วิชากระทู้ธรรมศึกษา ชั้นตรี
ขั้นตอนการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม
ขั้นตอนก่อนลงมือเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม
๑. ต้องท่องจำพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๑ ให้ได้ และเขียนให้ถูกต้องอย่างน้อย ๒ สุภาษิต พร้อมทั้งที่มาของสุภาษิตบทนั้นด้วยเพื่อนำไปเป็นสุภาษิตเชื่อม (เวลาสอบใช้สุภาษิตเดียว)
๒. เมื่อท่องจำสุภาษิตได้แล้ว พึงฝึกหัดแต่งสุภาษิตนั้น สัก ๒-๓ ครั้ง ประมาณ ๑ หน้ากระดาษ จนเกิดความชำนาญ เมื่อนำไปเชื่อมในการสอบจริงจะได้ง่ายขึ้น
ขั้นตอนการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม
ขั้นตอนที่ ๑ การเขียนสุภาษิตกระทู้ตั้ง ต้องเขียนไว้กึ่งกลางหน้ากระดาษสอบให้พอดี โดยเฉพาะคำบาลีนั้นต้องเขียนให้ถูกอักขระ ในส่วนคำแปลนั้น พึงเขียนจัดวางให้ได้กึ่งกลางของคำบาลี อย่าให้ล้นไปข้างหน้า หรือเยื้องไปข้างหลังจะดูไม่งามต้องพยายามกะให้พอดี
ขั้นตอนที่ ๒ การเขียนอารัมภบท คือ ณ บัดนี้ ….ให้ย่อหน้าขึ้นบรรทัดใหม่ ประมาณ ๖ ตัวอักษร
ขั้นตอนที่ ๓ ก่อนอธิบายเนื้อความให้ย่อหน้ากระดาษขึ้นบรรทัดใหม่เช่นเดียวกับอารัมภบท
ขั้นตอนที่ ๔ การเขียนสุภาษิตเชื่อม ให้เขียนตรงกลางหน้ากระดาษเหมือนสุภาษิตบทตั้ง (ข้อสอบ) แต่ก่อนที่จะยกสุภาษิตที่เราท่องไว้แล้วมาเชื่อม ต้องอ้างที่มาของสุภาษิตเสียก่อนว่า สมดังสุภาษิตที่มาใน ……. ( ที่มาของสุภาษิตบทนั้น ) แล้วจึงวางสุภาษิตไว้ตรงกลางหน้ากระดาษ
ขั้นตอนที่ ๕ ก่อนจะอธิบายเนื้อความของสุภาษิตเชื่อม ให้ย่อหน้าขึ้นบรรทัดใหม่ เหมือนขั้นตอนที่ ๒
ขั้นตอนที่ ๖ การสรุปความให้ย่อหน้า เขียนคำว่า สรุปความว่า ……. การสรุปนั้นควรสรุปประมาณ ๕ – ๖ บรรทัด จึงจะพอดี เมื่อสรุปเสร็จแล้ว ให้นำสุภาษิตบทตั้ง (ข้อสอบ) มาเขียนปิดท้าย
ขั้นตอนที่ ๗ การเขียนสุภาษิตปิดท้าย ให้เขียนคำว่า สมดังสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นนั้นว่า…..แล้วนำสุภาษิตบทตั้ง (ข้อสอบ) มาเขียนไว้ตรงกึ่งกลางหน้ากระดาษปิดท้าย
ขั้นตอนที่ ๘ บรรทัดสุดท้ายนิยมเติมคำว่า “มีนัยดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้ ฯ หรือ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้” มาปิดท้าย
ส่วนการย่อหน้าและจัดวรรคตอนนอกจากนี้ ให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม การเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม ต้องฝึกเขียนให้ได้ ๔ – ๕ ครั้งขึ้นไป แต่ละครั้งที่ฝึกเขียน พึงดูแผนการเขียนและตัวอย่างการเรียงความแก้กระทู้ธรรมประกอบด้วยว่าถูกต้องหรือไม่.
หลักปฏิบัติในการสอบสนามหลวง วิชา กระทู้ธรรม
๑. แต่งตามกระทู้ธรรมสุภาษิตที่กำหนดให้
๒. อธิบายขยายเนื้อความกระทู้ธรรมสุภาษิตนั้นให้สมเหตุสมผล
๓. อ้างสุภาษิตบทอื่นพร้อมบอกที่มา มาอธิบายประกอบด้วย ๑ สุภาษิตในหนังสือพุทธสุภาษิต เล่ม ๑
๔. เชื่อมความระหว่างสุภาษิตที่นำมาเชื่อมกับสุภาษิตบทตั้งให้สนิทติดต่อสมเรื่องกันด้วยเหตุผล
๕. ให้เขียนลงในกระดาษสอบ ตั้งแต่ ๒ หน้า ( เว้นบรรทัด ) ขึ้นไป
ระเบียบการตรวจกระทู้ธรรมสนามหลวง
คณะกรรมการได้กำหนดแนวทางในการตรวจกระทู้ธรรม และพิจารณาให้คะแนนดังนี้
๑.แต่งได้ครบตามกำหนด ( ตั้งแต่ ๒ หน้ากระดาษขึ้นไป )
๒.อ้างสุภาษิตเชื่อมได้ตามกฎ ( ๑ สุภาษิต )
๓.เชื่อมความกระทู้ได้ดี
๔.อธิบายความสมกับกระทู้ที่ตั้งไว้
๕.ใช้สำนวนสุภาพเรียบร้อย
๖.ใช้ตัวสะกดการันต์ถูกต้องตามหลักภาษา
๗.สะอาดไม่เปรอะเปื้อน ฯ
พุทธศาสนสุภาษิตสำหรับท่องจำ (ควรฝึกเขียนให้ถูกต้องด้วย)
อปฺปมาโท อมตํ ปทํ
ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย
ที่มา ขุททกนิกาย ธรรมบท
ความไม่ประมาท คือ ความหลงมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เมาในวัยและชีวิต บุคคลที่มัวเมาเหล่านี้ ก็มีชื่ออยู่สักแต่ว่าหายใจเข้าออกเท่านั้น หาทำประโยชน์สิ่งใดไม่ บุคคลที่พึงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมคือ เมื่อจะทำ พูด คิด ต้องทำด้วยความระมัดระวัง มีสติอยู่เสมอ ความไม่ประมาทนั้น ย่อมเป็นหนทางให้ประสบความสุข ความเจริญ และความไม่เสื่อมเสีย.
ขนฺติ หิตสุขาวหา
ความอดทน นำมาซึ่งประโยชน์สุข
ที่มา สวดมนต์ฉบับหลวง
ความอดทน คืออาการที่ไม่หวั่นไหวทั้งทางกายและทางจิตใจ ในเมื่อประสบกับสภาพที่ไม่น่าชอบใจ ๔ ประเภท คือ ๑. ธรรมชาติ มีหนาว ร้อน ฝนตก แดดออก เป็นต้น ๒. อดทนต่อความเหนื่อยยากตรากตรำในการทำงาน ๓. อดทนต่อทุกขเวทนา อันเกิดจากความเจ็บปวดและโรคภัย ๔. อดทนต่อความเจ็บใจ ความอดทนนี้ย่อมอำนวยผลให้ผู้ประกอบได้พบกับความสุข ความเจริญ และความสำเร็จ ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม.
จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ
จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้
ที่มา ขุททกนิกาย ธรรมบท
จิตที่ฝึกแล้ว หมายถึงจิตที่ถูกทำให้หมดมลทิน คือความโลภ โกรธ หลง ที่รวมเรียกว่า กิเลส ไม่ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ ด้วยใจ เป็นจิตที่สุขุมเยือกเย็น จิตที่ฝึกมาแล้วจะนำความสุขมาให้อย่างถาวร เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญาจึงหมั่นฝึกจิตของตน
แผนการเขียนเรียงความกระทู้ธรรม
(๑) ..................สุภาษิตบทตั้ง.....................
....................คำแปล......................
(๒) ณ บัดนี้...................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
(๓) คำว่า.............อธิบายเนื้อความสุภาษิตบทตั้ง (ประมาณ 8-10บรรทัด).... .........
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
.......................................สมดังสุภาษิตที่มาใน......( ที่มาของสุภาษิต).......ว่า
(๔) ......................สุภาษิตเชื่อม ......................
... ...................คำแปล..........................
(๕) คำว่า............. อธิบายเนื้อความสุภาษิตบทตั้ง (ประมาณ 7-10 บรรทัด)
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
(๖) สรุปความว่า (ประมาณ 5 บรรทัด) ..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
..................................................................................................................
............................................สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นว่า
(๗)
......................สุภาษิตบทตั้ง.........................
........................คำแปล.............................
ดังนัยพรรณนามาด้วยประการฉะนี้ ฯ (๘)
ตัวอย่างข้อสอบเก่า
สอบเมื่อ วันที่ ๑๕ เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖
สีลํ โลเก อนุตฺตรํ
ศีล เป็นเยี่ยมในโลก
ณ บัดนี้จักได้บรรยายขยายความกระทู้ธรรมสุภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและนำไปปฏิบัติสืบต่อไป
คำว่า “ ศีล ” คือ การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์นั้น ผู้นั้นอย่างน้อยต้องมีศีล ๕ มีการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดปด และไม่ดื่มสุราเสพยาเสพย์ติด ศีลชื่อว่าเป็นเยี่ยมในโลก เพราะเป็นเครื่องปกป้องโลกให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ศีลเป็นเครื่องขจัดความเบียดเบียนระหว่างตนกับผู้อื่นให้หมดไป ก่อให้เกิดความรักความเมตตาให้เกิดขึ้นในโลก ศีลเป็นเครื่องชำระกิเลสอย่างหยาบให้หมดไป เป็นขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นของการทำดี ผู้ประพฤติให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ ย่อมจะประสบแต่ความสุข ศีลเป็นความดี มีผลเป็นความสุข ผู้รักษาศีลย่อมได้ผลคือความสุข ตราบเท่าที่เขารักษาศีลอยู่ สมดังพุทธภาษิตที่มาในขุททกนิกาย ธรรมบทว่า
สุขํ ยาว ชรา สีลํ
ศีล นำสุขมาให้ตราบเท่าชรา
ผู้ที่ปรารถนาความสุข ไม่พึงละทิ้งการรักษาศีล เพราะศีลเป็นบ่อเกิด เป็นบทเริ่มต้นของการสร้างความดีความงามให้เกิดมีขึ้นในจิตใจด้วยการฝึกควบคุมพฤติกรรมทางด้าน กาย วาจาให้เรียบร้อยอยู่เสมอ นอกจากนี้ศีลยังเป็นเหตุนำสุขมาให้ เหมือนดังเช่น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งศีลอันบริสุทธิ์ ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์จึงมีแต่ความสุขเกษมสำราญ เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงไม่ควรมองข้าม หันมารักษาศีลกันเถิด เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนและโลก
สรุปความว่า ศีล คือการรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย เป็นการควบคุมพฤติกรรมของคนให้อยู่ระเบียบแบบแผนที่ดีงามของสังคม เป็นคุณธรรมเบื้องต้นที่จะทำให้คนเป็น มนุษย์ คือ ผู้ประเสริฐ ผู้รักษาศีลย่อมปราศจากศัตรูที่คอยเบียดเบียน อยู่สงบร่มเย็นเป็นสุข ดังนั้นศีลจึงเป็นความดีที่ยอดเยี่ยมในโลก สมดังสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็น นิกเขปบท ณ เบื้องต้นว่า
สีลํ โลเก อนุตฺตรํ
ศีล เป็นเยี่ยมในโลก.
ดังพรรณนามาฉะนี้แล ฯ