วันอาสาฬหบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ หรือ เดือน ๘ เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรกโดยแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร เป็นผลให้เกิดมีพระสาวกรูปแรกขึ้นในพระพุทธ- ศาสนาจนถือได้ว่าเป็นวันแรกที่มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบองค์พระรัตนตรัย
พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา (เทศนาเป็นครั้งแรก) เนื้อหาว่าด้วยทางสายกลาง (มัชฌิมา -ปฏิปทา) ที่นำไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน อัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วทูลขอ บวชเป็นพระสาวกรูปแรกที่เป็นประจักษ์พยานในการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สำหรับประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในบรรดาหลายๆประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาที่ ประกาศให้มีวันอาสาฬหบูชา และถือปฏิบัติมาจนกระทั่ง ถึงปัจจุบัน
๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน ๖ และได้ประทับอยู่ ณ บริเวณที่ตรัสรู้นั้นตลอด ๗ สัปดาห์พระองค์ทรงใคร่ครวญถึงผู้ที่พระองค์จะแสดงธรรมโปรดอันดับแรก ทรงระลึกถึง อาฬารดาบสและอุททกดาบส ผู้เคยสอนความรู้ชั้นฌานให้แก่พระองค์มา แต่ท่านทั้ง ๒ ก็สิ้นชีพไปก่อนแล้ว จึงทรงระลึก ถึงปัญจวัคคีย์ คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะและอัสสชิ ผู้ที่เคยมีอุปการคุณแก่พระองค์ ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ฤาษีทั้ง ๕ นั้น มีอุปนิสัยแก่กล้าสามารถบรรลุธรรมได้ จึงเสด็จออกจากต้นศรีมหาโพธิ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เดินทางไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันเมืองพาราณสี แคว้นกาสี เสด็จไปถึงเย็นวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนอาสาฬหะ รุ่งขึ้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พระองค์จึงทรงแสดงธัมมจักรกัปปวัตนสูตรอันเป็นพระธรรม-เทศนากัณฑ์แรกโปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้นเอง สรุปความได้ว่า บรรพชิต (นักบวช) ไม่ควรประพฤติสิ่งที่สุดโต่ง ๒ ส่วนคือ ๑. การหมกมุ่นมัวเมาอยู่ในกามสุข (กามสุขัลลิกานุโยค) และ ๒.การทรมานตัวเองให้ลำบาก (อัตตกิลมถานุโยค) ควรดำเนินตามทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) คือ
มีความเห็นชอบ (สัมมาทิฐิ)
มีความดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ)
เจรจาชอบ (สัมมาวาจา)
ทำการงานชอบ (สัมมากัมมันตะ)
เลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ)
เพียรชอบ (สัมมาวายามะ)
ระลึกชอบ (สัมมาสติ)
และตั้งมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ)
ต่อจากนั้นจึงทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ หลักความจริงของชีวิตที่สำคัญซึ่งจะเป็นเหตุทำให้หมดกิเลสอันได้แก่ ทุกข์ (ความเกิด ความแก่ และความตาย เป็นต้น) สมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์คือความอยากต่าง ๆ) นิโรธ (ความดับทุกข์ คือ นิพพาน) และมรรค (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์) เมื่อจบพระธรรมเทศนา ท่านโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม (เห็นตามเป็นจริง) ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้นทรงทราบว่าโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมสำเร็จเป็นโสดาบันแล้วจึงทรงเปล่งอุทานว่า “อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิวะ ตะ โภ โกณฑัญโญ” แปลว่า “โกณฑัญญะ รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” อันเป็นเหตุให้ท่านโกณฑัญญะได้นามว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” มานับแต่นั้น ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้ทูลขอบวช พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงบวชให้ด้วยวิธีบวชแบบ เอหิภิกขุ อุปสัมปทาจึงเป็นอันว่า มีองค์พระรัตนตรัยเกิดขึ้นครบบริบูรณ์ในวันนั้น
๒. การถือปฏิบัติวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทยพิธีวันอาสาฬหบูชาเริ่มกำหนดเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ครั้งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่า การองค์การศึกษาได้เสนอคณะสังฆมนตรี ให้เพิ่มวันศาสนพิธีทำพุทธบูชาขึ้นอีกวันหนึ่ง คือ
วันธรรมจักร หรือวันอาสาฬหบูชา ด้วยเป็นวันคล้าย วันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักรกัปปวัตนสูตร คณะสังฆมนตรีลงมติ รับหลักการให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาและให้ถือเป็นหลัก ปฏิบัติในเวลา ต่อมา โดยออกเป็นประกาศคณะสงฆ์เรื่องกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๑ และในวันเดียวกันนั้นได้มีประกาศสำนักสังฆนายกกำหนดระเบียบ ปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นไว้ให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติทั่วกันกล่าวคือ ก่อนถึงวันอาสาฬหบูชา ๑ สัปดาห์ ให้เจ้าอาวาส แจ้งแก่พระภิกษุสามเณรตลอดจนศิษย์วัด คนวัด ช่วยกันปัดกวาด ปูลาด-อาสนะ จัดตั้งเครื่องสักการะ ให้ประดับธงธรรมจักรรอบพระอุโบสถตลอดวัน ทั้งเวลาเช้าและเวลาบ่ายให้มีการฟังธรรมตาม ปกติเวลาค่ำให้ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถหรือ พระเจดีย์ จุดธูปเทียนแล้วถือรวมกับดอกไม้ ยืนประนมมือ สำรวมจิต โดยพระสงฆ์ผู้เป็นประธานนำกล่าวคำบูชาจบแล้วทำประทักษิณ ครั้นแล้วให้ภิกษุสามเณรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัย ทำวัตรเย็น แล้วสวดธัมมจักรกัปปวัตนสูตรจบแล้วให้อุบาสก อุบาสิกา ทำวัตรเย็น ต่อจากนั้นให้พระสังฆเถระ แสดงพระธรรมเทศนาธัมมจักรกัปปวัตนสูตร แล้วให้พระภิกษุสามเณร สวดธัมมจักรกัปปวัตนสูตร ทำนองสรภัญญะเพื่อเจริญศรัทธาปสาทะของพุทธศาสนิกชน จบแล้ว ให้เป็นโอกาสของพุทธศาสนิกชน เจริญภาวนามัยกุศล สวดมนต์ สนทนาธรรมบำเพ็ญสมถะ และวิปัสสนาเป็นต้น ตามควรแก่อัธยาศัย ให้ใช้เวลาทำพิธีอาสาฬหบูชาไม่เกินเวลา ๒๔.๐๐ น. และได้มีการทำพิธีอาสาฬหบูชาอย่างกว้างขวาง นับแต่นั้นมาทางราชการ ได้มีประกาศ สำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการชักธงชาติถวายเป็นพุทธบูชาในวันนี้ ด้วยหลักธรรมที่ควรปฏิบัติ