณีต ได้มาด้วยความสงบระงับกิเลส บรรลุความเป็นธรรมอันเอกเกิดขึ้น ไม่ต้องบรรลุด้วยใช้ความเพียรข่มธรรมอันเป็นข้าศึก ห้ามกิเลส. ๕. สมาธินี้เราเข้าออกอย่างมีสติ.
ทรงแสดงการเจริญสัมมาสมาธิอันเป็นอริยะมีองค์ ๕ คือ ๑. ภิกษุเข้าสู่ ฌานที่ ๑ มีกายนี้เต็มไปด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ( ความสงัด ) ๒. ภิกษุเข้าสู่ฌานที่ ๒ มีกายนี้เต็มไปด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่ สมาธิ. ๓. ภิกษุเข้าสู่ฌานที่ ๓ มีกายอันนี้เต็มไปด้วยสุขที่ไม่มีปีติ ๔. ภิกษุเข้าสู่ฌานที่ ๔ แผ่จิตอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไปสู่กายนี้ ๕. ภิกษุถือเอานิมิตในการพิจารณาด้วยดี ใส่ใจด้วยดี ทรงจำด้วยดี แทงทะลุด้วยดีด้วยปัญญา ( ซึ่งนิมิตในการพิจารณานั้น ). เมื่อเจริญ ทำให้มากซึ่งสัมมาสมาธิอันเป็นอริยะนี้ ย่อมเป็นไปเพื่ออภิญญา ๖ มีการแสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น.
ทรงแสดงอานิสงส์ในการเดินจงกรม ( เดินกลับไปกลับมา ) ๕ ประการ คืออดทนต่อการเดินทางไกล, อดทนต่อความเพียร, มีอาพาธน้อย, อาหารที่กิน, ดื่ม, เคี้ยว, ลิ้มรสแล้ว ย่อมย่อยไปด้วยดี, สมาธิที่ได้ในขณะจงกรม ย่อมตั้งอยู่นาน.
ตรัสแก่พระนาคิตะ แสดงพระประสงค์ไม่รับรองพราหมณคฤหบดีชาว อิจฉานังคละผู้เตรียมของเคี้ยวของฉันมาที่ป่าอิจฉานังคละ ส่งเสียงเอ็ดอึงอยู่ที่ซุ้มประตู โดยแสดงว่า ผู้ใดไม่ได้รับโดยง่ายซึ่งความ สุขอันเกิดจากเนกขัมมะ ( การออกจากกาม ) จากความสงบ จากการตรัสรู้ ผู้นั้นย่อมยินดี ความสุขอันไม่สะอาด ความสุขเกิดจาก การนอนหลับ และความสุขอันเกิดจากลาภสักการะชื่อเสียง แล้วทรงแสดงว่า ๑. อุจจาระปัสสาวะย่อมมีแก่ผู้ที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มรส ๒. ความเศร้าโศรก เป็นต้น ย่อมเกิดเพราะความปรวนแปรเป็นอื่นแห่งสิ่งที่รัก ๓. ความเป็นของปฏิกูล ( น่าเกลียด ) ในนิมิต ( เครื่อง หมาย ) ที่ไม่งาม ย่อมตั้งอยู่แก่ผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งนิมิตว่าไม่งาม ๔. ความเป็นของปฏิกูลในผัสสะ ( ความถูกต้องอารมณ์มีรูป เสียง เป็นต้น ) ย่อมตั้งอยู่แก่ผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในอายตนะสำหรับถูกต้อง ๖ อย่าง ( มีตา หู เป็นต้น ) ๕. ความเป็นของปฏิกูลใน ความยึดถือ ย่อมตั้งอยู่แก่บุคคลผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นความดับไปในขันธ์ ๕ ที่ยึดถือ นี้เป็นผลแต่ละข้อของ ๕ ข้อนั้น.
๔. ตรัสตอบปุจฉาของพระนางสุมนาราชกุมารี๓
ว่า สาวกของพระองค์ ๒ รูป มีศรัทธา ศีล ปัญญาเสมอกัน แต่รูปหนึ่งเป็นผู้ให้ อีกรูปหนึ่งไม่เป็นผู้ให้
ถ้าไปเกิดเป็นเทพ, เป็นมนุษย์ รูปที่เป็นผู้ให้ย่อมได้รับสิ่ง ๕ สิ่งอัน เป็นของทิพย์, อันเป็นของมนุษย์เหนือกว่ารูปที่ไม่เป็นผู้ให้ คือ อายุ, ผิวพรรณ, ความสุข, ยศ และความเป็นใหญ่.
ถ้าออกบวช เป็นบรรพชิต รูปที่เป็นผู้ให้ ก็จะเหนือกว่าโดยฐานะ ๕ คือ ต่อเมื่อมีผู้ขอร้องจึงบริโภคปัจจัย ๔ มาก ถ้าไม่มีผู้ขอร้องก็บริโภคน้อย, ถ้าอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจารี ๆ ก็ประพฤติต่อเธอ ด้วยกายกรรม, วจีกรรม, มโนกรรม อันน่าพอใจโดยมาก ที่ไม่น่าพอใจมีน้อย, ย่อมนำมาให้แต่สิ่งที่น่าพอใจโดยมาก สิ่งที่ไม่น่า พอใจมีน้อย.
แต่ถ้าบรรลุความเป็นพระอรหันต์ ไม่มีอะไรต่างกันระหว่าง ความหลุดพ้นของผู้หนึ่งกับความหลุดพ้นของอีกผู้หนึ่ง.
ตรัสตอบพระนางจุนทีราชกุมารี๔ ถึงผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย โดยรู้ว่าเลิศอย่างไร ( ตามแนวแห่งความเลื่อมใส ๔ ประการ ที่เคยกล่าวไว้แล้วในปฐมปัณณาสกะ หมวด ๕๐ ที่ ๑ ความเลื่อมใส ๔ ประการ คือ ๑. พระตถาคตเป็นเลิศแห่งสัตว์ทั้งหลาย ๒. อริยมรรคมีองค์ ๘เป็นเลิศแห่งธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง ๓. วิราคธรรม ( ความคลายกำหนัดยินดี ) อันได้แก่นิพพานเป็นเลิศแห่งธรรมที่ ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง๔. พระอริยสงฆ์ ๔ คู่ ๘ บุคคล เป็นเลิศแห่งหมู่ทั้งหลาย. ผู้เลื่อมใสใน ๔ อย่างนี้ ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศอันจะ มีผลเลิศ ). และมีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่ว่า จะเข้าถึงสุคติ ไม่เข้าถึงทุคคติเมื่อล่วงลับไป.
หลานชายของเมณฑกเศรษฐีชื่ออุคคหะ นิมนต์พระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งภิกษุรวม ๔ รูปไปฉัน แล้วขอให้ตรัสสอนหญิงสาว ( หลายคน ) ที่จะไปสู่สกุลแห่งสามี จึงประทานโอวาท ๕ คือ ๑. พึงปรารถนาดี รับใช้ ปฏิบัติและพูดจาด้วยดีต่อมารดาบิดาของสามี. ๒. แสดงความเคารพต่อบุคคลที่สามีเคารพ เช่น มารดา บิดา สมณพราหมณ์ รวมทั้งจัดที่นั่งและน้ำให้เมื่อมาถึงบ้าน ๓. ขยันไม่เกียจคร้าน พิจารณาจัดทำการงานภายในบ้านของสามี ไม่ว่าจะเป็นงานที่เกี่ยวกับขนแกะหรือฝ้าย. ๔. รู้การที่ควรทำและไม่ควรทำต่อคนภายในบ้านของสามี เช่น ทาส, คนรับใช้, กรรมกร, ดูแลคนเหล่านั้นเมื่อเจ็บไข้ จัดแบ่งอาหารให้ตามส่วน. ๕. รักษาทรัพย์, ข้าวเปลือก, เงิน, ทอง, ที่สามีหามาให้ดี ไม่ทำตนให้เป็นคน เสียหาย เช่น เป็นนักเลง เป็นขโมย หรือทำลายทรัพย์ (หมายเหตุ : ข้อความในพระสูตรนี้ แสดงว่าการนิมนต์พระ ๔ รูป ไปฉันถือเป็นการมงคล อรรถกถาก็อธิบายอย่างนั้น. แสดงว่ากิจการงานภายในบ้านของคนสมัยนั้น มีเกี่ยวกับขนแกะและฝ้าย แสดงว่า บ้านใหญ่ ๆ ปั่นฝ้าย ทอผ้าใช้เอง และแสดงว่าสตรีมีส่วนรับผิดชอบการเงินด้วย ).
ตรัสตอบสีหเสนาบดี ถึงเรื่องผู้ให้ทาน ย่อมได้รับผลปัจจุบัน ๔ ข้อ คือ ๑. เป็นที่รักของคนเป็นอันมาก ๒. สัตบุรุษย่อมคบหา ๓. มีเกียรติศัพท์ฟุ้งไป ๔. เข้าสู่สมาคมองอาจไม่เก้อเขิน ส่วนผลใน อนาคตมี ๑ ข้อ คือตายไปแล้วเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์. สีหเสนาบดีกราบทูลว่า ๔ ข้อแรกมิได้เชื่อเพราะพระผู้มีพระภาคตรัส แต่ เชื่อเพราะเห็นจริงด้วยตนเอง. ส่วนข้อหลังไม่ทราบ จึงต้องเชื่อตามพระผู้มีพระภาค.
ตรัสแสดงอานิสงส์ของทานซ้ำกับข้างต้นแล้ว ตรัสเรื่องทานที่ให้ตามกาล ๕ คือ ๑. ทานที่ให้แก่ผู้มา ๒. ทานที่ให้แก่ผู้ไป๓. ทานที่ให้ในเวลาข้าวยาก ๔. ข้าวออกใหม่ ๕. ผลไม้ออกใหม่ที่ถวายในผู้ มีศีล.
ตรัสว่า ผู้ให้โภชนะ ( อาหาร ) ชื่อว่าให้อายุ, ผิวพรรณ, สุข, กำลัง และปฏิภาณ และตนก็จะได้สิ่งเหล่านั้นอันเป็นทิพย์บ้าง เป็นมนุษย์บ้าง.
ทรงแสดงว่า กุลบุตรผู้มีศรัทธา มีอานิสงส์ ๕ คือ ๑. สัตบุรุษย่อม อนุเคราะห์ก่อน ๒. ย่อมเข้าไปหาก่อน ๓. ย่อมรับ ( ของถวาย ) ก่อน ๔. ย่อมแสดงธรรมให้ฟังก่อน ๕. ผู้นั้นตายไปย่อมเข้าสู่ สุคติโลกสวรรค์ ผู้มีศรัทธาย่อมเป็นที่พึ่งของคนหมู่มาก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เหมือนต้นไทรใหญ่ ที่เกิดในพื้นดี ในทางสี่แพร่ง เป็นที่พึ่งของนกทั้งหลายฉะนั้น.
ทรงแสดงว่า มารดาบิดาเห็นฐานะ ๕ จึงปรารถนาบุตร คือ ๑. บุตร ที่เราเลี้ยงแล้วจักเลี้ยงเรา ๒. จักทำกิจให้ ๓. สกุลวงศ์ จักตั้งอยู่ยั่งยืน ๔. บุตรจักปฏิบัติตนให้สมเป็นทายาท ( ผู้รับมรดก ) ๕. เมื่อเราตายแล้ว จักเพิ่มให้ซึ่งทักขิณา ( ในข้อที่ ๕ นี้ รู้สึกว่าจะถือเป็นธรรมเนียมสำคัญของชาวอินเดียสมัยนั้น ).
ตรัสว่า อันโตชน ( คนที่อาศัยอยู่ในบ้าน ) อาศัยหัวหน้าสกุลผู้มีศรัทธา ย่อมเจริญ ด้วย ศรัทธา, ศีล, การสดับ, การบริจาก, และปัญญา.
๕. ตรัสแสดงสิ่งที่พึงได้จากโภคทรัพย์ ๕ ประการ
คือเลี้ยงมารดา บิดา บุตร ภริยา ทาส กรรกรให้เป็นสุข ๒. เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข ๓. ใช้จ่ายในคราวมีอันตรายเกิดขึ้น เพื่อทำตนให้มีความสวัสดี ๔. ทำพลี ๕. มีญาติพลี เป็นต้น๕ ๕. ถวายทานแด่สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบ.
ตรัสแสดงว่า สัตบุรุษเกิดในสกุล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่คน เป็นอันมาก คือ แก่มารดา บิดา, บุตร ภริยา, ทาส กรรมกร, เพื่อนฝูง, สมณพราหมณ์.
ตรัสแสดงสิ่งที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ แต่ได้โดยยาก ๕ อย่าง คือ อายุ, ผิวพรรณ, สุข, ยศ, สวรรค์
แล้วทรงแสดงว่า จะได้สิ่งเหล่านี้เพราะเหตุเพียงอ้อนวอนหรือปรารถนา เพราะถ้า ได้เพราะเหตุอ้อนวอนหรือปรารถนาแล้ว ใครเล่าในโลกนี้จะเสื่อมจากอะไร คงได้สิ่งที่ต้องการหมด ) ผู้ ใคร่จะได้สิ่งเหล่านี้ ควรบำเพ็ญปฏิปทาที่ทำให้ได้สิ่งเหล่านี้จึงจะได้.
ตรัสว่า ผู้ให้สิ่งที่น่าพอใจ ย่อมได้สิ่งที่น่าพอใจ ผู้ให้สิ่งที่เลิศ, ประเสริฐ, และประเสริฐสุด ย่อมได้สิ่งที่เลิศ, ประเสริฐ, และประเสริฐสุด และเป็นผู้มีอายุยืน มียศในที่ที่เกิดนั้น ๆ.
ตรัสแสดงความไหลมาแห่งบุญกุศล ๕ อย่าง คือภิกษุบริโภคจีวร, บิณฑบาต, ที่อยู่อาศัย, เตียงตั่ง, ยาแก้โรคของผู้ใด เข้าเจโตสมาธิอันไม่มีประมาณอยู่ ความไหลมาแห่งบุญกุศลอันให้ผลเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์อันไม่มีประมาณ ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งน่าปรารถนารักใคร่ชอบใจแก่ผู้นั้นอย่างนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้.
ทรงแสดงความถึงพร้อม, และทรัพย์อย่างละ ๕ ประการ อัน ได้แก่ศรัทธา, ศีล, การสดับ, การสละ, และปัญญา.
ทรงแสดงฐานะที่ใคร ๆ ไม่พึงได้ในโลก ๕ อย่าง คือ ขอให้ สิ่งที่มี ความแก่, ความเจ็บไข้, ความตาย, ความสิ้นไป, ความพินาศไปเป็นธรรมดา อย่าแก่, อย่าเจ็บไข้, อย่าตาย, อย่าสิ้นไป, อย่าพินาศไปเลย. บุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ย่อมไม่พิจารณา ย่อมเศร้าโศก ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมตรงกัน ข้าม
ตรัสสอนพระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้ทรงมีความทุกข์ เสียพระทัยเกี่ยว กับการสวรรคต ของพระนางมัลลิกา ในทำนองเดียวกับข้อความข้างต้น.
พระนารทะ๖ อยู่ในกุกกุฏาราม กรุง ปาตาลิบุตร ทูลพระเจ้ามุณฑะ ผู้ไม่เป็นอันสรงเสวยเมื่อพระนางภัททาเทวีสวรรคต ในทำนองเดียวกับที่พระผู้มี พระภาคตรัสแล้วข้างต้น.
________________________________________
'๑' . ธรรม ๕ อย่างนี้ เคยให้ความหมายไว้บ้างแล้ว ศีล คือการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, สมาธิ คือการทำใจให้ตั้งมั่น, ปัญญา คือการรู้เท่าทันความจริง, วิมุตติ คือความหลุดพ้น, วิมุตติญาณทัสสนะ คือการรู้ด้วยญาณ ว่าหลุดพ้นแล้ว เรียกว่าธัมมขันธ์ ๕
'๒' . ไม่มีประมาณ อรรถกถาแก้ว่า เป็นโลกุตตรธรรม
'๓' . เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าปเสนทิโกศล
'๔' . อรรถกถาไม่ได้เล่าว่า เป็นพระราชธิดาของใคร แต่ข้อความในพระสูตรแสดงว่าอยู่ในกรุงราชคฤห์ จึงเห็นได้ว่าคงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าพิมพิสาร
'๕' . พลี ๕ โดยละเอียดมีว่า ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ, อติถิพลี ต้อนรับแขก, ปุพเพตพลี ทำบุญอุทิศให้ ผู้ตาย, ราชพลี เสียภาษีอากรแก่หลวง, เทวดาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา ( หรือเสียสระเพื่อบูชาคุณความดีที่ทำมนุษย์ให้เป็นเทวดา .
'๖' . เรื่องนี้เห็นชัดว่า เป็นเหตุการณ์ภายหลังปรินิพพาน เมื่อสร้างกรุงปาตลิบุตรแล้ว แต่เนื้อธรรมะยกของเก่า มาแสดง
พระไตรปิฎกเล่มนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือตอนที่ ๑ ชื่อปัญจกนิบาต ว่าด้วย ธรรมะจำนวน ๕ ตอนที่ ๒ ชื่อฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมะจำนวน ๖.
ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒
( หมวดนี้ มี ๕ วรรค. วรรคละประมาณ ๑๐ สูตรเช่นเคย วรรคที่ ๑ ชื่อนีวรณวรรค ว่า ด้วยนีวนณ์. วรรคที่ ๒ ชื่อสัญญาวรรค ว่าด้วยความกำหนดหมายในใจ. วรรคที่ ๓ ชื่อโยธาชีววรรค ว่าด้วยนักรบ. วรรคที่ ๔ ชื่อเถรวรรค ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นเถระ หรือผู้เฒ่า. วรรคที่ ๕ ชื่อกกุธวรรค ว่าด้วยบุตรแห่งโกลิยกษัตริย์พระนามว่ากกุธะ).
๑. ทรงแสดงนีวรณ์ ๕ ว่า ท่วมทับจิตแล้วทำให้ปัญญาอ่อนกำลัง และตรัสเรียกว่า อกุศลราศี( กองแห่งอกุศล )
คือความพอใจในกาม, ความคิดปองร้าย, ความคิดหดหู่ง่วงงุน, ความฟุ้งสร้าน รำคาญใจ, ความลังเลสงสัย เมื่อภิกษุละไม่ได้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้จักประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองอย่าง หรือจักทำให้แจ้งญาณทัสสนะวิเศษอันควรแก่พระอริยะ อันยิ่งกว่าธรรมดาของมนุษย์ ต่อเมื่อละได้ จึงเป็นไปได้ที่จะรู้จักประโยชน์ ตน เป็นต้น.
ตรัสแสดงองค์ของภิกษุผู้มีความเพียร๑ ๕ อย่าง คือมีศรัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, มีอาพาธน้อย, ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ทำตนให้ปรากฏตามความจริงในพระ ศาสดา และในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้, มีความเพียร, มีปัญญา.
ทรงแสดงสมัยที่ไม่สมควรตั้งความเพียร ๕ ประการ คือเป็นคนแก่, ถูกโรคเบียดเบียน, หาอาหารได้ยาก เกิดจราจล ประชาชนอพยพ, สงฆ์แตกกัน. ถ้าตรงกันข้ามก็เป็นสมัยอันสมควร.
มารดาและบุตรออกบวชเป็นภิกษุณี ภิกษุ คลุกคลีกันมาก ในที่สุด ลาสิขาออกมาอยู่ร่วมกันอย่างสามีภริยา พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ตรัสว่า รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ ของหญิงเป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด ความผูกพัน ยิ่งกว่าสิ่งอื่น ๆ.
ตรัสสอนภิกษุรูปหนึ่ง ให้สำรวมอินทรีย์, รู้ประมาณในอาหาร, ประกอบ ความเพียรเป็นเครื่องตื่น ( ไม่เห็นแก่นอน ), มีปัญญาเห็นแจ้ง, เจริญโพธิปักขิยธรรม ( ธรรมอันเป็นฝ่ายแห่งปัญญาตรัสรู้ ) เธอทำตาม ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.
ตรัสสอนว่า หญิง ชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต ควรพิจารณาฐานะ ๕ เนือง ๆ คือ ๑. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ( อันจะทำให้ละความเมาในความเป็นหนุ่มสาวได้ ) ๒. เรามีความ เจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ( อันจะทำให้ละความเมาในความเป็นผู้ไม่มีโรคได้ ) ๓. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ( อันจะทำให้ละความเมาในชีวิตได้ ) ๔. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบทั้งสิ้น ( อันจะทำให้ละ ความติดหรือความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความพอใจหรือฉันทราคะได้ ) ๕. เรามีกรรมเป็นของตน ทำกรรมใดไว้จักได้รับผลของ กรรมนั้น ( อันจะทำให้ละทุจจริตกาย วาจา ใจ ได้).
เจ้าลิจฉวีพระนามว่ามหานามะ เปล่งอุทานว่า ชาววัชชีจักรอด ชาววัชชีจักรอด๒ และได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ให้เหตุผลที่เปล่งอุทานเช่นนั้น เพราะทรงเห็นลิจฉวีกุมารทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ดุร้าย แย่งปล้นของขาย เช่น อ้อย, พุทรา, ขนม มากินเดินเขี่ยเท้าผู้หญิงข้างหลัง แต่กลับมายืนพนมมือนิ่งเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาค. จึงตรัสว่า ผู้ใดก็ตาม ใช้ทรัพย์ให้ได้ถูกทาง ๕ ประการ ( ดั่งที่ตรัสสอน ไว้ว่าทรัพย์ ๕ ประการ อันได้แก่ศรัทธา, ศีล, การสดับ, การสละ, และปัญญา ) ผู้นั้นย่อมหวังความเจริญได้ไม่มีเสื่อม.
ตรัสว่าผู้บวชเมื่อแก่ ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง หาได้ยาก คือเป็น ผู้ละเอียดอ่อน เป็นต้น ( แปลไว้อย่างละเอียดแล้วว่าผู้บวชเมื่อแก่ที่มีคุณธรรม หาได้ยาก " ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ! ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง หาได้ยากคือ :-
๑. ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ละเอียดอ่อน หาได้ยาก
๒. ผู้บวชเมื่อแก่ สมบูรณ์ด้วยอากัปกิริยา หาได้ยาก
๓. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นผู้คงแก่เรียน (พหุสฺสุโต สดับตรับฟังมาก ) หาได้ยาก
๔. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นพระธรรมกถึก ( ผู้แสดงธรรม) หาได้ยาก
๕. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นผู้ทรงพระวินัย หาได้ยาก ).
๒. ทรงแสดงสัญญา ๕ สองชุด
ว่า ถ้าเจริญ ทำให้มาก จะมีผล อานิสงส์มาก มีพระนิพพาน ( อมตะ ) เป็นที่สุด คือชุดแรก ความกำหนดหมายว่าไม่งาม, ว่ามีโทษ, ในความตาย, ว่าน่าเกลียด ในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ; ชุดที่สอง กำหนดหมายว่าไม่เที่ยง, ว่าไม่ใช่ตัวตน, ในความตาย, ว่าน่าเกลียดในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง. ( ฉบับไทยซ้ำกันทั้งสองชุด แต่ฉบับยุโรปและพม่าแยกกัน จึงแยกให้เห็นทั้งสองชุด ).
ตรัสว่า อริยสาวก, อริยสาวิกา ( สาวกชายหญิงของพระอริยะ ) เจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ ชื่อว่าถือเอาสาระ ถือเอาส่วนประเสริฐของกายไว้ได้ คือเจริญด้วยศรัทธา, ศีล, การสดับ, การสละ, และปัญญา.
ตรัสว่า ภิกษุที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรที่เพื่อนพรหมจารีจะ สนทนาด้วย อยู่ร่วมด้วย คือตนเองสมบูรณ์ด้วยศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุตติ, วิมุตติญาณทัสสนะ และตอบปัญหาที่ตั้งขึ้นด้วย ถ้อยคำที่ชักชวนให้ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ เป็นต้น.
ตรัสว่า ภิกษุภิกษุณีเจริญ ทำให้มากซึ่งธรรม ๕ อย่าง ย่อมหวังผล ๒ อย่างได้ คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน กับถ้ายังมีกิเลสเหลือก็เป็นพระอนาคามี ธรรม ๕ อย่าง คือ ฉันทะ พอใจ, วิริยะเพียร, จิตตะ เอาใจใส่, วิมังสา พิจารณาสอบสวน และอุสโสฬหิ กระตือรือร้น ( อรรถกถาแก้ว่า ความเพียรอย่างแรงกล้า ).
ตรัสว่า เมื่อก่อนตรัสรู้ ได้ทรงเจริญธรรม ๕ อย่างข้างต้น (มีฉันทะ เป็นต้น ) มาแล้วได้ทรงบรรลุความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ คืออภิญญา ๖ ( มีแสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะเป็นที่สุด ).
ตรัสว่า ธรรม ๕ อย่างที่เจริญ ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อพระนิพพาน คือเห็นว่าไม่งามในกาย, กำหนดหมายว่าน่าเกลียดในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง, ว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง, กำหนดหมาย ในความตาย.
แล้วทรงแสดงธรรม ๕ อย่างนั้น ว่าเป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ).
๓. ตรัสแสดงธรรม ๕ อย่างข้างต้น
( มีเห็นว่าไม่งามในกาย เป็นต้น ) ว่า เจริญ ทำให้มากแล้วจะทำให้มีเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ เป็นผลเป็นอานิสงส์. เมื่อภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นเพราะสมาธิ ( เจโตวิมุติ ) และหลุดพ้นเพราะปัญญา ( ปัญญาวิมุติ ) ก็ชื่อว่า ( เหมือนตีเมืองข้าศึกได้ )๓ คือ ๑. ถอนลิ่ม ( เครื่องกีดขวาง )เทียบด้วยละอวิชชาอย่างถอนราก ๒. ถมคู เทียบด้วยละความเวียนว่ายตายเกิด ๓. ถอนเสาระเนียด เทียบด้วยละตัณหาอย่างถอนราก ๔. ถอดลอน ( อรรถกถาแก้ว่า ทำลายบานประตู ) เทียบด้วยละสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องผูกมัด ) เบื้องต่ำ ๕ อย่างถอนราก ๕. เป็นผู้ประเสริฐ วางธง วางภาระ พักพล เทียบด้วยละความถือตัวว่า เราเป็นนั่น เป็นนี่ อย่าง ถอนราก.
ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลถามว่า ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่ามีธรรมะเป็นเครื่อง อยู่ ตรัสตอบว่า ๑. ผู้เรียนธรรม แต่เว้นว่างการหลีกเร้น ไม่ประกอบความสงบแห่งจิตภายในเนือง ๆ เรียกว่าผู้ มากด้วยปริยัติ ( การเรียน ) แต่ไม่เรียกว่าผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่. ๒. ผู้แสดงธรรมตามที่ฟังแล้วเรียนแล้วแก่ผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติ ( เหมือนข้อ ๑ ) เรียกว่าผู้มากด้วยบัญญัติ แต่ไม่เรียกว่ามีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ๓. รู้สาธยาย ( ท่องบ่น ) ธรรมตามที่ฟังแล้ว เรียน แล้ว แต่ไม่ปฏิบัติ เรียกว่าผู้มากไปด้วยการสาธยาย แต่ไม่เรียกว่าผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ๔. ผู้ตรึก, ตรอง, เพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรม ตามที่ฟังแล้ว เรียนแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติ เรียกว่าผู้มากไปด้วยการตรึก แต่ไม่เรียกว่าผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ๕. ผู้เรียนธรรม ไม่ทำวัน ทั้งวันให้ล่วงไปด้วยการเรียน ไม่เว้นว่างการหลีกเร้น ประกอบด้วยความสงบแห่งจิตภายในเนือง ๆ ( คือเรียนแล้วปฏิบัติ ) เรียกว่า ผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่.
อีกนัยหนึ่งทรงแสดงว่า ผู้รู้อรรถ ( เนื้อความ ) แห่งธรรมนั้นยิ่งขึ้นไป ด้วยปัญญาชื่อว่าผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่.
ทรงแสดงนักรบ ๕ ประการ คือ ๑. เห็นฝุ่นฟุ้ง ก็ไม่กล้าเข้าสู่สงคราม ๒. เห็นยอดธง ก็ไม่กล้าเข้าสู่สงคราม ๓. ได้ยินเสียงกึกก้องของกองทัพ ก็ไม่กล้าเข้าสู่สงคราม ๔. ถูกฆ่าตายในสงคราม ๕. เอาชนะข้าศึกได้ แต่ละข้อ เทียบด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ของภิกษุ.
ทรงแสดงนักรบอีก ๕ ประการ คือ ๑. ที่ถูกฆ่าตายในสงคราม ๒. ที่ถูกยิง ( ด้วยลูกศร ) ญาตินำมาตายกลางทาง ๓. ที่ถูกยิงญาตินำมาพยาบาล ตายในภายหลัง ๔. ที่ถูกยิง ญาตินำมาพยาบาลและ หาย ๕. ที่ชนะสงคราม แต่ละข้อเทียบด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ของภิกษุเช่นกัน.
ทรงแสดงอนาคตภัย ( ภัยในอนาคต ) ๕ อย่าง ซึ่งภิกษุผู้อยู่ป่าเมื่อ มองเห็น ก็ควรเป็นผู้ไม่ประมาท พากเพียร เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ คือ ๑. เราอยู่ป่าคนเดียวอาจถูกแมลงป่องต่อยหรือตะขาบ กัดตายได้ ๒. เราอาจพลาดล้ม อาหารที่บริโภคอาจเป็นพิษ ดีของเราอาจกำเริบ เสมหะของเราอาจกำเริบ ลมเพียงดังศัสตราอาจกำเริบ เราอาจตายได้เพราะเหตุนั้น ๓. เราอาจพบกับสัตว์ร้าย เช่น ราชสีห์ เสือโคร่ง เป็นต้น สัตว์เหล่านั้นอาจทำลายชีวิตเราให้ตายได้ ๔. เราอาจพบกับพวกโจรที่ปล้นแล้วหรือยังมิได้ปล้น มันอาจฆ่าเราให้ตายได้ ๕. อมนุษย์ร้ายที่อยู่ในป่า อาจฆ่าเราให้ตายได้.
ทรงแสดงอนาคตภัยอีก ๕ อย่าง ที่ภิกษุเมื่อมองเห็น ก็ควรเป็นผู้ไม่ ประมาท พากเพียรเพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ คือ ๑. ขณะนี้เรายังหนุ่ม แต่ก็จะมีสมัยที่ความแก่จะมาถึงร่างกายนี้ ทำให้ยากที่จะ ใส่ใจคำสอนของพระพุทธเจ้า จะเสพเสนาสนะอันสงัด ๒. ขณะนี้เรายังมีโรคน้อย แต่ก็จะมีสมัยที่ความเจ็บไข้จะมาถึงร่างกายนี้. ๓. ขณะนี้ข้าวหาง่าย แต่ก็จะมีสมัยที่ข้าวยาก มนุษย์จะอพยพไปหาสถานที่หาอาหารง่าย และการอยู่ปะปนคลุกคลี ทำให้ยากจะใส่ใจ คำสอนของพระพุทธเจ้า จะเสพเสนาสนะอันสงัด ๔. ขณะนี้มนุษย์ยังพร้อมเพรียงกัน แต่ก็จะมีสมัยที่เกิดภัย คือการก่อการกำเริบในดง ชาวชนบทขึ้นเกวียนเดินทางกระจัดกระจายไป พวกมนุษย์อพยพไปสู่ที่ที่ปลอดภัย และการอยู่ปะปนคลุกคลี ทำให้ยากจะใส่ใจคำสอน ของพระพุทธเจ้า จะเสพเสนาสนะอันสงัด. ๕. บัดนี้สงฆ์ยังพร้อมเพรียงกัน แต่ก็จะมีสมัยที่สงฆ์แตกกัน ซึ่งยากที่จะใส่ใจคำสอนของ พระพุทธเจ้า จะเสพเสนาสนะอันสงัด
แล้วทรงแสดงอนาคตภัยอื่นเกี่ยวกับการที่ภิกษุจะประพฤติไม่ดีไม่งาม.
๔. ตรัสแสดงธรรมฝ่ายชั่ว ๕ ประการ
ของภิกษุผู้เป็นเถระ ซึ่งจะทำให้ ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจ ของเพื่อนพรหมจารี คือกำหนัด, คิดประทุษร้าย, หลง, กำเริบ, มัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด เป็นต้น ในฝ่ายดีทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม และได้ทรงแสดงธรรมฝ่ายชั่วฝ่ายดีทำนองเดียวกันนี้อีกหลายนัย.
ทรงแสดงธรรมะที่เป็นไปเพื่อความเสื่อมของภิกษุผู้เป็นเสขะ ( ยังศึกษาเพื่อคุณความดีสูงขึ้นไป ) ๕ ประการ คือความยินดีในการงาน,๔ ในการพูดมาก, ในการนอนหลับ, ในการคลุกคลีด้วยหมู่, ไม่พิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว และฝ่ายดีทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม และได้ทรงแสดง ธรรมฝ่ายชั่วฝ่ายดีทำนองนี้ในนัยอื่นอีก.
๕. ทรงแสดงสัมปทา
( ความถึงพร้อมหรือความสมบูรณ์ ๕ อย่าง หลายนัย ซ้ำกับที่ตรัสไว้ในตอนต้น ๆ ( หมวด ๕๐ ที่ ๑ )
แล้วทรงแสดงการพยากรณ์ ( อ้างว่าได้บรรลุ ) อรหัตตผล ๕ อย่าง คือ พยากรณ์เพราะโง่เขลา, ปรารถนาลามกจึงพยากรณ์, พยากรณ์เพราะเป็นบ้า, พยากรณ์ด้วยเข้าใจผิดว่าได้บรรลุ, พยากรณ์ โดยชอบ ( คือได้บรรลุจริง ).
ทรงแสดงการอยู่เป็นสุข ๕ อย่าง คือเข้าฌานที่ ๑ ถึงที่ ๔ และทำให้ แจ้งเจโวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ.
ทรงแสดงว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ จะตรัสรู้ธรรมที่ไม่กำเริบไม่นาน เลย คือบรรลุความเป็นผู้แตกฉานในอรรถ, ในธรรม, ในภาษาพูด, ในปฏิภาณ และพิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว.
ทรงแสดงว่า ภิกษุเสพสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ จะบรรลุธรรมที่ไม่กำเริบไม่นานเลย คือมีความริเริ่มในการงานน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย สันโดษดีในเครื่อง ประกอบแห่งชีวิต, มีอาหารน้อย ไม่เห็นแก่ท้อง, หลับน้อย ประกอบธรรมเป็นเครื่องตื่น, สดับตรับฟังมาก ทรงจำไว้ได้, พิจารณา จิตตามที่หลุดพ้นแล้ว.
และทรงแสดงยักย้ายอีกหลายนัยคล้ายคลึงกัน. ทรงแสดงว่าพระตถาตคย่อมแสดง ธรรมด้วยความเคารพ ( ด้วยอาการอันดีงาม ไม่ใช่ทำอย่างเสียไม่ได้ ) แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แก่ คนส่วนใหญ่ และแม้แต่พวกเนสาท ( ขอทานและพรานนก มีความรวมในคำว่าเนสาท ) ที่นำข้าวติดตัวไป. ๕ เปรียบเหมือนราชสีห์ เมื่อจะประหารเหยื่อก็ประหารด้วยความเคารพ ( ด้วยอาการอันดีงาม ผึ่งผาย ).
ตรัสกะพระมหาโมคคัลลานะถึงศาสดา ๕ ประเภท ที่ต้องอาศัย หรือหวังความคุ้มครองจากสาวก๖, ส่วนพระองค์ไม่ต้องหวังเช่นนั้น.
________________________________________
'๑' . ปธานิยังคะ แปลตามอรรถกถา ที่แล้วมาเคยแปลว่า องค์ ๕ ที่ควรตั้งไว้เป็นประธาน ( ธรรม ๕ อย่าง มีอุปการะมาก คือองค์ ๕ ที่ควรตั้งไว้เป็นประธาน อันได้แก่ ๑. มีศรัทธาเชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ๒. มีโรคน้อย ๓. ไม่ โอ้อวด ไม่มีมายา ๔. ลงมือทำความเพียร ๕. มีปัญญาเห็นความเกิดความดับ ฯลฯ.
'๒' . ตามศัพท์ว่า ชาววัชชีจักเป็น ภวิสฺสนฺติ วชฺชี
'๓' . ขออุปมาในการตีเมืองข้าศึกได้นี้ หมายความว่า จะต้องทำลายเครื่องกีดขวางทุกชนิดที่ฝ่ายรับทำไว้ คือ ๑. ทำลายเครื่องกีดขวางรอบนอกก่อนถึงคูเมือง ๒. ถมคูเมือง ๓. ถอนเสาระเนียด คือเสาที่ปักไว้อย่างแข็งแรงด้านนอกของ ประตู ๔. ถอนกลอนประตูเมือง เปิดบานประตูออกไป ๕. วางธง วางสิ่งแบกหามพักพล
'๔' . หมายถึงการงานที่เป็นแบบคฤหัสถ์ หรือการงานที่ไม่เนื่องด้วยการอบรมจิตใจ
'๕' . อันนภาระ มีภาระเรื่องข้าว คือแบกข้าว นำข้าวติดตัวไป หรือเอาข้าวทูนหัวไป
'๖' . ถอดความไว้ว่า " ศาสดา ๕ ประเภทที่ต้องอาศัยหรือหวังความคุ้มครองจากสาวก คือศาสดาผู้ มีศีลไม่บริสุทธิ์, มีการเลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์, มีการแสดงธรรมไม่บริสุทธิ์, มีการตอบคำถามไม่บริสุทธิ์, มีญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์ แต่แสดงตนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ "
พระไตรปิฎกเล่มนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือตอนที่ ๑ ชื่อปัญจกนิบาต ว่าด้วย ธรรมะจำนวน ๕ ตอนที่ ๒ ชื่อฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมะจำนวน ๖.
ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๓
( ในหมวดนี้มี มี ๕ วรรค วรรคที่ ๑ ชื่อผาสุวิหารวรรค ว่าด้วยความอยู่เป็นผาสุก. วรรคที่ ๒ ชื่ออันธกวินทวรรค ว่าด้วยเหตุการณ์ในเมืองอันธกวินทะ. วรรคที่ ๓ ชื่อคิลานวรรค ว่าด้วยคนใช้. วรรคที่ ๔ ชื่อราชวรรค ว่า ด้วยพระราชา. วรรคที่ ๕ ชื่อติกัณฑกีวรรค ว่าด้วยเหตุการณ์ในป่าติกัณฑกี ).
๑. ตรัสแสดงธรรมะที่ทำให้แกล้วกล้า ๕ อย่าง
คือการที่มีศรัทธา, มีศีล, มีการสดับตรับฟังมาก, ปรารภความเพียร, มีปัญญา.
ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ทำให้ถูกรังเกียจว่าเป็น ภิกษุชั่ว แม้จะเป็นพระอรหันต์ก็ไม่พ้นถูกรังเกียจ คือ ๑. เที่ยวไปในที่อยู่ของหญิงแพศยา ๒. เที่ยวไปในที่อยู่ของหญิงหม้าย ๓. เที่ยวไปในที่อยู่ของสาวใหญ่ ( โบราณเรียกว่าหญิงเทื้อ ) ๔. เที่ยวไปในที่อยู่ของกะเทย ๕. เที่ยวไปในที่อยู่ของนางภิกษุณี. ( อรรถกถาแก้ว่า ไปเสมอ ๆ อันแสดงว่า ถ้ามีธุระเป็นกิจจะลักษณะ และมีเหตุสมควรไปได้ ).
ตรัสว่า ภิกษุชั่วเปรียบเหมือนโจร อาศัยสิ่งต่าง ๆ ๕ อย่าง มีทาง อันไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น ( ทางไม่สม่ำเสมอเทียบด้วยการกระทำทางกาย วาจา ใจ อันไม่สม่ำเสมอคล้ายกับที่ย่อไว้ในเล่มที่ ๒๒ ว่า ภิกษุชั่วก็ประกอบด้วยองค์ ๓ คืออาศัยทางอันไม่สม่ำเสมอ เทียบด้วยการกระทำทางกาย วาจา ใจ อันไม่ เรียบร้อย อาศัยป่าชัฏ เทียบด้วยมีความเห็นผิด อาศัยกำลัง เทียบด้วยอาศัยพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา ( สนับสนุน ).
ทรงแสดงว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง เป็นสมณะละเอียดอ่อน คือ ๑. มีคนข้อร้องจึงบริโภคปัจจัย ๔ มาก ไม่มีคนขอร้องก็บริโภคน้อย ๒. เพื่อนพรหมจารีประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันน่าพอใจ นำเข้าไปแต่สิ่งที่น่าพอใจโดยมาก ในทางไม่น่าพอใจน้อย ๓. มีโรคน้อย ๔. เข้าฌานที่ ๑ ถึง ๔ ได้ตามปรารถนา ๕. ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ. ทรงแสดงว่า เมื่อกล่าวโดยชอบก็อาจกล่าวถึงพระองค์ได้ว่า สมณะละเอียดอ่อน.
ทรงแสดงการอยู่เป็นสุข ๕ อย่าง คือตั้งกายกรรม, วจีกรรม, มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา, มีศีลอันดีงามเสมอกันกับเพื่อนพรหมจารี, มีความเห็นอันดีเสมอกันกับเพื่อนพรหมจารี.
ตรัสกะพระอานนท์ว่า เพียงด้วยเหตุข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ภิกษุสงฆ์ก็จะพึงอยู่ ผาสุกคือ ๑. ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลด้วยตนเอง ไม่ทำผู้อื่นให้เป็นไป ( ตั้งอยู่ ) ในอธิศีล๑ ๒. ภิกษุเพ่งเล็งตัวตนเอง ไม่เพ่งเล็งบุคคลอื่น๒ ๓. ภิกษุไม่มีใครรู้จักมาก แต่ก็ ไม่สะดุ้งกลัวด้วยข้อนั้น ๔. ได้ฌานที่ ๑ ถึงที่ ๔ ตามปรารถนา ๕. ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ.
ทรงแสดง ศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุตติ, วิมุตติญาณทัสสนะว่า ทำให้ภิกษุ เป็นผู้ควรของคำนับ ของต้อนรับ เป็นเนื้อนาบุญของโลก.
และตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างชื่อว่าเป็นผู้ไม่ติดขัดใน ๔ ทิศ คือมีศีล, มีการสดับตรับฟัง, ยินดีด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้, ได้ฌาน ๔ ตามปรารถนา ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ
และทรงแสดงว่า ภิกษุเช่นนั้นควรเสพเสนาสนป่าอันสงบ.
๒. ตรัสว่า ภิกษุผู้เข้าสกุล ( เข้าไปฉันเป็นประจำ ) ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง
ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจในสกุล คือสนิทสนมกับผู้ไม่คุ้นเคย, ไม่เป็นใหญ่ แต่ทำเป็นเจ้ากี้เจ้าการ, ชอบคนสกุล ที่แตกกัน, ชอบกระซิบที่หู, ขอมากเกินไป. แล้วทรงแสดงฝ่ายดีในทางตรงกันข้าม.
ตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ไม่ควรถือเอาเป็นปัจฉาสมณะ ( พระ เดินตามหลัง ) คือไปไกล หรืใกล้เกินไป, ไม่รับสิ่งที่มีอยู่ในบาตร, ไม่ห้ามเมื่อพูดใกล้จะเป็นอาบัติ, พูดขัดใน ระหว่างที่กำลังพูด, มีปัญญาทราม แล้วทรงแสดงฝ่ายดีในทางตรงกันข้าม.
ตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างไม่ควรเข้าสัมมาสมาธิ คือไม่อดทนต่อรูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ แล้วทรงแสดงฝ่ายดีในทางตรงกันข้าม.
ตรัสสอนพระอานนท์ให้ชักชวนภิกษุบวชใหม่ให้ตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการ คือให้มีศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์, ให้สำรวมอินทรีย์ ( มีตา หู เป็นต้น ), ให้พูดแต่น้อย, ให้เสพเสนาสนะอันสงัด,ให้มี ความเห็นชอบ.
ตรัสว่า นางภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ เหมือนถูกนำไปตั้งไว้ คือตระหนี่อาวาส, ตระหนี่สกุล ( ไม่อยากให้สกุลที่เกี่ยวข้องกับตนอุปการะผู้อื่น ), ตระหนี่ ลาภ, ตระหนี่ความดี ( ทนฟังเขาสรรเสริญผู้อื่นไม่ได้ ), ตระหนี่ธรรม ( ไม่สอนธรรมแก่ผู้อื่น ) หรือตรงกันข้าม.
ตรัสว่า ธรรม ๕ อย่างที่เจริญ ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อพระนิพพาน คือเห็นว่าไม่งามในกาย, กำหนดหมายว่าน่าเกลียดในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง, ว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง, กำหนดหมาย ในความตาย.
กับแสดงความชั่วความดีของนางภิกษุณี ผู้จะชื่อว่าตกนรกหรือ ขึ้นสวรรค์อีกหลายนัย.
๓. ตรัสสอนภิกษุไข้ว่า ถ้ามีธรรม ๕ อย่างก็มีหวังว่าจะทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติไม่นาน
คือพิจารณาเห็นในกายว่าไม่งาม, กำหนดหมายว่าปฏิกูลในอาหาร, กำหนดหมายว่าไม่น่า ยินดีในโลกทั้งปวง, พิจารณาเห็นในสังขารทั้งปวงว่าไม่เที่ยง, กำหนดหมายในความตาย.
ตรัสว่า ภิกษุหรือภิกษุณีผู้เจริญธรรมะ ๕ อย่าง ย่อมหวังผลได้ ๒ อย่าง คืออรหัตตผลในปัจจุบัน หรือถ้ายังมีกิเลสเหลือก็จะได้เป็นพระอนาคามี คือตั้งสติภายในเพื่อมีปัญญาเห็นความเกิดดับแห่ง ธรรม นอกนั้นเหมือนข้อธรรมของภิกษุไข้ข้อ ๑ ถึง ๔.
ตรัสถึงคนไข้ที่พยาบาลยากและพยาบาลง่าย คนพยาบาลไข้ที่ไม่ดีและดี (แปลไว้ละเอียดแล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก ) หมายเลข ๔๕. คนไข้ที่พยาบาลยากและพยาบาลง่าย,และหมายเลข ๔๖.ด้วย
ทรงแสดงธรรมที่ตัดรอนอายุ ๕ ประการ คือทำสิ่งที่ไม่สบาย, ไม่รู้ประมาณในสิ่งที่สบาย, กินของที่ไม่ย่อย ( ย่อยยาก ), เที่ยวไปผิดเวลา, ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ แล้วทรงแสดงธรรมที่ให้อายุยืน ในทางตรงกันข้าม
กับทรงแสดงธรรมะที่ตัดรอนและทำให้อายุยืน อื่นอีก เปลี่ยนแต่ ตอนท้าย ๒ ข้อ คือ ๔. ทุศีล ๕. คบคนชั่วเป็นมิตรหรือตรงกันข้าม.
ทรงแสดงว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ไม่ควรอยู่ตามลำพังแยกจาก พระสงฆ์ คือไม่สันโดษ๓ ด้วยปัจจัย ๔ และมากด้วยความตรึกในกาม กับทรงแสดงฝ่ายดีที่ตรงกันข้าม.
ทรงแสดงทุกข์ของสมณะ ๕ อย่าง คือไม่สันโดษด้วยปัจจัย ๔ กับ ประพฤติพรหมจรรย์อย่างไม่ยินดี ส่วนสุขของสมณะตรงกันข้าม.
ทรงแสดงบุคคล ๕ ประเภทที่จะต้องไปอบายนรกอย่างไม่มีทางแก้ คือผู้ฆ่ามารดา. ฆ่าบิดา, ฆ่าพระอรหันต์, ทำให้พระโลหิตของพระตถาคตให้ห้อด้วยจิตคิดประทุษร้าย, ทำสงฆ์ให้แตกกัน.
ทรงแสดงความเสื่อม ๕ อย่าง คือความเสื่อมญาติ, เสื่อมทรัพย์, เสื่อม เพราะโรค, เสื่อมศีล, เสื่อมเพราะทิฏฐิ แล้วตรัสว่า ๓ ข้อต้น ไม่ทำให้เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบําต นรก แต่ความเสื่อมศีล, เสื่อมเพราะ ทิฏฐิ ทำให้เขาถึงอบาย เป็นต้น แล้วทรงแสดงความถึงพร้อมในทางตรงกันข้าม และว่า ๒ ข้อหลังทำให้เข้าถึงโลกสวรรค์.
๔. ทรงแสดงองค์ ๕ ว่า ทำให้พระเจ้าจักรพรรดิ์ทรงหมุนจักรไปได้
โดยไม่มีใครหมุนกลับ และทำให้พระตถาคตหมุนธรรมจักรไปได้ ไม่มีใครหมุนกลับ คือความเป็นผู้รู้อรรถ, รู้ธรรม, รู้ประมาณ, รู้กาล, รู้บริษัท ( ประชุมชน ). และ
ทรงแสดงว่า องค์ ๕ นี้ ทำให้โอรสของพระเจ้าจักรพรรดิ์ทำได้เช่น เดียวกับพระราชบิดาและทำให้พระสาริบุตรทำได้เช่นพระตถาคต.
ต่อจากนั้นทรงแสดงคุณธรรม ของพระเจ้าจักรพรรดิ์เทียบกับของพระ ตถาคต คุณธรรมของพระราชา, คุณธรรมของเชฏฐโอรสแห่งพระราชา เทียบกับของภิกษุ๔ .
ทรงแสดงถึงผู้หลับน้อยตื่นมาก ๕ ประการ (แปลไว้ละเอียดแล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก ) หมายเลข ๔๙. ผู้หลับน้อยตื่นมากในยามราตรี
ทรงแสดงถึงช้างของพระราชา ที่อดทนต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เทียบด้วยภิกษุผู้มีคุณธรรมเช่นนั้น
และแสดงคุณสมบัติ อื่นอีก เช่น รู้จักฟัง, รู้จักฆ่า, รู้จักรักษา, รู้จักอดทน, รู้จักไป เทียบคุณธรรมของภิกษุ.
๕. ทรงแสดงบุคคล ๕ ประเภท
คือให้แล้วดูหมิ่น, อยู่ด้วยกันแล้วดูหมิ่น, มีหน้ารับเอา ( หูเบาเชื่อง่าย ), โลเล, โง่เง่า ( ไม่รู้ธรรมอันเป็นกุศล อกุศล ).
ตรัสแสดงบุคคล ๕ ประเภท คือ ผู้ริเริ่มด้วยเดือดร้อน, ผู้ริเริ่ม แต่ไม่ เดือดร้อน, ไม่ริเริ่ม และเดือดร้อน, ไม่ริเริ่ม ไม่เดือดร้อน ( อย่างแรก ), ไม่ริเริ่ม ไม่เดือดร้อน ( อย่างหลัง ). โดยอธิบายว่า ริเริ่มหรือ ไม่ริเริ่ม ได้แก่รู้หรือไม่รู้เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ตามเป็นจริง, เดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อน ได้แก่อกุศลบาปธรรมดับไปโดยไม่เหลือ หรือ ไม่ดับ มีคำอธิบายพิเศษเฉพาะข้อหลังที่ว่า ไม่ริเริ่ม และไม่เดือดร้อนนั้น คือทั้งรู้วิมุติตามเป็นจริง และอกุศลบาปธรรมดับไปโดยไม่เหลือ.
เจ้าลิจฉวีสนทนากันว่า ความปรากฏขึ้นแห่งรัตนะ ๕ คือ ช้างแก้ว, ม้าแก้ว, แก้งมณี, นางแก้ว, ขุนพลแก้ว หาได้ยากในโลก. ตรัสตอบว่า ความปรากฏขึ้นแห่งรัตนะ ๕ คือพระตถาคต, พระธรรมวินัยที่พระ ตถาคตประกาศแล้ว, ผู้แสดงพระธรรมวินัยนั้น, ผู้รู้ธรรมวินัยนั้น และผู้ที่รู้แล้วปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนั้น หาได้ยากในโลก.
ตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลายพิจารณา ในเรื่องปฏิกูลและไม่ปฏิกูล ในสิ่งที่ ไม่ปฏิกูล และปฏิกูล เป็นต้น ยักย้ายหลายนัย เพื่อมิให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ และให้มีสติสัมปชัญญะวางเฉยได้ในสิ่งเหล่านั้น.
ตรัสเรื่องผู้ละเมิดศีล ๕ เป็นผู้ตกนรก ผู้ปฏิบัติตามศีล ๕ เป็นผู้ขึ้นสวรรค์
และภิกษุผู้เป็นมิตรที่ไม่ควรคบและควรคบ ผู้ไม่ควรคบ คือให้ทำการงาน ( มีทำนา เป็นต้น ),๕ ก่ออธิกรณ์, ประพฤติผิดในภิกษุผู้เป็นใหญ่เป็นประธาน, เดินทางนาน เดินทางโดยไม่มีจุดหมาย ( ใช้เวลาให้ล่วงไปในการเดินทาง ), ไม่สามารถชักชวนปลอบใจผู้อื่นด้วยธรรมิกถาตามกาลอันสมควร ฝ่ายดี คือที่ตรงข้าม.
ตรัสแสดงอสัปปุริสทาน และสัปปุริสทาน (ทานของคนชั่ว คนดี ) อย่างละ ๕ คือให้ทานด้วยไม่เคารพ, ให้ไม่ดีงาม, ไม่ให้ด้วยมือของตน, ให้สิ่งที่เป็นเดน ( หรือให้เหมือนอย่างทิ้งขว้าง ), ให้โดย ไม่เห็นอนาคต ( ปราศจากความเชื่อในผลของทาน ) ส่วนที่ดีคือตรงกันข้าม.
ตรัสแสดงสัปปุริสทาน พร้อมทั้งผลอีก ๕ อย่าง คือให้ทานด้วยศรัทธา ทำให้รูปงาม, ให้ทานด้วยความเคารพ ทำให้บุตร ภริยา บ่าวไพร่ เชื่อถ้อยฟังคำ, ให้ทานตามกาล ทำให้ความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาล บริบูรณ์, ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ ทำให้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคในกามคุณ ๕ อันโอฬาร ( มีทรัพย์แล้วได้ใช้ ไม่เหมือนบางคนที่มั่งมี แต่ไม่คิดใช้ ยอมอดอยาก ), ให้ทานไม่กระทบตน ไม่กระทบผู้อื่น ทำให้ทรัพย์ที่เกิดขึ้นไม่ถึงความวิบัติจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากผู้ไม่ชอบกัน จากทายาท. ( ก่อนที่จะตรัสแสดงผลพิเศษของแต่ละข้อ ได้แสดงผลเหมือน ๆกัน ทุกข้ออย่างหนึ่ง คือทำให้ มั่งคั่งทรัพย์มาก ).
ทรงแสดงว่า ธรรม ๕ อย่าง คือความยินดีในการงาน, ในการพูดมาก, ในการนอนหลับ, ในการคลุกคลีด้วยหมู่, การไม่พิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความเสื่อมของภิกษุผู้หลุดพ้นเป็นครั้งคราว ( ยังไม่หลุดพ้นเด็ดขาด) ฝ่ายดีตรงกันข้าม.
และทรงแสดงธรรมะ ๕ ที่เป็นไปเพื่อความเสื่อมเช่นนั้นอีก เป็นแต่ เปลี่ยนข้อ ๔ กับข้อ ๕ เป็นไม่สำรวมอินทรีย์ กับไม่รู้ประมาณในโภชนะ แล้วทรงแสดงฝ่ายดีตรงกันข้าม.
________________________________________
'๑' . แม้ไม่ต้องชักชวนคนอื่นก็ดีพอแล้ว
'๒' . แม้ไม่เพ่งเล็งคนอื่น เพียงแต่เพ่งเล็งตัวเองก็พอแล้ว
'๓' . สันโดษ คือยินดีตามมีตามได้ หรือยินดีด้วยของของตน ไม่ยินดีของของคนอื่น
'๔' . คุณธรรม ๕ ประการของภิกษุซ้ำกับที่เคยกล่าวมาแล้วในปธานิยังคะ ๕ (ธรรม ๕ อย่าง มีอุปการะ มาก คือองค์ ๕ ที่ควรตั้งไว้เป็นประธาน อันได้แก่ ๑. มีศรัทธาเชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ๒. มีโรคน้อย ๓. ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ๔. ลงมือทำความเพียร ๕. มีปัญญาเห็นความเกิดความดับ ฯลฯ.) และมีศีล สดับมาก เป็นต้น
'๕' . ทำเอง หรือคุมให้ทำ สั่งให้ทำ ก็จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน
พระไตรปิฎกเล่มนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือตอนที่ ๑ ชื่อปัญจกนิบาต ว่าด้วย ธรรมะจำนวน ๕ ตอนที่ ๒ ชื่อฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมะจำนวน ๖.
จตุตถปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๔
( แบ่งออกเป็น ๕ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตรเช่นเดิม วรรคที่ ๑ ชื่อสัทธัมมวรรค ว่าด้วยสัทธรรม, วรรคที่ ๒ ชื่ออาฆาตวรรค ว่าด้วยความอาฆาต, วรรคที่ ๓ ชื่ออุปาสกวรรค ว่าด้วยอุบาสก, วรรคที่ ๔ ชื่อ อรัญญวรรค ว่าด้วยป่า, วรรคที่ ๕ ชื่อพราหมณวรรค ว่าด้วยพราหมณ์ ).
๑. ตรัสแสดงถึงผู้ฟังธรรมที่ไม่ดี๑และที่ดี หลายนัย
ที่ไม่ดี เช่น ข่มหรือดูหมิ่นเรื่องที่แสดง, ผู้แสดง, ตัวเอง, มีจิตฟุ้งสร้าน, มีจิตไม่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ไม่ ใส่ใจโดยแยบคาย ที่ดีคือตรงกันข้าม เป็นต้น.
๒. ตรัสสอนวิธีนำออกซึ่งความอาฆาต ๕ อย่าง
คือ พึงเจริญเมตตา, กรุณา, อุเบกขา ในผู้ที่ตนคิดอาฆาต, พึงไม่สนใจในบุคคลนั้น, พึงคิดไปในทางที่ว่า ใครทำกรรมคนนั้นก็จะได้รับผล ( สัตว์มีกรรม เป็นของของตน ) ต่อจากนั้นเป็นคำสอนของพระสาริบุตร ในเรื่องทำนองเดียวกัน เป็นแต่ยักย้ายนัย.
๓. ตรัสแสดงอุบาสกผู้ประกอบด้วยศีล ๕ ว่า เป็นผู้ก้าวลงสู่ความแกล้วกล้า ตลอดจน ได้ตรัสถึงการค้าขายที่อุบาสกไม่ควรทำ
คือค้าขายเครื่องประหาร ( ศัสตรา ), ค้าขายสัตว์เป็น, ค้าขายเนื้อสัตว์, ค้าขายน้ำเมา, ค้าขายยาพิษ.
พร้อมทั้งตรัสแสดงคุณของศีล ๕ และโทษของการล่วงละเมิด เป็นต้น. ในที่สุดตรัสเล่าถึงเรื่องภเวสีอุบาสก พร้อมด้วยอุบาสกที่เป็นบริวารอีก ๕๐๐ ต่างแข่งขันทำความดี ตั้งอยู่ในศีล ๕ ให้ดี กว่ากันขึ้นโดยลำดับ จนถึงออกบวชสำเร็จเป็นพระอรหันต์.
๔. ตรัสแสดงเรื่องภิกษุผู้อยู่ป่า ๕ ประเภท
คืออยู่ป่าเพราะโง่, เพราะ ปรารถนาลามก ( เช่น ต้องการให้คนนับถือ ), เพราะเป็นบ้า, มีจิตฟุ้งสร้าน, เพราะเห็นว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวกสรรเสริญการ อยู่ป่า, เพราะมีคุณธรรม มีมักน้อย สันโดษ เป็นต้น แล้วตรัสสรรเสริญว่า อยู่ป่าเพราะมีคุณธรรมเป็นเลิศ. นอกจากนั้นทรงแสดง ถึงผู้บำเพ็ญธุดงค์๒ อื่น ๆ อีก มีทรงผ้าบังสุกุล ( ผ้าเปื้อนฝุ่นที่เก็บตก ) เป็นต้น ในทำนอง เดียวกัน.
๕. ตรัสแสดงธรรมเก่าแก่ของพราหมณ์ ๕ ประการ
ซึ่งในบัดนี้ไม่ ปรากฏในพราหมณ์ คือ ๑. พราหมณ์ย่อมอยู่ร่วมกับพราหมณี ไม่อยู่ร่วมกับคนที่มิใช่พราหมณี ๒. พราหมณ์ย่อมอยู่ร่วมกับพราหมณี ผู้มีระดู ไม่อยู่ร่วมกับพราหมณีผู้ไม่มีระดู ( ยังเด็กเกินไป ถือความสมควรเมื่อมีระดูแล้ว คือสามารถมีบุตรได้ ) ๓. พราหมณ์ย่อมไม่ซื้อ ขายพราหมณี ย่อมอยู่ร่วมกันด้วยความรักใคร่ สัมพันธ์กัน ๔. พราหมณ์ย่อมไม่สะสมทรัพย์ ข้าวเปลือก ทองเงิน ๕. พราหมณ์ย่อม หาอาหารเย็นกินเย็น หาอาหารเช้ากินเช้า ( ถือการภิกขาจารไม่สะสมหรือขอเอาไว้กินในมื้ออื่น ).
ตรัสแสดงธรรมแก่โทณพราหมณ์ เรื่องคุณธรรมของพราหมณ์ในทางที่ เนื่องด้วยการอบรมจิต.
ตรัสแสดงธรรมแก่สังคารวพราหมณ์ เรื่องคุณธรรมที่ทำให้มนต์แม้ที่ไป ท่องบ่น ยังคงแจ่มแจ้งอยู่ตลอดกาลนาน โดยชี้ไปที่การทำให้จิตปราศจากนีวนณ์ ๕ ( เฉพาะข้อ ๑ ทรงใช้คำว่า กามราคะ แทนคำว่า กามฉันท์๑.( นิวรณ์ ๕ อย่างล้วนเป็นอกุศลราศี คือ :- ๑. กามฉันท์ ความพอใจในกาม ๒. พยาบาท ความคิดปองร้าย ๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่ง่วงงุน ๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งสร้านรำคาญใจ ๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ) ๒. ( พึงสังเกตว่า ในที่นี้ ไม่ใช้คำว่า กามฉันท์ ความพอใจในกาม แต่ใช้ อภิชฌา แทน ) ๓. ( นิวรณ์คือกิเลสอันกั้นจิตให้บรรลุความดี โดยปกติแสดงว่ากามฉันท์ความพอใจเป็นข้อแรก บางแห่งก็ใช้คำว่าอภิชฌา ( ความเพ่งเล็งหรือโลภ ) ในที่นี้ใช้อภิชฌาวิสมโลภ ( โลภขนาดรุนแรง ) เป็นข้อแรก )
พราหมณ์ชื่อการณปาลี ถามพราหมณ์ชื่อปิงคิยานีถึงคุณงามความดีของ ของพระพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังคำอธิบายก็เลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสก.
ตรัสแสดงความปรากฏแห่งรัตนะ ๕ ที่หาได้ยากแก่เจ้าลิจฉวี มีความ ปรากฏแห่งพระพุทธเจ้า เป็นต้น.
ตรัสแสดงความฝันเรื่องใหญ่ ( มหาสุบิน ) ๕ ประการ ก่อนที่จะตรัสรู้ คือ ๑. ทรงฝันว่ามีมหาปฐพีเป็นที่บรรทม มีขุนเขาหิมพานต์เป็นหมอน, พระหัตถ์ซ้ายขวาพาดมหาสมุทรด้านตะวันออกตะวันตก พระบาททั้งคู่พาดมหาสมุทรด้านใต้ ๒. ทรงฝันว่ามีหญ้าชื่อติริยา๓ เกิดขึ้นจากพระนาภี สูง ขึ้นไปจดท้องฟ้า ๓. ทรงฝันว่ามีหนอนสีขาวมีหัวดำไต่ขึ้นมาจากพระบาทปกคลุมจนถึงชานุมณฑล ( บริเวณเข่า ) ๔. ทรงฝันว่ามีนก ๔ ชนิดมีสีต่าง ๆ มาจาก ๔ ทิศ ตกลงมาแทบบาทมูลแล้วกลายเป็นสีขาวทั้งหมด ๕. ทรงฝันว่าทรงเดินไปมาบนภูเขาอุจจาระลูกใหญ่ แต่ไม่เปื้อนอุจจาระ แล้วทรงอธิบายว่า ข้อ ๑ หมายความว่า จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ข้อ ๒ หมายความว่าจะได้ตรัสรู้ อริยมรรคมีองค์ ๘ ข้อที่ ๓ หมายความว่า พวกคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาวจะมาถึงพระตถาคตเป็นสรณะตลอดชีวิต ข้อที่ ๔ หมายความว่า วรรณะทั้งสี่มีกษัตริย์ เป็นต้น จะมาบวชในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว และได้ทำให้แจ้งวิมุติอันยอดเยี่ยม ข้อที่ ๕ หมาย ความว่า พระองค์จะได้ลาภปัจจัย ๔ แต่ไม่ติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น. และได้ตรัสแสดงเรื่องอื่น ๆ เช่น
ลักษณะ ๕ ของวาจาสุภาษิต (ซึ่งได้แปลเอาไว้แล้วว่าลักษณะ ๕ ของวาจาสุภาษิต " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นับเป็นสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต ไม่มีโทษ อันผู้รู้ติไม่ได้ คือ :-
๑ . วาจาที่กล่าว ( ถูกต้อง ) ตามกาล ๒. วาจาที่กล่าว เป็นความจริง
๓ . วาจาที่กล่าว อ่อนหวาน ๔ . วาจาที่กล่าว ประกอบด้วยประโยชน์
๕ . วาจาที่กล่าว ด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา. )
และนิสสารณธาตุ ( ธาตุคือความแล่นออก, ได้แก่พ้นไป ) คือการที่จิตของ บุคคลแล่นออกไป ( หรือพ้นไป ) จากกาม ( ความใคร่ ), พยาบาท ( ความคิดปองร้าย ), วิเหสา ( ความคิดเบียดเบียน ). รูป, สักกายะ ( กายของตน ).
________________________________________
'๑' . ที่ไม่ดี คือที่ไม่ควรจะก้าวลงสู่ทำนองคลองธรรม อันถูกต้องในกุศลธรรม ที่ดีคือตรงกันข้าม
'๒' . คำว่า ธุดงค์ หมายถึงข้อปฏิบัติขัดเกลากิเลส มีอยู่ ๑๓ ข้อ มีการอยู่ป่า เป็นต้น
'๓' . อรรถกถาแก้ว่า หญ้าคา ( ทัพพติณะ )
พระไตรปิฎกเล่มนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือตอนที่ ๑ ชื่อปัญจกนิบาต ว่าด้วย ธรรมะจำนวน ๕ ตอนที่ ๒ ชื่อฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมะจำนวน ๖.
ปัญจมปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๕
( แบ่งออกเป็น ๕ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตร วรรคที่ ๑ ชื่อกิมพิลวรรค ว่าด้วยพระ กิมพิละ. วรรคที่ ๒ ชื่ออักโกสกวรรค ว่าด้วยผู้ด่า. วรรคที่ ๓ ชื่อทีฆจาริกวรรค ว่าด้วยการเที่ยวไป ( เดินทาง ) นาน. วรรคที่ ๔ ชื่ออาวาสิกวรรค ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นเจ้าถิ่น. วรรคที่ ๕ ชื่อทุจจริตวรรค ว่าด้วยทุจจริต ).
๑. ตรัสแสดงธรรมะแก่พระกิมพิละ
ถึงเหตุที่พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ไม่นาน หรือตั้งอยู่นาน เมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว โดยชี้ไปที่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่มีความเคารพในพระพุทธ, ในพระธรรม, ในพระสงฆ์, ในการศึกษา, ในกันและกัน. และตรัสแสดงถึงเรื่องอื่น ๆ ( ที่แปลไว้ในบทต้น ๆแล้วโดยมากว่าเหตุที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน" พระกิมพิละกราบทูลถามต่อไปว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แล้วก็อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นานในเมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว ดูก่อนกิมพิละ ! เมื่อตถาคต ปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ เคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการ ศึกษา เคารพยำเกรงกันแลกัน. นี้แล กิมพิละ ! เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นานในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว. " )
๒. ตรัสว่า ภิกษุด่าบริภาษเพื่อนพรหมจารี ผู้กล่าวร้ายพระอริยเจ้า
เป็นผู้ หวังโทษ ๕ อย่าง คือ ต้องอาบัติปาราชิก, ต้องอาบัติชั่วหยาบ, มีโรคอย่างหนัก, หลงทำกาละ, ตายไปแล้วเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาตนรก.
แล้วได้ตรัสแสดงโทษของภิกษุผู้ก่อการทะเลาะวิวาท โทษของการพูดมาก เป็นต้น.
๓. ตรัสแสดงโทษของการจาริกไปนาน โดยไม่มีจุดหมาย
ว่า มีอยู่ ๕ อย่าง คือไม่ได้ฟังสิ่งที่ยังมิได้ฟัง, ที่ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจชัดขึ้น, ไม่แกล้วกล้า เพราะได้ฟังเพียงเล็กน้อย, มิโรคอย่างหนัก, ไม่มีมิตร. ในทางดีตรงกันข้าม.
ตรัสแสดงโทษของการอยู่ประจำที่นานเกินไป ๕ อย่าง คือมีข้าวของ มาก สั่งสมข้าวของมาก, มีเภสัชมาก สั่งสมเภสัชมาก, มีกิจกรณียะมาก ไม่ฉลาดในการงาน, คลุกคลีกับคฤหัสถ์และบรรพชิต ด้วย การคลุกคลีกับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่ควร, ออกจากอาวาสไปไหน ก็มีความห่วงใย. แล้วตรัสแสดงอานิสงส์ของการไม่อยู่ประจำที่ นานเกินไป ในทางตรงกันข้าม.
แล้วได้ตรัสแสดงโทษของการอยู่ประจำที่นานเกินไปอีก ๕ ข้อ คือทำให้ตระหนี่๑ ในที่อยู่, ในตระกูล, ในลาภ, ในคุณความดี ( ชื่อเสียง ), ในธรรม.
ทรงแสดงโทษของการเข้าสู่สกุล ( ไปฉันเป็นประจำในหมู่บ้าน ) ซึ่ง มักทำให้ต้องอาบัติต่าง ๆ
และโทษของการคลุกคลีในสกุลเกินขอบเขต เป็นต้น.
๔. ตรัสแสดงถึงภิกษุผู้เป็นเจ้าถิ่นที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างว่าเป็นผู้ไม่ควร สรรเสริญ
(อรรถกถาแก้ว่า ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเจริญ ) คือไม่สมบูรณ์ด้วยอากัปปกิริยาและวัตร, ไม่สดับตรับฟังมาก ไม่ทรงจำ, ไม่ขัดเกลากิเลส ไม่ยินดีในการขัดเกลา ไม่ยินดีในความดี, ไม่มีวาจาไพเราะ, มีปัญญาทราม. แล้วทรงแสดงฝ่ายดีตรงกันข้าม.
กับทรงแสดงถึงภิกษุผู้เป็นเจ้าถิ่นที่เป็นที่รักเป็นที่พอใจของเพื่อนพรหมจารี และตรงกันข้ามอื่น ๆ อีกจนจบวรรค ข้อความคล้ายคลึงกัน เป็นแต่เปลี่ยนคุณธรรมบางข้อ.
๕. ตรัสแสดงโทษของทุจจริต ๕ อย่าง
คือตนเองติเตียนตนได้, ผู้รู้ พิจารณาแล้วติเตียนได้, กิตติศัพท์อันชั่วย่อมฟุ้งไป, เป็นผู้หลงตาย, เมื่อตายแล้วก็เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก ในฝ่ายดีทรงแสดง ตรงกันข้าม.
ตลอดจนโทษของความเลื่อมใสเจาะจงตัวบุคคล ๕ ประการ คือ ๑. เมื่อผู้นั้นต้องอาบัติ สงฆ์ยกเสียจากหมู่ ก็เลยไม่เลื่อมใสในภิกษุทั้งหลาย เป็นเหตุให้ไม่คบ ไม่ฟังธรรม และเสื่อมจากสัทธรรม ( เพราะ เข้ากับคนผิด ) ๒. เมื่อผู้นั้นต้องอาบัติ สงฆ์ลงโทษให้นั่งปลายแถว ก็เลยไม่เลื่อมใสในภิกษุทั้งหลาย ( เหมือนข้อแรก ) ๓. เมื่อผู้นั้นหลีก ไปที่อื่น ๔. เมื่อผู้นั้นสึกไป ๕. เมื่อผู้นั้นตายไป ก็เลยไม่คบภิกษุอื่น (หมายเหตุ : คำสอนนี้ดีมาก ไม่ให้ติดในบุคคล แต่ถ้าจะ เลื่อมใส ควรเลื่อมใสในหลักธรรม เพราะคนอาจเปลี่ยนแปลงได้. ถ้าเข้าใจในหลักธรรมหรือหลักการแล้ว ก็จะไม่วุ่นวายในเรื่องบุคคล).
พระสูตรที่ไม่จัดเข้าวรรค
ในหมวดนี้ ถือได้ว่าเป็นหมวดพิเศษ แสดงเรื่องธรรมขันธ์ ( ศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุตติ, วิมุตติญาณทัสสนะ ) และเรื่องอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงหรือพ้องกับวินัยปิฎกบ้าง ที่แสดงมาแล้วในชุมนุมธรรมะที่มี ๕ ข้อ (ธรรมะที่มี ๕ อย่างนี้ เคยให้ความหมายไว้บ้างแล้ว ศีล คือการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, สมาธิ คือการทำใจให้ ตั้งมั่น, ปัญญา คือการรู้เท่าทันความจริง, วิมุตติ คือความหลุดพ้น, วิมุตติญาณทัสสนะ คือการรู้ด้วยญาณว่าหลุดพ้นแล้ว เรียกว่า ธัมมขัน ๕ ). ( พึงสังเกตุว่า ตั้งแต่หมวด ๕๐ ที่ ๔ มาจนจบนี้ได้ย่อความอย่างรวบรัด และแสดงเฉพาะข้อธรรมที่ไม่พ้องกันโดยมาก ).
ฉักกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๖ ข้อ
ในหมวดนี้ จัดเป็นหมวด ๕๐ รวม ๒ หมวด หมวดพิเศษนอก ๕๐ อีก ๒ หมวด จึงมีพระสูตร ประมาณ ๑๐๐ สูตรเศษ.
ปฐมปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๑
( ในหมวดนี้ มี ๕ วรรค ๆ ละ ๑๐ สูตรเช่นเคย วรรคที่ ๑ ชื่ออาหุเนยวรรค ว่าด้วยผู้ควรของ คำนับ. วรรคที่ ๒ ชื่อสาราณิยาทิวรรค ว่าด้วยธรรมที่ให้ระลึกถึงกัน เป็นต้น. วรรคที่ ๓ ชื่อนุตตริยวรรค ว่าด้วยธรรมอันยอดเยี่ยม. วรรคที่ ๔ ชื่อเสกขปริหานิวรรค ว่าด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อมของผู้ยังศึกษา. วรรคที่ ๕ ชื่อธัมมิกวรรค ว่าด้วยผู้ตั้งอยู่ในธรรม).
๑. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง
เป็นผู้ควรคำนับ ควรของ ต้อนรับ ควรแก่ทักขิณา ( ของถวาย ) ควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คือเห็นรูป, ฟังเสียง, ดมกลิ่น, ลิ้มรส, ถูก ต้องโผฏฐัพพะ, รู้ธรรม แล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีสติสัมปชัญญะ วางเฉย.
แล้วทรงแสดงภิกษุที่ประกอบด้วยธรรมะ ๖ อย่าง ( อภิญญา ๖ มี อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น ) ว่า เป็นผู้ควรของคำนับ กับแสดงธรรม ๒ อย่าง คืออินทรีย์ ๕ พละ ๕ ( ศรัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา ) เพิ่มทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะเป็น ๖ ข้อว่า ทำให้ภิกษุควรแก่ของคำนับ เป็นต้น.
ตรัสแสดงม้าอาชาไนยประกอบด้วยองค์ ๖ ว่า ควรแก่พระราชา คืออดทนต่อรูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ และสมบูรณ์ด้วยสีกาย อีกนัยหนึ่งเปลี่ยนแต่ข้อสุดท้าย คือสมบูรณ์ด้วยกำลัง อีกนัย หนึ่งสมบูรณ์ด้วยฝีเท้า เทียบด้วยคุณธรรมของภิกษุ คืออดทนต่ออารมณ์ ๖ มีรูป เป็นต้น.
ตรัสแสดงสิ่งยอดเยี่ยม ( อนุตตริยะ ) ๖ คือการเห็น การฟัง, การได้, การศึกษา, การบำเรอ, การระลึก อันยอดเยี่ยม.
ตรัสแสดงที่ตั้งแห่งการระลึก ๖ อย่าง คือการระลึกภึงพระพุทธ, พระ ธรรม, พระสงฆ์, ศีล, การบริจาค, เทวดา ( หรือคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา ).๒
ตรัสแสดงธรรมแก่มหานามศากยะถึงอนุสสติ ( การระลึก ) ๖ ว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่ของพระอริยสาวกผู้บรรลุผลแล้ว รู้แจ้งศาสนาแล้ว ( พระโสดาบันบุคคล ).
๒. ตรัสแสดงธรรมที่ให้ระลึกถึงกัน ( ของภิกษุ ) ๖ ประการ
คือ ๑. ตั้งกายกรรม, ๒. วจีกรรม, ๓. มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจารี ๔. แบ่งปันลาภแก่เพื่อนพรหมจารี ๕. มีศีล ที่ดีเสมอกัน ๖. มีความเห็นที่ดีเสมอกันกับเพื่อนพรหมจารี
ตรัสแสดงแสดงนิสสารณียธาตุ ( ธาตุคือการพ้นไป ) ๖ อย่าง คือ ๑. เมตตาที่เป็นเจโตวิมุติ ( เป็นฌาน ) เป็นความพ้นไปแห่งพยาบาท ( ความคิดปองร้าย ) ๒. กรุณาที่เป็นเจโตวิมุติ เป็นความพ้นไปแห่ง วิเหสา ( ความคิดเบียดเบียน ) ๓. มุทิตาที่เป็นเจโตวิมุติ เป็นความพ้นไปแห่งอรติ ( ความริษยา ) ๔. อุเบกขาที่เป็นเจโตวิมุติ เป็นความ พ้นไปแห่งราคะ ( ความกำหนัดยินดี )๓ ๕. เจโตวิมุติที่ไม่มีนิมิต ( เครื่องกำหนดหมาย ) เป็น ความพ้นไปแห่งนิมิตทั้งปวง ๖. การถอนอัสมิมานะ ( ความถืดตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ) เป็นความพ้นไปแห่งความสงสัย.
พระสาริบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายถึงความตายที่ไม่ดีของภิกษุผู้ทำการ ๖ อย่าง คือยินดีในการงาน ( ที่มิใช่ของบรรพชิต ), ยินดีในการพูดมาก, ยินดีในการหลับ, ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่, ยินดีในการเกี่ยวข้อง, ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า ในทางดีแสดงตรงกันข้าม
คฤหปตานีผู้เป็นมารดาของนกุลมาณพ พูดกับสามีผู้เป็นไข้หนัก ไม่ให้ ตายอย่างมีความเพ่งเล็ง ( กังวลห่วงใย ) ทั้งในการครองเรือนและในทางศีลธรรม. เมื่อคฤหบดีหายแล้ว ก็ถือไม้เท้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลให้ทรงทราบ ตรัสชมเชยคฤหปตานีเป็นอันมาก.
ตรัสปรารภภิกษุบวชใหม่ผู้นอนกรนหลับอยู่จนตะวันขึ้น แสดงว่า พระราชา, และผู้เป็นหัวหน้าอื่น ๆ เช่น เสนาบดี, นายบ้าน, ที่เห็นแก่นอน ย่อมไม่เป็นที่รักของชนบทและของกลุ่มชน. ส่วนสมณพราหมณ์ที่เห็นแก่นอน ย่อมไม่ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะได้.
ตรัสแสดงว่า ผู้หากินทางฆ่าสัตว์ไม่เจริญ มีทรัพย์มั่งคั่ง. ตรัสสอน ให้เจริญมรณัสสติ ( การระลึกถึงความตาย ) ทุกลมหายใจเข้าออก จึงจะชื่อว่าไม่ประมาท. กับอีกนัยหนึ่ง
ตรัสสอนให้ระลึกถึงความตาย แล้วมีฉันทะ มีความเพียรพยายาม ความอุตสาหะ ความกระตือรือร้นที่จะละอกุศลธรรม.
๓. ตรัสแสดงธรรม ๖ อย่าง
ว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อม ( ของภิกษุ ) ในกาล ทั้งสาม ( อดีต, อนาคต, ปัจจุบัน ) คือความยินดีในการงาน, ในการพูดมาก, ในการนอนหลับ, ในการคลุกคลีด้วยหมู่, ความเป็นคน ว่ายาก, การคบคนชั่วเป็นมิตร, ในฝ่ายดีตรัสแสดงตรงกันข้าม.
ตรัสแสดงว่า คำว่า ภัย, โรค, ฝี, ความข้อง, หล่ม เป็นชื่อของกาม. ตรัสว่า ภิกษุผู้ ประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง พึงทำลายขุนเขาหิมพานต์เสียได้ จึงไม่ต้องกล่าวถึงการทำลายอวิชชาอันต่ำทราม ธรรม ๖ อย่าง คือฉลาดในการเข้าสมาธิ, ในการตั้งอยู่ในสมาธิ, ในการออกจากสมาธิ, ในความควรแก่กาลของสมาธิ, ในอารมณ์ของสมาธิ, ใน การเข้าสมาธิสูง ๆ ขึ้นไป.
ตรัสแสดงที่ตั้งแห่งความระลึก ๖ ประการ มีการระลึกถึงพระพุทธเจ้า เป็นต้น
พระมหากัจจานะสอนภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องที่ตั้งแห่งความระลึก ๖ อย่าง ข้างต้น.
ตรัสแสดงว่า ภิกษุควรเข้าไปหาภิกษุผู้อบรมจิต ๖ สมัย คือเมื่อถูก นีวรณ์ ๕ ครอบงำ และเมื่อใส่ใจในนิมิตใด เป็นเหตุให้อาสวะไม่สิ้น ภิกษุก็ยังไม่รู้ไม่เห็นนิมิตนั้น, เข้าไปแล้วจะได้ขอให้สั่งสอน.
ภิกษุทั้งหลายสนทนากันถึงสมัยที่ควรเข้าไปหาภิกษุผู้อบรมจิต ตาม ความเห็นของตน. พระมหากัจจานะแสดงสมัย ๖ ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้.
ตรัสถามพระอุทายีเรื่องที่ตั้งแห่งความระลึก พระอุทายีตอบไม่ได้ และ ตอบเลี่ยงไปอย่างอื่น. เมื่อตรัสถามพระอานนท์ พระอานนท์ตอบชี้ไปที่การเข้าฌาน, การใส่ใจอาโลกสัญญา (ความกำหนดหมายว่ามี แสงสว่าง ), การพิจารณาโดยความเป็นของน่าเกลียด, การพิจารณาซากศพต่างชนิด, การเข้าฌานที่ ๔ พระผู้มีพระภาคตรัสประทาน สาธุการ แล้วตรัสสอนเพิ่มอีกข้อหนึ่ง คือให้มีสติเมื่อก้าวไป, ถอยกลับ, ยืน, นั่ง, นอน, ทำการงาน.
ตรัสรายละเอียดเรื่องอนุตตริยะ ๖ เป็นการขยายความจากที่ประทานหัวข้อ ไว้ โดยใจความว่า การเห็น การฟัง เป็นต้น อันนับว่ายอดเยี่ยมนั้น คือที่เป็นไปในทางธรรม ( เห็นพระพุทธเจ้า, ฟังธรรม ) เป็นต้น.
๔. ตรัสแสดงว่า ธรรม ๖ อย่าง
คือความยินดีในการงาน, ในการพูดมาก, ในการนอนหลับ, ในการคลุกคลีด้วยหมู่, ไม่สำรวมอินทรีย์( มีตา หู เป็นต้น ) ไม่รู้ประมาณในโภชนะว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่ง ภิกษุผู้ยังศึกษา.
และตรัสแสดงธรรม ๖ อย่าง ที่เป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมของภิกษุ คือ ความเคารพในพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, การศึกษา, ความไม่ประมาท, การปฏิสันถาร ( ต้อนรับ ). ตรัสยักย้ายนัยเปลี่ยนข้อ ๕ เป็นข้อ ๖ เป็นความเคารพในหิริ ( ความละอายต่อบาป ) ความเคารพในโอตตัปปะ ( ในความเกรงกลัวต่อบาป ).
พระมหาโมคคัลลานะสนทนากับพรหมชื่อติสสะ เรื่องญาณของเทวดา ที่เกิดขึ้นว่า เราเป็นโสดาบัน. พรหมตอบว่า เทวดาในสวรรค์ ๖ ชั้น ไม่ได้เกิดญาณอย่างนี้ทุกผู้ ต่อเมื่อผู้ใดมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, มีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่ ( โสดาปัตติยังคะ องค์แห่งพระโสดาบัน ๔ ) ผู้นั้นจึงเกิดญาณเช่นกัน.
ตรัสแสดงธรรม ๖ อย่าง ที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ( วิชชาภาคิยะ ) คือ อนิจจสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง ), อนิจเจ ทุกขสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าเป็นทุกข์ในสิ่งที่ไม่เที่ยง ), ทุกเขอนัตตสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่ใช่ตัวตนในสิ่งที่เป็นทุกข์ ), ปหานสัญญา ( ความกำหนดหมายในการละ ), วิราคสัญญา ( ความกำหนดหมายใน การคลายความกำหนัดยินดี ), นิโรธสัญญา ( ความกำหนดหมายในการดับ ).
ตรัสแสดงว่า มูลเหตุแห่งวิวาทมี ๖ อย่าง คือภิกษุเป็นผู้โกรธ, ผูกโกรธ ; ลบหลู่บุญคุณท่าน, ตีเสมอ ; ริษยา, ตระหนี่ ; โอ้อวด, มีมายา ; มีความปรารถนาลามก, มีความเห็นผิด ; ยึดทิฏฐิของตนมั่น สละยาก. เมื่อมีความไม่ดี ๖ ส่วนเหล่านี้แล้ว ก็ขาดความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ก่อวิวาท ขึ้นในสงฆ์.
อุบาสิขาชื่อเวฬุกัณฑกีผู้เป็นมารดาของนันทมาณพ ๔ ประดิษฐานทักขิณามีองค์ ๖ ในภิกษุสงฆ์ มีพระสาริบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นประมุข. พระผู้มีพระภาค ทรงทราบ ตรัสชี้แจงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า องค์ ๖ คือองค์ ๓ ฝ่ายทายก ( ผู้ให้ ) ได้แก่มีจิตผ่องใสก่อนให้ กำลังให้ ให้เสร็จแล้ว, องค์ ๓ ฝ่ายปฏิคาหก ( ผู้รับ ) ได้แก่ผู้รับเป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อละราคะ, ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อละโทสะ, ปราศจาก โมหะ หรือปฏิบัติเพื่อละโมหะ. ทักขิณาที่ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้ มีบุญอันไม่ง่ายที่จะนับจะประมาณ.
ทรงแสดงธาตุ ๖ คือ อารัพภธาตุ ( ความริเริ่ม ), นิกกมธาตุ ( ความก้าวออก ), ปรักกมธาตุ ( ความบากบั่น ), ถามธาตุ ( เรี่ยวแรง ), ธิติธาตุ ( ความอดทน ), อุปักกมธาตุ ( ความพยาพยาม ) ทั้งหกข้อนี้เป็นชื่อของ ความเพียร เพื่อชี้แจงให้พราหมณ์ผู้หนึ่งละทิ้งความเห็นผิด ปฏิเสธการกระทำของตนและของคนอื่นว่าไม่มี.
ตรัสแสดงโลภะ, โทสะ, โมหะ และอโลภะ, อโทสะ, อโมหะ ว่าเป็น ต้นเหตุให้เกิดการกระทำฝ่ายชั่ว, ฝ่ายดี ฝ่ายละ ๓ ข้อ.
ตรัสตอบพระกิมมิละ๕ เรื่องของสัทธรรมไม่ตั้งอยู่นาน เพราะพุทธบริษัทไม่มีความเคารพในพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, ในการศึกษา, ในความไม่ประมาท, ในการ ต้อนรับ. ฝ่ายดีทรงแสดงในทางตรงกันข้าม.
พระสาริบุตรกล่าวกะภิกษุทั้งหลาย ว่า ภิกษุผู้มีฤทธิ์ มีความเชี่ยวชาญ ทางจิต อาจอธิษฐานให้ท่อนฟืนเป็นดิน, เป็นน้ำ, เป็นไฟ, เป็นลม, ให้งาม, ให้ไม่งาม อย่างใดอย่างหนึ่งได้ เพราะมีธาตุทั้งหก ( ปฐวีธาตุ ถึงอสุภธาตุ ) อยู่ในท่อนไม้นั้น.
ตรัสกะพระนาคิตะ เรื่องไม่มีพระพุทธประสงค์ จะต้อนรับพราหมณคฤหบดี ชาวอิจฉานังคละทำนองเดียวกับในธรรมะหมวด ๕ ( ตรัสกะพระนาคิตะ แสดงพระประสงค์ไม่รับ รองพราหมณคฤหบดีชาวอิจฉานังคละผู้เตรียมของเคี้ยวของฉันมาที่ป่าอิจฉานังคละ ส่งเสียงเอ็ดอึงอยู่ที่ซุ้มประตู โดยแสดงว่า ผู้ใดไม่ได้ รับโดยง่ายซึ่งความสุขอันเกิดจากเนกขัมมะ ( การออกจากกาม ) จากความสงบ จากการตรัสรู้ ผู้นั้นย่อมยินดี ความสุขอันไม่สะอาด ความสุขเกิดจากการนอนหลับ และความสุขอันเกิดจากลาภสักการะชื่อเสียง แล้วทรงแสดงว่า ๑. อุจจาระปัสสาวะย่อมมีแก่ผู้ที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มรส ๒. ความเศร้าโศรก เป็นต้น ย่อมเกิดเพราะความปรวนแปรเป็นอื่นแห่งสิ่งที่รัก ๓. ความเป็นของปฏิกูล ( น่าเกลียด ) ใน นิมิต ( เครื่องหมาย ) ที่ไม่งาม ย่อมตั้งอยู่แก่ผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งนิมิตว่าไม่งาม ๔. ความเป็นของปฏิกูลในผัสสะ ( ความถูกต้องอารมณ์ มีรูป เสียงเป็นต้น ) ย่อมตั้งอยู่แก่ผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในอายตนะสำหรับถูกต้อง ๖ อย่าง ( มีตา หู เป็นต้น ) ๕. ความเป็นของปฏิกูล ในความยึดถือ ย่อมตั้งอยู่แก่บุคคลผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นความดับไปในขันธ์ ๕ ที่ยึดถือ นี้เป็นผลแต่ละข้อของ ๕ ข้อนั้น.) ที่ตรัสไว้แล้ว แต่มีรายละเอียดต่างไปเล็กน้อย.
๕. ตรัสกะพระอุทายี
ว่า คนทั่วไปเห็นสัตว์ใหญ่ ต้นไม้ใหญ่ หรือมนุษย์ใหญ่ ก็เรียกว่านาคะ ( สิ่งที่ยิ่งใหญ่ ) แต่พระองค์ตรัสว่า ผู้ไม่ทำความชั่วด้วยกาย วาจา ใจ ว่าเป็นนาคะ (หมายเหตุ :คำว่า นาคะ มาจากคำว่า นคะ ซึ่งแปลว่า ภูเขา จึงใช้เรียกสิ่งใหญ่ ๆ ได้ ).
ตรัสแสดงถึงบุคคล ๓ ประเภท คือ ๑. ประเภทที่เว้นจากความชั่ว ๒. ประเภทที่เอาชนะความโกรธและความถือตัวได้ แต่เกิดความโลภเป็นครั้งคราว ๓. ประเภทที่เอาชนะความโกรธและความถือตัวได้ แต่ยังมีวจีสังขาร๖ เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว บุคคล ๓ ประเภทนี้แบ่งออกเป็นประเภทละ ๒ พวก คือพวกที่มิได้บรรลุวิมุติ ตายไปแล้วก็มีแต่เสื่อมลงไม่สูงขึ้น อีกพวกหนึ่งได้บรรลุวิมุติ ตายไปแล้วมีแต่สูงขึ้นไม่เสื่อมลง. ( ตรัสแสดงแก่ พระอานนท์เป็นการแก้ความข้องใจของมิคสาลาอุบาสิกา ผู้ได้ฟังว่าพระพุทธเจ้าตรัสถึงอุบาสก ๒ คนที่ประพฤติพรหมจรรย์ กับไม่ ประพฤติพรหมจรรย์ ถึงแก่กรรมว่า ได้เป็นพระสกทาคามีเหมือนกัน เป็นการชี้ว่า อย่าว่าแต่ประพฤติต่างกันเลย แม้แต่ประพฤติเหมือนกัน ในชั้นเดียวกัน แต่ฝ่ายหนึ่งก้าวหน้าก็มี ไม่ก้าวหน้าก็มี คนประพฤติต่างชั้นก็อาจเสมอกันได้ เพราะมีบางส่วนบกพร่อง แต่บางส่วน สมบูรณ์ ).
ตรัสว่า ความจนเป็นทุกข์ในโลก โดยแสดงผลร้ายของความจน ๖ ข้อ ( แปลไว้ละเอียดแล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก) หมายเลข ๑๒๕. ความจนเป็นทุกข์ในโลก
พระมหาจุนทะ๗ สอนภิกษุทั้งหลาย มิให้ภิกษุผู้บำเพ็ญฌานกับภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก๘ ( ผู้แสดงธรรม ) รุกรานกันและกัน เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็ชื่อว่าหาได้ยากด้วยกัน. ( พึงสังเกตว่า พระมหาจุนทะรูปนี้ จะพูดจะสอนอะไร มักจะเพื่อสมานสามัคคี เพื่อความ ตั้งมั่นแห่งพระพุทธศาสนาเสมอ
ตรัสแสดงธรรมแก่ปริพพาชกชื่อโมฬิยสิวกะ ผู้ทูลถามถึงธรรมที่เห็นได้ ด้วยตัวเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกมาดู ควรน้อมเข้ามาในตน ผู้รู้เห็นได้จำเพาะตน โดยตรัสถามว่า เมื่อโลภะ โทสะ โมหะ มีใน ภายใน ก็รู้ว่ามีในภายใน ไม่มีในภายใน ก็รู้ว่าไม่มี ใช่หรือไม่ เมื่อตอบว่า ใช่ จึงตรัสว่า นั่นคือธรรมที่เห็นด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วย กาล เป็นต้น.
ตรัสตอบพราหมณ์ผู้หนึ่ง ในทำนองเดียวกับปริพพาชก เป็นแต่ตรัสถามให้ ตอบในเรื่องราคะ ( ความกำหนัดยินดี ) และสันโทสะ ( การประทุษร้ายทางกาย วาจา ใจ ).
พระเขมะกับพระอุตตระ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ต่างกราบทูลเป็นสุภาษิต คือพระเขมะกราบทูลว่า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ไม่คิดว่า มีผู้ประเสริฐกว่าเรา, มีผู้เสมอเรา, มีผู้เลวกว่าเรา. ส่วนพระสุมนะกราบ ทูลว่า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพไม่คิดว่า ไม่มีผู้ประเสริฐกว่าเรา, ไม่มีผู้เสมอเรา, ไม่มีผู้เลวกว่าเรา ( ไม่ยึดถือด้วยมานะความถือตัว ).
ตรัสว่า ความสำรวมอินทรีย์ ศีล, สัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ ), ญาณ ทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณ ), นิพพิทา, วิราคะ ( ความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ), วิมุตติญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณถึงความหลุด พ้น ) เกี่ยวเนื่องส่งเสริมกันให้บริบูรณ์โดยลำดับ.
พระสาริบุตรกับพระอานนท์สนทนาธรรมกัน พระสาริบุตรสรรเสริญพระอานนท์ ( รวม ๖ ข้อ คือ ) ๑. เรียนธรรมะ ๒. แสดงธรรมตามที่ฟังแล้วเรียนแล้วแก่ผู้อื่น ๓. บอกธรรมตามที่ฟังแล้วเรียน แล้วแก่ผู้อื่น ๔. ตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมะนั้น ๕. จำพรรษาอยู่ในอาสวะที่มีพระเถระผู้สดับตรับฟังมาก ๖. เข้าไปหาพระเถระเหล่า นั้นไต่ถามปัญหาเป็นครั้งคราว ซึ่งท่านเหล่านั้นก็เปิดเผยชี้เแจงบันเทาความสงสัยให้ได้.
ตรัสตอบชาณุสโสณิพราหมณ์ถึงบุคคล ๖ ประเภท ตามที่ถาม คือ ๑. กษัตริย์ประสงค์ทรัพย์ พิจารถึงปัญญา ตั้งจิตถึงกำลัง ( พลกาย ) ใส่ใจถึงแผ่นดิน มีความเป็นใหญ่เป็นที่สุด ( เป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย ) ๒. พราหมณ์ประสงค์ทรัพย์ พิจารถึงปัญญา ตั้งจิตถึงมนต์ ใส่ใจถึงยัญ มีพรหมโลกเป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย ๓. คฤหบดี ( ผู้ครองเรือน หรือพ่อเจ้าเรือน ) ประสงค์ทรัพย์ พิจารถึงปัญญา ตั้งจิตถึงศิลปะ ใส่ใจถึงการงาน มีการงานที่สำเร็จเป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย ๔. สตรี ประสงค์บุรุษ พิจารถึงเครื่องประดับ ตั้งจิตถึงบุตร ใส่ใจที่จะไม่มีสตรีอื่นมาร่วมสามี มีความเป็นใหญ่เป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย. ๕ โจร ประสงค์จะขโมย พิจารถึงป่ารก ตั้งจิตถึงศัสตรา ใส่ใจถึงความมืด มีการไม่ถูกเห็นเป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย ๖. สมณะประสงค์ขันติ ( ความอดทน ) และโสรัจจะ ( ความสงบเสงี่ยม ) พิจารถึงปัญญา ตั้งจิตถึงศีล ใส่ใจถึงความไม่กังวล มีนิพพานเป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย.
ตรัสว่า ความไม่ประมาท เป็นธรรมข้อหนึ่ง ที่เจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้บรรลุประโยชน์ทั้งสอง คือประโยชน์ปัจจุบันและอนาคต.
พระธัมมิกะ เป็นภิกษุเจ้าถิ่นใน ๗ วัด ในชาติภูมิ เป็นคนปากร้าย ด่าว่า ภิกษุอาคันตุกะ จนหนีไปหมด. พวกอุบาสกจึงพากันขับไล่ไม่ให้อยู่ในวัดทั้งเจ็ดวัด จึงต้องเดินทางไป เฝ้าพระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัส ว่า เมื่อถูกไล่จากที่ต่าง ๆ ก็ต้องมาหาพระองค์ เหมือนพ่อค้าเดินทางเรือสู่สมุทร เมื่อไม่เห็นฝั่งก็ปล่อยนกหาฝั่งไป นกก็บินไปทั้งสี่ทิศ ทั้งทิศเบื้องบนและทิศเฉียง ถ้าเห็นฝั่งก็บินไปเลย ถ้าไม่เห็นฝั่งก็บินกลับมาสู่เรืออีก แล้วตรัสเล่าเรื่องในอดีตอีกหลายเรื่อง.
ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒
( หมวดนี้มี ๕ วรรค ๆ ที่ ๑ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่. วรรคที่ ๒ ชื่อเทวตาวรรค ว่าด้วย เทวดา. วรรคที่ ๓ ชื่ออรหันตวรรค ว่าด้วยพระอรหันต์. วรรคที่ ๔ ชื่อสีติวรรค ว่าด้วยความเย็น. วรรคที่ ๕ ชื่ออานิสังวรรค ว่าด้วยผล ดี ).
๑. ตรัสสอนพระโสณะ
ผู้ทำความเพียรมากเกินไป แต่ก็ไม่ได้ตรัสรู้ โดยตรัส อุปมาด้วยสายพิณที่ตึงเกินไป หย่อนเกินไป เสียงไม่ดี ต่อขึงพอดี ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป จึงมีเสียงดี. พระโสณะปฏิบัติตามก็ได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์ แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงข้อธรรมหลายประการ โดยเฉพาะได้กล่าวถึง พระอรหันต์ขีณาสพว่า น้อมไปสู่ฐานะ ๖ ประการ คือ เนกขัมมะ ( การออกจากกาม ), ปวิเวกะ ( ความสงัด ), อัพยาปัชฌะ ( ความไม่เบียดเบียน ), ตัณหักขยะ ( ความสิ้นไปแห่ง ตัณหา ), อุปาทานักขยะ ( ความสิ้นไปแห่งอุปาทานหรือความยึดมั่นถือมั่น ), อสัมโมหะ ( ความไม่หลง ).
พระผัคคุณะอาพาธหนัก พระอานนท์ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคขอให้เสด็จ ไปเยี่ยม พระองค์เสด็จไปแสดงธรรมโปรด เมื่อเสด็จกลับไม่นานพระผัคคุณะก็ถึงมรณภาพ. เมื่อพระอานนท์ไปกราบทูล จึงตรัสว่า จิต ของพระผัคคุณะภายหลังฟังธรรมได้หลุดพ้นจากสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ( เป็นพระอนาคามี ) แล้วได้ตรัสถึงอานิสงส์ ( ผลดี ) ใน การฟังธรรมตามกาล ในการพิจารณาเนื้อความตามกาล มี ๖ อย่าง คือ ๑. ฟังธรรมที่พระตถาคตแสดง จิตหลุดพ้นจากสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ๒. ฟังธรรมที่สาวกพระตถาคตแสดง จิตพ้นจากสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ๓. ตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรม จิตพ้นจาก สัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ๔. ฟังธรรมที่พระตถาคตแสดง จิตหลุดพ้นในธรรม เป็นที่สิ้นกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ๕. ฟังธรรมที่สาวก พระตถาคตแสดง จิตหลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ๖. ตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรม จิตหลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นกิเลส อย่างยอดเยี่ยม.
ตรัสแสดง อภิชาติ ๖ ประการ เปรียบเทียบกับข้อบัญญัติของปูรณะ กัสสปะ คือ ๑. คนมีอภิชาติดำ ทำให้เกิดธรรมอันดำ ได้แก่ผู้เกิดในตระกูลต่ำ แล้วประพฤติทุจจริต ๒. คนมีอภิชาติดำ ทำให้เกิดธรรมอันขาว ได้แก่ผู้เกิดในตระกูลต่ำ แต่ประพฤติสุจริต ๓. คนมีอภิชาติดำ ทำให้เกิดพระนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว ได้แก่ผู้เกิดในตระกูลต่ำ ออกบวชตั้ง อยู่ในคุณธรรม ทำนิพพานให้เกิดขึ้น ๔. คนมีอภิชาติขาว ทำให้เกิดธรรมอันดำ ได้แก่ผู้เกิดในตระกูลสูง แต่ประพฤติทุจจริต ๕. คนมี อภิชาติขาว ทำให้เกิดธรรมอันขาว ได้แก่ผู้เกิดในตระกูลสูง ประพฤติสุจริต ๖. คนมีอภิชาติขาว ทำให้เกิดนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว ได้แก่ ผู้เกิดในตระกูลสูง ออกบวชตั้งอยู่ในคุณธรรม ทำนิพพานให้เกิดขึ้น.
ตรัสแสดงคุณธรรมของภิกษุผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก ว่า ละอาสวะได้ ๖ อย่าง ( มีละด้วยการสำรวม เป็นต้น ( โปรดดูที่แปลไว้แล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก ) หมายเลข ๑๑๗. ต้องเป็นผู้รู้ ผู้เห็น จึงสิ้นอาสวะได้ เป็นแต่ในนั้นแสดงวิธีการ ๗ อย่าง ในที่นี้แสดง ๖ อย่าง ยกข้อว่าด้วยทัสสนะออกเสีย ).
ตรัสถึงภิกษุ ๖ ประเภท คืออยู่ป่า, อยู่ท้ายบ้าน, ถือบิณฑบาต, รับนิมนต์, ทรงผ้าบังสุกุล, ทรงคฤหบดีจีวร ( ผ้าที่คฤหบดีถวาย ) ซึ่งมีทั้งชั่วทั้งดี.
พระจิตตหัตถิสาริบุตร พูดแทรกขึ้นในเมื่อพระเถระทั้งหลายกำลังกล่าว อภิธัมมกถากันอยู่ พระมหาโกฏฐิตะจึงห้ามปรามภิกษุที่เป็นมิตรสหายของผู้พูดแทรกจึงเตือนว่า พระจิตตหัตถิสาริบุตรเป็นผู้ฉลาด อาจจะ พูดอภิธรรมกับพระเถระทั้งหลายได้. พระมหาโกฏฐิตะกล่าวว่า ถ้าไม่รู้ปริยายแห่งจิตของผู้อื่น ก็ยากจะรู้ได้ แล้วกล่าวว่า คนที่เสงี่ยมเจียม ตัว สงบระงับในเมื่ออยู่อาศัยศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารีที่เคารพนั้น ถ้าแยกออกไปก็อาจถูกราคะครอบงำจิตได้ เหมือนโคที่ผูกไว้ จะว่า ไม่กินข้าวกล้าไม่ได้ แม้บุคคลได้ฌานทั้งสี่และได้เจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิต ( เครื่องหมาย ) ก็อาจเสื่อม ถูกราคะครอบงำ ลาสิกขาไปได้. ต่อมา พระจิตตหัตถิสาริบุตรลาสิกขาไปจริง ๆ พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงตรัสว่า ไม่ช้าจิตตะก็จะระลึกได้ถึงเนกขัมมะ. ในไม่ช้าจิตตหัตถิ สาริบุตรก็บวชอีก และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์. ( จิตตะผู้เป็นบุตรแห่งนายควาญช้าง กับโปฏฐปาท ปริพพาชก ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค. โปฏฐปาทปริพพาชกกราบทูลเล่าว่า เมื่อพระองค์เสด็จกลับ ( ในวันที่เสด็จไป ณ มัลลิการามนั้น ) พวกปริพพาชกพากันกล่าวแดกดันข้าพระองค์ว่า ไม่ว่าพระองค์ตรัสอะไร ข้าพระองค์กราบทูลรับรองไปหมดว่าอย่างนั้น พระเจ้าข้า อย่างนี้ พระเจ้าข้า. พวกเขาไม่เห็นเลยว่า พระองค์ทรงแสดงธรรมแง่เดียว ( บอกยืนยันให้แน่ลงไปในแง่เดียว ) ว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นต้น. ข้าพระองค์ตอบไปว่า เมื่อพระสมณโคดมแสดงปฏิปทาอันจริงแท้ ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม วิญญูบุรุษเช่นข้าพเจ้า จะไม่ รับรองสุภาษิต โดยความเป็นสุภาษิตได้อย่างไร. )
พระเถระหลายรูปสนทนากัน ถึงปัญหาว่า อะไรเป็นส่วนสุด ๒ ฝ่าย อะไร เป็นท่ามกลาง อะไรเป็นเครื่องเย็บให้ติดกัน ต่างแสดงความเห็นชี้ไปที่ผัสสะ ความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ว่าเป็นส่วนสุด ๒ ฝ่าย ความดับ ตัณหาเป็นเครื่องเย็บให้ติดกัน ดังนี้เป็นต้น ( รวม ๖ นัยฺ ) พระผู้มีพระภาคเสด็จมา ตรัสว่า คำตอบเหล่านั้นทั้งปวงถูกโดยปริยาย แต่ที่ พระองค์ทรงมุ่งหมาย ( ตรงกับที่รูปแรกกล่าวไว้ ) คือผัสสะ ความเกิดแห่งผัสสะ เป็นส่วนสุด ๒ ฝ่าย เป็นต้น.
ตรัสแสดง ธรรมแก่พระอานนท์ ถึงบุคคล ๖ ประเภท แบ่งเป็น ๓ ประเภท แรก กับ ๓ ประเภทหลัง คือ ประเภทแรก ได้แก่ผู้มีธรรมอันไม่เสื่อม, ผู้มีธรรมอันเสื่อม, ผู้จะไปสู่อบายนรก. ๓. ประเภทหลัง ได้แก่ผู้มี ธรรมอันไม่เสื่อม, ผู้มีธรรมอันเสื่อม, ผู้มีธรรมคือพระนิพพาน.
ตรัสแสดง ธรรมปริยายว่าด้วยนิพเพธิกะ ( ชำแรกหรือทำลายกิเลส ) คือควร ทราบธรรม ๖ อย่าง คือ กาม, เวทนา, สัญญา, อาสวะ, กรรม, ทุกข์ พร้อมด้วยความเกิดขึ้น, ความต่างกัน, วิบาก ( ผล ), ความดับ, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งธรรมทั้งหกนั้น.๙
ตรัสแสดง กำลังของพระตถาคต ๖ ประการ คือ ๑. ทรงรู้ฐานะและอฐานะ ( สิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ) ตามความเป็นจริง. ๒. ทรงรู้ผลโดยฐานะ โดยเหตุ ตามเป็นจริง แห่งการทำกรรมที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน. ๓. ทรงความรู้ เศร้าหมอง, ความผ่องแผ้ว, การออกแห่งฌาน, วิโมกข์, สมาธิ และสมาบัติ. ๔. ทรงระลึกชาติได้ ๕. ทรง ได้ทิพยจักษุ ๖. ทรงทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ กำลังทั้งหกข้อของพระตถาคตเหล่านี้ทำให้ทรงปฏิญญาความเป็น หัวหน้า ( อาสภัณฐานะ ฐานะแห่งโคอุสภะ หรือโคผู้นำฝูง ) บรรลือสีหนาท หมุนพรหมจักร ( ล้อธรรมอันประเสริฐ ).
๒. ตรัสว่า ผู้ละธรรม ๖ อย่างไม่ได้ ไม่ควรทำให้แจ้งอนาคามิผล
คือความ ไม่ศรัทธา ( เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ), ความไม่ละอาย, ความไม่เกรงกลัวต่อบาป, ความเกียจคร้าน, ความหลงลืมสติ, ความมีปัญญทราม. ฝ่ายดี ทรงแสดงตรงกันข้าม.
ทรงแสดงว่า บุคคนละธรรม ๖ อย่างไม่ได้ ไม่ควรทำให้แจ้งความเป็นพระอรหันต์ คือความหดหู่, ความง่วงงุน, ความฟุ้งสร้าน, ความรำคาญใจ, ความไม่ศรัทธา, ความประมาท. ฝ่ายดีทรงแสดงตรง กันข้าม.
ตรัสว่า ภิกษุคบมิตรชั่ว ดำเนินตามมิตรชั่ว เป็นไปไม่ได้ที่จะทำธรรมะเกี่ยว กับความประพฤติและมารยาท ( อภิสมาจาริกธรรม ), ธรรมของพระเสขะ, และทำศีลให้บริบูรณ์ และเป็นไปไม่ได้ที่จะละกามราคะ ( ความ กำหนัดในกาม ), รูปราคะ ( ความกำหนัดในรูป ), อรูปราคะ ( ความกำหนัดในสิ่งที่มิใช่รูป ). ในทางดีทรงแสดงตรงกันข้าม.
ตรัสว่า ภิกษุผู้คลุกคลีด้วยหมู่ เป็นไปไม่ได้ที่จะยินดีในความสงัด, ที่จะถือเอา นิมิตแห่งจิตไว้,๑๐ ที่จะทำสัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ) ให้บริบูรณ์, ที่จะทำสัมมาสมาธิ ( ความ ตั้งใจมั่นชอบ ) ให้บริบูรณ์, ที่จะละสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องร้อยรัด ) ได้, ที่จะทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้. ฝ่ายดีทรงแสดงตรงกันข้าม.
เทวดากราบทูลถึงธรรม ๖ อย่างที่เป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมของภิกษุ คือ ความเคารพในพระศาสดา, พระธรรม, พระสงฆ์, การศึกษา, ความเป็นผู้ว่าง่าย และการคบเพื่อนที่ดี. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเล่า พระ สาริบุตรจึงกราบทูลว่า ท่านเข้าใจว่าขยายความได้ คือทำเช่นนั้นด้วยตนเอง, พรรณนาคุณของการนั้น, ชักชวนผู้อื่นเพื่อทำ เช่นนั้น รวมทั้ง สรรเสริญผู้ทำเช่นนั้นตามความจริงตามกาลอันสมควร.
ตรัสว่า ถ้าไม่มีสมาธิอันสงบระงับ ประณีต ก็ไม่ได้เสวยอภิญญา ๖ ( มีแสดง ฤทธิ์ได้ เป็นต้น ) ต่อมีสมาธิเช่นนั้นจึงได้อภิญญา ๖.
ตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง ไม่ควรบรรลุความเป็นผู้เห็นแจ่ม แจ้งในคุณวิเศษนั้น ๆ คือไม่รู้จักธรรมที่เป็นส่วนแห่งความเสื่อม, ความเสมอตัว, ความก้าวหน้า,๑๑ การทำลายกิเลส ตามความเป็นจริง, ไม่ทำการโดยเคารพ, ไม่ทำการให้เป็นที่สบาย ( ไม่เป็นอุปการะแก่การปฏิบัติธรรม ). ในฝ่ายดีทรงแสดง ตรงกันข้าม.
ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง ไม่ควรบรรลุความเป็นผู้มีกำลังสมาธิ คือไม่ฉลาดในการเข้า, ในการตั้งอยู่, ในการออกเกี่ยวกับสมาธิ, ไม่ทำการโดยเคารพ, ไม่ทำการโดยติดต่อ, ไม่ทำการให้เป็นที่สบาย. ในฝ่ายดีทรงแสดงตรงกันข้าม.
ตรัสว่า ภิกษุละธรรม ๖ อย่างไม่ได้ ไม่ควรเข้าฌานที่ ๑ คือนีวรณ์ ๕ กับ ไม่เห็นโทษของกาม ตามเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ. ในฝ่ายดีทรงแสดงตรงกันข้าม.
ตรัสว่า ภิกษุละธรรม ๖ อย่างไม่ได้ ไม่ควรเข้าฌานที่ ๑ อีกอย่างหนึ่ง คือ ความตรึกในกาม, ในการพยาบาท, ในการเบียดเบียน, ความกำหนดหมายในกาม, ในการพยาบาท, ในการเบียดเบียน และฝ่ายดีทรงแสดง ตรงกันข้าม.
๓. ตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง
ย่อมอยู่เป็นทุกข์ในปัจจุบัน คือ ประกอบด้วยความตรึกในกาม ( เป็นต้น เหมือนข้างบนนี้ ) ฝ่ายดีตรัสในทางตรงกันข้าม.
ตรัสว่า ภิกษุผู้ไม่ละธรรม ๖ อย่างไม่ควรทำให้แจ้งความเป็นพระอรหันต์ คือความถือตัว ( มานะ ), ความดูหมิ่นตัวเอง ( โอมานะ ), ความดูหมิ่นผู้อื่น๑๒ ( อติมานะ ), ความ สำคัญผิดว่าได้บรรลุ ( อธิมานะ ), ความกระด้าง ( ถัมภะ ), ความถือตัวว่าเลวยิ่ง ( อตินิปาตะ ). ในทางดีคือตรงกันข้าม.
ตรัสว่า ภิกษุไม่ละธรรม ๖ อย่างไม่ควรทำให้แจ้งธรรมอันยิ่งของมนุษย์ คือความหลงลืมสติ, ความไม่มีสัมปชัญญะ ( ความรู้ตัว ), ความไม่สำรวมอินทรีย์ ( มีตาเป็นต้น ), ความไม่รู้ประมาณในโภชนะ, พูดปด, พูดเลียบเคียงหาลาภ. ในทางดี คือตรงกันข้าม.
ตรัสว่า ภิกษุผู้ตั้งความเพียรเพื่อบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะ ประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง เป็นผู้มากไปด้วยความสุขกายสุขใจในปัจจุบัน คือยินดีในธรรม, ยินดีในการทำความดีให้เกิดขึ้น ( ภาวนา ), ยินดีในการละความชั่ว, ยินดีในความสงัด, ยินดีในความไม่พยาบาท, ยินดีในธรรมที่ไม่ทำให้เนิ่นช้า.
ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่างไม่ควรบรรลุกุศลธรรมที่ยังมิได้บรรลุ ไม่ควร ทำกุศลธรรมที่บรรลุแล้วให้เจริญ คือไม่ฉลาดในความเจริญ, ไม่ฉลาดในความเสื่อม, ไม่ฉลาดในอุบาย, ไม่ปลูกความ พอใจเพื่อบรรลุกุศลธรรมที่ยังมิได้บรรลุ, ไม่รักษากุศลธรรมที่บรรลุแล้ว, ไม่ดำเนินการด้วยการกระทำอันติดต่อ. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.
ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่างจะบรรลุความยิ่งใหญ่ไพบูลในธรรมทั้งหลายไม่ นาน คือมากด้วยแสงสว่าง ( คือความรู้ถึงฌาณ ). มากด้วยความเพียร ( โยคะ ), มากด้วยความรู้สึก ( เวทะ อรรถกถาแก้ว่า ปีติปราโมทย์ ) มากด้วยความไม่สันโดษ ( ในกุศลกรรม ),๑๓ ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม, ทำความ เพียรยิ่ง ๆ ขึ้นไป.
ทรงแสดงถึงผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง จะตกนรกเหมือนนำไปวางไว้ และ
ตรงกันข้ามจึงขึ้นสวรรค์เหมือนนำไปวางไว้ คือฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติ ผิดในกาม, พูดปด, มีความปรารถนาลามก, มีความเห็นผิด
อีกนัยหนึ่ง คือพูดปด, พูดส่อเสียด, พูดคำหยาบ, พูดเพ้อเจ้อ, โลภ, คะนอง.
ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง ไม่ควรทำให้เแจ้งความเป็นพระอรหันต์ อันเป็นธรรมที่เลิศ คือไม่มีศรัทธา, ไม่มีความละอาย, ไม่มีความเกรงกลัวต่อบาป, เกียจคร้าน, ๑๔มีปัญญาทราม, ห่วงใยในกายในชีวิต ฝ่ายดีคือตรงกันข้าม
ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง หวังความเสื่อมในกุศลธรรมได้ ไม่มีความเจริญ ในอนาคต คือปรารถนามาก ทุกข์ร้อน ( เพราะความปรารถนามากนั้น ), ไม่สันโดษด้วย ปัจจัย ๔ ตามมีตามได้, ไม่มี ศรัทธา, ทุศีล, เกียจคร้าน, หลงลืมสติ, มีปัญญาทราม. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.
๔. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง ไม่ควรทำให้แจ้งความเห็นอันยอดเยี่ยม
คือไม่ข่มจิต, ไม่ประคองจิต, ไม่ปลอบจิต, ไม่เพ่งจิต ในสมัยที่ควรทำเช่นนั้น, น้อมไปในธรรมอันเลว, ยินดีในกายของ ตน. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.
ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง แม้ฟังธรรม ก็ไม่ควรเพื่อจะก้าวลงสู่ทำนอง ธรรมอันถูกต้องในกุศลธรรม คือประกอบด้วยเครื่องปิดกั้นคือกรรม ( ทำกรรมที่เป็นอนันตริยกรรม ), ๑๕ ประกอบด้วยเครื่องปิดกั้นคือกิเลส ( มีความเห็นผิดอย่างแรง ), ประกอบด้วยเครื่องปิดกั้นคือวิบาก ( ผล แห่งกรรมส่งให้ไปเกิดในที่ไม่สมควร ), ไม่มีศรัทธา, ไม่มีฉันทะ ( ความพอใจ ), มีปัญญาทราม,
อีกนัยหนึ่ง ทำอนันตริยกรรม ๕ กับมีปัญญาทราม.
อีกนัยหนึ่ง ไม่ฟังธรรม, ไม่ตั้งโสต, ส่งใจไปที่อื่น, ถือเอาแต่สิ่งไม่เป็นประโยชน์ ทอดทิ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์, ประกอบด้วยความพอใจ ที่ไม่สมควร. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.
ตรัสว่า ละธรรม ๖ อย่างไม่ได้ ไม่ควรทำให้แจ้งซึ่งความสมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ คือความเห็นเป็นเหตุยึดกายของตน, ความลังเลสงสัย, การลูบคลำศีลและพรต ( ตัดลัทธิพิธีหรือโชคลาง ), ราคะ โทสะ โมหะ ที่ ทำให้ไปสู่อบาย. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.
ตรัสว่า ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ละธรรม ๖ อย่างที่กล่าวมานี้ได้ และไม่ควรทำธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ให้เกิดขึ้น
ตรัสแสดงอภัพพฐาน ( ฐานะที่ไม่ควรหรือที่เป็นไปไม่ได้ ) ๖ ประการ คือ ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่อยู่อย่างขาดความเคารพในพระศาสดา, พระธรรม, พระสงฆ์, การศึกษา, ไม่ควรก้าวล่วงอคมนียวัตถุ ( สิ่งที่ไม่ ควรถึงอรรถกถาแก้ว่า ทิฏฐิ ๖๒ ), ไม่ควรยังภพที่ ๘ ให้เกิดขึ้น ( ไม่เกิดอีกเป็นครั้งที่ ๘ ).
ตรัสแสดงอภัพพฐาน ๖ ประการ คือผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ไม่สมควรเห็นว่า สังขารใด ๆ เที่ยง, เป็นสุข, ธรรมใด ๆ เป็นอัตตาตัวตน, ไม่ควรทำอนันตริยกรรม, ไม่ควรถือมงคลตื่นข่าว, ไม่ควรแสวงหาทักขิเณยยบุคคล นอกพระพุทธศาสนา.
อีกนัยหนึ่ง คือไม่ควรทำอนันตริยกรรม ๕ และถือศาสนาอื่น.
อีกนัยหนึ่ง คือไม่ควรเห็นว่าสุข ทุกข์ ตนเองทำขึ้น, คนอื่นทำขึ้น, ทั้งตนเองและ คนอื่นทำขึ้น, ไม่ใช่ตนเองทำขึ้น แต่เกิดขึ้นเอง, ไม่ใช่คนอื่นทำขึ้น แต่เกิดขึ้นเอง, ไม่ใช่ทั้งตนเองและคนอื่นทำขึ้น แต่เกิดขึ้นเอง, ทั้งนี้เพราะ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ เป็นผู้เห็นด้วยดีซึ่งเหตุ และธรรมอันเกิดขึ้นแต่เหตุ.
๕. ตรัสว่า ความปรากฏขึ้นแห่งสิ่ง ๖ สิ่ง หาได้ยากในโลก
คือพระพุทธเจ้า ผู้แสดงธรรมของพระพุทธเจ้า, ผู้เกิดในแดนอันประเสริฐ ( อริยายตนะ ),๑๖ ความเป็นผู้ไม่มีอินทรีย์ วิกล ( ตา, หู เป็นต้น ไม่พิการ ) ไม่โง่เง้า, หรือเป็นใบ้, มีความพอใจในกุศลธรรม.
ตรัสแสดงอานิสงส์ ๖ ประการ ในการทำให้แจ้งโสดาปัตติผล คือเที่ยงใน พระสัทธรรม, มีธรรมะอันไม่เสื่อม, เมื่อทำที่สุดทุกข์ได้ก็ไม่มีทุกข์ ( น่าจะหมายความว่าทุกข์ชนิดไหนและได้แล้วก็จะไม่เกิดอีก ), ประกอบ ด้วยญาณ ( ความรู้ ) อันไม่ทั่วไป ( แก่บุถุชน ), เห็นด้วยดีซึ่งเหตุ และธรรม อันเกิดขึ้นแต่เหตุ.
ตรัสแสดงฐานะที่เป็นไปไม่ได้ ๖ อย่าง คือเป็นไปไม่ได้ที่ผู้เห็นว่าสังขารเที่ยง จะประกอบด้วยความพอใจอันสมควร, จะก้าวสู่ทำนองคลองธรรมอันถูกต้อง, จักทำให้แจ้งโสดาปัตติผลถึงอรหัตตผล ( ผล ๔ ).
แล้วทรงแสดงว่า ผู้เห็นว่าสังขารเป็นสุข เห็นธรรมว่าเป็นตัวตน เห็นนิพพานว่าเป็นทุกข์ ก็มีนัยเดียวกับข้างบนนี้. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.
ตรัสว่า ภิกษุเห็นอานิสงส์ ๖ อย่าง ควรตั้งความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยงใน สังขารทั้งปวงโดยไม่กำหนดขอบเขต ( ว่าส่วนนี้ไม่เที่ยง ส่วนอื่นเที่ยง ) คือสังขารทั้งปวง จักปรากฏโดยความเป็นของไม่มีที่ตั้ง, ใจของ เราจักไม่น้อมไปในโลกทั้งปวง, ใจของเราจักออกจากโลกทั้งปวง, ใจของเราจักน้อมไปสู่พระนิพพาน, เราจักละสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่อง ร้อยรัดหรือผูกมัด ) ได้, เราจักประกอบด้วยคุณเครื่องเป็นสมณะอันยอดเยี่ยม.
ตรัสว่า ภิกษุผู้เห็นอานิสงส์ ๖ อย่าง ควรตั้งความกำหนดหมายว่าเป็นทุกข์ ในสังขารทั้งปวงโดยไม่กำหนดขอบเขต คือความกำหนดหมายในพระนิพพานของเราจักปรากฏในสังขารทั้งปวง, ใจของเราจักออกจากโลก ทั้งปวง, เราจักเห็นสันติในพระนิพพาน, เราจักถอนกิเลสที่แฝงตัว ( อนุสัย ) ได้, เราจักชื่อว่าทำกิจที่ควรทำ, เราจักชื่อว่าได้บำเรอพระศาสดา ด้วยการบำเรออันประกอบด้วยเมตตา.
ตรัสว่า ภิกษุเห็นอานิสงส์ ๖ อย่าง ควรตั้งความกำหนดหมายว่าไม่ใช่ตนใน ธรรมทั้งปวงโดยไม่กำหนดขอบเขต คือเราจักไม่มีตัณหาและทิฏฐิ ( ความทะยานอยากและความเห็นเป็นเหตุยึดถือ ) ในโลกทั้งปวง, เราจัก ดับความถือว่าเป็นเรา, ความถือว่าเป็นของเราเสียได้, เราจักประกอบด้วยญาณอันไม่สาธารณะ, เราจักเห็นด้วยดีซึ่งเหตุและธรรมอันเกิดแต่ เหตุ.
ตรัสว่า ควรละภพ ๓ คือ กามภพ, รูปภพ, อรูปภพ.
ความเจริญสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา, อธิจิตสิกขา, อธิปัญญาสิกขา.
ตรัสว่า ควรละตัณหา ๓ คือ กามตัณหา, ภวตัณหา, วิภวตัณหา.
ควรละมานะ ๓ คือ มานะ ( ความถือตัว ), โอมานะ ( การดูหมิ่นตัวเอง ), อติมานะ ( การดูหมิ่นผู้อื่น หรือถือตัวว่าสูงกว่าผู้อื่น ).
________________________________________
'๑' . หวงที่อยู่ มีที่ว่างก็ไม่อยากรับใครไว้, ตระหนี่ในตระกูล คือไม่ต้องการให้ตระกูลที่อุปฐากตน
'๒' . ในคำอธิบายตรัสถึงศรัทธา, ศีล, สุตะ ( การสดับ ), จาคะ ( การสละ ), และปัญญา
'๓' . ในข้อ ๑๒ . มหาราหุโลวาทสูตร ทรงแสดงว่า อุเบกขาเป็นเหตุให้ละปฏิฆะ ( ความขัดใจ ) ได้ (พระสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๒) ในข้อ ๔
'๔' . เล่มที่ ๑๒ หน้า ๒ ชื่ออังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ประกอบด้วย ดูที่เรื่อง ตติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ สูตรที่ ๓ หมายเลข ๒
'๕' . ในธรรมะหมวด ๕ ที่แล้วมา ใช้คำว่า พระกิมพิละ และแสดงความเคารพ ๕ ข้อ. ชื่อที่เพี้ยนกันเล็กน้อย เช่นนี้ เข้าใจว่าเป็นด้วยต้นฉบับมากกว่า แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าคนละรูป
'๖' . อรรถกถาว่า ได้แก่การเจรจาปราศรัย
'๗' . น้องชายพระสาริบุตร
'๘' . บาลีใช้คำว่า ธมฺมโยคา อรรถกถาแก้ว่า พระธรรมกถึก
'๙' . กาม คือความใคร่, เวทนา คือความรู้สึกอารมณ์เป็นสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์, สัญญา ความจำได้หมายรู้, อาสวะ กิเลสที่ดองสันดาน, กรรม การกระทำ, ทุกข์ หมายเอาทั้งทุกข์ประจำและทุกข์จร
'๑๐' . นิมิต คือเครื่องหมายแห่งสมาธิจิต และวิปัสสนาจิต
'๑๑' . ความขาดทุน, เสมอตัว, ได้กำไร
'๑๒' . อรรถกถาแก้ว่า ความถือตัวว่าสูงกว่าเขา
'๑๓' . ความคิดก้าวหน้าในความดีอยู่เสมอ ไม่พอใจอยู่เพียงเท่าที่มีอยู่
'๑๔' . ฉบับไทยไม่มีข้อนี้ ฉบับพม่าและยุโรปมี
'๑๕' . มีการฆ่ามารดา บิดา เป็นต้น
'๑๖' . อรรถกถาแก้ว่า ในมัธยมประเทศ ซึ่งถ้าจะถอดความก็คือเกิดในที่ซึ่งมีความเจริญหรือแวดล้อมด้วยเหตุที่ จะให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมที่ดีงาม
หมวดนอกจาก ๕๐
(หมวดนี้มีข้อความสั้น ๆ พอจะจัดเป็นวรรคได้ วรรคหนึ่ง เรียกว่าติกวรรค คือวรรคที่ว่าด้วยธรรมะ จำนวน ๓ แต่เมื่อกล่าวถึงธรรมะจำนวน ๓ ในแต่ละสูตร ๒ จำนวนด้วยกัน จึงเท่ากับว่า แต่ละสูตร ก็กล่าวถึงธรรมจำนวน ๖ นั่นเอง).
ตรัสแสดงราคะ, โทสะ, โมหะ แล้วตรัสว่า ควรเจริญอสุภะ ( ความไม่งาม ) เพื่อละราคะ, ควรเจริญเมตตา ( ไมตรีจิตคิดจะให้เป็นสุข ) เพื่อละโทสะ, ควรเจริญปัญญา เพื่อละโมหะ.
ตรัสแสดงทุจจริต ๓ แล้วตรัสว่า ควรเจริญสุจริต ๓.
ตรัสแสดงวิตก ๓ คือความตรึกในกาม, ในการพยาบาท, ในการเบียดเบียน แล้วตรัสว่า ควรเจริญความตรึกในการออกจากกาม เพื่อละความตรึกในกาม, ควรเจริญความตรึกในการไม่พยาบาท เพื่อละความตรึกใน การพยาบาท, ความเจริญความตรึกในการไม่เบียดเบียน เพื่อละความตรึกในการเบียดเบียน.
ตรัสแสดงสัญญา ( ความกำหนดหมาย ) ทั้งฝ่ายชั่วฝ่ายดี และธาตุทั้งฝ่ายชั่วฝ่ายดี เหมือนความตรึกข้างต้น.
ตรัสแสดงธรรม ๓ อย่าง คือความเห็นเป็นเหตุพอใจ, ความเห็นเป็นเหตุยึด ตัวตน, ความเห็นผิด.
แล้วตรัสแสดงว่า ควรเจริญธรรมะ ๓ ประการ คือความกำหนดหมายว่าไม่ เที่ยง, ว่าไม่ใช่ตัวตน, ความเห็นชอบ ว่าเป็นคู่ปรับสำหรับละธรรมฝ่ายชั่ว ๓ ข้อต้น เป็นคู่กัน ตามลำดับข้อ.
ตรัสแสดงธรรมะ ๓ อย่าง คืออรติ ( ความริษยา ) วิหิงสา ( ความเบียดเบียน ) อธัมมจริยา ( การประพฤติอธรรม )
แล้วตรัสแสดงว่า ควรเจริญธรรม ๓ อย่าง คือความพลอยยินดี, ความไม่เบียด เบียน, การประพฤติธรรม เพื่อละธรรมฝ่ายชั่วแต่ละข้อโดยลำดับ.
ตรัสแสดงธรรมะ ๓ อย่าง คือความไม่สันโดษ ( ยินดีด้วยของของตน ), ความ ไม่รู้ตัว, ความปรารถนามาก,
แล้วตรัสว่า ควรเจริญธรรมะ ๓ อย่าง คือความสันโดษ, ความรู้ตัว, ความ ปรารถนาน้อย เพื่อละธรรมแต่ละข้อเหล่านั้น.
ตรัสแสดงธรรมะ ๓ อย่าง คือความว่ายาก, การคบคนชั่วเป็นมิตร, ความฟุ้ง สร้านแห่งจิต.
แล้วตรัสว่า ควรเจริญธรรมะ ๓ อย่าง คือความว่าง่าย, การคบคนดีเป็นมิตร, การตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก เพื่อละธรรม ๓ อย่างเหล่านั้น
ตรัสแสดงธรรมะ ๓ อย่าง คือความฟุ้งสร้าน, ความไม่สำรวม, ความประมาท.
แล้วตรัสแสดงว่า ควรเจริญธรรมะ ๓ อย่าง คือความสงบระงับ, ความสำรวม, ความไม่ประมาท เพื่อละธรรมะ ๓ อย่างเหล่านั้น.
พระสูตรที่ไม่จัดเข้าวรรค
ตรัสแสดงธรรม ๖ อย่าง คือความยินดีในการงาน, ยินดีในการพูดมาก, ยินดี ในการนอนหลับ, ยินดีในการคลุกคลี, ไม่สำรวมอินทรีย์, ไม่รู้ประมาณในโภชนะว่า ถ้าละธรรมะ ๖ อย่างนี้ไม่ได้ ก็ไม่ควรเจริญสติปัฏฐาน ๔ มีสติกำหนดพิจารณาภายในกาย เป็นต้น.
ตรัสว่า ตปุสสคฤหบดี ( ผู้ถวายข้าวสัตตุก้อนและสัตตุผง ) รวมทั้งคฤหบดี อื่น ๆ เช่น ภัทลิกะ, สุทัตตะ ผู้ให้ก้อนข้าวแก่คนยาก ( อนาถปิณฑิกะ ) เป็นต้น ประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง จึงเป็นผู้ถึงความตกลงใจใน พระตถาคต เห็นอมตะ ทำให้แจ้งอมตะ คือความไม่เลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์. มีศีล, มีญาณ, มีวิมุติ อันเป็นอริยะ.
ตรัสว่า ควรเจริญธรรม ๖ อย่าง เพื่อรู้ยิ่งซึ่งอุปกิเลส ๑๖ ( อุปกิเลส ( เครื่องหมายเศร้าหมองจิต ) ๑๖ ประการ คือ ๑. โลภ ๒. พยาบาท ๓. โกรธ ๔. ผูกโกรธ ๕. ลบลู่ บุญคุณท่าน ๖. ตีเสมอ ๗. ริษยา ๘. ตระหนี่ ๙. มายา ๑๐. โอ้อวด ๑๑. กระด้าง ๑๒. แข่งดี ๑๓. ถือตัว ๑๔. ดูหมิ่น ๑๕. มัวเมา ๑๖. ประมาท ) มีราคะ เป็นต้น คืออนุตตริยะ ๖ ( อนุตตริยะ ๖ คือการเห็น การฟัง, การได้, การศึกษา, การบำเรอ, การระลึก อันยอดเยี่ยม.), อนุสสติ ๖ ( การระลึก ๖ ประการ คือ ๑. ตั้งกายกรรม, ๒. วจีกรรม, ๓. มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจารี ๔. แบ่งปันลาภแก่เพื่อนพรหมจารี ๕. มีศีลที่ดีเสมอกัน ๖. มีความเห็นที่ดีเสมอกันกับเพื่อนพรหมจารี ) , สัญญา ๖ ๑ ตาม ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น.
จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
ซึ่งว่าด้วยชุมนุมธรรมะจำนวน ๕ และจำนวน ๖
________________________________________
'๑' . อนุตตริยะ ๖ กับอนุสสติ ๖ กล่าวไว้แล้วหลายครั้ง ส่วนสัญญา ๖ ประการ คือความกำหนดหมายว่า ไม่เที่ยง, ความกำหนดหมายว่าทุกข์ในสิ่งที่ไม่เที่ยง, ความกำหนดหมายว่าไม่ใช่ตนในสิ่งที่เป็นทุกข์, ความกำหนดหมายถึงการละ, ถึงความคลายกำหนัด, ถึงการดับกิเลส
เล่มที่ ๒๓ ชื่ออังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕)
หน้า ๑
สัตตกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๗ ข้อ
ในหมวดนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกจัดเป็นหมวด ๕๐ ส่วนที่ ๒ จัดเป็นหมวดนอก ๕๐ ทั้งหมดด้วยกันมีประมาณ ๘๐ สูตรเศษ.
ปัณณาสกะ หมวด ๕๐
( หมวดนี้มี ๕ วรรค ๆ ละประมาณ ๑๐ สูตร วรรคที่ ๑ ชื่อธนวรรค ว่าด้วยทรัพย์. วรรคที่ ๒ ชื่ออนุสยวรรค ว่าด้วยอนุสัย คือกิเลสที่แฝงตัวหรือที่นอนเนื่องในสันดาน. วรรคที่ ๓ ชื่อวัชชีวรรค ว่าด้วยเหตุการณ์ในแคว้นวัชชี. วรรคที่ ๔ ชื่อเทวตาวรรค ว่าด้วยเทวดา. วรรคที่ ๕ ชื่อมหายัญญวรรค ว่าด้วยการบูชายัญใหญ่ ).
๑. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ อย่าง
ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจไม่เป็นที่เคารพและยกย่องของเพื่อนพรหมจารี คือใคร่จะได้ลาภ, ใคร่จะได้สักการะ, ใคร่จะไม่ให้ใครดูหมิ่น, ไม่ละอาย, ไม่เกรงกลัวต่อบาป, ปรารถนาลามก, เห็นผิด.
อีกนัยหนึ่ง คือเปลี่ยนเฉพาะข้อ ๖, ๗ คือริษยา, ตระหนี่. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.
ตรัสแสดงกำลัง ๗ อย่าง คือความเชื่อ, ความเพียร, ความละอาย, ความเกรง กลัวต่อบาป, ความระลึกได้, ความตั้งใจมั่น, ปัญญา.
ตรัสแสดงทรัพย์ ๗ อย่าง คือความเชื่อ, ศีล, ความละอาย, ความเกรงกลัวต่อ บาป, การสดับตรับฟัง, การสละ, ปัญญา.
ตรัสกะราชมหาอำมาตย์ชื่ออุคคะ ว่า ทรัพย์ ( ทางโลก ) เป็นของสาธารณ์แก่ ไฟ แก่น้ำ เป็นต้น ส่วนทรัพย์ ๗ อย่างข้างต้นไม่เป็นของสาธารณ์แก่ไฟ แก่น้ำ เป็นต้น
ตรัสแสดงสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องร้อยรัดหรือผูกมัด ) ๗ อย่าง คืออนุนยะ ( ความพอใจในกาม ), ปฏิมะ ( ความขัดใจ ), ทิฏฐิ ( ความเห็น ), วิจิกิจฉา ( ความสงสัย ), มานะ ( ความถือตัว ), ภวราคะ ( ความกำหนัด ยินดีหรือความติดในภพ คือความมีความเป็น ), อวิชชา ( ความไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ).
ตรัสแสดงว่า พรหมจรรย์ อันบุคคลประพฤติเพื่อละสัญโญชน์ ๗ และตรัสแสดง สัญโญชน์ ๗ อีกนัยหนึ่ง ต่างเฉพาะข้อ ๖-๗ ความริษยา, ความตระหนี่.
๒. ตรัสแสดงอนุสัย ( กิเลสที่แฝงตัว หรือที่นอนเนื่องในสันดาน ) ๗ ประการ
อย่างเดียวกับสัญโญชน์ ๗ มีความพอใจในกาม ( กามราคะ ) เป็นข้อแรก มีอวิชชาเป็นข้อสุดท้าย
แล้วตรัสแสดงว่า พรหมจรรย์อันบุคคลประพฤติเพื่อละอนุสัย ๗ . ตรัสแสดงว่า ตระกูล ที่ประกอบด้วยองค์ ๗ ไม่ควรเข้าไป เข้าไปแล้วไม่ควรนั่ง คือไม่ต้อนรับ, ไม่อภิวาท, ไม่ให้อาสนะด้วยอาการที่น่า พอใจ, ปกปิดของที่มีอยู่. ให้น้อยในของมาก,ให้ของเศร้าหมองในประณีต, ให้โดยไม่เคารพ. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.
ตรัสแสดงบุคคล ๗ ประเภทที่ควรของคำนับ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คืออุภโตภาควิมุติ ( ผู้พ้นโดยส่วนทั้งสอง ) เป็นต้น ( โปรดดูเล่มที่ ๕ ชื่อมัชฌิมนิกาย ) ตรง ๒๐. กีฏาคิริสูตร ข้อที่ ๔ ซึ่งว่าด้วยบุคคล ๗ ประเภท
ตรัสแสดงบุคคลเปรียบด้วยน้ำ ๗ ประเภท คือ ๑. จมลงไปครั้งเดียวก็จมลง ไปเลย ได้แก่บุคคลผู้ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายดำล้วน. ๒. โผล่ขึ้นแล้วจม ได้แก่บุคคลผู้มีคุณธรรม แต่คุณธรรมเสื่อมไป. ๓. โผล่ขึ้น แล้ว ลอยอยู่ได้ ได้แก่ผู้มีคุณธรรมไม่เสื่อม ๔. โผล่ขึ้นแล้ว เห็นแจ่มแจ้ง เหลียวดูได้แก่พระโสดาบัน. ๕. โผล่ขึ้นแล้ว ว่ายเข้าหาฝั่ง ได้แก่ พระสกทาคามี. ๖. โผล่ขึ้นแล้ว ไปถึงที่ตื้น ได้แก่พระอนาคามี ๗. โผล่ขึ้นแล้ว ข้ามฝั่งได้ ยืนอยู่บนบก ได้แก่พระอรหันต์ ( ผู้ทำให้แจ้ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ).
ตรัสแสดงบุคคล ๗ ประเภทว่า ควรแก่ของคำนับ เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คือ ๑. ผู้เห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง ทำให้แจ้งวิมุติทั้งสองอันไม่มีอาสวะ ๒. ผู้เห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง สิ้นอาสวะและสิ้นชีวิตพร้อมกัน ๓. เห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง เป็นพระอนาคามี อันตราปรินิพพายี ( มีอายุไม่ถึงกึ่งดับกิเลสได้ ) ๔. อุปหัจจปรินิพพายี (มีอายุเกินกึ่ง จึงดับกิเลส คำว่า ดับกิเลส หมาย ถึงบรรลุอรหัตตผล เพ่งถึงกิเลสปรินิพพาน อนึ่ง คำอธิบายพระอนาคามีประเภทนี้ ควรดูอรรถกถาปุคคลบัญญัติในอภิธัมมปิฎกประกอบด้วย เพราะดูเหมือนคำอธิบายของอรรถกถาอังคุตตรนิกาย ตรงนี้คำบาลีเคลื่อนคลาด อาจทำให้ตีความหมายผิด ) ๕. อสังขารปรินิพพายี ( ดับกิเลสในภพที่เกิดโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม ) ๖. สสังขารปรินิพพายี ( ดับกิเลสในภพที่เกิด ต้องใช้ความพยายาม ) ๗. อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี (ผู้มีกระแสใน เบื้องบน ไปสู่อกนิฏฐภพ )
ตรัสแสดงบุคคล ๗ ประเภทว่า ควรแก่ของคำนับ เป็นเนื้อนาอันยอดเยี่ยมของโลก อย่างเดียวกับข้างต้น ต่างแต่กำหนดว่าเป็นผู้เห็นว่าเป็นทุกข์ในสังขารทั้งปวง, เห็นว่าไม่ใช่ตนในธรรมทั้งปวง, เห็นว่าสุข ในพระนิพพาน ส่วนลำดับข้อ ๔ ถึงข้อ ๗ ซ้ำกัน.
ตรัสแสดงนิททสวัตถุ ( คือที่ตั้งแห่งการที่จะไม่มีอายุ ๑๐ ปีต่อไปอีก โดย อธิบายว่า จะไม่เกิดอีก ) ๗ ประการ คือภิกษุเป็นผู้มีฉันทะ ( ความพอใจ ) แรงกล้าในการสมาทานสิกขาบท และมีความรักอันยิ่งในการ สมาทานสิกขาบทต่อไป, ในการพิจารณาธรรม, ในการนำความปรารถนาออก, ในการหลีกเร้น, ในการปรารภความเพียร, ในสติและปัญญา เป็นเครื่องรักษาตน, ในการแทงทะลุความเห็น ( ตรัสรู้ด้วยมรรค ) และมีความรักอันยิ่งในการนั้น ๆ ( ๕ ข้อหลัง ) ต่อไป.
๓. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ สารันททเจดีย์ ใกล้กรุงเวสาลี
ตรัสแสดงอปริหานิยธรรม ( ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ) ๗ อย่างแก่เจ้าลิจฉวี คือชาววัชชี ๑. จักประชุมกันเนืองนิตย์ ๒. จักพร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม และกระทำกิจที่ควรทำ ๓. จักไม่ บัญญัติสิ่งที่ยังมิได้บัญญัติ จักไม่ตัดรอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ยอมรับศึกษาในธรรมะของชาววัชชีตามที่บัญญัติไว้แล้ว ๔. จักเคารพนับถือ ชาววัชชีที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า ๕. จักไม่ข่มเหงล่วงเกินสตรีที่มีสามีแล้ว และสตรีสาว. ๖. จักสักการะเคารพเจดีย์ของชาววัชชี. ๗. จักจัดแจง ให้การอารักขาคุ้มครองอันเป็นธรรมในพระอรหันต์ และปรารภให้พระอรหันต์ที่ยังไม่มาได้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข.
ตรัสแสดงอปริหานิยธรรมของชาววัชชี ๗ ข้อนี้ แก่วัสสการพราหมณ์ มหา อำมาตย์ของแคว้นมคธ.
ตรัสแสดงอปริหานิยธรรม ( ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อม ) ของภิกษุ ๗ ประการ คือ ๑. จักประชุมกัน เนืองนิตย์ ๒. จักพร้อมเพรียงกันประชุม เป็นต้น ๓. จักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติ เป็นต้น ๔. จักเคารพนับถือภิกษุที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า ๕.จักไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น. ๖. จักยินดีในเสนาสนะป่า ๗. จักตั้งความปรารถนาดีใน ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักให้มา ที่มาแล้วให้อยู่เป็นสุข.
แล้วทรงแสดงอปริหานิยธรรมของภิกษุโดยนัยอื่นอีกหลายนัย ตลอดจนได้
ตรัสถึงธรรมที่เป็นไปเพื่อความเสื่อมของภิกษุ ผู้เป็นเสขะ คล้ายกับธรรมใน หมวด ๖
กับตรัสถึงธรรมะ ๗ อย่างที่เป็นไปเพื่อความเสื่อม ความวิบัติของอุบาสก คือไม่ค่อยได้เห็นภิกษุ, ประมาทการฟังธรรม, ไม่ศึกษาในอธิศีล, มากไปด้วยความไม่เลื่อมใสในภิกษุที่เป็นเถระบวชใหม่ ปูนกลาง, ฟัง ธรรมด้วยจิตคิดจับผิด, แสวงหาทักขิเณยยบุคคลนอกจากพระพุทธศาสนา, ทำการอันควรทำก่อนให้ทักขิเณยยบุคคลนอกพระพุทธศาสนา นั้น. ฝ่ายดีทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม.
๔. ตรัสแสดงคารวะ ( ความเคารพ ) ๗ อย่าง
ตามที่เทวดามากราบทูลว่า เป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแห่งภิกษุ คือความเคารพในพระศาสดา, ในพระธรรม, ในพระสงฆ์, ในการศึกษา, ในสมาธิ, ในความไม่ประมาท, ในการต้อนรับ.
แล้วตรัสแสดงถึงธรรม ๗ ประการ ที่เป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมของภิกษุ คือ ๕ ข้อแรก พ้องกันกับคารวะที่แสดงมาแล้ว เปลี่ยนแต่ข้อ ๖-๗ คือเคารพในความละอาย, ในความเกรงกลัวต่อบาป.
อีกนัยหนึ่ง เปลี่ยนเฉพาะข้อ ๖-๗ อีก คือว่าง่าย, คบคนดีเป็นมิตร. พระสาริบุตร กราบทูลขยายความตามความเข้าใจของท่าน ( ท่านเข้าใจว่าขยายความได้ คือทำเช่นนั้นด้วยตนเอง, พรรณนาคุณของการนั้น, ชักชวนผู้อื่นเพื่อทำ เช่นนั้น รวมทั้งสรรเสริญผู้ทำเช่นนั้นตามความจริงตามกาลอันสมควร ) ตรัสประทาน สาธุการ
ตรัสว่า มิตรประกอบด้วยองค์ ๗ ควรคบ คือให้สิ่งที่ให้ยาก, ทำสิ่งที่ทำยาก, อดทนสิ่งที่ทนยาก, เปิดเผยความลับแก่เพื่อน, ปกปิดความลับของเพื่อน, ไม่ละทิ้งในยามมีอันตราย, ไม่ดูหมิ่นเพื่อนเพราะสิ้นทรัพย์.
ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๗ ควรคบเป็นมิตร แม้จะถูกกีดกัน ( ให้ ออกห่าง ) คือเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ, เป็นที่เคารพ, เป็นที่สรรเสริญ, เป็นผู้ว่ากล่าว, เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ, เป็นผู้กล่าวถ้อยคำอันลึกซึ้ง ( ใน ทางธรรม ), ไม่ชักชวนในฐานะอันไม่สมควร๑
ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ อย่าง จะทำให้แจ้งปฏิสัมภิทา ( ความแตกฉาน ) โดย กาลไม่นาน คือ ๑-๓. รู้ตามความจริงว่า จิตท้อแท้, หดหู่, ฟุ้งสร้าน, ๔-๖. เวทนา สัญญา ความตรึกของเธอ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อันเธอรู้แจ้งแล้ว, ๗. เธอถือเอาด้วยดี ใส่ใจด้วยดี ทรงจำดี ใช้ปัญญาแทงทะลุด้วยดีซึ่งนิมิตในธรรมอันเป็นที่สบาย และไม่เป็นที่สบาย ดีเลว ดำขาว และมีส่วนเปรียบ.
ตรัสสรรเสริญพระสาริบุตรว่ามีคุณธรรมข้างบนทั้งเจ็ดข้อ. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๗ ย่อมทำจิตไว้ในอำนาจได้ ไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต คือฉลาดในสมาธิ, ในการเข้า, ในการตั้งอยู่, ในการออก, ในความสมควรแก่กาล, ในโคจร ( อารมณ์ ) และในอภินิหารของสมาธิ.
ตรัสสรรเสริญพระสาริบุตรว่ามีคุณธรรมข้างบนทั้งเจ็ดข้อ. นักบวชศาสนาอื่นสนทนา กันว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอด ๑๒ ปี ย่อมเป็นผู้ควรแก่ถ้อยคำว่าภิกษุ " ผู้ไม่มีสิบ " ( ไม่ต้องเวียนว่าย ตายเกิดมาให้ถูกนับอายุอีก อรรถกถา ) พระสาริบุตรนำความมากราบทูลพระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ภิกษุที่จะชื่อว่านิททสะ ( ผู้ไม่มีสิบ ) ใน พระธรรมวินัยนี้ มิใช่ด้วยการนับพรรษา ( แต่ด้วยคุณธรรม ) แล้วตรัสแสดงนิททสวัตถุ ๗ ประการ ( ดังที่ตรัสไว้แล้วในวรรคที่ ๒ข้างบน )
ตรัสแสดงนิททสวัตถุอีก ๗ ประการ แก่พระอานนท์ผู้ได้ฟังนักบวชศาสนาอื่น พูดกันทำนองเดียวกับพระสาริบุตร เป็นแต่เปลี่ยนแสดงคุณธรรม คือ มีศรัทธา, มีความละอาย, มีความเกรงกลัวต่อบาป, มีการสดับมาก, ปรารภความเพียร, มีสติ, มีปัญญา.
๕. ตรัสแสดงที่ตั้งแห่งวิญญาณ ( วิญญาณฐิติ ) ๗ อย่าง
คือ ๑. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่มนุษย์, เทพบางจำพวก, เปรตบางจำพวก ๒. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มี สัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่เทพพวกพรหม ที่เกิดด้วยปฐมฌาน ๓. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่เทพพวก อาภัสสรพรหม ๔. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่เทพพวกสุภกิณหพรหม ๕. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงอากา สานัญจายตนะ ๖. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ ๗. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ๒
ตรัสแสดงธรรมที่เป็นบริขาร ( เครื่องประกอบ ) ของสมาธิ ๗ อย่าง มีความ เห็นชอบ เป็นต้น มีความระลึกชอบเป็นที่สุด.
ตรัสแสดงไฟ ๗ อย่าง คือ ราคะ, โทสะ, โมหะ, ผู้ควรของคำนับ, คฤหบดี ( บุคคลในครอบครัว ), ผู้ควรทักขิณา ( ของถวาย ), และไฟอันเกิดจากไม้.
ตรัสสอนอุคคตสรีรพราหมณ์ ผู้เตรียมบูชายัญ นำสัตว์ต่าง ๆ อย่างละ ๕๐๐ ผูกกับเสาเตรียมเพื่อจะฆ่า โดยทรงชี้ว่า การบูชายัญแบบนี้ได้สิ่งที่มิใช่บุญ เพราะเป็นการยกศัสตราขึ้นทางกาย วาจา ใจ
แล้วตรัสว่า ควรละไฟ ๓ อย่าง ไม่ควรเสพ คือราคะ โทสะ โมหะ. และ
ควรสักการะเคารพไฟ ๑ อย่าง คืออาหุเนยยัคคิ ( ไฟคือผู้ควรของคำนับ ) ได้ แก่มารดาบิดา, คหปตัคคิ ( ไฟคือคฤหบดี ) ได้แก่บุตร ภริยา ทาส คนใช้, ทักขิเณยยัคคิ ( ไฟคือผู้ควรแก่ทักขิณา ) ได้แก่สมณพราหมณ์ ผู้เว้นจากความประมาท ตั้งอยู่ในขันติ ( ความอดทน ) โสรัจจะ ( ความสงบเสงี่ยม ) ฝึกตน ทำตนให้สม่ำเสมอ ทำตนให้ปรินิพพาน.
ส่วนไฟที่เกิดจากไม้ ควรก่อให้ติด, ควรวางเฉย, ควรดับ, ควรเก็บไว้ตามกาล อันสมควร. พราหมณ์ก็เลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสก ปล่อยสัตว์เหล่านั้นไป.
ตรัสแสดงสัญญา ( ความกำหนดหมาย ) ๗ ประการ ว่า มีอมตะเป็นที่สุด คืออสุภสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่งาม ), มรณสัญญา ( ความกำหนดหมายในความตาย ), อาหาเร ปฏิกูลสัญญา ( ความกำหนดหมาย ว่าน่าเกลียดในอาหาร ) , สัพพโลเก อนภิรตสัญญา ( ความกำหนดหมาบว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ), อนิจจสัญญา ( ความกำหนดหมายว่า ไม่เที่ยง ), อนิจเจ ทุกขสัญญา ( ความกำหนดหมายเป็นทุกข์ในสิ่งที่ไม่เที่ยง ), ทุกเข อนัตตสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่ใช่ตนในสิ่งที่ เป็นทุกข์ ) ครั้นแล้วตรัสอธิบายรายละเอียดในเรื่องนี้.
ตรัสกะชาณุสโสณิพราหมณ์ถึงเมถุนสันโญค ( ความเกี่ยวข้องกับธรรมะของคนคู่ ) ๗ ประการ คือ สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี บางคนปฏิญญาตนว่าเป็นพรหมจารีจริง ๆ หาได้เสพเมถุนกับมาตุคามไม่ แต่ยังยินดี ปลื้มใจ ชื่นใจด้วยเมถุนสัญโญค คือความเกี่ยวข้องกับเมถุน ๗ อย่าง คือ ๑. ยินดีในการลูบไล้, การประคบ, การให้อาบน้ำ, การนวดแห่ง มาตุคาม ปลื้มใจด้วยการบำเรอนั้น. ๒. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ซิกซี้เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคามปลื้มใจด้วยการเสสรวลนั้น. ๓. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่เพ่งจ้องดูจักษุของมาตุคามด้วยจักษุของตน ปลื้มใจด้วยการเล็งแลนั้น. ๔. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ฟังเสียงแห่งมาตุคามหัวเราะหรือพูดกับขับ ร้อง เป็นต้น ปลื้มใจด้วยเสียงนั้น. ๕. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่นึกย้อนไปถึงเรื่องเก่า ที่ได้เคยหัวเราะพูดเล่นกับมาตุคามแล้วปลื้มใจ ๖. ไม่ถึงอย่าง นั้น แต่เห็นคฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดี ผู้เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ แล้วปลื้มใจ. ๗. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ประพฤติพรหมจรรย์ ตั้ง ความปรารถนาเพื่อจะได้เป็นเทพเจ้า หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งแล้วปลื้มใจ. พรหมจรรย์ของผู้นั้นชื่อว่าขาด, ทะลุ, ด่าง, พร้อย. ผู้นั้นประพฤติ พรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ไม่พ้นไปจากทุกข์ได้.
ตรัสแสดงธรรมปริยายที่ชื่อว่าสัญโญควิสัญโญค ( ความผูกพันและความ คลี่คลาย ) คือสตรีพอใจในภาวะต่าง ๆ ของสตรีและบุรุษ ย่อมไม่ก้าวล่วงความเป็นสตรีได้. บุรุษพอใจภาวะต่าง ๆ ของบุรุษและสตรี ( พอใจ ในภาวะของตน ติดอกติดใจในเพศตรงกันข้าม ) ย่อมไม่ก้าวล่วงความเป็นบุรุษได้. ต่อตรงกันข้ามคือไม่พอใจ จึงก้าวล่วงภาวะทั้งสองได้.๓ ตรัสตอบพระสาริบุตรถึงเหตุที่ทานของบางคนมีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก ส่วนของ บางคนมีทั้งผลมาก ทั้งอานิสงส์มาก. โดยตรัสชี้ไปที่การให้ทานด้วยมีความเพ่งเล็งมีจิตปฏิพัทธ์ มุ่งสะสม คิดว่าตายแล้วจัก บริโภค ( ผลของทานนั้น ) หรือตรงกันข้าม คือไม่คิดเช่นนั้นว่าเป็นต้นเหตุตามที่ถาม. อุบาสิกาชื่อเวฬุกัณฏกี ผู้เป็นมารดาของนันทมาณพ
กราบเรียนพระสาริบุตรถึงเรื่องน่าอัศจรรย์ ๗ ประการ คือ ๑. นางสนทนากับท้าวเวสสวัณ ๒. พระราชาข่มเหงฆ่าบุตรของนางตาย แต่นางไม่มีจิตผิดปกติ ๓. สามีไปเกิดไปกำเนิดยักษ์มาแสดงตนด้วยอัตตภาพเดิม นางไม่มีจิตผิดปกติ ๔. สามี ( เมื่อมีชีวิตอยู่ ) ยังหนุ่ม นำหญิงสาวมา ( เป็นภริยาน้อย ) นางไม่มีจิตผิดปกติ ๕. ตั้งแต่ปฏิญญาตนเป็นอุบาสิกา ไม่เคยมีจิตคิดล่วงสิขาบท ๖. เข้าฌานที่ ๑ ถึงฌาน ที่ ๔ ได้ตามปรารถนา ๗. ละสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องร้อยรัด ) เบื้องต่ำ ๕ อย่างได้. ( ดูหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก) หมายเลข ๒๒๐ , เชิงอรรถ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ชื่อทีฆนิกาย ปาฏิกวัคค์ และ เล่มที่ ๕ ชื่อมัชฌิมปัณณาสก์ ซึ่งชี้แจงไว้ดังนี้ว่า
เล่มที่ ๓ ชื่อทีฆนิกาย ปาฏิกวัคค์ ; ๑. พระโสดาบันและกิเลสที่เรียกว่าสัญโญขน์ ( เครื่องร้อยรัดหรือเครื่องผูก ) ๓ อย่าง คือ ๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ๓. สีลัพพตปรามาส ความเชื่อถือโชคลางหรือพิธี กรรม. พระอนาคามีละเพิ่มได้อีก ๒ คือ ๔. กามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม ๕. ปฏิฆะ ความขัดใจ. พระอรหันต์ละสัญโญชน์ ได้ทั้งสิบ คือ ๕ ข้อแรกที่กล่าวมาแล้ว และ ๖. รูปราคะ ความติดใจในรูป หมายถึงติดรูปฌาน ๗. อรูปราคะ ความติดใจในสิ่งที่มิใช่รูป หมายถึงติดอรูปฌาน ๘. มานะ ความถือตัว ๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งสร้าน ๑๐. อวิชชา ความไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง ๕ ข้อแรกเรียก สัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ข้อหลังเรียกสัญโญชน์เบื้องสูง
เล่มที่๕ ชื่อมัชฌิมปัณณาสก์ ; อรรถกภาว่า " พระมาลุงกยบุตรมีความเห็นผิดว่า บุคคลจะประกอบด้วยกิเลสก็เฉพาะ ตอนที่ถูกกิเลสครอบงำเท่านั้น ในขณะอื่นไม่ชื่อว่าประกอบด้วยกิเลส. " จึงเป็นการเหมาะสมที่ตรัสอธิบายให้เห็นว่าเด็กไม่มีกิเลสจริงหรือไม่ โดยตรัสว่า กิเลสประเภทแฝงตัวยังติดตามอยู่
วรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐
( ในหมวดนี้ มีวรรคเล็ก ๓ วรรค ๆ ละประมาณ ๑๐ สูตร วรรคแรกชื่ออัพยากตวรรค ว่าด้วยสิ่งที่ พระพุทธเจ้าไม่พยากรณ์. วรรคที่ ๒ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่. วรรคที่ ๓ ชื่อวินยวรรค ว่าด้วยวินัย ).
๑. ตรัสตอบคำถามของภิกษุรูปหนึ่ง
ถึงเหตุปัจจัยที่อริยสาวกผู้ได้สดับไม่เกิดความสงสัยในเรื่องที่ พระผู้มีพระภาคไม่ตรัสพยากรณ์ โดยทรงชี้ไปว่า ข้อที่ว่าสัตว์ตายแล้วเกิด หรือ ไม่เกิด หรือเกิดด้วย ไม่เกิดด้วยหรือเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่ นั้นเป็นทิฏฐิ ( ความเห็น ), เป็นตัณหา ( ความทะยานอยาก ), เป็นสัญญา ( ความกำหนดหมาย ). เป็นมัญญิตะ ( ความสำคัญในใจ ), เป็นปปัญจิตะ ( ความเนิ่นช้า ), เป็นอุปาทาน ( ความยึดมั่น ) และเป็นวิปปฏิสาร ( ความเดือดร้อน ) ซึ่งบุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมไม่รู้สิ่ง ( ทั้งเจ็ด ) นั้น, ไม่รู้ความเกิด, ความดับ, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับของสิ่งเหล่านั้น แต่ อริยสาวกผู้ได้สดับย่อมรู้ จึงไม่เกิดความสงสัยในเรื่องที่พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์.
ตรัสแสดงคติของบุรุษ ๗ และอนุปาทานปรินิพพาน ( ดับกิเลสอย่างไม่มีเชื้อกิเลส เหลือ ) คือพระอนาคามีประเภทอันตราปรินิพพายี ๓, อุปหัจจปรินิพพายี ๑, อสังขารปรินิพพายี ๑,สสังขารปรินิพพายี ๑, อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี๔ ๑. ( รวมเป็น ๗ ) และตรัสถึงพระอรหันต์ผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญา วิมุติ อันไม่มีอาสวะ ว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ( ดับกิเลสหมดไม่มีเหลือ ).
พรหมชื่อติสสะ กล่าวกะพระมหาโมคคัลลานะ ว่า เทพที่มีญาณหยั่งรู้ในผู้ ยังมีกิเลสเหลือ ว่ามีกิเลสเหลือ หรือในผู้ไม่มีกิเลสเหลือ ว่าไม่มีกิเลสเหลือ ( ตามความจริง ) นั้น ได้แก่พวกพรหม แต่ก็ไม่ใช่พรหมทุกผู้. พรหมผู้ยินดีด้วยอายุ, วรรณะ, สุข, ยศ, ความเป็นใหญ่ของพรหม ( ยังยึดถือ ) ย่อมไม่รู้ ส่วนที่ไม่ยินดีด้วยสิ่งเหล่านั้น ( ไม่ยึดถือ ) จึงรู้ และรู้ถึง พระอริยบุคคล ๖ ประเภท ( เว้นสัทธานุสารีข้อที่ ๗ ดังที่ย่อไว้แล้วในพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ ถึง
สัทธานุสารีผู้แล่นไปตามศรัทธา ได้แก่ผู้มิได้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย มีศรัทธามีความรักในตถาคตตั้งแต่กายสักขีถึงสัทธานุสารี รวม ๕ ประเภท เป็นพระอริยบุคคลที่ยังไม่ถึงขั้นพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคยังทรงสอนให้ทำการด้วยความไม่ประมาท เพราะทรงเห็นผลของความไม่ประมาท.
หมายเหตุ : พระอริยบุคคล ๗ ประเภทนี้ กำหนดด้วยคุณสมบัติพิเศษทางจิตใจไม่ต่างกันเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ มีอธิบายไว้ พิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรค และอรรถกถาทั่วไป ในที่นี้จึงแสดงไว้พอรู้จักชื่อและคุณสมบัติตามสมควร ).
อนึ่ง (โปรดดูในเล่มที่ ๒๒ เรื่องของพรหมชื่อติสสะด้วย ซึ่งมีเขียนไว้ดังนี้ว่า
พระมหาโมคคัลลานะสนทนากับพรหมชื่อติสสะเรื่องญาณของเทวดาที่เกิดขึ้นว่า เราเป็นโสดาบัน. พรหมตอบว่า เทวดาในสวรรค์ ๖ ชั้น ไม่ได้เกิดญาณอย่างนี้ทุกผู้ ต่อเมื่อผู้ใดมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, มีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่ ( โสดาปัตติยังคะ องค์แห่งพระโสดาบัน ๔ ) ผู้นั้นจึงเกิดญาณเช่นนั้น.พระโมคคัลลานะ มากราบทูลพระผู้มีพระภาค จึงตรัสเติมถึงข้อ ๗ คือรู้ถึงภิกษุผู้เข้าอนิมิตตเจโตสมาธิ ( ความตั้งมั่นแห่งจิตที่ไม่มีเครื่องหมาย ) ผู้ทำให้แจ้ง ( บรรลุ ) ที่สุดแห่งพรหมจรรย์.
ตรัสแสดงผลของทานที่เห็นได้ด้วยตนเอง ๗ ข้อแก่สีหเสนาบดี คือ ๑. พระอรหันต์ย่อมอนุเคราะห์เขาก่อน ๒. ย่อมเข้าไปหาเขาก่อน ๓.ย่อมรับ ( ทานของเขา ) ก่อน ๔. ย่อมแสดงธรรมแก่เขาก่อน ๕. เขาย่อม มีกิตติศัพท์อันดีงามฟุ้งไป ๖. เขาย่อมองอาจไม่เก้อเขินเข้าสู่ชุมนุมชน ๗. เมื่อตายไปเขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์. สีหเสนาบดีกราบทูลว่า ๖ ข้อแรกมิได้เชื่อต่อพระผู้มีพระภาค เพราะรู้ได้ด้วยตนเอง ( เห็นจริงเอง ) ส่วนข้อสุดท้าย ตนไม่รู้จึงเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค.
ตรัสแสดงถึงสิ่ง ๔ ประการ ที่พระตถาคตไม่ต้องรักษา และตถาคตไม่ถูกว่ากล่าวโดย ฐานะ ๓ คือตถาคตมีความประพฤติทางกาย วาจา ใจ บริสุทธิ์, มีอาชีวะบริสุทธิ์, ไม่มีทุจจริตทางกาย วาจา ใจ, ไม่มี การเลี้ยงชีวิตผิด ซึ่งจะต้องรักษามิให้คนอื่นรู้ ( รวมเป็น ๔ ข้อ ). ตถาคตมีธรรมอันกล่าวดีแล้ว ไม่มีใครค้านได้ว่ากล่าวไว้ไม่ดี, ปฏิปทา อันไปสู่พระนิพพานอันตถาคตบัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวก ไม่มีใครคัดค้านได้ว่าบัญญัติไว้ไม่ดี, บริษัทสาวกของพระองค์หลายร้อย ทำให้แจ้ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ไม่มีใครคัดค้านได้ว่าไม่ได้ทำให้แจ้ง ( รวมเป็น ๓ ข้อ ).
ตรัสตอบพระกิมิละ ( ฉบับยุโรปเป็นกิมพิละ ) ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมไม่ตั้ง อยู่นานเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว ( ๗ ข้อ ) คือบริษัท ๔ ไม่เคารพในพระศาสดา, ในพระธรรม, ในพระสงฆ์, ในการศึกษา, ในสมาธิ, ในความไม่ประมาท, ในการต้อนรับ.
ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรมะ ๗ ประการจะทำให้แจ้งวิมุติทั้งสองอันไม่มีอาสวะ โดยการไม่นาน คือมีศรัทธา, มีศีล, สดับตรับฟังมาก, หลีกเร้น, ปรารภความเพียร, มีสติ, มีปัญญา,
ตรัสแสดงธรรมแก่พระมหาโมคคัลลานะ เรื่องวิธีแก้ง่วง ๗ ประการ และ ตรัสสอนมิให้ชูงวง ( ถือตัว ) เข้าสู่สกุล, มิให้กล่าวถ้อยคำก่อการทะเลาะวิวาท, ไม่ควรคลุกคลีด้วยคฤหัสถบรรพชิต แต่ควรคลุกคลีด้วย เสนาสนะอันสงัด. แล้วตรัสตอบปัญหาที่ว่า ภิกษุเชื่อว่าหลุดพ้น เพราะสิ้นตัณหา อยู่จบพรหมจรรย์ล่วงส่วน ด้วยเหตุคือ เมื่อภิกษุได้สดับ ว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดถือ ก็รู้ยิ่งกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง, พิจารณาความคลายกำหนัด, ความดับ, ความสละคืน ในเวทนาทั้งสามคือสุข, ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข, เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะไม่ยึดถือสิ่งใด ๆในโลก, ไม่สะดุ้งดิ้นรน, ดับสนิทเฉพาะตน.
ตรัสสอนว่า อย่ากลัวบุญ เพราะคำว่า บุญเป็นชื่อของความสุข แล้วตรัสว่า ได้เคยทรงเห็นผลที่น่าพอใจมาแล้ว คือทรงเจริญเมตตาจิต ๗ ปี ไม่ต้องเสด็จมาสู่โลกนี้ถึง ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัปป์ ( กัปป์เสื่อมกัปป์เจริญ ๗ สมัย ) ในสังวัฏฏโลก ( โลกเสื่อม ) ทรงเกิดในอาภัสสรพรหม, ในวิวัฏฏโลก ( โลกเจริญ ) ทรงเกิดในพรหมวิมานอันว่าง เป็นท้าวมหาพรหม, ทรงเคยเกิดเป็นท้าวสักกะ ๓๖ ครั้ง, เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมหลายร้อยครั้ง.
ตรัสแสดงภริยา ๗ ประเภท คือภริยาเสมอด้วย ผู้ฆ่า, เสมอด้วยโจร, เสมอด้วย นาย, เสมอด้วยแม่, เสมอด้วยน้องสาว, เสมอด้วยเพื่อน, เสมอด้วยทาสี,
ตรัสแสดงธรรม ๗ อย่างที่ศัตรูชอบ ที่เป็นเหตุแห่งศัตรู มาสู่หญิงหรือชายผู้มีความ โกรธ คือ ๑. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูให้มีผิวพรรณทราม คนมักโกรธถูกความโกรธครอบงำ แม้จะอาบน้ำลูบไล้ ตัดผม โกนหนวด นุ่งผ้าขาว ผิวพรรณก็ทราม ๒. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูให้นอนเป็นทุกข์ คนมักโกรธถูกความโกรธครอบงำแม้จะนอนบน บัลลังก์ มีเครื่องประดับงดงาม ก็นอนเป็นทุกข์ ๓. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูมิให้มีประโยชน์มาก คนมักโกรธที่ถูกความโกรธครอบงำ ก็ถือเอาสิ่งมิใช่ประโยชน์ว่าเป็นประโยชน์ สิ่งเป็นประโยชน์ว่ามิใช่ประโยชน์ ธรรมคือการเป็นศัตรูของกันและกัน ที่ยึดไว้ ย่อมเป็นไปเพื่อ มิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน. ๔. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูมิให้มีทรัพย์ คนมักโกรธที่ถูกความโกรธครอบงำ ก็ถูกพระราชา ทำให้ทรัพย์เข้าไปสู่พระคลังหลวง. ๕. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูมิให้มียศ คนมักโกรธที่ถูกความโกรธครอบงำ ย่อมเสื่อมจากยศ ๖. ศัตรูย่อม ปรารถนาต่อศัตรูมิให้มีมิตร คนมักโกรธที่ถูกความโกรธครอบงำ ญาติมิตรย่อมเว้นไกล. ๗. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูให้ตาย แล้วเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก คนมักโกรธที่ถูกความโกรธครอบงำ ประพฤติทุจจริต ตายไปแล้วก็จะเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก.
๒. ตรัสแสดงว่า ถ้าขาดธรรมอย่างหนึ่ง ก็ขาดธรรมข้ออื่น ๆ ต่อกันไปเป็นอันดับ
คือความละอาย ความเกรงกลัวต่อบาป, การสำรวมอินทรีย์ ศีล, สัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ ). ยถาภูตญาณทัสสนะ ( ความรู้ด้วยญาณ ตามเป็นจริง ), นิพพิทา ( ความเบื่อหน่าย ), วิราคะ ( ความคลายกำหนัด ), วิมุตติญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณถึงความหลุดพ้น ). ตรัสกะภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องที่สังขารไม่เที่ยง ไม่น่าไว้ใจ ความที่จะเบื่อหน่ายกำหนัด ควรที่จะพ้นไปเสีย
แล้วตรัสถึงระยะกาลที่ล่วงไปหลายแสนปี ที่จะมีสมัยซึ่งฝนไม่ตก, พืชต้นไม้ใบหญ้า จะเหี่ยวแห้งไม่มีเหลือ. แล้วก็ถึงสมัยที่อาทิตย์ขึ้น ๒ ดวง, ๓ ดวง, ๔ ดวง, ๕ ดวง, ๖ ดวง, จนถึง ๗ ดวง ซึ่งมหาปฐพี นี้และขุนเขาสิเนระจะลุกไหม้มีเปลวไฟพลุ่งขึ้นไปถึงพรหมโลก๕ ต่อ จากนั้นตรัสเล่าเรื่องศาสดาชื่อสุเนตตะ ผู้สอนสาวกให้ไปเกิดพรหมโลก ลงมาจนถึงเกิดในคฤหบดีมหาศาล ( ในโลกนี้ ) แล้วตรัสเล่าถึง สุเนตตศาสดาเจริญเมตตาจิต ๗ ปีได้ผล ( อย่างที่ตรัสเล่าไว้ในวรรคที่ ๑ ก่อนวรรคนี้ ) แต่ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดแก่เจ็บตาย เป็นต้นได้ ทั้งนี้เพราะมิได้ตรัสรู้ศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุติ อันเป็นอริยะ ส่วนพระองค์ได้ตรัสรู้ธรรม ๔ อย่างนั้นแล้ว ต่อแต่นี้จึงไม่เกิดอีก.
ตรัสแสดงถึงพระนครชายแดน ของพระราชาที่แวดล้อมด้วยดีถึง ๗ ชั้น ซึ่ง ข้าศึกไม่พึงทำอะไรได้ ( ไม่พึงเอาชนะได้ ) แล้วตรัสเปรียบเทียบว่า อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการ ได้ฌาน ๔ ตามต้องการ มารก็เอาชนะไม่ได้เหมือนกันคือมีศรัทธา, มีความละอาย, มีความเกรงกลัวต่อบาป, สดับตรับฟังมาก, ปรารภความเพียร, มีสติ. มีปัญญา.
ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นเนื้อนา บุญอันยอดเยี่ยมของโลก คือ ๑. รู้ธรรม ( รู้คำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙ มีสูตร เป็นต้น ) ๒. รู้อรรถ ( รู้ความหมายของคำสอนนั้น ) ๓. รู้ตน ๔. รู้ประมาณ ๕. รู้กาล ๖. รู้บริษัท ( ประชุมชน ) และ ๗. รู้บุคคลที่ยิ่งหย่อนกว่ากัน.
ตรัสเปรียบเทียบเรื่องการออกบวชของอริยสาวก จนถึงได้ฌานและได้เป็นพระขีณาสพ ด้วยความเปลี่ยนแปลงของต้นปาริฉัตตกะ ในชั้นดาวดึงส์ จนถึงมีดอกเบ่งบานในที่สุด.
ตรัสรับรองภาษิตของพระสาริบุตรในเรื่องคารวะ ๗ ( ดังที่ย่อไว้แล้วใน วรรคที่ ๔ เรื่องตรัสแสดงคารวะ ) ที่ว่าเมื่อมีคาระข้อหนึ่งแล้ว ก็จะมีข้ออื่น ๆ ต่อไป.
ตรัสว่า ภิกษุไม่ประกอบเนือง ๆ ซึ่งภาวนา ( การอบรม ) ลำพังเกิดความปรารถนา จะให้จิตพ้นจากอาสวะ ย่อมพ้นไม่ได้ เพราะมิได้อบรมธรรมะต่าง ๆ ( โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ดูพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) เสด็จป่ามหาวันประชุมภิกษุสงฆ์ เปรียบเทียบแม่ไก่ไม่กกไข่ มีแต่ความ ปรารถนาให้ลูกไก่ออกจากไข่ก็เป็นไปไม่ได้. ในฝ่ายดีคือที่สำเร็จได้ ทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม. ตรัสเรื่องกอง ไฟใหญ่ เปรียบเทียบ ว่า ถ้าถอดกองไฟก็ยังดีกว่าเป็นทุศีล เป็นต้น.
ตรัสถึงศาสดาทั้งเจ็ดมีสุเนตตศาสดา เป็นต้น ซึ่งปราศจากความกำหนัดในกาม เป็นเหตุให้ผู้มีจิตประทุษร้ายในท่าน พร้อมด้วยบริษัทประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก. ถ้าทำดีต่อท่านก็ได้ผลดี จึงควรตั้งจิตไม่ประทุษร้ายใน เพื่อนพรหมจารี.
แล้วตรัสแสดง เรื่องอรกศาสดา ซึ่งสอนสาวกเปรียบเทียบชีวิตมนุษย์ว่าเล็ก น้อยถึง ๗ ข้อ ทั้ง ๆ ที่สมัยนั้นมนุษย์มีอายุถึง ๖ หมื่นปี จึงควรไม่ประมาท จะได้ไม่เดือดร้อนภายหลัง.
๓. ตรัสแสดงคุณสมบัติของพระวินัยธร ( ผู้ทรงวินัย ) ๗ อย่าง
คือรู้จักอาบัติ, มิใช่อาบัติ, อาบัติเบา, อาบัติหนัก, เป็นผู้มีศีล, ได้ฌาน ๔, ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ แล้วทรงยักย้าย นัยถึงคุณสมบัติ ๗ ข้อของพระวินัยธรอีกต่าง ๆ.
ตรัสถึงลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ๗ อย่างแก่พระอุบาลี คือเป็นไปเพื่อ เบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว, เพื่อคลายกำหนัด, เพื่อดับ, เพื่อสงบระงับ, เพื่อรู้ยิ่ง, เพื่อตรัสรู้, เพื่อนิพพาน.
แล้วได้ตรัสแสดงอธิกรณสมถะ ๗ คือเครื่องระงับอธิกรณ์ ๗ อย่าง ( ดูใน พระวินัยเล่มที่ ๒ ในข้อ๕. ธรรมสำหรับระงับอธิกรณ์ ๗ อย่าง
พระสูตรที่ไม่จัดเข้าในวรรค
ตรัสว่า เพราะเหตุที่ทำลายธรรมะ ๗ อย่าง จึงชื่อว่า เป็นภิกษุ คือสักกายทิฏฐิ ( ความเห็นเป็นเหตุยึดถือกายของตน ), ความลังเลสงสัย, การลูบคลำศีลและพรต ( ถือโชคลาง หรือติดลัทธิพิธี ), ราคะ, โทสะ, โมหะ, มานะ.
และตรัสว่า เพราะสงบ ๗ อย่างข้างต้นได้จึงชื่อว่า สมณะ เพราะลอยธรรมเหล่านี้ได้ จึงชื่อว่า พราหมณ์ เป็นต้น.
ตรัสถึงอสัทธรรมและสัทธรรม โดย ทรงไปที่ความไม่มีศรัทธา จนถึงมีปัญญาทรามว่า เป็นอสัทธรรม ส่วนสัทธรรม ตรงกันข้าม.
ตรัสว่า บุคคลที่ควรแก่ของคำนับ ตลอดจนเป็นเนื้อ นาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คล้ายกับที่ตรัสไว้แล้ว ( ดังที่ย่อไว้แล้วใน วรรคที่ ๒ เรื่องตรัสแสดงอนุสัย ).
ตรัสว่า ควรเจริญธรรมะ ๗ อย่าง คือ โพชฌงค์ ๗ ( ดูพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ) ๑๑. ทสุตตรสูตร หมวดที่ ๗, สัญญา ๗ ( ดูในข้อความน่ารู้จาก ไตรปิฎก ) หมายเลข ๑๙๖ สัญญา ( ความจำ) ๗ มีอะไรบ้าง , เพื่อละอุปกิเลส ๑๖ (ดูพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ ) ในข้อ ๗. วัตถูปมสูตร ( สูตรอุปมาด้วยผ้าที่ย้อมสี ).
________________________________________
'๑' . ในภาษาบาลี มี " จ " ศัพท์ถึง ๘ แห่ง แสดงว่าแบ่งออกเป็น ๘ ข้อ แต่ข้อความข้างต้นบังคับให้มี ๗ ข้อ จึงได้รวมคำว่า เป็นที่รัก เป็นที่พอใจเข้าด้วยกัน เป็นข้อเดียวกัน
'๒' . ( โปรดดูพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ชื่อทีฆนิกาย ประกอบด้วย )ตรงหัวข้อที่ตั้งแห่งวิญญาณ ๗ อย่างในที่นั้นมีเพิ่มข้อ ๒ ว่า ได้แก่สัตว์ที่มี อยู่ในอบาย ๔ ด้วย และให้ดูคำอธิบายศัพท์ในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๒๑๓ประกอบด้วย
'๓' . ธรรมะเรื่องนี้ มีเนื้อความไม่พาดพิงถึงเรื่องราว ๗ ข้อ แต่พยัญชนะพาดพิงถึง โดยแจกภาวะต่าง ๆ ของหญิง ชายออกไปฝ่ายละ ๗ คือ อินทรีย์, กิริยา, อาการ, ประเภท, ความพอใจ, เสียง, เครื่องประดับของสตรีหรือบุรุษ
'๔' . คำอธิบายเรื่องพระอนาคามีตามศัพท์เหล่านี้ (โปรดดูเล่มที่ ๑๒ หน้า ๔) ทุติยปัณณสาก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒ หัวข้อที่ ๔-๕ มีข้อน่าสังเกตุ คือ อันตราปรินิพพายี ๓ ประเภทนั้น เปรียบเหมือนประกายไฟจากแผ่นเหล็กที่ถูกตี ๑. เกิดขึ้นแล้วดับไป ๒. เกิดขึ้นลอยขึ้นไปแล้วดับ ๓. เกิดขึ้น ลอยขึ้น ตก ลงมายังไม่ถึงพื้น ก็ดับไป
'๕' . ข้อความตรงนี้ได้ทำเครื่องหมายพิเศษใช้ตัวหนังสือขนาดใหญ่ เพื่อให้เห็นข้อความตอนนี้ชัดเจนขึ้น. ในหนังสือ วิทยาศาสตร์ ฝ่ายดาราศาสตร์บางเล่มกล่าวว่า ดวงอาทิตย์ของเรามิใช่อยู่โดดเดี่ยว แต่นับเนื่องในกลุ่มดวงอาทิตย์อื่น ๆ รวมกันแล้ว ๙๓ กลุ่ม จึงเป็นโครงสร้างของทางช้างเผือก ( Milky way ) อันมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๒๐๐,๐๐๐ ปีแสง คือแสงซึ่งเดินทางวินาทีละ ๑๘๖,๒๗๒ ไมล์ จะต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๒ แสนปี และยังมีความคิดกันถึงดวงดาว ( ดวงอาทิตย์ ) ดวงอื่น ๆ ซึ่งอาจเดินทางเข้ามาใกล้สุริยะระบบได้ใน ลักษณะเช่นนั้นก็ไม่มีปัญหาว่า ที่ว่าดวงอาทิตย์ขึ้นหลายดวงจนเป็นเหตุให้โลกมนุษย์เป็นไปนั้น มีทางเป็นไปได้จริงในทางวิทยาศาสตร์ ท่าน ผู้ใดใคร่ค้นคว้าโปรดอ่านหนังสือ THE MARVELS AND MYSTERIES OF SCIENCE หน้า ๖๑ และ ๖๒ ประกอบการพิจารณา และ โปรดอ่านบันทึกพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ หมวด ๔ อัคคัญญสูตร ตรงข้อที่ว่า การได้รับผลเสมอกัน ที่คำว่า หมายเหตุ
และดูเชิงอรรถข้อ ๒ ในเล่มที่ ๑๓ หน้า ๑ ซึ่งมีข้อความดังนี้ว่า : ๒. พระสูตรนี้ให้ข้อคิดที่สำคัญยิ่งหลายประการ เช่น แสดงว่า แม้มีฤทธิ์มาก เหาะไปได้ไว ก็ไม่สามารถค้นหาที่สุดแห่งโลกจักรวาลได้ เทียบทฤษฎีวิทยาศาสตร์ ที่ว่าแสงซึ่งเดินทางวินาทีละ ๑๘๖,๒๗๒ ไมล์ แสงของ ดาวบางดวงต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๖๕๐ ปี จึงมาถึงโลกเราหลักวิชาดังกล่าวจึงรับรองภาษิตของโรหิตัสสเทพบุตร แต่พระผู้มีพระภาคก็แสดง โลกอีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่าสังขารโลก โดยชี้มาที่ร่างกายมนุษย์นี้เองว่า ถ้ารู้แล้วก็ทำทุกข์ให้สิ้นไปได้
________________________________________
อัฏฐกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๘ ข้อ
ปัณณาสกะ หมวด ๕๐
( หมวดนี้มี ๕ วรรค ๆ ละประมาณ ๑๐ สูตร วรรคที่ ๑ ชื่อเมตตาวรรค ว่าด้วยเมตตา. วรรคที่ ๒ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่. วรรคที่ ๓ ชื่อคฤหปติวรรค ว่าด้วยคฤหบดี. วรรคที่ ๔ ชื่อทานวรรค ว่าด้วยทานการให้. วรรคที่ ๕ ชื่อ อุโปสถวรรค ว่าด้วยการรักษาอุโบสถ ).
๑. ตรัสแสดงอานิสงส์ของเมตตา ๘ อย่าง
คือหลับเป็นสุข, ตื่นเป็นสุข, ไม่ฝันร้าย, เป็นที่รักของมนุษย์, เป็นที่รักของอมนุษย์, เทวดาย่อมรักษา, ไฟ ยาพิษ ศรัตราย่อมไม่กล้ำกราย, เมื่อยังมิได้บรรลุธรรม อันยิ่งขึ้นไป ก็จะเข้าถึงพรหมโลก.
ตรัสแสดงเหตุปัจจัย ๘ ประการ ที่เป็นไปเพื่อได้, เพื่อความไพบูล, บริบูรณ์ แห่งปัญญา อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ คือ ๑. อาศันศาสดาหรือเพื่อนพรหมจารีที่เคารพ ตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ตั้งความรัก ความเคารพ ๒. อาศัยท่านที่กล่าว เขาไปหาไต่ถามเป็นครั้งคราว ท่านก็ช่วยชี้แจงให้คลายความสงสัย ๓. ฟังธรรมแล้ว หลีกออกทั้งทาง กาย ทางจิต ๔. มีศีล ๕. สดับตรับฟังมาก ๖. ปรารภความเพียร ๗. เมื่อไปในสงฆ์ไม่พูดเรื่องที่ไม่สมควร แต่พูดธรรมะเอง หรือเชิญผู้อื่น พูดไม่ดูหมิ่นการนิ่งแบบอริยะ ( นิ่งแบบรู้เท่า ) ๘. เห็นความเกิดความดับในขันธ์ ๕ เพื่อนพรหมจารีย่อมชมเชยภิกษุ เช่นนั้น.
ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ อย่าง ย่อมไม่เป็นที่รักที่พอใจ ไม่เป็นที่ เคารพสรรเสริญของเพื่อนพรหมจารี คือสรรเสริญผู้ไม่เป็นที่รัก, ติคนที่เป็นที่รัก, อยากได้ลาภ, สักการะ, ไม่ละอาย, ไม่เกรงกลัวต่อบาป, มีความปรารถนาลามก, มีความเห็นผิด. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม. และได้แสดงนัยอื่นอีก โดยเปลี่ยนข้อธรรมเล็กน้อย.
ตรัสแสดงโลกธรรม ( ธรรมประจำโลก ) ๘ อย่าง คือลาภ, มิใช่ลาภ, ยศ, มิใช่ยศ, นินทา, สรรเสริญ, สุข, ทุกข์ ซึ่งบุถุชนไม่รู้เท่า มีความยินดียินร้าย แต่อริยสาวกรู้เท่า ไม่ยินดียินร้าย.
ตรัสสอนภิกษุทั้งหลาย ว่า การที่ภิกษุพิจารณาถึงความวิบัติของตนและคนอื่น พิจารณาถึงสมบัติของตนและคนอื่นโดยการอันควร เป็นการดี. และตรัสว่า พระเทวทัตถูกอสัทธรรม ๘ คือโลกธรรมครอบงำจิต เป็นผู้ ไปสู่อบาย นรก อย่างไม่มีทางแก้.
ตรัสสอนให้อยู่อย่างครอบงำ ( เป็นนายเหนือ ) ลาภ, มิใช่ลาภ, ยศ, มิใช่ ยศ, สักการะ, มิใช่สักการะ, ความปรารถนาลามก, ความเป็นผู้คบมิตรชั่ว.
มีเรื่องเล่าถึงพระอุตตระ เกี่ยวกับ คติธรรมดั่งกล่าวข้างต้น.
ตรัสถึงพระนนทะศากยะ ว่าเป็นกุลบุตร, มีกำลัง, น่าเลื่อมใส, มีราคะกล้า แต่ก็อาจประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ บริสุทธิ์ได้เพราะสำรวมอินทรีย์, รู้ประมาณในโภชนะ, ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น, ประกอบ ด้วยสติสัมปชัญญะ.
ตรัสแนะให้กำจัดภิกษุผู้ถูกโจทท้วงเพราะอาบัติ กลับพูดถลากไถลแสดง ความโกรธเคือง เพื่อมิให้ประทุษร้ายภิกษุที่ดี ๆ.
๒. ตรัสตอบเวรัญชพราหมณ์
ผู้ว่ากล่าวพระองค์ด้วยคำกระทบต่าง ๆ ตรัสชี้ให้มีความหมายไปในทางดี ในทางที่แสดงว่าพระองค์ปราศจากกิเลส. แล้วตรัสว่า พระองค์ เปรียบเหมือนลูกไก่ที่ทำลายกะเปาะไข่ออกมาก่อน เพราะทรงทำลายกะเปาะไข่คือวิชชาได้ จึงควรกล่าวได้ว่า พระองค์เป็นพี่ ( ผู้แก่กว่า ใครในโลก ) แล้วตรัสแสดงถึงการที่พระองค์ได้ฌาน ๔ ได้วิชชา ๓ คือระลึกชาติได้ มีทิพยจักษุ และทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะเป็นที่สุด. เวรัญชพราหมณ์เลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
ทรงแสดงธรรมแก่สีหเสนาบดี ถึงเรื่องที่มีผู้กล่าวหาว่าพระองค์เป็นอกิริยวาทะ ( ผู้พูดว่าทำดี ทำชั่วไม่เป็นอันทำ ) เป็นต้น โดยทรงชี้แจงว่า พระองค์สอนไม่ให้ทำชั่ว เป็นต้น. สีหเสนาบดีเลื่อมใสแสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ( โปรดดูหน้าพระวินัย เล่มที่ ๕ ประกอบด้วย ) สีหเสนาบดีเปลี่ยนศาสนา
ตรัสแสดงม้าอาชาไนย ที่ประกอบด้วยองค์ ๘ เปรียบด้วยภิกษุผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๘ คือ ๑. เกิดดีจาก ๒ ฝ่าย คือมารดาและบิดา เกิดในทิศที่ม้าอาชาไนยที่ดีอื่น ๆ เกิด. ๒. ย่อมกินอาหารสดหรือแห้งที่เขาให้ด้วย ความเคารพ ( ด้วยอาการอันดีงาม ) ไม่ทำหก ๓. รังเกียจที่จะนั่งหรือนอนทับอุจจาระปัสสาวะ ๔. มีความยินดี มีความอยู่ร่วมเป็นสุข ไม่ข่ม ขู่ม้าอื่น ๕. เปิดเผยความพยศคดโกงตามเป็นจริง ซึ่งสารถีก็จะพยายามแก้ไข ๖. เป็นสัตว์เอาภาระ ( อรรถกถาแก้ว่า ปฏิบัติตามคำสั่ง ) โดย คิดว่าม้าอื่นจะเอาภาระหรือไม่ก็ตาม เราจักเอาภาระในที่นี้ ๗. ย่อมไปโดยทางตรง ๘. มีเรี่ยวแรง ม้าอาชาไนยประกอบด้วยองค์ ๘ เหล่านี้ ย่อมควรแก่พระราชา ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ก็ควรของคำนับ เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คือ ๑. มีศีล ๒. บริโภคด้วย ความเคารพ ( ด้วยอาการอันดีงาม ) ซึ่งอาหารที่เขาถวายเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม ไม่เดือดร้อน ๓. รังเกียจทุจจริตทางกาย วาจา ใจ รังเกียจการประกอบด้วยอกุศลบาปธรรม ๔. มีความยินดี มีความอยู่ร่วมเป็นสุขไม่ข่มขู่ภิกษุอื่น ๕. เปิดเผยความพยศคดโกงในพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารี ซึ่งท่านเหล่านั้นย่อมพยายามแก้ไข ๖. เป็นผู้ศึกษา โดยคิดว่าผู้อื่นจะศึกษาหรือไม่ก็ตาม เราจักศึกษา ๗. ไปโดยทางตรง คืออริยมรรค มีองค์ ๘ มีความเห็นชอบ เป็นต้น. ๘. ปรารภความเพียร.
ตรัสแสดงม้าที่มีโทษ ๘ ประการ เทียบด้วยบุรุษที่มีโทษ ๘ ประการ โดย แสดงถึงม้าที่สั่งการอย่างหนึ่ง แต่ทำไปเสียอย่างอื่น เปรียบเหมือนภิกษุที่ไม่ดี ต้องอาบัติ ถูกตักเตือน ก็กล่าวว่าระลึกไม่ได้ เป็นต้น.
ตรัสแสดงมลทิน ๘ ประการ คือ ๑. การไม่ท่องบ่นเป็นมลทินของมนต์ ๒. ความไม่ขยันเป็นมลทินของบ้านเรือน ๓. ความเกียจคร้านเป็นมลทินของผิวพรรณ ๔. ความประมาทเป็นมลทินของผู้รักษา ๕. ความ ประพฤติชั่วเป็นมลทินของหญิง ๖. ความตระหนี่เป็นมลทินของผู้ให้ ๗. อกุศลบาปธรรมเป็นมลทินทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ๘. อวิชชา เป็นมลทินอย่างยิ่ง.
ตรัสแสดงว่าภิกษุประกอบด้วยองค์ ๘ ควรไปทำการทูต คือรู้จักฟัง, รู้จักทำ ให้ผู้อื่นฟัง, เรียนรู้, ทรงจำ, รู้, ทำให้ผู้อื่นรู้, ฉลาดในประโยชน์ มิใช่ประโยชน์, ไม่ชวนทะเลาะ.
ตรัสสรรเสริญพระสาริบุตร ว่า มีคุณสมบัติ ( ของนักการทูต ) เช่นนั้น.
ตรัสว่า หญิงชายย่อมผูกพันกันด้วยอาการ ๘ ประการ คือรูป, การหัวเราะ, การพูด, การร้องเพลง, การร้องไห้, อากัปปกริยา, ของขวัญ, ผัสสะ.
ตรัสตอบท้าวปหาราทะผู้เป็นจอมแห่งอสูร ถึงการที่ภิกษุทั้งหลายยินดีในพระ ธรรมวินัยนี้ ซึ่งมีความอัศจรรย์ ๘ ประการ ( เทียบด้วยความอัศจรรย์ ๘ อย่างของมหาสมุทรที่ท้าวปหาราทะกราบทูล ) คือ ๑. ในพระธรรม วินัยนี้มีการศึกษา การกระทำและข้อปฏิบัติโดยลำดับ ไม้ใช่เริ่มต้น ก็การตรัสรู้อรหัตตผล เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีความลุ่มลึกโดยลำดับ ไม่ใช่เริ่มต้นก็ลึกเป็นเหว ๒. พระสาวกย่อมไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต เปรียบเหมือน มหาสมุทรซึ่งมีความหยุดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงเลยฝั่งไป ๓. สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลผู้ทุศีล ย่อมประชุมกันยกออก ( จากหมู่ ) แม้เธอ จะนั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ ก็ชื่อว่าไกลจากสงฆ์ เปรียบเหมือนมหาสมุทรที่ซัดซากศพเข้าสู้ฝั่งโดยพลัน. ๔. วรรณะ ๔ เมื่อบวชในพระธรรม วินัยนี้ ย่อมละชื่อและโคตรเดิม ถึงการนับว่าสมณะศากยบุตรเปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่ต่าง ๆ เช่น คงคา ยมุนา เมื่อถึงมหาสมทรย่อมละชื่อ และโคตรเดิม ถึงการนับว่าสมุทร ๕. แม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ แต่ชื่อว่าพร่องหรือความเต็มแห่งนิพพาน ธาตุ ก็ไม่ปรากฏเพราะเหตุนั้น เปรียบเหมือนความพร่องหรือความเต็มแห่งมหาสมุทรไม่ปรากฏเพราะสายน้ำตกลงมาจากอากาศ. ๖. พระ ธรรมวินัยมีรสเดียว คือมีวิมุติ ( ความหลุดพ้น ) เป็นรส เปรียบเหมือนมหาสมุทรที่มีรสเดียว คือรสเค็ม. ๗. พระธรรมวินัยนี้มีรตนะเป็นอันมาก เช่น สติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น จนถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ ( โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ) เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรตนะมาก เช่น มุกดามณี ไพฑูรย์ เป็นต้น. ๘. พระธรรมวินัยนี้ เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือพระโสดาบัน, ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง โสดาปัตติผล จนถึงพระอรหันต์, ท่านผู้ ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล เปรียบเหมือนมหาสมุทรเป็นที่อยู่แห่งสัตว์ใหญ่ มีปลาติมิติมิงคละ ติมิรมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์. ๑
ในวันอุโบสถ พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง มีภิกษุสงฆ์แวดล้อม เมื่อปฐมยาม ล่วงแล้ว พระอานนท์จึงกราบทูลอาราธนาให้แสดงปาฏิโมกข์ ก็ทรงนิ่ง เมื่อมัชฌิมยามล่วงแล้ว พระอานนท์กราบทูลอาราธนาอีก ก็ทรงนิ่ง ครั้นปัจฉิมยามล่วงแล้ว จะรุ่งอรุณ พระอานนท์กราบทูลอาราธนาอีก จึงตรัสว่า บริษัทไม่บริสุทธิ์. พระมหาโมคคัลลานะพิจารณาดู ก็ทราบ ว่ามีภิกษุทุศีลนั่งปนอยู่ในที่นั้น จึงว่ากล่าว จูงมือเธอออกไปจากนอกซุ้มประตู ใส่ดาลประตูแล้วมากราบทูล. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บัดนี้ ท่านทั้งหลายพึงทำอุโบสถ แสดงปาฏิโมกข์กันเอง ตั้งแต่วันนี้ไป เราจักไม่แสดงปาฏิโมกข์ เพราะมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ที่พระตถาคตจัก แสดงปาฏิโมกข์ในบริษัทที่ไม่บริสุทธิ์แล้ว. ตรัสแสดงเรื่องความอัศจรรย์ของมหาสมุทร ๘ ประการ เทียบกับความอัศจรรย์พระธรรมวินัย นี้ดังที่ตรัสแล้ว.
๓. อุคคคฤหบดีชาวกรุงเวสาลี
เรียนแก่ภิกษุทั้งหลายถึงความอัศจรรย์ ๘ ประการของตน คือ ๑. เห็นพระผู้มีพระภาคแต่ไกลก็เลื่อมใส ๒. เมื่อเข้าไปเฝ้าได้ฟังอนุบุพพิกถา กับอริยสัจจ์ ๔ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ สมาทานสิกขาบทมีพรหมจรรย์๒ เป็นที่ ๕ ๓. ตนมีภรรยาสาว ๔ คน จึงแจ้งให้นางทราบว่าตนสมาทานสิกขาบทมีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ ผู้ใดปรารถนาจะอยู่ก็จงใช้ทรัพย์ทำ บุญไปหรือจะไปสู่ตระกูลญาติของตน หรือต้องการให้เรายกให้แก่บุรุษใดก็ตาม ภริยาคนใหญ่จึงแจ้งความประสงค์ ให้ให้แก่บุรุษผู่มีชื่ออย่าง นั้นอย่างนี้ ตนก็ให้ไป ไม่มีจิตผิดปกติ ๔. โภคทรัพย์ในตระกูลของตนถือเป็นของสาธารณะ สำหรับผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ๕. เข้าไปหาภิกษุ ด้วยความเคารพ ๖. ถ้าท่านแสดงธรรม ตนก็ฟังโดยเคารพ ถ้าท่านไม่แสดงธรรม ตนก็แสดงธรรมแก่ท่าน ๗. มีเทวดามาบอกว่า พระผู้มีพระ ภาคตรัสธรรมไว้ดีแล้ว ตนก็ตอบว่า ท่านจะบอกหรือไม่บอกก็ตาม พระผู้มีพระภาคก็ตรัสธรรมไว้ดีแล้ว. จิตของตนไม่ฟู เพราะเหตุที่เทวดา มาหา หรือเพราะได้พูดกับเทวดา ๘. ตนละสัญโญชน์ ๕ เบื้องต่ำได้ ( เป็นพระอนาคามี ).
ตรัสถึงความอัศจรรย์ ๘ ประการของอุคคคฤหบดีชาวหัตถิคาม ในทำนอง คล้ายคลึงกัน. รวมทั้งคฤหบดีอื่นว่าประกอบด้วยความอัศจรรย์ ๗ ประการ ( น้อยกว่าผู้อื่น ๑ ข้อ ) คือหัตถกะชาวเมืองอาฬวี ( ประกอบด้วย อริยทรัพย์ ๗ )
ต่อมาตรัสสรรเสริญหัตถกะ ( อุบาสก ) ว่าสงเคราะห์บริษัท ๔ ด้วยสังคหวัตถุ ( ธรรมเป็นที่ตั้ง หรือเป็นเรื่องของการสงเคราะห์ ) ๔ อย่าง และตรัสสรรเสริญว่า มีความอัศจรรย์ ๘ เพิ่มความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย..
ตรัสแสดงเหตุที่ให้เป็นอุบาสก เป็นต้น แก่มหานามศากยะว่า ถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะ ชื่อว่าเป็นอุบาสก, มีศีล ๕ ชื่อว่ามีศีล, มีคุณธรรมด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อ ประโยชน์คนอื่น, มีคุณธรรมเองด้วย ชักชวนผู้อื่น ชื่อว่าปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและคนอื่น.
ตรัสตอบหมอชีวกในทำนองเดียวกัน, ตรัสแสดงกำลัง ๘ ประการ คือ ๑. เด็กมีการร้องไห้เป็นกำลัง ๒. สตรีมีความโกรธเป็นกำลัง ๓. โจรมีอาวุธเป็นกำลัง ๔. พระราชามีอิสริยะ ( ความเป็นใหญ่ ) เป็นกำลัง. ๕. คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ๖. บัณฑิตมีการเพ่งโทษตนเองเป็รกำลัง. ๗. ผู้สดับมากมีการพิจาณาเป็นกำลัง. ๘. สมณพราหมณ์มี ขันติ ( ความอดทน ) เป็นกำลัง. ( หมายเหตุ : คำว่า บัณฑิตมีการเพ่งโทษตนเองเป็นกำลัง แปลจากคำว่า นิชฺณตฺติพลา ปณฺฑิตา ซึ่งพระเถระผู้ใหญ่ในเมืองไทยท่านเคยแปลไว้อย่างนั้น แต่ในอรรถกถาแก้ว่า บัณฑิตมิได้เพ่งโทษแบบคนพาล แต่เพ่งประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ )
พระสาริบุตรกราบทูลแสดงกำลัง ๘ ประการของภิกษุผู้สิ้นอาสวะ ( ขีณาสพ ) คือ ๑. เห็นด้วยดีด้วยสังขารว่าไม่เที่ยงด้วยปัญญาอันชอบ ๒. เห็นด้วยดีว่ากามเป็นเหมือนหลุมถ่านเพลิง ๓. มีจิตน้อมไปสู่ความสงัด ๔. -๘. เจริญสติปัฏฐาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, โพชฌงค์ ๗, อริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วยดี. ตรัสแสดงขณะหรือสมัยอันไม่สมควร เพื่ออยู่ ประพฤติพรหมจรรย์ ๘ ประการ คือ ๑. เกิดในนรก เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเกิดขึ้นแสดงธรรม ๒. เกิดในกำเนิดดิรัจฉาน ๓. เกิดในภูมิแห่ง เปรต ๔. เกิดในเทพนิกายที่มีอายุยืน ๕. เกิดในชนบทชายแดน ๖. เกิดในเผ่ามิลักขะ ผู้ไม่มีความรู้แจ้ง ๗. เกิดในมัธยมชนบทแต่มีปัญญา ทราม.
ตรัสแสดงมหาปุริสวิตก (ความคิดหรือความตรึกของมหาบุรุษ ) ๘ ประการ คือธรรมนี้ของผู้มีความปรารถนาน้อย, ผู้สันโดษ, ผู้สงัด, ผู้ปรารภความเพียร, ผู้มีสติตั้งมั่น, ผู้มีจิตตั้งมั่น ( เป็นสมาธิ ), ของผู้มีปัญญา. ( ๗ข้อนี้พระอนุรุทธ์ท่านคิดได้ พระผู้มีพระภาคตรัสเพิ่มเติมข้อสุดท้าย คือ ) ธรรมนี้ของผู้ไม่เนิ่นช้า. พระอนุรุทธ์ปฏิบัติตามก็ได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์.
๔. ตรัสแสดงทาน ๘ อย่าง
๑. พบเข้าก็ให้ทาน ๒. ให้ทานเพราะกลัว ๓. ให้ทานเพราะคิดว่าเขาเคยให้แก่เรา ๔. ให้ทานเพราะคิดว่าเขาจักให้แก่เรา ๕. ให้ทานเพราะคิด ว่าทานเป็นของดี ๖. ให้ทานเพราะคิดว่าเราหุงต้ม แต่สมณะเหล่านี้มิได้หุงต้ม ๗. ให้ทานหวังกิติศัพท์ ๘. ให้ทานเพื่อเป็นเครื่องประดับเป็น เครื่องประกอบจิต ( เพื่อให้จิตอ่อน ควรแก่คุณธรรมสูงขึ้นไป ).
และตรัสแสดงทานวัตถุ ๘ อย่างคล้ายคลึงกัน ตรัสแสดงสมณพราหมณ์ผู้ ประกอบด้วยองค์ ๘ คือมีความเห็นผิด จนถึงมีความตั้งใจมั่นผิด ส่วนในทางดี มีความเห็นชอบ จนถึงความตั้งใจมั่นชอบ ( มรรคมีองค์ ๘ ) ว่าเป็นเหมือนนาเลวนาดี.
ตรัสแสดงความเกิดในที่ต่าง ๆ ด้วยอำนาจทาน ( ทานูปปัตติ ) ๘ ประการ คือ ๑. กษัตริย์, พราหมณ์หรืคฤหบดีมหาศาล ๒.-๗. เทพ ๖ ชั้น ๘. เทพพวกพรหม ทั้งแปดอย่างนี้จะสำเร็จได้ก็ด้วยศีล ไม่ใช่ผู้ทุศีลและ เฉพาะข้อ ๘ ต้องปราศจากราคะด้วย.
ตรัสแสดงบุญกิริยาวัตถุ ( เรื่องของการทำบุญ ) ๓ ประการ คือบุญญกิริยา วัตถุสำเร็จด้วยทาน, ศีล, ภาวนา ( การอบรม ) คือ ๑. ทำ ๒ ข้อแรกน้อย ไม่มีข้อหลังเลย ทำให้ตายไปแล้ว เกิดมีส่วนชั่วในมนุษย์ ๒. ทำ ๒ ข้อแรกพอประมาณ ไม่มีข้อหลังเลย ทำให้เกิดมีส่วนดีในมนุษย์ ๓. ทำ ๒ ข้อแรกมาก แต่ไม่มีข้อหลังเลย ทำให้เกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช ๔.-๕. ทำเหมือนข้อที่ ๓ ทำให้เกิดในเทพชั้นดาวดึงส์, ชั้นยามะ, ชั้นดุสิต, ชั้นนิมมานรดี, ชั้นปรนิมมิตวสัตตี.
ตรัสแสดงสัปปุริสทาน ( ทานของคนดี ) ๘ ประการ คือให้สิ่งสะอาด, ให้สิ่ง ประณีต, ให้ตามกาล, ให้สิ่งที่ควร, เลือกแล้วจึงให้, ให้เนือง ๆ, ขณะให้จิตเลื่อมใส, ให้แล้วก็อิ่มใจ.
ตรัสว่า สัปปุริสะ ( คนดี ) เมื่อเกิดในตระกูล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก คือ แก่มารดาบิดา, แก่บุตรภริยา, แก่ทาสและกรรมกร, แกมิตรสหาย, แก่ผู้ล่วงลับไปก่อน, แก่พระราชา, แก่เทวดา, แก่สมณพราหมณ์
ตรัสแสดงความไหลมาแห่งบุญ ๘ ประการ คือ ๑.-๓. ถึงพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์ เป็นสรณะ ๔.-๘. เว้นจากการล่วงละเมิดศีล ๕ ( ถือว่าเป็นการให้ความไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แก่สัตว์ไม่มีประมาณ).
ตรัสแสดงโทษของกายทุจจริต ๓ วจีทุจจริต ๔ และดื่มสุรา ว่า ถ้าทำให้มาก เป็นเหตุให้ไปสู่นรก กำเนิดดิรัจฉาน และภูมิแห่งเปรต ส่วนโทษอย่างเบาเฉพาะข้อมีดังนี้ ๑. ฆ่าสัตว์ ทำให้มีอายุน้อย, ลักทรัพย์ ทำให้โภคะ พินาศ, ประพฤติผิดในกาม ทำให้มีเวรจากศัตรู, พูดปด ทำให้ถูกกล่าวตู่, พูดส่อเสียด ทำให้แตกจากมิตร, พูดคำหยาบ ทำให้ได้ยินได้ฟังสิ่งที่ ไม่น่าพอใจ, พูดเพ้อเจ้อ ทำให้มีวาจาไม่มีใครเชื่อ, ดื่มสุราเมรัย ทำให้เป็นบ้า.
๕. ตรัสว่า อุโบสถมี๓ องค์ ๘ ที่อยู่จำแล้ว
มีผลมาก มีอานิสงส์มาก คือให้พิจารณาเทียบเคียงว่าพระอรหันต์ท่านงดเว้นตลอดชีวิต แต่เรางดเว้นตลอดวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ก็ชื่อว่ากระ ทำตามพระอรหันต์ ตรัสแสดงผลของอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ว่า ยิ่งกว่าเสวยราชย์ในมหาชนบท ๑๖ แคว้น มีอังคะ มคธ เป็นต้น.
ตรัสสอนนางวิสาขาและวาสฏฐอุบาสกและโพชฌาอุบาสิกาถึงเรื่องผลของอุโบสถใน ทำนองเดียวกัน.
ตรัสแสดงธรรมแก่พระอนุรุทธ์ ถึงเรื่องสตรีประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ เกิด ในเทพผู้มีกายอันน่าพอใจ คือ ๑.-๕. ข้อแรก เหมือนกับที่ตรัสไว้แล้ว ( ในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ หน้า ๑ ) ในหัวข้อ ๔. ตรัสตอบปุจฉาของพระนางสุมนาราชกุมารี ๖. ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ๗. มีศีล ๘. มีการบริจาค.
ตรัสแสดงธรรมแก่นางวิสาขา และแก่คฤหปตานีมารดาของนกุลมาณพ ในทำนองเดียว กับที่ตรัสแก่พระอนุรุทธ์. ตรัสแก่นางวิสาขา ถึงเรื่องสตรีประกอบด้วยองค์ ๔ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อมีชัยในโลกนี้ คือจัดการ งานดี, สงเคราะห์บริวารชนดี, ประพฤติสิ่งที่พอใจของสามี, รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้. กับสตรีประกอบด้วยองค์ ๔ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อมีชัยใน โลกหน้า คือมีศรัทธา, ศีล, การบริจาค, ปัญญา.
วรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐
( แบ่งออกเป็นวรรคเล็ก ๕ วรรค ๆ ละประมาณ ๑๐ สูตร วรรคที่ ๑ ชื่อสันธานวรรค ว่าด้วยความ ตั้งอยู่ด้วยดี. วรรคที่ ๒ ชื่อจาลวรรค ว่าด้วยเรื่องแผ่นดินไหว. วรรคที่ ๓ ชื่อยมกวรรค ว่าด้วยธรรมที่เป็นคู่กัน. วรรคที่ ๔ ชื่อสติวรรค ว่า ด้วยสติ. วรรคที่ ๕ ไม่มีชื่อ ).
๑. มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระนางมหาปชาบดี โคตมี
กราบทูลขอบวชเป็นภิกษุณี ในชั้นแรกตรัสปฏิเสธ แต่เมื่อพระอานนท์ช่วยกราบทูล ก็ตรัสอนุญาตให้พระนางบวชด้วยครุธรรม ( ธรรมที่ควร เคารพ ) ๘ ประการ ( ดูรายละเอียดที่แปลไว้จากวินัยปิฎกซึ่งพ้องกัน ) หมายเลข ๘๓ และ ( หน้าพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ ) ๖. ภิกขุนีขันธกะ(หมวดว่าด้วยนางภิกษุณี )(และพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ เล่มเดิม ) ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการ
ตรัสแสดงธรรมแก่บุตรแห่งโกลิยกษัตริย์ชื่อฑีฆชาณุ เรื่องธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ปัจจุบัน ๔ ประการ คือถึงพร้อมด้วยความหมั่น, การรักษา ( ทรัพย์ที่หามาได้ ), คบคนดีเป็นมิตร, เลี้ยงชีวิตโดยสม่ำเสมอ ( ไม่ฟุ่มเฟือยหรือฝืดเคืองเกินไป ) ; เรื่องปากทางแห่งความเสื่อมทรัพย์ ๔ ประการ คือเป็นนักเลงหญิง, เป็นนักเลงสุรา, เป็นนักเลง การพนัน, คบคนชั่วเป็นมิตร, ฝ่ายดีคือปากทางแห่งความเจริญตรงกันข้าม.
เรื่องธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์อนาคต ๔ ประการ คือถึงพร้อมด้วยศรัทธา, ศีล, จาคะ ( การบริจาก ), ปัญญา.
และตรัสแก่อุชชยพราหมณ์ในทำนองเดียวกัน. ตรัสว่า ภัย ทุกข์ เป็นต้น เป็นชื่อของกาม. ตรัสแสดงคุณธรรม ๘ อย่างของภิกษุหลายนัย ที่ทำให้ภิกษุเป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ตลอดจนเป็นเนื้อนาบุญ อันยอด เยี่ยมของโลก อย่างสูงทรงแสดงพระอริยบุคคลทั้งแปด.
๒. ตรัสแสดงบุคคล ๘ ประเภท
คือภิกษุอยากได้ลาภ ๑. พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภไม่เกิดขึ้น ก็เสียใจ เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๒. พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภเกิดขึ้น ก็ มัวเมาประมาท เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๓. ไม่พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภไม่เกิด ก็เสียใจ เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๔. ไม่พยายามเพื่อได้ ลาภ เมื่อลาภเกิดขึ้น ก็มัวเมาประมาท เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๕. พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภไม่เกิดขึ้น ก็ไม่เสียใจ ไม่เคลื่อนจากพระ สัทธรรม ๖. พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภเกิดขึ้น ก็ไม่มัวเมาประมาท ไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๗. ไม่พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภไม่เกิด ขึ้น ก็ไม่เสียใจ ไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๘. ไม่พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภเกิดขึ้น ก็ไม่มัวเมาประมาท ไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม.
ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง เป็นผู้ควรแก่ตน ควรแก่คนอื่น คือ ๑. พิจารณาได้ไวในกุศลธรรม ๒. ทรงจำธรรมะที่สดับแล้วได้ ๓. พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ ๔. รู้อรรถรู้ธรรมแล้วก็ปฏิบัติ ธรรมตามสมควรแก่ธรรม ๕. มีวาจาไพเราะ ๖. ชี้แจงชักชวนเพื่อนพรหมจารีให้อาจหาญร่าเริง
ครั้นแล้วตรัสว่า ลดข้อแรก เหลือแต่ ๕ ข้อหลังก็ใช้ได้, ลด ๒ ข้อหลัง เหลือแต่ ๔ ข้อแรกก็ใช้ได้, ลดข้อ ๓-๔ เหลือเพียง ๔ ข้อก็ใช้ได้, ลดข้อ ๑ กับข้อ ๕-๖ ก็ใช้ได้, ลด ๔ ข้อแรก เหลือเพียงข้อ ๕ ข้อ ๖ ก็ใช้ได้.
ตรัสสอนภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ขอให้ทรงแสดงธรรมโดยย่อ โดยตรัสสอนให้สำเนียก ว่า ๑. จิตจักตั้งมั่น อกุศลธรรมจักไม่ครอบงำ ๒.-๕. เราจักเจริญทำให้มากซึ่งเมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา อันเป็นเจโตวิมุติ ( อันเป็น ฌาน ).๔ ๖.-๙. เราจักเจริญทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เมื่อได้ทำได้อย่างนี้ ก็จะอยู่เป็นผาสุกทั้ง อิริยาบถเดิน, ยืน, นั่ง, นิน.
ตรัสแสดงอธิเทวญาณทัสสนะ ( การเห็นด้วยฌาณซึ่งอธิเทพ หรือเทวดาผู้ยิ่งใหญ่ ๘ ประการ คือเมื่อพระองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงปรารภราจะได้รู้เห็นอย่างนั้นอย่างนี้ ครั้นทรงบำเพ็ญเพียรจนรู้เห็นได้ตาม ต้องการแล้ว ก็ทรงปรารถนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปจนสำเร็จสมบูรณ์ครบ ๘ ข้อ จึงปฏิญญาพระองค์ว่าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑. เรา จักรู้สึกมีแสงสว่าง เห็นรูป ๒. เราจักยืนสนทนาไต่ถามกับเทวดา ๓. เราจักรู้ว่าเทวดานี้มาจากเทพนิกายโน้น ๆ ๔. เราจักรู้ว่าเทวดาเหล่านั้น เคลื่อนจากนี้ เกิดในที่นั้นเพราะผลแห่งกรรมนี้ ๕. เราจักรู้ว่าเทวดาเหล่านี้มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขทุกข์อย่างนี้ ๖. เราจักรู้ว่าเทวดาเหล่านี้อายุ ยืนอย่างนี้ ดำรงอยู่นานเท่านี้ ๗. เราเคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านี้หรือไม่ ๘. หรือว่าเราไม่เคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านี้.
ตรัสแสดงอภิภายตนะ ( เหตุอันครอบงำอารมณ์ที่เป็นข้าศึกหรือธรรมะฝ่ายต่ำ ) ๘ ประการ คือ ๑. กำหนดหมายรูปภายใน เห็นรูปภายนอกเป็นรูปเล็ก ทั้งที่ผิวพรรณดีและทราม ๒. กำหนดหมายในรูป เห็น รูปภายนอกไม่มีประมาณ ทั้งที่ผิวพรรณดีและทราม ๓. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกเป็นรูปเล็ก ทั้งที่ผิวพรรณดีและทราม ๔. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกไม่มีประมาณ ทั้งที่ผิวพรรณดีและทราม ๕. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกสีเขียว ๖. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกสีเหลือง ๗. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกสีแดง ๘. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูป ภายนอกสีขาว ทั้งแปดข้อนี้ต้องมีความกำหนดหมายประจำทุกข้อว่า เรารู้เห็นครอบงำรูปเหล่านั้น ( คือไมารู้เห็นอย่างติด แต่เป็นนายเหนือสิ่ง ที่เห็นได้ ). (หมายเหตุ : คำว่า อภิภายตนะ มีมาแล้วในมหาปรินิพพานสูตร, สังคีติสูตร, ทสุตตรสูตร เช่น ที่ปรากฏในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) ทรงปลงอายุสังขาร แต่ไม่ได้แจงรายละเอียด ย่อไว้เพียงชื่อบ้าง กล่าวเพียงตัวอย่างของธรรมหมวด ๘ บ้าง ในที่นี้จึงย่อไว้ให้เห็นชัด. มีข้อน่าสังเกต คือเป็นเรื่องของการปฏิบัติทางจิตภาค สมถะ และตั้งแต่ข้อ ๕ ถึงข้อ ๘ เป็นเรื่องของกสิณ ).
ตรัสแสดงวิโมกข์ ๘ ( ย่อไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น ) ๘
ตรัสแสดงอริยโวหาร ( คำพูดที่ประเสริฐ ) และอนริยโวหาร ( คำพูดที่ไม่ ประเสริฐ ) ฝ่ายละ ๘ อย่าง ( พ้องกับที่ย่อไว้แล้วหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ หน้า ๕ หมวดนอกจาก ๕๐ ) หัวข้อ ๕.
ตรัสแสดงบริษัท ๘ คือ กษัตริย์, พราหมณ์, คฤหบดี, สมณะ, เทพชั้น จาตุมหาราช, ชั้นดาวดึงส์, มาร, พรหม.
เมื่อทรงปลงอายุสังขารเกิดแผ่นดินไหว พระอานนท์กราบทูลถามถึงเหตุปัจจัย ให้แผ่นดินไหว ตรัสว่ามีอยู่ ๘ ประการ คือลมกำเริบ, ผู้มีฤทธิ์บันดาล, พระโพธิสัตว์จุติจากดุสิต ลงสู่ครรภ์พระมารดา, ประสูติ, ตรัสรู้, พระตถาคตแสดงธรรมจักร, ปลงอายุสังขาร, ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.
๓. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ
เป็นผู้น่าเลื่อมใสทุกทาง บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง คือมีศรัทธา, มีศีล, สดับฟังมาก, เป็นผู้กล่าวธรรม, ก้าวลงสู่บริษัท, กล้าหาญแสดงธรรม, ได้ฌาน ๔ ตามปรารถนา, ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน.
ตรัสอีกนัยหนึ่ง เปลี่ยนเฉพาะ ข้อที่ ๗ เป็นถูกต้องวิโมกข์อันสงบด้วยนามกาย.
ภิกษุหลายรูปแสดงความเห็นในการเจริญสติระลึกถึงความตายต่าง ๆ กัน. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ที่คิดว่าเราจักมีชีวิตอยู่ตลอดคืนและวัน, ตลอดวัน, ตลอดครึ่งวัน, ตลอดเวลาที่ฉันอาหารมื้อหนึ่ง, ตลอดเวลาที่ฉัน อาหารครึ่งมื้อ ยังอยู่ในเกณฑ์ประมาท เจริญมรณสติ เพื่อสิ้นอาสวะช้าไป. ส่วนผู้ที่คิดว่าเราจักมีชีวิตอยู่ระหว่างเคี้ยวอาหารคำเดียว, ระหว่าง หายใจเข้าออก จึงชื่อว่าไม่ประมาท เจริญมรณสติ เพื่อสิ้นอาสวะ.๕
ตรัสสอนให้เจริญมรณสติ แล้วมีฉันทะ มีความเพียรพยายาม ความอุตสาหะ ความกระตือรือร้นที่จะละอกุศลธรรม.
ตรัสแสดงสัมปทา ( ความถึงพร้อม ) ๘ อย่าง คือถึงพร้อมด้วยความหมั่น, การรักษา ( ทรัพย์ที่หามาได้ ), การคบคนดีเป็นมิตร, การเลี้ยงชีวิตโดยสม่ำเสมอ, ความเชื่อ, ศีล, การบริจาค, ปัญญา.
พระสาริบุตรสอนภิกษุทั้งหลายถึงบุคคล ๘ ประเภท ( พ้องกับพระพุทธภาษิต เรื่องภิกษุอยากได้ลาภ ๘ อย่างในหัวข้อที่ ๒ .ตรัสแสดงบุคคล ๘ ประเภทหน้าเดียวกัน ) และเรื่องบุคคลที่ควรแก่ตนและผู้อื่น ( เหมือนกันคือ ดูในหัวข้อที่ ๒ .ตรัสแสดงบุคคล ๘ ประเภทหน้าเดียวกัน )
ตรัสถึงธรรม ๘ อย่าง เป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่งภิกษุผู้ยังศึกษา คือยินดีในการงาน, ในการพูดมาก, ในการนอนหลับ, ในการคลุกคลีด้วยหมู่, ไม่สำรวมด้วยอินทรีย์, ไม่รู้ประมาณในโภชนะ, ยินดีในการเกี่ยวข้อง, ยินดี ในธรรมอันทำให้เนิ่นช้า ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.
ตรัสถึงที่ตั้งแห่งความเกียจคร้าน ๘ อย่าง คือ ๑. จะทำงานกลัวลำบากกาย, ๒. ทำแล้วก็รู้สึกว่าลำบากกาย, ๓. จะเดินทางก็กลัวลำบากกาย, ๔. เดินทางแล้วก็รู้สึกลำบากกาย, ๕. เที่ยวบิณฑบาต ไม่ได้อาหารตามที่ ต้องการ รู้สึกว่าลำบากกาย, ๖. เที่ยวบิณฑบาต ได้อาหารตามที่ต้องการ รู้สึกว่ากายหนัก ( อึดอัดเพราะอิ่ม ), ๗. มีอาพาธเล็กน้อย, ๘. หาย จากอาพาธไม่นาน.
ทรงแสดงที่ตั้งแห่งความเพียร ( อารัพภวัตถุ ) ๘ ประการตรงกันข้าม.
๔. ตรัสว่า ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะ ก็ทำให้ไม่มีธรรมะอื่น ๆ อีก ๗ ข้อโดนลำดับ
ถ้ามีสติสัมปชัญญะ ก็ทำให้มีธรรมะอื่น ๆ อีก ๗ ข้อโดยลำดับ ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ หน้า ๑) ในวรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐ หมายเลข ๒..
ตรัสแสดงเหตุที่ทำให้พระธรรมเทศนาของพระตถาคตบางครั้งก็แจ่มแจ้ง บางครั้งก็ ไม่แจ่มแจ้ง คือมีศรัทธา, เข้าไปหา, นั่งใกล้, ไต่ถาม, ตั้งโสตสดับธรรม, ทรงจำธรรม, พิจารณาอรรถแห่งธรรม, ปฏิบัติ ธรรมสมควรแก่ธรรม ( ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่แจ่มแจ้ง ).
ตรัสว่าธรรมทั้งปวง มีความพอใจเป็นมูล, เกิดแต่ความใส่ใจ, มีสัมผัสเป็นเหตุ เกิด, มีเวทนาเป็นที่ประชุมลง, มีสมาธิเป็นประมุข, มีสติเป็นใหญ่, มีบุญเป็นสิ่งยอดเยี่ยม, มีความหลุดพ้นเป็นแก่น.
ตรัสว่า โจรประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมถึงความพินาศโดยพลัน ไม่ตั้งอยู่นาน คือทำร้ายผู้ที่มิได้ทำร้าย, ขโมยของไม่ให้มีเหลือ, พาสตรีไป, ข่มขืนหญิงสาว, ปล้นนักบวช, ปล้นพระคลังหลวง, ทำกรรมในที่ใกล้เกินไป, ไม่ฉลาดในการฝังทรัพย์. และตรัสว่าถ้าตรงกันข้ามก็ไม่ถึงความพินาศโดยพลัน ตั้งอยู่ได้นาน.
ตรัสว่า คำว่า สมณะ, พราหมณ์, ผู้ภึงเวท, หมอ, ผู้ไม่มีทลทิน, ผู้ปราศจากมลทิน, ผู้มีญาณ, ผู้หลุดพ้น เป็นชื่อของพระตถาคต.
ตรัสกะพระนาคิตะ แสดงพระประสงค์ไม่ต้อนรับพราหมณ์คฤหบดีชาวอิจฉานังคละ ผู้ส่งเสียงเอ็ดอึง.
ตรัสเรื่องอุบาสกที่ควรคว่ำบาตร หงายบาตร ( ดังที่ย่อไว้แล้วหน้าพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗) การลงโทษคว่ำบาตรแก่วัฑฒะลิจฉวี และเรื่องอื่น ๆ ทำนองเดียวกัน ดั่งที่มี แล้วในพระวินัย.
๕. ตรัสสอนให้เจริญธรรม ๘ อย่าง
คืออริยมรรคมีองค์ ๘, อภิภายตนะ ๘ ( ดูด้านบนในหัวข้อหมายเลขที่ ๒. ตรงคำว่า หมายเหตุ ) วิโมกข์ ( ดูที่ย่อไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น ) ๘ เพื่อละอุปกิเลส ๑๖ ( ดูที่หน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ ) หัวข้อที่ ๗. วัตถูปมสูตร. มีราคะ เป็นต้น.
________________________________________
'๑' . มีข้อน่าสังเกตพิเศษสำหรับคนธรรพ์ว่าอยู่ในมหาสมุทร แต่ในที่อื่นมีกล่าวว่า อยู่ที่ต้นไม้ ( ดูที่บทของเล่มที่ ๑๙ ซึ่งมีเขียนขยายความไว้ดังนี้ว่า : ในข้อที่๑๐. คันธัพพกายสังยุตต์ ประมวลเรื่องเทพพวกคนธรรพ์ คือเทพที่สิงอยู่ ณ กลิ่นแห่งรากไม้, แก่นไม้, กะพี้ไม้, เปลือกไม้, สะเก็ดไม้, ใบไม้, ดอกไม้, ผลไม้, รสไม้, กลิ่นไม้. )
'๒' . น่าจะหมายความว่ารักษาศีล ๕ ยกข้อ ๓ คือประพฤติผิดในกามออก เลื่อนข้อ ๔-๕ ไปไว้เป็นข้อที่ ๓-๔ แล้ว สมาทานข้อ ๕ เว้นจากอพรหมจรรย์คือการเสพกาม
'๓' . เว้นจากฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, เสพเมถุน, พูดปด, ดื่มสุราเมรัย, กินอาหารในเวลาเที่ยงแล้วถึงรุ่งอรุณของวันใหม่, ฟ้อนรำขับร้องประโคม ดูการเล่น ทัดทรงดอกไม้ของหอม, ใช้ที่นั่งนอนสูงใหญ่ยัดนุ่นและสำลี
'๔' . ตรัสขยายความในตอนต่อไปว่า เจริญสมาธินี้ ( อันประกอบด้วยเมตตา ) อันมีวิตก วิจาร ( ฌานที่ ๑ ) บ้าง, อัน ไม่วิตก มีแต่วิจาร ( ฌานที่ ๒ ในฌาน ๕ ) บ้าง, อันไม่มีทั้งวิตก วิจาร ( ฌานที่ ๒ ในฌาน ๔ หรือฌานที่ ๓ ในฌาน ๕ ) บ้าง, อันมีปีติ ( ฌานที่ ๒ ในฌาน ๔ หรือฌานที่ ๓ ในฌาน ๕ ) บ้าง, อันไม่มีปีติ ฌานที่ ๓ ในฌาน ๔ หรือฌานที่ ๔ ในฌาน ๕ ) บ้าง, อันมีแต่ความ สุข ( ฌานที่ ๓ ในฌาน ๔ หรือฌานที่ ๔ ในฌาน ๕ ) บ้าง, อันประกอบด้วยอุเบกขาบ้าง ( ฌานที่ ๔ ในฌาน ๔ หรือฌานที่ ๕ ในฌาน ๕ บ้าง ), นี้ เป็นพระพุทธภาษิตแห่งที่ ๒ ที่ตรัสถึงฌาน ๕ โดยแสดงองค์ฌาน แต่ไม่ได้บอกชื่อว่าที่ ๑ ถึงที่ ๕ . ดูข้อความในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ หน้า ๒) ในหัวข้อที่๒๘. อุปักกิเลสสูตร ที่ข้อที่๕
'๕' . ข้อความตอนนี้ความจริงซ้ำกับข้อความในหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ หน้า ๕ ในข้อ๒. ตรัสแสดงธรรมที่ให้ระลึกถึงกัน ( ของภิกษุ ) ๖ ประการ แต่ตอนนี้ย่อไว้ พิสดารกว่า และเป็นอันขยายความของตอนที่แล้วให้ชัดขึ้น
นวกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๙ ข้อ
ปัณณาสกะ หมวด ๕๐
( หมวด ๕๐ นี้ มี ๕ วรรคเช่นเคย วรรคที่ ๑ ชื่อสัมโพธวรรค ว่าด้วยการตรัสรู้. วรรคที่ ๒ ชื่อ สีหนาทวรรค ว่าด้วยการบรรลืออย่างราชสีห์. วรรคที่ ๓ ชื่อสัตตาวาสวรรค ว่าด้วยที่อยู่แห่งสัตว์. วรรคที่ ๔ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่. วรรคที่ ๕ ชื่อปัญจาลวรรค ว่าด้วยปัญจาลจัณฑเทพบุตร ).
๑. ตรัสสอนให้ตอบนักบวชศาสนาอื่น ถึงธรรมอันเป็นที่อาศัยของรรมที่เป็นฝ่ายให้ตรัสรู้ มีดังต่อไปนี้
คบเพื่อนที่ดี, มีศีล, ถ้อยคำที่ขัดเกลากิเลส, ปรารภความเพียร, มีปัญญา. เมื่อตั้งอยู่ในธรรม ๕ อย่าง เหล่านี้แล้ว ควรเจริญธรรม ๔ อย่าง ให้ยิ่งขึ้น คืออสุภะ ( การพิจารณาว่าไม่งาม ), เมตตา, ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง, ไม่ใช่ตัวตน.
ตรัสว่า ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย ด้วยเหตุ คืออาศัยศรัทธา, อาศัยหิริ, อาศัย โอตตัปปะ, อาศัยปัญญา แล้วละอกุศล เจริญกุศล, แล้วควรอยู่อย่างมีอุปนิสสัย ๔ อย่าง คือพิจารณาแล้วเสพ, อดทน, เว้น, บันเทา.
พระเมฆิยะขอลาพระผู้มีพระภาคไปบำเพ็ญเพียร ตรัสขอให้รอก่อน เธอกราบ ทูลถึง ๓ ครั้ง ก็ตรัสอนุญาต แต่เมื่อไปบำเพ็ญเพียร ก็ถูกอกุศลวิตกครอบงำ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนเรื่องธรรมอันเป็นที่อาศัยของธรรม ที่เป็นฝ่ายให้ตรัสรู้.
พระนันทกะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเสด็จไปยืนคอยนอก ซุ้มประตู จนแสดงธรรมจบ จึงเสด็จเข้าไปข้างใน. พระนันทกะกราบทูลว่า ไม่ทราบว่าเสด็จมาจึงแสดงธรรมถึงเท่านี้ ( มากไป ). ตรัสตอบ ว่า เธอทำถูกแล้ว บรรพชิตที่ประชุมกันนั้น ควรทำการ ๒ อย่าง คือกล่าวธรรมิกถา หรือนิ่งแบบอริยะ ( นิ่งอย่างรู้เท่า ) แล้วได้ตรัสแสดง ธรรมว่า การมีศรัทธา, มีศีล, ได้เจโตสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นแห่งจิต ) ภายใน, ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง. ถ้ามีครบก็สมบูรณ์ ถ้ามีไม่ครบก็ขาดไป เปรียบเหมือนสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า ถ้าขาดไปเท้าหนึ่งก็ไม่สมบูรณ์.
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้ว พระนันทกะจึงแสดงอานิสงส์ ๕ ในการฟัง ธรรมะ, สนทนาธรรมตามกาล คือ ๑. เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของศาสดา, ๒. รู้อรรถรู้ธรรม. ๓. แทงทะลุบทแห่งเนื้อความอันลึกซึ้งในธรรม นั้นด้วยปัญญา. ๔. เพื่อนพรหมจารีสรรเสริญ. ๕. เมื่อแสดงธรรม ภิกษุที่ยังเป็นเสขะย่อมพยายามเพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ ภิกษุผู้เป็นพระ อรหันต์ ฟังธรรมชื่อว่าอยู่อย่างประกอบธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน.
ตรัสว่า กำลัง ๔ คือปัญญา, ความเพียร, ความไม่มีโทษ, การสงเคราะห์.
เมื่ออริยสาวกประกอบด้วยกำลัง ๔ นี้แล้ว ย่อมก้าวล่วงความกลัว ๕ ประการ คือความกลัวในการดำเนินชีวิต, ความกลัวถูกติ, ความกลัวประหม่าในที่ประชุม, ความกลัวตาย, ความกลัวทุคคติ.
พระสาริบุตรสอนภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องบุคคล, ปัจจัย ๔, คามนิคม, ชนบทว่า ควรทราบโดย ๒ อย่าง คือควรเสพ และไม่ควรเสพ กำหนดด้วยเมื่อเสพเข้า อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ก็ไม่ควรเสพ ถ้าอกุศลธรรม เสื่อม กุศลธรรมเจริญ ก็ควรเสพ.
ตรัสว่า พระอรหันต์ย่อมไม่ทำการ ( ที่ไม่ดี ) ๙ อย่าง ( ย่อไว้แล้วหน้าในเล่มที่ ๕ หน้า ๔ หมายเลขที่ ๒๖.สันทกสูตร หมายเลข ๕ มี ๕ ข้อ ) คือจงใจฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, เสพเมถุน, พูดปด ทั้ง ๆ รู้, สั่งสมบริโภคเหมือนเมื่อเป็นคฤหัสถ์, ลุแก่อคติ ๔ คือลำเอียงเพราะรัก, เพราะชัง, เพราะหลง, เพราะกลัว.
ตรัสแสดงนัยอื่นอีก คือพระอรหันต์ย่อมไม่ทำการ ๙ อย่าง ( ๑ ถึง ๕ ซ้ำกัน ) ๖. บอกคืนพระพุทธ ๗. บอกคืนพระธรรม ๘. บอกคืนพระสงฆ์ ๙. บอกคืนสิกขา.
ตรัสแสดงบุคคล ๙ ประเภท คือพระอริยบุคคล๑ ๘ กับบุถุชน. ตรัสว่า บุคคล ๙ ประเภท เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม คือพระอริยบุคคล ๘ กับโคตรภู ( อยู่ระหว่างบุถุชนกับพระอริยเจ้า ).
๒. พระสาริบุตรถูกภิกษุรูปหนึ่งกล่าวหา
ว่า เดินกระทบแล้วไม่ขอโทษ ท่านกราบทูลพระศาสดาในที่ประชุมสงฆ์ อุปมาตนเอง ๙ ข้อ คือรู้สึกตนเองเหมือนดิน, น้ำ, ไฟ, ลม ซึ่งถูก ของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้างทิ้งใส่ แต่ก็ไม่หน่าย ไม่รังเกียจ, เหมือนผ้าเช็ดธุลีที่เช็ดของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ก็ไม่หน่าย ไม่รังเกียจ, เหมือนเด็กจัณฑาล ซึ่งเจียมตัวอยู่เสมอ เวลาเข้าไปสู่ที่ต่าง ๆ, เหมือนโคที่ถูกตัดเขา ฝึกหัดดีแล้ว ไม่ทำร้ายใคร ๆ, เบื่อหน่ายต่อกายนี้ เหมือน ชายหนุ่มหญิงสาวที่คล้องซากงูไว้ที่คอ, บริหารกายนี้ เหมือนคนแบกหม้อน้ำมันรั่วทะลุ มีน้ำมันไหลออกอยู่. ภิกษุผู้กล่าวหาก็กล่าวขอขมา รับผิด.
ตรัสแสดงธรรมแก่พระสาริบุตร ว่า บุคคล ๙ ประเภท ชื่อว่ายังมีเชื้อเหลือ ( สอุปาทิเสสา มีเชื้อคือกิเลสเหลือ ) คือพระอนาคามี ๕, พระสกทาคามี ๑, พระโสดาบัน ๓ ( รวมเป็น ๙ ).๒
พระมหาโกฏฐิตะ ถามพระสาริบุตรว่า คนประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกรรมอย่างนั้น อย่างนี้หรือ ท่านตอบว่า เปล่า และตอบว่า ประพฤติเพื่อรู้, เห็น, บรรลุ, ทำให้แจ้ง, ตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ ที่ยังมิได้รู้เห็น ยังมิได้ตรัสรู้.
พระสาริบุตรตอบพระสมิทธิ ว่า ความตรึกซึ่งเกิดจากความดำริ มีนามรูปเป็น อารมณ์, ต่างกันในธาตุทั้งหลาย, มีผัสสะเป็นเหตุเกิด, มีเวทนาเป็นที่ประชุมลง, มีสมาธิเป็นประมุข, มีสติเป็นใหญ่ มีบุญเป็นส่วนยอดเยี่ยม, มีความหลุดพ้นเป็นแก่นสาร, มีอมตะเป็นที่หยั่งลง.
ตรัสว่า คำว่าฝี เป็นชื่อของกายนี้ ซึ่งมีปากแผล ๙ ( ทวาร ๙ ) มีของไม่สะอาด, สิ่งมีกลิ่นเหม็น, สิ่งที่น่ารังเกียจไหลออก. ฉะนั้น จึงควรเบื่อหน่ายในกายนี้
ตรัสแสดงสัญญา ๙ ประการ ซึ่งมีผลอานิสงส์มาก มีอมตะเป็นที่สุด คือความ กำหนดหมายว่าไม่งาม, ความกำหนดหมายความตาย, ความกำหนดหมายว่าน่าเกลียดในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง, ว่าไม่เที่ยง, ว่า เป็นทุกข์ในสิ่งที่ไม่เที่ยง, ว่าไม่ใช่ตัวตนในสิ่งที่เป็นทุกข์, ความกำหนดหมายในการละ, ในการคลายความกำหนัด.
ตรัสแสดงสกุลประกอบด้วยองค์ ๙ ที่ไม่ควรเข้าไป เข้าไปแล้วก็ไม่ควรนั่ง ( ข้อ ๑ ถึง ๗ ดังที่ย่อไว้แล้วเล่มที่ ๑๕ หน้า ๑ หมวด ๗ ) หมายเลขที่ ๒. เติมเพียงข้อที่ ๘. ไม่เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม ๙. ไม่ยินดี ภาษิตของภิกษุนั้น. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.
ตรัสแสดงอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๙ ว่า มีผลมาก มีอานิสงส์มาก คือ พิจารณาองค์ ๘ ว่า ได้ทำตามอย่างพระอรหันต์ กับข้อ ๙ พิจารณาว่า ตนได้แผ่เมตตาจิตไปยังทิศต่าง ๆ.
ตรัสเล่าเรื่องที่เทวดาปฏิบัติไม่ชอบในบรรพชิตในชาติที่ตนเป็นมนุษย์ จึงเข้าถึงกายอันต่ำที่ปฏิบัติชอบเข้าถึงกายอันประณีต.
ตรัสแสดงธรรม แก่อนาถปิณฑิกคฤหบดีเรื่องการถวายทานให้เห็นว่า เวลามพราหมณ์เคยให้ทานอย่างมโฬาร แต่การให้ผู้ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ( พระโสดาบัน ) เพียงผู้เดียว หรือร้อยท่านบริโภคอาหาร หรือการให้ พระสกทาคามี, พระอนาคามี, พระอรหันต์, พระปัจเจกพุทธเจ้า, ท่านเดียวหรือร้อยท่านบริโภคอาหาร, การให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค อาหาร, การให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภคอาหาร, การสร้างวิหารอุทิศสงฆ์ ๔ ทิศ, การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ, การมีจิตใจ เลื่อมใสสมาทานสิกขาบท ( ศีล ๕ ), การเจริญเมตตาเพียงชั่วเวลาเล็กน้อย ก็ยังมีผลมากกว่านั้น, การเจริญอานิจจสัญญา ( ความกำหนดหมาย ว่าไม่เที่ยง ) เพียงชั่วเวลาดีดนิ้ว ก็ยังมีผลมากกว่านั้น. ( หมายเหตุ : พึงสังเกตว่า การแสดงผลของความดีสูงกว่านั้นเป็นชั้น ๆ นั้นไป สรูปลงที่เห็นว่าไม่เที่ยงเป็นสูงสุด เพราะเป็นเครื่องทำให้เกิดความเห็นแจ้ง ).
๓. ตรัสถึงมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีป, เทพชั้นดาวดึงส์, มนุษย์ชาวชมพูทวีป
ที่มีทางดีเด่นกว่ากันและกัน ฝ่ายละ ๓ ข้อ คือมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีปเป็นผู้ไม่มีความยึดถือว่าของเรา, ไม่มีความหวงแหน, มีอายุแน่นอน ; เทพชั้นดาวดึงส์มีอายุ, วรรณะ, สุข, อันเป็นทิพย์ ; มนุษย์ชาวชมพูทวีปมีความแกล้วกล้า, มีสติ, ประพฤติพรหมจรรย์อันยิ่ง.
ตรัสถึงม้าเลว, ม้าดี, ม้าอาชาไนย ซึ่งมีอย่างละ ๓ ชนิด ( รวมเป็น ๙ ) เทียบ กับบุคคล ๓ ประเภทที่มีคุณสมบัติประเภทละ ๓ ชนิด ( รวมเป็น ๙ เช่นกัน ) อย่างที่ตรัสไว้แล้ว ( ดูรายละเอียดหน้าในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ หน้า ๕) ในข้อ ๔. ทรงแสดงนักรบที่ประกอบด้วยองค์ ๓
ตรัสแสดงธรรมที่มีตัณหาเป็นมูล ๙ อย่าง คือเริ่มแรกอาศัยตัณหาแล้วเกิดการ แสวงหา, อาศัยการแสวงหาเกิดการได้ โดยนัยนี้มีการอาศัยกันเป็นทอด ๆ เกิดการวินิจฉัย, ความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความพอใจ, การหยั่ง ลง ( ปลงใจยึดถือ ), ความหวงแหน, ความตระหนี่, การถือท่อนไม้ ศัสตรา, การทะเลาะวิวาท การส่อเสียด การพูดปด และอกุศลบาปธรรม เป็นอเนก อันมีการอารักขาเป็นเหตุ.
ตรัสแสดงสัตตาวาส ( ที่อยู่ของสัตว์ ) ๙ อย่าง คือ ๑. สัตว์บางพวกมีกายต่าง กัน มีสัญญาต่างกัน เช่น มนุษย์, เทพบางพวก, เปรตบางพวก. ๒. สัตว์เหล่าหนึ่งที่มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น เทพพวกพรหม ผู้เกิดด้วยปฐมฌาน. ๓. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่เทพพวกอาภัสสรพรหม. ๔. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียว กัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่เทพพวกสุภกิณหพรหม. ๕. สัตว์เหล่าหนึ่งไม่มีสัญญา ไม่เสวยอารมณ์ คือไม่มีเวทนา ได้แก่เทพพวก อสัญญีสัตว์. ๖. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ. ๗. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ. ๘. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึง อากิญจัญญายตนะ. ๙. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ.๓
ตรัสว่า ภิกษุผู้มีจิตอันปัญญาอบรมดีแล้ว ควรแก่คำว่า สิ้นชาติ, อยู่จบ พรหมจรรย์, ทำหน้าที่เสร็จแล้ว, ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก คือมีจิตอันปัญญาอบรมดีแล้ว จนทราบได้ว่า จิตปราศจากราคะ, โทสะ, โมหะ จิตไม่มีธรรมที่ประกอบด้วยราคะ, โทสะ, โมหะ จิตมีธรรมดาที่จะไม่กลับไปสู่ความกำหนัดในกาม, ในรูป, ในอรูป.
พระสาริบุตรอธิบายเรื่องภิกษุผู้มีจิตอันจิตอบรมดีแล้ว แก่พระจันทิกาบุตร ในทำนองคล้ายคลึงกับข้างต้น.
พระผู้มีพระภาคตรัสสอนอนาถปิณฑิกคฤหบดี และสอนภิกษุทั้งหลาย ว่า อริยสาวกสงบเวร ๕ ( มีฆ่าสัตว์ เป็นต้น ) ได้ และประกอบด้วยโสตาปัตติยังคะ.๔ (องค์แห่ง โสดาปัตติผล ) ๔ ประการ เมื่อปรารถนาก็พึงพยากรณ์ตนเองได้ด้วยตนว่าเป็นผู้สิ้นนรก, สิ้นกำเนิดดิรัจฉาน, สิ้นภูมิแห่งเปรต,สิ้นอบาย ทุคคติ วินิบาต, เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะได้ตรัสรู้ต่อไป.
ตรัสแสดงที่ตั้งแห่งความอาฆาต และเครื่องนำออกซึ่งความอาฆาตอย่างละ ๙ อย่าง ( ดูที่แปลไว้แล้วหน้าข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ) ข้อ ๗๔. ถึงข้อ ๗๕. และตัดข้อที่ ๑๐ ออกทั้งสองอย่าง.
ตรัสแสดงความดับโดยลำดับ ( อนุบุพพนิโรธ ) ๙ อย่าง คือ ภิกษุผู้เข้า ปฐมฌาน ความกำหนดหมายในอามิสดับ ( นอกจากนั้นเหมือนข้อ ๒ ถึงข้อ ๙ ของเรื่องอนุบุพพสังขารนิโรธที่แปลไว้แล้ว หน้าข้อความ น่ารู้จากพระไตรปิฎก ) หมายเลข ๒๐๐. และพึงสังเกตว่า ในหน้าเดิมหมายเลข ๑๙๙ แสดงว่า ผู้เข้าปฐมฌานวาจาดับ .
๔. ตรัสแสดงอนุบุพพวิหาร ( ธรรมเป็นเครื่องอยู่โดยลำดับ ) ๙ อย่าง
คือฌานที่ ๑. ถึงฌานที่ ๔ ( อันเป็นรูปฌาน ), อากาสานัญจายตนะ จนถึงเนวสัญญนาสัญญายตนะ ( อันเป็นอรูปฌาน ๔ ) และ สัญญเวทยิตนิโรธ ( ดูคำอธิบายที่เป็นพระพุทธสุภาษิต หน้าข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ) หมายเลข ๒๑๓.
พระอุทายีถามพระสาริบุตรว่า ที่ว่าพระนิพพานเป็นสุข แต่ในพระนิพพานไม่มีเวทนา ความรู้สึกอารมณ์ จะสุขอย่างไร พระสาริบุตรตอบแสดงความสุขเป็นชั้น ๆ ตั้งแต่สุขในกามคุณ ๕, สุขในรูปฌาน, สุขในอรูปฌาน, สุขในสัญญาเวทยิตนิโรธ ( สมาบัติอันดับสัญญาและเวทนา ). ความสุขในชั้นที่ต่ำกว่าย่อมเป็นเครื่องเบียดเบียน ( อาพาธ ), ย่อมเป็นทุกข์.๕
ตรัสว่า ภิกษุผู้ไม่ฉลาด ย่อมไม่สามารถเข้ารูปฌาน, อรูปฌานและสัญญาเวทยิต-นิโรธได้ ส่วนภิกษุผู้ฉลาดย่อมเข้าได้ เปรียบเหมือนแม่โคที่ไม่ฉลาด เที่ยวไปบนเขาที่ไม่สม่ำเสมอไม่ได้ แต่ที่ฉลาดเที่ยวไปได้ และตรัสใน ที่สุดว่า ภิกษุผู้เข้าออกสมาบัติข้างต้นได้ อบรมสมาธิอันไม่มีประมาณดีแล้ว ย่อมน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งอภิญญา ๖ มีแสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น.
ตรัสว่าความสิ้นไปแห่งอาสวะย่อมมีได้ เพราะอาศัยรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓ ( เว้นข้อ ๔ ) แต่ละข้อโดยตรัสอธิบายว่า เมื่อเข้าฌานแต่ละข้อแล้ว พิจารณาขันธ์ ๕ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จนถึงมิใช่ตัวตน แล้วน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุ ก็จะสิ้นอาสวะได้ หรือถ้าไม่สิ้นอาสวะก็จะได้เป็นพระอนาคามี. ตรัสสรูปในที่สุดว่า สัญญาสมาบัติ ( การเข้า ฌานที่มีความกำหนดหมายเป็นอารมณ์ ) มีเท่าใด การตรัสรู้อรหัตตผล ( อัญญาปฏิเวธ ) ย่อมมีเท่านั้น. ส่วนอายตนะ ๒ คือเนวสัญญานาสัญ- ญายตนสมาบัติ ( อรูปฌานที่ ๔ ) กับสัญญาเวทยิตนิโรธ ( อนุบุพพวิหารข้อที่ ๙ ) นั้น พระองค์ตรัสว่า ภิกษุเข้าฌานผู้ฉลาดในการเข้าสมาบัติ ในการออกจากสมาบัติ อาศัยแล้ว เข้าออก ( จากสมาบัติ ) พึงกล่าวถึงโดยชอบ๖
( หมายเหตุ : นวสัญญานาสัญญายตนะ กับสัญญาเวทยิตนิโรธ เรียกว่าอายตนะ ๒ ในที่นี้. ส่วนในที่อื่น เช่น ในมหานิทาน สูตร ที่ย่อไว้หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) ๒. มหานิทานสูตรอายตนะ ๒ หน้าเดียวกัน. ตรัสแสดงถึงอสัญญีสัตว์ กับเนวสัญญานาสัญญายตนะ แต่ก็พึงทราบว่า ในสูตรนั้นแสดงถึงแหล่งเกิด ส่วนในที่นี้แสดงการเข้าสมาบัติ ที่บันทึกไว้ในที่นี้เพื่อให้เทียบ เคียงประดับความรู้ ).
พระอานนท์แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย แสดงความน่าอัศจรรย์ที่พระผู้มีพระภาค ทรงบรรลุโอกาส ( หาช่องว่างได้ ) ในที่คับแคบ ( แออัดด้วยกามคุณ ) คือมีตา มีรูป ตลอดจนถึงมีกาย มีสิ่งที่พึงถูกต้องด้วยกาย แต่ก็ไม่ทรง รับรู้รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะนั้น. พระอุทายีถามว่า มีสัญญาหรือไม่ ตอบว่า มี. ถามว่า มีสัญญาอะไร จึงไม่รับรู้รูป เป็นต้นนั้น. ตอบเป็นใจความว่า มีสัญญาในอากาศ, ในวิญญาณ, ในความไม่มีอะไร ( เข้าอรูปฌานที่ ๑ ถึง ๓ ) ก็ไม่ต้องรับรู้รูป เสียง เป็นต้นได้. ( ข้อ ความในพระสูตรนี้ น่าพิจารณามาก พระอานนท์สรรเสริญพระพุทธเจ้าว่าในที่แออัดด้วยกามคุณ ๕ แต่พระพุทธเจ้าก็หาช่องว่างได้ โดยไม่ ต้องรับรู้กามคุณ ๕ คือมีให้รู้ให้เห็น แต่ก็ไม่รู้ไม่เห็น โดยวิธีเข้าอรูปฌานที่ ๑ ถึง ๓ ก็เป็นอันตัดความสนใจในอารมณ์ที่เป็นรูปทั้งหมดได้ ).
ตรัสแสดงธรรมแก่พราหมณ์ผู้ถือลัทธิโลกายตนะ ๒ คน ผู้ถามพระองค์ถึง เจ้าลัทธิชื่อปูรณะ กัสสปะ กับนิครนถนาฏบุตร โดยตรัสปฏิเสธที่จะวิจารว่าใครดีกว่ากัน แต่ได้ตรัสธรรมะว่า บุรุษ ๔ คน มีฝีเท้าเร็วอย่าง ยอดเยี่ยม ออกเดินทางหาที่สุดโลกโดยไม่หยุดเลย แม้มีอายุ ๑๐๐ ปี ก็จะตายก่อนไม่ถึงที่สุดโลก ที่สุดทุกข์. แล้วตรัสแสดงกามคุณ ๕ มีรูป เป็นต้น ที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ แล้วตรัสถึงภิกษุผู้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้ารูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ สิ้นอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ) ตรัสชี้ว่า ภิกษุเช่นนี้ชื่อว่าข้ามที่สุดโลก ข้ามตัณหาเสียได้.
ตรัสแสดงธรรมเรื่องสงครามระหว่างเทพกับอสูร เทพแพ้ ๓ ครั้ง แล้วก็กลับ ชนะ โดยฝ่ายอสูรแพ้ถึง ๓ ครั้ง ตรัสเปรียบเทียบกับการที่ภิกษุเข้ารูปฌาน ๔ แต่ละข้อ ก็ทำให้มารเห็นได้ว่ามีเครื่องต่อต้านความกลัว ซึ่งตน จะทำอะไรไม่ได้ แต่เมื่อเข้าอรูปฌาน ๔ แต่ละข้อ ก็ชื่อว่าทำมารให้ถึงที่สุด มารก็จะไม่แลเห็น เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ก็ชื่อว่าทำมารให้ถึง ที่สุด มารก็จะไม่แลเห็น และชื่อว่าข้ามพ้นตัณหาได้ในโลก
ตรัสถึงภิกษุผู้หลีกออกจากหมู่ บำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุรูปฌาน, อรูปฌาน, และสัญญาเวทยิตนิโรธ เหมือนพญาช้างใหญ่ในป่าปลีกตัวจากหมู่ อยู่ตามลำพังฉะนั้น.
เมื่อประทับอยู่ในนิคมของแคว้นมัลละชื่ออุรุเวลกัสสปะ ได้เสด็จไปพักกลาง วัน ณ ป่าใหญ่ตปุสสะ คฤหบดี เข้าไปหาพระอานนท์ กล่าวว่า เนกขัมมะ ( คือออกจากกามหรือออกบวช ) เปรียบเหมือนเหวสำหรับตนผู้ เป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม แต่ก็มีภิกษุหนุ่มผู้มีจิตยินดีในเนกขัมมะ จึงขอให้แสดงเนกขัมมะให้ฟัง. พระอานนท์จึงพาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระองค์จึงตรัสเล่าถึงพระดำริ และการกระทำของพระองค์ ตั้งแต่ยังมิได้ตรัสรู้ ที่ทรงยกจิตให้สูงขึ้นเป็นชั้น ๆ จากกาม ขึ้นสู่เนกขัมมะ และรูปฌาน ๔, อรูปฌาน ๔ กับสัญญาเวทยิตนิโรธเป็นที่สุด ครั้งแรกก็ยังไม่เห็นโทษในสิ่งที่ต่ำกว่า ต่อเมื่ออบรมจิตให้มาก จนจิตได้ตั้งอยู่ ในธรรมที่สูงขึ้นแล้ว จึงเห็นสิ่งที่ต่ำกว่า เป็นสิ่งเบียดเบียน ( อาพาธ ) เป็นทุกข์. แล้วตรัสในที่สุดว่า ตราบใดยังทรงเข้าออกอนุบุพพนิโรธ- สมาบัติ ( สมาบัติที่มีการดับสิ่งต่าง ๆ ไปโดยลำดับ ) ๙ ประการ ทั้งโดยอนุโลมคือตามลำดับ ทั้งโดยปฏิโลมคือย้อนลำดับไม่ได้แล้ว ตราบนั้น ก็ไม่ทรงปฏิญญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม.
๕. พระอานนท์แสดงธรรมแก่พระอุทายี
ผู้ถามถึงเรื่องที่บุคคลจะบรรลุโอกาสในที่คับแคบ โดยอธิบายถึงการที่ภิกษุเข้าฌาน ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน จนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ ( รวม ๙ ข้อ ) แล้วชี้ว่า คำว่า ที่คับแคบ หมายถึงกามคุณ ๕ เลื่อนขึ้นไปจากฌานที่ ๑ ถึงอรูปฌานที่ ๔ ( รวม ๘ ข้อ ) เป็นที่คับแคบของ ฌานที่สูงขึ้นไป แต่เมื่อถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ สิ้นอาสวะ จึงชื่อว่าบรรลุโอกาสในที่คับแคบ ( แหวกช่องว่างในที่แคบ ) อย่างแท้จริง ( ๘ ข้อ ต้นเป็นการแหวกช่องว่างได้โดยปริยาย คือเพียงโดยอ้อม ข้อที่ ๙ เป็นการแหวกช่องว่างได้โดยนิปปริยาย คือโดยตรง )
พระอานนท์ตอบคำถามของพระอุทายี เรื่องพระอริยบุคคลประเภทกายสักขี, ปัญญาวิมุต, อุภโตภาควิมุต, ( รวม ๓ ประเภท ) ว่า ได้แก่ผู้บรรลุอนุบุพพวิหารสมาบัติทั้งเก้า เป็นแต่ว่าบรรลุ ๘ ข้อแรก เป็นโดยปริยาย ( โดยอ้อม ) แต่บรรลุข้อหลัง ( สัญญาเวทยิตนิโรธ ) สิ้นอาสวะ ชื่อว่าเป็นกายสักขี เป็นต้นโดยตรง ( นิปปริยาย ).
พระอุทายีถามถึงความหมายของคำว่า สันนทิฏฐิกรรม ( ธรรมที่เห็นได้เอง ), สันทิฏฐิกนิพพาน ( นิพพานที่เห็นได้เอง ), นิพพาน ( ความดับ ), ปรินิพพาน ( ความดับสนิท ), ตทังคนิพพาน ( ความดับด้วยองค์นั้น ), ทิฏฐธัมมนิพพาน ( นิพพานในปัจจุบัน ). พระอานนท์ตอบว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การที่ภิกษุเข้ารูป ฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ เป็นธรรมะ เป็นนิพพานที่ถามนั้นโดยปริยาย แต่เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สิ้นอาสวะ เป็นธรรมะ เป็นนิพพานชนิด ต่าง ๆ นั้น โดยนิปปริยาย ( โดยตรง ).
วรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐
๑. พระอานนท์ตอบพระอุทายี
ถึงคำว่า เขมะ ( ความเกษม คือความปลอดโปร่งจากกิเลส ). ผู้บรรลุความเกษม, อมตะ ( ความไม่ตาย ), ผู้บรรลุ อมตะ, ภัย ( ความไม่กลัว ), ผู้บรรลุอภัย, ปัสสัทธิ ( ความระงับ ), อนุบุพพปัสสัทธิ ( ความระงับโดยลำดับ ), นิโรธ ( ความดับ ), อนุบุพพนิโรธ ( ความดับโดยลำดับ ) โดยปริยายถึงการที่ภิกษุเข้ารูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ว่าเป็นโดยอ้อม และเข้า สัญญาเวทยิตนิโรธว่าเป็นโดยตรง.
ตรัสว่าบุคคลละธรรม ๙ อย่างไม่ได้ ไม่ทำให้แจ้ง ( บรรลุ ) อรหัตตผล คือราคะ, โทสะ, โมหะ, โกธะ ( โกรธ ), อุปนาหะ ( ผูกโกรธ ), มักขะ ( ลบหลู่บุญคุณท่าน ), ปลาสะ ( ตีเสมอ ), อิสสา ( ริษยา ), มัจฉริยะ ( ตระหนี่ ). ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.
๒. ตรัสแสดงการล่วงละเมิดศีล ๕ ข้อ
( ฆ่าสัตว์ถึงดื่มน้ำเมา ) ว่า เป็นความทุรพลแห่งสิกขาควรเจริญสติปัฏฐาน ๔ ( ดูหน้าในพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) ใน ๙. มหาสติปัฏฐานสูตร เพื่อละความทุรพลแห่งสิกขา. ตรัสแสดงนิวรณ์ นีวรณ์ ๕ ( ดูหน้าข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ) หมายเลข ๖๘. อกุศลราศี ( กองแห่งอกุศล ) กามคุณ ๕ ( มีรูป เป็นต้น ), อุปาทานขันธ์ ๕ ( ขันธ์ที่ยึดถือ มีรูป, เวทนา เป็นต้น ), สัญโญชน์ เบื้องต่ำ ๕ ( สักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุ ยึดถือกายของตน, ความลังเลสงสัย, การลูบคลำศีลและพรต, ความพอใจในกาม, ความพยาบาท ), คติ ๕ ( ทางไปหรือที่ไป ๕ คือ นรก, กำเนิดดิรัจฉาน, เปรตวิสัย, มนุษย์, เทพ ), มัจฉริยะ ๕ ( ความตระหนี่ ๕ คือตระหนี่ที่อยู่, ตระกูล, ลาภ, คำสรรเสริญ, ธรรมะ ), สัญโญชน์เบื้องสูง ๕ ( ความติดในรูป, ความติดในอรูป, ความถือตัว, ความฟุ้งสร้าน, ความไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ), เจโตขีละ ๕ ( ตอของจิต ๕ ), เครื่องผูกมัดจิต ๕ ( เจตโสวินิพันธะ )๗ แล้วตรัสแสดงว่า ควรเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละธรรมเหล่านั้น.
๓. ตรัสแสดงว่า ควรเจริญความเพียรชอบ ๔
( ดูเสด็จป่ามหาวัน หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) เสด็จป่ามหาวันประชุมภิกษุสงฆ์เพื่อละธรรมเหล่านั้น.
๔. ตรัสว่า ควรเจริญอิทธิบาท ๔
( ดูเสด็จป่ามหาวัน หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) เสด็จป่ามหาวันเพื่อละธรรมเหล่านั้น.
๕. ตรัสว่า ควรเจริญสัญญา ( ความกำหนดหมาย ) ๙ ประการ
เพื่อละอุปกิเลส ๑๖ ( หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ ) ๗. วัตถูปมสูตร มีราคะ เป็นต้น.
จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓
ชุมนุมธรรมะที่มี ๗-๘-๙ ข้อ
________________________________________
'๑' . พระโสดาบัน, ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล, พระสกทาคามี, ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล, พระอนาคามี, ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล, พระอรหันต์, ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล
'๒' . ดูรายละเอียดหน้าในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ หน้า ๔ ) ใน ทุติยปัณณาสก์ ที่ข้อที่ ๔-๕
'๓' . โปรดดูเรื่องที่ตั้งแห่งวิญญาณ ๗ อย่าง หน้าเล่มที่ ๑๕ หน้า ๑ ) ในข้อ ๔. ตรัสแสดงคารวะ ( ความเคารพ ) ๗ อย่าง เทียบเคียงดูด้วย และในหน้านั้น ได้อ้างอิงข้อความควรรู้ ดูหน้าข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ข้อ ๖ ถึงข้อ ๗ ( และหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ) ที่ตั้งแห่งวิญญาณ ๗ อย่าง
'๔' . มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ, ในพระธรรม, ในพระสงฆ์, มีศีลที่ดีงามอันพระอริยเจ้าใคร่
'๕' . โปรดดูพระพุทธภาษิต หน้าข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ) หมายเลข ๒๑๓. เทียบเคียงด้วยจะชัดยิ่งขึ้น
'๖' . ในที่นี้ควรบันทึกเรื่องต้นฉบับบาลีด้วย คำว่า สัญญาปฏิเวธ เข้าใจว่า ที่ถูกเป็น อัญญาปฏิเวธ ตามที่อรรถกถา นำไปเป็นบทตั้ง คำว่า ฌายิโสเต ก็เข้าใจว่า เป็น ฌายีเหเต ตามที่อรรถกถาตั้งเป็นบทตั้งไว้ ทั้งตรงฉบับยุโรปด้วย ฌายิโสเต จึงน่าจะ คลาดเคลื่อน
'๗' . ความหมายของชื่อเหล่านี้มีมาแล้วในตอนก่อน ๆ จึงไม่อธิบายไว้มาก เฉพาะ ๒ เรื่องหลัง โปรดดูหน้าพระสุตตันตะเล่มที่ ๔ หน้า ๒ ในข้อ ๑๖. เจโตขีลสูตร ) ที่ เครื่องผูกมัดจิต ๕ การอ้างอิงเช่นนี้ เพื่อให้ได้ทบทวนเรื่องที่ผ่านมาแล้ว
ทสก-เอกาทสนิบาต
( ว่าด้วยธรรมะที่มี ๑๐ ข้อ, ๑๑ ข้อ )
พระไตรปิฎกเล่มนี้ เล่มที่ ๒๔ นี้ ชื่อว่าเป็นเล่มที่ ๕ หรือเล่มสุดท้ายของอังคุตตรนิกาย คือหมวดแสดง ข้อธรรมเป็นจำนวน โดยแสดงข้อธรรมจำนวน ๑๐ และ ๑๑ โดยลำดับดังต่อไปนี้.
ทสกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑๐ ข้อ
ปฐมปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๑
(ในหมวดนี้มี ๕ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตร. วรรคแรกชื่ออานิสังสวรรค ว่าด้วยผลดี, วรรคที่ ๒ ชื่ออนาถกรณวรรค ว่าด้วยธรรมะอันทำที่พึ่ง, วรรคที่ ๓ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่, วรรคที่ ๔ ชื่ออุปาลิวรรค ว่าด้วย พระอุบาลี, วรรคที่ ๕ ชื่ออักโกสวรรค ว่าด้วยการด่า ).
๑. ตรัสแสดงอานิสงส์แห่งศีลที่เป็นกุศลแก่พระอานนท์
ซึ่งเป็นการแสดงอานิสงส์ ที่มีอานิสงส์ต่อ ๆ กันไปเป็นลูกโซ่ ( ๑๐ ประการ คือ ) ๑. ความไม่เดือดร้อน, ๒. ความบันเทิงใจ ( ปราโมทย์ ), ๓. ความปลื้มใจ ( ปิติ ), ๔. ความระงับ ( ปัสสัทธิ ), ๕. ความสุข, ๖. สมาธิ, ๗. ยถาภูตญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณ ตามเป็นตริง ), ๘-๙. นิพพิทา, วิราคะ ( ความเบื่อหน่าย, คลายกำหนัด ), ๑๐. วิมุตติญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณถึงความหลุดพ้น ), แล้วตรัสว่า ธรรมเหล่านี้ย่อมไหลมา ย่อมทำธรรมะให้เต็ม เพื่อบรรลุธรรมะที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไปสำหรับภิกษุผู้มีศีล ส่วนภิกษุผู้ทุศีลตรงกันข้าม.
พระสาริบุตรกับพระอานนท์ ต่างแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงโทษของความ เป็นผู้ทุศีลและอานิสงส์ของความเป็นผู้มีศีลฝ่ายละ ๑๐ ข้อ.
พระสาริบุตรตอบพระอานนท์ ถึงการได้สมาธิที่ไม่มีความกำหนดหมายในสิ่ง ๑๐ อย่างว่า เป็นอย่างที่มันเป็น แต่ก็ยังมีสัญญาอยู่ คือในสมัยที่ท่านอยู่ในป่าอันธวัน ใกล้กรุงสาวัตถี ได้เข้าสมาธิเช่นนั้น ไม่มีความกำหนดหมาย ว่าธาตุ ๔ เป็นธาตุ ๔, ไม่มีความกำหนดหมายว่าอรูป ๔ เป็นอรูป ๔, ไม่มีความกำหนดหมายในโลกนี้ โลกหน้าว่าเป็นโลกนี้ โลกหน้า ( รวมเป็น ๑๐ ข้อ ) แต่ก็ยังมีสัญญาคือความกำหนดหมายว่า ความดับภพ เป็นนิพพาน ( ภวนิโรโธ นิพฺพานํ ) คือสัญญาอันหนึ่งเกิดขึ้น สัญญาอันหนึ่งย่อมดับไป.
ตรัสว่า ถ้าภิกษุขาดองคคุณ ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ก็ควรจะทำให้สมบูรณ์ คือความเป็นผู้มีศรัทธา, มีศีล, สดับฟังมาก, เป็นธรรมกถึก ( ผู้แสดงธรรม ), ก้าวลงสู่บริษัท, เป็นผู้กล้าหาญแสดงธรรมแก่บริษัท, เป็นผู้ทรง วินัย, เป็นผู้อยู่ป่า อยู่เสนาสนะอันสงัด, เป็นผู้ได้ฌาน ๔ ตามต้องการ, ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน. ถ้าประกอบด้วย ธรรม ๑๐ อย่างนี้ ก็เป็นผู้น่าเลื่อมใสในทุกทาง บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง.๑ แล้วได้ ตรัสแสดงองคคุณอื่นเป็นการยักย้ายนัย.
๒. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ เสพเสนาสนะ ( ที่อยู่อาศัย ) อันประกอบด้วยองค์ ๕
ก็จะพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะโดยกาลไม่นาน คือ ๑. มีศรัทธา ๒. มีโรคน้อย ๓. ไม่โอ้อวด ไม่มายา ๔. ปรารภความเพียร ๕. มีปัญญา. เสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ๑. ไม่ไกลไม่ใกล้เกินไป สะดวกด้วยการไปมา ๒. กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนมีเสียงน้อย ๓. มีสัมผัสเกี่ยวกับยุง เหลือบ ลม แดด สัตว์เสือกคลานน้อย ๔. พอจะมีปัจจัย ๔ เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะนั้น ไม่ยากนัก ๕. มีภิกษุที่ทรงความรู้อยู่ พอจะไต่ถามให้ท่านแก้ความสงสัยให้ได้.
ตรัสว่า ภิกษุละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ ชื่อว่าเป็นอุดมบุรุษในพระธรรมวินัยนี้ คือละนีวรณ์ ๕, ประกอบด้วยธรรมขันธ์ ๕ มีศีล เป็นต้น.๒
ตรัสแสดงสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องร้อยรัดหรือผูดมัด ) ๑๐ ประการ (ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ หน้า ๓ ) ในวรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐
ตรัสแสดงกิเลสเครื่องผูกมัดจิต ๕ และตอของจิต ๕ ( ดูหน้าพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ หน้า ๒ ) ตอของจิต ๕
ตรัสว่า บรรดาสัตว์ทุกชนิด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นยอด, บรรดากุศลธรรม ความไม่ประมาทเป็นยอด.
ตรัสว่า บุคคล ๑๐ ประเภท เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม ของโลก คือพระพุทธเจ้า, พระปัจเจกพระพุทธเจ้า, พระอริยบุคคล ๗ ประเภท ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๓ ) ใน ๒๐. กีฏาคิริสูตร โครตภู ( ผู้อยู่ในระหว่างพระอริยเจ้ากับบุถุชน ).
ตรัสแสดงนาถกรณธรรม ( ธรรมที่ทำที่พึ่ง ) ๑๐ ประการ คือ ๑. มีศีล ๒. สดับฟังมาก ๓. คบเพื่อนที่ดี ๔. ว่าง่าย รับคำสั่งสอนโดยเคารพ ๕. ช่วยเหลือกิจของเพื่อนพรหมจารี ๖. ใคร่ธรรม ๗. ปรารภความเพียร ๘. สันโดษด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ ๙. มีสติ ๑๐ มีปัญญา.
ตรัสแสดงนาถกรณธรรม ๑๐ ประการ เช่นเดิม แต่อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้า ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการแล้ว ก็ทำให้ภิกษุที่เป็นเถระ, ที่เป็นปูนกลาง, ที่บวชใหม่ ตั้งใจว่ากล่าวสั่งสอน หวังความเจริญได้ในกุศล ธรรมไม่มีเสื่อม.
ตรัสแสดงอริยวาสะ ( คุณธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะ ) ๑๐ ประการ คือ ๑. ละองค์ ๕ คือละนีวรณ์ ๕. ๒. ประกอบด้วยองค์ ๖ คือวางเฉยในอารมณ์ทั้งหกมีรูป เป็นต้น ในเมื่อได้เห็น เป็นต้น. ๓. รักษาสิ่ง เดียว คือประกอบด้วยจิตมีสติเป็นเครื่องรักษา. ๔. มีอปัสเสนะ ( พนักพิง ) ๔ คือ พิจารณาแล้วเสพ, พิจารณาแล้วอดทน, พิจารณาแล้วเว้น, พิจารณาแล้วบรรเทา. ๕. มีการยึดถือความเจริญ เฉพาะอย่างอันนำออกแล้ว ( เช่น ไม่ยึดถือว่าโลกเที่ยง เป็นต้น ) ๖. มีการแสวงหาอันสละ แล้วด้วยดี ( เช่นละการแสวงหากาม ) ๗. มีความดำริอันไม่ขุ่นมัว ๘. มีกายสังขาร ( ลมหายใจเข้าออก ) อันสงบระงับ คือเข้าฌานที่ ๔. มีจิตพ้นแล้วด้วยดี ( จากราคะ โทสะ โมหะ ). ๑๐. มีปัญญาอันพ้นแล้วด้วยดี คือรู้ว่าละกิเลสได้.
๓. ตรัสแสดงกำลัง ๑๐ ประการของพระตถาคต๓
( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ หน้า ๒) ในหัวข้อของ กำลัง ๑๐
ตรัสกะพระอานนท์ ว่า ไม่มีญาณอย่างอื่นยิ่งไปกว่ายถาภูตญาณ ( คือญาณรู้เห็น ตามความเป็นจริงในเรื่องนั้น ๆ ).
ตรัสแสดงธรรมที่ควรละด้วยกาย ( คือกายทุจจริต ), ที่ควรละด้วยวาจา ( คือ วจีทุจจริต ), ที่ควรละเพราะเห็นด้วยปัญญา ( คือความโลภ, ความคิดประทุษร้าย, ความหลง, ความโกรธ, ความผูกโกรธ, การลบหลู่บุญคุณ ท่าน, การตีเสมอ, ความตระหนี่, ความริษยา ).
พระมหาจุนทะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องภิกษุผู้กล่าวญาณวาทะ ( กล่าวถึงความรู้ ) แต่ถ้าถูกธรรม ( ๙ อย่าง มีความโลภ เป็นต้นข้างบนนี้ ) ครอบงำได้ ก็พึงทราบว่าเธอไม่รู้จริง, ภิกษุผู้กล่าวภาวนาวาทะ ( กล่าวถึงการอบรมกาย, ศีล, จิต, ปัญญา ) หรือกล่าววาทะทั้งสองอย่างข้างต้น แต่ถ้าถูกธรรมะ ( ๙ อย่างข้างบนนี้ ) ครอบงำ ก็พึงทราบ เธอได้ว่าเธอไม่รู้จริง. แต่ถ้าตรงกันข้าม คือไม่ถูกธรรมะเหล่านั้นครอบงำ ก็พึงทราบว่ารู้จริง.
ตรัสแสดงกสิณายตนะ ( แดนกสิณ คืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งล้วน ๆ ที่ใช้ในการเพ่งให้จิตสงบเป็นสมาธิ ) ๑๐ ประการ ได้แก่กสิณ คือ ๑. ดิน ๒. น้ำ ๓. ไฟ ๔. ลม ๕. สีเขียว ๖. สีเหลือง ๗. สีแดง ๘. สีขาว ๙. อากาส ( ช่องว่าง )๔ ๑๐. วิญญาณ.
พระมหากัจจานะแสดงธรรมแก่อุบาสิกาชื่อกาลี ขยายความแห่งพระพุทธ ภาษิตเรื่องการบรรลุประโยชน์ความสงบแห่งหทัย โดยอธิบายเรื่องกสิณ ๑๐.
ตรัสแสดงถึงปัญหา ( คำถาม ), อุทเทส ( บทตั้ง ), เวยยากรณ์ ( คำตอบ ) ตั้งแต่ ๑ ข้อ ๒ ข้อไปจนถึง ๑๐ ข้อ ซึ่งนักบวชศาสนาอื่นตอบให้สมบูรณ์ไม่ได้ มีแต่อึดอัดยิ่งขึ้น คือ ๑ ข้อ ได้แก่สัตว์ทั้งปวงเป็นอยู่ได้ ด้วยอาหาร. ๒ ข้อ คือนาม และรูป. ๓ ข้อ คือเวทนา. ๔ ข้อ คืออาหาร ๔ ( มีอาหารที่พึงกลืนกินเป็นคำ ๆ, อาหารคือผัสสะ ( ความถูก ต้อง ), อาหารคือเจตนา, อาหารคือวิญญาณ ). ๕ ข้อ คืออุปาทานขันธ์ ( ขันธ์หรือกองแห่งรูปนามที่คนยึดถือ ) ๕ ประการ. ๖ ข้อ คืออายตนะ ภายใน ๖ ( มีตา เป็นต้น ) ๗ ข้อ คือวิญญาณฐิติ ๗ ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ หน้า ๑ ) ในหมายเลขที่ ๕ ๘ ข้อ คือโลกธรรม ๘ ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ หน้า ๒ ) ในหมายเลขที่ ๑ ๙ ข้อ คือสัตตาวาส ๙ ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ หน้า ๓ ) ในหมายเลขที่ ๓ ๑๐ ข้อ คืออกุศลกรรมบท ๑๐ ( กายทุจจริต ๓, วจีทุจจริต ๔, มโนทุจจริต ๓ ).
นางภิษุณีชาวเมืองกชังคละ แสดงธรรมแก่พวกอุบาสกชาวเมืองกชังคละใน ทำนองเดียวกับเรื่องปัญหา ๑๐ ข้อข้างต้น. พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ตรัสชมเชย.
ตรัสว่าอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จึงไม่ต้องกล่าว ถึงในสิ่งที่เลว. แล้วตรัสแสดงโลกพันโลก มีพระจันทร์พระอาทิตย์ถึงพัน ซึ่งท้าวมหาพรหมเป็นเลิศ อริยสาวกผู้ได้สดับก็ยังเบื่อหน่ายคลาย กำหนัดในสิ่งที่เลิศนั้น. แล้วได้ตรัสถึงธรรมอื่น ๆ อันพ้องกับที่เคยตรัสมาแล้ว เช่น กสิณายตนะ ๑๐ อภิภายตนะ ๘ เป็นต้น. ในที่สุดได้ตรัส แสดงนิพพานในปัจจุบันตามหลักพระพุทธศาสนา.
พระเจ้าปเสนทิโกศล กราบทูลสรรเสริญพระผู้มีพระภาค ๑๐ ข้อ คือทรง เห็นว่าพระผู้มีพระภาค ๑. ทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์ความสุขแก่ชนเป็นอันมาก ๒. ทรงมีศีล ๓. ทรงเสพเสนาสนะอันสงัด. ๔. ทรงสันโดษ ด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ ๕. ทรงเป็นผู้คำนวนของคำนับ จนถึงทรงเป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ๖. ทรงมีถ้อยคำขัดเกลากิเลส ๗. ทรงได้ฌาน ๔ ตามปรารถนา ๗. ทรงระลึกชาติได้ ๙. ทรงมีทิพจักษุ ๑๐. ทรงทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน ทรงเห็นเหตุเหล่านี้ จึงทรงแสดงความเคารพ และตั้งความปปรารถนาดีในพระผู้มีพระภาค.
๔. ตรัสแสดงอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการในการที่ทรงบัญญัติสิกขาบท
ดูหน้าพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๘ ) ชื่อปริวาร ในหมายเลข ๙ และเรื่องทางพระวินัยอื่น ๆเช่น การชักเข้าหา อาบัติเดิม จนถึงสังฆเภท สังฆสามัคคี เป็นการตรัสชี้แจงแก่พระอุบาลี พ้องกับที่มีอยู่แล้วในวินัยปิฎก.
๕. ตรัสเรื่องเหตุปัจจัยที่ให้เกิดการทะเลาะวิวาทในสงฆ์
มีการแสดงสิ่งมิใช่ธรรมว่าเป็นธรรม เป็นต้น. และตรัสว่า เหตุเหล่านี้เป็นมูลแห่งการวิวาท และเรื่องอื่น ๆ ที่ปรากฏว่าย่อมาแล้วใน วินัยปิฎก.
ตรัสแสดงโทษ ๑๐ ประการในการเข้าสู่ภายในพระราชวัง คืออาจทำให้เป็นที่ สงสัยเมื่อยิ้มกับพระมเหสี, ถูกสงสัยเกี่ยวกับของหาย, เกี่ยวกับความลับรั่วไหล เป็นต้น.
ตรัสว่า ผู้มีรายได้ วันละ ๑ กหาปณะ ถึงวันละพันกหาปณะเก็บทรัพย์ที่ได้มานั้น ไว้ มีอายุ ๑๐๐ ปี ก็อาจมีกองโถคทรัพย์ใหญ่ได้ แต่ที่จะเสวยสุขโดยส่วนเดียว อันมีทรัพย์เป็นเหตุสักคืนหนึ่ง วันหนึ่ง หรือครึ่งวัน ก็ยังไม่แน่ เพราะกามเป็นของไม่เที่ยง ส่วนสาวกของพระองค์ไม่ประมาท บำเพ็ญ ๑๐ ปี ๙ ปี หรือ ๑๐ เดือน ๙ เดือน ถึง ๑ เดือน หรือ ๑๐ ทิวาราตรี ถึง ๑ ทิวาราตรี ก็พึงได้ประสบสุขโดยส่วนเดียว ถึงร้อยปี แสนปี ล้านปี และได้เป็นสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระโสดาบัน.
ตรัสว่า โลภะ, โทสะ, โมหะ, อโยนิโสมนสิการ ( การไม่ใส่ใจโดยแยบคาย ) เป็นปัจจัยแห่งการกระทำบาปกรรม ส่วนอโลภะ เป็นต้น เป็นปัจจัยแห่งการกระทำกัลยาณกรรม.
ตรัสแสดงธรรมะ ๑๐ อย่างที่บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ คือ ๑. เรามีเพศ ต่างจากคฤหัสถ์แล้ว ๒. ชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ๓. ยังมีกิริยาอาการที่ดีงามอย่างอื่นอีกที่ต้องทำ ๔. เราติตนเองโดยศีลได้หรือไม่ ๕. ผู้รู้ พิจารณาแล้วติเราโดยศีลได้หรือไม่ ๖. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบทั้งสิ้น ๗. เรามีกรรมเป็นของตัว จักเป็นผู้รับผลของกรรมดีชั่ว ที่ทำไว้ ๘. วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ๙. เรายินดีในเรือนว่างหรือไม่ ๑๐. เราได้บรรลุธรรมอันยิ่งของมนุษย์หรือไม่.
ตรัสว่า บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ถึงธรรม ๑๐ อย่างที่ตั้งอยู่ในร่าง คือหนาว, ร้อน, หิว, ระหาย, ปวดอุจจาระ, ปัสสาวะ, ความสำรวมกาย, ความสำรวมวาจา, ความสำรวมใจ, เครื่องปรุงภพที่ทำให้เกิดอีก.
ตรัสแสดงสาราณิยธรรม ( ธรรมอันทำให้ระลึกถึงกัน ) ๑๐ ประการ ในทำนองเดียวกับนาถกรณธรรม ( ดูในหมายเลขที่ ๒ มีศีล เป็นต้น ).
________________________________________
'๑' . ความจริงเป็นข้อความอันเดียวกับที่กล่าวไว้ ( ในหน้าเล่มที่ ๑๕ หน้า ๒ . ชุมนุมธรรมะที่มี ๘ ข้อ ในวรรคที่ไม่จัดเข้าใน หมวดที่ ๕๐ที่หมายเลข ๓ ) เป็นแต่ในที่นี้เพิ่มคุณธรรมขึ้นอีก ๒ ข้อ และเรียงข้อความอีกสำนวนหนึ่งให้พิสดารขึ้นกว่าเดิม
'๒' . ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ หน้า ๑ หมวด ๕๐ ที่ ๑ หมายเลขที่ ๒. และเชิงอรรถ ( ที่มีเขียนอธิบายไว้ด้านล่าง แล้วด้วย )
'๓' . โปรดดูข้อความเปรียบเทียบ หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ หน้า ๑ หมวด ๕๐ ที่ ๑ หมายเลขที่ ๒.( กำลังของพระตถาคต ๕ ) และ เล่มที่ ๑๔ หน้า ๓ หมวด ๕๐ ที่ ๒ หมายเลขที่ ๒.( กำลังของพระตถาคต ๖ ) และดูธรรม วิภาคปริเฉทที่ ๒ พร้อมทั้งคำอธิบายในหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๑๗๔-๑๗๕ ประกอบด้วย
'๔' . คำว่า อากาสในที่นี้ หมายถึงช่องว่าง หรือ อวกาศ ( Space ) ไม่ได้หมายความถึงแก๊ส อย่างที่เข้าใจกันในทาง วิทยาศาสตร์ เพราะแก๊สเหล่านั้นจัดเข้าในลมไปแล้ว ตามความหมายทางพระพุทธศาสนา
ทสกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑๐ ข้อ
ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒
( หมวดนี้มี ๕ วรรค ๆ ที่ ๑. ชื่อสจิตตวรรค ว่าด้วยจิตของตน, วรรคที่ ๒ ชื่อยมกวรรก ว่าด้วยธรรม ที่เป็นคู่, วรรคที่ ๓ ชื่ออากังขวรรค ว่าด้วยความหวัง, วรรคที่ ๔ ชื่อเถรวรรค ว่าด้วยพระเถระต่าง ๆ, วรรคที่ ๕ ชื่ออุปาสกวรรค ว่าด้วย อุบาสก ).
๑. ตรัสว่า ถ้าภิกษุไม่ฉลาดในเรื่องจิตของคนอื่น ก็ควรฉลาดในเรื่องจิตของตน
( ดูที่แปลไว้แล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก ) หมายเลข ๗๗-๗๘
และตรัสว่า ไม่ทรงสรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรม ( ดูหน้า ข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๗๖. พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรม
และตรัสเรื่องควรฉลาดในเรื่องจิตของตนอีกนัยหนึ่ง ( ดูหน้าข้อความน่ารู้จาก ไตรปิฎก ) หมายเลข ๗๘. ฉลาดในเรื่องจิตของตนอีกอย่างหนึ่ง
ตรัสถึง ปัจจัย ๔, คามนิคม, ชนบท, ประเทศ, บุคคลว่า มี ๒ อย่าง คือที่ควรเสพ และไม่ควรเสพ โดยมีเหตุผลว่า ถ้าเสพเข้า อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ก็ไม่ควรเสพ ถ้าอกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญ ก็ควรเสพ.
พระสาริบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องบุคคลผู้มีธรรมอันเสื่อมและ ไม่เสื่อม และเรื่องควรฉลาดในเรื่องจิตของตน.
ตรัสแสดงสัญญา ( ความกำหนดหมาย ) ๑๐ ประการ คือความกำหนดหมาย ว่าไม่งาม, ความกำหนดหมายในความตาย, ความกำหนดหมายว่าน่าเกลียดในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง, ว่าไม่เที่ยง, ว่าเป็นทุกข์ใน สิ่งที่ไม่เที่ยง, ว่าไม่ใช่ตนในสิ่งที่เป็นทุกข์, ความกำหนดหมายในการละ, ในการคลายความกำหนัด, ในการดับ.
และตรัสความกำหนดหมาย ๑๐ ประการอื่นอีก คือความกำหนดหมายว่าไม่ เที่ยง, ว่าไม่ใช่ตน, ความกำหนดหมายในความตาย, ความกำหนดหมายว่าน่าเกลียดในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง, ความกำหนดหมาย ในกระดูก, ในซากศพที่มีหนอนไต่, ในซากศพที่มีสีเขียว, ในซากศพที่ขาดเป็นท่อน, ในซากศพที่ขึ้นพอง.
ตรัสว่า ธรรมทั้งปวงมีฉันทะ ( ความพอใจ ) เป็นมูล เป็นต้น ( ดูที่แปล ไว้แล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๗๙. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นอะไร ? แล้วได้ตรัสสรูปสอนให้ สำเหนียกว่า จิตของเรา ๑. จักได้รับอบรมโดยควรแก่การบวช ๒. จักไม่ถูกอกุศลบาปธรรมครอบงำ ๓. จักได้รับอบรมด้วยความกำหนด หมายว่าไม่เที่ยง ๔. จักได้รับอบรมด้วยความกำหนดหมายว่าไม่ใช่ตัวตน ๕. จักได้รับอบรมด้วยความกำหนดหมายว่าไม่งาม ๖. จักได้รับ อบรมด้วยความกำหนดหมายถึงโทษ ๗. จักได้รับอบรมด้วยความกำหนดหมายที่รู้ถึงความเสมอไม่เสมอแห่งโลก ๘. จักได้รับอบรมด้วยความ กำหนดหมายที่รู้ถึงความมีความเป็น ความไม่มีไม่เป็นแห่งโลก ๙. จักได้รับอบรมด้วยความกำหนดหมายที่รู้ถึงความเกิดขึ้น ความดับไปแห่ง โลก ๑๐. จักได้รับอบรมด้วยความกำหนดหมายถึงการละ ๑๑. จักได้รับอบรมด้วยความกำหนดหมายถึงความคลายกำหนัด ๑๒. จักได้รับ อบรมด้วยความกำหนดหมายถึงความดับ. เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็หวังผลได้ ๒ อย่าง, อย่างใดอย่างหนึ่ง คืออรหัตตผลในปัจจุบัน หรือถ้ายังมีกิเลส เหลือก็คือ ความเป็นพระอนาคามี.
ตรัสแสดงธรรมแก่พระคิริมานนท์ ผู้เป็นไข้ โดยสอนให้พระอานนท์จำไปบอก เรื่องสัญญา ๑๐ ประการ คือ ๑. อนิจจสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง ) ๒. อนัตตสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่ใช่ตัวตน ) ๓. อสุภสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่งาม ) ๔. อาทีนวสัญญา ( ความกำหนดหมายถึงโทษของกาย ) ๕. ปหานสัญญา ( ความกำหนดหมาย ถึงการละอกุศลวิตก ). ๖. วิราคสัญญา ( ความกำหนดหมายถึงความคลายกำหนัด ) ๗. นิโรธสัญญา ( ความกำหนดหมายถึงความดับสังขาร และกิเลสทั้งปวง ) ๘. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ) ๙. สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา ( ความ กำหนดหมายว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง )๑ ๑๐. อานาปานสติ ( สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ).
๒. ตรัสว่า ที่สุดเบื้องต้นของอวิชชาไม่ปรากฏ
ว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีอวิชชา อวิชชามามีขึ้นในภายหลัง แต่ก็ปรากฏขึ้นเพราะมีปัจจัย เรากล่าวว่า อวิชชามีอาหาร นีวรณ์ ๕ เป็นอาหาร ของอวิชชา. ครั้นแล้วได้ตรัสแสดงธรรมะอื่น ๆ ที่เป็นอาหารของนีวรณ์ และของสิ่งที่เป็นอาหารของนีวรณ์ต่อ ๆ ไปอีกเป็นลูกโซ่ คือทุจจริต ๓, การไม่สำรวมอินทรีย์, การไม่มีสติสัมปชัญญะ, การไม่ใส่ใจโดยแยบคาย, ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา, การไม่ฟังธรรม, การไม่คบสัตบุรุษ, ฝ่ายดีคือวิชชาวิมุติ มีโพชฌงค์ ๗ เป็นอาหาร, โพชฌงค์ ๗ มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นอาหาร โดยนัยนี้ได้แสดงสุจริต ๓. อินทรียสังวร, โยนิโสมน- สิการ จนถึงการคบสัตบุรุษว่า เป็นอาหารของธรรมะที่มาข้างหน้าตนโดยลำดับ.
ตรัสเรื่องที่สุดเบื้องต้นของภวตัณหา ( ความทะยานอยากในความมีความเป็น ) ในทำนองเดียวกับอวิชชา. ฝ่ายดีเริ่มต้นด้วยวิชชาวิมุติเช่นเดิม.
ตรัสว่า ผู้ถึงความตกลงใจ ( หมดความสงสัย ) ในพระองค์ ชื่อว่าผู้สมบูรณ์ด้วย ทิฏฐิ มี ๕ พวกที่ปรินิพพานในโลกนี้ คือพระโสดาบันพวกเกิด ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง, พวกเกิดจากสกุลสู่สกุล ( เกิด ๒-๓ ชาติ ), พวกเกิด ชาติเดียว, พระสกทาคามี, ท่านผู้เป็นพระอรหันต์ในปัจจุบัน, มี ๕ พวก ละโลกนี้ไปแล้วจึงนิพพาน คือพระอนาคามี ๕ ประเภท ( ดูหน้า พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ หน้า ๔ ) ทุติยปัณณสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒.ในหมายเลข ๔
ตรัสแสดงผู้เลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระองค์ว่า เป็นโสดาบัน และแบ่งเป็น ๕ พวก ๒ ประเภทเช่นข้างต้น.
พระสาริบุตร ตอบคำถามของสามัณฑกานิปริพพาชกบุตร ว่า ความเกิดเป็น ทุกข์ ความไม่เกิดเป็นสุข ที่ว่าเป็นทุกข์เพราะ หวังได้ถึงทุกข์ อื่น ๆ คือ เย็น, ร้อน, หิว, ระหาย, ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น. และได้ แสดงถึงความไม่ยินดี ( อนภิรตี ) ว่า เป็นทุกข์ในพระธรรมวินัยนี้ ส่วนความยินดี ( พอใจตามมีตามได้ ) เป็นสุขในพระธรรมวินัยนี้.
พระผู้มีพระภาคตรัสสั่งให้พระสาริบุตรแสดงธรรมแทน พระองค์ทรงพักผ่อน พระสาริบุตรได้แสดงถึงว่า ถ้าไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ก็จะไม่มีหิริและธรรมะข้อต่อ ๆ ไปโดยลำดับ คือโอตตัปปะ, วิริยะ, ปัญญา, ทำให้มีความเสื่อมในกุศลธรรม : ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา, ไม่ละอาย, ไม่เกรงกลัวต่อบาป, เกรียจคร้าน, มีปัญญาทราม, มักโกรธ, ผูกโกรธ, มีความปรารถนาลามก, คบคนชั่วเป็นมิตร, มีความเห็นผิด ฝ่ายดีคือตรงกันข้าม. พระผู้มีพระภาคตรัสรับรองและชมเชย.
พระสาริบุตรสอนภิกษุทั้งหลาย คล้ายกับที่กล่าวไว้แล้ว เป็นแต่ยักย้ายใน เล็กน้อย.
ตรัสสอนให้พูดอิงอาศัยกถาวัตถุ ( เรื่องที่ควรพูด ) ๑๐ ประการ คือ ถ้อยคำเรื่องมักน้อย, สันโดษ, สงัด, ไม่คลุกคลี, ปรารภความเพียร, ศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุตติ, วิมุตติญาณทัสสนะ.
๓. ตรัสสอนให้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยปาฏิโมกข์
ถ้าเธอหวังดังต่อไปนี้ ก็พึงทำให้บริบูรณ์ในศีล. ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความสงบแห่งจิต ( เจโตสมถะ ) ในภายใน ไม่ว่างเว้นจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เจริญการอยู่เรือนว่าง คือ ๑. หวังให้เป็นที่รักที่พอใจของเพื่อนพรหมจารี ๒. หวังได้ปัจจัย ๔ ๓. หวังให้มีผลมาก มีอานิสงส์มากแก่ผู้ถวายปัจจัย ๔ ๔.หวังให้มีผลมาก มีอานิสงส์มากแก่ญาติสายโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้ว มีจิตเลื่อมใสระลึกถึง ๕. หวังสันโดษ ด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ ๖. หวังอดทนต่อเย็น ร้อน หิว ระหาย สัมผัสเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เสือกคลาน ถ้อยคำที่ไม่เป็นที่พอใจและ ทุกขเวทนากล้า ๗. หวังอดทนต่อความไม่ยินดีและความยินดีมิให้มาครอบงำได้ ๘. หวังอดทนต่อความหวาดกลัว ๙. หวังได้ฌาน ๔ โดย ไม่ยาก ๑๐. หวังทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน. ( หมายเหตุ : ถอดความว่า ถ้าหวังอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งหมด ๑๐ ข้อนี้ ก็พึงทำให้บริบูรณ์ในศีล เจริญสมาธิ บำเพ็ญวิปัสสนา คือทำปัญญาให้เกิด ).
ตรัสแสดงสิ่งที่เป็นเสี้ยนหนาม ๑๐ ประการ คือ ๑.ความคลุกคลีด้วยหมู่เป็น เสี้ยนหนามของผู้ยินดีความสงัด ๒. การประกอบเนือง ๆ ซึ่งนิมิตว่างามเป็นเสี้ยนหนามของผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งนิมิตว่าไม่งาม ๓. การดู การเล่นเป็นเสี้ยนหนามของผู้สำรวมอินทรีย์ ๔. การเที่ยวไปใกล้มาตุคามเป็นเสี้ยนหนามของพรหมจรรย์ ๕. เสียงเป็นเสี้ยนหนามฌานที่ ๑ ๖. วิตก วิจาร ( ความตรึก ความตรอง ) เป็นเสี้ยนหนามของฌานที่ ๒ ๗. ปีติ ( ความอิ่มใจ ) เป็นเสี้ยนหนามของฌานที่ ๓ ๘. ลมหายใจ เข้าออกเป็นเสี้ยนหนามของฌานที่ ๔ ๙. สัญญา และเวทนา ( ความกำหนดหมาย และความรู้สึกอารมณ์ว่าสุขทุกข์ เป็นต้น ) เป็นเสี้ยนหนาม แห่งการเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ๑๐. ราคะ โทสะ ( ความกำหนัดยินดี ความคิดประทุษร้าย ) เป็นเสี้ยนหนาม ( ทั่ว ๆ ไป ).
ตรัสว่า ธรรม ๑๐ ประการที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ แต่หาได้ยากในโลก คือ ๑. ทรัพย์ ๒. ผิวพรรณ ๓. ความไม่มีโรค ๔. ศีล ๕. พรหมจรรย์ ( การประพฤติเหมือนพรหม คือเว้นจากกาม ) ๖. มิตร ๗. การสดับตรับฟังมาก ๘. ปัญญา ๙. ธรรมะ๒ ๑๐. สัตว์ ( น่าจะหมายถึงคนที่ถูกใจ ).
ตรัสอันตราย ๑๐ ประการ แห่งสิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ คือ ๑. ความ เกียจคร้าน เป็นอันตรายแห่งทรัพย์ ๒. การไม่ประดับตกแต่งเป็นอันตรายแห่งผิวพรรณ ๓. การทำสิ่งที่แสลงเป็นอันตรายแห่งความไม่มีโรค ๔. คบคนชั่วเป็นมิตรเป็นอันตรายแห่งศีล ๕. การไม่สำรวมอินทรีย์เป็นอันตรายของพรหมจรรย์ ๖. การพูดขัดเป็นอันตรายของมิตร ๗. การไม่ ท่องบ่นเป็นอันตรายแห่งการสดับตรับฟังมาก ๘. การไม่ตั้งใจฟัง ไม่ไต่ถามเป็นอันตรายแห่งปัญญา ๙. การไม่ประกอบเนือง ๆ การไม่พิจารณา เป็นอันตรายแห่งธรรม ๑๐. การปฏิบัติผิดเป็นอันตรายแห่งสัตว์. ส่วนอาหาร ( เครื่องสืบต่อหล่อเลี้ยง ) แห่งธรรม ๑๐ ประการ พึงทราบโดย นัยตรงกันข้าม. ( หมายเหตุ : ในข้อที่ว่าด้วยอันตราย พระไตรปิฎกฉบับไทยพิมพ์ตกตั้งแต่ข้อ ๒ ถึงข้อ ๖ รวม ๕ ข้อ. ส่วนในข้อว่า ด้วยอาหารไม่ตกหล่น ).
ตรัสแสดงความเจริญ ๑๐ ประการ ที่ทำให้อริยสาวกชื่อว่าเจริญด้วยความเจริญอัน ประเสริฐ คือ ๑. นา, สวน ๒. ทรัพย์, ข้าวเปลือก ๓. บุตร, ภริยา ๔. ทาส, กรรมกร ๕. สัตว์ ๔ เท้า ๖. ศรัทธา ๗. ศีล ๘. การสดับตรับฟัง ๙. การสละ ๑๐. ปัญญา.
ตรัสแสดงบุคคล ๑๐ ประเภท คือ ๑๐. ทุศีล ปฏิบัติมีแต่เสื่อม ๒. ทุศีล แต่กลับ ตัวได้ ( ละทุศีลได้ ) ปฏิบัติก้าวหน้า ๓. มีศีล ปฏิบัติมีแต่เสื่อม ๔. มีศีล ปฏิบัติก้าวหน้า ๕. มีราคะกล้า ปฏิบัติมีแต่เสื่อม ๖. มีราคะกล้า ราคะดับไม่เหลือ ปฏิบัติก้าวหน้า ๗. มักโกรธ ปฏิบัติมีแต่เสื่อม ๘. มักโกรธ ความโกรธดับไม่เหลือ ปฏิบัติก้าวหน้า ๙. ฟุ้งสร้าน ปฏิบัติ มีแต่เสื่อม ๑๐. ฟุ้งสร้าน ความฟุ้งสร้านดับไม่เหลือ ปฏิบัติก้าวหน้า ( ตรัสแสดงแก่พระอานนท์เพื่อแก้ข้อข้องใจของมิคสาลาอุบาสิกาอย่างเดียว กับที่ปรากฏหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ หน้า ๕ ) ปัญจมปัณณสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๕ ในหมายเลข ๕ เป็นแต่ในที่นี้เพิ่มข้อธรรม มากขึ้น .
๑. ตรัสว่า ถ้าไม่มีธรรม ๓ อย่างในโลก คือความเกิด ความแก่ ความตาย ก็จะไม่เกิดพระตถาตคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลก และพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศดีแล้ว ก็จะไม่รุ่งเรืองใน โลก.
๒. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไม่ได้ คือราคะ, โทสะ, โมหะ ก็ไม่ควรที่จะละความเกิด, ความแก่, ความตายได้.
๓. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไม่ได้ คือสักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส๓ ก็ไม่ควรที่จะละ ราคะ, โทสะ, โมหะได้.
๔. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไปไม่ได้ คือการไม่ใส่ใจโดย แยบคาย, การเสพทางผิด, การที่จิตหดหู่ ก็ไม่ควรจะละสักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาสได้.
๕. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไม่ได้ คือความเป็นผู้หลงลืม สติ, ความไม่มีสัมปชัญญะ, ความฟุ้งสร้านแห่งจิต ก็ไม่ควรจะละการไม่ใส่ใจโดยแยบคาย, การเสพทางผิด, การที่จิตหดหู่ได้.
๖. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไม่ได้ คือความเป็นผู้ไม่ใคร่ จะเห็นพระอริยะ, ความเป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของพระอริยะ, ความเป็นผู้มีจิตคิดจับผิด ก็ไม่ควรจะละความเป็นผู้หลงลืมสติ, ความไม่มีสติสัมปชัญญะ, ความฟุ้งสร้านแห่งจิตได้.
๗. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไม่ได้ คือความฟุ้งสร้าน, ความไม่สำรวม, ความทุศีล ก็ไม่ควรละความเป็นผู้ไม่ใคร่จะเห็นพระอริยะ, ความเป็นผู้ไม่ใคร่จะฟังธรรมะของพระอริยะ, ความเป็นผู้มีจิต คิดจับผิดได้.
๘. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไม่ได้ คือความไม่ศรัทธา, ความไม่รู้คำที่คนอื่นพูด, ความเกียจคร้าน ก็ไม่ควรจะละความฟุ้งสร้าน, ความไม่สำรวม, ความทุศีลได้.
๙. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไม่ได้ คือความไม่เอื้อเฟื้อ, ความว่ายาก, การคบคนชั่วเป็นมิตร ก็ไม่ควรจะละความไม่มีศรัทธา, ความไม่รู้คำที่คนอื่นพูด, ความเกียจคร้านได้.
๑๐. ตรัสว่า ละธรรม ๓ อย่างไม่ได้ คือความไม่ละอาย, ความไม่เกรงกลัวต่อบาป, ความประมาท ก็ไม่ควรจะละความไม่เอื้อเฟื้อ, ความว่ายาก, การคบคนชั่วเป็นมิตรได้.
ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยอสัทธรรม ๑๐ อย่าง เป็นผู้เช่นเดียวกับกา คือ ทำลายความดีของผู้อื่น, คะนอง, ทะยานอยาก, กินมาก, ละโมภ, ไม่กรุณา, ไม่มีกำลัง, ส่งเสียงเอ็ดอึง,๔ หลงลืมสติ, ทำการสะสม.
ตรัสแสดงอสัทธรรมของพวกนิครนถ์ และเรื่องเกี่ยวกับความอาฆาต ( เรื่อง เกี่ยวกับความอาฆาต โปรดดูที่แปลไว้แล้ว หน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๗๔. ที่ตั้งแห่งความอาฆาต ๑๐ อย่าง
๔. ตรัสว่า พระตถาคตพ้นจากธรรม ๑๐ อย่าง
คือขันธ์ ๕, ชาติ, ชรา, มรณะ, ทุกข์, กิเลส เปรียบเหมือนดอกบัวเกิดในน้ำ โผล่พ้นน้ำ ไม่เปียกน้ำ.
ตรัสกะพรพอานนท์ ว่า เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลต่อไปนี้จะถึงความเจริญไพบูรณ์ ในพระธรรมวินัยนี้ คือไม่มีศรัทธา, ทุศีล, สดับน้อย, ว่ายาก, คบคนชั่วเป็นมิตร, เกียจคร้าน, หลงลืมสติ, ไม่สันโดษ, มีความปรารถนาลามก, เห็นผิด แต่ถ้าตรงกันข้ามก็เป็นไปได้. ตรัสแสดงเหตุที่พระธรรมเมศนาของพระตถาคตบางครั้งก็แจ่มแจ้ง บางครั้งก็ไม่แจ่มแจ้ง ( แก่คนบาง คน ) เพราะมีศรัทธา, แต่ไม่เข้าไปหา, ไม่เข้าไปนั่งใกล้, ไม่ไต่ถาม, ไม่เงี่ยโสตฟังธรรม, ไม่ทรงจำธรรม, ไม่พิจารณาอรรถแห่งธรรม, ไม่รู้ อรรถรู้ธรรม แล้วปฏิบัติธรรมดาตามความสมควรแก่ธรรม, ไม่มีวาจาไพเราะ, ไม่แนะนำชักชวนปลุกใจปลอบใจเพื่อนพรหมจารี ( เพียงข้อใด ข้อหนึ่งก็ทำให้พระธรรมเทศนาไม่แจ่มแจ้ง ) ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.
พระมหาโมคคัลลานะแสดงธรรม ๑๐ อย่าง ว่า เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่ พระตถาคตประกาศแล้ว คือมักโกรธ, ผูกโกรธ, หลบหลู่บุญคุณท่าน, ตีเสมอ, ริษยา, ตรัหนี่, โอ้อวด, มีมายา, ปรารถนาลามก, หลงลืมสติ.
พระมหาจุนทะแสดงธรรม ๑๐ อย่าง ( มีความเป็นผู้ทุศีล ไม่มีศรัทธา เป็นต้น ) ว่า เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว.
พระมหากัสสปะแสดงธรรม ๑๐ อย่าง ( นีวรณ์ ๕, ยินดีในการงาน, ในการพูด มาก, ในการหลับ, ในการคลุกคลีด้วยหมู่, หลงลืมสติ ) ว่า เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว.
ตรัสแสดงธรรมที่เป็นไปเพื่อไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่เคารพ ไม่เป็นที่สรรเสริญ ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือก่ออธิกรณ์, ไม่ใคร่การศึกษา, ปรารถนาลามก, มักโกรธ, ลบหลู่บุญคุณท่าน, โอ้อวด, มีมายา, ไม่พิจารณา, ไม่หลีกเร้น, ไม่ต้อนรับเพื่อนพรหมจารี. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม. ตรัสว่า ผู้ด่าผู้บริภาษเพื่อนพรหมจารี ผู้ว่าร้ายพระอริยะ ย่อมถึง ความพินาศ ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือไม่บรรลุคุณที่ยังมิได้บรรลุ, เสื่อมจากคุณที่บรรลุแล้ว, พระสัทธรรมไม่ผ่องแผ้ว, เข้าใจผิดว่าได้ บรรลุในพระสัทธรรม, ไม่มีความยินดีประพฤติพรหมจรรย์, ต้องอาบัติชั่วหยาบอย่างใดอย่างหนึ่ง, ถูกต้องโรคาพาธอันหนัก, จิตฟุ้งสร้าน เป็นบ้า, หลงตาย, ตายแล้วเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก.
มีเรื่องเล่าว่า พระโกกาสิกะ๕ กล่าวว่าพระสาริบุตร และพระโมคคัลลานะว่ามีความปรารถนาลามก พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามปรามถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่ฟัง ต่อมาไม่ช้าก็เป็น โรคพุพอง มีแผลใหญ่ขึ้นทุกที่ จนถึงต้องนอนบนใบตอง มีน้ำเหลืองและโลหิตไหลคล้ายปลาที่ถูกขอดเกล็ด ในที่สุดก็ทำกาละด้วยอาพาธนั้น และไปเกิดในปทุมนรก.
พระสาริบุตรกราบทูลเรื่องกำลังของ พระขีณาสพ ๑๐ ประการ ( ดูกำลัง ๘ หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ หน้า ๒ ) ในข้อที่ ๓. อุคคคฤหบดีชาวกรุงเวสาลี เพิ่มเจริญสัมมัปปธาน ( ความเพียรชอบ ) ๔ และเจริญพละ ( กำลัง ) ๕ อีก ๒ ข้อ ).
๕. ตรัสแสดงถึงผู้บริโภคกาม ๑๐ ประการ
๑. แสวงหาทรัพย์มาได้โดยผิดธรรม ไม่ทำตัวเองให้เป็นสุข ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ ๒. ทำตัวเองให้เป็นสุข แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ ๓.ทำตัวเองให้เป็นสุข แจกจ่าย ทำบุญ ๔. แสวงหาทรัพย์มาได้โดยชอบธรรมบ้าง ผิดธรรมบ้าง ไม่ทำตัวให้เป็นสุข ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ ๕.ทำตัวเองให้เป็นสุข แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ ๖. ทำตัวเองให้เป็นสุข แจกจ่าย ทำบุญ ๗. แสวงหาทรัพย์มาได้โดยชอบธรรม ไม่ทำตัวเองให้ เป็นสุข ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ ๘. ทำตัวเองให้เป็นสุข แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ ๙. ทำตัวเองให้เป็นสุข แจกจ่าย ทำบุญ และติดไม่เห็นโทษ ในทรัพย์นั้น ๑๐. ทำตัวเองให้เป็นสุข แจกจ่าย ทำบุญ แต่ไม่ติดและเห็นโทษในทรัพย์นั้น แล้วตรัสชี้ถึงบุคคลแต่ละประเภทเหล่านั้นว่า ประเภทไหนถูกติเตียนกี่ทาง ควรสรรเสริญกี่ทาง.
ตรัสแสดงธรรมแก่อนาถปิณฑิกคฤหบดี ว่า อริยสาวกที่สงบเวร ๕ ได้ ประกอบด้วยองค์แห่งพระโสดาบัน ๔ ได้เห็นญายธรรม ( ธรรมที่ถุกต้อง ) ด้วยดี ด้วยปัญญา๖ เมื่อปรารถนาก็พึงพยากรณ์ตนเองได้ สิ้นนรก เป็นต้น จนถึงพระโสดาบัน เที่ยงที่จะได้ตรัสรู้ต่อไป.
อนาถปิณฑิกคฤหบดีโต้ตอบกับพวกปริพพาชกถึงทิฏฐิ ๑๐ ประการที่พวกเขา ยืนยัน เช่น โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยงว่า ความเห็นนั้น ๆ ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ( คือทนอยู่ไม่ได้ ).
วัชชิยมาหิตคฤหบดีโต้ตอบกับพวกปริพพาชก ถึงเรื่องการบำเพ็ญตบะ ว่า พระผู้มีพระภาคทรงติสิ่งที่ควรติ สรรเสริญสิ่งที่ควรสรรเสริญ ทรงเป็นผู้ตรัสจำแนก ( ตามเหตุผล ) ไม่ตรัสแง่เดียว.
อุตติยปริพพาชก เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถามถึงเรื่องทิฏฐิ ๑๐ มีเรื่องโลกเที่ยง เป็นต้น ตรัสตอบว่า พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิแต่ละข้อเหล่านั้น พระอานนท์จึงชี้แจงเหตุผลที่ไม่ทรงพยากรณ์ให้ฟัง.
พระอานนท์โต้ตอบกับโกกนุทปริพพาชก ถึงเรื่องทิฏฐิ ๑๐ ประการในทำนอง คล้ายคลึงกัน.
ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรของคำนับ จนถึงเป็น เนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คือมีศีล, สดับมาก, คบเพื่อนที่ดี, มีความเห็นชอบ, ได้อภิญญา ๖ ( มีแสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น ).
ตรัสว่า ภิกษุผู้เป็นเถระ ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ อยู่ในทิศใด ๆ ก็มี ความผาสุกในทิศนั้น ๆ คือเป็นพระเถระรู้ราตรีนาน, มีศีล, สดับมาก, ฉลาดในการระงับอธิกรณ์, ใคร่ธรรม, สันโดษด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตาม ได้, น่าเลื่อมใสในการก้าวไปถอยกลับ, สำรวมด้วยดีเมื่อนั่งในบ้าน, ได้ฌาน ๔ ตามปรารถนา, ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ อยู่ในปัจจุบัน.
ตรัสแสดงธรรมแก่พระอุบาลี ถึงเรื่องเสนาสนะป่าอันสงัด ยากที่จะมีผู้ยินดี แล้ว ตรัสแสดงถึงการที่กุลบุตรค่อยเลื่อนชั้นการปฏิบัติ จนถึงได้สัญญาเวทยิตนิโรธ ( เค้าความเดียวกับสามัญญผลสูตร หน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ) ความเห็นปรารภเบื้องปลาย ๔๔
และตรัสเองยังละธรรม ๑๐ อย่างไม่ได้ ไม่ควรทำให้แจ้งอรหัตตผล ( ดูหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก ) หมายเลข ๘๐. ละธรรม ๑๐ อย่างไม่ได้ยังไม่ควรเป็นพระอรหันต์
________________________________________
'๑' . พ้องกับข้อ ๑ น่าจะเป็น อนิจฉสัญญา ความกำหนดหมายว่าไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง เพราะพระพุทธ ภาษิตนี้อธิบายก็ว่า เบื่อหน่าย, รำคาญ, เกลียดชัง
'๒' . อรรถกถาแก้ว่า โลกุตตรธรรม ๙ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑
'๓' . ดูคำอธิบายในเชิงอรรถ หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ หน้า ๔ ( ซึ่งได้กล่าวอธิบายไว้ว่า สัญโญชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน วิจิกิจฉา ความสงสัยในพระรัตนตรัยและสีลัพพตปรามาส การลูบคลำศีลและพรต คือถือโชคลาง หรือติดในลัทธิพิธี
'๔' . โอรวี, โอรวิตา อรรถกถาแก้ไว้ไม่ชัด
'๕' . พระโกกาลิกะ เป็นพระพวกเดียวกับพระเทวทัต
'๖' . ในภาคอธิบายตรัสแสดงการตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท คือความเกิดขึ้นหรือความดับไปโดยอาศัยเหตุต่อ ๆ กันไป
ทสกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑๐ ข้อ
ตติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๓
( มี ๕ วรรค คือวรรคที่ ๑ ชื่อสมณสัญญาวรรค ว่าด้วยความกำหนดหมายถึงความเป็นสมณะ, วรรคที่ ๒ ชื่อปัจโจโรหณิวรรค ว่าด้วยการก้าวลงจากบาป, วรรคที่ ๓ ชื่อปาริสุทธวรรค ว่าด้วยความบริสุทธิ์, วรรคที่ ๔ ชื่อสาธุวรรค ว่าด้วยสิ่งที่ดี, วรรคที่ ๕ ชื่ออริยมัคควรรค ว่าด้วยอริยมรรค ).
๑. ตรัสว่า เจริญสมณสัญญา ๓ ประการแล้ว
ย่อมทำธรรมะ ๗ อย่างให้บริบูรณ์ สมณสัญญา ๓ ประการ คือเรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว, ชีวิตเราเนื่องด้วยผู้อื่น, ยังมีกริยาอาการที่ดี งามพึงที่จะทำอีก. ธรรมะ ๗ อย่าง คือทำติดต่อ ประพฤติติดในศีล, ไม่โลภ, ไม่พยาบาท. ไม่ดูหมิ่นท่าน, ใคร่การศึกษา, พิจารณาเห็น ประโยชน์ในบริขารแห่งชีวิต ( พิจารณาเห็นประโยชน์ของปัจจัย ๔ ไม่ใช่เพื่อฟุ่มเฟือยอื่น ๆ ), ปรารภความเพียร.
ตรัสว่า เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ง ย่อมทำวิชชา ๓ ( ระลึกชาติได้, ทิพยจักษุ, ทำ อาสวะให้สิ้น ).
ตรัสแสดงมิจฉันตะ ( ความเป็นผิด ) ๑๐ ประการ คือความเห็นผิด เป็นต้น ว่า เป็นเหตุให้เกิดความผิดพลาด
และตรัสสัมมัตตะ ( ความเป็นถูก ) ๑๐ ประการ ว่า เป็นเหตุให้เกิดความ สมบูรณ์. ตรัสเทียบทิฏฐิชั่วว่าเหมือนพืชที่ขม ทิฏฐิที่ดีเหมือนพืชที่หวาน.
ตรัสว่า อวิชชาเป็นหัวหน้าที่ให้เข้าสู่อกุศลธรรม ความไม่ละอาย ไม่เกรงกลัว ต่อบาป เป็นของตามหลังมา. เมื่อมีวิชชา ก็มีความเห็นผิด จนถึงความหลุดพ้นผิด. ฝ่ายดีทรงแสดงวิชชาในทางตรงกันข้าม.
ตรัสแสดงถึงสิ่งที่ขจัดความผิด ( นิชชรวัตถุ ) ๑๐ ประการ คือสัมมัตตะ ( ฝ่ายถูก ) ขจัดมิจฉันตตะ ( ฝ่ายผิด ) ๑๐ ประการ.
ตรัสว่า ในทักษิณชนบท ( ชนบทภายใต้ ) มีประเพณีชื่อโธวนะ ( การชำระล้าง โดยวิธีเอาศพฝังแล้วทำพิธีล้างกระดูก บูชาด้วยเครื่องหอม ร้องไห้คร่ำครวญ เล่นนักษัตร-อรรถกถา ) แต่การชะระล้างแบบนั้น ไม่ทำให้พ้น จากการความเกิดแก่ตายได้. ตรัสถึงการชำระล้างความเห็นผิด เป็นต้น จนถึงความหลุดพ้นผิดว่า เป็นไปเพื่อนิพพาน.
ตรัสถึงการถ่ายยาของหมอ ว่า เพื่อบำบัดอาพาธมีดีบ้างเสมหะบ้าง ลมบ้าง เป็น สมุฏฐาน
แล้วตรัสถึงการถ่ายยาแบบอริยะ คือถ่ายความเห็นผิด จนถึงความหลุดพ้นผิด ออกไป.
ตรัสแสดงการใช้ยาให้อาเจียน ของหมอทำนองเดียวกับเรื่องถ่ายยา.
ตรัสถึงธรรมที่ควรสูบออก ๑๐ ประการ มีความเห็นผิด เป็นต้น.
ตรัสเรื่องอเสขะ ( ผู้ไม่ต้องศึกษา ) และอเสขิยธรรม ( ธรรมของผู้ไม่ต้องศึกษา ) โดยแสดงความเห็นชอบอันเป็นอเสขะ เป็นต้น.
๒. ตรัสแสดงมิจฉาทิฏฐิ เป็นต้นว่า เป็นอธรรม เป็นอนัตถะ
( มิใช่ประโยชน์ ) และตรัสถึงสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ตรงกันข้าม.แล้วตรัสต่อไปว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลธรรม และกุศลธรรม อื่น ๆ.
พระอานนท์อธิบายเรื่องอธรรมและธรรม อนัตถะและอรรถะ แก่ภิกษุทั้ง หลายในทำนองที่พระผู้มีพระภาคตรัสอธิบายแล้ว และพระผู้มีพระภาคได้ตรัสแสดงธรรมฝ่ายดี ๑๐ ฝ่ายชั่ว ๑๐ ( สัมมัตตะ, มิจฉัตตะ ) ยักย้าย นัยอีกหลายประการ.
๓-๕. ในวรรคทั้งสามวรรคนี้ ก็ตรัสแสดงเรื่องเห็นผิดชอบ เป็นต้น เช่นเดียวกัน
อนึ่ง เพื่อช่วยความจำ ขอกล่าวถึงรายละเอียดของฝ่ายผิด ๑๐ ข้อไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง คือเห็นผิด, ดำริผิด, เจรจาผิด, กระทำผิด, เลี้ยงชีวิตผิด, พยายามผิด, ระลึกผิด, ตั้งใจมั่นผิด, รู้ผิด, พ้นผิด. ฝ่ายดีหรือฝ่ายชอบคือที่ตรงกันข้าม.
จตุตถปัณณาสถ์ หมวด ๕๐ ที่ ๔
( มี ๕ วรรค ๆ แรก ชื่อปุคคลวรรค ว่าด้วยบุคคล, วรรคที่ ๒ ชื่อชาณุสโสณิวรรค ว่าด้วยชาณุส - โสณิพราหมณ์, วรรคที่ ๓ ชื่อสุนทรวรรค ว่าด้วยสิ่งที่ดี, วรรคที่ ๔ ชื่อเสฏฐวรรค ว่าด้วยสิ่งที่ประเสริฐ, วรรคที่ ๕ ชื่อเสวิตัพพา เสวิตัพพวรรค ว่าด้วยบุคคลที่ควรส้องเสพและไม่ควรส้องเสพ ).
๑. ตรัสแสดงบุคคลที่ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ
มีความเห็นผิด เป็นต้น ว่าไม่ควรส้องเสพ ต่อประกอบด้วยความเห็นชอบ เป็นต้น จึงควรส้องเสพ.
๒. ตรัสแสดงธรรมแก่ชาณุสโสณิพราหมณ์
ถึงเรื่องปัจโจโรหณี ( การข้ามลง หรือก้าวลงจากบาป ) ตามคติแห่งพระพุทธศาสนา คือชาณุสโสณิพราหมณ์เล่าถึงพิธีปัจโจโรหณีของ พราหมณ์ เมื่อถึงวันอุโบสถพราหมณ์จะสนานศรีษะ นุ่มห่มผ้าเปลือกไม้ใหม่ ฉาบแผ่นดินด้วยมูลโคสด ปูลาดด้วยหญ้าคาสด แล้วนอน ระหว่างกองทรายกับโรงบูชาไฟ และลุกขึ้นทำอัญชลีไฟ ๓ ครั้งในราตรีนั้น กล่าวว่า ปัจโจโรหาม ภวันตัง ( ๒ ครั้ง ) แปลว่า ข้าพเจ้าข้ามลงหรือก้าวลงสู่ท่านผู้เจริญ. เอาเนยใส น้ำมัน เนยข้นมากมายใส่ลงในกองไฟ นี่แหละเป็นพิธีปัจโจโรหณีของพราหมณ์. พระผู้มี พระภาคตรัสว่า พิธีปัจโจโรหณีในอริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นการก้าวลงจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ มีฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น มีความเห็นผิดเป็นที่สุด. ชาณุสโสพราหมณ์ก็เลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต. อนึ่งในวรรคนี้ตรัสแสดงการ เว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ โดยนัยต่าง ๆ กันตลอดเรื่อง มีภาษิตของพระมหากัจจานเถระแทรกอยู่แห่งเดียว แต่ก็เป็นการขยายความแห่ง พระพุทธภาษิต โดยอาศัยหลักอกุศลกรรมบถ. และมีพระพุทธภาษิต ตรัสแก่นายจุนทะ กัมมารบุตร เรื่องความไม่สะอาดทางกาย วาจา ใจ โดยแสดงอกุศลกรรมบถและกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ. ถ้าประพฤติชั่วแล้ว จะลุกขึ้นจากที่นอน ลูบคลำแผ่นดินหรือไม่ จะลูบคลำมูลโคสด หรือไม่ จะลูบคลำหญ้าสดหรือไม่ จะบำเรอไฟหรือไม่ จะทำอัญชลีดวงอาทิตย์หรือไม่ จะลงอาบน้ำวันละ ๓ เวลา ( มีเวลาเย็นเป็นครั้งที่ ๓ ) หรือไม่ ก็ไม่สะอาดทั้งนั้น ถ้าประพฤติดีแล้ว จะทำอย่างนั้นหรือไม่ ก็ชื่อว่าสะอาดทั้งนั้น ( เป็นการค้านลัทธิพราหมณ์ โดยชี้ความสำคัญไปที่ ความประพฤติ ไม่ใช่สะอาดหรือไม่สะอาดเพราะทำเคล็ดต่าง ๆ ).
๓ - ๕. แม้ใน ๓ วรรคนี้ ก็เป็นการแสดงเรื่องอกุศลกรรมบถ และกุศลกรรมบถ
ยักย้ายนัยสลับกันไป. และเพื่อช่วยทบทวนความจำ ข้อกล่าวซ้ำถึงอกุศลกรรมบถ คือฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติผิดในกาม, ๓ นี้เป็นกายทุจจริต ; พูดปด, พูดส่อเสียด คือยุให้แตกร้าวกัน, พูดคำหยาบ, พูดเพ้อเจ้อ, ๔ นี้เป็นวจีทุจจริต ; โลภอยากได้ของเขา, พยายามปอง ร้ายเขา, เห็นผิดจากคลองธรรม, ๓ นี้เป็นมโนทุจจริต รวมเป็นฝ่ายชั่ว ๑๐ ส่วนฝ่ายดีคือกุศลธรรมบถ หรือทางแห่งกรรมอันเป็นกุศล พึงทราบ โดยนัยตรงกันข้าม.
ปัญจมปัณณาสถ์ หมวด ๕๐ ที่ ๔
( มี ๕ ไม่มีชื่อพิเศษ เรียกว่าวรรคที่ ๑ ถึงที่ ๕ ทีเดียว ).
ตั้งแต่วรรคที่ ๑ ถึงวรรคที่ ๕ ส่วนใหญ่กล่าวถึงเรื่องอกุศลกรรมบถ และกุศลกรรมบถ, มิจฉัตตะ และ สัมมัตตะ ( ความเป็นผิด, ความเป็นถูก มีเห็นผิด เห็นชอบ เป็นต้น ) และสัญญา ( ความกำหนดหมาย ) ๑๐ ประการ เป็นต้น. มีข้อน่า สังเกต คือในวรรคที่ ๒ แสดงถึงบุคคลว่าจะตกนรกเหมือนถูกนำไปวางไว้ เมื่อประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ มีฆ่าสัตว์ เป็นต้น, ประกอบ ด้วยธรรม ๒๐ ประการ คือทำด้วยตนเองและชักชวนผู้อื่นเพื่อฆ่าสัตว์ เป็นต้น ( ๑๐ ? ๒ = ๒๐ ), ประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการ คือทำด้วยตัวเอง, ชักชวนผู้อื่น, มีความยินดีในอกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้น ( ๑๐ ? ๓ = ๓๐ ), ประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการ คือ ทำนอง, ชักชวนผู้อื่น, ยินดี, กล่าวสรรเสริญอกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้น ( ๑๐ ? ๔ = ๔๐ ), ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.
เอกาทสกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑๑ ข้อ
( ในหมวดนี้ไม่มีหมวด ๕๐ เริ่มต้นก็ขึ้นวรรคที่ ๑ ชื่อนิสสายวรรค ว่าด้วยสิ่งที่อาศัยกัน วรรคที่ ๒ ไม่มีชื่อ ต่อจากนั้นก็กล่าวถึงพระสูตรที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐ ).
๑. ตรัสแสดงอานิสงส์ของศีล
แก่พระอานนท์ว่า เป็นปัจจัยของกันและกันเป็นข้อ ๆ ต่อ ๆ กันไป รวม ๑๐ ข้อ ( ๑๑ ทั้งตัวศีลเอง ) คือความไม่เดือดร้อน, ความบันเทิง, ความอิ่มใจ, ความระงับ, ความสุข, สมาธิ, ความรู้ตามเป็นจริง, ความเบื่อหน่าย, ความคลายกำหนัด, ความเห็นด้วยญาณว่าหลุดพ้น.
พระสาริบุตร แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยนัยเดียวกัน. นอกนั้นแสดง ธรรมะทำนองเดียวกับหมวด ๑๐ หลายข้อเป็นแต่เพิ่มข้อปลีกย่อยขึ้นอีก ๑ จึงเป็น ๑๑ ข้อ.
ในข้อสุดท้ายตรัสแสดงการที่ภิกษุชื่อว่ามีความสำเร็จล่วงส่วน อยู่จบพรหมจรรย์ เพราะอาศัยธรรม ๓ ข้อ รวม ๓ ประการ อาศัยธรรม ๒ ข้อ ๑ ประการ ( รวมเป็น ๑๑ ) ธรรม ๓ ข้อ ประการที่ ๑ คือศีล, สมาธิ, ปัญญา ; ธรรม ๓ ข้อ ประการที่ ๒ คือแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์, ทายใจได้เป็นอัศจรรย์, สั่งสอนได้เป็นอัศจรรย์ ; ธรรม ๓ ข้อ ประการที่ ๓ คือความเห็นชอบ, ความรู้ชอบ, ความพ้นชอบ ; ธรรม ๒ ข้อ คือวิชชาความรู้, จรณะความประพฤติ.
๒. ตรัสแสดงธรรมแก่มหานามศากยะ
เรื่องวิหารธรรม ( ธรรมอันควรเป็นที่อยู่แห่งจิต ) ๕ คือศรัทธา, ความเพียร, สติ, สมาธิ, ปัญญา และเจริญธรรมที่ยิ่งขึ้นไปอีก ๖ คือระลึก ถึงพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, ศีล, จาคะ ( การสละ ), เทวดา ( เฉพาะข้อเทวดา หมายถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา คือ ศรัทธา, ศีล, สุตะ, จาคะ, ปัญญา ).
ตรัสแสดงธรรมแก่นันทิยศากยะ ทำนองเดียวกับมหานามศากยะ เป็นแต่แสดง วิหารธรรม ๖ โดยเพิ่มศีลอีก ๑ ข้อ และแสดงธรรมที่ควรระลึก ๕ คือ พระพุทธ, พระธรรม, กัลยาณมิตร, จาคะ, เทวดา,
ตรัสแสดงธรรมแก่พระสุภูติ ถึง สัทธาปทาน ( ลักษณะของศรัทธา ) ของ กุลบุตรผู้ออกบวช ๑๑ อย่าง คือมีศีล, สดับมาก, คบเพื่อนดีงาม, ว่าง่าย, ช่วยทำธุระของเพื่อนพรหมจารี, ใคร่ธรรม, ปรารภความเพียร, ระลึกชาติได้, ได้ทิพยจักษุ, ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ( ทำอาสวะให้สิ้น ).
ตรัสแสดงอานิสงส์ของเมตตาเจโตวิมุติ ( เมตตาที่เป็นฌาน ) ๑๑ ประการ คือหลับเป็นสุข, ตื่นเป็นสุข, ไม่ฝันร้าย, เป็นที่รักของมนุษย์, เป็นที่รักของอมนุษย์, เทวดาย่อมรักษา, ไฟ ยาพิษ ศัสตรา ไม่กล้ำกราย, จิคเป็นสมาธิได้เร็ว, ผิวหน้าผ่องใส, ไม่หลงตาย, ถ้ามิได้บรรลุธรรมอันยิ่งขึ้นไป ก็จะเข้าสู่พรหมโลก ( เมื่อตายไปแล้ว ).
ทสมคฤหบดีชาวเมืองอัฏฐกะ ถามพระอานนท์ถึงธรรมข้อเดียวที่ภิกษุผู้บำเพ็ญ เพียรไม่ประมาทในธรรมนั้น แล้วจะสิ้นอาสวะได้ ท่านแสดงการเจริญฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔, การเจริญเมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขาที่เป็น เจโตวิมุติ ( เป็นฌาน ), การเจริญอรูปฌานที่ ๑ ถึงที่ ๓ ( รวม ๑๑ ข้อ ) ว่า เพียงเจริญข้อใดข้อหนึ่ง แล้วรู้ว่า สิ่งนี้ไม่เที่ยง มีความดับไปเป็น ธรรมดา ก็อาจสิ้นอาสวะได้ หรือถ้าไม่สิ้นอาสวะ ก็จะเป็นพระอนาคามี. ( พึงสังเกตว่า บำเพ็ญฌานแล้ว กลับพิจารณาฌานทั้งสิบเอ็ดข้อนั้นว่า ไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา อันเป็นวิธีของวิปัสสนา ก็บรรลุความสิ้นอาสวะได้ ). ทสมคฤหบดีพอใจ กล่าวว่าเหมือนแสวงหาปากขุม ทรัพย์แห่งเดียว แต่ได้พบถึง ๑๑ แห่ง ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๑ ) ในหมวดเลขที่ ๒. อัฏฐกนาครสูตร เทียบดูด้วย
ตรัสแสดงการขาดและการประกอบด้วยคุณสมบัติของคนเลี้ยงโคฝ่ายละ ๑๑ ข้อ เทียบธรรมะ ( ดูมหาโคปาลสูตร หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ หน้า ๔ ) ๓๓. มหาโคปาลสูตร
ตรัสแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงการได้สมาธิ ที่ไม่ต้องมีความกำหนดหมาย ในสิ่งต่าง ๑๑ ข้อว่าเป็นสิ่งนั้น แต่ก็ยังมีสัญญาอยู่ได้ คือ ๑ - ๔. ธาตุ ๔, ๕ - ๘. อรูปฌาน ๔, ๙. โลกนี้, ๑๐. โลกหน้า, ๑๑ สิ่งที่ได้เห็น, ได้ยิน, ได้ทราบ, ได้รู้.
พระสูตรนอกหมวด ๕๐
ตรัสแสดงการขาดคุณสมบัติและการประกอบด้วย คุณสมบัติ ๑๑ ประการของคนเลี้ยงโค
เทียบธรรมะ โดยตรัสย้ายนัยทางธรรม คือพิจารณาเห็นความเป็นของไม่เที่ยง, ทนอยู่ไม่ได้, ไม่ใช่ตัวตน, สิ้นไป, เสื่อมไป, ความคลายกำหนัด, ความดับ, ความสละ ในอายตนะภายใน, อายตนะภายนอก, วิญญาณ, สัมผัส, เวทนา, สัญญา, สัญเจตนา, ตัณหา, วิตก, วิจาร ซึ่งเป็นไปทางทวาร ๖ มีตา เป็นต้น.
ตรัสว่า ควรเจริญธรรม ๑๑ อย่าง คือรูปฌาน ๔, พรหมวิหารที่เป็นเจโตวิมุติ ๔ ( มีเมตตา เป็นต้น ), อรูปฌานที่ ๑ ถึง ๓ ( รวมเป็น ๑๑ ) เพื่อละอุปกิเลส ๑๖ มีราคะ เป็นต้น ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ หน้า ๑ ) ๗. วัตถูปมสูตร
จบพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔
อันว่าด้วยชุมนุมธรรมะที่มี ๑๐ ข้อ ๑๑ ข้อ
เล่มที่ ๒๕ ชื่อขุททกนิกาย
( เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๗)
ขุททกปาฐะ, ธัมมปทาคาถา, อุทาน, อิติวุตตกะ, สุตตนิบาต.
เล่ม ๒๕ นี้เป็นเล่มแรกของขุททกนิกาย หรือหมวดเบ็ดเตล็ด. ได้กล่าวแล้วในตอนแรกว่า ขุททกนิกาย หรือหมวดเบ็ดเตล็ดนี้ เริ่มตั้งแต่เล่มที่ ๒๕ ถึงเล่มที่ ๓๓ รวม ๙ เล่ม ว่าด้วยหัวข้อใหญ่ รวม ๑๕ เรื่อง ( ดูหน้าความรู้เรื่องพระไตรปิฎก ) หัวข้อสุตตันตปิฎกและข้อสังเกตท้ายสุตตันตปิฎก เฉพาะเล่มที่ ๒๕ นี้ มีหัวข้อใหญ่รวมอยู่ถึง ๕ เรื่อง คือ :-
๑. ขุททกปาฐะ บทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ.
๒. ธัมมปทคาถา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ธรรมบท แปลว่า บทแห่งธรรม ว่าด้วยสุภาษิตสั้น ๆ ประมาณ ๓๐๐ หัวข้อ.
๓. อุทาน ว่าด้วยพระพุทธภิษที่ทรงเปล่งออกมาปรารภเหตุการณ์นั้น ๆ.
๔. อิติวุตตกะ ว่าด้วยถ้อยคำที่อ้างอิงว่าเป็นภาษิตของพระผู้มีพระภาค.
๕. สุตตนิบาต ว่าด้วยชุมนุมพระสูตรเบ็ดเตล็ด.
๑. ขุททกปาฐะ
บทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ
แบ่งออกเป็น ๙ ส่วน คือ :-
๑. สรณคมนะ ( การถึงสรณะ ) เป็นบทสวดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็น ที่พึ่งที่ระลึกรวม ๓ ครั้ง ( พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ถึง ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ).
๒. ทสสิกขาบท (สิกขาบท ๑๐) เป็นบทสมาทานศีล ( สำหรับสามเณร ) คือเว้นจากการฆ่า สัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติล่วงพรหมจรรย์, พูดปด, ดื่มสุราเมรัย, บริโภคอาหารในเวลากาล;( เที่ยงแล้วไปจนถึงเวลารุ่งอรุณ ), ฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดูการเล่น, ทัดทรงระเบียบดอกไม้ของหอม ตกแต่งประดับประดา, ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่, รับทองและเงิน.
๓. อาการ ๓๒ คือ ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก, เยื่อในกระดูก, ม้าม, หัวใจ, ตับ, พังผืด, ไต, ปอด, ใส้ใหญ่, ใส้น้อย, อาหารใหม่, อาหารเก่า, ดี, เศลษม์, หนอง, เลือด, เหงื่อ, มันข้น, น้ำตา, เปลวมัน, น้ำลาย, น้ำมูก, ไขข้อ, มูตร, มันสมอง.
๔. ปัญหาของสามเณร อะไรชื่อว่าหนึ่ง ? สัตว์เป็นอยู่ได้ด้วยอาหาร. อะไรชื่อว่าสอง ? นามและรูป ฯ ล ฯ ( ดูข้อความหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ หน้า ๑ ซึ่งมี ๑๐ ข้อ ) ในข้อหมายเลขที่ ๓.
๕. มงคลสูตร เล่าเรื่องของพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาของเทวดา ผู้มาถามว่าอะไรเป็น มงคล โดยตรัสชี้ไปที่ข้อประพฤติปฏิบัติทั้งสิ้น รวม ๓๗ ประการ๑ มิได้ทรงชี้ไปที่มงคลภายนอก หรือโชคลางอะไรเลย ดังต่อไปนี้ :-
๑. ไม่คบพาล ๒. คบบัณฑิต ๓. บูชาผู้ควรบูชา ๔. อยู่ในประเทศอันสมควร ๕. เคยทำบุญไว้ในกาลก่อน ๖. ตั้งตนชอบไว้ ๗. สดับตรับฟังมาก ๘. ศิลปะ ๙. ศึกษาวินัยดี ๑๐. วาจาเป็นสุภาษิต ๑๑. บำรุงบิดามารดา ๑๒. สงเคราะห์บุตรภริยา ๑๓. การงานไม่อากูล ๑๔. ให้ทาน ๑๕. ประพฤติธรรม ๑๖. สงเคราะห์ญาติ ๑๗. การงานที่ไม่มีโทษ ๑๘. เว้นจากบาป ๑๙. สำรวมจาก การดื่มน้ำเมา ๒๐. ไม่ประมาทในธรรม ๒๑. เคารพ ๒๒. เจียมตัว ๒๓. สันโดษ ( ยินดีด้วยของของตน ) ๒๔. รู้คุณท่าน ๒๕. ฟังธรรมตาม กาล ๒๖. อดทน ๒๗. ว่าง่าย ๒๘. เห็นสมณะ ๒๙. สนทนาธรรมตามกาล ๓๐. ตบะ ( ความเพียร ) ๓๑. ประพฤติพรหมจรรย์ ๓๒. เห็น อริยสัจจ์ ๓๓. ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ๓๔. จิตไม่หวั่นไหวเมื่อถูกต้องโลกธรรม ๓๕. จิตไม่เศร้าโศรก ๓๖. จิตปราศจากธุลี ๓๗. จิตเกษม ( ปลอดโปร่งจากกิเลส ).
๖. รตนสูตร เป็นบทสวดพรรณนาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และอ้างสัจจวาจา อำนวยสวัสดิมงคล.
๗. ติโรกุฑฑกัณฑ์ ในที่บางแห่งเรียกติโรกุฑฑสูตร คำว่า กัณฑ์ ก็แปลว่า หมวด ติโรกุฑฑะ แปลว่า " นอกฝา " เป็นเรื่องพรรณนาถึงผู้ล่วงลับไปแล้วว่า การอุทิศส่วนกุศลไปให้ ย่อมเข้าถึงคือสำเร็จแก่ผู้ล่วงลับเหล่านั้นโดย ควรแก่ฐานะ.
๘. นิธิกัณฑ์ ว่าด้วยเรื่องขุมทรัพย์ การฝังทรัพย์ไว้ในดินไม่ยั่งยืน อาจถูกคนลักขุดไป หรือ ดินเลื่อนเคลื่อนที่ไป หรือฝังแล้วจำไม่ได้ เมื่อสิ้นบุญ สิ่งทั้งหมดนั้นก็พินาศ แต่ขุมทรัพย์คือบุญ ( อันเกิดแต่การบำเพ็ญคุณงามความดี ) เป็น ขุมทรัพย์ที่ใครจะช่วงชิงไม่ได้ เป็นของติดตัวไปเสมอ และอาจให้สำเร็จประสงค์ตั้งแต่อย่างต่ำถึงอย่างสูง.
๙. กรณียเมตตสูตร พรรณนาถึงการแผ่เมตตาไปในสัตว์ทุกประเภทให้มีความสุขทั่วหน้ากัน.
๒. ธัมมปทคาถา หรือธัมมบท
ว่าด้วยบทแห่งธรรม
ได้กล่าวแล้วว่า ธัมมบท ( หรือเขียนว่าธรรมบทก็ได้ ) หมายถึงสุภาษิตสั้น ๆ ประมาณ ๓๐๐ ข้อ และได้แปลไว้เป็น อย่างแล้วในหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๙๗.-๑๒๕ รวมหลายสิบข้อ ในที่นี้จะนำข้อความที่ไม่ซ้ำกันมา แปลไว้เป็นตัวอย่างอีก ๑๐ ข้อ คือ :-
๑. ไม่พึงมองดูความผิดพลาดของคนอื่น หรือมองดูสิ่งที่เขาทำหรือมิได้ทำ พึงมองดูแต่สิ่งที่ตนทำแล้ว หรือยัง มิได้ทำเท่านั้น.
๒. ดอกไม้ที่น่าชอบใจ มีสี แต่ไม่มีกลิ่น ก็เหมือนวาจาสุภาษิต ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ทำตาม.
๓. ในมนุษย์ทั้งหลาย คนที่ถึงฝั่งมีน้อย คนนอกนี้วิ่งเลาะไปตามชายฝั่ง ( ข้างนี้ ) เท่านั้น.
๔. คนไม่มีศรัทธา, ไม่กตัญญู, ตัดช่อง ( เข้าขโมย ), มีโอกาศอันถูกขจัด, หมดหวัง, ผู้นั้นเป็นบุรุษผู้สูงสุด. ( เป็น คำกล่าว ดัดแปลงคำด่าให้เป็นคำดี คำว่า ไม่มีศรัทธา ในทางที่ดี ควรแปลว่า " ไม่เชื่อง่าย " คือพยายามทำให้ประจักษ์ในผลความดี ด้วยตนเองจนไม่ต้องเชื่อผู้อื่น, ไม่กตัญญู หรืออตัญญู แปลในทางดีว่า ผู้รู้นิพพาน ซึ่งไม่มีสิ่งใด ๆ หรือใครมาทำมาสร้างได้, ตัดช่อง ( เข้าขโมย ) แปลจากคำว่า สันธิจเฉทะ ซึ่งอาจแปลในทางที่ดีได้ว่า ตัดที่ต่อคือวัฏฏะ หรือการเวียนว่ายตายเกิดไม่ต้องเกิด อีก. มีโอกาสถูกขจัด แปลในทางดีได้ว่า หมดโอกาสที่จะเกิดอีก เพราะหมดพืชคือกุศลกรรมและอกุศลกรรมแล้ว หมดหวังหรือ คายความหวัง อาจจะตีความได้ว่า เมื่อได้บรรลุสิ่งที่สูงสุดแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องคอยมุ่งหวังอะไรต่อไปอีก. เรื่องเหล่านี้เป็นตัวอย่างใน ทางมองแง่ดี จากคำเยาะเย้ยถากถางของคนที่มุ่งร้าย ).
๕. ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนผู้มิได้ประทุษร้าย ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลส บาปย่อมสนองคนพาลนั้นเหมือนฝุ่นที่ ซัดไปทวนลม.
๖. คนเลี้ยงโคใช้ท่อนไม้ต้อนโคไปสู่ที่หากินฉันใด ความแก่และความตาย ย่อมต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไปฉัน นั้น.
๗. ร่าเริงอะไรหรือหรือชื่นใจอะไรกัน ในเมื่อโลกลุกเป็นไฟอยู่เป็นนิตย์ ท่านทั้งหลายถูกความมืดห่อหุ้มแล้ว ไฉน จึงไม่แสวงหาดวงประทีป.
๘. ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขาร ( สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง ) เป็นทุกข์อย่างยิ่ง รู้ความจริงข้อนี้แล้วดับทุกข์ได้เป็นสุขอย่างยิ่ง.
๙. อตุละเอย ! การนินทานี้เป็นของเก่า มิใช่ของดุจมีในวันนี้ คนนั่งนิ่งก็ถูกนินทา คนพูดมากก็ถุกนินทา คนพูด พอประมาณก็ถูกนินทา คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก.
๑๐. ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี เคราะห์เสมอด้วยโทสะไม่มี ข่ายเสมอด้วยโมหะไม่มี แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี.
มีคำสรุปว่า ในธรรมบทมีคาถา คำฉันท์ ) ๔๒๓ บท ( บางเรื่องและบางหัวข้อ อาจประกอบด้วยคำฉันท์หลายบท เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่าประมาณ ๓๐๐ หัวข้อ จึงหมายเฉพาะเนื้อเรื่อง ).
๓. อุทาน
(พระอรรถกถาจารย์อธิบายเรื่องการจัดระเบียบไว้ว่า อุทานนี้มี ๘ วรรค กล่าวโดยสูตรประมาณ ๘๐ สูตร กล่าว โดยคาถา ( คำฉันท์ ) มี ๙๕ บท ).
ใจความสำคัญในเรื่องอุทานก็คือ เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงปรารภเหตุการณ์นั้น ๆ ก็ทรงเปล่ง อุทานเป็นข้อธรรมอันมีเนื้อหาเป็นคำสั่งสอน ในที่นี้จะเลือกแปลบทอุทานใน ๘ วรรคนั้น วรรคละ ๒ เรื่อง รวมเป็น ๑๖ เรื่อง ( จาก ๘๐ เรื่อง ) ดังต่อไปนี้ :-
๑. โพธิวรรค ว่าด้วยการตรัสรู้
๑. ทรงเปล่งอุทานในราตรีแรกแห่งการตรัสรู้
ในยามที่ ๑ " ในกาลใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ใน กาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะรู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ. "
ในยามที่ ๒ " ในกาลใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ใน กาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัย. "
ในยามที่ ๓ " ในกาลใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารพร้อมทั้งเสนาเสียได้ เหมือนดวงอาทิตย์กำจัดความมืดทำท้องฟ้าให้สว่างฉะนั้น. "
๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระสังคามชิผู้ไม่เยื่อใยในอดีตภริยา
" ผู้ใดไม่ยินดีผู้ที่มา ไม่เศร้าโศกถึงผู้ที่ไป เรากล่าวถึงผู้นั้น ซึ่งเป็นผู้ชนะสงคราม ผู้พ้นจากความข้อง ว่าเป็น พราหมณ์.
๒. มุจจลินทวรรค ว่าด้วยเหตุการณ์ที่ต้นจิก
๑. ทรงเปล่งอุทานที่ใต้ต้นจิก
" ความสงัดของบุคคลผู้ยินดี ผู้สดับธรรม ผู้เห็นด้วยปัญญา เป็นสุข. ความไม่เบียดเบียน คือ ความสำรวมในสัตว์ ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก. ความปราศจากราคะ คือความก้าวล่วงกามทั้งหลาย เป็นสุขในโลก. การนำออกเสียซึ่งอัสมิมานะ ( ความถือตัวว่าเรา เป็นนั่นเป็นนี่ ) เป็นสุขอย่างยิ่ง. "
๒. ทรงเปล่งอุทาน ณ เชตวนารม กรุงสาวัตถี ปรารภคำสนทนาของภิกษุทั้งหลาย
" ความสุขทางกามอันใดในโลก และความสุขใดอันเป็นทิพย์ ความสุขทั้งหมดนั้น ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความ สุขเพราะสิ้นตัณหา ( ความทพยานอยาก ). "
๓. นันทวรรค ว่าด้วยพระนันทะ
๑. ทรงเปล่งอุทานปรารภพระนันทะ ( ผู้เป็นพระอนุชาต่างพระมารดา )
" ผู้ใดข้ามหล่มกามได้ ย่ำยีหนามคือกามได้ บรรลุความสิ้นไปแห่งความหลง ผู้นั้นเป็นผู้เห็นภัย ( ภิกษุ ) ย่อมไม่หวั่น ไหวในสุขและทุกข์. "
๒. ทรงเปล่งอุทานปรารภพระปิลินทวัจฉะ ( ผู้พูดไม่ไพเราะเพราะเคยปาก )
" ผู้ใดไม่มีมายา ไม่มีความถือตัว สิ้นความโลภ ไม่ยึดว่าอะไรเป็นของเรา ปราศจากความหวัง บันเทาความโกรธ ดับอัตตาเสียได้ ผู้นั้นเป็นพราหมณ์ เป็นสมณะ เป็นภิกษุ.. "
๔. เมฆิยวรรค ว่าด้วยพระเมฆิยะ
๑. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระเมฆิยะ
" ความความตรึกที่เลว ( กามวิตก ) ความตรึกที่ละเอียดอ่อน ( ปรารภญาติ, ชนบท, ลาภ, สักการะ เป็นต้น ) ที่ ติดตามไป ที่ทำจิตให้ผิดปกติ ผู้มีจิตหมุนไป ไม่รู้ความตรึกแห่งใจเหล่านี้ ยอมแล่นไป ๆ มา ๆ ( ในอารมณ์ มีรูป เสียง เป็นต้น ). แต่ผู้รู้ความ ตรึกแห่งใจเหล่านี้ มีความเพียร มีสติสำรวม ย่อมเป็นผู้ตรัสรู้ ละความตรึกเหล่านั้นที่ติดตามไป ที่ทำใจให้ผิดปกติได้โดยไม่เหลือ. "
๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระอุปเสนาวังคันตบุตร
" ผู้ใดไม่เดือดร้อนต่อชีวิต ไม่เศร้าโศกเมื่อจะตาย ผู้นั้นแลเป็นนักปราชญ์ เป็นผู้เห็นบท ( แห่งธรรม ) ย่อมไม่เศร้าโศก ในท่ามกลางแห่งโศก. ภิกษุถอนความทะยานอยากในภพได้ มีจิตสงบ สิ้นความท่องเที่ยวสู่ความเกิด ย่อมไม่มีความเกิดอีก. "
๕. โสณัตเถรวรรค ว่าด้วยพระโสณเถระ
๑. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระราชดำรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศล และพระนางมัลลิกา
" บุคคลเอาใจตรวจดูทั่วทุกทิศแล้ว ไม่พบคนอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนในที่ไหน ๆ คนอื่นก็รักตนอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน เพราะเหตุนั้น ผู้ใคร่ความสุขแก่ตน จึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น. "
๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระเทวทัตผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน
" ความดีคนดีทำได้ง่าย คนชั่วทำได้ยาก ความชั่วคนชั่วทำง่าย แต่คนที่ประเสริฐทำได้ยาก. "
๖. ชัจจันทวรรค
ว่าด้วยอุปมาด้วยคนตาบอดแต่กำเนิด
๑. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระเจ้าปเสนทิโกศล
" ไม่พึงพยายามในความชั่วทุกอย่าง, ไม่พึงเป็นคนของคนอื่น ( ควรเป็นตัวของตัวเอง ), ไม่พึงอาศัยผู้อื่นดรงชีวิต, ไม่พึงประพฤติธรรมให้มีแผล. "
๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภนักบวชนอกศาสนาที่เถียงทะเลาะกัน เพราะเห็นต่าง ๆ กัน
" สมณพราหมณ์บางพวกย่อมติดอยู่ในทิฏฐิเหล่านี้ เป็นคนมีความเห็นแง่เดียว ย่อมทะเลาะวิวาทกัน. "
๗. จูฬวรรค ว่าด้วยภิกษุผู้ร่างเล็ก
๑. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระภัททิยะผู้ค่อม
" ผู้ใดหลุดพ้นในเบื้องบน เบื้องต่ำ ในที่ทั้งปวง ไม่ตามเห็นว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ ผู้หลุดพ้นอย่างนี้ ได้ข้ามแล้วซึ่งโอฆะ ( ห้วงน้ำ ) ที่ยังไม่เคยข้าม เพื่อความไม่เกิดอีก. "
๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภมนุษย์ผู้ติดอยู่ในกาม
" ผู้บอดเพราะกาม ติดอยู่ในข่าย ( คือตัณหา ) ถูกเครื่องปกปิดคือตัณหาปกปิดไว้ ถูกพญามารผู้ผูกมัดสัตว์ผู้ประมาท ผูกไว้แล้ว ย่อมเป็นเหมือนปลาเข้าไปในปากไซ ย่อมถึงความแก่และความตาย เหมือนลูกโคยังดื่มนม วิ่งเข้าหาแม่. "
๘. ปาฏลิคามิวรรค ว่าด้วยอุบาสกชาวปาฏลิคาม
๑. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระนิพพาน
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อายตนะนั้นมีอยู่ คืออายตนะที่ไม่มีดิน, น้ำ, ไฟ, ลม, อากาสานัญจายตนะ, วิญญาณัญจาตนะ,. อากิญจัญญาตนะ, เนวสัญญานาสัญญายตนะ, ไม่มีโลกนี้, ไม่มีโลกอื่น, ไม่มีพระจันทร์, พระอาทิตย์ทั้งสอง. เราไม่กล่าวถึงอายตนะนั้น ว่า เป็นการมา, การไป, การตั้งอยู่, การจุติ ( เคลื่อน ), การอุปบัติ ( เข้าถึงหรือเกิด ), อายตนะนั้น ไม่มีที่ตั้ง, ไม่มีความเป็นไป,ไม่มีอารมณ์. นั่น แหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์. "
( หมายเหตุ : คำอธิบายพระนิพพานในรูปปฏิเสธเช่นนี้ บางท่านอาจฉงนว่าจะมีประโยชน์หรือมีความมาย อย่างไร ขอตอบว่า อย่าว่าแต่พระนิพพานซึ่งเป็นธรรมะอันสูงยิ่ง จะอธิบายได้ยากเลย แม้เรื่องง่าย ๆ ในโลกนี้ เช่น สีขาว สีเขียว ถ้าจะให้ อธิบาย ก็พูดไม่ถูกเหมือนกัน บางครั้งก็ต้องอาศัยสำนวนปฏิเสธหรือชี้ให้ดู พระนิพพานก็เช่นกัน ผู้บรรลุด้วยตนเองก็ไม่มีปัญหา ส่วนผู้ยังมิได้ บรรลุ ก็ต้องอธิบายว่า ไม่เป็นอย่างที่เขานึกกันอย่างโลก ๆ )
๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภนายจุนทะ กัมมารบุตร
" บุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้ เวรของผู้สำรวมย่อมไม่ถูกก่อขึ้น ผู้ฉลาดย่อมละความชั่ว ปรินิพพาน เพราะสิ้นราคะ, โทสะ, โมหะ. "
๔. อิติวุตตกะ
ว่าด้วยข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างนี้
อิติวุตตกะนี้ แบ่งออกเป็น ๔ นิบาต ( ชุมนุมธรรมะ ๔ ส่วน ) คือเป็นเอกนิบาต ( ชุมนุมธรรมะที่มี ๑ ข้อ ) ๒๗ สูตร, เป็นทุกนิบาต ( ชุมนุมธรรมะที่มี ๒ ข้อ ) ๒๒ สูตร, เป็นติกนิบาต ( ชุมนุมธรรมะที่มี ๓ ข้อ ) ๕๐ สูตร, เป็นจตุกกนิบาต ( ชุมนุม ธรรมะที่มี ๔ ข้อ ) ๑๓ สูตร, รวมทั้งสิ้นจึงมี ๑๑๒ สูตร.๒ ในการย่อจะเลือกย่อนิบาตละ ๕ สูตร ดังต่อไปนี้:-
เอกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑ ข้อ
๑. ข้าพเจ้า ( พระอานนท์ ) ได้สดับว่า พระผู้มีพระภาคผู้อรหันต์ได้ตรัสคำนี้ไว้ คือ " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ท่านทั้ง หลายจงละธรรมอย่างหนึ่ง เราเป็นผู้ประกันพวกเธอให้ได้ความเป็นพระอนาคามี ธรรมอย่างหนึ่งนั้น คือ ความโลภ. " ตรัสทำนอง เดียวกันนี้ ถึงโทสะ ( ความคิดประทุษร้าย ), โมหะ ( ความหลง ), ความโกรธ, มักขะ ( ลบหลู่บุญคุณท่าน ), มานะ ( ความถือตัว ).
๒. ข้าพเจ้า ( พระอานนท์ ) ได้สดับว่า พระผู้มีพระภาคผู้อรหันต์ได้ตรัสคำนี้ไว้ คือ " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ ไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้สิ่งทั้งปวง ไม่ทำจิตให้คลายความกำหนัดในสิ่งนั้น ไม่ละสิ่งนั้น ก็ไม่ควรจะสิ้นทุกข์ได้ " และได้ตรัสทำนองเดียวกันนี้ ถึงเรื่องมานะ, โลภะ, โทสะ, โมหะ, ความโกรธ, ความลบหลู่บุญคุณท่าน.
๓.๓ " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่เห็นนีวรณ์ ( ธรรมเครื่องกั้นจิตมิให้บรรลุ คุณความดี ) อื่นแม้ข้อหนึ่ง ที่สัตว์ถูกนีวรณ์นั้นหุ้มห่อแล้ว ย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไปตลอดกาลนาน เหมือน นีวรณ์ คืออวิชชา ( ความ ไม่รู้ ) เลย. "
๔. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่เห็นเครื่องร้อยรัดอื่นแม้ข้อหนึ่ง ที่สัตว์ถูกร้อยรัดแล้ว ย่อมแล่นไปท่องเที่ยวไปตลอด กาลนาน เหมือนเครื่องร้อยรัด คือ ตัณหา ( ความทะยานอยาก ) เลย. "
๕. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่เห็นองค์ ( องคคุณ ) อื่นแม้ข้อหนึ่ง ที่เป็นองค์ภายในของภิกษุผู้ยังศึกษา ผู้ยังมิได้ บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาธรรมอันเกษม ( ปลอดโปร่ง ) จากโยคะ๔ อันยอดเยี่ยม, อันเป็นองค์ ที่มีอุปการะมาก เหมือน โยนิโสมมนสิการ ( การใส่ใจหรือการพิจารณาโดยแยบคาย ) นี้เลย. " ( องค์ภายนอกตรัสถึงการคบเพื่อนที่ ดีงาม ).
ทุกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๒ ข้อ
๑. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๒ อย่างแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ข้องขัดเดือดร้อนในปัจจุบัน ตายไปแล้วก็หวังทุคคติ ( ที่ไปอันชั่ว ) ได้. ธรรม ๒ อย่าง คือ ความไม่สำรวมอินทรีย์๕ กับ ความไม่รู้ประมาณในโภชนะ คืออาหารที่กินเข้าไป. " ( ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม ).
๒. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมะ ๒ อย่างเหล่านี้ ทำความเดือดร้อนให้ คือบุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ทำความ ดี, ทำความชั่วไว้ ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนว่า เรามิได้ทำความดีไว้, ย่อมเดือดร้อนว่า เราได้ทำความชั่วไว้. " ( ธรรมะที่ไม่ทำความเดือดร้อนให้ คือที่ตรงกันข้าม ).
๓. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒ อย่าง ย่อมเหมือนถูกนำไปตั้งไว้ในนรก ธรรมะ ๒ อย่าง คือ ศีลอันชั่ว, ทิฏฐิ ( ความเห็น ) อันชั่ว. " ( ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม คือศีลอันดีงาม ทิฏฐิอันดีงาม ).
๔. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้ ไม่มีความเพียร ไม่มีความเกรงกลัว ( ต่อบาป ) เป็นผู้ไม่ควรเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพื่อบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอันยอดเยี่ยม. ภิกษุผู้มีความเพียร มีความเกรงกลัว ( ต่อบาป ) จึงเป็นผู้ควรเพื่อตรัสรู้ เพื่อ นิพพาน เพื่อบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอันยอดเยี่ยม. " ( ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม ).
๕. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ความตรึก ( วิตก ) ๒ อย่าง ย่อมมาสู่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยมาก คือ ความตรึกอันเกษม ( ไม่เบียดเบียน ) และ ความตรึกอันสงัด ( จากอกุศลธรรม ). ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตมีความไม่ เบียดเบียนเป็นที่มายินดี ยินดีในความไม่เบียดเบียน ความตรึกข้อนี้ จึงมาสู่ตถาคตผู้ยินดีในความไม่เบียดเบียนโดยมากว่า เราย่อมไม่เบียดเบียน ใคร ๆ ด้วยการกระทำนี้ ไม่ว่าจะยังเป็นผู้สะดุ้งดิ้นรน ( ด้วยกิเลส ) หรือว่าเป็นผู้ถาวร ( ไม่ดิ้นรนเพราะกิเลสได้แล้ว ). ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตมีความสงัดเป็นที่มายินดี ยินดีในความสงัด. ความตรึกข้อนี้ จึงมาสู่ตถาตคผู้ยินดีในความสงัดโดยมากว่า เราละอกุศลได้แล้ว. เพราะ เหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงอยู่อย่างยินดีในความไม่เบียดเบียน ยินดีในความสงัดเถิด. "
ติกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๓ ข้อ
๑. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธาตุ ๓ อย่างเหล่านี้ คือ รูปธาตุ ( ธาตุคือรูป ), อรูปธาตุ ( ธาตุคือสิ่งที่ ไม่มีรูป ), " ( ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม ) นิโรธธาตุ ( ธาตุคือนิโรธความดับ ). "
๒. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! การแสวงหา ๓ อย่างเหล่านี้ คือ กาเมสนา ( การแสวงหากาม ), ภเวสนา( การแสวงหาภพ คือความมีความเป็น ), พรหมจริยสนา ( การแสวงหพรหมจรรย์ ). "
๓. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! จักษุ ๓ อย่างเหล่านี้ คือ มังสจักษุ ( ตาเนื้อ ), ทิพพจักษุ ( ตาทิพย์), ปัญญาจักษุ ( ตาปัญญา ). "
๔. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นิสสรณิยธาตุ ( ธาตุคือความแล่นออก หรือความพ้นไป ) ๓ ประการ คือ เนกขัมมะ ( การออกจากกาม ) เป็นความพ้นไปแห่งกามทั้งหลาย, อารุปปะ ( ความเป็นของไม่มีรูป ) เป็นความพ้นไปแห่งรูปทั้งหลาย, นิโรธ ( ความดับ ) เป็นความพ้นไปแห่งสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย. "
๕. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล ๓ ประเภท มีอยู่ในโลก คือ ๑. บุคคลที่เสมอด้วยฝนที่ไม่ตก ๒. บุคคลที่ เหมือนฝนตกเฉพาะแห่ง ๓. บุคคลที่เหมือนฝนตกทุกแห่ง ( ตรัสอธิบายต่อไปว่า ผู้ไม่ให้ทานเลย เปรียบเหมือนฝนไม่ตก, ผู้ให้ทานแก่บาง คน ไม่ให้แก่บางคน เปรียบเหมือนฝนตกเฉพาะแห่ง, ผู้ให้ทานแก่ทุกคน คือแก่สมณะ, พราหมณ์, คนกำพร้า, คนเดินทาง, วณิพพก, ๖ยาจก เปรียบเหมือนฝนตกทุกแห่ง ). "
จตุกกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๔ ข้อ
๑. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ของที่เล็กน้อยด้วย หาง่ายด้วย ไม่มีโทษด้วย มี ๔ อย่าง คือ ผ้าเปื้อนฝุ่น ( เศษ ผ้าที่เที่ยวเก็บตกในที่นั้น ๆ ), อาหารที่หามาด้วยลำแข้ง ( ที่เที่ยวบิณฑบาตได้มา ), โคนไม้, ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า. ตราบเวลาที่ภิกษุยินดีด้วยของเล็กน้อย อันหาได้ง่าย อันไม่มีโทษ เราย่อมกล่าวความยินดีนั้นว่า เป็นองค์ของความเป็นสมณะแต่ละข้อของ ภิกษุนี้. "
๒. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมกล่าวถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ) ของผู้รู้ผู้เห็น ไม่กล่าว สำหรับผู้ไม่รู้ไม่เห็น คือ รู้ทุกข์, เหตุให้ทุกข์เกิด, ความดับทุกข์, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์. "
๓. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! สมณพราหมณ์เหล่าใดไม่รู้ทุกข์, เหตุให้ทุกข์เกิด, ความดับทุกข์, ข้อปฏิบัติให้ถึงความ ดับทุกข์ ตามเป็นจริง. สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมเป็นเพียง สมณสมมต, พราหมณสมมต ; ไม่ทำให้แจ้งซึ่ง ประโยชน์ของความ เป็นสมณะ, ประโยชน์ของความเป็นพราหมณ์ ด้วยความรู้ยิ่งอยู่ในปัจจุบัน. " ( ฝ่ายดีทรงแสดงตรงกันข้าม ).
๔. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ความเกิดขึ้นแห่งตัณหา ๔ อย่างเหล่านี้ คือความเกิดขึ้นแห่งตัณหาเพราะเหตุแห่งจีวร ( ผ้านุ่งห่ม ), อาหาร ( บิณฑบาต ), ที่อยู่อาศัย ( เสนาสนะ ), ความมีความเป็น และความไม่มีไม่เป็น ( ภวาภวะ ). "
๕. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! โลกอันตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตก็ปลีกตัวได้จากโลก, เหตุที่ทำให้โลกเกิดอัน ตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตก็ละเหตุที่ให้เกิดโลกได้แล้ว, ความดับแห่งโลกอันตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตก็ได้ทำให้แจ้งความดับแห่ง โลกแล้ว, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลกอันตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตก็ได้เจริญข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลกแล้ว. "
๕. สุตตนิบาต ชุมนุมพระสูตร
( สุตตนิบาต หรือชุมนุมพระสูตรนี้ มีพระสูตรทั้งสิ้น ๗๐ สูตร ล้วนเป็นคำฉันท์ทั้งสิ้น บางแห่งแม้จะมีร้อยแก้วปน แต่สาระผูกเป็นคำฉันท์ แบ่งออกเป็น ๕ วรรค คือ วรรคแรก ชื่อว่าอุรควรรค ว่าด้วยอุรคสูตรเป็นหัวหน้า มี ๑๒ สูตร, วรรคที่ ๒ ชื่อ จูฬวรรค แปลว่า วรรคเล็ก มี ๑๔ สูตร, วรรคที่ ๓ ชื่อมหาวรรค แปลว่า วรรคใหญ่ มี ๑๒ สูตร, วรรคที่ ๔ ชื่ออัฏฐกวรรค ว่าด้วยพระ สูตรที่มีคำว่า อัฏฐกะตามหลัง ( อัฏฐกะ แปลว่า ผู้ไม่ตั้งอยู่ ถือเอาความว่า ไม่ติด หรืออาจแปลได้ว่า เนื้อความ หรือใจความ ) มี ๑๖ สูตร วรรคที่ ๕ ชื่อปารายนวรรค ว่าด้วยที่มุ่งอันสูง มี ๑๖ สูตร.
อุรควรรคที่ ๑ มี ๑๒ สูตร
๑. อุรคสูตร ( สูตรเปรียบเทียบด้วยงู )
พรรณนาถึงการที่ภิกษุละความชั่วต่าง ๆ เช่น ความโกรธ, ราคะ, ตัณหา, มานะ เป็นต้น ภิกษุนั้นย่อมละฝั่งนี้ ฝั่งโน้นได้ เหมือนงูลอกคราบเก่าทิ้งเสียฉะนั้น.
๒. ธนิยสูตร ( สูตรว่าด้วยธนิยะผู้เลี้ยงโค )
แสดงคำโต้ตอบของธนิยะผู้เลี้ยงโค พูดเชื้อเชิญให้ฝนตกเพราะตนได้ทำหน้าที่ของตนเสร็จแล้ว เช่น มุงหลังคา นำ เชื้อไฟมาเตรียมไว้แล้ว ฝนจะตกก็ตกเถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เราเป็นผู้ไม่โกรธ ปราศจากตอ ( ของจิต ) มีหลังคา ( คือกิเลส ) อัน เปิดแล้ว, ไฟ ( คือกิเลส ) ก็ดับแล้ว ฝนจะตกก็ตกเถิด. อันเป็นคำโต้ตอบแสดงความเตรียมพร้อมทางโลก กับความเตรียมพร้อมทางธรรม.
๓. ขัคควิสาณสูตร ( สูตรเปรียบเทียบด้วย นอแรด )
เป็นพระสูตรที่พรรณนาการประพฤติพรหมจรรย์ ซึ่งแนะให้อยู่แต่ผู้เดียว เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด. ๗ เช่น ที่กล่าวว่า " วางอาชญาในสัตว์ทั้งปวงแล้ว ไม่เบียดเบียนใคร ๆ เลย ไม่ปรารถนาบุตร ก็จะ ปรารถนาสหายแต่ที่ไหน ควรเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น. "
๔. กสิภารทวาชสูตร ( ว่าด้วยภารทวาช พราหมณ์ผู้ไถนา )
พราหมณ์ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพเจ้าไถหว่านแล้วจึงบริโภค ท่านจงไถหว่านบ้างสิ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พระองค์ก็ไถและหว่านเหมือนกัน. เมื่อพราหมณ์ถามถึงไถ จึงตรัสตอบว่า " ศรัทธาเป็นพืช, ความเพียรเป็นฝน, ปัญญาเป็นแอกและไถ, ความละอายใจเป็นงอนไถ, ใจเป็นสายเชือก, สติเป็นผาล ( ใบไถสำหรับไถนา ) "เป็นต้น.
๕. จุนทสูตร ( ว่าด้วยนายจุนทะ กัมมารบุตร )
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบคำถามของนายจุนทะ กัมมารบุตร เรื่องสมณะมี ๔ ประเภท คือ ๑. มัคคชินะ ( ผู้ชนะ กิเลสด้วยมรรค ).๘ ๒. มัคคเทสกะ ( ผู้แสดงมรรค ) ๓. มัคคชีวี ( ผู้ดำรงชีพอยู่ในมรรค คือผู้กำลัง ปฏิบัติ ) ๔. มัคคทูสี ( ผู้ประทุษร้ายมรรค คือผู้ประพฤติชั่ว เท่ากับเป็นผู้ทำลายแห่งความเจริญของตน )."
๖. ปราภวสูตร ( ว่าด้วยความเสื่อม )
พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงปากทางแห่งความเสื่อมไว้หลายข้อด้วยกัน. ดังจะยกมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้ " รัก อสัตบุรุษ ( คนชั่ว ), ไม่รักสัตบุรุษ ( คนดี ), ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ, นั่นเป็นปากทางแห่งความเสื่อม. " " มักหลับ, มักเข้ากลุ่มสนทนา, ไม่หมั่น, เกียจคร้าน, โกรธง่าย, นั่นเป็นปากทางแห่งความเสื่อม. " " มั่งคั่ง แต่ไม่เลี้ยงมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าล่วงวัย, นั่นเป็นปากทางแห่งความ เสื่อม. " หยิ่งเพราะชาติ, หยิ่งเพราะทรัพย์, หยิ่งเพราะโคตร, ดูหมิ่นญาติของตน, นั่นเป็นปากทางแห่งความเสื่อม. " " เป็นนักเลงหญิง เป็น นักเลงสุรา, เป็นนักเลงการพนัน, ทำทรัพย์ที่ได้มาแล้วให้พินาศ, นั่นเป็นปากทางแห่งความเสื่อม. " เป็นต้น.
๗. วสลสูตร ( ว่าด้วยคนเลวหรือคนถ่อย )
พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงธรรมแก่ภารทวาชพราหมณ์ผู้บูชาไฟ ถึงเรื่องคนเลว และธรรมที่ทำให้คนเลว รวมหลาย หัวข้อด้วยกัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้. " คนใดมักโกรธ, ผูกโกรธ, เป็นคนชั่วที่ลบหลู่บุญคุณท่าน, มีความคิดเห็นวิบัติ, มีมายา, พึงรู้คนนั้นว่าเป็น คนเลว. " " คนใดเบียดเบียนผู้เกิดครั้งเดียว หรือเกิด ๒ ครั้ง ( เกิด ๒ ครั้ง คือออกมาเป็นไข่แล้วจึงออกจากไข่เป็นตัวอีกต่อหนึ่ง ), ไม่มีความ เอ็นดูในสัตว์มีชีวิต, พึงรู้คนนั้นว่าเป็นคนเลว. " " ผู้ใดยกตัวเอง, ข่มผู้อื่น, เป็นคนเลวเพราะความถือตัวนั้น, พึงรู้คนนั้นว่าเป็นคนเลว " ในที่ สุดได้ตรัสสรูปหลักการทางพระพุทธศาสนาว่า " บุคคลมิใช่เป็นคนเลวเพราะชาติ มิใช่เป็นคนดี ( พราหมณ์ ) เพ